txt
stringlengths
202
53.1k
# แอป Netflix บนมือถือเตรียมอัพเดต UX/UI ใหม่ เลย์เอาท์ใหม่ มีความลื่นไหลมากขึ้น Janum Trivedi อดีตหัวหน้าทีม UI ของ Netflix บน iOS โพสต์ทวิตเตอร์ถึงโปรเจ็คสุดท้ายที่ตัวเองเป็นคนทำช่วงปลายปีที่แล้วก่อนลาออก เผยให้เห็นหน้าตา UX/UI ใหม่ของ Netflix บน iOS การแสดงผลมีการจัดเลย์เอาท์ใหม่ พร้อมเอ็ฟเฟ็ค 3D เล็กน้อยสำหรับภาพปก เวลาขยับจอมือถือ (นึกถึงภาพ 3D บนเฟซบุ๊ก) ปรับพื้นหลังจากสีดำกลายเป็นเป็นสี gradiant โดยอิงจากสีของปกภาพยนตร์/ซีรีส์ รวมถึงอนิเมชันการแสดงผลใหม่ที่มีความลื่นไหลมากขึ้น และรองรับ haptic feedback บน iPhone Trivedi ระบุว่าอัพเดตนี้เริ่มปล่อยแล้ว อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายละเอียดอย่างเป็นทางการจาก Netflix เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่มา - @jmtrivedi
# [ลือ] กูเกิลจะออกแท็กไร้สายแบบเดียวกับ AirTag ใช้โค้ดเนมว่า Grogu Kuba Wojciechowski นักพัฒนาสาย Android รายหนึ่งระบุว่าค้นพบหลักฐานโค้ดของ Android ว่ากูเกิลกำลังพัฒนาฟีเจอร์ Fast Pair (ที่ปัจจุบันใช้เชื่อมต่ออุปกรณ์ Bluetooth แบบสะดวก) ให้เชื่อมต่อกับแท็กไร้สาย locator tag ลักษณะเดียวกับ AirTag ของแอปเปิล หรือ Galaxy SmartTag ของซัมซุง Wojciechowski ยังอ้างแหล่งข่าววงในว่าอุปกรณ์ชิ้นนี้ใช้โค้ดเนมว่า "Grogu" หรือ GR10 (ตามชื่อตัวละครในเรื่อง The Mandalorian) พัฒนาโดยทีม Nest รองรับการเชื่อมต่อทั้ง UWB และ Bluetooth LE ซึ่งจะถือเป็นอุปกรณ์ชิ้นแรกของกูเกิลที่เป็น UWB ด้วย ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลอื่นของอุปกรณ์ grogu ตัวนี้ แต่ก็เป็นไปได้สูงว่าน่าจะเปิดตัวในงาน Google I/O 2023 ช่วงเดือนพฤษภาคม ภาพจาก @TheMandalorian ที่มา - XDA
# ไมโครซอฟท์เตรียมนำ ChatGPT ให้ใช้บน Azure แต่เพียงผู้เดียว, Azure OpenAI เปิดบริการแล้ว ไมโครซอฟท์เปิดบริการ Azure OpenAI Service อย่างเป็นทางการ เข้าสถานะ General Availability (GA) หลังจากเปิดทดสอบมาตั้งแต่ปลายปี 2021 ไมโครซอฟท์เข้าลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์ใน OpenAI มาตั้งแต่ปี 2020 และได้สิทธิการใช้งาน GPT-3 แต่เพียงผู้เดียว (ล่าสุดมีข่าวลือว่าจะลง 1 หมื่นล้านดอลลาร์แลกกับหุ้น 49%) ไมโครซอฟท์จึงนำโมเดลหลายตัวของ OpenAI เช่น GPT-3.5, Codex, DALL-E 2 มาให้บริการกับลูกค้าภายนอกบน Azure จุดเด่นของบริการตัวนี้ย่อมเป็น ChatGPT บ็อตตอบคำถามชื่อดัง (ทำงานอยู่บนโมเดล GPT-3.5) ที่จะเปิดให้บริการกับลูกค้าองค์กรบน Azure ในเร็วๆ นี้ นอกจากการใช้โมเดล OpenAI บน Azure แล้ว ไมโครซอฟท์ยังนำโมเดลไปใช้ในผลิตภัณฑ์ตัวเองบ้างแล้ว เช่น Bing Image Creator และ Microsoft Designer ที่สร้างด้วย Dall-E 2 ที่มา - Azure Blog
# กลุ่มนักวาดยื่นฟ้อง Sta­ble Dif­fu­sion, Midjourney ละเมิดลิขสิทธิภาพไปให้ AI เรียนรู้ ศิลปินและนักวาดกลุ่มหนึ่ง ยื่นฟ้องบริษัทด้าน AI สายวาดภาพคือ Sta­bil­ity AI, DeviantArt, Mid­jour­ney ที่ใช้อัลกอริทึม Sta­ble Dif­fu­sion สร้างภาพวาด ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ Sta­ble Dif­fu­sion เป็นเอนจิน AI ของบริษัท Sta­bil­ity AI ออกมาในเดือนสิงหาคม 2022 โดยเรียนรู้จากภาพวาดนับล้านบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งศิลปินกลุ่มนี้บอกว่าละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะนำภาพไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้วาดก่อน ผู้ฟ้องคดีนี้ประเมินว่า Stable Diffusion เรียนรู้จากภาพจำนวน 5 พันล้านภาพ หากคิดความเสียหายภาพละ 1 ดอลลาร์ มูลค่าจะสูงถึง 5 พันล้านดอลลาร์ และเชิญชวนให้ศิลปินคนอื่นๆ มาร่วมฟ้องแบบกลุ่ม (class-action) ด้วยกัน คดีนี้อาจเป็นคดีตัวอย่างของวงการ AI โดยเฉพาะด้านลิขสิทธิ์ภาพ ก่อนหน้านี้บริษัทกฎหมาย Joesph Saveri Law Firm เคยทำคดีคล้ายๆ กันแต่เป็นการฟ้อง GitHub Copilot ที่เรียนรู้โค้ดจากโปรแกรมเมอร์ ว่าละเมิดลิขสิทธิ์โค้ดเช่นกัน ที่มา - Stable Diffusion litigation, Ars Technica ภาพจาก Stability.ai
# เกม The Callisto Protocol ยอดขายไม่เข้าเป้า ทำหุ้นบริษัทแม่ Krafton ร่วง The Callisto Protocol เกมสยองขวัญอวกาศที่สืบทอดจิตวิญญาณมาจาก Dead Space ภายใต้สังกัดใหม่ Striking Distance Studios ในเครือบริษัทเกมเกาหลี Krafton เปิดตัวได้ไม่สวยงามอย่างที่คิด จนส่งผลต่อราคาหุ้นของ Krafton ด้วย เว็บไซต์ข่าวเกาหลี K Odyssey รายงานข่าววงในว่าเกม The Callisto Protocol ใช้เวลาพัฒนา 3 ปี ต้นทุนการสร้าง 2 แสนล้านวอน (ประมาณ 5.3 พันล้านบาท) นักวิเคราะห์คาดว่าจะขายได้อย่างน้อย 5 ล้านชุด แต่ตอนนี้ยังขายได้แค่ 2 ล้านชุดเท่านั้น เหตุผลหนึ่งคงเป็นเพราะเกมได้รีวิวไม่ดีนัก (คะแนนเฉลี่ย 68/100 บน Metacritic สำหรับเวอร์ชันพีซี) จากประเด็นเรื่องบั๊กและคุณภาพของเกม ข่าวนี้จึงทำให้ราคาหุ้นของ Krafton ดิ่งลง เพราะนักลงทุนเริ่มไม่เชื่อมั่นว่าผลประกอบการของบริษัทจะออกมาดีในช่วงนี้นั่นเอง นอกจากประเด็นเรื่องคุณภาพเกมและราคาหุ้นแล้ว The Callisto Protocol ยังมีประเด็นดราม่าเรื่องชื่อทีมงานส่วนหนึ่ง Striking Distance Studios ไม่อยู่ในเครดิตของเกมด้วย ที่มา - K Odyssey, Eurogamer
# มหาวิทยาลัยในออสเตรเลียประกาศเปลี่ยนวิธีสอบ หลังมีนักศึกษาใช้ AI เขียนบทความ กลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำ 8 แห่งในประเทศออสเตรเลียปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการสอบสำหรับนักศึกษาใหม่ หลังมีนักศึกษาทุจริตการสอบด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยเขียนบทความและบางครั้งซอฟต์แวร์ตรวจสอบการคัดลอกผลงานไม่สามารถตรวจจับได้ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ ยังเพิ่มกฎอย่างชัดเจนว่าการใช้ปัญญาประดิษฐ์ทำข้อสอบถือเป็นการทุจริต ในแต่ละมหาวิทยาลัยปรับเปลี่ยนวิธีสอบต่างกันไปอย่าง University of Sydney ใช้วิธีออกแบบการสอบใหม่และปรับปรุงระบบการตรวจสอบขณะที่ Australian National University เปลี่ยนเป็นให้คะแนนจากกิจกรรมในห้องเรียนและงานเป็นหลัก รวมถึงเพิ่มคะแนนส่วนการนำเสนอปากเปล่า Toby Walsh ศาสตราจารย์ด้านปัญญาประดิษฐ์จาก University of New South Wales กล่าวว่า การแบนโปรแกรมอย่าง ChatGPT เป็นไปได้ยากเพราะนักศึกษาสามารถเข้าผ่าน VPN ได้และแม้ว่าผลงานจาก AI จะมีลายน้ำแต่ก็ยังใช้โปรแกรมอื่นเพื่อลบลายน้ำออกได้ OpenAI เพิ่งเปิดตัว ChatGPT ซึ่งเป็นแชทบ็อตที่ทำได้ตั้งแต่โต้ตอบเหมือนมนุษย์ไปจนถึงเขียนบทความเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งได้ถูกแบนแล้วจากหลายแห่ง ทั้งวงการวิชาการและวิจัย โรงเรียนในนิวยอร์กเองก็แบนเพราะความกังวลว่าจะถูกใช้ในการคัดลอกผลงาน ที่มา: The Guardian
# CircleCI เผยรายละเอียดการถูกแฮ็ก พนักงานโดนมัลแวร์, ข้อมูลลูกค้าหลุด, ถูกนำไปใช้แฮ็กต่อแล้ว CircleCI เปิดเผยรายละเอียดการถูกแฮ็กระบบในช่วงปลายปี 2022 ที่ผ่านมา CircleCI ระบุว่าตรวจพบความเคลื่อนไหวผิดปกติในช่องทางการล็อกอิน GitHub OAuth ของลูกค้ารายหนึ่ง จึงเริ่มตรวจสอบ และร่วมมือกับ GitHub สลับ OAuth token ของลูกค้าทั้งหมด หลังการตรวจสอบอย่างละเอียด CircleCI พบว่ามีวิศวกรรายหนึ่งโดนมัลแวร์ในโน้ตบุ๊กของบริษัทมาตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน ทำให้ผู้บุกรุกสามารถเข้าถึงเซสชันการล็อกอิน (ที่ป้องกันด้วย 2FA) ได้ และส่งผลให้เขาถึงระบบ production ภายในบางส่วนได้สำเร็จ โชคร้ายว่าพนักงานรายนี้มีสิทธิสร้าง token สำหรับเข้าถึงระบบภายในด้วย (ตามตำแหน่งงาน) ทำให้ผู้บุกรุกเข้าถึงข้อมูลบางส่วนของลูกค้า ได้แก่ environment variables, tokens, keys CircleCI ได้สลับ token/key ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงในระบบของพาร์ทเนอร์ได้แก่ AWS, GitHub, Bitbucket แต่ก็ยอมรับว่ามีลูกค้าบางราย (ระบุตัวเลขว่าน้อยกว่า 5 ราย) ได้แจ้งเตือนบริษัทถึงการโจมตีต่อเนื่องไปยังระบบอื่นๆ จากข้อมูลหลุดครั้งนี้แล้ว (fewer than 5 customers have informed us of unauthorized access to third-party systems as a result of this incident.) บริษัทบอกว่ามั่นใจว่าระบบภายในของตัวเองกลับมาทำงานได้ปกติแล้ว และเพิ่มมาตรการความปลอดภัยอื่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดการแฮ็กแบบนี้ขึ้นได้อีก ทั้งระบบแอนตี้ไวรัสที่ตรวจจับเคสแบบนี้ได้เจาะจงมากขึ้น และการป้องกันการขโมยเซสชันด้วย ที่มา - CircleCI
# [ลือ] Twitter ตั้งใจบล็อคไคลเอนต์อื่น เช่น Twitterific, Tweetbot ไม่ให้เข้าถึง API ต่อจากข่าว ไคลเอนต์ Twitter 3rd Party เช่น Twitterific, Tweetbot มีปัญหา ใช้งานไม่ได้ ตอนนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ จากบริษัท Twitter หรือแม้แต่ Elon Musk เอง อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ข่าว The Information อ้างว่าได้เห็นข้อความ Slack ภายใน Twitter ที่บอกว่านี่เป็น "ความตั้งใจ" (intentional) ที่จะบล็อคไคลเอนต์ตัวอื่นๆ นอกบริษัท เพื่อบีบให้ผู้ใช้ต้องย้ายไปใช้ไคลเอนต์อย่างเป็นทางการเท่านั้น แต่ยังไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่าเป็นไอเดียของ Elon Musk ด้วยหรือไม่ ที่มา - The Information
# เครือข่าย Verizon รองรับ Teams Phone ใช้เบอร์มือถือคุย Teams ได้ข้ามอุปกรณ์ ไมโครซอฟท์มีบริการชื่อ Teams Phone ใช้ประชุมเสียงผ่านโทรศัพท์ ซึ่งมีผู้ใช้มากถึง 80 ล้านคน (ตัวเลขปี 2021) โดยรองรับทั้งการโทรผ่าน VoIP และชุมสาย PSTN แบบดั้งเดิม ความนิยมของ Teams Phone ทำให้ไมโครซอฟท์ร่วมมือกับโอเปอเรเตอร์ทั่วโลก ให้เครือข่ายมือถือรองรับ Teams Phone ด้วย ล่าสุด Verizon เป็นโอเปอเรเตอร์รายแรกของสหรัฐที่รองรับ ทำให้สามารถใช้เบอร์โทรศัพท์เดียวของ Verizon กับอุปกรณ์ทุกตัว (รวมพีซี) ที่รองรับ Teams Phone ได้เลย หากเพื่อนร่วมงานโทรหาเราด้วยเบอร์มือถือ แต่กดเรียกผ่านระบบ Teams Phone เสียงจะดังในอุปกรณ์ที่เราถืออยู่ได้ และสามารถทำ Call Transfer ข้ามอุปกรณ์โดยสายไม่หลุดได้ด้วย โอเปอเรเตอร์บางแห่งในโลกรองรับฟีเจอร์ Teams Phone กันบ้างแล้ว รายก่อนหน้านี้คือ Rogers ของแคนาดา, Telia ของสวีเดน ส่วนรายอื่นที่สัญญาว่าจะรองรับคือ BT ของอังกฤษ, T-Mobile ของเยอรมนี และ Swisscom ของสวิตเซอร์แลนด์ ที่มา - Verizon via Windows Central
# NPD เผยอันดับเกมขายดีประจำปี 2022 ในสหรัฐ, Call of Duty แชมป์, Elden Ring อันดับสอง บริษัทวิจัยตลาด NPD Group รายงานอันดับเกมขายดีประจำปี 2022 ตลอดทั้งปี (เฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา นับรวมทุกแพลตฟอร์ม ทั้งแบบแผ่นและดิจิทัล แต่มีบางเกมนับเฉพาะแผ่นคือ Pokemon ทั้งสองภาค) อันดับหนึ่งเป็นของ Call of Duty: Modern Warfare 2 ซึ่งไม่น่าแปลกใจนัก เพราะเกม Call of Duty มักเป็นแชมป์เกมขายดีของปีนั้นๆ อยู่แล้ว (NPD เคยออกข่าวนี้มาก่อนแล้ว แต่รอบนี้คือรายชื่อ 10 อันดับแบบเต็มๆ) ส่วน Elden Ring ที่ปีนี้ทำผลงานได้ดีเยี่ยมทั้งเสียงวิจารณ์ รางวัล และยอดขาย ตามมาในอันดับสอง Call of Duty: Modern Warfare 2 Elden Ring Madden NFL 23 God of War: Ragnarok LEGO Star Wars: The Skywalker Saga Pokemon: Scarlet/Violet FIFA 23 Pokemon Legends: Arceus Horizon II: Forbidden West MLB: The Show 22 ที่มา - NPD
# Android Studio Electric Eel (2022.1.1) ออกแล้ว กูเกิลออก Android Studio เวอร์ชันใหม่ โค้ดเนมปลาไหลไฟฟ้า Electric Eel (2022.1.1) ตามแนวทางตั้งชื่อเป็นสัตว์เรียงตามตัวอักษรภาษาอังกฤษ (ตัวก่อนหน้านี้คือ Dolphin, ตัวถัดไปจะชื่อ Flamingo) เวอร์ชันนี้มีของใหม่หลายอย่างดังนี้ Compose Preview ตัวแสดง UI ที่เขียนด้วย Compose จะแสดงพรีวิวแบบอัพเดตอัตโนมัติแล้ว จากเดิมเวอร์ชันก่อนหน้านี้ต้องกด refresh กันเอง นอกจากนี้ยังแสดงสเปกของเครื่องมือถือที่ทดสอบให้ดูด้วย Universal Problems Panel ยุบหน้ารวมการแจ้งเตือนปัญหาต่างๆ มาเป็น Problems ช่องเดียว App Quality Insights ตัววิเคราะห์การแครชของแอพ โดยดึงข้อมูลจาก Firebase Crashlytics มาอยู่ใน Android Studio โดยตรงเลย ปรับปรุง Gradle Sync ให้ทำงานแบบขนาน (บางส่วน) ประสิทธิภาพดีขึ้นเฉลี่ย 60% Build Analyzer เพิ่มการวิเคราะห์ download impact ว่าการดาวน์โหลด dependency ระหว่างกระบวนการ build ช้าเร็วแค่ไหน มีผลกระทบแยกให้ดูตาม repository เพื่อค้นหาว่าจุดไหนมีปัญหา ตัวจดบันทึกล็อก Logcat ถูกเขียนใหม่หมด ปรับปรุง UI ใหม่ อีมูเลเตอร์รองรับการสร้าง Desktop AVD สำหรับทดสอบรันแอพ Android บน Chromebook, Resizable Emulator สามารถสั่งปรับขนาดหน้าจอของอีมูเลเตอร์ได้แล้ว Physical Devices Mirroring แสดงหน้าจอของอุปกรณ์ที่รันแอพจริงๆ มาบน IDE (เชื่อมต่อผ่าน ADB) ที่มา - Android Developers Blog
# WebSQL กลับมาแล้ว กูเกิลโชว์ SQLite รันในเบราว์เซอร์ด้วย WebAssembly และ OPFS มาตรฐาน WebSQL เคยได้รับความสนใจช่วงสิบปีที่แล้ว ที่หลายคนอยากให้เบราว์เซอร์มีฐานข้อมูล SQL ใช้งานได้ในตัวโดยไม่ต้องเชื่อมต่อเซิร์ฟเวอร์ แต่มาตรฐานนี้ก็ไม่ได้รับความนิยมนักทำให้เบราว์เซอร์หยุดซัพพอร์ตกันไปโดย Chrome เองก็ประกาศเตรียมถอด WebSQL ตั้งแต่ Chrome 105 เมื่อปีที่แล้วแต่ยังสามารถเปิด policy กลับมาใช้งานได้ ล่าสุดกูเกิลโชว์ให้ดูว่านักพัฒนาที่ต้องการใช้ SQL ในเบราว์เซอร์ตอนนี้สามารถใช้งานได้ด้วยเทคโนโลยี WebAssembly และ OPFS WebAssembly เปิดทางให้ซอฟต์แวร์เนทีฟแพลตฟอร์มต่างๆ สามารถคอมไพล์เป็นไบนารีเพื่อมารันในเบราว์เซอร์ได้ และโครงการ SQLite ก็รองรับแพลตฟอร์ม WebAssembly เป็นทางการเมื่อปลายปี 2022 ที่ผ่านมา ส่วน Origin Private File System (OPFS) นั้นเป็นระบบไฟล์ในเบราว์เซอร์ ทำให้โค้ดที่รันในเบราว์เซอร์สามารถสร้าง, อ่าน, เขียน ไฟล์ในระบบไฟล์เสมือนที่จำกัดอยู่ในโดเมนของตัวเองเหมือนการสร้างตัวแปรหรือข้อมูล cookie บทความของกูเกิลแสดงว่าเมื่อใช้เทคโนโลยีสองส่วนร่วมกัน นักพัฒนาเว็บก็สามารถสร้างฐานข้อมูลด้วย SQLite สั่งเขียนอ่านได้เหมือนมี API รองรับ SQL อยู่ในเบราว์เซอร์โดยตรง แถมยังสามารถดาวน์โหลดตัวฐานข้อมูลออกไปใช้ข้างนอกได้ถ้าต้องการ การใช้งาน WebAssembly ร่วมกับ SQLite.wasm และ OPFS ทำให้นักพัฒนาสามารถใช้เทคโนโลยีอื่นๆ ได้อีกมาก ที่ผ่านมามีการสาธิต เช่น การใช้ Python ในเบราว์เซอร์แทนจาวาสคริปต์ ที่มา - Google Developer Blog
# NVIDIA Broadcast เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ แก้ไขดวงตาผู้พูด ให้มองกล้องตลอดเวลา NVIDIA ประกาศคุณสมบัติใหม่ของ NVIDIA Broadcast ซอฟต์แวร์สำหรับการสตรีมถ่ายทอดสด ที่ใช้ A.I. เข้ามาช่วยประมวลผลภาพและเสียง โดยในเวอร์ชัน 1.4 มีของใหม่เพิ่มมา 2 รายการดังนี้ ฟีเจอร์แรกคือเอฟเฟกต์ Eye Contact (สถานะเบต้า) แก้ไขดวงตาให้อยู่ในตำแหน่งที่มองกล้องตลอด เป็นการสื่อสารกับผู้ชม แม้ตอนนั้นสายตาอาจเหลือบมองอย่างอื่นอยู่ แบบเดียวกับที่มีใน FaceTime ทั้งนี้ NVIDIA บอกว่าเนื่องจากสีของดวงตามีความหลากหลาย และแสงโดยรอบ อาจทำให้การปรับตำแหน่งตาผิดเพี้ยน หากผู้ใช้งานพบปัญหาให้ร่วมแจ้งปัญหามาได้ อีกฟีเจอร์คือเอฟเฟกต์ Vignette ปรับภาพฉากหลังให้เบลอเป็นโบเก้ ซึ่งช่วยให้ภาพรวมการนำเสนอมีความสวยงามมากขึ้น ที่มา: NVIDIA
# เบราว์เซอร์ Chrome เริ่มรองรับภาษา Rust เริ่มต้นจากใช้เป็นไลบรารีก่อน โครงการ Chromium ที่เป็นโครงการต้นน้ำของเบราว์เซอร์ Chrome ประกาศเริ่มรองรับไลบรารีภาษา Rust เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ภาษา Rust เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้ซอฟต์แวร์โดยรวม การใช้งานช่วงแรกจะเป็นการใช้งานทางเดียว นั่นคือตัวโค้ด Chromium หลักที่เป็น C++ จะเรียกไลบรารีที่เป็นภาษา Rust ได้แต่ไลบรารีเหล่านั้นห้ามเรียกโค้ด C++ อื่นอีก และโค้ด Rust ที่ใช้งานจะเป็นส่วนประกอบที่แยกเฉพาะทาง (standalone components) เท่านั้น ไม่ใช่ส่วนที่เป็นแกนหลักของตัวเบราว์เซอร์ โดยทั่วไปไลบรารีเหล่านี้มักรับผิดชอบงานเฉพาะทางเท่านั้น การใช้งานโค้ด Rust มากกว่านี้จะต้องมีการปรับโครงสร้างค่อนข้างมาก เพราะภาษา Rust สามารถจัดการหน่วยความจำโดยไม่ต้องการ garbage collector ได้เพราะแนวคิดสองอย่าง ได้แก่ อายุของตัวแปร (lifetime) และความเป็นเจ้าของ (exclusive mutability) แต่ในโครงสร้างของเบราว์เซอร์ Chrome นั้นมี pointer ที่ชี้ไปยังออปเจกต์เดียวกันหลายจุดและแก้ไขข้อมูลได้จากหลายส่วนพันกันไปมา การปรับโครงสร้างโค้ด C++ ให้ทำงานเข้ากับภาษา Rust ได้จึงเป็นการปรับโครงสร้างขนานใหญ่ ตอนนี้เองกูเกิลก็ลงทุนพัฒนาโครงการอย่าง Crubit ที่เชื่อมภาษา C++ เข้ากับ Rust ได้สองทางอยู่ แต่ก็ยังเป็นโครงการระดับทดลองเท่านั้น ที่มา - Google Security Blog
# Google Cloud เปิดตัวโซลูชัน A.I. สำหรับร้านค้าปลีก ทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ Google Cloud เปิดตัวโซลูชัน AI สำหรับร้านค้า ก่อนงานสัมมนาประจำปี NRF 2023 (National Retail Federation) ซึ่งช่วยทั้งการบริหารสินค้าในชั้นวาง เสริมระบบการขายออนไลน์ และปรับแต่งผลค้นหาส่วนบุคคล ในการแนะนำสินค้า โดยเทคโนโลยีที่นำมารวมเป็นโซลูชันได้แก่ Vertex AI Vision สำหรับตรวจสอบชั้นวางสินค้า ว่าสินค้าหมดหรือมีจำนวนน้อย จนถึงเวลาต้องเติมสินค้าหรือไม่, Discovery AI สำหรับช่วยคัดเลือกสินค้าที่มาแสดงในหน้าเว็บไซต์ เพื่อให้แม่นยำ และตรงกับความต้องการสินค้าในช่วงเวลานั้น และ Retail Search solution เครื่องมือสำหรับแนะนำและเก็บข้อมูล เพื่อคัดเลือกสินค้าแนะนำให้กับลูกค้าแต่ละคนได้ตรงใจมากขึ้น กูเกิลบอกว่าตลาดค้าปลีกออนไลน์ มีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง คาดว่าจะแตะ 8 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2026 และการทดสอบของกูเกิลพบว่าระบบแนะนำสินค้าที่ตรงกับผู้ซื้อแต่ละคน ช่วยเพิ่มยอดขายได้ดี และลงแรงน้อยกว่าเดิมมาก ที่มา: Google Cloud
# กูเกิลจะอัพเดตคอนโทรลเลอร์ Stadia ให้ต่อ Bluetooth ใช้เล่นเกมอื่นได้ หลัง Stadia ปิดตัว กูเกิลโพสต์ข้อความผ่านบัญชี @Stadia ยืนยันว่าจะออกอัพเดตเฟิร์มแวร์ให้คอนโทรลเลอร์ Stadia นำไปเชื่อมกับอุปกรณ์อื่นผ่าน Bluetooth ได้ ตามที่ผู้ใช้เรียกร้อง เดิมทีคอนโทรลเลอร์ Stadia ใช้เชื่อมกับเซิร์ฟเวอร์ของ Stadia โดยตรงผ่าน Wi-Fi เท่านั้น ดังนั้นเมื่อเซิร์ฟเวอร์ Stadia จะปิดตัว 18 มกราคม 2023 ย่อมทำให้คอนโทรลเลอร์กลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ การอัพเดตเฟิร์มแวร์ให้นำไปใช้เป็นคอนโทรลเลอร์เล่นเกมผ่านพีซีด้วย Bluetooth ย่อมแก้ปัญหานี้ได้ นโยบายของกูเกิลยังจะคืนเงินให้ผู้ที่ซื้อคอนโทรลเลอร์ Stadia รวมถึงซื้อเกมบน Stadia ด้วย (เท่ากับว่าได้คอนโทรลเลอร์มาใช้งานฟรี)
# ซีทีโอ Meta ยอมรับ ธุรกิจ Metaverse มีพนักงานเยอะเกิน ทำงานซ้ำซ้อนล่าช้า เอกสารแก้กัน 100 คน The Verge ได้บันทึกภายในของ Andrew Bosworth ซีทีโอของ Meta ส่งถึงพนักงานช่วงปลายปี 2022 ซึ่งเขายอมรับว่าบริษัทจ้างพนักงานมากเกินไป ก่อให้เกิดความซ้ำซ้อน (overhead) ที่ทำให้ทุกอย่างช้าลง จึงเป็นเหตุให้ธุรกิจฝั่ง Metaverse ที่เรียกว่า Reality Labs เดินหน้าช้าเกินไป ปัจจุบัน Reality Labs มีพนักงานมากถึง 18,000 คน โดย Bosworth บอกว่าทุกสัปดาห์เขาจะได้เห็นเอกสารที่มีคนร่วมแก้ไขมากกว่า 100 คน และการประชุมที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 50 คน ซึ่งกว่าจะว่างตรงกันต้องใช้เวลาเป็นเดือน บางครั้งต้องมีการประชุมเพื่อเตรียมการประชุม (pre-meeting) ด้วยซ้ำ เขาบอกว่าสถานการณ์แบบนี้ไม่เวิร์คสำหรับองค์กร ก่อนหน้านี้ John Carmack ซึ่งเป็นอดีตซีทีโอของ Oculus เพิ่งลาออกจาก Meta โดยบันทึกสั่งลาของเขาก็วิจารณ์กระบวนการทำงานภายใน Meta ว่าล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพ ที่มา - The Verge
# [IDC] ตลาดสมาร์ทโฟนมือสองและ Refurbished แนวโน้มเติบโตสูง เฉลี่ย 10.3% ต่อปี บริษัทวิจัยตลาด IDC รายงานและพยากรณ์ตลาดสมาร์ทโฟนมือสอง รวมถึงเครื่อง Refurbished (ใช้ฮาร์ดแวร์ใหม่บางส่วน) จากจำนวนเครื่องขายได้ 282.6 ล้านเครื่อง ในปี 2022 จะเพิ่มเป็น 413.3 ล้านเครื่อง ในปี 2026 คิดเป็นค่าเฉลี่ยการเติบโตปีละ 10.3% ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดสมาร์ทโฟนมือสองเติบโต คือโครงการนำเครื่องเก่ามาเป็นส่วนลดแลกซื้อเครื่องใหม่ (Trade-In) ของผู้ผลิตมือถือตลอดจนผู้ให้บริการ ซึ่งแนวทางนี้ทำมานานแล้วในอเมริกา แคนาดา และยุโรปตะวันตก เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าอัพเกรดเครื่อง แต่ยังเป็นรูปแบบที่ใหม่ในหลายประเทศ ซึ่งตอนนี้มีแนวโน้มนิยมกันมากขึ้น อีกปัจจัยคือราคาสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ ที่มีราคาสูงขึ้นกว่าเดิมมาก ทำให้คนต้องการอัพเกรดก็มาโครงการ Trade-In เพื่อรับส่วนลด ขณะที่คนต้องการสมาร์ทโฟนใหม่ อาจมองหาแนวทางซื้อเครื่องมือสองแทน ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยเครื่องมือสองเพิ่มขึ้นด้วย ที่มา: IDC ภาพ Samsung Trade-In
# ผู้สร้าง Assassin's Creed Mirage บอกภาคนี้กลับมาใช้โลกขนาดเล็กลง เน้นเนื้อเรื่องมากขึ้น Stéphane Boudon ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของ Ubisoft ให้สัมภาษณ์เล่าถึงเกม Assassin's Creed Mirage ว่าตั้งใจทำเกมให้มีขนาดเล็กลง หลังจากเกม 3 ภาคหลังสุดคือ Origins, Odyssey, Valhalla กลายเป็นเกมโอเพนเวิลด์ที่มีโลกขนาดใหญ่มากเกินไป Boudon บอกว่าระหว่างการเตรียมพัฒนาโปรเจคนี้ พบว่าแฟนๆ เกม Assassin's Creed ต้องการให้ทำเกมเน้นเนื้อเรื่องของตัวละคร และนำเกมกลับมาสู่แกนหลักของซีรีส์อีกครั้ง แนวคิดนี้จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจค เกมภาค Mirage ยังเคารพเกมภาคแรกในหลายเรื่อง รวมถึงการกลับมาใช้ฉากในตะวันออกกลาง และเนื้อเรื่องที่สัมพันธ์กับกลุ่มนักฆ่า Assassin's Order โดยตรง ซึ่งต่างจากเกม 3 ภาคล่าสุดที่ไม่ได้พูดถึงส่วนนี้นัก ที่มา - GamesRadar+
# Crypto.com ประกาศปลดพนักงานทั่วโลก 20% แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโต Crypto.com ประกาศว่าบริษัทจะปลดพนักงานทั่วโลก 20% ซึ่งเป็นการปลดถัดจากที่ปลดพนักงาน 5% เมื่อกลางปีที่แล้ว ซีอีโอ Kris Marszalek บอกว่าในปี 2022 บริษัทเริ่มต้นด้วยทิศทางการเติบโตที่ดี แม้ต่อมาพบปัญหาในภาพรวมเศรษฐกิจ บริษัทก็ได้ปลดพนักงานไปบางส่วนก่อนแล้ว แต่ถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาของ FTX ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นอย่างรุนแรงต่อธุรกิจในอุตสาหกรรม จึงจำเป็นต้องบริหารสถานะทางการเงินของบริษัทในตอนนี้ให้มั่นคง อย่างไรก็ตามเขายังมั่นใจในอนาคตระยะยาวของ Crypto.com ทั้งการปฏิบัติตามเงื่อนไขกำกับดูแล ระบบความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวผู้ใช้งาน ที่มา: Crypto.com
# ไคลเอนต์ Twitter 3rd Party เช่น Twitterific, Tweetbot มีปัญหา ใช้งานไม่ได้ Twitter มีปัญหาอีกแล้ว แต่คราวนี้เกิดขึ้นกับแอปไคลเอนต์ 3rd Party บางแอป พบปัญหาไม่สามารถใช้งาน โดยแอปที่มีรายงานว่าเจอปัญหาคือ Twitterific และ Tweetbot ขณะที่บางแอปพบปัญหาบางส่วนเช่น Fenix แอปเหล่านี้ต้องเชื่อมต่อกับ Twitter ผ่าน API โดยข้อความที่แสดงระบุว่ามีปัญหาในการขอยืนยันการเชื่อมต่อ โดยบัญชีของทั้ง Tweetbot และ Twitterific ต่างบอกเหมือนกัน ว่าได้ติดต่อไปที่ Twitter แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับถึงปัญหาดังกล่าว บัญชีทางการของ Twitter, Twitter Support หรือ Elon Musk ก็ยังไม่ได้พูดถึงปัญหาดังกล่าว ที่มา: The Verge
# Evan Williams และ Biz Stone ผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter เปิดบัญชี Mastodon แล้ว สองผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter คือ Evan Williams และ Biz Stone เปิดบัญชี Mastodon แล้ว (ไล่เลี่ยกับ Medium ซึ่งเป็นบริษัทของทั้งสองคน เปิดเซิร์ฟเวอร์ Mastodon ของตัวเองชื่อ me.dm) โดย Stone โพสต์ว่าประสบการณ์ใช้งาน Twitter ช่วงหลังของเขาไม่ดีนัก เขาจึงมาลอง Mastodon ดูว่าเป็นอย่างไร ส่วน Williams ให้สัมภาษณ์ว่าเขาสนับสนุนแนวคิดที่เปิดกว้าง เครือข่ายที่กระจายศูนย์ ซึ่งจะช่วยให้เกิดนวัตกรรมในยุคที่แพลตฟอร์มขนาดใหญ่มีอำนาจมากเกินไป เขาบอกว่าตอนนี้เราอยู่ในช่วงเวลาพิเศษที่ผู้คนกำลังมองหาทางเลือกใหม่ๆ บัญชีของ Stone อยู่บน me.dm แล้ว ส่วน Williams ยังเป็นบัญชีบน mastodon.social และยังไม่ได้เปิดบน me.dm ที่มา - Bloomberg
# หลุดภาพ Galaxy S23 รุ่นปกติ หน้าตาเหมือน S22 แต่ไม่มีแถบกล้องสีเงินด้านหลัง เว็บไซต์ WinFuture.de ปล่อยภาพหลุดของ Galaxy S23/S23+ รุ่นปกติ (ไม่ใช่ Ultra) ก่อนงานเปิดตัว 1 กุมภาพันธ์ 2023 ภาพรวมหน้าตาคล้ายกับ Galaxy S22 แต่ตัดแถบกล้องสีเงินด้านหลังออก เหลือแต่รูกล้องอย่างเดียวเท่านั้น โทนสีเครื่องรอบนี้เป็นสีอ่อนแนวพาสเทล มีทั้งหมด 4 สีคือ Phantom Black, Botanic Green, Mystic Lilac (ชมพู), Cotton Flower (ขาว) ที่มา - WinFuture via Android Police
# [ลือ] จีนยอมให้ Didi กลับมาให้บริการเต็มรูปแบบ หลังวางมาตรการบีบคั้นมาสองปี แหล่งข่าวไม่เปิดเผยตัวระบุกับ Reuters ว่ารัฐบาลจีนจะยอมให้แอป Didi Chuxing กลับมาให้บริการเต็มรูปแบบ มีแอปอยู่ในสโตร์ต่างๆ ได้เหมือนเดิมแล้ว หลังจากรัฐบาลไม่พอใจที่บริษัทไประดมทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อปี 2021 หลังจาก Didi ระดมทุนในสหรัฐฯ สำเร็จก็ถูกสั่งให้ถอดแอปออกจากสโตร์ต่างๆ ทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถโหลดแอปใหม่ได้ แม้จะยังให้บริการลูกค้าเดิมมาได้เรื่อยๆ แม้ทางหน่วยงานจัดการไซเบอร์ของจีนจะให้เหตุผลลงโทษว่าเป็นเพราะบริษัทเก็บข้อมูลส่วนบุคคลไม่ถูกต้อง แต่ก็มีข่าวว่าหน่วยงานสั่งให้ Didi ย้ายไประดมทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงแทน และทาง Didi ก็ยอมทำตาม ที่มา - The Strait Times
# Synology เปิดตัว DS723+/DS923+ NAS สำหรับผู้ใช้ตามบ้าน ใส่ 10GbE เพิ่มได้ Synology เปิดตัว NAS รุ่นล่าสุด DS723+ และ DS923+ สตอเรจสำหรับกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและผู้ใช้ตามบ้านรุ่นล่าสุด ความเปลี่ยนแปลงสำคัญคือเพิ่มช่อง PCIe Gen3 สำหรับใส่โมดูล 10GbE เพิ่มเติมได้ ทำให้เป็นรุ่นแรกของ Synology ในตระกูลธุรกิจขนาดเล็กที่รองรับการเชื่อมต่อเกิน GbE ปกติ ตัวซีพียูยังคงใช้ AMD Ryzen R1600 รองรับ RAM ECC เหมือน DS1522+ ที่เปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว ช่วงหลังที่สตอเรจมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ น่าจะทำให้ผู้ใช้ต้องการการเชื่อมต่อที่แบนวิดท์สูงกว่า GbE ปกติมากขึ้นเรื่อยๆ ฝั่ง QNAP นั้นใส่ 2.5GbE มาเป็นมาตรฐานหลายรุ่นพร้อมกับออกสวิตช์มารองรับกัน แต่ฝั่ง Synology เลือกรองรับ 10GbE เป็นอุปกรณ์เสริม โดยก่อนหน้านี้รองรับเฉพาะตระกูล XS สำหรับองค์กรเป็นหลัก และรอบนี้ก็รองรับในตระกูล Plus ด้วย ที่มา - Synology
# Tim Cook ขอรับผลตอบแทนการทำงานในปี 2023 ลดลง 40% จากปี 2022 แอปเปิลยื่นเอกสารต่อ SEC เป็นรายละเอียดการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี โดยมีประเด็นน่าสนใจคือผลตอบแทนซีอีโอ ซึ่งระบุว่า Tim Cook จะได้รับผลตอบแทนรวมที่ประมาณ 49 ล้านดอลลาร์ ลดลง 40% จากตัวเลขในปี 2022 ซึ่งอยู่ที่ 98 ล้านดอลลาร์ (หุ้น 83 ล้านดอลลาร์, เงินเดือน 3 ล้านดอลลาร์, ผลตอบแทนอื่น 12 ล้านดอลลาร์) ในรายงานบอกว่าผลตอบแทนที่ลดลงนี้ เป็นข้อเสนอจากทาง Tim Cook เอง รวมกับความคิดเห็นของที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อปีที่แล้ว และความเห็นจากบอร์ดบริหาร และบอกว่าการทำงานของ Tim Cook ในฐานะซีอีโอยังโดดเด่น รวมถึงมั่นใจในการบริหารตามแผนระยะยาวของแอปเปิล นอกจากปรับลดผลตอบแทนรวมแล้ว จำนวนหุ้นจัดสรรแบบมีเงื่อนไข ที่สามารถขายได้ตามกำหนดเวลา ส่วนที่ Tim Cook ยังปรับอัตราส่วน จากเดิม 50% ที่ได้รับขึ้นอยู่กับผลตอบแทนของราคาหุ้นแอปเปิล เพิ่มมาเป็น 75% ที่มา: CNBC
# [data.ai] ภาพรวมตลาดแอปมือถือ มีการจ่ายเงินลดลง 2% สาเหตุหลักจากกลุ่มเกม แต่การดาวน์โหลดยังเติบโต บริษัทวิจัยตลาดแอป data.ai (ชื่อเดิม App Annie) รายงานภาพรวมตลาดแอปมือถือของปี 2022 มีประเด็นสำคัญคือการใช้จ่ายผ่านแอป (iOS, Google Play, Store 3rd Party ของ Android ในจีน) รวมกันอยู่ที่ 167 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 2% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นตัวเลขลดลงปีแรกนับตั้งแต่มีการรายงาน อย่างไรก็ตามตัวเลขอื่นยังเติบโต มีการดาวน์โหลดแอปใหม่รวม 255 พันล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 11%, การใช้งานต่อวันเพิ่ม 3% เป็น 5 ชั่วโมง, การลงโฆษณาบนมือถือก็เพิ่ม 14% เป็น 336 พันล้านดอลลาร์ การใช้จ่ายผ่านแอปที่ลดลง เมื่อแยกเป็นกลุ่มแอปพบว่ากลุ่มเกมลดลง 5% เป็น 110 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่กลุ่มแอปไม่ใช่เกม การใช้จ่ายยังเพิ่มขึ้น 6% เป็น 58 พันล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่มาจากแอปประเภทสตรีมมิ่ง, แอปหาคู่ และแอปวิดีโอสั้น ภาพรวมทั่วโลก แอปกลุ่มไม่ใช่เกมที่มีจำนวนดาวน์โหลดสูงสุดคือ Instagram โดย TikTok อยู่ในอันดับ 2 แต่ถ้าวัดการจ่ายเงินผ่านแอป TikTok อยู่ในอันดับ 1 และแอปที่มีจำนวนผู้ใช้งานต่อเดือน (MAUs) สูงสุดคือ Facebook ส่วนกลุ่มเกม Subway Surfers มีการดาวน์โหลดสูงสุด, Honor of Kings (RoV ไทย) มีการจ่ายเงินสูงสุด และ Roblox มี MAUs มากที่สุด ในรายงานฉบับเต็มยังมีรายละเอียดแยกรายประเทศ โดยส่วนของประเทศไทย มีประเด็นน่าสนใจดังนี้ คนไทยใช้เวลาบนมือถือ 4.7 ชั่วโมงต่อวัน คงที่เทียบกับปี 2021 3 เกมจำนวนดาวน์โหลดมากที่สุด: Free Fire, RoV, Roblox 3 เกมจำนวนผู้เล่น MAUs มากที่สุด: RoV, Roblox, Free Fire 3 เกม การจ่ายเงินมากที่สุด: RoV, Free Fire, Coin Master 3 เกม จำนวนดาวน์โหลดเติบโตโดดเด่น: Super Sus, Color Time, Save the Doge MAKE เป็นแอปการเงินที่ยอดดาวน์โหลดเติบโตเด่น แอปกลุ่มซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (BNPL) การดาวน์โหลดเพิ่ม 