txt
stringlengths
202
53.1k
# Cloudflare รายงานผลประกอบการไตรมาส รายได้โตสูง 42% ลูกค้ารายใหญ่เพิ่มมากกว่า 2 พันราย Cloudflare รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปี 2022 รายได้ยังเติบโตสูงเพิ่มขึ้น 42% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนเป็น 274.7 ล้านดอลลาร์ มีกำไรขั้นต้น 206.9 ล้านดอลลาร์ แต่สุทธิแล้วขาดทุนตามบัญชี GAAP 45.9 ล้านดอลลาร์ กระแสจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 78.1 ล้านดอลลาร์ และมีเงินสดกับสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง 1,649.9 ล้านดอลลาร์ Matthew Prince ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Cloudflare กล่าวว่าบริษัทได้ผ่านหลักไมล์สำคัญ คือมีลูกค้ารายใหญ่มากกว่า 2,000 ราย ที่จ่ายเงินมากกว่า 1 แสนดอลลาร์ต่อปี รวมทั้งทำสัญญาข้อตกลงระดับ 5 แสนดอลลาร์ขึ้นไป แม้ตอนนี้ภาพรวมเศรษฐกิจไม่ดีนัก แต่บริษัทเชื่อว่าการควบคุมค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยเทคโนโลยีที่บริษัทมีตอนนี้ Cloudflare จึงยังเดินหน้าสู่การเป็น "ของที่ต้องมี" สำหรับลูกค้า ในรายละเอียดนั้น Cloudflare ระบุว่ามีลูกค้าระดับ 1 แสนดอลลาร์ต่อปีอยู่ 2,042 ราย ระดับ 5 แสนดอลลาร์ต่อปี 222 ราย และ 1 ล้านดอลลาร์ต่อปี 85 ราย เป็นทิศทางที่เพิ่มขึ้นสูงมาต่อเนื่องหลายปี ที่มา: Cloudflare
# PayPal ไตรมาสล่าสุด รายได้รวมโต 7% - CEO ประกาศเกษียณจากตำแหน่ง PayPal รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 4 ปี 2022 รายได้รวม 7,383 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน มีกำไรสุทธิตามบัญชี GAAP 921 ล้านดอลลาร์ และมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์ม (TPV - Total Payment Volume) เพิ่มขึ้น 5% เป็น 357,378 ล้านดอลลาร์ จำนวนบัญชีผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มเพิ่มเป็น 435 ล้านบัญชี เป็นบัญชีร้านค้า 35 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นมาในไตรมาส 2.9 ล้านบัญชี มีการใช้งานเฉลี่ย 51.4 รายการต่อบัญชีย้อนหลังไป 12 เดือน เพิ่มขึ้น 13% นอกจากนี้ PayPal ยังแจ้งว่าประธานและซีอีโอ Dan Schulman จะเกษียณจากบริษัท มีผลในวันที่ 31 ธันวาคม 2023 โดยจะยังคงมีตำแหน่งกรรมการบอร์ดต่อไป และระหว่างนี้บอร์ดจะพิจารณาหาซีอีโอคนใหม่ ทั้งนี้ Schulman ได้ร่วมงานกับ PayPal ตั้งแต่ปี 2014 เพื่อรอรับตำแหน่งซีอีโอ หลังจาก PayPal แยกบริษัทกับ eBay ผลงานคือทำให้บริษัทมีมูลค่ากิจการเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ย S&P 500 มีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า จำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ที่มา: PayPal [1] (pdf), [2]
# Yahoo! ประกาศปลดพนักงาน 1,600 คน เฉพาะกลุ่มธุรกิจ Ad Tech Yahoo! ประกาศแผนปลดพนักงานรวม 1,600 คน คิดเป็น 20% ของพนักงานทั้งหมด โดยแบ่งเป็นกลุ่มแรก 1,000 คน มีผลทันที และอีก 600 คน ใน 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งพนักงานที่ถูกปลดทั้งหมดอยู่ในส่วนธุรกิจ Ad Tech และจำนวนที่ปลดนี้คิดเป็นครึ่งหนึ่งของฝ่าย Jim Lanzone ซีอีโอ Yahoo! ให้สัมภาษณ์ว่าการปลดพนักงานรอบนี้ไม่ใช่ผลจากปัญหาเศรษฐกิจ แต่เป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจที่ยังไม่ทำกำไร โดยภาพรวมนั้น Yahoo! มีกำไรในปีที่ผ่านมา 8 พันล้านดอลลาร์ ตัวแทนของ Yahoo! ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าที่ผ่านมากลยุทธ์ของ Yahoo! ในธุรกิจโฆษณา คือการให้บริการแบบครบทุกรูปแบบโดยมีทั้งระบบโฆษณาแบบ Demand Side Platform (DSP), Supply Side Platform (SSP) และแบบ Native ซึ่งผลลัพธ์ออกมาว่ายังไม่สามารถทำกำไรได้ โดยจากนี้แพลตฟอร์ม Yahoo Advertising จะโฟกัสไปที่ DSP เป็นหลัก และเน้นลูกค้ากลุ่มบริษัทใหญ่ ที่มา: TechCrunch
# Hogwarts Legacy ขึ้นเป็นเกมขายดีอันดับหนึ่งบน Steam, ยอดผู้เล่นพร้อมกัน 4.9 แสนคน เกม Hogwarts Legacy ในจักรวาล Harry Potter กลายเป็นเกมยอดฮิตบน Steam อย่างรวดเร็ว ตอนนี้ขึ้นเป็นเกมขายดีอันดับหนึ่ง (ไม่เผยตัวเลขยอดขาย) และมีสถิติผู้เล่นพร้อมกันสูงสุด 4.89 แสนคน ตัวเลขนี้ทำให้ Hogwarts Legacy เป็นเกมที่มีผู้เล่นสูงสุด (All-Time Peak) เป็นอันดับ 13 ของ Steam และถ้านับเฉพาะเกมแบบเล่นคนเดียว ไม่ใช่มัลติเพลเยอร์ ก็เป็นรองแค่ Cyberpunk 2077 เพียงเกมเดียวเท่านั้น (ทำไว้ที่ 1 ล้านคน อยู่อันดับ 5 ตลอดกาล อันดับ 1 คือ PUBG ทำสถิติไว้ 3.2 ล้านคน) นอกจากสถิติยอดขาย-ยอดผู้เล่นแล้ว เกม Hogwarts Legacy ยังสร้างสถิติยอดผู้ชมบน Twitch พร้อมกัน 1.28 ล้านคน (peak concurrent) ซึ่งถือเป็นเกมแบบผู้เล่นคนเดียวที่มียอดชมสูงสุดบน Twitch ด้วย Hogwarts Legacy ยังมีสถานะเป็น Early Access เปิดให้ผู้เล่นพรีออเดอร์เล่นก่อนเล็กน้อย และจะวางขายเป็นการทั่วไปวันนี้ 10 กุมภาพันธ์ เกมพัฒนาโดยสตูดิโอ Avalanche ในเครือ WB Games และได้คะแนนรีวิวเฉลี่ย 85/100 ที่มา - IGN
# Twitter ประกาศแผนใช้งาน API ใหม่ - แบบฟรี มีเงื่อนไขจำกัดจำนวนทวีต Twitter ให้รายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับเงื่อนไขการใช้งาน API แบบใหม่ หลังประกาศเตรียมยกเลิกการใช้งานแบบฟรีไปก่อนหน้านี้ ซึ่งมีผลให้นักพัฒนาส่วนใหญ่ที่ใช้แบบฟรีมาก่อน อาจต้องจ่ายเงิน โดย Twitter บอกว่า แผนการใช้แบบฟรีตัวเดิม จะต่อเวลาให้ใช้ได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ หลังจากนั้นจะแทนที่ด้วยแผน Paid Basic สามารถใช้งาน API แบบ Low Level และเข้าถึง Ads API ได้ คิดราคาที่ 100 ดอลลาร์ต่อเดือน นอกจากนี้แผนใช้งาน Premium API จะยกเลิก โดยแนะนำให้ไปสมัครแผน Enterprise แทน ส่วนประเด็นการใช้ API ฟรีต่อ หากเป็นบอตทวีตเนื้อหาที่ดี ตามที่ Elon Musk รับปากก่อนหน้านี้ ก็มีรายละเอียดทางการออกมาด้วย โดย API ฟรี มีข้อจำกัดคือสามารถโพสต์ทวีตได้เท่านั้น สูงสุด 1,500 ทวีตต่อเดือน ได้โทเค็นยืนยันตัวตนเพียง 1 โทเค็นสำหรับการล็อกอิน Twitter ให้เหตุผลของการปรับเงื่อนไข API ว่าเพื่อปรับปรุงคุณภาพบริการ ลดสแปม ให้ภาพรวมของแพลตฟอร์มดียิ่งขึ้น ที่มา: @TwitterDev
# git reset --hard สองบริษัทเก็บโค้ด GitHub และ GitLab ประกาศลดพนักงานวันเดียวกัน GitHub ประกาศลดพนักงานลง 10% หรือประมาณ 250 คน แต่เป็นการปรับลดตลอดปีงบบัญชี 2023 ไม่ใช่การเลย์ออฟทีเดียวแบบบริษัทอื่นๆ ขณะเดียวกันก็ประกาศลดพื้นที่ออฟฟิศลงเนื่องจากมีการใช้งานน้อยมาก โดยค่อยๆ ปิดสำนักงานที่หมดสัญญาไปเรื่อยๆ และมุ่งสู่การเป็นบริษัททำงานรีโมตเป็นหลัก พนักงานบางส่วนของ GitHub จะได้รับแจ้งเตือนเลิกจ้างตั้งแต่วันนี้ที่เหลือจะปรับลดต่อไปภายหลัง และตอนนี้ทาง GitHub หยุดการรับพนักงานใหม่เอาไว้ตั้งแต่กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทางฝั่ง GitLab คู่แข่งของ GitHub เองก็ประกาศแบบเดียวกัน โดยจะลดพนักงานลง 7% รวมปลดออก 130 คน นอกจากการลดพนักงานและปิดสำนักงานแล้ว GitHub ยังประกาศเลิกใช้ Slack หันไปใช้ Microsoft Teams อย่างเดียวเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ที่มา - Fortunes, CNBC
# NIST เลือกกระบวนการเข้ารหัส Ascon เป็นมาตรฐานสำหรับอุปกรณ์ IoT ขนาดเล็ก NIST ประกาศผลประกวดกระบวนการเข้ารหัสลับและการแฮชข้อมูลสำหรับอุปกรณ์ขนาดเล็ก จากที่มีผู้ส่งประกวด 57 ราย ได้ผู้ชนะคือ Ascon ที่พัฒนาโดยทีมวิจัยร่วมระหว่าง Graz University of Technology, Infineon Technologies, Lamarr Security Research, และ Radboud University Ascon มีการทำงาน 7 รูปแบบ ทาง NIST ยังไม่ตัดสินใจว่าจะรวมรูปแบบใดเข้ามาตรฐานบ้าง แต่ที่สำคัญที่สุดสองรูปแบบคือ AEAD (authenticated encryption with associated data) และการแฮช โหมด AEAD สามารถปล่อยให้ข้อมูลบางส่วนไม่เข้ารหัสได้ แต่มีการยืนยันว่าข้อมูลไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งสำคัญต่อการใช้งานในอุปกรณ์ IoT เช่น การสื่อสารระหว่างรถยนต์ หรือ RFID โดยการทดสอบกระบวนการเข้ารหัสครั้งนี้มักทดสอบกับไมโครคอนโทรลเลอร์ขนาดเล็ก หลายครั้งทดสอบกับซีพียูแบบ 8 บิต แต่ก็ยังดูฟีเจอร์ต่างๆ เช่น ความทนทานต่อการสังเกตพฤติกรรมพลังงานและเวลา (side channel attack) ตัว Ascon นั้นทนทานต่อคอมพิวเตอร์ควอนตัมด้วย แม้ว่า NIST จะไม่ได้นำประเด็นนี้มาพิจารณาเป็นหลัก ทาง NIST ระบุว่าแม้มาตรฐานสำหรับอุปกรณ์ขนาดเล็กจะออกมาแล้ว แต่หากอุปกรณ์มีพลังประมวลผลสูงพอก็สามารถใช้กระบวนการเข้ารหัสเดิมๆ เช่น AES ต่อไปได้ ที่สำคัญคือโปรโตคอลส่วนมากรองรับกระบวนการเข้ารหัสเดิมอยู่แล้ว ส่วนตัวมาตรฐานจริงน่าจะออกภายในปีนี้ ที่มา - NIST
# ทีมวิจัยการเข้ารหัสลับพบจดหมายของแมรี่ราชินีสกอตแลนด์ ในช่วงปี 1578-1584 กลุ่มนักวิจัยการเข้ารหัสลับสามคนได้ถอดรหัสจดหมายที่เข้ารหัสไว้ จากหอจดหมายเหตุฝรั่งเศส (Bibliothèque nationale de France - BnF) เป็นจดหมายเข้ารหัสกว่า 50 ฉบับที่ไม่ระบุที่มาที่ไปบอกเพียงว่าเป็น "ข้อความเข้ารหัส" และเก็บรวมกับเอกสารอื่นๆ เกี่ยวกับอิตาลีในช่วงปี 1520-1540 แต่เมื่อถอดรหสัสออกมาแล้วกลับพบว่าเอกสารนี้เป็นจดหมายของราชินีแมรี่แห่งสกอตแลนด์ที่ส่งหาทูตฝรั่งเศสประจำอังกฤษในช่วงปี 1578-1584 จดหมายเข้ารหัสของราชินีแมรี่นับเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งของการเข้ารหัสลับ เพราะจดหมายในช่วงปี 1583-1584 ถูกดักอ่านและถอดรหัสจนแสดงให้เห็นว่าแมรี่เกี่ยวข้องกับแผนสังหารราชินีอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษจนเธอถูกประหารด้วยการตัดหัว กระบวนการเข้ารหัสที่แมรี่ใช้ไม่ซับซ้อนนักเมื่อเทียบกับการเข้ารหัสในสมัยนี้ หลักการเป็นการแทนที่ตัวอักษรและสร้างอักขระพิเศษทำให้อ่านยากยิ่งขึ้น อักขระบางตัวจะแทนที่ตัวอักษรหลายตัวเพิ่มความซับซ้อน จดหมายที่พบชุดใหม่นี้เป็นจดหมายที่แมรี่ส่งไปมาในช่วงก่อนแผนการสังหารอลิซาเบธที่ 1 นอกจากจดหมายชุดนี้แล้วยังมีจดหมายชุดอื่นๆ ถูกเก็บไว้ในหอสมุดแห่งชาติของอังกฤษและฝรั่งเศส แม้จดหมายของแมรี่จะเคยถูกถอดรหัสมาก่อนแล้ว แต่จดหมายชุดใหม่นี้ก็ใช้กระบวนการเข้ารหัสต่างจากจดหมายชุดอื่นๆ ทีมงานใช้ซอฟต์แวร์ CrypTool 2 ที่เป็นโปรแกรมเรียนรู้กระบวนการเข้ารหัสลับมาช่วยถอดรหัส และเมื่อถอดรหัสได้สำเร็จจึงสามารถบอกได้ว่าเป็นจดหมายของแมรี่ ที่มา - Cryptologia
# CMA ชี้ดีลไมโครซอฟท์ซื้อ Activision Blizzard กระทบการแข่งขันเกมคอนโซล-คลาวด์ Competition and Markets Authority (CMA) หน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันของสหราชอาณาจักร ออกรายงานสอบสวนกรณีไมโครซอฟท์ซื้อ Activision Blizzard อย่างละเอียด (Phase II) หลังจากออกผลสอบสวนเบื้องต้น (Phase I investigation) เมื่อเดือนกันยายน 2022 ใช้เวลาทำงาน 5 เดือน CMA ได้ข้อสรุปว่าการยอมให้ไมโครซอฟท์ซื้อ Activision Blizzard อาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมเกม ทั้งราคาเกมแพงขึ้น ตัวเลือกน้อยลง และนวัตกรรมน้อยลง คลาวด์ CMA ประเมินว่าไมโครซอฟท์มีส่วนแบ่งตลาดคลาวด์เกมมิ่งราว 60-70% ซึ่งถ้านำเกมของ Activision Blizzard เป็นเอ็กซ์คลูซีฟบนคลาวด์ไมโครซอฟท์เพียงรายเดียว จะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของผู้ให้บริการรายอื่น คอนโซล CMA ประเมินว่าเกม Call of Duty มีผลอย่างมากต่อการแข่งขันของเกมคอนโซล หาก Call of Duty ลงเฉพาะคอนโซลไมโครซอฟท์ (หรือลงคอนโซลอื่นด้วยในเงื่อนไขที่แย่กว่า) จะส่งผลกระทบต่อการแข่งขัน และอาจทำให้เกมราคาแพงขึ้น คุณภาพลดลง แนวทางบรรเทาที่ CMA บอกว่าเป็นไปได้คือ ไม่อนุมัติดีลนี้ไปเลย อนุมัติดีล ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องขายธุรกิจที่เกี่ยวกับ Call of Duty ออกไป อนุมัติดีล ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องขายธุรกิจฝั่ง Activision ออกไป เหลือ Blizzard + King อนุมัติดีล ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องขายธุรกิจฝั่ง Activision + Blizzard ออกไป เหลือ King ขั้นถัดไป CMA จะขอให้ไมโครซอฟท์ตอบกลับว่าจะแก้ไขหรือบรรเทา "ข้อกังวล" เหล่านี้ได้อย่างไร และหากมีข้อเสนออื่นก็เสนอเข้ามาได้ ก่อนที่ CMA จะรวบรวมไปเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ต่อไป ฝั่งโฆษกของไมโครซอฟท์ยังยืนยันจุดยืนเดิม ว่าจะการันตี Call of Duty บนแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น Nintendo, Steam, Sony ภายใต้เงื่อนไขเดียวกับแพลตฟอร์มของไมโครซอฟท์เป็นเวลานาน 10 ปี ที่มา - CMA, Ars Technica
# AIS ไตรมาส 4/2565 ลูกค้ามือถือเพิ่มเป็น 46.0 ล้านเลขหมาย - เน็ตบ้าน, ลูกค้าองค์กรโตแข็งแกร่ง เอไอเอส รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2565 และไตรมาสที่ 4 ปี 2565 โดยส่วนของรายได้ในไตรมาส 4 นั้น รายได้จากการให้บริการหลักเพิ่มขึ้น 1.3% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนเป็น 33,840 ล้านบาท จากการเติบโตของอินเทอร์เน็ตบ้าน และลูกค้าองค์กร ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ 48,699 ล้านบาท ลดลง 3.3% และมีกำไรสุทธิ 7,363 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% จำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 46.013 ล้านเลขหมาย เพิ่มมาอีก 3.51 แสนเลขหมาย จากไตรมาสก่อนหน้านี้ เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งระบบรายเดือนและระบบเติมเงิน มีรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือนหรือ ARPU ที่ 213 บาท และมีปริมาณการใช้งานข้อมูลต่อเลขหมายต่อเดือนเพิ่มเป็น 31.5GB มีลูกค้าที่สมัครใช้ 5G เพิ่มเป็น 6.83 ล้านเลขหมาย ขณะที่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน มีลูกค้าเพิ่มเป็น 2.169 ล้านราย เอไอเอสรายงานความครอบคลุมของการขยายโครงข่าย โดยโครงข่าย 5G ตอนนี้ครอบคลุมประชากรร้อยละ 85 ถ้าเป็นพื้นที่ กทม. ครอบคลุมมากกว่า 99% ส่วนงบการลงทุนในปี 2566 อยู่ที่ 2.7-3 หมื่นล้านบาท ที่มา: เอไอเอส (pdf)
# ตุรกีบล็อก Twitter ในประเทศ หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว - ล่าสุดเปิดให้ใช้งานตามปกติแล้ว NetBlocks องค์กรด้านสิทธิดิจิทัล รายงานข้อมูลว่าตั้งแต่เย็นวันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ ตามเวลาในประเทศไทย ประเทศตุรกีได้บล็อกการเข้าถึง Twitter ของอินเทอร์เน็ตในประเทศ ในระหว่างที่ประชาชนพยายามเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ผ่าน Twitter หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ โดยล่าสุดตัวเลขผู้เสียชีวิตมีมากกว่า 17,000 คน ทางการตุรกีไม่ได้ให้เหตุผลของการบล็อก Twitter แต่ข้อมูลจาก NetBlocks บอกว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ภาวะฉุกเฉิน รัฐบาลตุรกีมักจะจำกัดการเข้าถึงโซเชียลมีเดีย เพื่อลดการเผยแพร่ภาพเหตุการณ์รุนแรง ตลอดจนป้องกันปัญหาการเผยแพร่ข่าวเท็จ อย่างไรก็ตามตั้งแต่ช่วงเช้าของวันนี้ 9 กุมภาพันธ์ Elon Musk ซีอีโอ Twitter ได้เปิดเผยเองว่ารัฐบาลตุรกีได้ติดต่อมาที่ Twitter ยืนยันว่าจะปลดบล็อกการเข้าถึงทันที ซึ่ง NetBlocks ก็พบว่าการใช้งานเป็นปกติแล้วตั้งแต่ช่วงเช้า โดย Twitter จะต้องมาช่วยดูแลกำกับการแชร์เนื้อหามากขึ้นนั่นเอง ที่มา: NetBlocks
# Bret Taylor อดีตซีอีโอร่วม Salesforce จะเปิดบริษัทใหม่ด้าน AI ร่วมกับผู้บริหารกูเกิล Bret Taylor อดีตซีอีโอร่วมของ Salesforce ที่เพิ่งลาออกเมื่อเดือนธันวาคม 2022 เตรียมไปเปิดสตาร์ตอัพด้าน AI ร่วมกับ Clay Bavor ผู้บริหารของกูเกิลที่เพิ่งประกาศลาออกเมื่อวานนี้ ปัจจุบัน Clay Bavor มีตำแหน่ง VP, Labs ดูแลโปรเจคใหม่ๆ ของกูเกิล แต่ก่อนหน้านี้รับผิดชอบงานด้าน AR/VR ทั้งหมด ซึ่งร่วมถึง Google Lens ด้วย