content
stringlengths
2
11.3k
url
stringlengths
26
27
title
stringlengths
3
125
ออกตัวก่อนว่าข่าวนี้พึ่งออกมาจากห้องทดลองไม่นานนะครับ คงไม่มีการอิมพลีเมนท์อะไรในเร็ววันนี้ ได้มีการค้นพบวัสดุที่เหมาะแก่การนำมาทำควอนตัมคอมพิวเตอร์ขึ้นมาอีกหนึ่งตัวแล้วครับ และจากการคำนวนนั้นน่าจะเรียกได้ว่า ตรงตามอุดมคติมากกว่า สามารถควบคุมได้มากกว่า ถึงจะเรียกวัสดุ แต่มันก็ไม่ใช่สสารครับ แต่เปน Exciton ท้าวความกันซักนิด ความรู้เดิมของเรา ปกติ อะตอม จะมีนิวเคลียสเปนแกนกลาง และมีอิเลคตรอนวิ่งรอบๆ ใช่นะครับ ซึ่งอิเลคตรอนนี้ สามารถที่จะเพิ่มเข้ามาได้ เอาออกไปได้ หากอยู่ในสภาวะที่ทำให้เกิดปฏิกิริยา และพออนุภาคหลุดออกไป อะตอมก็จะกลายเปนบวก แต่ ในฟิสิกส์ชั้นสูง อย่างเช่นกลศาสตร์ควอนตัม สภาวะที่อิเล็คตรอนหลุดออกไปนี้ เขาจะนับว่า มี "Hole" ของอิเล็คตรอน เกิดขึ้นในอะตอมครับ ซึ่งเจ้า Hole นี้ สามารถนับว่าเปนอนุภาคได้จริงๆอีกตัวนึง มีประจุเปนบวก ที่น่าสนใจคือ มันมี Spin ด้วย! ถ้ามันอยู่ในอะตอมนึงคู่กับอีกอะตอม หรือในอะตอมเดียวกันแต่คนละชั้น มันสามารถสร้างแรงดึงดูด[1] มาเกี่ยวอิเล็คตรอนอีกตัวนึงที่อยู่คนละชั้น หรือในอะตอมข้างเคียง ได้ด้วย [ขอย้ำ ตามต้นฉบับ และวิกิพีเดีย ว่า มันไม่ใช่โพสิตรอนนะครับ แต่เปน "Electron Hole"] และในสภาพที่ Hole กับอิเล็คตรอน เกี่ยวกันอยู่แบบนี้ มันจะเกิดพลังงานขึ้นระหว่างกลาง และพลังงานนั้นมีลักษณะเหมือนอนุภาคอีกอนุภาคนึงครับ (ตรงนี้คงเปนทฤษฎีสัมพัทธภาพ) ไอ้พลังงานที่เหมือนอนุภาคที่เกิดขึ้นตรงกลางนั่นน่ะครับ คือ Exciton อนุภาค Exciton นี้ เกิดขึ้นได้โดยทั่วไปครับ เวลาที่ฉายรังสีลงไปที่สารกึ่งตัวนำ อิเลคตรอนในอะตอมผิวหน้าที่ถูกฉายรังสี จะหลุดออกไปยังอะตอมอื่น เกิด Hole ขึ้นในอะตอมเดิม แต่อิเล็คตรอนที่หลุดไปยังอะตอมอื่นก็ยังไม่ไปไหนไกล ก็จะถูกยึดไว้ กลายเปน Exciton ขึ้นมา ท้าวความยาวเชียว...ทีนี้ มันเกี่ยวกับควอนตัมคอมพิวเตอร์อย่างไร? ตรงนี้อาจจะงงหนักกว่าเดิม ไอ้ Exciton ที่เปนอนุภาคเสมือนเนี่ย มันมีแบบสว่าง กับแบบมืด อีกต่างหาก[2] ที่เขาเรียกอย่างนั้นเพราะ เขาแยกมันด้วย Spin ของอิเลคตรอนกับ Hole ครับ (อันนี้คงทราบนะครับ ที่อนุภาค จะมี Spin Up/Down) ถ้าอิเลคตรอน กับ Hole มัน Spin ไปคนละทางกัน จะสามารถยิงโฟตอนเข้าไปชนโป๊กให้ไอ้พลังงานตรงกลางสลายไป และอิเลคตรอนกลับไปรวมกับ Hole เป็นสภาพเสถียรได้ เนื่องจากมันมีปฏิกิริยากับแสง เขาจึงเรียกมันว่า แบบสว่าง แต่ถ้าอิเลคตรอน กับ Hole มัน Spin ไปทางเดียวกัน จะเริ่มประหลาดแล้วครับ ว่ามันยิงโฟตอนไปชน มันก็ไม่กลับสภาพเดิม ต้องผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปก่อนหนึ่งครั้ง แบบนี้เรียกว่าแบบมืดครับ และการผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไป แล้วยิงโฟตอนเข้าไป จะสามารถจับโฟตอนตัวนั้นมาอ่านค่าได้ว่า ไอ้ก้อนพลังงานที่เป็น Exciton ตัวนั้น มี Spin เปน Up หรือ Down และหากไม่ผ่านกระแสไฟฟ้า ก็จะัทำให้มันไม่รับแสง แบบนี้คล้ายๆกับอะไรใช่มั้ยครับ? ทรานซิสเตอร์น่ะ สรุปว่า มันคือการพยายามเอา Dark Exciton มาใช้เปน Qubit ซึ่งเปนพื้นฐานของ Quantum Computer นั่นเองครับ และจากการทดลอง Exciton อันเปนแค่อนุภาคเสมือนนี้ มีคุณสมบัติที่สามารถใช้งานเปน Qubit ได้อย่างครบถ้วนทั้งอ่านเขียนยิ่งกว่าอนุภาคไหนๆ แต่เดี๋ยวก่อน! โลกเรามันจะง่ายดายอะไรปานนั้น Exciton ยังมีปัญหาในการนำมาใช้งานจริงครับ เพราะการทดลองนี้ต้องอ่านข้อมูลจาก Exciton ที่อยู่ในฮีเลียมเหลวอุณหภูมิ 4.2 เคลวิน! และจากแหล่งข่าวว่า การทำ Dark Exciton ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นอกจากนั้นคือเราต้องอ่านข้อมูลหลังจากการผ่านกระแสไฟฟ้าภายใน 5 นาโนวินาทีเท่านั้น ถึงจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ....ก็........................ ยังคงต้องนอนรอกันต่อไป ที่มา : Ars Technica [1] : ในที่นี้คือ แรงคูลอมบ์ [Coulomb force] ครับ [2] : Exciton แบบมืด มักไม่เกิดเองตามปกติครับ แต่สามารถจงใจสร้างได้ โดยใช้อิเล็คตรอนและ Hole อย่างละสามตัว มาสร้าง Exciton ในสภาวะ Quantum Triplet State (เค้าว่าไอ้ตรงนี้แหละที่ไม่ง่าย) มันจะเกิดปฏิกิริยาที่ทำให้เหลือ Exciton มืด 1 ตัว ขอขอบคุณ บล็อกนี้ ที่ให้ข้อมูลรวมถึงภาพประกอบที่เข้าใจง่าย เกี่ยวกับ Exciton ครับ
https://jusci.net/node/1365
จับได้แล้ว อนุภาคคิวบิทตัวใหม่
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาสหรัฐฯ เพิ่งยิงจรวดนำส่งดาวเทียม Delta 4 ขึ้นสู่อวกาศ เพื่อนำส่งดาวเทียม NROL-32 ที่เชื่อกันว่าเป็นดาวเทียมที่ใหญ่ที่สุดที่เคยส่งขึ้นอวกาศมา Delta 4 เองเป็นจรวดนำส่งแบบไร้มนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดในตอนนี้เช่นกันโดยมันมีความสูง 72 เมตร สามารถนำส่งดาวเทียมขนาด 24 ตันขึ้นสูงวงโคจรระดับต่ำ และ 11 ตันสำหรับวงโคจรค้างฟ้า ดาวเทียมเชิงพานิชญ์ที่ใหญ่ที่สุดในตอนนี้คือ TerreStar-1 นั้นมีน้ำหนักเพียง 6,910 กิโลกรัม ไม่มีรายละเอียดถึงความสามารถของ NROL-32 แต่อย่างใด ที่มา - Space.com
https://jusci.net/node/1366
สหรัฐฯ กำลังส่งดาวเทียมสอดแนม "ดวงใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์"
การขับเครื่องบินหรืออากาศยานใดๆ บนน่านฟ้าของแต่ละประเทศ ย่อมต้องมีใบอนุญาตที่เป็นสากล ซึ่งในกรณีนี้รวมไปถึง "ยานอวกาศ" ที่บินผ่านชั้นบรรยากาศทั้งขาไปและขากลับด้วย ที่ผ่านมา ยานอวกาศล้วนเป็นของหน่วยงานรัฐบาลประเทศต่างๆ จึงไม่มีปัญหาเรื่องนี้มากนัก แต่ในยุคที่การขนส่งอวกาศเชิงพาณิชย์กำลังใกล้ความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ยานอวกาศของเอกชนก็จำเป็นต้องขอใบอนุญาตการบินเหมือนกัน บริษัท SpaceX ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทขนส่งอวกาศเอกชนรายใหญ่ (เป็นบริษัทของ Elon Musk ผู้ก่อตั้ง PayPal) จึงยื่นขอ "ใบอนุญาตกลับเข้าโลก" (icense for spacecraft reentry) จากกรมการบินของสหรัฐ (FAA - Federal Aviation Administration) ให้กับยานอวกาศ Dragon ของตัวเอง FAA อนุมัติเรียบร้อย ถือเป็นการออกใบอนุญาตการบินครั้งแรกให้กับยานอวกาศของเอกชน ที่มา - Engadget
https://jusci.net/node/1367
สหรัฐออกใบอนุญาตขับเครื่องบินเชิงพาณิชย์ให้กับ "ยานอวกาศ" เป็นครั้งแรก
นับจากปี 1997 จนถึงปัจจุบันปี 2010 สถิติรถที่เคลี่อนที่ไปบนพื้นดินได้เร็วที่สุดในโลกเป็นของ Thrust SuperSonic Car ซึ่งวิ่งทำความเร็วได้ถึง 763 ไมล์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 1,228 กม. ต่อ ชม.) แต่ภายในอีกสองปีข้างหน้า สถิตินี้อาจจะต้องบันทึกกันใหม่อีกครั้ง โดยรถที่จะมาท้าชิงสถิตินี้มีชื่อว่า Bloodhound SSC ซึ่งได้รับการออกแบบให้วิ่งได้เร็วถึง 1,000 ไมล์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 1,600 กม. ต่อ ชม.) ตอนนี้ Bloodhound SSC ได้รับการออกแบบเสร็จแล้ว ทีมงานจะเริ่มสร้างตัวรถในเดือนมกราคม ปี 2011 และคาดว่าจะวิ่งทำลายสถิติได้ในปี 2012 ตัวถังและล้อรถจะทำจากอัลลอย ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์จากเครื่องบินเจ็ต EJ200 ที่ได้รับมาจากรัฐบาลอังกฤษและเครื่องยนต์จรวด Falcon ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ ในโครงการ Bloodhound มีคน 3 คนที่เคยร่วมงานกับโครงการสร้าง Thrust SuperSonic Car เจ้าของสถิติเดิม ได้แก่ Andy Green คนที่จะขับ Bloodhound SSC, Ron Ayres หัวหน้าวิศวกรแอโรไดนามิกส์, และ Richard Noble ผู้อำนวยการโครงการ ดูวิดีโอแนะนำโครงการ Bloodhound ท้ายเบรค ที่มา PhysOrg
https://jusci.net/node/1368
ปี 2012 เตรียมพบสถิติความเร็วใหม่บนพื้นพิภพ
เห็นชื่อหัวข้อข้าว "ดูงูบิน" หลายคนอาจจะนึกว่าเป็นชื่อนักร้องเกาหลี ไม่ใช่นะครับ ข่าวนี้เป็นเรื่องของงูที่ "บิน"* ได้ ในโลกนี้มีงูที่สามารถร่อนไปในอากาศได้เหมือนเครื่องร่อนอยู่ด้วย นั่นคืองูในวงศ์ Chrysopelea งูบินได้นี้จะร่อนไปมาระหว่างต้นไม้ในป่า บางตัวสามารถร่อนได้ถึง 79 ฟุต (24 เมตร) ทีมของ Jake Socha นักชีววิทยาจากเวอร์จิเนียเทค ได้ทำการศึกษาการเคลื่อนที่ของงู Chrysopelea paradisi โดยปล่อยให้งูกระโดดร่อนลงมาจากหอคอยสูง 15 ฟุต (ประมาณ 4.57 เมตร) แล้วบันทึกวิดีโอเอาไว้เพื่อนำไปวิเคราะห์และสร้างแบบจำลองในคอมพิวเตอร์ ผลการวิเคราะห์สร้างความประหลาดใจแก่นักวิทยาศาสตร์พอสมควร (แค่งูตัวยาวๆ บินได้ก็น่าประหลาดใจพอแล้ว) เพราะในระหว่างที่ลอยอยู่ในอากาศ ไม่มีจังหวะไหนเลยที่ร่างกายของงูจะอยู่ใน "สภาวะสมดุลของการร่อน" (equilibrium gliding state) ซึ่งเป็นสภาวะที่แรงยกจากกระแสอากาศเท่ากับแรงโน้มถ่วงของโลกพอดี แม้จะไม่สามารถสร้างสภาวะสมดุลได้ งูก็ไม่ตกแป้กลงมากระแทกพื้นกระอักเลือดแต่อย่างใด ในแบบจำลองที่ Jake Socha สร้างขึ้น พบว่า ในขณะที่งูส่ายลำตัวไปมาระหว่างร่อนนั้น แรงยกอากาศในบางขณะมากกว่าน้ำหนักของตัวงูซะอีก! แต่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าแรงยกแบบนี้คงไม่ได้มีตลอดช่วงของการร่อนแน่ๆ มิฉะนั้นเจ้างูก็จะต้องลอยอยู่บนฟ้าไปตลอดกาล ดูวิดีโองู "บิน" ได้หลังเบรค หรือถ้าไม่สะใจ ไปโหลดมาดูได้อีกจากเว็บของ Jake Socha ที่มา PhysOrg, Discovery News, Live Science *หมายเหตุ การร่อนของงูหรือสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่คล้ายกันนี้ ในทางชีววิทยาไม่ถือว่าเป็นการบิน (Flying) ที่แท้จริง แต่เป็นการร่อน (Gliding) ในทางชีววิทยานั้น สัตว์ที่ "บินได้อย่างแท้จริง" จะต้องมีปีกสามารถสร้างแรงยกตัวได้ด้วยตัวเองจากกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการบิน เท่าที่ทราบกันในปัจจุบัน การบินแบบจริงๆ นี้มีในเพียง 4 สายวิวัฒนาการเท่านั้น คือ แมลง, สัตว์เลื้อยคลาน (เทอโรซอร์), นก, และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (ค้างคาว)
https://jusci.net/node/1369
ดูงูบิน
ถ้าใครจะใช้รถไฟฟ้าหรือกระทั่งรถไฮบริดในทุกวันนี้จะพบว่าปัญหาสำคัญคือค่าแบตเตอรี่ที่เป็นต้นทุนก้อนใหญ่ของตัวรถ แต่จากการศึกษาล่าสุดพบว่าแบตเตอรี่เหล่านี้ทนทานกว่าที่คาดกัน และแม้จะเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังสามารถนำไปใช้งานอื่นๆ ได้ในอนาคต นิสสันคาดว่าจะมีความต้องการแบตเตอรี่ใช้แล้วเหล่านี้กว่า 50,000 ชุดภายในปี 2020เพราะแม้แบตเตอรี่จะเสื่อมสภาพ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันยังทำงานได้ถึงร้อยละ 70 แม้จะใช้งานไปแล้วสิบปี บริษัทรถฝั่งอเมริกาเองก็เห็นโอกาสแบบเดียวกัน โดย General Motors นั้นก็เริ่มศึกษาโอกาสทางธุรกิจนี้แล้ว แบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพไปบ้างเหล่านี้อาจนำไปใช้ในการใช้งานที่ไม่ได้ต้องการความจุต่อน้ำหนักสูงสุดเสมอไป เช่น การสำรองไฟสำหรับศูนย์ข้อมูลและโรงพยาบาล, การเก็บไฟสำหรับการผลิตพลังงานหมุนเวียนเช่นพลังงานลมและแสงแดด, การจัดการพลังงานเช่นการเกลี่ยพลังงานไฟฟ้าจากช่วงเวลาที่พลังงานถูกไปเก็บใส่แบตเตอรี่เพื่อไปใช้งานในช่วงเวลาที่พลังงานแพงแทน ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ใช้กันในรถไฟฟ้านั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าแบตเตอรี่ตะกั่ว-กรด ที่ใช้ในรถยนต์ทุกวันนี้พอสมควร โดยมันสามารถรีไซเคิลได้ในสัดส่วนที่สูง ซื้อมาเสียบโน้ตบุ๊กกัน... ที่มา - Wired
https://jusci.net/node/1370
แบตเตอรี่รถไฟฟ้าเก่าอาจเปิดอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต
รายงานการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Wageningen ในประเทศเนเธอร์แลนด์พบว่าต้นมะกอกที่ขึ้นใกล้กับเราท์เตอร์ Wi-Fi จะมีอาการเปลือกแตกร่อน,บวม, ซีด, และใบตาย โดยไม่สามารถหาไวรัสและแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุได้ การทดลองส่งคลื่นย่าน 2.4GHz ความแรง 100mW ซึ่งเป็นความแรงมาตรฐานเข้าสู่ต้นไม้ตัวระยะ 50 ถึง 300 เซนติเมตรต่อเนื่องกว่าสามเดือน ผลพบว่าต้นไม้ที่อยู่ใกล้ที่สุดมีอาการเปลือกลอกและสีซีด รายงานนี้ยังระบุว่าในตอนนี้ ต้นไม้ในเมืองที่มีอาการเดียวกันนี้ พบได้ในต้นไม้กว่าร้อยละ 70 ขณะที่สิบปีก่อนมีต้นไม่อาการเดียวกันเพียงร้อยละ 10 ก่อนที่เราจะวิตกอันตรายของ Wi-Fi ต่อมนุษย์ผู้วิจัยรายงานว่าแนวทางนี้ต้องได้รับการสำรวจเป็นวงกว้างกว่านี้ และระยะเวลานานกว่านี้ก่อนที่จะสรุปได้ ที่มา - PhysOrg
https://jusci.net/node/1371
คลื่น Wi-Fi อาจมีผลต่อการเติบโตของต้นไม้
จากบทความที่แล้ว "แอลกอฮอลล์ทำอะไรกับร่างกายเราบ้าง" เราได้ทราบไปแล้วว่าการดื่มแอลกอฮอลล์ในปริมาณที่พอเหมาะอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ตอนนี้จากงานวิจัยล่าสุด นักวิทยาศาสตร์พอจะรู้แล้วว่าทำไมแอลกอฮอลล์จึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพเรา โดยเฉพาะหัวใจ งานวิจัยชิ้นนี้เป็นของทีมจาก University of Rochester Medical Center นักวิจัยทำการทดลองเพาะเลี้ยงเซลล์เส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ (coronary arteries) ของมนุษย์ แล้วให้แอลกอฮอลล์ลงไปในในกลุ่มทดลอง พบว่าแอลกอฮอลล์สามารถทำให้ผนังเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจในกลุ่มทดลองบางกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่มีแอลกอฮอลล์ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าแอลกอฮอลล์ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของโปรตีนชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Notch proteins ตามปกติ Notch proteins จะกระตุ้นการแบ่งตัวของกล้ามเนื้อเรียบรอบเส้นเลือดหัวใจ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตันตามมา การทำงานของ Notch proteins นี้สามารถถูกกระตุ้นได้จากปริมาณคอเลสเตอรอล การสูบบุหรี่ หรือ การเปลี่ยนแปลงในกระแสเลือด แม้ว่าแอลกอฮอลล์ปริมาณพอเหมาะจะมีผลดีต่อหัวใจ แต่หากบริโภคมากเกินไป แอลกอฮอลล์อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ และเพิ่มความเสี่ยงของภาวะเส้นโลหิตในสมองแตกได้ ตามคำแนะนำของ Mayo Clinic ปริมาณแอลกอฮอลล์ที่พอเหมาะสำหรับผู้หญิงคือ ไม่เกิน 3 หน่วยต่อครั้ง หรือไม่เกิน 7 หน่วยต่อสัปดาห์, สำหรับผู้ชายอายุไม่เกิน 65 ปี คือ ไม่เกิน 4 หน่วยต่อครั้ง หรือไม่เกิน 14 หน่วยต่อสัปดาห์, สำหรับผู้ชายอายุเกิน 65 ปี คือ ไม่เกิน 3 หน่วยต่อครั้ง หรือไม่เกิน 7 หน่วยต่อสัปดาห์ 1 หน่วยการดื่ม = เบียร์ 12 ออนซ์ หรือ ไวน์ 5 ออนซ์ หรือ 1.5 ออนซ์สำหรับสุรากลั่น (เช่น วิสกี้ วอดก้า บรั่นดี ฯลฯ) ที่มา Live Science บทความนี้เป็นไปเพื่อการแบ่งปันทางวิชาการ ไม่มีจุดประสงค์ให้คำแนะนำในการดื่มสุราและเครื่องดื่มมึนเมาใดๆ
https://jusci.net/node/1372
คำตอบใหม่ในขวดเก่า...ทำไมแอลกอฮอลล์ถึงดีกับหัวใจเรา
นับเป็นอีกหนึ่งก้าวประวัติศาสตร์ที่วงการดาราศาสตร์โลกต้องจดจำไว้ เมื่อจำนวนค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (Extrasolar planets หรือ Exoplanets) ที่เราค้นพบได้ขึ้นหลักถึง 500 ดวงแล้ว เมื่อวันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 2010 ที่ผ่านมา จำนวนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะในฐานข้อมูลของ Extrasolar Planets Encyclopedia ที่รวบรวมโดย Jean Schneider จากหอดูดาว Paris-Meudon Observatory ก็ได้เหยียบถึงตัวเลข 500 เป็นครั้งแรก กว่าจะมาถึงขั้นนี้ได้ นักดาราศาสตร์ใช้เวลาเกือบ 20 ปีนับจากการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรก แต่การจะชี้ว่าดวงไหนเป็นดวงที่ 500 นั้นยังเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนนัก เพราะว่าดวงที่ 500 นี้มันมาพร้อมกับการรายงานดวงอื่นๆ ด้วย และเลขลำดับนั้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา (เนื่องจากมีโอกาสการรายงานผิดพลาดสูงถึง 20%) ที่พอจะบอกได้คือ ดาวเคราะห์ดวงที่ 500 นี้ค้นพบถัดจากการเจอ HIP 13044 b ดาวเคราะห์จากกาแล็กซึ่อื่น ที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ตัวเลขจากฐานข้อมูล Extrasolar Planets Encyclopedia และ PlanetQuest ของ NASA ก็มีความคลาดเคลื่อนกันอยู่เล็กน้อย ตามเวลาขณะที่ผมเขียนอยู่นี้ (วันที่ 24 พ.ย. 2010 เวลา 23:14 ตามเวลาประเทศไทย) จำนวนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะจาก Extrasolar Planets Encyclopedia อยู่ที่ 504 ดวง ในขณะที่ PlanetQuest มี 500 ดวง ที่มา Live Science
https://jusci.net/node/1373
ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงที่ 500 ถูกค้นพบแล้ว
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์ครับ ทางภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการแข่งขันทำโครงงานทางวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ประกวดออกแบบชิงรางวัลใน 2 หัวข้อ 1 - ออกแบบสะพานจำลอง - ในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา - http://civil.eng.cmu.ac.th/news/2010/11/24/486 2 - ออกแบบอาคารจำลองต้านแรงแผ่นดินไหว - ในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา - http://civil.eng.cmu.ac.th/news/2010/11/24/487 โดยทั้งสองงานสามารถแข่งเป็นรายบุคคลหรือเป็นทีมได้ตามรายละเอียดในเว็บเพจ นอกเหนือจากรางวัลที่ได้รับแล้ว ผู้เข้าแข่งขันทุกคนจะได้รับประกาศนียบัตรจากทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชม สามารถเข้าชมได้ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
https://jusci.net/node/1374
แข่งขันออกแบบสะพาน และอาคารต้านแผ่นดินไหว ระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา
บริษัทผลิดรถยนต์สัญชาติเยอรมันที่ชื่อ Festo ได้ออกแบบและผลิตแขนกลแบบที่เหมือน Dr. Octopus ในหนัง Spiderman ด้วยการเลียนแบบการทำงานของ "งวงช้าง" ชื่อของเจ้าแขนกล (หรือ งวงกล) นี้คือ "Bionic Handling Assistant" โครงสร้างของมันประกอบด้วยกระเปาะอากาศ (air bladders) เรียงกันเป็นแนวยาวคล้ายกับกระดูกสันหลัง ตัวงวงแบ่งเป็นสามส่วนทำให้สามารถโค้งงอเป็นรูปตัว S ได้ ส่วนปลายสุดเป็นโครงสร้างพิเศษคล้ายข้อมือ (Hand Axis) และนิ้ว (FinGripper) ไว้จับยึดวัตถุ อันนี้วิดีโอแอนิเมชันอธิบายการทำงานของ Bionic Handling Assistant ที่มา Tech News Daily ส่วนอันนี้วิดีโอสาธิต Bionic Handling Assistant ของจริง
https://jusci.net/node/1375
แขนกล Dr. Octopus มาแล้ว!
ถ้าคุณถูกขังอยู่ในห้องทึบที่มีผนังปูนหนาเป็นสองเท่าของความยาวตัวคุณ คุณจะทำอย่างไร? เจ้าแมลงวันชนิดหนึ่งที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cacoxenus indagator หาทางออกจากห้องแบบนั้นโดยการ "เอาหัวดันกำแพง" จนทะลุ! แมลงวัน C. indagator เป็นแมลงที่คอยฉวยโอกาสเข้าไปขโมยอาหารในรังของผึ้งเรดเมสัน (red mason bees) ผึ้งเรดเมสันไม่ใช่พวกที่อยู่กันเป็นสัตว์สังคม ผึ้งตัวเมียจะทำรังเดี่ยวๆ ของตัวเอง มันจะหารูบนต้นไม้ใช้เป็นที่วางไข่ทำรัง ก่อนที่จะวางไข่ในรัง ผึ้งจะไปขนน้ำหวานเกสรดอกไม้และละอองเรณูมาใส่ไว้เพื่อให้เป็นอาหารแก่ตัวอ่อนผึ้ง เมื่อวางไข่เสร็จหนึ่งฟอง ผึ้งก็จะเอาดินโคลนมาฉาบปิดแบ่งรูนั้นออกเป็นช่องๆ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ นับจากด้านในสุดออกมาจนเต็มรู ดังนั้นในรูหนึ่งๆ ก็จะมีไข่ผึ้งได้หลายฟอง แมลงวัน C. indagator ตัวเมียจะฉวยโอกาสตอนที่ผึ้งเรดเมสันออกไปหาโคลนหรืออาหาร ย่องเข้าไปวางไข่ในรังผึ้ง เมื่อหนอนแมลงวันฟักตัวออกมา มันก็จะขโมยกินพวกน้ำหวานเกสรดอกไม้และละอองเรณูจนเหี้ยน ปล่อยให้ตัวอ่อนผึ้งเจ้าของรังที่แท้จริงอดตาย คราวนี้ปัญหาของลูกแมลงวันก็อยู่ที่ตอนจะออกไปนี่แหละ เพราะแมลงวันไม่มีฟันหรือกรามแบบผึ้ง ("ปาก" แมลงวันจะเป็นคล้ายๆ ฟองน้ำ) เรื่องจะให้มันเจาะผนังโคลนออกไปนั้นไม่มีทาง บางทีแมลงวันพวกนี้ก็โชคดีหน่อย ถ้ามีผึ้งในรังรอดตายได้อย่างน้อยหนึ่งตัว ผึ้งน้อยจะเจาะๆๆ ผนังออกไป เปิดทางให้แมลงวันได้พึ่งใบบุญตามออกไปด้วย ออกฟรี ไม่ต้องเหนื่อยแรง แต่แมลงวันบางตัวอาจไม่โชคดีขนาดนั้นหรืออาจจะขี้เกียจรอผึ้งโต มันก็จะหาทางออกเองด้วยการเอาหัวดันผนังโคลนให้ทะลุเป็นช่องแล้วลอดออกไป ฟังดูเหมือนง่าย แต่ว่าความยาวตัวของ C. indagator อยู่ที่ประมาณ 3 มิลลิเมตร ในขณะที่ผนังโคลนนั้นอาจจะหนาได้ถึง 6 มิลลิเมตร หรือสองเท่าของความยาวตัวแมลงวัน สำหรับแมลงวันแล้ว ผนังโคลนที่ฉาบไว้จนแห้งก็เหมือนกับกำแพงปูนซีเมนต์ดีๆ นี่เอง ถึงแม้จะฟังดูแล้วเป็นไปไม่ได้ แต่ธรรมชาติเตรียมการไว้ให้เสมอ แมลงวันจะทำแบบนี้ครับ ขั้นแรก หาก่อนว่าผนังไหนคือทางสู่ทางออก แมลงวันจะสังเกตจากด้านที่เป็นทางออกจะนูน ส่วนอีกด้านจะเว้า (อันนี้เกิดจากการฉาบของผึ้งตัวแม่ในตอนเริ่มสร้างรัง) ขั้นต่อมา เมื่อรู้ด้านแล้ว มันก็จะเอาหัวดันแทรกเข้าไปในรอยแยกในผนังโคลน จากนั้นมันจะปั๊มฮีโมลิมฟ์ (Haemolymph - "เลือด" ของแมลง) เข้าไปในช่องว่างตรงหัวที่เรียกว่า ptilinum ทำให้หัวมันบวมพองขึ้น เกิดแรงดันให้ผนังโคลนแตกเป็นช่องกว้างพอให้มันลอดเอาตัวออกไปสู่เสรีภาพได้ หลักการปั๊มของเหลวเพื่อสร้างแรงนี้คล้ายๆ กับหลักการของเครื่องยกไฮโดรลิกส์นั่นเอง เอาว่าดูวิดีโอที่ศาสตราจารย์ Erhard Strohm ถ่ายไว้ดีกว่า น่ารัก (สยอง?) กว่าอ่านตัวหนังสือเยอะ ที่มา New Scientist
https://jusci.net/node/1376
เอาหัวไปดันกำแพงซะ! เจ้าพวกแมลงวัน
หลายคนคงเคยเห็นภาพสิ่งมีชีวิตเรืองแสงในห้องทดลองมาบ้างแล้ว เช่น ต้นไม้เรีองแสง หนูเรืองแสง ฯลฯ แต่แสงแบบนั้นมันอ่อนเกินกว่าจะเอาไปทำอะไรได้นอกจากไว้โชว์ ทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์มีความฝันที่มากไปกว่านั้น พวกเขาจะทำ "ต้นไม้ที่ส่องสว่างได้เหมือนหลอดไฟข้างทาง" แม้ว่าตอนนี้จะเป็นแค่ความฝันอยู่ แต่มันมีความคืบหน้าที่สนใจบ้างแล้ว ในการสร้างสิ่งมีชีวิตเรืองแสงนั้น สารที่เป็นกุญแจสำคัญคือ luciferins สารนี้จะทำปฏิกิริยาโดยมีเอนไซม์เป็นตัวเร่งทำให้เกิดโฟตอนหรืออนุภาคแสงออกมา จากนั้นตัวมันเองก็จะกลายเป็น oxyluciferins ทีมนักศึกษาแคมบริดจ์สามารถเร่งประสิทธิภาพของปฏิกิริยานี้ได้ด้วยสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "BioBricks" BioBricks คือ ยีนชุดหนึ่งที่ดัดแปลงมาจากยีนของหิ่งห้อยและแบคทีเรีย Vibrio fischeri ซึ่งเป็นแบคทีเรียเรืองแสงที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทร เราสามารถเอา BioBricks เข้าไปสอดแทรกในยีนของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้ด้วยวิธีการทางพันธุวิศวกรรม เอนไซม์ที่สร้างจากยีนใน BioBricks มีประสิทธิภาพมากขนาดที่ว่าขวดเลี้ยงเชื้อแบคทีเรีย Escherichia coli ที่ตัดต่อยีนนี้เข้าไปเพียง 1 ขวดก็สามารถให้แสงสว่างมากพอที่จะอ่านหนังสือได้เลย! นอกจากนี้เอนไซม์ที่สร้างจากยีนใน BioBricks ยังมีความสามารถในการรีไซเคิล oxyluciferins ให้กลับไปเป็น luciferins ได้ด้วย ทำให้สามารถผลิตแสงต่อเนื่องได้เรื่อยๆ จากการคำนวณ นักวิจัยพบว่าการผลิตแสงด้วยวิธีนี้ใช้พลังงานน้อยมาก ถ้าเอาไปใส่ในพืช พลังงานที่ต้องใช้ในปฏิกิริยานี้คิดเป็นเพียง 0.02% ของพลังงานที่พืชได้จากการสังเคราะห์ด้วยแสง แม้ว่านี่จะเป็นแค่ก้าวแรก (หรือครึ่งก้าวแรก?) แต่ลองจินตนาการถึงเมืองที่มีต้นไม้เรืองแสงทั้งเมืองดูสิว่ามันโรแมนติกขนาดไหน ที่มา New Scientist
https://jusci.net/node/1377
เอาต้นไม้มาเป็นหลอดไฟข้างทาง
ในทางฟิสิกส์มีเหตุการณ์อย่างหนึ่งที่เรียกว่า Bose-Einstein condensate ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แก๊สของอนุภาค bosons (Bose gas) ถูกกักและลดอุณหภูมิให้มีความหนาแน่นสูงพอจนเกิด "การควบแน่น" ที่อนุภาคส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะทางควอนตัมต่ำที่สุดของพลังงานศักย์ที่กักมันเอาไว้ ณ จุดนั้น กลุ่มอนุภาคก็จะประพฤติตัวเหมือนกับว่าเป็นอนุภาคขนาดยักษ์ก้อนเดียวหรือที่เรียกว่า Superparticle ตั้งแต่ปี 1995 นักวิทยาศาสตร์สามารถสร้าง Superparticle ได้แล้ว เช่น Superparticle ของอะตอม Rubidium โดยการลดอุณหภูมิลงจนเกือบแตะ 0 เคลวิน (-273 องศาเซลเซียส) เป็นต้น ในทางทฤษฎีนั้นอนุภาค bosons ทุกชนิดสามารถเกิด Bose-Einstein condensate ได้หมด แม้แต่อนุภาคแสงหรือโฟตอน (โฟตอนก็เป็น boson) แต่ในทางปฏิบัตินั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้แสงมีอุณหภูมิต่ำลงและจำกัดให้มันมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นไปในเวลาเดียวกัน เพราะเมื่อโฟตอนเย็นลง มันก็จะถูกดูดซับหายไปในวัตถุที่อยู่รอบมัน การสร้าง Superphoton จึงเป็นแค่ความฝันทางทฤษฎีที่นักฟิสิกส์ไม่เชื่อว่าจะทำได้จริงๆ แต่เร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์ Martin Weitz, Frank Vewinger, Jan Klärs, และ Julian Schmitt นักฟิสิกส์จาก University of Bonn ได้ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เกิดขึ้นแล้ว พวกเขาสามารถลดอุณหภูมิพร้อมกับเพิ่มความหนาแน่นของแสงได้ในเวลาเดียว โดยแทบจะไม่เสียโฟตอนไปเลย! ทีมนักฟิสิกส์ชุดนี้ทำโดยตั้งกระจกเว้าห่างกัน 1 ไมโครเมตร ระหว่างกระจกทั้งสองนั้น พวกเขาเติมของเหลวที่เป็นสีย้อมลงไปจนเต็ม จากนั้นก็ฉายแสงเลเซอร์สีเขียวเข้าไปในช่องว่างระหว่างกระจก โมเลกุลของสีย้อมจะดูดซับโฟตอนของแสงสีเขียว แล้วก็คายออกมาเป็นโฟตอนของเแสงสีเหลืองซึ่งมีพลังงานต่ำกว่าออกมา แสงที่ออกมาก็จะเด้งสะท้อนไปมาระหว่างกระจกแล้วไปกองรวมกันที่ตรงกลาง เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนในที่สุดโฟตอนที่อยู่ตรงกลางก็มีอุณหภูมิลดลงต่ำจนเกือบเท่าอุณหภูมืห้อง และมีความหนาแน่นสูงถึงประมาณ 1 พันล้านตัวต่อลูกบาศก์เซนติเมตร เมื่อถึงจุดนั้นแสงที่ตอนแรกเบลอๆ ก็จะรวมกันกลายเป็นจุดสว่างจุดเดียว และมีพฤติกรรมเหมือนอนุภาคโฟตอนขนาดยักษ์ 1 ตัว หรือที่เรียกว่า "Superphoton" นั่นเอง ตลอดทั้งกระบวนการมีโฟตอนที่หายไปกับการดูดซับที่กระจกเว้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมอะตอม Rubidium ถึงต้องลดอุณหภูมิจนเกือบแตะศูนย์องศาสัมบูรณ์กว่าจะเกิด Bose-Einstein condensate แต่กับโฟตอน แค่อุณหภูมืห้องก็เกิดได้แล้ว คำตอบอยู่ที่ความหนาแน่นของอนุภาค เนื่องจากโฟตอน 1 พันล้านตัวต่อลูกบาศก์เซนติเมตรนั้นหนาแน่นกว่าแก๊สอะตอม Rubidium มากมายมหาศาล ความสำเร็จในครั้งนี้ได้พิสูจน์ความสมบูรณ์ของทฤษฎี Bose-Einstein condensate และเป็นการสาธิตให้เห็นอีกครั้งว่าอนุภาคใดๆ ก็สามารถมีสภาพเป็นได้ทั้งสสารและคลื่น นอกจากนี้ Superphoton ยังเปิดหน้าต่างความหวังใหม่ในการสร้างแสงเลเซอร์ที่มีความยาวคลื่นสั้นๆ เช่น UV หรือ X-ray อีกด้วย แสงเลเซอร์ความยาวคลื่นสั้นๆ มีประโยชน์มากมาย เช่น อุปกรณ์ Optical Electronics ที่ทำให้มีขนาดเล็กละเอียดลงไปได้อีก, เทคนิค Spectroscopy ที่มีความละเอียดและแม่นยำสูงขึ้น เป็นต้น ที่มา NewScientist, Science Daily, Live Science, PhysOrg, Popular Science ขอบคุณ "น้องธี" (เพื่อนภาคฟิสิกส์ของผมเอง) สำหรับคำอธิบายเรื่อง Bose-Einstein condensate (เพราะฉะนั้นหากมีตรงไหนผิด โทษมัน ผมไม่ได้เรียนฟิสิกส์มา)
https://jusci.net/node/1379
Superphoton...แสงแบบใหม่
ถัดจากการประชุมโลกร้อนที่โคเปนเฮเกนเมื่อปีที่แล้ว (ค.ศ. 2009) เราได้กระดาษเช็ดก้นที่ชื่อว่า Copenhagen Accord มาหนึ่งฉบับ มาปี 2010 นี้จะมีการประชุมกันอีกครั้งในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ (29 พฤศจิกายน ค.ศ. 2010) ที่ Cancún ท่ามกลางชายหาดอันสวยงามของประเทศเม้กซิโก ความคาดหวังหลักของการประชุมนี้คือความร่วมมือที่จะมาสานต่อ Kyoto protocol ที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่เมื่อปี 1997 และจะสิ้นสุดลงในปี 2012 จากข้อมูลใน Wikipedia การประชุม Cancún 2010 มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "the 16th session of the Conference of the Parties" (COP 16) มีกำหนดระยะเวลาการประชุมประมาณสองสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. ถึง 10 ธ.ค. 2010 เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของการประชุมคือ http://www.cc2010.mx/en/ สำหรับชาวบ้านตาดำๆ อย่างพวกเรามีอะไรน่าสนใจสำหรับการประชุม Cancún ครั้งนี้บ้าง เว็บไซต์ New Scientist ได้สรุปไว้ให้ ดังนี้ อย่าไปหวังว่าจะมี Cancún protocol นักวิเคราะห์คาดว่าข้อตกลงความร่วมมือแบบ Kyoto protocol น่าจะบรรลุได้อย่างเร็วที่สุดก็ปีหน้า (2011) ในการประชุมที่ Durban ในประเทศแอฟริกาใต้ ยิ่งสถานการณ์ทางการเมืองของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา Barack Obama ง่อนแง่นหลังจากความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งมิดเทอมมาแล้วด้วย การที่จะเห็นสหรัฐอเมริกาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงผลักดันให้เกิด Cancún protocol ยิ่งเป็นเรื่องยาก ถ้าสหรัฐอเมริกาไม่ออกตัว ประเทศมหาอำนาจอื่นๆ เช่น จีน ก็คงจะนิ่งคอยดูท่าทีไปก่อน สหภาพยุโรปเองก็ย่ำแย่กับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เจ็บตัวกันไปเกือบทั้งทวีป คงไม่มีแรงจะออกมาทำอะไรเหมือนกัน พูดถึงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การใช้พลังงานก็ลดลง ปีที่ผ่านมาปริมาณ CO2 ที่ปล่อยออกมาก็ลดลง นี่เป็นสัญญาณที่ดีหรือไม่? เราน่าจะพอมีเวลารอ Durban protocol ใช่มั้ย? คำตอบคือ "ไม่" แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศตะวันตกจะทรุดตัว แต่ประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเซียกลับขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แค่จีนประเทศเดียวก็ปล่อย CO2 เพิ่มถึง 8% แล้ว นอกจากนี้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยังทำให้งบประมาณสนับสนุนงานวิจัยพลังงานทางเลือกลดลงอีกด้วย ปีที่แล้วอุณหภูมิเฉลี่ยลดลงหนิ โลกหยุดร้อนแล้วหรือ? คำตอบก็ "ไม่" อีกเช่นกัน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติบางอย่าง เช่น วัฏจักรของดวงอาทิตย์ และการเคลื่อนที่ของคลื่นความร้อนในชั้นบรรยากาศ ฯลฯ ทำให้โลกเย็นขึ้นชั่วขณะ ภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง สิ่งที่น่าจะได้จากการประชุม Cancún คือข้อตกลงทั่วไปในการช่วยเหลือประเทศยากจน โดยประเทศที่ร่ำรวยอาจจะยอมรับเข้าร่วมในโปรแกรม REDD ของ UN (Reducing Emissions from Deforestation and Forest Degradation in Developing Countries) ประเทศที่เข้าร่วมโปรแกรมจะออกเงินทดแทนให้กับประเทศยากจนที่มีทรัพยากรป่าไม้อุดมสมบูรณ์เพื่อให้หยุดการตัดไม้ทำลายป่า การเข้าร่วมโปรแกรม REDD จะเป็นบันไดขั้นแรกที่นำไปสู่ข้อตกลงความร่วมมือที่จะมาแทนที่ Kyoto protocol ถ้าทุกอย่างล้มเหลวหมด ไม่มีอะไรจาก Cancún ไม่มี Durban protocol เราก็ยังมีความหวังอื่น เช่น สหภาพยุโรปได้ยอมรับมติของ UN ที่จะลดปริมาณการปล่อย CO2 ลง 20% ให้ได้ภายในปี 2020 แล้ว จีนเองก็รับปากจะลดให้ได้ 40-45% ในปี 2020 เช่นกัน ส่วนประเทศอื่นๆ ก็คงไม่ยอมอยู่เฉยๆ เป็นแน่ หรือถ้าสถานการณ์มันย่ำแย่เข้าขั้นตรีทูตจริงๆ เรายังมีทางเลือกอยู่อีก เช่น การสร้าง "ร่มบังแดด" ไว้ในชั้นบรรยากาศ, หรือการปล่อยสารเคมีเข้าไปในชั้นบรรยากาศเพื่อตรึง CO2 ทางเลือกเหล่านี้แม้จะฟังดูพิลึกและน่ากังวลถึงผลข้างเคียง แต่หากไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว เราก็คงต้องทำเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ที่มา New Scientist
https://jusci.net/node/1380
มีอะไรบ้างที่เราต้องสนใจ? ใน "ประชุมโลกร้อน 2010 ที่ Cancún"
คำตอบคือ "จริง" สำหรับบางคนครับ อ๊ะๆ คนรักสุขภาพอย่าเพิ่งขว้างมือถือเครื่องโปรดของคุณทิ้งนะครับ (ถ้าจะขว้าง นัดวันเวลา-สถานที่มาก่อน ผมจะไปคอยรับ ^.^) โรคภูมิแพ้ที่ว่าไม่ได้เกิดจากคลื่นสัญญาณมือถือ หรือ Wi-fi (ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไป) แต่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่เกิดจากการเอาโทรศัพท์แนบหน้าเป็นประจำ ในยุคที่ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือไม่เว้นแม้แต่เด็กประถม แพทย์ผิวหนังพบว่า การคุยโทรศัพท์โดยการยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาแนบใบหน้านั้นอาจจะกระตุ้นให้เกิดภาวะผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้ในบางคน อาการคือมีผื่นคันขึ้นในบริเวณที่สัมผัสกับอุปกรณ์โทรศัพท์ เช่น แก้ม แนวกราม ใบหู เป็นต้น จากข้อมูลสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกา ประชากรชาย 3% และหญิง 20% มีอาการแพ้โทรศัพท์มือถือ ตัวการในเรื่องนี้คือ นิกเกิล (Nickel) ซึ่งเป็นส่วนผสมของส่วนประกอบที่เป็นโลหะในอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือหลายรุ่น ปัจจุบันยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าร่างกายเราเกิดอาการภูมิแพ้กับโลหะในโทรศัพท์มือถือได้อย่างไร ส่วนที่ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชายนั้น ไม่ใช่เพราะว่าผู้หญิงเม้าธ์เก่งกว่า แต่เป็นเพราะผู้หญิงมักจะสวมใส่เครื่องประดับที่เป็นโลหะ เช่น ต่างหู หรือ สร้อยคอ เป็นต้น ซึ่งอาจจะมีส่วนเสริมในการไปกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ หากผู้ใดสงสัยว่ามีอาการแพ้โทรศัพท์มือถือก็ให้ไปพบแพทย์ผิวหนังโดยด่วน และเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือที่ไม่มีส่วนประกอบของโลหะนิกเกิล ที่มา New York Times
https://jusci.net/node/1381
การใช้โทรศัพท์มือถือมากๆ ทำให้เป็นโรคภูมิแพ้? เรื่องจริงหรือหลอกลวง?