959% TikTok Seller มีการดาวน์โหลดโตสูงในกลุ่มแอป Commerce Viu เป็นแอปวิดีโอสตรีมมิ่งที่จำนวนดาวน์โหลดสูงสุด TikTok เป็นแอปโซเชียลมีเดีย ที่มีดาวน์โหลดและการจ่ายเงินสูงสุด 7-Eleven TH เป็นแอปหมวดอาหาร ที่มีดาวน์โหลดและ MAUs สูงสุด Agoda เป็นแอปหมวดท่องเที่ยว ที่มีดาวน์โหลดสูงสุด หมอพร้อม เป็นแอปหมวดสุขภาพ ที่มีดาวน์โหลดสูงสุด AIScore เป็นแอปหมวดกีฬา ที่มีดาวน์โหลดสูงสุด Omi เป็นแอปหาคู่ จำนวนดาวน์โหลดสูงสุด ขณะที่ Tinder มีการจ่ายเงินสูงสุด ที่มา: data.ai
# HPE ซื้อกิจการ Pachyderm สตาร์ทอัพซอฟต์แวร์สำหรับงาน AI Hewlett Packard Enterprise หรือ HPE ประกาศซื้อกิจการ Pachyderm สตาร์ทอัพที่พัฒนาซอฟต์แวร์แบบโอเพนซอร์ส สำหรับสร้าง Machine Learning Pipeline แบบอัตโนมัติ เพื่อใช้ในงานแอพพลิเคชัน AI ทั้งนี้ดีลดังกล่าวไม่มีการเปิดเผยมูลค่าที่เข้าซื้อ Justin Hotard รองประธานและผู้จัดการทั่วไปส่วนธุรกิจ HPC และ AI ของ HPE พูดถึงดีลดังกล่าวว่าโครงการ AI ในองค์กรมีความซับซ้อนและขนาดข้อมูลที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลมีความต้องการสร้างโซลูชัน AI ที่จัดการ Machine Learning อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้ต้นทุนโครงสร้างพื้นฐานน้อยที่สุด ซึ่งซอฟต์แวร์ของ Pachyderm มีจุดเด่น รองรับข้อมูลทุกรูปแบบในงาน AI HPE บอกว่าเทคโนโลยีของ Pachyderm จะนำมารวมกับแพลตฟอร์ม HPE Machine Learning Development Environment ตลอดจนนำมาให้บริการกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ที่มา: HPE
# เผย Microsoft ได้พูดคุยเรื่องซื้อกิจการ Figma ด้วย ในช่วงที่ Adobe มาขอซื้อกิจการ Adobe ส่งเอกสารชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับดีลซื้อกิจการ Figma หลังหน่วยงานกำกับดูแลเข้ามาตรวจสอบประเด็นผูกขาด ซึ่งมีข้อมูลใหม่ว่ามีอีกบริษัทได้พูดคุยเรื่องซื้อกิจการ Figma ด้วยตอนนั้น ในเอกสารนั้น Adobe ระบุชื่อว่าบริษัท A แต่ CNBC อ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่าบริษัทนั้นคือไมโครซอฟท์ โดยการพูดคุยเกิดขึ้นหลังจาก Adobe มาขอซื้อกิจการครั้งแรก ที่ปรึกษาทางการเงินของ Figma จึงแนะนำให้ลองคุยกับผู้สนใจรายอื่น ซึ่งไมโครซอฟท์มีการใช้งาน Figma ภายในบริษัทอยู่มาก แต่ก็จบที่ไมโครซอฟท์ปฏิเสธข้อเสนอนี้ไป รายละเอียดการเจรจากับ Adobe ยังพูดถึงการต่อรองราคา โดยราคาที่ Adobe เสนอคือ 20,000 ล้านดอลลาร์ แต่ทาง Figma เสนอราคากลับสองครั้งที่ 23,000 ล้านดอลลาร์ และ 21,500 ล้านดอลลาร์ แต่ทาง Adobe ยืนยันที่ 20,000 ล้านดอลลาร์ จึงจบที่ราคาดังกล่าวนั่นเอง ที่มา: CNBC
# อินเทลเปิดตัว Core i9-13900KS ซีพียูรุ่นแรงที่สุดของ 13th Gen, คล็อค 6GHz จากโรงงาน อินเทลเปิดตัว Core i9-13900KS ซีพียูเดสก์ท็อปตัวแรงที่สุด (รหัส KS) ของ 13th Gen Raptor Lake โดยมีคล็อค 6GHz มาให้ตั้งแต่แรก ไม่ต้องโอเวอร์คล็อคเพิ่ม อินเทลชูว่า Core i9-13900KS คือซีพียูเดสก์ท็อปที่แรงที่สุดในโลกตอนนี้ มี 24 คอร์ (8P+16E), 32 เธร็ด, อัตราการใช้พลังงานเบื้องต้น 150W, แคช L3 36MB, PCIe จำนวน 20 เลน (5.0x16 + 4.0x4) ราคาขาย 699 ดอลลาร์ สเปกของ 13900KS เหมือนกับรุ่นรองท็อป 13900K (ไม่มี S) ทุกอย่าง ยกเว้นคล็อคที่สูงขึ้น 200MHz แลกมาด้วยอัตราการใช้พลังงานเพิ่มจาก 125W เป็น 150W และขึ้นราคาจาก 589 ดอลลาร์เป็น 699 ดอลลาร์ ที่มา - Intel, AnandTech
# Twitter จะปิดสำนักงานสาขาในหลายประเทศ หลังไม่ยอมจ่ายค่าเช่า ให้พนักงานทำงานรีโมท พนักงานของ Twitter ที่สิงคโปร์ (ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก) ได้รับคำสั่งให้เคลียร์โต๊ะทำงานที่ตึก CapitaGreen และย้ายไปนั่งทำงานที่บ้านโดยไม่มีคำอธิบายใดๆ ทำให้เกิดการคาดเดาว่า Twitter จะปิดสำนักงานสาขาสิงคโปร์ ตามแนวทางการไม่จ่ายค่าเช่าของ Elon Musk เว็บไซต์ Business Insider ยังรายงานว่าสำนักงานสาขาในประเทศอื่นๆ อีกจำนวนมาก เช่น ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ เม็กซิโก ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ อินเดีย จะถูกปิดในลักษณะเดียวกัน และให้พนักงานไปทำงานแบบรีโมทแทน ที่มา - Bloomberg, Business Insider
# Medium เปิดเซิร์ฟเวอร์ Mastodon ของตัวเอง โดเมนสั้นมาก me.dm Medium เป็นบริษัทล่าสุดที่ตั้งเซิร์ฟเวอร์ Mastodon ของตัวเองในชื่อสวยๆ me.dm เพื่อให้สมาชิก Medium มาร่วมสนทนาสร้างชุมชนกัน Medium บอกว่าที่ผ่านมาแพลตฟอร์มตัวเองเน้นการเขียนบทความขนาดกลาง (ตามชื่อ "medium") การขยายมาทำ Mastodon จึงเปิดทางสู่บทความขนาดสั้นไม่เกิน 500 ตัวอักษร บริษัทยังมองว่าแนวคิดการกระจายเซิร์ฟเวอร์ (federation) แต่ยังคุยข้ามกันได้ ถือเป็นนวัตกรรมที่สำคัญของโลกโซเชียล บริษัทบอกว่าจุดขายของ me.dm เหนือเซิร์ฟเวอร์อื่นคือชื่อโดเมนสั้นมาก, เซิร์ฟเวอร์แข็งแกร่ง, การจัดการชุมชนที่ดี, เนื้อหาที่ฟีดจาก Medium เองมีความน่าสนใจ และปรับปรุงประสบการณ์ใช้งานของผู้ใช้ใหม่ให้ดีขึ้น เซิร์ฟเวอร์ me.dm จะเปิดรับนักเขียนบางคนของ Medium ก่อนในขั้นแรก และจะเปิดให้สมาชิกทุกคนของ Medium เข้ามาสมัครในระยะถัดไป โดยจะเชื่อมระบบกันให้สามารถล็อกอินผ่านบัญชีสมาชิก Medium ได้เลย ก่อนหน้าประกาศของ Medium มีบริษัทอื่นๆ หันมาเปิดเซิร์ฟเวอร์ Mastodon เองไม่น้อย เช่น Tumblr, Vivaldi, Mozilla ที่มา - Medium
# Bill Gates ระบุ Web3 ไม่ใช่เรื่องใหญ่, Metaverse ไม่ปฏิวัติวงการ, AI มาแรง จากข่าวก่อนหน้านี้ที่ Bill Gates ผู้ร่วมก่อตั้ง Microsoft ได้เปิดกระทู้ตอบคำถาม Ask Me Anything (AMA) บน Reddit ว่าเขาใช้สมาร์ทโฟน Samsung Galaxy Z Fold4 ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย มีผู้ใช้คนหนึ่งถามว่า Gates คิดว่าขณะนี้มีเทคโนโลยีอะไรที่สำคัญมากๆ บ้าง โดยเขาตอบว่า AI เป็นสิ่งสำคัญและจะมาปฏิวัติวงการ (AI is quite revolutionary) ในขณะที่ Web3 นั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ รวมถึง Metaverse ก็ไม่ใช่ของที่จะปฏิวัติวงการ (I don't think Web3 was that big or that metaverse stuff alone was revolutionary) นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้อีกคนถามว่า Gates คิดอย่างไรกับ ChatGPT ซึ่งเขาตอบว่านี่เป็นเพียงน้ำจิ้มของสิ่งที่กำลังจะมาในอนาคต และเขาประทับใจในความเร็วของการพัฒนา อีกคำถามคือหาก Gates มีโอกาสย้อนไป จะเปลี่ยนแปลงอะไรระหว่างที่เขาเป็นซีอีโอของ Microsoft โดยคำตอบคือเขาอยากเปลี่ยนสองเรื่องคืออยากจริงจังกับระบบปฏิบัติการมือถือให้มากกว่าเดิม (Android เป็นผู้ชนะ) และอีกเรื่องคืออยากจบคดีผูกขาดให้เร็วกว่าเดิม ยังมีประเด็นที่ Gates ตอบเสริมหลังพูดถึง Samsung Galaxy Z Fold4 คือปัจจุบันเขายังทำงานร่วมกับ Microsoft อยู่บ้างในด้านการวิจัยและแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเขาชอบทำงานกับ Satya Nadella ซีอีโอคนปัจจุบัน ภาพจาก @BillGates นอกจากนี้เขายังโดนผู้ใช้หลายคนตั้งคำถามเชิงโจมตีว่าเขาไล่ซื้อที่ดินในสหรัฐอเมริกาเยอะมาก ทำให้คนรวยถือครองที่ดินไว้เยอะและเกษตรกรรายเล็กไม่มีที่ดินทำกิน โดย Gates ตอบว่าเขาเป็นเจ้าของที่ดินในสหรัฐฯ ไม่ถึง 0.025% ของที่ดินทั้งประเทศ และการซื้อที่ดินก็เพื่อให้มีผลผลิตมากขึ้นรวมถึงเป็นการสร้างงาน และเขาก็คิดว่าคนรวยควรเสียภาษีมากกว่านี้ด้วย สุดท้ายยังมีคำถามสองสามประเด็นที่ถูกโหวตหลายพันโหวตแต่ Gates ไม่ตอบ เช่นความสัมพันธ์ของเขากับ Jeffrey Epstein นักการเงินที่ถูกดำเนินคดีฐานล่วงละเมิดเด็ก (Gates เคยพบกับ Epstein หลายครั้ง) หรืออีกคำถามที่โหวตเยอะแต่ไม่ได้ตอบคือเขามีอำนาจสั่งให้หา "คนที่ถูกต้อง" มาดูแลการพัฒนาเกม Halo Infinite หรือไม่ ที่มา - Reddit
# True/dtac เรียกประชุมผู้ถือหุ้นควบรวมบริษัท 23 ก.พ. 66 ชื่อบริษัทใหม่ใช้ "ทรู คอร์ปอเรชั่น" บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทคได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันนี้ว่าคณะกรรมการของทั้งสองบริษัทฯ ได้มีมติให้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นร่วม ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อพิจารณาและอนุมัติเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการควบบริษัท ทั้งสองบริษัทจะดำเนินการควบรวมให้แล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปี 2566 จนกว่าการควบรวมกิจการจะเสร็จสมบูรณ์ทั้งสองบริษัทจะคงแยกกันดำเนินธุรกิจ โดยให้บริการลูกค้าตามปกติและไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ชื่อบริษัทที่ได้รับการเสนอในการจดทะเบียนบริษัทใหม่ที่ควบรวมคือ “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” โดยที่ทั้งแบรนด์ทรูและดีแทคเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ในขณะที่แบรนด์ทรูยังเป็นที่รู้จักครอบคลุมถึงธุรกิจบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต โทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก และบริการดิจิทัล ทั้งนี้ หลังจากการควบรวม ทั้งแบรนด์ดีแทคและทรูจะยังคงแยกกันให้บริการลูกค้าของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอทางเลือกที่หลากหลายสำหรับผู้บริโภค และสามารถแข่งขันได้ในตลาดต่อไป ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ยังเตรียมเสนอรายชื่อคณะกรรมการบริษัทใหม่ เพื่อให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วมพิจารณาและอนุมัติ โดยประกอบด้วย นายศุภชัย เจียรวนนท์, นายเยอเก้น คริสเตียน อาเร้นท์ โรสทริป, ศ. (พิเศษ) ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์, นางกมลวรรณ วิปุลากร, นายกลินท์ สารสิน, นางปรารถนา มงคลกุล, นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข, ดร.เกา ถงชิ่ง, นางทูเน่ ริปเปล, นายลาส์ เอริค เทลแมนน์ และดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ผู้บริหารที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) คือ นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ซึ่งปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วมของ True ส่วนนายชารัด เมห์โรทรา CEO ของ dtac ในตอนนี้จะได้รับการเสนอชื่อเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทั้งสองฝ่ายกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นประมาณร้อยละ 30 อย่างเท่าเทียมในบริษัทใหม่ ที่มา - dtac, dtac (PDF)
# บิล เกตส์ เปลี่ยนมาใช้ Galaxy Z Fold 4 เพราะประธานซัมซุงให้มา, เดสก์ท็อปใช้ Surface Studio บิล เกตส์ ตอบคำถาม Ask Me Anything บน Reddit (นับเป็นครั้งที่ 11 แล้ว) หนึ่งในคำถามที่น่าสนใจคือเขาใช้โทรศัพท์รุ่นใดอยู่ เพราะคราวก่อนเขาตอบว่าใช้ Galaxy Z Fold 3 คำตอบของเกตส์คือตอนนี้เขาอัพเกรดมาใช้ Galaxy Z Fold 4 แล้ว หลังจากได้พบกับ JY Lee ประธานของซัมซุงที่ประเทศเกาหลีใต้ และ JY Lee มอบ Z Fold 4 ให้เป็นของขวัญ เขายังบอกว่าใช้ Outlook และซอฟต์แวร์อื่นๆ ของไมโครซอฟท์อีกหลายตัว เขายังเล่าว่าใช้ Surface Studio เป็นพีซีตั้งโต๊ะ (ตามในภาพ), มีโน้ตบุ๊ก Windows ไม่ระบุรุ่น และการที่ Z Fold มีหน้าจอขนาดใหญ่มากพอทำให้เขาไม่ต้องมีแท็บเล็ตเลย นอกจากนี้เขายังมีกระดาน Surface Hub ใช้ในออฟฟิศอีกหลายตัว ที่มา - Reddit via SamMobile
# โจ ไบเดน เรียกร้องรัฐสภาออกกฎหมายควบคุม Big Tech ด้านข้อมูลส่วนตัว อัลกอริทึม การแข่งขัน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา เขียนบทความลง Wall Street Journal เรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน ช่วยกันผ่านกฎหมายเพื่อควบคุมบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ (Big Tech) มากขึ้น ข้อเรียกร้องของไบเดนมีด้วยกัน 3 ด้านคือ ผ่านกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลระดับประเทศ (สหรัฐอเมริกามีแต่ระดับรัฐ) เพื่อจำกัดการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน ลดการยิงโฆษณาแบบเจาะจงเป้าหมาย แก้กฎหมาย Communications Decency Act มาตรา 230 ให้บริษัทไอทีมีความรับผิดชอบในฐานะตัวกลางที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร บีบให้บริษัทเหล่านี้ต้องรับผิดชอบต่ออัลกอริทึมที่ใช้เผยแพร่ข่าวปลอม เนื้อหาที่เป็นภัยต่างๆ และต้องเปิดเผยการทำงานของอัลกอริทึมให้โปร่งใสมากขึ้น สร้างการแข่งขันในอุตสาหกรรมไอทีให้มากขึ้น หลังจากบริษัทไอทีมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และใช้ความใหญ่มาเอาเปรียบคู่แข่ง ลดสภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมลง ที่มา - Wall Street Journal, Slashdot, CNET ภาพจาก Whitehouse
# ไมโครซอฟท์ปรับสวัสดิการ ให้วันลาไม่จำกัด ยังมีผลเฉพาะพนักงานในสหรัฐ เว็บไซต์ The Verge อ้างว่าได้เห็นบันทึกภายในของไมโครซอฟท์ ปรับนโยบายเรื่องการลางานของพนักงานในสหรัฐ เพิ่ม "วันลาไม่จำกัด" (unlimited time off หรือ discretionary time off) เข้ามาจากนโยบายเดิม นโยบายเรื่องวันหยุดของไมโครซอฟท์ ยังมีวันหยุดประจำปี 10 วัน, ลาป่วย, ลาพักแก้เครียด (mental health time off), วันหยุดเมื่อมีการสูญเสียบุคคลในครอบครัว และวันลาไปทำหน้าที่คณะลูกขุน (jury duty) โดยพนักงานที่ใช้วันลาพักร้อนไม่หมดในแต่ละปี สามารถแปลงเป็นเงินได้ด้วย Kathleen Hogan ผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคล ให้เหตุผลของสวัสดิการแบบใหม่ว่าสภาพการทำงานของพนักงานปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก ทั้งเรื่องเวลาทำงาน สถานที่ทำงาน วิธีทำงาน บริษัทจึงต้องปรับสวัสดิการด้านวันหยุดให้ยืดหยุ่นมากขึ้นตาม นโยบายใหม่ยังมีผลเฉพาะพนักงานแบบฟูลไทม์ในสหรัฐเท่านั้น ไม่ได้ใช้กับพนักงานจ้างรายชั่วโมง และพนักงานนอกสหรัฐที่มีกฎหมายแรงงานแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ไมโครซอฟท์ไม่ใช่บริษัทไอทีรายแรกที่มีนโยบายวันลาไม่จำกัด ก่อนหน้านี้ Salesforce, Oracle, Netflix รวมถึง LinkedIn ในฐานะบริษัทลูกของไมโครซอฟท์ ต่างใช้นโยบายนี้มาแล้ว ที่มา - The Verge
# แบงก์ชาติเปิดรับความเห็นการอนุญาตธนาคารไร้สาขา คาดไม่เกิน 3 แห่งเปิดได้จริงปี 2025 ห้ามล่มเกินปีละ 8 ชั่วโมง ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดรับฟังความเห็นแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) โดยเริ่มรับฟังความเห็นตั้งแต่วันนี้จนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ และน่าจะเริ่มรับสมัครได้ภายในปีนี้ แต่ต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกและเตรียมความพร้อม โดยน่าจะเปิดบริการได้จริงกลางปี 2025 เบื้องต้นคาดว่าจะเสนอชื่อต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่เกิน 3 ราย ธนาคารไร้สาขานับเป็นแนวทางที่ธนาคารกลางหลายชาติทั่วโลกอนุญาตให้เปิดบริการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เช่น สิงคโปร์ออกใบอนุญาตในปี 2020 จำนวน 4 ราย ส่วนเกาหลีใต้นั้นออกใบอนุญาตมาเกิน 5 ปีแล้ว ใบอนุญาตธนาคารไร้สาขาของแบงก์ชาติเป็นธนาคารค่อนข้างเต็มรูปแบบ สามารถให้กู้และรับฝากเงินได้ แต่มีข้อจำกัดคือไม่สามารถให้บริการในโลกความเป็นจริง (physical) ด้วยตนเอง เช่น การตั้งสาขา หรือแม้แต่การให้บริการตู้ ATM/CDM ก็ไม่สามารถตั้งตู้ด้วยตัวเองได้แต่ต้องให้บริการผ่านธนาคารพาณิชย์อื่น โดยธนาคารไร้สาขาควรมีความเชี่ยวทางในช่องทางดิจิทัลสูง ระบบมีความเสถียรโดยเกณฑ์ช่วงเวลาระบบมีปัญหาต้องไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อปี ที่มา - ธนาคารแห่งประเทศไทย
# องค์การบริหารการบินสหรัฐฯ ระบุฐานข้อมูลแครช ทำให้ระบบแจ้งเตือนการบินล่ม เมื่อวานนี้ระบบแจ้งเตือนการบิน (Notice to Air Missions - NOTAM) ล่มไป และใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะเริ่มกลับมาบินได้อีกครั้ง ทางองค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ก็ระบุสาเหตุที่ระบบล่มว่าเกิดจากฐานข้อมูลเสียหาย โดยไม่มีเหตุให้สงสัยว่าเป็นการโจมตีไซเบอร์ NOTAM เป็นระบบแจ้งเตือนเครื่องบินว่าสนามบินต่างๆ ปิดรันเวย์ใดบ้าง หรือมีสิ่งใดอาจกีดขวางเส้นทางการบินหรือไม่ การที่ระบบนี้ใช้งานไม่ได้จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการบิน ส่งผลให้ FAA ต้องตัดสินใจสั่งห้ามบินทั้งหมด ทาง FAA ยังคงหาต้นเหตุที่แท้จริงต่อไป และระบุว่าจะวางมาตรการไม่ให้เกิดเหตุล่มแบบนี้อีก ที่มา - @FAANews
# ตลาดพีซีไตรมาส 4/2022 ยอดขายรวมยังคงลดลงต่ออีกไตรมาส ที่ระดับ 28-29% สามบริษัทวิจัยตลาด IDC, Canalys และ Gartner ออกรายงานภาพรวมตลาดพีซีของไตรมาสที่ 4 ปี 2022 โดยทั้งสามบริษัทให้ตัวเลขทิศทางเหมือนกัน นั่นคือยอดขายพีซีในไตรมาสยังคงลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปี 2021 เป็นการลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4 โดยยอดขายภาพรวม IDC ประเมินที่ 67.2 ล้านเครื่อง ลดลง 28.1%, Canalys 65.4 ล้านเครื่อง ลดลง 29%, Gartner 65.3 ล้านเครื่อง ลดลง 28.5% Mikako Kitagawa นักวิเคราะห์จาก Gartner มองว่าลูกค้าส่วนใหญ่ได้ซื้อพีซีใหม่ไปแล้วตั้งแต่ช่วงโควิด 19 ระบาด รวมกับปัญหาเศรษฐกิจในภาพใหญ่ ตลอดจนเงินเฟ้อ จึงกระทบทำให้ความต้องการพีซีเครื่องใหม่ลดลง ส่วนแบ่งยอดขายแยกตามผู้ผลิต ในอันดับที่ 1-5 เหมือนกันทั้งสามบริษัทวิจัยนั่นคือ Lenovo, HP, Dell, Apple และ ASUS ตามลำดับ โดยทุกรายมียอดขายที่ลดลงทั้งหมด โดยมีแอปเปิลที่ลดลงน้อยกว่ารายอื่นคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เลขหลักเดียว ส่วนรายอื่นเป็นจำนวนลดลงระดับสองหลัก ที่มา: IDC, Canalys และ Gartner
# พบสิทธิบัตร Sony ให้คนดูโฆษณาบนทีวี พูดชื่อแบรนด์ เพื่อข้ามโฆษณา Sony ได้ยื่นจดสิทธิบัตรตั้งแต่ปี 2009 เป็นระบบที่ถูกตั้งชื่อว่า "ระบบเปลี่ยนโฆษณาทีวี ให้เป็นเครือข่ายวิดีโอเกมแบบอินเตอร์แอ็กทีฟ" ก่อนที่เพิ่งได้รับการรับรองเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา ภาพประกอบของสิทธิบัตร แสดงภาพของทีวี ที่เชื่อมต่อกับ Media Streaming Computer และ PS3 ที่เชื่อมกับ Interactive Commercial Service อีกที ที่คุยกับเซิร์ฟเวอร์ของเครือข่ายโฆษณาของบริการเคเบิลต่างๆ (ณ ตอนนั้น) เช่น NBC, CBS, Hulu หรือแม้แต่ MySpace เมื่อโฆษณาขึ้นมา หากไม่ต้องการรับชม คนดูจะต้องเอ่ยชื่อของแบรนด์ที่ปรากฎในโฆษณานั้นออกมา เพื่อข้ามโฆษณาที่เหลือ ถ้าดูจากประสบการณ์การรับชมของคนดูแล้ว หากระบบนี้ถูกพัฒนาและปล่อยออกมา Sony น่าจะโดนด่ากันระงมเลยทีเดียว ดังนั้นความเป็นไปได้ที่จะเห็นระบบนี้ถูกปล่อยออกมาน่าจะค่อนข้างต่ำ ในขณะเดียวกันการจดสิทธิบัตรนวัตกรรมต่างๆ แต่ไม่ได้ถูกนำมาพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการจริง ก็เป็นสิ่งที่พบได้เป็นเรื่องปกติ ที่มา - Google Patent
# [ลือ] ซัมซุงซอยรุ่นมือถือน้อยลง Galaxy S ถูกตัดรุ่นกลาง, Galaxy A ถูกตัดรุ่น A2X เว็บไซต์ The Elec ของเกาหลีใต้ รายงานข่าวลือว่าซัมซุงจะลดรุ่นย่อยของมือถือลง โดยกระทบทั้งซีรีส์ S และซีรีส์ A กรณีของซีรีส์ Galaxy S จะมีผลในปีหน้าคือ Galaxy S24 ที่อาจตัดรุ่นกลาง (S24+) ออก เหลือเพียงรุ่นเล็ก (S24) และรุ่นใหญ่ (S24 Ultra) เท่านั้น ด้วยเหตุผลว่ารุ่นกลางขายได้น้อยกว่าอีก 2 รุ่น ตัวเลขที่นักวิเคราะห์คาดกันคือ S22 มีสัดส่วนยอดขาย 38%, S22+ มีสัดส่วน 17% และ S22 Ultra มีสัดส่วน 45% ส่วนซีรีส์ Galaxy A รุ่นที่จะโดนตัดคือ A2X โดยจะเหลือเฉพาะรุ่นเลขคี่คือ A1X, A3X, A5X เท่านั้น ภาพรวมของยุทธศาสตร์นี้คือลดจำนวนรุ่นลง ลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาลง เพื่อรีดกำไรให้มากขึ้น ตามสภาพของอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนในภาพรวมที่มียอดขายลดลง ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวคล้ายๆ กันว่า แอปเปิลมีปัญหากับ iPhone 14 Plus ตัวกลางที่ขายไม่ดีเท่ากับรุ่นเล็ก-รุ่นใหญ่ รวมถึงข่าวว่า iPhone SE รุ่นที่ 4 ถูกยกเลิก ที่มา - The Elec ภาพสามพี่น้อง S22, S22+, S22 Ultra
# เกม Skull and Bones โดนเลื่อนเป็นรอบที่ 6, Ubisoft ยกเลิกโปรเจคเกมอีก 3 โปรเจค เกมโจรสลัด Skull and Bones ของค่าย Ubisoft ยังเจอเวรกรรมไม่จบสิ้น หลังเลื่อนวันวางขายรอบที่ 5 เป็น 9 มีนาคม 2023 ล่าสุดโดนคำสั่งเลื่อนรอบที่ 6 แถมยังไม่มีวันที่แน่นอน บอกกว้างๆ แค่ปี 2023-2024 (เกมเปิดตัวครั้งแรกปี 2013 เท่ากับใช้เวลาพัฒนาเกิน 10 ปีแล้ว) แต่ Skull and Bones ไม่ใช่โครงการเกมเดียวที่ประสบปัญหา เพราะ Ubisoft ยังบอกว่ายกเลิกโครงการพัฒนาเกมอีก 3 เกม (ที่ยังไม่เคยเปิดตัว) ด้วยเหตุผลเรื่องผลประกอบการออกมาไม่ดี บริษัทจึงต้องปรับลดค่าใช้จ่าย และเป้าหมายทางรายได้ใหม่อีกครั้ง ก่อนหน้านี้ Ubisoft เพิ่งประกาศยกเลิกโปรเจคเกมไปแล้ว 4 เกมเมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 เท่ากับว่ายกเลิกไปแล้วรวม 7 โปรเจค Ubisoft ระบุว่ายุทธศาสตร์ของบริษัทจะหันไปเน้นเกมแฟรนไชส์ใหญ่ๆ ที่การันตีความสำเร็จ และเกมออนไลน์แนว live services ให้มากขึ้น (ที่ระบุชื่อคือ Assassin’s Creed, Far Cry, Tom Clancy’s Ghost Recon, Tom Clancy’s Rainbow Six, Tom Clancy’s The Division) เท่ากับว่าเรามีโอกาสเห็นเกมแฟรนไชส์ใหม่ๆ แบบ Skull and Bones หรือโปรเจคเกมใหม่ๆ น้อยลง ที่มา - Ubisoft (PDF), Eurogamer
# Microsoft 365 ออกแพ็กเกจ Basic รุ่นเล็ก 1.99 ดอลลาร์/เดือน ได้ OneDrive 100GB ไมโครซอฟท์ออกแพ็กเกจ Microsoft 365 Basic รุ่นราคาถูก 1.99 ดอลลาร์ต่อเดือน หรือ 19.99 ดอลลาร์ต่อปี โดยได้พื้นที่ OneDrive 100GB, Outlook แบบไม่มีโฆษณา และฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยเพิ่มเติม แพ็กเกจนี้ไม่ใช่ของใหม่ เพราะไมโครซอฟท์มีแพ็กเกจ OneDrive Standalone 100GB ราคา 1.99 ดอลลาร์ต่อเดือนอยู่แล้ว สิ่งที่เปลี่ยนคือชื่อแพ็กเกจมาใช้แบรนด์ Microsoft 365 และเพิ่มของที่ได้อีกหน่อย เริ่มขายวันที่ 30 มกราคม 2023 เป็นต้นไป (ผู้ใช้แพ็กเกจ OneDrive 100GB เดิมจะย้ายมาเป็นแพ็กเกจใหม่ให้อัตโนมัติ) แพ็กเกจ Microsoft 365 Basic จะกลายมาเป็นแพ็กเกจราคาถูกที่สุดของ Microsoft 365 โดยระดับราคาถัดขึ้นไปคือ Microsoft 365 Personal ที่ 6.99 ดอลลาร์ต่อเดือน ได้พื้นที่ OneDrive 1TB และสิทธิใช้งาน Office เวอร์ชันเดสก์ท็อปด้วย ไมโครซอฟท์ยังประกาศว่าแอพ Microsoft 365 ตัวใหม่ไอคอนสีฟ้าอมม่วง ที่มาแทนแอพ Office ของเดิม เริ่มเปิดใช้งานเวอร์ชันเว็บแล้ว (ลองใช้ได้จาก Microsoft365.com) ส่วนเวอร์ชัน Windows, Android, iOS จะตามมาช่วงสิ้นเดือนมกราคม 2023 ที่มา - Microsoft
# Netflix ประกาศได้สิทธิถ่ายทอดสดงานประกาศรางวัล Screen Actors Guild Awards Netflix ประกาศถ่ายทอดสดงานประกาศรางวัล Screen Actors Guild Awards หรือ SAG Awards ซึ่งเป็นรางวัลที่จัดโดยสมาคมนักแสดงอาชีพของอเมริกา เพื่อมอบรางวัลให้กับนักแสดง หลังจากได้สิทธิในการเผยแพร่งานเป็นระยะเวลาต่อเนื่องหลายปีจากผู้จัด โดยงานประกาศรางวัล SAG Awards ครั้งที่ 29 ของปีนี้ Netflix จะถ่ายทอดสดผ่านช่องทาง YouTube ของ Netflix (YouTube.com/Netflix) ก่อน และตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป จะถ่ายทอดสดผ่านทางแพลตฟอร์มของ Netflix เอง Netflix เริ่มให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ที่เป็นการถ่ายทอดสดมากขึ้น ก่อนหน้านี้ก็เพิ่งประกาศถ่ายทอดสดเดี่ยวไมโครโฟนของ Chris Rock ซึ่งกำหนดฉายเดือนมีนาคม ที่มา: Netflix
# Apple เปิดตัว Business Connect ให้เจ้าของธุรกิจอัพเดตข้อมูลใน Apple Maps แอปเปิลเปิดตัว Apple Business Connect เครื่องมือสำหรับเจ้าของธุรกิจ ในการปรับแต่งข้อมูลธุรกิจ เพื่อแสดงผลใน Apple Maps ไม่ว่าจะเป็นโลโก้, ภาพร้านค้า ตลอดจนข้อมูลอื่นที่ต้องการนำเสนอ เช่น โปรโมชัน เมนูอาหารกรณีเป็นร้านอาหาร ไปจนถึงใส่ Action เช่น การจองโต๊ะผ่าน OpenTable หรือจองที่พักกรณีเป็นโรงแรม ข้อมูลธุรกิจดังกล่าว ยังเชื่อมต่อไปแสดงผลในแอปอื่นของแอปเปิลด้วย เช่น Messages, Wallet, Siri และแอปอื่น ซึ่งเจ้าของธุรกิจสามารถปรับแต่งการแสดงผลได้เช่นกัน เจ้าของธุรกิจสามารถใช้งาน Business Connect ได้ โดยใช้ Apple ID เดิม หรือสมัคร Apple ID ใหม่ สำหรับการลงทะเบียน เมื่อแอปเปิลตรวจสอบยืนยันธุรกิจแล้ว ก็สามารถอ้างสิทธิตำแหน่งที่ตั้ง และจัดการข้อมูลได้ทันทีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากนี้แอปเปิลยังมี Business Connect API สำหรับธุรกิจที่มีสาขาหลายแห่ง เพื่ออัพเดตข้อมูลผ่านตัวแทนผู้ให้บริการได้ด้วย ที่มา: แอปเปิล
# BOE ผู้ผลิตชิ้นส่วนหน้าจอให้ Apple ของจีน เตรียมเปิดโรงงานใหม่ในเวียดนาม VNExpress สื่อของเวียดนามรายงานว่า BOE Technology บริษัทผลิตชิ้นส่วนหน้าจอของจีน มีแผนสร้างโรงงานแห่งใหม่ 2 โรงงานในเวียดนาม โดยเงินลงทุนอาจสูงถึง 400 ล้านดอลลาร์ ปัจจุบันลูกค้ารายสำคัญของ BOE คือแอปเปิล ซัมซุง และ LG ซึ่ง BOE ผลิตทั้งชิ้นส่วนหน้าจอ OLED และ LCD มีข้อมูลคาดการณ์จากนักวิเคราะห์ Ming-chi Kuo ว่า BOE อาจเป็นซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนจอ iPhone รายใหญ่ที่สุดในปี 2024 แผนการขยายโรงงานออกมานอกจีนของ BOE เป็นไปตามท่าทีของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ที่เริ่มขยายการผลิตโดยลดการพึ่งพาจีนแห่งเดียว เช่นเดียวกับ Foxconn ที่เริ่มขยายการผลิตมายังประเทศอื่นมากขึ้น ที่มา: VNExpress
# รวมข่าวลือ Apple วันนี้: MacBook จอสัมผัส, จะทำชิ้นส่วนหน้าจอเอง, ปุ่มปรับเสียง iPhone แบบใหม่ มีรายงานข่าวลือเกี่ยวกับสินค้าใหม่ และแผนงานในอนาคตหลายอย่าง นำมารวมกันไว้ในข่าวเดียว รายละเอียดดังนี้ MacBook จอสัมผัส ที่ผ่านมาแอปเปิลมีท่าทีชัดเจน ที่จะไม่ทำ MacBook และสินค้าตระกูล Mac ทั้งหมดแบบจอสัมผัส เหตุผลหนึ่งเพื่อแยกความแตกต่างกับ iPad อย่างไรก็ตาม Mark Gurman แห่ง Bloomberg อ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้อง ว่าแอปเปิลเตรียมเปิดตัว MacBook Pro จอ OLED แบบสัมผัสรุ่นแรกในปี 2025 ข้อมูลที่เขาบอกคือดีไซน์ตัวเครื่อง ยังคงเป็น MacBook แบบเดิมที่คุ้นเคย แต่เพิ่มจอสัมผัสเข้ามา ระบบปฏิบัติการยังเป็น macOS ไม่ได้รวมเข้ากับ iPadOS แต่อย่างใด พัฒนาชิ้นส่วนหน้าจอแสดงผลเอง ในข่าวก่อนหน้านี้ แอปเปิลเตรียมใช้ชิปสำหรับบางฟังก์ชันที่พัฒนาออกแบบขึ้นมาเอง เพื่อลดการพึ่งพาชิปเฉพาะจาก Qualcomm หรือ Broadcom รายงานล่าสุดบอกว่าชิ้นส่วนจอแสดงผล (Display) แอปเปิลก็เตรียมเปลี่ยนมาใช้ตัวที่พัฒนาเองเช่นกัน จากปัจจุบันใช้จอแสดงผลจาก Samsung หรือ LG สินค้าตัวแรกที่แอปเปิลจะใช้จอแสดงผลพัฒนาเองคือ Apple Watch Ultra โดยกำหนดภายในปีหน้า 2024 จอดังกล่าวใช้เทคโนโลยี microLED จากนั้นเตรียมนำไปใช้กับ iPhone และอุปกรณ์อื่นต่อไป ทั้งนี้แอปเปิลจะทำเฉพาะงานออกแบบ ส่วนงานผลิตจะใช้โรงงานของซัพพลายเออร์ข้างนอก ปุ่มด้านข้าง iPhone แบบใหม่ ข้อมูลนี้มาจากนักวิเคราะห์ขาประจำคนเดิม Ming-Chi Kuo โดยบอกว่า iPhone 15 Pro จะใช้ปุ่มสัมผัสแบบไม่ขยับ (Solid-state) โดยเปลี่ยนในปุ่มที่ยังเป็นแบบขยับคือ ปุ่ม Power และปุ่มปรับระดับเสียง การทำงานของปุ่มแบบใหม่จะใช้ระบบสัมผัส และตอบสนองด้วย Taptic Engine แบบเดียวกับปุ่ม Home ใน iPhone 7 หรือแทร็กแพด Force Touch ใน MacBook ข้อดีคือปุ่มจะมีความทนทานมากขึ้น และสามารถออกแบบระบบกันน้ำได้ดีขึ้น แอปเปิลยังมีแผนขยายการใช้ปุ่มดังกล่าวใน iPhone 15 รุ่นทั่วไป และขยายไป iPad Pro กับ Apple Watch Ultra ด้วย ข่าวอื่น Ming-Chi Kuo รายงานว่า MacBook รุ่นใช้จอ OLED จะออกมาเร็วที่สุดปีหน้า Mac Pro เริ่มทดสอบแล้ว ด้วยระบบปฏิบัติการเวอร์ชันที่ยังไม่ออกมาคือ macOS 13.3 จึงคาดว่าจะเปิดตัวในต้นปีนี้ ที่มา: Bloomberg [1], [2], MacRumors [1], [2], [3]
# ไปรษณีย์สหราชอาณาจักรถูกแฮก ส่งพัสดุข้ามประเทศไม่ได้ Royal Mail หรือไปรษณีย์สหราชอาณาจักรพบ "เหตุการณ์ทางไซเบอร์" (cyber incident) โดยไม่บอกรายละเอียดเพิ่มเติมว่าเกิดเหตุอะไร แต่ระบบที่ได้รับผลกระทบหนักคือระบบส่งไปรษณีย์ข้ามประเทศส่งผลให้ไม่สามารถส่งพัสดุออกนอกประเทศได้ในช่วงนี้ และแนะนำให้ลูกค้าที่ต้องการส่งพัสดุให้รอไว้ก่อน ส่วนจดหมายและพัสดุในประเทศยังให้บริการได้แต่จะมีความล่าช้าบ้าง ทางโฆษก Royal Mail ระบุว่ากำลังสอบสวนเหตุการณ์ครั้งนี้ และขอความช่วยเหลือผู้เชี่ยวชาญภายนอกรวมถึงแจ้งหน่วยงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แล้ว โดยปกติ Royal Mail รับส่งพัสดุออกนอกประเทศเฉลี่ยวันละ 200,000 รายการ แต่จดหมายและพัสดุในประเทศนั้นปริมาณสูงกว่ามาก ที่มา - BBC
# Moderna พิจารณาขึ้นราคาวัคซีน COVID-19 4-5 เท่าตัว อาจะถึงเข็มละ 4,300 บาท Stephane Bancel ซีอีโอของบริษัท Moderna ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ว่าบริษัทกำลังพิจารณาตั้งราคาวัคซีน COVID-19 อยู่ในช่วง 110-130 ดอลลาร์ต่อโดส แพงกว่าปัจจุบันที่ขายให้รัฐบาล 26 ดอลลาร์ต่อโดส 4-5 เท่าตัว หลังช่วง COVID-19 ระบาดรุนแรงเริ่มคลายตัวรัฐบาลสหรัฐฯ ก็อาจจะถอนตัวไม่ได้ซื้อวัคซีนเหมามาฉีดฟรีให้ประชาชนเช่นที่ผ่านมา ราคาขายแบบเชิงการค้าตามปกติก็มักจะแพงขึ้นกว่าที่ขายรัฐบาลอย่างคาดเดาได้ ก่อนหน้านี้ Pfizer ก็ประกาศว่าจะขายวัคซีน COVID-19 ในช่วง 110-130 ดอลลาร์ต่อโดสเช่นกัน ราคาวัคซีนที่สหรัฐฯ ซื้อได้ในช่วงแรกมีราคาเพียง 15-16 ดอลลาร์ต่อโดสเท่านั้น แต่ก็เป็นข้อตกลงพิเศษเพราะรัฐบาลสหรัฐฯ เอื้อผลประโยชน์ให้บริษัทวิจัยยาเร่งด่วน ทั้งการสั่งซื้อล่วงหน้าโดยที่วัคซีนยังพัฒนาไม่สำเร็จ หรือบางบริษัทก็ได้รับเงินทุนก้อนใหญ่เพื่อพัฒนาวัคซีน ราคายาในสหรัฐฯ มักจะต่างจากราคาในประเทศอื่นๆ ที่ระบบการซื้อยาแตกต่างกันไป และบริษัทยาเองก็มักมีนโนบายราคาต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น ก่อนหน้านี้ Moderna เคยฟ้อง Pfizer ฐานละเมิดสิทธิบัตรแต่ก็เว้นไม่ฟ้องรายได้จากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ ที่มา - ArsTechnica ภาพการเตรียมสารเคมีเพื่อทดสอบ PCR โดย Moderna
# OpenAI เตรียมออก ChatGPT Professional เวอร์ชันเก็บเงิน ตอบสนองเร็วกว่า ไม่จำกัดข้อความ OpenAI เตรียมหาโมเดลสร้างรายได้จาก ChatGPT ด้วยการออกเวอร์ชัน Professional ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดราคา แต่มีให้ลงชื่อเป็น waitlist แล้ว จุดต่างสำคัญของ ChatGPT Professional คือใช้งานได้ตลอดเวลา ไม่มีช่วงพัก (blackout windows) ตอบสนองเร็วกว่าเวอร์ชันฟรี และไม่จำกัดปริมาณข้อความที่แชทคุยกับ AI ตอนนี้ OpenAI ยังอยู่ระหว่างการสอบถามความคิดเห็นผู้ใช้จากห้องแชทใน Discord เพื่อกำหนดราคาที่เหมาะสม และยังไม่มีประกาศผ่านช่องทางอื่นอย่างเป็นทางการ ก่อนหน้านี้เพิ่งมีข่าวว่า ไมโครซอฟท์จะเข้าไปลงทุนใน OpenAI อีกรอบด้วยมูลค่าสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ และ OpenAI เคยคาดการณ์ว่าจะทำรายได้ในปี 2023 ที่ระดับ 200 ล้านดอลลาร์ ที่มา - TechCrunch
# ระบบแจ้งเตือนการบินสหรัฐฯ ล่ม เครื่องบินทั้งประเทศห้ามขึ้นบิน ระบบ NOTAM หรือ Notice to Airmen ของสหรัฐฯ ที่เป็นระบบสำหรับแจ้งเตือนเส้นทางบินว่าอาจจะพบอันตรายต่างๆ เช่น มีเครื่องบินเปลี่ยนเส้นทางไปจากแผนเดิม ระบบล่มไปตั้งแต่ชั่วโมงที่ผ่านมา ทำให้ FAA ต้องสั่งเครื่องบินพลเรือนทั้งหมดห้ามขึ้นบิน ยกเว้นเพียงเครื่องบินทางการทหารและเครื่องบินทางการแพทย์เท่านั้น ทาง FAA ประกาศผ่านทางระบบ ATCSCC แจ้งเตือนไปยังหอบังคับการบินสั่งให้เครื่องทั้งหมดห้ามขึ้นบิน (Ground Stop All Flights) ประกาศครั้งนี้ให้เวลา 2 ชั่วโมง แต่ระบบ NOTAM ยังไม่สามารถบอกได้ว่าใช้เวลาซ่อมนานเพียงใด ที่มา - FAA
# Chrome 109 กลับมารองรับ MathML ในตัว, CSS มีหน่วยความสูงบรรทัด, สร้างเทส Cypress/Puppeteer ในตัว กูเกิลเริ่มปล่อย Chrome 109 โดยมีฟีเจอร์สำคัญ 3 รายการ ได้แก่ MathML: ฟีเจอร์นี้เคยอยู่ใน Chrome ตั้งแต่ Chrome 24 เมื่อสิบปีที่แล้ว แต่ถูกถอดออกไปเนื่องจากตัวมาตรฐาน MathML เองก็ไม่นิ่ง ตอนนี้ก็กลับมาแล้ว CSS: มีฟีเจอร์เพิ่มย่อยๆ หลายตัว แต่ฟีเจอร์สำคัญคือหน่วยแบบ lh (line-height) ระบุความสูงของบรรทัดปัจจุบัน ทำให้สามารถสร้างกรอบพอดีกับจำนวนบรรทัดได้ หรือตัวเลือก hyphenate-limit-chars สำหรับกำหนดตัวขีดคั่นคำ Origin Private File System (OPFS): ฟีเจอร์สำหรับเรียกไฟล์โดยที่แยกโดเมนของเว็บ (per-origin) ฟีเจอร์นี้มีตั้งแต่ Chrome 102 แล้ว แต่เวอร์ชั่นนี้ใส่เข้ามาในแอนดรอยด์ด้วย Recorder: ฟีเจอร์อัดสคริปต์การกระทำบนเว็บ ในเวอร์ชั่นนี้สามารถ copy แต่ละขั้นตอนออกมาเป็น Puppeteer, Cypress, Nightwatch, หรือ WebdriverIO ได้ ที่มา - Chrome Developer, What’s New in DevTools 109
# Twitter ปรับ UI เป็นแท็บ, เลิกเรียงข้อความตามเวลาเป็นค่าดีฟอลต์เหมือน Facebook เดิมที Twitter มีวิธีการเรียงข้อความใน timeline 2 แบบคือ เรียงตามลำดับเวลา (Latest) และเรียงตามอัลกอริทึมแนะนำเนื้อหา (Home) ซึ่งผู้ใช้สามารถสลับไปมาได้ตามต้องการด้วยปุ่มรูปประกายดาวที่มุมขวาบน ล่าสุด Twitter เปลี่ยนชื่อแท็บทั้งสองเป็น Following และ For You ตามลำดับ และเปลี่ยน UI จากปุ่มกดสลับ มาเป็นแท็บให้เห็นชัดๆ เหมือนแอพโซเชียลอื่นๆ (เช่น TikTok) และรองรับการนำ List มาแสดงในแท็บด้วย นอกจากนี้ยังเปลี่ยนมาเรียง timeline ตามอัลกอริทึมเป็นค่าดีฟอลต์ (เหมือนกับ Facebook) การเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มมีผลใน Twitter เวอร์ชัน iOS ก่อนเป็นอย่างแรก และเป็นส่วนหนึ่งของแผนการยกเครื่อง UI ที่จะตามมาอีกหลายอย่าง ที่มา - TechCrunch ภาพจาก @BeardedGenius
# YouTube เตรียมแบ่งเงินโฆษณาให้กับครีเอเตอร์คอนเทนต์ Short เดือนกุมภาพันธ์นี้ YouTube ประกาศอัพเดตเงื่อนไขในโครงการ Partner Program ให้ครีเอเตอร์จะสามารถได้รับเงินส่วนแบ่งค่าโฆษณาจากคอนเทนต์ประเภท Short ได้แล้วโดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป (ลักษณะเดียวกับการได้ส่วนแบ่งค่าโฆษณาจากคอนเทนต์ปกติ) และแน่นอนว่า Short ที่จะได้รับเงินก็ต้องผ่านเงื่อนไขของ YouTube อีกส่วนคือ Watch Page Monetization Module ที่เปิดโอกาสให้ครีเอเตอร์จะได้รับเงินจากคอนเทนต์ไลฟ์สตรีม, วิดีโอยาวๆ หรือถูกเปิดบน YouTube Music, YouTube Kids ไปจนถึงคลิปที่ถูกเปิดผ่านการถูกฝัง (embeded) อยู่ที่อื่นด้วย การอัพเดตเงื่อนไขนี้ เป็นเงื่อนไขท็อปอัพที่ครีเตอร์จะสามารถเลือกได้ว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม แต่จะต้องลงชื่อยินยอมในเงื่อนไข "base term" ใหม่ที่ YouTube ปล่อยออกมาพร้อมกัน เพื่อให้สามารถรับเงินจาก YouTube ต่อไปได้ ซึ่งตัว base term ก็จะมีการอัพเดตเงื่อนไขต่างๆ ในการทำวิดีโอบน YouTube ที่มา - Google Support
# แอป ChatGPT ปลอมผุดเพียบทั้งใน App Store และ Play Store หลังจาก ChatGPT แชทบ็อตที่คุยโต้ตอบได้แบบมนุษย์ของ OpenAI ได้รับการพูดถึงมากในช่วงนี้ ปรากฎว่าทั้งใน App Store และ Play Store มีแอปที่เกี่ยวข้องกับ ChatGPT เกิดขึ้นหลายแอปที่อ้างว่าเป็นบริการเวอร์ชันพิเศษ ทั้งที่จริงแล้ว ChatGPT ให้บริการบนหน้าเว็บไซต์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และปัจจุบันทาง OpenAI ก็ยังไม่มีแอปออกมา ก่อนหน้านี้มีแอปที่ชื่อว่า ChatGPT Chat GPT AI With GPT-3 ขึ้นเป็นแอปที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเภท Productivity บน App Store หลายประเทศ ก่อนที่จะถูกนำออกจาก App Store แอปนี้เปิดให้ดาวน์โหลดฟรีแต่ผู้ใช้จะเสียค่าใช้จ่ายรายสัปดาห์ที่ 7.99 ดอลลาร์ (ราว 267 บาท) หรือเสียค่าบริการรายเดือน เดือนละ 49.99 ดอลลาร์ (ราว 1,670 บาท) โดยอ้างว่าเพื่อแชทอย่างไม่จำกัด ทางฝั่ง Play Store ก็มีแอปคล้ายกันนี้ที่มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 100,000 ครั้งแต่ตอนนี้แอปได้ถูกนำออกไปแล้ว แต่ทั้ง App Store และ Play Store ก็ยังมีแอปในลักษณะเดียวกันนี้อยู่อีก โดยแอปพวกนี้ใช้ ChatGPT บนชื่อแอปและรีวิวให้คะแนนแอปตัวเองเพื่อให้อยู่ในผลการค้นหาของผู้ใช้ ที่มา: TechCrunch
# บริษัทยา BioNTech ซื้อกิจการ InstaDeep บริษัทด้าน AI เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้วิจัยยา BioNTech SE บริษัทยาจากเยอรมนี ที่เรารู้จักชื่อกันดีจากการคิดวัคซีน COVID-19 แบบ mRNA และร่วมผลิตกับ Pfizer ประกาศซื้อกิจการ InstaDeep บริษัทด้าน AI เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ในการวิจัยยา ด้วยมูลค่า 362 ล้านปอนด์ (เกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท) InstaDeep เป็นบริษัทที่ก่อตั้งในตูนิเซีย ปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่ในลอนดอน มีพนักงานราว 240 คน ทำเรื่อง machine learning มาตั้งแต่ปี 2014 ให้กับลูกค้าหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ลอจิสติกส์ พลังงาน (บริษัทระบุตัวเองว่าเป็น Decision-Making AI For The Enterprise) ผลงานด้านการวิจัยยามีแพลตฟอร์มชื่อ DeepChain สำหรับการออกแบบและวิเคราะห์โปรตีน BioNTech เองเคยเข้ามาลงทุนแล้วรอบหนึ่งเมื่อต้นปี 2022 และทั้งสองบริษัทเคยร่วมกันทำระบบพยากรณ์การปรับเปลี่ยนตัวเองของไวรัส Sars CoV-2 มาแล้วด้วย หลังซื้อกิจการแล้ว BioNTech จะขยายผลแพลตฟอร์มของ InstaDeep ในอุตสาหกรรมยาให้กว้างขวางมากขึ้น ส่วนลูกค้าเดิมในอุตสาหกรรมอื่นก็ยังให้บริการไปตามปกติ ที่มา - BioNTech หน้าตาของแพลตฟอร์ม DeepChain
# โปรดิวเซอร์ FF16 บอกเกมไม่ลงพีซี ถ้าอยากเล่นก็ซื้อ PS5 มาเล่นสิ Naoki Yoshida หรือ Yoshi-P โปรดิวเซอร์ของเกม Final Fantasy XVI ให้สัมภาษณ์กับสื่อญี่ปุ่น ในประเด็นว่า FF16 จะลงพีซีด้วยหรือไม่ (ในเทรลเลอร์ตัวอย่างระบุว่าลงพีซีด้วย) คำตอบของ Yoshida กลับสร้างความสับสน เพราะเขาบอกว่าข้อมูลที่ว่าจะลงพีซีนั้นผิด เพราะไม่เคยมีใครใน Square Enix พูดถึงเวอร์ชันพีซีเลย เขายังบอกว่าถ้าแฟนๆ อยากเล่น FF16 ก็ขอให้ซื้อเครื่อง PS5 มาเล่นกันไง ก่อนหน้านี้ ไมโครซอฟท์เคยพูดเองว่า FF16 เป็นเอ็กซ์คลูซีฟของ PS5 แต่ Square Enix เองก็ประกาศมาตั้งแต่เทรลเลอร์แรกว่าจะลงพีซีด้วย (เหมือนกับ FFVII Remake ที่ออกตามมาทีหลัง) คำให้สัมภาษณ์ของ Yoshida จึงสร้างความสับสนไม่น้อย และต้องรอ Square Enix มาชี้แจงต่อไป ที่มา - Kotaku
# [ลือ] Surface Duo 3 จะไม่ได้เป็นมือถือ 2 จอมีบานพับ แต่เป็นจอพับได้ Foldable แทน Windows Central อ้างแหล่งข่าวว่า Surface Duo 3 อุปกรณ์พกพารุ่นถัดไปของไมโครซอฟท์ จะออกช่วงปลายปี 2023 โดยเปลี่ยนจากการใช้จอคู่มีบานพับตรงกลาง มาเป็นจอพับได้ (foldable) ลักษณะเดียวกับ Galaxy Z Fold แทน ตามข่าวบอกว่าไมโครซอฟท์เริ่มหันมามองแนวทางจอพับได้หลังออก Surface Duo 2 แต่ก็เป็นไปได้ว่าไมโครซอฟท์อาจรีแบรนด์ไลน์สินค้าใหม่ ไม่ใช้คำว่า Duo (สองจอ) อีกแล้ว นอกจากนี้ยังมีข่าวว่าไมโครซอฟท์กำลังทุ่มพัฒนาซอฟต์แวร์ Android เวอร์ชันของตัวเอง เพื่อสร้างจุดขายให้แตกต่างจากคู่แข่ง รวมถึงมีความเป็นไปได้ว่าไมโครซอฟท์จะออกสมาร์ทโฟน Android แบบปกติ (จอเดียว) เพิ่มเติมจากไลน์ Duo ด้วยเช่นกัน ที่มา - Windows Central
# Facebook/Instagram ปรับการลงโฆษณาเจาะกลุ่มวัยรุ่นต่ำกว่า 18 ปี กำหนดได้เพียงอายุและพื้นที่เท่านั้น Meta ประกาศปรับปรุงระบบโฆษณาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่อายุต่ำกว่า 18 ปี หรือวัยรุ่น จากก่อนหน้านี้จำกัดไม่ให้โฆษณาอิงบนความสนใจและกิจกรรม โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ผู้ลงโฆษณาจะไม่สามารถทำโฆษณาเจาะกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น อิงตามข้อมูลเพศได้อีก มีผลทั้ง Facebook และ Instagram ข้อมูลที่ผู้ลงโฆษณาสามารถกำหนดได้จะมีเพียงอายุและพื้นที่เท่านั้น นอกจากนี้ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป ผู้ใช้งานกลุ่มวัยรุ่นยังสามารถกำหนดค่าการแสดงโฆษณาได้ใน Ad Preferences เช่น จำกัดให้แสดงโฆษณาบางประเภทน้อยลงได้ด้วย ที่มา: Meta
# อินเทลเปิดตัว Xeon Scalable Gen 4 (Sapphire Rapids) และจีพียู Ponte Vecchio อย่างเป็นทางการ อินเทลเปิดตัวหน่วยประมวลผลฝั่งศูนย์ข้อมูลคือซีพียู Xeon Scalable Gen 4 หรือที่รู้จักกันในโค้ดเนม Sapphire Rapids และจีพียู Ponte Vecchio ตามที่เคยประกาศแผนการไว้ สินค้าที่เปิดตัวรอบนี้มีทั้งหมด 3 อย่างคือ ซีพียู Xeon Scalable Gen 4 (โค้ดเนม Sapphire Rapids) ซีพียู Xeon CPU Max (โค้ดเนม Sapphire Rapids HBM เป็นเวอร์ชันใช้แรม HBM) จีพียู Data Center GPU Max (โค้ดเนม Ponte Vecchio) Xeon Scalable Gen 4 เน้นการใช้งานในเซิร์ฟเวอร์ทั่วไปและคลาวด์ (Azure ประกาศเริ่มใช้งานแล้ว) ส่วนสินค้ากลุ่ม Max ทั้งซีพียู-จีพียู เน้นตลาดศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่และซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เช่น เครื่อง Aurora ที่มีสมรรถนะระดับ 2 ExaFlops สินค้าทั้ง 3 ตัวเปิดตัวล่วงหน้ามานาน แต่โดนเลื่อนมาเรื่อยๆ ตามสไตล์อินเทลยุคหลัง โดย Sapphire Rapids เริ่มออกข่าวมาตั้งแต่ปี 2021 และ Ponte Vecchio เริ่มออกข่าวมาตั้งแต่ปี 2019 ตัวเลขของอินเทลบอกว่า Xeon Scalable Gen 4 มีประสิทธิภาพต่อวัตต์ดีขึ้นเฉลี่ย 2.9 เท่าเทียบกับ Xeon รุ่นก่อนหน้า, ประสิทธิภาพงาน AI ดีขึ้น 10 เท่า, และมีโหมดประหยัดพลังงานลง 20% โดยแลกกับประสิทธิภาพลดลง 5% ส่วนจีพียู Max ถือเป็นหน่วยประมวลผลที่ใหญ่ที่สุดที่อินเทลเคยทำมา มีทรานซิสเตอร์ 1 แสนล้านตัว ใช้แพ็กเกจที่มีแผ่น tile รวม 47 ชิ้น และแรม 128GB ที่มา - Intel
# เป็นทางการแล้ว! Samsung กำหนดจัดงาน Galaxy Unpacked 2023 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ซัมซุงประกาศจัดงานแถลงข่าว Galaxy Unpacked 2023 ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2023 (ตามที่หลุดมาก่อนหน้านี้) ที่ซานฟรานซิสโก เวลา 10 นาฬิกาเป็นต้นไปตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งตรงกับเวลาในไทยคือตี 1 เข้าสู่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ซัมซุงยังบอกว่าการจัดงาน Unpacked นี้ เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ที่จัดงานแบบมีผู้เข้าร่วมงานแถลงข่าว (In-Person) หลังจากรูปแบบงานเป็นแบบออนไลน์ในช่วงการระบาดของโควิด 19 อย่างไรก็ตามงานยังมีการถ่ายทอดสดทั้งทาง Samsung.com, Samsung Newsroom และช่อง YouTube ของซัมซุง ภาพโปรโมตแม้ไม่เหมือนกับรูปที่หลุดมาก่อนหน้า แต่ยังคงบอกใบ้เป็นวงกลม 3 วง ซึ่งคาดว่าหมายถึงเลนส์กล้องหลัง 3 ตัว ใน Galaxy S23 ที่เตรียมเปิดตัวนั่นเอง ที่มา: ซัมซุง
# เกมเต่านินจา TMNT: Shredder’s Revenge ลงมือถือ เล่นฟรีแต่เฉพาะสมาชิก Netflix เท่านั้น เกมเต่านินจา Teenage Mutant Ninja Turtles: Shredder’s Revenge ที่เคยลงคอนโซลและพีซีเมื่อปีที่แล้ว และประสบความสำเร็จในแง่ยอดขาย ตอนนี้ออกเวอร์ชันมือถือ Android และ iOS แล้ว แต่เป็นเอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะสมาชิก Netflix เท่านั้น (Netflix ซื้อสิทธิเกมเวอร์ชันมือถือ เหมือนกับที่เคยซื้อสิทธิเกมอื่นๆ) เกมเวอร์ชันมือถือได้ปรับแต่งอินเทอร์เฟซให้เหมาะกับหน้าจอสัมผัส มีปุ่มเสมือนบนหน้าจอ และเล่นแบบ co-op ร่วมกับเพื่อนคนอื่นๆ ได้ (ต้องเป็นสมาชิก Netflix ด้วยเหมือนกัน) ที่มา - Droid-Life
# Coinbase ประกาศปลดพนักงานรอบใหม่อีก 20% คิดเป็น 950 คน Coinbase ประกาศปลดพนักงานอีก 950 คน คิดเป็น 20% ของพนักงานทั้งหมด มีผลกับทุกฝ่าย เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายให้ได้ 25% จากปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ Coinbase เคยปลดพนักงานไป 1,100 เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ในเวลานั้นบริษัทให้เหตุผลว่ามีการเติบโตเร็วเกินไป ขณะที่กำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย Brian Armstrong ซีอีโอ Coinbase ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่าบริษัทยังยกเลิกโครงการใหม่ ๆ หลายอย่างที่กำลังพัฒนาอยู่ โดยประเมินจากโอกาสที่โครงการเหล่านั้นจะประสบความสำเร็จ เขายังมองว่าในระยะยาวคริปโตยังคงอยู่ แต่ความผันผวนในระยะสั้นโดยเฉพาะจากกรณีของ FTX นั้น ส่งผลกระทบมาก เหมือนกับยุคอินเทอร์เน็ตบูม บริษัทที่บริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ดีก็จะอยู่รอดต่อไป ที่มา: CNBC
# Android เพิ่ม Extension SDK เปิดทางนำฟีเจอร์ใหม่ไปใช้กับ OS เวอร์ชันเก่า กูเกิลออก Android Extension SDK เปิดทางให้ออก API ใหม่ๆ ของ Android โดยไม่ต้องอิงกับรอบการออกเวอร์ชันของระบบปฏิบัติการ (Having the ability to introduce new functionality outside of major API level releases) เบื้องหลังของ Extension SDK เกิดจากที่สมัย Android 10 ปรับสถาปัตยกรรม OS ให้เป็นโมดูล อัพเดตแยกส่วนได้ กูเกิลจึงสามารถนำ API ของ Android เวอร์ชันที่ใหม่กว่า นำกลับไปให้ Android เวอร์ชันเก่าใช้ได้ด้วย โดยปล่อยอัพเดตให้ผู้ใช้งานผ่าน Google Play Services อีกที ตัวอย่างแรกที่กูเกิลนำไปใช้งานแล้วคือ PhotoPicker API ของ Android 13 (T) ตอนนี้นำกลับมาใช้กับ Android 11 (R) ได้แล้ว (โดยที่ผู้ใช้ไม่รู้ตัว) อีกตัวอย่างคือ ฟีเจอร์ Privacy Sandbox ของ Android 13 เป็นการอัพเดตนอกรอบ OS เช่นกัน Extension SDK เข้ามาช่วยให้นักพัฒนาแอพ ตรวจสอบได้ว่าอุปกรณ์รองรับ API กลุ่มนี้หรือไม่ โดยจะมีเลขเวอร์ชันชุดใหม่คือ extension version