เขาทำงานกับกูเกิลมานาน 18 ปี ตั้งแต่ปี 2005 และเคยร่วมงานกับ Bret Taylor ที่ทำงานกับกูเกิลช่วงนั้น (2003-2007) ซึ่งทั้งสองยังติดต่อกันอยู่ ตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดว่าบริษัทใหม่ของ Bavor และ Taylor ทำธุรกิจด้านไหนของ AI โดย Bavor บอกว่าเขาจะส่งมอบงานให้เรียบร้อยก่อน แล้วไปเริ่มงานใหม่ในเดือนมีนาคม Bret Taylor เป็นหนึ่งในผู้สร้าง Google Maps จากนั้นออกไปทำ FriendFeed แล้วขายให้ Facebook และนั่งเป็นซีทีโอของ Facebook จนถึงปี 2012 แล้วลาออกมาเปิดบริษัทที่สองคือ Quip ซึ่งขายให้ Salesforce ในปี 2016 แล้วไต่เต้าขึ้นมาจนเป็นซีอีโอร่วมของ Salesforce นอกจากนี้เขายังเป็นประธานบอร์ดคนสุดท้ายของ Twitter ก่อน Elon Musk ซื้อกิจการด้วย (บอร์ดชุดเก่าลาออกหลังซื้อกิจการเสร็จสิ้น) ประวัติการทำงานของ Bret Taylor ที่ไม่ธรรมดา เพราะมีทั้งเปิดบริษัทของตัวเอง ขายกิจการ ไต่เต้าขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรใหญ่ ทำซ้ำได้ 2 รอบ ทำให้บริษัทที่สามของเขาถูกจับตาอย่างมากว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน Clay Bavor (ซ้าย) และ Bret Taylor (ขวา) ที่มา - Clay Bavor LinkedIn, 9to5google
# Cloudflare ขอโทษลูกค้าลงบล็อกบริษัท หลังวิศวกรไปบีบแบนวิดท์โดยไม่ได้รับอนุญาต สัปดาห์ที่ผ่านมา Tardis.dev เว็บให้บริการ API สำหรับตลาดคริปโตออกมาโวย Cloudflare ว่าบีบแบนวิดท์บริการแม้จะใช้งานแบบจ่ายเงินผ่านทาง Cloudflare Workers ก็ตาม ล่าสุดทาง Cloudflare ออกมาขอโทษผู้ใช้และระบุว่าจะปรับกระบวนการทำงานไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก ทาง Tardis ใช้ Cloudflare Workers เพื่อตอบ API ไปยังลูกค้าเป็น JSON โดยมีการยิงข้อมูลค่อนข้างมาก เดือนละ 4 พันล้านรายการรวมแบนวิดท์ 1PB ต่อเดือน อยู่ๆ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาบริษัทก็ถูกบีบแบนวิดท์จาก Cloudflare ไปยังเซิร์ฟเวอร์ของบริษัท ทำให้ API ไม่สามารถใช้งานได้อีก ผู้ก่อตั้งติดต่อซัพพอร์ต แต่ซัพพอร์ตของบริษัทก็ตอบว่า Tardis ใช้แบนวิดท์ขนาดใหญ่เพื่อส่งไฟล์ JSON ซึ่งผิดข้อตกลงการใช้งาน Cloudflare ที่ให้ส่ง HTML เป็นหลัก และเมื่อพยายามติดต่อเซลล์ทางเซลล์ก็พยายามโน้มน้าวให้อัพเกรดเป็นบัญชี Enterprise แทน หลังจากคุยกับเจ้าหน้าที่ของ Cloudflare แล้วไม่ได้คำตอบ ผู้ก่อตั้ง Tardis จึงเลือกโวยผ่านเว็บบอร์ด YCombinator ซึ่ง John Graham-Cumming CTO ของ Cloudflare ก็มารับเรื่องด้วยตัวเอง อย่างไรก็ดี Cloudflare Workers ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องส่งไฟล์ HTML เท่านั้น ข้อตกลงการใช้งานของ Cloudflare Developer Platform ระบุชัดว่าสามารถใช้ส่งข้อมูลได้ทั้ง HTML และ non-HTML แต่ข้อตกลงการใช้งานก็ระบุว่า Cloudflare สามารถบีบแบนวิดท์ได้หากกระทบต่อเน็ตเวิร์คของ Cloudflare เอง ทาง Cloudflare ออกมาชี้แจงว่าวิศวกรพบลิงก์เส้นหนึ่งเชื่อมต่อระหว่าง Coudflare กับ Equinix IX เกิดแบนวิดท์เต็มเส้นเป็นระยะเวลาประมาณ 10 นาที เนื่องจาก URL ที่ยิงจาก Cloudflare ไปยัง Origin Server ของ Tardis ต่างกันทั้งหมดทำให้ไม่สามารถแคชข้อมูลได้ วิศวกรที่ดูแลเน็ตเวิร์คจึงตัดสินใจบีบแบนวิดท์ของ Tardis ลง ทาง Cloudflare ชี้แจงว่าที่ผ่านมาไม่มีนโยบายจะบีบแบนวิดท์ลูกค้าที่ใช้แบนวิดท์สูง เมื่อพบปัญหาแล้วก็ปลดการบีบแบนวิดท์หลังจากเปิดใช้งานไปเกือบ 13 ชั่วโมง พร้อมกับขอโทษและสัญญาว่าจะปรับนโยบายการทำงานให้ชัดเจนกว่านี้ ที่มา - Cloudflare ขนาดของ request ของ Tardis เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และปริมาณ request เพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ครั้งต่อวินาทีทำให้ลิงก์ของ Cloudflare เต็ม
# Jack Dorsey หายเงียบบน Twitter ไปเล่นโซเชียลใหม่ Nostr สถาปัตยกรรมกระจายศูนย์ Jack Dorsey อดีตซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter เงียบไปมากในช่วงหลัง แต่มีคนพบว่าเขาย้ายไปโพสต์ในโซเชียลตัวใหม่ชื่อ Nostr Nostr เป็นโปรโตคอลโซเชียลหน้าตาแบบเดียวกับ Twitter แต่ออกแบบสถาปัตยกรรมให้กระจายศูนย์ (ด้วยไอเดียที่ต่างจาก Mastodon) ตัวโครงการพัฒนาแบบโอเพนซอร์สบน GitHub แนวคิดของมันคือผู้ใช้แต่ละคนยืนยันอัตลักษณ์ด้วย public key (เหมือนกับวงการเงินคริปโต) แต่ไม่ต้องเลือกเซิร์ฟเวอร์แบบ Mastodon เพราะผู้ใช้แต่ละคนกระจายเนื้อหาของตัวเองจากไคลเอนต์เลย แล้วกระจายต่อผ่าน "relay" ที่ใครก็สามารถรันได้ เป็นเครือข่ายกระจายศูนย์ที่ไปไกลกว่า Mastodon Nostr ถูกออกแบบมาให้ "เซ็นเซอร์ไม่ได้" เพราะไม่มีเซิร์ฟเวอร์ตรงกลาง สิ่งที่ทำได้คือเลือกตามหรือไม่ตามผู้ใช้แต่ละคนเท่านั้น ซึ่งเป็นสิทธิของทั้งผู้ใช้และ relay เอง ตัว relay อาจเลือกเก็บเงินจากผู้ใช้เพื่อกระจายข้อความต่อให้ก็ได้ เป็นโมเดลธุรกิจที่เป็นไปได้ของ relay (ที่ตัวโปรโตคอลไม่สนใจ) และจูงใจให้คนมารัน relay กันมากขึ้น ตอนนี้ Nostr ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ตัวมันมีสถานะเป็นโปรโตคอลเท่านั้น และมีไคลเอนต์หลายตัวกำลังพัฒนาให้รองรับฟีเจอร์ของ Nostr บนแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่ง Dorsey เพิ่งออกมาโพสต์เชียร์ Damus (iOS), Amethyst (Android) และ Snort (Web) โพสต์ล่าสุดของ @jack บน Twitter เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ แนะนำให้คนใช้ Nostr
# อโยเดีย คว้ามาตรฐาน CMMI ML3 ก้าวสู่บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เติบโตอย่างยั่งยืน บริษัท อโยเดีย จำกัด (AYODIA CO.,LTD.) ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ให้กับองค์กรชั้นนำต่างๆ ที่มีประสบการณ์มากกว่า 1 ทศวรรษ กล่าวถึงความสำเร็จในปี 2565 ที่ผ่านมาว่า ทางบริษัทฯ ได้รับการรับรองมาตรฐาน CMMI (Capability Maturity Model Integration) Level 3 ซึ่งสะท้อนความเป็นตัวจริงในด้าน Software Engineer ระดับสากล ทีมผู้บริหารบริษัท อโยเดีย จำกัด รับมอบใบประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐาน CMMI ML 3 จาก ดร.ชยากร ปิยะบัณฑิตกุล (ที่สองจากซ้าย) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอเซ็ม จำกัด เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 อานนท์ ตั้งสถิตพร กรรมการผู้จัดการใหญ่, จักรพงศ์ นาคเดช รองกรรมการผู้จัดการ และเตวิช ตั้งสถิตพร รองกรรมการผู้จัดการ 3 ผู้ก่อตั้ง กล่าวว่า สำหรับ Capability Maturity Model Integration หรือ CMMI คือมาตราฐานกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่กำหนดขึ้นโดยสถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์ มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา (Software Engineering Institute, Carnegie Mellon University, USA) หากองค์กรใดได้รับรองมาตรฐาน CMMI Level 3 ขึ้นไป ถือว่าองค์กรนั้นมี กระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งองค์กร เป็นที่น่าเชื่อถือ ในระดับสากล ซึ่งในประเทศไทยมีบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์เพียงไม่กี่แห่งที่ได้รับมาตรฐานระดับนี้ อีกทั้งบริษัทฯ ยังได้รับการคัดเลือกจากเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์ปาร์ค) โดยการสอบสัมภาษณ์ผู้บริหารให้ได้รับทุนสนับสนุนในการทำการตรวจวัดและประเมินมาตรฐาน CMMI ในครั้งนี้ด้วย สามผู้ก่อตั้งบริษัท อโยเดีย จำกัด (จากซ้ายไปขวา) เตวิช ตั้งสถิตพร รองกรรมการผู้จัดการ, อานนท์ ตั้งสถิตพร กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ จักรพงศ์ นาคเดช รองกรรมการผู้จัดการ “ผมมีความภูมิใจที่อโยเดียได้รับการรับรองมาตรฐานระดับนี้ ซึ่งชี้วัดความมีมาตรฐานในกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ของเรา นอกจากมาตรฐานนี้จะช่วยสนับสนุนให้อโยเดียได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าแล้ว ยังส่งผลบวกต่อตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านต่างๆ ของบริษัท ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การยืนยันความเป็นมืออาชีพ และความเป็นตัวจริงของบุคลากรภายในองค์กร อันนำมาซึ่งความภาคภูมิใจของพนักงานทุกคน” อานนท์กล่าว บริษัท อโยเดีย จำกัด เป็นองค์กรที่เต็มเปี่ยมไปด้วยศักยภาพในการพัฒนาซอฟต์แวร์ตามความต้องการของลูกค้า ด้วยการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ ความใส่ใจในการวิเคราะห์และออกแบบระบบ กระบวนการทำงานที่เป็นไปตามหลักวิศวกรรมซอฟต์แวร์ และการนำเอาเทคนิคและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัยมาใช้ แม้จะเป็นองค์กรที่ยังมีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่อโยเดียสามารถส่งมอบสินค้าและบริการได้ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง มีลูกค้าทั้งองค์กรเอกชนชั้นนำ และภาครัฐ รวมถึงภาคการเงิน การธนาคาร ไว้วางใจมาโดยตลอด โดยศักยภาพในการพัฒนาซอฟต์แวร์ของบริษัทฯ มีครบรอบด้าน ทั้งการพัฒนาในรูปแบบ Application, Web Application ตลอดจนการพัฒนา Mobile Application มีขีดความสามารถในการออกแบบและพัฒนาระบบที่มีขนาดใหญ่ และมีความซับซ้อนเชิงโครงสร้างให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย ทั้งนี้ อานนท์กล่าวเพิ่มเติมว่า “คุณภาพซอฟต์แวร์ไม่ได้ขึ้นกับการทำงานได้ถูกต้องตามความต้องการเท่านั้น (Functional Requirements) แต่ความต้องการด้านอื่นที่แฝงอยู่ซึ่งไม่เกี่ยวกับความต้องการโดยตรง (Non-Functional Requirements) เช่น ประสบการณ์ใช้งานที่ลื่นไหล ไม่ค้างหรือสะดุด, ความปลอดภัยของระบบ ไปจนถึงความสะดวกในการบำรุงรักษา ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน” โดยอโยเดียยังมีผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปด้านงานบุคคล (HR Suite), งานชีวอนามัย (Health Risk Assessment), ระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (HIS) และระบบบริหารสถานพยาบาลภายในองค์กร (PromptCure Solution) ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในทุกภาคธุรกิจอย่างแท้จริง อานนท์ ตั้งสถิตพร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อโยเดีย จำกัด “อโยเดียพร้อมรักษาและยกระดับมาตรฐานกระบวนการการทำงานอย่างต่อเนื่อง มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่บุคลากรล้วนภาคภูมิใจที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และในปี 2566 นี้ เรามีเป้าหมายด้านการรักษามาตรฐาน CMMI และ ISO29110 และจะยกระดับต่อยอดด้วยการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 27001 ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบความปลอดภัยของข้อมูล เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง และทำงานเพื่อส่งมอบความสำเร็จให้กับลูกค้าได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด” คุณอานนท์กล่าวทิ้งท้าย ทีมผู้บริหาร และพนักงาน บริษัท อโยเดีย จำกัด ถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน ในงานรับมอบใบประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐาน CMMI ML3 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมของอโยเดียได้ที่ https://ayodiacompany.com/
# Salesforce ได้ใช้งาน GPT ด้วย เตรียมเปิดตัวบ็อต EinsteinGPT ทำงานแทนเซลส์ Salesforce เป็นบริษัทล่าสุดที่ได้เข้าถึง GPT โดยระบุว่าจะนำมาผนวกเข้ากับแพลตฟอร์ม AI ของตัวเองชื่อ Einstein เป็นบริการแชทบ็อต EinsteinGPT สำหรับงานเซลส์ Marc Benioff ซีอีโอของ Salesforce โพสต์ข้อมูลสั้นๆ ในทวิตเตอร์ว่า EinsteinGPT จะสามารถสร้าง lead ที่นำไปสู่การขายได้จนถึงการคุยเพื่อปิดดีลลูกค้า รายละเอียดเพิ่มเติมจะแถลงในงาน Trailblazer วันที่ 7 มีนาคม
# Alibaba ก็มา! บอกบริษัทกำลังพัฒนาแชทบ็อทแบบ ChatGPT ตัวแทนของ Alibaba ให้ข้อมูลกับ CNBC ว่าบริษัทกำลังพัฒนาแชทบ็อท AI แนวเดียวกับ ChatGPT ซึ่งตอนนี้กำลังทดสอบกันภายในบริษัทอยู่ ทำให้ Alibaba เป็นบริษัทเทครายใหญ่รายล่าสุดที่ประกาศทำโครงการแชทบ็อท AI ก่อนหน้านี้ Baidu บริษัทเทครายใหญ่ของจีนก็ประกาศทำแชทบ็อท AI ในชื่อ ERNIE Alibaba ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าบริษัทมีโครงการ AI สร้างเนื้อหาหรือ Generative AI ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งนำมาสนับสนุนโครงการแชทบ็อทได้ แต่ไม่ได้บอกว่าแชทบ็อทจะมีออกมาให้ทดสอบได้ทั่วไปเมื่อใด ที่มา: CNBC
# กูเกิลออกโฆษณา Super Bowl ชูฟีเจอร์ Magic Eraser และ Unblur ของ Pixel 7 กูเกิลเผยแพร่คลิปโฆษณา Pixel 7 ที่จะฉายในการแข่ง Super Bowl ช่วงสุดสัปดาห์นี้ ใช้ชื่อว่า Fixed on Pixel ชูฟีเจอร์ Magic Eraser ลบส่วนที่ไม่ต้องการในรูป และ Photo Unblur แก้ปัญหารูปถ่ายเบลอด้วยพลัง AI ซึ่งสามารถใช้กับรูปเก่าหรือรูปที่ถ่ายด้วยมือถือเครื่องอื่นได้ด้วย โฆษณานี้ได้นักแสดง Amy Schumer, นักบาสเก็ตบอล Giannis Antetokounmpo และนักดนตรี Doja Cat มาร่วมแสดง ถือเป็นทิศทางของกูเกิลที่จริงจังกับการโฆษณา Pixel ให้คนรู้จักในวงกว้างมากขึ้น สอดคล้องกับยอดขาย Pixel ช่วงหลังที่เติบโตขึ้นมาก ที่มา - Google
# Apple จดสิทธิบัตร ระบบ Face ID ฝังใต้หน้าจอ เปิดหน้าสแกนหน้าไร้ notch? Apple เพิ่งได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรใหม่ ที่ว่าด้วยการซ่อนเซ็นเซอร์อยู่ภายใต้หน้าจอ ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ระบบสแกนหน้าอย่าง Face ID แต่รวมถึง Touch ID และเซ็นเซอร์อื่นๆ อย่าง เซ็นเซอร์โมชัน เซ็นเซอร์วัดแรงกด เซ็นเซอร์จับ Air Gesture ฯลฯ Apple ระบุด้วยว่านวัตกรรมนี้ ไม่ได้จะจำกัดแค่เฉพาะบน iPhone แต่อาจจะเอาไปใช้กับ iPad, Macs, Apple Watch, แว่นและเฮ้ดเซ็ต MR ด้วย ที่มา - Patently Apple
# Pikmin 4 โชว์เกมเพลย์ เพิ่ม Ice Pikmin และเลี้ยงหมาได้ วางขาย 21 ก.