เซลล์พลังงานสุริยะนั้นมีปัญหาเรื่อง efficiency ที่สามารถแปลงแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ไม่เยอะนัก แต่ล่าสุดห้องทดลอง Spectrolab ของบริษัท Boeing กำลังเริ่มผลิตเซลล์ C3MJ+ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงถึง 39.2% เซลล์ชนิดนี้จะคล้ายกับเซลล์รุ่น C3MJ ทำให้อุปกรณ์เดิมๆ สามารถเปลี่ยนมาใช้ได้ไม่ยาก จะเริ่มวางจำหน่ายเดือนมกราคมนี้ ทาง Spectrolab คาดว่าจะทะลุกำแพง 40% ได้ในปี 2011 ที่มา - Engadget
https://jusci.net/node/1382
Boeing กำลังพัฒนาเซลล์สุริยะที่มีประสิทธิภาพ 39.2%
การใช้กังหันใต้น้ำแปลงคลื่นในมหาสมุทรเป็นพลังงานไฟฟ้ามีอุปสรรคที่สำคัญอยู่ประการหนึ่งคือ ในกรณีที่คลื่นมีความเร็วต่ำ การดึงพลังงานจากคลื่นจะทำได้ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก นักวิจัยจาก Naval Academy ของสหรัฐอเมริกาได้หาทางแก้ปัญหานี้ด้วยการเลียนแบบครีบของวาฬหลังค่อม (humpback whale) ในกังหันแบบใหม่ที่ออกแบบนี้ บนขอบของใบพัดแต่ละอันจะมีปุ่ม (bumps) เรียงอยู่ กังหันนี้ช่วยทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการดึงพลังงานจากคลื่นความเร็วต่ำ ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้กระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานกับคลื่นที่มีความเร็วสูงหรือเพิ่มความซับซ้อนของกังหันแต่อย่างใด ที่มา Science Daily
https://jusci.net/node/1383
กังหันพลังงานคลื่นแบบใหม่...ได้รับแรงบันดาลใจจากครีบวาฬ
ตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2010 ประเทศจีนได้ออกกฏหมาย พรบ. กำหนดให้ร้านค้าทุกร้านยกเลิกการให้ถุงพลาสติกฟรีกับลูกค้า ถ้าลูกค้าคนไหนถุงใส่ของ ก็ต้องจ่ายค่าถุงตามราคาที่ตั้งไว้ตามขนาดและคุณภาพของถุงนั้นๆ (คิดเป็นเงินไทยตกประมาณ 40 สต. - 2.50 บาท) Haoran He นักวิจัยจาก University of Gothenburg ประเทศสวีเตน ได้ทำวิทยานิพนธ์สำรวจถึงผลของ พรบ. ยกเลิกถุงฟรีฉบับนี้ที่มีต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค ด้วยการสุ่มตัวอย่างผู้บริโภค 3,000 คนในเมืองปักกิ่งและเมืองกุ้ยหยางให้มากรอกแบบสอบถาม พบว่า ก่อนที่จะประกาศใช้ พรบ. ผู้บริโภค 1 คนใช้ถุงเฉลี่ยอยู่ที่ 21 ถุง/สัปดาห์ หลังจากการประกาศใช้ พรบ. การใช้ถุงลดลงถึง 49% และเกือบครึ่งของถุงที่ใช้ถูกนำกลับมาใช้ซ้ำอีก มาตรการยกเลิกถุงฟรีนี้มีใช้แล้วในหลายประเทศ เช่น ไอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ เป็นต้น ในไอร์แลนด์ ตั้งแต่ปี 2002 ได้เริ่มมีการเก็บภาษีถุงพลาสติก จนทุกวันนี้ปริมาณการใช้ถุงของชาวไอริช 1 คนอยู่ประมาณ 20 ถุงต่อปีเท่านั้น (เทียบกับก่อนที่จะมีมาตรการเก็บภาษีถุงพลาสติก แต่ละคนใช้ถุงกัน 330 ถุงต่อปี) จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการใช้ถุงพลาสติกมากที่สุดในโลก ถ้าผลสำรวจนี้เป็นตัวแทนแสดงถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนได้จริง การที่ชาวจีนพร้อมใจกันลดการใช้ถุงได้ครึ่งหนึ่ง (เพราะโดนกฏหมายบังคับ) ก็นับว่าช่วยลดปริมาณขยะถุงพลาสติกได้มหาศาลเลยทีเดียว ที่มา - Science Daily
https://jusci.net/node/1384
กฏหมายยกเลิกถุงฟรีช่วยลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกในจีนได้ครึ่งหนึ่ง
น้ำมันจากชีวภาพเช่นที่บ้านเราใช้ไบโอดีเซลนั้นแม้จะมีข้อถกเถียงกันค่อนข้างมากว่ามีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ แต่มันก็ยังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จากข้อดีในแง่เสถียรภาพราคา ล่าสุดสายการบินลุฟท์ฮันซ่าก็ประกาศใช้น้ำมันจากชีวภาพในสัดส่วนครึ่งหนึ่งในเที่ยวบินฮัมบูกร์-แฟรงค์เฟิร์ต การทดลองนี้มีกำหนด 6 เดือนนับเป็นการทดลองระยะยาวครั้งแรกในโลก โดยเครื่องบินสำหรับเที่ยวบินนี้จะเป็นเครื่อง Airbus A321 ลุฟท์ฮันซ่ายืนยันว่าจะไม่มีป่าถูกถางเพื่อนำมาปลูกพืชน้ำมันในเที่ยวบินของตัวเองแน่นอน โดยสายการบินได้ตรวจสอบแหล่งที่มาของน้ำมันว่ามาจากแหล่งที่เหมาะสมก่อนแล้ว ผู้ผลิตน้ำมันสำหรับการทดลองนี้คือ Neste Oil จากฟินแลนด์ที่อ้างว่าน้ำมันชีวภาพของตนนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าน้ำมันทั่วไปถึง 40-80% ที่มา - Wired
https://jusci.net/node/1385
สายการบินลุฟท์ฮันซ่าเริ่มใช้งานน้ำมันจากชีวภาพในเที่ยวบินโดยสาร
ความเข้าใจผิดๆ อย่างหนึ่งของภาพยนตร์ไซไฟตระกูล Star Wars ก็คือมันถูกกำกับโดยจอร์จ ลูคัส บิดาแห่ง Star Wars ทั้งหมด แต่ในความจริงแล้วเขากำกับแค่ Episode IV ภาคแรกภาคเดียวเท่านั้น ภาคอื่นเขาขยับขึ้นมาเป็นโปรดิวเซอร์แทน (ส่วนไตรภาคหลัง I-III ลูคัสกำกับเองทุกภาค) ภาคที่ได้รับการยกย่องว่า "ดีที่สุด" คือ Episode V: Empire Strikes Back ซึ่งกำกับโดย Irvin Kershner ผู้กำกับชาวอเมริกัน (นอกจาก Star Wars แล้วยังมีผลงานอย่างภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ ตอน Never Say Never Again และ RoboCop 2 ด้วย) น่าเสียดายว่า Kershner เสียชีวิตแล้วครับ เนื่องจากอาการป่วยเรื้อรัง โดยมีอายุรวม 87 ปี Jusci ก็ขอร่วมไว้อาลัย ณ ที่นี้ ที่มา - BBC
https://jusci.net/node/1386
ผู้กำกับ Empire Strikes Back เสียชีวิตแล้ว
กองทัพสหรัฐอเมริกาได้เปิดเผยปืนใหม่สุดไฮเทคนามว่า XM25 Counter Defilade Target Engagement System ซึ่งมีความสามารถพิเศษคือสามารถตั้งให้ลูกกระสุนที่ยิงออกไประเบิดที่ระยะทางจุดใดก็ได้ XM25 Counter Defilade Target Engagement System (ขอเรียกสั้นๆ ว่า XM25) พัฒนาโดย Minnesota's Alliant Techsystems มีน้ำหนัก 12 ปอนด์ (5.4 กิโลกรัม) พิสัยการยิงประมาณ 2,300 ฟุต (700 เมตร) เมื่อลูกกระสุนขนาด 25 มม. ถูกยิงออกจากรังเพลิง ชิปคอมพิวเตอร์ในหัวกระสุนจะคำนวณระยะทางที่มันเคลื่อนที่ หากถึงระยะที่ผู้ยิงกำหนดไว้ มันก็จะระเบิดทำลายเป้าหมายเรียบเป็นหน้ากลอง แม้ว่าจะเป็นอุปกรณ์ไฮเทค แต่ว่าพันโท Christopher Lehner แห่งกองทัพบกสหรัฐฯ ยืนยันว่ากระบวนการในการใช้ XM25 นั้นง่ายดายมาก หลังจากที่ฝึกจนคุ้นเคยแล้วทหารสามารถทำการยิงทำลายเป้าหมายได้ในเวลาเพียง 10 วินาทีเท่านั้น หลังจากที่ได้ใช้งานครั้งแรกในสงครามที่อัฟกานิสถานในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา XM25 ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของยุทธวิธีไปโดยสิ้นเชิง ทหารสหรัฐฯ ที่มี XM25 ในมือสามารถยิงสังหารข้าศึกที่หลบกำบังอยู่หลังกำแพงหรือที่หลบซ่อนได้ เพียงแค่ตั้งค่าให้ลูกกระสุนระเบิดวิ่งเลยแนวกำแพงไปเล็กน้อยจากนั้นค่อยระเบิด ดังนั้นข้าศึกที่เจอกับ XM25 จึงมีทางเลือกเพียงสองทางเท่านั้นคือ ถ้าไม่หนี ก็ต้องยอมให้จับตัว พันโท Christopher Lehner ยังคุยด้วยความมั่นใจว่า ถึงแม้ข้าศีกจะยึด XM25 ไปได้ ทหารสหรัฐฯ ก็ไม่มีอะไรต้องกลัว เพราะลูกกระสุน, แบตเตอรี่, และอุปกรณ์ไฮเทคที่ต้องใช้ควบคู่กับ XM25 นั้นไม่ใช่ของที่จะหาซื้อกันในตลาดมืดได้ง่ายๆ หากชาติไหนคิดจะทำลอกเลียนแบบก็คงจะยาก เพราะว่าต้นทุนการผลิตและวิจัยนั้นสูงเกินเอื้อม กองทัพบกสหรัฐฯ วางแผนที่จะสั่งซื้อ XM25 จำนวน 12,500 กระบอกในปีหน้า ราคาของ XM25 ตกอยู่ที่กระบอกละ $35,000 หรือประมาณ 1.057 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 30 พ.ย. 2010 อยู่ที่ 1 US dollar = 30.19 บาท) ที่มา - Fox News via Slashdot
https://jusci.net/node/1387
ปืนใหม่กองทัพสหรัฐฯ สามารถตั้งให้กระสุนระเบิดเมื่อไรก็ได้
พูดถึงตัวอย่างผลกระทบของภาวะโลกร้อน ส่วนใหญ่เราก็คงคิดถึงน้ำแข็งกับหมีขั้วโลก แต่สำหรับระบบนิเวศในมหาสมุทรแล้ว ถ้าอยากดูตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็ขอให้ดูที่ "ปะการัง" เพียงแค่อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียส ปะการังจะเสียสาหร่ายที่อาศัยอยู่ด้วยไปในทันที ทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า "Coral bleaching" ที่เห็นจากภายนอกคือปะการังจะสีซีดลง และหยุดเจริญเติบโตเนื่องจากขาดสารอาหารที่เคยได้จากการสังเคราะห์ด้วยแสงของสาหร่าย เมื่อปะการังตาย สิ่งมีชีวิตนับพันนับร้อยที่ต้องพึ่งพิงแนวปะการังก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ทีมนักวิจัยจากออสเตรเลีย, อังกฤษ, เม็กซิโก, และสหรัฐอเมริกา นำโดยศาสตราจารย์ Peter J. Mumby แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ได้ทำการสำรวจแนวปะการังหลายจุดในหมู่เกาะบาฮามาส พบว่าการเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเลส่งผลกระทบต่อแนวปะการังแต่ละพื้นที่แตกต่างกันออกไป ในบางพื้นที่ดูเหมือนว่าแนวปะการังจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่อื่นๆ นักวิทยาศาสตร์ยังคงไม่เข้าใจว่าปะการังตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศได้อย่างไร และเหตุใดบางที่ปะการังจึงดูเหมือนว่าจะทนต่ออุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นได้มากกว่า ความซับซ้อนนี้อาจจะทำให้การวางแผนอนุรักษ์แนวปะการังในระยะยาวทำได้ยากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ Peter J. Mumby ก็ยังคิดว่านี่เป็นโอกาสอันดีที่จะใช้แนวปะการังเหล่านั้นในการศึกษาวิจัยและวางแผนในโครงการอนุรักษ์แนวปะการังต่อไป ขณะนี้ทีมนักวิจัยกำลังส่งต่อข้อมูลเหล่านี้ไปให้องค์กรอนุรักษ์ในบาฮามาส เพื่อให้องค์กรอนุรักษ์ไปช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ชุมชนท้องถิ่น ชาวบ้านและองค์กรต่างๆ จะได้ร่วมกันทำโครงการอนุรักษ์และจัดเขตสงวนพันธุ์ปะการังต่อไป ที่มา PhysOrg
https://jusci.net/node/1388
แนวปะการังบางจุดอาจจะทนภาวะโลกร้อนได้ดีกว่าที่อื่น
เมื่อประมาณสองสัปดาห์ก่อนเราได้เจอข่าวภาวะโลกร้อนเมื่อ 60 ล้านปีที่แล้วอาจทำให้ป่าดิบชื้นเจริญขึ้น มาวันนี้นักวิทยาศาสตร์ได้เสนอความเชื่อใหม่อีกแล้ว คราวนี้บอกว่า ภาวะโลกร้อนเมื่อ 300 ล้านปีที่แล้วทำให้ป่าดิบชื้น (rainforests) ที่เคยเป็นผืนกว้างใหญ่เชื่อมต่อกันหมดลดขนาดลง จนกลายเป็นพื้นที่ป่าเล็กๆ น้อยๆ ทีมนักวิทยาศาสตร์จาก Royal Holloway, University of London, และ Bristol University ได้ตีพิมพ์ทฤษฎีการค้นพบของตัวเองลงในวารสาร Geology ว่า เมื่อ 300 ล้านปีที่แล้ว ในยุค Carboniferous ภาวะโลกร้อนได้ทำให้ป่าดิบชื้นที่ครั้งหนึ่งเคยทอดยาวไปทั่วทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ (ในตอนนั้นทั้งสองทวีปนี้อยู่ในบริเวณเขตศูนย์สูตร) หดตัวลง เหลือเพียงป่าผืนเล็กๆ ที่แยกตัวออกจากกัน สภาพที่ป่าแยกตัวเป็นผืนเล็ก (Forest fragmentation) ทำให้ประชากรสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในป่าแต่ละผืนถูกแยกออกจากกันตามไปด้วย แต่ละประชากรก็ผสมพันธุ์และมีวิวัฒนาการเป็นของตัวเองจนแตกสายออกเป็นสปีชีส์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย สัตว์มีกระดูกสันหลังที่ปรับตัวได้ดีที่สุดในเวลานั้นก็คือ "สัตว์เลื้อยคลาน" บรรพบุรุษของ "ไดโนเสาร์" นั่นเอง ด้วยประการฉะนี้ไดโนเสาร์จึงได้มีความหลากหลาย ปรับตัวได้เก่ง สามารถกระจายตัวครอบครองสภาพที่อยู่อาศัยไปได้ทั่วโลกในเวลาต่อมา สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ชุดนี้อ้างว่าเป็นหลักฐานสนับสนุนทฤษฎีนี้ก็คือ ซากฟอสซิลของสัตว์เลื้อยคลานในยุคนั้นช่วงก่อนและหลังจากที่ป่าถูกทำลาย หลักฐานในซากฟอสซิลยืนยันว่าหลังจากที่ป่าดิบชื้นถูกทำลายจากความร้อนและความแห้งแล้ง ความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์เลื้อยคลานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บางชนิดถึงกับเปลี่ยนชนิดอาหารที่กินเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ที่มา - The Telegraph
https://jusci.net/node/1389
ภาวะโลกร้อนเมื่อ 300 ล้านปีที่แล้วทำลายป่าเหี้ยนเตียน, เปิดทางไดโนเสาร์ครองโลก
คำตอบเรื่องนี้เป็น "จริง" นิดๆ ครับ ไม่น่าเชื่อแต่ก็จริง นักวิทยาศาสตร์สงสัยกันมานานแล้วว่าคาเฟอีน (Caffeine) ในกาแฟและชาน่าจะสามารถออกฤทธิ์ต่อร่างกายได้เหมือน Theophylline ซึ่งเป็นยาแก้หอบหืด เพราะสารทั้งสองตัวมีโครงสร้างทางเคมีคล้ายคลึงกัน นอกจากนี้เวลาที่ร่างกายเราย่อยสลายคาเฟอีน ส่วนหนึ่งก็จะได้ Theophylline เป็นผลพลอยได้ปริมาณเล็กน้อยด้วย Theophylline มีผลให้กล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการหายใจผ่อนคลาย ทำให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดหายใจได้สะดวกขึ้น จากข้อมูลการศึกษาในปี 2007 นักวิจัยทดสอบผลของผู้ป่วยที่ได้รับเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเทียบกับผู้ป่วยอีกกลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มธรรมดาที่ไม่มีคาเฟอีน ผลปรากฏว่าคาเฟอีนช่วยให้การหายใจของผู้ป่วยดีขึ้นเล็กน้อย ในบางกรณีผลของคาเฟอืนสามารถคงได้นานถึง 4 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้คาเฟอีนจะช่วยได้จริง แต่ก็ผลของมันเป็นปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น ไม่สามารถเทียบได้กับยาแก้หอบหืดจริงๆ นอกจากนี้คนที่คิดจะดื่มกาแฟหรือชาเพื่อแก้หอบหืด ก็ควรระวังด้วย ยิ่งหากว่าถ้าแพ้ยาหรือใช้ยา Theophylline เป็นประจำอยู่แล้ว การรับคาเฟอีนเพิ่มเข้าไปในร่างกายอาจจะกระตุ้นให้เกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ ที่มา - New York Times
https://jusci.net/node/1390
เรื่องจริงหรือหลอกลวง: กาแฟช่วยบรรเทาอาการหอบหืดได้?
ทุกๆ ครั้งที่เซลล์ร่างกายของเราแบ่งตัว โครโมโซมของเซลล์นั้นจะหดสั้นลงเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลทางเทคนิคของโครงสร้างกระบวนการ DNA Replication* ดังนั้นในสาย DNA ของเซลล์สิ่งมีชีวิตจึงจะมี "หาง" อยู่ตรงปลายสาย หางของ DNA นี้เรียกว่า "Telomere" จริงๆ มันก็คือลำดับเบสซ้ำๆ เรียงต่อกันไป telomeres นี้ก็ไม่ได้ยาวเท่ากันในทุกเซลล์ บางเซลล์ก็สั้น บางเซลล์ก็ยาว ทุกครั้งที่มีการแบ่งเซลล์ telomeres ก็จะหดสั้นลงเรื่อยๆ จนพอถึงจุดหนึ่ง เซลล์ก็จะไม่สามารถแบ่งตัวได้อีกต่อไป และตายในที่สุด Tolemerase ก็คือเอนไซม์ที่ใช้สร้าง telomeres นั่นเอง ในเซลล์บางชนิด เช่น stem cells จะมี telomerase คอยสร้าง telomeres ต่อไปเรื่อยๆ ทำให้เซลล์แบ่งตัวได้หลายๆ ครั้ง ด้วยความสามารถนี้เอง นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อกันมานานแล้วว่า telomerase น่าจะเป็นความหวังในการหยุดยั้งหรือชะลอการแก่ในระดับเซลล์ได้ และการค้นพบของทีมนักวิจัยที่นำโดย Ronald DePinho ได้แสดงให้เห็นว่า telomerase สามารถย้อนกลับกระบวนการแก่ในหนูทดลองทำให้หนูกลับมาหนุ่มสาวอีกครั้งได้ การทดลองเริ่มโดยการตัดต่อพันธุกรรมของหนูให้ไม่สามารถสังเคราะห์ telomerase ได้ ดังนั้นหนูในรุ่นถัดๆ ไปจึงมี telomeres สั้นลงเรื่อยๆ พวกเขาพบว่าหนูที่มี telomeres สั้นแก่เร็วกว่าหนูปกติ และมีอาการป่วยของโรคชรา เช่น เบาหวาน กระดูกพรุน ระบบประสาทเสื่อม ฯลฯ อย่างเห็นได้ชัด อายุก็สั้นกว่าหนูปกติด้วย ทีนี้พอนักวิจัยฉีดสาร 4-OHT เข้าไปในหนูที่ตัดต่อพันธุกรรมที่เจริญเต็มที่ ซึ่ง 4-OHT นี้มีคุณสมบัติกระตุ้นให้ telomerase ของหนูที่ถูกตัดต่อพันธุกรรมกลับมาทำงานได้อีกครั้ง ก็พบว่าหนูเหล่านั้นมีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อาการที่เกิดจากความชราก็ค่อยๆ หายไปเป็นลำดับ อวัยวะภายในที่เสื่อมก็ฟื้นตัวขึ้นมา ระบบประสาทก็ดีขึ้น สมองมีขนาดใหญ่ขึ้น นี่นับเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์สามารถแสดงให้เห็นว่า telomerase ย้อนกลับกระบวนการชราภาพในสัตว์ได้ แต่ถึงอย่างไร นักวิทยาศาสตร์บางคนก็ยังคัดค้านผลการทดลองนี้ โดยชี้ให้เห็นว่ากระบวนการแก่ของหนูในการทดลองนั้นไม่ใช่กระบวนการแก่ตามธรรมชาติ ในความเป็นจริงกระบวนการแก่นั้นมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอีกเยอะแยะ การหดสั้น telomeres เป็นเพียงแค่หนึ่งในหลายๆ ปัจจัยเท่านั้น มีอีกเรื่องที่ต้องเป็นกังวล หากเราคิดจะเอา telomerase มาเป็นยาชะลอความแก่ เนี่องจากอย่างที่บอกไปแล้วตอนต้น telomerase ทำให้เซลล์แบ่งตัวได้เรื่อยๆ ดังนั้นเซลล์อย่างอื่นที่เราไม่ค่อยอยากให้มันแบ่งตัว เช่น เนื้องอก และเซลล์มะเร็ง ที่ได้รับ telomerase ก็สามารถแบ่งตัวได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ตรงประเด็นนี้ Ronald DePinho มองว่า telomerase น่าจะช่วยให้ยับยั้งการเกิดมะเร็งได้ตั้งแต่ในชั้นแรกแล้ว เพราะมันช่วยทำให้การแบ่งเซลล์ราบรื่น ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับ DNA นอกจากนี้ Ronald DePinho ยังคงให้ความเห็นว่า ถึงแม้ในอนาคต telomerase จะไม่ได้เป็นยาอายุวัฒนะ อย่างน้อยมันก็น่าจะช่วยยืดอายุและทำให้เรามีสุขภาพดีที่ยืนยาวได้ หากเรารู้วิธีใช้มันร่วมกับวิธีอื่นๆ อย่างถูกต้อง ที่มา - Scientific American *หมายเหตุ หากอยากรู้ว่าทำไม DNA ที่เป็นเส้นตรงจึงไม่สามารถจำลองซ้ำตัวเองให้สมบูรณ์ไปถึงสุดปลายสายได้นั้น ผมแนะนำให้ดูคลิปนี้น่าจะเข้าใจได้ง่ายที่สุด แต่หากอยากรู้ละเอียดกว่านี้ คงต้องหาตำราชีววิทยามาอ่าน หรือไม่ก็ทางที่ง่ายที่สุด คือ ไปลากคอให้นักศึกษาชีววิทยามาอธิบายให้ฟัง
https://jusci.net/node/1391
Telomerase ความหวังใหม่ของยาอายุวัฒนะ?
