sysid
stringlengths
1
6
title
stringlengths
8
870
txt
stringlengths
0
257k
302221
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การอนุมัติพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การอนุมัติพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๔๐[๑] ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เสนอขอให้รัฐสภาพิจารณาอนุมัติพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๔๐ นั้น ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๐ ปีที่ ๑ ครั้งที่ ๑ (สมัยวิสามัญครั้งที่ ๓) วันพุธที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ที่ประชุมได้ลงมติอนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าว และในคราวประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๑ (สมัยวิสามัญ) วันศุกร์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ที่ประชุมได้ลงมติอนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าว จึงประกาศมาตามความในมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกาศ ณ วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๐ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี พัสสน/จัดทำ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๒ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔/ตอนที่ ๗๐ ก/หน้า ๓๑/๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๐
307162
ข้อบังคับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ว่าด้วยการปฏิบัติงานแทน การมอบหมาย และการมอบอำนาจ พ.ศ. 2542
ข้อบังคับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ข้อบังคับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ว่าด้วยการปฏิบัติงานแทน การมอบหมาย และการมอบอำนาจ พ.ศ. ๒๕๔๒[๑] โดยที่เป็นการสมควรให้การปฏิบัติงานขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน มีประสิทธิภาพและเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๖ (๔) และ (๗) แห่งพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๔๐ คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจึงออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในข้อบังคับนี้ “ปรส.” หมายความว่า องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน “คณะกรรมการองค์การ” หมายความว่า คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน “เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน “รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ” หมายความว่า รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน “รองเลขาธิการ” หมายความว่า รองเลขาธิการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน “ผู้ช่วยเลขาธิการ” หมายความว่า ผู้ช่วยเลขาธิการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ข้อ ๒ ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ และยังมิได้มีการแต่งตั้งเลขาธิการ ให้คณะกรรมการองค์การแต่งตั้งรองเลขาธิการ หรือผู้ช่วยเลขาธิการคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ และให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเลขาธิการทุกประการ เว้นแต่อำนาจและหน้าที่ของเลขาธิการในฐานะกรรมการของ ปรส. ข้อ ๓ ในกรณีที่เลขาธิการ หรือผู้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการไม่อาจปฏิบัติงานได้ เลขาธิการ หรือผู้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ จะมอบหมายให้รองเลขาธิการ หรือผู้ช่วยเลขาธิการคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานแทนได้ ภายในขอบอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการ หรือ ผู้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ การมอบหมายตามวรรคหนึ่งให้ทำเป็นหนังสือ ข้อ ๔ เลขาธิการ หรือผู้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ จะมอบอำนาจให้ตัวแทน หรือบุคคลใดกระทำกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ เว้นแต่ กิจการที่คณะกรรมการองค์การได้มีข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น การมอบอำนาจตามวรรคหนึ่งให้ทำเป็นหนังสือ ข้อ ๕ ให้ใช้ข้อบังคับนี้ ตั้งแต่วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๑ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ อมเรศ ศิลาอ่อน ประธานกรรมการ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พัสสน/จัดทำ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๒ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนพิเศษ ๑๑ ง/หน้า ๑/๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒
803515
พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
พระราชกำหนด พระราชกำหนด การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พระราชกำหนดนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชกำหนดนี้ เพื่อให้การกำกับและการควบคุมการดำเนินกิจกรรมและการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทำให้การดำเนินกิจกรรมและการประกอบธุรกิจดังกล่าวมีความโปร่งใส อันจะเป็นประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศและการคุ้มครองผู้ลงทุนและประชาชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการตราพระราชกำหนดนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑” มาตรา ๒[๑] พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ในพระราชกำหนดนี้ “คริปโทเคอร์เรนซี” หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล และให้หมายความรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด “โทเคนดิจิทัล” หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) กำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ (๒) กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ และให้หมายความรวมถึงหน่วยแสดงสิทธิอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด “สินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล “ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า การประกอบธุรกิจตามประเภทดังต่อไปนี้ (๑) ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (๒) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (๓) ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (๔) กิจการอื่นที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. “ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ศูนย์กลางหรือเครือข่ายใด ๆ ที่จัดให้มีขึ้นเพื่อการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล โดยการจับคู่หรือหาคู่สัญญาให้ หรือการจัดระบบหรืออำนวยความสะดวกให้ผู้ซึ่งประสงค์จะซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถทำความตกลงหรือจับคู่กันได้ โดยกระทำเป็นทางค้าปกติ แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงศูนย์กลางหรือเครือข่ายในลักษณะที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด “นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า บุคคลซึ่งให้บริการหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะให้บริการเป็นนายหน้าหรือตัวแทน เพื่อซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่บุคคลอื่น โดยกระทำเป็นทางค้าปกติและได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่น แต่ไม่รวมถึงการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนในลักษณะที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด “ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า บุคคลซึ่งให้บริการหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะให้บริการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในนามของตนเองเป็นทางค้าปกติ โดยกระทำนอกศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ไม่รวมถึงการให้บริการในลักษณะที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด “ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ให้บริการระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ออกใหม่ ซึ่งทำหน้าที่กลั่นกรองลักษณะของโทเคนดิจิทัลที่จะเสนอขาย คุณสมบัติของผู้ออก และความครบถ้วนถูกต้องของแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล และร่างหนังสือชี้ชวน หรือข้อมูลอื่นใดที่เปิดเผยผ่านผู้ให้บริการดังกล่าว “คณะกรรมการ ก.ล.ต.” หมายความว่า คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ “สำนักงาน ก.ล.ต.” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้ “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนี้ มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกำหนดนี้ และให้มีอำนาจออกประกาศและแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้ ประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ หมวด ๑ บททั่วไป มาตรา ๕ หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ไม่ให้ถือเป็นคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลตามพระราชกำหนดนี้ มาตรา ๖ ในกรณีที่ต้องมีการส่งมอบ การโอน การยึดถือหรือส่งคืนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ให้ใช้คริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลประเภทและชนิดเดียวกัน และจำนวนเท่ากันแทนกันได้ มาตรา ๗ ให้ถือว่าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลตามพระราชกำหนดนี้เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มาตรา ๘ ในกรณีที่จำเป็นต้องคำนวณราคาสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินไทย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด มาตรา ๙ ในกรณีที่ผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามพระราชกำหนดนี้จะรับคริปโทเคอร์เรนซีเป็นการตอบแทนหรือในการทำธุรกรรม แล้วแต่กรณี ให้รับได้เฉพาะคริปโทเคอร์เรนซีที่ได้มาจากการซื้อขาย แลกเปลี่ยน หรือที่ได้ฝากไว้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตตามพระราชกำหนดนี้เท่านั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด หมวด ๒ การกำกับและควบคุม มาตรา ๑๐ เพื่อประโยชน์ในการกำกับและควบคุมการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลและการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีหน้าที่และอำนาจวางนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับและควบคุมสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดนี้ หน้าที่และอำนาจดังกล่าวให้รวมถึง (๑) ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลและการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (๒) กำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับคำขออนุญาต การอนุญาต คำขอความเห็นชอบ การให้ความเห็นชอบ การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี การยื่นคำขอต่าง ๆ หรือการประกอบกิจการตามที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับความเห็นชอบ (๓) กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้บังคับพระราชกำหนดนี้ (๔) ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชกำหนดนี้ มาตรา ๑๑ ในกรณีที่มีการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอันอาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประโยชน์ของประชาชนในวงกว้าง ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. รายงานข้อเท็จจริงและประเมินผลกระทบหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งวิเคราะห์ปัญหาและเสนอแนวทางการดำเนินการต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาโดยเร็ว มาตรา ๑๒ ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. มอบหมายได้ ให้นำความในมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาใช้บังคับกับการประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม มาตรา ๑๓ ให้คณะอนุกรรมการตามมาตรา ๑๒ ได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่รัฐมนตรีกำหนด และให้ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสำนักงาน ก.ล.ต. มาตรา ๑๔ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีหน้าที่และอำนาจในการปฏิบัติการใด ๆ เพื่อให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ ก.ล.ต. และปฏิบัติงานอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดนี้ หน้าที่และอำนาจดังกล่าวให้รวมถึง (๑) ออกประกาศหรือคำสั่งตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดนี้ (๒) รับค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บตามพระราชกำหนดนี้ ค่าธรรมเนียมตาม (๒) ให้ตกเป็นของสำนักงาน ก.ล.ต. มาตรา ๑๕ เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของประชาชนหรือเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดและการลงโทษบุคคลซึ่งกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลอื่นใดที่ได้รับมาเนื่องจากการปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด หมวด ๓ การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน มาตรา ๑๖ บทบัญญัติในหมวดนี้มิให้นำมาใช้บังคับกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลประเภทที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด มาตรา ๑๗ ในการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ออกใหม่ต่อประชาชน ผู้ออกโทเคนดิจิทัลที่ประสงค์จะเสนอขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าวต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. และให้กระทำได้เฉพาะนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด และต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. โดยมีรายละเอียดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับโทเคนดิจิทัลที่ผู้เสนอขายได้ออกไว้แล้วและมีวัตถุประสงค์ที่จะเสนอขายเป็นการทั่วไปต่อประชาชนด้วย การขอเสนอขายโทเคนดิจิทัลและการอนุญาตตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด มาตรา ๑๘ ผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๗ ให้เสนอขายได้เฉพาะต่อผู้ลงทุนตามประเภทและภายใต้เงื่อนไขที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด มาตรา ๑๙ การเสนอขายโทเคนดิจิทัลจะกระทำได้ต่อเมื่อแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับแล้ว และต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. เท่านั้น การมีผลใช้บังคับของแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนการเผยแพร่ข้อมูลและการโฆษณาชี้ชวนเกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัล กระบวนการและหลักเกณฑ์ในการเสนอขายโทเคนดิจิทัล ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด การให้ความเห็นชอบผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด มาตรา ๒๐ ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจประกาศกำหนดประเภทของโทเคนดิจิทัลหรือลักษณะการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ได้รับการยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนตามมาตรา ๑๗ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๑ กรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจควบคุมกิจการของผู้ขออนุญาตตามมาตรา ๑๗ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่แสดงถึงการขาดความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจให้บริหารจัดการกิจการที่เสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชนตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด โดยให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดตำแหน่งของผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจควบคุมกิจการดังกล่าวด้วย ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่กรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจควบคุมกิจการของผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลตามมาตรา ๑๙ โดยอนุโลม มาตรา ๒๒ ภายหลังจากวันที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) ในกรณีที่สำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจพบว่าข้อความหรือรายการในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและหนังสือชี้ชวนเป็นเท็จ หรือขาดข้อความที่ควรต้องแจ้งในสาระสำคัญอันอาจทำให้ผู้ลงทุนเสียหาย ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งระงับการมีผลใช้บังคับของแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวน และมีอำนาจสั่งเพิกถอนการอนุญาตนั้นได้ในทันที (๒) ในกรณีที่สำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจพบว่าข้อความหรือรายการในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและหนังสือชี้ชวนคลาดเคลื่อนในสาระสำคัญ หรือมีเหตุการณ์ที่มีผลให้ข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและหนังสือชี้ชวนเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ทั้งนี้ อาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจในการลงทุนของผู้ลงทุน ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งระงับการมีผลใช้บังคับของแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะได้มีการดำเนินการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องและดำเนินการอื่นใดตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดเพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงการแก้ไขข้อมูลดังกล่าว และหากไม่ดำเนินการตามที่กำหนด ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งเพิกถอนการอนุญาตนั้นได้ (๓) ในกรณีที่สำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจพบว่าข้อความหรือรายการในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและหนังสือชี้ชวนคลาดเคลื่อนในลักษณะอื่นที่มิใช่กรณีตาม (๑) หรือ (๒) ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งให้ผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ยื่นแบบดังกล่าวแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง และหากไม่แก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งระงับการมีผลใช้บังคับของแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะได้มีการดำเนินการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง การสั่งการของสำนักงาน ก.ล.ต. ตามวรรคหนึ่ง ไม่กระทบถึงการดำเนินการใด ๆ ของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลก่อนที่จะมีการสั่งการดังกล่าว และไม่กระทบถึงสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายของบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๓ มาตรา ๒๓ ให้นำความในมาตรา ๘๒ มาตรา ๘๓ มาตรา ๘๔ มาตรา ๘๕ และมาตรา ๘๖ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ และมาตรา ๘๙/๒๐ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ มาใช้บังคับกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลโดยอนุโลม มาตรา ๒๔ การมีผลใช้บังคับของแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวน มิได้เป็นการแสดงว่าคณะกรรมการ ก.ล.ต. และสำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับรองถึงความถูกต้องของข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและในหนังสือชี้ชวนดังกล่าวหรือได้ประกันราคาของโทเคนดิจิทัลที่เสนอขายนั้น มาตรา ๒๕ ให้ผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลจัดทำและส่งข้อมูลดังต่อไปนี้ ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด (๑) รายงานเกี่ยวกับผลการดำเนินงานและฐานะการเงิน (๒) ข้อมูลใด ๆ ที่อาจมีผลต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือโทเคนดิจิทัล หรือต่อการตัดสินใจลงทุน หรือต่อการเปลี่ยนแปลงในราคาหรือมูลค่าของโทเคนดิจิทัล หมวด ๔ ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล มาตรา ๒๖ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตลอดจนเสียค่าธรรมเนียมการขออนุญาตและการอนุญาต ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด มาตรา ๒๗ ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศหรือเพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของประชาชน ให้รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขที่ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติในการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่งได้ มาตรา ๒๘ ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตั้งหรือยอมให้บุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด เป็นหรือทำหน้าที่กรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดตำแหน่งของผู้บริหารดังกล่าวด้วย มาตรา ๒๙ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะแต่งตั้งกรรมการหรือผู้บริหารตามมาตรา ๒๘ ได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ในกรณีที่ปรากฏในภายหลังว่าบุคคลตามวรรคหนึ่งมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๘ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. เพิกถอนความเห็นชอบที่ได้ให้ไว้แล้วได้ และให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเสนอชื่อบุคคลอื่นแทนเพื่อขอรับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ถูกเพิกถอนความเห็นชอบ มาตรา ๓๐ ในการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการ ก.ล.ต. ต้องคำนึงถึงเรื่องดังต่อไปนี้ด้วย (๑) การมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอสำหรับการรองรับการประกอบธุรกิจและความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ (๒) ความปลอดภัยของทรัพย์สินของลูกค้า (๓) การรักษาความปลอดภัยจากการโจรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อป้องกันระบบคอมพิวเตอร์และข้อมูลคอมพิวเตอร์ รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากการโจรกรรมหรือเหตุอื่น ๆ (๔) การมีระบบบัญชีที่เหมาะสมกับกิจการและจัดให้มีการสอบบัญชีโดยผู้สอบบัญชีที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบ (๕) การมีมาตรการการรู้จักลูกค้า การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า และมาตรการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายหรือการฟอกเงิน มาตรา ๓๑ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดทำบัญชีทรัพย์สินของลูกค้าแยกแต่ละรายและต้องเก็บรักษาทรัพย์สินแยกออกจากทรัพย์สินของตนโดยไม่อาจนำไปใช้เพื่อการอื่นใดได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ให้ทรัพย์สินของลูกค้าที่อยู่ในบัญชีของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยังคงเป็นทรัพย์สินของลูกค้า เมื่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามวรรคหนึ่ง ตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ หรือถูกทางการหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลตามกฎหมายอื่นสั่งระงับการดำเนินกิจการบางส่วนหรือทั้งหมด ให้นำความในมาตรา ๑๑๑/๑ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม หมวด ๕ การเลิกประกอบธุรกิจ การเพิกถอนการอนุญาตประกอบธุรกิจ และการห้ามการทำธุรกรรม มาตรา ๓๒ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลใดประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจตามประเภทที่ได้รับอนุญาต ให้ยื่นขออนุญาตเลิกประกอบธุรกิจต่อรัฐมนตรีผ่านคณะกรรมการ ก.ล.ต. โดยในการอนุญาตรัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้ มาตรา ๓๓ เมื่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลใดเลิกประกอบธุรกิจ ให้ผู้ประกอบธุรกิจนั้นทำการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล ชำระราคา ส่งมอบรายการที่ค้างอยู่ หรือดำเนินการใด ๆ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และภายในระยะเวลาที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด มาตรา ๓๔ เมื่อปรากฏว่าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตภายในเวลาที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด หรือหยุดประกอบธุรกิจเกินกว่าเวลาที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด ให้รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจเพิกถอนการอนุญาตประกอบธุรกิจของผู้นั้นได้ รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจตามวรรคหนึ่งต้องปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของลูกค้าด้วยก็ได้ มาตรา ๓๕ เมื่อปรากฏว่าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีฐานะทางการเงินหรือการดำเนินงานที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน หรือฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด คณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจสั่งให้แก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด หากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลระงับการดำเนินงานทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเป็นการชั่วคราวภายในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง ในการนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิบัติเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขฐานะทางการเงินหรือการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจนั้นด้วยก็ได หากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยังคงฝ่าฝืนไม่ดำเนินการตามวรรคสอง หรือกระทำความผิดซ้ำอีก รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจพิจารณาเพิกถอนการอนุญาต ในการนี้ รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ถูกเพิกถอนการอนุญาตนั้นต้องปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของลูกค้าก่อนก็ได้ มาตรา ๓๖ เมื่อปรากฏหลักฐานต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. ว่า ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลใดมีฐานะทางการเงินหรือการดำเนินงานในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ประโยชน์ของประชาชน และผู้ประกอบธุรกิจนั้นไม่สามารถแก้ไขฐานะทางการเงินหรือการดำเนินงานดังกล่าวได้ ให้รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งเพิกถอนการอนุญาตได้ ในการนี้ รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ถูกเพิกถอนการอนุญาตนั้นต้องปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของลูกค้าด้วยก็ได้ มาตรา ๓๗ ในกรณีที่การทำธุรกรรม การดำเนินกิจการ หรือการดำเนินการใดเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินหรือระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทำธุรกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล หรือสั่งระงับการดำเนินกิจการหรือการดำเนินการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ในการนี้ รัฐมนตรีอาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามวรรคหนึ่งต้องปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของลูกค้าด้วยก็ได้ หมวด ๖ การป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับ การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล มาตรา ๓๘ บทบัญญัติในหมวดนี้ให้ใช้บังคับกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามพระราชกำหนดนี้ การซื้อขายตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย มาตรา ๓๙ ในหมวดนี้ “ผู้บริหาร” หมายความว่า ผู้จัดการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการบริหารงานของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลไม่ว่าโดยพฤติการณ์หรือโดยได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด “อำนาจควบคุมกิจการ” หมายความว่า (๑) การถือหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงในนิติบุคคลหนึ่งเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของนิติบุคคลนั้น (๒) การมีอำนาจควบคุมคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของนิติบุคคลหนึ่ง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือไม่ว่าเพราะเหตุอื่นใด (๓) การมีอำนาจควบคุมการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการตั้งแต่กึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม “สัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า สัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า “ข้อมูลภายใน” หมายความว่า ข้อมูลที่ยังมิได้มีการเปิดเผยต่อประชาชนเป็นการทั่วไปซึ่งเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหรือมูลค่าของโทเคนดิจิทัล “ผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ผลกระทบที่ทำให้ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลสูงขึ้น ต่ำลง คงที่ หรือเป็นการพยุงราคาสินทรัพย์ดิจิทัล มาตรา ๔๐ ห้ามมิให้บุคคลใดบอกกล่าว เผยแพร่ หรือให้คำรับรองข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความอันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงานข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวกับผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล ลักษณะหรือสาระสำคัญของโทเคนดิจิทัล หรือราคาซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยประการที่น่าจะทำให้มีผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ดิจิทัลหรือต่อการตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล มาตรา ๔๑ ห้ามมิให้บุคคลใดวิเคราะห์หรือคาดการณ์ฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงานข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวกับผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล ลักษณะหรือสาระสำคัญของโทเคนดิจิทัล หรือราคาซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยนำข้อมูลที่รู้ว่าเป็นเท็จหรือไม่ครบถ้วนอันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญ มาใช้ในการวิเคราะห์หรือคาดการณ์หรือละเลยที่จะพิจารณาความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าว หรือโดยบิดเบือนข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์หรือคาดการณ์ และได้เปิดเผยหรือให้ความเห็นเกี่ยวกับการวิเคราะห์หรือคาดการณ์นั้นต่อประชาชนโดยประการที่น่าจะทำให้มีผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ดิจิทัลหรือต่อการตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล มาตรา ๔๒ ห้ามมิให้บุคคลใดซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในที่เกี่ยวกับผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือลักษณะหรือสาระสำคัญของโทเคนดิจิทัล กระทำการดังต่อไปนี้ (๑) ซื้อหรือขายโทเคนดิจิทัล หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกี่ยวข้องกับโทเคนดิจิทัลไม่ว่าเพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น เว้นแต่ (ก) เป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย คำสั่งศาล หรือคำสั่งของหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมาย (ข) เป็นการปฏิบัติตามภาระผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกี่ยวข้องกับโทเคนดิจิทัลที่ทำขึ้นก่อนที่ตนจะรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในที่เกี่ยวกับผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือลักษณะหรือสาระสำคัญของโทเคนดิจิทัล (ค) เป็นการกระทำโดยตนมิได้เป็นผู้รู้เห็นหรือตัดสินใจ แต่ได้มอบหมายให้ผู้ได้รับอนุญาตหรือจดทะเบียนตามกฎหมายให้จัดการเงินทุนหรือการลงทุน ตัดสินใจในการซื้อหรือขายโทเคนดิจิทัล หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกี่ยวข้องกับโทเคนดิจิทัลนั้น หรือ (ง) เป็นการกระทำในลักษณะที่มิได้เป็นการเอาเปรียบบุคคลอื่นหรือในลักษณะตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด (๒) เปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมและไม่ว่าด้วยวิธีใด โดยรู้หรือควรรู้ว่าผู้รับข้อมูลอาจนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ในการซื้อหรือขายโทเคนดิจิทัล หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกี่ยวข้องกับโทเคนดิจิทัล ไม่ว่าเพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น เว้นแต่เป็นการกระทำในลักษณะที่มิได้เป็นการเอาเปรียบบุคคลอื่นหรือในลักษณะตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด มาตรา ๔๓ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามมาตรา ๔๒ (๑) กรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอานาจควบคุมกิจการของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล (๒) พนักงานหรือลูกจ้างของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล ซึ่งอยู่ในตำแหน่งหรือสายงานที่รับผิดชอบข้อมูลภายในหรือที่สามารถเข้าถึงข้อมูลภายใน (๓) บุคคลซึ่งอยู่ในฐานะที่สามารถรู้ข้อมูลภายในอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือบุคคลอื่นใดที่ทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลภายในนั้น และให้รวมถึงพนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ร่วมงานของบุคคลดังกล่าวที่อยู่ในตำแหน่งหรือสายงานที่มีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลภายในนั้น (๔) กรรมการ อนุกรรมการ ผู้แทนนิติบุคคล ตัวแทน ลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษา หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ สำนักงาน ก.ล.ต. หรือศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งอยู่ในตำแหน่งหรือฐานะที่สามารถรู้ข้อมูลภายในอันได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ของตน (๕) นิติบุคคลซึ่งบุคคลตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) มีอำนาจควบคุมกิจการ มาตรา ๔๔ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลดังต่อไปนี้ ซึ่งมีพฤติกรรมการซื้อขายโทเคนดิจิทัล หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกี่ยวข้องกับโทเคนดิจิทัลที่ผิดไปจากปกติวิสัยของตนเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามมาตรา ๔๒ (๑) ผู้ถือโทเคนดิจิทัลเกินร้อยละห้าของโทเคนดิจิทัลที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดในแต่ละรุ่นของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลโดยให้นับรวมโทเคนดิจิทัลที่ถือโดยคู่สมรสหรือผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้ถือโทเคนดิจิทัล (๒) กรรมการ ผู้บริหาร ผู้มีอำนาจควบคุมกิจการ พนักงาน หรือลูกจ้างของกิจการในกลุ่มของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล ซึ่งอยู่ในตำแหน่งหรือสายงานที่รับผิดชอบข้อมูลภายในหรือที่สามารถเข้าถึงข้อมูลภายในได้ (๓) บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือบุตรบุญธรรมของบุคคลตามมาตรา ๔๓ (๔) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือพี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกันของบุคคลตามมาตรา ๔๓ (๕) คู่สมรสหรือผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาของบุคคลตามมาตรา ๔๓ หรือบุคคลตาม (๓) หรือ (๔) กิจการในกลุ่มของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลตาม (๒) หมายความว่า บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย หรือบริษัทร่วมของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด มาตรา ๔๕ ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งพนักงานหรือลูกจ้างของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว ซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลเกี่ยวกับการสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้ารายใดของผู้ประกอบธุรกิจนั้น กระทำการดังต่อไปนี้ไม่ว่าเพื่อตนเองหรือบุคคลอื่นในประการที่น่าจะทำให้ลูกค้ารายดังกล่าวเสียประโยชน์ (๑) ส่ง แก้ไข หรือยกเลิกคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น โดยใช้โอกาสดำเนินการก่อนที่ตนจะดำเนินการตามคำสั่งของลูกค้ารายดังกล่าวแล้วเสร็จ (๒) เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคำสั่งของลูกค้ารายดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น โดยรู้หรือควรรู้ว่าบุคคลนั้นจะอาศัยข้อมูลดังกล่าวเพื่อทำการส่ง แก้ไข หรือยกเลิกคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นได้ก่อนที่ตนจะดำเนินการตามคำสั่งของลูกค้ารายดังกล่าวแล้วเสร็จ มาตรา ๔๖ ห้ามมิให้บุคคลใดกระทำการ ดังต่อไปนี้ (๑) ส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล (๒) ส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล ในลักษณะต่อเนื่องกันโดยมุ่งหมายให้ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลหรือปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาด มาตรา ๔๗ มิให้นำมาตรา ๔๖ มาใช้บังคับแก่การซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด มาตรา ๔๘ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าการกระทำดังต่อไปนี้ เป็นการกระทำอันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามมาตรา ๔๖ (๑) หรือเป็นการกระทำที่ทำให้ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลหรือปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาดตามมาตรา ๔๖ (๒) แล้วแต่กรณี (๑) ซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งในที่สุดบุคคลที่ได้ประโยชน์จากการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลยังคงเป็นบุคคลคนเดียวกัน (๒) ส่งคำสั่งซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรู้อยู่แล้วว่าตนเองหรือบุคคลซึ่งร่วมกันกระทำการ ได้สั่งขายหรือจะสั่งขายสินทรัพย์ดิจิทัลเดียวกัน ในจำนวนใกล้เคียงกัน ราคาใกล้เคียงกัน และภายในเวลาใกล้เคียงกัน (๓) ส่งคำสั่งขายสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรู้อยู่แล้วว่าตนเองหรือบุคคลซึ่งร่วมกันกระทำการ ได้สั่งซื้อหรือจะสั่งซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลเดียวกัน ในจำนวนใกล้เคียงกัน ราคาใกล้เคียงกัน และภายในเวลาใกล้เคียงกัน (๔) ส่ง แก้ไข หรือยกเลิกคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงก่อนเปิดหรือช่วงก่อนปิดศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมุ่งหมายให้ราคาเปิดหรือราคาปิดของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นสูงหรือต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (๕) ส่ง แก้ไข หรือยกเลิกคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลในลักษณะที่เป็นการขัดขวางการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบุคคลอื่น ซึ่งมีผลทำให้บุคคลอื่นต้องส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล ในราคาที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าที่ควรจะเป็น มาตรา ๔๙ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้กระทำการดังต่อไปนี้ เป็นตัวการในการกระทำความผิดตามมาตรา ๔๖ (๑) เปิดบัญชีธนาคาร บัญชีกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือบัญชีอื่นใดร่วมกันเพื่อการชำระราคาหรือรับชำระราคาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (๒) ยอมให้บุคคลอื่นใช้ประโยชน์จากบัญชีธนาคาร บัญชีกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือบัญชีอื่นใดของตนเพื่อการชำระราคาหรือรับชำระราคาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (๓) ยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของตน (๔) ชำระราคาหรือรับชำระราคาค่าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแทนกัน (๕) นำเงินหรือทรัพย์สินอื่นมาวางเป็นประกันในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแทนกัน (๖) ยอมให้บุคคลอื่นรับประโยชน์หรือรับผิดชอบในการชำระราคาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของตน หรือ (๗) โอนหรือรับโอนสินทรัพย์ดิจิทัลระหว่างกัน มาตรา ๕๐ ห้ามมิให้บุคคลใดส่ง แก้ไข หรือยกเลิกคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลเข้าไปในระบบซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยรู้หรือควรรู้ว่า การกระทำดังกล่าวนั้นน่าจะทำให้ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลหรือปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลผิดไปจากสภาพปกติของตลาดและเป็นเหตุให้ระบบซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลล่าช้าหรือหยุดชะงัก หมวด ๗ พนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๕๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ดังต่อไปนี้ (๑) เข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจหรือสถานที่ตั้งของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือสถานที่ซึ่งรวบรวมหรือประมวลข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือด้วยเครื่องมืออื่นใด ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของสถานที่นั้นเพื่อตรวจสอบกิจการ สินทรัพย์และหนี้สินของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งเอกสาร หลักฐาน หรือข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (๒) เข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือสถานที่ซึ่งรวบรวมหรือประมวลข้อมูลของบุคคลดังกล่าวด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือด้วยเครื่องมืออื่นใด ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของสถานที่นั้นเพื่อตรวจสอบสมุดบัญชี เอกสาร หลักฐาน หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง (๓) ตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล เพื่อตรวจสอบหลักฐานหรือข้อมูลอื่นใดเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือกิจการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล (๔) เข้าไปในสถาบันการเงินหรือสถานที่ใดในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของสถานที่นั้นเพื่อทำการตรวจสอบสมุดบัญชี เอกสาร หลักฐาน หรือข้อมูลอื่นที่อาจเกี่ยวข้องกับการกระทำอันเป็นความผิดตามพระราชกำหนดนี้ (๕) ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน เอกสาร หลักฐาน หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบหรือดำเนินคดี ทั้งนี้ การออกคำสั่งยึดหรืออายัดดังกล่าวต้องระบุเหตุผล ความจำเป็น และสิทธิของผู้ถูกยึดหรืออายัดนั้น (๖) สั่งให้กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้สอบบัญชีของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือผู้รวบรวมหรือประมวลข้อมูลของบุคคลดังกล่าวด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องมืออื่นใด มาให้ถ้อยคำ หรือส่งสำเนาหรือแสดงสมุดบัญชี เอกสาร ดวงตรา หรือหลักฐานอื่นเกี่ยวกับกิจการ การดำเนินงาน สินทรัพย์และหนี้สินของบุคคลดังกล่าว หรือสั่งให้บุคคลดังกล่าวส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องด้วยก็ได้ (๗) สั่งให้บุคคลใด ๆ ที่ทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลกับหรือผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล มาให้ถ้อยคำ หรือส่งสำเนาหรือแสดงสมุดบัญชี เอกสาร หลักฐาน หรือข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมดังกล่าว (๘) สั่งให้บุคคลใด ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่มาให้ถ้อยคำ หรือส่งสำเนาหรือแสดงสมุดบัญชี เอกสาร หลักฐาน หรือข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวข้องหรือจำเป็นแก่การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร เมื่อได้เข้าไปและลงมือทำการตรวจสอบตาม (๑) (๒) หรือ (๔) แล้ว ถ้ายังดำเนินการไม่เสร็จจะกระทำต่อไปในเวลากลางคืนหรือนอกเวลาทำการของสถานที่นั้นก็ได้ การใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม (๗) และ (๘) จะต้องเป็นการกระทำต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องที่ดำเนินการตรวจสอบ และต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ก่อน โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องกำหนดระยะเวลาอันสมควรที่จะให้บุคคลดังกล่าวสามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้ มาตรา ๕๒ เมื่อหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลหรือกฎหมายอื่นในทำนองเดียวกันของต่างประเทศร้องขอ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจให้ความช่วยเหลือในการรวบรวมหรือตรวจสอบข้อมูลหรือหลักฐานที่จำเป็นเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลหรือกฎหมายอื่นในทำนองเดียวกันของประเทศผู้ร้องขอ ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือในกรณีดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (๑) การให้ความช่วยเหลือนั้นต้องไม่ขัดต่อประโยชน์สาธารณะหรือการรักษาความลับของประเทศ (๒) การกระทำซึ่งเป็นมูลกรณีของความช่วยเหลือนั้นเข้าลักษณะประเภทความผิดตามพระราชกำหนดนี้ (๓) หน่วยงานต่างประเทศที่ร้องขอความช่วยเหลือตกลงหรือยินยอมที่จะให้ความช่วยเหลือในทำนองเดียวกันเป็นการตอบแทนหากได้รับคำร้องขอจากสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้นำความในมาตรา ๕๑ และบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับ มาตรา ๕๓ พยานหลักฐานที่ได้มาตามความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างประเทศกับสำนักงาน ก.ล.ต. ให้นำมาใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีทั้งปวงได้ มาตรา ๕๔ ข้อมูล ข้อเท็จจริง เอกสาร และหลักฐานต่าง ๆ ที่สำนักงาน ก.ล.ต. ส่งมอบในการกล่าวโทษผู้กระทำผิด พนักงานสอบสวนอาจนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนคดีอาญาได้ มาตรา ๕๕ ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด มาตรา ๕๖ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา หมวด ๘ โทษทางอาญา มาตรา ๕๗ ผู้ใดเสนอขายโทเคนดิจิทัลโดยฝ่าฝืนหรือไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๗ วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หรือเสนอขายโดยไม่กระทำผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลตามมาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นเงินไม่เกินสองเท่าของราคาขายของโทเคนดิจิทัลทั้งหมดซึ่งผู้นั้นได้เสนอขาย แต่ทั้งนี้ เงินค่าปรับต้องไม่น้อยกว่าห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๕๘ ผู้ใดเสนอขายโทเคนดิจิทัลโดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามมาตรา ๑๗ วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา ๕๙ ผู้ใดแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนตามมาตรา ๑๗ วรรคหนึ่ง ในสาระสำคัญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับเป็นเงินไม่เกินสองเท่าของราคาขายของโทเคนดิจิทัลทั้งหมดซึ่งผู้นั้นได้เสนอขาย แต่ทั้งนี้ เงินค่าปรับต้องไม่น้อยกว่าห้าแสนบาท มาตรา ๖๐ ผู้ใดเสนอขายโทเคนดิจิทัลโดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามมาตรา ๑๙ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๖๑ ผู้ใดเสนอขายหรือขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชนก่อนที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนที่ยื่นไว้ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามมาตรา ๑๙ มีผลใช้บังคับ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับเป็นเงินไม่เกินหนึ่งเท่าของราคาขายของโทเคนดิจิทัลทั้งหมดซึ่งผู้นั้นได้เสนอขาย แต่ทั้งนี้ เงินค่าปรับต้องไม่น้อยกว่าสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๖๒ ผู้ใดเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชนในระหว่างที่สำนักงาน ก.ล.ต. สั่งระงับการมีผลใช้บังคับของแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนตามมาตรา ๒๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นเงินไม่เกินสองเท่าของราคาขายของโทเคนดิจิทัลทั้งหมดซึ่งผู้นั้นได้เสนอขาย แต่ทั้งนี้ เงินค่าปรับต้องไม่น้อยกว่าห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๖๓ ผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละสามพันบาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา ๖๔ ผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๕ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละสามพันบาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา ๖๕ ผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลใดมีหน้าที่จัดทำหรือส่งข้อมูลตามมาตรา ๒๕ แสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๖๖ ผู้ใดประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยมิได้รับอนุญาตตามมาตรา ๒๖ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ มาตรา ๖๗ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ หรือมาตรา ๓๓ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไข หรือคำสั่ง หรือประกาศตามมาตรา ๒๗ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ วรรคสอง มาตรา ๓๕ หรือมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา ๖๘ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลใดไม่ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งตามมาตรา ๓๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา ๖๙ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๙ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือวิธีการตามมาตรา ๙ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท มาตรา ๗๐ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๐ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๕ หรือมาตรา ๔๖ (๑) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๗๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๖ (๒) หรือมาตรา ๕๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๗๒ กรณีความผิดตามมาตรา ๗๐ หรือมาตรา ๗๑ ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดโทษปรับ ถ้าผู้กระทำความผิดได้รับหรือพึงได้รับผลประโยชน์จากการกระทำความผิดนั้น ให้ปรับเป็นเงินไม่เกินสองเท่าของผลประโยชน์ ทั้งนี้ ค่าปรับดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าค่าปรับขั้นต่ำที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๐ หรือมาตรา ๗๑ แล้วแต่กรณี มาตรา ๗๓ ผู้ใดยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล บัญชีธนาคาร บัญชีที่เปิดไว้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือบัญชีอื่นใดที่ใช้ชำระราคาซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ เพื่อปกปิดตัวตนของบุคคลที่ใช้บัญชีดังกล่าว ในประการที่บุคคลนั้นอาจนำบัญชีไปใช้ในการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามหมวด ๖ การป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดใช้บัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล บัญชีธนาคาร บัญชีที่เปิดไว้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือบัญชีอื่นใดของบุคคลอื่นเพื่อดำเนินการอันไม่เป็นธรรมตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน มาตรา ๗๔ ในกรณีที่ศาลเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา ๗๐ มาตรา ๗๑ หรือมาตรา ๗๓ ให้ศาลสั่งให้ผู้กระทำความผิดกระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามควรแก่กรณี ดังต่อไปนี้ (๑) ชดใช้เงินในจำนวนที่เท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิดนั้นโดยให้ตกเป็นของแผ่นดิน (๒) ห้ามเข้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลภายในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง (๓) ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง (๔) ชดใช้ค่าใช้จ่ายของสำนักงาน ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดนั้นคืนให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต. หากผู้กระทำความผิดไม่ชดใช้เงินตาม (๑) หรือค่าใช้จ่ายตาม (๔) ให้ศาลมีอำนาจออกหมายบังคับคดี โดยให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ถือว่าสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา มาตรา ๗๕ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง หรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๕๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท มาตรา ๗๖ ผู้ใดแจ้งข้อความหรือให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงาน ก.ล.ต. ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท มาตรา ๗๗ ผู้ใดถอน ทำให้เสียหาย ทำลาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งตราหรือเครื่องหมายซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประทับหรือหมายไว้ที่สิ่งใด ในการปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้ เพื่อเป็นหลักฐานในการยึดหรืออายัด หรือรักษาสิ่งนั้น ๆ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสามแสนบาท มาตรา ๗๘ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สิน เอกสาร หรือข้อมูลใด ๆ อันพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ยึด อายัด รักษาไว้ หรือสั่งให้ส่งเพื่อเป็นพยานหลักฐานหรือเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามพระราชกำหนดนี้ ไม่ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะรักษาทรัพย์สิน เอกสาร หรือข้อมูลนั้นไว้เอง หรือสั่งให้ผู้นั้นหรือผู้อื่นส่งหรือรักษาไว้ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท มาตรา ๗๙ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบันทึกการยินยอมที่กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งตามมาตรา ๙๘ (๓) หรือ (๔) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๘๐ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่กำหนดมาตรการลงโทษตามมาตรา ๗๔ (๒) หรือ (๓) หรือมาตรา ๙๘ (๓) หรือ (๔) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๘๑ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าผู้ใดให้บริการกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๗๙ หรือมาตรา ๘๐ โดยรู้หรือควรรู้ว่ามีการกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งตามบันทึกการยินยอม หรือโดยคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท มาตรา ๘๒ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใดตามมาตรา ๘๙ โดยทุจริต หลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชน ผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ประชาชนผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สามทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท มาตรา ๘๓ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใดตามมาตรา ๘๙ ซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของนิติบุคคลดังกล่าวหรือทรัพย์สินที่นิติบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของนิติบุคคลนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท มาตรา ๘๔ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใดตามมาตรา ๘๙ ครอบครองทรัพย์สินซึ่งเป็นของนิติบุคคลดังกล่าว หรือซึ่งนิติบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์สินนั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท มาตรา ๘๕ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใดตามมาตรา ๘๙ เอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินอันนิติบุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ดูแลหรือที่อยู่ในความครอบครองของนิติบุคคลนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าแสนบาท มาตรา ๘๖ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใดตามมาตรา ๘๙ รู้ว่าเจ้าหนี้ของนิติบุคคลดังกล่าว หรือเจ้าหนี้ของบุคคลอื่นซึ่งจะใช้สิทธิของเจ้าหนี้นิติบุคคลนั้นบังคับการชำระหนี้จากนิติบุคคล ใช้หรือน่าจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ (๑) ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์สินของนิติบุคคลนั้น หรือ (๒) แกล้งให้นิติบุคคลนั้นเป็นหนี้ซึ่งไม่เป็นความจริง ถ้าได้กระทำเพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท มาตรา ๘๗ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใดตามมาตรา ๘๙ กระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคลนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท มาตรา ๘๘ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใดตามมาตรา ๘๙ กระทำหรือยินยอมให้กระทำการดังต่อไปนี้ (๑) ทำให้เสียหาย ทำลาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอมบัญชีเอกสาร หรือหลักประกันของนิติบุคคลดังกล่าว หรือที่เกี่ยวกับนิติบุคคลดังกล่าว (๒) ลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของนิติบุคคลหรือที่เกี่ยวกับนิติบุคคลนั้น หรือ (๓) ทำบัญชีไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบันหรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง ถ้ากระทำหรือยินยอมให้กระทำเพื่อลวงให้นิติบุคคลดังกล่าว หรือผู้ลงทุนในโทเคนดิจิทัลขาดประโยชน์อันควรได้ หรือลวงบุคคลใด ๆ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท มาตรา ๘๙ นิติบุคคลตามมาตรา ๘๒ มาตรา ๘๓ มาตรา ๘๔ มาตรา ๘๕ มาตรา ๘๖ มาตรา ๘๗ และมาตรา ๘๘ ให้หมายความถึงนิติบุคคลดังต่อไปนี้ (๑) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายโทเคนดิจิทัลจากสำนักงาน ก.ล.ต. ตามมาตรา ๑๗ วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง (๒) ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ตามมาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง (๓) ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง มาตรา ๙๐ ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามที่บัญญัติในมาตรา ๘๒ มาตรา ๘๓ มาตรา ๘๔ มาตรา ๘๕ มาตรา ๘๖ มาตรา ๘๗ หรือมาตรา ๘๘ ไม่ว่าด้วยการใช้ สั่ง ขู่เข็ญ จ้าง หรือด้วยวิธีอื่นใด ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น มาตรา ๙๑ ผู้ใดกระทำการด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดตามที่บัญญัติในมาตรา ๘๒ มาตรา ๘๓ มาตรา ๘๔ มาตรา ๘๕ มาตรา ๘๖ มาตรา ๘๗ หรือมาตรา ๘๘ ไม่ว่าก่อนหรือขณะกระทำความผิด ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น เว้นแต่ผู้นั้นมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้น มาตรา ๙๒ ผู้ใดล่วงรู้กิจการของบุคคลใดเนื่องจากการปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดนี้หรือเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้ที่ปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดนี้ อันเป็นกิจการที่ตามปกติวิสัยจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย ถ้าผู้นั้นนำไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การเปิดเผยในกรณี ดังต่อไปนี้ (๑) การเปิดเผยตามหน้าที่ (๒) การเปิดเผยเพื่อประโยชน์แก่การสอบสวนหรือการพิจารณาคดี (๓) การเปิดเผยเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ (๔) การเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขฐานะหรือการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (๕) การเปิดเผยแก่ผู้สอบบัญชีของนิติบุคคลตามพระราชกำหนดนี้ (๖) การเปิดเผยแก่ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ทำหน้าที่กำกับดูแลในด้านตลาดเงิน ตลาดทุน สินทรัพย์ดิจิทัล ผู้สอบบัญชี สินค้าหรือตัวแปรของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือหน่วยงานอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนด (๗) การเปิดเผยเมื่อได้รับความเห็นชอบจากบุคคลดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร มาตรา ๙๓ ผู้ใดล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยเหตุที่เป็นกรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน หรือลูกจ้าง ของผู้ประกอบธุรกิจนั้น และเปิดเผยความลับนั้นในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการเปิดเผยตามกรณีในมาตรา ๙๒ วรรคสอง มาตรา ๙๔ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย มาตรา ๙๕ ความผิดตามมาตรา ๕๗ มาตรา ๕๘ มาตรา ๖๐ มาตรา ๖๑ มาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๗ และมาตรา ๖๙ ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้ คณะกรรมการเปรียบเทียบที่รัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งให้มีจำนวนสามคน โดยอย่างน้อยต้องเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหนึ่งคน เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทำการเปรียบเทียบ และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวน และภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการเปรียบเทียบกำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หมวด ๙ มาตรการลงโทษทางแพ่ง มาตรา ๙๖ ให้การกระทำความผิดดังต่อไปนี้ เป็นการกระทำความผิดที่อาจดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดนั้นได้ (๑) แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญอันเป็นความผิดตามมาตรา ๕๙ และมาตรา ๖๕ (๒) กระทำการอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นความผิดตามมาตรา ๗๐ และมาตรา ๗๑ (๓) ยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล บัญชีธนาคาร บัญชีที่เปิดไว้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือบัญชีอื่นใดที่ใช้ชำระราคาซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือใช้บัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล บัญชีธนาคาร บัญชีที่เปิดไว้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือบัญชีอื่นใดของบุคคลอื่น อันเป็นความผิดตามมาตรา ๗๓ การนำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงความร้ายแรงของการกระทำ ผลกระทบต่อตลาด พยานหลักฐานที่อาจนำมาใช้พิสูจน์ความผิด และความคุ้มค่าในการดำเนินมาตรการนั้น มาตรา ๙๗ ในกรณีที่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนในคดีเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามมาตรา ๙๖ ให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้สำนักงาน ก.ล.ต. ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปตามบทบัญญัติในหมวดนี้ และในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งเห็นสมควรใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งให้สำนักงาน ก.ล.ต. แจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบด้วย มาตรา ๙๘ มาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ (๑) ค่าปรับทางแพ่ง (๒) ชดใช้เงินในจำนวนที่เท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๖ (๓) ห้ามเข้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซ้อขายล่วงหน้าที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลภายในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งต้องไม่เกินห้าปี (๔) ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งต้องไม่เกินสิบปี (๕) ชดใช้ค่าใช้จ่ายของสำนักงาน ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดนั้นคืนให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต. มาตรา ๙๙ ให้คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งตามพระราชกำหนดนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๑๗/๕ มาตรา ๓๑๗/๖ มาตรา ๓๑๗/๗ มาตรา ๓๑๗/๘ มาตรา ๓๑๗/๙ มาตรา ๓๑๗/๑๐ มาตรา ๓๑๗/๑๑ มาตรา ๓๑๗/๑๒ มาตรา ๓๑๗/๑๓ และมาตรา ๓๑๗/๑๔ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๙ มาใช้บังคับกับมาตรการลงโทษทางแพ่งตามพระราชกำหนดนี้โดยอนุโลม บทเฉพาะกาล มาตรา ๑๐๐ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้ประกอบธุรกิจอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับและเป็นธุรกิจที่ต้องขออนุญาตตามพระราชกำหนดนี้ หากจะดำเนินกิจการต่อไปให้ยื่นคำขออนุญาตตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดนี้ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้มีผลใช้บังคับ และเมื่อได้ยื่นคำขออนุญาตแล้ว ให้ดำเนินกิจการต่อไปได้จนกว่าจะมีคำสั่งไม่อนุญาต ผู้รับสนองพระราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันได้มีการนำคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน รวมถึงนำมาซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนในศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล แต่ยังไม่มีกฎหมายที่กำกับหรือควบคุมการดำเนินการดังกล่าวในประเทศไทย ซึ่งทำให้มีการประกอบธุรกิจหรือการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน ระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ดังนั้น เพื่อกำหนดให้มีการกำกับและควบคุมการประกอบธุรกิจและการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล และเพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีมาทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน อันจะเป็นการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพมีเครื่องมือในการระดมทุนที่หลากหลาย รวมทั้งประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอเพื่อใช้ในการตัดสินใจ เกิดความโปร่งใสในการดำเนินการ และป้องกันมิให้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีแหล่งที่มาที่ชัดเจนไปใช้ประโยชน์หรือกระทำการใดในลักษณะที่เป็นการหลอกลวงประชาชนหรือที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชญากรรม และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ ปุณิกา/จัดทำ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ปริญสินีย์/ตรวจ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๓๓ ก/หน้า ๔๓/๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๑
842101
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กม. 17/2561 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่ได้รับใบอนุญาต (ฉบับ Update ล่าสุด)