ค. 2023 นินเทนโดโชว์เกมเพลย์ของ Pikmin 4 เป็นครั้งแรก หลังเปิดตัวว่าจะทำเกมภาคนี้เมื่อเดือนกันยายน 2022 โดยประกาศวันวางขาย 21 กรกฎาคม 2023 Pikmin 4 ยังคงแนวทางของเกมภาคก่อนๆ คือ มนุษย์อวกาศเดินทางมายังดาวที่มีสัตว์ Pikmin หน้าตาเหมือนพืช แต่ภาคนี้เพิ่มของใหม่คือ Ice Pikmin พลังน้ำแข็ง ใช้เปลี่ยนบ่อน้ำให้เป็นน้ำแข็งได้ และหมา Oatchi ที่ใช้ขี่หรือทำลายสิ่งของใหญ่ๆ ในฉากได้
# Nintendo Switch Online เพิ่มการเล่นเกมเก่าจาก Game Boy และ Game Boy Advance นินเทนโดประกาศนำเกมเก่าจาก Game Boy & Game Boy Advance มาให้เล่นบน Switch สำหรับสมาชิก Nintendo Switch Online สมาชิก Nintendo Switch Online (19.99 ดอลลาร์ต่อปี) ได้สิทธิเล่นเกมเก่าจาก Famicom และ Super Famicom อยู่แล้ว คราวนี้จะได้สิทธิเล่นเกมจาก Game Boy เพิ่มเข้ามาด้วย ตัวอย่างเกมได้แก่ Tetris, Super Mario Land 2, Matroid II, Zelda: Link's Awakening DX (เวอร์ชันสี), Kirby's Dream Land (รายชื่อทั้งหมด) ส่วนสมาชิกเกรดพรีเมียมที่ซื้อ Expansion Pack ด้วย (49.99 ดอลลาร์ต่อปี) ก่อนหน้านี้ได้สิทธิเล่นเกม Nintendo 64 และ Mega Drive รอบนี้ได้สิทธิเล่นเกม Game Boy Advance ตัวอย่างเกมได้แก่ Zelda: The Minish Cap, Mario & Luigi: Superstar Saga, Mario Kart: Super Circuit (รายชื่อทั้งหมด) ที่มา - Nintendo
# นินเทนโดรีมาสเตอร์ Metroid Prime Remastered เกม 3D Metroid เกมแรกจาก GameCube นินเทนโดประกาศรีมาสเตอร์ Metroid Prime ที่ออกบนเครื่อง GameCube เมื่อปี 2002 มาลง Nintendo Switch โดยอัพเกรดกราฟิกให้ทันสมัยขึ้น Metroid Prime เป็นเกมแนว 3D FPS เกมแรกของซีรีส์ Metroid ที่เดิมเป็นเกม 2D มุมมองด้านข้าง เนื้อเรื่องของ Prime อยู่ระหว่าง Metroid 1 และ 2 พัฒนาโดย Retro Studios สตูดิโอจากเท็กซัสในเครือนินเทนโดเอง เกมภาคต้นฉบับทำคะแนนรีวิวไว้สูงถึง 97/100 และถือเป็นเกม Metroid ภาคที่ขายดีที่สุดมา 20 ปี จนกระทั่งถูก Metroid Dread แซงเมื่อปีที่แล้ว เกมซีรีส์ Prime มีทั้งหมด 3 ภาค ภาคสุดท้ายออกเมื่อปี 2007 บนเครื่อง Wii โดย Retro กำลังพัฒนาภาค 4 มาตั้งแต่ปี 2017 แต่ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า Metroid Prime Remastered วางขายแล้ววันนี้บน eShop ในราคา 39.99 ดอลลาร์ เกมแบบแผ่นจะวางขาย 22 กุมภาพันธ์ 2023
# Zelda: Tears of the Kingdom ประกาศราคา 70 ดอลลาร์ เป็นเกมแรกของ Switch นินเทนโดออกเทรลเลอร์ใหม่ของ The Legend of Zelda: Tears of the Kingdom เกมใหญ่ประจำปีนี้ โดยยืนยันวันวางขาย 12 พฤษภาคม 2023 เช่นเดิม หลังจากที่เลื่อนมาแล้วหนึ่งรอบ ประเด็นที่สร้างเสียงวิจารณ์คือราคาเกม 69.99 ดอลลาร์ ถือเป็นเกมแรกของ Switch ที่ขึ้นราคามาในระดับ 70 ดอลลาร์ ตามแนวทางของเกมสมัยนี้ ที่โซนี่ และไมโครซอฟท์ ขึ้นราคาไปก่อนแล้ว Tears of the Kingdom เป็นภาคต่อโดยตรงของ Breath of the Wild ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของซีรีส์ Zelda ที่มีภาคต่อโดยตรงด้วย เกมเปิดตัวครั้งแรกในปี 2019 เนื้อเรื่องภาคนี้จะเน้นการต่อสู้บนเกาะลอยฟ้าที่ลอยอยู่เหนืออาณาจักร Hyrule
# Android 14 Developer Preview 1 ออกแล้ว ขยายฟอนต์ได้เพิ่มเป็น 200% กูเกิลออก Android 14 Developer Preview 1 (DP1) รุ่นทดสอบแรกของปีนี้ ของใหม่ยังเน้นที่ระดับฐานรากของ OS เช่นเดิม ปรับปรุงการทำงานกับหน้าจอขนาดใหญ่ ต่อยอดจาก Android 12L และ 13 ปรับ API ที่เกี่ยวกับงานเบื้องหลัง ได้แก่ JobScheduler และ Foreground Services รวมถึงการกระจายข่าวภายในระหว่างแอพด้วยกัน (internal broadcast system) ให้ประหยัดแบตเตอรี่มากขึ้น แอพที่ต้องใช้การปลุกเรียกตามเวลาที่กำหนด (exact alarm) ต้องขอสิทธิเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้แอพปลุกเรียกพร่ำเพรื่อจนเปลืองแบต ยกเว้นแอพกลุ่มปฏิทินและนาฬิกา ปรับเรื่องการขยายฟอนต์ จากเดิมทำได้สูงสุด 130% ตอนนี้เพิ่มเป็น 200% และเป็นการขยายแบบ non-linear คือฟอนต์แต่ละส่วนจะขยายในอัตราไม่เท่ากัน ฟอนต์ที่ใหญ่อยู่แล้วจะขยายเพิ่มอีกไม่เยอะ เทียบกับฟอนต์เล็กแล้วขยายให้ใหญ่ขึ้น เริ่มจำกัดการติดตั้งแอพที่เก่ามากๆ (Android 6.0 API level 23) เพื่อแก้ปัญหามัลแวร์ เพิ่ม Jetpack API ตัวใหม่ Credential Manager ใช้จัดการเรื่องล็อกอิน และรองรับ Passkeys รองรับคลาสจาก OpenJDK 17 แล้ว และตั้งใจจะรองรับฟีเจอร์ของ Java 17 ให้ครบทั้งหมด ฟีเจอร์นี้จะทยอยอัพเดตให้ Android รุ่นเก่าด้วย เพราะเป็นการอัพเดตตัว Android Runtime (ART) ผ่าน Google Play (Project Mainline) แผนการออก Android 14 ยังเดินตามแนวทางของปีก่อนๆ คือออก Developer Preview 2 รุ่น, Beta 4 รุ่น และออกตัวจริงช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ตอนนี้ Android 14 DP1 ออกอิมเมจให้ทดสอบแล้วกับมือถือกลุ่ม Pixel โดยต้องเป็น Pixel 4a (5G) หรือใหม่กว่า ที่มา - Android Developers Blog
# Disney+ จำนวนสมาชิกลดลงเป็นครั้งแรก เฉพาะ Disney+ Hotstar ลดลง 3.8 ล้านบัญชี ดิสนีย์รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 1 ตามปีการเงินบริษัท 2023 สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2022 มีตัวเลขไฮไลท์คือจำนวนสมาชิก Disney+ ลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มให้บริการมา จาก 164.2 ล้านบัญชี ในไตรมาสก่อนหน้า เป็น 161.8 ล้านบัญชี จำนวนที่ลดลงมาจากทั้งสมาชิก Disney+ ในอเมริกาเองที่ลดลง 2 แสนบัญชี และส่วนของ Disney+ Hotstar ที่ลดลง 3.8 ล้านบัญชี ขณะที่ Disney+ ประเทศอื่นภาพรวมเพิ่มขึ้น ซีอีโอ Bob Iger ที่เพิ่งกลับมารับตำแหน่งซีอีโออีกครั้ง ยังประกาศแผนลดค่าใช้จ่ายเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจะปลดพนักงานราว 7,000 คน แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าแผนกหรือฝ่ายใดได้รับผลกระทบบ้าง เขายังพูดถึงธุรกิจสตรีมมิ่งว่าโฟกัสหลักคือการทำให้ส่วนธุรกิจนี้มีกำไร โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นกำไรในปีการเงิน 2024 ส่วนแพ็คเกจราคาถูกลงที่มีโฆษณา ซึ่งให้บริการในบางประเทศ ยังไม่เห็นผลกระทบต่อรายได้ชัดเจน เนื่องจากเพิ่งเริ่มให้บริการเมื่อเดือนธันวาคม ที่มา: ดิสนีย์ (pdf) และ The Verge
# Netflix ขยายระบบป้องกันหารบัญชีไปอีก 4 ประเทศ แคนาดา นิวซีแลนด์ โปรตุเกส และสเปน Netflix เดินหน้าระบบป้องกันหารบัญชีต่อ หลังจากให้รายละเอียดเงื่อนไขการทำงานไปก่อนหน้านี้ โดยเพิ่มผู้ใช้งานในแคนาดา นิวซีแลนด์ โปรตุเกส และสเปน เป็นกลุ่มประเทศถัดไป ที่ต้องสร้างบัญชีแยกหากมีการหารบัญชี และไม่ได้รับชมภายในบ้านหลังเดียวกัน เงื่อนไขก็เหมือนที่ Netflix เคยอธิบายก่อนหน้านี้คือ ผู้ใช้งานเจ้าของบัญชี ต้องกำหนดสถานที่รับชมหลัก กำหนดอุปกรณ์ที่ใช้รับชมเข้าถึงบัญชี และหากเดิมมีบัญชีหารอยู่ด้วย ให้สร้างบัญชีแยกออกไป และเพิ่มเงินเล็กน้อยหากต้องการพ่วงกับบัญชีเดิมต่อไป ทั้งนี้ Netflix บอกว่าการรับชมยังทำได้แบบเดิม ทั้งบนมือถือนอกสถานที่ หรือรับชมผ่านทีวีในโรงแรมที่ไปพัก Netflix ให้เหตุผลของการควบคุมดังกล่าว ว่าปัจจุบันมีการหารบัญชีมากกว่า 100 ล้านหลังคาเรือน กระทบต่อความสามารถในการลงทุนสร้างคอนเทนต์ใหม่ในอนาคตของบริษัท แพ็คเกจที่ออกมานี้ก็มีทางเลือกให้กับผู้ใช้งานที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างการคิดราคาที่จ่ายเพิ่ม เช่น ผู้ชมในสเปน แพ็คเกจ Standard อยู่ที่ 12.99 ยูโรต่อเดือน เพิ่มบัญชีพ่วงได้สูงสุด 1 บัญชีที่ 5.99 ยูโรต่อเดือน ส่วน Premium ราคา 17.99 ยูโรต่อเดือน เพิ่มบัญชีพ่วงได้สูงสุด 2 บัญชีที่ 5.99 ยูโรต่อเดือนต่อบัญชี ที่มา: Netflix
# Twitter ขยายความยาวทวีตเป็น 4,000 ตัวอักษร เฉพาะลูกค้า Twitter Blue ในอเมริกาก่อน Twitter ประกาศขยายความยาวสูงสุดของทวีตจากเดิม 280 ตัวอักษร เป็น 4,000 ตัวอักษร อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนจะได้สิทธินั้น เพราะต้องเป็นลูกค้าแบบเสียเงินรายเดือน Twitter Blue ด้วย และเบื้องต้น Twitter เพิ่มฟีเจอร์นี้ให้เฉพาะลูกค้าในอเมริกาก่อน ทั้งนี้การแสดงทวีตที่มีข้อความยาวในไทม์ไลน์ จะถูกตัดที่ 280 ตัวอักษร และเพิ่มคำว่า Show More เพื่อให้คลิกแสดงข้อความทั้งหมดต่อ ฉะนั้นทวีตที่ยาวก็จะแสดงผลจนกินพื้นที่ไทม์ไลน์ ลูกค้า Twitter Blue ที่สามารถทวีตได้ 4,000 ตัวอักษรตอนนี้ จะสามารถพิมพ์แบบยาวได้ทั้งทวีตปกติ เมนชัน และ Quote แต่ยังไม่สามารถ Draft หรือ Schedule บนเว็บได้ นอกจากนี้ Twitter Blue ยังประกาศเพิ่มประเทศที่สามารถสมัครใช้งานได้ ได้แก่ อินเดีย บราซิล และอินโดนีเซีย ยังไม่มีประเทศไทย และที่น่าสนใจคือราคาค่าสมาชิกของทั้ง 3 ประเทศ ก็เป็นราคาประมาณ 8 ดอลลาร์ เช่นกัน ไม่คิดราคาถูกกว่าประเทศอื่น หากเทียบกับบริการ Subscription ตัวอื่น ที่มักทำราคาถูกกว่าในประเทศกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตามหลัง Twitter ประกาศเพิ่มความยาวทวีตไม่กี่ชั่วโมง ระบบก็พบปัญหาไม่สามารถทวีตข้อความได้ ตั้งแต่เวลาประมาณ 4:00น. ตามเวลาไทย โดยตอนนี้ระบบกลับมาเป็นปกติแล้ว ไม่รู้ว่าประกาศฟีเจอร์ใหม่นี้จะช่วยเพิ่มจำนวนสมาชิกได้มากน้อยแค่ไหน ที่มา: The Verge, 9to5Mac และ TechCrunch
# Uber ไตรมาส 4/2022 รายได้-กำไร เติบโตแข็งแกร่ง ทั้งจากรถโดยสารและเดลิเวอรี Uber รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 4 ปี 2022 ปริมาณการจ่ายเงินผ่านแพลตฟอร์มสุทธิหรือ Gross Booking เพิ่มขึ้น 26% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนเป็น 30,749 ล้านดอลลาร์ จำนวนทริปเพิ่มเป็น 2,104 ล้านทริป (รวมทั้งแท็กซี่และเดลิเวอรี) เป็นจำนวนรวมมากที่สุดที่เคยมีมาในไตรมาส คิดเป็นรายได้ของ Uber 8,607 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 49% และมีกำไรสุทธิ 595 ล้านดอลลาร์ ซีอีโอ Dara Khosrowshahi กล่าวว่าเป็นการปิดปี 2022 ด้วยไตรมาสที่แข็งแกร่งที่สุดที่เคยมีมาของ Uber ทั้งความต้องการของลูกค้าที่เติบโต ตลอดจนอัตรากำไรที่เป็นสถิติ ซึ่งสเกลธุรกิจของ Uber ที่มีอยู่ทั่วโลก จะช่วยให้บริษัทเติบโตต่อเนื่องในปี 2023 ตัวเลขเด่นของ Uber ไตรมาสที่ผ่านมา: จำนวนผู้ใช้งานเพิ่มเป็น 131 ล้านคน, รันเรตรายได้จากโฆษณาเพิ่มเป็น 500 ล้านดอลลาร์, เดลิเวอรียังเติบโตทั้งจำนวนร้านค้า ขนาดออเดอร์ โดยทั้งสองธุรกิจหลัก รถโดยสารและเดลิเวอรี ต่างมีกำไร EBITDA เป็นบวก ที่มา: Uber
# หุ้นกูเกิลร่วง หลังนักลงทุนพบแชตบอต Bard ให้ข้อมูลผิด สำนักข่าวรอยเตอร์สพบว่าแชตบอต Bard ที่กูเกิลเพิ่งเปิดตัวไปกลับตอบคำถามผิด โดย Bard ให้ข้อมูลว่ากล้อง JWST ถ่ายภาพดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (exoplanet) ได้เป็นครั้งแรก แม้ว่าที่จริงแล้วกล้องโทรทรรศน์ของสหภาพยุโรปจะถ่ายภาพดาวเคราะห์ 2M1207b ได้ตั้งแต่ปี 2004 ก็ตาม หลังมีข่าว หุ้นกูเกิลตกจากก่อนหน้า ราคา 106.77 ดอลลาร์ ลงไปต่ำสุดในรอบสัปดาห์เหลือ 98.04 ดอลลาร์ก่อนจะกลับขึ้นมาได้เล็กน้อย แม้ว่ากูเกิลจะเตือนตั้งแต่แรกว่า Bard อาจจะให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง แต่การที่ข้อมูลผิดตั้งแต่คำถามแรกที่นำมาโฆษณาก็อาจจะแสดงว่ากูเกิลไม่พร้อมให้บริการนัก Bard ยังไม่เปิดให้บริการแก่คนทั่วไป ขณะที่ไมโครซอฟท์นั้นเริ่มนำ Prometheus Model มาให้บริการแล้วแต่ยังจำกัดจำนวนผู้ใช้งานและต้องลงชื่อรอคิว ที่มา - Reuters
# Google อัพเดต: Maps Immersive เปิดใช้แล้วบางเมือง, Multisearch เปิดใช้ทั่วโลก นอกจากอัพเดตของ Google Translate ในงานแถลงข่าวของกูเกิลที่ปารีส เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสิร์ชและ AI กูเกิลยังประกาศเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Google Maps และเสิร์ชดังนี้ Google Maps Immersive view แผนที่แบบแสดงภาพโมเดล 3 มิติของสถานที่สำคัญ รวมกับภาพ Street View ซึ่งประกาศเมื่อปีที่แล้ว พร้อมให้ใช้งานแล้วใน 5 เมืองคือ ลอนดอน ลอสแอนเจลิส นิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก และโตเกียว ส่วนเมืองที่จะเพิ่มมาในรอบถัดไป เช่น อัมสเตอดัม ดับลิน ฟลอเรนซ์ และ เวนิส Live View เสิร์ชแสดงในแผนที่ด้วย AR จะเพิ่มข้อมูล สนามบิน สถานีรถไฟ และศูนย์การค้า อีกกว่า 1,000 แห่ง ของหลายเมือง เช่น บาร์เซโลนา ลอนดอน แมดริด เมลเบิร์น สิงคโปร์ และไทเป ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า Multisearch ระบบค้นหาที่ผสมทั้งภาพ Google Lens และใส่ข้อความเพิ่มเติม เช่น ถ่ายรูปเสื้อ แล้วระบุสีที่ต้องการ ทำให้ค้นภาพได้ตรงความต้องการมากขึ้น ขยายการรองรับกับผู้ใช้งานทั่วโลกตั้งแต่วันนี้ หากพื้นที่นั้นรองรับ Google Lens ของใหม่อื่นได้แก่ เพิ่มฟีเจอร์เกี่ยวกับ EV เช่น จุดชาร์จ ฟาสต์ชาร์จ ในรถยนต์ที่เป็น Cars with Google built-in, ระบบแนะนำเส้นทาง เพิ่มการบอก ETA ก่อนถึงจุดที่ต้องหันเปลี่ยนเส้นทาง และ Android จะรองรับการเสิร์ช Google Lens ตรงจากภาพที่แสดงในหน้าจอตอนนั้น (เช่น เพื่อนส่งรูปมาให้ในแชต) ช่วยลดขั้นตอนให้สะดวกขึ้น ที่มา: กูเกิล [1], [2]
# Google Translate เพิ่มคุณสมบัติแปลคำแบบตามบริบท ในงานแถลงข่าวของกูเกิลที่ปารีส กูเกิลประกาศคุณสมบัติของ Google Translate ที่ตอนนี้มีผู้ใช้งานมากกว่า 1 พันล้านคน โดยอาศัย AI มาเสริมพลังในการแปล ฟีเจอร์แรกคือ Contextual Translation หรือการแปลโดยเพิ่มบริบทประกอบ เนื่องจากหลายคำอาจมีหลายความหมายที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่อยู่ที่บริบทของประโยครอบ ๆ ซึ่ง Google Translate จะแนะนำรูปแบบประโยคและความหมายที่ต่างกันมาให้ ตัวอย่างคำว่า bass ซึ่งเป็นได้ทั้งอาหารและดนตรี เบื้องต้นรองรับภาษา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น และสเปน เตรียมอัพเดตในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ฟีเจอร์อื่นที่ประกาศ ได้แก่ แอป Google Translate จะปรับหน้าตาใหม่ให้ใช้งานง่ายขึ้น โดย Android อัพเดตไปแล้ว iOS จะตามมา ส่วน Image Translation หรือการแปลข้อความในภาพ จะนำ AI มาช่วยให้ข้อความที่แปลทับในรูปมีความกลมกลืนมากขึ้น (ฟีเจอร์นี้เคยประกาศไปแล้ว) ที่มา: กูเกิล
# ไมโครซอฟท์เตรียมใช้เอนจิน Adobe Acrobat ใน Edge ไมโครซอฟท์ประกาศความร่วมมือกับ Adobe เตรียมเปลี่ยนเอนจินเรนเดอร์ PDF มาใช้เอนจินของ Adobe Acrobat สำหรับเรนเดอร์ไฟล์ PDF โดยทั่วไปน่าจะไม่มีผลต่อการอ่านไฟล์นัก แต่จะมีรายละเอียด เช่น การแสดงสีตรงขึ้น, ประสิทธิภาพดีขึ้น, การเลือกข้อความเลือกได้แม่นยำขึ้น รวมถึงมีฟีเจอร์อ่าน PDF เป็นเสียง แต่สำหรับลูกค้า Adobe Acrobat หน้าจอใหม่จะแสดงปุ่มลิงก์ไปแก้ไขไฟล์ PDF ใน Acrobat ได้ทันที และในแง่การตลาดก็จะแสดงโลโก้ Acrobat ในหน้า PDF ด้วย ไมโครซอฟท์จะปล่อยเอนจิน PDF ใหม่นี้เป็นกลุ่มๆ คาดว่าจะเลิกใช้เอนจินเดิมในเดือนมีนาคม 2024 ที่มา - Adobe
# Azure กู้ระบบแอร์ได้แล้ว แต่บริการยังไม่กลับมา ต้องค่อยๆ เปิดทีละส่วน ไมโครซอฟท์รายงานถึงความคืบหน้าของเหตุ Azure ที่สิงคโปร์ล่มไปหนึ่ง Availability Zone ทำให้ลูกค้าจำนวนมากได้รับผลกระทบ โดยตอนนี้สามารถกู้ระบบทำความเย็นได้สำเร็จแล้ว และอุณหภูมิในศูนย์ข้อมูลก็อยู่ในระดับปกติ แต่ความยากคือการเปิดระบบกลับมาจากศูนย์ กระบวนการเปิดศูนย์ข้อมูลกลับมาจะเริ่มจากระบบสตอเรจเป็นอย่างแรก จากนั้นจึงเริ่มเปิดระบบ compute ทั้งหลายซึ่งจะทำให้ระบบกลับมาเต็มรูปแบบ ระบบทำความเย็นเริ่มมีปัญหาตั้งแต่ช่วงตีสามของไทยเมื่อคืนที่ผ่านมา จนตอนนี้ก็กินเวลาเกือบเต็มวันแล้ว และทางไมโครซอฟท์ระบุว่ายังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีกำหนดเปิดระบบกลับคืนได้เมื่อใด ที่มา - Azure Status
# ผู้กำกับ FF7 เล่าความหลัง ต้องเลือกระหว่าง 2D หรือ 3D, ตั้งใจเพิ่มเรื่องใหม่ในภาค Remake Yoshinori Kitase ผู้กำกับเกม Final Fantasy VII ภาคต้นฉบับ และโปรดิวเซอร์ของเกมภาครีเมค ให้สัมภาษณ์กับเว็บ VG247 ในโอกาสครบรอบ 26 ปีของเกมต้นฉบับ Kitase เล่าความหลังตอนเริ่มทำเกมภาค 7 ว่าไอเดียตอนแรกคือทำเกม 2D แบบเดียวกับภาค 6 แต่ไอเดียนี้ถูกยกเลิกไปหลังจากการประชุมวางแผนครั้งแรกๆ เพราะทีมถูกดึงไปทำเกม Chrono Trigger กันก่อน ภายหลังเมื่อ Chrono Trigger เสร็จแล้วจึงกลับมาเริ่มทำภาค 7 กันใหม่ (ไอเดียจากการประชุมครั้งแรกๆ ที่ถูกนำมาใช้คือภาพร่างแม่มดของ Tetsuya Nomura ที่กลายเป็นแม่มด Edea ในภาค 8) หลังจากนั้น ทีมงานต้องตัดสินใจเลือกทำกราฟิกระหว่าง 2D แบบดั้งเดิมกับ 3D CG ที่กำลังมาแรงในยุคนั้น การตัดสินใจย้ายแพลตฟอร์มมา PlayStation ที่มีศักยภาพประมวลผล 3D ได้ บวกกับแนวทางการเก็บข้อมูลลงแผ่นซีดี ทำให้ทีมงานเลือกมาทาง 3D ในที่สุด ระหว่างการพัฒนาเขาได้เห็นนินเทนโดเปิดตัว Mario 64 (ปี 1996) และตื่นเต้นกับมันมาก แต่ก็เป็นแรงผลักดันให้ทีมของเขาต้องหาสไตล์ภาพของตัวเองที่ชัดเจน ต้นแบบ FF7 แบบ 3D ในปี 1995 ที่ใช้ตัวละครจากภาค 6 มาทำเป็นโมเดล 3D Kitase ยังเล่าว่าศึกษาเกมพีซี 3D จากฝั่งยุโรปและอเมริกาจำนวนมาก ที่ระบุชื่อคือ 4D Sports Boxing, Alone in the Dark, Wing Commander, Ultima Underworld, Heart of Darkness เพื่อหาสไตล์ภาพที่เหมาะสมของ FFVII ข้อจำกัดทางเทคนิคเรื่องหน่วยความจำและความเร็วในการเรนเดอร์ ทำให้ฉากที่มีตัวละครเยอะๆ (เช่น ฉากในเมือง) ต้องจำกัดจำนวนโพลีกอนไม่เกินตัวละ 400 ชิ้น ในขณะที่ฉากต่อสู้ของ FFVII มีตัวละครน้อยกว่า จำนวนโพลีกอนสามารถเพิ่มได้เป็น 1,000 ชิ้น จากนั้นทีมงานค่อยออกแบบตัวละครตามข้อจำกัดเรื่องโพลีกอน ถ้าให้มองย้อนกลับไปตอนนี้ โมเดลตัวเอก Cloud ที่มีโพลีกอนเพียง 400 ชิ้นดูเหมือนตุ๊กตาแกะสลักจากไม้ไปซะแล้ว เขายังพูดถึงโปรเจค FFVII Remake