เพิ่มมาอีกตัว อย่างกรณีนี้หากต้องการดูว่ารองรับ PhotoPicker API หรือไม่ จะต้องเช็คเลข R extension version มากกว่าหรือเท่ากับ 2 ด้วย การทำงานของ Extension SDK ใช้ได้กับ Android 11 (API level 30) ขึ้นไป โดยกูเกิลบอกว่ามีแผนจะเติม API ผ่านวิธีนี้เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ที่มา - Android Developers Blog
# ค่าไฟอังกฤษพุ่ง ทำค่าชาร์จเร็วรถยนต์ไฟฟ้าแพงกว่าค่าน้ำมัน RAC บริษัทผู้ให้บริการประกันภัยรถยนต์และบริการช่วยเหลือเหตุฉุกเฉินในสหราชอาณาจักร รายงานถึงราคาเฉลี่ยการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในสหราชอาณาจักรว่าค่าไฟเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้บางกรณีค่าเดินทางแพงกว่ารถน้ำมันแบบเดิมๆ แล้ว อย่างไรก็ดีการชาร์จแบบช้าจากที่บ้านนั้นยังมีราคาต่อระยะทางถูกกว่ามาก ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ค่าไฟฟ้าจากสถานีชาร์จแบบเร็ว (จ่ายไฟในช่วง 23-99kW) มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็น 70.32 เพนนีต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมปี 2022 ที่เคยอยู่ที่ 44.55 เพนนีต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงถึง 58% ขณะที่ค่าชาร์จแบบเร็วมาก (จ่ายไฟเกิน 100kW) อยู่ที่ 74.79 เพนนีต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ราคานี้ทำให้เมื่อคิดราคาต่อไมล์แล้ว หากผู้ใช้ชาร์จที่สถานีชาร์จเร็วจะมีต้นทุน 20-21 เพนนีต่อไมล์ เทียบกับรถน้ำมันที่มีต้นทุนประมาณ 17 เพนนีต่อไมล์ แต่หากผู้ใช้ใช้ไฟบ้านก็จะมีต้นทุนเพียง 10 เพนนีต่อไมล์เท่านั้น ดังนั้นหากมีที่ชาร์จส่วนตัวและแทบไม่ได้ใช้สถานีนอกบ้านก็ยังประหยัดกว่าน้ำมันอยู่มาก ทาง RAC เรียกร้องให้ภาครัฐปรับภาษีมูลค่าเพิ่มของจุดชาร์จสาธารณะให้เป็นธรรมกับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่มีจุดชาร์จส่วนตัวมากกว่านี้ เพราะจุดชาร์จสาธารณะเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 20% ขณะที่ผู้ใช้ไฟบ้านเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเพียง 5% เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ค่าใช้จุดชาร์จแพงกว่าน้ำมันเช่นนี้ สำหรับประเทศไทย ค่าไฟสำหรับจุดชาร์จเร็วนั้นได้ค่าไฟ 2.6369 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ไม่รวมค่า Ft ที่ล่าสุดอยู่ที่ 1.5492 บาท โดยที่ประกาศราคาค่าไฟนั้นมีกำหนดสองปีซึ่งก็จะครบกำหนดในปีนี้ และที่ผ่านมาจุดให้บริการชาร์จรถไฟฟ้าก็มักจะคิดค่าบริการค่อนข้างคงที่ ยังไม่ได้ปรับขึ้นไปมาตามค่าไฟแบบสหราชอาณาจักรเช่นนี้ ที่มา - RAC ภาพโดย AKrebs60
# Microsoft เจรจาลงทุนถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ ใน OpenAI บริษัทผู้พัฒนา ChatGPT เว็บ Semafor อ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้อง เผยว่าไมโครซอฟท์กำลังเจรจาเพื่อขอลงทุนใน OpenAI บริษัทผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์แชทบ็อต ChatGPT ด้วยวงเงินถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเงินลงทุนนี้คิดที่มูลค่ากิจการของ OpenAI 29,000 ล้านดอลลาร์ (ตามข่าวก่อนหน้า) ทั้งนี้หากดีลดังกล่าวเจรจาลงตัว คาดว่าจะประกาศเป็นทางการได้ภายในปีนี้ รายละเอียดเพิ่มเติมของการลงทุนจากไมโครซอฟท์นี้ มีโครงสร้างที่ซับซ้อนกว่าปกติ โดยเริ่มต้น ไมโครซอฟท์จะได้ผลตอบแทนคืนทันทีของการลงทุน เป็น 75% ของกำไรของ OpenAI แล้วสะสมส่วนกำไรนี้ไปเรื่อย ๆ จนถึงตัวเลขหนึ่งที่ตกลงกัน จากนั้น OpenAI จะปรับโครงสร้างการถือหุ้นใหม่ ให้ไมโครซอฟท์ถือหุ้น 49%, นักลงทุนอื่นถือรวมกัน 49% และบริษัทแม่ของ OpenAI ที่ไม่แสวงหากำไรถือ 2% ที่เหลือ ทั้งนี้โครงสร้างการหากำไรของ OpenAI จะเป็นระบบจำกัดกำไร โดยส่วนเกินจะถูกนำกลับคืนไปยังบริษัทแม่ ดีลดังกล่าวอาจมองได้ว่าเป็นเดิมพันครั้งสำคัญของไมโครซอฟท์ ที่ผ่านมาบริษัทลงทุนใน OpenAI อยู่แล้ว และใช้ปัญญาประดิษฐ์หลายอย่างกับบริการ Azure ส่วนตัวบริการแชทบ็อต ChatGPT ถูกมองว่ามีโอกาสเติบโตสูงและอาจส่งผลกับธุรกิจเสิร์ชของกูเกิล (แม้กูเกิลจะออกมาชี้แจงมุมมองของตนแล้ว) ที่มา: Semafor
# สรุปรีวิวซีรีส์ The Last of Us: หนึ่งในซีรีย์ดัดแปลงจากเกมที่ดีที่สุด แต่ข้อติคือเหมือนเกมเกือบหมด วันนี้สื่อต่างประเทศที่ได้ชมซีรีส์ The Last of Us บน HBO ไปก่อนเริ่มปล่อยรีวิวออกมาแล้ว ซึ่งในภาพรวมต่างออกปากชมกันไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นหนึ่งในซีรีส์จากเกมที่ดีที่สุด แต่ก็เหมือนเกมจนเกินไป ประโยคที่พอจะทำให้เห็นภาพได้ชัดที่สุดคือจาก IGN ที่ระบุว่า การดัดแปลงจากเกมที่ดี ไม่ใช่แค่เลียนแบบองค์ประกอบต่างๆ แต่ต้องทำให้คนเล่นที่คุ้นเคยอยู่แล้วมีความรู้สึกเต็มอิ่มกับประสบการณ์การรับชม ขณะเดียวกันก็เป็นใบเบิกทางที่ดี สำหรับคนที่ไม่เคยเล่น และนี่คือสิ่งที่ The Last of Us ของ HBO ทำได้ หรือสื่อสายบันเทิงอย่าง Variety ก็ชมในแง่บทและการแสดงของ 2 ตัวละครหลักอย่าง Pedro Pascal (Joel) และ Bella Ramsey (Ellie) ที่ดึงอารมณ์และความมีชีวิตของตัวละครออกมา ส่วนในแง่ข้อติ ก็ออกไปในทำนองว่าเลียนแบบเกมมาเกือบหมด (บางซีนคือช็อตต่อช็อต) อาจจะเรียกได้่ว่าเหมือนมานั่งดูคนเล่นเกมให้ดูอีกรอบก็ได้ ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้มีอะไรโดดเด่น แต่จุดนี้ทาง Gizmodo ก็บอกว่า การเอาเกมมาดัดแปลงเป็นซีรีส์แบบซื่อตรง (faithful) อย่างนี้ จะไม่ประสบความสำเร็จเลย ถ้าไม่ได้นักแสดงหลักแบกพลังการแสดงเอาไว้ การดัดแปลงมาอย่างซื่อตรงนี้เอง ทำให้บางสื่อเช่น The Verge บอกว่ากลางๆ ไม่ดีไม่แย่ ขณะที่ Entertainment Weekly บอกว่า ตัดสินใจไม่ได้ว่ามันคือการดัดแปลงหรือนั่งดูคนเล่นเกม ขณะที่คะแนน ณ เวลาเขียนข่าวบน Rotten Tomatoes อยู่ที่ 100% จากนักวิจารณ์ 5 คน The Last of Us ควบคุมการสร้างโดย Craig Mazin ผู้ควบคุมการสร้าง The Chernobyl และ Neil Druckmann ผู้กำกับและผู้เขียนบทตัวเกม ฉายบน HBO Go วันที่ 16 มกราคมนี้ ที่มา - Gizmodo, IGN, EW, Variety, Rotten Tomatoes
# เขาฉีดมาสี่เดือนแล้ว เครือโรงพยาบาลอิสราเอลรายงาน วัคซีน COVID-19 รุ่นใหม่ประสิทธิภาพดีมากในผู้สูงอายุ ทีมวิจัยจากเครือโรงพยาบาล Clalit Health Services (CHS) ในอิสราเอลรายงานถึงการติดตามผลจากการฉีดวัคซีน Bivalent mRNA สำหรับป้องกัน COVID-19 หลังจากที่รัฐบาลอิสราเอลเริ่มโครงการฉีดวัคซีนรุ่นใหม่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนรุ่นเดิมครบ 2 เข็มแล้วทางรัฐบาลแนะนำให้ฉีดวัคซีนรุ่นใหม่อีก 1 เข็ม รายงานการติดตามประสิทธิภาพของวัคซีนรุ่นใหม่จากกลุ่มประชากรที่ฉีดวัคซีน 2 เข็มแรกครบแล้วพบว่าวัคซีนรุ่นใหม่มีประสิทธิภาพดี และเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการต่อสู้กับ COVID-19 กลุ่มตัวอย่างที่ CHS ติดตามมีทั้งหมด 622,701 คนเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปและอยู่ในข่ายที่จะได้รับวัคซีน Bivalent mRNA คือต้องได้รับวัคซีนก่อนหน้านี้หรือติด COVID-19 มานาน 3 เดือนขึ้นไป และได้รับวัคซีน 2 เข็มหลักมาก่อนแล้ว ระหว่างติดตามมีผู้ได้รับวัคซีน Bivalent จำนวน 85,314 คน หรือคิดเป็น 14% ของกลุ่มตัวอย่าง ผลการติดตามพบว่ากลุ่มได้รับวัคซีน Bivalent และต้องนอนโรงพยาบาลมีเพียง 6 คนเทียบกับ 297 คนของกลุ่มที่ไม่ได้รับ Bivalent และมีผู้เสียชีวิตในกลุ่มได้รับ Bivalent 1 คนเทียบกับกลุ่มไม่ได้รับเสียชีวิต 73 คน แสดงให้เห็นว่าวัคซีน Bivalent มีประสิทธิภาพดีมาก รายงานระบุว่ามีผู้มารับวัคซีนไม่มากนัก อาจจะเป็นเพราะกลุ่มตัวอย่างหลงเชื่อข้อมูลเท็จว่าผลข้างเคียงมีสูง หรือเชื่อไปว่าวัคซีนดั้งเดิมก็เพียงพอ ที่มา - The LANCET (preprint รายงานยังไม่ได้ผ่านการรีวิว)
# Microsoft ซื้อกิจการ Fungible ผู้ผลิตชิป DPU สำหรับ Data Center ไมโครซอฟท์ประกาศซื้อกิจการ Fungible Inc. ผู้ผลิตชิป DPU (Data Processing Unit) สำหรับงานประมวลผลข้อมูล โดยไม่ได้เปิดเผยมูลค่าของดีลดังกล่าว ไมโครซอฟท์บอกว่าเทคโนโลยีของ Fungible จะเข้ามาเสริมประสิทธิภาพการทำงานของเครือข่ายและสตอเรจในศูนย์ข้อมูล ให้ยังมีความเสถียรและปลอดภัย โดยทีมงานของ Fungible จะเข้ามาร่วมทีมวิศวกรรมโครงสร้างศูนย์ข้อมูลของไมโครซอฟท์ เพื่อพัฒนาโซลูชัน DPU เสริมประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ Fungible ก่อตั้งในปี 2016 โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาสเกลที่เกิดขึ้นในศูนย์ข้อมูล คือการประมวลผลข้อมูลระหว่างโนดที่ไม่มีประสิทธิภาพ จึงพัฒนา DPU และซอฟต์แวร์ที่ทำงานแก้ไขปัญหาดังกล่าว ที่มา: ไมโครซอฟท์
# ไต้หวันผ่านกฎหมาย บริษัทผลิตชิปใช้งบ R&D ไปลดภาษีได้ หวังรักษาความเป็นผู้นำ ไต้หวันเพิ่งผ่านร่างแก้ไขกฎหมายภาษี เปิดทางให้บริษัทอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ สามารถนำงบ 25% ที่ใช้ลงทุนใน R&D ไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ การเคลื่อนไหวครั้งนี้ชัดเจนว่ารัฐบาลไต้หวัน ต้องการรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตชิป ซึ่งไม่ใช่แค่ในแง่การมีคู่แข่งอย่างจีน แต่รวมถึงการที่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศเช่นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐหรือแม้แต่สหภาพยุโรป ออกนโยบายผลักดันหรือส่งเสริมการผลิตและพัฒนาชิปภายในประเทศ (หรือภูมิภาค) ของตัวเอง ซึงตรงนี้รัฐบาลไต้หวันก็ต้องหาทางรักษาความเป็นผู้นำในแง่เทคโนโลยีและต้นตอของเทคโนโลยีเอาไว้ในประเทศ นอกจาก R&D บริษัทผลิตชิปยังสามารถนำงบ 5% ที่ใช้ซื้อเทคโนโลยีล้ำหน้าใหม่ๆ มาใช้ลดภาษีได้เช่นกัน ซึ่งรัฐบาลไต้หวันบอกว่า มาตรการเหล่านี้คือ CHIPS Act ของไต้หวัน ที่มา - Bloomberg
# Microsoft เปิดตัว AI เลียนเสียงมนุษย์ เลียนน้ำเสียงและอารมณ์ได้ ใช้ตัวอย่างเสียง 3 วินาที Microsoft เปิดตัวปัญญาประดิษฐ์ใหม่ใช้ชื่อว่า VALL-E ที่สามารถเลียนเสียงมนุษย์ได้เพียงแค่ป้อนเสียงตัวอย่างที่มีความยาว 3 วินาที จุดที่น่าสนใจ คือ VALL-E สามารถเลียนน้ำเสียงและอารมณ์ของเสียงต้นแบบและปรับได้ตามโหมดต่าง ๆ ได้ ทำให้แตกต่างจากโมเดลอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังสามารถพูดในสิ่งที่เสียงต้นแบบไม่ได้พูดได้ด้วย Microsoft ใช้เสียงภาษาอังกฤษ 60,000 ชั่วโมงในการเทรนปัญญาประดิษฐ์ อย่างไรก็ตาม เสียงที่สร้างจาก VALL-E บางครั้งก็ดูธรรมชาติ แต่บางครั้งก็ยังเป็นเสียงที่ไม่เหมือนมนุษย์อยู่ดีซึ่งต้องพัฒนาต่อไปในอนาคต สำหรับบุคคลทั่วไปขณะนี้ VALL-E ยังไม่เปิดให้ใช้ แต่มหาวิทยาลัย Cornell ได้ทดลองใช้ VALL-E แล้ว สามารถชมตัวอย่างงานบางส่วนที่เผยแพร่ออกมาได้ที่ GitHub แม้ว่า VALL-E จะเป็นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า แต่ทำให้ความกังวลในเรื่องจริยธรรม เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาจากการเลียนเสียง เช่น แก๊งคอลเซนเตอร์อาจนำไปใช้เพื่อหลอกลวงคน หรือมีผู้นำไปใช้เลียนเสียงบุคคลสำคัญอย่างนักการเมืองหรือบุคคลสาธารณะ รวมทั้งมีปัญหาด้านความปลอดภัยอย่างการใส่รหัสผ่านด้วยเสียง ที่มา - Windows Central
# พบแพ็กเก็จ PyPI มีกุญแจ AWS ติดมาด้วยจำนวนมาก Amazon ทำหลุดเองก็มี Tom Forbes นักพัฒนาซอฟต์แวร์จากสหราชอาณาจักรเขียนโปรแกรมสแกนแพ็กเกจบน PyPI, HexPM, และ RubyGems เพื่อหากุญแจ AWS เองแล้วนำไปแจ้ง AWS ให้ยกเลิกกุญแจเสีย โดยตั้งระบบอัตโนมัติผ่านทาง GitHub Actions เอาไว้ หลังจากสแกนไปได้ระยะหนึ่งก็พบว่ามีแพ็กเกจที่ทำกุญแจหลุดไปถึง 57 แพ็กเกจ กุญแจ AWS ทั้ง 57 รายการแบ่งตามประเภทเป็นกุญแจ Root 11 รายการ, กุญแจระดับผู้ใช้ 18 รายการ, และกุญแจระดับ Service อีก 22 รายการ (Forbes ไม่ระบุว่าทำไมแบ่งตามประเภทแล้วไม่ครบ 57 รายการ) กุญแจตัวหนึ่งถูกอัปโหลดไว้ใน PyPI ตั้งแต่ปี 2013 หรือเกือบสิบปีแล้ว สาเหตุที่กุญแจหลุดมีต่างๆ กันไป เช่น Terradata ทำกุญแจหลุดเพราะมีไฟล์ debug หลุดเข้ามาในไฟล์ .egg สำหรับแพลตฟอร์มหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นอุบัติเหตุระหว่าง build โดยในซอร์สโค้ดไม่มีกุญแจแต่อย่างใด หรือแพ็กเกจ Amazon Pay นั้นนักพัฒนาเผลอใส่ integration test ที่มีกุญแจ AWS เข้ามาในแพ็กเกจด้วย โดยใน 57 รายการที่กุญแจหลุด มี 12 รายการที่หลุดจากการทำเทส อย่างไรก็ดี กุญแจบางตัวที่หลุดออกมาไม่ได้เป็นภัยร้ายแรง บางแพ็กเกจใช้กุญแจ AWS ที่มีสิทธิ์เขียนอย่างเดียวเพื่อส่งไฟล์กลับผู้พัฒนา ที่มา - Tom Forbes กุญแจ AWS ที่หลุดจากแพ็กเกจ Amazon Pay
# NYXI ออกจอย Switch หน้าตาย้อนยุคแบบ GameCube, การันตีไม่มีปัญหา Joy-Con Drift บริษัทอุปกรณ์เสริม NYXI ออกสินค้าใหม่เป็นจอยของ Nintendo Switch ที่ใช้หน้าตาเหมือนกับจอยสีม่วงของ Nintendo GameCube ในอดีต เอาใจแฟนๆ กลุ่มย้อนยุค พร้อมชูจุดขายสำคัญที่จอยของนินเทนโดเองไม่มี คือ การันตีว่าจะไม่มีปัญหาคันโยกเลื่อนเอง Joy-Con Drift อย่างแน่นอน (Hall effect joystick, with no drifting) จอยรุ่นนี้มีชื่อเต็มๆ ว่า NYXI Wizard Wireless Joy-Pad เป็นจอยไร้สายที่ได้แรงบันดาลใจจาก GameCube (แฟนๆ เรียกจอยรุ่นเก่าด้วยชื่อเล่นว่า WaveBird) แต่ปรับปรุงเรื่อง ergonomic ให้เข้ากับยุคสมัย และเพิ่มฟีเจอร์การปรับแต่งเข้ามา เช่น ปุ่มด้านหลังที่ remapping ได้ตามต้องการ, เปลี่ยนก้านโยกได้เอง แบตเตอรี่ใช้งานได้ 6.5 ชั่วโมงต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ราคาขายที่ 69 ดอลลาร์ สั่งซื้อได้แล้วจากเว็บไซต์ NYXI ที่มา - IGN
# Windows 7 และ 8.1 สิ้นระยะซัพพอร์ตอย่างสมบูรณ์ 10 ม.