ในขณะที่เคลื่อนที่ผ่าน Rhea ดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่เป็นที่สองของดาวเสาร์ ยานอวกาศ Cassini ของ NASA ได้ดักจับชั้นบรรยากาศของ Rhea มาตรวจสอบ และพบว่าในชั้นบรรยากาศนั้นประกอบด้วยก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ ชั้นบรรยากาศของ Rhea นั้นเบาบางมากจนกระทั่งแทบตรวจสอบไม่ได้ด้วยกล้องโทรทรรคน์ Hubble หรือวิธีการแบบที่ทำกับดาวดวงอื่น จากการประเมินตัวอย่างที่ Cassini เก็บได้ นักวิทยาศาสตร์คาดว่าความหนาแน่นของก๊าซออกซิเจนในชั้นบรรยากาศของ Rhea อยู่ที่ประมาณ 50,000 ล้านโมเลกุลต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนความหนาแน่นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ 20,000 ล้านโมเลกุลต่อลูกบาศก์เมตร ในบรรดาดวงจันทร์ของดาวเสาร์ นอกจาก Rhea แล้ว ยังมี Titan ดวงจันทร์ที่ใหญ่สุดอีกดวงที่มีมวลมากพอจะมีแรงดึงดูดรักษาชั้นบรรยากาศของตัวเองไว้ได้ ชั้นบรรยากาศของ Titan นั้นประกอบด้วยก๊าซไนโตรเจนและมีเธน นักวิทยาศาสตร์ยังคงไม่แน่ใจว่าชั้นบรรยากาศของ Rhea กำเนิดมาได้อย่างไร แต่ก็สงสัยว่าน่าจะเกิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาตกระแทกเข้ากับน้ำแข็งของ Rhea (นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามวลส่วนใหญ่ของ Rhea ประกอบด้วยน้ำแข็ง) นอกจากนี้การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ "เก็บตัวอย่างออกซิเจนได้ตรงๆ จากวัตถุอวกาศ" อีกด้วย ที่มา - Popular Science
https://jusci.net/node/1392
ยาน Cassini พบออกซิเจนบนดวงจันทร์ของดาวเสาร์
ยังจำฮอร์โมน Oxytocin จากข่าวเก่าๆ กันได้หรือไม่? นอกจากจะเป็นฮอร์โมนแห่งความรักแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อกันว่า Oxytocin เป็นฮอร์โมนแห่งความเชื่อใจซึ่งกันและกันอีกด้วย และ งานวิจัยชิ้นล่าสุดชี้ให้เห็นว่า Oxytocin มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อใจและความรู้สึกยินดีในชีวิตของผู้หญิงอย่างมีนัยสำคัญ ทีมวิจัยที่นำโดย ดร. Paul Zak แห่ง Claremont Graduate University ได้ทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้หญิง ตั้งแต่ก่อนเริ่มการทดลอง กลุ่มตัวอย่างต้องตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับความรู้สึกและทัศนคติทั่วไปที่มีต่อชีวิตของตัวเอง การทดลองเริ่มโดยมีการจัดสถานการณ์ให้คนแปลกหน้าเข้ามาให้เงินกับกลุ่มตัวอย่างแต่ละคนเป็นจำนวนเงิน $24 ผู้วิจัยจะทำการเจาะเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมน Oxytocin ทั้งก่อนและหลังที่ได้รับเงิน จากนั้นกลุ่มตัวอย่างแต่ละคนต้องเลือกว่าจะให้แบ่งเงินคืนให้กับคนแปลกหน้าที่ให้เงินเป็นปริมาณเท่าใด ผลวิเคราะห์ได้ออกมาว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีระดับ Oxytocin พุ่งขึ้นมาสูงที่สุดหลังจากได้รับเงิน มีความรู้สึกมีความสุขกับชีวิตของตัวเองมากกว่า, มีความสงบเยือกเย็นมากกว่าเมื่อเจอกับสภาวะการณ์แย่ๆ, และมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการหดหู่น้อยกว่ากลุ่มที่มีการเพิ่มของ Oxytocin น้อย นอกจากนี้กลุ่มที่แบ่งเงินให้กับคนแปลกหน้ามากที่สุดก็เป็นกลุ่มที่มีความสุขในชีวิตมากที่สุดและมีแนวโน้มที่จะไว้เนื้อเชื่อใจผู้อื่นด้วย อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ยังไม่กล้าสรุปลงไปชัดเจนว่า ผลที่เกิดขึ้นเป็นเพราะ Oxytocin ทำให้เรารู้สึกมีความสุขกับชีวิต หรือเป็นเพราะคนที่มีความสุขในชีวิตจะหลั่ง Oxytocin ออกมามากกว่าคนอื่นกันแน่ ที่มา - Science Daily
https://jusci.net/node/1393
ด้วย(ฮอร์โมน)รักและเชื่อใจ เราจึงมีความสุข
ในยุคที่กระแสอาหารชีวจิตเฟื่องฟูในบ้านเรา หลายคนหันมาทานผักและผลไม้กันมากขึ้น เหตุผลหนึ่งที่ชอบยกเอามาโฆษณากัน คือ เรื่องคุณสมบัติของผักและผลไม้ในการป้องกันมะเร็ง แต่จากการศึกษาข้อมูลย้อนไปกว่าหนึ่งทศวรรษ นักวิทยาศาสตร์กลับไม่พบความสัมพันธ์ดังกล่าว ศาสตราจารย์ Tim Key แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด พบว่าการกินผักและผลไม้เป็นประจำไม่มีผลต่อการเกิดมะเร็งแต่อย่างใด ถ้ามีจริง ก็ต้องเรียกว่าเป็นผลทางอ้อมที่น้อยมาก ปัจจัยสามอันดับแรกที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็ง ได้แก่ การสูบบุหรี่, โรคอ้วน, และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์มากเกินไป ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการกินผักและผลไม้เลย อย่างไรก็ดี แม้จะไม่ได้ช่วยป้องกันมะเร็ง แต่ผักและผลไม้ก็มีส่วนช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ได้รับสารอาหารครบถ้วน ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลเลย ถ้าเราจะเลิกกินผักและผลไม้โดยอ้างว่ามันไม่ช่วยป้องกันมะเร็ง ที่มา - PhysOrg
https://jusci.net/node/1394
การกินผักและผลไม้เยอะๆ อาจไม่ได้ช่วยป้องกันมะเร็ง
เจ้าแกะดอลลี่ (Dolly the Sheep) ถือเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวแรกที่เกิดจากการโคลนนิ่งเซลล์ (Cloning) ดอลลี่ถือกำเนิดในปี 1996 และถูกทำให้ตายในปี 2003 เนื่องจากเจ้าดอลลี่ป่วยหนักจากการติดเชื้อในปอดเข้าขั้นโคม่าและโรคไขข้ออักเสบที่ทรมานมันมาเป็นปีๆ ปี 2010 เจ้าดอลลี่กลับมาอีกครั้ง และคราวนี้มันมาพร้อมกันถึง 4 ตัว! ย้อนอดีตกลับไปเมื่อ 14 ปีก่อน ดอลลี่ถูกโคลนขึ้นมาจากเซลล์ต่อมน้ำนมของแกะเต็มวัยตัวหนึ่ง หลายคนคงคิดว่านักวิทยาศาสตร์เอาเซลล์ชุดนั้นมาทดลองหมดแล้ว แต่ในความเป็นจริง นักวิทยาศาสตร์ยังเก็บเซลล์ที่เหลือไว้ด้วยการแช่แข็ง จนเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ศาสตราจารย์ Keith Campbell แห่ง Nottingham University จึงได้เริ่มโครงการฟื้นชีพดอลลี่ขึ้นมาอีกครั้ง โดยการเอาเซลล์ชุดเดียวกับที่ใช้โคลนดอลลี่มาสร้างแกะ the Dollies ขึ้นมาอีก 4 ตัว (the Dollies ก็คือ Dolly เติม s นั่นเอง นักวิทยาศาสตร์ก็เล่นกันง่ายๆ แบบนี้แหละ) การโคลน the Dollies ไม่ใช่โครงการที่ทำกันเล่นๆ เพื่อระลึกความหลัง (ศาสตราจารย์ Keith Campbell เคยเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมทีมโครงการโคลนเจ้าดอลลี่เมื่อ 14 ปีก่อนด้วย อ่านประวัติได้จาก Wikipedia) แต่จุดประสงค์โครงการคือต้องการจะแสดงตัวอย่างความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการโคลนนิ่ง ในครั้งนั้น นักวิทยาศาสตร์ต้องใช้เซลล์ไข่ถึง 277 เซลล์กว่าจะได้ดอลลี่ขึ้นมาหนี่งตัว แต่ในการโคลน the Dollies นั้นเฉลี่ยแล้วใช้ไข่แค่ 5 ฟองในการได้แกะโคลนหนึ่งตัว แถมตอนนี้เจ้าแกะ the Dollies ทั้งสี่ตัวก็ยังมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีอาการของโรคไขข้ออักเสบเหมือนเจ้าดอลลี่ด้วย ปัจจุบัน (เดือนธันวาคม ปี 2010) เจ้าแกะ the Dollies มีอายุได้ 3 ปีครึ่ง ศาสตราจารย์ Keith Campbell เลี้ยงดูพวกมันอย่างดีอยู่ที่ Nottingham University เรื่องของมันเพิ่งจะเป็นข่าวสู่สาธารณะได้ไม่นานหลังจากที่ศาสตราจารย์ Keith Campbell ได้เปิดเผยถึงพวกมันในการบรรยายที่เวทีงานโต้วาทีของสภายุโรป (European Parliament) ว่าด้วยการโคลนนิ่งและความเป็นอยู่ของสัตว์ แม้ว่าศาสตราจารย์ Keith Campbell จะยืนยันว่าไม่เคยปิดบังเรื่องนี้เป็นความลับ แต่ก่อนหน้านี้คนที่รู้ก็มีเพียงแต่คนในแวดวงนักวิทยาศาสตร์เท่านั้น ภาพของ the Dollies จาก The Daily Mail From The Daily Mail ผมรู้แล้วแหละว่า "เหมือนกันยังกะแกะ" เป็นยังไง :P ที่มา - The Daily Mail via Slashdot
https://jusci.net/node/1395
เจ้าแกะดอลลี่กลับมาอีกครั้ง
นพ. Adam W. Anz แพทย์จาก Wake Forest University Baptist Medical Center ได้เขียนบทความเกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติหลังถูกงูกัดลงในวารสาร Journal of the American Academy of Orthopaedic Surgeons (JAAOS) ผมเห็นว่ามีบางข้อน่าสนใจดีเลยเอามาแบ่งปันไว้ตรงนี้ สิ่งที่คุณต้องทำหลังโดนงูกัดมีดังนี้ หากคุณรู้จักแยกแยะชนิดของงูได้ ให้จำชื่องูที่กัดคุณไว้ หากคุณแยกแยะชนิดงูไม่ได้ ก็ให้ถ่ายรูปงูตัวที่กัดคุณเอาไว้ให้แพทย์ดู (เดี๋ยวนี้โทรศัพท์มือถือก็มีกล้องกันเกือบหมดทุกรุ่นแล้ว) ถอยห่างออกมาจากงู อย่า ใช้ปากดูดพิษออกมาจากแผลงูกัด อย่า ขันชะเนาะที่แผลงูกัด (Tourniquet) ยกเว้นว่าคุณจะมีความรู้เกี่ยวกับงูและพิษงูเป็นอย่างดี การขันชะเนาะอาจจะทำให้อาการผู้ป่วยแย่ลงได้ โดยเฉพาะพิษงูที่มีฤทธิ์ทำลายระบบกล้ามเนื้อ พยายามอย่าเคลื่อนไหวร่างกายส่วนที่ถูกกัด ถอดเครื่องประดับที่รัดอยู่ตรงร่างกายส่วนที่ถูกกัดให้หมด เช่น แหวน สร้อยข้อมือ สร้อยข้อเท้า ฯลฯ เพราะพิษงูมักจะทำให้เกิดอาการบวม ไปโรงพยาบาลหรือสถานอนามัยอย่างเร็วที่สุด ไม่ต้องรอดูอาการ ทางที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงอย่าเข้าไปในพื้นที่อาศัยของงู เช่น ป่ารกๆ หรือถ้าหากเจองู ก็ให้หลบออกมาซะ อย่าไปแหย่มันเล่น จากสถิติของสหรัฐอเมริกา ในปีหนึ่งๆ มีรายงานคนถูกงูกัด 45,000 ราย 70-80% ของคนที่โดนงูกัดเป็นผู้ชาย คนที่โดนงูกัดกว่าครึ่งหนึ่งโดนกัดที่มือ ส่วนที่โดนงูกัดบ่อยรองจากนั้นคือที่เท้า คนที่โดนงูกัดส่วนใหญ่มักจะเกิดจากความประมาทที่ไปแหย่งูเล่น ไม่ว่าจะเป็นอาชีพนักแสดงในสวนสัตว์ หรือ คนธรรมดาที่เข้าไปเจองูในป่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์สัมพันธ์กับการโดนงูกัดอย่างมีนัยสำคัญ (คนเมาชอบแหย่งูเล่น?) ที่มา - Science Daily
https://jusci.net/node/1396
ถ้าถูกงูกัดต้องทำอะไรบ้าง
Chris Palmer อดีตผู้ผลิตรายการสารคดีชีวิตสัตว์และผู้แต่งหนังสือ Shooting in the Wild: An insider's account of making movies in the animal kingdom ได้ออกมาเปิดเผยเบื้องลึกเบื้องหลังในอุตสาหกรรมหนังสารคดีชีวิตสัตว์ที่เขาคลุกคลีมาเป็นเวลากว่า 30 ปีก่อนที่เขาจะเกษียณตัวเองออกมาจากวงการ จากคำสัมภาษณ์ของ Chris Palmer ที่เผยแพร่ลงในเว็บไซต์ New Scientist ได้เปิดเผยประเด็นหลายจุดที่น่าตะลึงเกี่ยวกับวงการสารคดี ได้แก่ ภาพสัตว์ป่าที่ผู้ชมอย่างเราๆ คิดว่าถ่ายทำกันในป่าจริงๆ นั้นส่วนใหญ่เป็นการจัดฉาก เช่น ในหนัง IMAX เรื่อง Wolves ภาพหมาป่าที่เดินข้ามภูมิประเทศนั้น จริงๆ ก่อนถ่ายทำ ทีมงานได้เตรียมหมาป่าที่ไปเช่ามาจากฟาร์มในมอนทานาเอาไว้ในกรง จากนั้นก็เปิดกรงปล่อยหมา แล้วก็เดินกล้องถ่ายทำ (Chris Palmer บอกว่าในเครดิตปิดท้ายมีขึ้นขอบคุณฟาร์มหมาป่าด้วย ใครดูแผ่นผีก็อาจจะไม่เห็นตรงนี้) การถ่ายทำภาพสัตว์กินซากศพนั้น จริงๆ ทีมงานจะเอาลูกกวาดไปแอบไว้ในซากที่เตรียมไว้ จากนั้นก็ปล่อยสัตว์ที่ซื้อหรือเช่ามาเข้าไปในฉาก เนื่องจากสัตว์พวกนี้เป็นสัตว์ที่มนุษย์เลี้ยง มันจึงเข้าไปควานหาลูกกวาดตามนิสัยที่มันถูกเลี้ยงมา เหตุการณ์ "ธรรมชาติ" บางอย่างถ่ายทำที่สวนสัตว์ เช่น ในสารคดี BBC เรื่อง Wildlife Special: Polar Bear ของ David Attenborough ฉากที่หมีคลอดลูกนั้น ก็ถ่ายทำในสวนสัตว์ Chris Palmer ไม่ได้เปิดเผยว่าการจัดฉากมีสัดส่วนในการผลิตสารคดีแต่ละเรื่องมากเท่าไร เพียงแต่บอกว่า "มันมากเกินกว่าที่หลายคนจะนึกถึง" เสียงสัตว์ป่าที่ได้ยินในสารคดีนั้นเกือบทั้งหมดใส่เพิ่มเข้าไปในตอนตัดต่อทั้งสิ้น การเข้าไปอัดเสียงสัตว์ป่าใกล้ๆ นั้นเสี่ยงเกินไป การจัดฉากเป็นเรื่องที่จำเป็นในการถ่ายทำ เนื่องจากทีมงานไม่ได้มีเวลาหรือทรัพยากรเหลือเฟือจะมานั่งเฝ้าสัตว์ได้ตลอดปีตลอดชาติ ในบางฉากอาจจะมีการทำร้ายหรือรบกวนสัตว์เล็กน้อยด้วย เพื่อให้ได้ภาพที่กระตุ้นอารมณ์คนดู ด้วยเหตุผลข้างต้น การจัดฉากจึงเป็นเรื่องที่พอยอมรับได้ หากสารคดีนั้นช่วยให้สาธารณะชนเกิดความสำนึกรักสิ่งแวดล้อม มิฉะนั้นแล้วมันก็เป็นเรื่องที่ผิดจรรยาบรรณ (คนสัมภาษณ์ยกตัวอย่าง Steve Irwin เจ้าของสารคดีชื่อดังชุด "Crocodile hunter" ซึ่งตรงนี้ Chris Palmer ให้ความเห็นว่าตัวเขาชื่นชม Steve Irwin ในแง่ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย แต่เขาไม่ชอบที่ Steve Irwin แสดงให้ผู้คนเห็นว่าการเข้าไปยุ่งวุ่นวายกับชีวิตสัตว์เป็นเรื่องดี) การออกมาแฉเรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้กับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง Chris Palmer บอกว่าเขาเคยได้รับจดหมายด่าแบบแรงๆ จากเจ้าของฟาร์มสัตว์ด้วย แต่เขาก็ยืนยันในจุดยืนเดิม เนื่องจากเขาเห็นว่าบางอย่างในวงการนี้มันไม่ถูกต้อง สาธารณะควรได้รับรู้ข้อเท็จจริง ที่มา - New Scientist ป.ล. ไม่ใช่แค่สารคดีชีวิตสัตว์นะครับที่จัดฉากกัน ภาพห้องแล็บวิทยาศาสตร์ที่เห็นออกทีวีก็จัดฉากทั้งนั้น อันนี้จากประสบการณ์ตรงผมเอง เวลามหาวิทยาลัยมีงานออกทีวีทีไร ผมแทบไม่อยากเชื่อว่านั่นถ่ายทำจากห้องแล็บที่ผมเดินผ่านอยู่ทุกวัน
https://jusci.net/node/1397
อดีตคนวงในแฉ! ทำสารคดีชีวิตสัตว์มันก็ต้องมีของปลอมกันบ้าง
โครงการ Genome 10K (หรือย่อว่า G10K) เป็นโครงการร่วมมือระดับนานาชาติที่มีเป้าหมายจะทำจีโนม (Genome sequencing) ของสัตว์มีกระดูกสันหลังจำนวน 10,000 สปีชีส์ (ประมาณ 1 สปีชีส์จากแต่ละวงศ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งหมด) ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2015 ตัวอย่างที่จะเอามาทำจีโนมจะรวบรวมมาจากสวนสัตว์. พิพิธภัณฑ์, และมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก ศาสตราจารย์ David Haussler หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งโครงการได้คัดเลือกรายชื่อสัตว์ 101 ชนิดแรกที่จะมาทำจีโนม รายชื่อนี้คัดเลือกมาจากฐานข้อมูลของโครงการ G10K ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 16,000 สปีชีส์ ตัวอย่าง DNA ของสัตว์ทั้ง 101 สปีชีส์นี้จะถูกนำมาวิเคราะห์หาลำดับเบสที่สถาบันวิจัย BGI (หรือที่รู้จักกันในชื่อเดิมว่า Beijing Genomics Institute) ในประเทศจีน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้มีการติดตั้งเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยมากมายจนได้ขึ้นทำเนียบเป็น "สถาบันวิจัยที่มีเครื่องมือในการทำจีโนมมากที่สุดในโลก" รายชื่อของสัตว์ 101 ชนิดแรกของโครงการ G10K สามารถดาวน์โหลดได้จาก ที่นี่ สัตว์ในรายการที่น่าสนใจและคนไทยน่าจะรู้จัก เช่น ฉลามขาว ปลาพระอาทิตย์ ซาลามานเดอร์ยักษ์ มังกรโคโมโด เต่ากาลาปากอส นกอินทรีหัวขาว นกกระจอกเทศ เสือโคร่ง สิงโต วาฬสเปิร์ม หมีโคอะลา วอมแบต ค้างคาวดูดเลือด เป็นต้น นอกจากสัตว์ 101 สปีชีส์ในรายการของ G10K นี้ ปัจจุบันเรามีข้อมูลจีโนมสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอยู่แล้ว 120 สปีชีส์ ดังนั้นหากโครงการ G10K เริ่มงานได้ปีหน้าตามแผน ภายในอนาคตอันใกล้เราก็จะมีข้อมูลที่สมบูรณ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลังถึง 221 สปีชีส์ และหวังว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนครบ 10,000 ในเวลาอีกไม่ถึง 20 ปีข้างหน้า ที่มา - PhysOrg
https://jusci.net/node/1398
โครงการ Genome 10K เปิดเผยรายชื่อสัตว์ 101 ชนิดแรกของโครงการ
ขณะที่เรากำลังประสบปัญหาพลังงานไปทั่วโลก แต่พลังงานที่แสงอาทิตย์สาดส่องเข้ามายังโลกกลับมีพลังงานรวมมากกว่าที่เราต้องการนับหมื่นเท่า โครงการวิจัยใหม่จะสำรวจความเป็นไปได้ที่จะสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทะเลทราย โดยใช้พลังงานจากโรงงานไฟฟ้าที่สร้างไปก่อนหน้า และซิลิกอนจากทรายในทะเลทรายเอง ทะเลทรายซาฮารามีพื้นที่ถึง 1,300,000 ตารางกิโลเมตร ด้วยการสร้างแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักวิจัยมีความหวังว่าจะสามารถผลิตพลังงานจากโครงการนี้ได้ถึงครึ่งหนึ่งของพลังงานทั้งหมดที่โลกต้องการในปี 2050 อย่างไรก็ตามยังคงมีความท้าทายอยู่อีกมากสำหรับโครงการนี้ โดยทีมงานต้องศึกษาถึงกระบวนการส่งพลังงานในพื้นที่ที่มีความร้อนสูงเช่นทะเลทราย และการผลิตซิลิกอนคุณภาพสูงจากทรายทะเลทราย ตลอดจนต้องศึกษาข้อมูลอื่นๆ เช่นพายุทะเลทราย ที่จะขัดขวางการทำงานของโซลาเซลล์หรืออาจจะทำให้แผงโซลาร์เซลล์เสียหายได้ โครงการนี้ใช้เงินปีละ 100 ล้านเยน 35 ล้านบาทต่อปีเป็นระยะเวลา 5 ปี เงินทุนออกโดย JST และ JICA ของฝั่งญี่ปุ่น แต่กระนั้นทีมงานวิจัยก็คาดว่ามันจะยังไม่พอที่จะสร้างระบบที่ใช้งานจริงได้ แต่น่าจะพอที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้การพัฒนาต่อสำหรับการใช้งานจริงเป็นไปได้ไม่ยากนัก วีดีโอดูได้ท้ายข่าว แต่น่าสงสัยยิ่งว่าหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ อีก 50 ปีข้างหน้าจะมีคนประท้วงให้รักษาสภาพแวดล้อมทะเลทรายไหม? ที่มา - CBS News, DigInfo News (YouTube)
https://jusci.net/node/1399
ญี่ปุ่นร่วมกับอัลจีเรียเตรียมผลิตพลังงานจากทะเลทรายซาฮารา
ดูเหมือนตลาดสินค้ารายงานการใช้พลังงานจะยังคงดูมีอนาคตไกล เมื่อโมโตโรล่าได้แถลงว่าบริษัทเข้าซื้อ 4Home ผู้ผลิตสินค้าบันทึกและรายงานการใช้พลังงานได้สำเร็จแล้วด้วยมูลค่าที่ไม่เปิดเผย สินค้าของบริษัท 4Home นั้นค่อนข้างคล้ายกับสินค้าตระกูล Conserve ของ Belkin ที่เพิ่งเปิดตัวเราท์เตอร์บันทึกพลังงานไปไม่นานก่อนหน้านี้ โดยมีทั้งตัวบันทึกพลังงานจากรูปลั๊ก, คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กสำหรับบันทึกข้อมูลระยะยาว, และปลั๊กรางที่สามารถเก็บข้อมูลพลังงานได้ 4Home นั้นเพิ่งเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2006 ด้วยเงินทุน 9 ล้านดอลลาร์เศษ รายงานผลประกอบการปีล่าสุดระบุว่าบริษัทกำลังไปได้ดีโดยรายได้เพิ่มขึ้นถึงสามเท่า และกำลังเพิ่มพนักงานอีกสองเท่าตัว ที่มา - TechCrunch
https://jusci.net/node/1400
Motorola ซื้อ 4Home เตรียมบุกตลาดบันทึกข้อมูลพลังงาน
ข่าวแบคทีเรียอีกแล้ว เรื่องแบคทีเรียทนพิษ, สลายพิษอะไรเทือกนั้นมันธรรมดาไปแล้ว และคงไม่ได้เป็นข่าวใหญ่เหมือนกับข่าวนี้ คราวนี้นักวิทยาศาสตร์เจอ "แบคทีเรียที่กินสารหนูเป็นอาหาร" สารหนู หรือ Arsenic ถือเป็นสารที่เป็นพิษกับสิ่งมีชีวิตเกือบทุกชนิดบนโลก มีแบคทีเรียไม่กี่ชนิดที่ทนสารหนู หรือ ใช้สารหนูเป็นแหล่งพลังงานได้ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม พวกมันก็ยังต้องมีกลไกป้องกันไม่ให้สารหนูเข้าไปทำอะไรอันตรายในเซลล์ของมัน แต่แบคทีเรียสายพันธุ์ที่ชื่อ GFAJ-1 มันเหนือกว่านั้น มันกิน อยู่ และขยายพันธุ์ในอาหารเลี้ยงเชื้อที่มีแต่สารหนูได้อย่างปกติสุข แถมดูเหมือนว่ามันจะเอาสารหนูไปประกอบสร้างเป็น DNA ของมันด้วย นักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบแบคทีเรียประหลาดนี้ คือ ทีมของ ดร. Felisa Wolfe-Simon นักจุลชีววิทยาจาก Astrobiology Institute ของ NASA เธอได้คัดแยกเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียจากตัวอย่างดินโคลนที่เก็บมาจากทะเลสาบ Mono Lake ซึ่งมีความเค็มและการปนเปื้อนของสารหนูสูงมาก ดร. Felisa Wolfe-Simon สังเกตเห็นว่า แบคทีเรีย GFAJ-1 ซึ่งอยู่ในวงศ์ Halomonadaceae และกลุ่ม Gammaproteobacteria สามารถแบ่งตัวเจริญอยู่ในอาหารเลี้ยงเชื้อที่มีความเข้มข้นของสารหนูสูงๆ ได้อย่างต่อเนื่อง นักวิจัยจึงใส่สารหนู (ในรูปของ Arsenate) เพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันก็ลดปริมาณฟอสฟอรัส (ฟอสฟอรัสในที่นี้อยู่ในรูปของสารอาหาร Phosphate ซึ่งเป็นรูปที่เซลล์เอาไปใช้ได้) ไปด้วย จนในที่สุดในอาหารเลี้ยงเชื้อมีแต่สารหนู แทบไม่เหลือฟอสฟอรัสอยู่เลย แล้วทุกคนก็ตะลึง เมื่อพบว่า แบคทีเรีย GFAJ-1 ยังเจริญอยู่ได้ แม้จะไม่ดีเท่ากับตอนมีฟอสฟอรัส แต่ก็เจริญได้เรื่อยๆ เกือบจะเหมือนปกติ และเมื่อนำ DNA ของมันมาวิเคราะห์ก็ตรวจพบองค์ประกอบของสารหนูอยู่ด้วย! การค้นพบนี้แทบจะฉีกตำราชีววิทยาทุกเล่มที่มีอยู่ตอนนี้เลย เพราะแต่ไหนแต่ไรมา นักชีววิทยาเชื่อกันว่าธาตุที่เป็นองค์ประกอบของโครงสร้างของสิ่งมีชีวิตมีอยู่แค่ 6 ตัวเท่านั้น คือ คาร์บอน (C), ไฮโดรเจน (H), ออกซิเจน (O), ไนโตรเจน (N), ฟอสฟอรัส (P), และซัลเฟอร์ (S) ทุกอย่างนับจากเยื่อหุ้มเซลล์, DNA, RNA ฯลฯ ก็มีแค่ธาตุ 6 ตัวนี้เท่านั้น อาจจะมีธาตุอื่นแทรกอยู่บ้างก็เพื่อเร่งปฏิกิริยาบางอย่างเท่านั้น... ...และที่แน่ๆ ต้องไม่ใช่สารหนู (As) เพราะโครงสร้างของอะตอมสารหนูกับฟอสฟอรัสใกล้เคียงกันมาก (ลองไปเปิดตารางธาตุดู จะเห็น As อยู่ใต้ P พอดีเลย ธาตุที่อยู่หมู่เดียวกันแบบนี้มักจะมีสมบัติทางเคมีคล้ายกัน) เซลล์จะแยกสารประกอบสารหนูกับฟอสฟอรัสไม่ออก ทำให้สารหนูเข้าไปแย่งที่ของฟอสฟอรัส ที่ร้ายคือแย่งไปก็ไม่ใช่ว่าทำงานได้ แล้วหน้าที่ของฟอสฟอรัสก็มีแต่สำคัญๆ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นส่วนประกอบ DNA, RNA, เยื่อหุ้มเซลล์, ATP (ตัวเก็บพลังงานในเซลล์), ตัวรับส่งอิเล็กตรอน ฯลฯ พอกระบวนการพวกนี้หยุดชะงัก เซลล์ก็ตายอย่างเดียว การค้นพบครั้งนี้เปิดหูเปิดตานักชีววิทยา (หรือจะเรียกว่าแหกตาเลยก็ได้) ถึงสองประเด็นใหญ่ๆ คือ หนึ่ง สิ่งมีชีวิตบนโลกอาจจะไม่ได้มีวิวัฒนาการเกิดขึ้นพร้อมกันครั้งเดียว อาจจะยังมีหรือเคยมี "ชีวิต" ในรูปแบบอื่นที่ใช้ธาตุองค์ประกอบแตกต่างจากเรา, สอง การตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกจะต้องมองหาให้กว้างกว่าที่เป็นอยู่ การมองหาสิ่งมีชีวิตโดยยึดหลักองค์ประกอบ CHNOPS อาจะไม่เพียงพอแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม นักชีวเคมีส่วนใหญ่ยังไม่ยอมเออออห่อหมกตามน้ำไปด้วย เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าโครงสร้างโมเลกุลของ DNA หรือ RNA ที่มีสารหนูแทนที่ฟอสฟอรัสนั้นมันไม่เสถียร หลายท่านยังคงคิดว่าจะต้องมีการพิสูจน์ให้มากกว่านี้ ก่อนที่จะสรุปว่าแบคทีเรียใช้สารหนูไปสร้าง DNA หรือโครงสร้างอื่นๆ ของเซลล์ การตรวจพบสารหนูใน DNA นั้นอาจจะเป็นมาจากก้อน Arsenate ปนเปื้อนเฉยๆ ก็ได้ (หมู่ Arsenate มีประจุลบและชอบจับตัวกันเป็นก้อน อาจจะมีแรงดึงดูด DNA ที่มีประจุบวกอ่อนๆ) นักชีวเคมีเสนอให้มีการทำ Radioactive tracing (การแปะกัมมันตรังสีเพื่อติดตามธาตุชนิดใดชนิดหนึ่ง) ให้รู้กันไปเลยว่าสารหนูมันเข้าไปแทนที่ฟอสฟอรัสใน DNA หรือส่วนอื่นๆ ในเซลล์แบคทีเรียจริงหรือไม่ ปล่อยให้นักชีวเคมีกับนักชีววิทยาเถียงกันไป ตอนนี้นักดาราศาสตร์เขาจะหามนุษย์ต่างดาวที่กินน้ำยาล้างห้องน้ำเป็นอาหารแล้ว :P ที่มา - Discovery News, The Telegraph, Science Daily, Science News, Live Science
https://jusci.net/node/1401
นักวิทยาศาสตร์ NASA เจอแบคทีเรียที่กินสารหนูเป็นอาหาร
งานวิจัยใหม่ในหนูทดลองได้เปิดเผยสิ่งที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นข่าวร้ายคนที่อยากลดน้ำหนักด้วยการจำกัดปริมาณอาหาร ทีมวิจัยที่นำโดย Tracy Bale แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ได้ทดลองจำกัดปริมาณอาหารที่ให้กับหนูทดลองจนน้ำหนักตัวของหนูลดลงประมาณ 10-15% นักวิจัยพบว่าหนูที่ถูกบังคับให้เข้าคอร์สลดน้ำหนักพวกนี้แสดงพฤติกรรมหดหู่และมีการหลั่งฮอร์โมน corticosterone ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดอารมณ์เครียดมากขึ้น นอกจากนี้ระดับสารเคมีอื่นๆ ในร่างกายก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น corticotropin-releasing factor (ตัวนี้ก็เกี่ยวกับฮอร์โมนความเครียด), melanin-concentrating hormone, และ orexin (ฮอร์โมนที่ควบคุมพฤติกรรมการกิน) เป็นต้น นักวิจัยยังทดลองต่อไปอีกเพื่อดูการตอบสนองต่อความเครียดของหนู โดยเพิ่มอาหารให้หนูจนหนูมีน้ำหนักกลับมาเป็นปกติ จากนั้นก็จับให้มันเผชิญกับสภาวะต่างๆ ที่สร้างความเครียด เช่น จับให้อยู่ในที่มืดๆ, เปิดเสียงหลอนให้ฟังตอนกลางคืน, เอาสัตว์นักล่ามาให้ดูต่อหน้า เป็นต้น ผลปรากฏว่า หลังจากที่เจอกับความเครียด หนูทั้งในกลุ่มที่เคยผ่านการอดอาหารและกลุ่มควบคุมตอบสนองโดยการกินอาหารมากขึ้นโดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูงๆ แต่หนูที่เคยผ่านการควบคุมอาหารกินเยอะกว่าพวกกลุ่มควบคุมที่ไม่เคยผ่านการลดน้ำหนักมาก นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงระดับสารเคมีในร่างกายของหนูมีผลให้ร่างกายตอบสนองโดยเปลี่ยนแปลงวิธีแปลรหัสพันธุกรรมบน DNA ซึ่งน่าจะเป็นไปเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสะสมพลังงานไว้เยอะๆ ตรงนี้อาจจะเป็นผลจากวิวัฒนาการสำหรับสัตว์ที่มีประสบการณ์เผชิญกับสภาวะขาดแคลนอาหาร ทำให้มันต้องปรับตัวสะสมพลังงานในร่างกายไว้ใช้ในตอนจำเป็น การค้นพบนี้อาจจะพอช่วยอธิบายได้ว่าทำไมการลดน้ำหนักของเราถึงได้ยากเย็นนักและทำให้เราหัวเสียได้ง่ายๆ และเมื่อยิ่งเครียด ก็ยิ่งอยากกินมากเข้าไปอีก อ้วน...เครียด...กินมาก แล้วเมื่อไรจะผอมหละเนี่ย ปล่อยมันตามสบายดีกว่านะ :) ที่มา - Live Science
https://jusci.net/node/1402
ยิ่งลดน้ำหนักมาก ยิ่งเครียด
ผลการทดลองจาก ALICE Collaboration แห่ง LHC พบว่า ณ ที่จุดเริ่มต้นของเวลา เอกภพตอนเริ่มแรกมีสภาวะเป็นของเหลวร้อนๆ การทดลองของ ALICE เป็นการจับเอาอะตอมของตะกั่ว (Lead atoms) มาชนกันในเครื่องเร่งอนุภาค LHC เพื่อจำลองสภาวะที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะเป็นสภาพในเวลาไม่กี่ microseconds หลังจากที่เอกภพเพิ่งถือกำเนิดขึ้น หรือพูดง่ายๆ เป็น "การจำลอง 0.000001 วินาทีแรกของเวลา" นั่นเอง จุดประสงค์ของการทดลองนี้คือนักวิทยาศาสตร์ของ CERN ต้องการจะดูว่า quark-gluon plasma หรือ "ซุปของอนุภาคมูลฐาน" ในตอนกำเนิดเอกภพมีสภาวะเป็นเหมือนแก๊สหรือของเหลวกันแน่ ผลจากจากชน นักวิทยาศาสตร์ในทีม ALICE พบว่า quark-gluon plasma ที่เกิดจากการชนของอะตอมตะกั่วนั้นมีอุณหภูมิสูงถึง 10 ล้านล้านองศาเซลเซียส และมีคุณสมบัติเหมือนของเหลวที่มีความหนาแน่นสูงมากๆ ก่อนหน้านี้ การทดลองลักษณะนี้เคยทำกันมารอบหนึ่งแล้วในปี ค.ศ. 2005 ที่ Relativistic Heavy Ion Collider (RHIC) ใน Brookhaven National Laboratory ณ กรุง New York ผลที่ได้ก็ออกมาคล้ายๆ กัน คือ พบ quark-gluon plasma ที่มีสภาพเป็นของเหลวที่เกือบจะไม่มีความหนืด (viscosity) เลย แต่ครั้งนั้นเป็นนักวิทยาศาสตร์ใช้อะตอมทองคำที่มีพลังงานน้อยกว่าของ ALICE ถึง 13 เท่า หลายคนจึงยังข้องใจว่าถ้าใช้พลังงานมากกว่านี้ มันจะแสดงคุณสมบัติของแก๊สได้หรือไม่ ดังนั้นผลการทดลองครั้งนี้ของ ALICE จึงเป็นการยืนยันอีกครั้งว่าตอนที่เพิ่งเกิดนั้นเอกภพของเราเป็นซุบเหลวร้อนๆ ของ quark-gluon plasma ก่อนที่ gluons และ quarks มาจับรวมกันเป็นนิวตรอนและโปรตอน แล้วนิวตรอนกับโปรตอนก็รวมกันเป็นนิวเคลียสของธาตุต่างๆ อีกที นักวิทยาศาสตร์หวังว่าเมื่อ LHC เข้าสู่เฟสต่อไปในปี 2013 ที่พลังงานจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัวจากตอนนี้ เราจะสามารถสังเกตรายละเอียดในการชนกันของอนุภาคได้มากกว่านี้อีก ที่มา - New Scientist
https://jusci.net/node/1403
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เอกภพของเรา (อาจ) เป็นของเหลว
เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าเพชรเป็นหนึ่งในของแข็งที่แข็งที่สุดในโลก * แล้วคนเราเจียระไนเพชรกันได้อย่างไร มนุษย์ค้นพบวิธีเจียระไนเพชรเมื่อประมาณ 500 ปีที่แล้ว และช่างเจียระไนเพชรในปัจจุบันก็ยังคงใช้หลักการเดิม คือ ใช้เพชรเม็ดเล็กๆ เคลือบไว้บนจานเจียระไนที่เป็นแผ่นเหล็กกลม เมื่อหมุนด้วยความเร็วสูง เพชรเม็ดเล็กๆ บนแผ่นจานเจียระไนก็จะทำหน้าที่เป็น "มีดเจียระไน" ทำให้เม็ดเพชรของเรามีรูปทรงและแสงเงาตามต้องการ หลายคนคงคิดว่า "เพชรตัดเพชร" ฟังดูก็สมเหตุสมผลดีสำหรับการอธิบาย แต่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบแล้วว่า คำกล่าวนี้ไม่เป็นจริง เพราะสิ่งที่เพชรบนจานเจียระไนตัดนั้นไม่ใช่เพชร ทีมวิจัยที่นำโดย Michael Moseler แห่ง Fraunhofer Institute for Mechanics of Materials IWM ในเยอรมนี ได้จำลองโครงสร้างของเพชรเป็นจำนวนกว่า 10,000 เม็ด พบว่าส่วนที่เพชรบนจานเจียระไนขูดออกมาไม่ใช่เพชรอย่างที่เคยคิดกัน แต่มันคือชั้นของรูปของคาร์บอนอสัณฐานที่มีสภาพคล้ายกับของเหลว (amorphous carbon layer) แบบจำลองอธิบายได้ดังนี้ ในตอนแรกที่เพชรบนจานเจียระไนสัมผัสกับผิวของเพชรที่เราเอามาเจียระไน อะตอมของคาร์บอนจากเพชรทั้งสองจะสร้างพันธะระหว่างกันเกิดเป็นคาร์บอนอสัณฐาน (amorphous carbon layer) เมื่อจานเจียระไนหมุนเลื่อนไป ชั้นของคาร์บอนอสัณฐานนี้ก็จะถูกขูดตามออกไปด้วย ในจังหวะนี้ก็าซออกซิเจนในอากาศก็จะเข้ามาทำปฏิกิริยากับคาร์บอนอสัณฐานที่มีปลายคาร์บอนว่างๆ อยู่เกิดเป็น CO2 ทำให้พื้นผิวของเพชรข้างล่างชั้นที่ถูกขูดออกไปนั้นเหลือเป็นชั้นเรียบใสวิ้งๆ สวยงาม ลองดูจากรูปข้างล่างนี้ อะตอมสีเขียวคือคาร์บอนอสัณฐาน (amorphous carbon layer) อะตอมคาร์บอนของเพชรเป็นสีเทา ด้านบนคือเพชรบนจานเจียระไน ด้านล่างคือเพชรที่เราเอามาเจียระไน เม็ดสีแดงคือออกซิเจนที่เข้ามาทำปฏิกิริยากับคาร์บอนอสัณฐาน จะเห็นว่าพอชั้นกองขยุกขยุยสีเขียวๆ ถูกขูดออกไปก็จะเหลือแต่ชั้นของอะตอมคาร์บอนสีเทาเรียบๆ From Science News แบบจำลองนี้ยังอธิบายได้ด้วยว่า "ทำไมการเจียระไนเพชรบางมุมถึงได้ง่ายกว่า? บางมุมถึงได้ยากกว่า?" เหตุผลก็มาจากการเรียงตัวของอะตอมคาร์บอนในผลึกเพชรนั่นเอง หากไม่ใช่ช่างที่ชำนาญซึ่งมีเทคนิคในการเจียระไนอย่างดี คนที่จับเพชรมาเจียระไนมั่วๆ อาจจะไปเจียระไนในทิศทางที่อะตอมของคาร์บอนจับกันหนาแน่น การเจียระไนเช่นนี้จะได้รูปยากมากหรืออาจจะแย่จนถึงกับทำให้เพชรเม็ดนั้นเสียไปเลยก็ได้ ที่มา - Science News *หมายเหตุ ก่อนหน้านี้มนุษย์เคยสังเคราะห์วัสดุที่แข็งกว่าเพชรได้แล้ว และตั้งแต่ปี 2009 เพชรก็ไม่ใช่วัตถุธรรมชาติที่แข็งที่สุดในโลกอีกต่อไป เพราะเท่าที่ทราบตอนนี้เพชรมีความแข็งเป็นรอง lonsdaleite และ wurtzite boron nitride อ่านรายละเอียดเพิ่มเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้จาก New Scientist
https://jusci.net/node/1404
ความลับของการเจียระไนเพชร
ยกมือขึ้นมาแล้วดูที่นิ้วชี้กับนิ้วนางให้ดีๆ สองนิ้วนี้บอกถึงความเข็มแข็ง ความก้าวร้าว ความสามารถในทางกีฬาและการมองโลกในแง่ดีของเราได้ จากการวิจัยของ ดร. Jim Golby และ Jennifer Meggs แห่ง Teesside University ที่ทดสอบกับกลุ่มตัวอย่าง 67 คนด้วยการให้ตอบแบบสอบถาม ค้นพบว่าคนที่มีนิ้วชี้สั้นกว่านิ้วนางมากๆ จะมีความเข้มแข็งของจิตใจ, ความก้าวร้าว, ความสามารถในทางกีฬา, และมองโลกในแง่ดีกว่าคนที่มีนิ้วชี้ยาวเท่ากับหรือมากกว่านิ้วนาง อัตราส่วนความยาวของนิ้วชี้กับนิ้วนาง (2D:4D Ratio) สามารถบ่งบอกถึงระดับปริมาณ Testosterone ที่ทารกได้รับตอนที่อยู่ในครรภ์ คนที่มีนิ้วชี้สั้นกว่านิ้วนางมากแสดงถึงการได้สัมผัสกับ Testosterone ในปริมาณสูง งานวิจัยในครั้งนี้ยืนยันว่าความเข้มแข็งของจิตใจของมนุษย์มีปัจจัยมาจากปัจจัยทางชีววิทยาได้ด้วย (อย่างน้อยก็ส่วนหนึ่ง) ที่มา - Science Daily
https://jusci.net/node/1405
นิ้วมือบอกความเข้มแข็งของเราได้
หลังจากข่าวที่แล้ว "นิ้วมือบอกความเข้มแข็งของเราได้" ใครที่ยังไม่ได้เอามือลง ก็ดูต่ออีกรอบ ส่วนคนที่เอามือลงแล้ว ก็ได้เวลายกมือกันขึ้นมาดูอีกครั้ง คราวนี้เตรียมใจไว้หน่อยก็ดี นักวิทยาศาสตร์อังกฤษจากสองสถาบัน University of Warwick และ the Institute of Cancer Research ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูล 15 ปี นับจาก ค.ศ. 1994 ถึง 2009 ของผู้ชายที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer) กว่า 1,500 คน และผู้ชายปกติกว่า 3,000 คน พบว่าผู้ชายที่มีนิ้วชี้ยาวกว่านิ้วนางมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยกว่าผู้ชายที่มีนิ้วชี้สั้นกว่านิ้วนาง ในการเก็บข้อมูล ผู้เข้าร่วมจะได้ดูรูปภาพมือลักษณะต่างๆ และต้องเลือกว่ามือแบบใดตรงกับลักษณะมือของตัวเองมากที่สุด ลักษณะมือทั่วไปที่พบได้มากที่สุดในกลุ่มตัวอย่างคือ มือที่นิ้วชี้สั้นกว่านิ้วนาง กว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างมีมือลักษณะเช่นนี้ ผู้ชายที่มีนิ้วชี้ยาวเท่ากับนิ้วนางมีประมาณ 19% และในกลุ่มนี้มีสัดส่วนของคนที่เป็นและไม่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากพอๆ กัน ส่วนผู้ชายที่มีนิ้วชี้ยาวกว่านิ้วนาง มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งน้อยกว่าถึง 33% และเมื่อกรองข้อมูลให้เหลือแต่กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ผู้ชายที่มีนิ้วชี้ยาวกว่านิ้วนางมีโอกาสที่จะตกไปอยู่ในกลุ่มมะเร็งน้อยกว่าผู้ชายที่มีนิ้วแบบอื่นๆ ถึง 87% อย่างที่รู้กันว่าหากทารกชายที่อยู่ในครรภ์ได้รับฮอร์โมน Testosterone มากๆ นิ้วนางจะยาวกว่านิ้วชี้ ฮอร์โมน Testosterone ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายนี้สร้างจากอัณฑะตั้งแต่ตอนที่ทารกชายเริ่มอยู่ในครรภ์เลยทีเดียว ฮอร์โมนนี้จะช่วยสร้างลักษณะของความเป็นชาย ความก้าวร้าว การเจริญของกระดูกและข้อต่อ (นี่อาจจะเป็นสาเหตุต้นตอของความเชื่อที่ว่า "ผู้ชายที่มีเท้าใหญ่จะมีอวัยวะเพศใหญ่และมีอารมณ์ทางเพศสูง") และนอกจากนี้วงการวิทยาศาสตร์ก็เชื่อกันว่าระดับ Testoterone มีผลต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย งานวิจัยนี้จึงถือเป็นหลักฐานได้อีกชิ้นที่พิสูจน์ว่าระดับฮอร์โมน Testoterone ที่ได้รับตั้งแต่ตอนทารกมีผลต่อความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก หากใครยกมือขึ้นมาดูแล้วพบว่านิ้วชี้ดันสั้นกว่านิ้วนาง อย่าเพิ่งวิตกจริตกันไปใหญ่โตนะครับ งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นแค่ว่า "อาจจะมีโอกาสมากกว่า" ไม่ได้แปลว่า "ต้องเป็นแน่ๆ" อย่างที่เราทราบกันดี มะเร็งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ใช่แค่ใครนิ้วยาวกว่าใคร ที่มา - The Telegraph, Live Science
https://jusci.net/node/1406
นิ้วชี้-นิ้วนางบอกความเสี่ยงการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้
การที่ปีกเครื่องบินยกตัวขึ้นไปในอากาศได้นั้นเป็นเพราะความดันอากาศเหนือปีกน้อยกว่าความดันใต้ปีก ทำให้เกิดแรงยกให้เครื่องบินลอยตัว นักฟิสิกส์ชื่อดังอย่าง James Clerk Maxwell และ Adolfo Bartoli ได้ทำนายไว้ว่า หากเราแทนที่อากาศด้วยแสง ปรากฏการณ์คล้ายๆ กันนี้ก็เกิดได้เช่นกัน แทนที่จะเป็น "ความดันอากาศ" (air pressure) ก็กลายเป็น "radiation pressure" Radiation pressure เกิดจากการที่เมื่อโฟตอนกระทบหรือวิ่งผ่านวัตถุ โฟตอนจะส่งต่อโมเมนตัมของตัวเองไปยังวัตถุ (นี่เป็นเหตุผลที่ "หาง" ของดาวหางชี้ไปในทิศตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เสมอ เพราะโฟตอนจากแสงอาทิตย์ผลักไอน้ำที่ระเหิดออกไปในทางนั้น) ดังนั้นหากมีการจัดมุมตกกระทบหรือมุมสะท้อนให้พอเหมาะ ในทางทฤษฎี เราก็สามารถสร้างปีกแสง หรือ "lightfoil" ที่สามารถสร้างแรงยกตัวเองได้ คำว่า lightfoil มาจาก light + (aero)foil นั่นเอง ทีมนักฟิสิกส์ที่นำโดย Grover Swartzlander แห่ง Rochester Institute of Technology ในนิวยอร์ค ได้จำลองการเกิด radiation pressure บนปีกที่มีรูปร่างต่างๆ พวกเขาพบว่าปีกที่มีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอกจะสร้างแรงดันจาก radiation pressure ได้มากที่สุด เนื่องจากโฟตอนที่ตกกระทบจะสะท้อนและหักเหไปในทิศทางที่ทำมุมตั้งฉากกับแกนพอดี เพื่อทดสอบสิ่งที่ได้จากแบบจำลอง ทีมนักวิจัยจึงได้เอาแท่งพลาสติกทรงกระบอกผ่าครึ่งเล็กๆ (ความยาวประมาณ 2-3 ไมโครเมตร) ใส่ลงไปในน้ำ จากนั้นก็ฉายแสงเลเซอร์ขึ้นมาจากด้านใต้ พบว่าแท่งพลาสติกลอยขึ้นมาได้จริงๆ และยังเคลื่อนที่ไปในแนวนอนได้อีกด้วย การที่พลาสติกลอยขึ้นมานั้นเป็นสิ่งที่เกิดจากโมเมนตัมของแสงเลเซอร์โดยตรง ไม่น่าสนใจเท่าไร เพราะทราบกันดีอยู่แล้ว แต่การเคลื่อนที่ในแนวนอนนี่แหละที่น่าสนใจ เพราะมันคือการพิสูจน์ให้เห็นว่าแบบจำลองใช้ได้จริง แรงที่ดันพลาสติกให้เคลื่อนที่ไปในแนวนอนไม่ได้มาจากแรงอธิษฐานของใครแน่ๆ มันจะต้องเป็นแรงที่เกิดจาก radiation pressure เท่านั้น แม้ว่านี่จะเป็นความก้าวหน้าที่เล็กมากๆ แต่นักฟิสิกส์คิดฝันกันไปไกลแล้ว ในอนาคตนักฟิสิกส์วาดฝันไว้ว่าจะใช้ radiation pressure เป็นแรงในการขับเคลื่อนยานอวกาศ ปลายปีนี้ Planetary Society วางแผนที่จะปล่อยยานอวกาศ LightSail-1 ขึ้นไปทดลองดูว่าเราจะสามารถใช้ radiation pressure ควบคุมทิศทางของยานอวกาศได้หรือไม่ นอกจากเรื่องใหญ่โตเพ้อฝันแบบยานอวกาศที่ขับเคลื่อนด้วยแสงแล้ว งานชิ้นนี้ยังเป็นการปูทางเพื่อการประยุกต์ใช้ในการควบคุมเครื่องจักรขนาดเล็กไว้ขนส่งอนุภาคต่างๆ ในของเหลวอีกด้วย ที่มา - Scientific American
https://jusci.net/node/1407
ปีกที่ขับเคลื่อนด้วยแสง อนาคตของยานอวกาศ?