ว่าเป้าหมายคือทั้งแฟนเก่าและแฟนใหม่ต้องสนุกกับเกม เขาเคยมีประสบการณ์เล่นเกมเก่าที่ถูกรีเมคแบบเหมือนต้นฉบับ มันสนุกในตอนแรกๆ แต่ความสนุกค่อยๆ หายไปจนเล่นต่อไม่ได้ ดังนั้นเขาจึงตั้งเป้าว่า FFVII Remake ต้องมีเนื้อเรื่องใหม่ๆ เข้ามาให้รู้สึกสดใหม่ด้วย และเราจะได้เห็นสิ่งนี้ในภาค 2-3 (Rebirth) ที่มีทั้งเนื้อเรื่องเดิม 100% และของใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามา Kitase บอกว่าตัวละครที่เขาชอบที่สุดคือ Vincent เพราะเป็นตัวละครที่เขาคิดขึ้นมา และมีบรรยากาศความหลอน (horror vibe) ซึ่งไม่ค่อยมีในซีรีส์ Final Fantasy ที่มา - VG247
# Meta บีบพนง. ระดับเมเนเจอร์ จะเปลี่ยนไปเขียนโค้ดแบบไม่คุมทีมหรือจะออกจากบริษัท แหล่งข่าวของ Bloomberg รายงานว่า Meta มีแผนให้พนักงานในระดับเมเนเจอร์เลือกว่าจะปรับตำแหน่งไปเป็น individual contributor ที่ทำงานแค่ของตัวเอง อย่างเขียนโค้ดหรือวิจัย โดยที่ไม่ต้องคุมทีมเหมือนเดิม หรือจะเลือกลาออกจากบริษัท กระบวนการนี้ถูกเรียกว่า “Flattening” โดยแหล่งข่าวระบุว่า ผู้จัดการระดับสูงจะเป็นผู้แจ้งแผนการนี้ให้พนักงานทราบในช่วงการประเมินผลงานในอีกไม่กี่สัปดาห์ ส่วนสาเหตุที่ Meta ทำแบบนี้เพราะต้องการลดจำนวนพนักงานลงเพื่อให้องค์กรทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อปลายปีที่แล้ว Meta ก็เพิ่งจะปลดพนักงานออก 13% เพื่อลดต้นทุน รวมทั้งมีแผนยกเลิกโครงการที่ไม่ได้สร้างรายได้ให้กับบริษัทมาก อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระบุว่า การปรับลดพนักงานในช่วงนี้จะค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้นโดยพิจารณาเป็นรายบุคคลแทนซึ่งการปลดพนักงานก่อให้เกิดความกดดันอย่างมากต่อพนักงาน ที่มา - Bloomberg
# ผลรีวิว GeForce 4090 บนโน้ตบุ๊ก แรงขึ้นกว่าเดิม แต่จะคุ้มต่อเมื่อเกมรองรับ DLSS 3 วันนี้ 8 กุมภาพันธ์ โน้ตบุ๊กที่ใช้จีพียู GeForce RTX 4080 และ 4090 เริ่มวางขายเป็นวันแรก (ตัวต่ำกว่านี้จะขาย 22 กุมภาพันธ์) ทำให้เราได้เห็นเบนช์มาร์คและประสิทธิภาพของจีพียูรุ่นใหม่กันแล้ว เว็บไซต์ PC Mag รีวิวโน้ตบุ๊กที่ใช้ GeForce 4090 สองรุ่น ได้แก่ Asus ROG Strix Scar 18 และ MSI GT77 Titan ทั้งสองรุ่นใช้ซีพียู Core i9-13980HX เหมือนกัน แต่ต่างกันที่แรม โดยรุ่นของ Asus ใช้แรม 32GB และ MSI ใช้แรม 64GB การรีวิวเทียบกับโน้ตบุ๊กรุ่นเก่าของปีที่แล้วที่ใช้จีพียู GeForce 3080 Ti ผลการรีวิวออกมาตามคาดคือ 4090 มีประสิทธิภาพดีขึ้นจาก 3080 Ti โดยเบนช์มาร์ค 3DMark Time Spy และ GFXBench 5 ได้คะแนนดีขึ้นเท่าตัว ส่วนการเล่นเกมจริงๆ แล้ววัดเฟรมเรต (ทดสอบด้วยเกม F1 2021, Assassin’s Creed Valhalla, Rainbow Six Siege) ได้ประสิทธิภาพดีขึ้นเช่นกัน ที่ความละเอียดระดับ 1080p ได้เฟรมเรต 194 fps (4090) เทียบกับ 122 fps (3080 Ti) แต่ศักยภาพของ GeForce 4090 จะแสดงออกมาเต็มที่ต่อเมื่อเล่นเกมความละเอียด 4K และเปิดใช้ DLSS 3 ที่มีเทคนิค frame generation (FG) ใช้ AI สร้างเฟรมใหม่ขึ้นมาโดยไม่ต้องใช้เอนจินเกมเรนเดอร์ สามารถดันเฟรมเรตขึ้นไปได้สูงอีก 4-5 เท่า ตัวอย่างคือ Cyberpunk 2077 ทำเฟรมเรตได้ 90 fps ถ้าเปิดใช้ DLSS 3+FG เมื่อเทียบกับ 21 fps หากเป็น 4K ปกติโดยปิด DLSS ข้อจำกัดของ DLSS3 ตอนนี้คือยังมีเกมรองรับเพียง 17 เกมเท่านั้น ถึงแม้ NVIDIA ประกาศว่าจะเพิ่มเกมที่รองรับอีก 33 เกมในเร็วๆ นี้ แต่รวมกันแล้วยังเป็นแค่ 50 เกม ถือว่ายังน้อยอยู่ดีเมื่อเทียบกับเกมจำนวนมากในท้องตลาด ดังนั้นความคุ้มค่าของการซื้อโน้ตบุ๊กพลัง 4090 ในตอนนี้จึงขึ้นกับว่าจะนำไปเล่นเกมไหน หากเป็นเกมที่รองรับ DLSS 3 ถึงค่อยเห็นความแตกต่างชัดเจน ที่มา - PC Mag
# พบ Galaxy S23 มีฟีเจอร์ต่อไฟตรงจากสายชาร์จ ไม่ต้องเข้าแบต ลดความร้อนตอนเล่นเกม มีผู้ใช้ Galaxy S23 ค้นพบตัวเลือกฟีเจอร์ชื่อ Pause USB Power Delivery ให้มือถือใช้ไฟตรงจากสายชาร์จเลย ไม่ต้องชาร์จแบตเตอรี่ไปพร้อมกันด้วย (bypass battery) ช่วยลดความร้อนของเครื่องลงในช่วงที่ใช้งานเครื่องหนักๆ เช่น ตอนเล่นเกม ฟีเจอร์นี้จะทำงานเฉพาะในโหมด Game Booster ตอนเสียบสายชาร์จที่เป็น USB-PD เท่านั้น จากการรีวิวของช่อง NL Tech ของมาเลเซีย พบว่าลดการใช้พลังงานลงเหลือ 6W (ใช้ไฟตรงจากสายชาร์จอย่างเดียว) จากเดิม 17W (ใช้ไฟ+ชาร์จแบต) ซัมซุงไม่เคยประกาศถึงฟีเจอร์นี้มาก่อน (อาจเป็นเพราะกลุ่มผู้ใช้ฟีเจอร์นี้อาจไม่ได้เยอะนัก) และยังไม่ชัดเจนว่ามือถือรุ่นอื่นๆ จะได้ฟีเจอร์นี้ด้วยหรือไม่หลังอัพเดตเป็น OneUI 5.1 เวอร์ชันเดียวกับใน Galaxy S23 แล้ว ที่มา - 9to5google
# ศูนย์ข้อมูล Azure ที่สิงคโปร์ไฟกระชาก ระบบความทำเย็นดับ ทำ 1 AZ ใน SEA ล่ม หนึ่งในศูนย์ข้อมูลของ Microsoft Azure ที่สิงคโปร์เกิดเหตุการณ์ไฟกระชาก จนทำให้ระบบทำความเย็นไม่ทำงาน ทาง Microsoft จึงต้องสั่งลดการทำงานศูนย์ข้อมูลลง เป็นเหตุให้ 1 Available Zone ของ South East Asia Region ล่ม ไม่สามารถให้บริการได้ (จากทั้งหมด 3 AZ) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่เวลาประมาณตี 3 เมื่อเช้าบ้านเราที่ผ่านมา จนตอนนี้ยังไม่สามารถกู้ระบบทำความเย็นกลับมาได้ ที่มา - Azure Status
# OnePlus โชว์หน้าตาคีย์บอร์ดแมคคานิคอล Keyboard 81 Pro ที่พัฒนาร่วมกับ Keychron OnePlus โชว์หน้าตาของคีย์บอร์ดแมคคานิคอล OnePlus Keyboard 81 Pro ที่ร่วมพัฒนากับ Keychron และเปิดตัวมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2022 คีย์บอร์ดตัวนี้ยังไม่เปิดเผยราคา บอกว่าจะเริ่มผลิตช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน กระบวนการพัฒนาคีย์บอร์ดตัวนี้เรียกว่า co-creation กับกลุ่มลูกค้าที่สนใจเป็น backer สนับสนุนโครงการ (ลักษณะเดียวกับ Kickstarter) คอยให้ความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ข้อมูลจากหน้าเว็บ OnePlus บอกว่ามีผู้สนับสนุน 3,771 ราย OnePlus Keyboard 81 Pro จะรองรับการใช้งานกับทั้งวินโดวส์ แมค ลินุกซ์ และเน้นเรื่องการปรับแต่งในระดับสูงหลายจุด เช่น hot-swappable switch และเฟิร์มแวร์โอเพนซอร์ส ที่มา - OnePlus, OnePlus
# Baidu ประกาศโครงการแชทบ็อท AI เป็นทางการแล้วในชื่อ ERNIE Baidu ประกาศเป็นทางการแล้ว ตามรายงานข่าวก่อนหน้านี้ ว่าบริษัทเตรียมให้บริการแชทบ็อท AI โดยมีชื่อโครงการว่า ERNIE Bot หรือชื่อภาษาจีน 文心一言 (เหวินซินอี้เหยียน) เริ่มทดสอบภายในเดือนมีนาคม และจะเปิดให้ใช้งานทั่วไปในอนาคต ชื่อ ERNIE ย่อมาจากคำว่า Enhanced Representation through Knowledge Integration พัฒนาด้วย LLM หรือ Large Language Model ซึ่งบริษัทเคยเปิดตัวไปเมื่อ 2019 มีความสามารถรองรับความรู้ต่าง ๆ และสามารถเข้าใจภาษาในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนการสร้างรูปภาพขึ้นจากข้อความ ราคาหุ้นของ Baidu ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 11 เดือน หลังประกาศโครงการแชทบ็อท ERNIE นี้ ที่มา: CNBC
# Apple ปรับหน้าเว็บไซต์ใหม่ มี Drop-down ให้ไปยังสินค้าที่ต้องการเร็วขึ้น แอปเปิลปรับปรุงหน้าแรกของเว็บไซต์ Apple.com มีผลทั้งการเข้าชมผ่านเดสก์ท็อปและบนมือถือ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถไปยังหน้าผลิตภัณฑ์ที่ต้องการได้ง่ายและเร็วขึ้น โดยแถบเมนูด้านบนซึ่งเป็นหมวดผลิตภัณฑ์ เมื่อเลื่อนเมาส์ไปจะแสดงรายการ Drop-down เช่นหัวข้อ iPhone จะแสดงรุ่นต่าง ๆ เพื่อไปยังหน้าของ iPhone รุ่นนั้นได้เลย ส่วนเว็บเวอร์ชันมือถือ รายการเมนูแบบเดียวกันจะไปอยู่ด้านขวามือแทน มีข้อสังเกตว่ารายการหัวข้อในเมนูหลักนั้น ได้เปลี่ยนหัวข้อ Only on Apple มาเป็น Entertainment (ความบันเทิง) แทน เพื่อชูบริการออนไลน์ต่าง ๆ เช่น Apple TV+, Apple Music, Apple Arcade ที่มา: MacRumors
# [ไม่ยืนยัน] Twitter Blue มีผู้สมัครใช้งานทั่วโลก 2.9 แสนคน ยังห่างไกลจากตัวเลขที่ Elon Musk ต้องการ แนวทางหนึ่งที่ Elon Musk ซีอีโอ Twitter พูดมาตลอด คือต้องการหารายได้จากบริการ subscription Twitter Blue ให้มากขึ้น แต่ก็ไม่มีตัวเลขชัดเจนว่าถึงตอนนี้มีคนยอมจ่ายเงินเล่น Twitter โดยสมัครใช้ Twitter Blue แค่ไหน The Information อ้างเอกสารภายในของ Twitter ระบุตัวเลขช่วงกลางเดือนมกราคม มีผู้สมัครใช้ Twitter Blue เฉพาะในอเมริกาประมาณ 180,000 คน เอกสารอีกส่วนบอกว่า มีผู้สมัครใช้งานในอเมริกา 62% ของทั้งหมด แปลว่ามีผู้สมัครใช้รวมทั่วโลก 290,000 คน โดยประมาณ Twitter Blue ปัจจุบันยังเปิดให้สมัครจำกัดประเทศ ในราคา 8 ดอลลาร์ สำหรับการสมัครผ่านหน้าเว็บ และถูกลงหากสมัครรายปี แต่ถ้าสมัครผ่าน iOS, Android จะบวกราคาค่าธรรมเนียม Store เพิ่ม ที่ราคาและจำนวนผู้สมัครใช้ดังกล่าว Twitter จะมีรายได้จาก Twitter Blue ประมาณ 27.8 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งต้องดูต่อไปว่า Elon Musk จะหาทางเพิ่มรายได้ส่วนนี้อย่างไร เพราะเขาอยากให้รายได้ครึ่งหนึ่งมาจาก subscription จากปัจจุบันที่เป็นโฆษณา ไอเดียเพิ่มรายได้หนึ่งที่มีการพูดคุยคือสร้างเทียร์สมาชิกใหม่ ราคาสูงกว่าเดิมและการันตีสิทธิประโยชน์มากกว่า ไปจนถึงการสมัครบัญชีพิเศษมากกว่าที่ได้ส่วนแบ่งโฆษณา (affiliate) ด้วยเลย ที่มา: Engadget
# เปิดตัว OnePlus Pad แท็บเล็ตรุ่นแรกของค่าย OnePlus หน้าจอ 11.61" 144Hz นอกจาก OnePlus 11 แล้ว สินค้าใหม่ของ OnePlus ที่เปิดตัวพร้อมกันคือ OnePlus Pad แท็บเล็ตรุ่นแรกของบริษัท สเปกของ OnePlus Pad มีดังนี้ หน้าจอขนาด 11.61 นิ้ว ความละเอียด 2800x2000 สัดส่วน 7:5 (ถือเป็นแท็บเล็ตรุ่นแรกที่ใช้จอสัดส่วนนี้) อัตรารีเฟรช 144Hz รองรับ Dolby Vision ชิป MediaTek Dimensity 9000, แรม 8GB LPDDR5, สตอเรจ 128GB UFS 3.1 กล้องหลัง 13MP, กล้องหน้า 8MP ระบบเสียงพัฒนาเองเรียกว่า Omnibearing Sound Field ดูทิศทางของจอแล้วสลับเสียงลำโพงซ้าย-ขวาให้อัตโนมัติ, รองรับ Dolby Atmos แบตเตอรี่ 9510 mAh ชาร์จเร็ว 67W สแตนด์บายนาน 1 เดือน น้ำหนัก 555 กรัม ฟีเจอร์ด้านซอฟต์แวร์คือเชื่อมต่อ Wi-Fi จากสมาร์ทโฟนให้อัตโนมัติ โดยไม่ต้องเปิด hotspot เอง, ถ่ายภาพจากสมาร์ทโฟนแล้วแชร์ไปยังแท็บเล็ตแบบเรียลไทม์ (แน่นอนว่ารองรับเฉพาะมือถือของ OnePlus) สินค้าจะเริ่มเปิดพรีออเดอร์เดือนเมษายน ตอนนี้ยังไม่เปิดเผยราคา บอกแค่ว่าแถมคีย์บอร์ดและปากกามาให้ในชุดด้วย ที่มา - OnePlus, OnePlus
# Zoom ประกาศปลดพนักงาน 1,300 คน ซีอีโอลดเงินเดือน 98% และไม่รับโบนัส Zoom ประกาศปลดพนักงานประมาณ 1,300 คน คิดเป็น 15% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด โดย Eric Yuan ให้เหตุผลว่าที่ผ่านมาโดยเฉพาะช่วงการระบาดของโควิด 19 บริษัทได้เพิ่มพนักงานจำนวนมาก เพื่อให้รองรับต่อการเติบโตของแพลตฟอร์ม ที่มีผู้เข้ามาใช้งานเป็นจำนวนมาก ซึ่ง 24 เดือนที่ผ่านมา จำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว เขายอมรับว่าเป็นความผิดพลาด ที่โฟกัสการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันความต้องการลูกค้า แต่ไม่ได้ประเมินความจำเป็นของแต่ละทีมในการรับคนว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหน เมื่อตอนนี้สถานการณ์โควิดกลับสู่ปกติ รวมกับปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน บริษัทจึงต้องรีเซตโครงสร้างองค์กรใหม่ มีผลกระทบกับทุกแผนกแต่มากน้อยต่างกัน Eric Yuan บอกว่าในฐานะซีอีโอซึ่งเป็นความรับผิดชอบของเขา เขาจะลดเงินเดือนในปีนี้ลง 98% และไม่รับโบนัสประจำปี ส่วนผู้บริหารระดับสูงคนอื่นลดเงินเดือน 20% และไม่รับโบนัสปีนี้เช่นกัน ที่มา: Zoom
# OnePlus 11 เปิดตัวรุ่น Global นอกจีน ชิป Snapdragon 8 Gen 2 ราคาเริ่มต้น 699 ดอลลาร์ OnePlus 11 เปิดตัวเวอร์ชันขายนอกประเทศจีนอย่างเป็นทางการ หลังเปิดตัวในจีนไปตั้งแต่เดือนมกราคม 2023 สเปกของ OnePlus 11 เป็นไปตามข่าวก่อนหน้า สรุปคร่าวๆ คือหน้าจอ 6.7" Super Fluid AMOLED อัตรารีเฟรช 1-120Hz, ชิป Snapdragon 8 Gen 2, กล้องหลัก 50MP เซ็นเซอร์ Sony IMX890, กล้องหน้า 16MP, แบตเตอรี่ 5,000 mAh ชาร์จเร็ว 100W (ไม่รองรับชาร์จไร้สาย ซึ่งเคยมีใน OnePlus 10 Pro) สเปกละเอียดดูได้จาก เว็บไซต์ OnePlus ราคาขายเป็นดอลลาร์สหรัฐ แยกตามความจุ 8+128GB ราคา 699 ดอลลาร์ และ 16+256GB ราคา 799 ดอลลาร์ (แพงขึ้นจาก OnePlus 10T 50 ดอลลาร์) ส่วนราคาไทยต้องรอประกาศอีกครั้งหนึ่ง เว็บไซต์ 9to5google ยังชี้ประเด็นว่าปีนี้ OnePlus ไม่ออกมือถือรุ่น Pro แล้ว หลังจากทำใน OnePlus 7-9 แล้วพอเป็น OnePlus 10 มีแต่รุ่น Pro เพียงรุ่นเดียว ไม่มีรุ่นธรรมดา คราวนี้ยุค OnePlus 11 มีแต่ตัวธรรมดา ไม่มีรุ่น Pro ที่แพงกว่า โดยเหตุผลของ OnePlus บอกว่ามันคือรุ่นที่ Pro อยู่แล้ว เลยไม่ต้องมีคำว่า Pro ห้อยท้ายอีก (You don’t need to have a ‘Pro’ name for a device that’s already ‘pro.’) ที่มา - OnePlus
# Chrome เพิ่มฟีเจอร์ยืนยันตัวตนด้วยไบโอเมทริก ก่อนกรอกรหัสผ่านที่เซฟไว้ Chrome เวอร์ชันเดสก์ท็อป เพิ่มฟีเจอร์ยืนยันตัวตนด้วยไบโอเมทริก (เช่น ลายนิ้วมือ) ก่อนช่วยกรอกรหัสผ่านที่เซฟเก็บไว้ เพิ่มความปลอดภัยในการเข้าถึงรหัสผ่านบน Google Password Manager อีกชั้น ฟีเจอร์นี้เหมาะกับคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ร่วมกับคนอื่นๆ และกลัวคนอื่นเข้ามาล็อกอินด้วยบัญชีของเราได้ ก่อนหน้านี้ Chrome ใช้วิธียืนยันตัวตนด้วยรหัสผ่าน (master password) แต่ก็ไม่สะดวกเพราะต้องกรอกใหม่ทุกครั้ง การยืนยันด้วยตนด้วยไบโอเมทริกก็ช่วยให้สะดวกขึ้นกว่าเดิม Chrome รองรับการยืนยันตัวตนด้วยไบโอเมทริกอยู่แล้ว แต่เฉพาะการกรอกรหัส CVC ตอนจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตเท่านั้น รอบนี้คือขยายมายังการกรอกรหัสผ่านด้วย ที่มา - Google
# Google Image Search จะเบลอภาพที่ไม่เหมาะสมเป็นค่าดีฟอลต์ กูเกิลประกาศว่าจะ "เบลอ" ภาพที่ไม่เหมาะสม (explicit image เช่น ภาพเปลือย หรือความรุนแรง) ใน Google Image Search เป็นค่าดีฟอลต์ หากต้องการดูภาพต้องกดปุ่ม view image ก่อน ฟีเจอร์นี้เป็นส่วนหนึ่งของ Google SafeSearch และถูกเปิดใช้อยู่แล้วในกรณีผู้ใช้ล็อกอิน และอายุไม่ถึง 18 ปี สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือกูเกิลจะขยายการเบลอไปยังผู้ใช้ทุกคนที่ไม่ได้ล็อกอิน แต่ถ้าล็อกอิน มีอายุเกิน 18 ปี ก็สามารถปิดฟิลเตอร์ SafeSearch ได้ตามต้องการ ที่มา - Google
# ไมโครซอฟท์ใส่แชตเข้า Bing เป็นทางการ ใช้ AI ทรงพลังกว่า ChatGPT พร้อมใส่แชตลง Edge ช่วยอ่านสรุปเว็บ ไมโครซอฟท์ประกาศฟีเจอร์แชตบน Bing ตามข่าวลือก่อนหน้านี้ แต่เป็นการออกแบบโมเดลใหม่สำหรับการค้นหาเว็บโดยเฉพาะเรียกว่า Prometheus Model และไมโครซอฟท์ระบุว่าโมเดลนี้ทรงพลังยิ่งกว่า ChatGPT เสียอีก Prometheus Model ออกแบบสำหรับการค้นหา ทำให้มันสามารถรับข้อมูลใหม่ๆ ได้เร็วขึ้น และเข้าใจปัจจัยอื่นๆ เช่น พื้นที่ที่ผู้ค้นหาอยู่ การใช้งานสามารถใช้ทั้งช่องค้นหาปกติที่สามารถพิมพ์คำถามลงไปได้โดยตรง หรือจะใช้แท็บแชตที่กลายเป็นหน้าจอแชตคล้าย ChatGPT เพื่อถามคำถามที่ประมวลผลมาแล้ว เช่น ให้ Bing ช่วยวางแผนเที่ยวให้ นอกจาก Bing แล้วไมโครซอฟท์ยังเพิ่มฟีเจอร์ Copilot เข้าใน Edge สามารถอ่านและสรุปเอกสารมาอยู่ในรูปแบบที่ต้องการ เช่น อ่าน PDF และแยกข้อมูลออกมาเป็นตารางหรือสรุปใจความสำคัญ Bing เวอร์ชั่นใหม่เริ่มเปิดให้ทดสอบแบบจำกัดแล้ว และไมโครซอฟท์จะเปิดรับสมัครผู้ทดสอบวงปิดให้ใช้งานได้เต็มรูปแบบ คาดว่าจะเพิ่มผู้ใช้เป็นหลักล้านคนได้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ที่มา - Microsoft, Engadget
# GitHub เล่าประสบการณ์ทำระบบค้นหาโค้ด รัน Regular Expression กับโค้ดขนาด 115TB เขียนด้วย Rust GitHub เล่าถึงประสบการณ์การพัฒนาระบบค้นหาโค้ดแบบใหม่ชื่อว่า Blackbird ที่ทำให้นักพัฒนาสามารถค้นหาโค้ดด้วยคำสั่งที่ซับซ้อนแบบ regular expression