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กม. ๑๗/๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัลตามที่ได้รับใบอนุญาต[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ และมาตรา ๑๐ (๒) แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในประกาศนี้ “ผู้ได้รับใบอนุญาต” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภท ดังต่อไปนี้ (๑) การเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๒) การเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๓) การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๔) การเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๕) การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี (๖) การเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล “ค่าธรรมเนียม” หมายความว่า ค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาต ข้อ ๒[๒] ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้ โดยให้ผู้ได้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมเฉพาะเมื่อได้รับอนุญาตให้เริ่มประกอบธุรกิจแล้ว ข้อ ๓ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประเภทการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี หรือการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ ๐.๐๐๒ โดยคำนวณจากมูลค่าการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายดังกล่าวแต่สูงสุดไม่เกินปีละ ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ในกรณีที่อัตราค่าธรรมเนียมที่คำนวณได้ตามวรรคหนึ่งมีจำนวนน้อยกว่า ๕๐๐,๐๐๐ บาท ให้ชำระค่าธรรมเนียมขั้นต่ำปีละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท ข้อ ๔ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี หรือการเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ ๐.๐๐๑ โดยคำนวณจากมูลค่าการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนเพื่อบัญชีลูกค้าหรือเพื่อบัญชีตนเอง แต่สูงสุดไม่เกินปีละ ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ในกรณีที่อัตราค่าธรรมเนียมที่คำนวณได้ตามวรรคหนึ่งมีจำนวนน้อยกว่า ๒๕๐,๐๐๐ บาท ให้ชำระค่าธรรมเนียมขั้นต่ำปีละ ๒๕๐,๐๐๐ บาท ข้อ ๕ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประเภทการเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัลชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ ๑ โดยคำนวณจากกำไร (capital gain) ที่เกิดจากการค้าสินทรัพย์ดิจิทัล แต่สูงสุดไม่เกินปีละ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ในกรณีที่อัตราค่าธรรมเนียมที่คำนวณได้ตามวรรคหนึ่งมีจำนวนน้อยกว่า ๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้ชำระค่าธรรมเนียมขั้นต่ำปีละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ข้อ ๖[๓] ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมต่อสำนักงาน ก.ล.ต. โดยให้แบ่งชำระเป็น ๒ งวด ดังต่อไปนี้ (๑) งวดแรก ให้ชำระค่าธรรมเนียมขั้นต่ำตามประเภทธุรกิจภายในวันที่ ๓๑ มกราคมของปีนั้น ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตมีการประกอบธุรกิจไม่เต็มปีปฏิทิน ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมขั้นต่ำในวันที่เริ่มประกอบกิจการ หรือวันที่กลับมาเริ่มประกอบกิจการ (แล้วแต่กรณี) โดยชำระค่าธรรมเนียมขั้นต่ำตามวรรคหนึ่งตามสัดส่วนจำนวนเดือนที่มีการประกอบธุรกิจ (monthly pro-rate) ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีที่ถูกสำนักงาน ก.ล.ต. เพิกถอนใบอนุญาต หรือสั่งระงับการดำเนินกิจการ (๒) งวดที่สอง ให้ชำระค่าธรรมเนียมส่วนที่เกินกว่าค่าธรรมเนียมตาม (๑) ภายในวันที่ ๓๑ มกราคมของปีถัดไป ในกรณีที่มีการเลิกประกอบกิจการหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต ให้ชำระค่าธรรมเนียมส่วนที่ยังไม่ได้ชำระหรือยังคงค้างอยู่ภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่รัฐมนตรีอนุญาตให้เลิกประกอบกิจการหรือวันที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนใบอนุญาต แล้วแต่กรณี ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตที่ประกอบธุรกิจไม่เต็มปีปฏิทินมีการชำระค่าธรรมเนียมเกินกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในวรรคแรก ให้ขอรับคืนค่าธรรมเนียมที่ชำระไว้เกินนั้นภายในวันที่ ๓๑ มกราคมของปีถัดไป ข้อ ๗[๔] ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตมีการประกอบธุรกิจหลายประเภท ให้ชำระค่าธรรมเนียมตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ให้ชำระค่าธรรมเนียมงวดแรกในอัตราค่าธรรมเนียมขั้นต่ำสำหรับการประกอบธุรกิจประเภทใดประเภทหนึ่งที่มีอัตราสูงที่สุด ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเริ่มประกอบธุรกิจแต่ละประเภทไม่พร้อมกัน ให้ชำระค่าธรรมเนียมงวดแรกดังกล่าวในอัตราสูงที่สุดตามสัดส่วนจำนวนเดือนที่มีการประกอบธุรกิจ (monthly pro - rate) (๒) ให้ชำระค่าธรรมเนียมงวดที่สองตามรายประเภทธุรกิจรวมกัน และนำมาหักออกจากค่าธรรมเนียมขั้นต่ำที่ได้ชำระต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ไว้ก่อนแล้ว ข้อ ๘[๕] ในการยื่นชำระค่าธรรมเนียมหรือขอรับคืนค่าธรรมเนียมตามข้อ ๖ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดทาและยื่นรายละเอียดรายงานการชำระค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาตต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามแบบและที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ข้อ ๙ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าธรรมเนียมรายปี ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตคำนวณมูลค่าการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินบาททุกรายการ ข้อ ๑๐ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ วรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กม. ๒๔/๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่ได้รับใบอนุญาต (ฉบับที่ ๒) [๖] ข้อ ๕ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป ปวันวิทย์/จัดทำ ๓ กันยายน ๒๕๖๑ ปวันวิทย์/เพิ่มเติม ๒๘ มกราคม ๒๕๖๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๖๙ ง/หน้า ๕๕/๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑ [๒] ข้อ ๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กม. ๒๔/๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่ได้รับใบอนุญาต (ฉบับที่ ๒) [๓] ข้อ ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กม. ๒๔/๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่ได้รับใบอนุญาต (ฉบับที่ ๒) [๔] ข้อ ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กม. ๒๔/๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่ได้รับใบอนุญาต (ฉบับที่ ๒) [๕] ข้อ ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กม. ๒๔/๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่ได้รับใบอนุญาต (ฉบับที่ ๒) [๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๒๔๙ ง/หน้า ๒๑/๘ ตุลาคม ๒๕๖๑
842179
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องขอรับความเห็นชอบบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (ฉบับ Update ล่าสุด)
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องขอรับความเห็นชอบบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยที่การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจากกระทรวงการคลังและเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งในการพิจารณาอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลคือ คุณสมบัติและความเหมาะสมของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนั้น เพื่อเป็นการพิทักษ์ประโยชน์ของประชาชนและเพื่อให้ทางการสามารถกำกับดูแลผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดำรงไว้ซึ่งผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เป็นที่น่าเชื่อถือต่อประชาชนและเหมาะสมแก่การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต่อไป อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ และมาตรา ๒๗ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในประกาศนี้ “ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภท ดังต่อไปนี้ เว้นแต่บริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นอยู่แล้วก่อน ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (๑) การเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๒) การเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๓) การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๔) การเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๕) การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี (๖) การเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่”[๑] หมายความว่า บุคคลที่ถือหุ้นในผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ข้อ ๒ ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยอมให้บุคคลใดมีอำนาจครอบงำการบริหารงานหรือการจัดการบริษัท เว้นแต่เป็นการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นในที่ประชุมผู้ถือหุ้น หรือเป็นการบริหารงานตามสัญญาของบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๓ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยื่นคำขอรับความเห็นชอบบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามแบบและวิธีการ พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.ประกาศกำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. โดย (๑) กรณีที่การเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบุคคลดังกล่าวจะเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีการเพิ่มทุน ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยื่นคำขอรับความเห็นชอบก่อนวันที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะขายหุ้นเพิ่มทุนอันเป็นผลให้บุคคลนั้นเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (๒) กรณีอื่นนอกจาก (๑) ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยื่นคำขอรับความเห็นชอบภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่ามีบุคคลเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่โดยยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ข้อ ๔ สำนักงาน ก.ล.ต. จะพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับคำขอรับความเห็นชอบ เอกสารและหลักฐานครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชน ข้อ ๕ ภายใต้บังคับข้อ ๖ และข้อ ๗ บุคคลที่จะได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ (๑) อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษหรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมายดังนี้ (ก) กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายนั้น ทั้งนี้ ในความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือการบริหารงานที่มีลักษณะเป็นการหลอกลวง ฉ้อฉล หรือทุจริต (ข) กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์โดยหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายนั้น ทั้งนี้ ในความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์หรือการบริหารงานที่มีลักษณะเป็นการหลอกลวง ฉ้อฉล หรือทุจริต (๒) อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษหรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินโดยหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายนั้น (๓) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต (๔) เคยต้องคำพิพากษาหรือถูกเปรียบเทียบปรับเนื่องจากกระทำความผิดตาม (๑) หรือ (๒) (๕) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากงาน อันเนื่องจากการกระทำโดยทุจริต (๖) เคยถูกถอดถอนจากการเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์ตามมาตรา ๑๔๔ หรือมาตรา ๑๔๕ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ (๗) มีการทำงานอันส่อไปในทางไม่สุจริต (๘) จงใจแสดงข้อความอันเป็นเท็จในสาระสำคัญหรือปกปิดข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญที่ควรบอกให้แจ้งในการขอรับความเห็นชอบเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ หรือในรายงานอื่นใดที่ต้องยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. หรือคณะกรรมการ ก.ล.ต. (๙) มีการทำงานที่แสดงถึงการขาดจรรยาบรรณหรือขาดมาตรฐานในการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ธุรกิจหลักทรัพย์ หรือการประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเงิน (๑๐) อยู่ระหว่างถูกหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจในการกำกับดูแลธุรกิจทางการเงินในประเทศหรือต่างประเทศ สั่งพักการประกอบธุรกิจหรือการเป็นผู้บริหารของนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล (๑๑) ถูกหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจในการกำกับดูแลธุรกิจทางการเงินในประเทศหรือต่างประเทศสั่งเพิกถอนการประกอบธุรกิจ หรือการเป็นผู้บริหาร หรือการให้ความเห็นชอบในการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล และปัจจุบันยังไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาประกอบธุรกิจหรือเป็นผู้บริหาร หรือเป็นผู้ถือหุ้นของนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล (๑๒) มีลักษณะต้องห้ามตามที่หน่วยงานอื่นที่มีอำนาจในการกำกับดูแลธุรกิจทางการเงินในประเทศหรือต่างประเทศจะไม่ให้ประกอบธุรกิจหรือเป็นผู้บริหารหรือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคล กรรมการหรือหุ้นส่วนของนิติบุคคลนั้น ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดใน (๑) ถึง (๑๒) ด้วย ข้อ ๖ ในกรณีที่ปรากฏว่าบุคคลที่จะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๕ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) หรือ (๙) ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการห้ามมิให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของพฤติกรรมของบุคคลนั้นเป็นรายกรณี ทั้งนี้ ระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าวต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่บุคคลนั้นพ้นโทษตามคำพิพากษาหรือนับแต่วันที่คณะกรรมการเปรียบเทียบมีคำสั่งเปรียบเทียบปรับบุคคลนั้น หรือนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัยของหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลหรือพิจารณาพฤติกรรมดังกล่าว ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและปรากฏลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๕ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) หรือ (๙) ในภายหลังด้วยโดยอนุโลม ปัจจัยที่อาจนำมาใช้ในการพิจารณาความร้ายแรงของพฤติกรรมตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ข้อ ๗ เมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลใดเข้าข่ายที่กำหนดในข้อ ๕ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) หรือ (๙) และความร้ายแรงของพฤติกรรมของบุคคลนั้นเมื่อได้พิจารณาตามปัจจัยที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนดตามข้อ ๖ แล้ว อยู่ในกลุ่มของพฤติกรรมที่มีระยะเวลาสูงสุดไม่เกินหนึ่งปีสำหรับการห้ามมิให้เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล สำนักงาน ก.ล.ต. อาจพิจารณาให้ถือว่าพฤติกรรมของบุคคลดังกล่าวมิได้เป็นลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อ ๕ หากไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าการที่บุคคลนั้นเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของประชาชนหรือจะทำให้ผู้ลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๘ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลใดมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อ ๕ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นต้องรายงานข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นหนังสือต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่รู้หรือมีเหตุอันควรรู้ถึงลักษณะต้องห้ามของผู้ถือหุ้นรายใหญ่นั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่าบุคคลที่สำนักงาน ก.ล.ต. เห็นชอบให้เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลใดมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๕ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจเพิกถอนความเห็นชอบที่ได้ให้ไว้แล้วได้ ข้อ ๙ ในกรณีที่บุคคลใดต้องห้ามมิให้เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอันเนื่องจากบุคคลนั้นมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๕ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) หรือ (๙) เมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดตามข้อ ๖ หรือกรณีเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดตามข้อ ๖ แล้ว มิให้สำนักงาน ก.ล.ต. นำพฤติกรรมอันเป็นลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๕ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) หรือ (๙) ที่ได้เคยใช้เป็นเหตุในการห้ามมิให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในครั้งก่อนมาเป็นเหตุในการห้าม โดยอาศัยลักษณะต้องห้ามในวงเล็บเดียวกันนั้นในครั้งหลังอีก ข้อ ๑๐ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลใดมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. เพราะเหตุที่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๕ หรือถูกสำนักงาน ก.ล.ต. เพิกถอนความเห็นชอบตามข้อ ๘ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นดำเนินการแก้ไขเหตุที่มิชอบดังกล่าวภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงาน ก.ล.ต. หากไม่สามารถแก้ไขได้ ภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นงดเว้นการขยายการประกอบธุรกิจหรือระงับการประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวได้ ทั้งนี้ จนกว่าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะแก้ไขเหตุที่มิชอบดังกล่าวข้างต้นได้แล้วเสร็จ ในการนี้คณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดำเนินการอื่นใดเพื่อคุ้มครองและรักษาประโยชน์ของลูกค้า ข้อ ๑๑[๒] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องขอรับความเห็นชอบบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (ฉบับที่ ๒)[๓] ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป วิวรรธน์/จัดทำ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๑ พัชรภรณ์/เพิ่มเติม ๓ กันยายน ๒๕๖๒ [๑] ข้อ ๑ นิยามคำว่า “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่” แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องขอรับความเห็นชอบบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (ฉบับที่ ๒) [๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๗๖ ง/หน้า ๑๑/๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๑ [๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๒๘๒ ง/หน้า ๗/๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
875222
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 15/2561 เรื่อง การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ฉบับ Update ล่าสุด)
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. ๑๕/๒๕๖๑ เรื่อง การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ (๑) และ (๒) มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๕ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป ข้อ ๒ ในประกาศนี้ “โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน” (investment token) หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ “โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์” (utility token) หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ “นิติบุคคลร่วมลงทุน” (venture capital) หมายความว่า นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจการร่วมลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (startup) และจำกัดลักษณะของผู้ลงทุนไว้เฉพาะผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย “กิจการเงินร่วมลงทุน” (private equity) หมายความว่า กิจการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ และมีลักษณะที่ครบถ้วนดังต่อไปนี้ (๑) มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนร่วมกันของผู้ลงทุนตั้งแต่ ๒ รายขึ้นไป โดยจำกัดลักษณะของผู้ลงทุนไว้เฉพาะผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย (๒) มีการมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดการเงินทุนและทรัพย์สินที่เกิดจากเงินทุน (๓) มีนโยบายการลงทุนในกิจการอื่นผ่านการเข้าทำสัญญาการลงทุนในหุ้นหรือการสนับสนุนทางการเงินที่ก่อให้เกิดสิทธิในการได้มาซึ่งหุ้นของกิจการนั้นในภายหลัง โดยมีส่วนในการกำกับดูแลแผนธุรกิจ การดำเนินงานหรือการปรับปรุงการดำเนินงาน หรือการดำเนินการอื่นใดในลักษณะที่สะท้อนถึงการมีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจของกิจการดังกล่าว “ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล” (ICO portal) หมายความว่า ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. “สัญญาอัจฉริยะ” (smart contract) หมายความว่า ชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ที่ดำเนินการบังคับตามข้อตกลงระหว่างคู่สัญญาโดยอัตโนมัติเมื่อเกิดเหตุการณ์ตามที่กำหนด “ผู้บริหาร” หมายความว่า ผู้จัดการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหาร ๔ รายแรกนับต่อจากผู้จัดการลงมา ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ากับผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารรายที่ ๔ ทุกรายและให้หมายความรวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงินที่เป็นระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปหรือเทียบเท่า “อำนาจควบคุมกิจการ” หมายความว่า (๑) การถือหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงในนิติบุคคลหนึ่งเกินกว่าร้อยละ ๕๐ ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของนิติบุคคลนั้น (๒) การมีอำนาจควบคุมคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของนิติบุคคลหนึ่ง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม หรือไม่ว่าเพราะเหตุอื่นใด (๓) การมีอำนาจควบคุมการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการตั้งแต่กึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม “บริษัทจดทะเบียน” หมายความว่า บริษัทที่มีหุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภาค ๑ บททั่วไป หมวด ๑ ขอบเขตการใช้บังคับประกาศ ข้อ ๓ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลดังต่อไปนี้ (๑) โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (๒) โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ ซึ่งผู้ออกโทเคนดิจิทัลไม่พร้อมที่จะให้ผู้ถือใช้ประโยชน์ตามสิทธิของโทเคนดิจิทัลนั้น ๆ ได้ทันทีตั้งแต่วันที่เสนอขายโทเคนดิจิทัลครั้งแรก ข้อ ๔ ประกาศนี้กำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องดังต่อไปนี้ (๑) การอนุญาตและวิธีการยื่นคำขออนุญาตให้เสนอขายโทเคนดิจิทัล ให้เป็นไปตามภาค ๒ (๒) การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวน ให้เป็นไปตามภาค ๓ (๓) การเปิดเผยข้อมูลของผู้ออกโทเคนดิจิทัล ให้เป็นไปตามภาค ๔ (๔) ค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุญาต การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี ให้เป็นไปตามภาค ๕ หมวด ๒ อำนาจของสำนักงาน ก.ล.ต. ข้อ ๕ ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ที่เป็นเหตุอันควรสงสัยอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจไม่อนุญาตให้เสนอขายโทเคนดิจิทัลตามประกาศนี้ได้ (๑) ผู้ขออนุญาตหรือการเสนอขายโทเคนดิจิทัลมีลักษณะหรือรูปแบบเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะได้รับอนุญาตตามประกาศนี้ แต่มีข้อเท็จจริงซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าความมุ่งหมายหรือเนื้อหาสาระที่แท้จริง (substance) ของการเสนอขายโทเคนดิจิทัลนั้นเข้าลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงบทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประกาศนี้ หรือประกาศอื่น (๒) การเสนอขายโทเคนดิจิทัลอาจขัดต่อนโยบายสาธารณะหรือนโยบายของรัฐ (๓) การเสนอขายโทเคนดิจิทัลอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อตลาดทุนไทยโดยรวม (๔) การเสนอขายโทเคนดิจิทัลอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุนโดยรวม หรืออาจทำให้ผู้ลงทุนโดยรวมไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องหรือเพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน ข้อ ๖ ในกรณีที่เข้าลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจผ่อนผันไม่นำหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้มาใช้พิจารณาคำขออนุญาต หรือไม่นำเงื่อนไขตามประกาศนี้มาใช้บังคับกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตได้ (๑) มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผันให้ไม่มีนัยสำคัญสำหรับการพิจารณาอนุญาตในกรณีนั้น และประโยชน์ที่จะได้ไม่คุ้มค่ากับต้นทุนในการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขดังกล่าว (๒) ผู้ขออนุญาตมีข้อจำกัดตามกฎหมายอื่นที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน (๓) ผู้ขออนุญาตมีมาตรการอื่นที่เพียงพอ และสามารถทดแทนการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน การผ่อนผันตามวรรคหนึ่งให้คำนึงถึงความเหมาะสมและความเพียงพอของข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนและมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขออนุญาตต้องปฏิบัติด้วยก็ได้ ข้อ ๗ ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายหลังการอนุญาตให้เสนอขายโทเคนดิจิทัล ซึ่งหากข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฏต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ก่อนการอนุญาตให้เสนอขายโทเคนดิจิทัลนั้น อาจทำให้การพิจารณาของสำนักงาน ก.ล.ต. เปลี่ยนแปลงไป หรือในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในประกาศนี้หรือตามข้อผูกพันที่ให้ไว้ในคำขออนุญาต สำนักงาน ก.ล.ต. อาจดำเนินการดังต่อไปนี้ (๑) สั่งให้ผู้ได้รับอนุญาต กรรมการ หรือผู้บริหารชี้แจง หรือเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด และให้ผู้ได้รับอนุญาตระงับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตไว้ก่อนจนกว่าจะได้ชี้แจงหรือแก้ไขให้ถูกต้อง (๒) สั่งให้ผู้ได้รับอนุญาตหยุดการเสนอขายโทเคนดิจิทัลในส่วนที่ยังมิได้เสนอขายหรือยังไม่มีผู้จองซื้อ และให้การอนุญาตเป็นอันสิ้นสุดลงโดยไม่มีผลกระทบต่อการเสนอขายโทเคนดิจิทัลในส่วนที่ได้เสนอขายหรือมีผู้จองซื้อแล้ว ข้อ ๘ ในกรณีที่สำนักงาน ก.ล.ต. เห็นว่าเอกสารหรือรายงานที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลจัดส่งให้มีข้อมูลไม่ครบถ้วนหรือมีข้อความคลุมเครือหรือไม่ชัดเจน หรือมีเหตุจำเป็นและสมควรเพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่มีนัยสำคัญซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ ต่อการตัดสินใจลงทุน หรือต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาโทเคนดิจิทัลอย่างเพียงพอ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลดำเนินการดังต่อไปนี้ภายในระยะเวลาที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด (๑) เปิดเผยข้อมูล รายงาน หรือส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม (๒) ชี้แจง หรือแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูล (๓) จัดให้มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เป็นอิสระจัดทำความเห็นเกี่ยวกับความถูกต้องครบถ้วนหรือความน่าเชื่อถือของข้อมูลให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบ ในกรณีที่เอกสารหรือรายงานตามวรรคหนึ่งคือแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวน หากผู้ออกโทเคนดิจิทัลไม่ดำเนินการตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้ออกโทเคนดิจิทัลไม่ประสงค์จะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. อีกต่อไป ในการกำหนดให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลดำเนินการตามวรรคหนึ่ง สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลเปิดเผยการสั่งการ การดำเนินการ ข้อสังเกตของสำนักงาน ก.ล.ต. หรือคำชี้แจงของผู้ออกโทเคนดิจิทัล ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ตามแนวทางที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดด้วยก็ได้ ข้อ ๙ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจผ่อนผันการเปิดเผยรายละเอียดของข้อมูลในเอกสารดังต่อไปนี้ได้ หากผู้ออกโทเคนดิจิทัลสามารถแสดงได้ว่าข้อมูลดังกล่าวมิใช่ข้อมูลที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ และมีเหตุอันควรที่จะไม่แสดงรายละเอียดของข้อมูลดังกล่าวไว้ในเอกสารนั้นหรือได้ดำเนินการประการอื่นเพื่อทดแทนอย่างเพียงพอแล้ว (๑) แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลตามที่กำหนดในภาค ๓ (๒) รายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของผู้ออกโทเคนดิจิทัลตามที่กำหนดในหมวด ๑ ของภาค ๔ ข้อ ๑๐ ในกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควรทำให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลไม่สามารถจัดทำและส่งรายงานที่กำหนดในภาค ๔ ผู้ออกโทเคนดิจิทัลอาจมีหนังสือขอผ่อนผันการส่งรายงานดังกล่าวต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ก่อนวันครบระยะเวลาที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลในการขอผ่อนผันและแจ้งกำหนดระยะเวลาที่จะจัดส่งรายงานนั้น ในกรณีที่สำนักงาน ก.ล.ต. ไม่ผ่อนผันให้ตามที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลร้องขอตามวรรคหนึ่ง ผู้ออกโทเคนดิจิทัลต้องรับผิดเนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๕ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ นับแต่วันครบระยะเวลาที่กำหนดในการส่งรายงานดังกล่าวตามที่กำหนดในภาค ๔ ข้อ ๑๑ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามประกาศนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจดำเนินการดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดหลักเกณฑ์ในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ ให้มีความชัดเจนเพียงพอที่ผู้ขออนุญาตหรือผู้มีหน้าที่ตามประกาศนี้จะสามารถปฏิบัติตามประกาศนี้ได้ในแนวเดียวกัน ทั้งนี้ การกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวอาจกำหนดตามลักษณะของโทเคนดิจิทัล ผู้ออกโทเคนดิจิทัล ผู้ลงทุนหรือการเสนอขายก็ได้ (๒) กำหนดแนวทาง (guideline) การปฏิบัติในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ เพื่อเป็นการให้แนวทางปฏิบัติที่ถือว่าเหมาะสมและสอดคล้องตามประกาศนี้ และหากผู้ขออนุญาตหรือผู้มีหน้าที่ตามประกาศนี้ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าบุคคลดังกล่าวมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้ในเรื่องที่มีการออกแนวทางนั้น ในการดำเนินการของสำนักงาน ก.ล.ต. ตามวรรคหนึ่ง ให้นำปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้ มาประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วย (๑) การส่งเสริมให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลมีความรับผิดชอบต่อผู้ลงทุน (๒) ความได้สัดส่วนระหว่างภาระของผู้อยู่ใต้บังคับแห่งประกาศนี้ กับประโยชน์ที่ผู้ลงทุนโดยรวมจะได้รับ (๓) การส่งเสริมให้เกิดทางเลือกในการระดมทุนและการลงทุน (๔) การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม (๕) การส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมของภาคเอกชน ข้อ ๑๒ เพื่อให้สำนักงาน ก.ล.ต. สามารถติดตามการปฏิบัติตามประกาศนี้ได้ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตหรือผู้มีหน้าที่ตามประกาศนี้จัดส่งข้อมูล รายงาน หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายในระยะเวลาที่เหมาะสมได้ หรือจะสั่งการเป็นรายกรณีโดยต้องไม่เป็นภาระต่อบุคคลนั้นจนเกินสมควร ทั้งนี้ ระยะเวลาที่สำนักงาน ก.ล.ต. จะกำหนดให้เป็นไปตามกรอบดังนี้ (๑) ในกรณีที่เป็นเรื่องเร่งด่วนและมีผลกระทบต่อผู้ออกโทเคนดิจิทัล ผู้ลงทุน หรือตลาดทุนอย่างมีนัยสำคัญ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดให้ดำเนินการภายในวันทำการที่เกิดกรณีดังกล่าวได้ (๒) ในกรณีอื่นนอกจาก (๑) ให้กำหนดระยะเวลาอย่างสมเหตุสมผลตามสภาพการณ์ เรื่องและประเด็นที่เกี่ยวข้อง หมวด ๓ การจัดทำ ยื่น ส่ง หรือเปิดเผยข้อมูล และเอกสารตามประกาศ ข้อ ๑๓ เว้นแต่ข้อกำหนดในประกาศนี้จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น การจัดทำ ยื่น ส่ง หรือเปิดเผยข้อมูลตามประกาศนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในหมวดนี้ ข้อ ๑๔ ภาษาที่ใช้ในการจัดทำ ยื่น ส่ง หรือเปิดเผยข้อมูลหรือเอกสารตามประกาศนี้ ให้ใช้ภาษาไทย ผู้มีหน้าที่ตามประกาศนี้อาจจัดทำ ยื่น ส่ง หรือเปิดเผยข้อมูลหรือเอกสารตามวรรคหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษด้วยก็ได้ โดยมีสาระสำคัญของข้อมูลไม่ต่างจากข้อมูลหรือเอกสารฉบับภาษาไทย ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นการยื่นหรือส่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ต้องยื่นหรือส่งคำรับรองความถูกต้องของข้อมูลมาพร้อมกันด้วย ข้อ ๑๕ การยื่นหรือส่งข้อมูลหรือเอกสารตามประกาศนี้ ให้เป็นไปตามรูปแบบและวิธีการที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ภาค ๒ หลักเกณฑ์การอนุญาตและ วิธีการยื่นคำขออนุญาต หมวด ๑ หลักเกณฑ์การอนุญาต ข้อ ๑๖ ความในหมวดนี้ให้ใช้บังคับกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่เข้าลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (๑) การเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ออกใหม่ต่อประชาชน (๒) การเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลได้ออกไว้แล้วและมีวัตถุประสงค์ที่จะเสนอขายเป็นการทั่วไปต่อประชาชน ข้อ ๑๗ การเสนอขายโทเคนดิจิทัลจะได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ขออนุญาตเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย (๒) ผู้ขออนุญาตไม่เป็นบุคคลล้มละลาย มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรืออยู่ระหว่างการยื่นหรือไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการหรือการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย (๒/๑)[๒] ผู้ขออนุญาตไม่เคยจัดสรรและส่งมอบโทเคนดิจิทัลที่มีลักษณะเดียวกันให้แก่บุคคลใด เว้นแต่เป็นการจัดสรรและส่งมอบโทเคนดิจิทัลโดยชอบตามประกาศที่เกี่ยวข้อง (๓) เป็นการเสนอขายต่อผู้ลงทุนที่เข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้ (ก) ผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. ๔/๒๕๖๐ เรื่อง การกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษและผู้ลงทุนรายใหญ่ ลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ (ข) นิติบุคคลร่วมลงทุน หรือกิจการเงินร่วมลงทุน (ค) ผู้ลงทุนที่มิใช่ผู้ลงทุนตาม (ก) หรือ (ข) ซึ่งเสนอขายเป็นมูลค่าไม่เกินรายละ ๓ แสนบาทต่อการเสนอขายในครั้งนั้น ทั้งนี้ ผู้ขออนุญาตต้องกำหนดมูลค่าสูงสุดของการเสนอขายในแต่ละครั้งต่อผู้ลงทุนประเภทนี้รวมกันไม่เกินมูลค่าดังนี้ แล้วแต่มูลค่าใดจะสูงกว่า ๑. ไม่เกิน ๔ เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้นของผู้ออกโทเคนดิจิทัล ๒. ไม่เกินร้อยละ ๗๐ ของมูลค่าทั้งหมดที่เสนอขายต่อครั้ง (๔) ผู้ขออนุญาตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ ๑๘ (๕) โทเคนดิจิทัลที่ขออนุญาตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ ๑๙ (๖) ไม่มีเหตุที่ทำให้สงสัยว่าข้อมูลที่เปิดเผยต่อประชาชนหรือต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ไม่ตรงต่อความเป็นจริง ไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน หรือมีข้อความที่อาจทำให้ผู้ลงทุนสำคัญผิด (๗) ผู้ขออนุญาตแสดงได้ว่า ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ได้พิจารณาแล้วว่าการเสนอขายโทเคนดิจิทัลมีลักษณะที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหมวดนี้ และสามารถเสนอขายผ่านระบบของผู้ให้บริการดังกล่าวได้ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลตามวรรคหนึ่ง (๗) ต้องไม่มีความเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับผู้ออกโทเคนดิจิทัลในลักษณะที่อาจทำให้ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าวขาดความเป็นอิสระในการทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (๘)[๓] ในกรณีที่เป็นการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังนี้ (ก) ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมจะนำไปจัดหาประโยชน์ และมีจำนวนหรือมูลค่าการลงทุนมากกว่าร้อยละ ๘๐ ของจำนวนหรือมูลค่าโครงการนั้น (ข) ต้องผ่านการประเมินมูลค่าอย่างเต็มรูปแบบที่มีการตรวจสอบเอกสารสิทธิและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะในการเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ลงทุน เป็นเวลาไม่เกินกว่า ๖ เดือนก่อนวันยื่นคำขออนุญาต โดยผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินอย่างน้อย ๒ รายที่ผู้ขออนุญาตและผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลพิจารณาว่ามีความเหมาะสมและสามารถประเมินมูลค่าทรัพย์สินให้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงได้อย่างน่าเชื่อถือเพียงพอและมีลักษณะ ดังนี้ ๑. เป็นผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ๒. ในกรณีที่อสังหาริมทรัพย์ที่จะลงทุนอยู่ในต่างประเทศ ผู้ที่ทำหน้าที่ประเมินมูลค่าทรัพย์สินต้องมีลักษณะตามข้อ ๑๗/๑ (ค) มีร่างสัญญาก่อตั้งทรัสต์สำหรับธุรกรรมการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กร. ๙/๒๕๖๓ เรื่อง การกำหนดประเภทธุรกรรมในตลาดทุนที่ให้ใช้ทรัสต์ได้ (ฉบับที่ ๔) ลงวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓ (ง) แสดงได้ว่ามีกลไกควบคุมให้ผู้ขออนุญาตโอนทรัพย์สินที่จะเป็นกองทรัสต์ให้แก่ทรัสตีตามข้อ ๒๕/๒ ข้อ ๑๗/๑[๔] ในกรณีที่อสังหาริมทรัพย์ที่จะลงทุนอยู่ในต่างประเทศ ผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินอาจเป็นบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของบุคคลซึ่งทางการหรือหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศ อันเป็นที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์กำหนดให้สามารถทำหน้าที่ประเมินมูลค่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ๆ ได้ ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่ปรากฏบัญชีรายชื่อดังกล่าว ผู้ที่ทำหน้าที่ประเมินมูลค่าทรัพย์สินต้องเข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (๑) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ซึ่งมีผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในประเทศอันเป็นที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น (๒) เป็นบุคคลที่มีมาตรฐานการปฏิบัติงานและระบบงานในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นสากล (๓) เป็นผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่มีเครือข่ายกว้างขวางในระดับสากล (international firm) ข้อ ๑๘ ผู้ขออนุญาตต้องแสดงให้สำนักงาน ก.ล.ต. เห็นได้ว่ามีคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (๑) ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (๒) ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุอันควรสงสัยว่ากรรมการ ผู้บริหาร และผู้มีอำนาจควบคุมกิจการของผู้ขออนุญาตมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทโดยอนุโลม (๓) งบการเงินของผู้ขออนุญาตและงบการเงินรวมประจำงวดการบัญชีปีล่าสุด (ถ้ามี) ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้ (ก) จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินดังนี้ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบการเงินตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ๑. มาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทยสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ ในกรณีที่ผลการดำเนินงานและฐานะการเงินในอดีตของผู้ขออนุญาตมีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกโทเคนดิจิทัลที่ขออนุญาต ๒. มาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทยตามที่กำหนดโดยกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชีในกรณีอื่นนอกจาก ๑. (ข) ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบให้สามารถตรวจสอบหรือสอบทานงบการเงินของผู้ออกโทเคนดิจิทัล เว้นแต่เป็นงบการเงินที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ใน (ก) ๒ (ค) รายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชี ต้องไม่มีความหมายในลักษณะดังนี้ ๑. ไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของผู้ขออนุญาตและงบการเงินรวม หรือแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง ๒. แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขในรายการบัญชีที่เป็นสาระสำคัญว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ๓. แสดงความเห็นว่าถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบโดยการกระทำหรือไม่กระทำของผู้ขออนุญาต หรือกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ขออนุญาต (๔) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตมีหน้าที่ตามกฎหมายในการเปิดเผยข้อมูลอย่างต่อเนื่องตามภาค ๔ ของประกาศนี้ หรือตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ต้องไม่อยู่ระหว่างการดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งดังนี้ เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน ก.ล.ต. (ก) ค้างการนำส่งงบการเงินหรือรายงานที่มีหน้าที่ต้องจัดทำตามหมวด ๑ ของภาค ๔ ของประกาศนี้ หรือตามมาตรา ๕๖ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ (ข) ค้างส่งรายงานที่มีหน้าที่ต้องจัดทำและจัดส่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามหมวด ๒ ของภาค ๔ ของประกาศนี้ หรือตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ (ค) ปรับปรุงแก้ไขงบการเงิน หรือรายงานที่มีหน้าที่ต้องจัดทำตามภาค ๔ ของประกาศนี้หรือตามมาตรา ๕๖ หรือมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. แจ้งให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข (ง) ปฏิบัติตามคำสั่งของสำนักงาน ก.ล.ต. ตามข้อ ๘ หรือตามมาตรา ๕๘ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ (๕) ผู้ขออนุญาตไม่มีลักษณะตามข้อ ๒๐ ข้อ ๑๙ ผู้ขออนุญาตต้องแสดงให้สำนักงาน ก.ล.ต. เห็นได้ว่า โทเคนดิจิทัลที่ขออนุญาตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (๑) แสดงได้ว่าโทเคนดิจิทัลที่ขออนุญาตเป็นโทเคนดิจิทัลประเภทใดประเภทหนึ่งดังนี้ (ก) โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (ข) โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (๒) โทเคนดิจิทัลที่ขออนุญาตมีความชัดเจนเกี่ยวกับแผนธุรกิจ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินโครงการหรือกิจการตามแผนธุรกิจ รวมทั้งการให้สิทธิแก่ผู้ถือโทเคนดิจิทัลที่มีข้อกำหนดอย่างน้อยดังนี้ โดยผู้ขออนุญาตต้องแสดงได้ว่ามีการพิจารณาและวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนแล้ว (ก) กรณีโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน ต้องมีข้อกำหนดที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิของผู้ถือในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการตามแผนธุรกิจ วิธีการและเงื่อนไขในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสิทธิ และมาตรการในการรักษาสิทธิของผู้ถืออย่างเป็นธรรม (ข) กรณีโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ ต้องมีข้อกำหนดที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิของผู้ถือในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด วิธีการและเงื่อนไขในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสิทธิและมาตรการในการรักษาสิทธิของผู้ถืออย่างเป็นธรรม (๓) ไม่มีเหตุที่ทำให้สงสัยว่าแผนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโทเคนดิจิทัล และกลไกการให้สิทธิแก่ผู้ถือผ่านสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) ไม่สามารถบังคับได้จริง หรือเป็นการเอาเปรียบผู้ลงทุน ในกรณีที่สัญญาอัจฉริยะ (smart contract) ไม่สามารถบังคับตามที่กำหนดในร่างหนังสือชี้ชวนได้ทั้งหมด ผู้ขออนุญาตต้องมีกลไกอื่นที่นำมาใช้ทดแทนสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) ทั้งนี้ ต้องแสดงได้ว่ากลไกอื่นดังกล่าวสามารถใช้บังคับได้จริง และไม่เป็นการเอาเปรียบผู้ลงทุน[๕] (๔) แสดงได้ว่ามีการจัดทำและเปิดเผยรหัสต้นทาง (source code) ของสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) ทั้งนี้ การเปิดเผยรหัสต้นทางให้เป็นไปตามแนวทางที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดบนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ข้อ ๒๐ ผู้ขออนุญาตต้องไม่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ เว้นแต่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อ ๒๑ (๑) ภายในระยะเวลา ๕ ปีก่อนวันยื่นคำขออนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัล ผู้ขออนุญาตต้องไม่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ (ก) เคยมีประวัติฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์หรือการเสนอขายโทเคนดิจิทัล ในเรื่องที่มีนัยสำคัญ (ข) เคยถูกสำนักงาน ก.ล.ต. ปฏิเสธคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ เนื่องจากมีเหตุที่มีนัยสำคัญอันควรสงสัยเกี่ยวกับกลไกการบริหารจัดการในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ ๑. อาจไม่สามารถปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นได้อย่างเป็นธรรมโดยอาจมีการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งจะทำให้ได้เปรียบผู้ถือหุ้นรายอื่นหรือได้ประโยชน์มากกว่าผู้ถือหุ้นรายอื่นโดยไม่สมควร ๒. อาจไม่สามารถรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้นได้โดยทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้รับประโยชน์ทางการเงินนอกเหนือจากที่พึงได้ตามปกติ หรือโดยทำให้บริษัทเสียประโยชน์ที่พึงได้รับ (ค) เคยถูกสำนักงาน ก.ล.ต. ปฏิเสธคำขออนุญาตหรือสั่งเพิกถอนการอนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่หรือโทเคนดิจิทัล เนื่องจากมีเหตุที่ทำให้สงสัยเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนหรือต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ไม่ครบถ้วน ไม่ตรงตามความเป็นจริง ไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน หรือทำให้ผู้ลงทุนสำคัญผิด ซึ่งมีลักษณะเป็นการปกปิดหรืออำพราง หรือสร้างข้อมูลที่อาจไม่มีอยู่จริงในรายการ หรือการดำเนินการที่มีนัยสำคัญ (ง) เคยถอนคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่หรือโทเคนดิจิทัล โดยไม่มีการชี้แจงเหตุสงสัยตาม (ข) หรือ (ค) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. หรือโดยมีการชี้แจงแต่ไม่ได้แสดงข้อเท็จจริงหรือเหตุผลอย่างสมเหตุสมผลที่จะหักล้างข้อสงสัยตาม (ข) หรือ (ค) นั้น (๒) ภายในระยะเวลา ๑๐ ปีก่อนวันยื่นคำขออนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัลผู้ขออนุญาตเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์เฉพาะในมูลเหตุเนื่องจากการดำเนินการที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริต อันเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง ทั้งนี้ ไม่ว่าตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ (๓) อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษหรือถูกดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฉพาะในมูลเหตุเนื่องจากการดำเนินการที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตอันเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง ทั้งนี้ ไม่ว่าตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ (๔) เป็นบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นการจัดรูปแบบเพื่อให้บุคคลที่มีลักษณะตาม (๑) (๒) หรือ (๓) หลีกเลี่ยงมิให้สำนักงาน ก.ล.ต. ใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาตาม (๑) (๒) หรือ (๓) กับบุคคลที่มีลักษณะดังกล่าวนั้น ข้อ ๒๑ มิให้นำความในข้อ ๒๐ (๑) และ (๒) แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับกับผู้ขออนุญาตซึ่งได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเหตุ ระบบงาน ระบบการบริหารจัดการ และการควบคุมการดำเนินงานที่ทำให้ผู้ขออนุญาตมีลักษณะตามข้อ ๒๐ (๑) หรือ (๒) แล้ว หมวด ๒ วิธีการยื่นคำขออนุญาต ข้อ ๒๒ ผู้ที่ประสงค์จะขออนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัล ให้ยื่นคำขออนุญาตและเอกสารหลักฐานอื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ข้อ ๒๓ ให้ผู้ขออนุญาตชำระค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตตามอัตราที่กำหนดไว้ในภาค ๕ ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อสำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับคำขออนุญาต พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขออนุญาตที่ถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชนแล้ว ข้อ ๒๔ เมื่อสำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับคำขออนุญาต พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชนแล้ว ให้สำนักงาน ก.ล.ต. ดำเนินการดังต่อไปนี้ (๑) สอบทานข้อเท็จจริงตามขั้นตอนและวิธีการที่ระบุในคู่มือสำหรับประชาชนและแจ้งประเด็นข้อสังเกตที่ได้จากการสอบทานข้อเท็จจริงเพื่อให้บริษัทชี้แจงข้อสังเกตนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือแจ้งข้อสังเกต โดยต้องดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับคำขออนุญาต พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชน (๒) แจ้งผลการพิจารณาคำขออนุญาตภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับคำชี้แจงตามข้อสังเกตจากการสอบทานข้อเท็จจริงจากผู้ขออนุญาต ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตประสงค์จะขอผ่อนผันหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้ ให้ผู้ขออนุญาตยื่นคำขอผ่อนผัน พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอผ่อนผันต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ก่อนที่สำนักงาน ก.ล.ต. จะเริ่มพิจารณาคำขออนุญาตตามวรรคหนึ่ง โดยปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่ระบุในคู่มือสำหรับประชาชน เว้นแต่สำนักงาน ก.ล.ต. ยอมรับคำขอผ่อนผันเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวในกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. จะพิจารณาคำขอผ่อนผันให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเดียวกันกับการพิจารณาการอนุญาต หมวด ๓ เงื่อนไขการอนุญาต ข้อ ๒๕ ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการขายโทเคนดิจิทัลให้แล้วเสร็จภายใน ๖ เดือนนับแต่วันที่สำนักงาน ก.ล.ต. แจ้งการอนุญาต หากไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาดังกล่าวและยังประสงค์จะเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อไป ให้ผู้ได้รับอนุญาตมีหนังสือถึงสำนักงาน ก.ล.ต. ก่อนพ้นระยะเวลาดังกล่าวไม่น้อยกว่า ๓๐ วันเพื่อขอขยายระยะเวลาเสนอขาย โดยต้องแจ้งเหตุผลของการขอขยายระยะเวลา และแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของผู้ได้รับอนุญาตและโทเคนดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตตามหมวด ๑ ของภาคนี้ ในส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย (ถ้ามี) ในกรณีนี้ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจขยายระยะเวลาให้อีกได้ตามที่เห็นควร แต่ระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกิน ๑๒ เดือนนับแต่วันที่สำนักงาน ก.ล.ต. แจ้งผลการอนุญาตครั้งแรก ข้อ ๒๕/๑[๖] ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตมีการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่มีลักษณะเดียวกันต่อบุคคลอื่นนอกเหนือจากการเสนอขายต่อประชาชนซึ่งได้รับอนุญาตตามประกาศนี้ และเป็นการเสนอขายในราคาต่ำ ให้ผู้ได้รับอนุญาตจัดให้มีกลไกที่ทำให้มั่นใจได้ว่าบุคคลที่ได้รับการจัดสรรจะไม่สามารถโอนโทเคนดิจิทัลที่เสนอขายในราคาต่ำตามจำนวนที่คำนวณได้จากส่วนต่างของราคาโทเคนดิจิทัลที่เสนอขายต่อประชาชนกับราคาโทเคนดิจิทัลที่เสนอขายในราคาต่ำ เว้นแต่พ้นระยะเวลา ๖ เดือนนับแต่วันสุดท้ายที่มีการส่งมอบโทเคนดิจิทัลที่ได้รับอนุญาต การเสนอขายในราคาต่ำตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความถึง การเสนอขายในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังนี้ (๑) การเสนอขายในราคาต่ำกว่าราคาที่เสนอขายต่อประชาชนซึ่งได้รับอนุญาตตามประกาศนี้ (๒) การเสนอขายในราคาเดียวกับราคาที่เสนอขายต่อประชาชนโดยมีการให้โทเคนดิจิทัลโดยไม่คิดค่าตอบแทนด้วย ข้อ ๒๕/๒[๗] ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดทำสัญญาก่อตั้งทรัสต์ที่มีรายละเอียดตามที่ได้ยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามข้อ ๑๗ (๘) (ค) และดำเนินการโอนทรัพย์สินที่จะเป็นกองทรัสต์แก่ทรัสตีภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ปิดการเสนอขายโทเคนดิจิทัล ข้อ ๒๖ ตลอดระยะเวลาที่ผู้ได้รับอนุญาตมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในภาค ๔ ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันที่ให้ไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวน เว้นแต่เป็นกรณีที่ไม่กระทบต่อสิทธิของผู้ถือโทเคนดิจิทัลอย่างมีนัยสำคัญ หรือกรณีที่เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยชอบตามวิธีการที่กำหนดไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนที่ผ่านการพิจารณาจากสำนักงาน ก.ล.ต. หมวด ๔ หลักเกณฑ์การเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ได้รับอนุญาต การเผยแพร่ข้อมูล และการโฆษณาชี้ชวน ข้อ ๒๗ ผู้ได้รับอนุญาตต้องเสนอขายโทเคนดิจิทัลผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่เป็นผู้พิจารณาลักษณะของผู้ได้รับอนุญาตและโทเคนดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตตามข้อ ๑๗ (๗) ข้อ ๒๘ ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตจะรับคริปโทเคอร์เรนซี เป็นการตอบแทน ให้รับได้เฉพาะคริปโทเคอร์เรนซีที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. และได้มาจากการซื้อขาย แลกเปลี่ยน หรือฝากไว้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งไม่อยู่ระหว่างถูกระงับการประกอบธุรกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เรนซีเท่านั้น ข้อ ๒๙ การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลก่อนวันที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ ให้กระทำได้หลังจากสำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนแล้ว และให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ก่อนวันที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ โดยอนุโลม ข้อ ๓๐ นับแต่วันที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ หากผู้ได้รับอนุญาตจะจัดให้มีการโฆษณาชี้ชวนเกี่ยวกับโทเคนดิจิทัลโดยวิธีการอื่นนอกจากการแจกจ่ายหนังสือชี้ชวน ข้อมูลที่จะใช้ในการโฆษณาอย่างน้อยต้องจัดทำเป็นภาษาไทยและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (๑) ไม่มีลักษณะเป็นเท็จ เกินความจริง บิดเบือน ปิดบัง หรือทำให้สำคัญผิดในสาระสำคัญ (๒) สาระสำคัญของข้อมูลที่แสดงในโฆษณาต้องไม่นอกเหนือไปจากข้อมูลที่แสดงไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนที่ได้ยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่ง ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่จะสั่งให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังนี้ (๑) หยุดการโฆษณา หรือยุติการส่งเสริมการขาย ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน (๒) แก้ไขข้อมูลหรือข้อความในการโฆษณาหรือการส่งเสริมการขาย (๓) ชี้แจงเพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง ตรงต่อความเป็นจริง หรือไม่ทำให้สำคัญผิด (๔) กระทำการหรือไม่กระทำการใดภายในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อให้ผู้ลงทุนตัดสินใจหรือทบทวนการตัดสินใจ บนพื้นฐานข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง ตรงต่อความเป็นจริง และไม่ทำให้สำคัญผิด ข้อ ๓๑ ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีช่องทางในการแจกจ่ายหนังสือชี้ชวนไม่ว่าในรูปเอกสารสิ่งพิมพ์หรือในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสม เว้นแต่จะมีการแสดงเจตนาโดยสมัครใจที่จะไม่รับหนังสือชี้ชวนในกรณีที่มีการแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ผู้ได้รับอนุญาตต้องแจกจ่ายหรือจัดส่งสรุปข้อมูลสำคัญของโทเคนดิจิทัล (factsheet) ไม่ว่าด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ผู้ประสงค์ที่จะซื้อโทเคนดิจิทัลได้รับข้อมูลดังกล่าวก่อนทำการจองซื้อ ข้อ ๓๒ ให้ผู้ได้รับอนุญาตรายงานผลการขายโทเคนดิจิทัลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน ๑๕ วันนับแต่วันปิดการเสนอขาย โดยให้รายงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ภาค ๓ การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล และร่างหนังสือชี้ชวน หมวด ๑ ข้อกำหนดทั่วไปและวิธีการยื่น ข้อ ๓๓ การเสนอขายโทเคนดิจิทัลจะกระทำได้ต่อเมื่อผู้ออกโทเคนดิจิทัลได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ตามภาค ๒ และได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว ข้อ ๓๔ ในกรณีที่ระยะเวลาการเสนอขายโทเคนดิจิทัลตามที่กำหนดในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลสิ้นสุดลงแล้ว หากผู้ออกโทเคนดิจิทัลประสงค์จะเสนอขายโทเคนดิจิทัลส่วนที่เหลือจากการเสนอขายครั้งก่อน ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนฉบับใหม่โดยวิธีการตามที่กำหนดในข้อ ๓๕ ข้อ ๓๕ ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวน ตามแบบที่กำหนดไว้ในหมวด ๒ ของภาคนี้ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ทั้งนี้ ตามแนวทางและวิธีการที่กำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. หมวด ๒ แบบและข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขาย โทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวน ข้อ ๓๖ แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ให้แบ่งออกเป็น ๖ ส่วนดังนี้ โดยมีรายละเอียดของข้อมูลตามข้อ ๓๗ (๑) ส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (factsheet) ซึ่งสรุปสาระสำคัญของโทเคนดิจิทัล รวมทั้งลักษณะพิเศษและความเสี่ยงที่สำคัญของโทเคนดิจิทัล และสรุปสาระสำคัญของผู้ออกโทเคนดิจิทัลโดยย่อ เพื่อให้เข้าใจภาพรวมของโทเคนดิจิทัลและผู้ออกโทเคนดิจิทัล (๒) ส่วนข้อมูลผู้ออกโทเคนดิจิทัลและวัตถุประสงค์การใช้เงิน โดยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ออกโทเคนดิจิทัลที่ระบุในส่วนนี้ ให้รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับกรรมการ ผู้บริหาร และผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ออกโทเคนดิจิทัลด้วย (๓) ส่วนข้อมูลแผนธุรกิจ ซึ่งแสดงสาระสำคัญตามที่กำหนดในข้อ ๑๙ (๒) โดยอนุโลม (๔) ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับโทเคนดิจิทัล ซึ่งแสดงสาระสำคัญของโทเคนดิจิทัล รวมทั้งลักษณะพิเศษและความเสี่ยงที่สำคัญ (๕) ส่วนข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (๖) ส่วนการรับรองความถูกต้องของข้อมูล ซึ่งเป็นไปตามหมวด ๓ ข้อ ๓๗ ข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล ต้องมีรายละเอียดที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (๑) ไม่มีข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือที่อาจทำให้สำคัญผิด และไม่ขาดข้อความที่ควรต้องแจ้งในสาระสำคัญ (๒) งบการเงินและงบการเงินรวมของผู้ออกโทเคนดิจิทัลที่เปิดเผยในแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน (ถ้ามี) ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหมวด ๑ ของภาค ๔ โดยอนุโลม (๓) ในกรณีเป็นการเสนอขายโทเคนดิจิทัลพร้อมกันหรือในระยะเวลาใกล้เคียงกันในประเทศอื่นด้วย ต้องมีรายละเอียดข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องที่พึงเปิดเผยต่อผู้ลงทุนไม่น้อยกว่าที่เปิดเผยในประเทศอื่น (๓/๑)[๘] รายละเอียดของกลไกอื่นที่นำมาใช้ทดแทนสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) ตามข้อ ๑๙ (๓) วรรคสอง (ถ้ามี) (๓/๒)[๙] รายงานการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน (ถ้ามี) (๔) มีข้อมูลตามรายการที่กำหนดในมาตรา ๖๙ (๑) ถึง (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยอนุโลม (๕) ข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุนตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ข้อ ๓๘ แบบของร่างหนังสือชี้ชวนที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลต้องยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ให้อนุโลมใช้ตามแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลมีหน้าที่ยื่นตามข้อ ๓๖ และข้อ ๓๗ และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ด้วย (๑) ร่างหนังสือชี้ชวนที่ยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. อย่างน้อยต้องมีร่างที่จัดทำเป็นภาษาไทย (๒) รายการในร่างหนังสือชี้ชวนที่ตรงกับแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องมีสาระสำคัญของข้อมูลไม่ต่างกัน (๓) ต้องมีคำเตือนที่ระบุไว้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “การลงทุนในโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับเงินหรือคริปโทเคอร์เรนซีที่ลงทุนกลับคืน ดังนั้น ก่อนลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล และประเมินความเสี่ยงจากการลงทุนด้วยความระมัดระวัง รวมทั้งควรตระหนักถึงข้อจำกัดในการเปลี่ยนมือของโทเคนดิจิทัลด้วย สิ่งสำคัญ คือ ไม่ควรลงทุนด้วยเงินหรือคริปโทเคอร์เรนซีทั้งหมดที่มีอยู่ ทั้งนี้ การเผยแพร่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลไม่ได้เป็นการแสดงว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แนะนำให้ลงทุน หรือประกันราคาหรือผลตอบแทนของโทเคนดิจิทัลที่เสนอขาย หรือรับรองความสำเร็จของโครงการ” ข้อ ๓๙ ก่อนปิดการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ได้รับอนุญาต หากผู้ออกโทเคนดิจิทัลได้เปิดเผยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญที่มิได้แสดงอยู่ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและหนังสือชี้ชวนให้แก่บุคคลใดเป็นการเฉพาะรายเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ความเหมาะสมของการลงทุนในโทเคนดิจิทัลที่เสนอขาย หรือการตัดสินใจลงทุนในโทเคนดิจิทัลที่เสนอขาย ผู้ออกโทเคนดิจิทัลต้องดำเนินการให้มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและหนังสือชี้ชวนโดยพลัน ทั้งนี้ ต้องไม่ช้ากว่าวันที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลมีผลใช้บังคับ หรือในกรณีที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลมีผลใช้บังคับแล้วต้องไม่ช้ากว่าวันทำการถัดจากวันที่ได้เปิดเผยข้อเท็จจริงต่อบุคคลใดนั้น หมวด ๓ การรับรองข้อมูล ข้อ ๔๐ การลงลายมือชื่อเพื่อรับรองความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (๑) กรณีที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลมิใช่บริษัทจดทะเบียน ให้กรรมการทุกคน ผู้ที่ดำรงตำแหน่งบริหารสูงสุด และผู้ที่ดำรงตำแหน่งบริหารสูงสุดในสายงานบัญชี ลงลายมือชื่อ (๒) กรณีที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลเป็นบริษัทจดทะเบียน ให้กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพัน หรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งบริหารสูงสุดที่ได้รับมอบอำนาจจากกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพัน ลงลายมือชื่อ ทั้งนี้ ในกรณีที่กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันมิใช่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งบริหารสูงสุด หรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งบริหารสูงสุดในสายงานบัญชี การลงลายมือชื่อดังกล่าวต้องมีผู้ที่ดำรงตำแหน่งบริหารสูงสุดหรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งบริหารสูงสุดในสายงานบัญชี ลงลายมือชื่อด้วย ข้อ ๔๑ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควรทำให้บุคคลที่ต้องลงนามเพื่อนิติบุคคลตามที่กำหนดในข้อ ๔๐ ไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้นิติบุคคลดังกล่าวปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน ก.ล.ต. (๑) หากเหตุที่ทำให้บุคคลดังกล่าวคนใดไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ เกิดจากการที่บุคคลดังกล่าวอยู่ในภาวะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เนื่องจากเจ็บป่วยทางร่างกายหรือทางจิต ผู้ออกโทเคนดิจิทัลไม่จำต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวลงลายมือชื่อในแบบแสดงรายการข้อมูล (๒) หากเหตุที่ทำให้บุคคลดังกล่าวคนใดไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ เกิดจากกรณีอื่นนอกจากที่ระบุใน (๑) เมื่อเหตุดังกล่าวหมดสิ้นไป ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลจัดให้บุคคลดังกล่าวลงลายมือชื่อทันที เพื่อให้แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลมีผลใช้บังคับได้ตามข้อ ๔๒ หมวด ๔ วันมีผลใช้บังคับของแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขาย โทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวน ข้อ ๔๒ ให้แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับเมื่อได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้แล้ว (๑) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลต้องได้รับอนุญาตตามภาค ๒ (๒) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลได้ชำระค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลตามภาค ๕ (๓) เมื่อพ้น ๕ วันนับแต่วันที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่แก้ไขเพิ่มเติมครั้งหลังสุด (ไม่รวมข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลตามข้อ ๓๖ (๕) หรือข้อมูลอื่นที่มิใช่ข้อมูลสำคัญซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. ผ่อนผันให้แก้ไขเพิ่มเติมได้) (๔) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลได้ระบุข้อมูลตามรายการครบถ้วนแล้ว ภาค ๔ การเปิดเผยข้อมูลของผู้ออกโทเคนดิจิทัล หมวด ๑ การเปิดเผยข้อมูลอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับผลการดำเนินงาน และฐานะการเงินของผู้ออกโทเคนดิจิทัล ส่วนที่ ๑ วันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดหน้าที่ ข้อ ๔๓ ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลตามประกาศนี้มีหน้าที่จัดทำและส่งรายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานตามประเภทข้อมูลที่กำหนดในหมวดนี้ เมื่อแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนที่ยื่นตามหมวด ๒ มีผลใช้บังคับ เว้นแต่มีเหตุที่ทำให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลสิ้นสุดหน้าที่ตามที่กำหนดในข้อ ๔๔ ข้อ ๔๔ ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลสิ้นสุดหน้าที่จัดทำและส่งรายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของผู้ออกโทเคนดิจิทัลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อเกิดกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลไม่ได้ขายโทเคนดิจิทัลภายในระยะเวลาที่สำนักงาน ก.ล.ต. อนุญาตให้เสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือผู้ออกโทเคนดิจิทัลยกเลิกการเสนอขายโทเคนดิจิทัลตามเงื่อนไขที่ระบุไว้แล้วอย่างชัดเจน (๒) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลได้ชำระหนี้ตามโทเคนดิจิทัล (ถ้ามี) จนครบถ้วนแล้ว (๓) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลมีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ (๔) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (๕) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลเป็นสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งของเจ้าพนักงานหรือหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย (๖) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์แสดงได้ว่าโครงการตามแผนธุรกิจที่ได้นำเสนอไว้ในการเสนอขายครั้งแรก ดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้ผู้ถือโทเคนดิจิทัลสามารถใช้สิทธิในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดได้แล้ว ข้อ ๔๕ ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลแจ้งเหตุที่ทำให้สิ้นสุดหน้าที่การจัดทำและส่งรายงานตามข้อ ๔๔ ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ก่อนถึงกำหนดเวลาส่งรายงานดังกล่าว ส่วนที่ ๒ ประเภทและรายละเอียดข้อมูล ข้อ ๔๖ ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลจัดทำรายงานที่แสดงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินดังต่อไปนี้ (๑) ในกรณีที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลมีหน้าที่จัดทำและส่งรายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานจากการออกหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลดังกล่าวจัดทำและส่งรายงานที่แสดงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เช่นเดียวกับที่มีหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าว และให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมใน (๒) (ค) และข้อ ๔๗ ข้อ ๔๘ ข้อ ๔๙ ข้อ ๕๐ และข้อ ๕๑ ด้วย (๒) ในกรณีอื่นนอกจาก (๑) ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลจัดทำและส่งข้อมูลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ดังนี้ (ก) งบการเงินประจำรอบปีบัญชีที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและแสดงความเห็นแล้วซึ่งเป็นไปตามข้อ ๔๗ ข้อ ๔๘ และข้อ ๔๙ และเอกสารที่ต้องจัดส่งพร้อมกับงบการเงินตามข้อ ๕๐ ทั้งนี้ ภายใน ๒ เดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี (ข) แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี ซึ่งต้องมีข้อมูลสอดคล้องกับแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. โดยข้อมูลดังกล่าวต้องปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันและมีข้อมูลเพิ่มเติมตามข้อ ๕๑ ทั้งนี้ ภายใน ๓ เดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี (ค) รายงานการใช้เงินและความคืบหน้าของโครงการหรือกิจการตามแผนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโทเคนดิจิทัลทุกรอบระยะเวลา ๖ เดือนของปีบัญชีตามแนวทางที่กำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ทั้งนี้ ภายใน ๓๐ วันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาดังกล่าว ข้อ ๔๗ งบการเงินประจำรอบปีบัญชี และงบการเงินรายไตรมาส (ถ้ามี) ของผู้ออกโทเคนดิจิทัลต้องผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบให้สามารถตรวจสอบหรือสอบทานงบการเงินของผู้ออกโทเคนดิจิทัล ในกรณีที่เป็นงบการเงินประจำรอบปีบัญชี และงบการเงินรายไตรมาส (ถ้ามี) ของผู้ออกโทเคนดิจิทัลที่มีการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อผู้ลงทุนตามข้อ ๑๗ (๓) (ค) รายงานของผู้สอบบัญชีตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่มีความหมายในลักษณะดังต่อไปนี้ (๑) การจัดทำและเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่ต้องใช้ในการจัดทำงบการเงินนั้น (๒) ผู้สอบบัญชีถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบหรือสอบทาน แล้วแต่กรณี โดยการกระทำหรือไม่กระทำของผู้ออกโทเคนดิจิทัล หรือของกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ออกโทเคนดิจิทัล ข้อ ๔๘ การจัดทำและเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินของผู้ออกโทเคนดิจิทัลต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้ (๑) เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทยสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (๒) ในกรณีที่มาตรฐานการรายงานทางการเงินตาม (๑) ไม่ครอบคลุมถึงการจัดทำหรือการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องใด ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลระบุในหมายเหตุประกอบงบการเงินเกี่ยวกับรายการนโยบายบัญชีที่ใช้ปฏิบัติสำหรับการบันทึกบัญชีรายการนั้น และคำอธิบายว่านโยบายบัญชีดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินใด ข้อ ๔๙ หมายเหตุประกอบงบการเงินของผู้ออกโทเคนดิจิทัลตามข้อ ๔๖ ต้องแสดงงบการเงินของโครงการหรือกิจการตามแผนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโทเคนดิจิทัลด้วย ในกรณีที่มีการเสนอขายโทเคนดิจิทัลหลายชนิด ให้แสดงงบการเงินตามวรรคหนึ่งโดยแยกตามชนิดของโทเคนดิจิทัล ข้อ ๕๐[๑๐] ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลส่งหนังสือรับรองงบการเงินต่อสำนักงาน ก.ล.ต. พร้อมกับการจัดส่งงบการเงิน ทั้งนี้ ให้อนุโลมใช้ตามแบบ ๕๓ - ๓ ท้ายประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ข้อ ๕๑ แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีของผู้ออกโทเคนดิจิทัลตามข้อ ๔๖ ต้องมีข้อมูลสรุปการใช้เงินและความคืบหน้าของโครงการหรือกิจการตามแผนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโทเคนดิจิทัลด้วย ทั้งนี้ ให้นำความในวรรคสองของข้อ ๔๙ มาใช้บังคับ โดยอนุโลม หมวด ๒ การรายงานเหตุการณ์สำคัญ ข้อ ๕๒ ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลรายงานพร้อมด้วยเหตุผลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน ๓ วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลมีการฟื้นฟูกิจการ (๒) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลประสบความเสียหายอย่างร้ายแรง (๓) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลหยุดประกอบกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน (๔) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์หรือลักษณะการประกอบธุรกิจ (๕) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลทำสัญญาให้บุคคลอื่นมีอำนาจทั้งหมดหรือบางส่วนในการบริหารงานของบริษัท (๖) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลกระทำหรือถูกกระทำอันมีลักษณะเป็นการครอบงำหรือถูกครอบงำกิจการตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (๗) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลผิดข้อตกลงในการชำระหนี้ตามโทเคนดิจิทัล (๘) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อตกลงใด ๆ ที่เกี่ยวกับโทเคนดิจิทัลในสาระสำคัญ (๙) เหตุการณ์ที่ทำให้หรืออาจทำให้ต้องยกเลิกโทเคนดิจิทัล หรือเลิกโครงการ กิจการ หรือแผนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโทเคนดิจิทัล ข้อ ๕๓ การรายงานตามข้อ ๕๒ ให้แสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้ (๑) ข้อมูลเกี่ยวกับโทเคนดิจิทัล เช่น ชื่อผู้ออกโทเคนดิจิทัล ชื่อและประเภทของโทเคนดิจิทัล วัน เดือน ปี ที่เสนอขายโทเคนดิจิทัล จำนวนโทเคนดิจิทัลที่เสนอขายทั้งหมด และจำนวนโทเคนดิจิทัลที่ยังเหลืออยู่ (๒) รายละเอียดของเหตุการณ์ตามข้อ ๕๒ เช่น วันที่เกิดเหตุการณ์ และเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ เป็นต้น ภาค ๕ ค่าธรรมเนียม ข้อ ๕๔ ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลชำระค่าธรรมเนียมดังต่อไปนี้ ตามอัตราที่กำหนดไว้สำหรับการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ตามประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยอนุโลม (๑) ค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัล (๒) ค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวน (๓) ค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี ประกาศ ณ วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ วรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. ๑๓/๒๕๖๒ เรื่อง การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ฉบับที่ ๒)[๑๑] ข้อ ๓ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นต้นไป ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. ๑๐/๒๕๖๓ เรื่อง การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ฉบับที่ ๓)[๑๒] ข้อ ๖ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. ๒๘/๒๕๖๓ เรื่อง การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ฉบับที่ ๔)[๑๓] ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป ปวันวิทย์/จัดทำ ๓ กันยายน ๒๕๖๑ อัมพิกา/เพิ่มเติม ๑๑ มกราคม ๒๕๖๔ สุภาทิพย์/ตรวจ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๔ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๖๙ ง/หน้า ๒๑/๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑ [๒] ข้อ ๑๗ วรรคหนึ่ง (๒/๑) เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. ๑๓/๒๕๖๒ เรื่อง การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ฉบับที่ ๒) [๓] ข้อ ๑๗ วรรคหนึ่ง (๘) เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. ๑๐/๒๕๖๓ เรื่อง การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ฉบับที่ ๓) [๔] ข้อ ๑๗/๑ เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. ๑๐/๒๕๖๓ เรื่อง การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ฉบับที่ ๓) [๕] ข้อ ๑๙ (๓) วรรคสอง เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. ๑๐/๒๕๖๓ เรื่อง การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ฉบับที่ ๓) [๖] ข้อ ๒๕/๑ เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. ๑๓/๒๕๖๒ เรื่อง การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ฉบับที่ ๒) [๗] ข้อ ๒๕/๒ เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. ๑๐/๒๕๖๓ เรื่อง การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ฉบับที่ ๓) [๘] ข้อ ๓๗ (๓/๑) เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. ๑๐/๒๕๖๓ เรื่อง การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ฉบับที่ ๓) [๙] ข้อ ๓๗ (๓/๒) เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. ๑๐/๒๕๖๓ เรื่อง การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ฉบับที่ ๓) [๑๐] ข้อ ๕๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. ๒๘/๒๕๖๓ เรื่อง การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ฉบับที่ ๔) [๑๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖/ตอนพิเศษ ๑๔๕ ง/หน้า ๒๒/๗ มิถุนายน ๒๕๖๒ [๑๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนพิเศษ ๙๗ ง/หน้า ๒๑/๒๗ เมษายน ๒๕๖๓ [๑๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนพิเศษ ๒๗๙ ง/หน้า ๑๔/๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