บ้านเราอาจจะกลัวการจุดพลุเพราะเรื่องของไฟไหม้ แต่ควันและกลิ่นเหม็นๆ ของพลุกลับไม่ใช่เรื่องที่หลายๆ คนให้ความสนใจกันเท่าใดนักจนกระทั่งเมื่อปี 2007 ที่ผ่านมา Audrey Smargiassi จากมหาวิทยาลัย Montreal ได้ศึกษาประเด็นนี้อย่างจริงจัง การศึกษาครั้งนี้ต่างจากครั้งอื่นๆ ตรงที่ Smargiassi เลือกวัดอนุภาคพื้นที่ที่ผู้ชมมักยืนอยู่จริงๆ โดยเทศกาลดอกไม้ไฟ Le Ronde นั้นมีผู้เข้าชมถึง 5.7 ล้านคน โดยทีมงานวัดอนุภาคขนาดไม่เกิน 2.5 ไมโครเมตร ซึ่งอนุภาคเหล่านี้มักมีอยู่ในอากาศอยู่แล้วในระดับหลักสิบไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่จากการวัดอนุภาคในช่วงเวลาที่แสดงพลุยาวนาน 30 นาที พบว่าอนุภาคเหล่านี้เพิ่มขึ้นเกิน 1,000 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรยาวนานถึง 45 นาที และค่าสูงสุดอยู่ที่ 10,000 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยส่วนประกอบของอนุภาคเหล่านี้มักเต็มไปด้วย โปแตสเซียม, แมกนีเซียม, ไททาเนียม, คลอรีน, และอลูมิเนียม ซึ่งสารเหล่านี้อาจจะเดี่ยวข้องกับอาการทางหัวใจได้ ไม่แน่ใจว่าข้ออ้างว่า "นานๆ ที" จะใช้ได้ผลแค่ไหนในกรณีนี้ ที่มา - PhysOrg
https://jusci.net/node/1408
มลพิษจากดอกไม้ไฟอาจจะรุนแรงกว่าที่เราเคยเชื่อ
หลังจากที่เรือไททานิค (RMS Titanic) จมลงในปี ค.ศ. 1912 และการค้นพบซากเรืออีกครั้งในปี 1985 นักวิทยาศาสตร์เคยทำนายไว้ว่าซากเรือไททานิคจะอยู่ต่อไปได้อีกประมาณ 30 ปี (นับจากปี 1995) แต่เร็วๆ นี้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าซากเรือสลายตัวเร็วกว่าที่คาดไว้มาก และน่าจะหายไปทั้งหมดก่อนเวลาที่คาดไว้แน่นอน แม้ว่าจะช่วยกันรักษาดีแค่ไหนก็ตาม หนึ่งในข้อมูลใหม่ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์คิดเช่นนี้ก็คือ การค้นพบแบคทีเรียกินสนิมสายพันธุ์ใหม่ นักวิทยาศาสตร์จาก Dalhousie University และ University of Sevilla ได้เก็บตัวอย่าง rusticles (แท่งตะกอนที่เกิดจากสนิมจับตัวกัน คล้ายๆ การเกิดหินย้อย) จากซากเรือไททานิคมาวิเคราะห์ DNA พวกเขาพบว่าในแท่ง rusticles นั้นมีแบคทีเรียอยู่ถึง 27 สายพันธุ์ รวมถึงสายพันธุ์ใหม่ที่กิน iron oxide (สนิม) เป็นอาหารด้วย นักวิทยาศาสตร์จึงตั้งชื่อแบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบนี้ว่า Halomonas titanicae ให้เข้ากับชื่อของเรือไททานิคซะเลย แท่ง rusticles นั้นมีลักษณะเป็นแท่งพรุนที่น้ำไหลเข้าออกได้สะดวก เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ rusticles ก็จะผุกร่อนและสลายตัวลง (อย่างที่บอกมันคือสนิม) ด้วยการช่วยเหลือของแบคทีเรียกินสนิม กระบวนการดังกล่าวก็จะยิ่งเกิดเร็วขึ้นไปอีก กระบวนการนี้เป็นกระบวนการตามธรรมชาติที่หมุนเวียนธาตุเหล็กกลับไปสู่ผิวโลก แม้แต่เรืออันยิ่งใหญ่อย่างไททานิคก็หนีวัฏจักรนี้ไม่พ้น (เหมือนครั้งหนึ่งที่เรือที่ "ไม่มีวันจม" ก็ได้จมไปแล้ว) ปัจจุบันซากเรือไททานิคนอนแน่นิ่งห่างจากชายฝั่ง Newfoundland ของประเทศแคนาดาไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 530 กม. ที่ความลึก 3.8 กม. ที่มา Live Science
https://jusci.net/node/1409
ซากเรือไททานิคจะหายไปเร็วกว่าที่เคยคาด
นักนิเวศวิทยาได้เสนอผลการวิเคราะห์ล่าสุดชี้ให้เห็นว่าการทำลายป่าอาจจะส่งผลต่อภาวะโลกร้อนไม่ถึง 10% ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์ของ UN เคยคาดไว้ว่าการทำลายป่ามีเอี่ยวในกระบวนการเกิดภาวะโลกร้อนถึง 20% ต่อมา Richard Houghton แห่ง Woods Hole Research Center ได้วิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปีนับจาก ค.ศ. 2000-2005 แล้วจึงลดตัวเลขนี้ลงไปเหลือ 15% แต่เนื่องจากข้อมูลที่ นักวิทยาศาสตร์ UN และ Richard Houghton ใช้ทำการวิเคราะห์เป็นข้อมูลที่แต่ละประเทศรายงานให้ UN ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่าจะต้องมีความคลาดเคลื่อนไปบ้าง ทีมนักวิจัยแห่ง Winrock International จึงได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลในช่วง ค.ศ. 2000-2005 อีกครั้งโดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมรวมทั้งหมดกว่า 3 ล้านจุด และข้อมูลจากหน่วยตรวจวัดคาร์บอนอีกกว่า 4,000 จุดทั่วพื้นโลก ตัวเลขใหม่ที่ได้ประมาณการณ์ว่าการทำลายป่าเพิ่มผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนเพียง 8% เท่านั้น! (หรืออาจจะอยู่ในช่วง 5-12%) ยิ่งถ้ารวมตัวเลขป่าที่ฟื้นฟูหลังจากการถูกทำลายเข้าไป ตัวเลขจะยิ่งน้อยลงไปกว่านี้อีก ข่าวนี้จริงๆ แทบไม่มีอะไรเลย เป็นการเอาข้อมูลใหม่มาวิเคราะห์แล้วได้ตัวเลขใหม่ออกมาแค่นั้นเอง พวก "นักวิจัยโลกร้อน" ปล่อยของแบบนี้ให้เห็นแทบทุกวันเดือน แต่เผอิญว่าช่วงนี้ดันเป็นช่วงของการประชุมโลกร้อนพอดี และยิ่งปีนี้ เป้าประสงค์หลักของการประชุมที่ Cancún ก็คือการเร่งให้ประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกเข้าร่วมโปรแกรม REDD (Reducing Emissions from Deforestation and Forest Degradation in Developing Countries) เพื่อที่จะลดปริมาณการตัดไม้ทำลายป่าของประเทศยากจน (อ่านข่าวเก่า "มีอะไรบ้างที่เราต้องสนใจในประชุมโลกร้อน 2010 ที่ Cancún") ข่าวแบบนี้ออกมาก็เท่ากับว่า ต่อให้ทุกประเทศเข้าร่วม REDD อย่างที่หวังไว้ ปัญหาภาวะโลกร้อนก็แทบจะไม่ได้ดีอะไรขึ้นเลย พูดง่ายๆ คือ ประชุมโลกร้อนปีนี้ไม่มีอะไรให้ต้องไปหวังกันแล้ว (ยกเว้นประเทศจีนที่ทั้งโลกจับตาว่าจะประกาศลดการปล่อย CO2 เท่าไร ส่วนสหรัฐอเมริกาเพิ่งจะโดนเจ้าภาพประเทศเม็กซิโกเหน็บแนมไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้วว่ามีแต่นโยบาย "modest") อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์บางคนก็ยังไม่ปักใจกับผลการวิเคราะห์นี้ หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าการวิเคราะห์ไม่น่าจะนับรวมผลจากการค้าไม้ป่าและการถางป่าเพื่อมาปลูกพืชพลังงาน (เช่น ปาล์มน้ำมัน) เข้าไปด้วย เพราะในคำจำกัดความของ UN สวนพืชพลังงานพวกนี้ก็จัดเป็น "ป่า" ได้ หากรวมผลกระทบจากกิจกรรมเหล่านี้เข้าไป ตัวเลขจะต้องสูงกว่านี้แน่นอน ที่มา - New Scientist ป.ล. ข่าวนี้ไม่ได้แปลว่าการทำลายป่ามีข้อเสีย "นิดหน่อย" นะครับ อันนี้นับเฉพาะผลต่อภาวะโลกร้อนเท่านั้น ส่วนผลเสียของการทำลายป่ามีเยอะแยะบรรยายกันสามวันไม่หมด อย่าเที่ยวไปอ้างว่า "ตัดป่าไม่กระทบโลกร้อน" แล้วก็ถลุงจนเหี้ยนนะ ขอร้อง
https://jusci.net/node/1410
การทำลายป่าอาจจะไม่ได้ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนมากเท่าที่เคยคิด
ทีมนักวิจัยที่นำโดย Henry Sodano แห่ง Arizona State University ได้ประดิษฐิวัสดุแบบใหม่ที่ค้นหารอยแตกและจัดการซ่อมปิดรอยแตกนั้นได้ด้วยตัวเอง เหมือนกับกระดูกในร่างกายคนเรายังไงยังงั้น โครงสร้างวัสดุที่นักวิจัยประดิษฐ์ขึ้นนี้มีชื่อเรียกว่า "autonomous adaptive structures" โดยหลักการวัสดุนี้ประกอบด้วยโพลีเมอร์ที่คืนรูปตัวเองได้เมื่อได้รับความร้อน (Shape-memory polymer) และฝังโครงข่ายเส้นใยนำแสง (fiber-optic network) เอาไว้ข้างใน เส้นใยนำแสงนี่เองที่เป็นเคล็ดลับของการหารอยแตกและซ่อมตัวเอง กล่าวคือ แสงอินฟราเรดที่วิ่งอยู่ในเส้นใยนำแสงจะทำหน้าที่เป็น sensor ค้นหารอยแตก เมื่อแสงวิ่งไปพบรอยแตก ณ จุดใด มันก็จะออกันไปเพิ่มความร้อนที่จุดนั้น พออุณหภูมิสูงขึ้นไปถึงจุดหนึ่ง โพลีเมอร์ที่จุดนั้นก็จะเพิ่มความแข็งและเหนียวขึ้นเพื่อป้องกันการฉีกขาดเพิ่มเติมและให้วัสดุยังคงรูปอยู่ได้ ในที่สุดรอยแตกนั้นก็ถูกปิดไปโดยอัตโนมัติด้วยคุณสมบัติของ Shape-memory effect โพลีเมอร์ใน autonomous adaptive structures สามารถเพิ่มความแข็งของตัวเองได้ถึง 11 เท่า จากการทดสอบพบว่าวัสดุที่มีรอยแตกสามารถคืนสภาพความแข็งแกร่งได้ถึง 96% ของสภาพเดิม และเมื่อรอยแตกถูกปิดอย่างสมบูรณ์ วัสดุมีความแข็งเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับวัสดุก่อนแตก แต่มีความเครียด ณ รอยแตกเป็น 4 เท่าของความเครียดเดิม นักวิจัยอ้างว่า autonomous adaptive structures นี้สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ในทุกสภาวะ ไม่เว้นแม้แต่ว่าวัสดุจะอยู่ในระหว่างการใช้งานก็ตาม ที่มา - Science Daily
https://jusci.net/node/1412
วัสดุใหม่หาบาดแผลและซ่อมตัวเองได้
กระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาเปิดเผยธนบัตร 100 ดอลลาร์แบบใหม่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ธนบัตรแบบนี้ยังใช้ใบหน้าของเบนจามิน แฟรงคลินเหมือนเดิม แต่เพิ่มเทคโนโลยีไฮเทคเข้ามามากมาย เช่น แถบภาพ 3 มิติเพื่อป้องกันการปลอมธนบัตร เป็นต้น ธนบัตรชนิดนี้จะถูกใช้งานจริงในเดือนกุมภาพันธ์ 2011 แต่แผนดูจะไม่เป็นไปตามนั้นเสียแล้ว เพราะระหว่างกระบวนการจัดพิมพ์ธนบัตรแบบใหม่ พบว่ามีธนบัตรพิมพ์เสียเป็นจำนวนมาก (คาดว่าตัวเลขสูงสุดคือประมาณ 30% ของจำนวนธนบัตร 1.1 พันล้านฉบับ) โดยเกิดปัญหาที่กระบวนการป้อนกระดาษ ส่วนสาเหตุนั้นยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แหล่งข่าวบอกว่าต้นทุนของธนบัตรชนิดใหม่นี้อยู่ที่ 12 เซ็นต์ต่อฉบับ ซึ่งแพงกว่าธนบัตร 100 ดอลลาร์ในปัจจุบันอีกเท่าตัว ที่มา - CNBC
https://jusci.net/node/1413
อเมริกาพิมพ์เงินเสียนับล้าน เพราะธนบัตรแบบใหม่ซับซ้อนเกินไป
ศาสตราจารย์ Hideyuki Okano จากมหาวิทยาลัย Keio ได้แถลงถึงความสำเร็จในการฟื้นฟูความสามารถในการเคลื่อนไหวให้กับลิงเล็ก (marmoset) ได้บางส่วนด้วยสเต็มเซลล์ ทีมงานวิจัยเดียวกันนี้เคยประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูการเคลื่อนไหวให้กับหนูมาก่อนหน้านี้ ในการรักษา ทีมวิจัยฉีด induced pluripotent stem cell เข้าไปยังลิงเล็ก 9 วันหลังเกิดอาการบาดเจ็บ พบว่าลิงเล็กนี้สามารถกลับมากระโดด และเคลื่อนไหวได้ถึงร้อยละ 80 ของภาวะปรกติ การรักษาด้วยสเต็มเซลล์ยังเป็นความหวังของการรักษาโรคอื่นๆ รวมถึงมะเร็ง อย่างไรก็ดีมีข้อถกเถียงในแง่จริยธรรมอีกมากเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ โดยเฉพาะการใช้ embryonic stem cell ที่ต้องทำลายเอ็มบริโออายุ 4-5 วัน แต่ induced pluripotent stem cell เป็นเซลล์ที่ถูกกระตุ้นจากเซลล์อวัยวะทั่วไป (somatic cell) ที่มีปัญหาทางจริยธรรมน้อยกว่า ที่มา - PhysOrg
https://jusci.net/node/1414
ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการใช้สเต็มเซลล์รักษาลิงอัมพาตได้บางส่วน
ตอนนี้นักดาราศาสตร์ทั่วโลกกำลังงุนงงกับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (exoplanet) ดวงใหม่ที่ค้นพบโดยทีมของ Christian Marois แห่ง Herzberg Institute of Astrophysics เป็นอันมาก เพราะทฤษฎีที่กำเนิดดาวเคราะห์ที่มีอยู่ไม่สามารถอธิบายได้ว่ามันไปอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร เริ่มจากข้อมูลของตัวดาวเคราะห์ดวงใหม่ก่อน ดาวเคราะห์ดวงนี้มีชื่อว่า HR 8799e มีขนาดใหญ่เป็น 10 เท่าของดาวพฤหัส โคจรรอบดาวฤกษ์ HR 8799 ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 129 ปีแสง ดาวเคราะห์ HR 8799e อยู่ห่างจากดาวฤกษ์ของตัวเองเป็นระยะทาง 14.5 หน่วยดาราศาสตร์ (1 หน่วยดาราศาสตร์ = ระยะทางเฉลี่ยระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์) ก่อนหน้านี้มีการค้นพบดาวเคราะห์บริวารของ HR 8799 แล้วสามดวง ซึ่งแต่ละดวงมีวงโคจรห่างจากดาว HR 8799 เป็นระยะทาง 24, 38 และ 68 หน่วยดาราศาสตร์ ปัญหามันอยู่ที่ปัจจุบันเรามีทฤษฎีการกำเนิดดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่เช่นนี้อยู่สองทฤษฎี แต่ตำแหน่งของดาวเคราะห์ทั้งสี่ดวงของ HR 8799 ดันไปขัดแย้งกับทั้งสองทฤษฎีนี้ซะได้ ทฤษฎีแรกคือ core accretion model ซึ่งอธิบายไว้ว่าแรกเริ่มเดิมทีตรงกลางของมวลก่อนกำเนิดดาวเคราะห์เป็นฝุ่นผงที่หมุนวนกันไปเรื่อยๆ เป็นเวลานับล้านปีจนเกิดเป็นแกนของแข็ง แกนของแข็งนี้จะดึงดูดก๊าซโดยรอบเข้ามารวมตัวกันเป็นดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ อีกทฤษฎีคือ gravitational instability ซึ่งบอกว่าก๊าซที่หมุนๆ รวมกันเองเกิดเป็นดาวเคราะห์เลยในชั่วเวลาแป๊บเดียว ("แป๊บเดียว" ของนักดาราศาสตร์หมายถึง 10,000 ปี) core accretion model อธิบายได้เฉพาะดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลจากดาวฤกษ์ไม่เกิน 20 หน่วยดาราศาสตร์ เพราะหากมวลก่อนกำเนิดดาวเคราะห์อยู่ไกลมาก แกนมันจะหมุนช้าเกินไป ก๊าซรอบตัวมันจะกระจายตัวออกไปหมดซะก่อน ส่วน gravitational instability ก็ดันอธิบายได้เฉพาะดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลออกไปอย่างต่ำ 30 หน่วยดาราศาสตร์จากดาวฤกษ์ เพราะหากอยู่ใกล้เกินกว่านี้ ก้อนก๊าซจะร้อนและหมุนเร็วเกินกว่าจะจับตัวกันเป็นก้อนได้ อืม...ดูกันอีกครั้ง ระยะของดาวเคราะห์ทั้งสี่คือ 14.5, 24, 38 และ 68 หน่วยดาราศาสตร์ เรียกได้ว่ามีครบเลย ทั้งที่น้อยกว่า 20, ระหว่าง 20-30, ไกลกว่า 30 หน่วยดาราศาสตร์ ฉะนั้นไม่ว่าจะอธิบายด้วยทฤษฎีไหน ก็จะมีดาวเคราะห์อย่างน้อย 1 ดวงไม่เข้าพวกเสมอ ถ้าจะอธิบายว่าดวงใกล้เกิดโดย core accretion model ส่วนที่เหลือเกิดจาก gravitational instability ก็ไม่เข้าทีอีก เพราะทั้งสี่ดวงมีมวลพอๆ กัน แถมมีการโคจรที่พ้องกันทั้งสี่ดวงอีกด้วย นักดาราศาสตร์ค่อนข้างมั่นใจว่ามันต้องเกิดขึ้นมาด้วยวิธีแบบเดียวกัน ตอนนี้นักดาราศาสตร์เลยแถเดาไปก่อนว่า อาจจะเป็นเพราะแรงดึงดูดของดาวฤกษ์ HR 8799 และมวลสารรอบตัวมันมีอะไรแปลกประหลาดผิดปกติสักอย่าง ทำให้ดาวเคราะห์บางดวงที่เคยอยู่ใกล้ถูกลากออกไป หรือไม่ก็ ดาวเคราะห์ที่เคยอยู่ไกลถูกลากเข้ามาใกล้กว่าเดิม ที่มา - Live Science, New Scientist, Nature News
https://jusci.net/node/1415
นักวิทยาศาสตร์พบดาวเคราะห์ในที่ที่ไม่ควรจะมีมันอยู่
เวลาเราจะลดน้ำหนัก เรามักพยายามไม่คิดถึงของกินเพื่อหลีกเลี่ยงความอยากกัน แต่งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon แสดงผลที่ตรงกันข้ามว่าการจินตนาการถึงอาหารกลับช่วยลดการบริโภคอาหารลงไป การทดลองอาศัยกลุ่มตัวอย่างโดยแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม แล้วให้จินตนาการถึงเรื่องที่ตามกัน โดยกลุ่มแรกให้จินตนาการการหยอดเหรียญใส่เครื่องซักผ้าจำนวน 33 เหรียญ ส่วนกลุ่มที่สองให้จินตนาการการหยอดเหรียญ 30 เหรียญแล้วกิน M&M อีก 3 เม็ด กลุ่มที่สามให้จินตนาการการหยอดเหรียญ 3 เหรียญแล้วกิน M&M อีก 30 เม็ด หลังจากนั้นจึงแจก M&M ให้ผู้ร่วมทดสอบทั้งหมด แล้วสำรวจว่าผู้ร่วมทดสอบกิน M&M ไปคนละกี่เม็ด ผลที่ได้แสดงให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมทดสอบที่จินตนาการถึง M&M 30 เม็ดนั้นกิน M&M ที่แจกให้น้อยกว่าสองกลุ่มแรกอย่างมีนัยสำคัญ ท้ายข่าวมีของแถมเพื่อช่วยทุกท่านลดน้ำหนัก ที่มา - PhysOrg
https://jusci.net/node/1416
การจินตนาการถึงอาหารช่วยลดการกินได้
Andrew Carol วิศวกรของแอปเปิลได้ใช้เวลาว่างจากการออกแบบคอมพิวเตอร์เพื่ออนาคต มาสร้างคอมพิวเตอร์จากอดีต คอมพิวเตอร์ที่ว่านี้ชื่อ Antikythera Mechanism ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการคำนวณทางวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุด ถูกสร้างครั้งแรกในยุคกรีกโบราณเมื่อประมาณ 100 ปีก่อนคริสตกาล โดยมันได้หายไปนานเพิ่งถูกค้นพบในเรืออับปางเมื่อปี 1901 มนุษย์ได้ใช้เวลาอีก 100 ปีเพื่อค้นพบว่ามันถูกสร้างมาเพื่อใช้ในการคำนวณการเกิดอุปราคาได้อย่างไม่ผิดพลาดเลย Carol ตัดสินใจที่จะสร้างความสนุกด้วยการใช้วัสดุสมัยใหม่ในการสร้างเจ้าอุปกรณ์อันมหัศจรรย์นี้ และวัสดุที่เขาเลือกใช้ก็คือ "เลโก้" นั่นเอง ด้วยการสนับสนุนจาก Digital Science เขาใช้ชิ้นส่วนของ เลโก้เทคนิค 1500 ชิ้น และใช้เวลาใน 30 วันในการเอาเฟือง 110 ตัวและชิ้นส่วนต่างๆ ประกอบเข้าด้วยกันเพื่อสร้างเจ้าคอมพิวเตอร์โบราณนี้ เจ้าอุปกรณ์ที่ว่าประกอบด้วยส่วนปีกสองด้านซึ่งแต่ละด้านจะมีกล่องเกียร์ 4 กล่อง โดยกล่องเกียร์แต่ละตัวจะทำการคำนวณทางคณิตศาสตร์ 1 ชุด อยากเห็นกันเต็มๆ มีวิดีโอให้ดูในที่มาครับ ที่มา - CNET News.com
https://jusci.net/node/1417
วิศวะกรของแอปเปิลสร้างคอมพิวเตอร์โบราณด้วยเลโก้
ใครที่กำลังวางแผนจะไปนั่งมองกระต่ายส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ มีเรื่องหนึ่งที่ควรรับรู้ไว้ นั่นคือดวงจันทร์ของเรากำลังหดเล็กลงเรื่อยๆ ร.ศ. Darren Williams นักดาราศาสตร์แห่ง Penn State Erie ได้เสนอว่า ภาพถ่ายของ NASA ที่แสดงให้เห็นถึงเนินผาสูงชันเป็นแนวยาวที่เรียกว่า "lobate scarps" ทั่วพื้นผิวดวงจันทร์นั้นเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าดวงจันทร์กำลังหดตัวลงเรื่อยๆ ตลอดเวลานับพันล้านปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าดวงจันทร์เกิดจากก้อนของแข็งที่หมุนวนอยู่รอบโลก (ตอนที่โลกเพิ่งจะถือกำเนิด) เคลื่อนที่มาชนกันและหลอมรวมกัน เมื่อเวลาผ่านไปนับล้านๆ ปี เปลือกนอกของดวงจันทร์ก็เริ่มเย็นลงและกลายเป็นเปลือกแข็งๆ ลองจินตนาการถึงขนมเค้กที่ทิ้งไว้ให้แห้งลงเรื่อยๆ มันก็จะหดเล็กลง ครีมที่เป็นหน้าเค้กก็จะเริ่มแข็งและปรากฏรอยแยกขึ้น ดวงจันทร์ก็เป็นแบบเดียวกัน และเนื่องจากพื้นผิวแต่ะส่วนของดวงจันทร์หดตัวช้าเร็วต่างกัน เปลือกดวงจันทร์บางแผ่นจึงได้ยุบตัวเร็วกว่าแผ่นอื่นที่อยู่ติดกันทำให้เกิดเป็น scarps ขึ้นมา นอกจากดวงจันทร์แล้ว ดาวเคราะห์อื่นๆ ก็หดตัวเมื่อเย็นลงเหมือนกัน สังเกตได้จากการเกิดรอย scarps บนพื้นผิว เช่น ดาวพุธ เป็นต้น แม้แต่โลกเองถ้าไม่ใช่เพราะว่าข้างในโลกมีแร่ยูเรเนียมสลายตัวให้ความร้อนอยู่ ป่านนี้โลกของเราก็คงหดตัวลงเรื่อยๆ เช่นกัน แต่ก็ไม่ต้องกังวลว่าต่อไปดวงจันทร์จะเล็กลงจนมองกระต่ายกันไม่เห็น เพราะตามที่คาดกัน ในเวลาหนึ่งพันล้านปี ดวงจันทร์หดลงไปไม่กี่กิโลเมตรเท่านั้น ให้นั่งมองไปจนหลานบวชก็ไม่รู้สึกหรอกว่ามันเล็กลง ที่มา - PhysOrg
https://jusci.net/node/1418
พระจันทร์กำลังหดตัว
หลังจากเมื่อสองปีที่แล้ว (ค.ศ. 2008) กองทัพเรือสหรัฐอเมริกา (U.S. Navy) สร้างสถิติยิงกระสุนจากปืนราง (railgun) ได้ความเร็วถึง Mach 7 หรือ 7 เท่าของความเร็วเสียง วันที่ 10 ธันวาคม ปี 2010 นี้ กองทัพเรือสหรัฐฯ ก็ทำลายสถิติของตัวเองลงอีกครั้งด้วยความเร็ว Mach 7.5 หรือประมาณ 9187.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ปืนรางที่ใช้ยิงไม่ได้อัดดินปืนแบบปืนธรรมดาๆ แต่เป็นการเร่งความเร็วกระสุนโดยใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้า พลังงานของลูกกระสุนที่ออกจากกระบอกปืนนั้นสูงถึง 33 megajoule พลังงานนี้มากพอจะขับเคลื่อนรถ 33 คันให้วิ่งด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ในคราวเดียว เจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือสหรัฐฯ คาดว่าลูกกระสุนเคลื่อนที่ไปได้ไกลกว่า 200 กิโลเมตร ที่มา - Popular Science ดูวิดีโอข้างล่างได้ครับว่ากระสุนที่วิ่งด้วยความเร็ว Mach 7.5 มันเป็นอย่างไร ป.ล. ใครสงสัยบ้างว่าไฟกับควันที่มันพุ่งเป็นทางตามกระสุนไปมันคืออะไร? ไหนบอกว่าไม่ได้ใช้ดินปืนแล้วทำไมมีไฟกับควัน? ผมอ่านจากคอมเม้นต์ใน Youtube ของวิดีโอเมื่อสองปีที่แล้ว มีสองคนอธิบายไว้ฟังดูเข้าที อันแรก ไฟกับควันในรางปืนเกิดจากหัวกระสุนกับขั้วอิเล็กโทรดที่เผาไหม้จนเป็นพลาสมาเลยเห็นเป็นแสงไฟลุกขึ้นมา อันที่สอง ควันที่เห็นเป็นทางตามลูกกระสุนคืออากาศที่เสียดสีจนลุกไหม้
https://jusci.net/node/1419
กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาทำลายสถิติตัวเอง ยิงกระสุนที่เร็วกว่าความเร็วเสียง 7.5 เท่า
Debby Herbenick แห่ง Indiana University Bloomington รายงานการวิจัยว่าการใช้สารหล่อลื่นที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบก่อนหรือขณะร่วมเพศช่วยให้ฝ่ายหญิงได้รับความสุขเพิ่มขึ้นและมีอาการเจ็บน้อยลง งานวิจัยนี้เป็นการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้หญิง 2,453 คน ช่วงอายุตั้งแต่ 18 ถึง 68 ปี ผู้เข้าร่วมแต่ละคนจะได้รับสารหล่อลื่นหนึ่งใน 6 ชนิดสุ่มๆ กันไป (มีชนิดที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ 4 ชนิด และชนิดที่มีซิลิโคนเป็นส่วนประกอบ 2 ชนิด) หลังจากใช้สองสัปดาห์ ผู้เข้าร่วมจะต้องตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับความพึงพอใจและความเจ็บปวดที่เกิดจากการทำกิจกรรมทางเพศ ผลที่ได้วิเคราะห์จากกิจกรรมทางเพศทั้งหมดของกลุ่มตัวอย่าง (ทั้งหมดนับรวมได้เป็นการร่วมเพศชาย-หญิง 10,000 กว่าครั้ง และการช่วยตัวเอง 3,000 กว่าครั้ง) พบว่า มีเพียง 3.1% เท่านั้นที่บอกว่าไม่พอใจในกิจกรรมทางเพศเมื่อใช้สารหล่อลื่นชนิดที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ เทียบกับ 8.9% เมื่อไม่ใช้สารหล่อลื่นใดๆ และ 9.7% เมื่อใช้สารหล่อลื่นที่มีซิลิโคนเป็นส่วนประกอบ อาการเจ็บหลังจากการร่วมเพศในกลุ่มตัวอย่างที่ใช้สารหล่อลื่นที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบก็น้อยกว่าอีกกลุ่มเช่นกัน มีเพียง 4.1% เท่านั้นที่รายงานว่ามีอาการเจ็บ ส่วนกลุ่มที่ใช้สารหล่อลื่นที่มีซิลิโคนเป็นส่วนประกอบมีมากถึง 10.6% มากกว่าตอนที่ไม่ได้ใช้สารหล่อลื่นเสียอีก (9.4%) ผมไม่มีความเห็นใดๆ เกี่ยวกับข่าวนี้มาก เอาเป็นว่า "ซื้อให้ถูกแล้วกัน อย่าเลือกอันซิลิโคน" ที่มา - Live Science หมายเหตุ งานวิจัยนี้ได้รับเงินสนับสนุนจาก Pure Romance บริษัทผู้ผลิตสารหล่อลื่น 2 ใน 6 ชนิดที่ใช้ทดสอบ (ข่าวต้นฉบับไม่ได้บอกว่าเป็นชนิดไหน)
https://jusci.net/node/1420
สารหล่อลื่นช่วยให้ผู้หญิงมีความสุขบนเตียงเพิ่มขึ้น [18+]
ขอเกริ่นก่อนแล้วกันนะครับ ว่า ชีวเคมี หรือก็คือการที่สิ่งมีชีวิต จะดึงพลังงานจากปฏิกิริยาเคมี ม้ักจะมีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีหลายชั้น ค่อยๆดึงอิเล็คตรอนสับไปยังสารประกอบทางเคมีที่แตกต่างกัน อย่างเช่น การดึงเอาออกซิเจนในอากาศ มารับอิเล็คตรอนพลังงานสูงจากสารประกอบคาร์บอนในร่างกายเราเพื่อปล่อยพลังงานบางส่วนออกมา กลายเปนคาร์บอนไดออกไซด์ เปนกระบวนการเมตาบอลิซึมทั่วไป ซึ่งสิ่งมีชีวิตเกือบทั้งหมดในโลก จะมีกระบวนการชีวะเคมีที่ต้องใช้สารอาหารจากภายนอก แล้วคายกากออกแบบนี้ คล้ายๆกันหมดทั้งโลกครับ โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้ออกซิเจน แต่สิ่งมีชีวิตบางพวกก็มีการใช้สารชนิดอื่นๆตามสภาวะแวดล้อม แต่ได้มีนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการทดลอง นำเอาแบคทีเรียสองชนิดมาเลี้ยงไว้ในสภาพที่ขาดออกซิเจน โดยให้ ethanol เปนอาหาร กลับพบว่าหลังจากแบคทีเรียทั้งสองชนิดอยู่ร่วมกันไม่นาน พวกมันก็ได้กลายพันธุ์เปนแบคทีเรียที่พึ่งพากันแบบ Symbiosis ที่สามารถแลกเปลี่ยนอิเล็คตรอนกันได้โดยตรง โดยไม่ต้องใช้กระบวนการทางเคมีจากเอธานอลที่ให้ไว้ โดยการกลายพันธุ์ครั้งนี้ ทั้งสองพันธุ์ได้มีการสร้าง "แขนโปรตีน" ออกมาจากเซลล์ ทำให้ยื่นไปจับกับอีกพันธุ์หนึ่งได้ เพื่อที่จะแลกเปลี่ยนอิเล็คตรอนระหว่างกัน สรุปก็คือ จุลชีพทั้งสองตัวนี้ ได้กลายพันธุ์ไปในลักษณะที่ทำให้เหมือนกับว่าพวกมันทำตัวเปนสารเคมีได้ด้วยตัวเอง และสามารถจะเอาชีวิตรอดได้ในสภาวะที่ขาดแคลนองค์ประกอบทางเคมี อาจจะทำให้เราต้องมีการคิดคำจำกัดความของ ชีวเคมี และ สิ่งมีชีวิต กันเสียใหม่ซะแล้ว ที่มา : ArsTechnica
https://jusci.net/node/1421
แบคทีเรียสามารถวิวัฒนาการเพื่อแลกเปลี่ยนอิเลคตรอนโดยตรงได้