กับโค้ดทั้งหมดในฐานข้อมูลของ GitHub ที่มีขนาดถึง 115TB ได้ GitHub เคยใช้ Elasticsearch สำหรับการค้นหามาก่อน และการทำดัชนี (indexing) ข้อมูลโค้ด 8 ล้านโครงการใช้เวลานานหลายเดือน ทุกวันนี้โค้ดรวมบน GitHub มีทั้งหมด 200 ล้านโครงการ ขนาดโค้ดรวม 115TB หากรัน ripgrep บนโค้ดทั้งหมดจะใช้ซีพียู 2,048 คอร์เป็นเวลา 96 วินาที ทำให้ต้องเขียนเอนจินค้นหาขึ้นมาใหม่เองโดยใช้ภาษา Rust Blackbird เก็บข้อมูลแบบ inverted index (หาว่ามีข้อความที่กำหนดในเอกสารใดบ้าง) โดยเก็บเป็นส่วนย่อยของคำ (ngram) ขนาด 3 ตัวอักษร และการเพิ่มเอกสารจะเก็บดัชนีแยกเป็นส่วนๆ (sharding) โดยแจ้งความเปลี่ยนแปลงข้อมูลด้วย Kafka เมื่อผู้ใช้ส่งคำสั่งค้น Blackbird จะแปลงคำสั่งเป็นภาษาค้นหาเฉพาะกำหนดเงื่อนไข เช่น จะค้นหาใน repository ที่ไม่ได้เปิด public ส่วนใดบ้างและแปลงคำค้นจาก regular expression ไปเป็นคำสั่งเฉพาะที่หาจาก ngram ตอนนี้ 99% แรกของคำค้นรันในแต่ละ shard โดยใช้เวลาระดับ 100ms โดยรวมเซิร์ฟเวอร์ 64 คอร์แต่ละเครื่องรองรับการคิวรีได้ 640 คิวรีต่อวินาที ตอนนี้ระบบค้นหาแบบใหม่ของ GitHub ยังอยู่ในสถานะเบต้า และต้องสมัครก่อนใช้งาน ที่มา - GitHub
# ลาวเริ่มทดสอบกีบดิจิทัล ใช้แพลตฟอร์ม Iroha ของบริษัท Soramitsu จากญี่ปุ่น ธนาคารแห่งประเทศลาวเริ่มทดสอบเงินดิจิทัลของธนาคารกลางในชื่อ DLak หรือลาวกีบดิจิทัล หลังศึกษาความเป็นไปได้มาตั้งแต่ปลายปี 2021 ร่วมกับบริษัท Soramitsu จากประเทศญี่ปุ่น Soramitsu นั้นเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Hyperledger Iroha แพลตฟอร์มบล็อคเชนสำหรับการเก็บบันทึกความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่ทดแทนกันได้ (fungible asset) เช่น เงินตรา, ทองคำ, หรือแร่ต่างๆ แม้ว่าประกาศทดสอบกีบดิจิทัลครั้งนี้ไม่ได้ระบุเทคโนโลยีโดยตรงแต่ชื่อบัญชีใน QR ของเงินกีบดิจิทัลระหว่างสาธิตก็ระบุชื่อบัญชีลงท้ายด้วย @iroha อยู่ ตัว QR ที่ใช้สาธิตนั้นก็อยู่ในรูปแบบเดียวกับมาตรฐาน QR ของ EMVco ที่ใช้งานในหลายประเทศ ทาง Soramitsu ชูจุดเด่นของการสร้างเงินดิจิทัลเช่นนี้ว่าทำให้เงินถึงมือผู้รับปลายทางเร็วขึ้น เทียบกับการจ่ายเงินผ่านเครือข่ายบัตรเครดิตแบบเดิมๆ ที่อาจจะใช้เวลาหลายสัปดาห์หรืออาจจะถึงเดือน การทดสอบครั้งนี้จะเป็นข้อมูลให้ทางธนาคารแห่งประเทศลาวพิจารณาว่าจะเริ่มใช้งานเงินดิจิทัลในอนาคตหรือไม่ โดยเป้าหมายของโครงการมี 3 ประการ คือ เปิดให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้นแม้จะไม่มีบัญชีธนาคาร, ลดค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินข้ามประเทศ, และสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วยการลดการพึ่งพาเงินต่างประเทศ ที่มา - Soramitsu
# ความนิยมใน Java ยี่ห้ออื่นเพิ่มขึ้น หลัง Oracle เปลี่ยนวิธีคิดไลเซนส์แพงขึ้น จากข่าว Oracle เปลี่ยนวิธีคิดค่าไลเซนส์ Java ใหม่ นับตามจำนวนพนักงานของทั้งองค์กร แทนการนับตามจำนวนพนักงานที่ต้องใช้งาน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือความนิยมใน Java ของบริษัทหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นแทน Mike Milinkovich ผู้อำนวยการของมูลนิธิ Eclipse Foundation โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ บอกว่าเขาก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม Java ถึงแพงขนาดนี้ และแนะนำให้ใช้ไบนารี Temurin Java ของโครงการ Adoptium ภายใต้ Eclipse Foundation แทน ซึ่งเป็นไบนารีที่เข้ากันได้กับ Oracle Java 100% อีกทางเลือกหนึ่งคือ Azul Platform Core ซึ่งเป็นแพ็กเกจ Java ของบริษัท Azul Systems ที่เสนอตัวเป็นทางเลือกของ Java แบบมีซัพพอร์ตในราคาที่ถูกกว่า Oracle มานานแล้ว ทาง Azul เองบอกว่าบริษัทได้รับการติดต่อจากลูกค้าเข้ามาอย่างมาก (massive increase) หลัง Oracle เปลี่ยนไลเซนส์ นอกจาก 2 ทางเลือกข้างต้นแล้ว ในตลาดยังมี Java ยี่ห้ออื่นๆ เช่น Amazon Corretto, Microsoft Build of OpenJDK, Red Hat OpenJDK ให้เลือกตามใจชอบ จากสถิติของ New Relic ปี 2022 พบว่าความนิยมของ Oracle Java ลดลงจากเดิมมาก จากที่เคยมีส่วนแบ่งตลาด 75% ในปี 2020 เหลือเพียง 34.48% ในปี 2022 ส่วนอันดับสองคือ Amazon แรงขึ้นมาเป็น 22.04% ตามด้วย Adoptium 11.48% ที่มา - InfoWorld
# นักวิจัยพบ OnePlus, Xiaomi, Realme ที่ขายในจีน เก็บและส่งข้อมูลผู้ใช้เป็นจำนวนมาก นักวิจัยในสกอตแลนด์ 3 ราย เผยแพร่งานวิจัยที่ชื่อว่า Android OS Privacy Under the Loupe -- A Tale from the East ที่ชี้ว่า สมาร์ทโฟน OnePlus, Xiaomi และ Oppo/Realme ที่ขายในจีน มีการเก็บข้อมูลผู้ใช้รวมถึงส่งข้อมูลออกไปเป็นจำนวนมาก แม้มือถือเครื่องนั้น จะไม่ได้อยู่ในจีนก็ตาม นักวิจัยเน้นทดสอบไปที่แอปที่ถูกติดตั้งมากับเครื่องเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นแอปของแบรนด์เองหรือแอป third-party เช่น Baidu Input, Baidu Navigation แอปข่าว แอปสตรีมมิ่ง หรือแอปช็อปออนไลน์ ซึ่งนักวิจัยก็พบว่า ทั้ง 3 แบรนด์ มีการส่งข้อมูลที่ระบุตัวตนออกไปอย่างน่าเป็นห่วง ซึ่งส่งไปให้ทั้งแบรนด์มือถือ ผู้ให้บริการแอปอย่าง Baidu หรือโอเปอเรเตอร์ แม้มือถือนั้นจะไม่ได้ใส่ซิมจีน ไม่ได้อยู่ในจีน หรือแม้กระทั่งไม่ใส่ซิมเลยก็ตาม ตัวอย่างข้อมูลที่มีการส่งออกก็เช่น หมายเลขเครื่อง (IMEI, Mac Address ฯลฯ), ข้อมูลตำแหน่ง (GPS, ไอดีเสาสัญญาณ ฯลฯ), โปรไฟล์ (เบอร์โทรศัพท์, แพทเทิร์นการใช้งานแอป ฯลฯ) และข้อมูลการสื่อสาร (ประวัติการโทร/sms, เบอร์โทรศัพท์ติดต่อในเครื่อง ฯลฯ) หนึ่งในกรณีที่นักวิจัยพบคือ เมื่อไหร่ก็ตามที่แอป Settings, Note, Recorder, Phone, Message และ Camera บน Redmi ถูกเปิดใช้ ตัวเครื่องจะส่งรีเควสท์ไปที่ URL tracking.miui.com/track/v4 แม้ผู้ใช้จะไม่อนุญาตให้ส่งข้อมูล (Send Usage and Diagnostic Data) ตอนเปิดใช้งานเครื่องครั้งแรกก็ตาม ในภาพรวม นักวิจัยพบว่า มือถือแอนดรอยด์จีนมีแอป pre-installed มากกว่าแอนดรอยด์ที่ขายในประเทศอื่นๆ มากกว่าถึง 3-4 เท่า ขณะที่ในแง่สิทธิ (permission) แอปเหล่านี้ก็ขอมากกว่า 8-10 เท่า ที่มา - Cornell University via The Register
# Poco X5 และ X5 Pro เปิดตัว จอ 120Hz, กล้องหลัก 108MP, ราคาเริ่มต้น 199 ดอลลาร์ Poco แบรนด์มือถือราคาถูกในเครือ Xiaomi เปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นของปี 2023 คือ Poco X5 5G และ Poco X5 Pro 5G ในราคาเริ่มต้น 199 ดอลลาร์ มือถือทั้งสองรุ่นยังมีช่องเสียบหูฟัง 3.5mm และใช้รอม MIUI 14 for POCO Poco X5 5G หน้าจอ 6.67" AMOLED 120Hz ความสว่าง 1200 nits ชิป Snapdragon 695 กล้องหลัก 48MP + 8MP + 2MP + กล้องหน้า 13MP แบตเตอรี่ 5,000 mAh ชาร์จเร็ว 33W รุ่นแรม 6GB+128GB ราคา 199 ดอลลาร์, รุ่นแรม 8GB+256GB ราคา 249 ดอลลาร์ Poco X5 Pro 5G หน้าจอ 6.67" AMOLED 120Hz ความสว่าง 1200 nits ชิป Snapdragon 778G กล้องหลัก 108MP เซ็นเซอร์ขนาด 1/1.52" + 8MP + 2MP + กล้องหน้า 16MP แบตเตอรี่ 5,000 mAh ชาร์จเร็ว 67W รุ่นแรม 6GB+128GB ราคา 249 ดอลลาร์, รุ่นแรม 8GB+256GB ราคา 299 ดอลลาร์ สเปกละเอียดดูได้จาก เว็บไซต์ Poco ที่มา - @PocoGlobal, 9to5google
# Getty Images ฟ้อง Stability AI อีกคดี ขโมยภาพ 12 ล้านภาพไปเทรนโมเดล AI ต่อจากข่าว Getty Images ยื่นฟ้องศาลอังกฤษ ต่อบริษัท Stability AI ข้อหานำภาพไปเทรน AI โดยไม่ขอลิขสิทธิ์ ล่าสุด Getty Images ฟ้องคดีแบบเดียวกันในสหรัฐอเมริกาด้วย ในคำฟ้องของ Getty Images ระบุว่าบริษัท Stability AI ขโมยภาพ 12 ล้านภาพรวมถึงข้อความอธิบายภาพ (เพื่อนำไปสอน AI) จากเว็บไซต์ Getty Images และ iStock ไปใช้งานเทรนโมเดล Stable Diffusion โดยไม่ขออนุญาต นอกจากนี้ทาง Stability AI ยังกลายมาเป็นคู่แข่งโดยตรงของ Getty Images ในฐานะคลังภาพแนวสร้างสรรค์ (creative imagery) และภาพที่สร้างจาก AI ยังแถมลายน้ำของ Getty Images (แบบเบี้ยวๆ ตามตัวอย่างท้ายข่าว) ติดมาด้วยอีกต่างหาก สร้างความสับสนให้ผู้ใช้งานว่าตกลงเป็นภาพที่ได้รับอนุญาตจาก Getty Images หรือไม่ จึงทำให้ Getty Images เพิ่มข้อหาละเมิดเครื่องหมายการค้าในคำฟ้องไปอีกข้อหาด้วย ตัวอย่างภาพที่สร้างด้วย Stable Diffusion และยังติดลายน้ำของ Getty Images มาด้วย ที่มา - Ars Technica
# Pinterest ไตรมาส 4/2022 รายได้เติบโตเล็กน้อย ผู้ใช้งาน 450 ล้านบัญชี Pinterest รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 4 ปี 2022 รายได้รวมเพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนเป็น 877 ล้านดอลลาร์ และมีกำไรสุทธิตามบัญชี GAAP 17 ล้านดอลลาร์ จำนวนผู้ใช้งานทั่วโลก MAUs เพิ่มขึ้นเป็น 450 ล้านบัญชี Bill Ready ซีอีโอ Pinterest กล่าวว่าในปี 2022 ที่ผ่านมาเป็นปีดีของบริษัท โดยกลับมามีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น และเริ่มเห็นผลลัพธ์ที่ดี จากระบบแนะนำคอนเทนต์ส่วนบุคคล ที่เป็นผลจากการลงทุนของบริษัทก่อนหน้านี้ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถต่อยอดจากเนื้อหาที่ค้นพบ เชื่อมต่อกับการซื้อสินค้านั้นได้ Pinterest ยังประกาศปรับเปลี่ยนในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง โดย Todd Morgenfeld ซีเอฟโอและหัวหน้าส่วนการดำเนินงานธุรกิจ จะลาออกมีผลกรกฎาคม 2023 เป็นต้นไป นอกจากนี้หัวหน้าส่วนสื่อสารการตลาด และหัวหน้าส่วนการหารายได้ จะมาขึ้นตรงกับซีอีโอแทน เพื่อให้งานที่เกี่ยวกับโฆษณามีความสำคัญมากขึ้น ที่มา: Pinterest
# Twitter ออกอัพเดต กำหนดให้แถบ Following เป็นค่าเริ่มต้นแทน For You ได้แล้ว Twitter อัพเดตการทำงานมีผลทั้งแอปบน iOS และ Android โดยจะจดจำว่าผู้ใช้งานเปิดแถบไหนเป็นแถบสุดท้ายก่อนปิดแอป ระหว่าง For You กับ Following จากเดิมที่จะเริ่มที่ For You เสมอ แม้เป็นอัพเดตเล็ก ๆ แต่ช่วยให้ผู้ใช้งานที่ต้องการใช้แถบ Following น่าจะพอใจมากขึ้น ฟีเจอร์นี้ Elon Musk ซีอีโอ Twitter เคยบอกไว้เมื่อปลายเดือนที่แล้วว่าจะมาอัพเดตเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้การจดจำตำแหน่งไม่มีผล หากแถบสุดท้ายที่เปิดดูคือ List โดยจะกลับมาที่ For You เหมือนเดิม ที่มา: The Verge
# จะใหญ่ไปไหน ขนาดรอม Galaxy S23 ใหญ่เกือบ 60GB ผู้ใช้ Galaxy S23 มือถือเรือธงของซัมซุงปีนี้ รายงานว่าขนาดพาร์ทิชันของรอมใหญ่เกือบ 60GB หากผู้ใช้ซื้อรุ่นสตอเรจ 128GB ก็คือเกือบครึ่งของสตอเรจทั้งเครื่อง หากเปรียบเทียบกับรอมของมือถือรุ่นอื่นๆ อย่าง Pixel 7 Pro มีขนาด 15GB หรือหากเทียบกับ Windows 11 มีขนาดครึ่งเดียวคือ 30GB ตอนนี้ยังไม่มีคำอธิบายจากซัมซุงว่าทำไมรอมของ S23 ถึงใหญ่ขนาดนี้ เหตุผลที่เป็นไปได้คือซัมซุงมีชุดแอพของตัวเอง (ที่ซ้ำกับแอพของกูเกิล) และมีสัญญาพรีโหลดแอพของพาร์ทเนอร์ (เช่น Microsoft, Netflix) ด้วย ที่มา - Ars Technica
# Microsoft จัดงานแถลงข่าวเวลา 1:00น. วันที่ 8 ก.พ. ตามเวลาไทย คาดเปิดตัว Bing ที่มี ChatGPT ไมโครซอฟท์ประกาศจัดงานแถลงข่าว โดยตรงกับเวลา 1:00น. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2023 ตามเวลาในประเทศไทย โดยตัวงานเป็นแบบจัดในสถานที่หรือ In-Person และไม่มีการถ่ายทอดสด รายละเอียดของงานยังไม่มีการเปิดเผย แต่คาดเดาว่าจะเป็นการนำเสนอฟีเจอร์ใหม่ของ Bing ที่นำ ChatGPT มาช่วยในการแสดงผลการค้นหา ซึ่งไมโครซอฟท์ได้ร่วมลงทุนใน OpenAI เจ้าของ ChatGPT นั่นเอง แม้การประกาศจัดงานจะออกมากะทันหัน และเหมือนตัดหน้างานแถลงข่าวของกูเกิล ที่น่าจะเปิดตัวบริการแชทบ็อท AI เช่นกัน (แถมเพิ่งประกาศ Bard ด้วย) โดยงานกูเกิลกำหนดจัดเวลา 20:30น. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2023 ตามเวลาในประเทศไทย แต่ The Verge ระบุว่าไมโครซอฟท์ได้แจ้งเชิญสื่อมาแล้วตั้งแต่สัปดาห์ก่อน เพียงแค่เพิ่งออกประกาศทั่วไปนั่นเอง ที่มา: The Verge
# Google เปิดตัว Bard แชทบ็อท AI แบบ ChatGPT ที่มี LaMDA เป็นตัวประมวลผล กูเกิลเปิดตัว Bard แชทบ็อท AI แบบเดียวกับ ChatGPT ที่ใช้โมเดลประมวลผล LaMDA ของกูเกิลเอง ซึ่งชื่อของแชทบ็อทก็ตรงตามรายงานก่อนหน้านี้ และเป็นการเปิดตัวก่อนงานแถลงข่าวผลิตภัณฑ์ใหม่ 1 วัน โดยกูเกิลบอกว่า Bard เป็นการรวมข้อมูลองค์ความรู้จากเว็บ ที่มีพลัง ความฉลาด และความคิดสร้างสรรค์ บน Large Language Models (LLMs) ได้ผลลัพธ์คำตอบที่สดใหม่และมีคุณภาพ ทั้งนี้ Bard จะใช้โมเดลตัวเล็ก (lightweight) ของ LaMDA ที่ใช้ปริมาณการประมวลผลน้อยกว่า เพื่อให้สามารถสเกลกับผู้ใช้งานที่มากขึ้นได้ และทำให้รวบรวมความเห็นจากผู้ใช้งานได้มากกว่า ตัวอย่างที่กูเกิลนำเสนอของ Bard เช่น ให้เขียนคำบรรยายการค้นพบล่าสุดของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb ที่เหมาะกับเด็ก 9 ขวบ เป็นต้น ทั้งนี้กูเกิลก็เตือนว่า Bard อาจให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมในตอนนี้ ผู้ใช้งานสามารถให้ความเห็นต่อผลลัพธ์ได้จากปุ่ม Like, Dislike ในกล่องแชท อย่างไรก็ตามกูเกิลยังไม่ได้ให้รายละเอียดว่า Bard จะเปิดให้ผู้ใช้งานทั่วไปร่วมทดสอบได้เมื่อใด คาดว่าจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมในงานแถลงข่าววันพรุ่งนี้ ที่มา: กูเกิล
# ญี่ปุ่นเริ่มทดสอบซูเปอร์คอมพิวเตอร์ Pegasus ใช้ Intel Optane ช่วยประหยัดพลังงาน ทำหน้าที่แรม 240 เทราไบต์ มหาวิทยาลัย Tsukuba เริ่มทดสอบเครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ Pegasus ที่อาจจะเป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ประหยัดพลังงานที่สุดในตอนนี้เพราะใช้ซีพียูและกราฟิกรุ่นใหม่ ร่วมกับหน่วยความจำแบบ Intel Optane ที่ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนักจนอินเทลต้องถอยออกจากตลาดไป Pegasus ผลิตเครื่องโดย NEC ใช้ซีพียู Xeon Platinum 8468 (Sapphire Rapids) ร่วมกับ NVIDIA H100 พร้อมกับแรม DDR5-4800 อีก 128GB ที่น่าสนใจคือตัวเครื่องใส่ Intel Optane มาด้วยอีก 2TB แยกออกจาก SSD ขนาด 3.2TB อีกสองชุด เชื่อมต่อเน็ตเวิร์คด้วย NVIDIA Quantum-2 Infiniband (200Gbps) ตัว Optane ที่ใช้งานในเครื่องนั้นสามารถคอนฟิกได้ว่าจะเป็นดิสก์อยู่ใน /pmem หรือจะเป็นหน่วยความจำขยายออกจากหน่วยความจำปกติ ทำให้โดยรวมแล้วระบบจะมองเห็นหน่วยความจำของทั้งคลัสเตอร์ขนาดถึง 255 เทราไบต์ พลังประมวลผลรวมของ Pegasus คาดว่าจะอยู่ที่ 6.5 เพตาฟลอบ ซึ่งก็น่าจะทำให้ได้เข้าอันดับ TOP100 ของโลกได้ แต่จุดที่มหาวิทยาลัย Tsukuba ชูคือประสิทธิภาพด้านพลังงานของ Pegasus น่าจะดีกว่า Henri ที่อยู่ในสหรัฐฯ และอยู่ในอันดับ 1 ของรายการ Green500 ตอนนี้เสียอีก ที่มา - Nikkei, University of Tsukuba
# นักวิจัยไมโครซอฟท์เสนอ Language Model ขนาดเล็กสำหรับ Excel เน้นแนะนำ-แก้สูตรให้ผู้ใช้ ช่วงนี้ AI สายตระกูล Large Language Models (LLM) กำลังโด่งดังจากกระแส ChatGPT แต่ข้อเสียของโมเดลใหญ่ขนาดนี้คือขนาดของตัวมันเองที่ใหญ่มาก มีพารามิเตอร์หลักพันล้าน ใช้ข้อมูลการเทรน ทรัพยากรเครื่องจำนวนมหาศาล ทีมนักวิจัยของไมโครซอฟท์จึงเสนอแนวทาง Language Model ที่มีขนาดเล็กลง แต่ทำงานเฉพาะด้านแทน โดยนำเสนองานวิจัย FLAME ที่ย่อมาจาก First LAnguage Model for Excel หน้าที่ของมันตรงตามชื่อคือเป็นโมเดลภาษาสำหรับ Excel ช่วยแนะนำหรือแก้ไขสูตรในตารางสเปรดชีท FLAME มีพารามิเตอร์ขนาด 60 ล้านตัว ถือว่าเล็กเมื่อเทียบกับ LLM ชื่อดังทั้งหลายที่มีหลักพันล้านไปจนถึงแสนล้านตัว แต่การออกแบบโมเดล FLAME ให้จำเพาะเจาะจงเรื่องสูตร Excel เพียงอย่างเดียว ทำให้ตัดข้อมูลที่ไม่จำเป็นออกไปได้มาก เมื่อบวกกับเทคนิคอื่นๆ ช่วยให้ FLAME สามารถเอาชนะโมเดลตัวที่ใหญ่กว่าได้สบาย ตัวอย่างการซ่อมสูตรของ FLAME เปรียบเทียบผลงานของ FLAME กับโมเดลตัวอื่น รายละเอียดอื่นๆ ดูได้จาก เปเปอร์ฉบับเต็ม FLAME ยังมีสถานะเป็นแค่งานวิจัยของไมโครซอฟท์เท่านั้น