875992
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับ Update ณ วันที่ 01/07/2563)
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ (๑) มาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป ข้อ ๒ ในประกาศนี้ “ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดกดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภท ดังต่อไปนี้ (๑) การเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๒) การเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๓) การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๔) การเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๕) การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี (๖) การเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล “ลูกค้า” หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล “ผู้ลงทุนสถาบัน” หมายความว่า ผู้ลงทุนสถาบันตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่ “ผู้ลงทุนรายใหญ่” หมายความว่า ผู้ลงทุนรายใหญ่ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่ “ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ” หมายความว่า ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่ ข้อ ๓ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามประกาศนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจดำเนินการดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดหลักเกณฑ์ในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ ให้มีความชัดเจนเพียงพอที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะสามารถปฏิบัติตามประกาศนี้ได้ในแนวทางเดียวกัน ทั้งนี้ การกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว อาจกำหนดตามประเภทธุรกิจหรือประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลก็ได้ (๒) กำหนดแนวทาง (guideline) การปฏิบัติในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้เพื่อเป็นการให้แนวทางปฏิบัติที่ถือว่าเหมาะสมและสอดคล้องตามประกาศนี้และหากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้ (๓) เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลกระทำการที่อาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลขอความเห็นชอบการดำเนินการใดตามประกาศนี้ก่อนการดำเนินการนั้นก็ได้ (๔) เพื่อให้สำนักงาน ก.ล.ต. สามารถติดตามการปฏิบัติตามประกาศนี้ได้ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายในระยะเวลาที่เหมาะสมได้ โดยต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจนเกินสมควร ทั้งนี้ ระยะเวลาที่สำนักงาน ก.ล.ต. จะกำหนดให้เป็นไปตามกรอบ ดังต่อไปนี้ (ก) ในกรณีที่เป็นเรื่องเร่งด่วนและมีผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือลูกค้าอย่างมีนัยสำคัญ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดให้ดำเนินการภายในวันทำการที่เกิดกรณีดังกล่าวได้ (ข) ในกรณีอื่นนอกจาก (ก) ให้กำหนดระยะเวลาอย่างสมเหตุสมผลตามสภาพการณ์ เรื่อง และประเด็นที่เกี่ยวข้อง หมวด ๑ บททั่วไป ข้อ ๔ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีข้อตกลงกับลูกค้าเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่อาจเกิดจากการให้บริการ ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะเป็นการตัดหรือจำกัดความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับลูกค้า อันเนื่องจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล กรรมการ ผู้บริหาร หรือบุคลากร ไม่ได้ดำเนินธุรกิจหรือปฏิบัติงานให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประกาศนี้ ข้อ ๕ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดส่งงบการเงินที่จัดทำขึ้นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน ๔ เดือนนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี และให้ประกาศงบการเงินดังกล่าวบนเว็บไซต์ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในระยะเวลาดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ เว้นแต่สำนักงาน ก.ล.ต. จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น[๒] งบการเงินประจำรอบปีบัญชีของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ทั้งนี้ การจัดทำบัญชีให้ถือปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดโดยสถาบันวิชาชีพที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นชอบและข้อกำหนดเพิ่มเติมตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ข้อ ๖ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประสงค์จะประกอบกิจการอื่นนอกเหนือจากการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะดำเนินการได้ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) เป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่อง เป็นประโยชน์ หรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (๒) ไม่มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเว้นแต่จะแสดงได้ว่าสามารถจัดให้มีระบบในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในเรื่องดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ (๓) เป็นกิจการที่ไม่มีความเสี่ยงต่อทรัพย์สินของลูกค้า ฐานะของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือเป็นกิจการที่อาจมีความเสี่ยงดังกล่าว แต่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถจัดให้มีระบบในการควบคุมความเสี่ยงได้อย่างเพียงพอ ข้อ ๗ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดให้มีช่องทางให้สำนักงาน ก.ล.ต. เข้าถึงข้อมูล (application program interface) เกี่ยวกับรายการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละประเภทซึ่งรวมถึงข้อมูลการเสนอซื้อเสนอขาย ข้อมูลการจับคู่คำสั่งซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยน ราคาและปริมาณการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยน และข้อมูลของผู้ที่ทำรายการซื้อขาย ข้อ ๗/๑[๓] เพื่อให้สำนักงาน ก.ล.ต. สามารถติดตามสภาพตลาดและความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัลและการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ทันต่อเหตุการณ์ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลและควบคุมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล การชำระราคาซื้อขายและส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัล การป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล การทุจริต หลอกลวง หรือฉ้อโกงเกี่ยวกับทรัพย์สินของนิติบุคคลตามกฎหมาย รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเก็บรวบรวมและเปิดเผยข้อมูลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. โดยให้มีรายละเอียดของข้อมูล รูปแบบ และวิธีการ รวมถึงระยะเวลาในการเปิดเผยข้อมูลตามตารางแนบท้ายประกาศนี้ ข้อ ๗/๒[๔] ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเปิดเผยข้อมูลตามข้อ ๗/๑ ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามกำหนดเวลาในตารางกำหนดเวลาการเปิดเผยข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัลที่แนบท้ายประกาศนี้ หมวด ๒ โครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน และบุคลากร ข้อ ๘ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีโครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน ตลอดจนบุคลากร ที่เหมาะสมและเพียงพอให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความรับผิดชอบและเป็นไปตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ และมาตรฐานการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง การพิจารณาความเหมาะสมและเพียงพอตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงลักษณะ ขนาด ปริมาณ ความซับซ้อน และความหลากหลาย ของธุรกิจและบริการ ตลอดจนระดับความเสี่ยงที่เกี่ยวกับธุรกิจและบริการดังกล่าวด้วย ข้อ ๙ ภายใต้บังคับข้อ ๓๗ และข้อ ๔๒ โครงสร้างการบริหารจัดการและระบบงานตามข้อ ๘ ต้องครอบคลุมอย่างน้อยในเรื่อง ดังต่อไปนี้ (๑) การกำหนดโครงสร้างองค์กร บทบาท อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบในการดำเนินงานของกรรมการ ผู้บริหาร และบุคลากรที่ชัดเจน (๒) ระบบงานที่สามารถรองรับการประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องมีความเหมาะสม น่าเชื่อถือ และมีประสิทธิภาพ (๓) ระบบตรวจสอบและควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ โดยต้องคำนึงถึงเรื่องดังนี้ (ก) การรักษาความลับ (ข) การรับและจัดการข้อร้องเรียน (ค) การป้องกันมิให้ผู้ประกอบธุรกิจ ผู้บริหาร หรือพนักงานของผู้ประกอบธุรกิจ แสวงหาประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ (๔) การบริหารและจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในทุกด้านอย่างรัดกุม โดยต้องมีมาตรการอย่างเพียงพอที่จะป้องกันและจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ (๕) ระบบงานและมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (๖) ระบบการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า โดย (ก) ในกรณีที่ทรัพย์สินของลูกค้าอยู่ภายใต้การดูแลรักษาหรือจัดการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องจัดทำบัญชีของลูกค้าแยกแต่ละราย ให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน และเก็บรักษาทรัพย์สิน ในระบบที่มีความมั่นคง ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และต้องมีแผนการจัดการทรัพย์สินของลูกค้าที่เหมาะสม (ข) จัดให้มีการจ่ายผลตอบแทนจากการถือสินทรัพย์ดิจิทัลกับลูกค้าอย่างเป็นธรรมโดยต้องเปิดเผยเงื่อนไขและวิธีการให้ลูกค้าทราบ (๗) ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพซึ่งรวมถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยของระบบงานและข้อมูล (security) ความถูกต้องเชื่อถือได้ของระบบงานและข้อมูล (integrity) และความพร้อมใช้ของระบบงาน (availability) โดยคำนึงถึงความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT risk) และความเสี่ยงด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ (cyber risk) (๘) ระบบการจัดการและจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจให้ถูกต้อง ครบถ้วน ตรวจสอบได้และปลอดภัย โดยอย่างน้อยต้องเป็นไปตามข้อ ๑๑ (๙) ระบบงานในการดูแลการลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของผู้ประกอบธุรกิจ (proprietary trading) ซึ่งเหมาะสมและเพียงพอที่สามารถป้องกันมิให้มีการลงทุน (ก) ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ (ข) เป็นผลให้การซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลผิดไปจากสภาพปกติของตลาด (ค) มีลักษณะเป็นการลงทุนที่ไม่เหมาะสมในฐานะผู้มีวิชาชีพ (ง) ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์แก่ลูกค้าหรือความไม่เป็นธรรมกับลูกค้า (๑๐) ระบบงานในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (compliance) (๑๑) ระบบงานเพิ่มเติมสำหรับการให้บริการที่มีลักษณะเฉพาะ ข้อ ๑๐ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีบุคลากรในจำนวนที่เพียงพอกับการประกอบธุรกิจโดยบุคลากรดังกล่าวต้องมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ อย่างเหมาะสมซึ่งสอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตและไม่มีประวัติในทางที่เสื่อมเสีย ข้อ ๑๑ ในการจัดการและจัดเก็บข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) จัดให้มีระบบการจัดการและจัดเก็บที่รัดกุม เป็นระเบียบ และพร้อมนำข้อมูลมาใช้งานหรือตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพภายในระยะเวลาอันสมควร (๒) ระบบตาม (๑) ต้องสามารถป้องกัน (ก) การแก้ไข การสูญหาย หรือการถูกทำลาย อย่างไม่เหมาะสม (ข) การใช้หรือการเข้าถึงข้อมูลอย่างไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม หรือขัดกับกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า หรือข้อมูลที่ไม่เปิดเผยหรือยังไม่ได้เปิดเผยเป็นการทั่วไป (๓) จัดให้มีบุคลากรทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบการเก็บรักษาข้อมูล เพื่อให้การจัดการและจัดเก็บข้อมูลเป็นไปตามระบบใน (๑) และสามารถป้องกันกรณีตาม (๒) ได้ (๔) จัดเก็บข้อมูลให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน หมวด ๓ การคำนวณและรายงานการคำนวณเงินกองทุน[๕] ข้อ ๑๒[๖] ในหมวดนี้ “เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ” หมายความว่า เงินกองทุนสภาพคล่องหักด้วยค่าความเสี่ยง “เงินกองทุนสภาพคล่อง” หมายความว่า สินทรัพย์สภาพคล่องหักด้วยหนี้สินรวม “สินทรัพย์สภาพคล่อง” หมายความว่า ผลรวมของสินทรัพย์รายการ ดังต่อไปนี้ (๑) เงินสดและเงินฝากธนาคาร (๒) ตั๋วสัญญาใช้เงินและตั๋วแลกเงินที่ออกโดยสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (๓) เงินลงทุนในหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า และตราสารทางการเงินอื่น (๔) สินทรัพย์ดิจิทัล (๕) รายการอื่นตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด “หนี้สินรวม” หมายความว่า (๑) รายการหนี้สินทุกรายการที่ปรากฏในงบการเงินและภาระผูกพันอื่น แต่ไม่รวมถึงหนี้สินรายการ ดังต่อไปนี้ (ก) หนี้สินที่กำหนดสิทธิของเจ้าหนี้ไว้ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญทั่วไป โดยหนี้สินดังกล่าวต้องไม่มีประกันและไม่มีเงื่อนไขให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้มีการชำระหนี้ก่อนกำหนด ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่ามูลค่าของส่วนของผู้ถือหุ้นของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ข) สัญญาเช่าทางการเงินที่ให้สิทธิผู้เช่าในการซื้อทรัพย์สินที่เช่า (financing lease) ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในฐานะผู้เช่าสามารถบอกเลิกการเช่าก่อนกำหนดได้โดยไม่ต้องซื้อทรัพย์สินนั้นไป ยกเว้นส่วนที่เป็นเบี้ยปรับที่เกิดจากการบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนด (ค) รายการอื่นตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกไหนด (๒) รายการภาระผูกพันอื่นที่ไม่ปรากฏในงบการเงิน ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาระหนี้สินแก่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ในภายหลัง ได้แก่ (ก) ภาระจากการค้ำประกัน รับรอง หรืออาวัลตั๋วเงิน (ข) ภาระผูกพันอื่นที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องชำระเงินหรือทรัพย์สินอื่นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กำหนดไว้ (ค) ภาระผูกพันอื่นตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด “ค่าความเสี่ยง” หมายความว่า ค่าความเสี่ยงที่เกิดจากการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือการดำเนินการอื่นใดของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล “ส่วนของผู้ถือหุ้น” หมายความว่า ผลรวมของ (๑) ส่วนของผู้ถือหุ้นที่ปรากฏในงบการเงินล่าสุด ซึ่งมีวิธีการคำนวณตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่กำหนดโดยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี (๒) ทุนที่ออกและชำระแล้ว ซึ่งรวมส่วนเกินมูลค่าหุ้นและหักส่วนลดมูลค่าหุ้นแล้ว ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอันเนื่องมาจากการเพิ่มทุนหรือลดทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ยังไม่ถูกนับรวมเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นในการจัดทำงบการเงินงวดล่าสุด ข้อ[๗] ๑๒/๑ ความในหมวดนี้มิให้ใช้บังคับกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ดังต่อไปนี้ (๑) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน (๒) บริษัทประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต (๓) บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีหน้าที่ดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิตามประกาศเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (๔) ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งมีหน้าที่ดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิตามประกาศเกี่ยวกับการดำรงฐานะทางการเงินของผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ข้อ ๑๓[๘] ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภท ดำรงเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ในกรณีของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครอง ให้ดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิเมื่อสิ้นวันทำการใด ๆ ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ (ก) ไม่น้อยกว่า ๑๕ ล้านบาท และ (ข) ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕ ของมูลค่าทรัพย์สินของลูกค้า เว้นแต่กรณีทรัพย์สินของลูกค้าในส่วนที่ถูกจัดเก็บในระบบของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งจะเชื่อมต่อกับเครือข่ายเมื่อทำธุรกรรมเท่านั้น (cold wallet) ให้ดำรงในอัตราร้อยละ ๑ (๒) ในกรณีของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครอง ให้ดำรงส่วนของผู้ถือหุ้นตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ (ก) ไม่น้อยกว่า ๕ ล้านบาท สำหรับการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล (ข) ไม่น้อยกว่า ๒.๕ ล้านบาท สำหรับการเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล (ค) ไม่น้อยกว่า ๕ แสนบาท สำหรับการเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัลด (๓) ในกรณีของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล ที่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครอง แต่ไม่สามารถเข้าถึงหรือโอนทรัพย์สินของลูกค้าออกไปได้เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกค้าเป็นรายครั้ง ให้ดำรงส่วนของผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า ๒.๕ ล้านบาท ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอาจใช้วงเงินคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมความเสียหายของทรัพย์สินของลูกค้า เพื่อหักกลบมูลค่าทรัพย์สินของลูกค้าที่ใช้ประกอบการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิตามวรรคหนึ่ง (๑) (ข) ได้ ข้อ ๑๔[๙] ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลคำนวณและจัดทำรายงานการคำนวณเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ข้อ ๑๕[๑๐] ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) ระงับการดำเนินธุรกิจทุกประเภทจนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามที่กำหนดในข้อ ๑๓ และได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ (๒) แจ้งให้ลูกค้าทราบเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับการระงับการดำเนินธุรกิจทุกประเภทโดยไม่ชักช้า (๓) กระทำการหรืองดเว้นการกระทำอื่นใดตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ข้อ ๑๖[๑๑] ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ ๑๓ และข้อ ๑๔ (๑) ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ยังไม่เริ่มประกอบธุรกิจ เนื่องจากอยู่ระหว่างสำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจสอบความพร้อมก่อนเริ่มประกอบธุรกิจ (๒) ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่หยุดประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท และมีหนังสือแจ้งความประสงค์นั้นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจเรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามวรรคหนึ่งส่งเอกสารหรือรายงานที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาความสามารถในการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในระยะเวลาดังกล่าวได้ตามที่เห็นสมควร หมวด ๔ การดูแลรักษาความปลอดภัยของ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ข้อ ๑๗ นอกจากที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะในส่วนนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิบัติตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยข้อกำหนดในรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดให้มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ออกตามประกาศดังกล่าว โดยอนุโลม ข้อ ๑๘ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดให้มีการทดสอบการเจาะระบบ (penetration test) กับระบบงานสำคัญก่อนเริ่มให้บริการและภายหลังจากเริ่มให้บริการ อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง โดยบุคคลที่เป็นอิสระจากหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และรายงานผลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน ๓๐ วันนับจากวันที่ได้รับผลการทดสอบอย่างเป็นทางการ แต่ไม่เกิน ๙๐ วันนับจากวันที่สิ้นสุดกระบวนการทดสอบ ข้อ ๑๙ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดให้มีการตรวจสอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT audit) ก่อนเริ่มให้บริการและภายหลังเริ่มให้บริการแล้วอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้งโดยผู้ที่มีความรู้ความสามารถและเป็นอิสระ และรายงานผลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน ๓๐ วันนับจากวันที่ได้รับผลการทดสอบอย่างเป็นทางการ แต่ไม่เกิน ๙๐ วันนับจากวันที่สิ้นสุดกระบวนการทดสอบ หมวด ๕ การติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้า ข้อ ๒๐ ในการติดต่อหรือให้บริการแก่ลูกค้ารายใหม่ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้ให้ลูกค้าทราบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกใช้บริการและพิจารณาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้บริการดังกล่าว (๑) ข้อมูลโดยทั่วไปของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (๒) ลักษณะ ขอบเขต และเงื่อนไขการให้บริการที่เสนอต่อลูกค้า (๓) ช่องทางการให้บริการ และการติดต่อสื่อสาร (๔) สิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ และเงื่อนไข ที่ลูกค้ามีหรือต้องปฏิบัติเมื่อใช้บริการ (๕) ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (ถ้ามี) (๖) วิธีปฏิบัติระหว่างผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นไปตามกฎหมายประกาศที่เกี่ยวข้อง และวิธีปฏิบัติที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลกำหนดขึ้น ข้อ ๒๑ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องมีช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าที่มีระบบการควบคุมดูแลอย่างเหมาะสม รวมทั้งกระทำในเวลาที่เหมาะสม โดยข้อมูลที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารต้องชัดเจน น่าเชื่อถือ และไม่ทำให้ลูกค้าสำคัญผิด ข้อ ๒๒ ในการให้บริการแก่ลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องเปิดเผยข้อมูลให้กับลูกค้าอย่างเพียงพอ ไม่บิดเบือน และไม่ทำให้สำคัญผิด โดยต้องเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการหรือตัดสินใจลงทุน หมวด ๖ การรวบรวมและประเมินข้อมูลของลูกค้า ข้อ ๒๓ ก่อนเริ่มให้บริการแก่ลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องรวบรวมและประเมินข้อมูลของลูกค้าเพื่อวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้ (๑) ทำความรู้จักลูกค้า (๒) จัดประเภทลูกค้า (๓) ประเมินความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า (๔) พิจารณาความสามารถของลูกค้าในการปฏิบัติตามข้อตกลงในการใช้บริการ ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง หากเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล อาจดำเนินการผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรายอื่นได้ ข้อ ๒๔ ในการทำความรู้จักกับลูกค้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลพิจารณาข้อมูลที่ได้ตามข้อ ๒๓ เพื่อระบุตัวตนที่แท้จริงของลูกค้าหรือผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง ในกรณีที่ลูกค้าปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล หรือข้อมูลที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอหรือไม่เป็นปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีเหตุอันควรสงสัยอื่นใด ที่อาจทำให้ไม่สามารถระบุตัวตนที่แท้จริงของลูกค้าหรือผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงได้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิเสธการให้บริการ ข้อ ๒๕ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีการทบทวนและปรับปรุงข้อมูลที่ได้รับตามข้อ ๒๓ ให้เป็นปัจจุบันในระยะเวลาที่เหมาะสม หรือเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าข้อมูลที่มีอยู่นั้นไม่ถูกต้องหรือมีความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง และต้องมีระบบการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถนำข้อมูลนั้นมาใช้ประกอบการให้บริการกับลูกค้าได้โดยไม่ชักช้า ข้อ ๒๖ ก่อนเริ่มให้บริการแก่ลูกค้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเมินความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยพิจารณาจากข้อมูล ดังต่อไปนี้ (๑) ฐานะทางการเงิน (๒) ประสบการณ์ในการลงทุน (๓) ความรู้เกี่ยวกับการลงทุน (๔) วัตถุประสงค์ในการลงทุน (๕) ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ข้อ ๒๗ ในการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลพิจารณาข้อมูลที่ได้ตามข้อ ๒๖ เพื่อให้สามารถนำเสนอบริการเกี่ยวกับการลงทุนที่มีความเสี่ยงสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ลูกค้ายอมรับได้ เว้นแต่ในกรณีที่เป็นการให้บริการแก่ลูกค้าดังต่อไปนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะไม่ประเมินความเหมาะสมในการลงทุนของลูกค้าก็ได้ (๑) ลูกค้าเป็นผู้ลงทุนสถาบัน (๒) ลูกค้าเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลซึ่งแสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะไม่รับการประเมินความเหมาะสมในการลงทุน เมื่อได้ทำการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าตามวรรคหนึ่งแล้วให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลแจ้งผลการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนของลูกค้า ซึ่งต้องกระทำโดยบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๒๘ ในกรณีที่ลูกค้าปฏิเสธการให้ข้อมูลตามข้อ ๒๖ จนทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่สามารถประเมินความเหมาะสมในการลงทุนของลูกค้าได้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิเสธการให้บริการ ข้อ ๒๙ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดูแลให้ลูกค้าลงทุนให้เป็นไปตามผลการประเมินความเหมาะสมในการลงทุน ในกรณีที่ลูกค้าประสงค์จะลงทุนโดยไม่เป็นไปตามผลการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำเนินการใด ๆ เพื่อให้ลูกค้าตระหนักถึงความเสี่ยงจากการลงทุน ข้อ ๓๐ ในการพิจารณาความสามารถของลูกค้าในการปฏิบัติตามข้อตกลงในการใช้บริการให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลพิจารณาข้อมูลที่ได้ตามข้อ ๒๖ เพื่อให้สามารถนำเสนอบริการที่สอดคล้องกับความสามารถดังกล่าวของลูกค้า ในกรณีที่ไม่สามารถประเมินหรือพบข้อจำกัดเกี่ยวกับความสามารถของลูกค้าในการปฏิบัติตามข้อตกลงในการใช้บริการไม่ว่าในขณะใด ๆ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิเสธการให้บริการหรือจำกัดขอบเขตการให้บริการ ข้อ ๓๑ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประสงค์จะแนะนำการลงทุนให้กับลูกค้าต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) จัดให้มีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวหรือดำเนินการให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรายอื่นที่มีบุคลากรที่มีคุณสมบัติดังกล่าวเป็นผู้ดำเนินการแทนหรือจัดให้มีช่องทางที่ลูกค้าสามารถติดต่อกับบุคลากรที่ทำหน้าที่ดังกล่าวได้ (๒) พิจารณาความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าตามข้อมูลที่ได้จากการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนตามข้อ ๒๖ (๓) ดำเนินการให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะแนะนำให้แก่ลูกค้าหรือที่ลูกค้าสนใจลงทุน โดยมีข้อมูลอย่างน้อยตามข้อ ๓๓ อย่างเพียงพอ ไม่บิดเบือน และไม่ทำให้สำคัญผิด (๔) ดำเนินการให้มีการแจกจ่ายหนังสือชี้ชวนหรือข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลแก่ลูกค้าให้เป็นไปตามหน้าที่ซึ่งผู้ออกสินทรัพย์ดิจิทัลต้องปฏิบัติ (๕) ดูแลให้บริการเกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นไปตามความประสงค์ของลูกค้าโดยอย่างน้อยต้องดำเนินการดังนี้ (ก) มีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลแก่ลูกค้าอย่างถูกต้อง ครบถ้วน สมเหตุสมผลและไม่ทำให้สำคัญผิด (ข) มีกระบวนการที่ทำให้มั่นใจว่าลูกค้าเข้าใจลักษณะ ความเสี่ยง และผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอย่างดี ก่อนตัดสินใจใช้บริการ (๖) ไม่เร่งรัดให้ลูกค้าตัดสินใจลงทุน โดยต้องให้เวลาลูกค้าอย่างเพียงพอที่จะทำให้ลูกค้าศึกษาข้อมูลและตัดสินใจใช้บริการ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องควบคุมและป้องกันมิให้มีการเผยแพร่ข้อมูลซึ่งยังไม่ได้รับการยืนยันความถูกต้องจากผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีผลต่อการตัดสินใจใช้บริการเกี่ยวกับการลงทุนของลูกค้าจนกว่าจะได้มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในระหว่างรอการตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องเตือนให้ลูกค้าใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาตัดสินใจลงทุนหรือทำธุรกรรมด้วย ข้อ ๓๒ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาให้บริการต่อลูกค้า และต้องมีกระบวนการที่ทำให้มั่นใจว่าผู้ทำหน้าที่แนะนำบริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรู้และเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวเป็นอย่างดี และสามารถนำเสนอข้อมูลนั้นได้ ข้อ ๓๓ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลตามข้อ ๓๑ ได้แก่ข้อมูลอย่างน้อย ดังต่อไปนี้ (๑) ลักษณะ โครงสร้าง เงื่อนไข และผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัล (๒) ความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (๓) สภาพคล่องของสินทรัพย์ดิจิทัล (๔) ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ออกสินทรัพย์ดิจิทัล (ถ้ามี) (๕) ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล (๖) ค่าธรรมเนียมและค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) (๗) ข้อมูลเกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการให้บริการ (ถ้ามี) (๘) ข้อมูลอื่นที่จำเป็นซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน (ถ้ามี) หมวด ๗ การดำเนินการเมื่อลูกค้าตัดสินใจใช้บริการ ข้อ ๓๔ เมื่อลูกค้าตัดสินใจใช้บริการแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำเนินการตามความประสงค์ของลูกค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน ดังต่อไปนี้ (๑) ดำเนินการด้วยความรวดเร็วตามสภาพ และดูแลตรวจสอบให้การให้บริการนั้นตรงตามความประสงค์ของลูกค้า (๒) ดำเนินการให้การให้บริการเกี่ยวกับการลงทุนหรือการทำธุรกรรมเป็นไปตามกลไกตลาดและได้รับเงื่อนไขดีที่สุดตามสภาพตลาด (duty of best execution) ด้วย (๓) รายงานหรือแจ้งผลการดำเนินการให้ลูกค้าทราบโดยมีรายละเอียดอย่างเพียงพอภายในระยะเวลาที่เหมาะสม หมวด ๘ ข้อกำหนดตามลักษณะเฉพาะของการให้บริการ ส่วนที่ ๑ การเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและ การเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล ข้อ ๓๕ ในส่วนนี้ “ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล ข้อ ๓๖ ให้ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลกับเงินบาทหรือคริปโทเคอร์เรนซีที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. เท่านั้น ข้อ ๓๗ ห้ามผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อเป็นทรัพย์สินของตนเอง ข้อ ๓๘ ให้ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจัดให้มีระบบงานเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ (๑) ระบบคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาให้บริการซื้อขาย (๒) ระบบการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๓๙ ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล (๒) กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และการชำระราคาและการส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัล (๓) กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดให้มีผู้ดูแลสภาพคล่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ข้อ ๔๐ ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีระบบการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) มีระบบการซื้อขายที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ซึ่งอย่างน้อยต้องครอบคลุมในเรื่องดังนี้ (ก) มีระบบที่สามารถรองรับปริมาณการซื้อขายได้อย่างเพียงพอ ซึ่งสามารถตรวจสอบความสามารถในการชำระราคาและส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ใช้บริการได้ก่อนมีการส่งคำสั่งซื้อขาย (ข) มีระบบชำระราคาและส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความมั่นคง ปลอดภัย น่าเชื่อถือ (ค) มีระบบการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับการทำรายการซื้อขายแก่ลูกค้า ซึ่งรวมถึงข้อมูลก่อนทำรายการซื้อขาย (ถ้ามี) (pre - trade information) และข้อมูลภายหลังทำรายการซื้อขาย (post - trade information) อย่างเพียงพอ รวดเร็ว และเหมาะสม (transparency) (ง) มีระบบบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับการทำรายการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งนี้ เพื่อติดตามและตรวจสอบการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในภายหลัง (audit trail) (จ) มีระบบงานที่ช่วยเสริมสร้างและรักษากลไกการทำงานของระบบซื้อขายให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย (ฉ) มีระบบเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่นำมาซื้อขายอย่างเพียงพอและเป็นปัจจุบัน (๒) จัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับการซื้อขาย ซึ่งอย่างน้อยต้องครอบคลุมในเรื่อง ดังต่อไปนี้ (ก) ขั้นตอนและวิธีการในการเปิดรับลูกค้าที่ชัดเจนและเป็นธรรม (fair access) และต้องกำหนดประเภทลูกค้าให้เหมาะสมกับประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลที่ซื้อขาย (ข) ประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถซื้อขายได้บนระบบที่ให้บริการ รวมถึงข้อจำกัดหรือเงื่อนไขต่าง ๆ ของสินทรัพย์ดิจิทัลในแต่ละประเภท รวมถึงกฎเกณฑ์ในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (ค) ขั้นตอนการชำระราคาและส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัล (ง) ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการแก่ลูกค้า ส่วนที่ ๒ การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีและ การเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล ข้อ ๔๑ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัลต้องให้ข้อมูลแก่ลูกค้าอย่างเพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อขาย โดยอย่างน้อยต้องมีการแจ้งให้ลูกค้าทราบราคาที่เสนอซื้อขาย เงื่อนไข ระยะเวลาการซื้อขาย และเหตุแห่งการปฏิเสธไม่รับซื้อขายอย่างชัดเจนด้วย ข้อ ๔๒ ห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัลเก็บรักษาทรัพย์สินลูกค้า ประกาศ ณ วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ วรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ [เอกสารแนบท้าย] ๑.[๑๒] โครงสร้างข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัล ๒.[๑๓] ตารางกำหนดเวลาการเปิดเผยข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัล (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๘/๒๕๖๒ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๒)[๑๔] ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๒๖/๒๕๖๒ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๓)[๑๕] ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๒/๒๕๖๓ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๔)[๑๖] ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๗/๒๕๖๓ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๕)[๑๗] ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป ปวันวิทย์/จัดทำ ๓ กันยายน ๒๕๖๑ พิไลภรณ์/เพิ่มเติม ๙ ธันวาคม ๒๕๖๓ สุภาทิพย์/ตรวจ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๖๙ ง/หน้า ๖๖/๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑ [๒] ข้อ ๕ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๒/๒๕๖๓ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๔) [๓] ข้อ ๗/๑ เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๒๖/๒๕๖๒ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๓) [๔] ข้อ ๗/๒ เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๗/๒๕๖๓ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๕) [๕] หมวด ๓ การคำนวณและรายงานการคำนวณเงินกองทุน ข้อ ๑๒ ถึง ข้อ ๑๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๘/๒๕๖๒ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๒) [๖] ข้อ ๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๘/๒๕๖๒ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๒) [๗] ข้อ ๑๒/๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๘/๒๕๖๒ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๒) [๘] ข้อ ๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๘/๒๕๖๒ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๒) [๙] ข้อ ๑๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๘/๒๕๖๒ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๒) [๑๐] ข้อ ๑๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๘/๒๕๖๒ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๒) [๑๑] ข้อ ๑๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๘/๒๕๖๒ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๒) [๑๒] โครงสร้างข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัล เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๒๖/๒๕๖๒ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๓) [๑๓] ตารางกำหนดเวลาการเปิดเผยข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัล เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๗/๒๕๖๓ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๕) [๑๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖/ตอนพิเศษ ๑๓๘ ง/หน้า ๔/๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ [๑๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนพิเศษ ๓๕ ง/หน้า ๖/๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ [๑๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนพิเศษ ๙๖ ง/หน้า ๑๖/๒๔ เมษายน ๒๕๖๓ [๑๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนพิเศษ ๑๕๔ ง/หน้า ๒๑/๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓
875994
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กลธ. 18/2561 เรื่อง การกำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับ Update ล่าสุด)
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กลธ. ๑๘/๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการและ ผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ (๑) มาตรา ๒๘ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป ข้อ ๒ ในประกาศนี้ และรวมถึงตารางแนบท้ายที่กำหนดตามประกาศนี้ “ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล”[๒] หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภท ดังต่อไปนี้ (๑) การเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๒) การเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๓) การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๔) การเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๕) การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี (๖) การเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล (๗) การเป็นผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซี (๘) การเป็นผู้จัดการเงินทุนโทเคนดิจิทัล (๙) การเป็นที่ปรึกษาคริปโทเคอร์เรนซี (๑๐) การเป็นที่ปรึกษาโทเคนดิจิทัล “ผู้ออกโทเคนดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ออกโทเคนดิจิทัลตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน “ผู้ลงทุน” หมายความว่า ผู้ที่สนใจจะลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล “ลูกค้า” หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล “ผู้จัดการ” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทให้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบสูงสุดในการบริหารงานของบริษัท “ผู้อำนวยการฝ่าย” หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบงานในระดับส่วนงานภายในบริษัท “สถาบันการเงิน” หมายความว่า (๑) ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ (๒) ธุรกิจหลักทรัพย์ (๓) ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (๔) ธุรกิจประกันภัย (๕) ธุรกิจสถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ข้อ ๓ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดแนวทาง (guideline) การปฏิบัติในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ เพื่อเป็นการให้แนวทางปฏิบัติที่ถือว่าเหมาะสมและสอดคล้องตามประกาศนี้และหากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้แล้ว หมวด ๑ การแต่งตั้งกรรมการหรือผู้บริหารของ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๔ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องแต่งตั้งกรรมการหรือผู้บริหารที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ และได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้ (๑)[๓] เป็นบุคคลซึ่งมิได้มีคุณวุฒิทางการศึกษา ประสบการณ์ในการทำงาน หรือคุณสมบัติอื่นตามตารางแนบท้ายประกาศนี้ เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันจากสานักงาน ก.ล.ต. (๒) เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ใน หมวด ๒ และหมวด ๓ ข้อ ๕ ผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามข้อ ๔ ได้แก่ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ ผู้อำนวยการฝ่าย หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่ทำหน้าที่ต่อไปนี้ (๑) รับผิดชอบงานเกี่ยวกับการบริหาร กำหนด ควบคุมและกำกับดูแลนโยบายของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (๒) รับผิดชอบงานที่เกี่ยวกับการติดต่อและให้บริการลูกค้า (๓) รับผิดชอบงานที่เกี่ยวกับการจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (๔) รับผิดชอบงานที่เกี่ยวกับการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาให้บริการ (๕)[๔] รับผิดชอบงานที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินลงทุนเพื่อแสวงหาประโยชน์ในสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อลูกค้า หมวด ๒ ลักษณะต้องห้ามของกรรมการหรือผู้บริหาร ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๖ กรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ (๑) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย (๒) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต (๓) เคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต เว้นแต่จะได้รับยกเว้นจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. (๔) เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น เว้นแต่จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด (๕) เคยถูกถอดถอนจากการเป็นประธานกรรมการ กรรมการ หรือผู้จัดการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น (๖) เป็นข้าราชการการเมือง (๗) เป็นข้าราชการซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือสำนักงาน ก.ล.ต. เว้นแต่ (ก) เป็นกรณีที่ได้รับการแต่งตั้งโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อเข้าไปช่วยเหลือในการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ข) เป็นกรณีของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หมวด ๓ การมีลักษณะต้องห้ามอื่นของกรรมการหรือผู้บริหาร ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๗ กรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามอื่น ดังต่อไปนี้ด้วย (๑) มีความบกพร่องในด้านความสามารถตามกฎหมาย หรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๘ เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๑ (๒) มีประวัติการถูกลงโทษหรือถูกดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สินตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๙ เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๒ (๓) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติต่อลูกค้า ผู้ลงทุน บริษัทหรือผู้ถือหุ้นโดยรวม หรือตลาดเงิน ตลาดทุนหรือตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวมในเรื่องที่มีนัยสำคัญตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๓ ข้อ ๘ ให้กรณีดังต่อไปนี้เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๑ (๑) เป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ (๒) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ (๓) เป็นบุคคลที่อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษโดยสำนักงาน ก.ล.ต. หรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอันเนื่องจากกรณีที่สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวโทษ หรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดตามมาตรา ๖๖ ประกอบกับมาตรา ๒๖ (เฉพาะที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการฉ้อโกงประชาชน) หรือมาตรา ๘๒ ถึงมาตรา ๙๑ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ (๔) เป็นบุคคลที่สำนักงาน ก.ล.ต. ปฏิเสธหรือถอนการแสดงรายชื่อของบุคคลในระบบข้อมูลรายชื่อกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกสินทรัพย์ดิจิทัลเนื่องจากเป็นผู้ที่มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจให้เป็นกรรมการและผู้บริหารตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารบริษัท (๕) เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐๓ (๑) ถึง (๗) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ (๖) เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๑ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ข้อ ๙ ให้กรณีดังต่อไปนี้เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๒ (๑) เป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดอาญาแผ่นดินเกี่ยวกับการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน โดยศาลมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษ และพ้นจากการรอการลงโทษมาแล้วไม่ถึง ๓ ปี (๒) เป็นบุคคลที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือกฎหมายอื่นในลักษณะเดียวกัน และยังไม่พ้น ๓ ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน (๓) เป็นบุคคลที่ไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของสถาบันการเงิน เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลสถาบันการเงินไม่ว่าตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ และอยู่ระหว่างเวลาที่ยังไม่สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้อีก ทั้งนี้ เฉพาะลักษณะต้องห้ามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (ก) การทุจริตต่อหน้าที่ หรือทุจริต หลอกลวง หรือฉ้อโกงเกี่ยวกับทรัพย์สิน (ข) การบริหารงานที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่เป็นไปตามคำสั่งของหน่วยงานกำกับดูแล หรือบริหารงานหรือจัดการงานที่ไม่เหมาะสม (ค) การกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย หรือการกระทำที่ไม่เป็นธรรมหรือเป็นการเอาเปรียบ (๔) เป็นบุคคลที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินการอันเป็นผลให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในลักษณะ ดังต่อไปนี้ (ก) ถูกคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งหรือศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในผู้ออกโทเคนดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือถูกสำนักงาน ก.ล.ต. สั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ หรือมีลักษณะที่ทำให้การให้ความเห็นชอบสิ้นสุด หรือถูกดำเนินการอื่นในทำนองเดียวกันอันเป็นผลให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการหรือผู้บริหารในผู้ออกโทเคนดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ข) การดำเนินการตาม (ก) สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติงานในตำแหน่งที่มีผลกระทบถึงความเหมาะสมในการปฏิบัติงานในตำแหน่งที่พิจารณา (ค) เหตุของการดำเนินการตาม (ก) เป็นเรื่องการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ และประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าวในมูลเหตุเนื่องจากการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง ทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือขาดความระมัดระวัง ขาดความซื่อสัตย์สุจริต (๕) เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๒ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ข้อ ๑๐ ให้กรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีพฤติกรรมดังต่อไปนี้เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๓ (๑) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมประพฤติผิดต่อหน้าที่หรือการให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเป็นธรรม ขาดความรับผิดชอบและความรอบคอบ เอาเปรียบผู้ลงทุน หรือขาดจรรยาบรรณหรือมาตรฐานในการปฏิบัติงานเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งกำหนดโดยสำนักงาน ก.ล.ต. สมาคม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนหรือตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่สำนักงาน ก.ล.ต. ยอมรับ หรือมีหรือเคยมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของบุคคลอื่น (๒) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมที่เป็นการละเลยการตรวจสอบดูแลตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้นิติบุคคลหรือกิจการที่ตนมีอำนาจในการจัดการ หรือผู้ปฏิบัติงานซึ่งอยู่ภายใต้การตรวจสอบดูแล (ถ้ามี) กระทำการใดหรืองดเว้นกระทำ การใดอันเป็นการฝ่าฝืนหรือขัดต่อพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ หรือประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว อันอาจก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวม หรือความเสียหายต่อชื่อเสียง ฐานะ การดำเนินธุรกิจ หรือลูกค้าของธุรกิจนั้น (๓) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมอันส่อไปในทางไม่สุจริตที่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างมีนัยสำคัญหรือมีหรือเคยมีส่วนร่วม หรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของบุคคลอื่น เช่น การแสวงหาหรือเบียดบังผลประโยชน์ใดโดยมิชอบเพื่อตนเอง ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือบุคคลอื่น โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ที่ตนดำรงอยู่ เป็นต้น (๔) เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๓ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน หมวด ๔ การขอรับความเห็นชอบและการให้ความเห็นชอบ ส่วนที่ ๑ การขอรับความเห็นชอบ ข้อ ๑๑ ในการยื่นคำขอรับความเห็นชอบเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้เป็นไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ส่วนที่ ๒ การให้ความเห็นชอบสิ้นสุดลง ข้อ ๑๒ การให้ความเห็นชอบกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสิ้นสุดลง เมื่อบุคคลนั้นมีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในหมวด ๗ หมวด ๕ หน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๑๓ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรายงานการแต่งตั้งและการสิ้นสุดการแต่งตั้งกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ผ่านระบบที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน ๗ วันทำการนับแต่วันที่เกิดกรณีดังกล่าว หมวด ๖ หน้าที่ของกรรมการหรือผู้บริหารของ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๑๔ กรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต (๒) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ และปฏิบัติต่อลูกค้าทุกรายอย่างเป็นธรรม ด้วยความเอาใจใส่ ระมัดระวัง รอบคอบ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ (๓) ปฏิบัติหน้าที่หรือดูแลให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ และประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตน (๔) ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามจรรยาบรรณและมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพที่กำหนดโดยสำนักงาน ก.ล.ต. สมาคม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจตลาดทุนที่สำนักงาน ก.ล.ต. ยอมรับ ข้อ ๑๕ ในกรณีที่กรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ ๑๔ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณาและดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับการมีลักษณะต้องห้ามในกลุ่มที่ ๓ ตามหมวด ๗ หมวด ๗ ผลของการมีลักษณะต้องห้าม ส่วนที่ ๑ ข้อกำหนดทั่วไปในการพิจารณาลักษณะต้องห้าม ข้อ ๑๖ ในกรณีที่กรรมการหรือผู้บริหารที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ยื่นคำขอรับความเห็นชอบเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในประกาศนี้ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. ใช้เหตุแห่งการมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวในการปฏิเสธการให้ความเห็นชอบบุคคลดังกล่าวได้ ข้อ ๑๗ ในกรณีที่ผู้มีลักษณะต้องห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้สำนักงาน ก.ล.ต. ดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๔ (๑) ให้การให้ความเห็นชอบสิ้นสุดลง (๒) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามตามหมวด ๒ หมวด ๓ ลักษณะต้องห้ามตามกลุ่มที่ ๑ ตามข้อ ๘ หรือลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๒ ตามข้อ ๙ (๑) หรือ (๒) ให้สำนักงาน ก.ล.ต. สั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ (๓) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๒ ตามข้อ ๙ (๓) (๔) หรือ (๕) ให้สำนักงาน ก.ล.ต. สั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบตามแต่เหตุแห่งการมีลักษณะต้องห้ามนั้น (๔) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๓ ตามข้อ ๑๐ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบตามสมควรแก่กรณี ข้อ ๑๘ ในการใช้ดุลยพินิจปฏิเสธการให้ความเห็นชอบตามข้อ ๑๖ พักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบตามข้อ ๑๗ (๓) และ (๔) แล้วแต่กรณี ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้แทนหรือประกอบการดำเนินการดังกล่าวได้ (๑) กำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบหรือห้ามการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลดังกล่าวในคราวต่อไป โดยระยะเวลาที่กำหนดต้องไม่เกิน ๑๐ ปี สำหรับการพิจารณาการมีลักษณะต้องห้ามในแต่ละกรณี (๒) กำหนดระยะเวลาการสั่งพักการให้ความเห็นชอบ ซึ่งเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วให้บุคคลดังกล่าวสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในตำแหน่งเดิมต่อไปได้โดยไม่ต้องยื่นคำขอความเห็นชอบ (๓) ในกรณีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๓ ตามข้อ ๑๐ มีลักษณะไม่ร้ายแรง หรือเกิดขึ้นมาแล้วเกินกว่า ๑๐ ปีนับถึงวันที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงาน ก.ล.ต. สำนักงาน ก.ล.ต. อาจไม่ยกกรณีดังกล่าวขึ้นพิจารณาเป็นเหตุในการปฏิเสธการให้ความเห็นชอบ การพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบหรือห้ามการปฏิบัติหน้าที่ หรืออาจลดระดับการดำเนินการเป็นการเปิดเผยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวก็ได้ ส่วนที่ ๒ การพิจารณาลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๓ ข้อ ๑๙ ในการพิจารณาความร้ายแรงของพฤติกรรมที่มีผลกระทบต่อการมีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๓ ตามข้อ ๑๐ หรือการพิจารณาดำเนินการตามข้อ ๑๖ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. นำปัจจัยดังต่อไปนี้ มาใช้ประกอบการพิจารณา (๑) บทบาทความเกี่ยวข้องและพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกพิจารณา (๒) การลงโทษที่บุคคลนั้นได้รับไปแล้ว (๓) ผลกระทบหรือความเสียหายต่อลูกค้า ผู้ลงทุน บริษัท หรือผู้ถือหุ้นโดยรวม ตลาดเงิน ตลาดทุน หรือตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวม หรือผลประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกับข้อเท็จจริงหรือพฤติกรรมที่พิจารณา (๔) การแก้ไขหรือการดำเนินการอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้า ผู้ลงทุน บริษัท หรือผู้ถือหุ้นโดยรวม ตลาดเงิน ตลาดทุน หรือตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวม หรือแก้ไข เยียวยา หรือป้องกันมิให้เกิดข้อเท็จจริงหรือพฤติกรรมทำนองเดียวกันนั้นซ้ำอีก (๕) พฤติกรรมอื่นของผู้ถูกพิจารณาที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานหรือขัดขวางการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.ล.ต. (๖) ประวัติหรือพฤติกรรมในอดีตอื่นใดที่แสดงถึงความไม่เหมาะสมที่จะเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๒๐ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.ล.ต. แต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน รวมทั้งเสนอความเห็นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เกี่ยวกับการพิจารณาเหตุของการพักหรือเพิกถอน การให้ความเห็นชอบกรรมการหรือผู้บริหารที่มีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๓ ตามข้อ ๑๐ หรือพิจารณาให้ความเห็นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ในเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามความในหมวดนี้ หรือพิจารณาวางแนวทางและให้ความเห็นต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ในการดำเนินการ ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากตลาดเงิน ตลาดทุนหรือตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวนไม่เกิน ๕ คนซึ่งไม่เป็นเลขาธิการหรือพนักงานของสำนักงาน ก.ล.ต. โดยจำนวนนี้อย่างน้อยต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นผู้แทนของผู้ลงทุนจำนวน ๑ คน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หลักทรัพย์ หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจำนวน ๒ คน ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการและให้สำนักงาน ก.ล.ต. แต่งตั้งพนักงานของสำนักงาน ก.ล.ต. คนหนึ่งเป็นเลขานุการ กรรมการรายใดมีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณาในลักษณะที่อาจมีผลกระทบต่อการให้ความเห็นอย่างเป็นกลาง ให้ผู้นั้นแจ้งการมีส่วนได้เสียนั้นและห้ามมิให้เข้าร่วมพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ข้อ ๒๑ เพื่อให้การใช้ดุลยพินิจสั่งการของสำนักงาน ก.ล.ต. ตามหมวดนี้มีความชัดเจนและผ่านกระบวนการทบทวนตามสมควร ในการแจ้งเหตุในการสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเนื่องจากการมีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๓ ตามข้อ ๑๐ สำนักงาน ก.ล.ต. จะกระทำได้ต่อเมื่อได้ดำเนินการอย่างน้อย ดังต่อไปนี้ (๑) เปิดโอกาสให้ผู้ถูกพิจารณามีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริง (๒) เสนอข้อเท็จจริงรวมทั้งคำชี้แจงของผู้ถูกพิจารณา (ถ้ามี) ให้คณะกรรมการเพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน และเสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และหากคณะกรรมการประสงค์จะให้ผู้ถูกพิจารณาชี้แจงเพิ่มเติม ให้สำนักงาน ก.ล.ต. จัดให้มีการชี้แจงเช่นนั้น ในการปฏิบัติอื่นใดนอกจากที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ข้อ ๒๒ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจไม่ดำเนินการตามข้อ ๒๑ วรรคหนึ่งได้ ในกรณีดังต่อไปนี้ (๑) กรณีดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการพิจารณาอื่นที่ทำให้ผู้ถูกพิจารณามีโอกาสชี้แจง และเคยผ่านการพิจารณาให้ความเห็นในรูปองค์คณะที่มีผู้มีความรู้ประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจในตลาดทุนเป็นองค์คณะด้วยหรือโดยองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องมาอย่างเพียงพอแล้ว หรือ (๒) คณะกรรมการได้กำหนดแนวทางพิจารณาดำเนินการสำหรับกรณีที่มีข้อเท็จจริงทำนองเดียวกันกับกรณีที่พิจารณานี้ไว้ชัดเจนเพียงพอแล้ว ประกาศ ณ วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ วรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ [เอกสารแนบท้าย] ๑. คุณสมบัติของผู้ขอความเห็นชอบเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท ผู้จัดการ หรือตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่นของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กลธ. ๑๐/๒๕๖๒ เรื่อง การกำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๒)[๕] ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นต้นไป ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กลธ. ๓๓/๒๕๖๓ เรื่อง การกำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๓)[๖] ข้อ ๓ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป ปวันวิทย์/จัดทำ ๓ กันยายน ๒๕๖๑ วิวรรธน์/เพิ่มเติม ๓๑ มกราคม ๒๕๖๔ สุภาทิพย์/ตรวจ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๖๙ ง/หน้า ๕๗/๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑ [๒] ข้อ ๒ นิยามคำว่า “ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กลธ. ๓๓/๒๕๖๓ เรื่อง การกำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๓) [๓] ข้อ ๔ (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กลธ. ๑๐/๒๕๖๒ เรื่อง การกำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๒) [๔] ข้อ ๕ (๕) เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กลธ. ๓๓/๒๕๖๓ เรื่อง การกำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๓) [๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนพิเศษ ๑๒๔ ง/หน้า ๔๔/๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ [๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนพิเศษ ๓๐๓ ง/หน้า ๖๐/๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓
876294
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับ Update ณ วันที่ 01/07/2563)
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ (๑) มาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป ข้อ ๒ ในประกาศนี้ “ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดกดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภท ดังต่อไปนี้ (๑) การเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๒) การเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๓) การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๔) การเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๕) การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี (๖) การเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล “ลูกค้า” หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล “ผู้ลงทุนสถาบัน” หมายความว่า ผู้ลงทุนสถาบันตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่ “ผู้ลงทุนรายใหญ่” หมายความว่า ผู้ลงทุนรายใหญ่ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่ “ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ” หมายความว่า ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่ ข้อ ๓ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามประกาศนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจดำเนินการดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดหลักเกณฑ์ในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ ให้มีความชัดเจนเพียงพอที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะสามารถปฏิบัติตามประกาศนี้ได้ในแนวทางเดียวกัน ทั้งนี้ การกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว อาจกำหนดตามประเภทธุรกิจหรือประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลก็ได้ (๒) กำหนดแนวทาง (guideline) การปฏิบัติในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้เพื่อเป็นการให้แนวทางปฏิบัติที่ถือว่าเหมาะสมและสอดคล้องตามประกาศนี้และหากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้ (๓) เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลกระทำการที่อาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลขอความเห็นชอบการดำเนินการใดตามประกาศนี้ก่อนการดำเนินการนั้นก็ได้ (๔) เพื่อให้สำนักงาน ก.ล.ต. สามารถติดตามการปฏิบัติตามประกาศนี้ได้ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายในระยะเวลาที่เหมาะสมได้ โดยต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจนเกินสมควร ทั้งนี้ ระยะเวลาที่สำนักงาน ก.ล.ต. จะกำหนดให้เป็นไปตามกรอบ ดังต่อไปนี้ (ก) ในกรณีที่เป็นเรื่องเร่งด่วนและมีผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือลูกค้าอย่างมีนัยสำคัญ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดให้ดำเนินการภายในวันทำการที่เกิดกรณีดังกล่าวได้ (ข) ในกรณีอื่นนอกจาก (ก) ให้กำหนดระยะเวลาอย่างสมเหตุสมผลตามสภาพการณ์ เรื่อง และประเด็นที่เกี่ยวข้อง หมวด ๑ บททั่วไป ข้อ ๔ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีข้อตกลงกับลูกค้าเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่อาจเกิดจากการให้บริการ ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะเป็นการตัดหรือจำกัดความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับลูกค้า อันเนื่องจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล กรรมการ ผู้บริหาร หรือบุคลากร ไม่ได้ดำเนินธุรกิจหรือปฏิบัติงานให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประกาศนี้ ข้อ ๕ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดส่งงบการเงินที่จัดทำขึ้นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน ๔ เดือนนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี และให้ประกาศงบการเงินดังกล่าวบนเว็บไซต์ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในระยะเวลาดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ เว้นแต่สำนักงาน ก.ล.ต. จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น[๒] งบการเงินประจำรอบปีบัญชีของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ทั้งนี้ การจัดทำบัญชีให้ถือปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดโดยสถาบันวิชาชีพที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นชอบและข้อกำหนดเพิ่มเติมตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ข้อ ๖ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประสงค์จะประกอบกิจการอื่นนอกเหนือจากการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะดำเนินการได้ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) เป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่อง เป็นประโยชน์ หรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (๒) ไม่มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเว้นแต่จะแสดงได้ว่าสามารถจัดให้มีระบบในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในเรื่องดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ (๓) เป็นกิจการที่ไม่มีความเสี่ยงต่อทรัพย์สินของลูกค้า ฐานะของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือเป็นกิจการที่อาจมีความเสี่ยงดังกล่าว แต่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถจัดให้มีระบบในการควบคุมความเสี่ยงได้อย่างเพียงพอ ข้อ ๗ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดให้มีช่องทางให้สำนักงาน ก.ล.ต. เข้าถึงข้อมูล (application program interface) เกี่ยวกับรายการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละประเภทซึ่งรวมถึงข้อมูลการเสนอซื้อเสนอขาย ข้อมูลการจับคู่คำสั่งซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยน ราคาและปริมาณการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยน และข้อมูลของผู้ที่ทำรายการซื้อขาย ข้อ ๗/๑[๓] เพื่อให้สำนักงาน ก.ล.ต. สามารถติดตามสภาพตลาดและความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัลและการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ทันต่อเหตุการณ์ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลและควบคุมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล การชำระราคาซื้อขายและส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัล การป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล การทุจริต หลอกลวง หรือฉ้อโกงเกี่ยวกับทรัพย์สินของนิติบุคคลตามกฎหมาย รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเก็บรวบรวมและเปิดเผยข้อมูลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. โดยให้มีรายละเอียดของข้อมูล รูปแบบ และวิธีการ รวมถึงระยะเวลาในการเปิดเผยข้อมูลตามตารางแนบท้ายประกาศนี้ ข้อ ๗/๒[๔] ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเปิดเผยข้อมูลตามข้อ ๗/๑ ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามกำหนดเวลาในตารางกำหนดเวลาการเปิดเผยข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัลที่แนบท้ายประกาศนี้ หมวด ๒ โครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน และบุคลากร ข้อ ๘ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีโครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน ตลอดจนบุคลากร ที่เหมาะสมและเพียงพอให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความรับผิดชอบและเป็นไปตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ และมาตรฐานการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง การพิจารณาความเหมาะสมและเพียงพอตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงลักษณะ ขนาด ปริมาณ ความซับซ้อน และความหลากหลาย ของธุรกิจและบริการ ตลอดจนระดับความเสี่ยงที่เกี่ยวกับธุรกิจและบริการดังกล่าวด้วย ข้อ ๙ ภายใต้บังคับข้อ ๓๗ และข้อ ๔๒ โครงสร้างการบริหารจัดการและระบบงานตามข้อ ๘ ต้องครอบคลุมอย่างน้อยในเรื่อง ดังต่อไปนี้ (๑) การกำหนดโครงสร้างองค์กร บทบาท อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบในการดำเนินงานของกรรมการ ผู้บริหาร และบุคลากรที่ชัดเจน (๒) ระบบงานที่สามารถรองรับการประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องมีความเหมาะสม น่าเชื่อถือ และมีประสิทธิภาพ (๓) ระบบตรวจสอบและควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ โดยต้องคำนึงถึงเรื่องดังนี้ (ก) การรักษาความลับ (ข) การรับและจัดการข้อร้องเรียน (ค) การป้องกันมิให้ผู้ประกอบธุรกิจ ผู้บริหาร หรือพนักงานของผู้ประกอบธุรกิจ แสวงหาประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ (๔) การบริหารและจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในทุกด้านอย่างรัดกุม โดยต้องมีมาตรการอย่างเพียงพอที่จะป้องกันและจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ (๕) ระบบงานและมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (๖) ระบบการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า โดย (ก) ในกรณีที่ทรัพย์สินของลูกค้าอยู่ภายใต้การดูแลรักษาหรือจัดการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องจัดทำบัญชีของลูกค้าแยกแต่ละราย ให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน และเก็บรักษาทรัพย์สิน ในระบบที่มีความมั่นคง ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และต้องมีแผนการจัดการทรัพย์สินของลูกค้าที่เหมาะสม (ข) จัดให้มีการจ่ายผลตอบแทนจากการถือสินทรัพย์ดิจิทัลกับลูกค้าอย่างเป็นธรรมโดยต้องเปิดเผยเงื่อนไขและวิธีการให้ลูกค้าทราบ (๗) ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพซึ่งรวมถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยของระบบงานและข้อมูล (security) ความถูกต้องเชื่อถือได้ของระบบงานและข้อมูล (integrity) และความพร้อมใช้ของระบบงาน (availability) โดยคำนึงถึงความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT risk) และความเสี่ยงด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ (cyber risk) (๘) ระบบการจัดการและจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจให้ถูกต้อง ครบถ้วน ตรวจสอบได้และปลอดภัย โดยอย่างน้อยต้องเป็นไปตามข้อ ๑๑ (๙) ระบบงานในการดูแลการลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของผู้ประกอบธุรกิจ (proprietary trading) ซึ่งเหมาะสมและเพียงพอที่สามารถป้องกันมิให้มีการลงทุน (ก) ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ (ข) เป็นผลให้การซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลผิดไปจากสภาพปกติของตลาด (ค) มีลักษณะเป็นการลงทุนที่ไม่เหมาะสมในฐานะผู้มีวิชาชีพ (ง) ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์แก่ลูกค้าหรือความไม่เป็นธรรมกับลูกค้า (๑๐) ระบบงานในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (compliance) (๑๑) ระบบงานเพิ่มเติมสำหรับการให้บริการที่มีลักษณะเฉพาะ ข้อ ๑๐ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีบุคลากรในจำนวนที่เพียงพอกับการประกอบธุรกิจโดยบุคลากรดังกล่าวต้องมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ อย่างเหมาะสมซึ่งสอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตและไม่มีประวัติในทางที่เสื่อมเสีย ข้อ ๑๑ ในการจัดการและจัดเก็บข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) จัดให้มีระบบการจัดการและจัดเก็บที่รัดกุม เป็นระเบียบ และพร้อมนำข้อมูลมาใช้งานหรือตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพภายในระยะเวลาอันสมควร (๒) ระบบตาม (๑) ต้องสามารถป้องกัน (ก) การแก้ไข การสูญหาย หรือการถูกทำลาย อย่างไม่เหมาะสม (ข) การใช้หรือการเข้าถึงข้อมูลอย่างไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม หรือขัดกับกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า หรือข้อมูลที่ไม่เปิดเผยหรือยังไม่ได้เปิดเผยเป็นการทั่วไป (๓) จัดให้มีบุคลากรทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบการเก็บรักษาข้อมูล เพื่อให้การจัดการและจัดเก็บข้อมูลเป็นไปตามระบบใน (๑) และสามารถป้องกันกรณีตาม (๒) ได้ (๔) จัดเก็บข้อมูลให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน หมวด ๓ การคำนวณและรายงานการคำนวณเงินกองทุน[๕] ข้อ ๑๒[๖] ในหมวดนี้ “เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ” หมายความว่า เงินกองทุนสภาพคล่องหักด้วยค่าความเสี่ยง “เงินกองทุนสภาพคล่อง” หมายความว่า สินทรัพย์สภาพคล่องหักด้วยหนี้สินรวม “สินทรัพย์สภาพคล่อง” หมายความว่า ผลรวมของสินทรัพย์รายการ ดังต่อไปนี้ (๑) เงินสดและเงินฝากธนาคาร (๒) ตั๋วสัญญาใช้เงินและตั๋วแลกเงินที่ออกโดยสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (๓) เงินลงทุนในหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า และตราสารทางการเงินอื่น (๔) สินทรัพย์ดิจิทัล (๕) รายการอื่นตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด “หนี้สินรวม” หมายความว่า (๑) รายการหนี้สินทุกรายการที่ปรากฏในงบการเงินและภาระผูกพันอื่น แต่ไม่รวมถึงหนี้สินรายการ ดังต่อไปนี้ (ก) หนี้สินที่กำหนดสิทธิของเจ้าหนี้ไว้ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญทั่วไป โดยหนี้สินดังกล่าวต้องไม่มีประกันและไม่มีเงื่อนไขให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้มีการชำระหนี้ก่อนกำหนด ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่ามูลค่าของส่วนของผู้ถือหุ้นของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ข) สัญญาเช่าทางการเงินที่ให้สิทธิผู้เช่าในการซื้อทรัพย์สินที่เช่า (financing lease) ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในฐานะผู้เช่าสามารถบอกเลิกการเช่าก่อนกำหนดได้โดยไม่ต้องซื้อทรัพย์สินนั้นไป ยกเว้นส่วนที่เป็นเบี้ยปรับที่เกิดจากการบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนด (ค) รายการอื่นตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกไหนด (๒) รายการภาระผูกพันอื่นที่ไม่ปรากฏในงบการเงิน ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาระหนี้สินแก่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ในภายหลัง ได้แก่ (ก) ภาระจากการค้ำประกัน รับรอง หรืออาวัลตั๋วเงิน (ข) ภาระผูกพันอื่นที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องชำระเงินหรือทรัพย์สินอื่นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กำหนดไว้ (ค) ภาระผูกพันอื่นตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด “ค่าความเสี่ยง” หมายความว่า ค่าความเสี่ยงที่เกิดจากการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือการดำเนินการอื่นใดของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล “ส่วนของผู้ถือหุ้น” หมายความว่า ผลรวมของ (๑) ส่วนของผู้ถือหุ้นที่ปรากฏในงบการเงินล่าสุด ซึ่งมีวิธีการคำนวณตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่กำหนดโดยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี (๒) ทุนที่ออกและชำระแล้ว ซึ่งรวมส่วนเกินมูลค่าหุ้นและหักส่วนลดมูลค่าหุ้นแล้ว ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอันเนื่องมาจากการเพิ่มทุนหรือลดทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ยังไม่ถูกนับรวมเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นในการจัดทำงบการเงินงวดล่าสุด ข้อ[๗] ๑๒/๑ ความในหมวดนี้มิให้ใช้บังคับกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ดังต่อไปนี้ (๑) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน (๒) บริษัทประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต (๓) บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีหน้าที่ดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิตามประกาศเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (๔) ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งมีหน้าที่ดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิตามประกาศเกี่ยวกับการดำรงฐานะทางการเงินของผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ข้อ ๑๓[๘] ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภท ดำรงเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ในกรณีของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครอง ให้ดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิเมื่อสิ้นวันทำการใด ๆ ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ (ก) ไม่น้อยกว่า ๑๕ ล้านบาท และ (ข) ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕ ของมูลค่าทรัพย์สินของลูกค้า เว้นแต่กรณีทรัพย์สินของลูกค้าในส่วนที่ถูกจัดเก็บในระบบของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งจะเชื่อมต่อกับเครือข่ายเมื่อทำธุรกรรมเท่านั้น (cold wallet) ให้ดำรงในอัตราร้อยละ ๑ (๒) ในกรณีของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครอง ให้ดำรงส่วนของผู้ถือหุ้นตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ (ก) ไม่น้อยกว่า ๕ ล้านบาท สำหรับการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล (ข) ไม่น้อยกว่า ๒.๕ ล้านบาท สำหรับการเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล (ค) ไม่น้อยกว่า ๕ แสนบาท สำหรับการเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัลด (๓) ในกรณีของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล ที่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครอง แต่ไม่สามารถเข้าถึงหรือโอนทรัพย์สินของลูกค้าออกไปได้เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกค้าเป็นรายครั้ง ให้ดำรงส่วนของผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า ๒.๕ ล้านบาท ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอาจใช้วงเงินคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมความเสียหายของทรัพย์สินของลูกค้า เพื่อหักกลบมูลค่าทรัพย์สินของลูกค้าที่ใช้ประกอบการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิตามวรรคหนึ่ง (๑) (ข) ได้ ข้อ ๑๔[๙] ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลคำนวณและจัดทำรายงานการคำนวณเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ข้อ ๑๕[๑๐] ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) ระงับการดำเนินธุรกิจทุกประเภทจนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามที่กำหนดในข้อ ๑๓ และได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ (๒) แจ้งให้ลูกค้าทราบเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับการระงับการดำเนินธุรกิจทุกประเภทโดยไม่ชักช้า (๓) กระทำการหรืองดเว้นการกระทำอื่นใดตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ข้อ ๑๖[๑๑] ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ ๑๓ และข้อ ๑๔ (๑) ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ยังไม่เริ่มประกอบธุรกิจ เนื่องจากอยู่ระหว่างสำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจสอบความพร้อมก่อนเริ่มประกอบธุรกิจ (๒) ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่หยุดประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท และมีหนังสือแจ้งความประสงค์นั้นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจเรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามวรรคหนึ่งส่งเอกสารหรือรายงานที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาความสามารถในการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในระยะเวลาดังกล่าวได้ตามที่เห็นสมควร หมวด ๔ การดูแลรักษาความปลอดภัยของ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ข้อ ๑๗ นอกจากที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะในส่วนนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิบัติตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยข้อกำหนดในรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดให้มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ออกตามประกาศดังกล่าว โดยอนุโลม ข้อ ๑๘ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดให้มีการทดสอบการเจาะระบบ (penetration test) กับระบบงานสำคัญก่อนเริ่มให้บริการและภายหลังจากเริ่มให้บริการ อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง โดยบุคคลที่เป็นอิสระจากหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และรายงานผลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน ๓๐ วันนับจากวันที่ได้รับผลการทดสอบอย่างเป็นทางการ แต่ไม่เกิน ๙๐ วันนับจากวันที่สิ้นสุดกระบวนการทดสอบ ข้อ ๑๙ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดให้มีการตรวจสอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT audit) ก่อนเริ่มให้บริการและภายหลังเริ่มให้บริการแล้วอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้งโดยผู้ที่มีความรู้ความสามารถและเป็นอิสระ และรายงานผลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน ๓๐ วันนับจากวันที่ได้รับผลการทดสอบอย่างเป็นทางการ แต่ไม่เกิน ๙๐ วันนับจากวันที่สิ้นสุดกระบวนการทดสอบ หมวด ๕ การติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้า ข้อ ๒๐ ในการติดต่อหรือให้บริการแก่ลูกค้ารายใหม่ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้ให้ลูกค้าทราบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกใช้บริการและพิจารณาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้บริการดังกล่าว (๑) ข้อมูลโดยทั่วไปของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (๒) ลักษณะ ขอบเขต และเงื่อนไขการให้บริการที่เสนอต่อลูกค้า (๓) ช่องทางการให้บริการ และการติดต่อสื่อสาร (๔) สิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ และเงื่อนไข ที่ลูกค้ามีหรือต้องปฏิบัติเมื่อใช้บริการ (๕) ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (ถ้ามี) (๖) วิธีปฏิบัติระหว่างผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นไปตามกฎหมายประกาศที่เกี่ยวข้อง และวิธีปฏิบัติที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลกำหนดขึ้น ข้อ ๒๑ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องมีช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าที่มีระบบการควบคุมดูแลอย่างเหมาะสม รวมทั้งกระทำในเวลาที่เหมาะสม โดยข้อมูลที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารต้องชัดเจน น่าเชื่อถือ และไม่ทำให้ลูกค้าสำคัญผิด ข้อ ๒๒ ในการให้บริการแก่ลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องเปิดเผยข้อมูลให้กับลูกค้าอย่างเพียงพอ ไม่บิดเบือน และไม่ทำให้สำคัญผิด โดยต้องเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการหรือตัดสินใจลงทุน หมวด ๖ การรวบรวมและประเมินข้อมูลของลูกค้า ข้อ ๒๓ ก่อนเริ่มให้บริการแก่ลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องรวบรวมและประเมินข้อมูลของลูกค้าเพื่อวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้ (๑) ทำความรู้จักลูกค้า (๒) จัดประเภทลูกค้า (๓) ประเมินความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า (๔) พิจารณาความสามารถของลูกค้าในการปฏิบัติตามข้อตกลงในการใช้บริการ ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง หากเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล อาจดำเนินการผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรายอื่นได้ ข้อ ๒๔ ในการทำความรู้จักกับลูกค้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลพิจารณาข้อมูลที่ได้ตามข้อ ๒๓ เพื่อระบุตัวตนที่แท้จริงของลูกค้าหรือผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง ในกรณีที่ลูกค้าปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล หรือข้อมูลที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอหรือไม่เป็นปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีเหตุอันควรสงสัยอื่นใด ที่อาจทำให้ไม่สามารถระบุตัวตนที่แท้จริงของลูกค้าหรือผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงได้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิเสธการให้บริการ ข้อ ๒๕ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีการทบทวนและปรับปรุงข้อมูลที่ได้รับตามข้อ ๒๓ ให้เป็นปัจจุบันในระยะเวลาที่เหมาะสม หรือเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าข้อมูลที่มีอยู่นั้นไม่ถูกต้องหรือมีความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง และต้องมีระบบการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถนำข้อมูลนั้นมาใช้ประกอบการให้บริการกับลูกค้าได้โดยไม่ชักช้า ข้อ ๒๖ ก่อนเริ่มให้บริการแก่ลูกค้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเมินความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยพิจารณาจากข้อมูล ดังต่อไปนี้ (๑) ฐานะทางการเงิน (๒) ประสบการณ์ในการลงทุน (๓) ความรู้เกี่ยวกับการลงทุน (๔) วัตถุประสงค์ในการลงทุน (๕) ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ข้อ ๒๗ ในการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลพิจารณาข้อมูลที่ได้ตามข้อ ๒๖ เพื่อให้สามารถนำเสนอบริการเกี่ยวกับการลงทุนที่มีความเสี่ยงสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ลูกค้ายอมรับได้ เว้นแต่ในกรณีที่เป็นการให้บริการแก่ลูกค้าดังต่อไปนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะไม่ประเมินความเหมาะสมในการลงทุนของลูกค้าก็ได้ (๑) ลูกค้าเป็นผู้ลงทุนสถาบัน (๒) ลูกค้าเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลซึ่งแสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะไม่รับการประเมินความเหมาะสมในการลงทุน เมื่อได้ทำการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าตามวรรคหนึ่งแล้วให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลแจ้งผลการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนของลูกค้า ซึ่งต้องกระทำโดยบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๒๘ ในกรณีที่ลูกค้าปฏิเสธการให้ข้อมูลตามข้อ ๒๖ จนทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่สามารถประเมินความเหมาะสมในการลงทุนของลูกค้าได้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิเสธการให้บริการ ข้อ ๒๙ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดูแลให้ลูกค้าลงทุนให้เป็นไปตามผลการประเมินความเหมาะสมในการลงทุน ในกรณีที่ลูกค้าประสงค์จะลงทุนโดยไม่เป็นไปตามผลการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำเนินการใด ๆ เพื่อให้ลูกค้าตระหนักถึงความเสี่ยงจากการลงทุน ข้อ ๓๐ ในการพิจารณาความสามารถของลูกค้าในการปฏิบัติตามข้อตกลงในการใช้บริการให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลพิจารณาข้อมูลที่ได้ตามข้อ ๒๖ เพื่อให้สามารถนำเสนอบริการที่สอดคล้องกับความสามารถดังกล่าวของลูกค้า ในกรณีที่ไม่สามารถประเมินหรือพบข้อจำกัดเกี่ยวกับความสามารถของลูกค้าในการปฏิบัติตามข้อตกลงในการใช้บริการไม่ว่าในขณะใด ๆ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิเสธการให้บริการหรือจำกัดขอบเขตการให้บริการ ข้อ ๓๑ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประสงค์จะแนะนำการลงทุนให้กับลูกค้าต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) จัดให้มีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวหรือดำเนินการให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรายอื่นที่มีบุคลากรที่มีคุณสมบัติดังกล่าวเป็นผู้ดำเนินการแทนหรือจัดให้มีช่องทางที่ลูกค้าสามารถติดต่อกับบุคลากรที่ทำหน้าที่ดังกล่าวได้ (๒) พิจารณาความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าตามข้อมูลที่ได้จากการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนตามข้อ ๒๖ (๓) ดำเนินการให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะแนะนำให้แก่ลูกค้าหรือที่ลูกค้าสนใจลงทุน โดยมีข้อมูลอย่างน้อยตามข้อ ๓๓ อย่างเพียงพอ ไม่บิดเบือน และไม่ทำให้สำคัญผิด (๔) ดำเนินการให้มีการแจกจ่ายหนังสือชี้ชวนหรือข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลแก่ลูกค้าให้เป็นไปตามหน้าที่ซึ่งผู้ออกสินทรัพย์ดิจิทัลต้องปฏิบัติ (๕) ดูแลให้บริการเกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นไปตามความประสงค์ของลูกค้าโดยอย่างน้อยต้องดำเนินการดังนี้ (ก) มีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลแก่ลูกค้าอย่างถูกต้อง ครบถ้วน สมเหตุสมผลและไม่ทำให้สำคัญผิด (ข) มีกระบวนการที่ทำให้มั่นใจว่าลูกค้าเข้าใจลักษณะ ความเสี่ยง และผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอย่างดี ก่อนตัดสินใจใช้บริการ (๖) ไม่เร่งรัดให้ลูกค้าตัดสินใจลงทุน โดยต้องให้เวลาลูกค้าอย่างเพียงพอที่จะทำให้ลูกค้าศึกษาข้อมูลและตัดสินใจใช้บริการ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องควบคุมและป้องกันมิให้มีการเผยแพร่ข้อมูลซึ่งยังไม่ได้รับการยืนยันความถูกต้องจากผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีผลต่อการตัดสินใจใช้บริการเกี่ยวกับการลงทุนของลูกค้าจนกว่าจะได้มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในระหว่างรอการตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องเตือนให้ลูกค้าใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาตัดสินใจลงทุนหรือทำธุรกรรมด้วย ข้อ ๓๒ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาให้บริการต่อลูกค้า และต้องมีกระบวนการที่ทำให้มั่นใจว่าผู้ทำหน้าที่แนะนำบริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรู้และเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวเป็นอย่างดี และสามารถนำเสนอข้อมูลนั้นได้ ข้อ ๓๓ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลตามข้อ ๓๑ ได้แก่ข้อมูลอย่างน้อย ดังต่อไปนี้ (๑) ลักษณะ โครงสร้าง เงื่อนไข และผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัล (๒) ความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (๓) สภาพคล่องของสินทรัพย์ดิจิทัล (๔) ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ออกสินทรัพย์ดิจิทัล (ถ้ามี) (๕) ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล (๖) ค่าธรรมเนียมและค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) (๗) ข้อมูลเกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการให้บริการ (ถ้ามี) (๘) ข้อมูลอื่นที่จำเป็นซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน (ถ้ามี) หมวด ๗ การดำเนินการเมื่อลูกค้าตัดสินใจใช้บริการ ข้อ ๓๔ เมื่อลูกค้าตัดสินใจใช้บริการแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำเนินการตามความประสงค์ของลูกค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน ดังต่อไปนี้ (๑) ดำเนินการด้วยความรวดเร็วตามสภาพ และดูแลตรวจสอบให้การให้บริการนั้นตรงตามความประสงค์ของลูกค้า (๒) ดำเนินการให้การให้บริการเกี่ยวกับการลงทุนหรือการทำธุรกรรมเป็นไปตามกลไกตลาดและได้รับเงื่อนไขดีที่สุดตามสภาพตลาด (duty of best execution) ด้วย (๓) รายงานหรือแจ้งผลการดำเนินการให้ลูกค้าทราบโดยมีรายละเอียดอย่างเพียงพอภายในระยะเวลาที่เหมาะสม หมวด ๘ ข้อกำหนดตามลักษณะเฉพาะของการให้บริการ ส่วนที่ ๑ การเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและ การเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล ข้อ ๓๕ ในส่วนนี้ “ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล ข้อ ๓๖ ให้ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลกับเงินบาทหรือคริปโทเคอร์เรนซีที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. เท่านั้น ข้อ ๓๗ ห้ามผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อเป็นทรัพย์สินของตนเอง ข้อ ๓๘ ให้ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจัดให้มีระบบงานเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ (๑) ระบบคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาให้บริการซื้อขาย (๒) ระบบการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๓๙ ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล (๒) กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และการชำระราคาและการส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัล (๓) กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดให้มีผู้ดูแลสภาพคล่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ข้อ ๔๐ ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีระบบการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) มีระบบการซื้อขายที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ซึ่งอย่างน้อยต้องครอบคลุมในเรื่องดังนี้ (ก) มีระบบที่สามารถรองรับปริมาณการซื้อขายได้อย่างเพียงพอ ซึ่งสามารถตรวจสอบความสามารถในการชำระราคาและส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ใช้บริการได้ก่อนมีการส่งคำสั่งซื้อขาย (ข) มีระบบชำระราคาและส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความมั่นคง ปลอดภัย น่าเชื่อถือ (ค) มีระบบการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับการทำรายการซื้อขายแก่ลูกค้า ซึ่งรวมถึงข้อมูลก่อนทำรายการซื้อขาย (ถ้ามี) (pre - trade information) และข้อมูลภายหลังทำรายการซื้อขาย (post - trade information) อย่างเพียงพอ รวดเร็ว และเหมาะสม (transparency) (ง) มีระบบบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับการทำรายการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งนี้ เพื่อติดตามและตรวจสอบการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในภายหลัง (audit trail) (จ) มีระบบงานที่ช่วยเสริมสร้างและรักษากลไกการทำงานของระบบซื้อขายให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย (ฉ) มีระบบเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่นำมาซื้อขายอย่างเพียงพอและเป็นปัจจุบัน (๒) จัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับการซื้อขาย ซึ่งอย่างน้อยต้องครอบคลุมในเรื่อง ดังต่อไปนี้ (ก) ขั้นตอนและวิธีการในการเปิดรับลูกค้าที่ชัดเจนและเป็นธรรม (fair access) และต้องกำหนดประเภทลูกค้าให้เหมาะสมกับประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลที่ซื้อขาย (ข) ประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถซื้อขายได้บนระบบที่ให้บริการ รวมถึงข้อจำกัดหรือเงื่อนไขต่าง ๆ ของสินทรัพย์ดิจิทัลในแต่ละประเภท รวมถึงกฎเกณฑ์ในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (ค) ขั้นตอนการชำระราคาและส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัล (ง) ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการแก่ลูกค้า ส่วนที่ ๒ การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีและ การเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล ข้อ ๔๑ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัลต้องให้ข้อมูลแก่ลูกค้าอย่างเพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อขาย โดยอย่างน้อยต้องมีการแจ้งให้ลูกค้าทราบราคาที่เสนอซื้อขาย เงื่อนไข ระยะเวลาการซื้อขาย และเหตุแห่งการปฏิเสธไม่รับซื้อขายอย่างชัดเจนด้วย ข้อ ๔๒ ห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัลเก็บรักษาทรัพย์สินลูกค้า ประกาศ ณ วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ วรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ [เอกสารแนบท้าย] ๑.[๑๒] โครงสร้างข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัล ๒.[๑๓] ตารางกำหนดเวลาการเปิดเผยข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัล (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๘/๒๕๖๒ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๒)[๑๔] ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๒๖/๒๕๖๒ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๓)[๑๕] ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๒/๒๕๖๓ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๔)[๑๖] ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๗/๒๕๖๓ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๕)[๑๗] ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป ปวันวิทย์/จัดทำ ๓ กันยายน ๒๕๖๑ พิไลภรณ์/เพิ่มเติม ๙ ธันวาคม ๒๕๖๓ สุภาทิพย์/ตรวจ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๖๙ ง/หน้า ๖๖/๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑ [๒] ข้อ ๕ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๒/๒๕๖๓ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๔) [๓] ข้อ ๗/๑ เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๒๖/๒๕๖๒ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๓) [๔] ข้อ ๗/๒ เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๗/๒๕๖๓ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๕) [๕] หมวด ๓ การคำนวณและรายงานการคำนวณเงินกองทุน ข้อ ๑๒ ถึง ข้อ ๑๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๘/๒๕๖๒ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๒) [๖] ข้อ ๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๘/๒๕๖๒ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๒) [๗] ข้อ ๑๒/๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๘/๒๕๖๒ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๒) [๘] ข้อ ๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๘/๒๕๖๒ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๒) [๙] ข้อ ๑๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๘/๒๕๖๒ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๒) [๑๐] ข้อ ๑๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๘/๒๕๖๒ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๒) [๑๑] ข้อ ๑๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๘/๒๕๖๒ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๒) [๑๒] โครงสร้างข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัล เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๒๖/๒๕๖๒ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๓) [๑๓] ตารางกำหนดเวลาการเปิดเผยข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัล เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๗/๒๕๖๓ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๕) [๑๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖/ตอนพิเศษ ๑๓๘ ง/หน้า ๔/๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ [๑๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนพิเศษ ๓๕ ง/หน้า ๖/๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ [๑๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนพิเศษ ๙๖ ง/หน้า ๑๖/๒๔ เมษายน ๒๕๖๓ [๑๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนพิเศษ ๑๕๔ ง/หน้า ๒๑/๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓
873733
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 36/2563 เรื่อง การจัดให้มีหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๓๖/๒๕๖๓ เรื่อง การจัดให้มีหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงาน ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ (๑) และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในประกาศนี้ “กฎเกณฑ์” หมายความว่า กฎหมาย กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ มาตรฐาน จรรยาบรรณ และแนวปฏิบัติหรือคู่มือการปฏิบัติงาน (compliance manual) ที่บังคับใช้กับธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล “คณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย” หมายความว่า คณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีความเป็นอิสระจากการบริหารจัดการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล “ผู้บริหารระดับสูง” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบสูงสุดในการบริหารจัดการ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเรียกชื่อใดก็ตาม และให้หมายความรวมถึงบุคคลที่ผู้ดูแลรับผิดชอบสูงสุดมอบหมายด้วย ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ดังต่อไปนี้ (๑) การเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๒) การเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๓) การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๔) การเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๕) การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี (๖) การเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล (๗) การเป็นผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซี (๘) การเป็นผู้จัดการเงินทุนโทเคนดิจิทัล ข้อ ๓ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดแนวทาง (guideline) ในรายละเอียดเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้ได้ และเมื่อมีการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวให้ถือว่าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้แล้ว ข้อ ๔ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ด้วยความเรียบร้อย รวมทั้งเพื่อป้องกันการกระทำใด ๆ ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่อาจเป็นการช่วยเหลือหรือสนับสนุนการไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และต้องสนับสนุนให้หน่วยงานดังกล่าวสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอย่างน้อยผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) จัดให้มีโครงสร้างการบังคับบัญชาที่ทำให้หน่วยงานดังกล่าวสามารถทำหน้าที่ได้โดยอิสระจากการบริหารจัดการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (๒) มีโครงสร้างการดำเนินงานที่ทำให้หน่วยงานดังกล่าวสามารถรายงานการปฏิบัติงานโดยตรงต่อคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย (๓) มีการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายแล้ว ทั้งนี้ ขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานดังกล่าวต้องเป็นไปตามข้อ ๖ (๔) จัดให้บุคลากรในหน่วยงานดังกล่าวมีความพร้อมในการปฏิบัติงานอย่างน้อยตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ (ก) มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในจำนวนที่เพียงพอกับลักษณะของธุรกิจ (business model) และขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ และไม่เป็นบุคลากรที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งอื่นที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับการทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ข) ผู้รับผิดชอบสูงสุดในหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานต้องเป็นบุคคลที่สามารถทำงานในประเทศไทยได้เต็มเวลา รวมทั้งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๕ (ค) ดำเนินการให้บุคลากรในหน่วยงานดังกล่าวได้รับการอบรมเกี่ยวกับการกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างสม่ำเสมอ (ง) มีการมอบหมายอำนาจหน้าที่ให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานดังกล่าวสามารถเข้าถึงข้อมูลและบุคลากรที่จำเป็นเพื่อการปฏิบัติงานได้ ข้อ ๕ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องแต่งตั้งผู้รับผิดชอบสูงสุดในหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ (๑) เป็นบุคคลซึ่งมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องหรือเป็นประโยชน์กับการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดในหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า ๒ ปี เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน ก.ล.ต. (๒) เป็นบุคคลที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๖ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานอย่างน้อย ดังต่อไปนี้ (๑) เป็นศูนย์กลางในการให้ความรู้และคำแนะนำแก่บุคลากรของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้บุคคลดังกล่าวเข้าใจและสามารถปฏิบัติงานตามกฎเกณฑ์ได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งต้องจัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน (compliance manual) และการจัดอบรมความรู้เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ดังกล่าวให้แก่บุคลากรของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย (๒) ติดตามกฎเกณฑ์ที่มีการแก้ไข และรายงานให้คณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทราบ (๓) ระบุความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ในการพัฒนาหรือทำธุรกรรมใหม่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (๔) ติดตามดูแลให้บุคลากรของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีการปฏิบัติงานตามกฎเกณฑ์ (๕) ระบุและประเมินปัจจัยที่อาจมีผลทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่สามารถปฏิบัติงานตามกฎเกณฑ์ได้ ทั้งนี้ ตามความจำเป็นและเหมาะสม พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางการแก้ไขด้วย (๖) ตรวจสอบหรือสอบทานการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และรายงานผลการตรวจสอบหรือสอบทานต่อคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย และผู้บริหารระดับสูงของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เว้นแต่ในกรณีที่เป็นการรายงานผลการตรวจสอบหรือสอบทานการปฏิบัติงานทั่วไป (day to day operation) อาจรายงานต่อผู้บริหารระดับสูงของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลก่อนการรายงานต่อคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายก็ได้ ทั้งนี้ ตามแนวทางที่คณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายได้กำหนดขึ้นโดยคำนึงถึงประโยชน์ในการแก้ไขข้อบกพร่องและผลกระทบจากการไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ตลอดจนความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น (๗) จัดทำแผนการตรวจสอบหรือสอบทานการปฏิบัติงานประจำปี (compliance plan) ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับขอบเขตและระยะเวลาการตรวจสอบหรือสอบทานหน่วยงานของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งนี้ แผนการตรวจสอบหรือสอบทานดังกล่าวต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย (๘) จัดทำรายงานการกำกับดูแลการปฏิบัติงานประจำปี (annual compliance report) เสนอต่อคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย และผู้บริหารระดับสูงของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และจัดส่งรายงานดังกล่าวให้สำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน ๒ เดือนนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน โดยรายงานการกำกับดูแลการปฏิบัติงานประจำปี ต้องมีรายการอย่างน้อย ดังนี้ (ก) แผนการตรวจสอบหรือสอบทานการปฏิบัติงานประจำปี (ข) ผลการปฏิบัติตามแผนการตรวจสอบหรือสอบทานการปฏิบัติงานประจำปี (ค) การกระทำความผิด ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติงานตามกฎเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไข (ง) การปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของสำนักงาน ก.ล.ต. หรือหน่วยงานกำกับดูแลอื่น (จ) การทบทวนนโยบายด้านกำกับดูแลการปฏิบัติงาน (๙) เป็นผู้ประสานงานและรายงานให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบโดยไม่ชักช้า ในกรณีที่พบการปฏิบัติที่เข้าข่ายหรืออาจเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างมีนัยสำคัญ เช่น การกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น ข้อ ๗ ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้รับผิดชอบสูงสุดในหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานมีลักษณะไม่เป็นไปตามที่กำหนดในข้อ ๔ (๔) (ข) หรือได้พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับแต่งตั้ง ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) แต่งตั้งบุคลากรรายใหม่ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในประกาศนี้ภายใน ๓ เดือนนับแต่วันที่รู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวหรือวันที่พ้นจากตำแหน่ง แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะได้รับผ่อนผันจากสำนักงาน ก.ล.ต. (๒) แต่งตั้งบุคลากรซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่สามารถทำงานในประเทศไทยได้เต็มเวลา รวมทั้งต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๕ (๒) เพื่อให้รับผิดชอบแทนชั่วคราวในระหว่างที่ยังดำเนินการตาม (๑) ไม่แล้วเสร็จ โดยบุคคลดังกล่าวต้องไม่ได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งอื่นที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับการทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (๓) รายงานการแต่งตั้งและการสิ้นสุดการแต่งตั้งผู้รับผิดชอบสูงสุดในหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานตาม (๑) หรือ (๒) แล้วแต่กรณี ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน ๗ วันทำการนับแต่วันที่เกิดกรณีดังกล่าว ข้อ ๘ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ พิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ธนบดี/จัดทำ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๔ สุภาทิพย์/ตรวจ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนพิเศษ ๓๐๓ ง/หน้า ๗๓/๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓
873729
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 35/2563 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๓๕/๒๕๖๓ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการมอบหมาย ให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้อง กับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ (๑) และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕ เป็นต้นไป ข้อ ๒ ในประกาศนี้ “งานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ” หมายความว่า งานที่เป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรืองานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล “ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภท ดังต่อไปนี้ (๑) การเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๒) การเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๓) การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๔) การเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๕) การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี (๖) การเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล (๗) การเป็นผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซี (๘) การเป็นผู้จัดการเงินทุนโทเคนดิจิทัล (๙) การเป็นที่ปรึกษาคริปโทเคอร์เรนซี (๑๐) การเป็นที่ปรึกษาโทเคนดิจิทัล “คณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า คณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจหรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจ “ผู้บริหาร” หมายความว่า ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ ผู้อำนวยการฝ่าย หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าตำแหน่งดังกล่าวที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่ทำหน้าที่รับผิดชอบงานที่เกี่ยวกับการบริหาร กำหนด ควบคุมและกำกับดูแลนโยบายของผู้ประกอบธุรกิจ งานที่เกี่ยวกับการติดต่อและให้บริการลูกค้า งานที่เกี่ยวกับการจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ งานที่เกี่ยวกับการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาให้บริการ และงานที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินลงทุนเพื่อแสวงหาประโยชน์ในสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อลูกค้า ทั้งนี้ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล “ลูกค้า” หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ประกอบธุรกิจ “งานที่มีผู้ให้บริการแบบรวมศูนย์” (central utility function) หมายความว่า งานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งหากผู้ให้บริการหยุดให้บริการ ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ หรือไม่สามารถให้บริการได้อย่างเหมาะสม อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวม เนื่องจากมีผู้ให้บริการจำนวนน้อยรายหรืออาจไม่สามารถหาผู้ให้บริการรายอื่นมาให้บริการแทนได้ในทันที “บริษัทในเครือ” หมายความว่า บริษัทที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (๑) บริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจ โดยมีโครงสร้างการถือหุ้นระหว่างกันไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละ ๕๐ ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น (๒) บริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจด้วยการมีอำนาจควบคุมระหว่างกัน (๓) บริษัทที่มีผู้มีอำนาจควบคุมกิจการเป็นบุคคลเดียวกับผู้มีอำนาจควบคุมกิจการของผู้ประกอบธุรกิจ “อำนาจควบคุมกิจการ” หมายความว่า อำนาจควบคุมกิจการตามบทนิยามคำว่า “อำนาจควบคุมกิจการ” ที่กำหนดในมาตรา ๘๙/๑ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ข้อ ๓ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามประกาศนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดแนวทาง (guideline) การปฏิบัติในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ เพื่อเป็นการให้แนวทางปฏิบัติที่ถือว่าเหมาะสมและสอดคล้องตามประกาศนี้ และหากผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผู้ประกอบธุรกิจมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้ (๒) ในกรณีที่ปรากฏต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ว่าผู้ประกอบธุรกิจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้ หรือผู้รับดำเนินการไม่สามารถดำรงคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม หรือไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้รับดำเนินการ ตามข้อกำหนดในประกาศนี้ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจรายนั้นแก้ไข กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการใด ๆ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศนี้หรือข้อกำหนดที่สำนักงาน ก.ล.ต. ออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศนี้ หรือสั่งระงับการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการ ข้อ ๔ ประกาศนี้ไม่ใช้บังคับกับการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในเรื่องที่มีข้อกำหนดไว้เป็นการเฉพาะตามประกาศอื่นอยู่แล้ว ข้อ ๕ ผู้ประกอบธุรกิจจะมอบหมายงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการได้ต่อเมื่อผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ข้อ ๖ ในการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) มีนโยบาย มาตรการ และวิธีปฏิบัติในการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการตามที่กำหนดในหมวด ๑ (๒) มีการมอบหมายงานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหมวด ๒ (๓) ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในหมวด ๓ หมวด ๑ นโยบาย มาตรการ และวิธีปฏิบัติในการมอบหมาย ให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการ ข้อ ๗ ผู้ประกอบธุรกิจต้องกำหนดนโยบาย มาตรการ และวิธีปฏิบัติในการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติและดูแลให้บุคลากรของตนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวด้วย (๑) กำหนดนโยบายในเรื่องดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจ โดยนโยบายดังกล่าวต้องมีรายละเอียดอย่างน้อยตามที่กำหนดในข้อ ๘ พร้อมทั้งต้องมีการพิจารณาทบทวนความมีประสิทธิภาพและความเหมาะสมอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง หรือในทันทีเมื่อมีเหตุการณ์ใด ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ (๒) กำหนดมาตรการรองรับที่ทำให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่ผู้รับดำเนินการไม่สามารถดำเนินงานต่อไปได้ (๓) กำหนดมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (๔) กำหนดมาตรการตรวจสอบดูแลให้ผู้รับดำเนินการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดเกี่ยวกับงานที่รับดำเนินการ รวมทั้งระเบียบวิธีปฏิบัติที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยอย่างน้อยต้องสามารถควบคุมให้ผู้รับดำเนินการไม่มีลักษณะที่จะทำให้มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีข้อบกพร่องหรือมีความไม่เหมาะสมเกี่ยวกับการควบคุมและการปฏิบัติงานอันดีของธุรกิจ (๕) จัดให้มีทรัพยากรที่จำเป็นและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในจำนวนที่เพียงพอ เพื่อให้สามารถควบคุมดูแลการดำเนินงานของผู้รับดำเนินการและบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ (๖) พิจารณาคัดเลือกผู้รับดำเนินการด้วยความรอบคอบและระมัดระวังเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ ข้อ ๘ นโยบายในการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการตามข้อ ๗ (๑) ต้องระบุรายละเอียดและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ขอบเขตและลักษณะงานที่จะให้ดำเนินการ (๒) หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้รับดำเนินการซึ่งมีรายละเอียดของแนวทางการพิจารณาในเรื่องดังนี้ (ก) ฐานะทางการเงิน ซึ่งต้องกำหนดในลักษณะที่จะทำให้สามารถกลั่นกรองหรือคัดเลือกผู้รับดำเนินการที่ไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีฐานะทางการเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือมีพฤติการณ์อื่นที่แสดงให้เห็นได้ว่าอยู่ในระหว่างประสบปัญหาทางการเงิน (ข) ความสามารถและความพร้อมในการปฏิบัติงาน ซึ่งต้องกำหนดในลักษณะที่จะทำให้สามารถกลั่นกรองหรือคัดเลือกผู้รับดำเนินการที่มีระบบงานในการดำเนินการที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ (ค) ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และชื่อเสียงในทางธุรกิจ (ง) ความพร้อมของผู้รับดำเนินการในกรณีที่รับดำเนินการให้ผู้ประกอบธุรกิจหลายราย (จ) ประวัติการถูกร้องเรียนหรือถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในเรื่องที่เกี่ยวกับงานที่จะให้ดำเนินการ (ฉ) ความเกี่ยวข้องกับกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจ (ช) ในกรณีที่ผู้รับดำเนินการอยู่ในต่างประเทศ ต้องพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงหรือความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และกฎหมายของประเทศของผู้รับดำเนินการ ตลอดจนความซับซ้อนในการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจที่อยู่ในต่างประเทศของผู้รับดำเนินการด้วย (๓) หลักเกณฑ์การทบทวนและการเปลี่ยนตัวผู้รับดำเนินการ (๔) แนวทางการพิจารณาในกรณีที่ผู้รับดำเนินการจะให้บุคคลอื่นรับดำเนินการช่วง ซึ่งครอบคลุมถึงเรื่อง ดังนี้ (ก) กรณีที่เป็นการมอบหมายงานจัดการเงินทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หรืองานบริหารความเสี่ยงในการลงทุนดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นงานที่มีผู้ให้บริการแบบรวมศูนย์หรือไม่และไม่ว่าในทอดใด ต้องมีขั้นตอนการขออนุมัติจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจเป็นรายกรณีทุกครั้งก่อนดำเนินการดังกล่าว และต้องดำเนินการให้บุคคลอื่นที่รับดำเนินการช่วงเป็นบุคคลตามข้อ ๑๑ ข้อ ๑๕ หรือข้อ ๑๖ แล้วแต่กรณี (ข) กรณีที่เป็นการมอบหมายงานที่มิใช่งานจัดการเงินทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หรืองานบริหารความเสี่ยงในการลงทุนดังกล่าว ต้องดำเนินการ ดังนี้ ๑. หากเป็นงานที่มีผู้ให้บริการแบบรวมศูนย์ ต้องกำหนดให้บุคคลที่รับดำเนินการช่วงไม่ว่าในทอดใด เป็นบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ตามข้อ ๑๑ ๒. หากเป็นงานที่มิใช่งานที่มีผู้ให้บริการแบบรวมศูนย์ ต้องมีขั้นตอนการขออนุมัติจากผู้ประกอบธุรกิจเป็นรายกรณีทุกครั้งก่อนดำเนินการดังกล่าว (๕) แนวทางการประเมินความเสี่ยงที่เหมาะสมตามระดับความสำคัญของงานที่ให้ดำเนินการ (๖) ระบบรักษาความปลอดภัยของผู้รับดำเนินการในการดูแลรักษาข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจและลูกค้า ข้อ ๙ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจมีการมอบหมายงานจัดการเงินทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล และงานบริหารความเสี่ยงในการลงทุนดังกล่าวให้บุคคลเดียวกันเป็นผู้รับดำเนินการ ผู้ประกอบธุรกิจต้องกำหนดมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ตามข้อ ๗ (๓) ที่ครอบคลุมถึงการแยกส่วนการปฏิบัติงานและโครงสร้างการบริหารจัดการ รวมทั้งระบบงานและมาตรการอื่นใดเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น หมวด ๒ หลักเกณฑ์การมอบหมายงาน ข้อ ๑๐ ในการมอบหมายงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการ ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การมอบหมายงานในหมวดนี้ ทั้งนี้ ต้องดำเนินการด้วยความสมเหตุสมผลและไม่มีผลเสมือนเป็นการไม่ประกอบธุรกิจ รวมทั้งต้องเป็นไปตามหลักการในการมอบหมายงานดังต่อไปนี้ ไม่ว่าจะมีการมอบหมายกี่ทอดก็ตาม (๑) มีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อลูกค้าและดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของลูกค้าเป็นสำคัญ (๒) ดำเนินการโดยไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติตามกฎหมายหรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องของทางการหรือทำให้ประสิทธิภาพในการกำกับดูแลของผู้ประกอบธุรกิจและสำนักงาน ก.ล.ต. ลดลง ส่วนที่ ๑ การมอบหมายงานที่มีผู้ให้บริการแบบรวมศูนย์ ข้อ ๑๑ ในการมอบหมายงานที่มีผู้ให้บริการแบบรวมศูนย์ ผู้ประกอบธุรกิจต้องมอบหมายให้บุคคลที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นผู้รับดำเนินการเท่านั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ในกรณีที่การมอบหมายงานตามวรรคหนึ่งเป็นงานจัดการเงินทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล บุคคลที่ได้รับความเห็นชอบดังกล่าวต้องเป็นบุคคลตามข้อ ๑๕ หรือข้อ ๑๖ แล้วแต่กรณี ข้อ ๑๒ มิให้นำความในข้อ ๗ (๒) และ (๔) ข้อ ๘ (๒) ข้อ ๑๘ (๑) (ข) และข้อ ๒๐ (๑) มาใช้บังคับกับผู้ประกอบธุรกิจที่มีการมอบหมายงานที่มีผู้ให้บริการแบบรวมศูนย์ให้กับบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ส่วนที่ ๒ การมอบหมายงานที่มิใช่งานที่มีผู้ให้บริการแบบรวมศูนย์ ข้อ ๑๓ ในการมอบหมายงานที่มิใช่งานที่มีผู้ให้บริการแบบรวมศูนย์ ให้ผู้ประกอบธุรกิจพิจารณาคัดเลือกผู้รับดำเนินการที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ (๑) มีความพร้อมในด้านบุคลากรและระบบงานในการดำเนินงานอย่างเพียงพอที่จะทำให้งานของผู้ประกอบธุรกิจเป็นไปตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดเกี่ยวกับงานที่รับดำเนินการ รวมทั้งระเบียบวิธีปฏิบัติที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยต้องมีระบบที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพอย่างน้อย ดังต่อไปนี้ (ก) ระบบการบริหารความเสี่ยง (ข) ระบบการควบคุมภายใน (ค) ระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลเพื่อป้องกันมิให้บุคคลที่ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง ล่วงรู้ หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูล รวมทั้งเพื่อป้องกันการล่วงรู้ข้อมูลอันมิพึงเปิดเผยระหว่างหน่วยงานและบุคลากร (ง) ระบบการรองรับเหตุฉุกเฉินในกรณีต่าง ๆ ซึ่งมีการกำหนดขั้นตอนและผู้รับผิดชอบในแต่ละกรณีไว้อย่างชัดเจน (๒) ไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีฐานะทางการเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือมีพฤติการณ์อื่นที่แสดงให้เห็นว่าอยู่ในระหว่างประสบปัญหาทางการเงิน (๓) ไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีข้อบกพร่องหรือมีความไม่เหมาะสมเกี่ยวกับการควบคุมและการปฏิบัติงานอันดีของธุรกิจ ข้อ ๑๔ ในการมอบหมายงานจัดการเงินทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ประกอบธุรกิจต้องรายงานการควบคุมดูแลผู้รับดำเนินการที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจแล้ว ให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง ข้อ ๑๕ ในการมอบหมายงานจัดการเงินทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้รับดำเนินการต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซีหรือผู้จัดการเงินทุนโทเคนดิจิทัล แล้วแต่กรณี และต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากลูกค้าที่มอบหมายให้จัดการเงินทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลก่อน ข้อ ๑๖ ในการมอบหมายงานจัดการเงินทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ให้แก่ผู้รับดำเนินการต่างประเทศ ผู้รับดำเนินการดังกล่าวต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้อย่างครบถ้วน (๑) สามารถประกอบธุรกิจจัดการเงินทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้โดยชอบด้วยกฎหมายของประเทศที่บุคคลดังกล่าวประกอบธุรกิจอยู่ (๒) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลที่เป็นสมาชิกของ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) โดยหน่วยงานดังกล่าวต้องเป็นพหุภาคีประเภท Signatory A ใน Multilateral Memorandum of Understanding Concerning Consultation and Cooperation and the Exchange of Information (MMOU) และหน่วยงานกำกับดูแลดังกล่าวตั้งอยู่ในประเทศที่มีมาตรการกำกับดูแลการจัดการลงทุนที่สำนักงาน ก.ล.ต. ยอมรับ ในกรณีที่ผู้รับดำเนินการต่างประเทศอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลตามวรรคหนึ่ง (๒) แต่หน่วยงานกำกับดูแลดังกล่าวมิได้ตั้งอยู่ในประเทศที่มีมาตรการกำกับดูแลการจัดการลงทุนที่สำนักงาน ก.ล.ต. ยอมรับ ผู้ประกอบธุรกิจต้องได้รับอนุญาตในการมอบหมายงานให้แก่ผู้รับดำเนินการดังกล่าวจากสำนักงาน ก.ล.ต. ก่อนการมอบหมายงาน โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน ก.ล.ต. พร้อมเอกสารหลักฐานตามที่ระบุในคู่มือสำหรับประชาชน ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. จะพิจารณาคำขออนุญาตให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับคำขออนุญาตและเอกสารหลักฐานประกอบคำขออนุญาตที่ถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชน ข้อ ๑๗ ในการมอบหมายงานที่มิใช่งานที่มีผู้ให้บริการแบบรวมศูนย์ ผู้ประกอบธุรกิจต้องกำกับดูแลการมอบหมายงานอย่างน้อยในเรื่อง ดังต่อไปนี้ (๑) จัดให้มีการติดตามและทบทวนความเหมาะสมของการดำเนินการของผู้รับดำเนินการเป็นประจำ โดยอย่างน้อยต้องทบทวนทันทีเมื่อมีเหตุการณ์ใด ๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้ หรือคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้รับดำเนินการ ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้รับดำเนินการขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้าม หรือไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้รับดำเนินการอีกต่อไป ต้องเปลี่ยนตัวผู้รับดำเนินการ หรือดำเนินการอื่นใดตามความเหมาะสมโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญเพื่อให้ผู้รับดำเนินการปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศนี้หรือข้อกำหนดที่สำนักงาน ก.ล.ต. ออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศนี้ (๒) จัดทำสรุปการให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน เสนอต่อผู้บริหารที่รับผิดชอบสูงสุดในการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจ (๓) จัดเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจไว้ให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน โดยต้องจัดเก็บในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงาน ก.ล.ต. เรียกดูหรือตรวจสอบได้โดยไม่ชักช้า (๔) จัดให้สำนักงาน ก.ล.ต. เข้าตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้รับดำเนินการได้ เมื่อสำนักงาน ก.ล.ต. ร้องขอ หมวด ๓ เงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติในการมอบหมายงาน ข้อ ๑๘ ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีการทำสัญญามอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจเป็นลายลักษณ์อักษร โดยสัญญาดังกล่าวต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยในเรื่อง ดังต่อไปนี้ (๑) หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้รับดำเนินการ โดยต้องระบุรายละเอียดอย่างน้อยในเรื่องดังนี้ (ก) ความรับผิดต่อผู้ประกอบธุรกิจอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเลยการปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้รับดำเนินการ (ข) มาตรการที่สามารถรองรับการประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องของผู้รับดำเนินการ ซึ่งต้องครอบคลุมถึงงานที่รับดำเนินการให้ผู้ประกอบธุรกิจ (ค) การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล การรักษาความลับ และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจ และข้อมูลของลูกค้า (ง) การกำหนดให้ผู้รับดำเนินการต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดเกี่ยวกับงานที่ได้รับดำเนินการ รวมทั้งระเบียบวิธีปฏิบัติที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว (๒) ให้ผู้รับดำเนินการยินยอมให้สำนักงาน ก.ล.ต. เข้าตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้รับดำเนินการ เรียกดู หรือตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้ (๓) เหตุ เงื่อนไข และวิธีการ ในการเลิกสัญญาหรือระงับการดำเนินการ (๔) ค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายที่มีการเรียกเก็บ ในกรณีที่ผู้รับดำเนินการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการช่วง ผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการให้ผู้รับดำเนินการจัดให้มีข้อสัญญาซึ่งมีรายละเอียดตามที่กำหนดในวรรคหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีการมอบหมายงานกันกี่ทอดก็ตาม ข้อ ๑๙ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจมอบหมายงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเงินทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล สัญญาตามข้อ ๑๘ ต้องมีสาระสำคัญในเรื่องดังต่อไปนี้เพิ่มเติมด้วย (๑) ผู้ประกอบธุรกิจสามารถสั่งการและกำหนดแนวทางการดำเนินการแก่ผู้รับดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานที่มอบหมาย (๒) ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าตรวจสอบการดำเนินงานที่มอบหมายของผู้รับดำเนินการ เรียกดูหรือเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานที่มอบหมาย (๓) ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของผู้รับดำเนินการที่อาจทำให้การมอบหมายงานไม่เป็นไปตามนโยบายการให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการตามข้อ ๗ (๑) และข้อ ๘ หรืออาจมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสามารถหรือความมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายหรือการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดเกี่ยวกับงานที่รับดำเนินการ รวมทั้งระเบียบวิธีปฏิบัติที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ให้ผู้รับดำเนินการรายงานการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต่อผู้ประกอบธุรกิจโดยไม่ชักช้า (๔) ในกรณีที่การมอบหมายงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเงินทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวเป็นงานจัดการเงินทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลหรืองานบริหารความเสี่ยงในการลงทุน ให้ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้รับดำเนินการ ดังนี้ (ก) การกำหนดมาตรการที่สามารถรองรับการประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องตามข้อ ๑๘ (๑) (ข) ให้ครอบคลุมถึงการจัดให้มีศูนย์ปฏิบัติงานสำรอง (alternate site) และจัดให้มีการทดสอบความพร้อมของศูนย์ปฏิบัติงานสำรองดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ (ข) ในกรณีที่ผู้รับดำเนินการประสงค์จะมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการช่วงไม่ว่าในทอดใด ผู้รับดำเนินการต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนดำเนินการ ข้อ ๒๐ ในกรณีที่บริษัทในเครือของผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้ทำสัญญามอบหมายงานกับผู้รับดำเนินการเพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจต้องมั่นใจได้ว่าสัญญาดังกล่าวจะรองรับสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบที่ผู้รับดำเนินการมีต่อผู้ประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้ทำสัญญาด้วยตนเอง และผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์อย่างน้อย ดังต่อไปนี้ (๑) ดำเนินการให้บริษัทในเครือมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกผู้รับดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายซึ่งผู้ประกอบธุรกิจกำหนดไว้ตามข้อ ๘ (๒) (๒) ดำเนินการให้บริษัทในเครือกำหนดสาระสำคัญในสัญญาให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๘ รวมถึงข้อ ๑๙ แล้วแต่กรณี และเพิ่มเติมข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ไว้ในสัญญาด้วย (ก) ให้ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้รับประโยชน์ในงานที่บุคคลอื่นจะดำเนินการให้ (ข) ให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจากผู้รับดำเนินการได้ (๓) ตรวจสอบความถูกต้องของสัญญาให้เป็นไปตาม (๒) และจัดเก็บสำเนาสัญญาดังกล่าวให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน โดยต้องจัดเก็บในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงาน ก.ล.ต. เรียกดูหรือตรวจสอบได้โดยไม่ชักช้า ข้อ ๒๑ ให้ผู้ประกอบธุรกิจแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่มีการมอบหมายงานดังกล่าว และในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามแบบที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ในกรณีที่ผู้รับดำเนินการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการช่วงไม่ว่าจะมีการมอบหมายงานกันกี่ทอดก็ตาม ผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่มีการเริ่มการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ ตามแบบที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ข้อ ๒๒ ผู้ประกอบธุรกิจต้องรายงานสรุปการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจแล้ว ให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง ประกาศ ณ วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ พิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ธนบดี/จัดทำ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๔ สุภาทิพย์/ตรวจ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนพิเศษ ๓๐๓ ง/หน้า ๖๓/๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓
873725
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กลธ. 33/2563 เรื่อง การกำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 3)
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กลธ. ๓๓/๒๕๖๓ เรื่อง การกำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการและ ผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๓)[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ (๑) มาตรา ๒๘ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” ในข้อ ๒ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กลธ. ๑๘/๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน ““ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภท ดังต่อไปนี้ (๑) การเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๒) การเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๓) การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๔) การเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๕) การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี (๖) การเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล (๗) การเป็นผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซี (๘) การเป็นผู้จัดการเงินทุนโทเคนดิจิทัล (๙) การเป็นที่ปรึกษาคริปโทเคอร์เรนซี (๑๐) การเป็นที่ปรึกษาโทเคนดิจิทัล” ข้อ ๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๕) ของข้อ ๕ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กลธ. ๑๘/๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ “(๕) รับผิดชอบงานที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินลงทุนเพื่อแสวงหาประโยชน์ในสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อลูกค้า” ข้อ ๓ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ พิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ วิวรรธน์/จัดทำ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๔ สุภาทิพย์/ตรวจ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนพิเศษ ๓๐๓ ง/หน้า ๖๐/๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓
873721
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 32/2563 เรื่อง การกำหนดทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๓๒/๒๕๖๓ เรื่อง การกำหนดทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วของผู้ขอรับใบอนุญาต ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล[๑] อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๓ (๒) แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การอนุญาตการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ ลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๒๐/๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ข้อ ๒ ในประกาศนี้ “ผู้ขอรับใบอนุญาต” หมายความว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภท ดังต่อไปนี้ (๑) การเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๒) การเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๓) การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๔) การเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๕) การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี (๖) การเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล (๗) การเป็นผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซี (๘) การเป็นผู้จัดการเงินทุนโทเคนดิจิทัล (๙) การเป็นที่ปรึกษาคริปโทเคอร์เรนซี (๑๐) การเป็นที่ปรึกษาโทเคนดิจิทัล “ผู้ลงทุนสถาบัน” หมายความว่า ผู้ลงทุนสถาบันตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษและผู้ลงทุนรายใหญ่ ข้อ ๓ ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตมีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่น้อยกว่าจำนวน ดังต่อไปนี้ (๑) ๕๐ ล้านบาท สำหรับการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๒) ๒๕ ล้านบาท สำหรับกรณี ดังนี้ (ก) การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล (ข) การเป็นผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซีหรือผู้จัดการเงินทุนโทเคนดิจิทัลที่ให้บริการผู้ลงทุนประเภทอื่นนอกจากผู้ลงทุนสถาบัน หรือมีการเก็บรักษาทรัพย์สินลูกค้าไว้ในความครอบครอง (๓) ๑๐ ล้านบาท สำหรับกรณี ดังนี้ (ก) การเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล กรณีที่ไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครองหรือหากมีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครองแต่ไม่สามารถเข้าถึงหรือโอนทรัพย์สินของลูกค้าออกไปได้ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกค้าเป็นรายครั้ง (ข) การเป็นผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซีหรือผู้จัดการเงินทุนโทเคนดิจิทัลที่ให้บริการเฉพาะกับผู้ลงทุนสถาบันและไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินลูกค้าไว้ในความครอบครอง (๔) ๕ ล้านบาท สำหรับกรณี ดังนี้ (ก) การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล (ข) การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัลกรณีที่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครองแต่ไม่สามารถเข้าถึงหรือโอนทรัพย์สินของลูกค้าออกไปได้ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกค้าเป็นรายครั้ง (๕) ๑ ล้านบาท สำหรับกรณี ดังนี้ (ก) การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล กรณีที่ไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครอง (ข) การเป็นที่ปรึกษาคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นที่ปรึกษาโทเคนดิจิทัล ข้อ ๔ ในกรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหลายประเภท ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตมีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่น้อยกว่าจำนวนที่กำหนดไว้สำหรับประเภทที่กำหนดสูงสุด ข้อ ๕ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ พิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ธนบดี/จัดทำ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๔ สุภาทิพย์/ตรวจ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนพิเศษ ๓๐๓ ง/หน้า ๕๘/๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓
873717
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กม. 31/2563 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่ได้รับใบอนุญาต
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กม. ๓๑/๒๕๖๓ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัลตามที่ได้รับใบอนุญาต[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ และมาตรา ๑๐ (๒) แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิก (๑) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กม. ๑๗/๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่ได้รับใบอนุญาต ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ (๒) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กม. ๒๔/๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่ได้รับใบอนุญาต (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ข้อ ๒ ในประกาศนี้ “ผู้ได้รับใบอนุญาต” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภท ดังต่อไปนี้ (๑) การเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๒) การเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๓) การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๔) การเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๕) การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี (๖) การเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล (๗) การเป็นผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซี (๘) การเป็นผู้จัดการเงินทุนโทเคนดิจิทัล (๙) การเป็นที่ปรึกษาคริปโทเคอร์เรนซี (๑๐) การเป็นที่ปรึกษาโทเคนดิจิทัล “ค่าธรรมเนียม” หมายความว่า ค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาต ข้อ ๓ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้และมีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมเฉพาะเมื่อได้รับอนุญาตให้เริ่มประกอบธุรกิจแล้ว ข้อ ๔ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประเภทการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี หรือการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ ๐.๐๐๒ โดยคำนวณจากมูลค่าการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายดังกล่าวแต่สูงสุดไม่เกินปีละ ๒๐ ล้านบาท ในกรณีที่อัตราค่าธรรมเนียมที่คำนวณได้ตามวรรคหนึ่งมีจำนวนน้อยกว่า ๕๐๐,๐๐๐ บาท ให้ชำระค่าธรรมเนียมขั้นต่ำปีละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท ข้อ ๕ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี หรือการเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ ๐.๐๐๑ โดยคำนวณจากมูลค่าการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนเพื่อบัญชีลูกค้าหรือเพื่อบัญชีตนเอง แต่สูงสุดไม่เกินปีละ ๑๐ ล้านบาท ในกรณีที่อัตราค่าธรรมเนียมที่คำนวณได้ตามวรรคหนึ่งมีจำนวนน้อยกว่า ๒๕๐,๐๐๐ บาท ให้ชำระค่าธรรมเนียมขั้นต่ำปีละ ๒๕๐,๐๐๐ บาท ข้อ ๖ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประเภทการเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ ๑ โดยคํานวณจากกําไร (capital gain) ที่เกิดจากการค้าสินทรัพย์ดิจิทัล แต่สูงสุดไม่เกินปีละ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ในกรณีที่อัตราค่าธรรมเนียมที่คำนวณได้ตามวรรคหนึ่งมีจำนวนน้อยกว่า ๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้ชำระค่าธรรมเนียมขั้นต่ำปีละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ข้อ ๗ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประเภทการเป็นผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นผู้จัดการเงินทุนโทเคนดิจิทัล ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ ๐.๐๐๑ ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการในรอบปีปฏิทิน แต่สูงสุดไม่เกินปีละ ๑๐ ล้านบาท โดยนำมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการ ณ สิ้นวันทำการสุดท้ายของแต่ละเดือนมาถัวเฉลี่ย กรณีที่ไม่สามารถคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ สิ้นวันทำการสุดท้ายของเดือน ให้ใช้ข้อมูลมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันสุดท้ายของแต่ละเดือนมาถัวเฉลี่ย ในกรณีที่อัตราค่าธรรมเนียมที่คำนวณได้ตามวรรคหนึ่งมีจำนวนน้อยกว่า ๒๕๐,๐๐๐ บาท ให้ชำระค่าธรรมเนียมขั้นต่ำปีละ ๒๕๐,๐๐๐ บาท ข้อ ๘ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประเภทการเป็นที่ปรึกษาคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นที่ปรึกษาโทเคนดิจิทัล ชำระอัตราค่าธรรมเนียมคงที่สำหรับการประกอบธุรกิจดังกล่าว ปีละ ๒๕,๐๐๐ บาท ข้อ ๙ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตมีการประกอบธุรกิจไม่เต็มปีปฏิทิน ให้การคำนวณอัตราค่าธรรมเนียมขั้นต่ำตามข้อ ๔ ข้อ ๕ ข้อ ๖ ข้อ ๗ หรืออัตราค่าธรรมเนียมคงที่ตามข้อ ๘ เป็นไปตามสัดส่วนจำนวนเดือนที่มีการประกอบธุรกิจ (monthly pro - rate) ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีที่ถูกสำนักงาน ก.ล.ต. เพิกถอนใบอนุญาต หรือสั่งระงับการดำเนินกิจการ ข้อ ๑๐ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประเภทการเป็นที่ปรึกษาคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นที่ปรึกษาโทเคนดิจิทัลไม่ว่าจะประกอบธุรกิจอื่นด้วยหรือไม่ก็ตาม ชำระค่าธรรมเนียมตามข้อ ๘ หรือข้อ ๙ ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายในวันที่ ๓๑ มกราคมของปีนั้น เว้นแต่ในกรณีการเริ่มประกอบกิจการหรือการกลับมาเริ่มประกอบกิจการ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมคงที่ในวันที่เริ่มประกอบกิจการ หรือวันที่กลับมาเริ่มประกอบกิจการ แล้วแต่กรณี (๒) ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตตามข้อ ๔ ข้อ ๕ ข้อ ๖ และข้อ ๗ ชำระค่าธรรมเนียมต่อสำนักงาน ก.ล.ต. โดยให้แบ่งชำระเป็น ๒ งวด ดังนี้ (ก) งวดแรก ให้ชำระค่าธรรมเนียมขั้นต่ำตามข้อ ๔ ข้อ ๕ ข้อ ๖ ข้อ ๗ หรือข้อ ๙ ภายในวันที่ ๓๑ มกราคมของปีนั้น เว้นแต่ในกรณีการเริ่มประกอบกิจการหรือการกลับมาเริ่มประกอบกิจการ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมขั้นต่ำในวันที่เริ่มประกอบกิจการ หรือวันที่กลับมาเริ่มประกอบกิจการ แล้วแต่กรณี (ข) งวดที่สอง ให้ชำระค่าธรรมเนียมส่วนที่เกินกว่าค่าธรรมเนียมตาม (ก) ภายในวันที่ ๓๑ มกราคมของปีถัดไป ข้อ ๑๑ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตมีการประกอบธุรกิจหลายประเภท ให้ชำระค่าธรรมเนียมตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีของค่าธรรมเนียมตามข้อ ๔ ข้อ ๕ ข้อ ๖ หรือข้อ ๗ (๑) ให้ชำระค่าธรรมเนียมงวดแรกในอัตราค่าธรรมเนียมขั้นต่ำสำหรับการประกอบธุรกิจประเภทใดประเภทหนึ่งที่มีอัตราสูงที่สุด ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเริ่มประกอบธุรกิจแต่ละประเภทไม่พร้อมกัน ให้ชำระค่าธรรมเนียมงวดแรกในอัตราค่าธรรมเนียมขั้นต่ำที่สูงที่สุดซึ่งคำนวณตามสัดส่วนจำนวนเดือนที่มีการประกอบธุรกิจ (monthly pro - rate) (๒) ให้ชำระค่าธรรมเนียมงวดที่สองตามรายประเภทธุรกิจรวมกัน และนำมาหักออกจากค่าธรรมเนียมขั้นต่ำที่ได้ชำระต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ไว้ก่อนแล้ว ข้อ ๑๒ ในการคำนวณอัตราค่าธรรมเนียมที่เป็นไปตามสัดส่วนจำนวนเดือนที่มีการประกอบธุรกิจ (monthly pro - rate) หากผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจไม่เต็มเดือน ให้คำนวณอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าวเต็มเดือน ข้อ ๑๓ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตที่ประกอบธุรกิจไม่เต็มปีปฏิทิน มีการชำระค่าธรรมเนียมเกินกว่าอัตราที่กำหนดไว้ตามข้อ ๙ ให้ขอรับคืนค่าธรรมเนียมที่ชำระไว้เกินนั้นภายในวันที่ ๓๑ มกราคมของปีถัดไป ข้อ ๑๔ ในกรณีที่มีการเลิกประกอบกิจการหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมส่วนที่ยังไม่ได้ชำระหรือยังคงค้างอยู่ภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่รัฐมนตรีอนุญาตให้เลิกประกอบกิจการหรือวันที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนใบอนุญาต แล้วแต่กรณี ข้อ ๑๕ ในการยื่นชำระค่าธรรมเนียมหรือขอรับคืนค่าธรรมเนียมตามประกาศนี้ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดทำและยื่นรายละเอียดรายงานการชำระค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาตต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามแบบและวิธีการที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ข้อ ๑๖ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าธรรมเนียมรายปี ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตคำนวณมูลค่าการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินบาททุกรายการ ข้อ ๑๗ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ พิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ธนบดี/จัดทำ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๔ สุภาทิพย์/ตรวจ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนพิเศษ ๓๐๓ ง/หน้า ๕๔/๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓
873713
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 30/2563 เรื่อง การกำหนดลักษณะการให้คำแนะนำแก่ประชาชนที่ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๓๐/๒๕๖๓ เรื่อง การกำหนดลักษณะการให้คำแนะนำแก่ประชาชน ที่ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทการเป็นที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล[๑] อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๓ แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดกิจการอื่นที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลให้เป็นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๖๓ ลงวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในประกาศนี้ “การให้คำแนะนำ” หมายความว่า การให้คำแนะนำแก่ประชาชนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกี่ยวกับคุณค่าของคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล หรือความเหมาะสมในการลงทุนที่เกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลนั้น หรือที่เกี่ยวกับการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลใด ๆ ข้อ ๒ การให้คำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จำกัดเฉพาะคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลที่ออกและดำเนินการโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๓ การให้คำแนะนำเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (๑) การให้คำแนะนำเกี่ยวกับโทเคนดิจิทัลซึ่งมีลักษณะที่ครบถ้วน ดังนี้ (ก) โทเคนดิจิทัลที่มีการกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการที่เฉพาะเจาะจงหรือที่มีการกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าว (ข) สินค้าหรือบริการตาม (ก) พร้อมที่จะให้ผู้ถือใช้ประโยชน์ได้ทันทีตั้งแต่มีการให้คำแนะนำ (๒) การให้คำแนะนำเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลที่ผู้ออกกำหนดมูลค่าไว้กับสกุลเงินบาทในอัตราคงที่และผู้ออกมีกลไกที่ชัดเจนในการคงมูลค่าที่กำหนดไว้ดังกล่าว ข้อ ๔ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ พิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ธนบดี/จัดทำ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๔ สุภาทิพย์/ตรวจ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนพิเศษ ๓๐๓ ง/หน้า ๕๓/๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓
873711
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 29/2563 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 7)
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๒๙/๒๕๖๓ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๗)[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ (๑) มาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” ในข้อ ๒ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน ““ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภท ดังต่อไปนี้ (๑) การเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๒) การเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๓) การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๔) การเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๕) การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี (๖) การเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล (๗) การเป็นผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซี (๘) การเป็นผู้จัดการเงินทุนโทเคนดิจิทัล (๙) การเป็นที่ปรึกษาคริปโทเคอร์เรนซี (๑๐) การเป็นที่ปรึกษาโทเคนดิจิทัล” ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความในข้อ ๖ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๖ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประสงค์จะประกอบกิจการอื่นนอกเหนือจากการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะดำเนินการได้ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) เป็นการประกอบกิจการที่มีลักษณะครบถ้วน ดังนี้ (ก) เป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่อง เป็นประโยชน์ หรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ข) ไม่มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เว้นแต่จะแสดงได้ว่าสามารถจัดให้มีระบบในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในเรื่องดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ค) เป็นกิจการที่ไม่มีความเสี่ยงต่อทรัพย์สินของลูกค้า ฐานะของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือเป็นกิจการที่อาจมีความเสี่ยงดังกล่าว แต่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถจัดให้มีระบบในการควบคุมความเสี่ยงได้อย่างเพียงพอ (๒) ในกรณีอื่นนอกจาก (๑) ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะดำเนินการได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. เป็นรายกรณี” ข้อ ๓ ให้ยกเลิกข้อ ๗ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ข้อ ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ ๗/๓ ในหมวด ๑ บททั่วไป แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ “ข้อ ๗/๓ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประสงค์จะไม่ประกอบธุรกิจหรือหยุดประกอบธุรกิจเป็นการชั่วคราว ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะดำเนินการได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ในการพิจารณาอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงาน ก.ล.ต. อนุญาตเมื่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลแสดงได้ว่ามีการเตรียมความพร้อมเพื่อคืนทรัพย์สินให้แก่ลูกค้า หรือเก็บรักษาไว้ในระบบที่มั่นคงปลอดภัยและไม่ได้รับผลกระทบในระหว่างการหยุดประกอบธุรกิจเป็นการชั่วคราว ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่งสำหรับธุรกิจทุกประเภทรายงานจำนวนทรัพย์สินของลูกค้าที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเก็บรักษาไว้ให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบเป็นรายวัน โดยให้ได้รับยกเว้นการเก็บรวบรวมและเปิดเผยข้อมูลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามข้อ ๗/๑” ข้อ ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๑/๑ การประกอบธุรกิจในฐานะผู้มีวิชาชีพ ข้อ ๗/๔ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ “หมวด ๑/๑ การประกอบธุรกิจในฐานะผู้มีวิชาชีพ ข้อ ๗/๔ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน ดังต่อไปนี้ (๑) ประกอบธุรกิจและให้บริการแก่ลูกค้าด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และใช้ความรู้ความสามารถและความชำนาญ ด้วยความเอาใจใส่และระมัดระวังตามมาตรฐานหรือเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพในลักษณะเดียวกันจะพึงกระทำ (๒) ให้บริการอย่างมีคุณภาพ และปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกันโดยคำนึงถึงประเภท ลักษณะ และเงื่อนไขของลูกค้า (๓) ไม่กระทำการใดที่จะเป็นผลให้ลูกค้าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อจำกัดหรือหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตามที่ลูกค้าแจ้งว่ามีข้อจำกัดหรือมีหน้าที่ตามกฎหมายนั้น (๔) ไม่รับหรือให้ค่าตอบแทนหรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าในรูปเงิน สิ่งของ หรือบริการยิ่งกว่าค่าตอบแทนหรือประโยชน์ปกติที่พึงได้รับหรือให้เนื่องจากการประกอบธุรกิจ” ข้อ ๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของข้อ ๘ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ “ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงระบบงานที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญดังต่อไปนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรายงานการเปลี่ยนแปลงระบบงานดังกล่าวต่อสำนักงาน ก.ล.ต. โดยไม่ชักช้า (๑) ระบบการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และระบบชำระราคาและส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัล (๒) ระบบการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า ซึ่งรวมถึงระบบรับฝากและถอนทรัพย์สินทั้งที่เป็นเงินและสินทรัพย์ดิจิทัล (๓) ระบบงานที่ช่วยเสริมสร้างและรักษากลไกการทำงานของระบบซื้อขายให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย (๔) ระบบงานที่รองรับการรวบรวมและประเมินข้อมูลของลูกค้า” ข้อ ๗ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (ค) ใน (๖) ของข้อ ๙ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ “(ค) ในกรณีที่เป็นการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากการสูญหาย การทุจริต และการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ โดยอย่างน้อยต้องเป็นไปตามข้อ ๑๐/๔” ข้อ ๘ ให้ยกเลิกความใน (๑๐) ของข้อ ๙ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๑๐) ระบบงานในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (compliance) ให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการจัดให้มีหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” ข้อ ๙ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ ๑๐/๑ ข้อ ๑๐/๒ ข้อ ๑๐/๓ ข้อ ๑๐/๔ และข้อ ๑๐/๕ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ “ข้อ ๑๐/๑ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประสงค์จะจัดให้มีผู้แนะนำรายชื่อลูกค้า (introducing broker agent) ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะดำเนินการได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดขอบเขตและหน้าที่ของผู้แนะนำรายชื่อลูกค้าไว้อย่างชัดเจน โดยต้องไม่ปฏิบัติงานซึ่งเป็นธุรกิจหลักของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในเรื่อง ดังนี้ (ก) พิจารณาวงเงินการใช้บริการ หรืออนุมัติการเปิดบัญชีเพื่อการใช้บริการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ข) ให้คำแนะนำในการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (ค) รับคำสั่งซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลจากลูกค้า (ง) รับจัดการหรือเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า (๒) จัดให้มีมาตรการในการกำกับดูแล ตรวจสอบ และควบคุมการดำเนินงานของผู้แนะนำรายชื่อลูกค้าในการทำหน้าที่ตามขอบเขตที่กำหนด รวมถึงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ด้วยความถูกต้อง ตรงต่อความเป็นจริง และไม่ทำให้ลูกค้าสำคัญผิด (๓) กำหนดและเปิดเผยอัตราและวิธีการคำนวณการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้แนะนำรายชื่อลูกค้าไว้อย่างชัดเจน (ถ้ามี) เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาตามข้อนี้ ให้คำว่า “ผู้แนะนำรายชื่อลูกค้า” หมายความว่า บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่แนะนำรายชื่อลูกค้าให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการใช้บริการอันเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือทำหน้าที่ติดต่อชักชวนให้ลูกค้ามาใช้บริการอันเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งนี้ ไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนสำหรับการแนะนำรายชื่อลูกค้าหรือการติดต่อชักชวนลูกค้านั้นหรือไม่ ข้อ ๑๐/๒ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่แต่งตั้งผู้แนะนำรายชื่อลูกค้าตามข้อ ๑๐/๑ มีหน้าที่รายงานการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แนะนำรายชื่อลูกค้าให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบเป็นรายไตรมาส ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ข้อ ๑๐/๓ ในการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องแยกทรัพย์สินที่อยู่ในการดูแลรักษาไว้ในลักษณะ ดังต่อไปนี้ (๑) ทรัพย์สินประเภทเงิน ให้ฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารอื่นที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นโดยต้องระบุอย่างชัดเจนในบัญชีเงินฝากว่าเป็นการดำเนินการโดยผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อประโยชน์ของลูกค้า (๒) ทรัพย์สินประเภทสินทรัพย์ดิจิทัล หรือทรัพย์สินอื่น ให้แยกในลักษณะที่สามารถชี้เฉพาะได้ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินของลูกค้าโดยปราศจากเหตุสงสัย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเก็บรักษาโดยผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือนำไปฝากไว้กับบุคคลอื่น ในกรณีที่ทรัพย์สินของลูกค้าตามวรรคหนึ่ง เป็นทรัพย์สินเพื่อการทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลแยกทรัพย์สินดังกล่าวในลักษณะตามวรรคหนึ่ง (๑) หรือ (๒) โดยอนุโลม ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงการนำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปฝากไว้กับบุคคลอื่น และเปิดเผยความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการฝากดังกล่าวให้ลูกค้าทราบ ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยังต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่อาจเกิดจากการสูญหายหรือเสียหายจากการฝากสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว ข้อ ๑๐/๔ ในการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องเก็บไว้ในระบบที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายเมื่อทำธุรกรรมเท่านั้น (cold wallet) ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๙๐ ของมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าทั้งหมดที่เก็บรักษาไว้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) จัดให้มีระบบที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายเมื่อทำธุรกรรมเท่านั้นที่กำหนดให้การโอนสินทรัพย์ดิจิทัลกระทำโดยบุคคลที่ได้รับมอบหมายร่วมกันยืนยันตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ทั้งนี้ บุคคลที่ได้รับมอบหมายดังกล่าวต้องไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังนี้ (ก) บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือบุตรบุญธรรม (ข) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือพี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน (ค) คู่สมรสหรือผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา หรือคู่สมรสหรือผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาของบุคคลตาม (ก) หรือ (ข) (๒) เมื่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าตั้งแต่ ๑๕ ล้านบาทขึ้นไปเป็นระยะเวลา ๕ วันติดต่อกัน ให้นำสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งต้องเก็บไว้ในระบบที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายเมื่อทำธุรกรรมเท่านั้นไปฝากไว้กับผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อ ๑๐/๕ ภายใน ๔๕ วันนับแต่วันที่มีการเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลในลักษณะดังกล่าว เว้นแต่สินทรัพย์ดิจิทัลนั้นไม่มีผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนำสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวไปเก็บไว้ในระบบที่มีลักษณะตาม (๑) เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการสินทรัพย์ดิจิทัล ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประสงค์จะนำสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งมีผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลตามวรรคหนึ่ง (๒) บางส่วนไปเก็บไว้ในระบบที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง (๑) ให้สามารถกระทำได้ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินร้อยละ ๑๐ ของมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดของลูกค้า ข้อ ๑๐/๕ ผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลตามข้อ ๑๐/๔ วรรคหนึ่ง (๒) ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ (๑) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศที่ผู้ให้บริการนั้นมีสถานประกอบการตั้งอยู่ (๒) มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ ความพร้อม และได้รับการยอมรับในการให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (๓) มีระบบงานและมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (๔) มีมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (cybersecurity) ที่มีประสิทธิภาพ (๕) มีการแยกสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ใช้บริการแต่ละรายออกจากสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (๖) มีระบบถ่วงดุลหรือมาตรการควบคุมการโอนสินทรัพย์ดิจิทัล โดยอย่างน้อยต้องกำหนดให้การโอนสินทรัพย์ดิจิทัลกระทำโดยบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปร่วมกันยืนยันการทำธุรกรรม โดยบุคคลดังกล่าวต้องไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันในลักษณะใดลักษณะหนึ่งตามข้อ ๑๐/๔ วรรคหนึ่ง (๑) รวมทั้งมีการเก็บหรือขอหลักฐานเพื่อยืนยันการทำธุรกรรมจากผู้สั่งการโอนสินทรัพย์ดิจิทัล เมื่อเป็นการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีปริมาณมากอย่างมีนัยสำคัญ (๗) มีระบบที่สามารถรองรับการกำหนดเงื่อนไขในการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลเกี่ยวกับขนาดธุรกรรมหรือการจำกัดปริมาณธุรกรรม ณ ช่วงเวลาใด ได้ตามความประสงค์ของผู้ใช้บริการ (๘) ไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีฐานะทางการเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือมีพฤติการณ์อื่นที่แสดงให้เห็นว่าอยู่ในระหว่างประสบปัญหาทางการเงิน (๙) ไม่มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าขาดการกำกับดูแลกิจการที่ดี (๑๐) ไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ากรรมการหรือผู้บริหารมีประวัติการถูกลงโทษหรือถูกดำเนินการ หรืออยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษหรือถูกดำเนินการในลักษณะที่เป็นการหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน ในกรณีที่ผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลมีการตั้งตัวแทนช่วง ตัวแทนช่วงนั้นต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามวรรคหนึ่งด้วย” ข้อ ๑๐ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ ๑๑/๑ ในหมวด ๒ โครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน และบุคลากร แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ “ข้อ ๑๑/๑ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งานระบบสารสนเทศร่วมกันบนระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลตามความต้องการของผู้ใช้งาน (cloud computing) ดังต่อไปนี้ ให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต. ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยให้จัดส่งข้อมูลในรูปแบบที่สามารถอ่านได้ (readable format) ทั้งนี้ เมื่อได้รับการร้องขอจากสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นครั้งคราว (๑) ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของผู้ให้บริการระบบสารสนเทศร่วมกันบนระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลตามความต้องการของผู้ใช้งาน (cloud computing provider) (๒) ข้อมูลการเข้าใช้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (๓) ข้อมูลที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเก็บไว้หรือประมวลผลโดยผู้ให้บริการตาม (๑)” ข้อ ๑๑ ให้ยกเลิกชื่อหมวด ๓ การคำนวณและรายงานการคำนวณเงินกองทุน และความในข้อ ๑๒ ถึงข้อ ๑๖ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๒๗/๒๕๖๓ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๖) ลงวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “หมวด ๓ การดำรงเงินกองทุน และการดำเนินการ กรณีที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุน ข้อ ๑๒ ในหมวดนี้และภาคผนวกท้ายประกาศนี้ “ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล “นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล “ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล “ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นผู้จัดการเงินทุนโทเคนดิจิทัล “ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นที่ปรึกษาคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นที่ปรึกษาโทเคนดิจิทัล “ดำรงเงินกองทุน” หมายความว่า ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ส่วนของผู้ถือหุ้น หรือกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดที่เกิดขึ้นจากการประกอบวิชาชีพ แล้วแต่กรณี “ดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC - 1” หมายความว่า ดำรงเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกลุ่ม ๑ ของภาคผนวกการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลท้ายประกาศนี้ “ดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC - 2” หมายความว่า ดำรงเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกลุ่ม ๒ ของภาคผนวกการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลท้ายประกาศนี้ “ดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC - 3” หมายความว่า ดำรงเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกลุ่ม ๓ ของภาคผนวกการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลท้ายประกาศนี้ “เงินกองทุนขั้นต้น” หมายความว่า เงินกองทุนขั้นต้นตามที่กำหนดในกลุ่ม ๒ ของภาคผนวกการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลท้ายประกาศนี้ “เงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความรับผิดจากการปฏิบัติงาน” หมายความว่า เงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความรับผิดจากการปฏิบัติงานตามที่กำหนดในกลุ่ม ๒ ของภาคผนวกการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลท้ายประกาศนี้ “เงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความต่อเนื่องของธุรกิจ” หมายความว่า เงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความต่อเนื่องของธุรกิจตามที่กำหนดในกลุ่ม ๒ ของภาคผนวกการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลท้ายประกาศนี้ “เงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก” หมายความว่า ทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้ (๑) เงินฝาก บัตรเงินฝาก ใบรับฝากเงิน หรือตราสารอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกับเงินฝาก (๒) ข้อตกลงที่เป็นไปตามหลักชะรีอะฮ์ (Shariah) และมีลักษณะที่เทียบเคียงได้กับเงินฝาก โดยคู่สัญญาที่เทียบเคียงได้กับผู้ฝากสามารถเรียกคืนเงินต้นจากคู่สัญญาฝ่ายที่เทียบเคียงได้กับผู้รับฝากได้เต็มจำนวน ณ เวลาใด ๆ (๓) สลากออมทรัพย์ที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (๔) สลากออมสินพิเศษที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารออมสิน ข้อ ๑๓ ความในหมวดนี้มิให้ใช้บังคับกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ดังต่อไปนี้ (๑) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน (๒) บริษัทประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต (๓) บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งมีหน้าที่ต้องดำรงเงินกองทุนตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจ (๔) ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลที่มิได้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น และมีหน้าที่ต้องดำรงเงินกองทุนตามประกาศใดประกาศหนึ่ง ดังนี้ (ก) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจการจัดการกองทุนรวม การจัดการกองทุนส่วนบุคคล การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และการค้าหลักทรัพย์และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน และการเป็นผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ข) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนและที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ข้อ ๑๔ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ ๑๕ และข้อ ๑๖ (๑) ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ยังไม่เริ่มประกอบธุรกิจ เนื่องจากอยู่ระหว่างสำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจสอบความพร้อมก่อนเริ่มประกอบธุรกิจ (๒) ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ประกอบธุรกิจหรือหยุดประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภทเป็นการชั่วคราว และได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจเรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามวรรคหนึ่ง ส่งเอกสารหรือรายงานที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาความสามารถในการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในระยะเวลาดังกล่าวได้ตามที่เห็นสมควร ส่วนที่ ๑ การดำรงเงินกองทุน ข้อ ๑๕ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC - 1 เว้นแต่เป็นกรณีดังต่อไปนี้ (๑) ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครองซึ่งมีลักษณะดังนี้ ให้ดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC - 2 (ก) ไม่มีการประกอบธุรกิจอื่น หรือหากมีการประกอบธุรกิจอื่นต้องไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครอง (ข) เป็นนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครองแต่ไม่สามารถเข้าถึงหรือโอนทรัพย์สินของลูกค้าออกไปได้ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกค้าเป็นรายครั้ง ทั้งนี้ หากมีการประกอบธุรกิจอื่นต้องไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครอง (๒) ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น และไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครองไม่ว่าจะเกิดจากการประกอบธุรกิจประเภทใด ให้ดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC - 3 (๓) ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครอง และมีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างหนึ่งอย่างใดดังนี้ร่วมด้วย ให้ดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC - 1 และดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC - 3 ด้วย (ก) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครอง แต่ไม่สามารถเข้าถึงหรือโอนทรัพย์สินของลูกค้าออกไปได้ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกค้าเป็นรายครั้ง (ข) ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นที่ไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครอง แต่ไม่รวมถึงผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ในการดำรงเงินกองทุนตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดำเนินการโดยครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กำหนดในภาคผนวกการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลท้ายประกาศนี้ ข้อ ๑๖ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลคำนวณและจัดทำรายงานการคำนวณเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ส่วนที่ ๒ การดำเนินการกรณีที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุน ตอนที่ ๑ การดำเนินการกรณีที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC - 1 ข้อ ๑๖/๑ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีหน้าที่ต้องดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC - 1 และไม่สามารถดำรงเงินกองทุนดังกล่าว ดำเนินการดังต่อไปนี้ (๑) ระงับการประกอบธุรกิจทุกประเภทจนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนได้ และได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ (๒) แจ้งให้ลูกค้าทราบเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับการระงับการดำเนินธุรกิจทุกประเภทโดยไม่ชักช้า (๓) กระทำการหรืองดเว้นการกระทำอื่นใดตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ ตอนที่ ๒ การดำเนินการกรณีที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC - 2 ข้อ ๑๖/๒ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีหน้าที่ต้องดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC - 2 และไม่สามารถดำรงเงินกองทุนในส่วนที่เป็นเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความรับผิดจากการปฏิบัติงาน ดำเนินการดังต่อไปนี้ (๑) มีหนังสือแจ้งการไม่สามารถดำรงเงินกองทุนพร้อมด้วยสาเหตุ โดยยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายในวันทำการถัดจากวันที่รู้หรือควรรู้ว่าไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ (๒) จัดส่งแผนหรือแนวทางแก้ไขต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน ๗ วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ว่าไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ เว้นแต่ก่อนครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวสามารถแก้ไขจนสามารถดำรงเงินกองทุนได้ ให้จัดส่งรายงานการแก้ไขดังกล่าวให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบภายในวันทำการถัดจากวันที่สามารถแก้ไขเงินกองทุนได้แทนการจัดส่งแผนหรือแนวทางแก้ไขนั้น ในกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควร ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอาจขอผ่อนผันระยะเวลาในการจัดส่งแผนหรือแนวทางแก้ไขต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ ทั้งนี้ ตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดในคู่มือสำหรับประชาชน (๓) ดำเนินการตามแผนหรือแนวทางดังกล่าวเพื่อให้สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้โดยเร็ว และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดในแผนหรือแนวทางนั้นซึ่งต้องไม่เกินกว่า ๓๐ วันนับแต่วันที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ (๔) มีหนังสือแจ้งผลการดำเนินการให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบภายในวันทำการถัดจากวันที่สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ (๕) ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ภายในระยะเวลาตาม (๓) ให้ดำเนินการตามข้อ ๑๖/๔ โดยอนุโลม ข้อ ๑๖/๓ ในระหว่างที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่สามารถดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความรับผิดจากการปฏิบัติงาน หรืออยู่ในระหว่างดำเนินการตามข้อ ๑๖/๒ (๓) ห้ามมิให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ จนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนได้ (๑) ให้บริการแก่ลูกค้ารายใหม่ (๒) ลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มเติม เว้นแต่เป็นการลงทุนในทรัพย์สิน ดังนี้ (ก) เงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก (ข) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงินที่ไม่มีการลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับต่างประเทศ โดยต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการบริหารสภาพคล่องของผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น (ค) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลดความเสี่ยง (๓) ในกรณีเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ห้ามรับจัดการเงินทุนของลูกค้าเพิ่มเติม ข้อ ๑๖/๔ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนขั้นต้นหรือเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความต่อเนื่องของธุรกิจ หรือไม่สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความรับผิดจากการปฏิบัติงาน ตามระยะเวลาที่กำหนดในแผนหรือแนวทางตามข้อ ๑๖/๒ (๓) หรือระยะเวลาที่ได้รับการผ่อนผันตามข้อ ๑๖/๕ หรือไม่สามารถดำรงฐานะทางการเงินตามกฎหมายอื่นที่กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวจนเป็นเหตุให้ต้องระงับการประกอบธุรกิจ ดำเนินการดังต่อไปนี้ (๑) ระงับการประกอบธุรกิจในประเภทที่เกี่ยวข้องกับการดำรงเงินกองทุนจนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนหรือฐานะทางการเงินดังกล่าวได้ และได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ตามปกติ เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามความจำเป็นและสมควรเพื่อป้องกันมิให้มูลค่าทรัพย์สินซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารจัดการได้รับความเสียหาย หรือการใช้สิทธิเพื่อประโยชน์ของลูกค้าในฐานะที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ลงทุน (๒) แจ้งการไม่สามารถดำรงเงินกองทุนหรือฐานะทางการเงิน พร้อมด้วยสาเหตุและการระงับการประกอบธุรกิจตาม (๑) เป็นลายลักษณ์อักษรให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต. และลูกค้า ภายในวันทำการถัดจากวันที่รู้หรือควรรู้ว่าไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ (๓) ในกรณีเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ให้ติดต่อลูกค้าโดยเร็วเพื่อสอบถามความประสงค์ของลูกค้าว่าจะให้จัดการทรัพย์สินของลูกค้าอย่างไร ระหว่างวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ ทั้งนี้ หากมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากการดำเนินการ ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลรายเดิมต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว (ก) เปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเพื่อให้ลูกค้ามีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นโดยตรง (ข) ให้ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลรายเดิมดำเนินการเพื่อให้ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลรายอื่นเข้าจัดการทรัพย์สินได้ ในกรณีที่ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลรายเดิมไม่สามารถติดต่อลูกค้าได้ ให้ดำเนินการตาม (๓) วรรคหนึ่ง (ก) ให้ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลรายเดิมดำเนินการจัดการทรัพย์สินของลูกค้าตามวิธีการใน (๓) วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี ให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ว่าไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ ให้ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลรายเดิมแจ้งการดำเนินการตาม (๓) วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม เป็นลายลักษณ์อักษรต่อลูกค้าโดยไม่ชักช้า (๔) กระทำการหรืองดเว้นการกระทำอื่นใดตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ ข้อ ๑๖/๕ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถขอผ่อนผันระยะเวลาในการดำเนินการตามข้อ ๑๖/๒ (๓) ได้ตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดในคู่มือสำหรับประชาชนโดยต้องยื่นคำขอต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๑๐ วันก่อนครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ โดยให้สำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณาผ่อนผันได้เมื่อมีเหตุจำเป็นและสมควร ตอนที่ ๓ การดำเนินการกรณีที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC - 3 ข้อ ๑๖/๖ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีหน้าที่ต้องดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC - 3 และไม่สามารถดำรงเงินกองทุนดังกล่าว ดำเนินการดังต่อไปนี้ (๑) มีหนังสือแจ้งการไม่สามารถดำรงเงินกองทุนพร้อมด้วยสาเหตุ โดยยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน ๒ วันทำการนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ว่าไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ (๒) จัดส่งแผนหรือแนวทางแก้ไขต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน ๑๐ วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ว่าไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ เว้นแต่ก่อนครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวสามารถแก้ไขเงินกองทุนได้ติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๕ วันทำการ (๓) ดำเนินการตามแผนหรือแนวทางการแก้ไขที่ได้แจ้งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตาม (๒) เพื่อให้สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ ภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันให้ขยายระยะเวลาดังกล่าวจากสำนักงาน ก.ล.ต. เนื่องจากมีเหตุจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดในคู่มือสำหรับประชาชน (๔) มีหนังสือแจ้งผลการดำเนินการให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบภายใน ๒ วันทำการนับแต่วันที่สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ตามแผนหรือแนวทางแก้ไขที่ได้แจ้งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตาม (๒) ข้อ ๑๖/๗ ในระหว่างที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่สามารถดำรงเงินกองทุนหรืออยู่ในระหว่างดำเนินการตามข้อ ๑๖/๖ (๓) ห้ามมิให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ จนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนได้ (๑) ให้บริการแก่ลูกค้ารายใหม่ (๒) ขยายระยะเวลาการให้บริการแก่ลูกค้ารายเดิมของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (๓) กระทำการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อฐานะการเงิน การดำเนินงานหรือการปฏิบัติตามข้อตกลงกับลูกค้า ทั้งนี้ ตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ข้อ ๑๖/๘ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ภายในระยะเวลาตามข้อ ๑๖/๖ (๓) หรือไม่มีเงินกองทุนติดต่อกันเกินกว่า ๕ วันทำการ ดำเนินการดังต่อไปนี้ (๑) ระงับการประกอบธุรกิจในประเภทที่เกี่ยวข้องกับการดำรงเงินกองทุนจนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนได้ และได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ตามปกติ (๒) แจ้งให้ลูกค้าทราบเป็นลายลักษณ์อักษรถึงการระงับการประกอบธุรกิจตาม (๑) โดยไม่ชักช้า (๓) กระทำการหรืองดเว้นการกระทำอื่นใดตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ ตอนที่ ๔ การดำเนินการกรณีที่สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ ข้อ ๑๖/๙ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ระงับการประกอบธุรกิจและสามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ตามข้อ ๑๖/๑ ข้อ ๑๖/๔ และข้อ ๑๖/๘ ยื่นคำขออนุญาตกลับมาประกอบธุรกิจต่อสำนักงาน ก.ล.ต. พร้อมเอกสารหลักฐานตามที่ระบุในคู่มือสำหรับประชาชน ทั้งนี้ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณาคำขออนุญาตให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับคำขอ พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอที่ถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชน” ข้อ ๑๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๗/๑ การโฆษณาและการส่งเสริมการขาย ข้อ ๓๔/๑ ข้อ ๓๔/๒ ข้อ ๓๔/๓ และข้อ ๓๔/๔ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ “หมวด ๗/๑ การโฆษณาและการส่งเสริมการขาย ส่วนที่ ๑ การโฆษณา ข้อ ๓๔/๑ ความในส่วนนี้ไม่ใช้บังคับกับการโฆษณา ดังต่อไปนี้ (๑) การโฆษณาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการให้ความรู้ ทำความเข้าใจ หรือแจ้งข้อเท็จจริง เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล การลงทุน การให้บริการ หรือภาพรวมของสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละประเภทหรือโดยรวม (๒) การโฆษณาชี้ชวนให้ซื้อโทเคนดิจิทัลโดยการจัดส่งหรือแจกจ่ายหนังสือชี้ชวน ข้อ ๓๔/๒ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ประสงค์จะจัดให้มีการโฆษณา ต้องดำเนินการให้การโฆษณานั้น มีความเหมาะสมทั้งในด้านเนื้อหา สัดส่วนของเนื้อหา และวิธีการนำเสนอ เพื่อทำให้ลูกค้าได้รับข้อมูลที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการใช้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือต่อการตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยการโฆษณาต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ไม่มีลักษณะเป็นเท็จ เกินความจริง บิดเบือน ปิดบัง หรือทำให้สำคัญผิดในสาระสำคัญ (๒) ไม่เร่งรัดให้ลูกค้าตัดสินใจใช้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (๓) ไม่มีลักษณะชี้นำหรือประกันผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน ก.ล.