มดกัดใบ (leaf-cutter ants) เป็นมดที่ดำรงชีวิตด้วยการตัดใบไม้ไปเลี้ยงราในรัง แล้วก็เก็บเชื้อรามาไปเลี้ยงตัวอ่อนมด (ถือเป็นสัตว์ชนิดแรกของโลกที่รู้จักเทคนิคการทำฟาร์ม) ดังนั้นงานที่ถือเป็นหนึ่งในหน้าที่หลักของมดงานก็คือออกไปเที่ยวตัดใบไม้แล้วขนมาที่รัง มดงานที่ทำหน้าที่ตัดใบไม้จะกัดใบไม้ด้วยกราม (mandibles) ของมัน คล้ายๆ กับเราตัดผ้าด้วยกรรไกร ซึ่งแน่นอนว่าในที่สุดความคมมันก็จะลดลงไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นเราก็คือเปลี่ยนกรรไกรใหม่ แต่มดมันถอดกรามไม่ได้ อีกอย่างไม่มีอะไหล่เปลี่ยนด้วย แล้วแบบนี้มันจะทำอย่างไรดี? ทีมวิจัยที่นำโดย Robert Schofield แห่ง University of Oregon ได้ค้นพบว่า เมื่อฟันของมดงานพวกนี้ทื่อเกินกว่าจะตัดใบได้อย่างมีประสิทธิภาพ มดงานจะสลับไปทำหน้าที่อื่นๆ เช่น ขนใบไม้กลับรัง ปล่อยให้มดงานตัวอื่นที่กรามยังใหม่อยู่เข้ามารับหน้าที่แทน ลองเทียบวิดีโอสองอันข้างล่างดูนะครับ อันแรกกรามยังคมอยู่ ตัดใบลื่นปรื๊ดๆ ส่วนมดในวิดีโออันที่สองกรามทื่อแล้วจะเห็นว่าตัดไม่แทบไม่เข้าเลย (วิดีโอทั้งสองอันเป็นลิขสิทธิ์ของ Robert Schofield เจ้าของงานวิจัย) นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า ปัญหากรามทื่อนี้ทำให้มดกัดใบรังหนึ่งๆ ต้องใช้พลังงานมากขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับตอนที่มดงานทั้งรังมีกรามคมๆ เรื่องของมดนี้ยังเป็นแนวทางศึกษาเพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพของวัสดุที่มีขนาดเล็กๆ อีกด้วย นี่ขนาดว่าวิวัฒนาการนับล้านๆ ปีได้ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับกรามของมดแบบสุดๆ แล้ว (กรามของมดมีส่วนประกอบของสังกะสีอยู่ด้วย) มดยังหลีกเลี่ยงปัญหานี้ไม่พ้น ทางข้างหน้าของวิทยาการเทคโนโลยีวัสดุคงไม่มีคำว่าง่ายแล้วมั้งครับ ที่มา - Science Daily
https://jusci.net/node/1422
มดเปลี่ยนงานเมื่อกรามทื่อ
หอยเชอรี่ (Golden Apple Snail, Pomacea canaliculata) เป็นสัตว์นำเข้า (imported species) ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวนาในบ้านเราเป็นอันมาก เพราะมันกัดกินต้นข้าว และขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว บางครั้งกินกันจนนาล่มก็มี มีอย่างหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับไข่ของหอยชนิดนี้ สำหรับสัตว์อื่นๆ ไข่ถือว่าเป็นระยะที่อันตรายเสี่ยงต่อการถูกกินมากที่สุด สัตว์จะมีกลวิธีปกป้องไข่ของตัวเองอย่างดี เช่น วางไปซ่อนไว้ในซอกหลืบ หรือ มีตัวพ่อตัวแม่เฝ้าดูแล (ลองนึกถึงเกม Angry Birds) แต่ลองดูไข่หอยเชอรี่สิ นอกจากหอยตัวแม่จะวางไข่แบบโชว์หราท้าทายผู้ล่าแล้ว สีไข่มันยังจัดจ้านราวกับโฆษณาตัวเอง "มากินฉันสิ" อีกต่างหาก ในธรรมชาติ พวกชอบโชว์แบบนี้เกือบร้อยทั้งร้อยตัองมีของดีป้องกันตัว ไข่หอยเชอรี่ก็เหมือนกัน เหตุที่มันกล้าได้เพราะว่ามันมีพิษ และไม่ใช่แค่พิษตัวเดียวซะด้วย ไข่หอยเชอรี่ทุกฟองจะมีพิษป้องกันตัวเองถึงสองชั้น!! ชั้นแรกคือสารที่เคลือบไข่ซึ่งเป็นโปรตีนที่ชื่อว่า PV2 มีรายงานว่าสารนี้มีฤทธิ์ทำลายไขสันหลังของหนูทดลอง ทำให้หนูอ่อนแรง กะปลกกะเปลี้ย หากได้รับปริมาณสูง หนูอาจถึงตายได้ แต่ว่า PV2 เป็นสารที่ออกฤทธิ์ค่อนข้างช้า ไข่หอยจึงต้องมีอาวุธป้องกันเสริมอีกชั้น เพื่อป้องกันไม่ได้ผู้ล่าที่หิวโซเขมือบไข่ไปจนเกลี้ยงก่อนที่ PV2 จะออกฤทธิ์ อาวุธชั้นที่สองก็คือสีชมพู-แดงๆ ของมันนั่นเอง สีนี้ได้มาจากโปรตีนที่ชื่อว่า Ovorubin ในตอนแรกนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า Ovorubin ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ไข่โดดแดดเผาจนแห้งตายและป้องกันเชื้อโรค แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมวิจัยที่นำโดย Horacio Heras แห่ง National University of La Plata ได้ทดสอบพบว่า Ovorubin ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อเชื้อแบคทีเรียเลย ทีมนักวิจัยนี้เลยทำการทดลองป้อน Ovorubin ให้หนูทดลอง พบว่าหนูที่ได้รับ Ovorubin จะโตช้ากว่าปกติ และเมื่อนำ Ovorubin ไปวิเคราะห์ทางเคมีก็พบว่ามันมีคุณสมบัติเป็น "ตัวยับยั้งเอนไซม์ย่อยโปรตีน" นั่นหมายความว่าตัวอะไรก็ตามที่กินไข่ของหอยเชอรี่เข้าไปจะไม่สามารถย่อยอาหารพวกโปรตีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลองนึกถึงอาการท้องอืดเพราะอาหารไม่ย่อยดู คุณยังจะเขมือบหมูกระทะต่อได้มั้ย ผู้ล่าที่กินไข่หอยก็เจออาการเดียวกัน (แถมพอ PV2 ออกฤทธิ์ยังอาจเกือบตายได้ด้วย) ดังนั้นแทบจะรับประกันได้เลยว่าไม่ว่าจะเจอผู้ล่าหิวจัดขนาดไหน ไข่หอยเชอรี่ก็จะเหลือรอดแน่นอน แต่อย่านึกว่าไข่หอยเชอรี่จะไร้เทียมทานไม่มีตัวอะไรมาเขมือบมันได้นะครับ เพราะมีรายงานว่ามดคันไฟ Solenopsis geminata สามารถกินไข่หอยเชอรี่เป็นอาหารได้ (ผมทำมดคันไฟชนิดนี้เป็นโปรเจ็กต์ตอนปริญญาตรีด้วย แต่ไม่ได้ทำเรื่องกินไข่หอย ;P อยากจะบอกว่ามดคันไฟตัวนี้ก็เป็น Imported species ในประเทศไทยเหมือนกัน) ที่มา - New Scientist เผื่อใครไม่รู้จัก ไข่หอยเชอรี่มีหน้าตาแบบในรูปนี้นะครับ (ที่มาภาพ: วิกิพีเดีย เครดิตเจ้าของภาพ: Shan Lv, National Institute of Parasitic Diseases) ป.ล. ในที่มาเรียกชื่อสามัญของหอยชนิดนี้ว่าเป็น Channeled apple snail แต่ว่าชื่อวิทยาศาสตร์นั้นตรงกับ Golden apple snail ที่ระบาดในบ้านเรา ผมจึงคิดว่าเป็นตัวเดียวกันแต่มีสองชื่อเรียก อันนี้ต้องรอนักสังขวิทยา (Malacologist) มายืนยัน ป.ล. อีกรอบ ในที่มาบอกว่าหอยชนิดนี้ใช้เวลาผสมพันธุ์กันถึง 12-20 ชั่วโมง! จนตัวเมียได้รับน้ำเชื้อมากพอ :o โห อะไรมันจะอึดขนาดนั้น
https://jusci.net/node/1423
ไข่หอยเชอรี่เป็นพิษ
ศ. Ei-ichi Negishi หนึ่งในสามเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเคมีปีนี้ได้งานเสริมเพิ่มอีก 1 งานแล้ว แถมไม่ใช่ตำแหน่งจิ๊บจ้อยซะด้วย (แหม มีรางวัลโนเบลแนบใน résumé จะได้งานเล็กๆ ได้อย่างไร) เพราะบริษัทที่มาจ้าง หรือจะเรียกให้ถูก "มาเชิญ" ให้ Ei-ichi Negishi ไปเป็นที่ปรึกษาวิจัยอาวุโสก็คือบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เรารู้จักกันดีอย่าง โซนี่ (Sony) นั่นเอง ศ. Ei-ichi Negishi เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1935 ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์อยู่ที่ Purdue University งานที่ทำให้ท่านได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีร่วมกันนักวิทยาศาสตร์อีก 2 คน (ศ. Richard F. Heck และ ศ. Akira Suzuki) คือการศึกษาและพัฒนานำโลหะพัลเลเดียม (palladium) มาใช้เป็นตัวเร่งในปฏิกิริยาเคมีอินทรีย์ (อธิบายคร่าวๆ พัลเลเดียมช่วยเร่งทำให้เอาคาร์บอนในโมเลกุลสารอินทรีย์มาต่อกันเป็นโมเลกุลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้) ซึ่งผลงานนี้จุดประกายให้เกิดความก้าวหน้าในการสังเคราะห์สารเคมีอินทรีย์อย่างยิ่งใหญ่และกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นในทางอุตสาหกรรมเคมีหรือเภสัชกรรม ฯลฯ โฆษกของโซนี่กล่าวว่า ศ. Ei-ichi Negishi จะมาช่วยให้คำแนะนำในการวิจัยเกี่ยวกับ Organic electronics ของบริษัท รวมถึงเป็นที่ปรึกษาในด้านวิธีการฝึกเตรียมความพร้อมให้กับนักวิจัยหน้าใหม่ๆ ที่มีพรสวรรค์ของบริษัทด้วย ที่มา - PhysOrg
https://jusci.net/node/1424
โซนี่จ้างนักเคมีรางวัลโนเบลมาเป็นที่ปรึกษาวิจัย
ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้ออื่นบุกตลาดรถพลังไฟฟ้าด้วยระบบไฮบริด (สามารถสลับไปใช้น้ำมันได้) แต่นิสสันกลับเลือกเส้นทาง "ไฟฟ้าอย่างเดียว" และมันออกมาเป็นตัวเป็นตนแล้วในชื่อ Nissan Leaf (Wikipedia) Nissan Leaf จะเริ่มวางขายในสหรัฐ (เป็นบางรัฐ) และในญี่ปุ่นก่อน ส่วนประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะยุโรปจะเริ่มขายปีหน้า ของประเทศไทยนั้นนิสสัยเคยให้สัมภาษณ์ว่ายังไม่มีแผนครับ ที่มา - Engadget หมายเหตุ: ผมเคยเขียนเรื่องรถยนต์พลังไฟฟ้าไว้หน่อย เผื่อใครจะสนใจ ถึงเวลาของรถยนต์พลังไฟฟ้าแล้วหรือยัง?
https://jusci.net/node/1425
Nissan Leaf รถยนต์ไฟฟ้าเพียวๆ เริ่มวางขายแล้ว
ทฤษฎีกำเนิดวงแหวนของดาวเสาร์เป็นที่ถกเถียงกันมานานแล้ว มีคนเสนอไว้หลากหลายสมมติฐานมาก เช่น วงแหวนเป็นเศษฝุ่นอวกาศที่ค้างมาตั้งแต่ตอนกำเนิดดาวเสาร์, อดีตดวงจันทร์ของดาวเสาร์โดนดาวหางพุ่งชนจนแตกเป็นสะเก็ด, หรือ วงแหวนเป็นเศษของดาวหางที่แตกกระจายอยู่บนทางโคจรของดาวเสาร์พอดี เป็นต้น แต่คงไม่มีทฤษฎีไหนจะพิลึกพิสดารไปกว่าทฤษฎีล่าสุดของ Robin Canup นักดาวเคราะห์วิทยาจาก Southwest Research Institute อีกแล้ว เพราะเธอคนนี้เสนอว่า "วงแหวนของดาวเสาร์ได้มาจากการปล้นดวงจันทร์ของตัวเอง" ไม่ใช่ขโมยมาเฉยๆ นะ ปล้น-ข่มขืน-ฆ่า-ทำลายหลักฐาน ครบสมบูรณ์แบบเลย (นี่มันดาวเสาร์หรือโจรกันแน่!?) ทฤษฎีของ Robin Canup เริ่มมาจากแบบจำลองตอนที่ดาวเสาร์ถือกำเนิดที่เธอได้สร้างขึ้นมาก่อนหน้า ในแบบจำลองพบว่าในตอนแรกกำเนิดดาวเสาร์นั้น มวลก่อกำเนิดดาวประกอบด้วยแก๊ซและฝุ่นอวกาศ มีดวงจันทร์เกิดขึ้นพร้อมๆ กับดาวเสาร์ในยุคเริ่มแรกมากมาย แต่ดวงที่อยู่ใกล้กับดาวเสาร์มากเกินไปจะถูกดาวเสาร์ดูดเข้าไปหมด Robin Canup จึงสมมติให้มีดวงจันทร์อยู่ดวงหนึ่งรอดมาได้จากยุคเริ่มแรกนั้น ดวงจันทร์นี้มีขนาดใหญ่พอๆ กับ Titan (ดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ในปัจจุบัน) เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5,000 กิโลเมตร ดวงจันทร์นี้ปกคลุมด้วยชั้นน้ำแข็งและมีแกนกลางเป็นซิลิกา เผอิญว่าดวงจันทร์นี้อยู่ผิดที่ผิดทางไปหน่อย แรงดึงดูดของดาวเสาร์เลยได้โอกาสดึงดวงจันทร์ดวงนี้เข้าไปเรื่อยๆ ในระหว่างที่ล่อเหยื่อเข้าไปใกล้นี้ ความร้อนจากดาวเสาร์ก็ไปละลายเปลือกน้ำแข็งของดวงจันทร์ให้ลอกออกไปลอยล่องอยู่ในวงโคจร กระทั่งร่างเหยื่อของดวงจันทร์ถูกเปลือยหมดเหลือแต่แกนซิลิกา ดาวเสาร์ก็ยังดึงต่อไปเรื่อยๆ จนในที่สุดดวงจันทร์ทั้งดวงก็ถูกดูดจมหายไปในพื้นปฐพีของดาวเสาร์ เป็นอันว่าทำลายศพเหยื่อเสร็จสิ้น เหลือเพียงแต่ชั้นน้ำแข็งที่ละลายลอกออกไปในตอนแรกลอยค้างเติ่งอยู่ในวงโคจร... ...และน้ำพวกนี้นี่เองที่กลับแข็งตัวเกิดเป็นวงแหวนน้ำแข็งของดาวเสาร์อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ทฤษฎีนี้แม้จะฟังดูพิลึกชวนขนลุก แต่เมื่อจำลองในคอมพิวเตอร์กลับพบว่ามันมีโอกาสสามารถเกิดขึ้นได้จริง และยังอธิบายคำถามที่คาใจนักดาราศาสตร์มาแสนนานได้ถึงสองคำถามด้วย นั่นคือ ทำไมวงแหวนของดาวเสาร์จึงมีน้ำแข็งเป็นส่วนประกอบถึง 95%? อันนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันทฤษฎีชัดเจน เพราะถ้าหากเกิดจากการแตกของดาวหางหรือดวงจันทร์ วงแหวนดาวเสาร์ควรจะมีสัดส่วนของน้ำแข็งน้อยกว่านี้ และมีสัดส่วนของหินมากกว่านี้ ทำไมดวงจันทร์ชั้นในของดาวเสาร์ส่วนใหญ่จึงมีน้ำแข็งมากกว่าดวงจันทร์อื่นๆ? อันนี้ก็อธิบายได้ว่า เพราะน้ำแข็งของดวงจันทร์เหยื่อนิรนามที่ถูกลอกกระชากออกไปนั้นกระจายไปทั่วและถูกดวงจันทร์ชั้นในดูดเก็บไว้ อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์หลายคนก็ยังไม่เชื่อทฤษฎีการปล้นวงแหวนนี้มากนัก ข้อข้ดแย้งๆ หลักมีอยู่สองประการ นั่นคือ น้ำแข็งที่ได้จากการปล้นดวงจันทร์น่าจะทำให้วงแหวนมีมวลมากกว่านี้ ถ้าทฤษฎีนี้ถูกต้อง มวลของวงแหวนในตอนแรกน่าจะมากกว่ามวลในปัจจุบันถึง 1,000 เท่า นักวิทยาศาสตร์บางคนไม่เชื่อว่าอยู่ดีๆ มวลวงแหวนจะลดหายลงไปเองได้มากขนาดนั้น ทำไมดวงจันทร์ชั้นในของดาวเสาร์จึงมีน้ำแข็งหนาไม่เท่ากัน หากเศษน้ำแข็งกระจายออกไปกว้างแบบนั้น ดวงจันทร์ชั้นในทุกดวงก็ควรจะมีโอกาสดูดเก็บน้ำแข็งได้เท่าๆ กันหมด ตอนนี้การโต้เถียงก็ยังคงดำเนินต่อไป แต่ที่แน่ๆ ภายในปี 2017 ยาน Cassini ของ NASA จะเสร็จสิ้นภารกิจการสำรวจดาวเสาร์ ข้อมูลใหม่ที่ได้จะเป็นกุญแจสำคัญในการพิสูจน์ชี้ว่าทฤษฎีนี้ถูกหรือผิด, หรือไม่แน่เมื่อถึงเวลานั้นอาจจะมีทฤษฎีใหม่ขึ้นมาแทนก็ได้ ใครจะไปรู้ ที่มา - Science News, Discovery News
https://jusci.net/node/1427
ดาวเสาร์อาจได้วงแหวนมาจากการปล้นดวงจันทร์ของตัวเอง
กระแสรถไฮบริดเริ่มได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ในบ้านเราเอง แต่ด้วยราคาที่ยังสูงกว่าหนึ่งล้านบาททำให้ผมสงสัยอยู่บ้างว่าซื้อรถราคา 6-700,000 บาทแล้วเอาเงินที่เหลือไปซื้อน้ำมันทั้งหมดก็น่าจะขับได้หลายปี บริษัทรถชื่อสั้นๆ ว่า Yo จากรัสเซียก็เสนอทางเลือกใหม่ด้วยรถไฮบริดราคาถูกเพียง 14,500 ดอลลาร์ หรือประมาณ 450,000 บาทเท่านั้น ข้อดีรถ Yo คือมันน้ำหนักเบามาก ทำให้ในแง่ของประสิทธิภาพแล้วสูงกว่ารถใหญ่อย่าง Toyota Prius อย่างเห็นได้ชัด (Prius วิ่งได้ประมาณ 22 กิโลเมตรต่อลิตร) และระยะเดินทางทำได้กว่าพันกิโลเมตร ส่วนความเร็วสูงสุดประมาณ 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่มา - New York Times
https://jusci.net/node/1428
บริษัทรัสเซียเปิดตัวรถไฮบริด ราคาถูกกว่า 450,000 บาท, วิ่งได้ 28 กิโลเมตรต่อลิตร
ยาน Voyager 1 ที่ถูกปล่อยออกไปเมื่อปี 1977 (ผ่านมา 33 ปีแล้ว) ในขณะนี้ใกล้จะออกจากระบบสุริยะของเราแล้ว และจะเข้าสู่ห้วงอวกาศสากล (interstellar -- ช่องว่างระหว่างระบบสุริยะของเรา กับระบบของดาวดวงอื่น) อีกประมาณ 4 ปีข้างหน้า ตอนนี้ยาน Voyager 1 อยู่ห่างจากดาวอาทิตย์ 17.4 พันล้านกิโลเมตร (116 AU) ซึ่งเป็นจุดที่ความเร็วของสสารต่าง ๆ จากดวงอาทิตย์อย่าง แก๊สอิออนร้อน หรือพลาสม่า มีความเร็วเหลือศูนย์ จุดนี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ลมสุริยะจะเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่ด้วยแรงดันจากลมในห้วงอวกาศสากล ทางนาซ่าบอกว่า ลมสุริยะมีความเร็วเหลือศูนย์เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาแล้ว แต่เพื่อความแน่ใจทางนาซ่าจึงรอดูผลในอีก 4 เดือนถัดมาเสียก่อน มันจะลอยไปได้ถึงไหนกันนะ? ที่มา: Yahoo! News, Space.com
https://jusci.net/node/1429
Voyager 1 ใกล้จะออกจากระบบสุริยะแล้ว
แม้ว่าดาวเสาร์จะถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตรกรโหด แต่ไททันซึ่งเป็นบริวารนั้นยังปลอดภัยดีอยู่ และมีเรื่องราวน่าสนใจคือ ดวงจันทร์ดวงนี้เอื้อต่อการกำเนิดของสิ่งมีชีวิต นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า บนดวงจันทร์น้ำแข็งในระบบสุริยะชั้นนอกนั้น จะพบภูเขาไฟน้ำแข็ง (cryovolcano) ได้ทั่วไป และตอนนี้พวกเขาได้พบแล้วว่า ภูเขาไฟน้ำแข็งนั้นมีอยู่จริง และมีอยู่บนดวงจันทร์ไททันบริวารของดาวเสาร์ แทนที่มันจะเป็นภูเขาไฟที่พ่นเอาลาวาร้อน ๆ ออกมาอย่างบนโลก มันกลับพ่นเอาน้ำแข็ง สารไฮโดรคาร์บอน และสสารอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้ผิวดวงจันทร์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศแทน ทำให้ชั้นบรรยากาศของดวงจันทร์ไททันนั้นหนา เต็มไปด้วยไนโตรเจน และมีก๊าชมีเทนปะปนอยู่ ทั้งที่จริงแล้วก๊าซมีเทนนั้นจะสลายตัวเมื่อโดนแสงอาทิตย์ นอกจากนี้แล้ว ในชั้นบรรยากาศยังมีโมเลกุลของสารอินทรีย์ ที่เกิดจากภูเขาไฟน้ำแข็งปะปนอยู่เต็มไปหมด แม้ว่าบรรยากาศจะไม่มีออกซิเจนซึ่งจำเป็นต่อการกำเนิดสิ่งมีชีวิต แต่โมเลกุลเหล่านี้ก็ตกลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์อยู่ตลอดเวลา มันอาจจะผสมกับของเหลวที่อยู่บนพื้นดิน อย่างไฮโดรคาร์บอนเหลวที่อยู่ในทะเลสาบ หรือน้ำที่กลายเป็นน้ำแข็งที่มาจากอุกกาบาตหรือดาวหาง แล้วก่อให้เกิดโมเลกุลชีวภาพขึ้นบ้างก็ได้ จากการทดลอง ในการผสมสารอินทรีย์ที่มีลักษณะคล้ายกับบนดวงจันทร์ไทตัน กับน้ำบริสุทธิ์ที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส และน้ำแอมโมเนียในอุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส ของ Catherine Neish ทั้ง 2 เคส ได้เกิดโมเลกุลที่มีส่วนประกอบของออกซิเจนอย่างรวดเร็ว และหลายวันต่อมีก็พบสิ่งที่ยืนยันการเกิดกรดอะมิโน (asparagine, aspartic acid, glutamine และ glutamic acid) ดังนั้น น้ำที่กลายเป็นน้ำแข็งไม่ใช่ปัญหาในการกำเนิดสิ่งมีชีวิต และอาจจะมีสิ่งมีชีวิตอาจจะฝังตัวอยู่ใต้พื้นน้ำแข็ง เพื่อปกป้องตัวเองจากแสงอุลตร้าไวโอเลต แต่ปัญหาจริง ๆ อยู่ที่แหล่งพลังงาน ดวงจันทร์ไทตันนั้นไม่มีแหล่งพลังงาน ที่มีพลังงานมากพอเลย การศึกษาเรื่องนี้ จะช่วยให้เราเข้าใจเกี่ยวกับการกำเนิดสิ่งมีชีวิตบนโลกได้ และมันอาจจะเกิดขึ้นบนดวงจันทร์ไทตันในอนาคตอันไกลพ้นก็ได้ ปิดท้ายด้วยคำพูดของ Catherine Neish ดาร์วินเคยกล่าวไว้ว่า ชีวิตเกิดขึ้นในสระน้ำอุ่น ๆ บางทีสระน้ำแข็งก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของสิ่งมีชีวิต ที่มา: SPACE.com, Yahoo! News
https://jusci.net/node/1430
พบภูเขาไฟน้ำแข็ง และส่วนผสมของสิ่งที่ก่อให้เกิดชีวิตบนดวงจันทร์ไททัน
ถึงจะฟังดูแปลก ๆ ที่มันก็เกิดขึ้นจริงกับชายอเมริกันที่อาศัยอยู่ในกรุงเบอร์ลิน เขาติดเชื้อ HIV และเป็นโรคลูคีเมีย (มะเร็งเม็ดเลือดขาว) เขาได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกในปีพ.ศ. 2550 เพื่อรักษาโรคลูคีเมีย โชคดีที่เลือดของผู้บริจาคนั้นเข้ากันได้อย่างดี และเกิดยีนส์กลายพันธุ์ทำให้มีการต้านเชื้อ HIV โดยธรรมชาติ และในตอนนี้ก็ไม่มีสิ่งที่บ่งบอกว่าเขาเป็นโรคลูคีเมีย หรือโรคเอดส์อีกต่อไป แม้ว่าหนทางนี้จะเป็นไปได้ แต่มันเสี่ยงเกินไปที่จะใช้รักษาโรคเอดส์ มันยากที่จะหาผู้บริจาคที่เลือดเข้ากันได้กับผู้ป่วยเป็นอย่างดี และการปลูกถ่ายไขกระดูก (หรือการทำสเต็มเซลล์เม็ดเลือด) นั้นสามารถใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง แต่ความเสี่ยงนั้นหลายคนอาจจะไม่รู้ มันเกี่ยวพันกับการทำลายระบบภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติโดยการใช้ยา และการฉายรังสี แล้วแทนที่ด้วยไขกระดูกของผู้บริจาค เพื่อสร้างระบบภูมิคุ้มกันขึ้นมาใหม่ โอกาสเสียชีวิตจากในระหว่างการปลูกถ่ายไขกระดูกนั้นมีมากกว่า 5 % ซึ่งเสี่ยงเกินไปสำหรับการรักษาโรคเอดส์ การรับยาต้านสามารถควบคุมเชื้อ HIV ให้อยู่ในระดับ และปลอดภัยกว่า ยกเว้นว่าคุณจะมีเชื้อ HIV และเป็นมะเร็งเม็ดเลือด การปลูกถ่ายไขกระดูกจึงจะเป็นทางเลือกที่ควรจะพิจารณา นอกจากเสี่ยงต่อการเสียชีวิตแล้ว การปลูกถ่ายไขกระดูกยังแพงมากอีกด้วย แต่การบำบัดทางยีนส์ หรือหนทางอื่นที่ให้ผลเหมือนกันก็น่าจะเป็นไปได้อยู่ ที่มา: Yahoo! News
https://jusci.net/node/1431
การปลูกถ่ายไขกระดูกอาจช่วยรักษาโรคเอดส์ได้
เรื่องจับจุลินทรีย์มาผลิตก๊าซไฮโดรเจนเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทำกันมาได้เป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่การจะทำเช่นนั้นได้ จุลินทรีย์จะต้องอยู่ในภาวะพิเศษที่ไม่มีก๊าซออกซิเจนเลยและบางทีก็ต้องตัดต่อลักษณะทางพันธุกรรมอะไรบางอย่างเข้าไปด้วย ฉะนั้นมันคงจะดีกว่าถ้าเราหาตัวอะไรสักอย่างที่สร้างก๊าซไฮโดรเจนได้ตามธรรมชาติของมันอยู่แล้วในบรรยากาศธรรมดาๆ ข่าวดีก็คือนักวิทยาศาสตร์เจอตัวที่ว่านั้นแล้ว สิ่งมีชีวิตนั้นไม่ได้มาจากนอกโลก ไม่ได้กินสารหนูเป็นอาหาร แต่มันถูกค้นพบในท้องทะเลของอ่าวเม็กซิโกโดย Louis A. Sherman แห่ง Purdue University มันคือ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน * หรือ cyanobacteria ที่มีชื่อว่า Cyanothece 51142 และจากการทดลองโดยทีมของ ศ. ดร. Himadri Pakrasi แห่ง Washington University (ผู้ค้นพบ Louis A. Sherman ก็ร่วมทีมนี้ด้วย) พบว่า Cyanothece 51142 มีความสามารถพิเศษ "ผลิตก๊าซไฮโดรเจนได้ในสภาวะที่มีอ๊อกซิเจน" และทำได้ดีด้วย ในบรรดาจุลินทรีย์ผลิตไฮโดรเจนที่เราเคยรู้จัก เอนไซม์ Hydrogenase ที่ใช้ผลิตก๊าซไฮโดรเจนนั้นจะทำงานไม่ได้ถ้าเลี้ยงจุลินทรีย์ในที่ที่มีออกซิเจน แม้ว่าจะเป็นเพียงเล็กน้อยก็ตาม ปัญหานี้เป็นข้อจำกัดที่นักวิทยาศาสตร์พยายามหาทางออกกันมานาน ไม่น่าเชื่อว่าธรรมชาติจะซ่อนคำตอบมหัศจรรย์ไว้ในที่ที่ไม่มีใครคาดคิด แถม Cyanothece 51142 ปล่อยก๊าซไฮโดรเจนออกมาในฐานะเพียง "ผลพลอยได้" หรือ by-product ของปฏิกิริยาชีวเคมีเท่านั้น ไม่ได้สลักสำคัญอะไรกับชีวิตมันเลย (คิดดู! มนุษย์ปวดหัวแทบตายในการควานหาแหล่งผลิตไฮโดรเจน แต่มันกลับปล่อยทิ้งเหมือนของไร้ค่า) นอกจากจะผลิตไฮโดรเจนได้แล้ว Cyanothece 51142 ยังสังเคราะห์ด้วยแสงได้อีกต่างหาก โดยที่ออกซิเจนที่ได้จากการสังเคราะห์ด้วยแสงไม่ได้รบกวนการผลิตไฮโดรเจนของมันเลย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า Cyanothece 51142 มีเทคนิคเล่นกลดังนี้ ในตอนกลางวันที่มีแสง Cyanothece 51142 จะสังเคราะห์ด้วยแสงเหมือนสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินทั่วไป ผลผลิตที่ได้จะถูกเก็บสะสมไว้ในรูปของไกลโคเจน (glycogen - พอลีเมอร์ชนิดหนึ่งของน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว) ออกซิเจนซึ่งเป็นผลพลอยได้ก็จะถูกกักไว้ใช้ในการหายใจส่วนหนึ่งด้วย จากนั้นในตอนกลางคืนที่ไม่มีแสง Cyanothece 51142 จะจัดการงัดอ๊อกซิเจนที่เหลืออยู่ในเซลล์ไปใช้เผาผลาญไกลโคเจนจนเกลี้ยง เมื่อไม่มีออกซิเจนเหลือแล้ว เอนไซม์ nitrogenase ก็จะเริ่มทำงานได้ เอนไซม์นี้แหละคือตัวสำคัญในการสร้างไฮโดรเจน หน้าที่หลักของมันคือการตรึงไนโตรเจนในอากาศให้เป็นแอมโมเนีย (สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินต้องการใช้ไนโตรเจนไปสร้างกรดอะมิโนและโปรตีน) ซึ่งในกระบวนการตรึงไนโตรเจนนี้เองที่ Cyanothece 51142 จะปล่อยก๊าซไฮโดรเจนออกมาเป็นผลพลอยได้ (มีไฮโดรเจนบางส่วนได้จากการทำงานของ hydrogenase เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการตรึงไนโตรเจน) Cyanothece 51142 เต็มขวดเลี้ยงเชื้อขนาด 25 ml สามารถสร้างก๊าซไฮโดรเจนได้ประมาณ 900 ml ในเวลา 48 ชั่วโมง คิดได้เป็นอัตราส่วนการผลิตก๊าซไฮโดรเจนที่ 150 ไมโครโมลต่อมิลลิกรัมของคลอโรฟิลล์ต่อชั่วโมง แม้ตัวเลขนี้จะเทียบไม่ได้กับการสร้างไฮโดรเจนด้วยเทคนิคการตัดต่อเอนไซม์ hydrogenase เข้าไปใน Photosystem I โดยตรง ซึ่งอยู่ที่ 3,000 ไมโครโมลต่อมิลลิกรัมของคลอโรฟิลล์ต่อชั่วโมง แต่มันก็คือสถิติสูงสุดที่สิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติทำได้ในบรรยากาศปกติ อีกอย่างสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินพวกนี้อยู่ได้นานหลายๆ วัน ส่วน Photosystem I ในหลอดทดลองอยู่ได้ไม่กี่ชั่วโมงเป็นอย่างมาก ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ Cyanothece 51142 ยังรู้จักแบ่งเวลาทำงานเป็นกะได้ด้วย แม้ว่าจะเปิดฉายแสงไว้ตลอด 24 ชั่วโมง มันก็ยังสามารถสร้างไฮโดรเจนได้ (พูดให้ตรง คือ มันสามารถตรึงไนโตรเจนได้ แล้วปล่อยไฮโดรเจนออกมา) แถมยังทำได้ดีกว่าเดิมด้วย นักวิทยาศาสตร์คาดว่าแสงน่าจะไปเพิ่มประสิทธิภาพของ nitrogenase ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เปิดแสงตลอดวันก็ทำงานได้ยังเท่ไม่พอ แม้จะปิดแสงตลอดวัน ถ้าให้แหล่งพลังงานคาร์บอน Cyanothece 51142 ก็ยังทำงานสร้างไฮโดรเจนให้เราได้อีก (ในการทดลอง นักวิจัยให้กลีเซอรอลเป็นแหล่งพลังงานคาร์บอน) อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งฝันไปไกลว่าสักวันเราจะมีแบตเตอรี่พลังสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินไว้พ่วงต่อรถยนต์ไฟฟ้าเพียวๆ หรือคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค เพราะไฮโดรเจนที่ได้นี้ยังมีความเข้มข้นต่ำเกินไป สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เห็นว่าน่าจะเอา "Cyanothece และผองเพื่อนสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน" ไปใช้ประโยชน์ได้ในอนาคตอันใกล้ คือ เอามันไปใส่ใน bioreactor ตามโรงงานที่ปล่อย CO2 หรือโรงงานกลั่นไบโอดีเซลที่มีกลีเซอรอลเป็นผลพลอยได้ออกมาเยอะๆ วิธีนี้จะช่วยให้เราดึงพลังงานออกมาใช้ได้อย่างคุ้มค่าจนหยดสุดท้าย แถมยังช่วยลดมลพิษไปได้อีกทาง ที่มา - PhysOrg, Nature News *หมายเหตุ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ไม่ใช่ สาหร่าย แต่เป็นสิ่งมีชีวิตพวก Prokaryotes ซึ่งมีความใกล้เคียงกับแบคทีเรียมากกว่า เพราะไม่มีนิวเคลียสเหมือนกัน
https://jusci.net/node/1432
อนาคตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนราคาถูก คือ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน!
นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองผลของอุณหภูมิต่อปฏิกิริยาชีวเคมีพบว่า "ยิ่งอุณหภูมิสูงเท่าไร ปฏิกิริยาก็เกิดได้เร็วมากขึ้น" งานนี้ค่อนข้างจะแปลกอยู่สักหน่อยเพราะตอนแรกทีมที่นำโดย ศ. ดร. Richard Wolfenden แห่ง University of North Carolina ตั้งจุดประสงค์การทดลองเพื่อจะดูว่าเอนไซม์ช่วยเร่งปฏิกิริยาได้มากขนาดไหน เมื่อเทียบกับความเร็วของปฏิกิริยาเมื่อไม่มีเอนไซม์ คนละเรื่องกับประเด็นที่เป็นข่าวเลย จากการทดลอง นักวิจัยพบว่าปฏิกิริยาบางอันอาจจะต้องใช้เวลามากถึง 2 พันล้านปีหากไม่มีเอนไซม์เข้ามาช่วยเร่ง ตัวเลขอันนี้ก็น่าตกใจ แต่ยังไม่ใช่ประเด็น สิ่งที่สะกิดใจเกิดขึ้นเมื่อนักวิจัยเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้นจาก 25 oC เป็น 100 oC ปฏิกิริยาชีวเคมีที่ตอนแรกเกิดขึ้นช้าๆ กลับมีความเร็วเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด บางปฏิกิริยาเกิดขึ้นเร็วกว่าเดิมเกือบ 10 ล้านเท่า โดยไม่ต้องการเอนไซม์ช่วยเร่งเลย ดร. Richard Wolfenden เลยตั้งสมมติฐานว่า ปฏิกิริยาที่สร้างชีวิตในตอนแรกเริ่มนั้นเกิดในที่ที่มีอุณหภูมิสูงๆ จากนั้นเมื่อโลกเย็นลง สิ่งมีชีวิตเลยต้องปรับตัววิวัฒนาการเอนไซม์ขึ้นมาเพื่อเร่งปฏิกิริยาชีวเคมีในอุณหภูมิต่ำๆ เพื่อทดสอบสมมติฐานข้างต้น นักวิจัยจึงเทียบปฏิกิริยาที่มีและไม่มีตัวเร่ง (catalyst) แต่ตัวเร่งในที่นี้ไม่ใช่เอนไซม์ เป็นสารอย่างอื่น ผลที่ได้พบว่าอุณหภูมิมีผลต่อปฏิกิริยาที่มีตัวเร่งน้อยกว่า ผลนี้สอดคล้องกับสมมติฐานที่บอกว่าตัวเร่งวิวัฒนาการมาเพื่อแก้โจทย์ปัญหาเรื่องอุณหภูมิ นี่เป็นหลักฐานอีกชิ้นที่สนับสนุนว่าชีวิตกำเนิดในที่ร้อนๆ เช่น บ่อน้ำพุร้อน หรือ ภูเขาไฟใต้ทะเล แล้วจากนั้นจึงค่อยปรับตัวให้อยู่ในที่ที่เย็นกว่า อย่างไรก็ดีเรื่องกำเนิดชีวิตก็ยังเป็นกีฬายามว่างให้นักชีววิทยาถกเถียงกันต่อไป ที่มา - PhysOrg ผมว่าฟังดูแล้วเป็นข่าวที่ค่อนข้างดีต่อมนุษยชาติ เพราะต่อให้ดวงจันทร์ไททันมีสิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการขึ้นมาในน้ำแข็งได้จริง วิวัฒนาการของมันก็คงจะช้าต้วมเตี้ยม ไม่ทันจะมายึดครองโลกของเราได้หรอก ;P
https://jusci.net/node/1433
ชีวิตอาจเกิดแบบร้อนๆ ได้ดีกว่า
ดาวเสาร์มีดวงจันทร์อยู่มากมาย ดวงใหญ่ที่สุดคือ ไททัน ที่มีชั้นบรรยากาศหนาแน่น รองลงมาคือ เรีย ที่มีออกซิเจน และอันดับสามคือ ไอแอพิตัส (Iapetus) ไอแอพิตัส ไม่มีชั้นบรรยากาศ ยังไม่พบออกซิเจน แต่มันมีรูปร่างคล้ายผลวอลนัท คือ มีเทือกเขาสูงเป็นแนวยาวต่อเนื่องกันอยู่บนพื้นผิว เทือกเขาที่ว่านี้ยาว 1300 ก.ม. กว้าง 20 ก.ม. และสูง 13 ก.ม. สูงกว่า 2 เท่าของยอดเขาเอเวอร์เรส มันกินพื้นที่เกือบ 75 % ของพื้นผิวดวงจันทร์ไอแอพิตัส ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามันอาจจะเกิดจาก ในอดีตไอแอพิตัสหมุนเร็วมากทำให้พื้นผิวยื่นออกมา ก่อนที่จะหมุนช้าลง เย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว หรือไม่ก็เกิดจากแรงดันของวัตถุที่อยู่ภายใต้พื้นผิว แต่จากการศึกษาของ คุณวิลเลี่ยม แม็คคินนอน แห่งมหาวิทยาลัยวอร์ชินตันในเมืองเซนส์ลุยส์ และคุณแอนดริว ดอมบาร์ด แห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เมืองชิคาโก้ พบว่า เทือกเขานี้เกิดจากดวงจันทร์บริวารของมันต่างหาก ในอดีตไอแอพิตัสเคยมีดวงจันทร์เป็นบริวาร แต่โชคร้ายที่มันโคจรใกล้ไอแอพิตัสมากไป แรงโน้มถ่วงของไอแอพิตัสเลยฉีกมันออกทีละเล็กทีละน้อยอย่างเลือดเย็น จนมันกลายเป็นวงแหวนรอบ ๆ ไอแอพิตัสแทน แต่ไอแอพิตัสยังไม่พอใจ มันจึงดึงดูดเอาชิ้นส่วนเหล่านี้ให้ตกลงมาบนพื้นผิวด้วย จนสุดท้ายเกิดเป็นเทือกเขาขนาดใหญ่บนดวงจันทร์ไอแอพิตัส ทฤษฎีนี้อธิบายถึงสาเหตุว่า ทำไมถึงมีเทือกเขาเกิดขึ้นบริเวณเส้นศูนย์สูตร (equator) เท่านั้น ไอแอพิตัสมีขนาดของ Hill sphere (พื้นที่ที่แรงโน้มถ่วงของเทหวัตถุสามารถทำให้เทหวัตถุรอบ ๆ อยู่ในการควบคุม) ใหญ่ที่สุดในบรรดาดวงจันทร์ในระบบสุริยะชั้นนอก มันจึงปกป้องดวงจันทร์บริวารของมันให้รอดพ้นจากการยึดครองจากดาวเสาร์เอาไว้ได้ ส่วนแบบจำลองนักวิทยาศาสตร์เขายังไม่ได้สร้างครับ อันนี้รอไปก่อน ดูเหมือนดาวเสาร์จะไม่ใช่ผู้ร้ายเพียงดวงเดียวเสียแล้ว ที่มา: Yahoo! News, SPACE.com เพิ่มเติม: ไอแอพิตัสมีขนาด 747.1 × 749 × 712.6 ก.ม. มีรัศมี 736 ±2 ก.ม. (มีขนาด 42% ของดวงจันทร์ของเราครับ) นอกจากไอแอพิตัสแล้วยังมี แพน และแอตลัส อีกสองดวงที่มีรูปร่างคล้ายผลวอลนัท
https://jusci.net/node/1434
เทือกเขาบนไอแอพิตัสเกิดจากดวงจันทร์
ข้อมูลงานวิจัย 6 ปีของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดชี้ให้เห็นว่ายิ่งผู้ร่วมวิจัยที่มีชื่อในผลงานมีห้องทำงานอยู่ใกล้กันมากเท่าไร คุณภาพงานวิจัยก็จะยิ่งดีมากขึ้นเท่านั้น ถ้าอยู่ตึกเดียวกันจะดีมากๆ ผลนี้เป็นส่วนหนึ่งจากโครงการ Collocation-Collaboration (CoCo) project ที่นำโดย Isaac Kohane ข้อมูลที่เอามาวิเคราะห์เป็นบทความตีพิมพ์ผลงานการวิจัยจากสถาบันวิจัยหลัก 4 สถาบันของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตลอดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998-2003 รวมทั้งสิ้นนับเป็น 35,000 บทความ ตีพิมพ์ในกว่า 2,000 วารสาร โดยผู้วิจัยกว่า 200,000 ชื่อ วิธีการหาที่อยู่ของผู้ร่วมวิจัยที่มีชื่อในงานวิจัยแต่ละชิ้นนั้นง่ายมาก นั่นคือให้นักศึกษา ป. ตรี เอาข้อมูลที่อยู่ของรายชื่อแต่ละคนไปเทียบหาเอาในแผนผังตึกของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อได้ข้อมูลที่อยู่มาแล้ว Isaac Kohane และ Kyungjoon Lee ก็เอาข้อมูลที่ทำงานของผู้วิจัยที่มีชื่อเป็นคนแรก-ชื่ออยู่ตรงกลาง-ชื่อเป็นคนสุดท้ายในแต่ละบทความ มาหาความสัมพันธ์กับจำนวนครั้งที่บทความงานวิจัยนั้นถูกอ้างอิง (citations) ที่ทำเช่นนี้ก็เพราะจำนวนครั้งที่ถูกอ้างอิงเป็นตัวชี้วัดถึง "ผลกระทบ" (impact) ของงานนั้นได้ง่ายที่สุด (ยิ่งถูกอ้างอิงมาก ก็ยิ่งดังมากประมาณนั้น คนทำเว็บคงคุ้นๆ เพราะแนวคิด PageRank ของ Google ในช่วงเริ่มต้นก็มีพื้นฐานมาจากตรงนี้) ปรากฏว่า งานวิจัยที่ผู้ทำอยู่ตึกเดียวกันถูกอ้างอิงมากกว่างานที่ทำโดยนักวิจัยคนละตึกถึง 45% และจำนวนครั้งที่ถูกอ้างอิงของแต่ละบทความยังมีสัดส่วนผกผันกับระยะทางระหว่างห้องทำงานของผู้วิจัยที่มีชื่อเป็นคนแรกและห้องของผู้วิจัยที่ชื่อเป็นคนสุดท้ายอีกด้วย (โดยทั่วไป ชื่อแรกและชื่อสุดท้ายมักจะหมายถึงคนที่มีส่วน/รับผิดชอบในบทความที่ตีพิมพ์มากที่สุด) รู้แบบนี้แล้ว ใครอยากให้งานออกมาดีๆ ก็ย้ายห้องไปอยู่ใกล้ๆ อาจารย์ที่ปรึกษาซะ ^.^ ที่มา - Science Dailay ป.ล. นึกถึงคณะวิทยาศาสตร์ของ ม. ชื่อดังแห่งหนึ่งของบ้านเราเลย ที่ชอบทำทางเดินเชื่อมตึกไปหมด สงสัยอยากให้นักวิจัยใกล้ชิดกัน (แต่ทำไมเปิดประตูเชื่อมแค่บางชั้นก็ไม่รู้) -_-!
https://jusci.net/node/1436
นักวิจัยยิ่งอยู่ใกล้กัน งานยิ่งดี
เคยได้ยินโฆษณาเครื่องดื่มบำรุงยี่ห้อหนึ่งที่บอกว่า "อยากดูดีก็ดื่ม... แล้วไปนอนซะ" หรือเปล่า (อันนี้ไม่เกี่ยวกับข่าว แต่ผมอยากบอกว่านางเอกโฆษณาคนขวามือน่ารัก ^.^) ข้อแรกที่บอกให้ไปดื่ม... นี่ผมไม่แน่ใจว่าจะช่วยได้ไหม แต่เรื่องให้ไปนอนนี่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยให้คุณดูดีได้จริง ทีมวิจัยที่นำโดย John Axelsson จาก Karolinska Institutet ในประเทศสวีเดน ได้ทำการวิจัยโดยจับอาสาสมัครจำนวน 23 คนมาถ่ายรูปคนละสองรูป รูปแรกอาสาสมัครจะได้นอนเต็มอิ่ม (ได้นอน 8 ชั่วโมง) อีกรูปอาสาสมัครจะต้องอดนอนมาก่อนหน้านั้นหนึ่งคืน (ได้นอน 5 ชั่วโมง) นอกนั้นทุกอย่างถูกจัดให้เหมือนกันหมด ทั้งเวลา สถานที่ กล้อง ทรงผม (ถ้าผมสั้นปล่อยตามสบาย ถ้าผมยาวก็รวบไปด้านหลัง) ไม่มีอนุญาตให้ใส่เครื่องประดับหรือเก๊กหน้าสวย/หล่อแต่อย่างใด กินเหล้า-สูบบุหรี่ก็ห้าม จากนั้นจะให้ผู้สังเกตการณ์จำนวน 65 คนมาให้ประเมินว่าแต่ละรูปน่า "ดึงดูดใจ" และ "ดูสุขภาพดี" แค่ไหน ผู้สังเกตการณ์เหล่านี้ไม่มีใครรู้มาก่อนมารูปไหนถ่ายจากคนอดนอนหรือนอนเต็มอิ่ม ผลปรากฏออกมาตามคาด นั่นคือ รูปที่ถ่ายหลังจากคืนที่ได้นอนเต็มที่ได้คะแนนความดูดีสูงกว่า (น่าดึงดูดใจและดูมีสุขภาพแข็งแรงมากกว่า) รูปที่ถ่ายหลังจากการอดนอน โดยเฉลี่ยรูปคนที่นอนอิ่มได้คะแนนน่าดึงดูดใจสูงกว่า 4% คะแนนดูมีสุขภาพดีสูงกว่า 6% และดูเหนื่อยโทรมน้อยกว่า 19% เมื่อเทียบกับรูปคนอดนอน เรื่องนี้หลายคนคงเดากันได้อยู่แล้ว แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกที่มีผลการวิจัยยืนยันเป็นหลักฐานว่าการนอนช่วยให้เราดูดี ที่มา - Science Daily, Live Science
https://jusci.net/node/1437
อยากดูดีก็ ... ไปนอนซะ
อุกาบาต น้ำท่วม มนุษย์ต่างดาว สงคราม รังสีจากอวกาศ เชื้อโรคพันธุ์ใหม่
https://jusci.net/node/1438
โลกแตก
มลพิษทางอากาศที่เกิดจากเครื่องยนต์ และโรงงานอุตสาหกรรมนั้นจะลดลงในตอนกลางคืน โดยกระบวนการของ nitrate radical (NO3) ที่เป็นรูปแบบพิเศษของไนโตรเจนออกไซด์ และมันจะสลายตัวไปเมื่อโดนแสงแดด กระบวนการนี้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์จาก NOAA และ CIRES ที่นำโดยคุณฮาราล์ด สตาร์ค ได้พบว่าแสงไฟในเมืองลอสแอนเจลิส และเมืองที่มีแสงไฟเยอะ ๆ นั้นไปขัดขวางการเกิด nitrate radical แม้ว่าแสงพวกนี้จะสว่างน้อยกว่าดวงอาทิตย์เป็นหมื่นเท่าก็ตาม จากรายงานขั้นต้นพบว่า แสงจากตัวเมืองจะทำให้การทำความสะอาดตัวเองของอากาศช้าลงสูงถึง 7 % มิหนำซ้ำมันจะเพิ่มกระบวนการในการสร้างโอโซนในวันรุ่งขึ้นอีก 5 % แม้เรื่องโอโซนนี้จะต้องศึกษาเพิ่มเติมอีก แต่ตอนนี้ระดับมลพิษในเมืองต่าง ๆ ก็สูงเกือบถึงอันตรายแล้วทั้งนั้น ปรากฏการณ์นี้สามารถลดระดับความรุนแรงลง หากเราใช้ไฟสีแดงแทน แต่นั่นไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดีสักเท่าไหร่ การลดการใช้ไฟในยามค่ำคืนน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า ก่อนนอนเพื่อให้ดูดี ก็อย่าลืมปิดไฟด้วยนะครับ ที่มา: PhysOrg ป.ล. ถึงโอโซน (ในชั้นบรรยากาศ) จะช่วยป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเลต แต่โอโซนนั้นเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต
https://jusci.net/node/1439
แสงไฟในกลางคืนทำให้มลพิษทางอากาศแย่ลงไปอีก
เขียนบทความแรกต้อนรับเทศกาลปีใหม่และลานเบียร์ :) ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน The Journal of Physiology แนะนำให้ออกกำลังกายก่อนอาหารเช้า กลุ่มทดลองมี 3 กลุ่ม ไ้ด้แก่ ไม่ออกกำลังกาย ออกกำลังกายหลังอาหาร และออกกำลังกายก่อนอาหาร ซึ่งการออกกำลังกายจะมีผู้ดูแลควบคุมให้เหมือนกัน เป็นการวิ่งหรือปั่นจักรยาน 60-90 นาที โดยออกกำลังกายสัปดาห์ละ 4 วัน พร้อมทั้งทานอาหารที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต กลุ่มที่ออกกำลังกายก่อนอาหารจะได้รับคาร์โบไฮเดรตเพิ่มเติมในรูปของเครื่องดื่มพลังงาน ส่วนกลุ่มที่ออกกำลังกายหลังอาหารจะดื่มน้ำระหว่างออกกำลังอย่างเดียว แต่จะทานอาหารเพิ่มขึ้น ผ่านไป 6 สัปดาห์ ผู้ที่ไม่ออกกำลังกายน้ำหนักขึ้นเกือบ 3 กิโล ผู้ออกกำลังกายหลังอาหารอ้วนขึ้นประมาณโลครึ่ง (อันนี้ผิดความคาดหมายผมมาก) ส่วนผู้ที่ออกกำลังกายก่อนอาหารน้ำหนักไม่ขึ้น และสามารถเผาผลาญอาหารได้ดีขึ้นอีกด้วย ปัญหาคือตื่นสาย ไม่ได้กินข้าวเช้านี่สิ ที่มา - NYTimes via Lifehacker
https://jusci.net/node/1440
ออกกำลังกายก่อนอาหารเช้า ช่วยลดน้ำหนัก
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม ปี 2010 ที่ผ่านมานี้ IUPAC (International Union of Pure and Applied Chemistry) เพิ่งได้ประกาศลงใน ราชกิจจานุเบกษา เอ๊ย วารสาร Pure and Applied Chemistry ว่า นับจากนี้ไปตารางธาตุที่ใช้อย่างเป็นทางการในวงการวิทยาศาสตร์จะมีการบอกเลขน้ำหนักอะตอมของบางธาตุเป็นช่วงของตัวเลข แทนที่จะเป็นเลขเดี่ยวอย่างเดิม น้ำหนักอะตอม หรือ Atomic weight คือ เลขที่ได้จากมวล "เฉลี่ย" ของอะตอมของธาตุหนึ่งหารด้วย 1/12 ของมวลของอะตอมคาร์บอน-12 คำถามที่สำคัญและเป็นต้นเหตุของข่าวนี้คือ "ทำไมต้องเป็นมวลเฉลี่ย มวลเฉยๆ ไม่ได้เหรอ?" คำตอบคือ ที่ต้องเป็นมวลเฉลี่ยก็เพราะว่าธาตุบางธาตุมีไอโซโทป (Isotope - อะตอมของธาตุเดียวกัน มีโปรตอนเท่ากัน แต่มีจำนวนนิวตรอนต่างกัน จึงมีมวลต่างกัน) หลายชนิด ดังนั้นเวลาจะเอามวลอะตอมมาหาค่าน้ำหนักอะตอมจึงต้องเอาค่าเฉลี่ยอิงตาม "ปริมาณของแต่ละไอโซโทปที่พบในธรรมชาติ" หากยังนึกหน้าตาน้ำหนักอะตอมไม่ออก ให้ไปเปิดตารางธาตุ (Periodic Table) ดู น้ำหนักอะตอม ก็คือ เลขที่มันมีจุดทศนิยมตามหลังเป็นพรวนๆ นั่นแหละ ปัญหาของตารางธาตุแบบเดิม คือ สัดส่วนของไอโซโทปของธาตุบางธาตุในแต่ละที่ มันไม่เท่ากัน เช่น อยู่บนบกมันก็มีค่าหนึ่ง ในทะเลก็อีกค่าหนึ่ง เป็นต้น ทำให้บางทีเวลาเอาตัวเลขเดี่ยวๆ ที่มีในตารางธาตุมาคิดแล้วมันเกิดคลาดเคลื่อน ส่งผลให้แปลผลผิดพลาดไปจากความเป็นจริง อย่าคิดว่านักวิทยาศาสตร์เรื่องมากกระแดะไปอย่างนั้นเอง เรื่องนี้สำคัญจริงๆ เช่น สัดส่วนของ C-12/C-14 ใช้คำนวณอายุของวัตถุได้, ไอโซโทปของไนโตรเจนและคลอรีนก็ใช้ตรวจสอบมลพิษในสภาวะแวดล้อม เป็นต้น ฉะนั้นเพื่อขจัดปัญหานี้ IUPAC เลยจัดการให้ตารางธาตุแบบใหม่บอกน้ำหนักอะตอมเป็นช่วงแทนซะเลย เช่น ซัลเฟอร์ (S) ที่เคยมีน้ำหนักอะตอมปรากฏเป็น 32.065 ก็จะกลายเป็นช่วง 32.059-32.076 แทน ธาตุที่จะได้รับอานิสงส์ ถูกอัพเดตให้ใช้น้ำหนักอะตอมเป็นช่วงมีด้วยกัน 10 ธาตุ คือ ไฮโดรเจน (H), ลิเธียม (Li), โบรอน (B), คาร์บอน (C), ไนโตรเจน (N), ออกซิเจน (O), ซิลิกอน (Si), คลอรีน (Cl), และธาลเลียม (Tl) ส่วนธาตุอื่นๆ จะใช้เลขเดี่ยวตามเดิม เพราะธาตุอื่นนอกจาก 10 ตัวที่กล่าวมามีไอโซโทป (ที่เสถียรพอจะวัดมวลได้) เพียงอันเดียวและนักวิทยาศาสตร์สามารถคำนวณหาค่าน้ำหนักอะตอมได้ละเอียดจนไม่ต้องประมาณแล้ว เป็นอันว่า IUPAC หนะหมดปัญหาแล้ว ทีนี้ปัญหาก็ตกอยู่กับเราแทน คราวนี้จะเอาเลขอะไรไปคิดตอนสอบ O-Net, A-Net หละเนี่ย? (เอ๊ะ ปีนี้ยังใช้ O-Net, A-Net กันอยู่หรือเปล่า? หรือว่าเปลี่ยนอีกแล้ว) IUPAC เลยหยวนๆ ให้สำหรับคนทั่วไปที่ต้องการค่าที่ไม่ต้องแม่นยำกันมากนัก ก็ให้ใช้เลขเดี่ยวอันเดิมไปก่อนได้ ซึ่ง IUPAC เรียกน้ำหนักอะตอมเดิมของธาตุ 10 ตัวข้างต้นที่เป็นเลขเดี่ยวว่า "conventional atomic weight" ส่วนเลขที่ปรากฏในตารางธาตุ ไม่ว่าจะเป็นช่วงหรือเลขเดี่ยว จะเรียกว่า "Standard atomic weight" (อะไรที่ IUPAC ประกาศใช้ถือว่าเป็น standard หมด ห้ามเถียง ห้ามสงสัย ใช้ตามอย่างเดียว) ส่วนผู้ที่ต้องการความแม่นยำแบบสูงๆ อันนี้ก็ต้องไปดูเอาเองว่างานวิจัยของคุณนั้นศึกษาเกี่ยวกับอะไร มีสภาวะอย่างไร แล้วเอาไปเทียบดูว่าในสภาวะเช่นนั้น ช่วงของน้ำหนักอะตอมที่สนใจมันตกอยู่ในช่วงไหน คำตอบจากการคำนวณก็ให้รายงานไปเป็นช่วง บวกลบไม่เกินเท่าไรก็ว่ากันไป ที่มา - Live Science ป.ล. ใครจะมาเล่นมุข "น้ำหนักอะตอมกลายเป็นหมีแพนด้า (ช่วงช่วง)" ขอบอกว่า ไม่ทันแล้ว ผมดักก่อน 555
https://jusci.net/node/1441
ตารางธาตุแบบใหม่ บอกน้ำหนักอะตอมเป็นช่วงๆ
นี่เป็นครั้งแรก ที่มีคนสามารถหายจากการติดเชื้อ HIV ได้อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ดีการรักษาครั้งนี้ได้เกือบคร่าชีวิตของชายผู้นี้ไปแล้ว แต่ในที่สุดทุกอย่างก็เหมือนปาฏิหารย์ Timothy R. Brown เป็นผู้ป่วยติดเชื้อ HIV อายุ 42 ปี ที่การจะควบคุมอาการของโรคได้นั้นดูริบหรี่ เมื่อมีการค้นพบว่าเขาเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคีเมีย ในปี ค.ศ. 2007 เขาจึงถูกส่งไปรับการรักษามะเร็งที่โรงพยาบาล Charité - Universitätsmedizin Berlin ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน การรักษาที่ Brown ได้รับถือได้ว่าทรหดมาก ตั้งแต่การทำเคมีบำบัดนั้นแถบจะทำลายเซลล์ภูมิคุ้มกันของเขาไปจนหมดสิ้น การฉายรังสีที่แทบเรียกว่าทุกส่วนของร่างกาย และท้ายสุดคือ การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell) ที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ถึง 1 ใน 3 มักจะไม่รอดด้วยวิธีนี้ แต่โชคก็เข้าข้างเขา กลับกลายเป็นว่าเขาหายจากการติดเชื้อ HIV ได้ทั้งหมด เซลล์ต้นกำเนิดที่แพทย์คัดเลือกมาใช้นั้น เป็นเซลล์ที่ได้รับบริจาคมาจากไขกระดูกของชายคนหนึ่งที่มีการกลายพันธุ์ของยีนในทีส่วนของ CCR5 ซึ่งมักจะพบในคนจำนวนน้อยมาก ยีนที่ว่านี้มีความสามารถในการต้านเชื้อ HIV ได้ พูดง่ายๆคือ เขาคนนั้นแทบไม่มีทางสามารถติดเชื้อ HIV ได้เลย และเซลล์ที่ว่านี้เองได้ทำการสร้างระบบภูมิคุ้มกันของ Brown ขึ้นมาใหม่ ทดแทนระบบเดิมที่ถูกทำลายไปจากการรักษาที่ผ่านมา และทำให้ร่างกายของเขาสามารถต้าน HIV ได้เช่นเดียวกัน ในการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นพบว่าเชื้อ HIV ได้มีลดจำนวนลงอย่างเรื่อยๆ และในที่สุด ก็ไม่มีการตรวจพบการติดเชื้อในร่างกายของเขาอีกต่อไป นี่อาจจะเป็นอีกขึ้นของการรักษา HIV ก็เป็นได้ แต่มันก็ไม่ใช่ว่าผู้ป่วย HIV ทุกคนจะสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเรื่องของสุขภาพ การเงิน หรือแม้แต่ยินยอมที่รับการรักษาอันทุกข์ทรมานได้อย่างที่ Brown ผ่านมา แต่อย่างน้อยสุด นี่ก็เป็นครั้งแรกที่ เราสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า HIV นั้นสามารถรักษาได้จริงๆ ไม่ใช่เพียงคุมอาการอีกต่อไป ที่มา : Gizmodo ผ่านทาง aidsmap.com
https://jusci.net/node/1442
มนุษย์คนแรกที่หายจากการติดเชื้อ HIV (อย่างเป็นทางการ)
หัวข่าวนี้หากอ่านเผินๆ อาจจะทำให้ขาแด๊นซ์ท่องราตรีวี้ดว้ายกันได้ (เรื่องอดนอนแล้วดูไม่ดียังเรื่องเล็ก) "การเต้น" ของผึ้งในข่าวนี้ไม่ใช่การเต้นยึกๆ ของน้องผึ้งใน RCA แบบนั้นนะ แต่เป็นวิธีการสื่อสารข้อมูลระหว่างผึ้งในรัง (เน้นว่าผึ้งที่เป็นแมลง ไม่ใช่คน) ท่าเต้นของผึ้งที่ไว้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งอาหารมีสเต็ปเฉพาะที่เรียกว่า "Waggle dance" เรียกกันง่ายๆ ว่า "เต้นส่ายตูด" แล้วกัน (ดูวิดีโอนี้แล้วจะเข้าใจว่าทำไมผมเรียกว่าเต้นส่ายตูด) ในการเต้น Waggle dance ของผึ้ง จะมีข้อมูลสำคัญสองอย่างส่งไปยังผึ้งงานตัวอื่นๆ นั่นคือ ทิศทางของแหล่งอาหารเทียบกับดวงอาทิตย์ (บอกโดยทิศทางการวิ่งขณะส่ายก้น) และ ระยะทางของแหล่งอาหารจากรัง (บอกโดยระยะเวลาที่ส่ายก้น) การเต้นของผึ้งจึงเป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่หมายถึงการอยู่รอดของทั้งรัง นักวิทยาศาสตร์เลยสนใจว่าหากผึ้งถูกรบกวนจนพักผ่อนไม่เต็มที่ อะไรจะเกิดขึ้นกับการเต้นของมันบ้าง ทีมวิจัยที่นำโดย Barrett Klein แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัสที่ออสติน ได้ทำการทดลองกับผึ้งน้ำหวาน (Apis mellifera) โดยเอาแผ่นจานเหล็กเล็กๆ ไปติดไว้บนปล้องอกของผึ้ง 25 ตัว และติดแผ่นทองแดงไว้บนผึ้งอีก 25 ตัว จากนั้นพอตกกลางคืน นักวิจัยจะเปิดเครื่องที่เรียกว่า "insominator" (ผมคิดว่าเขาตั้งมาจากคำว่า "insomnia" ที่แปลว่าอาการนอนไม่หลับ) เครื่องนี้คือแม่เหล็กที่วิ่งไปวิ่งมาบนรางที่ติดตั้งอยู่บนกำแพง พอแม่เหล็กวิ่ง ผึ้งที่อกมีแผ่นเหล็กติดอยู่ก็จะถูกโยกไปซ้ายทีขวาที ส่วนผึ้งตัวอื่นในรังรวมทั้งผึ้งที่มีแผ่นทองแดงติดอยู่จะ "นอนหลับ" สบายไม่ถูกรบกวน วันต่อมานักวิจัยเปิดให้ผึ้งทั้งที่มีแผ่นเหล็กและแผ่นทองแดงติดอยู่ออกไปหาน้ำหวานที่ห่างออกไปจากรัง 1 กิโลเมตร พอผึ้งกลับมาที่รัง นักวิจัยก็สังเกตว่าผึ้งแต่ละตัวเต้นกันอย่างไร รวมเวลาสังเกตทั้งสิ้น 48 ชั่วโมง นับเป็นการเต้น 545 รอบ ผลจากการสังเกตปรากฏว่า ผึ้งที่มีแผ่นเหล็กติดอยู่ (หมายถึงตัวที่อดนอน) จะบอกทิศทางของแหล่งน้ำหวานเพี้ยนๆ แต่ข้อมูลเรื่องระยะทางยังแสดงถูกต้อง ส่วนผึ้งที่มีแผ่นทองแดงติดอยู่ไม่มีปัญหาใดๆ ถูกต้องทั้งเรื่องทิศทางและระยะทาง นี่คือวิดีโอการเต้นแบบผิดๆ ของผึ้งอดนอน ส่วนอันนี้คือสเต็ปแด๊นซ์ที่ถูกต้องของผึ้งที่พักผ่อนเต็มที่ (ทั้งสองอันเป็นไฟล์ .mov จาก Nature ใครสนใจเก็บไว้ซ้อมเต้นก็เชิญไปดาวน์โหลดมาทัศนากันเอง เดี๋ยวฮิตแน่ ประยุกต์ไว้บอกตำแหน่งโต๊ะได้ด้วย ^.^) ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์สนใจต่อไปว่าข้อมูลผิดๆ จากผึ้งง่วงพวกนี้จะส่งผลอะไรกับรังบ้าง และทำไมผึ้งง่วงจึงบอกผิดแค่ทิศทาง แต่ระยะทางยังแม่นอยู่ คำถามพวกนี้คงต้องรองานวิจัยต่อไปมาไขคำตอบให้ เอ่อ หรือใครแถวนี้อยากจะเอาแนวคิดนี้ไปทำวิทยานิพนธ์ก็น่าสนใจนะครับ (ผึ้งน้ำหวานที่เลี้ยงในบ้านเราก็อยู่ในสกุล Apis เหมือนกัน แต่ผมไม่แน่ใจว่าเป็น Apis mellifera เหมือนกันด้วยหรือเปล่า) ที่มา - Nature News
https://jusci.net/node/1443
อดนอน ทำให้ผึ้งเต้นไม่ดี
ธรรมชาติมักจะให้อะไรทดแทนสิ่งที่ขาดหายไปเสมอ ดูอย่างคนหูหนวกก็มองได้ดีกว่าคนปกติ ฉะนั้นหากสมองคนตาบอดจะประมวลผลคำพูดได้เร็วกว่าคนธรรมดาบ้างก็คงไม่น่าแปลก แต่บัดนี้นักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะเริ่มได้เค้าว่าทำไมสมองคนพิการทางตาสามารถพัฒนาความเหนือชั้นทางการได้ยินขึ้นมาได้ ปกติเวลาคนทั่วไปพูดกันรัวๆ จะมีความเร็วในการพูดอยู่ที่ 6 พยางค์ต่อวินาที และสมองส่วนการได้ยินของคนปกติจะประมวลผลคำพูดได้ที่ความเร็วสูงสุด 10 พยางค์ต่อวินาที (ความเร็วที่ทำให้เหนื่อยได้เลยถ้าฟังนานๆ) แต่ทีมนักวิจัยจาก University of Tübingen ในเยอรมนี ได้พบว่าคนตาบอดบางคนสามารถประมวลผลคำพูดได้ที่ความเร็วถึง 25 พยางค์ต่อวินาที ซึ่งเป็นระดับที่มนุษย์ธรรมดาไม่มีทางฟังเข้าใจได้ ขนาดว่าในการทดลองถึงกับต้องใช้คอมพิวเตอร์สังเคราะห์เสียงที่ความเร็วระดับนี้ขึ้นมา เพราะไม่รู้จะหามนุษย์ที่ไหนมาพล่ามได้เร็วขนาดนี้ อยากรู้ว่ามันเร็วขนาดไหนกัน 25 พยางค์ต่อวินาที ลองเอาไฟล์เสียงนี้ไปฟังดู นี่คือเสียงที่ใช้ในนักวิจัยใช้ทดลอง แบบว่าของจริงกันเลยทีเดียว แต่อันนี้แค่ 16 พยางค์ต่อวินาทีนะ ถ้าใครคิดว่าเร็วไม่พอ ไปปรับเพิ่มความเร็วเองก็ได้ ^.^ แต่ก็ไม่ใช่ว่าคนตาบอดจะได้รับพรสวรรค์แบบนี้เท่าเทียมกันทุกคน คนตาบอดที่สูญเสียการมองเห็นตอนเด็กๆ จะมีความสามารถนี้ดีกว่าคนที่สูญเสียการมองเห็นเมื่อโต (กลุ่มตัวอย่างในการทดลองสูญเสียการมองเห็นในช่วงอายุ 2-15 ปี) ส่วนคนตาบอดที่พิการแต่กำเนิดจะไม่มีความสามารถพิเศษนี้ นักวิจัยจึงศึกษาต่อไปโดยจับกลุ่มตัวอย่างมาถ่ายภาพตรวจสอบสมองด้วยเทคนิค fMRI (Functional Magnetic Resonance Imaging) พบว่าในขณะที่ประมวลผลคำพูดแบบอภิมหาเร็วโคตรซุปเปอร์แมนนั้น สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นที่เรียกว่า "V1" ของคนตาบอดถูกกระตุ้นให้ทำงานร่วมกับสมองส่วนการได้ยินด้วย ดังนั้นนักวิจัยจึงสรุปได้ว่า คนตาบอดสามารถที่จะ "เดินสายวงจรสมองใหม่" เพื่อรีดเอาพลังการประมวลผลจากสมองส่วนการมองเห็นที่ไม่ได้ใช้มาเป็นประโยชน์ในการรับรู้และวิเคราะห์เสียงพูด จากสมมติฐานข้อนี้อธิบายถึง "สามมาตรฐาน" ในย่อหน้าข้างบนได้ว่า คนตาบอดที่สูญเสียการมองเห็นตอนเด็กๆ สมองยังปรับตัวได้ง่าย แต่คนที่สูญเสียการมองเห็นเมื่อโต สมองส่วนการมองเห็นเคยชินกับการใช้งานรับข้อมูลภาพไปแล้วบ้างไม่มากก็น้อย ทำให้การเดินสายใหม่ยุ่งยากกว่า ส่วนคนที่ตาบอดแต่กำเนิด สมองส่วนการมองเห็นไม่เคยได้รับการกระตุ้นเลย จึงไม่สามารถเดินสายโยงกับสมองส่วนการได้ยินได้ ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ ในการประมวลผลคำพูด สมองส่วนการมองเห็นที่คนตาบอดใช้มีเพียงส่วนในสมองซีกขวาเท่านั้น (Right visual cortex) อันนี้นักวิจัยสงสัยว่าน่าจะเป็นเพราะสมองซีกขวาใช้ในการประมวลผลข้อมูลที่มีความถี่ต่ำ เช่น คำพูด แต่ว่าสมองส่วนการมองเห็นซีกซ้ายนั้นเก็บไว้ใช้ทำอะไร ตอนนี้ยังไม่มีใครทราบ ที่มา - Scientific American
https://jusci.net/node/1445
คนตาบอดประมวลผลคำพูดเร็วกว่าคนปกติ