และยังไม่มีข้อมูลว่าจะถูกนำมาใช้ใน Excel จริงๆ หรือไม่ ที่มา - The Register
# เผย Elon Musk ทำงานหนักถึงสัปดาห์ละ 120 ชั่วโมง ตั้งแต่ซื้อกิจการ Twitter มาบริหาร ประเด็นหนึ่งที่หลายคนอาจสงสัย ว่าคนที่รับบทซีอีโอทั้ง Tesla, SpaceX และล่าสุดไปซื้อ Twitter มาแล้วก็เป็นซีอีโอเองด้วยอย่าง Elon Musk เขาทำงานวันละกี่ชั่วโมง และได้นอนบ้างหรือไม่? The Wall Street Journal ไปหาคำตอบเรื่องนี้ ซึ่งเริ่มต้นจากเขาบ่นกับทนายความ ขณะไปให้การที่ศาลซานฟรานซิสโก คดีทวีตซื้อหุ้นคืนเมื่อปี 2018 (ซึ่งสุดท้ายศาลยกคำร้อง) ว่าเมื่อคืนเขานอนไม่หลับ แต่จะพยายามทำดีที่สุดในการให้การ และขอโทษหากอยู่ไม่นิ่ง เพราะตอนนี้ปวดหลังด้วย รายงานบอกว่า Musk เคยบอกกับนักลงทุน Ron Baron เมื่อปลายปีที่แล้ว ว่าหลังซื้อกิจการ Twitter เขาต้องทำงานถึงสัปดาห์ละ 120 ชั่วโมง จากเดิมสูงสุดที่ราว 80 ชั่วโมง โดยกิจวัตรก็ไม่มีอะไรมากกว่า ตื่น ทำงาน นอน ตื่น ทำงาน วนเช่นนี้ตลอด 7 วัน ซึ่งเขาหวังว่าเมื่อบริหารจัดการ Twitter เข้าที่แล้ว ทุกอย่างจะดีขึ้น ปัจจุบัน Musk นอนพักที่สำนักงานใหญ่ Twitter ในซานฟรานซิสโก ซึ่งที่นั่นเขาก็เตรียมห้องนอนไว้สำหรับพนักงานจำนวนหนึ่งด้วย Elon Musk เองก็ทวีตต่อรายงานฉบับนี้ ไม่ได้ปฏิเสธ พร้อมให้ข้อมูลน่าสนใจว่า 3 เดือนที่ผ่านมา หนักมากสำหรับเขา เพราะต้องช่วย Twitter รอดจากการล้มละลาย ขณะเดียวกันงานสำคัญของ Tesla และ SpaceX ก็ยังต้องทำ อย่างไรก็ตามสถานการณ์ Twitter ตอนนี้ก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะยังท้าทายอยู่ก็ตาม ที่มา: The Wall Street Journal
# Dell Technologies ประกาศปลดพนักงาน 6,650 คน คิดเป็น 5% ของพนักงานทั่วโลก มีรายงานว่า Dell Technologies ได้แจ้งกับพนักงานว่าบริษัทเตรียมปลดพนักงานจำนวน 6,650 คน คิดเป็นประมาณ 5% ของจำนวนพนักงานทั่วโลก Bloomberg อ้างถึงอีเมลที่ Jeff Clarke ซีโอโอของ Dell Technologies ส่งหาพนักงาน ระบุว่าบริษัทได้รับผลกระทบจากความต้องการพีซีที่ลดลง และด้วยสถานการณ์ตอนนี้กระทบจนทำให้อนาคตข้างหน้าไม่ชัดเจนนัก ขณะที่ตัวแทนของ Dell บอกว่าการปรับโครงสร้างองค์กรนี้ ทำเพื่อให้บริษัทมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่มา: Reuters และ Dell Technologies
# Grammy Awards แจกรางวัลดนตรีประกอบเกมเป็นครั้งแรก ผู้ชนะคือ Assassin's Creed Valhalla ในงานประกาศรางวัลสายดนตรี Grammy Awards ครั้งที่ 65 ประจำปีนี้ มีเพิ่มรางวัลหมวดดนตรีประกอบวิดีโอเกมและสื่ออินเทอร์แอคทีฟ (Best Score Soundtrack for Video Games and Other Interactive Media) เข้ามาเป็นครั้งแรก เกมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นครั้งแรกคือ Assassin's Creed Valhalla: Dawn of Ragnarok โดยเป็นผลงานการแต่งเพลงของ Stephanie Economou ลองฟังตัวอย่างได้ท้ายข่าว หรืออัลบั้มเต็มจาก Spotify เกมอื่นที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงมี 4 เกมคือ Aliens: Fireteam Elite, Call of Duty Vanguard, Marvel's Guardians of the Galaxy และ Old World ถึงแม้ปีนี้เป็นปีแรกที่รางวัล Grammy ให้รางวัลดนตรีประกอบเกม แต่ก่อนหน้านี้เคยมีเพลง/ดนตรีจากเกมชนะรางวัล Grammy ในหมวดอื่นมาก่อนแล้ว เช่น เพลง Baba Yetu ของเกม Civilization IV ชนะรางวัลหมวด Best Instrumental Arrangement Accompanying Vocalist(s) เมื่อปี 2011, เพลงจากเกม Journey ถูกเสนอชื่อเข้าชิงหมวด Best Score Soundtrack for Visual Media เมื่อปี 2012 (แต่ไม่ชนะ) และเพลงจากเกม Kirby Super Star ชนะรางวัล Best Arrangement, Instrumental or A Cappella เมื่อปี 2022 ที่มา - IGN
# หาเงินใช้หนี้? แอคเคาท์ Twitter ของแบรนด์/องค์กร อาจต้องจ่ายเดือนละ 3 หมื่นบาท เพื่อติ๊กถูกสีทอง Elon Musk ยังคงพยายามหาเร่งหาเงินให้กับ Twitter เป็นการด่วน ล่าสุด The Information รายงานข้อมูลวงในว่า Twitter กำลังพิจารณาเก็บเงินองค์กรหรือแบรนด์ที่ต้องการรักษาติ๊กถูกสีทอง (ยืนยันว่าเป็นแอคเคาท์ Official) เดือนละ 1,000 เหรียญ หรือราว 33,000 บาท นอกจากนี้หากแบรนด์หรือองค์กรต้องการเปิดแอคเคาท์ในเครือแยก (affilaite account) และต้องการติ๊กถูกสีทองเช่นกัน ต้องจ่ายเพิ่มบัญชีละ 50 เหรียญต่อเดือน (ราว 1,700 บาท) ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการยืนยันจาก screenshot ที่ Twitter ส่งหาแบรนด์และโพสต์โดย Matt Navarra นักวิเคราะห์ธุรกิจโซเชียลมีเดีย ที่มา - The Information, @MattNavarra
# ซัมซุงบอกยังไม่รีบใส่ฟีเจอร์ดาวเทียมเข้ามาใน Galaxy S23 รอเทคโนโลยีพร้อมก่อน ปี 2022 เราเริ่มเห็นกระแสการสื่อสารระหว่างมือถือ-ดาวเทียมเริ่มก่อตัว หลัง T-Mobile เปิดเกมด้วยการประกาศจับมือกับ Starlink โดยจะเริ่มให้บริการช่วงปลายปี 2023 หลังจากนั้นมีอีกหลายบริษัทที่ประกาศบริการเกี่ยวกับดาวเทียม เช่น Huawei เปิดตัว Mate 50 ที่มีฟีเจอร์สื่อสารผ่านดาวเทียมจีน BeiDou, แอปเปิลเปิดให้ iPhone 14 บริการส่งข้อความ SOS ผ่านดาวเทียม, กูเกิลก็บอกว่า Android 14 จะรองรับการสื่อสารผ่านดาวเทียม และล่าสุด Qualcomm เปิดตัว Snapdragon Satellite อย่างไรก็ตาม ค่ายที่ไม่มาตามข่าวลือคือซัมซุงที่เคยลือกันว่าจะใส่ฟีเจอร์นี้เข้ามาใน Galaxy S23 โดยเรื่องนี้ TM Roh หัวหน้าธุรกิจมือถือของซัมซุงให้สัมภาษณ์กับ CNET ว่าซัมซุงยังไม่ทำเรื่องดาวเทียม เพราะคิดว่าเทคโนโลยียังไม่พร้อมในตอนนี้ Roh บอกว่าเมื่อเทคโนโลยีพร้อม ซัมซุงจะทำอย่างแน่นอน แต่ตอนนี้เทคโนโลยีดาวเทียมบนมือถือยังค่อนข้างจำกัดอยู่ ยังเป็นแค่ทางเลือกหนึ่งของการสื่อสารเท่านั้น จึงอยากรอจังหวะที่เหมาะสมมากกว่า TM Roh ในงานเปิดตัว Galaxy S23 -- ภาพจาก Samsung ที่มา - CNET
# กูเกิลบอก Pixel 7 และ 6a ขายดี ยอดขายปี 2022 ดีที่สุดตั้งแต่ทำ Pixel มา Sundar Pichai ซีอีโอของ Alphabet ตอบคำถามเกี่ยวกับสินค้าฮาร์ดแวร์ของกูเกิล ในงานแถลงผลประกอบการไตรมาส 4/2022 ว่าสมาร์ทโฟน Pixel 6a, 7, 7 Pro ทำยอดขายได้ดีมาก ดีที่สุดเท่าที่เคยออกสินค้าตระกูล Pixel มา โดยเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้ในทุกประเทศที่วางขายด้วย ส่วน Ruth Porath ซีเอฟโอของ Alphabet ก็บอกว่าจะลงทุนกับสินค้าตระกูล Pixel มากขึ้น (sizable investment) โดยพยายามรักษาเรื่องต้นทุนให้ดีด้วยเช่นกัน ปีนี้กูเกิลมีกำหนดวางขาย Pixel Tablet ที่เปิดตัวมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2022 แต่ยังไม่กำหนดเวลาแน่ชัดว่าจะขายเมื่อไร ส่วนสินค้าอื่นๆ ใต้แบรนด์ Pixel ยังมีนาฬิกา Pixel Watch และหูฟัง Pixel Buds ที่มา - Android Police
# เกมเอาตัวรอดจากซอมบี้ Dying Light มียอดขายรวมเกิน 30 ล้านชุดแล้ว Techland สตูดิโอเกมจากโปแลนด์ เจ้าของเกมเอาตัวรอดจากซอมบี้ซีรีส์ Dying Light เปิดเผยว่าเกมมียอดขายรวมกันเกิน 30 ล้านชุดแล้ว เกม Dying Light ภาคแรกออกในปี 2015 และประสบความสำเร็จอย่างมาก เฉพาะภาคแรกอย่างเดียวมียอดขายเกิน 20 ล้านชุด ส่วนเกมภาค 2 เพิ่งออกเมื่อปีที่แล้ว 2022 โดยทำยอดขายแตะ 5 ล้านชุดในเดือนแรกที่วางขาย รวมถึงติดอันดับเกมขายดีของ Steam ปี 2022 ด้วย Techland บอกว่ามีแผนอัพเดตเนื้อหาให้ Dying Light 2 เป็นเวลานาน 5 ปีด้วย ที่มา - Eurogamer
# Elon Musk เปลี่ยนใจ ให้ใช้ API Twitter แบบฟรีต่อ เงื่อนไข โพสต์ได้เท่านั้น - ต้องเป็นคอนเทนต์ที่ดี Elon Musk ให้ข้อมูลผ่านบัญชี Twitter ของเขา หลังจากที่ Twitter ประกาศเตรียมยกเลิกให้บริการ API แบบฟรี มีผลตั้งแต่ 9 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป ซึ่งมีนักพัฒนาจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วย เพราะจะกระทบกับบอตที่บริการทวีตเนื้อหาเป็นประโยชน์ โดย Musk บอกว่า หลังได้รับความเห็นจำนวนหนึ่ง Twitter ตัดสินใจเปิดให้ใช้งาน API ฟรี แบบจำกัดฟีเจอร์ สามารถโพสต์ทวีตได้เท่านั้น (write-only) เฉพาะกับบอตที่ให้คอนเทนต์ที่ดี ก่อนหน้านี้ Musk ให้เหตุผลของการตัดสินใจปิด API ฟรี ว่ามีบอต scam เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และทำได้ง่าย เนื่องจากการสร้างบอตไม่ต้องมีการยืนยันตัวตน ไอเดียเขาคือบอตต้องยืนยันตัวตน และอาจมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 100 ดอลลาร์ ก็จะช่วยจัดการปัญหานี้ได้ แต่เมื่อมีนักพัฒนาให้ความเห็นเพิ่มเติม เขาจึงมองว่าบอตที่โพสต์คอนเทนต์ที่ดี ก็สามารถให้บริการต่อได้ แต่ต้องยืนยันตัวตนก่อน ตัวอย่างที่อยู่ในการสนทนาคือบอต @PepitoTheCat ที่อัพเดตชีวิตแมว Pépito มีผู้ติดตามกว่า 2 แสนบัญชี ที่มา: TechCrunch
# Chrome 110 รองรับ RTX Video Super Resolution ใช้จีพียู NVIDIA ขยายวิดีโอให้คมชัดขึ้น Chrome 110 ที่ตอนนี้มีสถานะเป็น Early Stable เริ่มปล่อยอัพเดตในวงจำกัด รองรับฟีเจอร์ RTX Video Super Resolution (VSR) ของจีพียูค่าย NVIDIA (GeForce ซีรีส์ 30/40 ส่วนซีรีส์ 20 จะตามมาภายหลัง) ที่ให้พลัง AI ช่วย upscaling การแสดงผลวิดีโอในเบราว์เซอร์แล้ว ปกติแล้วเราคุ้นกับฟีเจอร์ Deep Learning Super Sampling (DLSS) ที่ใช้ AI ช่วยขยายภาพตอนเล่นเกมให้มีความคมชัดมากขึ้น คราวนี้ NVIDIA นำเทคนิคแบบเดียวกันมาใช้กับการแสดงผลวิดีโอใดๆ ก็ได้ในเบราว์เซอร์ (เช่น การขยายวิดีโอที่ต้นฉบับ 1080p เพิ่มเป็น 4K ให้คมชัดขึ้น) โดยระบุว่าใช้ได้กับ Chrome และ Edge ฟีเจอร์นี้เปิดตัวในงาน CES 2023 และจะเริ่มใช้กับเบราว์เซอร์ทั้งสองตัวที่ออกรุ่นเสถียรในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งต้องรอ NVIDIA ออกไดรเวอร์อัพเดตรอบเดือนกุมภาพันธ์ให้ด้วย ที่มา - NVIDIA, Videocardz
# [ลือ] Apple พูดคุยภายใน อาจออก iPhone รุ่นบนสุด ที่แพงกว่าเดิม โดยใช้คำว่า Ultra Mark Gurman แห่ง Bloomberg รายงานข่าวลือแอปเปิลล่าสุดในจดหมายข่าวประจำสัปดาห์ Power On คราวนี้ว่าด้วยไอเดียซอยรุ่น iPhone ที่อาจจะได้เห็นในอนาคต เขาบอกว่าแอปเปิลมีการพูดคุยกันภายใน เป็นไอเดียที่จะสร้าง iPhone รุ่นย่อยใหม่ ที่มีราคาสูงกว่าเดิม และเพื่อให้สมเหตุสมผล แทนที่จะใช้ชื่อ Pro Max ที่เป็นชื่อของรุ่นราคาแพงสุดตอนนี้ อาจเลือกใช้ชื่อใหม่คือเติมคำว่า Ultra แทน ซึ่งตอนนี้แอปเปิลก็ใช้คำว่า Ultra อยู่แล้วกับสินค้าบนสุดแพงสุด ทั้งชิป M1 Ultra กับ Apple Watch Ultra โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นใน iPhone 16 ที่จะขายปี 2024 ประเด็นที่ตามมาคือ แล้วรุ่นแพงสุดจะมีอะไรรองรับความแพง? Gurman บอกว่าแอปเปิลจะทดสอบตลาดเรื่องนี้กับ iPhone 15 ที่จะออกมาปีนี้ โดยรุ่น Pro Max จะมีสเป็กที่แตกต่างไปจาก Pro อยู่มาก เช่น จอ วัสดุ แบตเตอรี่ เป็นต้น ตามรายงานก่อนหน้านี้ โมเดลตั้งรุ่นใหม่แพงที่สุด Ultra นั้น มีโอกาสที่แอปเปิลจะทำแบบ Galaxy S23 Ultra ของซัมซุง ซึ่งกรณีนี้ จุดขายที่ซัมซุงใช้คือ สเป็กกล้อง และการรองรับสไตลัส ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าแอปเปิลจะมาในรูปแบบไหนกันแน่ สำหรับข่าวลืออื่นที่ Gurman รายงาน เขาบอกว่า Mac Studio รุ่นใหม่ยังไม่มีกำหนดออกมา เพราะแอปเปิลต้องการเปิดตัว Mac Pro ชิปตระกูล Apple Silicon ก่อน ซึ่งอาจมีความทับซ้อนกันเรื่องสเป็ก ที่มา: Bloomberg
# ผู้สร้างเกม Dead Space ภาคแรก ชื่นชมทีมงาน Motive ทำเกมรีเมคได้ดี เคารพต้นฉบับ Glen Schofield ผู้สร้างเกม Dead Space ภาคแรกเมื่อปี 2008 ที่ปัจจุบันไปเป็นซีอีโอของ Striking Distance Studios ในเครือ Krafton และทำเกม The Callisto Protocol ที่สืบทอดจิตวิญญาณของ Dead Space เช่นกัน ออกมาขอบคุณทีมงานสตูดิโอ Motive ที่รีเมคเกมออกมาได้อย่างเคารพต้นฉบับ การที่มีเกมเกี่ยวกับ Dead Space ออกมาในช่วงไล่เลี่ยกัน 2 เกม ทั้งเกมใหม่ของผู้กำกับเดิม (The Callisto Protocol) และเกมรีเมคโดยทีมใหม่ (Dead Space Remake) ทำให้ทั้งสองเกมย่อมถูกเปรียบเทียบกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ และกลายเป็น Dead Space Remake ที่ประสบความสำเร็จมากกว่าในแง่เสียงวิจารณ์ ซึ่ง Glen Schofield ก็แสดงสปิริตชื่นชมอย่างเต็มที่ ความสำเร็จของ Dead Space Remake ทำให้มีโอกาสสูงที่เราจะได้เห็นเกมภาคต่อ โดย Phil Ducharme ตัวแทนของ Motive ก็ให้สัมภาษณ์ว่าอยากทำเกมแฟรนไชส์นี้ต่อเช่นกัน ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นการรีเมคภาค 2-3 หรือเป็นการออกเกมใหม่ในซีรีส์กันแน่ ที่มา - LinkedIn via VGC
# ผู้ก่อตั้ง Spotify เปิดสตาร์ทอัพใหม่ ตรวจหาความผิดปกติร่างกาย ด้วยเครื่องสแกน 360 องศา มีรายงานว่า Daniel Ek ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Spotify ได้ร่วมลงทุนและก่อตั้งธุรกิจใหม่ Neko Health ที่ตั้งเป้าหมายพัฒนาเครื่องมือสแกนร่างกาย และใช้ AI ประมวลผลข้อมูลสุขภาพ ผู้ร่วมก่อตั้งอีกคนคือ Hjalmar Nilsonne ซึ่งผลิตภัณฑ์แรกใช้เวลาวิจัยและพัฒนากว่า 4 ปี ที่มาที่ไปของธุรกิจนี้เกิดขึ้นจาก Ek มองว่าระบบสาธารณสุขของสวีเดนและกลุ่มประเทศยุโรปมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก หากเจ็บป่วยและต้องรักษาแต่ละครั้ง จึงน่าจะดีหากมีเครื่องมือตรวจสอบว่าร่างกายเรามีความผิดปกติหรือไม่ และสามารถรักษาได้ทันท่วงที Neko Health เป็นบริการเครื่องมือสแกนร่างกายแบบ 360 องศา ใช้เวลาไม่กี่นาทีต่อคน เพื่อตรวจจับรอยต่าง ๆ บนร่างกาย, ริ้วรอย หรือสิ่งผิดปกติ ตลอดจนมีเซ็นเซอร์กว่า 70 ตัว เก็บข้อมูลทั้งการทำงานหัวใจ ความดันเลือด และอัตราชีพจร แล้วใช้ AI ประมวลผลว่าร่างกายมีสัญญาณผิดปกติใดหรือไม่ จากนั้นจึงสรุปข้อมูลเพื่อให้แพทย์ใช้ต่อไป บริการนี้อยู่ในขั้นตอนทดสอบ และให้บริการเฉพาะในสวีเดน ค่าใช้จ่ายต่อครั้ง 2,000 โครนาสวีเดน หรือประมาณ 6,300 บาท ตอนนี้คิวล่วงหน้าทั้งหมดเต็มอยู่ ที่มา: The Verge
# รถหรือคริปโต Tesla ขึ้นราคา Model Y หลังเพิ่งลดราคาไม่ถึงเดือน Tesla ขึ้นราคารถยนต์ไฟฟ้า Model Y ประมาณ 1,000 ดอลลาร์ แม้เพิ่งประกาศลดราคาครั้งใหญ่ช่วงกลางเดือนมกรามที่ผ่านมา โดย Model Y เองลดราคาลงมาถึง 13,000 ดอลลาร์ และหลังจากนั้นก็ปรับขึ้นไปแล้ว รอบนี้เป็นรอบที่สอง การขึ้นราคาครั้งนี้ทำให้ Model Y Long Range ขึ้นมาอยู่ที่ 54,990 ดอลลาร์ พอดีกับเพดานการขอคืนภาษี 55,000 ดอลลาร์ของรัฐบาลสหรัฐฯ พอดี รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศโครงการคืนภาษีสำหรับการซื้อรถไฟฟ้า โดยกำหนดเพดานราคาตามประเภทรถ รถ SUV ต้องมีราคาไม่เกิน 80,000 ดอลลาร์ และรถซีดานต้องมีราคาไม่เกิน 55,000 ดอลลาร์ ราคาก่อนหน้านี้ทำให้ผู้ซื้อพอเลือกออปชั่นได้บ้างโดยไม่เกินเพดาน Tesla ปรับราคาทั่วโลกค่อนข้างบ่อยในเดือนที่ผ่านมา เช่น ในเกาหลีใต้ก็เพิ่งปรับราคา Model 3 ลงประมาณ 5% ขณะที่ Model Y ลดราคาลง 13% ลงเหลือ 82.86 ล้านวอน หรือประมาณ 66,500 ดอลลาร์ซึ่งก็แพงกว่าในสหรัฐฯ มากอยู่ดี ที่มา - Strait Times
# [IDC] ตลาด Tablet ปี 2022 ลดลงเพียงเล็กน้อย แม้หมดช่วงโควิด ส่วน Chromebook ลดลงหนัก บริษัทวิจัยตลาด IDC รายงานภาพรวมการส่งมอบแท็บเล็ตและ Chromebook ในไตรมาสที่ 4 ปี 2022 โดยแท็บเล็ตมีจำนวนส่งมอบ 45.7 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 0.3% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน ถ้าดูตัวเลขรวมตลอดปี 2022 จำนวนส่งมอบจะลดลง 3.3% ซึ่งเป็นตัวเลขลดลงหลังจาก 2020-2021 มีการเติบโตสูง เป็นผลจากโควิด 19 Chromebook ตัวเลขมีการปรับลดลงที่รุนแรงกว่า เฉพาะไตรมาส 4/2022 จำนวนส่งมอบ 3.6 ล้านเครื่อง ลดลง 24.3% และตัวเลขตลอดปี 2022 ลดลง 48% ซึ่งลดลงมาก เมื่อเทียบกับปี 2021 ที่เติบโตถึง 180.5% นักวิเคราะห์ของ IDC ให้ความเห็นว่าแม้สภาพตลาดจะปรับทิศทาง แต่แท็บเล็ตยังได้ประโยชน์จากราคาที่เข้าถึง และการใช้งานที่ง่ายกว่า จึงไม่ได้ปรับลดลงมากนัก ส่วน Chromebook นั้น ภาพตลาดชัดเจนมากขึ้นว่าอยู่ที่กลุ่มการศึกษา