ค. 2023 จ่ายเงินซื้อแพตช์ก็ไม่ได้แล้ว วันนี้ 10 มกราคม 2023 เป็นวันที่ระบบปฏิบัติการ Windows 7, Windows 8.1 สิ้นอายุขัยอย่างสมบูรณ์ นั่นคือหมดระยะซัพพอร์ตพิเศษแบบเสียเงิน Extended Security Update (ESU) เท่ากับว่าหลังจากนี้ไมโครซอฟท์ไม่มีแพตช์ใดๆ ให้อีกแล้ว (แพตช์สุดท้ายจะออกวันนี้) Windows 7 และ Windows 8.1 หมดระยะซัพพอร์ตแบบปกติตั้งแต่ 14 มกราคม 2020 ผู้ใช้ทั่วไปไม่มีแพตช์ใหม่มานาน 3 ปีแล้ว แต่องค์กรที่ยังไม่พร้อมเปลี่ยน ยังสามารถจ่ายเงินซื้อการอัพเดตแพตช์จากไมโครซอฟท์ต่อได้อีก 3 ปี คำแนะนำของไมโครซอฟท์คืออัพเกรดไปใช้ระบบปฏิบัติการที่ใหม่ขึ้นอย่าง Windows 10 หรือ 11 แทน เพราะจะเกิดความแตกต่างเมื่อช่องโหว่ความปลอดภัยที่ค้นพบใหม่ในภายหลัง (อาจกระทบ Windows ทุกเวอร์ชัน) แฮ็กเกอร์เห็นข้อมูลช่องโหว่เท่ากัน แต่ระบบปฏิบัติการกลุ่มหนึ่งป้องกันได้ ในขณะที่ระบบปฏิบัติการอีกกลุ่มไม่มีแพตช์อุดช่องโหว่เดียวกันให้อีกแล้ว (ตัวอย่างช่องโหว่ที่ค้นพบ) จากสถิติของ StatCounter ยังมีผู้ใช้ Windows 7 อยู่ราว 11% ของผู้ใช้พีซีทั้งหมด และ Windows 8.1 อีกราว 2.6% เทียบกับ Windows 10 มีผู้ใช้ 68% และ Windows 11 มี 17% ซอฟต์แวร์ยอดนิยมหลายตัวก็ประกาศหยุดซัพพอร์ตตามเส้นตายของไมโครซอฟท์ เช่น Chrome บอกว่าจะออกเวอร์ชัน 109 ให้เป็นเวอร์ชันสุดท้าย, Adobe Creative Cloud, NVIDIA และ AMD หยุดออกไดรเวอร์ให้แล้ว รวมถึงซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์เองอย่าง Office และ OneDrive ที่มา - The Register
# Meta แจ้งผู้ใช้ Quest 1 จะหยุดการสนับสนุนทั้งหมด มีผลปีหน้า Meta อีเมลแจ้งผู้ใช้งานเฮดเซต Quest VR รุ่นแรก (Quest 1) ว่าบริษัทจะหยุดสนับสนุนการอัพเดตซอฟต์แวร์ในฟีเจอร์ใหม่ แต่จะยังได้รับอัพเดตบั๊กและช่องโหว่ความปลอดภัยต่อไปถึงปี 2024 นอกจากนี้ผู้ใช้งาน Quest VR ยังสามารถใช้งานทั่วไปได้ต่อไปตามปกติ ยกเว้นการสร้างหรือเข้าร่วมปาร์ตี้ และไม่สามารถใช้ฟีเจอร์โซเชียลใน Meta Horizon Home ได้ ตั้งแต่ 5 มีนาคม 2023 เป็นต้นไป Quest เปิดตัวปลายปี 2018 และเริ่มขายในปี 2019 จากนั้น Meta ก็ออกรุ่น Quest 2 ตามมาในปี 2020 ที่มา: The Verge
# Instagram เปลี่ยนไอคอนหน้าหลัก: Reels แทนที่ Shop, ปุ่มกลางเป็น Create Post มีผลกุมภาพันธ์ Instagram ประกาศปรับไอคอนที่จัดเรียงในแถบด้านล่างหน้า Home ของแอปใหม่ มีผลในเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป การเปลี่ยนแปลงนั้น ปุ่ม Reels ที่เดิมอยู่ตรงกลาง จะย้ายไปอยู่ลำดับที่ 4 เรียงจากซ้ายไปขวา แทนที่ปุ่ม Shop ส่วนปุ่มตรงกลางจะเป็นปุ่มสร้างโพสต์ใหม่ ซึ่งปัจจุบันอยู่มุมบนขวาของแอป Instagram บอกว่าแม้ปุ่มจะหายไปจากหน้าหลัก แต่ระบบ Shop ยังคงมีอยู่ใน Instagram ต่อไป โดยแทรกอยู่ทั้งใน Feed, Stories, Reels, โฆษณา และอื่น ๆ ที่มา: The Verge
# Apple เตรียมยกเลิกการใช้ชิปโมเด็มใน iPhone จาก Qualcomm มาเป็นชิปที่ออกแบบเอง มีรายงานจาก Bloomberg อ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่าแอปเปิลมีแผนจะเปลี่ยนการใช้ชิปโมเด็ม ที่ใช้ในอุปกรณ์ทั้งหมดรวมทั้ง iPhone จากปัจจุบันที่เป็นชิป Qualcomm มาใช้ชิปที่ออกแบบเองโดยแอปเปิล เร็วที่สุดภายในปี 2024 หรืออย่างช้าคือ 2025 นอกจากนี้แอปเปิลยังมีแผนลดการพึ่งพาชิปไร้สายอีกจำนวนหนึ่ง ที่ตอนนี้ใช้ของ Broadcom ด้วย เช่นชิป WiFi หรือ Bluetooth มีผลปี 2025 ทั้งนี้แอปเปิลและ Broadcom ได้เคยทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อสั่งซื้อชิปไร้สาย โดยข้อตกลงจะสิ้นสุดกลางปีนี้ ซึ่งปัจจุบันแอปเปิลเป็นลูกค้ารายสำคัญของ Broadcom สร้างรายได้คิดเป็น 20% ของรายได้รวม อย่างไรก็ตามแอปเปิลจะยังสั่งซื้อชิปสำหรับบางฟังก์ชันกับ Broadcom ต่อไป ชิปโมเด็มสำหรับงานติดต่อสื่อสาร ถือเป็นส่วนสำคัญโดยเฉพาะกับโทรศัพท์อย่าง iPhone ซึ่ง Qualcomm มีการพัฒนามายาวนานร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายทั่วโลก จึงเป็นเรื่องท้าทายของแอปเปิลในการพัฒนาชิปส่วนนี้ขึ้นมาเอง แต่แอปเปิลก็มีท่าทีเรื่องนี้ชัดเจนมาหลายปีแล้ว จากการซื้อธุรกิจชิปโมเด็มจาก Intel เมื่อปี 2019 ที่มา: Bloomberg
# Apple ปรับโครงสร้างบริหารธุรกิจ Services หลัง Peter Stern มือขวา Eddy Cue ลาออก Business Insider รายงานว่า Peter Stern รองประธานฝ่ายธุรกิจ Servcies ของแอปเปิล ได้ลาออกจากตำแหน่ง มีผลสิ้นเดือนนี้ ทำให้ตอนนี้แอปเปิลต้องปรับโครงสร้างฝ่าย Services ที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของ Eddy Cue รองประธานอาวุโส Peter Stern ร่วมงานกับแอปเปิลตั้งแต่ 6 ปีที่แล้ว ขึ้นตรงกับ Eddy Cue โดยย้ายมาจาก Time Warner Cable เขาถูกมองว่าน่าจะเป็นผู้รับตำแหน่งดูแลส่วนธุรกิจ Services ทั้งหมด ต่อจาก Cue เขามีบทบาทสำคัญในบริการที่เป็น subscription ของแอปเปิลตั้งแต่ Apple Arcade, Apple Books, Apple One, Apple News+ และอื่น ๆ ผลงานเด่นที่สุดคือบริการ Apple TV+ ซึ่งเขามีบทบาทในการเจรจานำคอนเทนต์ถ่ายทอดสดกีฬามาลงด้วย รายงานบอกว่า Stern ให้เหตุผลในการลาออกว่า เขาต้องการกลับไปใช้เวลาในฝั่งตะวันออก (สำนักงานแอปเปิลอยู่ฝั่งตะวันตก) โครงสร้างใหม่ของทีมธุรกิจ Services ยังไม่เป็นข้อสรุป แต่เบื้องต้นจะแบ่งเป็น 3 ฝ่ายหลัก มีความรับผิดชอบที่ต่างกันในบริการต่าง ๆ ที่มา: Business Insider
# Razer เปิดตัว Blade 16 และ 18 ขยายจอใหญ่ขึ้นเป็น 16:10, อัตรารีเฟรช 240Hz เก็บตกข่าวสินค้าใหม่ของ Razer ที่งาน CES 2023 สินค้าหลักคือโน้ตบุ๊กเกมมิ่ง Razer Blade ที่ปรับตัวตามเทรนด์โน้ตบุ๊กเกมมิ่งปี 2023 นั่นคือขยายขนาดหน้าจอจาก 15" และ 17" มาเป็น 16" และ 18" ด้วยเช่นกัน Razer Blade รุ่นใหม่จึงเรียกว่า 16 และ 18 ใช้หน้าจอสัดส่วน 16:10 ที่มีความสูงมากขึ้น สเปกก็ใช้ชิปรุ่นใหม่ทั้ง 13th Gen Core i9 HX, GeForce RTX 40 สูงสุด 4090, แรม DDR5 5600MHz แบบอัพเกรดได้ Razer Blade 16 ใช้หน้าจอ mini-LED ความสว่างสูงสุด 1000 nits อัตราตอบสนอง 3ms เลือกสลับโหมดได้ระหว่างทำงาน UHD+ @120Hz กับเล่นเกม FHD+ @240Hz ราคาเริ่มต้น 2,699.99 ดอลลาร์ Razer Blade 18 โฆษณาว่าเป็น Ultimate Desktop Replacement ใช้หน้าจอความละเอียด QHD+ 240Hz, เว็บแคม 5MP, ลำโพง THX spatial audio 6 ตัว, ราคาเริ่มต้น 2,899.99 ดอลลาร์ สินค้าทั้งสองรุ่นวางขายภายในไตรมาส 1/2023 ที่มา - Razer
# รีบติ๊กออกให้ไว Adobe เปลี่ยนนโยบาย นำผลงานผู้ใช้บน Creative Cloud มาเทรน AI ถ้าไม่กด opt-out Adobe เปลี่ยนแปลงนโยบายการวิเคราะห์เนื้อหาใหม่โดยจะนำข้อมูลของผู้ใช้ที่เก็บไว้ในบริการ Creative Cloud ทั้งในรูปแบบภาพ เสียง วิดีโอ ตัวอักษรและเอกสารมาใช้ในการเทรนอัลกอริธึมเพื่อปรับปรุงบริการและผลิตภัณฑ์ของบริษัทโดยอัติโนมัติหากผู้ใช้ไม่กด opt-out ออก ส่วนข้อมูลที่อยู่บนอุปกรณ์ของผู้ใช้ไม่ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ร่วมด้วย นโยบายนี้ได้รับการอัปเดตในช่วงเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ทางฝั่ง Adobe เผยว่าบริษัทให้ผู้ใช้มีสิทธิ์ในการตัดสินใจอยู่แล้วเพราะหากไม่ต้องการให้ทาง Adobe นำข้อมูลไปใช้ก็สามารถกด opt-out ได้ นอกจากนี้ Adobe ไม่ได้นำข้อมูลผู้ใช้ไปเทรน Generative AI ด้วย ปัจจุบัน Adobe ยังไม่มีบริการสร้างภาพจากข้อความด้วย AI มีเพียง Adobe Stock ที่เป็นแหล่งซื้อขายภาพที่อนุญาตให้มีการซื้อขายภาพที่สร้างจาก AI เท่านั้น ประเด็นการนำภาพที่เป็นผลงานของมนุษย์จริง ๆ ไปใช้เทรน AI ทำให้ให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ผู้สร้างผลงานเพราะเท่ากับว่าผู้ใช้ DALL-E, Midjourney หรือ Stable Diffusion ก็สามารถสร้างงานโดยลอกเลียนจากผลงานของศิลปินที่เป็นมนุษย์โดยไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของ แม้แต่แพลตฟอร์มซื้อขายภาพยังเห็นไม่ตรงกันในเรื่องนี้ โดย Getty Imsges ไม่อนุญาตให้มีการซื้อขายภาพจาก AI ขณะที่ Shutterstock ยอมรับจนถึงขั้นร่วมมือกับ OpenAI ที่มา - The Register
# Virgin Orbit เตรียมยิงดาวเทียมครั้งแรกจากแผ่นดินอังกฤษ ด้วย Boeing 747 คืนนี้ Virgin Orbit บริษัทยิงดาวเทียมของเครือ Virgin (แยกตัวออกมาจาก Virgin Galactic เพื่อมาทำเรื่องดาวเทียมอย่างเดียว) กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์การยิงดาวเทียมครั้งแรกจากแผ่นดินอังกฤษ คืนนี้ตามเวลาประเทศไทย การยิงดาวเทียมของ Virgin Orbit จะต่างจากการยิงจรวดที่เราคุ้นเคยกัน เพราะเป็นการนำเครื่องบิน Boeing 747 มาดัดแปลงให้ติดจรวด LauncherOne ที่ปีกเครื่องบินเพื่อส่งดาวเทียมอีกที กระบวนการคือนำเครื่องบิน (ชื่อเล่นว่า Cosmic Girl) บินขึ้นจากสนามบินตามปกติ เมื่อบินถึงความสูงประมาณ 10,000 เมตรจะปล่อยจรวด LauncherOne นำดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร แนวทางของ Virgin Orbit มีจุดเด่นเรื่องต้นทุนที่ถูกกว่า และความยืดหยุ่นของการยิงดาวเทียม เพราะยิงเมื่อไรก็ได้ ไม่ต้องรอคิวการยิงจรวดจากฐานยิงแบบดั้งเดิม เป้าหมายของ Virgin Orbit คือดาวเทียมขนาดเล็ก (300-500 กิโลกรัม) ที่มีจำนวนมาก แต่ก่อนหน้านี้ต้องรอรวมจำนวนกันมากๆ เพื่อยิงขึ้นจากจรวดในรอบเดียวกัน ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2021-2022 Virgin Orbit เริ่มให้บริการยิงดาวเทียมจากฐานบินในสหรัฐ (Mojave Air and Space Port ในแคลิฟอร์เนีย) มาบ้างแล้ว คราวนี้คือครั้งแรกที่จะบินจากอังกฤษ เป็นสนามบิน Cornwall Airport Newquay หรือที่เรียกว่า Spaceport Cornwall ช่วงเวลาที่บินคาดว่าจะอยู่ราว 21.40 น. ของอังกฤษ หรือ 04.40 น. ตามเวลาบ้านเราเป็นต้นไป รายละเอียดภารกิจ ที่มา - Virgin Orbit, BBC, Bloomberg คลิปอธิบายการยิงจรวดของ Virgin Orbit หน้าตาจรวด LauncherOne
# Apple เตรียมเปิดร้าน Apple Store สาขาแรกในอินเดีย เร็ว ๆ นี้ แอปเปิลเตรียมเปิดร้าน Apple Store สาขาแรกในประเทศอินเดีย โดยพบประกาศรับสมัครงานหลายตำแหน่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับ Apple Store เช่น หัวหน้าทีมดูแลร้านค้า, เจ้าหน้าที่ Genius Bar และระบุว่าทำงานที่อินเดีย ทั้งนี้แอปเปิลไม่ได้ระบุเมือง หรือสถานที่ตั้งของร้าน Apple Store ชัดเจน แต่พบข้อมูลจาก LinkedIn ในบางตำแหน่งที่แอปเปิลรับพนักงานไปแล้ว ระบุพื้นที่ทำงานมีทั้งเมืองมุมไบ และนิวเดลี แอปเปิลพูดถึงการเปิด Apple Store ในอินเดียมาหลายปีแล้ว โดยล่าสุดคือเมื่อปี 2020 ที่ซีอีโอ Tim Cook บอกว่าไม่อยากให้คนอื่นมาดำเนินการขายสินค้าแทนบริษัท และบอกกำหนดการคือปี 2021 แต่ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากการระบาดของโควิด 19 อินเดียเป็นประเทศที่แอปเปิลวางเป็นยุทธศาสตร์เติบโตใหม่ ทั้งจากจำนวนประชากรในประเทศ และการเริ่มย้ายฐานการผลิตบางส่วนออกมาจากจีน ที่มา: The Verge ภาพประกอบ Apple Store สาขาไอคอนสยาม
# John Deere ผู้ผลิตเครื่องจักรการเกษตรรายใหญ่ ยอมเปิดให้ช่างซ่อมอิสระซ่อมอุปกรณ์ได้ ประเด็นสิทธิในการซ่อมอุปกรณ์ที่เป็นข่าวมักพูดถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ, แท็บเล็ต, หรือโน้ตบุ๊ก แต่ในสหรัฐฯ ประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันในหมู่เกษตรกรด้วย เพราะผู้ผลิตเครื่องจักรทางการเกษตรมักล็อกไม่ให้ช่างซ่อมอิสระไปซ่อมเครื่องจักรเช่นเดียวกัน ล่าสุด John Deere ผู้ผลิตเครื่องจักรการเกษตรรายใหญ่ทำข้อตกลงกับสมาพันธ์ฟาร์มสหรัฐฯ (American Farm Bureau Federation - AFBF) ว่าจะเปิดให้ช่างอิสระสามารถซ่อมเครื่องจักรของ John Deere ได้ ข้อตกลงระหว่างสององค์กรระบุว่าทาง John Deere จะเปิดให้ช่างอิสระเข้าถึงเครื่องมือ, ซอฟต์แวร์, ตลอดจนเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ซ่อมเครื่องจักรได้ แต่ก็ต้องแน่ใจว่าช่างจะไม่ปลดฟีเจอร์ความปลอดภัยและการควบคุมมลพิษ ตลอดจนเคารพในทรัพย์สินทางปัญญาของ John Deere นอกจากประเด็นการซ่อมแล้ว ข้อตกลงยังครอบคลุมประเด็นการใช้งานอื่นๆ เช่น กรณีที่บริษัทเก็บข้อมูลจากเครื่องจักรไปจะต้องเปิดให้เจ้าของเครื่องจักรเข้าถึงข้อมูลเดียวกันได้ด้วย หรือกรณีที่ฟีเจอร์ความปลอดภัยล็อกเครื่องจักรไปก็ต้องมีเครื่องมือปลดล็อกให้ ข้อตกลงนี้มีข้อแลกเปลี่ยนคือ AFBF จะไม่แสดงตัวสนับสนุนกฎหมายสิทธิการซ่อม (Right to Repair) ที่ครอบคลุมกว้างกว่าข้อตกลงนี้ โดยที่ผ่านมารัฐต่างๆ ของสหรัฐฯ และรัฐบาลกลางมีกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ เพื่อเพิ่มสิทธิให้ผู้ใช้สามารถซ่อมอุปกรณ์ของตัวเองต่างกันไป ที่มา - FB.org ภาพแทรกเตอร์ของ John Deere
# นักวิจัยคอมพิวเตอร์ควอนตัมชี้งานวิจัยจีนอ้างเกินจริง ยังเจาะ RSA-2048 ไม่ได้ หลังจากทีมวิจัยจีนตีพิมพ์รายงานวิจัยระบุว่าสามารถแยกตัวประกอบเลขขนาดใหญ่โดยใช้คอมพิวเตอร์ควอนตัมขนาดเล็ก ซึ่งนำไปสู่การแกะการเข้ารหัส RSA-2048 ได้ด้วยคอมพิวเตอร์ควอนตัมขนาดเพียง 372 คิวบิต Scott Aaronson นักวิจัยคอมพิวเตอร์ควอนตัมและผู้อำนวยการ Quantum Information Center มหาวิทยาลัยเท็กซัสก็ออกมาชี้ว่ารายงานฉบับนี้ชี้นำให้เข้าใจไปว่ากระบวนการเร่งความเร็วนี้จะใช้งานได้จริงแม้มีช่องโหว่ในรายงานหลายอย่าง Aaronson ระบุว่ารายงานไปพูดเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องนัก เช่น การลดจำนวนคิวบิตโดยไม่พูดถึงจำนวนเกต แต่สุดท้ายกลับพูดในส่วนสรุปตอนท้ายว่าไม่แน่ใจว่าเทคนิคที่นำเสนอมาจะใช้เร่งความเร็วได้จริงหรือไม่ สุดท้ายหากการใช้คอมพิวเตอร์ควอนตัมแล้วเร่งความเร็วไม่ได้ก็แปลว่า RSA-2048 ไม่ได้ถูกเจาะจริง Aaronson เจอรายงานวิจัยที่พยายามอ้างว่าแยกตัวประกอบตัวเลขขนาดใหญ่ด้วยคอมพิวเตอร์ควอนตัมมาเป็นจำนวนมาก จนเขาขอตั้งชื่อให้คนกลุ่มนี้ว่า Cargo Cult Quantum Factoring (cargo cult กลุ่มความเชื่อที่บูชาเทคโนโลยีโดยขาดควาามเข้าใจ การใช้งานเฉพาะเช่น cargo cult programming ที่พยายามใช้โครงสร้างโปรแกรมตามๆ กันโดยไม่มีความเข้าใจว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไร) แต่เขาก็ระบุว่ารายงานจากจีนฉบับนี้เป็นรายงานที่ชี้นำผิดร้ายแรงที่สุดอันหนึ่ง ที่มา - Scott Aaronson ชิปควอนตัมที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี EUV ของอินเทล
# ยังปลดอีก Twitter ปลดพนักงานฝ่าย Trust & Safety ที่คัดกรองเนื้อหากลั่นแกล้ง-เกลียดชัง Bloomberg รายงานข่าวว่า Twitter ยังปลดพนักงานออกอีกต่อเนื่อง โดยมีพนักงานอย่างน้อยสิบกว่าคนจากสำนักงานในสิงคโปร์และไอร์แลนด์ ถูกปลดออกเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา พนักงานระดับสูงที่มีชื่อในข่าวคือ Nur Azhar Bin Ayob หัวหน้าฝ่ายนโยบายเนื้อหา (site integrity) ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และ Analuisa Dominguez หัวหน้าฝ่ายนโยบายรายได้ (revenue policy) นอกจากนี้ทีมที่ดูแลเรื่องข่าวปลอม และเนื้อหากลั่นแกล้ง สร้างความเกลียดชัง ที่เคยโดนปลดมาก่อนแล้ว ก็ถูกปลดเพิ่มอีก Ella Irwin หัวหน้าฝ่าย Trust & Safety ยอมรับว่ามีการปลดจริง บอกว่าเป็นการปรับโครงสร้างทีมใหม่ และบอกว่าจะเพิ่มพนักงานฝ่ายรับคำร้องเรียน (appeal department) ให้มากขึ้นกว่าเดิม ที่มา - Bloomberg
# Mastodon คู่แข่ง Twitter เริ่มมีผู้ใช้ลดลงแล้ว อาจเพราะใช้ยาก ไม่เหมือน Twitter แอปพลิเคชันโซเชียลมีเดีย Mastodon เผยตัวเลขผู้ใช้ลดลงกว่า 30% และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นสูงสุดเพราะผู้ใช้ย้ายมาจาก Twitter หลังมีประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Elon Musk โดยในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนนี้มีผู้ใช้ราว 1.8 ล้านรายขณะที่ในเดือนธันวาคมปีที่แล้วมีผู้ใช้กว่า 2.5 ล้านคน Mastodon กลายเป็นตัวเลือกของผู้ใช้ Twitter ที่ย้ายแพลตฟอร์มจากเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Elon Musk ทั้งเรื่องปลดพนักงานเพราะต้องการลดต้นทุน พนักงานลาออกเองจากนโยบายทำงานแบบ”ฮาร์ดคอร์” รายได้โฆษณาลดลง เปลี่ยนนโยบายยืนยันตัวตน ไปจนถึงความกังวลของผู้ใช้ว่า Twitter จะล่ม จนในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว Mastodon มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ล้านบัญชีจาก 3 แสนบัญชีภายใน 2 เดือน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ Mastodon มีผู้ใช้ลดลงเรื่อย ๆ Meg Coffey นักกลยุทธ์ด้านโซเชียลมีเดียมองว่าผู้ใช้เริ่มกลับไปใช้ Twitter เหมือนเดิมหรืออาจจะเลิกเล่นโซเชียลมีเดียไปเลย เพราะ Mastodon ใช้งานได้ยาก ไม่เหมือน Twitter ที่มา - The Guardian
# [ลือ] Dell จะหยุดใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในจีน ตั้งเป้าเลิกใช้ทั้งหมดภายในปี 2024 Nikkei Asia รายงานว่า Dell