Lei Wang, Andre Alcon, และ Jeffrey Ho นักศึกษาในความดูแลของ ศ. Manuela Martins-Green แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้ทำให้พวกเรารู้แล้วว่าสารในน้ำทับทิมที่ออกฤทธิ์ป้องกันการลุกลามของมะเร็งมีอะไรบ้าง ทีมนักวิจัยกลุ่มนี้ได้ทำการทดลองกับเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากในจานเพาะเชื้อ ผลปรากฏออกมาว่าเซลล์มะเร็งที่เหลือรอดอยู่ในจานเกาะกันแน่นมากขึ้น ซึ่งนั่นก็หมายความว่ามันกระจายตัวได้น้อยลง (ความอันตรายของมะเร็งในระยะ metastasis คือมันจะแพร่กระจายตัวเองไปตามอวัยวะอื่นๆ ทั่วร่างกายได้) เมื่อทำการแยกสกัดสารออกมาทดสอบทีละตัว ก็พบว่าสารที่มีผลต่อโครงสร้างที่ยึดเกี่ยวเซลล์ ได้แก่ phenylpropanoids, hydrobenzoic acids, flavones, และ conjugated fatty acids แม้ว่านี่จะยังเป็นแค่ผลในระดับ in vitro (การทดลองที่ทำกับเซลล์ในจานเพาะเชื้อ) ยังต้องรอผล in vivo (การทดลองที่ทำในสิ่งมีชีวิต) มาพิสูจน์อีกรอบ แต่นี่คือสัญญาณอันดีว่าในอนาคตเราอาจจะได้ยายับยั้งมะเร็งตัวใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม และมันก็เป็นข่าวดีของเจ้าของสวนทับทิมด้วย บ้านใครปลูกทับทิม เอามาคั้นน้ำเก็บไว้ขายด่วนเลย ชาเขียวระวังตัวไว้ กระแสน้ำทับทิมกำลังมา :) ที่มา - PhysOrg
https://jusci.net/node/1446
นักวิทยาศาสตร์พบสารป้องกันมะเร็งลุกลามในน้ำทับทิม
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า อารมณ์ที่ดีนั้นช่วยในการแก้ปัญหาได้อย่าง สร้างสรรค์ และรอบคอบ แต่จากการทดลองของ Ruby Nadler, Rahel Rabi และ john Paul Minda นักศึกษาปีสุดท้ายแห่งมหาวิทยาลัย Western Ontario พบว่า มันยังช่วยเพิ่มความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย ก่อนเริ่มการทดลองเพื่อยืนยันสมมุติฐานนี้ พวกเขาต้องหาก่อนว่าเพลง หรือวิดีโออันไหนที่ช่วยให้คนเรามีอารมณ์ดี แล้วก็พบว่า เพลงของโมซาร์ท และคลิปวิดีโอเด็กหัวเราะนั้นช่วยให้เรารู้สึกดีมากที่สุด ส่วนเพลงเศร้า ๆ จากเรื่อง Shindler's List กับข่าวแผ่นดินไหวจะทำให้เรารู้สึกเศร้าได้มากที่สุด การทดลองนี่ทำได้โดยให้อาสาสมัครฟังเพลง และดูวิดีโอเพื่อเปลี่ยนอารมณ์ ก่อนที่จะให้แยกแยะรูปภาพที่มีลวดลายสลับซับซ้อน จาการทดลองพบว่าอาสาสมัครที่มีอารมณ์ดีนั้น จะสามารถแยกแยะรูปภาพตามกฎที่บอกให้ได้ดีกว่าผู้ที่อยู่ในอารมณ์เศร้า หรืออารมณ์ปกติ ดังนั้นถ้าคุณมีงานที่ต้องตัดสินใจอย่างรอบคอบ หรือการคิดเพื่อหานวัตกรรมใหม่ ๆ การที่คุณมีอารมณ์ดีเสียก่อนจะเริ่มทำงานนั้น จะช่วยคุณได้อย่างมาก นอกจากนี้เพลงจะช่วยให้คนเรามีอารมณ์ดีได้ง่ายที่สุด แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมาฟังโมซาร์ทหรอก เพราะต่างคนก็มีเพลงที่ชอบต่างกัน ต่อไปนี้เราจะมีข้ออ้างในการดูคลิปบน Youtube ในเวลาทำงานได้เพิ่มอีกข้อแล้ว ที่มา: APS ผ่าน PhysOrg
https://jusci.net/node/1447
อารมณ์ดีทำให้มีความคิดสร้างสรรค์
ความสำเร็จนั้นหอมหวาน แต่มันก็ทำให้คนที่ริษยาคุณอยากจะโค่นล้มคุณเสียเหลือเกิน และจากการศึกษาพบว่า คนที่กลัวที่จะถูกริษยานั้น จะปฏิบัติตัวดีขึ้นกับคนที่อิจฉาริษยาเขา ความอิจฉาริษยานั้นมีสองแบบ คือ ความอิจฉา ที่เป็นความรู้สึกที่เป็นเชิงบวก อันนี้จะทำให้ผู้ที่มีอารมณ์อิจฉาพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น กับ ความริษยา ที่เป็นความรู้สึกทางลบ คนที่รู้สึกริษยาจะอยากดึงคนที่ประสบความสำเร็จลงมา ในการทดลองเรื่องนี้ พวกเขาจะแบ่งอาสาสมัครออกเป็นสองกลุ่ม โดยที่กลุ่มนึงจะได้รับรางวัล 5 ยูโร โดยไม่ต้องทำอะไรเลย ส่วนอีกกลุ่มจะได้รับรางวัลตามคะแนนที่ได้จากการตอบคำถาม จาการทดลองนี้พบว่า ถ้าการได้รับรางวัลนั้นสมเหตุสมผล (กลุ่มได้รับรางวัลตามคะแนน) พวกเขาจะถูกอิจฉา แต่หากไม่สมเหตุสมผล (กลุ่มที่ได้ 5 ยูโร) พวกเขาจะถูกริษยาแทน หลังจากนั้น อาสาสมัครจะถูกสอบถามถึงระยะเวลาที่ตนจะยินดีรับฟังคำแนะนำ ข้อคิดเห็นต่าง ๆ กลุ่มที่คิดว่าถูกริษยานั้น จะยอมเสียสละเวลามากกว่ากลุ่มที่คิดว่าถูกอิจฉา นอกจากนี้แล้วเมื่อผู้ทดลอง ลองทำยางลบจำนวนหนึ่งหล่นพบว่า กลุ่มที่คิดว่าตัวเองถูกริษยานั้นจะยินดีที่จะช่วยเขามากกว่าด้วย นักจิตวิทยา van de Ven แห่งมหาวิทยาลัย Tilburg ที่ทำการทดลองเรื่องนี้เลยสรุปว่า "เรามักคิดว่าคุณที่ดีกว่าคนอื่นควรจะแบ่งบันให้กับคนอื่นบ้าง แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เรายินดีจะทำเมื่อเราดีขึ้น การกลัวที่จะถูกริษยาต่างหาก ที่ทำให้เราปรับปรุงความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้อื่น" ที่มา: APS
https://jusci.net/node/1448
ความริษยาทำให้เราดีขึ้น?
ข่าวเก่านิดนึง (14 ธ.ค.) พอดีตอนนั้นหารูปประกอบไม่ได้ (ไม่แน่ใจเรื่องรูป) หลังจากนั้นก็ไม่ได้ใส่ใจอีก เรารู้ว่าฟ้าผ่าเกิดจากการที่มีประจุลบเกิดขึ้นในก้อนเมฆ แล้วมันก็ถูกปลดปล่อยลงมาเชื่อมกับประจุบวกที่เกิดจากผิวดิน เมื่อการเชื่อมต่อสำเร็จเราก็จะได้เห็นฟ้าผ่าที่เกิดจากการคายประจุ กระแสไฟฟ้าถูกถ่ายเท เกิดอิออนในอากาศ และนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ตอนที่เกิดฟ้าผ่านั้นจะปล่อยรังสีเอ็กซ์ออกมาด้วย แต่ก็ไม่เคยมีใครหาหลักฐานยืนยันได้ แต่ไม่นานมานี้ มีคนกลุ่มหนึ่งจับภาพรังสีเอ็กซ์ของฟ้าผ่าได้แล้ว กลุ่มที่ว่านี้นำโดยคุณ Joseph Dwyer ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งฟลอริดา คุณ Joseph Dwyer ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งฟลอริดา ถ่ายภาพพวกนี้ในช่วงเดือนมิถุนายน และสิงหาคมร่วมกับทีมของศูนย์วิจัยสายฟ้าและทดสอบนานาชาติ ในช่วงเดือนกรกฏาคม และสิงหาคม โดยยิงจรวดขึ้นไปที่ก้อนเมฆเพื่อเป็นชนวนให้เกิดฟ้าผ่า กับกล้องขนาดเท่าตู้เย็น โดยที่พวกเขาเปลี่ยนภาพถ่าย 25 ภาพเป็นวิดีโอคลิปที่แสดงเวลา 1/2.5 ล้านวินาทีของช่วงที่เกิดฟ้าผ่า ทำให้การจะหาภาพที่ถ่ายติดรังสีเอ็กซ์นั้นต้องใช้ความอุตสาหะอย่างยิ่ง ซึ่งภาพที่ได้นั้นจะเห็นเป็นสีเขียวกับขาวอยู่ไกล ๆ คู่กับสายฟ้า และแสงสว่างจ้าบริเวณปลายสายฟ้า แม้ว่าจุดเริ่มต้นในการเกิดฟ้าผ่านั้นยังไม่ชัดเจน เพราะกระแสไฟฟ้าที่อยู่ในก้อนเมฆนั้นดูน้อยเกินไปที่จะทำให้เกิดฟ้าผ่า และเราก็ไม่รู้ด้วยว่าเสี้ยววินาทีที่สายฟ้าสัมผัสพื้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วทำไมบางครั้งมันถึงรวดเร็วนัก บางครั้งถึงเชื่องช้าอืดอาด แต่เราก็ได้ยืนยันสิ่งที่เราเคยคาดเดาเรื่องฟ้าผ่าสร้างรังสีเอ็กซ์ จากการพิสูจน์ของคุณ Dwyer ซึ่งมันเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้นักวิจัยสามารถยืนยันการมีอยู่ของโฟตอนพลังงานสูง ที่มา: PhysOrg ข่าวนี้จะไม่มีรูปได้อย่างไร จริงไหม?
https://jusci.net/node/1449
รังสีเอ็กซ์ในสายฟ้าถูกถ่ายภาพได้แล้ว!
เป็นที่รู้กันดีในแวดวงวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมว่า สารเคมีที่เป็นมลพิษในสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อชีวิตเพศของสัตว์ต่างๆ เช่น ทำให้ผสมพันธุ์ได้น้อยลง หรือ ร่างกายตัวผู้พัฒนาลักษณะของตัวเมีย แต่ก็ยังไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่แสดงให้เห็นว่าสารเคมีทำให้สัตว์ตัวผู้หันมาชอบพอเพศเดียวกัน ดังนั้นงานวิจัยของ Peter Frederick แห่งมหาวิทยาลัยฟลอริด้า และ Nilmini Jayasena แห่ง University of Peradeniya ในศรีลังกา ที่ค้นพบว่าสารปรอทมีผลให้นกอิบิสขาว (white ibis) ตัวผู้เลิกชอบตัวเมียแล้วหันมาจับคู่กับตัวผู้ด้วยกันเองนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ในการทดลอง นักวิจัยแบ่งนก 160 ตัวออกเป็นสี่กลุ่ม คือ สามกลุ่มแรกได้รับอาหารที่มี methylmercury (รูปของปรอทที่สะสมในสิ่งแวดล้อม) เข้มข้น 0.3, 0.1, และ 0.05 ppm ตามลำดับ ส่วนกลุ่มที่สี่เป็นกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับสารปรอทเลย ผลปรากฏว่านกที่ได้รับสารปรอทเข้าไปมีสัดส่วนนกตัวผู้จับคู่กับนกตัวผู้มากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ และสัดส่วนนี้สูงขึ้นตามความเข้มข้นของปรอทที่ได้รับ ในกลุ่มที่ได้รับ methylmercury 0.3 ppm มีนกตัวผู้มากถึง 55% กลายเป็นนกไม้ป่าเดียวกัน การที่นกตัวผู้หันมาจิ๊จ๊ะกันเองนี้ส่งผลต่อการสืบเผ่าพันธุ์ของนกอิบิสขาวเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ปรอทยังส่งผลให้นกตัวผู้ที่จับคู่กับตัวเมีย (แอ๊บแมน?) ผสมพันธุ์ให้ลูกได้น้อยลงด้วย นักวิทยาศาสตร์ประมาณการว่าหากบวกสองสิ่งนี้เข้าด้วยกันอาจจะทำให้ประชากรทั้งกลุ่มมีปริมาณลูกนกลดลงได้ถึง 50% นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสันนิษฐานว่า นกชนิดอื่นๆ น่าจะได้รับผลกระทบจากปรอทในลักษณะเดียวกัน ส่วนผลกระทบในสัตว์กลุ่มอื่นๆ นั้นยังเป็นเรื่องที่ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมอีก และจากข้อมูลเท่าที่มี ยังไม่พบผลกระทบลักษณะนี้ในมนุษย์ (อ่านประโยคสุดท้ายนี้โล่งอกที่สุด) ที่มา - New Scientist
https://jusci.net/node/1450
พิษปรอททำให้นกชอบไม้ป่าเดียวกัน
ใครๆ ก็บอกอนุมูลอิสระ (free radicals) ไม่ดีทำให้แก่เร็ว อายุสั้น แต่การทดลองของ ดร. Siegfried Hekimi กับ ดร. Wen Yang แห่งมหาวิทยาลัย McGill กลับให้ผลตรงกันข้าม เพราะหนอนที่พวกเขาเลี้ยงมีอายุยืนขึ้นเมื่อมีอนุมูลอิสระในร่างกายเพิ่ม การทดลองส่วนแรก นักวิจัยทำการตัดต่อพันธุกรรมของหนอน Caenorhabditis elegans (ไม่ใช่หนอนชาเขียวนะ แต่เป็นหนอนตัวกลมใน Phylum Nematoda นักชีววิทยาโมเลกุลและพันธุวิศวกรรมชอบใช้ C. elegans เป็นสัตว์กรณีศึกษามาก เห็นได้บ่อยๆ ในงานวิจัย) ให้หนอนสร้างอนุมูลอิสระออกมามากขึ้น ผลปรากฏว่าหนอนที่ถูกตัดต่อพันธุกรรมมีอายุยืนขึ้นกว่าหนอนในกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ถูกตัดต่ออย่างเห็นได้ชัด และเมื่อให้สารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี และ N-acetyl-cysteine ก็พบว่าหนอนที่ถูกตัดต่อพันธุกรรมมีอายุสั้นลง เพื่อยืนยันอีกรอบ การทดลองส่วนที่สองจึงเอา Paraquat (ยาปราบวัชพืชที่ถูกสั่งห้ามขายไปแล้วในหลายประเทศเพราะมีอันตรายรุนแรงต่อคนและสัตว์) มาทดลองกับหนอน ผลได้ออกมาว่า ที่ความเข้มข้นต่ำๆ (1 ไมโครโมลต่อลิตร) Paraquat ทำให้อายุหนอนทดลองเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่มีอนุมูลอิสระออกมามากขึ้น (อย่าไปผสมยาฆ่าหญ้ากินเองเด็ดขาด ตายขึ้นมาผมไม่รับผิดชอบ ไม่ต้องมาชวนไปงานศพด้วย) ผลการวิจัยนี้ทำให้ทฤษฎีเดิมเกี่ยวกับอนุมูลอิสระต้องได้รับการทบทวนใหม่ เดิมเราเชื่อกันว่าอนุมูลอิสระจะเข้าทำลายเซลล์ ซึ่งตรงจุดที่โดนทำลายก็จะผลิตอนุมูลอิสระออกมาเพิ่มอีก ทำให้เซลล์ถูกทำลายต่อไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นอนุมูลอิสระจึงเป็นสิ่งอันตรายที่ต้องจำกัดทิ้งเท่านั้น แต่งานนี้ทำให้เห็นว่าในบางสภาวะหรือบางช่วงของพัฒนาการ อนุมูลอิสระอาจจะทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นให้ระบบปกป้องและกระบวนการซ่อมแซมตัวเองของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นก็ได้ เชื่อผม เจอข่าวแบบนี้บ่อยๆ ชาเขียวหมดอนาคตแน่ รอน้ำทับทิมเหอะ งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร PLoS Biology ปี 2010 เล่มที่ 8 ฉบับที่ 12 Wen Yang, Siegfried Hekimi. A Mitochondrial Superoxide Signal Triggers Increased Longevity in Caenorhabditis elegans. PLoS Biology, 2010; 8 (12): e1000556 DOI: 10.1371/journal.pbio.1000556 ที่มา - Science Daily
https://jusci.net/node/1451
อนุมูลอิสระทำให้หนอนมีชีวิตนานขึ้น
ผลงาน "หนูร้องเพลงได้" นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "Evolved Mouse Project" แห่งมหาวิทยาลัยโอซากา หนูทดลองในโครงการจะถูกตัดต่อพันธุกรรมให้มีโอกาสเกิดความผิดพลาดในการคัดลอก DNA มากกว่าปกติ ทำให้พวกมันมีโอกาสที่จะกลายพันธุ์ (mutation) ได้สูงกว่าเดิม และทีมที่นำโดย Arikuni Uchimura แห่งมหาวิทยาลัยโอซากาก็ได้จับหนูกลายพันธุ์พวกนี้ผสมกันไปเรื่อยๆ จนเกิดมีหนูที่ร้องเพลงได้ออกมา "หนูร้องเพลง" นี่ไม่ใช่หมายถึง เปิดคาราโอเกะแล้วร้องตาม นะครับ แต่เป็นการร้องเพลงเหมือนนก คือ ส่งเสียงร้องที่มีคีย์สูง-ต่ำ และจังหวะเป็นทำนอง ต่างจากหนูทั่วไปที่ส่งแต่เสียงจี๊ดๆ การค้นพบว่าการกลายพันธุ์ทำให้เกิดหนูที่ร้องเพลงได้นี้มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจวิวัฒนาการทางภาษาของมนุษย์มาก มีพฤติกรรมหลายอย่างที่หนูร้องเพลงแสดงออกให้เห็นถึงการใช้เสียงระดับต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการสื่อสาร เช่น เมื่อวางหนูตัวผู้สองตัวไว้ใกล้ตัวเมียหรือเมื่ออยู่ในที่ที่ไม่รู้จัก หนูจะส่งเสียงร้องดังขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้เมื่อเอาหนูร้องเพลงไปปล่อยอยู่กับหนูธรรมดา หนูธรรมดาก็ส่งเสียงอัลตร้าซาวนด์ออกมาน้อยลง นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าพวกหนูร้องเพลงอาจจะไปกระตุ้นให้หนูทั้งกลุ่มพัฒนาภาษากลุ่มแบบใหม่ขึ้นมา ความสามารถในการร้องเพลงนี้เป็นลักษณะที่ถ่ายทอดไปยังหนูรุ่นต่อไปได้ด้วย ตอนนี้โครงการมีหนูร้องเพลงได้มากกว่า 100 ตัวเพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยต่อไป นอกจากหนูที่ร้องเพลงได้เหมือนนกแล้ว โครงการ "Evolved Mouse Project" ยังมีหนูแปลกๆ ออกมาอืก เช่น หนูที่มีขากับหางสั้นๆ เหมือนหมาไส้กรอก (dachshund) เป็นต้น ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำหนูพิลึกกึกกือพวกนี้ไปทำไม คำตอบสำหรับคำถามนี้ Arikuni Uchimura หยอดปิดท้ายว่า "มันเป็นโครงการระยะยาว...สักวันเขาจะสร้างมิกกี้เม้าส์ให้ได้" ^.^ ที่มา - PhysOrg
https://jusci.net/node/1452
นกมีหู หนูร้องเพลง
ครั้งหนึ่งในปี 2009 นักวิทยาศาสตร์เคยพบหลักฐานที่โยงว่า ไวรัส XMRV (Xenotropic murine leukemia virus-related virus) เป็นต้วการที่ทำให้เกิดอาการภาวะเหนื่อยล้าเรื้อรัง (chronic fatigue syndrome) หรือที่เรียกเป็นศัพท์เฉพาะว่า myalgic encephalomyelitis แต่งานวิจัยชิ้นล่าสุดชี้ให้เห็นว่าไวรัสผู้ต้องหาตัวนี้เป็นแพะรับบาป มันไม่ได้มีเอี่ยวอะไรกับโรคนี้เลย ทีมวิจัยซึ่งความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน, มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด, และ Wellcome Trust Sanger Institute ได้ทำการทดสอบความเกี่ยวข้องของไวรัส XMRV กับเซลล์ของผู้ป่วยที่มีอาการภาวะเหนื่อยล้าเรื้อรัง พบว่ามีรหัสพันธุกรรมที่คล้ายกับของไวรัส XMRV อยู่ในเซลล์ที่เพาะเลี้ยงไว้เช่นเดียวกับการทดลองในปี 2009 แต่ว่าทีมวิจัยนี้ได้พิสูจน์ว่ารหัสพันธุกรรมส่วนนั้นเป็นการปนเปื้อนจากห้องปฏิบัติการหรือจากสัตว์ทดลองเท่านั้น ไม่ใช่สาเหตุของโรค หลักฐานสำคัญก็คือรูปแบบของรหัสพันธุกรรม XMRV ที่พบนั้นมีความหลากหลายน้อยเกินกว่าที่จะเป็นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายในประชากรของมนุษย์ได้ เพราะถ้าหากมันแพร่กระจายในประชากรจริง ความหลากหลายของพันธุกรรมจะต้องมีมากกว่าที่เจอในงานวิจัยนี้ด้วยสาเหตุจากการกลายพันธุ์และการคัดเลือกตามธรรมชาติ แต่รูปแบบพันธุกรรมของ XMRV ที่เจอมันเหมือนกับมาจากแหล่งเดียวกันและคล้ายกับรูปแบบของ XMRV ที่เจอในจีโนมของหนูทดลองมากกว่า งานนี้นอกจากโรคอาการภาวะเหนื่อยล้าเรื้อรังแล้ว XMRV อาจจะพ้นข้อกล่าวหาเรื่องการเป็นสาเหตุหนึ่งของมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย เพราะในการทดลองปี 2009 พบ XMRV ในเซลล์ของผู้ป่วยทั้งสองโรคนี้ อย่างไรก็ตามนักวิจัยก็ยังไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่า อาการภาวะเหนื่อยล้าเรื้อรังมีสาเหตุจากอะไรกันแน่ บางทีอาจจะเป็นไวรัสก็ได้ แต่เป็นไวรัสชนิดอื่นที่ไม่ใช่ XMRV เหมือนว่าครั้งนี้จะเป็นบทเรียนของนักชีววิทยาสินะ ที่มา - Science Daily
https://jusci.net/node/1453
อดีตไวรัสผู้ต้องหาพ้นผิด พิสูจน์แล้วแค่ปนเปื้อนไม่มีเอี่ยวกับโรค
หลายคนอาจจะกลัวว่า LHC จะสร้างหลุมดำขึ้นมากลืนกินโลก (ทั้งที่ความจริงแล้วเราไม่มีอะไรต้องกลัว ยืนยันได้จากข่าวเก่า 1, 2) นักฟิสิกส์เองก็วิตกเหมือนกัน แต่วิตกว่ามันจะไม่เกิดขึ้น ต้องอธิบายก่อนว่าทำไมนักฟิสิกส์ถึงได้กระสันอยากให้เกิดหลุมดำที่ LHC นัก อันนี้เนื่องมาจากว่าพวกเขาต้องการพิสูจน์ว่ามิติอื่นๆ ในทฤษฎีสตริง (String theory นะ ไม่ใช่จีสตริง) มีจริงหรือไม่ ทฤษฎีสตริงบอกไว้ว่าเอกภพของเรานี้ประกอบด้วยมิติหลายมิติ อนุภาคมูลฐานที่เราสังเกตได้ก็เป็นเพียงการสั่นเป็นคาบของสตริง (oscillation) ในหนึ่งมิติเท่านั้น การทำนายอย่างหนึ่งของทฤษฎีสตริงที่นักฟิสิกส์คิดว่าพอจะใช้ LHC พิสูจน์ได้คือ เรื่องของกราวิตอน (Graviton) ซึ่งเป็นอนุภาคของแรงโน้มถ่วง เหมือนกับโฟตอนเป็นอนุภาคของแสง เพียงแต่กราวิตอนเป็นอนุภาคที่ตอนนี้มีอยู่แต่ในทฤษฎีเท่านั้น ยังไม่มีใครเห็นหน้าคร่าตาตัวเป็นๆ ของกราวิตอนเลย นักฟิสิกส์ที่เชียร์ทฤษฎีสตริงเชื่อว่ากราวิตอนบางส่วนในมิติของเรา "รั่ว" ไปยังมิติอื่นๆ ทำให้แรงโน้มถ่วงเป็นแรงที่อ่อนกว่าแรงอื่นในเอกภพมิติของเรา ดังนั้นหากเราเร่งอนุภาคให้มาชนกันที่พลังงานสูงกว่าพลังงานของกราวิตอนที่รั่วออกไป แรงโน้มถ่วงที่มากพอจะหลอมรวมอนุภาคนั้นเกิดเป็นหลุมดำขึ้นมาได้ หลุมดำที่นักฟิสิกส์จินตนาการว่าจะเกิดขึ้นที่ LHC นี้เป็นหลุมดำขนาดเล็กมากๆ เท่านั้น และสลายตัวไปในเวลาแทบจะทันทีที่มันเกิดขึ้น ไม่นานพอจะกลืนโลก แต่นานพอจะเกิดร่องรอยทางของอนุภาคที่วิ่งออกมาจากหลุมดำ ไว้เป็นหลักฐานให้นักฟิสิกส์ยืนยันว่าเกิดหลุมดำตาม จีสตริง เอ๊ย ทฤษฎีสตริงทำนายจริง แต่ว่าจนบัดนี้นักวิจัยประจำเครื่องตรวจจับ Compact Muon Solenoid (CMS) ก็ยังไม่พบร่องรอยทางของอนุภาคที่ว่า นักฟิสิกส์เลยมีอาการผิดหวังบ้างเล็กน้อย เพราะตามที่คำนวณไว้ นักฟิสิกส์คาดว่าพลังงานไม่กี่ TeV (teraelectronvolt) ก็น่าจะพอให้เกิดหลุมดำได้แล้ว และพลังงานสูงสุดที่ใช้ในคราวนี้คือ 4.5 TeV ซึ่งก็ยังไม่เห็นเงาของหลุมดำเลย ดังนั้นนักฟิสิกส์จึงต้องตัดช่วงพลังงาน 3.5–4.5 TeV ออกไปก่อน ตอนนี้เลยได้แต่หวังว่าเมื่อเร่งให้อนุภาคมีพลังงานมากกว่านี้ อาจจะเกิดหลุมดำที่ตามหาก็ได้ ข่าวดีก็ยังพอมีอยู่ เนื่องจากนักฟิสิกส์ของ CERN เห็นว่า LHC ทำงานได้ดีกว่าที่คาด แม้จะต้องมีปิดบ้างอะไรบ้าง แต่ก็ยังเรียกได้ว่าราบรื่นพอควร เลยตัดสินใจขยายเวลาการทำงานของ LHC ออกไปอีก จากเดิมที่วางแผนว่าจะปิดปรับปรุงตอนปลายปี 2011 ก็เลื่อนไปโน่นเลย ปลายปี 2012 ดังนั้นนักฟิสิกส์ที่เชียร์ทฤษฎีสตริงยังมีช่วงต่อเวลาพิเศษให้ได้ลุ้นเพิ่ม นอกจากหลุมดำแล้ว นักวิจัยบางท่านยังมั่นใจอีกว่าดีไม่ดีอาจจะเจออนุภาค Higgs ก่อนที่คาดการณ์เอาไว้ด้วย (ข่าวลืออีกทางบอกมาว่าที่เลื่อนเวลาปิดออกไปไม่ใช่อะไรหรอก แค่ไม่อยากโดน Tevatron เครื่องเร่งอนุภาคอันดับสองของโลกเจออนุภาค Higgs แซงตัดหน้า เพราะก่อนหน้าที่ LHC จะประกาศเลื่อนไม่นาน Tevatron ก็ประกาศเลื่อนปิดปรับปรุงจากปลายปี 2011 ไปเป็นปี 2014) เอ ว่าแต่ปี 2012 นี่มันคุ้นๆ นะ ที่มา - Popular Science, New Scientist, Nature News
https://jusci.net/node/1454
นักฟิสิกส์เสียดาย LHC ยังไม่สร้างหลุมดำ
มีใครเคยได้รับฟอร์เวิร์ดเมลหรือผ่านไปเจอแบบทดสอบออนไลน์ภาพลวงตาอันหนึ่งที่ให้ดูรูปผู้หญิงหมุนตัวหรือเปล่า? อันที่ถามว่าผู้หญิงหมุนทวนเข็มหรือตามเข็มนาฬิกา ถ้าเราตอบว่าเห็นหมุนตามเข็ม มันก็จะบอกว่าเราเป็นพวกใช้สมองด้านซ้ายดีกว่า แต่ถ้าเราตอบว่าหมุนทวนเข็ม ก็แปลว่าสมองด้านขวาทำงานดีกว่า (หรือคำอธิบายอื่นๆ ตามแต่ละเวอร์ชันขึ้นกับว่าคนแต่งจะเนียนได้ขนาดไหน) ล่าสุด นักจิตวิทยาสองท่าน คือ ศ. Nikolaus Troje และ Matthew McAdam แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์ รายงานลงในวารสาร i-Perception ว่า คำอธิบายจิตวิทยาของภาพลวงตานี้มันเป็นเรื่องหลอกลวงแหกตา ที่เห็นภาพผู้หญิงหมุนทวนหรือตามเข็มนาฬิกาไม่ได้เกี่ยวอะไรกับนิสัย, สมอง, จิตใต้สำนึก, หรือพลังจิตล้านแปดอะไรเลย มันขึ้นอยู่แค่ว่ามองภาพจากมุมไหนเท่านั้นเอง จากการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่าง 24 คน ผลออกมาว่า ถ้ามองภาพผู้หญิงหมุนตัวจากด้านบน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะเห็นผู้หญิงหมุนทวนเข็มนาฬิกา กลับกันถ้ามองภาพจากด้านล่าง ก็จะเห็นผู้หญิงหมุนตามเข็มนาฬิกาแทน สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น ลองทดสอบดูเอาเองเลยดีกว่า (วิดีโอจาก Bio Motion Lab) ที่มา - Science Daily
https://jusci.net/node/1455
จับโกหกคำอธิบายภาพลวงตาชื่อดัง
ทีมวิจัยร่วมของนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันและญี่ปุ่นได้ออกแบบวิธีในการฝังวงจรอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปในธนบัตรหลากหลายสกุลเงิน ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐฯ, ฟรังค์สวิส, เยน, และเงินยูโร ซึ่งน่าจะช่วยป้องกันการปลอมแปลงธนบัตร และยังอาจจะใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ได้ด้วย วงจรอิเล็กทรอนิกส์แบบบ้านๆ ที่ใช้ซิลิกอนนั้นหนาเกินกว่าจะใส่ลงไปในธนบัตรกระดาษได้ นักวิจัยจึงหันไปใช้วงจรอิเล็กทรอนิกส์แบบสารกึ่งตัวนำอินทรีย์ (semiconducting organic molecules) แทน โดยทีมนักวิจัยได้สร้างชั้น thin-film transistors (TFTs) ที่ประกอบด้วยทองคำ, อลูมินัมออกไซด์, และสารอินทรีย์ ฝังเป็นวงจรเข้าไปในเนื้อกระดาษ ซ้อนกันไปเรื่อยจนได้วงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่สมบูรณ์ ในธนบัตรแต่ละใบมีชั้นวงจร TFT อยู่กว่า 100 ชั้น แต่ละชั้นมีความหนาเพียง 250 นาโนเมตรหรือน้อยกว่า (บางกว่าเส้นผมมนุษย์ 400 เท่า) สามารถทำงานได้โดยใช้พลังงานไฟฟ้าเพียง 3 โวลต์เท่านั้น แม้ว่าตอนนี้วงจรในธนบัตรจะทำได้เพียงการคำนวณง่ายๆ แต่ในอนาคตนักวิทยาศาสตร์คงจะหาทางโปรแกรมให้มันทำหน้าที่เป็นเครื่องตรวจสอบธนบัตร, ตามรอยธนบัตร, หรืออาจจะใช้เป็นอุปกรณ์ที่ส่งข้อมูลแบบ RFID ก็ได้ ถึงตอนนั้นเมื่อเทคโนโลยีใหม่นี้ได้เอาออกมาใช้จริงๆ แก๊งโจรปลอมแบ๊งค์เครียดหนักแน่ เอ่อ แล้วมีใครคิดเรื่องต้นทุนพิมพ์แบ๊งค์กันบ้างมั้ย หรือว่าไม่เข็ดกับธนบัตรที่ซับซ้อนเกินไปจนพิมพ์เสียเป็นล้านๆ ที่มา - New Scientist
https://jusci.net/node/1457
วิธีป้องกันแบ็งค์ปลอมแบบใหม่...ฝังวงจรเข้าไปในธนบัตรเลย
นักเรียน 25 คนอายุ 8 ถึง 10 ขวบจากโรงเรียนประถม Blackawton พร้อมครูประจำชั้นร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย College London ส่งบทความลงวารสาร Biology Letter (Impact Factor: 3.521) ในหัวข้อ Blackawtown bees ที่ศึกษาว่าแมลงภู่ (แมลงคล้ายฝึ้ง) มีกระบวนการในการค้นหาอาหารได้อย่างไรบ้าง เด็กๆ ศึกษาแล้วพบว่าแมลงภู่อาศัยทั้งสีและรูปร่างของวัตถุในการค้นหาอาหารทำให้ประหยัดพลังงานในการสำรวจดอกไม้ นอกจากนี้เด็กๆ ยังพบว่าแมลงภู่เหล่านี้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างดี งานวิจัยนี้ไม่มีแหล่งอ้างอิงใดๆ นอกจากเด็กๆ ที่ได้ขอบคุณคนจำนวนมากที่ช่วยเหลือ ตลอดจนโรงแรม George Inn ที่ให้โค้กฟรีกับเด็กๆ และโบสถ์ Norman ที่เอื้อเฟื้อสถานที่วิจัย ผมเชื่อว่าแถวๆ นี้มีคนเตรียมส่งงานวิจัยกันเยอะ ไปโหลดอ่านฉบับเต็มเป็นกำลังใจกันได้ครับ ที่มา - Fox News, Biology Letter
https://jusci.net/node/1458
เด็กประถม 25 คนเขียนบทความลงวารสารชีววิทยา
แม้ว่าพลูโตจะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากและมีอุณหภูมิที่พื้นผิว -226 องศาเซลเซียส แต่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าในชั้นที่ลึกลงไปจากพื้นผิว 190 กิโลเมตร พลูโตอาจจะมีมหาสมุทรซ่อนอยู่ จากหลักฐานที่มีในตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าแกนกลางของพลูโตมีสารกัมมันตรังสีอยู่ การสลายตัวของสารกัมมันตรังสีเหล่านี้จะให้ความร้อนออกมา ความร้อนจะไปละลายน้ำแข็งทำให้เกิดเป็นมหาสมุทร จากแบบจำลองทางคณิตศาสตร์โดย Guillaume Robuchon นักดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ประเมินได้ว่า แค่โพแทสเซียมกัมมันตรังสีเพียง 100 ส่วนในพันล้าน (parts per billion) ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้พลูโตมีมหาสมุทรใต้พิภพที่มีความลึก 96-170 กิโลเมตร ข่าวดีคือแบบจำลองนี้จะได้รับการพิสูจน์ในไม่ช้า เพราะยานสำรวจ New Horizon ของ NASA กำลังจะเดินทางไปถึงพลูโตในเดือนกรกฎาคม ปี 2015 เมื่อนั้นเราก็จะมีข้อมูลเกี่ยวกับพลูโตและชารอน (ดวงจันทร์ของพลูโต) เพิ่ม ถ้าโชคดีเจอรอยแยกของชั้นน้ำกับน้ำแข็งหรือบ่อน้ำพุ นักวิทยาศาสตร์ก็จะสรุปได้ทันทีว่าแบบจำลองถูกต้อง ต่อให้ไม่เจอ เราก็ยังมีหลักฐานไว้หาทฤษฏีใหม่เกี่ยวกับพลูโตกันได้มากขึ้น ที่มา - Discovery News