จึงต้องรอเข้าสู่ช่วงโรงเรียนเปิด ส่วนแบ่งตลาดแท็บเล็ตตลอดปี 2022 แอปเปิลครองส่วนแบ่งอันดับ 1 ที่ 61.8 ล้านเครื่อง (38.0%) ตามด้วยซัมซุง (18.6%), Amazon (9.8%), Lenovo (7.1%) และ Huawei (5.6%) ขณะที่ตลาด Chromebook นั้น Acer ครองตลาดมากที่สุด 4.2 ล้านเครื่อง (22.0%) ตามด้วย Dell (21.3%), Lenovo (19.5%), HP (18.4%) และ ASUS (6.8%) ที่มา:
# เป็นประเด็นการเมือง ChatGPT ปฏิเสธไม่ยอมแต่งกลอนให้ Trump แต่ยอมแต่งให้ Biden ความนิยมของแชทบ็อต ChatGPT ทำให้คนจำนวนมากทดสอบสั่งงานบ็อตในรูปแบบต่างๆ จนล่าสุดกลายเป็นประเด็นทางการเมือง (สหรัฐ) ขึ้นมา หลังมีคนลองไปสั่ง ChatGPT แต่งกลอนให้ประธานาธิบดีสองคนล่าสุดของสหรัฐคือ Donald Trump และ Joe Biden ผลปรากฏว่า ChatGPT แต่งกลอนให้ Biden ได้ตามที่สั่ง แต่กลับปฏิเสธไม่แต่งกลอนให้ Trump โดยให้เหตุผลว่าจะไม่ยุ่งกับการเมือง สื่ออย่าง Forbes พยายามยืนยันผล โดยทดลองสั่งให้ ChatGPT แต่งกลอนให้ Trump และ Biden ก็พบข้อความแบบเดียวกัน คนดังอย่าง Elon Musk (ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง OpenAI) ก็มาแจมเรื่องนี้ โดยเขาทวีตข้อความว่าเรื่องนี้น่ากังวลมาก (it is a serious concern) ส่วน Sam Altman ซีอีโอของ OpenAI ก็ยอมรับว่า ChatGPT ยังมีข้อจำกัดในเรื่องนี้ และขอให้ทุกคนใจเย็นๆ อย่าเพิ่งไปโจมตีพนักงานของ OpenAI ที่ไม่เกี่ยวข้องอะไร ที่มา - Forbes, Semafor
# Google Workspace เพิ่มตัวเลือกใส่ค่าสีแบบ RGBA และเพิ่มปุ่มหลอดดูดสี Google Workspace เพิ่ม 3 ฟีเจอร์ใหม่ โดยฟีเจอร์แรก ผู้ใช้งานสามารถเลือกสีที่ต้องการได้ด้วยค่า RGBA ที่ต้องการ จากเดิมมีเฉพาะ Hex และเพิ่มเครื่องมือหลอดดูดสี (Eyedropper) เพื่อให้สะดวกในการเลือกสีที่ต้องการใช้ มีผลทั้งใน Google Slides, Docs, Sheets และ Drawings ฟีเจอร์ต่อมาสำหรับ Google Classroom โดยสามารถตอบคอมเมนต์ได้ทันทีภายในอีเมลแจ้งเตือน ทำให้ไม่ต้องสลับไปมาระหว่างแอป และสุดท้ายเป็นการเพิ่มคุณสมบัติใหม่ในการใช้งาน BigQuery บน Google Sheets เช่น รองรับฟังก์ชัน VLOOKUP, COUNTBLANK เป็นต้น ฟีเจอร์เหล่านี้จะทยอยเพิ่มให้กับผู้ใช้ Google Workspace รวมทั้งผู้ใช้บัญชี Google ส่วนบุคคล ที่มา: กูเกิล
# NIST อัพเดตมาตรฐานการเซ็นลายเซ็นดิจิทัล ยกเลิกกระบวนการ DSA หลังใช้งานมา 20 ปี NIST ออกเอกสาร FIPS 186-5 มาตรฐานการเซ็นลายเซ็นดิจิทัลโดยปรับปรุงจากมาตรฐานเดิม FIPS 186-4 ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2013 มีการปรับปรุงถอดอัลกอริทึม DSA (Digital Signature Algorithm) ออกจากมาตรฐาน หลังจากอยู่ในมาตรฐานมาตั้งแต่ปี 1994 DSA คิดค้นโดย David W. Kravitz เจ้าหน้าที่ NSA ในปี 1991 แม้จะยื่นจดสิทธิบัตรไว้แต่ NIST ก็เปิดให้ใช้งานได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายทำให้ได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง เอกสาร FIPS 186-5 ยังอนุญาตให้ไลบรารีต่างๆ รองรับลายเซ็นแบบ DSA ได้เฉพาะการตรวจสอบลายเซ็นในเอกสารเดิมเท่านั้น ไม่อนุญาตให้เซ็นเอกสารใหม่เพิ่มเติม สำหรับการเซ็นเอกสารด้วยกระบวนการแบบ RSA มาตรฐานใหม่นี้ยังยกเลิกการเซ็นเอกสารด้วยกุญแจ RSA-1024 ออกไป โดยกุญแจขั้นต่ำต้องเป็น RSA-2048 ขึ้นไปเท่านั้น สำหรับกระบวนการเซ็นลายเซ็นดิจิทัลที่เพิ่มเข้ามาคือ EdDSA ที่ใช้ Edwards-curve และเป็นเอกสาร RFC 8032 ของ IETF โดยอนุญาตให้ใช้งานสองแบบ คือ Ed25519 ร่วมกับ SHA-512 เพื่อให้ได้ความปลอดภัยระดับ 128 บิต และ Ed448 ร่วมกับ SHAKE256 เพื่อให้ได้ความปลอดภัยระดับ 224 บิต กระบวนการเซ็นลายเซ็นดิจิทัลนับเป็นกระบวนการสำคัญของการรักษาความปลอดภัยในโลกอินเทอร์เน็ต โดยทุกวันนี้การเชื่อมต่อแบบเข้ารหัสทั้งหลาย เช่น HTTPS นั้นยืนยันว่าเราเชื่อมต่อกับฝ่ายตรงข้ามจริงก็อาศัยลายเซ็นดิจิทัลในใบรับรองที่ Certification Authority ยืนยันว่าได้ตรวจสอบแล้วว่าผู้ถือใบรับรองนั้นเป็นตัวจริง ที่มา - NIST ภาพสิทธิบัตร DSA หมายเลข 5,231,668
# พบ ChatGPT ยังมีปัญหาในการตอบคำถามวิชาคณิตศาสตร์ ถึงแม้ ChatGPT จะสร้างความกังวลในวงการการศึกษา เช่น การนำมาใช้เขียนบทความหรือช่วยทำการบ้าน แต่ Paul von Hippel อาจารย์จาก University of Texas ได้เขียนบทความหลังพบว่า ChatGPT กลับตอบคำถามผิดหลายครั้ง เมื่อเป็นคำถามของวิชาคณิตศาสตร์ ทั้งที่น่าจะเป็นวิชาที่ ChatGPT ตอบได้ดีที่สุด เพราะคณิตศาสตร์คือพื้นฐานของคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตาม หลายตัวอย่างคำถามที่ข่าวต้นทางทดสอบ ตอนนี้ ChatGPT ก็สามารถตอบได้ถูกต้องแล้ว ซึ่งอาจบอกได้ว่า ChatGPT ก็เรียนรู้หาคำตอบที่ถูกเองด้วย แต่บางคำถามก็ยังคงตอบผิดแบบแปลก ๆ เช่น ถามว่านักบาสเกตบอล Shaquille O'Neal กับ Yao Ming ใครสูงกว่ากัน ChatGPT (ณ ขณะที่เขียนข่าว) ยังตอบว่า Shaquille O'Neal สูงกว่า โดย O'Neal สูง 7'1" ส่วน Ming สูง 7'6" (?) รวมถึงคำถามการหาสแควร์รูทตัวเลขหลายหลักที่ให้คำตอบไม่ถูกหลายครั้ง โดยอาจเป็นผลจากขั้นตอนในคำนวณเอง ซึ่งหลายครั้ง ChatGPT จะอธิบายวิธีการคิดก่อนด้วย ถึงแม้ตอนนี้ ChatGPT อาจยังตอบคำถามคณิตศาสตร์ได้ไม่ดีนัก แต่ก็สอดคล้องกับที่ Sam Altman ซีอีโอ OpenAI เคยย้ำว่าตอนนี้ ChatGPT ยังทำงานได้จำกัด จึงยังไม่แนะนำให้ใช้อ้างอิงสำหรับหัวเรื่องที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม ChatGPT ยังมีโอกาสอีกมากที่แก้ปัญหาคณิตศาสตร์ให้ดีขึ้น เช่น ทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มคำนวณคณิตศาสตร์โดยเฉพาะอย่าง Wolfram Alpha ก็เป็นทางออกหนึ่ง ที่มา: The Wall Street Journal ตัวอย่างคำถามในหาสแควร์รูท คำตอบจะเป็นค่าประมาณ และไม่ถูกต้อง ถามให้เทียบส่วนสูงนักบาสเกตบอล ตามข่าวต้นทาง ก็ยังตอบผิดแบบเดิมในตอนนี้ ลองใช้คำถามบรรยาย เช่นข้อสอบ O-Net วิชาคณิตศาสตร์ ChatGPT ก็อธิบายวิธีคิดมาละเอียด แต่ยังไม่ถูก (คำตอบคือ 7/70) ลองถามข้อสอบ O-Net คณิตศาสตร์อีกข้อ อธิบายวิธีมาแต่ก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน (คำตอบคือ -1 และ 3) คำถามเดียวกัน ครั้งแรกตอบผิด แต่พอมาถามอีกครั้ง ตอบถูกแบบมั่นใจทันที คำถามตัวอย่างจากข่าวต้นทางหลายคำถาม ตอนนี้ ChatGPT ตอบถูกต้องแล้ว
# Netlify เข้าซื้อ Gatsby ผู้สร้างเว็บเฟรมเวิร์คโอเพนซอร์ส Netlify ผู้ให้บริการคลาวด์สำหรับพัฒนาเว็บเป็นหลักประกาศเข้าซื้อบริษัท Gatsby ผู้พัฒนาเฟรมเวิร์คโอเพนซอร์สชื่อดังมักใช้พัฒนาเว็บแบบ static หรือใช้เชื่อมโหลดข้อมูลจาก CMS ตัวอื่นๆ อีกที ตัว Gatsby นั้นแม้จะใช้รันที่ไหนก็ได้แต่ก็มีบริการคลาวด์ของตัวเองอยู่ก่อนแล้ว ทำให้ทับซ้อนกันบ้าง ส่วนตัว Netify นั้นให้บริการคลาวด์ที่ทำงานร่วมกับเฟรมเวิร์คยอดนิยมต่างๆ ได้ ทาง Gatsby ยืนยันว่าทีมงานจะยังพัฒนา Gatsby เป็นโอเพนซอร์สต่อไป ส่วนบริการคลาวด์ต่างๆ จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของบริการคลาวด์ของ Netlify ที่มา - Gatsby
# Telegram เพิ่มฟีเจอร์ใหม่: เซฟไฟล์ Media อัตโนมัติ, Re-login ด้วย Apple หรือ Google ID และอื่น ๆ Telegram ประกาศเพิ่มฟีเจอร์ใหม่สำหรับผู้ใช้งานอีกหลายรายการ มีของเด่นที่น่าสนใจดังนี้ Profile Picture Maker สามารถใช้สติกเกอร์หรืออีโมจิ เป็นรูปโปรไฟล์ได้ รวมทั้งแบบ Custom และสามารถแก้รูปโปรไฟล์เพื่อนที่ติดต่อได้ด้วย Translating Entire Chats กดแปลเนื้อหาทั้งหมด เป็นภาษาที่ต้องการได้ทั้งหน้าต่างแชต (รองรับเฉพาะบัญชี Premium) Network Usage เพิ่มรายละเอียดปริมาณข้อมูลใช้งาน แบบแยกตามหมวดไฟล์-เนื้อหา เพื่อปรับตั้งค่าได้เหมาะสม Auto-Save Incoming Media ตั้งค่าเซฟไฟล์ภาพ-วิดีโอ อัตโนมัติ แบบกำหนดเงื่อนไขได้ เช่น ขนาดไฟล์, ประเภทไฟล์ หรือผู้ส่งคือใคร ของใหม่อื่นได้แก่ เพิ่มแถบจัดกลุ่มอีโมจิและสติกเกอร์, แอดมินกลุ่มกำหนดได้ว่าให้ส่งเนื้อหาแบบไหน (เช่น ห้องนี้ส่งรูปได้เท่านั้น), นักพัฒนาสามารถเพิ่มเงื่อนไขการใช้บอต ให้ส่งหากลุ่ม-คน ตามเงื่อนไขได้, ใช้ Apple ID หรือ Google ID ล็อกอินเข้ามาใหม่ได้ นอกจากนี้ Telegram Premium ยังเพิ่มทางเลือกลดราคา 40% เมื่อสมัครแบบรายปี ที่มา: Telegram
# คณะลูกขุนยกคำร้อง นักลงทุนรวมกลุ่มฟ้อง Elon Musk จากทวีตซื้อหุ้นคืน 420 ดอลลาร์ต่อหุ้น เมื่อปี 2018 คณะลูกขุนของศาลซานฟรานซิสโก มีคำตัดสินแบบเป็นเอกฉันท์ ให้ยกคำร้องจากคดีที่กลุ่มนักลงทุน Tesla ยื่นฟ้อง Elon Musk ซีอีโอ จากทวีตที่เขาบอกว่ากำลังพิจารณาซื้อหุ้นบริษัทคืน เพื่อนำบริษัทออกจากตลาดหุ้นที่ราคา 420 ดอลลาร์ต่อหุ้น ซึ่งมีเงินทุนรองรับแล้ว เมื่อปี 2018 และดีลดังกล่าวไม่เกิดขึ้นจริง ระบุว่าเป็นการฉ้อโกงนักลงทุน Elon Musk ทวีตแสดงความพอใจกับคำตัดสิน ขณะที่ตัวแทนฝั่งโจทก์และอัยการบอกว่ารู้สึกผิดหวังกับผลลัพธ์ที่ออกมา และจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป คดีนี้เป็นภาคต่อของของเหตุการณ์ SEC หรือ ก.ล.ต. สหรัฐ ยื่นฟ้อง ระบุว่าเป็นการปั่นราคาหุ้น และ Elon Musk ก็ยอมความด้วยการจ่ายค่าปรับ 20 ล้านดอลลาร์ ส่วนคดีความครั้งนี้กลุ่มนักลงทุนเป็นโจทก์ในการฟ้อง ระบุว่าทวีตดังกล่าวทำให้นักลงทุนขาดทุนจากราคาหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้นสูง และลดลงมาเมื่อดีลดังกล่าวไม่เกิดขึ้นจริง โดยประเมินความเสียหายราว 12,000 ล้านดอลลาร์ ประเด็นที่ Musk ให้การต่อศาล เช่น เขาแย้งว่าการที่เขาทวีตสักข้อความ ไม่สามารถสรุปได้ว่าทุกคนจะเชื่อและทำตามเหมือนกันทันที มีครั้งหนึ่งเขาเคยทวีตว่าราคาหุ้น Tesla ตอนนี้สูงเกินไป ผลคือราคาหุ้นก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งขัดแย้งกับกรณีที่ถูกกล่าวหา นอกจากนี้เขาบอกเหตุผลที่ไม่ซื้อหุ้นคืน ว่าเมื่อหารือกับนักลงทุนส่วนหนึ่ง พบว่าพวกเขาต้องการให้ Tesla ยังเป็นบริษัทในตลาดหุ้นต่อไป ที่มา: BBC
# กูเกิลลงทุนใน Anthropic สตาร์ตอัพสาย AI ที่ก่อตั้งโดยอดีตทีม OpenAI ผู้สร้าง GPT-3 Google Cloud เข้าลงทุนใน Anthropic บริษัทสตาร์ตอัพด้าน AI ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2021 โดยอดีตพนักงานของ OpenAI หลายคน ซีอีโอ Dario Amodei ยังเป็นหัวหน้าทีมพัฒนา GPT-2, GPT-3 และดูแลงานสายวิจัยของ OpenAI อีกด้วย Anthropic นิยามตัวเองว่าเป็น AI safety and research company มีเป้าหมายพัฒนา AI ที่เชื่อถือและไว้วางใจได้ แก้ปัญหาคำตอบมั่วๆ ของ AI ที่อาจสร้างอันตรายให้ผู้ใช้งาน ปัจจุบันบริษัทมีงานวิจัยด้านนี้ตีพิมพ์ออกมาแล้วชิ้น (รายชื่อ) มูลค่าการลงทุนครั้งนี้ไม่เปิดเผย แต่ Financial Times รายงานว่า 300 ล้านดอลลาร์ แลกกับหุ้นประมาณ 10% และมีข้อตกลงร่วมกันในการใช้เทคโนโลยี Reinforcement Learning from Human Feedback (RLHF) บน Google Cloud และในทางกลับกันคือ Anthropic จะใช้ Google Cloud เป็นบริการคลาวด์หลักด้วย ที่มา - Anthropic, Google, Financial Times
# ลาก่อนตำแหน่งเซลส์ ไมโครซอฟท์ใช้ OpenAI GPT อ่านเมลแล้วเขียน Proposal ให้ลูกค้า ไมโครซอฟท์ยังเดินหน้านำ GPT ของ OpenAI ที่เข้าไปลงทุนไว้ ผนวกเข้ามาในบริการของตัวเองอีกเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้คือ Azure, Teams Premium และตัวล่าสุดคือ Microsoft Viva Sales ชื่อ Microsoft Viva อาจไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เพราะเพิ่งเปิดตัวครั้งแรกในปี 2021 โดยเป็นแอพพลิเคชันที่รันอยู่ใน Microsoft Teams และ Outlook อีกทีหนึ่ง เน้นจับกลุ่มตลาดพนักงานภายในองค์กร ให้พูดคุย ทำกิจกรรม เรียนรู้ พัฒนาตัวเอง ฯลฯ ผ่านระบบของ Viva แอพย่อยตัวหนึ่งของ Viva คือ Viva Sales หน้าที่ของมันคือเชื่อมต่อระบบ CRM ในตลาด (เช่น Salesforce หรือ Dynamics 365) เข้ากับระบบสื่อสารภายในอย่าง Teams/Outlook สิ่งที่ไมโครซอฟท์เพิ่มเข้ามาคือใช้เอนจิน GPT ช่วยเขียนอีเมลตอบโต้กับลูกค้าที่สนใจสั่งซื้อสินค้าของเรา สามารถใช้ AI ช่วยเขียน proposal ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า อ่านอีเมลแล้วรู้ว่าลูกค้าต้องการสินค้าใด ที่ระดับราคาใด แล้วดึงข้อมูลสินค้ากับโปรโมชั่นจาก Dynamics มาร่างเป็นคำตอบให้ ช่วยประหยัดแรงและเวลาของพนักงานฝ่ายขายลงได้ ทั้งหมดสามารถทำได้ผ่าน Outlook โดยตรงเลย (ดูคลิปประกอบ) ที่มา - Microsoft
# ZIPAIR ร่วมมือกับ Starlink ให้บริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียม เป็นสายการบินเอเชียรายแรก สายการบิน ZIPAIR สายการบินโลว์คอสต์ที่เป็นบริษัทลูกของ Japan Airlines ประกาศความร่วมมือกับ SpaceX เพื่อนำบริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมความเร็วสูง Starlink มาให้บริการกับผู้โดยสารในเที่ยวบิน ซึ่งเป็นสายการบินจากเอเชียรายแรก บริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมของ Starlink สำหรับเครื่องบินโดยสาร เปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว มีจุดขายคือความเร็วในการดาวน์โหลดที่สูงถึง 350Mbps และมี latency ที่ต่ำ จึงให้คุณภาพได้ใกล้เคียงกับการใช้อินเทอร์เน็ตในบ้าน ประเด็นน่าสนใจคือ Shingo Nishida ประธานของ ZIPAIR บอกว่า สายการบินจะร่วมมือเพื่อผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่ที่เป็นไปได้ ในการเดินทางทางอากาศ ความร่วมมือกับ SpaceX นี้ จะเป็นหนึ่งในมาตรฐานของอนาคตการบิน ทั้งนี้ ZIPAIR อยู่ในขั้นตอนการติดตั้งอุปกรณ์และขอการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะให้บริการอินเทอร์เน็ตต่อไป ที่มา: ZIPAIR ภาพ Twitter @ZIPAIRTokyo
# The Last of Us Part I เวอร์ชันพีซี เลื่อนขายเล็กน้อย จาก 3 มี.ค. เป็น 28 มี.ค. 2023 สตูดิโอ Naughty Dog ประกาศเลื่อนวันขายเกม The Last of Us Part I เวอร์ชันพีซีเล็กน้อย จากเดิม 3 มีนาคม 2023 มาเป็น 28 มีนาคม 2023 เพื่อปรับปรุงคุณภาพของเกมให้ดีขึ้น แถลงการณ์ของ Naughty Dog ยังขอบคุณแฟนๆ ที่ตอบรับซีรีส์คนแสดงเวอร์ชัน HBO เป็นอย่างดี และช่วยให้ยอดขายเกม The Last of Us Part I เวอร์ชัน PS5 เพิ่มขึ้นด้วย Naughty Dog บอกว่าจะมีแฟนใหม่ๆ อีกมากเข้ามาเล่นเกมซีรีส์นี้ครั้งแรกใน The Last of Us Part I เวอร์ชันพีซี ซึ่งก็ขอให้อดทนรอกันเพิ่มอีกสักหน่อย
# เกมออนไลน์ปิดตัวอีก 2 เกม Knockout City และ CrossfireX ช่วงนี้มีเกมออนไลน์ปิดตัวไปหลายเกม ไม่ว่าจะเป็น Rumbleverse, Apex Legends Mobile, Battlefield Mobile ล่าสุดมีเกมออนไลน์ประกาศปิดตัวไปอีก 2 เกมในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ได้แก่ Knockout City และ CrossfireX Knockout City เป็นเกมดอดจ์บอลที่พัฒนาโดย Velan Studios และจัดจำหน่ายโดย EA หลังเปิดบริการมา 2 ปี ก็ไม่ประสบความสำเร็จ และประกาศปิดเซิร์ฟเวอร์ในวันที่ 6 มิถุนายน 2023 โดยระหว่างนี้ทีมพัฒนาจะปลดล็อคไอเทมที่เคยขายและมีอีเวนต์พิเศษสั่งลาให้ เกมจะยังสามารถเล่นแบบ private hosted กันเองได้ต่อไป Velan Studios บอกว่าแม้มีผู้เล่นมากถึง 12 ล้านคน แต่สุดท้ายก็ต้องตัดสินใจปิดบริการ บริษัทเรียนรู้ว่าการทำเกมแนว live services นั้นไม่ง่าย ต้องใช้ทรัพยากรเยอะจนบริษัทขนาดเล็กไม่สามารถทั้งซัพพอร์ตและพัฒนาของใหม่ไปพร้อมกันได้ - Knockout City, IGN CrossfireX เป็นอีกเกมที่ประกาศปิดตัว เกม CrossfireX เป็นเกมยิง FPS ที่เกิดจากความร่วมมือของ Smilegate บริษัทเกมจากเกาหลีเจ้าของเกม Crossfire (ทำฝั่งมัลติเพลเยอร์) ร่วมกับ Remedy Entertainment ผู้สร้างเกม Alan Wake และ Control (ทำฝั่งเล่นคนเดียว) เกมจะปิดบริการทั้งฝั่งเล่นคนเดียวและมัลติเพลเยอร์ ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2023 หากมีผู้เล่นที่เพิ่งซื้อเกมภายใน 14 วันจะสามารถขอคืนเงินได้เต็มจำนวน - CrossfireX, VGC ค่าย Remedy ยังมีโครงการพัฒนาเกมอยู่ในคิวอีกหลายเกม ได้แก่ Alan Wake 2, Max Payne 1-2 Remake, Control 2, เกมยิงโค้ดเนม Vanguard ร่วมกับ Tencent
# [Counterpoint] ตลาดสมาร์ทโฟน Q4/2022 ลดลง 18%, Apple ครองส่วนแบ่งรายได้เกือบครึ่งหนึ่งในปี 2022 บริษัทวิจัยตลาด Counterpoint รายงานภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนของไตรมาสที่ 4 ปี 2022 จำนวนส่งมอบยังถูกกดดันมาก ลดลง 18% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนที่ 303.9 ล้านเครื่อง เป็นตัวเลขต่ำที่สุดสำหรับไตรมาส 4 ของปี นับตั้งแต่ปี 2013 Harmeet Singh Walia นักวิจัยอาวุโสของ Counterpoint ให้ความเห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนหลายอย่างในโลก ทำให้ลูกค้าชะลอการซื้อหรืออัพเกรดสมาร์ทโฟน ผลที่ออกมาคือสมาร์ทโฟนทุกค่ายต่างมียอดขายที่ลดลงในระดับเลขสองหลัก แอปเปิลมีจุดเด่นกว่าสมาร์ทโฟนแบรนด์อื่น โดยเฉพาะในรุ่นพรีเมียม (iPhone Pro) ที่ได้รับผลกระทบจากยอดขายน้อย แม้เครื่องมีราคาสูง ส่งผลให้ตัวเลขรายได้การขายสมาร์ทโฟนทั้งหมด แอปเปิลมีส่วนแบ่งถึง 48% สำหรับปี 2022 ส่วนแบ่งการตลาดนับเป็นจำนวนเครื่องของไตรมาส 4 ปี 2022 ได้แก่ แอปเปิล ซัมซุง Xiaomi OPPO และ vivo ในลำดับที่ 1-5 ตามลำดับ ที่มา: Counterpoint
# YouTube Shorts มีจำนวนการรับชมมากกว่า 5 หมื่นล้านวิวต่อวันแล้ว กูเกิลเปิดเผยตัวเลขในระหว่างการแถลงผลประกอบการไตรมาสว่า YouTube Shorts แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นแนวตั้ง ที่ทำมาแข่งกับ TikTok และ Reels ของ Instagram มีจำนวนการรับชมต่อวันมากกว่า 5 หมื่นล้านครั้งแล้ว เทียบกับตัวเลขที่รายงานเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วอยู่ที่ 3 หมื่นล้านครั้งต่อวัน แม้การเติบโตจะสูงมาก แต่เฉพาะตัวเลขก็ยังห่างจากคู่แข่งอยู่มาก Reels ของ Meta มีจำนวนการรับชมต่อวันเมื่อเดือนตุลาคมที่ 1.4 แสนล้านครั้ง (รวมทุกแพลตฟอร์ม) ส่วน TikTok ด้วยจำนวนผู้ใช้หลักพันล้านคน และแพลตฟอร์มเน้นวิดีโอสั้น ตัวเลขย่อมสูงกว่านั้นมาก Ruth Porat ซีเอฟโอของกูเกิล กล่าวในช่วงแถลงผลประกอบการว่าตอนนี้ YouTube ให้ความสำคัญมากขึ้นกับการเติบโตของ Shorts ทั้งการต่อยอดรายได้และ Engagement ที่มา: TechCrunch
# กูเกิลจัดงานแถลงข่าว 8 ก.