ต. หรือเป็นการแสดงผลการดำเนินงานในอดีตอย่างเหมาะสมหรือเป็นการประมาณการผลตอบแทนในอนาคตที่มีลักษณะครบถ้วนดังนี้ (ก) มีข้อมูลประกอบการประมาณการอย่างเหมาะสม (ข) มีข้อมูลความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการประมาณการผลตอบแทนในแต่ละเงื่อนไข (ค) ข้อมูลตาม (ก) และ (ข) อยู่ในรูปแบบที่ลูกค้าสามารถเข้าใจได้อย่างถูกต้องโดยไม่สำคัญผิด (๔) มีคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเหมาะสม และมีการแจ้งสถานที่สำหรับการติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้บริการหรือการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (๕) หากเป็นการโฆษณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายหรือจะเสนอขายโทเคนดิจิทัลก่อนวันที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ ข้อมูลที่โฆษณาต้องเป็นข้อมูลที่สามารถดำเนินการได้โดยชอบ และต้องจัดให้มีข้อความที่แสดงว่าเป็นการโฆษณาในระหว่างที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนสำหรับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลยังไม่มีผลใช้บังคับ (๖) หากเป็นการโฆษณาโดยใช้หรืออ้างอิงข้อมูลของบุคคลอื่น จะต้องเป็นข้อมูลที่มาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือและเป็นปัจจุบัน โดยต้องมีการระบุแหล่งที่มาอย่างชัดเจน (๗) ในกรณีที่เป็นการโฆษณาการจัดรายการส่งเสริมการขาย ข้อมูลที่โฆษณาต้องมีข้อมูลของสินทรัพย์ดิจิทัลที่เสนอขายรวมอยู่ด้วย โดยข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัลต้องเป็นเนื้อหาหลัก และข้อมูลการจัดรายการส่งเสริมการขายเป็นข้อมูลประกอบที่มีสาระเป็นส่วนน้อย (๘) ดูแลให้ผู้จัดทำโฆษณาร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผู้จัดให้มีการโฆษณาเพื่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ดำเนินการให้เป็นไปตาม (๑) ถึง (๗) ข้อ ๓๔/๓ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้ข้อความ คำเตือน หรือข้อมูลใด ๆ ในการโฆษณาสามารถรับฟังหรือมองเห็นได้อย่างชัดเจน โดยมีความเหมาะสมกับรูปแบบการนำเสนอ และต้องให้ความสำคัญในการแสดงคำเตือนในเรื่องต่าง ๆ เช่นเดียวกับการแสดงข้อความหรือข้อมูลส่วนใหญ่ในโฆษณานั้น ๆ ด้วย ส่วนที่ ๒ การส่งเสริมการขาย ข้อ ๓๔/๔ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอาจจัดให้มีการส่งเสริมการขายได้ โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ไม่เป็นการจูงใจหรือเร่งรัดลูกค้าโดยใช้การส่งเสริมการขาย เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจใช้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยไม่คำนึงถึงข้อมูลที่เป็นพื้นฐานซึ่งจำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุน (๒) ไม่เป็นการชิงโชคหรือจับฉลากเพื่อสุ่มหาผู้ได้รับของสมนาคุณ สิทธิ หรือประโยชน์อื่นใด (๓) มีการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ลูกค้าจะได้รับของสมนาคุณ สิทธิ หรือประโยชน์อื่นใด ที่มีความชัดเจน ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ไม่ทำให้สำคัญผิด เหมาะสม และเป็นธรรม (๔) มีการแจ้งให้ลูกค้าทราบล่วงหน้าเป็นการทั่วไปในระยะเวลาที่เหมาะสมเกี่ยวกับการส่งเสริมการขาย” ข้อ ๑๓ ให้ยกเลิกความในข้อ ๓๙ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๓๙ ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล (๒) กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และการชำระราคาและการส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัล (๓) กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดให้มีผู้ดูแลสภาพคล่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ทั้งนี้ ในกรณีที่การกำหนดหลักเกณฑ์นั้นอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจหรือประโยชน์ได้เสียของผู้ใช้บริการหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลดังกล่าว และเสนอรายงานการรับฟังความคิดเห็นนั้นต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วย เมื่อผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเสนอหลักเกณฑ์เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. แล้ว คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้ทราบภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่ได้รับหลักเกณฑ์และเอกสารหลักฐานประกอบคำขอที่ถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือประชาชน” ข้อ ๑๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นส่วนที่ ๑/๑ ของหมวด ๘ ข้อกำหนดตามลักษณะเฉพาะของการให้บริการ ข้อ ๔๐/๑ ข้อ ๔๐/๒ และข้อ ๔๐/๓ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ “ส่วนที่ ๑/๑ การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและ การเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล ข้อ ๔๐/๑ ในส่วนนี้ “ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล ข้อ ๔๐/๒ เพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของลูกค้าในการใช้บริการ ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องเปิดเผยให้ลูกค้าทราบถึงรูปแบบการทำธุรกรรมซึ่งผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำมาให้บริการแก่ลูกค้าได้ในแต่ละกรณี และรายงานให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบถึงการกำหนดและการแก้ไขรูปแบบการทำธุรกรรมดังกล่าวก่อนการให้บริการแก่ลูกค้า ข้อ ๔๐/๓ ในการให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำเนินการดังต่อไปนี้เพิ่มเติมด้วย (๑) กำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาให้บริการแก่ลูกค้าและดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทั้งนี้ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องมีลักษณะที่ครบถ้วน ดังนี้ (ก) ไม่ตั้งอยู่ในเขตดินแดนหรือประเทศที่ไม่มีมาตรการหรือประยุกต์ใช้ข้อแนะนำของ Financial Action Task Force (FATF) ในการกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย รวมถึงเขตดินแดนหรือประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในเรื่องดังกล่าว (Non - Cooperative Countries & Territories หรือ NCCTs) (ข) มีมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (ค) สามารถให้บริการได้โดยชอบด้วยกฎหมายในประเทศที่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นมีสถานประกอบการตั้งอยู่ (ง) ไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะไม่สามารถดูแลรักษาทรัพย์สินของผู้ใช้บริการได้อย่างปลอดภัย (๒) เปิดเผยความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของตนเองกับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่คัดเลือกตาม (๑) ให้ลูกค้าทราบเพื่อประกอบการตัดสินใจใช้บริการ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาตามวรรคหนึ่ง คำว่า “ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล” ให้หมายความรวมถึง ศูนย์กลางหรือเครือข่ายที่จัดให้มีการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ว่าในรูปแบบใด ๆ ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนำมาให้บริการแก่ลูกค้าด้วย” ข้อ ๑๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นส่วนที่ ๓ การเป็นผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นผู้จัดการเงินทุนโทเคนดิจิทัล ข้อ ๔๓ ถึงข้อ ๔๙ และส่วนที่ ๔ การวิเคราะห์การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๕๐ ข้อ ๕๑ ข้อ ๕๒ ข้อ ๕๓ และข้อ ๕๔ ของหมวด ๘ ข้อกำหนดตามลักษณะเฉพาะของการให้บริการ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ “ส่วนที่ ๓ การเป็นผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซีและ การเป็นผู้จัดการเงินทุนโทเคนดิจิทัล ข้อ ๔๓ ในส่วนนี้ “ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นผู้จัดการเงินทุนโทเคนดิจิทัล ข้อ ๔๔ ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลที่เข้าทำสัญญารับจัดการเงินทุนต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) เสนอนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับผู้ลงทุนซึ่งได้จากการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (๒) เปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจเข้าทำสัญญาต่อผู้ลงทุนอย่างเพียงพอและภายในระยะเวลาที่เหมาะสม ข้อ ๔๕ ในการรับจัดการเงินทุน ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลต้องทำสัญญารับจัดการเงินทุนเป็นลายลักษณ์อักษรกับลูกค้า ในการนี้ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจประกาศกำหนดรายการอันเป็นสาระสำคัญแห่งสัญญาดังกล่าวได้ ข้อ ๔๖ ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อลูกค้าได้เฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัล ดังต่อไปนี้ (๑) สินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกและเสนอขายโดยชอบในประเทศไทย (๒) สินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับความเห็นชอบให้ซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่างประเทศ ข้อ ๔๗ ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีโครงสร้างการบริหารจัดการ และระบบงาน ซึ่งครอบคลุมอย่างน้อยในเรื่อง ดังต่อไปนี้ (๑) คำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญและรักษาผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของลูกค้า (๒) ป้องกันไม่ให้มีการใช้ข้อมูลที่ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล กรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานล่วงรู้ข้อมูลจากการให้บริการลูกค้า และไม่ให้มีการเปิดเผยข้อมูลนั้นให้บุคคลอื่นได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว ข้อ ๔๘ ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีการวัดผลการดำเนินงานในการจัดการเงินทุนเพื่อลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ และเปิดเผยผลการดำเนินงานตลอดจนข้อมูลอื่นที่เกี่ยวกับความเป็นไปของการจัดการเงินทุนนั้น เช่น รายละเอียดการลงทุน และค่าใช้จ่ายในแต่ละช่วงเวลา เป็นต้น ต่อลูกค้าด้วยวิธีการที่เพียงพอที่จะทำให้ลูกค้ารับทราบข้อมูลอย่างต่อเนื่องโดยเหมาะสมกับสถานการณ์ การวัดผลการดำเนินงานและการคำนวณมูลค่ายุติธรรมของทรัพย์สินที่จัดการเพื่อลูกค้า ให้เป็นไปตามหลักวิชาการอันเป็นที่ยอมรับ หรือเป็นมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ตามที่สมาคมบริษัทจัดการลงทุนกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นหรือสมควร ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิบัติเพิ่มเติมหรือแตกต่างจากมาตรฐานการปฏิบัติงานที่สมาคมบริษัทจัดการลงทุนกำหนดตามวรรคสองได้ ข้อ ๔๙ ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลต้องปฏิบัติตามมาตรฐานเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ (๑) การจัดการลงทุนโดยใช้ความสามารถเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของลูกค้าอย่างเต็มที่ โดยคำนึงถึงการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของลูกค้า (๒) ปฏิบัติตามจรรยาบรรณและมาตรฐานการประกอบวิชาชีพที่สมาคมบริษัทจัดการลงทุนกำหนด ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฐานะความเป็นผู้มีวิชาชีพจัดการเงินทุน ส่วนที่ ๔ การวิเคราะห์การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๕๐ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่จัดให้มีการวิเคราะห์การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลให้กับลูกค้าต้องจัดให้มีระบบงานและมาตรการเพิ่มเติมจากที่กำหนดในข้อ ๙ ในเรื่อง ดังต่อไปนี้ (๑) มาตรการป้องกันมิให้บุคลากรที่ทำหน้าที่วิเคราะห์การลงทุนนำข้อมูลที่มีนัยสำคัญและยังไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน ไปหาประโยชน์หรือเปิดเผยต่อบุคคลอื่น (๒) มาตรการป้องกันมิให้บุคลากรที่ทำหน้าที่วิเคราะห์การลงทุนรับค่าตอบแทนจากบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียกับการวิเคราะห์การลงทุนนั้น (๓) ระบบควบคุมดูแลให้บุคลากรที่ทำหน้าที่วิเคราะห์การลงทุนมีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ โดยไม่ถูกครอบงำหรือได้รับอิทธิพลจากผู้ออกสินทรัพย์ดิจิทัลหรือบุคคลที่มีส่วนได้เสียในการจัดทำการวิเคราะห์การลงทุน (๔) ระบบควบคุมดูแลให้บุคลากรที่ทำหน้าที่วิเคราะห์การลงทุนปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้เป็นไปตามประเภทหรือขอบเขตการวิเคราะห์การลงทุนตามที่ได้รับมอบหมาย ข้อ ๕๑ ในกรณีที่เป็นการวิเคราะห์การลงทุนโดยใช้ข้อมูลของบุคคลอื่น ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) พิจารณาคัดเลือกข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นปัจจุบัน (๒) ตรวจสอบและระบุแหล่งที่มาของข้อมูลเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมได้ (๓) ดูแลให้การใช้ข้อมูลเป็นไปตามกฎหมายและไม่เป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูล ข้อ ๕๒ การวิเคราะห์การลงทุนที่จัดทำในรูปบทวิเคราะห์หรือรูปแบบที่เป็นลายลักษณ์อักษรอื่นใด ต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้ (๑) มีการกำหนดลักษณะความเสี่ยงและความเหมาะสมในการลงทุนอย่างครบถ้วน (๒) มีการแสดงข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ที่ชัดเจน โดยข้อมูลดังกล่าวต้องเป็นปัจจุบัน ไม่มีลักษณะที่อาจทำให้สำคัญผิด และมีแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ (๓) ไม่อ้างอิงกับข้อมูลที่ไม่มีแหล่งที่มาหรือที่มีการปฏิเสธว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากผู้ที่เกี่ยวข้อง (๔) ไม่มีลักษณะเป็นการกระตุ้นหรือยุยงให้ลูกค้าใช้บริการเพื่อลงทุนหรือทำธุรกรรมบ่อยครั้ง หรือเร่งรัดให้มีการใช้บริการเพื่อการลงทุนหรือเข้าทำธุรกรรม (๕) จัดทำโดยอาศัยหลักการหรือหลักวิชาอันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป (๖) ในสาระที่เป็นการตีความ คาดการณ์ ประเมิน หรือความเห็น จะต้องมีการระบุลักษณะเช่นนั้นไว้อย่างชัดเจน และต้องแสดงเหตุผลหรือที่มาของการตีความ คาดการณ์ ประเมิน หรือความเห็นนั้นด้วย ข้อ ๕๓ ในการเผยแพร่การวิเคราะห์การลงทุนไม่ว่าช่องทางหรือวิธีการอื่นใด ที่จัดทำในรูปบทวิเคราะห์หรือรูปแบบลายลักษณ์อักษรอื่นใด ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้ (๑) ตรวจสอบความถูกต้องและเหมาะสมของการวิเคราะห์การลงทุนก่อนนำไปเผยแพร่ (๒) จัดให้บุคลากรที่ทำหน้าที่แนะนำการลงทุนทำความเข้าใจและนำบทวิเคราะห์การลงทุนนั้นไปใช้ประกอบการให้คำแนะนำแก่ลูกค้าได้อย่างเหมาะสม (๓) นำเสนอการวิเคราะห์การลงทุนที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าแต่ละประเภท โดยให้พิจารณาจากข้อมูลของลูกค้าที่ได้จากการทำความรู้จักลูกค้าตามหมวด ๖ (๔) เมื่อมีการเสนอการวิเคราะห์การลงทุนตาม (๓) แล้ว ต้องมีการนำเสนอการวิเคราะห์การลงทุนต่อลูกค้านั้นอย่างต่อเนื่อง ให้เหมาะสมกับภาวการณ์ลงทุนหรือความต้องการของลูกค้า ข้อ ๕๔ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องมีการมอบหมายบุคลากรที่ทำหน้าที่วิเคราะห์การลงทุนผ่านสื่อไว้อย่างชัดเจน โดยบุคลากรดังกล่าวต้องมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์อย่างเพียงพอที่จะทำหน้าที่วิเคราะห์การลงทุนดังกล่าวได้” ข้อ ๑๖ ให้เพิ่มภาคผนวกการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลท้ายประกาศนี้เป็นภาคผนวกการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลท้ายประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ข้อ ๑๗ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่จัดให้มีผู้แนะนำรายชื่อลูกค้าอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดให้มีผู้แนะนำรายชื่อลูกค้าที่กำหนดในประกาศนี้ภายในโอกาสแรกที่สามารถทำได้ แต่ต้องไม่เกินกว่า ๓ เดือนนับตั้งแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ข้อ ๑๘ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ แยกทรัพย์สินประเภทเงิน สินทรัพย์ดิจิทัล หรือทรัพย์สินอื่น แล้วแต่กรณี ที่อยู่ในการดูแลรักษาของตนเอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้ภายในโอกาสแรกที่สามารถทำได้ แต่ต้องไม่เกินกว่า ๓ เดือนนับตั้งแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ข้อ ๑๙ ในกรณีที่การโฆษณาหรือการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยังไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดตามประกาศนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดำเนินการปรับปรุงหรือแก้ไขให้การโฆษณาหรือการส่งเสริมการขายดังกล่าวเป็นไปตามข้อกำหนดในประกาศนี้ภายในโอกาสแรกที่สามารถทำได้ แต่ต้องไม่เกินกว่า ๓ เดือนนับตั้งแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ข้อ ๒๐ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัลรายงานการกำหนดรูปแบบการทำธุรกรรมซึ่งนำมาให้บริการแก่ลูกค้าในปัจจุบันให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบภายใน ๓ เดือนนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ข้อ ๒๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ พิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ [เอกสารแนบท้าย] ๑. ภาคผนวกการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) วิวรรธน์/จัดทำ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๔ สุภาทิพย์/ตรวจ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนพิเศษ ๓๐๓ ง/หน้า ๓๒/๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓
873709
ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 76/2563 เรื่อง หลักเกณฑ์การรายงานการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แนะนำรายชื่อลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. ๗๖/๒๕๖๓ เรื่อง หลักเกณฑ์การรายงานการปฏิบัติหน้าที่เป็น ผู้แนะนำรายชื่อลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล[๑] อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๑๐/๒ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๒๙/๒๕๖๓ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๗) ลงวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ สำนักงาน ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดทำและยื่นรายงานการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แนะนำรายชื่อลูกค้าต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ทั้งนี้ ตามแบบและวิธีการที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ธนบดี/จัดทำ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๔ สุภาทิพย์/ตรวจ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนพิเศษ ๓๐๓ ง/หน้า ๓๑/๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓
873707
ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 75/2563 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการติดต่อและให้บริการลูกค้า และการจัดการลงทุนสำหรับผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล
ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. ๗๕/๒๕๖๓ เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการติดต่อและ ให้บริการลูกค้า และการจัดการลงทุนสำหรับ ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล[๑] อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๓ (๑) ประกอบกับข้อ ๙ (๒) (๔) (๕) (๗) และ (๘) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ และข้อ ๗/๔ และส่วนที่ ๓ การเป็นผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นผู้จัดการเงินทุนโทเคนดิจิทัล ของหมวด ๘ ข้อกำหนดตามลักษณะเฉพาะของการให้บริการ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๒๙/๒๕๖๓ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๗) ลงวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ สำนักงาน ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป ข้อ ๒ ในประกาศนี้ “ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นผู้จัดการเงินทุนโทเคนดิจิทัล “ประกาศที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑” หมายความว่า ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ ๓ ข้อกำหนดในรายละเอียดแห่งประกาศนี้ กำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิบัติตามประกาศ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อและให้บริการลูกค้า และการจัดการลงทุน ในเรื่องดังต่อไปนี้ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน (๑) การบริหารความต่อเนื่องของการประกอบธุรกิจ ให้เป็นไปตามหมวด ๑ (๒) การบริหารและการจัดการความเสี่ยงอันเกิดจากการลงทุน ให้เป็นไปตามหมวด ๒ (๓) สัญญารับจัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ให้เป็นไปตามหมวด ๓ (๔) การจัดการลงทุน ให้เป็นไปตามหมวด ๔ (๕) การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนต่อลูกค้า ให้เป็นไปตามหมวด ๕ (๖) การรายงานสถานะการลงทุน ให้เป็นไปตามหมวด ๖ หมวด ๑ การบริหารความต่อเนื่องของการประกอบธุรกิจ ข้อ ๔ เพื่อให้การบริหารความต่อเนื่องของการประกอบธุรกิจเป็นไปอย่างเหมาะสมและสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพตามข้อ ๙ (๒) แห่งประกาศที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ ให้ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลจัดให้มีระบบงานเกี่ยวกับการบริหารความต่อเนื่องของการประกอบธุรกิจตามหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวที่กำหนดในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกำหนดในการจัดให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องของผู้ประกอบธุรกิจ โดยอนุโลม ในกรณีที่ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสถาบันการเงินที่มีหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจหลักโดยตรงอยู่แล้วและหน่วยงานกำกับดูแลดังกล่าวได้ออกข้อกำหนดหรือแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยงเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องไว้แล้ว ให้ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดหรือแนวทางปฏิบัติดังกล่าว โดยไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในวรรคหนึ่ง หมวด ๒ การบริหารและการจัดการความเสี่ยงอันเกิดจากการลงทุน ข้อ ๕ เพื่อให้การบริหารและการจัดการความเสี่ยงอันเกิดจากการลงทุนเป็นไปอย่างเหมาะสมและสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพตามข้อ ๙ (๔) แห่งประกาศที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ ให้ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ (๑) การบริหารและจัดการความเสี่ยงในเรื่อง ดังนี้ (ก) การระบุความเสี่ยง (risk identification) (ข) การประเมินความเสี่ยง (risk evaluation) ซึ่งต้องครอบคลุมถึงโอกาสหรือความถี่ที่จะเกิดความเสี่ยง รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น (ค) การกำหนดเครื่องมือและมาตรการในการบริหารและจัดการกับความเสี่ยง เพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ (ง) การติดตามและประเมินประสิทธิภาพในการบริหารและควบคุมความเสี่ยง (๒) การป้องกันความเสี่ยงอันเกิดจากการดำเนินการตาม (๑) (๓) การกำหนดกิจกรรมการควบคุมความเสี่ยงหรือข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น และวิธีการแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น (๔) การสำรองข้อมูล (backup) สำหรับระบบงานต่าง ๆ ตามที่กำหนดในประกาศที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ (๕) การบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล หมวด ๓ สัญญารับจัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๖ เพื่อให้สัญญารับจัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน และเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้าตามข้อ ๗/๔ ข้อ ๙ (๕) และข้อ ๔๕ แห่งประกาศที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ ให้ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเปิดเผยข้อมูลในสัญญาอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้ ให้ลูกค้ารับทราบเป็นลายลักษณ์อักษรหรือผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย (๑) สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (๒) นโยบายหรือขอบเขตการลงทุนหรือข้อห้ามการลงทุนที่ชัดเจน (๓) ผลของการทำธุรกรรมที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (๔) สิทธิของลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเงินทุน รวมถึงรายงานการลงทุน (๕) ข้อมูลและคำเตือนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ที่เพียงพอและเหมาะสม เพื่อให้ลูกค้ารับทราบและเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุน (๖) สิทธิของลูกค้าในการบอกเลิกสัญญาภายใน ๕ วันนับแต่วันที่ลงนาม โดยไม่ต้องแจ้งให้ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลทราบล่วงหน้า และไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายใด ๆ แก่ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเนื่องจากการเลิกสัญญาดังกล่าว (๗) สิทธิของลูกค้าในการบอกเลิกสัญญาในกรณีที่ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ โดยผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากลูกค้าอันเนื่องจากการเลิกสัญญาดังกล่าว ทั้งนี้ สัญญารับจัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลตามวรรคหนึ่งต้องไม่มีข้อความที่ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถปฏิเสธความรับผิดทางแพ่ง อันเนื่องจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่กระทำตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในสัญญา และต้องไม่มีข้อตกลงในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างลูกค้ากับผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกค้า หมวด ๔ การจัดการลงทุน ข้อ ๗ เพื่อให้การจัดการลงทุนเป็นไปด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง สอดคล้องกับนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับลูกค้าตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการลงทุนตามส่วนที่ ๓ การเป็นผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นผู้จัดการเงินทุนโทเคนดิจิทัล ของหมวด ๘ ข้อกำหนดตามลักษณะเฉพาะของการให้บริการ แห่งประกาศที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ ให้ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลดำเนินการอย่างน้อยในเรื่อง ดังต่อไปนี้ (๑) ให้กำหนดขั้นตอนและวิธีดำเนินการในการจัดการลงทุน โดยมีรายละเอียดตามข้อ ๘ (๒) จัดให้มีการปฏิบัติงานด้านการสนับสนุนการจัดการลงทุน โดยมีรายละเอียดตามข้อ ๙ ข้อ ๘ ขั้นตอนและวิธีดำเนินการในการจัดการลงทุน อย่างน้อยต้องครอบคลุมในเรื่อง ดังต่อไปนี้ (๑) การกำหนดกลยุทธ์และนโยบายการลงทุน (๒) การพิจารณาตัดสินใจในการจัดการลงทุน (๓) การส่งคำสั่งซื้อขาย (๔) การควบคุมดูแลการจัดการลงทุน (๕) การปฏิบัติงานด้านการสนับสนุนการจัดการลงทุน ข้อ ๙ ในการปฏิบัติงานด้านการสนับสนุนการจัดการลงทุน อย่างน้อยต้องครอบคลุมการดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) การจัดให้มีบุคลากรหรือส่วนงานที่รับผิดชอบงานสนับสนุนการเข้าทำสัญญาและจัดการลงทุนอย่างชัดเจน (๒) การจัดให้มีการกำหนดขั้นตอนและวิธีการทำงานอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และหลักเกณฑ์ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายดังกล่าว รวมถึงข้อตกลงที่ทำไว้กับลูกค้า หมวด ๕ การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนต่อลูกค้า ข้อ ๑๐ เพื่อให้การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนต่อลูกค้าเป็นไปอย่างถูกต้องและครบถ้วนตามข้อ ๙ (๗) และ (๘) แห่งประกาศที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ ให้ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลดำเนินการจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการเงินทุนให้ลูกค้าทราบในระยะเวลาที่เหมาะสมอย่างน้อยในเรื่อง ดังต่อไปนี้ (๑) การวัดผลการดำเนินงานของการลงทุน (๒) ผู้ที่รับฝากทรัพย์สิน รวมทั้งหน้าที่และความรับผิดของผู้ที่รับฝากทรัพย์สิน (๓) การลงทุนและผลการดำเนินงานของการลงทุน (๔) ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ (๕) ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือการก่อภาระผูกพันใด ๆ แก่ทรัพย์สินของลูกค้า (๖) ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนอื่นใดเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของลูกค้า หมวด ๖ การรายงานสถานะลงทุน ข้อ ๑๑ เพื่อให้การจัดทำและส่งรายงานสถานะการลงทุนสำหรับการติดตามการจัดการลงทุนของผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นไปอย่างถูกต้อง ภายในระยะเวลาที่เหมาะสมตามข้อ ๔๘ แห่งประกาศที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ ให้ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลจัดทำและรายงานสถานะการลงทุนของลูกค้าต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามรูปแบบและวิธีการที่กำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศ ณ วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ธนบดี/จัดทำ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๔ สุภาทิพย์/ตรวจ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนพิเศษ ๓๐๓ ง/หน้า ๒๖/๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓
873705
ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 74/2563 เรื่อง การจัดการและจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2)
ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. ๗๔/๒๕๖๓ เรื่อง การจัดการและจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๒)[๑] อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๓ (๑) ประกอบกับข้อ ๙ (๘) และข้อ ๑๑ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ สำนักงาน ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความใน (๒) ของข้อ ๑ แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. ๓๖/๒๕๖๑ เรื่อง การจัดการและจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๒) หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และการทำธุรกรรมใด ๆ ของผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องจัดเก็บไว้อย่างน้อยเป็นระยะเวลา ๕ ปีนับแต่วันที่มีการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ ในระยะเวลา ๒ ปีแรกต้องจัดเก็บในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงาน ก.ล.ต. เรียกดูหรือตรวจสอบได้ทันที” ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ วิวรรธน์/จัดทำ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๔ สุภาทิพย์/ตรวจ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนพิเศษ ๓๐๓ ง/หน้า ๒๕/๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓
873703
ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 73/2563 เรื่อง การคำนวณและการจัดทำรายงานการคำนวณเงินกองทุน
ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. ๗๓/๒๕๖๓ เรื่อง การคำนวณและการจัดทำรายงานการคำนวณเงินกองทุน[๑] อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๑๖ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๒๙/๒๕๖๓ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๗) ลงวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ สำนักงาน ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. ๓๔/๒๕๖๒ เรื่อง การคำนวณและการจัดทำรายงานการคำนวณเงินกองทุน ลงวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๒ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลคำนวณเงินกองทุนตามแบบรายงานและคำอธิบายประกอบการคำนวณเงินกองทุนสำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ข้อ ๓ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีหน้าที่ต้องดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC - 1 คำนวณเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) คำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิทุกสิ้นวันทำการ (๒) คำนวณส่วนของผู้ถือหุ้นทุกสิ้นวันทำการสุดท้ายของแต่ละเดือน ข้อ ๔ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีหน้าที่ต้องดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC - 2 คำนวณเงินกองทุนที่ต้องดำรงทุกสิ้นวันทำการสุดท้ายของแต่ละเดือน ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามวรรคหนึ่งคำนวณมูลค่าของเงินกองทุนสภาพคล่องที่ดำรงได้หรือกรมธรรม์ประกันภัยที่ใช้ในการดำรงเงินกองทุนทุกสิ้นวันทำการสุดท้ายของแต่ละเดือน เว้นแต่กรณีที่ปรากฏเหตุที่อาจทำให้มูลค่าของสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ประกันภัยที่ใช้ในการดำรงเงินกองทุนดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวคำนวณมูลค่าของสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวใหม่ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญอันอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าของสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ประกันภัย ให้คำนวณมูลค่าของสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ประกันภัยทุกสิ้นวันที่เกิดเหตุการณ์นั้น เว้นแต่เป็นกรณีที่วันดังกล่าวเป็นวันหยุดทำการ ให้คำนวณมูลค่าในวันทำการถัดไป (๒) เมื่อมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือไถ่ถอนสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ประกันภัยในวันใด ให้คำนวณมูลค่าของสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ประกันภัยทุกสิ้นวันนั้น (๓) ในกรณีที่สินทรัพย์สภาพคล่องเป็นหุ้น ให้คำนวณมูลค่าสินทรัพย์ทุกสิ้นวันทำการ (๔) ในกรณีที่สินทรัพย์สภาพคล่องเป็นหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหรือหน่วยของโครงการจัดการลงทุนต่างประเทศที่มีการลงทุนในหุ้นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เมื่อมีการเปิดเผยมูลค่าของหน่วยลงทุนหรือหน่วยดังกล่าวแล้ว ให้คำนวณมูลค่าสินทรัพย์นั้นทุกสิ้นวันทำการ ข้อ ๕ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีหน้าที่ต้องดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC - 3 คำนวณเงินกองทุนที่ต้องดำรงปีละ ๒ ครั้ง โดยให้คำนวณทุกสิ้นวันทำการสุดท้ายของเดือนมิถุนายนและเดือนธันวาคม ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามวรรคหนึ่งคำนวณมูลค่าของสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ประกันภัยที่ใช้ในการดำรงเงินกองทุนทุกสิ้นวันทำการสุดท้ายของแต่ละไตรมาส เว้นแต่กรณีที่ปรากฏเหตุที่อาจทำให้มูลค่าของสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ประกันภัยที่ใช้ในการดำรงเงินกองทุนดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวคำนวณมูลค่าของสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวใหม่ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญอันอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าของสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ประกันภัย ให้คำนวณมูลค่าของสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ประกันภัยทุกสิ้นวันที่เกิดเหตุการณ์นั้น เว้นแต่เป็นกรณีที่วันดังกล่าวเป็นวันหยุดทำการ ให้คำนวณมูลค่าในวันทำการถัดไป (๒) เมื่อมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือไถ่ถอนสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ประกันภัยในวันใด ให้คำนวณมูลค่าของสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ประกันภัยทุกสิ้นวันนั้น (๓) ในกรณีที่สินทรัพย์สภาพคล่องเป็นหุ้น ให้คำนวณมูลค่าสินทรัพย์ทุกสิ้นวันทำการ (๔) ในกรณีที่สินทรัพย์สภาพคล่องเป็นหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหรือหน่วยของโครงการจัดการลงทุนต่างประเทศที่มีการลงทุนในหุ้นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เมื่อมีการเปิดเผยมูลค่าของหน่วยลงทุนหรือหน่วยดังกล่าวแล้ว ให้คำนวณมูลค่าสินทรัพย์นั้นทุกสิ้นวันทำการ ข้อ ๖ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดทำและยื่นรายงานการคำนวณเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) รายงานการคำนวณเงินกองทุนสำหรับการดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC - 1 ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ (ก) จัดทำรายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิรายวันและยื่นรายงานต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายในวันทำการถัดไป (ข) จัดทำรายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิรายเดือนทุกสิ้นวันสุดท้ายของแต่ละเดือนและยื่นรายงานต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน ๑๐ วันทำการแรกของเดือนถัดไป (ค) จัดทำรายงานการคำนวณส่วนของผู้ถือหุ้นรายเดือนทุกสิ้นวันสุดท้ายของแต่ละเดือน เว้นแต่กรณีที่ปรากฏเหตุที่อาจทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ให้จัดทำรายงานดังกล่าวทันที และยื่นรายงานต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน ๑๐ วันทำการแรกของเดือนถัดไป (๒) รายงานการคำนวณเงินกองทุนสำหรับการดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC - 2 ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ (ก) จัดทำรายงานการคำนวณเงินกองทุนรายเดือนและยื่นรายงานต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน ๕ วันทำการนับแต่วันทำการสุดท้ายของแต่ละเดือน (ข) จัดทำรายงานมูลค่าความเสียหายอันเนื่องจากการปฏิบัติงาน (operational risk loss) รายปีปฏิทิน ตามแบบรายงานข้อมูลความเสียหายที่เกิดจาก operational risk และคำอธิบายประกอบการรายงานดังกล่าวที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๓๑ มกราคมของปีถัดไป (๓) รายงานการคำนวณเงินกองทุนสำหรับการดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC - 3 ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ (ก) กรณีการคำนวณเงินกองทุนตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนของแต่ละปี ให้จัดทำรายงานและยื่นรายงานต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายในวันที่ ๗ กรกฎาคมของปีนั้น (ข) กรณีการคำนวณเงินกองทุนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคมของแต่ละปี ให้จัดทำรายงานและยื่นรายงานต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายในวันที่ ๗ มกราคมของปีถัดไป รายงานการคำนวณเงินกองทุนตามวรรคหนึ่งทุกฉบับต้องมีการลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องโดยบุคคลผู้มีอำนาจลงนาม ข้อ ๗ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเก็บรักษารายงานการคำนวณเงินกองทุนและหลักฐานที่ใช้ประกอบการคำนวณรายงานดังกล่าวในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจสอบได้ หรือพร้อมที่จะจัดส่งให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อได้รับการร้องขอ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) กรณีเป็นรายงานตามข้อ ๖ (๑) ให้เก็บรักษาไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑ ปีนับแต่วันที่ยื่นรายงาน (๒) กรณีเป็นรายงานตามข้อ ๖ (๒) และ (๓) ให้เก็บรักษาไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๕ ปี นับแต่วันที่ยื่นรายงาน ข้อ ๘ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีหน้าที่ต้องดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC - 1 มีเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิเท่ากับหรือน้อยกว่า ๑.๕ เท่าของเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำรงไว้ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ทันที (๑) ยื่นรายงานชี้แจงสาเหตุที่เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิลดต่ำกว่าอัตราที่กำหนดข้างต้น (๒) แจ้งแนวทางการดำเนินการที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะกลับมาดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิได้ ข้อ ๙ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีหน้าที่ต้องดำรงเงินกองทุน โดยวิธี NC - 1 มีส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับหรือน้อยกว่า ๑.๑ เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้นที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวต้องดำรงไว้ ให้ยื่นรายงานชี้แจงสาเหตุที่ส่วนของผู้ถือหุ้นลดต่ำกว่าอัตราที่กำหนดข้างต้น และวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของส่วนของผู้ถือหุ้นในอนาคต รวมถึงความสามารถในการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องในช่วง ๑ ปีนับแต่วันที่ยื่นรายงานชี้แจง พร้อมทั้งแจ้งแนวทางการดำเนินการที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะกลับมาดำรงส่วนของผู้ถือหุ้นได้ การยื่นเอกสารตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นภายใน ๒ วันทำการนับแต่วันที่รู้ว่าส่วนของผู้ถือหุ้นลดต่ำกว่าอัตราที่กำหนดข้างต้น และทุกวันสุดท้ายของแต่ละเดือนจนกว่าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะสามารถดำรงส่วนของผู้ถือหุ้นได้ เว้นแต่สำนักงาน ก.ล.ต. จะกำหนดให้ปฏิบัติเป็นประการอื่น ข้อ ๑๐ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยื่นรายงานตามประกาศนี้ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบรับส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบวิธีปฏิบัติสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับการรับส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ ๑๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ธนบดี/จัดทำ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๔ สุภาทิพย์/ตรวจ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนพิเศษ ๓๐๓ ง/หน้า ๒๑/๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓
871944
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 28/2563 เรื่อง การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ฉบับที่ 4)
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. ๒๘/๒๕๖๓ เรื่อง การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ฉบับที่ ๔)[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ (๑) และมาตรา ๒๕ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในข้อ ๕๐ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. ๑๕/๒๕๖๑ เรื่อง การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๕๐ ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลส่งหนังสือรับรองงบการเงินต่อสำนักงาน ก.ล.ต. พร้อมกับการจัดส่งงบการเงิน ทั้งนี้ ให้อนุโลมใช้ตามแบบ ๕๓ - ๓ ท้ายประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์” ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ พิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ อัมพิกา/จัดทำ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๔ สุภาทิพย์/ตรวจ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๔ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนพิเศษ ๒๗๙ ง/หน้า ๑๔/๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
871942
ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สช. 69/2563 เรื่อง การให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีของผู้ออกโทเคนดิจิทัล (ฉบับที่ 2)
ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สช. ๖๙/๒๕๖๓ เรื่อง การให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีของผู้ออกโทเคนดิจิทัล (ฉบับที่ ๒)[๑] โดยที่ข้อ ๔๗ วรรคหนึ่ง แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. ๑๕/๒๕๖๑ เรื่อง การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ กำหนดให้ผู้สอบบัญชีที่ลงลายมือชื่อในรายงานการตรวจสอบงบการเงินของผู้ออกโทเคนดิจิทัลต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการดังกล่าว สำนักงาน ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกข้อ ๖ แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สช. ๓๒/๒๕๖๑ เรื่อง การให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีของผู้ออกโทเคนดิจิทัล ลงวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ อัมพิกา/จัดทำ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๔ สุภาทิพย์/ตรวจ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๔ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนพิเศษ ๒๗๙ ง/หน้า ๑๓/๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
862161
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 17/2563 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 5)
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๗/๒๕๖๓ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๕)[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ (๑) และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ ๗/๒ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ “ข้อ ๗/๒ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเปิดเผยข้อมูลตามข้อ ๗/๑ ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามกำหนดเวลาในตารางกำหนดเวลาการเปิดเผยข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัลที่แนบท้ายประกาศนี้” ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ พิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ [เอกสารแนบท้าย] ๑. ตารางกำหนดเวลาการเปิดเผยข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัล (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) พิไลภรณ์/จัดทำ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๓ สุภาทิพย์/ตรวจ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนพิเศษ ๑๕๔ ง/หน้า ๒๑/๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓
862159
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กค. 16/2563 เรื่อง การกำหนดลักษณะของกิจการในกลุ่มของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กค. ๑๖/๒๕๖๓ เรื่อง การกำหนดลักษณะของกิจการในกลุ่ม ของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ (๑) และมาตรา ๔๔ วรรคสอง แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย หรือบริษัทร่วมของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลดังต่อไปนี้เป็นกิจการในกลุ่มของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลตามมาตรา ๔๔ วรรคสอง ของหมวด ๖ การป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ (๑) บริษัทใหญ่ ได้แก่ บริษัทที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังนี้ (ก) บริษัทที่มีอำนาจควบคุมกิจการในผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล (ข) บริษัทที่มีอำนาจควบคุมกิจการในบริษัทตาม (ก) (ค) บริษัทที่มีอำนาจควบคุมกิจการในบริษัทตาม (ข) ต่อไปเป็นทอด ๆ โดยเริ่มจากการมีอำนาจควบคุมกิจการในบริษัทตาม (ข) (๒) บริษัทย่อย ได้แก่ บริษัทที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังนี้ (ก) บริษัทที่ผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลมีอำนาจควบคุมกิจการ (ข) บริษัทที่บริษัทตาม (ก) มีอำนาจควบคุมกิจการ (ค) บริษัทที่อยู่ภายใต้อำนาจควบคุมกิจการของบริษัทตาม (ข) ต่อไปเป็นทอด ๆ โดยเริ่มจากการอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมกิจการของบริษัทตาม (ข) (๓) บริษัทร่วม ได้แก่ บริษัทที่ผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือบริษัทย่อยตาม (๒) มีอำนาจในการมีส่วนร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินและการดำเนินงานของบริษัท แต่ไม่ถึงระดับที่จะมีอำนาจควบคุมนโยบายดังกล่าว และไม่ถือเป็นบริษัทย่อยตาม (๒) หรือกิจการร่วมค้า ในกรณีที่ผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือบริษัทย่อยตามวรรคหนึ่ง (๒) ถือหุ้นไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมรวมกันตั้งแต่ร้อยละ ๒๐ แต่ไม่เกินร้อยละ ๕๐ ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือบริษัทย่อยตามวรรคหนึ่ง (๒) มีอำนาจในการมีส่วนร่วมตัดสินใจตามวรรคหนึ่ง (๓) เว้นแต่จะพิสูจน์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาตามวรรคหนึ่ง ให้คำว่า “อำนาจควบคุมกิจการ” หมายความว่า การมีความสัมพันธ์ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังนี้ (๑) การถือหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทเกินกว่าร้อยละ ๕๐ ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทนั้น (๒) การมีอำนาจควบคุมคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม หรือไม่ว่าเพราะเหตุอื่นใด (๓) การมีอำนาจควบคุมการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการตั้งแต่กึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ พิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พิไลภรณ์/จัดทำ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๓ สุภาทิพย์/ตรวจ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนพิเศษ ๑๕๔ ง/หน้า ๑๙/๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓
862155
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กค. 14/2563 เรื่อง การกำหนดบทนิยามผู้บริหารเพื่อการปฏิบัติตามหมวด 6 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กค. ๑๔/๒๕๖๓ เรื่อง การกำหนดบทนิยามผู้บริหารเพื่อการปฏิบัติตามหมวด ๖ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ (๑) และมาตรา ๓๙ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ เว้นแต่จะมีประกาศกำหนดไว้โดยเฉพาะเป็นประการอื่น “ผู้บริหาร” ของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลตามหมวด ๖ การป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ หมายความว่า ผู้จัดการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหาร ๔ รายแรกนับต่อจากผู้จัดการลงมา ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ากับผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารรายที่ ๔ ทุกรายและให้หมายความรวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงินที่เป็นระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปหรือเทียบเท่า ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ พิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พิไลภรณ์/จัดทำ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๓ สุภาทิพย์/ตรวจ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนพิเศษ ๑๕๔ ง/หน้า ๑๖/๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓
819257
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเปรียบเทียบตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเปรียบเทียบ ตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ และพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๓๑๗ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ และมาตรา ๙๕ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิก (๑) ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเปรียบเทียบตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ (๒) ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเปรียบเทียบตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐ (๓) ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเปรียบเทียบตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๕ ลงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕ ข้อ ๒ แต่งตั้งให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นคณะกรรมการเปรียบเทียบตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ และพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ (๑) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมอบหมาย ในกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่สามารถมาปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการได้ (๒) ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง หรือที่ปรึกษา (เศรษฐกรทรงคุณวุฒิ) รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือผู้อำนวยการสำนักในสังกัดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังมอบหมาย ในกรณีที่ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังไม่สามารถมาปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการได้ (๓) ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมอบหมายหรือผู้อำนวยการฝ่ายที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมอบหมายในกรณีที่ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไม่สามารถมาปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการได้ ข้อ ๓[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พัชรภรณ์/ธนบดี/จัดทำ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๒๘๒ ง/หน้า ๒๕/๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
819249
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องขอรับความเห็นชอบบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (ฉบับที่ 2)
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องขอรับความเห็นชอบบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (ฉบับที่ ๒) ตามที่ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องขอรับความเห็นชอบบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องยื่นคำขอรับความเห็นชอบบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่นั้น เพื่อให้การกำกับดูแลบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นที่น่าเชื่อถือและเหมาะสม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ และมาตรา ๒๗ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงแก้ไขเงื่อนไขให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องปฏิบัติดังนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่” ในข้อ ๑ แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องขอรับความเห็นชอบบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน ““ผู้ถือหุ้นรายใหญ่” หมายความว่า บุคคลที่ถือหุ้นในผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พัชรภรณ์/ธนบดี/จัดทำ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๒๘๒ ง/หน้า ๗/๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
816202
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กม. 24/2561 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่ได้รับใบอนุญาต (ฉบับที่ 2)
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กม. ๒๔/๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัลตามที่ได้รับใบอนุญาต (ฉบับที่ ๒)[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ (๒) แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในข้อ ๒ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กม. ๑๗/๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่ได้รับใบอนุญาต ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๒ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้ โดยให้ผู้ได้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมเฉพาะเมื่อได้รับอนุญาตให้เริ่มประกอบธุรกิจแล้ว” ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความในข้อ ๖ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กม. ๑๗/๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่ได้รับใบอนุญาต ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๖ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมต่อสำนักงาน ก.ล.ต. โดยให้แบ่งชำระเป็น ๒ งวด ดังต่อไปนี้ (๑) งวดแรก ให้ชำระค่าธรรมเนียมขั้นต่ำตามประเภทธุรกิจภายในวันที่ ๓๑ มกราคมของปีนั้น ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตมีการประกอบธุรกิจไม่เต็มปีปฏิทิน ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมขั้นต่ำในวันที่เริ่มประกอบกิจการ หรือวันที่กลับมาเริ่มประกอบกิจการ (แล้วแต่กรณี) โดยชำระค่าธรรมเนียมขั้นต่ำตามวรรคหนึ่งตามสัดส่วนจำนวนเดือนที่มีการประกอบธุรกิจ (monthly pro-rate) ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีที่ถูกสำนักงาน ก.ล.ต. เพิกถอนใบอนุญาต หรือสั่งระงับการดำเนินกิจการ (๒) งวดที่สอง ให้ชำระค่าธรรมเนียมส่วนที่เกินกว่าค่าธรรมเนียมตาม (๑) ภายในวันที่ ๓๑ มกราคมของปีถัดไป ในกรณีที่มีการเลิกประกอบกิจการหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต ให้ชำระค่าธรรมเนียมส่วนที่ยังไม่ได้ชำระหรือยังคงค้างอยู่ภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่รัฐมนตรีอนุญาตให้เลิกประกอบกิจการหรือวันที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนใบอนุญาต แล้วแต่กรณี ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตที่ประกอบธุรกิจไม่เต็มปีปฏิทินมีการชำระค่าธรรมเนียมเกินกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในวรรคแรก ให้ขอรับคืนค่าธรรมเนียมที่ชำระไว้เกินนั้นภายในวันที่ ๓๑ มกราคมของปีถัดไป” ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในข้อ ๗ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กม. ๑๗/๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่ได้รับใบอนุญาต ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๗ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตมีการประกอบธุรกิจหลายประเภท ให้ชำระค่าธรรมเนียมตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ให้ชำระค่าธรรมเนียมงวดแรกในอัตราค่าธรรมเนียมขั้นต่ำสำหรับการประกอบธุรกิจประเภทใดประเภทหนึ่งที่มีอัตราสูงที่สุด ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเริ่มประกอบธุรกิจแต่ละประเภทไม่พร้อมกัน ให้ชำระค่าธรรมเนียมงวดแรกดังกล่าวในอัตราสูงที่สุดตามสัดส่วนจำนวนเดือนที่มีการประกอบธุรกิจ (monthly pro - rate) (๒) ให้ชำระค่าธรรมเนียมงวดที่สองตามรายประเภทธุรกิจรวมกัน และนำมาหักออกจากค่าธรรมเนียมขั้นต่ำที่ได้ชำระต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ไว้ก่อนแล้ว” ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความในข้อ ๘ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กม. ๑๗/๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่ได้รับใบอนุญาต ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๘ ในการยื่นชำระค่าธรรมเนียมหรือขอรับคืนค่าธรรมเนียมตามข้อ ๖ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดทาและยื่นรายละเอียดรายงานการชำระค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาตต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามแบบและที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต.” ข้อ ๕ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑ วรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ปวันวิทย์/จัดทำ ๓ มกราคม ๒๕๖๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๒๔๙ ง/หน้า ๒๑/๘ ตุลาคม ๒๕๖๑
809169
ประกาศคณะกรรมการกากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 23/2561 เรื่อง การกาหนดแบบคาขอและวิธีการขอรับความเห็นชอบบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วย การกาหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องขอรับความเห็นชอบบุคคลที่เป็น ผู้ถือหุ้นรายใหญ่
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๒๓/๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดแบบคำขอและวิธีการขอรับความเห็นชอบบุคคลที่ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วย การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องขอรับความเห็นชอบบุคคลที่เป็น ผู้ถือหุ้นรายใหญ่[๑] อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๓ แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องขอรับความเห็นชอบบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ประสงค์จะยื่นคำขอรับความเห็นชอบบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องขอรับความเห็นชอบบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ยื่นคำขอรับความเห็นชอบบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานประกอบคำขอตามแบบและวิธีการที่กำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ ๒๕๖๑ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ วรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ วิวรรธน์/จัดทำ ๘ สิงหาคม ๒๕๖๑ นุสรา/ตรวจ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๗๗ ง/หน้า ๕๒/๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๑
809167
ประกาศคณะกรรมการกากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 22/2561 เรื่อง การกาหนดแบบคาขอและวิธีการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๒๒/๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดแบบคำขอและวิธีการขอรับใบอนุญาต ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามประกาศ กระทรวงการคลังว่าด้วยการอนุญาต การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑[๑] อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๔ แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การอนุญาตการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ ลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ผู้ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ยื่นคำขอรับใบอนุญาตพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานประกอบคำขอตามแบบและวิธีการที่กำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ วรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ วิวรรธน์/จัดทำ ๘ สิงหาคม ๒๕๖๑ นุสรา/ตรวจ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๗๗ ง/หน้า ๕๑/๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๑
809165
ประกาศคณะกรรมการกากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 21/2561 เรื่อง การกาหนดแบบใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยการอนุญาต การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๒๑/๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดแบบใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยการอนุญาต การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑[๑] อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๖ วรรคสอง แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การอนุญาตการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ ลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้เป็นไปตามแบบท้ายประกาศนี้ ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ วรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ วิวรรธน์/จัดทำ ๘ สิงหาคม ๒๕๖๑ นุสรา/ตรวจ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๗๗ ง/หน้า ๕๐/๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๑
809163
ประกาศคณะกรรมการกากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 20/2561 เรื่อง การกาหนดทุนจดทะเบียนซึ่งชาระแล้วของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๒๐/๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วของผู้ขอรับใบอนุญาต ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล[๑] อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๓ (๒) แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การอนุญาตการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ ลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในประกาศนี้ “ผู้ขอรับใบอนุญาต” หมายความว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภท ดังต่อไปนี้ (๑) การเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๒) การเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๓) การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๔) การเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๕) การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี (๖) การเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล ข้อ ๒ ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตมีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่น้อยกว่าจำนวน ดังต่อไปนี้ (๑) ๕๐ ล้านบาท สำหรับการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๒) ๒๕ ล้านบาท สำหรับการเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๓) ๑๐ ล้านบาท สำหรับการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล กรณีที่ไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครองหรือหากมีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครองแต่ไม่สามารถเข้าถึงหรือโอนทรัพย์สินของลูกค้าออกไปได้ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกค้าเป็นรายครั้ง (๔) ๕ ล้านบาท สำหรับ (ก) การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล (ข) การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัลกรณีที่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครองแต่ไม่สามารถเข้าถึงหรือโอนทรัพย์สินของลูกค้าออกไปได้ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกค้าเป็นรายครั้ง (๕) ๑ ล้านบาท สำหรับการเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัลกรณีที่ไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครอง ข้อ ๓ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ วรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ วิวรรธน์/จัดทำ ๘ สิงหาคม ๒๕๖๑ นุสรา/ตรวจ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๗๗ ง/หน้า ๔๘/๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๑
809161
ประกาศสานักงานคณะกรรมการกากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 39/2561 เรื่อง กาหนดปัจจัยในการพิจารณาความร้ายแรงของพฤติกรรมอันเป็นลักษณะต้องห้ามสาหรับบุคคลที่เป็นหรือจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. ๓๙/๒๕๖๑ เรื่อง กำหนดปัจจัยในการพิจารณาความร้ายแรงของพฤติกรรม อันเป็นลักษณะต้องห้ามสำหรับบุคคลที่เป็นหรือจะเป็น ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล[๑] อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๖ วรรคสามแห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องขอรับความเห็นชอบบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ สานักงาน ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในประกาศนี้ “ประกาศกระทรวงการคลัง” หมายความว่า ประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องขอรับความเห็นชอบบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ข้อ ๒ เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามข้อ ๖ วรรคสามแห่งประกาศกระทรวงการคลังสำนักงาน ก.ล.ต. จึงกำหนดให้ใช้ปัจจัยต่อไปนี้ ในการพิจารณาระดับความร้ายแรงของพฤติกรรมอันเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่เป็นหรือจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (๑) ปัจจัยหลัก ซึ่งหมายถึง ข้อเท็จจริงประเภทที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้น้ำหนักในการพิจารณามากกว่าข้อเท็จจริงอื่น ได้แก่ (ก) ขอบเขตของผลกระทบจากพฤติกรรมอันเป็นลักษณะต้องห้าม เช่น มีผลกระทบต่อตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ตลาดเงิน หรือตลาดทุน กระทบต่อประชาชนโดยรวมหรือต่อบุคคลเฉพาะกลุ่ม เป็นต้น (ข) นัยสำคัญของพฤติกรรมอันเป็นลักษณะต้องห้าม เช่น จำนวนเงินที่เกี่ยวข้องปริมาณธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น (ค) ผู้รับประโยชน์จากผลของพฤติกรรมอันเป็นลักษณะต้องห้าม (๒) ปัจจัยรอง ซึ่งหมายถึง ข้อเท็จจริงประเภทที่สำนักงาน ก.ล.ต. ใช้เพื่อการเพิ่มหรือลดน้ำหนักในการพิจารณาข้อเท็จจริงโดยรวม ได้แก่ (ก) ความเกี่ยวข้องของบุคคลต่อพฤติกรรมอันเป็นลักษณะต้องห้าม เช่น เป็นตัวการผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน เป็นต้น (ข) ความซับซ้อนของลักษณะการกระทาหรือเครื่องมือที่ใช้ในการกระทำ เช่น การใช้ชื่อบุคคลอื่น หรือการตั้งบริษัทอำพราง เป็นต้น (ค) ประวัติพฤติกรรมอันเป็นลักษณะต้องห้ามในเรื่องเดียวกันในอดีต (ง) การจงใจฝ่าฝืนหรือละเลยกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง (จ) พฤติกรรมอื่นในภายหลัง เช่น ให้ข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีหรือการดำเนินคดี หรือปิดบังอำพรางหรือทาลายพยานหลักฐานในคดีหรือให้การเท็จ เป็นต้น ข้อ ๓ กำหนดระยะเวลาห้ามมิให้บุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามประกาศกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ดังต่อไปนี้ ประเภทของลักษณะต้องห้าม ระดับความร้ายแรง ของพฤติกรรม ระยะเวลาสูงสุดที่จะห้าม มิให้เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ของผู้ประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๕ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) หรือ (๘) แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เล็กน้อย ปานกลาง รุนแรง หนึ่งปี สามปี ห้าปี ข้อ ๕ (๙) แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เล็กน้อย ปานกลาง รุนแรง หนึ่งปี สองปี สามปี ข้อ ๔ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ รพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ วิวรรธน์/จัดทำ ๘ สิงหาคม ๒๕๖๑ นุสรา/ตรวจ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๗๗ ง/หน้า ๔๖/๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๑
809028
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง แบบบัตรพนักงานเจ้าหน้าที่
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง แบบบัตรพนักงานเจ้าหน้าที่ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ และมาตรา ๕๕ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้งให้เป็นไปตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้ ข้อ ๒ รูปถ่ายที่ติดบัตรประจำตัวให้เป็นรูปถ่ายครึ่งตัว หน้าตรง ไม่สวมหมวกและแว่นตาดำ ขนาด ๒.๕ × ๓ เซนติเมตร ข้อ ๓ ให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้ออกบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง ข้อ ๔[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วิวรรธน์/จัดทำ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๑ นุสรา/ตรวจ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๗๖ ง/หน้า ๑๕/๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๑
809026