https://jusci.net/node/1460
พลูโตอาจมีมหาสมุทร
ด้วยความก้าวหน้าทางนาโนเทคโนโลยี นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Nottingham (มหาวิทยาลัยเดียวกับที่เจ้าแกะ The Dollies อยู่) ได้สร้างตารางธาตุ (ที่คิดว่าน่าจะมี) ขนาดเล็กที่สุดในโลก เล็กพอที่จะอยู่บนเส้นผมของมนุษย์ได้ ถ้าจะพูดให้ชัดก็คือตารางธาตุนี้ "เขียน" ลงบนเส้นผม!! เจ้าของเส้นผมเส้นประวัติสาสตร์นี้ คือ ศาสตราจารย์ Martyn Poliakoff การเขียนตารางธาตุบนเส้นผมทำโดยใช้เครื่องยิงลำไอออน (ion beam writer) กับ กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (electron microscope) สลักสัญลักษณ์ของธาตุทั้ง 118 ตัว (ไม่ยอมทำแบบที่รวมน้ำหนักอะตอม สงสัยขี้เกียจใส่ตัวเลขเป็นช่วงๆ) ลงบนพื้นผิวของเส้นผม ตารางธาตุที่เล็กที่สุดในโลกนี้ถูกมอบเป็นของขวัญวันเกิดให้กับ ศ. Martyn Poliakoff เจ้าของเส้นผมนั่นเอง ลองดูวิดีโอได้ด้านล่าง นอกจากตารางธาตุแล้ว เพื่อให้เข้ากับเทศกาล มหาวิทยาลัย Nottingham เลยโชว์การเขียนคำว่า Merry Christmas ลงบนเกล็ดหิมะแถมมาให้ด้วยอีกหนึ่งรายการ ที่มา - PhysOrg ของไทยเขียนอะไรดีหละ เอาราชกิจจานุเบกษาดีมั้ย หุๆๆ
https://jusci.net/node/1461
ตารางธาตุที่เล็กที่สุดในโลก
ผู้ใหญ่มักคิดว่าเกมส์ที่มีเนื้อหารุนแรงกระตุ้นให้เด็กสมัยนี้ชอบทำอะไรก้าวร้าว รุนแรง ป่าเถื่อน โหดร้าย ฆ่าคน ชิงทรัพย์ ข่มขืน ทำผิดศีลธรรม และอื่นๆ อีกมากมายเท่าที่จะคิดได้ แต่งานวิจัยจาก ดร. Christopher Ferguson จาก Texas A&M International University ได้แสดงให้เห็นว่า เกมส์และสื่อทางโทรทัศน์แทบจะไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กและเยาวชนเลย ทีมวิจัยของ ดร. Christopher Ferguson ได้ออกทำการสำรวจเด็กและเยาวชนระหว่างอายุ 10-14 ปี ในประเทศเม็กซิโก รวมทั้งหมดจำนวน 302 คน โดยให้เด็กๆ เหล่านี้ผ่านการสัมภาษณ์สองครั้งโดยครั้งที่สองทิ้งห่างจากครั้งแรกเป็นระยะเวลา 12 เดือน คำถามก็จะเกี่ยวกับการเล่นเกมส์, การดูทีวี, ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง, แนวโน้มพฤติกรรมรุนแรง เป็นต้น ผลพบว่า มีเยาวชน 75% เล่นเกมส์ (รวมหมดเลยไม่ว่าจะเป็นเกมส์คอมพิวเตอร์, คอนโซล ฯลฯ) และ 40% ยอมรับว่าเล่นเกมส์ที่มีเนื้อหารุนแรง แต่เมื่อดูจากพฤติกรรมรุนแรงในระยะเวลา 12 เดือน พบว่ามีเยาวชนเพียงประมาณ 7% เท่านั้นที่แสดงพฤติกรรมรุนแรงออกมา กรณีที่พบได้บ่อยสุดคือการทำร้ายร่างกายและการไถตังค์เด็กคนอื่น และ 19% รายงานว่ามีการกระทำที่ละเมิดกฏแต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรุนแรง คดีที่พบมากสุดคือแอบจิ๊กของในร้านค้าและโรงเรียน ดร. Christopher Ferguson สรุปว่าการเล่นเกมส์ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าเด็กคนไหนจะมีพฤติกรรมรุนแรงก้าวร้าวในระยะยาว อาการหดหู่ซึมเศร้าต่างหากที่เป็นเครื่องหมายชั้นดีที่จะระบุว่าเด็กคนใดมีแนวโน้มจะเกี่ยวพันกับพฤติกรรมรุนแรงและการละเมิดกฏ แต่เชื่อเหอะ เดี๋ยวสักพักต้องมีงานวิจัยของคนอื่นออกมาแย้ง แล้วกระทรวงวัฒนธรรมของบางประเทศแถวๆ นี้ก็จะเอามาโหมข่าวเหมือนเดิม (แต่ข่าวเข้าข้างเกมส์แบบนี้พวกเขาไม่อ่านกัน) ที่มา - PhysOrg
https://jusci.net/node/1462
งานวิจัยยืนยันแล้ว "เด็กมีพฤติกรรมรุนแรงอย่าโทษเกมส์"
อิทธิพลของยาปลอมที่รู้จักกันในชื่อ "Placebo effect" เป็นเรื่องที่สร้างความกังขาให้กับวงการแพทย์เป็นอย่างมาก มีการรายงานหลายต่อหลายครั้งว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาปลอม (placebo) รู้สึกว่าอาการของโรคดีขึ้น ทั้งที่ยาปลอมนั้นไม่มีสารเคมีอะไรที่ออกฤทธิ์ต้านโรคหรืออาการใดๆ เลย (ยาปลอมส่วนใหญ่จะมีเพียงแป้งหรือน้ำตาล) นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่า Placebo effect เกิดจากการที่ผู้ป่วยคิดไปเองว่าได้รับยาจริงๆ แต่งานวิจัยของ ดร. Ted Kaptchuk จาก Harvard Medical School ได้แสดงให้เห็นว่า Placebo effect สามารถเกิดขึ้นได้ แม้ว่าผู้ป่วยจะรู้ความจริงว่าได้รับยาปลอมๆ ทีมนักวิจัยของ ดร. Ted Kaptchuk ได้ทำการทดลองกับผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome หรือ IBS เกิดจากกล้ามเนื้อลำไส้ทำงานผิดปกติ ทำให้อาหารเคลื่อนที่ผ่านได้ดีบ้างไม่ดีบ้าง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง จุกเสียด มีแก๊สในลำไส้ ท้องเสียหรือท้องผูก) จำนวน 80 คน ผู้ป่วยจะถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มควบคุม ไม่ได้รับยาหรือคำแนะนำใดๆ เลย อีกกลุ่มได้รับยาปลอมให้กินวันละ 2 ครั้ง แพทย์ก็บอกกับผู้ป่วยว่ามันคือยาปลอมนะ และตรงฉลากข้างๆ ก็มีบอกไว้ว่าเป็นยาปลอม แพทย์ยังบอกผู้ป่วยอีกด้วยว่า Placebo effect มีผลช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นได้ (มีงานวิจัยยืนยันผลของ Placebo effect ในผู้ป่วย IBS) ข้อความในฉลากเป็นไปตามประมาณข้างล่างนี้ placebo pills made of an inert substance, like sugar pills, that have been shown in clinical studies to produce significant improvement in IBS symptoms through mind-body self-healing processes หลังจากผ่านไปสามสัปดาห์ 59% ของผู้ป่วยที่ได้รับยาปลอมรายงานว่ามีอาการดีขึ้น ในขณะที่ผู้ป่วยในกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับการรักษาใดๆ รู้สึกว่ามีอาการดีขึ้นเพียง 35% ดร. Ted Kaptchuk สันนิษฐานว่าที่ยาปลอมมีผลในการช่วยรักษาโรค น่าจะเป็นเพราะการได้พบแพทย์ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตัวเองได้รับการรักษาอะไรบ้างหรือได้อยู่ใต้ความควบคุมรักษาของแพทย์ ตรงนี้จะเห็นได้จากผู้ป่วยบางคนจากกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับการรักษาอะไรเลยก็ยังรู้สึกดีขึ้น การที่ผู้ป่วยต้องกินยาปลอมทุกๆ วันจะเป็นการย้ำความรู้สึกนี้ให้ผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ก็ให้ข้อคิดไว้ว่านี่เป็นผลจากผู้ป่วยกลุ่มเล็กๆ แถมเป็นแค่กรณีเดียวเท่านั้น Placebo effect แบบนี้อาจจะไม่ได้ผลกับทุกโรคหรือทุกกรณี โรคที่มีความสัมพันธ์กับอารมณ์อาจจะได้ผลในลักษณะเดียวกัน (มีรายงานชี้ว่าอารมณ์และระดับฮอร์โมนมีผลต่ออาการ IBS) แต่สำหรับโรคอื่นๆ ยาปลอมอาจจะไม่มีผลเลยก็ได้ทั้งในกรณีที่ผู้ป่วยจะรู้และไม่รู้ความจริง ที่มา - Discovery News, The Telegraph, Live Science
https://jusci.net/node/1463
รู้เขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก... ยาปลอมได้ผลแม้ผู้ป่วยรู้ความจริง
Prions คือ ชิ้นส่วนของโปรตีนที่สามารถเพิ่มจำนวนตัวเองได้ เป็นต้นเหตุของโรคหลายชนิด เช่น mad cow disease (bovine spongiform encephalopathy) ในวัวควาย, scrapie ในแกะ, chronic wasting disease ในกวาง, และ Creutzfeldt-Jakob disease บางกลุ่มอาการในมนุษย์ เป็นต้น ตามธรรมชาติ เซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีโปรตีนที่อาจจะกลายเป็น prions ได้เรียกว่า PrPC เป็นปกติอยู่แล้ว ในรูปนี้มันจะทำตัวเป็นเด็กดี ไม่มีนอกลู่นอกทาง แต่เมื่อโปรตีนเหล่านี้เกิดผิดปกติจนมีรูปร่างโครงสร้าง (conformation) เพี้ยนไป อยู่ในรูปที่เรียกว่า PrPSc มันก็จะเผยธาตุแท้กลายเป็นเชื้อร้ายที่แพร่พันธุ์ได้ พอมีชิ้นหนึ่งกลายเป็น PrPSc เมื่อไร มันก็จะไปแปลง PrPC ที่เหลือให้กลายมาเป็นพวกมันด้วย วิธีที่ prions ใช้ขยายพันธุ์ตัวเอง คือ มันจะไปเหนี่ยวนำให้โปรตีนสายอื่น "พับตัว" (folding) ในรูปแบบที่ผิดปกติ โปรตีนตัวที่ถูกพับผิดปกตินี้ (misfolded proteins) ก็จะไปเหนี่ยวนำให้ตัวอื่นพับผิดปกติต่อไปเรื่อยๆ และเมื่อเซลล์นั้นตาย prions จะหลุดเข้าไปในเซลล์อื่น แล้วก็ไปทำแบบเดิมอีก เข้าทำลายเซลล์โดยวนกระบวนการไปเรื่อยๆ จนเกิดอาการของโรคขึ้นมา เนื่องจาก prions ไม่มี DNA การแบ่งชนิดสายพันธุ์ของ prions จึงใช้ระยะฟักตัว (incubation time) และอาการของโรคเป็นเกณฑ์ ก่อนหน้านี้เมื่อต้นปี 2010 ที่ผ่านมา ทีมวิจัยของ Charles Weissmann แห่ง Scripps Research Institute เคยรายงานแล้วว่า prions สามารถเกิดการกลายพันธุ์ (mutation) ได้ นั่นคือ ตอนที่มันไปพับโปรตีนสายอื่นนั้น โปรตีนที่พับออกมาอาจจะไม่เหมือนกับของเดิมนิ้งๆ ทำให้ prions ในเซลล์เดียวอาจจะมีได้หลายรูปแบบหลายสายพันธุ์ ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์จึงเสนอว่ามันอาจจะเกิดวิวัฒนาการแบบดาร์วินเนียน (Darwinian evolution) ได้ด้วย ไม่น่าเชื่อ ผ่านมายังไม่ถึงปีเต็ม ทีมวิจัยที่นำโดย ดร. Charles Weissmann คนเดิม ได้แสดงหลักฐานให้เห็นว่า prions สามารถเกิดวิวัฒนาการได้จริงๆ นักวิจัยได้ทำการเพาะเลี้ยง prions ที่ทำให้เกิด mad cow disease จากนั้นก็ย้ายพวกมันไปยังเซลล์อันอื่น ปรากฏว่า prions บางสายพันธุ์สามารถขยายตัวได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น และกลายเป็นสายพันธุ์เด่น (dominant strain) ในสภาวะแวดล้อมเฉพาะของเซลล์นั้นๆ ได้ นี่คือหลักฐานชิ้นแรกที่พิสูจน์ให้เห็นว่ามีกระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติ (natural selection) ในประชากรของ prions หรือพูดให้มันตื่นเต้นสวิงสวายหน่อยๆ ก็คือ prions สามารถเกิดวิวัฒนาการได้ นี่คงไม่ใช่เรื่องดีนัก เพราะเมื่อ prions มีวิวัฒนาการได้ ก็แปลว่ามันสามารถ "ดื้อยา" ได้เหมือนกับพวกแบคทีเรียและไวรัส นักวิทยาศาสตร์อาจจะต้องหาทางใหม่ในการรักษาโรคที่เกิดจาก prions บางทีทางที่ดีกว่าคือมุ่งไปจัดการที่ตัว PrPC เลย อย่างน้อยก็มีงานวิจัยระบุแล้วว่าการขาด PrPC ไม่ส่งผลอะไรอันตรายต่อสุขภาพของหนูทดลอง ที่มา - Science Daily
https://jusci.net/node/1464
Prions สามารถเกิดวิวัฒนาการได้
เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าในเอกภพมีดาวเคราะห์ที่มีสัดส่วนของคาร์บอนสูงกว่าออกซิเจน ดาวเคราะห์คาร์บอนที่พบใหม่นี้อาจมีแกนกลางเป็นเพชรทั้งก้อน! ดาวเคราะห์ดวงนั้นมีหมายเลขว่า WASP-12b ทีมนักดาราศาสตร์ที่นำโดย Nikku Madhusudhan (ซึ่งขณะนี้ย้ายไปอยู่ที่มหาวิทยาลัยปริ๊นซ์ตันแล้ว แต่ว่าตอนที่ทำงานวิจัยนี้ยังอยู่ที่ MIT) ได้ตรวจสอบแถบสเปคตรัมของดาวฤกษ์ WASP-12 (ดวงอาทิตย์ของดาว WASP-12b) จากกล้อง Spitzer Space Telescope โดยนำภาพตอนที่ดาวเคราะห์ WASP-12b อยู่ด้านหน้ากับอยู่ด้านหลังดาวฤกษ์ WASP-12 มาเปรียบเทียบกัน ตอนที่ดาวเคราะห์ WASP-12b อยู่ด้านหน้า คลื่นรังสีจะมาจากทั้งบรรยากาศของดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ แต่เมื่อดาวเคราะห์อยู่ด้านหลัง คลื่นรังสีจะมาจากบรรยากาศดาวฤกษ์อย่างเดียว พอเอาสองค่ามาหักล้างกันก็จะได้แถบสเปคตรัมที่มาจากบรรยากาศของดาวเคราะห์ WASP-12b ดาวเคราะห์ WASP-12b ถูกค้นพบเมื่อปี 2009 อยู่ห่างจากโลก 1,200 ปีแสง เป็นดาวแก๊สขนาดยักษ์ มีขนาดประมาณ 1.4 เท่าของดาวพฤหัส แต่ว่ามีอุณหภูมิถึง 2,500 เคลวิน สูงกว่าดาวพฤหัสมากเพราะว่า WASP-12b อยู่ใกล้ดาวฤกษ์ของมันมากกว่า มันห่างจากดาวฤกษ์ของมันเพียง 0.02 หน่วยดาราศาสตร์ (น้อยกว่าระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ 50 เท่า) นักดาราศาสตร์เคยคาดกันว่า WASP-12b น่าจะมีสัดส่วนของคาร์บอนต่อออกซิเจนอยู่ที่ 0.5 ส่วนใหญ่เป็นไอน้ำผสมกับก๊าซมีเธนเล็กน้อย แต่เมื่อ Nikku Madhusudhan เอาแถบสเปคตรัมไปเปรียบเทียบกับแบบจำลองของดาวเคราะห์นับล้านๆ แบบ เขาพบว่าแบบที่ใกล้เคียงที่สุดคือ ดาวเคราะห์ที่มีคาร์บอนต่อออกซิเจนสูงกว่า 1 โดยคาร์บอนส่วนใหญ่อยู่ในรูปคาร์บอนมอนอกไซด์, มีเธน, และคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยเลยคิดว่าพื้นผิวและแกนกลางของมันคงจะประกอบด้วยคาร์บอนมากมาย แทนที่จะเป็นซิลิกอนเหมือนอย่างโลกและดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเรา เรื่องนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์งงงวยพอๆ กับการค้นพบ HR 8799e เลย (ที่จริงข่าวสองอันนี้มาพร้อมๆ กัน แต่ผมเขียนไม่ทัน T_T) เพราะนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าดาวเคราะห์ที่ใหญ่ขนาด WASP-12b น่าจะมีส่วนประกอบของคาร์บอนอยู่เพียงเล็กน้อย ธาตุองค์ประกอบส่วนใหญ่น่าจะเป็นซิลิกอนกับออกซิเจนเสียมาก นอกจากนี้ WASP-12b ยังมีสัดส่วนของคาร์บอนสูงกว่าดาวฤกษ์ของมันเกือบสองเท่า นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่า การที่ดาวเคราะห์ WASP-12b มีสัดส่วนคาร์บอนอยู่สูงขนาดนี้น่าจะเป็นเพราะตัวมันเกิดจากการชนรวมกันของก้อนเทหวัตถุที่คล้ายหินทาร์ (tar) ต่างจากดาวเคราะห์ในระบบสุริยะที่น่าจะเกิดจากก้อนเทหวัตถุที่มีส่วนประกอบเป็นซิลิกากับน้ำแข็ง การค้นพบดาวเคราะห์คาร์บอนในครั้งนี้ทำให้นักดาราศาสตร์หันกลับมามองที่ดาวพฤหัสอีกครั้ง เพราะจวบจนป่านนี้สัดส่วนธาตุองค์ประกอบของดาวพฤหัสยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่เลย เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ตอนที่ยานกาลิเลโอรายงานว่าบรรยากาศของดาวพฤหัสมีคาร์บอนมากกว่าออกซิเจน ไม่มีใครคนไหนทำใจเชื่อได้เลย หลายคนเชื่อว่าออกซิเจนของดาวพฤหัสน่าจะถูกเก็บอยู่ในโมเลกุลของน้ำซึ่งควบแน่นอยู่ในพื้นผิวดาว ดังนั้นในตอนนี้นักวิทยาศาสตร์เลยต้องฝากความหวังอีกครั้งไว้กับยาน Juno ซึ่งจะปล่อยในปี 2011 และจะถึงดาวพฤหัสในปี 2016 นอกจากประเด็นเรื่องของการกำเนิดดาวแล้ว ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการค้นพบนี้คือ เรื่องการหาสิ่งมีชีวิตต่างดาว หากว่าดาวเคราะห์รอบๆ WASP-12b กำเนิดมาด้วยวิธีเดียวกัน อาจจะมีดาวเคราะห์สักดวงที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลก แต่ว่าบรรยากาศและพื้นผิวเป็นคาร์บอนทั้งหมด (จินตนาการถึงภูเขาที่เป็นกราไฟต์ทั้งลูกหรือภูเขาไฟที่พ่นเพชรออกมา) สิ่งมีชีวิตบนดาวดวงนั้นอาจจะหายใจโดยใช้ก๊าซมีเธนและใช้แร่เหล็กเป็นอาหารก็ได้ อย่าลืมว่าอะไรก็เป็นไปได้แล้วหลังจากการค้นพบแบคทีเรียที่กินสารหนูเป็นอาหาร ที่มา - Nature News, PhysOrg, Science News
https://jusci.net/node/1465
นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์คาร์บอนดวงแรก
ยานสำรวจ Mars Rover Opportunity ได้ถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกบนดาวอังคารมาให้ชาวโลกได้ชมกัน (วิดีโอท้ายข่าว) แต่ที่น่าสนใจคือท้องฟ้ายามสนธยาของดาวอังคารกลับเป็นสีน้ำเงิน ทั้งที่ผิวดาวเป็นสีแดง เหตุผลก็เพราะฝุ่นสีแดงบนดาวอังคารนั่นเอง บนโลกของเรานั้น เมื่อแสงอาทิตย์ตกกระทบโลก และโดนชั้นฝุ่นสีน้ำเงินที่อยู่รอบโลก ทำให้สีน้ำเงินเกิดการกระเจิงในชั้นบรรยากาศ จนเราเห็นท้องฟ้าเป็นสีฟ้า ส่วนตัวแสงอาทิตย์ถูกกรองสีน้ำเงินออกไป ทำให้เราเห็นพระอาทิตย์สีออกเหลืองๆ และในยามเย็น แสงอาทิตย์จะยิ่งถูกกรองสีน้ำเงินออกไปมาก จนเห็นเป็นสีส้มแดง บนดาวอังคารจะกลับกันทุกอย่าง เมื่อแสงอาทิตย์มาเจอชั้นฝุ่นสีแดง แสงสีแดงจะถูกกรองออกไป (ทำให้เห็นท้องฟ้าสีแดง) และแสงที่เหลือจะเห็นเป็นสีน้ำเงินเด่นชัด และยิ่งเด่นชัดมากขึ้นในยามสนธยาเช่นกัน ที่มา - Gizmodo
https://jusci.net/node/1466
พระอาทิตย์ตกสีน้ำเงิน บนดาวอังคารสีแดง
หน่วยงานด้านอวกาศของอินเดียล้มเหลวเป็นครั้งที่สองในปีนี้ หลังจากจรวดที่ส่งดาวเทียมสื่อสาร GSAT-5P ระเบิดหลังลอยขึ้นจากฐานปล่อยได้เพียง 47 วินาที ประธานขององค์กรอวกาศอินเดีย Indian Space Research Organization ให้สัมภาษณ์ว่าสาเหตุเกิดจาก "ความเครียด" (stress หมายถึงความเครียดในเชิงฟิสิกส์นะครับ) จนจรวดแตกออกเป็นชิ้นๆ ก่อนหน้านี้ในเดือนเมษายน จรวดของอินเดียเคยระเบิดในลักษณะเดียวกันมาก่อนแล้ว อินเดียมีแผนจะส่งคนขึ้นไปบนอวกาศในปี 2016 แต่แผนนี้อาจได้รับผลกระทบจากความล้มเหลวในปีนี้ ที่มา - MSNBC
https://jusci.net/node/1467
จรวดส่งดาวเทียมของอินเดียระเบิดเป็นครั้งที่สอง
เป็นเรื่องบังเอิญต้อนรับเทศกาลเฉลิมฉลองพอดี เมื่อนักวิทยาศาสตร์สองกลุ่มรายงานความสำเร็จในการทำจีโนมต้นโกโก้กับต้นสตรอเบอรี่ลงในวารสาร Nature Genetics พร้อมๆ กัน เริ่มจากกลุ่มโกโก้ก่อน ทีมวิจัยของนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันต่างๆ เกือบ 20 สถาบัน นำโดย Claire Lanaud แห่ง CIRAD (Centre de coopération Internationale en Recherche Agronomique pour le Développement) ของฝรั่งเศส ได้ทำจีโนมของต้นโกโก้ (Theobroma cacao) สายพันธุ์ Criollo ซึ่งเป็นโกโก้สายพันธุ์เก่าแก่ ให้ผลผลิตเป็นผงโกโก้ที่มีคุณภาพสูง (ในผงโกโก้ที่ผลิตขายทั่วโลก มีผงโกโก้ที่ผลิตจากต้นโกโก้สายพันธุ์ Criollo เพียง 5% เท่านั้น) โกโก้สายพันธุ์ Criollo จะเป็นสายพันธุ์ที่ตลาดต้องการ แต่กลับไม่ค่อยมีคนอยากปลูก เพราะว่ามันให้ผลผลิตน้อยและติดโรคง่าย ต่างจากสายพันธุ์ลูกผสม Trinitario ที่ให้ผลผลิตเยอะและทนโรค เกษตรกรจึงนิยมปลูกมากกว่า (อย่างที่เคยบอกไป คนงานในไร่โกโก้ได้ค่าแรงเพียงวันละ 24 บาทเท่านั้น ไม่มีใครอยากมาปลูกอะไรที่มันตายง่ายหรอก) ที่นักวิทยาศาสตร์เลือกทำสายพันธุ์ Criollo นอกจากเหตุผลที่ต้องการหาวิธีปรับปรุงให้มันอึดทนโรคมากขึ้นแล้ว สายพันธุ์ Criollo ยังมีความซับซ้อนทางพันธุกรรมน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ด้วย ข้อมูลจีโนมของต้นโกโก้เผยแพร่อยู่ที่ http://cocoagendb.cirad.fr/gbrowse (ก่อนหน้านี้ ในเดือนกรกฏาคม 2010 ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Mars, Inc. ได้เผยแพร่จีโนมของต้นโกโก้ไว้ที่ http://www.cacaogenomedb.org/ ส่วนทีมวิจัยชุดที่เพิ่งตีพิมพ์ลง Nature นี้ ได้รับเงินสนับสนุนจาก Hershey บริษัทคู่แข่งของ Mars, Incs. นั่นเอง) มาดูทีมสตรอเบอรี่กันบ้าง อันนี้เป็นผลงานจากการประชุมความร่วมมือ (Consortium) ของสถาบันวิจัยทั่วโลก 38 สถาบัน นำโดย รศ. Kevin Folta แห่งมหาวิทยาลัยฟลอริด้า ทีมวิจัยได้ทำจีโนมของต้นสตรอเบอรี่ป่า (Fragaria vesca) ซึ่งเป็นญาติใกล้เคียงกับต้นสตรอเบอรี่ลูกผสมที่ปลูกขายกัน (Fragaria x ananassa) เหตุผลที่ใช้สตรอเบอรี่ป่าก็ใกล้เคียงกับทีมโกโก้ นั่นคือเพราะว่าความซับซ้อนทางพันธุกรรมมันน้อยกว่า ยิ่งไปกว่านั้น ต้นสตรอเบอรี่ป่ายังเป็นพืชที่มีจีโนมเล็กที่สุดเป็นอันดับสองรองจากต้น Arabidopsis thaliana (สตรอเบอรี่ป่ามีประมาณ 240 ล้านคู่เบส A. thaliana มีประมาณ 210 ล้านคู่เบส) ประโยชน์ของจีโนมสตรอเบอรี่ก็เหมือนๆ กับจีโนมโกโก้ นั่นคือเอาไว้ให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาเพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ ทำให้มันทนโรคมากขึ้น มีผลผลิตมากขึ้น อร่อยขึ้น ฯลฯ เพราะฉะนั้นปีนี้ นักชีววิทยาคนไหนอยากจัดปาร์ดี้ฉลอง อย่าลืมเมนูสตรอเบอรี่กับโกโก้ (ช็อคโกแลต) ด้วย คนกินจะได้ซาบซึ้งเพราะว่าเรารู้จีโนมของมันแล้ว TvT (ใครจะซาบซึ้งบ้างเนี่ย?) ที่มา - The Telegraph, Scientific American, Science Daily (โกโก้), Science Daily (สตรอเบอรี่)
https://jusci.net/node/1468
จีโนมโกโก้กับสตรอเบอรี่เสร็จแล้ว
บ้านเราถ้าใครนั่งตุ๊กๆ คงเห็นคนขับดับเครื่องเมื่อติดไฟแดงกันบ่อยๆ แล้วอาจจะสงสัยว่ามันช่วยประหยัดน้ำมันได้จริงหรือไม่ แต่ทางฟอร์ดก็เสนอตัวเลขรายงานว่าโดยทั่วไปแล้วหากผู้ขับขี่ดับเครื่องทุกครั้งที่ติดไฟแดง จะช่วยประหยัดน้ำมันได้ถึง 4% ในการขับขี่ทั่วไป และอาจจะมากถึง 10% สำหรับการขับขี่ในเมือง ทางบริษัทจึงเตรียมใส่วงจรที่ดับเครื่องเองทุกครั้งที่รถหยุดนิ่ง และสตาร์ทใหม่เองทันทีที่เหยียบคันเร่ง ระบบนี้จะไม่ปิดเครื่องอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่นระบบปรับอากาศ หรือวิทยุในรถ ดังนั้นผู้ใช้จะไม่รู้สึกอะไรมากนัก แต่น่าสงสัยว่าส่วนสึกหรอต่างๆ จะอายุสั้นลงหรือไม่ ประหยัดได้ 10% เหมือนขับรถน้ำมันถูกลงลิตรละสามบาท คุ้มกว่าไปเข้าคิวรอเติมน้ำมันเวลาประกาศขึ้นราคา 40 สตางค์หลายเท่า ที่มา - USA Today
https://jusci.net/node/1469
ฟอร์ดเตรียมใส่ระบบดับเครื่องเมื่อติดไฟแดงอัตโนมัติ
ด้วยการพัฒนาจาก Korea Institute of Science of Technology (KIST) และการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลเกาหลีใต้ หุ่นยนต์ "EngKey" 29 ตัวกำลังอยู่ในช่วงทดสอบทำหน้าที่คุณครูสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กประถมในเมืองแดกู (Daegu) หุ่นยนต์ Engkey มีความสูงประมาณ 1 เมตร รูปร่างเป็นทรงกลมๆ เหมือนไข่ สีขาว ตรงหัวจะมีหน้าจอแสดงรูปผู้หญิงหน้าตาฝรั่งๆ มีล้อตรงฐานเคลื่อนที่ได้ คุณครูหุ่นยนต์นี้ถูกโปรแกรมให้อ่านหนังสือ ร้องเพลง เล่นเกมอักษร และเต้นระบำได้โดยการแกว่งแขวนไปมา คนควบคุม EngKey จะสามารถเห็นภาพนักเรียนในห้องได้จากกล้องที่ซ่อนไว้ ในขณะเดียวกันสีหน้าบนจอของ EngKey ก็จะเปลี่ยนแปลงได้ตามสีหน้าของผู้ควบคุม ในช่วงทดสอบนี้คนควบคุม EngKey เป็นครูภาษาอังกฤษชาวฟิลิปปินส์ (เนื่องจากคิดค่าสอนถูกกว่าครูชาวเกาหลีใต้!) ที่น่าสนใจคือการควบคุมนี้เป็นการควบคุมระยะไกลมาจากประเทศฟิลิปปินส์ด้วย Kim Mi-Young เจ้าหน้าที่ของสำนักงานการศึกษาเมืองแดกู บอกว่า "เด็กๆ ชอบหุ่นยนต์มาก เพราะว่ามันน่ารัก เด็กมีส่วนร่วมในชั้นเรียนมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะเด็กที่ปรกติจะอายเวลาต้องพูดกับครูที่เป็นมนุษย์" โครงการทดสอบนี้มีกำหนดเพียง 4 เดือน คิดเป็นเงินลงทุน 1,580 ล้านวอน (หรือประมาณ 41.6 ล้านบาท) ถ้านับเฉพาะราคาค่าตัวหุ่นยนต์ก็ตกตัวละ 10 ล้านวอน (หรือประมาณ 260,000 บาท) สำนักงานการศึกษาเมืองแดกูเห็นว่าอาจจะซื้อหรือเช่าหุ่นยนต์มาประจำการ หากราคามันถูกลงและดูแลรักษาได้ง่ายกว่านี้ ที่มา - Yahoo! News (AFP) From AFP
https://jusci.net/node/1470
หุ่นยนต์คุณครู
มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล (Homo sapiens neanderthalensis หรือ Homo neanderthalensis) เป็นมนุษย์ที่เคยมีชีวิตอยู่ร่วมกับมนุษย์สมัยใหม่ (Homo sapiens sapiens) ในช่วงแรก ก่อนที่พวกเขาจะสูญพันธุ์ไปอย่างมีปริศนาเมื่อประมาณ 30,000 ปีที่แล้ว ตอนแรกนักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่า มนุษย์นีแอนเดอร์ทัลน่าจะเป็นพวกที่ล่าสัตว์กินเป็นอาหารอย่างเดียวทำให้พอสัตว์หายาก มนุษย์นีแอนเดอร์ทัลก็พากันอดตาย แต่หลักฐานใหม่ที่ค้นพบโดยทีมนักบุพชีววิทยาที่นำโดย Amanda Henry แห่ง Center for the Advanced Study of Hominid Paleobiology ชี้ให้เห็นว่าเมนูอาหารของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลมีพืชรวมอยู่ด้วย ทีมนักบุพชีววิทยาระบุชนิดอาหารได้จากฟอสซิลของเศษซากอาหารและเชื้อจุลินทรีย์ที่ติดอยู่ตามซอกฟัน ตัวอย่างกระดูกฟันที่ใช้ในการศึกษาเป็นกระดูกของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลจากตอนเหนือของยุโรปและประเทศอิรัก พืชที่พบว่าเป็นอาหารของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล ได้แก่ พืชตระกูลถั่ว, เมล็ดของพืชตระกูลหญ้าจำพวกข้าวบารเล่ย์ ข้าวสาลี และข้าวไรย์, พืชกินหัว-ราก, และอินทผลัม นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบเศษแป้งที่หลงเหลืออยู่ นักวิทยาศาสตร์พบว่ามันมีลักษณะคล้ายแป้งที่ต้มสุก นั่นแปลว่ามนุษย์นีแอนเดอร์ทัลรู้จักการหุงอาหารโดยใช้ไฟเช่นเดียวกับมนุษย์บรรพบุรุษของเราด้วย แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่พบหลักฐานว่ามนุษย์นีแอนเดอร์ทัลรู้จักการเพาะปลูกแต่อย่างใด ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ว่ามนุษย์นีแอนเดอร์ทัลดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์และเก็บพืชจากป่ามากิน งานวิจัยนี้สอนให้รู้ว่า ถ้าใครอยากให้คนอีกหมื่นปีข้างหน้ารู้ว่าเรากินอะไร ก็อย่าแปรงฟัน ^.^ ที่มา - Scientific American, PhysOrg
https://jusci.net/node/1471
หลักฐานใหม่ มนุษย์นีแอนเดอร์ทัลกินพืชด้วย