เริ่มแจ้งซัพพลายเออร์ถึงแผนการลดใช้ชิปและชิ้นส่วนที่ผลิตในจีน ตั้งเป้าหยุดใช้ในปี 2024 แหล่งข่าวของ Nikkei Asia อ้างข้อมูลของ Dell ที่แจ้งซัพพลายเออร์ว่าตั้งใจลดการใช้ชิ้นส่วนจากจีนลงอย่างมีนัยสำคัญ (meaningfully lower) ซึ่งในความหมายนี้รวมถึงชิ้นส่วนจากบริษัทสัญชาติอื่น แต่โรงงานอยู่ในจีนด้วย โดย Dell ตั้งเป้าว่าจะต้องไม่ใช้ชิปที่ผลิตในจีนให้ได้ทั้งหมดภายในปี 2024 ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายไม่น้อย โฆษกของ Dell ปฏิเสธไม่แสดงความเห็นในเรื่องนี้ บอกเพียงว่าบริษัทมีนโยบายเลือกแหล่งที่มาของชิ้นส่วนที่หลากหลายอยู่แล้ว ปัจจุบัน Dell ถือเป็นผู้ผลิตพีซีอันดับสามของโลก (ตามหลัง Lenovo และ HP) มียอดขายพีซีในไตรมาส 3/2022 ประมาณ 12 ล้านเครื่อง (ตัวเลขจาก IDC) ที่มา - Nikkei Asia
# หลุดแผนการออกจีพียู Intel Arc รุ่นหน้า Alchemist+ ครึ่งหลังปี 2023, Battlemage ปี 2024 ช่องยูทูบ RedGamingTech อ้างว่าได้เอกสาร roadmap ของอินเทล ระบุแผนการออกจีพียู Arc ในช่วงปี 2023-2024 ดังนี้ ไตรมาส 1/23 Arc ซีรีส์ A (Alchemist) จะออกจีพียูตัวกลางๆ ที่กินไฟ 150W เพิ่มเข้ามา คาดว่าจะอยู่ระหว่าง Arc 3 กับ Arc 5 แต่ยังไม่ชัดว่าใช้แบรนด์ซีรีส์ไหน ไตรมาส 3-4/23 จะออก Alchemist+ รุ่นรีเฟรชของ Alchemist มาอีก 2 ตัว เป็นตัวกินไฟ 75-100W (เทียบเท่า Arc 3) และ 175-225W (Arc 5) ไตรมาส 2/24 เริ่มต้นซีรีส์ B (Battlemage) ออกสินค้าจับตลาดบน-กลาง 2 ตัวคือ 225W (Arc 7) และ 150W (Arc 5) อินเทลเคยประกาศแผนของ Arc 4 รุ่นแรกที่ใช้รหัสเรียงตามตัวอักษรคือ Alchemist, Battlemage, Celestial, Druid (โค้ดเนมตามตัวละครเกม RPG) แต่แผนการเปิดตัว Arc รุ่นแรก Alchemist ก็ไม่เป็นไปตามเป้านัก เพราะสินค้าวางขายล่าช้าจากปัญหาซอฟต์แวร์ รวมถึงไดรเวอร์ก็มีปัญหาคุณภาพ-ประสิทธิภาพในการเล่นเกม ยุทธศาสตร์ของอินเทลยังไม่ดัน Arc ไปท้าชนกับการ์ดรุ่นสูงของ NVIDIA-AMD ซึ่งตามข่าวลือบอกว่า Battlemage จะยังเดินตามแนวทางนี้ (อาจใกล้เคียงกับ RTX 4080) และอินเทลหวังว่า Arc Celestial รุ่นที่สามน่าจะขึ้นไปต่อสู้กับการ์ดระดับบนของคู่แข่งได้แล้ว ที่มา - Notebookcheck เอกสารหลุดของ RedGamingTech แผนการเดิมที่อินเทลเคยประกาศเอาไว้
# Steam สร้างสถิติใหม่อีกแล้ว ผู้ใช้ออนไลน์พร้อมกัน 33 ล้านคน อยู่ในเกม 10 ล้านคน เมื่อคืนนี้ Steam สร้างสถิติใหม่อีกแล้ว มีผู้เล่นเข้าเกมพร้อมกันแตะหลัก 10 ล้านคนได้สำเร็จเป็นครั้งแรก และมีผู้เล่นออนไลน์ในระบบ Steam (แม้ไม่ได้เล่นเกม) สูงสุดเป็นสถิติใหม่ 33 ล้านคน (ข่าวสถิติเดิม 30 ล้านคนในเดือนตุลาคม 2022) รายชื่อเกมนิยมยังเป็นเกมเดิมๆ ที่คุ้นเคย เกมอันดับหนึ่งคือ Counter-Strike: Global Offensive มีผู้เล่นพร้อมกันถึง 1.1 ล้านคน ตามด้วย Dota 2 มีผู้เล่นพร้อมกัน 7.6 แสนคน, PUBG 4.5 แสนคน, Apex Legends 3.7 แสนคน ส่วนเกมที่มาแรงช่วงนี้คือเกมเป็ด Goose Goose Duck มีผู้เล่นพร้อมกันมากถึง 6.4 แสนคน สถิติแบบเรียลไทม์ดูได้จาก SteamDB ที่มา - Eurogamer
# [Bloomberg] Apple โฟกัสปีนี้ที่เฮดเซต AR/VR ย้ายทีมฮาร์ดแวร์-ซอฟต์แวร์อื่นมาช่วย Mark Gurman แห่ง Bloomberg รายงานข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าใหม่ของแอปเปิล ผ่านจดหมายข่าวประจำสัปดาห์ Power On โดยพูดถึงเฮดเซต AR/VR ที่แอปเปิลน่าจะเปิดตัวในปีนี้ และแผนการผลิตสินค้าอื่น เริ่มต้นที่เฮดเซต AR/VR เขาบอกว่าหลังจากแอปเปิลพัฒนาสินค้านี้ถึง 7 ปี ในปี 2023 ก็ถึงเวลาที่แอปเปิลจะเปิดตัวสินค้าต่อสาธารณะแล้ว โดยแอปเปิลวางแผนให้โฟกัสทั้งหมดมาอยู่ที่เฮดเซตนี้ คาดว่าจะเปิดตัวช่วงฤดูใบไม้ผลิ หรือประมาณมีนาคม-เมษายน เพื่อให้ทันก่อนงาน WWDC ที่จะลงรายละเอียดซอฟต์แวร์สำหรับนักพัฒนา Gurman บอกว่า ผลจากการที่แอปเปิลต้องการชูเฮดเซต AR/VR (ซึ่งคาดใช้ชื่อ Reality Pro) ทำให้ทีมงานทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ถูกย้ายมาช่วยพัฒนาส่วนนี้กันจำนวนมาก ผลิตภัณฑ์อื่นในปีนี้ของแอปเปิลจึงไม่โดดเด่นนัก มีรายละเอียดดังนี้ MacBook Pro รุ่นใหม่ชิป M2 Pro, M2 Max ออกมาในครึ่งแรกปีนี้ สองขนาดจอ 14 และ 16 นิ้ว Mac Pro ใช้ซีพียู M2 Ultra ซึ่งยังเป็นคำถาม เพราะการออกแบบใหม่ที่แรมติดกับซีพียู ทำให้ไม่สามารถอัพเกรดได้เองแบบรุ่นซีพียูอินเทล ดีไซน์ยังเป็นแบบเดิมสี่เหลี่ยมแนวตั้ง iMac 24 นิ้ว มีแผนออกมาเร็วที่สุดปลายปี 2023 เพื่อรอชิป M3 อาจ มี MacBook Air 15 นิ้ว ออกมาในปีนี้ ไม่น่ามี iPad Pro รุ่นใหม่ออกมาปีนี้ ส่วน iPad, iPad mini, iPad Air จะเป็นรุ่นอัพเกรดสเป็กตามรอบ Gurman ยังบอกว่าผลของการโฟกัสไปที่เฮดเซต AR/VR นี้ ยังทำให้ระบบปฏิบัติการ iOS 17 และ iPadOS 17 โค้ดเนมภายใน Dawn ที่จะออกมาในปีนี้ ไม่มีฟีเจอร์ใหม่ที่โดดเด่นมากนัก เพราะทีมซอฟต์แวร์ถูกย้ายไปช่วย xrOS ระบบปฏิบัติการของเฮดเซตกันส่วนใหญ่ ซึ่งผลกระทบนี้ก็จะเกิดกับ macOS รุ่นใหม่เช่นกัน ที่มา: Bloomberg
# Amazon S3 เข้ารหัสข้อมูลด้วยกุญแจของ AWS เองเป็นค่าเริ่มต้น AWS ปรับกระบวนการเก็บข้อมูลของบริการ Amazon S3 ใหม่โดยค่าเริ่มต้นจะเปิดใช้การเข้ารหัสแบบ server side encryption (SSE) ที่ใช้กุญแจของ S3 เอง กลายเป็นกระบวนการเก็บข้อมูลแบบขั้นพื้นฐาน มีผลกับออปเจกต์ใหม่เท่านั้น กระบวนการเข้ารหัสแบบ SSE-S3 เป็นค่าเริ่มต้นที่ผู้ใช้ไม่ต้องจัดการกุญแจด้วยตัวเอง สำหรับลูกค้าที่ต้องการจัดการกุญแจเข้ารหัสเอง ตัวบริการ Amazon S3 มีตัวเลือก SSE-C สำหรับลูกค้าที่นำกุญแจมาเอง และ SSE-KMS ที่ใช้กุญแจจากบริการ AWS KMS มาจัดการ โดยทั้งหมดนี้กระบวนการเข้ารหัสฝั่งเซิร์ฟเวอร์ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ในกรณีที่คนร้ายได้กุญแจสำหรับ S3 API ไปก็ยังอ่านข้อมูลได้อยู่ดี แต่ก็น่าจะสร้างความมั่นใจได้มากขึ้นว่าข้อมูลถูกเข้ารหัสในดิสก์แน่ๆ ในกรณีที่คนร้ายอาจจะได้ฮาร์ดดิสก์จากศูนย์ข้อมูล AWS ไปก็จะอ่านข้อมูลไม่ได้ AWS เปิดฟีเจอร์ SSE-S3 นี้มาตั้งแต่ปี 2011 แต่เพิ่งเปิดใช้งานเป็นค่าเริ่มต้นในปีนี้ AWS รองรับการเข้ารหัสแบบ client side ด้วย โดยซัพพอร์ตด้วย AWS SDK เข้ารหัสข้อมูลตั้งแต่ก่อนส่งเข้าไปยัง AWS ทำให้แม้กุญแจ S3 API หลุดไปคนร้ายก็ยังอ่านข้อมูลไม่ได้ ถ้าคนร้ายไม่ได้กุญแจเข้ารหัสข้อมูลไปพร้อมกัน ที่มา - AWS
# งานประชุมวิชาการด้าน Machine Learning ประกาศไม่รับงานวิจัยเขียนจาก AI งานประชุมวิชาการ International Conference on Machine Learning (ICML) ประกาศห้ามนักวิจัยเขียนงานวิจัยด้วยปัญญาประดิษฐ์ เช่น ChatGPT มาส่ง โดยระบุประเด็นปัญหาว่ายังไม่แน่ชัดว่าจะถือว่าใครเป็นผู้เขียน โดยอาจจะเป็นได้ทั้งผู้พัฒนา ChatGPT, ตัว ChatGPT เอง, หรือจะเป็นคนสั่งให้ ChatGPT เขียน นอกจากนี้การส่งรายงานวิจัยที่สร้างโดย ChatGPT เข้ามาก็จะทำให้กระบวนการรีวิวรายงานยุ่งยากขึ้น ทาง ICML จึงขอให้นักวิจัยงดใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยเขียนงานวิจัยในปีนี้ไปก่อน และจะพิจารณากฎนี้อีกครั้งในอนาคต ข้อห้ามนี้ไม่รวมถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยแก้คำผิด, แก้แกรมมาร์, หรือเกลาประโยคด้วยเครื่องมือต่างๆ รวมถึงโมเดลปัญญาประดิษฐ์ แต่ตัวนักวิจัยต้องเขียนข้อความเริ่มต้นด้วยตัวเอง การใช้งาน ChatGPT ในรายงานวิจัยอาจจะไม่ใช่ปัญหาที่หนักหนานัก เพราะรายงานวิจัยเหล่านี้ต้องการผลทดลองที่สร้างขึ้นใหม่ ตัวนักวิจัยอาจจะให้ปัญญาประดิษฐ์เขียนบรรยายผลการวิจัยหรือเขียนช่วงแนะนำงานก่อนหน้ามาให้ได้ แต่หากเป็นรายงานรีวิวงานที่ผ่านๆ มาก็มีโอกาสที่จะใช้ ChatGPT มากขึ้น ที่มา - ICML
# LG เปิดตัวโน้ตบุ๊กตระกูล gram ปี 2023 มีรุ่นใหม่ Style ที่ซ่อน trackpad เนียนกับเครื่อง ในงาน CES 2023 LG ได้เปิดตัวโน้ตบุ๊กตระกูล gram รุ่นใหม่ ซึ่งมาพร้อมความบางที่สุดเท่าที่ตระกูล gram มีมา และรุ่นที่มีลูกเล่นซ่อน trackpad รุ่นแรกคือ LG gram Ultraslim ซึ่งเป็นโน้ตบุ๊ก gram ที่บางที่สุดเท่าที่เคยมีมา 10.99 มิลลิเมตร น้ำหนัก 998 กรัม จอ OLED 15.6 นิ้ว ซีพียู Intel 13th Gen รุ่นถัดมาคือ LG gram Style มีสองรุ่น หน้าจอ 14 และ 16 นิ้ว ตัวเครื่องออกแบบเรียกว่า Glass Design ทำให้สะท้อนสีสันออกมาได้หลากหลาย พร้อมลูกเล่น trackpad ที่ซ่อนไปกับตัวเครื่อง โดยจะแสดงเส้นแนวและ haptic ตอบสนอง เมื่อลากนิ้วผ่านบริเวณดังกล่าว ใช้ซีพียู Intel 13th Gen เช่นกัน นอกจากสองรุ่นใหม่ในตระกูล gram ที่เปิดตัว ยังมีรุ่นอัพเกรด ได้แก่ LG gram 2-in-1 หน้าจอสัมผัสหมุนได้ 360 องศา มีสองขนาดจอ 14 และ 16 นิ้ว รวมทั้งรุ่น LG gram ปกติ ที่มาทั้งขนาดจอ 14-15-16-17 นิ้ว ทั้งหมดใช้ซีพียู Intel 13th Gen และการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3050 โน้ตบุ๊กทั้งหมดยังไม่ประกาศราคาขาย แต่ LG บอกว่าจะเริ่มวางขายทั่วโลกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ที่มา: LG และ Engadget LG gram Ultraslim LG gram Style LG gram
# [ไม่ยืนยัน] รถยนต์ไฟฟ้าของ Xiaomi รุ่นแรก ราคาเริ่มต้นประมาณ 1.3 ล้านบาท เปิดตัวภายในปีนี้ มีข้อมูลจากสื่อจีน LatePost เกี่ยวกับโครงการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของ Xiaomi โดยบอกว่าบริษัทเตรียมเปิดรถยนต์ 2 รุ่น โดยรุ่นแรกนั้นกำหนดเปิดตัวสเป็กและรายละเอียดอย่างเป็นทางการภายในปีนี้ รุ่นแรกมีโค้ดเนมว่า Modena เป็นรถซีดานขนาดกลางแบบท้ายสั้น (Fastback) มีสองรุ่นย่อย รุ่นแรกราคาราว 2.6-3 แสนหยวน (ประมาณ 1.3-1.5 ล้านบาท) ใช้แบตเตอรี่ Lithium Iron Phosphate 400 โวลต์ ของ BYD มีเรดาร์คลื่นมิลลิเมตรและกล้องโดยรอบ เพื่อระบบขับขี่อัตโนมัติ ส่วนอีกรุ่น ราคาอยู่ที่ราว 3.5 แสนหยวน (1.7 ล้านบาท) ใช้แบตเตอรี่ 800 โวลต์ เทคโนโลยี Qilin ของ CATL ทั้งสองรุ่นย่อยใช้ชิปประมวลผล Snapdragon 8295 ส่วนอีกรุ่นมีโค้ดเนมว่า Le mans ใช้การออกแบบและสถาปัตยกรรมเดียวกับ Modena แต่กำหนดแผนเปิดตัวในปี 2025 Xiaomi ประกาศแผนเข้าสู่ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2021 ด้วยเงินลงทุน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในระยะเวลา 10 ปี ซึ่ง Lei Jun ผู้ก่อตั้ง Xiaomi จะลงมาดูแลธุรกิจนี้เอง ที่มา: TechNode
# Douyin หรือ TikTok ของจีน ออกแอปแชต Douyin Chat ขยายสู่โซเชียลที่มากขึ้น Douyin หรือแอป TikTok ในเวอร์ชันภาษาจีนของ ByteDance ได้ออกโปรแกรม Douyin Chat ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ทำงานบน Windows และ macOS เมื่อสิ้นปี 2022 ซึ่งเป็นการขยายไปสู่บริการแชตที่มากขึ้นในฝั่ง TikTok ของจีน การล็อกอินใช้งานต้องใช้บัญชี Douyin และสามารถเริ่มบทสนทนากับเพื่อนที่มีอยู่แล้วใน Douyin ได้เลย Pandaily รวบรวมความพยายามของ Douyin ที่จะขยายคุณสมบัติของแอปจากวิดีโอสั้น ไปสู่เครื่องมือโซเชียลที่มากขึ้น ซึ่งทำมาตั้งแต่ 4 ปีก่อน ทั้งแอปชื่อ Duoshan สำหรับส่งวิดีโอสั้นหากัน, แอปโซเชียลชื่อ Feiliao, การเพิ่มฟีเจอร์คุยวิดีโอใน Douyin เอง ไปจนถึงการตั้งห้องแชตกลุ่ม แต่ทั้งหมดยังไม่ประสบความสำเร็จในวงกว้าง จึงอาจบอกได้ว่า Douyin Chat คือความพยายามล่าสุดของ ByteDance นั่นเอง ที่มา: Pandaily
# Lenovo เปิดตัวแท็บเล็ต Lenovo Tab Extreme จอยักษ์ 14.5" เป็นโฮมเธียเตอร์ส่วนตัว Lenovo เปิดตัวแท็บเล็ตจอยักษ์ Lenovo Tab Extreme ขนาด 14.5" เข้าสู่พรมแดนของแท็บเล็ตจอ 14" แบบเดียวกับที่ซัมซุงเคยออก Galaxy Tab S8 Ultra ขนาด 14.6" มาก่อน (iPad Pro จอขนาด 12.9") หน้าจอเป็น OLED 3K (3000 x 1876) 120Hz อัตราคอนทราสต์ 1M:1 มาพร้อม Dolby Vision, HDR10+, Dolby Atmos และลำโพง JBL 4-channel ซึ่ง Lenovo บอกว่าตั้งใจมาให้เป็นหน้าจอโฮมเธียเตอร์ส่วนตัว อุปกรณ์เสริมมีทั้งขาตั้งแบบแปะแม่เหล็กที่วางได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน (dual-mode stand), ขาตั้งพร้อมคีย์บอร์ดที่วางแล้วแท็บเล็ตลอยขึ้นมาเหมือนจอพีซี, ปากกา Lenovo Precision Pen 3 (ปากกาแถมมากับเครื่อง) สเปกอื่นคือ หน่วยประมวลผล MediaTek Dimensity 9000, แรม 12GB, รอม 256GB, กล้องหลัง 13MP+5MP, กล้องหน้า 13MP, แบตเตอรี่ 1,2300 mAh ชาร์จเร็ว 68W, น้ำหนัก 740 กรัม, ระบบปฏิบัติการ Android 13 การันตีอัพเกรด 3 เวอร์ชัน แพตช์ความปลอดภัย 4 ปี ราคาเริ่มต้น 1199.99 ดอลลาร์ สินค้าจะวางจำหน่ายช่วงปลายปี 2023 โน่นเลย ที่มา - Lenovo
# ซัมซุงหลุดเอง กำหนดงาน Unpacked เปิดตัว Galaxy S23 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เว็บไซต์ของซัมซุงโคลอมเบีย เผลอนำประกาศจัดงานแถลงข่าว Galaxy Unpacked 2023 – Part 1 ขึ้นหน้าเว็บก่อนกำหนด ทำให้เราทราบกันว่า Galaxy S23 จะเปิดตัวในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ ในภาพโปรโมทของซัมซุงใช้สโลแกนว่า Epic moments และมีภาพเลนส์กล้องหลัง 3 ตัว ซึ่งคาดว่าน่าจะตรงกับข่าวลือว่า Galaxy S23 Ultra จะใช้เซ็นเซอร์หลักขนาด 200MP นั่นเอง ที่มา - SamMobile
# ผู้ใช้ Google Pixel 7 เจอปัญหากระจกกล้องด้านหลังแตก คาดเพราะอุณหภูมิเปลี่ยนฉับพลัน มีผู้ใช้ Google Pixel 7 จำนวนหนึ่งรายงานว่ากระจกกล้องด้านหลังแตกโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่ได้ทำตกหรือไม่ได้กระแทก และส่วนใหญ่อาการมักเกิดเฉพาะกล้องหลักฝั่งซ้ายมือของเครื่องด้านหลังด้วย (แต่มีบางเครื่องแตกที่กล้องฝั่งขวา) ตัวกล้องยังใช้งานได้ปกติ แต่กระจกป้องกันแตกไปแล้ว ผู้ใช้บางรายคาดว่าสาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิฉับพลัน เช่น เดินออกจากบ้านที่อากาศอุ่นไปยังนอกบ้านที่อากาศหนาว ตอนนี้กูเกิลยังไม่แถลงข้อมูลใดๆ ในเรื่องนี้ ส่วนผู้ใช้งาน Pixel 7 รวมตัวกันแจ้งปัญหาผ่านแท็ก #pixel7brokencamera ใน Twitter ที่มา - 9to5google, Reddit ภาพโดย @Martin_Horrocks
# Lenovo เปิดตัว ThinkBook 16p Gen 4 มาพร้อมโมดุลเสริม กล้อง ไฟ แบบแปะขอบจอบน Lenovo เปิดตัว ThinkBook 16p Gen 4 ที่ดูเป็นโน้ตบุ๊กขนาดหน้าจอ 16" สเปกแรงทั่วไป (อัพเกรดจาก ThinkBook 16p Gen 3 ของปีที่แล้ว) แต่ของใหม่คราวนี้คือขอบจอด้านบนเป็นแม่เหล็กพร้อม pogo pin สามารถต่ออุปกรณ์เสริมเป็นโมดูลที่เรียกว่า Lenovo Magic Bay ได้โดยไม่ต้องเสียบสายเพิ่ม อุปกรณ์เสริมมีด้วยกัน 3 อย่าง Lenovo Magic Bay 4K Webcam เว็บแคมความละเอียดสูง 4K ต่อแทนเว็บแคมหลัก หรือใช้เป็นกล้องตัวที่สองได้ Lenovo Magic Bay Light ทายาทของ ThinkLight ในอดีต เป็นไฟช่วยส่องหน้าให้วิดีโอคอลล์ภาพชัดขึ้นยามสภาพแสงน้อย ปรับความสว่างสูงสุด 200 lux กินไฟน้อย ตั้งค่าให้เปิดไฟอัตโนมัติเมื่อเว็บแคมทำงานได้ Lenovo Magic Bay LTE อุปกรณ์เชื่อมต่อ 4G LTE มีช่องเสียบ USB-C ไปใช้ต่อกับพีซีเครื่องอื่นได้ สเปกของ ThinkBook 16p Gen 4 ใช้ซีพียู 13th Gen Intel Core H-series, จีพียูสูงสุด RTX 4060, แรมสูงสุด 32GB DDR5, สตอเรจสูงสุด 1TB SSD 2 ตัว, หน้าจอ 16" 3.2K IPS 400nits 120Hz, แบตเตอรี่ 80 Whr รองรับชาร์จเร็ว ราคาเครื่องเริ่มต้นที่ 1,349 ดอลลาร์ เริ่มวางขายเดือนพฤษภาคม 2023 ส่วนราคาอุปกรณ์เสริมยังไม่ประกาศ ข่าวร้ายคืออุปกรณ์เสริมชุดนี้ใช้ได้เฉพาะกับ ThinkBook 16p Gen 4 เท่านั้นด้วย ที่มา - Lenovo