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องขอรับความเห็นชอบบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องขอรับความเห็นชอบบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยที่การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจากกระทรวงการคลังและเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งในการพิจารณาอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลคือ คุณสมบัติและความเหมาะสมของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนั้น เพื่อเป็นการพิทักษ์ประโยชน์ของประชาชนและเพื่อให้ทางการสามารถกำกับดูแลผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดำรงไว้ซึ่งผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เป็นที่น่าเชื่อถือต่อประชาชนและเหมาะสมแก่การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต่อไป อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ และมาตรา ๒๗ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในประกาศนี้ “ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภท ดังต่อไปนี้ เว้นแต่บริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นอยู่แล้วก่อน ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (๑) การเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๒) การเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๓) การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๔) การเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๕) การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี (๖) การเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่” หมายความว่า บุคคลที่ถือหุ้นในผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ข้อ ๒ ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยอมให้บุคคลใดมีอำนาจครอบงำการบริหารงานหรือการจัดการบริษัท เว้นแต่เป็นการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นในที่ประชุมผู้ถือหุ้น หรือเป็นการบริหารงานตามสัญญาของบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๓ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยื่นคำขอรับความเห็นชอบบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามแบบและวิธีการ พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.ประกาศกำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. โดย (๑) กรณีที่การเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบุคคลดังกล่าวจะเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีการเพิ่มทุน ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยื่นคำขอรับความเห็นชอบก่อนวันที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะขายหุ้นเพิ่มทุนอันเป็นผลให้บุคคลนั้นเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (๒) กรณีอื่นนอกจาก (๑) ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยื่นคำขอรับความเห็นชอบภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่ามีบุคคลเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่โดยยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ข้อ ๔ สำนักงาน ก.ล.ต. จะพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับคำขอรับความเห็นชอบ เอกสารและหลักฐานครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชน ข้อ ๕ ภายใต้บังคับข้อ ๖ และข้อ ๗ บุคคลที่จะได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ (๑) อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษหรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมายดังนี้ (ก) กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายนั้น ทั้งนี้ ในความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือการบริหารงานที่มีลักษณะเป็นการหลอกลวง ฉ้อฉล หรือทุจริต (ข) กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์โดยหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายนั้น ทั้งนี้ ในความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์หรือการบริหารงานที่มีลักษณะเป็นการหลอกลวง ฉ้อฉล หรือทุจริต (๒) อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษหรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินโดยหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายนั้น (๓) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต (๔) เคยต้องคำพิพากษาหรือถูกเปรียบเทียบปรับเนื่องจากกระทำความผิดตาม (๑) หรือ (๒) (๕) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากงาน อันเนื่องจากการกระทำโดยทุจริต (๖) เคยถูกถอดถอนจากการเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์ตามมาตรา ๑๔๔ หรือมาตรา ๑๔๕ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ (๗) มีการทำงานอันส่อไปในทางไม่สุจริต (๘) จงใจแสดงข้อความอันเป็นเท็จในสาระสำคัญหรือปกปิดข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญที่ควรบอกให้แจ้งในการขอรับความเห็นชอบเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ หรือในรายงานอื่นใดที่ต้องยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. หรือคณะกรรมการ ก.ล.ต. (๙) มีการทำงานที่แสดงถึงการขาดจรรยาบรรณหรือขาดมาตรฐานในการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ธุรกิจหลักทรัพย์ หรือการประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเงิน (๑๐) อยู่ระหว่างถูกหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจในการกำกับดูแลธุรกิจทางการเงินในประเทศหรือต่างประเทศ สั่งพักการประกอบธุรกิจหรือการเป็นผู้บริหารของนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล (๑๑) ถูกหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจในการกำกับดูแลธุรกิจทางการเงินในประเทศหรือต่างประเทศสั่งเพิกถอนการประกอบธุรกิจ หรือการเป็นผู้บริหาร หรือการให้ความเห็นชอบในการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล และปัจจุบันยังไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาประกอบธุรกิจหรือเป็นผู้บริหาร หรือเป็นผู้ถือหุ้นของนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล (๑๒) มีลักษณะต้องห้ามตามที่หน่วยงานอื่นที่มีอำนาจในการกำกับดูแลธุรกิจทางการเงินในประเทศหรือต่างประเทศจะไม่ให้ประกอบธุรกิจหรือเป็นผู้บริหารหรือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคล กรรมการหรือหุ้นส่วนของนิติบุคคลนั้น ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดใน (๑) ถึง (๑๒) ด้วย ข้อ ๖ ในกรณีที่ปรากฏว่าบุคคลที่จะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๕ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) หรือ (๙) ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการห้ามมิให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของพฤติกรรมของบุคคลนั้นเป็นรายกรณี ทั้งนี้ ระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าวต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่บุคคลนั้นพ้นโทษตามคำพิพากษาหรือนับแต่วันที่คณะกรรมการเปรียบเทียบมีคำสั่งเปรียบเทียบปรับบุคคลนั้น หรือนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัยของหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลหรือพิจารณาพฤติกรรมดังกล่าว ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและปรากฏลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๕ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) หรือ (๙) ในภายหลังด้วยโดยอนุโลม ปัจจัยที่อาจนำมาใช้ในการพิจารณาความร้ายแรงของพฤติกรรมตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ข้อ ๗ เมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลใดเข้าข่ายที่กำหนดในข้อ ๕ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) หรือ (๙) และความร้ายแรงของพฤติกรรมของบุคคลนั้นเมื่อได้พิจารณาตามปัจจัยที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนดตามข้อ ๖ แล้ว อยู่ในกลุ่มของพฤติกรรมที่มีระยะเวลาสูงสุดไม่เกินหนึ่งปีสำหรับการห้ามมิให้เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล สำนักงาน ก.ล.ต. อาจพิจารณาให้ถือว่าพฤติกรรมของบุคคลดังกล่าวมิได้เป็นลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อ ๕ หากไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าการที่บุคคลนั้นเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของประชาชนหรือจะทำให้ผู้ลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๘ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลใดมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อ ๕ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นต้องรายงานข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นหนังสือต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่รู้หรือมีเหตุอันควรรู้ถึงลักษณะต้องห้ามของผู้ถือหุ้นรายใหญ่นั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่าบุคคลที่สำนักงาน ก.ล.ต. เห็นชอบให้เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลใดมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๕ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจเพิกถอนความเห็นชอบที่ได้ให้ไว้แล้วได้ ข้อ ๙ ในกรณีที่บุคคลใดต้องห้ามมิให้เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอันเนื่องจากบุคคลนั้นมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๕ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) หรือ (๙) เมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดตามข้อ ๖ หรือกรณีเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดตามข้อ ๖ แล้ว มิให้สำนักงาน ก.ล.ต. นำพฤติกรรมอันเป็นลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๕ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) หรือ (๙) ที่ได้เคยใช้เป็นเหตุในการห้ามมิให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในครั้งก่อนมาเป็นเหตุในการห้าม โดยอาศัยลักษณะต้องห้ามในวงเล็บเดียวกันนั้นในครั้งหลังอีก ข้อ ๑๐ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลใดมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. เพราะเหตุที่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๕ หรือถูกสำนักงาน ก.ล.ต. เพิกถอนความเห็นชอบตามข้อ ๘ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นดำเนินการแก้ไขเหตุที่มิชอบดังกล่าวภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงาน ก.ล.ต. หากไม่สามารถแก้ไขได้ ภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นงดเว้นการขยายการประกอบธุรกิจหรือระงับการประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวได้ ทั้งนี้ จนกว่าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะแก้ไขเหตุที่มิชอบดังกล่าวข้างต้นได้แล้วเสร็จ ในการนี้คณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดำเนินการอื่นใดเพื่อคุ้มครองและรักษาประโยชน์ของลูกค้า ข้อ ๑๑[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วิวรรธน์/จัดทำ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๑ นุสรา/ตรวจ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๗๖ ง/หน้า ๑๑/๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๑
809024
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การอนุญาตการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การอนุญาตการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ และมาตรา ๒๖ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ในประกาศนี้ “ผู้ขอรับใบอนุญาต” หมายความว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภท ดังต่อไปนี้ (๑) การเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๒) การเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๓) การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๔) การเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๕) การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี (๖) การเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล “บริษัท” หมายความว่า บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด หมวด ๑ ผู้ขอรับใบอนุญาต ข้อ ๓ ผู้ขอรับใบอนุญาตจะได้รับใบอนุญาตต่อเมื่อมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ (๑) เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และ (ก) ในกรณีที่ขอรับใบอนุญาตประเภทการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี หรือการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมิใช่บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล (ข) ในกรณีที่ขอรับใบอนุญาตประเภทการเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมิใช่บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นศูนย์ซื้อขายริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๒) มีทุนจดทะเบียนซึ่งชาระแล้วไม่น้อยกว่าจำนวนที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด (๓) แสดงได้ว่าจะมีระบบงานที่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามประเภทที่ขอรับใบอนุญาต (๔) ไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีฐานะทางการเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือมีพฤติการณ์อื่นที่แสดงให้เห็นว่าอยู่ในระหว่างประสบปัญหาทางการเงิน รวมทั้งไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีข้อบกพร่องหรือมีความไม่เหมาะสมเกี่ยวกับการควบคุมและการปฏิบัติงานอันดีของธุรกิจ (๕) แสดงได้ว่าบุคคลที่เป็นหรือจะเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตไม่มีลักษณะต้องห้ามตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (๖) แสดงได้ว่าบุคคลที่เป็นหรือจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องขอรับความเห็นชอบบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (๗) ในกรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตมีการประกอบธุรกิจอื่นอยู่แล้วก่อนวันที่ยื่นขอรับใบอนุญาตต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ (ก) ธุรกิจอื่นของผู้ขอรับใบอนุญาตต้องเป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่อง เป็นประโยชน์ หรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามประเภทที่ขอรับใบอนุญาต และไม่มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามประเภทที่ขอรับใบอนุญาต เว้นแต่จะแสดงได้ว่าสามารถจัดให้มีระบบในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในเรื่องดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ข) งบการเงินประจำปีงวดการบัญชีปีล่าสุดของผู้ขอรับใบอนุญาตต้องผ่านการตรวจสอบและแสดงความเห็นจากผู้สอบบัญชีที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบ (ค) สามารถดำรงเงินกองทุนและกันเงินสำรองได้ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่จัดตั้งบริษัทนั้นหรือกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของบริษัทนั้น (ง) ได้รับความยินยอมให้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจากหน่วยงานที่ควบคุมการประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทนั้น หมวด ๒ การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๔ ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตยื่นคำขอต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามแบบและวิธีการ พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสานักงาน ก.ล.ต. ข้อ ๕ ในกรณีที่สำนักงาน ก.ล.ต. เห็นว่ามีความจำเป็นและสมควร และได้รับความยินยอมจากผู้ขอรับใบอนุญาต ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจหรือสถานที่ตั้งของผู้นั้นหรือสถานที่อื่นที่เกี่ยวข้อง หรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่นใด เพื่อตรวจสอบฐานะการเงิน การดำเนินงาน สินทรัพย์ หรือข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของผู้ขอรับใบอนุญาตได้ ข้อ ๖ ในกรณีที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. พิจารณาเห็นว่าผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้มีคุณสมบัติถูกต้องและครบถ้วนตามที่กำหนดในข้อ ๓ ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. เสนอแนะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุญาตภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับคำขอรับใบอนุญาต เอกสารและหลักฐานครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชน และให้รัฐมนตรีพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้เป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ข้อ ๗ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติตามเงื่อนไขในการได้รับใบอนุญาต ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตจะเริ่มประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามประเภทที่กำหนดในใบอนุญาตได้ต่อเมื่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจสอบแล้วเห็นว่าผู้ได้รับใบอนุญาตสามารถแสดงได้ถึงเรื่อง ดังต่อไปนี้ (ก) มีการบริหารงานที่ดีและมีประสิทธิภาพ (ข) มีนโยบายและมาตรการในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ การป้องกันการล่วงรู้ข้อมูลภายในระหว่างหน่วยงานและบุคลากร การควบคุมภายใน และการบริหารความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามประเภทที่ขอเริ่มประกอบธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีมาตรการในการควบคุมและติดตามให้มีการดำเนินงานตามนโยบายและมาตรการที่วางไว้ (ค) มีระบบงานที่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามประเภทที่ขอเริ่มประกอบธุรกิจ (ง) มีความพร้อมด้านบุคลากรเพื่อรับผิดชอบงานด้านธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามประเภทที่ขอเริ่มประกอบธุรกิจ (๒) ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่กำหนดในใบอนุญาตภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต (๓) ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องดำรงคุณสมบัติตามข้อ ๓ และดำเนินการในเรื่องที่ได้แสดงไว้ใน (๑) ตลอดเวลาที่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (๔) ผู้ได้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจที่มีผลต่อทุนจดทะเบียนชำระแล้วตามข้อ ๓ (๒) จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว โดยผู้ได้รับใบอนุญาตต้องยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน ก.ล.ต. พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอที่ถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชน และให้สำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขออนุญาตดังกล่าว ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในวรรคหนึ่งรัฐมนตรีโดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าวได้ ข้อ ๘ ในกรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นบุคคลตามมาตรา ๑๐๐ ที่มีการประกอบธุรกิจในลักษณะเดียวกับประเภทของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาต ให้สำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจสอบความพร้อมในการประกอบธุรกิจตามข้อ ๗ (๑) พร้อมกับการพิจารณาให้ใบอนุญาต และเมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเริ่มประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทนั้นได้ ข้อ ๙ คำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้ชำระค่าธรรมเนียมตามบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมท้ายประกาศนี้ ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมคำขอรับใบอนุญาตในวันที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตและให้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในวันที่ได้รับใบอนุญาต ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วิวรรธน์/จัดทำ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๑ นุสรา/ตรวจ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๗๖ ง/หน้า ๗/๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๑
808925
ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 37/2561 เรื่อง การให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สลธ. ๓๗/๒๕๖๑ เรื่อง การให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีของ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล[๑] โดยที่ข้อ ๕ วรรคสอง แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ กำหนดให้งบการเงินประจำรอบปีบัญชีของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ดังนั้น เพื่อประโยชน์ดังกล่าว สำนักงาน ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ การให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีตามประกาศนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ในกรณีของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี การเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี หรือการเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล ที่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครองและสามารถเข้าถึงหรือโอนทรัพย์สินของลูกค้าออกไปได้ ให้เป็นไปตามข้อ ๒ (๒) ในกรณีของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทอื่น ให้เป็นไปตามข้อ ๓ ข้อ ๒ ให้ถือว่าผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีของผู้ออกโทเคนดิจิทัลเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ในการสอบบัญชีและลงลายมือชื่อเพื่อแสดงความเห็นในการสอบบัญชีของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามข้อ ๑ (๑) ให้นำความในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีของผู้ออกโทเคนดิจิทัล มาใช้บังคับกับการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้ โดยอนุโลม (๑) หน้าที่ของผู้สอบบัญชีภายหลังได้รับความเห็นชอบ (๒) ลักษณะต้องห้ามของผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบ (๓) การสิ้นสุดการให้ความเห็นชอบและบทบังคับอื่น ข้อ ๓ นอกเหนือจากผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบตามข้อ ๒ ให้ถือว่าผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยผู้สอบบัญชีที่ไม่มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ในการสอบบัญชีและลงลายมือชื่อเพื่อแสดงความเห็นในการสอบบัญชีของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามข้อ ๑ (๒) (๑) เป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ บุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (๒) เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตซึ่ง (ก) อยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตโดยคณะกรรมการจรรยาบรรณตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี (ข) เคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตโดยคณะกรรมการจรรยาบรรณตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชีในช่วงสามปีก่อนวันที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทำการแต่งตั้งเป็นผู้สอบบัญชี หรือเคยถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตโดยคณะกรรมการจรรยาบรรณตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี ข้อ ๔ สำหรับการจัดทำงบการเงินประจำรอบปีบัญชี ๒๕๖๐ และ ๒๕๖๑ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามข้อ ๑ (๑) อาจใช้ผู้สอบบัญชีตามข้อ ๓ ในการสอบบัญชีและลงลายมือชื่อเพื่อแสดงความเห็นในการสอบบัญชีของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ข้อ ๕ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ รพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ปวันวิทย์/จัดทำ ๓ กันยายน ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๗๓ ง/หน้า ๑๐/๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑
808923
ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 36/2561 เรื่อง การจัดการและจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สลธ. ๓๖/๒๕๖๑ เรื่อง การจัดการและจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล[๑] อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๓ (๑) ประกอบกับข้อ ๙ (๘) และข้อ ๑๑ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ สำนักงาน ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดเก็บข้อมูล เอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยให้จัดเก็บตามระยะเวลาดังต่อไปนี้ เว้นแต่มีหลักเกณฑ์กำหนดไว้เป็นการเฉพาะในประกาศอื่น (๑) หลักฐานประกอบการพิจารณาคำขอเปิดบัญชีและการทำสัญญากับลูกค้า การตรวจสอบตัวตนที่แท้จริงของลูกค้า ผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง และผู้มีอำนาจควบคุมของลูกค้า หลักฐานเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า วัตถุประสงค์การลงทุน ระดับความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนของลูกค้า รวมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวกับการปรับปรุงหรือทบทวนข้อมูลดังกล่าว ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดเก็บไว้อย่างน้อยเป็นระยะเวลา ๕ ปี นับแต่วันที่มีการปิดบัญชีหรือเลิกสัญญากับลูกค้า โดยต้องจัดเก็บในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงาน ก.ล.ต. เรียกดูหรือตรวจสอบได้ทันที (๒) หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดเก็บไว้อย่างน้อยเป็นระยะเวลา ๕ ปีนับแต่วันที่มีการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยน โดยในระยะเวลา ๒ ปีแรกต้องจัดเก็บในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงาน ก.ล.ต. เรียกดูหรือตรวจสอบได้ทันที (๓) รายงานหรือบทความการวิเคราะห์การลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดเก็บไว้อย่างน้อยเป็นระยะเวลา ๒ ปีนับแต่วันที่เผยแพร่รายงานหรือบทความการวิเคราะห์ดังกล่าวให้แก่ลูกค้าโดยจัดเก็บไว้ในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงาน ก.ล.ต. เรียกดูหรือตรวจสอบได้ทันที (๔) บันทึกการให้คำแนะนำ การรับคำสั่งซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลและการเจรจาตกลงเกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลกับลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดเก็บไว้อย่างน้อยเป็นระยะเวลา ๓ เดือนนับแต่วันที่ให้คำแนะนำ วันที่ได้รับคำสั่งซื้อ ขายหรือแลกเปลี่ยนหรือวันที่เจรจาตกลง ในกรณีที่การให้คำแนะนำ การรับคำสั่งซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล หรือการเจรจาตกลงเกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลกับลูกค้าได้กระทำทางโทรศัพท์หรือทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดเก็บในรูปแบบของเทปบันทึกเสียงหรือสิ่งบันทึกข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง เมื่อมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการให้คำแนะนำ การรับคำสั่งซื้อ ขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลหรือการเจรจาตกลงเกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลกับลูกค้า และการดำเนินการกับข้อร้องเรียนยังไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดเก็บบันทึกเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวไว้ต่อไปจนกว่าการดำเนินการกับข้อร้องเรียนจะแล้วเสร็จ ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ รพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ปวันวิทย์/จัดทำ ๓ กันยายน ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๗๓ ง/หน้า ๘/๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑
808921
ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สลธ. 35/2561 เรื่อง การให้ความเห็นชอบเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สลธ. ๓๕/๒๕๖๑ เรื่อง การให้ความเห็นชอบเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๙ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ และข้อ ๑๑ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กลธ. ๑๘/๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ สำนักงาน ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ การยื่นคำขอรับความเห็นชอบเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้เป็นไปตามแบบและวิธีการที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ข้อ ๒ สำนักงาน ก.ล.ต. จะพิจารณาให้ความเห็นชอบคำขอรับความเห็นชอบที่ยื่นตามข้อ ๑ เมื่อบุคคลดังกล่าวไม่มีลักษณะต้องห้ามตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกาหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๓ สำนักงาน ก.ล.ต. จะพิจารณาคำขอรับความเห็นชอบเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใน ๕ วันทำการนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขอรับความเห็นชอบ พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอที่ถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชน ข้อ ๔ บุคคลใดประสงค์จะได้รับหลักฐานการได้รับความเห็นชอบเป็นหนังสือ ให้ยื่นคำขอผ่านระบบที่จัดไว้สำหรับการดังกล่าวบนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ข้อ ๕ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ รพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ปวันวิทย์/จัดทำ ๓ กันยายน ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๗๓ ง/หน้า ๗/๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑
808917
ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 34/2561 เรื่อง การจัดทารายงานการคำนวณเงินกองทุน
ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. ๓๔/๒๕๖๑ เรื่อง การจัดทำรายงานการคำนวณเงินกองทุน[๑] อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๑๔ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ สำนักงาน ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในประกาศนี้ “รายงานการคำนวณเงินกองทุน” หมายความว่า รายงานการคำนวณเงินกองทุนตามแบบและคำอธิบายประกอบการคำนวณที่กำหนดตามข้อ ๒ ข้อ ๒ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลคำนวณเงินกองทุนตามแบบรายงานสำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ข้อ ๓ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดทำรายงานการคำนวณเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) จัดทำรายงานการคำนวณเงินกองทุนทุกวันสุดท้ายของเดือน เว้นแต่กรณีที่ปรากฏเหตุที่อาจทำให้มูลค่าเงินกองทุนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ รายงานทุกฉบับต้องมีการลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องโดยบุคคลผู้มีอำนาจลงนาม (๒) ยื่นรายงานการคำนวณเงินกองทุนของวันสุดท้ายของเดือนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายในวันทำการที่ ๑๐ ของเดือนถัดไป (๓) เก็บรักษารายงานการคำนวณเงินกองทุนตาม (๑) พร้อมหลักฐานที่ใช้ประกอบการคำนวณรายงานดังกล่าวไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑ ปีในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจสอบได้ หรือพร้อมที่จะจัดส่งให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อได้รับการร้องขอ ข้อ ๔ เมื่อปรากฏว่าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลใดมีเงินกองทุนเท่ากับหรือน้อยกว่า ๑.๑ เท่าของเงินกองทุนที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำรงไว้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นยื่นรายงานชี้แจงสาเหตุที่เงินกองทุนลดต่ำกว่าอัตราที่กำหนดข้างต้น พร้อมทั้งวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเงินกองทุนในอนาคต และความสามารถในการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องในช่วง ๑ ปีนับจากวันที่ยื่นรายงานชี้แจงสาเหตุ ทั้งนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยื่นรายงานชี้แจงสาเหตุและข้อมูลวิเคราะห์ภายใน ๒ วันทำการนับแต่วันที่รู้ว่าเงินกองทุนลดต่ำกว่าอัตราที่กำหนดข้างต้นและทุกวันสุดท้ายของแต่ละเดือนจนกว่าผู้ประกอบธุรกิจจะสามารถดำรงเงินกองทุนได้มากกว่าอัตราที่กำหนดข้างต้น เว้นแต่สำนักงาน ก.ล.ต. จะกำหนดให้ปฏิบัติเป็นประการอื่น ข้อ ๕ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยื่นรายงานการดำรงเงินกองทุน ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบรับส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบวิธีปฏิบัติสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการรับส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ ๖ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ รพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ปวันวิทย์/จัดทำ ๓ กันยายน ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๗๓ ง/หน้า ๕/๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑
808770
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๙/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ (๑) มาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป ข้อ ๒ ในประกาศนี้ “ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภท ดังต่อไปนี้ (๑) การเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๒) การเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๓) การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๔) การเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๕) การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี (๖) การเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล “ลูกค้า” หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล “ผู้ลงทุนสถาบัน” หมายความว่า ผู้ลงทุนสถาบันตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่ “ผู้ลงทุนรายใหญ่” หมายความว่า ผู้ลงทุนรายใหญ่ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่ “ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ” หมายความว่า ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่ ข้อ ๓ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามประกาศนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจดำเนินการดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดหลักเกณฑ์ในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ ให้มีความชัดเจนเพียงพอที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะสามารถปฏิบัติตามประกาศนี้ได้ในแนวทางเดียวกัน ทั้งนี้ การกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว อาจกำหนดตามประเภทธุรกิจหรือประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลก็ได้ (๒) กำหนดแนวทาง (guideline) การปฏิบัติในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้เพื่อเป็นการให้แนวทางปฏิบัติที่ถือว่าเหมาะสมและสอดคล้องตามประกาศนี้และหากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้ (๓) เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลกระทำการที่อาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลขอความเห็นชอบการดำเนินการใดตามประกาศนี้ก่อนการดำเนินการนั้นก็ได้ (๔) เพื่อให้สำนักงาน ก.ล.ต. สามารถติดตามการปฏิบัติตามประกาศนี้ได้ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายในระยะเวลาที่เหมาะสมได้ โดยต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจนเกินสมควร ทั้งนี้ ระยะเวลาที่สำนักงาน ก.ล.ต. จะกำหนดให้เป็นไปตามกรอบ ดังต่อไปนี้ (ก) ในกรณีที่เป็นเรื่องเร่งด่วนและมีผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือลูกค้าอย่างมีนัยสำคัญ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดให้ดำเนินการภายในวันทำการที่เกิดกรณีดังกล่าวได้ (ข) ในกรณีอื่นนอกจาก (ก) ให้กำหนดระยะเวลาอย่างสมเหตุสมผลตามสภาพการณ์ เรื่อง และประเด็นที่เกี่ยวข้อง หมวด ๑ บททั่วไป ข้อ ๔ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีข้อตกลงกับลูกค้าเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่อาจเกิดจากการให้บริการ ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะเป็นการตัดหรือจำกัดความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับลูกค้า อันเนื่องจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล กรรมการ ผู้บริหาร หรือบุคลากร ไม่ได้ดำเนินธุรกิจหรือปฏิบัติงานให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประกาศนี้ ข้อ ๕ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดส่งงบการเงินที่จัดทำขึ้นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน ๓ เดือนนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี และให้ประกาศงบการเงินดังกล่าวบนเว็บไซต์ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในระยะเวลาดังกล่าวด้วย งบการเงินประจำรอบปีบัญชีของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ทั้งนี้ การจัดทำบัญชีให้ถือปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดโดยสถาบันวิชาชีพที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นชอบและข้อกำหนดเพิ่มเติมตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ข้อ ๖ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประสงค์จะประกอบกิจการอื่นนอกเหนือจากการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะดำเนินการได้ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) เป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่อง เป็นประโยชน์ หรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (๒) ไม่มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเว้นแต่จะแสดงได้ว่าสามารถจัดให้มีระบบในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในเรื่องดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ (๓) เป็นกิจการที่ไม่มีความเสี่ยงต่อทรัพย์สินของลูกค้า ฐานะของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือเป็นกิจการที่อาจมีความเสี่ยงดังกล่าว แต่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถจัดให้มีระบบในการควบคุมความเสี่ยงได้อย่างเพียงพอ ข้อ ๗ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดให้มีช่องทางให้สำนักงาน ก.ล.ต. เข้าถึงข้อมูล (application program interface) เกี่ยวกับรายการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละประเภทซึ่งรวมถึงข้อมูลการเสนอซื้อเสนอขาย ข้อมูลการจับคู่คำสั่งซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยน ราคาและปริมาณการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยน และข้อมูลของผู้ที่ทำรายการซื้อขาย หมวด ๒ โครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน และบุคลากร ข้อ ๘ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีโครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน ตลอดจนบุคลากร ที่เหมาะสมและเพียงพอให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความรับผิดชอบและเป็นไปตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ และมาตรฐานการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง การพิจารณาความเหมาะสมและเพียงพอตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงลักษณะ ขนาด ปริมาณ ความซับซ้อน และความหลากหลาย ของธุรกิจและบริการ ตลอดจนระดับความเสี่ยงที่เกี่ยวกับธุรกิจและบริการดังกล่าวด้วย ข้อ ๙ ภายใต้บังคับข้อ ๓๗ และข้อ ๔๒ โครงสร้างการบริหารจัดการและระบบงานตามข้อ ๘ ต้องครอบคลุมอย่างน้อยในเรื่อง ดังต่อไปนี้ (๑) การกำหนดโครงสร้างองค์กร บทบาท อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบในการดำเนินงานของกรรมการ ผู้บริหาร และบุคลากรที่ชัดเจน (๒) ระบบงานที่สามารถรองรับการประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องมีความเหมาะสม น่าเชื่อถือ และมีประสิทธิภาพ (๓) ระบบตรวจสอบและควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ โดยต้องคำนึงถึงเรื่องดังนี้ (ก) การรักษาความลับ (ข) การรับและจัดการข้อร้องเรียน (ค) การป้องกันมิให้ผู้ประกอบธุรกิจ ผู้บริหาร หรือพนักงานของผู้ประกอบธุรกิจ แสวงหาประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ (๔) การบริหารและจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในทุกด้านอย่างรัดกุม โดยต้องมีมาตรการอย่างเพียงพอที่จะป้องกันและจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ (๕) ระบบงานและมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (๖) ระบบการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า โดย (ก) ในกรณีที่ทรัพย์สินของลูกค้าอยู่ภายใต้การดูแลรักษาหรือจัดการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องจัดทำบัญชีของลูกค้าแยกแต่ละราย ให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน และเก็บรักษาทรัพย์สิน ในระบบที่มีความมั่นคง ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และต้องมีแผนการจัดการทรัพย์สินของลูกค้าที่เหมาะสม (ข) จัดให้มีการจ่ายผลตอบแทนจากการถือสินทรัพย์ดิจิทัลกับลูกค้าอย่างเป็นธรรมโดยต้องเปิดเผยเงื่อนไขและวิธีการให้ลูกค้าทราบ (๗) ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพซึ่งรวมถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยของระบบงานและข้อมูล (security) ความถูกต้องเชื่อถือได้ของระบบงานและข้อมูล (integrity) และความพร้อมใช้ของระบบงาน (availability) โดยคำนึงถึงความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT risk) และความเสี่ยงด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ (cyber risk) (๘) ระบบการจัดการและจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจให้ถูกต้อง ครบถ้วน ตรวจสอบได้และปลอดภัย โดยอย่างน้อยต้องเป็นไปตามข้อ ๑๑ (๙) ระบบงานในการดูแลการลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของผู้ประกอบธุรกิจ (proprietary trading) ซึ่งเหมาะสมและเพียงพอที่สามารถป้องกันมิให้มีการลงทุน (ก) ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ (ข) เป็นผลให้การซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลผิดไปจากสภาพปกติของตลาด (ค) มีลักษณะเป็นการลงทุนที่ไม่เหมาะสมในฐานะผู้มีวิชาชีพ (ง) ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์แก่ลูกค้าหรือความไม่เป็นธรรมกับลูกค้า (๑๐) ระบบงานในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (compliance) (๑๑) ระบบงานเพิ่มเติมสำหรับการให้บริการที่มีลักษณะเฉพาะ ข้อ ๑๐ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีบุคลากรในจำนวนที่เพียงพอกับการประกอบธุรกิจโดยบุคลากรดังกล่าวต้องมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ อย่างเหมาะสมซึ่งสอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตและไม่มีประวัติในทางที่เสื่อมเสีย ข้อ ๑๑ ในการจัดการและจัดเก็บข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) จัดให้มีระบบการจัดการและจัดเก็บที่รัดกุม เป็นระเบียบ และพร้อมนำข้อมูลมาใช้งานหรือตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพภายในระยะเวลาอันสมควร (๒) ระบบตาม (๑) ต้องสามารถป้องกัน (ก) การแก้ไข การสูญหาย หรือการถูกทำลาย อย่างไม่เหมาะสม (ข) การใช้หรือการเข้าถึงข้อมูลอย่างไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม หรือขัดกับกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า หรือข้อมูลที่ไม่เปิดเผยหรือยังไม่ได้เปิดเผยเป็นการทั่วไป (๓) จัดให้มีบุคลากรทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบการเก็บรักษาข้อมูล เพื่อให้การจัดการและจัดเก็บข้อมูลเป็นไปตามระบบใน (๑) และสามารถป้องกันกรณีตาม (๒) ได้ (๔) จัดเก็บข้อมูลให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน หมวด ๓ การคำนวณและรายงานการคำนวณเงินกองทุน ข้อ ๑๒ ในหมวดนี้ “ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ทั้งนี้ มิให้หมายความรวมถึงผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน บริษัทประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ “เงินกองทุน” หมายความว่า ผลรวมของ (๑) ส่วนของผู้ถือหุ้นที่ปรากฏในงบการเงินล่าสุดซึ่งมีวิธีการคำนวณตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่กำหนดโดยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี (๒) ทุนที่ออกและชำระแล้ว ซึ่งรวมส่วนเกินมูลค่าหุ้นและหักส่วนลดมูลค่าหุ้นแล้ว ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอันเนื่องมาจากการเพิ่มทุนหรือลดทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ยังไม่ถูกนับรวมเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นในการจัดทำงบการเงินงวดล่าสุด ข้อ ๑๓ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำรงเงินกองทุนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ไม่น้อยกว่า ๒๕ ล้านบาท สำหรับการประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๒) ไม่น้อยกว่า ๑๒.๕ ล้านบาท สำหรับการประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๓) ไม่น้อยกว่า ๕ ล้านบาท สำหรับการประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล กรณีที่ไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครองหรือหากมีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครองแต่ไม่สามารถเข้าถึงหรือโอนทรัพย์สินของลูกค้าออกไปได้ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกค้าเป็นรายครั้ง (๔) ไม่น้อยกว่า ๒.๕ ล้านบาท สำหรับการประกอบธุรกิจดังนี้ (ก) การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล (ข) การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล กรณีที่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครองแต่ไม่สามารถเข้าถึงหรือโอนทรัพย์สินของลูกค้าออกไปได้ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกค้าเป็นรายครั้ง (๕) ไม่น้อยกว่า ๕ แสนบาท สำหรับการเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัลกรณีที่ไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครอง ข้อ ๑๔ ให้ผู้ประกอบสินทรัพย์ดิจิทัลจัดทำรายงานการคำนวณเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ข้อ ๑๕ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามข้อ ๑๓ ดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) ระงับการดำเนินธุรกิจทุกประเภทจนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามที่กำหนดในข้อ ๑๓ และได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ (๒) แจ้งให้ลูกค้าทราบเป็นลายลักษณ์อักษรถึงการระงับการดำเนินธุรกิจทุกประเภท โดยไม่ชักช้า (๓) กระทำการหรืองดเว้นการกระทำอื่นใดตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ข้อ ๑๖ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหยุดประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภทและมีหนังสือแจ้งความประสงค์นั้นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวไม่ต้องปฏิบัติตามความในข้อ ๑๓ และ ๑๔ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจเรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามวรรคหนึ่ง ส่งเอกสารหรือรายงานที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาความสามารถในการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในระยะเวลาดังกล่าวได้ตามที่เห็นสมควร หมวด ๔ การดูแลรักษาความปลอดภัยของ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ข้อ ๑๗ นอกจากที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะในส่วนนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิบัติตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยข้อกำหนดในรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดให้มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ออกตามประกาศดังกล่าว โดยอนุโลม ข้อ ๑๘ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดให้มีการทดสอบการเจาะระบบ (penetration test) กับระบบงานสำคัญก่อนเริ่มให้บริการและภายหลังจากเริ่มให้บริการ อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง โดยบุคคลที่เป็นอิสระจากหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และรายงานผลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน ๓๐ วันนับจากวันที่ได้รับผลการทดสอบอย่างเป็นทางการ แต่ไม่เกิน ๙๐ วันนับจากวันที่สิ้นสุดกระบวนการทดสอบ ข้อ ๑๙ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดให้มีการตรวจสอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT audit) ก่อนเริ่มให้บริการและภายหลังเริ่มให้บริการแล้วอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้งโดยผู้ที่มีความรู้ความสามารถและเป็นอิสระ และรายงานผลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน ๓๐ วันนับจากวันที่ได้รับผลการทดสอบอย่างเป็นทางการ แต่ไม่เกิน ๙๐ วันนับจากวันที่สิ้นสุดกระบวนการทดสอบ หมวด ๕ การติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้า ข้อ ๒๐ ในการติดต่อหรือให้บริการแก่ลูกค้ารายใหม่ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้ให้ลูกค้าทราบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกใช้บริการและพิจารณาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้บริการดังกล่าว (๑) ข้อมูลโดยทั่วไปของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (๒) ลักษณะ ขอบเขต และเงื่อนไขการให้บริการที่เสนอต่อลูกค้า (๓) ช่องทางการให้บริการ และการติดต่อสื่อสาร (๔) สิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ และเงื่อนไข ที่ลูกค้ามีหรือต้องปฏิบัติเมื่อใช้บริการ (๕) ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (ถ้ามี) (๖) วิธีปฏิบัติระหว่างผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นไปตามกฎหมายประกาศที่เกี่ยวข้อง และวิธีปฏิบัติที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลกำหนดขึ้น ข้อ ๒๑ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องมีช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าที่มีระบบการควบคุมดูแลอย่างเหมาะสม รวมทั้งกระทำในเวลาที่เหมาะสม โดยข้อมูลที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารต้องชัดเจน น่าเชื่อถือ และไม่ทำให้ลูกค้าสำคัญผิด ข้อ ๒๒ ในการให้บริการแก่ลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องเปิดเผยข้อมูลให้กับลูกค้าอย่างเพียงพอ ไม่บิดเบือน และไม่ทำให้สำคัญผิด โดยต้องเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการหรือตัดสินใจลงทุน หมวด ๖ การรวบรวมและประเมินข้อมูลของลูกค้า ข้อ ๒๓ ก่อนเริ่มให้บริการแก่ลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องรวบรวมและประเมินข้อมูลของลูกค้าเพื่อวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้ (๑) ทำความรู้จักลูกค้า (๒) จัดประเภทลูกค้า (๓) ประเมินความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า (๔) พิจารณาความสามารถของลูกค้าในการปฏิบัติตามข้อตกลงในการใช้บริการ ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง หากเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล อาจดำเนินการผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรายอื่นได้ ข้อ ๒๔ ในการทำความรู้จักกับลูกค้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลพิจารณาข้อมูลที่ได้ตามข้อ ๒๓ เพื่อระบุตัวตนที่แท้จริงของลูกค้าหรือผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง ในกรณีที่ลูกค้าปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล หรือข้อมูลที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอหรือไม่เป็นปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีเหตุอันควรสงสัยอื่นใด ที่อาจทำให้ไม่สามารถระบุตัวตนที่แท้จริงของลูกค้าหรือผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงได้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิเสธการให้บริการ ข้อ ๒๕ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีการทบทวนและปรับปรุงข้อมูลที่ได้รับตามข้อ ๒๓ ให้เป็นปัจจุบันในระยะเวลาที่เหมาะสม หรือเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าข้อมูลที่มีอยู่นั้นไม่ถูกต้องหรือมีความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง และต้องมีระบบการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถนำข้อมูลนั้นมาใช้ประกอบการให้บริการกับลูกค้าได้โดยไม่ชักช้า ข้อ ๒๖ ก่อนเริ่มให้บริการแก่ลูกค้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเมินความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยพิจารณาจากข้อมูล ดังต่อไปนี้ (๑) ฐานะทางการเงิน (๒) ประสบการณ์ในการลงทุน (๓) ความรู้เกี่ยวกับการลงทุน (๔) วัตถุประสงค์ในการลงทุน (๕) ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ข้อ ๒๗ ในการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลพิจารณาข้อมูลที่ได้ตามข้อ ๒๖ เพื่อให้สามารถนำเสนอบริการเกี่ยวกับการลงทุนที่มีความเสี่ยงสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ลูกค้ายอมรับได้ เว้นแต่ในกรณีที่เป็นการให้บริการแก่ลูกค้าดังต่อไปนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะไม่ประเมินความเหมาะสมในการลงทุนของลูกค้าก็ได้ (๑) ลูกค้าเป็นผู้ลงทุนสถาบัน (๒) ลูกค้าเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลซึ่งแสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะไม่รับการประเมินความเหมาะสมในการลงทุน เมื่อได้ทำการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าตามวรรคหนึ่งแล้วให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลแจ้งผลการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนของลูกค้า ซึ่งต้องกระทำโดยบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๒๘ ในกรณีที่ลูกค้าปฏิเสธการให้ข้อมูลตามข้อ ๒๖ จนทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่สามารถประเมินความเหมาะสมในการลงทุนของลูกค้าได้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิเสธการให้บริการ ข้อ ๒๙ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดูแลให้ลูกค้าลงทุนให้เป็นไปตามผลการประเมินความเหมาะสมในการลงทุน ในกรณีที่ลูกค้าประสงค์จะลงทุนโดยไม่เป็นไปตามผลการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำเนินการใด ๆ เพื่อให้ลูกค้าตระหนักถึงความเสี่ยงจากการลงทุน ข้อ ๓๐ ในการพิจารณาความสามารถของลูกค้าในการปฏิบัติตามข้อตกลงในการใช้บริการให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลพิจารณาข้อมูลที่ได้ตามข้อ ๒๖ เพื่อให้สามารถนำเสนอบริการที่สอดคล้องกับความสามารถดังกล่าวของลูกค้า ในกรณีที่ไม่สามารถประเมินหรือพบข้อจำกัดเกี่ยวกับความสามารถของลูกค้าในการปฏิบัติตามข้อตกลงในการใช้บริการไม่ว่าในขณะใด ๆ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิเสธการให้บริการหรือจำกัดขอบเขตการให้บริการ ข้อ ๓๑ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประสงค์จะแนะนำการลงทุนให้กับลูกค้าต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) จัดให้มีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวหรือดำเนินการให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรายอื่นที่มีบุคลากรที่มีคุณสมบัติดังกล่าวเป็นผู้ดำเนินการแทนหรือจัดให้มีช่องทางที่ลูกค้าสามารถติดต่อกับบุคลากรที่ทำหน้าที่ดังกล่าวได้ (๒) พิจารณาความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าตามข้อมูลที่ได้จากการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนตามข้อ ๒๖ (๓) ดำเนินการให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะแนะนำให้แก่ลูกค้าหรือที่ลูกค้าสนใจลงทุน โดยมีข้อมูลอย่างน้อยตามข้อ ๓๓ อย่างเพียงพอ ไม่บิดเบือน และไม่ทำให้สำคัญผิด (๔) ดำเนินการให้มีการแจกจ่ายหนังสือชี้ชวนหรือข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลแก่ลูกค้าให้เป็นไปตามหน้าที่ซึ่งผู้ออกสินทรัพย์ดิจิทัลต้องปฏิบัติ (๕) ดูแลให้บริการเกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นไปตามความประสงค์ของลูกค้าโดยอย่างน้อยต้องดำเนินการดังนี้ (ก) มีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลแก่ลูกค้าอย่างถูกต้อง ครบถ้วน สมเหตุสมผลและไม่ทำให้สำคัญผิด (ข) มีกระบวนการที่ทำให้มั่นใจว่าลูกค้าเข้าใจลักษณะ ความเสี่ยง และผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอย่างดี ก่อนตัดสินใจใช้บริการ (๖) ไม่เร่งรัดให้ลูกค้าตัดสินใจลงทุน โดยต้องให้เวลาลูกค้าอย่างเพียงพอที่จะทำให้ลูกค้าศึกษาข้อมูลและตัดสินใจใช้บริการ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องควบคุมและป้องกันมิให้มีการเผยแพร่ข้อมูลซึ่งยังไม่ได้รับการยืนยันความถูกต้องจากผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีผลต่อการตัดสินใจใช้บริการเกี่ยวกับการลงทุนของลูกค้าจนกว่าจะได้มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในระหว่างรอการตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องเตือนให้ลูกค้าใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาตัดสินใจลงทุนหรือทำธุรกรรมด้วย ข้อ ๓๒ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาให้บริการต่อลูกค้า และต้องมีกระบวนการที่ทำให้มั่นใจว่าผู้ทำหน้าที่แนะนำบริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรู้และเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวเป็นอย่างดี และสามารถนำเสนอข้อมูลนั้นได้ ข้อ ๓๓ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลตามข้อ ๓๑ ได้แก่ข้อมูลอย่างน้อย ดังต่อไปนี้ (๑) ลักษณะ โครงสร้าง เงื่อนไข และผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัล (๒) ความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (๓) สภาพคล่องของสินทรัพย์ดิจิทัล (๔) ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ออกสินทรัพย์ดิจิทัล (ถ้ามี) (๕) ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล (๖) ค่าธรรมเนียมและค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) (๗) ข้อมูลเกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการให้บริการ (ถ้ามี) (๘) ข้อมูลอื่นที่จำเป็นซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน (ถ้ามี) หมวด ๗ การดำเนินการเมื่อลูกค้าตัดสินใจใช้บริการ ข้อ ๓๔ เมื่อลูกค้าตัดสินใจใช้บริการแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำเนินการตามความประสงค์ของลูกค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน ดังต่อไปนี้ (๑) ดำเนินการด้วยความรวดเร็วตามสภาพ และดูแลตรวจสอบให้การให้บริการนั้นตรงตามความประสงค์ของลูกค้า (๒) ดำเนินการให้การให้บริการเกี่ยวกับการลงทุนหรือการทำธุรกรรมเป็นไปตามกลไกตลาดและได้รับเงื่อนไขดีที่สุดตามสภาพตลาด (duty of best execution) ด้วย (๓) รายงานหรือแจ้งผลการดำเนินการให้ลูกค้าทราบโดยมีรายละเอียดอย่างเพียงพอภายในระยะเวลาที่เหมาะสม หมวด ๘ ข้อกำหนดตามลักษณะเฉพาะของการให้บริการ ส่วนที่ ๑ การเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและ การเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล ข้อ ๓๕ ในส่วนนี้ “ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล ข้อ ๓๖ ให้ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลกับเงินบาทหรือคริปโทเคอร์เรนซีที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. เท่านั้น ข้อ ๓๗ ห้ามผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อเป็นทรัพย์สินของตนเอง ข้อ ๓๘ ให้ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจัดให้มีระบบงานเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ (๑) ระบบคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาให้บริการซื้อขาย (๒) ระบบการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๓๙ ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล (๒) กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และการชำระราคาและการส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัล (๓) กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดให้มีผู้ดูแลสภาพคล่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ข้อ ๔๐ ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีระบบการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) มีระบบการซื้อขายที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ซึ่งอย่างน้อยต้องครอบคลุมในเรื่องดังนี้ (ก) มีระบบที่สามารถรองรับปริมาณการซื้อขายได้อย่างเพียงพอ ซึ่งสามารถตรวจสอบความสามารถในการชำระราคาและส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ใช้บริการได้ก่อนมีการส่งคำสั่งซื้อขาย (ข) มีระบบชำระราคาและส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความมั่นคง ปลอดภัย น่าเชื่อถือ (ค) มีระบบการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับการทำรายการซื้อขายแก่ลูกค้า ซึ่งรวมถึงข้อมูลก่อนทำรายการซื้อขาย (ถ้ามี) (pre - trade information) และข้อมูลภายหลังทำรายการซื้อขาย (post - trade information) อย่างเพียงพอ รวดเร็ว และเหมาะสม (transparency) (ง) มีระบบบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับการทำรายการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งนี้ เพื่อติดตามและตรวจสอบการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในภายหลัง (audit trail) (จ) มีระบบงานที่ช่วยเสริมสร้างและรักษากลไกการทำงานของระบบซื้อขายให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย (ฉ) มีระบบเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่นำมาซื้อขายอย่างเพียงพอและเป็นปัจจุบัน (๒) จัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับการซื้อขาย ซึ่งอย่างน้อยต้องครอบคลุมในเรื่อง ดังต่อไปนี้ (ก) ขั้นตอนและวิธีการในการเปิดรับลูกค้าที่ชัดเจนและเป็นธรรม (fair access) และต้องกำหนดประเภทลูกค้าให้เหมาะสมกับประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลที่ซื้อขาย (ข) ประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถซื้อขายได้บนระบบที่ให้บริการ รวมถึงข้อจำกัดหรือเงื่อนไขต่าง ๆ ของสินทรัพย์ดิจิทัลในแต่ละประเภท รวมถึงกฎเกณฑ์ในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (ค) ขั้นตอนการชำระราคาและส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัล (ง) ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการแก่ลูกค้า ส่วนที่ ๒ การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีและ การเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล ข้อ ๔๑ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัลต้องให้ข้อมูลแก่ลูกค้าอย่างเพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อขาย โดยอย่างน้อยต้องมีการแจ้งให้ลูกค้าทราบราคาที่เสนอซื้อขาย เงื่อนไข ระยะเวลาการซื้อขาย และเหตุแห่งการปฏิเสธไม่รับซื้อขายอย่างชัดเจนด้วย ข้อ ๔๒ ห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัลเก็บรักษาทรัพย์สินลูกค้า ประกาศ ณ วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ วรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ปวันวิทย์/จัดทำ ๓ กันยายน ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๖๙ ง/หน้า ๖๖/๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑
808768