พ. โชว์ของใหม่ด้าน Search ที่ใช้พลัง AI เข้าช่วย กูเกิลประกาศจัดงานแถลงข่าวในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2023 ระบุว่าเป็นงานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ด้าน Search, Maps และการค้นหาข้อมูลประเภทอื่นๆ (จากภาพประกอบจะเห็น Google Lens, Shopping) โดยวิธีการค้นหาจะเป็นธรรมชาติและเข้าใจง่ายมากขึ้น ในคำเชิญสื่อเข้าร่วมงานแถลงข่าว กูเกิลยังบอกว่างานนี้จะโชว์การนำ AI มาช่วยบริการค้นหาให้ดีกว่าเดิม ต้องรอดูกันว่างานนี้จะมีโชว์ AI แชทบ็อทแบบ ChatGPT ตามที่มีข่าวลือด้วยหรือไม่ หรืออาจต้องรองาน Google I/O ช่วงเดือนพฤษภาคมทีเดียวเลย ส่วนในงานแถลงผลประกอบการไตรมาสล่าสุดเมื่อวานนี้ ซีอีโอ Sundar Pichai ก็บอกเองว่าเร็ว ๆ นี้ ผู้ใช้งานจะได้ใช้โมเดล Language ตัวใหม่ ซึ่งรวมเข้ามากับบริการเสิร์ช ทำให้ได้ประสบการณ์ใช้งานแบบใหม่ ที่มา - The Verge
# Netflix ญี่ปุ่น ทดลองสร้างอนิเมชันขนาดสั้น ที่ใช้ AI ช่วยวาดฉากหลัง Netflix ประเทศญี่ปุ่น เปิดตัวอนิเมชันขนาดสั้น The Dog & The Boy ซึ่งเป็นผลงานการผลิตร่วมกันระหว่าง Rinna Inc. บริษัทที่พัฒนางานศิลปะจาก AI และ WIT Studio สตูดิโอผู้ผลิตอนิเมชันเรื่องดังอย่าง Attack on Titan และ Spy × Family The Dog & The Boy เป็นอนิเมชันที่ใช้ AI ช่วยวาดภาพฉากหลัง (ในคลิปท้ายข่าวมีรายละเอียดช่วงตอนจบ) เล่าเรื่องราวของเด็กชายกับสุนัขหุ่นยนต์ ที่วันหนึ่งเด็กชายเติบโตขึ้น และต้องออกไปรบในสงครามเพื่อปกป้องเมือง อนิเมชันนี้ความยาว 3 นาที ยังเป็นงานทดลองเท่านั้น Netflix บอกว่าการนำ AI มาช่วยวาดภาพจำนวนหนึ่ง เพื่อมุ่งหวังแก้ปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมอนิเมชันที่ขาดแคลน โดยลดงานบางส่วน ให้คนไปโฟกัสการผลิตงานตัวละครและฉากอารมณ์ที่สำคัญมากขึ้น จึงคาดว่า Netflix น่าจะผลักดันแนวทางดังกล่าวกับงานอื่นในอนาคตต่อไป อนิเมชันไม่ได้เผยแพร่ทาง Netflix แต่เอามาลง YouTube เลย สามารถรับชมได้ท้ายข่าว ที่มา: Anime Corner และ Netflix Japan
# iOS ไม่ได้ปลอดภัย 100% เตือนผู้ใช้ระวังสับสนแอป Meta Business Suite ปลอมบน App Store แจ้งเตือนผู้ใช้ ขณะนี้บน App Store มีแอป Meta Business Suite ที่เป็นแอปปลอมใช้ชื่อว่า Business Ads Manage แต่ใช้ภาพไอคอนแบบเดียวกับแอปของ Meta ผู้ใช้สามารถแยกระหว่างแอปจริงของและแอปปลอมได้โดยการสังเกตชื่อผู้พัฒนาแอป โดยแอปปลอมจะใช้ชื่อว่า Pelin Yasar ขณะที่แอปจริงจะระบุชื่อว่ามาจาก Meta Platforms, Inc. ที่มา - App Store แอปพลิเคชันจริง แอปพลิเคชันปลอม
# [ลือ] กูเกิลกำลังทำแชทบ็อทแบบ ChatGPT โค้ดเนม Apprentice Bard (กวีฝึกหัด) CNBC รายงานข่าวลือว่า กูเกิลกำลังพัฒนาแชทบ็อทลักษณะเดียวกับ ChatGPT โดยมีชื่อภายในว่า Apprentice Bard (กวีฝึกหัด) โดยตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบภายใน ตัวโมเดลที่รันอยู่เบื้องหลังคือ LaMDA ที่โชว์เดโมมาหลายปี และเคยมีข่าวว่าพนักงานคนหนึ่งบอกว่ามันมีความรู้สึกเหมือนมนุษย์ แต่กูเกิลก็ยังไม่ยอมเปิดให้คนภายนอกใช้งาน นอกจาก Apprentice Bard กูเกิลยังมีโครงการด้านแชทบ็อทอีกหลายตัว ตัวอย่างอีกโครงการเป็นการปรับหน้า search บนเว็บแบบเดสก์ท็อปใหม่ ใช้ใช้งานถามตอบกับบ็อทได้ด้วย โครงการ AI ของกูเกิลอยู่ภายใต้หน่วยชื่อ Atlas สังกัดทีม Google Cloud อีกที เป็นการปรับโครงสร้างภายในเพื่อตอบโต้คู่แข่งใหม่ๆ อย่าง OpenAI ตามข่าวลือก่อนหน้านี้ ที่มา - CNBC ภาพจาก Google
# VS Code ออกเวอร์ชัน 1.75 รองรับการทำ Profile ผู้ใช้บนตัว IDE แล้ว ไมโครซอฟท์ออก Visual Studio Code เวอร์ชัน 1.75 อัพเดตรอบเดือนมกราคม 2023 ของใหม่ที่สำคัญคือระบบ Profile เพื่อให้นักพัฒนาเซฟการตั้งค่า ส่วนขยาย ของตัว IDE ฯลฯ และสลับไปมาระหว่างโปรไฟล์ได้ (เช่น ตั้งเป็น Work, Demo) Profile ยังสามารถ import/export ไปใช้ในเครื่องอื่นๆ ได้ รวมถึงการช่วยเพื่อนร่วมงานสร้าง Profile ที่เหมาะสมกับงานโปรเจคนั้น แล้วแชร์ให้กันได้ ฟีเจอร์ใหม่อย่างอื่นของ VS Code 1.75 คือ การบังคับส่วนขยายใน VS Marketplace ต้อง sign เป็นดีฟอลต์เพื่อความปลอดภัย, ปรับปรุงการใช้งานร่วมกับ screen reader, ลากมุมเพื่อปรับขนาด multiple views ได้พร้อมกัน, รองรับ TypeScript 5.0, ธีมใหม่ Dark+ V2 และ Light+ V2 เป็นต้น ที่มา - VS Code
# Microsoft Teams Premium เปิดบริการแล้ว ใช้ AI ช่วยสรุปประชุม เอนจิน GPT-3.5 ไมโครซอฟท์เริ่มให้บริการ Microsoft Teams Premium อย่างเป็นทางการ หลังเปิดตัวมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2022 Microsoft Teams Premium เป็นแพ็กเกจอัพเกรดของ Microsoft Teams ในราคา 10 ดอลลาร์/คน/เดือน (ช่วงโปรโมชั่นเหลือ 7 ดอลลาร์/คน/เดือน) โดยจะได้ฟีเจอร์ระดับสูงเพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง Intelligent Recap ใช้ AI สรุปประชุมออนไลน์ออกมาเป็นเอกสารให้ พร้อมไฮไลท์การพูดของผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละคน ตอนนี้เอนจินการสรุปประชุมยังเป็นของเก่าอยู่ แต่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะอัพเกรดเป็น OpenAI GPT-3.5 ที่เป็นผลจากไมโครซอฟท์เข้าไปลงทุนใน OpenAI AI-generated chapters บันทึกคลิปการประชุมออนไลน์ แล้วใช้ AI ช่วยแบ่งช่วงให้ว่าแต่ละช่วงเป็นเรื่องอะไร กดเลื่อนดูย้อนหลังได้สะดวก personalized timeline markers ในคลิปย้อนหลังยังบอกด้วยว่ามีคนเอ่ยถึงเราช่วงไหนบ้าง และเราเข้าหรือออกห้องประชุมช่วงไหนในคลิป advanced meeting protection จำกัดชั้นความลับของการประชุม กำหนดว่าใครสามารถบันทึกการประชุมได้บ้าง ใส่ลายน้ำป้องกันคลิปรั่วได้ ฟีเจอร์อื่นๆ ได้แก่ live translations ถอดเสียงพูดในวิดีโอออกมาเป็น caption และแปลภาษาให้อัตโนมัติ รองรับ 40 ภาษา branded meetings เพิ่มโลโก้และชุดสี ภาพพื้นหลังขององค์กร ทั้งในห้องประชุมและล็อบบี้ก่อนเข้าประชุม meeting templates กำหนดเทมเพลตการประชุมขององค์กรได้เอง เช่น เทมเพลตการคุยกับลูกค้า, ประชุมระดมสมอง ตั้งค่าห้องประชุมแตกต่างกันได้ Virtual Appointments ผู้ช่วยนัดหมายการประชุม ใช้กับลูกค้า-พาร์ทเนอร์ภายนอกโดยไม่ต้องมีแอพ Teams โดยส่งลิงก์ผ่าน SMS/อีเมลและประชุมทางเบราว์เซอร์ virtual green room ตัดฉากหลังอัตโนมัติ สำหรับการนำเสนอผ่าน webinar ที่มา - Microsoft
# อินเทลหั่นราคา Intel Arc A750 เหลือ 249 ดอลลาร์ ถูกกว่า RTX 3060 เกือบ 100 ดอลลาร์ อินเทลประกาศหั่นราคาจีพียูระดับกลาง Intel Arc A750 ที่วางตัวไว้เป็นคู่แข่งของ GeForce RTX 3060 โดยมีประสิทธิภาพต่อราคาดีกว่า จากเดิม 289 ดอลลาร์ ลงเหลือ 249 ดอลลาร์ (เฉพาะการ์ดแบรนด์ของอินเทลเอง) โดยบอกว่าเป็นความตั้งใจตามยุทธศาสตร์หลักของบริษัท ที่เน้นออกจีพียูราคาคุ้มค่า มาเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค หากเทียบกับราคา RTX 3060 รุ่นแรม 8GB เท่ากัน ตอนนี้ขายอยู่ที่ 339 ดอลลาร์ ถูกกว่ากันถึง 90 ดอลลาร์ นอกจากการลดราคาแล้ว อินเทลยังออกอัพเดตไดรเวอร์รอบไตรมาส 1/2023 ปรับปรุงปัญหาประสิทธิภาพของเกมเก่าๆ โดยเฉพาะเกมที่เป็น DirectX 9 อย่าง CS:GO, Half-Life 2, League of Legends ช่วยเพิ่มเฟรมเรตได้มากขึ้นถึง 43% เมื่อเทียบกับไดรเวอร์ที่ออกพร้อมจีพียู ส่วนเกมใหม่ๆ ก็รองรับเทคนิคการสเกลภาพ XeSS เพิ่มขึ้นเช่นกัน ที่มา - Intel, The Verge
# Alphabet รายงานผลประกอบการ รายได้โฆษณาลดลงมาก แต่ภาพรวมยังโต 1% Alphabet บริษัทแม่ของกูเกิล รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2022 รายได้รวม 76,048 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 13,624 ล้านดอลลาร์ ซีอีโอ Sundar Pichai กล่าวว่ามีโมเมนตัมการเติบโตที่ดีในธุรกิจคลาวด์, subscription ของ YouTube และสินค้าตระกูล Pixel ขณะที่ AI จะเข้ามาเสริมกับบริการต่าง ๆ มากขึ้นหลังจากนี้ ตัวเลขรายได้ส่วนที่น่าสนใจมีดังนี้ YouTube มีรายได้ส่วนโฆษณาลดลงเป็น 7,963 ล้านดอลลาร์ สอดคล้องกับภาพรวมรายได้โฆษณากูเกิลที่ลดลงเป็น 67,838 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ Google Cloud รายได้เพิ่มขึ้นเป็น 7,315 ล้านดอลลาร์ กลุ่ม other ที่รวม Pixel ด้วย เพิ่มขึ้นเป็น 8,796 ล้านดอลลาร์ Alphabet จะปรับการรายงานตัวเลขมีผลในไตรมาสปัจจุบันเป็นต้นไป ระบุว่าเนื่องจาก AI จะมีบทบาทต่อธุรกิจมากขึ้น จึงแยกรายงานส่วนธุรกิจที่เกี่ยวกับ AI ออกมาโดยเฉพาะ ผลที่ชัดเจนคือ DeepMind ซึ่งเดิมอยู่ในกลุ่มธุรกิจ Other Bets จะย้ายมาเป็นส่วนหนึ่งของรายได้-ค่าใช้จ่าย ของธุรกิจหลักกูเกิลแทน จากประกาศนี้ Sundar Pichai ยังบอกเพิ่มเติมในช่วงแถลงผลประกอบการ ว่าเร็ว ๆ นี้ ผู้ใช้งานจะได้ใช้โมเดล Language ตัวใหม่ ซึ่งรวมเข้ามากับบริการเสิร์ช ทำให้ได้ประสบการณ์ใช้งานแบบใหม่ ที่มา: Alphabet (pdf) และ CNBC
# Apple รายงานผลประกอบการไตรมาส รายได้ลดลง 5% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2019 แอปเปิลรายงานผลประกอบการประจำไตรมาสเดือนธันวาคม 2022 รายได้รวม 117,154 ล้านดอลลาร์ ลดลง 5% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อน โดยแอปเปิลมีรายงานตัวเลขรายได้ที่ลดลงครั้งล่าสุดเมื่อปี 2019 ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 29,998 ล้านดอลลาร์ รายได้แยกตามกลุ่มธุรกิจสะท้อนชัดเจนว่ารายได้ที่ลดลงมาจาก iPhone เป็นหลัก โดยมีรายได้ 65,775 ล้านดอลลาร์ ลดลง 8%, Mac ลดลง 29% เป็น 7,735 ล้านดอลลาร์, iPad เพิ่มขึ้น 30% เป็น 9,396 ล้านดอลลาร์ ซีอีโอ Tim Cook กล่าวว่าในไตรมาสที่ผ่านมา แอปเปิลมีอุปกรณ์ที่เปิดใช้งานรวมมากกว่า 2 พันล้านเครื่องเป็นครั้งแรก ส่วนซีเอฟโอ Luca Maestri บอกว่าธุรกิจ Services ก็เติบโตทำสถิติใหม่สูงสุดอีกไตรมาส มีรายได้ 20,766 ล้านดอลลาร์ มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานมากกว่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งจะนำมาลงทุนตามแผนการเติบโตระยะยาว ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจจากช่วงแถลงผลประกอบการกับนักลงทุน และการให้สัมภาษณ์กับ CNBC ของ Tim Cook มีดังนี้ รายได้ iPhone ที่กระทบหนักมาจาก iPhone 14 Pro และ iPhone 14 Pro Max ที่ไม่สามารถผลิตให้ทันความต้องการ เป็นผลจากมาตรการล็อกดาวน์ซึ่งแอปเปิลออกประกาศไปก่อนหน้านี้ และปัญหานี้ก็ลากยาวมาเกือบตลอดเดือนธันวาคม ส่วนปัจจุบันกลับมาเป็นปกติแล้ว Mac ยอดขายลดลง เนื่องจากปลายปี 2021 มี MacBook Pro รุ่นใหม่ ขาย เทียบกับปลายปี 2022 ซึ่งไม่มี Mac รุ่นใหม่ออกมา จำนวนลูกค้าที่จ่ายเงิน Subscription ตอนนี้มี 935 ล้านบัญชี บริการ Apple Pay Later จะเริ่มให้บริการเร็ว ๆ นี้ ประเด็นการปลดพนักงานในบริษัท Tech หลายแห่ง Tim Cook บอกว่า สถานการณ์ตอนนี้มีความยากลำบาก แอปเปิลเองก็ตัดค่าใช้จ่ายเช่นกัน โดยลดการรับพนักงานใหม่ และเพิ่มการพิจารณาที่มากขึ้นในการรับพนักงานแต่ละคน ประเด็นราคาสินค้าแอปเปิลที่อาจปรับเพิ่มขึ้นอีก แม้เศรษฐกิจไม่ดี Tim Cook บอกว่าเขาไม่ตอบประเด็นราคาสินค้าที่อาจสูงขึ้น แต่มองว่าสมาร์ทโฟน ซึ่งกรณีนี้คือ iPhone เข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของคนมากขึ้น ทั้งข้อมูลสุขภาพ การเงิน อุปกรณ์สมาร์ทโฮม คนก็จะพร้อมจ่ายมันด้วยเหตุผลที่มากขึ้น ในราคาที่พวกเขายอมรับ ประเด็น TSMC ย้ายฐานการผลิตมาในอเมริกา และแอปเปิลเป็นลูกค้าหลัก ยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่าจะกระทบกับต้นทุนแค่ไหน ที่มา: แอปเปิล, CNBC, MacRumors
# Amazon ไตรมาสล่าสุด: AWS และธุรกิจโฆษณายังเติบโตสูงระดับสองหลัก Amazon รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปี 2022 ยอดขายรวมเพิ่มขึ้น 9% เทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนเป็น 149,204 ล้านดอลลาร์ กำไรสุทธิลดลงมากเหลือ 278 ล้านดอลลาร์ เนื่องจาก Amazon มีรายการบันทึกขาดทุนจากเงินลงทุนใน Rivian ราว 2.3 พันล้านดอลลาร์ AWS ยังคงเป็นธุรกิจที่เติบโตสูง ไตรมาสนี้มีรายได้ 21,378 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 20% มีกำไรจากการดำเนินงานเฉพาะส่วนธุรกิจ 5,205 ล้านดอลลาร์ อีกธุรกิจที่เติบโตสูงแบบเงียบ ๆ คือโฆษณา รายได้เฉพาะส่วนนี้เพิ่มขึ้น 19% เป็น 11,557 ล้านดอลลาร์ ก่อนหน้านี้ Amazon ได้ประกาศปลดพนักงานเพิ่มราว 18,000 คน ซึ่งซีอีโอ Andy Jassy บอกว่าเป็นผลกระทบระยะสั้นจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ แต่บริษัทยังมั่นใจในแผนการลงทุนและการเติบโตระยะยาว โดยเฉพาะส่วนรีเทลในต่างประเทศ และบริการคลาวด์ ที่มา: Amazon
# Sony ขาย PS5 ในไตรมาสที่ผ่านมาทำสถิติสูงสุด 7.1 ล้านเครื่อง โซนี่รายงานผลการดำเนินงานของไตรมาส 3 ตามปีการเงินบริษัท 2022 สิ้นสุดเดือนธันวาคม ยอดขาย PS5 ทำสถิติสูงสุดในไตรมาสที่ 7.1 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อน PS5 จึงขายไปแล้วรวม 32.1 ล้านเครื่อง นับตั้งแต่เปิดตัว ข้อมูลนี้สะท้อนว่าสถานการณ์ PS5 ขาดตลาด ตอนนี้ดีขึ้นมากแล้ว ภาพรวมทางการเงินของโซนี่ในไตรมาส รายได้รวม 3.41 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 13% จากปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 3.99 แสนล้านเยน ธุรกิจเกมเป็นรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทในไตรมาสนี้ มีรายได้ 1.25 ล้านล้านเยน กลุ่มสินค้าเทคโนโลยีเพื่อความบันเทิงและบริการ 7.53 แสนล้านเยน และธุรกิจเพลง 3.64 แสนล้านเยน ตัวเลขอื่นที่น่าสนใจ จำนวนสมาชิก PlayStation Plus เพิ่มขึ้นเป็น 46.4 ล้านบัญชี, God of War Ragnarök ขายได้แล้วรวม 16.1 ล้านชุด (PS4+PS5) ที่มา: โซนี่ (pdf)