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กลธ. 18/2561 เรื่อง การกำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กลธ. ๑๘/๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการและ ผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ (๑) มาตรา ๒๘ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป ข้อ ๒ ในประกาศนี้ และรวมถึงตารางแนบท้ายที่กำหนดตามประกาศนี้ “ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภท ดังต่อไปนี้ (๑) การเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๒) การเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๓) การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๔) การเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๕) การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี (๖) การเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล “ผู้ออกโทเคนดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ออกโทเคนดิจิทัลตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน “ผู้ลงทุน” หมายความว่า ผู้ที่สนใจจะลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล “ลูกค้า” หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล “ผู้จัดการ” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทให้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบสูงสุดในการบริหารงานของบริษัท “ผู้อำนวยการฝ่าย” หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบงานในระดับส่วนงานภายในบริษัท “สถาบันการเงิน” หมายความว่า (๑) ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ (๒) ธุรกิจหลักทรัพย์ (๓) ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (๔) ธุรกิจประกันภัย (๕) ธุรกิจสถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ข้อ ๓ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดแนวทาง (guideline) การปฏิบัติในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ เพื่อเป็นการให้แนวทางปฏิบัติที่ถือว่าเหมาะสมและสอดคล้องตามประกาศนี้และหากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้แล้ว หมวด ๑ การแต่งตั้งกรรมการหรือผู้บริหารของ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๔ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องแต่งตั้งกรรมการหรือผู้บริหารที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ และได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้ (๑) เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามตารางคุณสมบัติของกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่แนบท้ายประกาศนี้ (๒) เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ใน หมวด ๒ และหมวด ๓ ข้อ ๕ ผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามข้อ ๔ ได้แก่ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ ผู้อำนวยการฝ่าย หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่ทำหน้าที่ต่อไปนี้ (๑) รับผิดชอบงานเกี่ยวกับการบริหาร กำหนด ควบคุมและกำกับดูแลนโยบายของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (๒) รับผิดชอบงานที่เกี่ยวกับการติดต่อและให้บริการลูกค้า (๓) รับผิดชอบงานที่เกี่ยวกับการจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (๔) รับผิดชอบงานที่เกี่ยวกับการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาให้บริการ หมวด ๒ ลักษณะต้องห้ามของกรรมการหรือผู้บริหาร ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๖ กรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ (๑) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย (๒) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต (๓) เคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต เว้นแต่จะได้รับยกเว้นจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. (๔) เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น เว้นแต่จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด (๕) เคยถูกถอดถอนจากการเป็นประธานกรรมการ กรรมการ หรือผู้จัดการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น (๖) เป็นข้าราชการการเมือง (๗) เป็นข้าราชการซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือสำนักงาน ก.ล.ต. เว้นแต่ (ก) เป็นกรณีที่ได้รับการแต่งตั้งโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อเข้าไปช่วยเหลือในการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ข) เป็นกรณีของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หมวด ๓ การมีลักษณะต้องห้ามอื่นของกรรมการหรือผู้บริหาร ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๗ กรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามอื่น ดังต่อไปนี้ด้วย (๑) มีความบกพร่องในด้านความสามารถตามกฎหมาย หรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๘ เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๑ (๒) มีประวัติการถูกลงโทษหรือถูกดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สินตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๙ เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๒ (๓) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติต่อลูกค้า ผู้ลงทุน บริษัทหรือผู้ถือหุ้นโดยรวม หรือตลาดเงิน ตลาดทุนหรือตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวมในเรื่องที่มีนัยสำคัญตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๓ ข้อ ๘ ให้กรณีดังต่อไปนี้เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๑ (๑) เป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ (๒) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ (๓) เป็นบุคคลที่อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษโดยสำนักงาน ก.ล.ต. หรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอันเนื่องจากกรณีที่สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวโทษ หรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดตามมาตรา ๖๖ ประกอบกับมาตรา ๒๖ (เฉพาะที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการฉ้อโกงประชาชน) หรือมาตรา ๘๒ ถึงมาตรา ๙๑ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ (๔) เป็นบุคคลที่สำนักงาน ก.ล.ต. ปฏิเสธหรือถอนการแสดงรายชื่อของบุคคลในระบบข้อมูลรายชื่อกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกสินทรัพย์ดิจิทัลเนื่องจากเป็นผู้ที่มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจให้เป็นกรรมการและผู้บริหารตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารบริษัท (๕) เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐๓ (๑) ถึง (๗) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ (๖) เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๑ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ข้อ ๙ ให้กรณีดังต่อไปนี้เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๒ (๑) เป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดอาญาแผ่นดินเกี่ยวกับการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน โดยศาลมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษ และพ้นจากการรอการลงโทษมาแล้วไม่ถึง ๓ ปี (๒) เป็นบุคคลที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือกฎหมายอื่นในลักษณะเดียวกัน และยังไม่พ้น ๓ ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน (๓) เป็นบุคคลที่ไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของสถาบันการเงิน เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลสถาบันการเงินไม่ว่าตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ และอยู่ระหว่างเวลาที่ยังไม่สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้อีก ทั้งนี้ เฉพาะลักษณะต้องห้ามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (ก) การทุจริตต่อหน้าที่ หรือทุจริต หลอกลวง หรือฉ้อโกงเกี่ยวกับทรัพย์สิน (ข) การบริหารงานที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่เป็นไปตามคำสั่งของหน่วยงานกำกับดูแล หรือบริหารงานหรือจัดการงานที่ไม่เหมาะสม (ค) การกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย หรือการกระทำที่ไม่เป็นธรรมหรือเป็นการเอาเปรียบ (๔) เป็นบุคคลที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินการอันเป็นผลให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในลักษณะ ดังต่อไปนี้ (ก) ถูกคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งหรือศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในผู้ออกโทเคนดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือถูกสำนักงาน ก.ล.ต. สั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ หรือมีลักษณะที่ทำให้การให้ความเห็นชอบสิ้นสุด หรือถูกดำเนินการอื่นในทำนองเดียวกันอันเป็นผลให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการหรือผู้บริหารในผู้ออกโทเคนดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ข) การดำเนินการตาม (ก) สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติงานในตำแหน่งที่มีผลกระทบถึงความเหมาะสมในการปฏิบัติงานในตำแหน่งที่พิจารณา (ค) เหตุของการดำเนินการตาม (ก) เป็นเรื่องการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ และประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าวในมูลเหตุเนื่องจากการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง ทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือขาดความระมัดระวัง ขาดความซื่อสัตย์สุจริต (๕) เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๒ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ข้อ ๑๐ ให้กรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีพฤติกรรมดังต่อไปนี้เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๓ (๑) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมประพฤติผิดต่อหน้าที่หรือการให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเป็นธรรม ขาดความรับผิดชอบและความรอบคอบ เอาเปรียบผู้ลงทุน หรือขาดจรรยาบรรณหรือมาตรฐานในการปฏิบัติงานเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งกำหนดโดยสำนักงาน ก.ล.ต. สมาคม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนหรือตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่สำนักงาน ก.ล.ต. ยอมรับ หรือมีหรือเคยมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของบุคคลอื่น (๒) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมที่เป็นการละเลยการตรวจสอบดูแลตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้นิติบุคคลหรือกิจการที่ตนมีอำนาจในการจัดการ หรือผู้ปฏิบัติงานซึ่งอยู่ภายใต้การตรวจสอบดูแล (ถ้ามี) กระทำการใดหรืองดเว้นกระทำ การใดอันเป็นการฝ่าฝืนหรือขัดต่อพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ หรือประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว อันอาจก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวม หรือความเสียหายต่อชื่อเสียง ฐานะ การดำเนินธุรกิจ หรือลูกค้าของธุรกิจนั้น (๓) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมอันส่อไปในทางไม่สุจริตที่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างมีนัยสำคัญหรือมีหรือเคยมีส่วนร่วม หรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของบุคคลอื่น เช่น การแสวงหาหรือเบียดบังผลประโยชน์ใดโดยมิชอบเพื่อตนเอง ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือบุคคลอื่น โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ที่ตนดำรงอยู่ เป็นต้น (๔) เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๓ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน หมวด ๔ การขอรับความเห็นชอบและการให้ความเห็นชอบ ส่วนที่ ๑ การขอรับความเห็นชอบ ข้อ ๑๑ ในการยื่นคำขอรับความเห็นชอบเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้เป็นไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ส่วนที่ ๒ การให้ความเห็นชอบสิ้นสุดลง ข้อ ๑๒ การให้ความเห็นชอบกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสิ้นสุดลง เมื่อบุคคลนั้นมีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในหมวด ๗ หมวด ๕ หน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๑๓ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรายงานการแต่งตั้งและการสิ้นสุดการแต่งตั้งกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ผ่านระบบที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน ๗ วันทำการนับแต่วันที่เกิดกรณีดังกล่าว หมวด ๖ หน้าที่ของกรรมการหรือผู้บริหารของ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๑๔ กรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต (๒) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ และปฏิบัติต่อลูกค้าทุกรายอย่างเป็นธรรม ด้วยความเอาใจใส่ ระมัดระวัง รอบคอบ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ (๓) ปฏิบัติหน้าที่หรือดูแลให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ และประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตน (๔) ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามจรรยาบรรณและมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพที่กำหนดโดยสำนักงาน ก.ล.ต. สมาคม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจตลาดทุนที่สำนักงาน ก.ล.ต. ยอมรับ ข้อ ๑๕ ในกรณีที่กรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ ๑๔ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณาและดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับการมีลักษณะต้องห้ามในกลุ่มที่ ๓ ตามหมวด ๗ หมวด ๗ ผลของการมีลักษณะต้องห้าม ส่วนที่ ๑ ข้อกำหนดทั่วไปในการพิจารณาลักษณะต้องห้าม ข้อ ๑๖ ในกรณีที่กรรมการหรือผู้บริหารที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ยื่นคำขอรับความเห็นชอบเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในประกาศนี้ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. ใช้เหตุแห่งการมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวในการปฏิเสธการให้ความเห็นชอบบุคคลดังกล่าวได้ ข้อ ๑๗ ในกรณีที่ผู้มีลักษณะต้องห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้สำนักงาน ก.ล.ต. ดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๔ (๑) ให้การให้ความเห็นชอบสิ้นสุดลง (๒) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามตามหมวด ๒ หมวด ๓ ลักษณะต้องห้ามตามกลุ่มที่ ๑ ตามข้อ ๘ หรือลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๒ ตามข้อ ๙ (๑) หรือ (๒) ให้สำนักงาน ก.ล.ต. สั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ (๓) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๒ ตามข้อ ๙ (๓) (๔) หรือ (๕) ให้สำนักงาน ก.ล.ต. สั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบตามแต่เหตุแห่งการมีลักษณะต้องห้ามนั้น (๔) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๓ ตามข้อ ๑๐ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบตามสมควรแก่กรณี ข้อ ๑๘ ในการใช้ดุลยพินิจปฏิเสธการให้ความเห็นชอบตามข้อ ๑๖ พักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบตามข้อ ๑๗ (๓) และ (๔) แล้วแต่กรณี ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้แทนหรือประกอบการดำเนินการดังกล่าวได้ (๑) กำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบหรือห้ามการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลดังกล่าวในคราวต่อไป โดยระยะเวลาที่กำหนดต้องไม่เกิน ๑๐ ปี สำหรับการพิจารณาการมีลักษณะต้องห้ามในแต่ละกรณี (๒) กำหนดระยะเวลาการสั่งพักการให้ความเห็นชอบ ซึ่งเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วให้บุคคลดังกล่าวสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในตำแหน่งเดิมต่อไปได้โดยไม่ต้องยื่นคำขอความเห็นชอบ (๓) ในกรณีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๓ ตามข้อ ๑๐ มีลักษณะไม่ร้ายแรง หรือเกิดขึ้นมาแล้วเกินกว่า ๑๐ ปีนับถึงวันที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงาน ก.ล.ต. สำนักงาน ก.ล.ต. อาจไม่ยกกรณีดังกล่าวขึ้นพิจารณาเป็นเหตุในการปฏิเสธการให้ความเห็นชอบ การพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบหรือห้ามการปฏิบัติหน้าที่ หรืออาจลดระดับการดำเนินการเป็นการเปิดเผยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวก็ได้ ส่วนที่ ๒ การพิจารณาลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๓ ข้อ ๑๙ ในการพิจารณาความร้ายแรงของพฤติกรรมที่มีผลกระทบต่อการมีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๓ ตามข้อ ๑๐ หรือการพิจารณาดำเนินการตามข้อ ๑๖ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. นำปัจจัยดังต่อไปนี้ มาใช้ประกอบการพิจารณา (๑) บทบาทความเกี่ยวข้องและพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกพิจารณา (๒) การลงโทษที่บุคคลนั้นได้รับไปแล้ว (๓) ผลกระทบหรือความเสียหายต่อลูกค้า ผู้ลงทุน บริษัท หรือผู้ถือหุ้นโดยรวม ตลาดเงิน ตลาดทุน หรือตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวม หรือผลประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกับข้อเท็จจริงหรือพฤติกรรมที่พิจารณา (๔) การแก้ไขหรือการดำเนินการอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้า ผู้ลงทุน บริษัท หรือผู้ถือหุ้นโดยรวม ตลาดเงิน ตลาดทุน หรือตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวม หรือแก้ไข เยียวยา หรือป้องกันมิให้เกิดข้อเท็จจริงหรือพฤติกรรมทำนองเดียวกันนั้นซ้ำอีก (๕) พฤติกรรมอื่นของผู้ถูกพิจารณาที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานหรือขัดขวางการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.ล.ต. (๖) ประวัติหรือพฤติกรรมในอดีตอื่นใดที่แสดงถึงความไม่เหมาะสมที่จะเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๒๐ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.ล.ต. แต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน รวมทั้งเสนอความเห็นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เกี่ยวกับการพิจารณาเหตุของการพักหรือเพิกถอน การให้ความเห็นชอบกรรมการหรือผู้บริหารที่มีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๓ ตามข้อ ๑๐ หรือพิจารณาให้ความเห็นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ในเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามความในหมวดนี้ หรือพิจารณาวางแนวทางและให้ความเห็นต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ในการดำเนินการ ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากตลาดเงิน ตลาดทุนหรือตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวนไม่เกิน ๕ คนซึ่งไม่เป็นเลขาธิการหรือพนักงานของสำนักงาน ก.ล.ต. โดยจำนวนนี้อย่างน้อยต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นผู้แทนของผู้ลงทุนจำนวน ๑ คน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หลักทรัพย์ หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจำนวน ๒ คน ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการและให้สำนักงาน ก.ล.ต. แต่งตั้งพนักงานของสำนักงาน ก.ล.ต. คนหนึ่งเป็นเลขานุการ กรรมการรายใดมีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณาในลักษณะที่อาจมีผลกระทบต่อการให้ความเห็นอย่างเป็นกลาง ให้ผู้นั้นแจ้งการมีส่วนได้เสียนั้นและห้ามมิให้เข้าร่วมพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ข้อ ๒๑ เพื่อให้การใช้ดุลยพินิจสั่งการของสำนักงาน ก.ล.ต. ตามหมวดนี้มีความชัดเจนและผ่านกระบวนการทบทวนตามสมควร ในการแจ้งเหตุในการสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเนื่องจากการมีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ ๓ ตามข้อ ๑๐ สำนักงาน ก.ล.ต. จะกระทำได้ต่อเมื่อได้ดำเนินการอย่างน้อย ดังต่อไปนี้ (๑) เปิดโอกาสให้ผู้ถูกพิจารณามีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริง (๒) เสนอข้อเท็จจริงรวมทั้งคำชี้แจงของผู้ถูกพิจารณา (ถ้ามี) ให้คณะกรรมการเพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน และเสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และหากคณะกรรมการประสงค์จะให้ผู้ถูกพิจารณาชี้แจงเพิ่มเติม ให้สำนักงาน ก.ล.ต. จัดให้มีการชี้แจงเช่นนั้น ในการปฏิบัติอื่นใดนอกจากที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ข้อ ๒๒ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจไม่ดำเนินการตามข้อ ๒๑ วรรคหนึ่งได้ ในกรณีดังต่อไปนี้ (๑) กรณีดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการพิจารณาอื่นที่ทำให้ผู้ถูกพิจารณามีโอกาสชี้แจง และเคยผ่านการพิจารณาให้ความเห็นในรูปองค์คณะที่มีผู้มีความรู้ประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจในตลาดทุนเป็นองค์คณะด้วยหรือโดยองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องมาอย่างเพียงพอแล้ว หรือ (๒) คณะกรรมการได้กำหนดแนวทางพิจารณาดำเนินการสำหรับกรณีที่มีข้อเท็จจริงทำนองเดียวกันกับกรณีที่พิจารณานี้ไว้ชัดเจนเพียงพอแล้ว ประกาศ ณ วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ วรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ [เอกสารแนบท้าย] ๑. คุณสมบัติของผู้ขอความเห็นชอบเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท ผู้จัดการ หรือตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่นของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปวันวิทย์/จัดทำ ๓ กันยายน ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๖๙ ง/หน้า ๕๗/๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑
808766
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กม. 17/2561 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่ได้รับใบอนุญาต
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กม. ๑๗/๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัลตามที่ได้รับใบอนุญาต[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ และมาตรา ๑๐ (๒) แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในประกาศนี้ “ผู้ได้รับใบอนุญาต” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภท ดังต่อไปนี้ (๑) การเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๒) การเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๓) การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (๔) การเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล (๕) การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี (๖) การเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล “ค่าธรรมเนียม” หมายความว่า ค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาต ข้อ ๒ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้ ทั้งนี้ หากผู้ได้รับใบอนุญาตมีการประกอบธุรกิจหลายประเภทให้ชำระค่าธรรมเนียมตามรายประเภทธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาต โดยให้ผู้ได้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมเฉพาะ เมื่อได้รับอนุญาตให้เริ่มประกอบธุรกิจแล้ว ข้อ ๓ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประเภทการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี หรือการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ ๐.๐๐๒ โดยคำนวณจากมูลค่าการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายดังกล่าวแต่สูงสุดไม่เกินปีละ ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ในกรณีที่อัตราค่าธรรมเนียมที่คำนวณได้ตามวรรคหนึ่งมีจำนวนน้อยกว่า ๕๐๐,๐๐๐ บาท ให้ชำระค่าธรรมเนียมขั้นต่ำปีละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท ข้อ ๔ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี หรือการเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ ๐.๐๐๑ โดยคำนวณจากมูลค่าการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนเพื่อบัญชีลูกค้าหรือเพื่อบัญชีตนเอง แต่สูงสุดไม่เกินปีละ ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ในกรณีที่อัตราค่าธรรมเนียมที่คำนวณได้ตามวรรคหนึ่งมีจำนวนน้อยกว่า ๒๕๐,๐๐๐ บาท ให้ชำระค่าธรรมเนียมขั้นต่ำปีละ ๒๕๐,๐๐๐ บาท ข้อ ๕ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประเภทการเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัลชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ ๑ โดยคำนวณจากกำไร (capital gain) ที่เกิดจากการค้าสินทรัพย์ดิจิทัล แต่สูงสุดไม่เกินปีละ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ในกรณีที่อัตราค่าธรรมเนียมที่คำนวณได้ตามวรรคหนึ่งมีจำนวนน้อยกว่า ๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้ชำระค่าธรรมเนียมขั้นต่ำปีละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ข้อ ๖ ในกรณีที่มีการระงับการประกอบธุรกิจทุกประเภทตลอดปีปฏิทิน ให้ชำระค่าธรรมเนียมร้อยละ ๕๐ ของค่าธรรมเนียมขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในแต่ละประเภทธุรกิจ ข้อ ๗ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมต่อสำนักงาน ก.ล.ต. โดยให้แบ่งชำระเป็น ๒ งวด ดังต่อไปนี้ (๑) งวดแรก ให้ชำระค่าธรรมเนียมขั้นต่ำตามประเภทธุรกิจภายในวันที่ ๓๑ มกราคมของปีนั้น เว้นแต่ในปีแรกของการเริ่มประกอบกิจการ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมขั้นต่ำในวันที่เริ่มประกอบกิจการ (๒) งวดที่สอง ให้ชำระค่าธรรมเนียมส่วนที่เกินกว่าค่าธรรมเนียมตาม (๑) ภายในวันที่ ๓๑ มกราคมของปีถัดไป ในกรณีที่มีการเลิกประกอบกิจการหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต ให้ชำระค่าธรรมเนียมส่วนที่ยังไม่ได้ชำระหรือยังคงค้างอยู่ภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่รัฐมนตรีอนุญาตให้เลิกประกอบกิจการหรือวันที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนใบอนุญาต แล้วแต่กรณี ข้อ ๘ ในการยื่นชำระค่าธรรมเนียมตามข้อ ๗ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดทำและยื่นรายละเอียดรายงานการชำระค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาตต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามแบบและที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ข้อ ๙ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าธรรมเนียมรายปี ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตคำนวณมูลค่าการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินบาททุกรายการ ข้อ ๑๐ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ วรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ปวันวิทย์/จัดทำ ๓ กันยายน ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๖๙ ง/หน้า ๕๕/๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑
808756
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 16/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการให้ความเห็นชอบผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. ๑๖/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการให้ความเห็นชอบ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ (๑) และ (๒) และมาตรา ๑๙ วรรคสาม แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป ข้อ ๒ ในประกาศนี้ “ผู้ออกโทเคนดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ออกโทเคนดิจิทัลตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน “สัญญาอัจฉริยะ” (smart contract) หมายความว่า ชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ที่ดำเนินการบังคับตามข้อตกลงระหว่างคู่สัญญาโดยอัตโนมัติเมื่อเกิดเหตุการณ์ตามที่กำหนด “ผู้บริหาร” หมายความว่า ผู้จัดการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหาร ๔ รายแรกนับต่อจากผู้จัดการลงมา ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ากับผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารรายที่ ๔ ทุกรายและให้หมายความรวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงินที่เป็นระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปหรือเทียบเท่า “ผู้ลงทุนสถาบัน” หมายความว่า ผู้ลงทุนสถาบันตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่ “ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ” หมายความว่า ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษและผู้ลงทุนรายใหญ่ “นิติบุคคลร่วมลงทุน” (venture capital) หมายความว่า นิติบุคคลร่วมลงทุนตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน “กิจการเงินร่วมลงทุน” หมายความว่า กิจการเงินร่วมลงทุนตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน ข้อ ๓ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามประกาศนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจดำเนินการดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดหลักเกณฑ์ในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ ให้มีความชัดเจนเพียงพอที่ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลจะสามารถปฏิบัติตามประกาศนี้ได้ในแนวทางเดียวกัน ทั้งนี้ การกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว อาจกำหนดตามประเภทโทเคนดิจิทัลหรือผู้ลงทุนก็ได้ (๒) สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจกำหนดแนวทาง (guideline) การปฏิบัติในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ เพื่อเป็นการให้แนวทางปฏิบัติที่ถือว่าเหมาะสมและสอดคล้องตามประกาศนี้และหากผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้ในเรื่องที่มีการออกแนวทางนั้น (๓) เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลกระทำการที่อาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดให้ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลขอความเห็นชอบการดำเนินการใดตามประกาศนี้ก่อนการดำเนินการนั้นก็ได้ (๔) เพื่อให้สำนักงาน ก.ล.ต. สามารถติดตามการปฏิบัติตามประกาศนี้ได้ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดให้ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลจัดส่งข้อมูล รายงาน หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายในระยะเวลาที่เหมาะสมได้ หรือจะสั่งการเป็นรายกรณีโดยต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลจนเกินสมควร ทั้งนี้ ระยะเวลาที่สำนักงาน ก.ล.ต. จะกำหนดให้เป็นไปตามกรอบ ดังต่อไปนี้ (ก) ในกรณีที่เป็นเรื่องเร่งด่วนและมีผลกระทบต่อผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล ผู้ลงทุน หรือตลาดทุน อย่างมีนัยสำคัญ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดให้ดำเนินการภายในวันทำการที่เกิดกรณีดังกล่าวได้ (ข) ในกรณีอื่นนอกจาก (ก) ให้กำหนดระยะเวลาอย่างสมเหตุสมผลตามสภาพการณ์ เรื่องและประเด็นที่เกี่ยวข้อง หมวด ๑ การขอความเห็นชอบและการให้ความเห็นชอบ เป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล ข้อ ๔ บุคคลที่ประสงค์จะขอรับความเห็นชอบเป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล ให้ยื่นคำขอรับความเห็นชอบต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามแบบคำขอที่กำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอที่ถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือประชาชน ข้อ ๕ ค่าธรรมเนียมคำขอรับความเห็นชอบเป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล คำขอละ ๕๐,๐๐๐ บาท โดยให้ผู้ยื่นคำขอรับความเห็นชอบเสียค่าธรรมเนียมในวันที่ยื่นคำขอ ข้อ ๖ คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะให้ความเห็นชอบเป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล เมื่อบุคคลดังกล่าวมีคุณสมบัติและเป็นไปตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย (๒) มีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ล้านบาท (๓) ไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีฐานะทางการเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือมีพฤติการณ์อื่นที่แสดงให้เห็นว่าอยู่ในระหว่างประสบปัญหาทางการเงิน รวมทั้งไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีข้อบกพร่องหรือมีความไม่เหมาะสมเกี่ยวกับการควบคุมและการปฏิบัติงานอันดีของธุรกิจ (๔) แสดงได้ว่าบุคคลที่เป็นหรือจะเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจการเป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลไม่มีลักษณะต้องห้ามตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (๕) ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องจัดให้มีโครงสร้างการบริหารจัดการระบบงานตลอดจนบุคลากร ที่เหมาะสมและเพียงพอให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยความรับผิดชอบและเป็นไปตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ และมาตรฐานการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง การพิจารณาความเหมาะสมและเพียงพอตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงลักษณะ ขนาด ปริมาณ ความซับซ้อน และความหลากหลาย ของธุรกิจและบริการ ตลอดจนระดับความเสี่ยงที่เกี่ยวกับธุรกิจและบริการดังกล่าวด้วย (๖) ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องจัดให้มีบุคลากรในจำนวนที่เพียงพอกับการประกอบธุรกิจ โดยบุคลากรดังกล่าวต้องมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ อย่างเหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตและไม่มีประวัติในทางที่เสื่อมเสีย (๗) มีระบบงานที่มีความพร้อมในการเป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลอย่างน้อย ดังต่อไปนี้ (ก) ระบบงานในการกลั่นกรองโทเคนดิจิทัลที่จะเสนอขาย (ข) ระบบในการติดต่อและให้บริการกับผู้ลงทุน (ค) ระบบการเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอและน่าเชื่อถือ (ง) ระบบการจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นทุกด้านอย่างรัดกุม (จ) ระบบการเสนอขายและจัดการค่าจองซื้อโทเคนดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ (ฉ) ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพซึ่งรวมถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยของระบบงานและข้อมูล (security) ความถูกต้องเชื่อถือได้ของระบบงานและข้อมูล (integrity) และความพร้อมใช้ของระบบงาน (availability) โดยคำนึงถึงความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT risk) และความเสี่ยงด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ (cyber risk) (ช) ระบบการจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจให้ถูกต้อง ครบถ้วน ตรวจสอบได้และปลอดภัย โดยเฉพาะการป้องกันการเข้าถึงข้อมูลอย่างไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม หรือขัดกับกฎหมาย (ซ) ระบบงานที่สามารถรองรับการประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง (ฌ) ระบบงานในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (compliance) ตามแนวทางที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด (ญ) ระบบการจัดการเกี่ยวกับข้อร้องเรียนของผู้ลงทุนเพื่อระงับข้อพิพาทอย่างมีประสิทธิภาพ (๘) ในกรณีที่ผู้ขอรับความเห็นชอบเป็นผู้ซึ่งประกอบธุรกิจอื่นอยู่แล้วก่อนวันที่ยื่นคำขอรับความเห็นชอบ ธุรกิจอื่นของผู้ขอรับความเห็นชอบต้องเป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่อง เป็นประโยชน์ หรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลและไม่มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับการเป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล เว้นแต่จะแสดงได้ว่าสามารถจัดให้มีระบบในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในเรื่องดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อ ๗ คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะพิจารณาคำขอความเห็นชอบเป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลภายใน ๙๐ วันนับแต่วันที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับคำขอรับความเห็นชอบ พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอที่ถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชน ทั้งนี้ ในกรณีที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลรายใด ให้สำนักงาน ก.ล.ต. แสดงชื่อผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลนั้นไว้ในลักษณะที่ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ ในกรณีที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ไม่ให้ความเห็นชอบเนื่องจากผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลมีลักษณะไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ ๖ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ก.ล.ต. พร้อมทั้งเหตุผลแก่ผู้ยื่นคำขอ โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบของผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลรายนั้นในครั้งต่อไปไว้ด้วยก็ได้ โดยกำหนดระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกิน ๑๐ ปีนับแต่วันที่สำนักงาน ก.ล.ต. แจ้งการไม่ให้ความเห็นชอบ เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาหรือเมื่อผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในวรรคสองแล้ว หากผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลนั้นประสงค์จะยื่นคำขอความเห็นชอบใหม่ คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะไม่นำเหตุที่ทำให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. ไม่ให้ความเห็นชอบในครั้งก่อนมาประกอบการพิจารณาคำขอความเห็นชอบอีก ข้อ ๘ ในการใช้ดุลพินิจสั่งการตามข้อ ๗ คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือบุคคลตามข้อ ๖ (๔) เป็นรายกรณี ทั้งนี้ ปัจจัยที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. นำมาใช้ประกอบการพิจารณาจะรวมถึง (๑) ขอบเขตของผลกระทบจากพฤติกรรม เช่น กระทบต่อตลาดเงินหรือตลาดทุน กระทบต่อประชาชนโดยรวม หรือกระทบต่อบุคคลเฉพาะราย เป็นต้น (๒) นัยสำคัญของพฤติกรรม เช่น จำนวนเงินที่เกี่ยวข้อง ปริมาณธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น (๓) ผู้รับประโยชน์จากผลของพฤติกรรม (๔) ความเกี่ยวข้องของบุคคลต่อพฤติกรรม เช่น เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน เป็นต้น (๕) ความซับซ้อนของลักษณะการกระทำหรือเครื่องมือที่ใช้ในการกระทำ เช่น การใช้ชื่อบุคคลอื่นหรือการตั้งบริษัทอำพราง เป็นต้น (๖) ประวัติพฤติกรรมในอดีต เช่น เป็นพฤติกรรมครั้งแรก หรือเป็นพฤติกรรมที่เกิดซ้ำหรือต่อเนื่อง เป็นต้น (๗) ความตระหนักของผู้กระทำในเรื่องดังกล่าว เช่น จงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นต้น (๘) ข้อเท็จจริงอื่น เช่น การให้ข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาหรือดำเนินการ การปิดบังอำพรางหรือทำลายพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หรือการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ เป็นต้น ข้อ ๙ ให้ผู้ได้รับความเห็นชอบเป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลชำระค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจปีละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้ชำระค่าธรรมเนียมตามวรรคหนึ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามปีปฏิทินภายในวันที่ ๓๑ มกราคมของปีนั้น เว้นแต่ในปีแรกของการเริ่มประกอบกิจการ ให้ชำระค่าธรรมเนียมในวันที่ได้รับความเห็นชอบ ในกรณีที่ระยะเวลาจนถึงสิ้นปีปฏิทิน สำหรับปีแรกที่เริ่มประกอบกิจการเหลือน้อยกว่า ๖ เดือน ให้ผู้ได้รับความเห็นชอบชำระค่าธรรมเนียมเพียงร้อยละ ๕๐ ของค่าธรรมเนียมที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง หมวด ๒ มาตรฐานในการปฏิบัติงาน ข้อ ๑๐ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน ดังต่อไปนี้ (๑) ให้บริการแก่ผู้ลงทุนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และใช้ความรู้ความสามารถ และความชำนาญด้วยความเอาใจใส่และระมัดระวังตามมาตรฐานหรือเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพในลักษณะเดียวกันจะพึงกระทำ (๒) ดำเนินธุรกิจโดยรักษาภาพลักษณ์และชื่อเสียงของผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลรวมทั้งรักษาความน่าเชื่อถือของตลาดทุนเป็นสำคัญ ตลอดจนดำเนินธุรกิจด้วยความสมเหตุสมผลซึ่งเหมาะสมกับเวลา ลักษณะหรือสภาพของธุรกิจ และการให้บริการ (๓) ให้บริการอย่างมีคุณภาพ และปฏิบัติต่อผู้ลงทุนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกันโดยคำนึงถึงประเภท ลักษณะ และเงื่อนไขของผู้ลงทุน (๔) ไม่กระทำการใดที่จะเป็นผลให้ผู้ลงทุนฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อจำกัดหรือหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตามที่ผู้ลงทุนแจ้งว่ามีข้อจำกัดหรือมีหน้าที่ตามกฎหมายนั้น (๕) ไม่กระทำการใดที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือที่จะทำให้การให้บริการไม่เป็นไปตามมาตรฐานหรือเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพในลักษณะเดียวกันจะพึงกระทำ เว้นแต่เป็นการกระทำที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด หรือเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำตามกฎหมาย (๖) ไม่รับหรือให้ค่าตอบแทนหรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าในรูปเงิน คริปโทเคอร์เรนซี ดิจิทัลโทเคน สิ่งของ หรือบริการยิ่งกว่าค่าตอบแทนหรือประโยชน์ปกติที่พึงได้รับหรือให้เนื่องจากการให้บริการ (๗) ดูแลไม่ให้มีการนำทรัพยากรของผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลเข้าไปมีส่วนร่วมหรือถูกนำไปใช้ในทางที่มิชอบ ข้อ ๑๑ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องไม่ทำข้อตกลงกับผู้ลงทุนในลักษณะเป็นการตัดหรือจำกัดความรับผิดของผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับผู้ลงทุนอันเนื่องจากการที่ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล กรรมการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ ไม่ได้ดำเนินธุรกิจหรือปฏิบัติงานให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประกาศนี้ ข้อ ๑๒ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องดำรงคุณสมบัติตามข้อ ๖ ตลอดระยะเวลาที่ได้รับความเห็นชอบ ข้อ ๑๓ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องดำเนินการให้การเสนอขายและการจองซื้อโทเคนดิจิทัลเป็นไปตามที่ระบุไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและหนังสือชี้ชวนรวมถึงหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน ข้อ ๑๔ ในกรณีที่ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลตรวจพบหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ออกโทเคนดิจิทัลหรือการเสนอขายโทเคนดิจิทัลจะมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลปฏิเสธการให้บริการพร้อมทั้งแจ้งให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบโดยไม่ชักช้า ข้อ ๑๕ ห้ามมิให้ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลประกอบธุรกิจอื่นนอกเหนือจากการให้บริการเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับความเห็นชอบ เว้นแต่ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลจะขออนุญาตต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ก่อนการเริ่มประกอบกิจการอื่นใดดังกล่าว ทั้งนี้ กิจการนั้นต้องเป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่อง เป็นประโยชน์ หรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลและไม่มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับการเป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลโดยผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องแสดงได้ว่าสามารถจัดให้มีระบบในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในเรื่องดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อ ๑๖ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับการกระทำที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยเฉพาะความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างผู้ลงทุนกับผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ รวมทั้งต้องดำเนินการและควบคุมดูแลให้กรรมการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงดังกล่าวด้วย หมวด ๓ การทำหน้าที่กลั่นกรองข้อมูลเกี่ยวกับโทเคนดิจิทัล ข้อ ๑๗ ในการเสนอขายโทเคนดิจิทัลให้ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลมีหน้าที่ดังต่อไปนี้ (๑) ตรวจสอบและสอบทานข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (due diligence) และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจนเป็นที่เข้าใจและดำเนินการจนเชื่อมั่นว่า (ก) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับอนุญาตให้เสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน มีแผนธุรกิจที่ชัดเจน และไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการเสนอขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าวเป็นการหลอกลวงประชาชน (ข) ข้อมูลในแบบคำขออนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัลออกใหม่ หรือแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่มีข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อการพิจารณาของคณะกรรมการ ก.ล.ต. และต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนที่ยังมิได้เปิดเผย และไม่มีลักษณะที่อาจทำให้ผู้ใช้ข้อมูลสำคัญผิด ทั้งนี้ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ (ค) ชุดรหัส (source code) ในสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) มีรายละเอียดตรงกับข้อมูลในร่างหนังสือชี้ชวน (๒) ให้ความเห็นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ว่าผู้ออกโทเคนดิจิทัลมีคุณสมบัติครบถ้วนตาม (๑) และรับรองต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ถึงการที่เสนอขายโทเคนดิจิทัลได้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ในการขออนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ออกใหม่ หรือการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวน (๓) ให้ความรู้ คำแนะนำ หรือกระทำการใด ๆ เพื่อให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลได้ทราบถึงหน้าที่ความรับผิดชอบ กฎเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีการจัดการและการดำเนินการที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มีต่อผู้ลงทุนเป็นสำคัญ (๔) ติดต่อประสานงานกับสำนักงาน ก.ล.ต. และรับรองการปฏิบัติหน้าที่ตาม (๒) และ (๓) (๕) ดำเนินการตามสมควรเพื่อมิให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัล กรรมการหรือผู้บริหารของผู้ออกโทเคนดิจิทัลรวมทั้งกรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้ปฏิบัติงานในสายงานที่เกี่ยวข้องในการเสนอขายโทเคนดิจิทัลนั้นเผยแพร่หรือเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโทเคนหรือผู้ออกโทเคนดิจิทัล โดยที่ไม่ปรากฏข้อมูลดังกล่าวในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือร่างหนังสือชี้ชวน และข้อมูลนั้นอาจมีผลต่อการตัดสินใจจองซื้อโทเคนดิจิทัลของผู้ลงทุนหรือต่อการคาดการณ์เกี่ยวกับราคาหรือผลตอบแทนของโทเคนดิจิทัลที่เสนอขาย และหากการเผยแพร่ข้อมูลกระทำโดยการแจกจ่ายเอกสารหรือจัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องดูแลให้เอกสารหรือการชี้แจงข้อมูลดังกล่าวมีสาระสำคัญของข้อมูลไม่ต่างจากแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือร่างหนังสือชี้ชวน และต้องแจกจ่ายพร้อมกับแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือร่างหนังสือชี้ชวน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนจนถึงวันปิดการเสนอขายโทเคนดิจิทัล ข้อ ๑๘ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้ (๑) จัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการระบบ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล และต้องเก็บข้อมูลดังกล่าวไว้อย่างน้อย ๓ ปี เพื่อให้สำนักงาน ก.ล.ต. สามารถตรวจสอบและอ้างอิงได้ (๒) ในกรณีที่ประกาศที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัล กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลไว้เช่นใด ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าว ต้องปฏิบัติตามให้ถูกต้องและครบถ้วนตามที่ประกาศดังกล่าวกำหนดด้วย (๓) ในกรณีที่ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลรายใดไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ออกโทเคนดิจิทัล หรือเห็นว่าข้อมูลที่แสดงในเอกสารต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามที่กำหนดในหมวดนี้ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลรายนั้นต้องแจ้งรายละเอียดของการไม่ได้รับความร่วมมือดังกล่าว เป็นหนังสือไปยังสำนักงาน ก.ล.ต. ในกรณีที่ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลมิได้แจ้งรายละเอียดดังกล่าว และหากข้อมูลที่เกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะถือว่าผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลนั้นปฏิบัติหน้าที่บกพร่องไม่เหมาะสม หรือไม่ครบถ้วน (๔) ในกรณีที่ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลรายใดไม่มีความเชี่ยวชาญในข้อมูลที่ต้องจัดเตรียมหรือร่วมจัดทำหรือให้ความเห็นในฐานะเป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลรายนั้นอาจนำข้อมูลจากบุคคลอื่นที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นมาอ้างอิงได้ ทั้งนี้ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องตรวจสอบจนเชื่อได้ว่าผู้เชี่ยวชาญรายนั้นเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องนั้นเป็นอย่างดี ข้อ ๑๙ เพื่อประโยชน์ในการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชน ให้ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลร่วมกับผู้ออกโทเคนดิจิทัลชี้แจงเป็นหนังสือต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และต่อประชาชนโดยไม่ชักช้า เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ (๑) ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามข้อมูลที่แสดงไว้ในเอกสารแสดงข้อมูลอย่างมีนัยสำคัญ (๒) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลมีการใช้เงินหรือคริปโทเคอร์เรนซีที่ได้รับจากการเสนอขายโทเคนดิจิทัลไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในเอกสารแสดงข้อมูลอย่างมีนัยสำคัญ เช่น มีการยกเลิก เลื่อนกำหนดเวลาหรือเปลี่ยนแปลงโครงการลงทุน เป็นต้น (๓) ผู้ออกโทเคนดิจิทัล หรือกรรมการหรือผู้บริหารของบุคคลดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดในการอนุญาต หรือไม่ปฏิบัติตามข้อผูกพันที่เปิดเผยไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและหนังสือชี้ชวน ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลมีหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง เฉพาะในกรณีที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายในช่วงระยะเวลา ๑ ปีนับแต่วันที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลในระหว่างระยะเวลาตามวรรคสอง ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลรายใหม่ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลรายเดิมตลอดระยะเวลาที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทนด้วย หมวด ๔ การติดต่อและการให้บริการแก่ผู้ลงทุน ข้อ ๒๐ ก่อนเริ่มให้บริการแก่ผู้ลงทุน ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องจัดให้มีการรวบรวมและประเมินข้อมูลของผู้ลงทุนเพื่อวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้ (๑) ทำความรู้จักผู้ลงทุน (๒) จัดประเภทผู้ลงทุน (๓) พิจารณาความสามารถของผู้ลงทุนในการปฏิบัติตามข้อตกลงในการใช้บริการ ในกรณีที่ผู้ลงทุนปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล หรือข้อมูลที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอหรือไม่เป็นปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีเหตุอันควรสงสัยอื่นใด ที่อาจทำให้ไม่สามารถระบุตัวตนที่แท้จริงของผู้ลงทุนหรือผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงได้ ให้ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลปฏิเสธการให้บริการ ข้อ ๒๑ ในการจัดประเภทผู้ลงทุนให้ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลพิจารณาข้อมูลที่ได้ตามข้อ ๒๐ เพื่อให้สามารถนำเสนอบริการที่สอดคล้องกับประเภทผู้ลงทุน รวมทั้งการให้ข้อมูลและการแจ้งเตือนต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับผู้ลงทุนแต่ละประเภท ในกรณีที่ผู้ลงทุนปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล หรือข้อมูลที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอหรือไม่เป็นปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีเหตุอันควรสงสัยที่อาจทำให้ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลไม่สามารถจัดประเภทผู้ลงทุนได้ ให้ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลจัดให้เป็นผู้ลงทุนประเภทผู้ลงทุนรายบุคคล เมื่อได้ทำการจัดประเภทผู้ลงทุนแล้ว ให้ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลแจ้งให้ผู้ลงทุนทราบถึงผลการจัดประเภทของผู้ลงทุน และต้องแจ้งให้ทราบถึงสิทธิ ข้อจำกัดสิทธิของผู้ลงทุนแต่ละประเภทด้วย เพื่อประโยชน์ตามความในวรรคสอง “ผู้ลงทุนรายบุคคล” หมายความถึง ผู้ลงทุนอื่นที่มิใช่ผู้ลงทุนประเภท ผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ นิติบุคคลร่วมลงทุน หรือกิจการเงินร่วมลงทุน ข้อ ๒๒ ในการติดต่อหรือให้บริการแก่ผู้ลงทุน ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้ให้ผู้ลงทุนทราบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกใช้บริการและพิจารณาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้บริการดังกล่าว (๑) ข้อมูลโดยทั่วไปของผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (๒) ลักษณะ ขอบเขต และเงื่อนไขการให้บริการที่เสนอต่อผู้ลงทุน (๓) ช่องทางการให้บริการ และการติดต่อสื่อสาร (๔) สิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ และเงื่อนไข ที่ผู้ลงทุนมีหรือต้องปฏิบัติเมื่อใช้บริการ (๕) ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (ถ้ามี) (๖) วิธีปฏิบัติระหว่างผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลกับผู้ลงทุน ไม่ว่าจะเป็นไปตามกฎหมายประกาศที่เกี่ยวข้อง และวิธีปฏิบัติที่ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลกำหนดขึ้น (๗) ความเสี่ยงของการลงทุน ซึ่งอย่างน้อยต้องครอบคลุมในเรื่อง ดังต่อไปนี้ (ก) ความเสี่ยงที่การประกอบธุรกิจของผู้ออกโทเคนดิจิทัลอาจไม่ประสบความสำเร็จ (ข) ในกรณีที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลต้องเลิกกิจการหรือโครงการอันเป็นผลมาจากการประกอบธุรกิจที่ไม่ประสบผลสำเร็จ ผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับเงินหรือคริปโทเคอร์เรนซีที่ลงทุนกลับคืน ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างผู้ออกโทเคนดิจิทัลกับผู้ถือโทเคนดิจิทัล (ค) โทเคนดิจิทัลที่เสนอขายอาจมีช่องทางในการเปลี่ยนมือที่จำกัด ดังนั้น จึงมีโอกาสที่จะมีสภาพคล่องน้อย (ง) การตรวจสอบและสอบทานข้อมูลการเสนอขายและลักษณะการเสนอขายซึ่งผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลได้ดำเนินการนั้น อยู่บนพื้นฐานของการเปิดเผยข้อมูลของผู้ออกโทเคนดิจิทัล ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลตามวรรคหนึ่งนั้น ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องเปิดเผยข้อมูลการเปลี่ยนแปลงให้ผู้ลงทุนทราบก่อนการจองซื้อโทเคนดิจิทัลด้วย ข้อ ๒๓ ก่อนการจองซื้อโทเคนดิจิทัล ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องจัดให้ผู้ลงทุนทำแบบทดสอบความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุน ซึ่งต้องปรากฏว่าผู้ลงทุนสามารถทำแบบทดสอบดังกล่าวได้ถูกหมดทุกข้อ เว้นแต่ในกรณีที่เป็นการให้บริการแก่ผู้ลงทุน ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ลงทุนสถาบัน นิติบุคคลร่วมลงทุน หรือกิจการเงินร่วมลงทุน (๒) ผู้ลงทุนที่ผ่านแบบทดสอบความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนนั้นแล้ว ไม่เกินกว่า ๓ เดือน ทั้งนี้ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องแสดงคำถามและคำตอบของแบบทดสอบที่ผู้ลงทุนเคยทำไปแล้ว และต้องให้ผู้ลงทุนยืนยันการใช้ผลการทดสอบนั้น ข้อ ๒๔ การติดต่อหรือให้บริการแก่ผู้ลงทุน การแจ้งเตือนเรื่องต่าง ๆ หรือการให้ผู้ลงทุนลงนามรับทราบหรือยอมรับการให้บริการหรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้บริการ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลสามารถจัดให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ในลักษณะที่สามารถจัดเก็บข้อมูลและตรวจดูข้อมูลได้ ข้อ ๒๕ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องมีช่องทางสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในการเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ลงทุนด้วยกัน ระหว่างผู้ลงทุนกับผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือระหว่างผู้ลงทุนกับผู้ออกโทเคนดิจิทัล ข้อ ๒๖ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องจัดให้มีการทบทวนและปรับปรุงข้อมูลของผู้ลงทุนให้เป็นปัจจุบันในระยะเวลาที่เหมาะสม หรือเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าข้อมูลที่มีอยู่นั้นไม่ถูกต้องหรือมีความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง และต้องมีระบบการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวที่ทำให้ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลสามารถนำข้อมูลนั้นมาใช้ประกอบการให้บริการกับผู้ลงทุนได้โดยไม่ชักช้า หมวด ๕ การเปิดเผยข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล ผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ ๒๗ ในการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อผู้ลงทุนผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องดำเนินการ อย่างน้อยดังต่อไปนี้ (๑) เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่เป็นปัจจุบันแก่ผู้ลงทุน โดยกระทำผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล ซึ่งอย่างน้อยต้องมีข้อมูลดังนี้ ก่อนการจองซื้อโทเคนดิจิทัล (ก) ขั้นตอนและวิธีการจองซื้อโทเคนดิจิทัล (ข) ข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและหนังสือชี้ชวน (ค) ข้อจำกัดเกี่ยวกับมูลค่าการลงทุนของผู้ลงทุนแต่ละราย ทั้งนี้ ต้องจัดให้ผู้ลงทุนลงนามรับทราบข้อมูลตามวรรคหนึ่งก่อนการจองซื้อทุกครั้ง (๒) แจ้งข้อมูลอย่างน้อยดังนี้ ให้ผู้ลงทุนที่จองซื้อโทเคนดิจิทัลทราบทันทีเมื่อมีผู้ลงทุนดำเนินการจองซื้อสำเร็จ (ก) ชื่อของโทเคนดิจิทัล และชื่อผู้ออกโทเคนดิจิทัล (ข) จำนวนโทเคนดิจิทัลที่จองซื้อ และราคาต่อหน่วยของโทเคนดิจิทัล จำนวนค่าจองซื้อโทเคนดิจิทัลทั้งหมด รวมถึงค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายอื่นใด (ถ้ามี) (ค) ชื่อผู้จองซื้อโทเคนดิจิทัล (๓) แจ้งให้ผู้ลงทุนที่จองซื้อโทเคนดิจิทัลทราบ เมื่อปรากฏว่ามีผู้จองซื้อโทเคนดิจิทัลครบถ้วนตามจำนวนที่เสนอขาย หรือไม่สามารถเสนอขายโทเคนดิจิทัลได้ครบตามมูลค่าภายในระยะเวลาที่กำหนด หมวด ๖ ระบบการเสนอขายและจัดการค่าจองซื้อโทเคนดิจิทัล ที่มีประสิทธิภาพ ข้อ ๒๘ ให้ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลดำเนินการเกี่ยวกับค่าจองซื้อโทเคนดิจิทัล ดังต่อไปนี้ (๑) จัดให้มีการจัดการค่าจองซื้อตามระบบที่กำหนด (๒) จัดให้มีการโอนค่าจองซื้อโทเคนดิจิทัลให้แก่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลเมื่อปรากฏว่าการจองซื้อโทเคนดิจิทัลครบตามมูลค่าที่กำหนดไว้ (๓) จัดให้มีการโอนค่าจองซื้อโทเคนดิจิทัลคืนให้แก่ผู้ลงทุนที่จองซื้อโทเคนดิจิทัลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ปรากฏกรณีใดกรณีหนึ่งดังนี้ (ก) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลไม่สามารถเสนอขายโทเคนดิจิทัลได้ครบตามมูลค่าและภายในระยะเวลาที่กำหนด (ข) เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ออกโทเคนดิจิทัลมีพฤติการณ์อันมีลักษณะเป็นการเปิดเผยข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือไม่ครบถ้วนในสาระสำคัญ หรือมีการกระทำอันไม่เป็นธรรมที่เป็นการเอาเปรียบผู้ลงทุน (fraud protection) ข้อ ๒๙ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องจัดให้มีระบบการจัดการค่าจองซื้อที่มีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือ ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ในกรณีที่ค่าจองซื้อเป็นคริปโทเคอร์เรนซีให้จัดให้มีการจัดการโดยใช้สัญญาอัจฉริยะ (smart contract) (๒) ในกรณีที่ค่าจองซื้อเป็นเงินบาทให้จัดให้มีระบบการจัดการทรัพย์สิน อย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ (ก) จัดให้มีผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาเพื่อการเก็บรักษาเงินจองซื้อโทเคนดิจิทัลของผู้ลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (escrow agent) (ข) จัดให้มีบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือซึ่งมีฐานะการเงินที่มั่นคงทำหน้าที่เก็บรักษาเงินจองซื้อโทเคนดิจิทัลของผู้ลงทุน โดยการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลหลัก ทั้งนี้ บุคคลดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. (ค) จัดให้มีผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่สามารถเก็บรักษาทรัพย์สินได้เพื่อเก็บรักษาเงินจองซื้อโทเคนดิจิทัลของผู้ลงทุน ข้อ ๓๐ ในกรณีที่ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลจะรับคริปโทเคอร์เรนซีจากผู้ลงทุนหรือผู้ออกโทเคนดิจิทัลในการทำธุรกรรม ให้ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องรับเฉพาะคริปโทเคอร์เรนซีที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. และได้มาจากการซื้อขาย แลกเปลี่ยนหรือฝากไว้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งไม่อยู่ระหว่างถูกระงับการประกอบธุรกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เรนซีเท่านั้น ข้อ ๓๑ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องจัดให้มีกลไกการควบคุมมูลค่าการซื้อ ขายหรือแลกเปลี่ยนโทเคนดิจิทัลของผู้ลงทุนแต่ละรายให้ไม่เกินกว่าข้อจำกัดการลงทุน (investment limit) และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน หมวด ๗ การโฆษณาการให้บริการระบบ ข้อ ๓๒ ในส่วนนี้ “การโฆษณา” หมายความว่า การทำให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับกิจการหรือการให้บริการของผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล โดยทางข้อความ ภาพ เสียง เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ใด ๆ และไม่ว่าจะกระทำผ่านสื่อ หรือเครื่องมือใด ๆ ข้อ ๓๓ ให้ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลปฏิบัติตามความในส่วนนี้ต่อผู้ลงทุนที่แสดงความสนใจใช้บริการของผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลด้วย ข้อ ๓๔ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ประสงค์จะจัดให้มีการโฆษณาต้องดำเนินการให้การโฆษณานั้น มีความเหมาะสมทั้งในด้านเนื้อหา สัดส่วนของเนื้อหา และวิธีการนำเสนอ เพื่อทำให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการใช้บริการของผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือต่อการตัดสินใจลงทุน โดยการโฆษณาต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ไม่มีลักษณะเป็นเท็จ เกินความจริง บิดเบือน ปิดบัง หรือทำให้สำคัญผิดในสาระสำคัญ (๒) ไม่เร่งรัดให้ผู้ลงทุนตัดสินใจใช้บริการของผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือตัดสินใจลงทุน (๓) ไม่มีลักษณะชี้นำหรือประกันผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุน เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. (๔) มีคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการลงทุนอย่างเหมาะสม และมีการแจ้งวิธีการสำหรับการติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้บริการหรือการลงทุน (๕) หากเป็นการโฆษณาโดยใช้หรืออ้างอิงข้อมูลของบุคคลอื่น จะต้องเป็นข้อมูลที่มาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือและเป็นปัจจุบัน โดยต้องมีการระบุแหล่งที่มาอย่างชัดเจน หมวด ๘ การยื่นรายงานการเสนอขายโทเคนดิจิทัล ข้อ ๓๕ ให้ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลจัดทำและยื่นรายงานสรุปธุรกรรมการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลเป็นผู้ให้บริการ ตามแบบ และวิธีการที่กำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. หมวด ๙ มาตรการบังคับ ข้อ ๓๖ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลเป็นไปตามประกาศนี้ เมื่อสำนักงาน ก.ล.ต. ร้องขอ ให้ผู้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลชี้แจง ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๓๗ ในกรณีที่ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างกับผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล ดังต่อไปนี้ (๑) ให้ดำเนินการแก้ไขเพื่อให้มีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด (๒) ให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด (๓) พักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ เพื่อรักษาประโยชน์ของประชาชนหรือเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน คณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจเปิดเผยการดำเนินการตามวรรคหนึ่งและข้อ ๓๘ ต่อบุคคลใด ๆ ได้ ข้อ ๓๘ ในกรณีที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดระยะเวลาการพักการให้ความเห็นชอบอันเป็นผลให้ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลไม่สามารถประกอบธุรกิจตามที่ได้รับความเห็นชอบได้อีกตลอดระยะเวลาการให้ความเห็นชอบที่ยังเหลืออยู่หรือในกรณีที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. เพิกถอนการให้ความเห็นชอบ คณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบของผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลรายนั้นในครั้งต่อไปไว้ด้วยก็ได้ โดยกำหนดระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกิน ๑๐ ปีนับแต่วันที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. พักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาหรือเมื่อผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในวรรคหนึ่งแล้ว หากผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลนั้นประสงค์จะยื่นคำขอความเห็นชอบใหม่คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะไม่นำเหตุที่ทำให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. ไม่ให้ความเห็นชอบในครั้งก่อนมาประกอบการพิจารณาคำขอความเห็นชอบอีก ประกาศ ณ วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ วรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ปวันวิทย์/จัดทำ ๓ กันยายน ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๖๙ ง/หน้า ๔๑/๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑
808748
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 15/2561 เรื่อง การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. ๑๕/๒๕๖๑ เรื่อง การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ (๑) และ (๒) มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๕ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป ข้อ ๒ ในประกาศนี้ “โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน” (investment token) หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ “โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์” (utility token) หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ “นิติบุคคลร่วมลงทุน” (venture capital) หมายความว่า นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจการร่วมลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (startup) และจำกัดลักษณะของผู้ลงทุนไว้เฉพาะผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย “กิจการเงินร่วมลงทุน” (private equity) หมายความว่า กิจการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ และมีลักษณะที่ครบถ้วนดังต่อไปนี้ (๑) มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนร่วมกันของผู้ลงทุนตั้งแต่ ๒ รายขึ้นไป โดยจำกัดลักษณะของผู้ลงทุนไว้เฉพาะผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย (๒) มีการมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดการเงินทุนและทรัพย์สินที่เกิดจากเงินทุน (๓) มีนโยบายการลงทุนในกิจการอื่นผ่านการเข้าทำสัญญาการลงทุนในหุ้นหรือการสนับสนุนทางการเงินที่ก่อให้เกิดสิทธิในการได้มาซึ่งหุ้นของกิจการนั้นในภายหลัง โดยมีส่วนในการกำกับดูแลแผนธุรกิจ การดำเนินงานหรือการปรับปรุงการดำเนินงาน หรือการดำเนินการอื่นใดในลักษณะที่สะท้อนถึงการมีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจของกิจการดังกล่าว “ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล” (ICO portal) หมายความว่า ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. “สัญญาอัจฉริยะ” (smart contract) หมายความว่า ชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ที่ดำเนินการบังคับตามข้อตกลงระหว่างคู่สัญญาโดยอัตโนมัติเมื่อเกิดเหตุการณ์ตามที่กำหนด “ผู้บริหาร” หมายความว่า ผู้จัดการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหาร ๔ รายแรกนับต่อจากผู้จัดการลงมา ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ากับผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารรายที่ ๔ ทุกรายและให้หมายความรวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงินที่เป็นระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปหรือเทียบเท่า “อำนาจควบคุมกิจการ” หมายความว่า (๑) การถือหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงในนิติบุคคลหนึ่งเกินกว่าร้อยละ ๕๐ ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของนิติบุคคลนั้น (๒) การมีอำนาจควบคุมคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของนิติบุคคลหนึ่ง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม หรือไม่ว่าเพราะเหตุอื่นใด (๓) การมีอำนาจควบคุมการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการตั้งแต่กึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม “บริษัทจดทะเบียน” หมายความว่า บริษัทที่มีหุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภาค ๑ บททั่วไป หมวด ๑ ขอบเขตการใช้บังคับประกาศ ข้อ ๓ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลดังต่อไปนี้ (๑) โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (๒) โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ ซึ่งผู้ออกโทเคนดิจิทัลไม่พร้อมที่จะให้ผู้ถือใช้ประโยชน์ตามสิทธิของโทเคนดิจิทัลนั้น ๆ ได้ทันทีตั้งแต่วันที่เสนอขายโทเคนดิจิทัลครั้งแรก ข้อ ๔ ประกาศนี้กำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องดังต่อไปนี้ (๑) การอนุญาตและวิธีการยื่นคำขออนุญาตให้เสนอขายโทเคนดิจิทัล ให้เป็นไปตามภาค ๒ (๒) การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวน ให้เป็นไปตามภาค ๓ (๓) การเปิดเผยข้อมูลของผู้ออกโทเคนดิจิทัล ให้เป็นไปตามภาค ๔ (๔) ค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุญาต การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี ให้เป็นไปตามภาค ๕ หมวด ๒ อำนาจของสำนักงาน ก.ล.ต. ข้อ ๕ ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ที่เป็นเหตุอันควรสงสัยอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจไม่อนุญาตให้เสนอขายโทเคนดิจิทัลตามประกาศนี้ได้ (๑) ผู้ขออนุญาตหรือการเสนอขายโทเคนดิจิทัลมีลักษณะหรือรูปแบบเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะได้รับอนุญาตตามประกาศนี้ แต่มีข้อเท็จจริงซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าความมุ่งหมายหรือเนื้อหาสาระที่แท้จริง (substance) ของการเสนอขายโทเคนดิจิทัลนั้นเข้าลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงบทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประกาศนี้ หรือประกาศอื่น (๒) การเสนอขายโทเคนดิจิทัลอาจขัดต่อนโยบายสาธารณะหรือนโยบายของรัฐ (๓) การเสนอขายโทเคนดิจิทัลอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อตลาดทุนไทยโดยรวม (๔) การเสนอขายโทเคนดิจิทัลอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุนโดยรวม หรืออาจทำให้ผู้ลงทุนโดยรวมไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องหรือเพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน ข้อ ๖ ในกรณีที่เข้าลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจผ่อนผันไม่นำหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้มาใช้พิจารณาคำขออนุญาต หรือไม่นำเงื่อนไขตามประกาศนี้มาใช้บังคับกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตได้ (๑) มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผันให้ไม่มีนัยสำคัญสำหรับการพิจารณาอนุญาตในกรณีนั้น และประโยชน์ที่จะได้ไม่คุ้มค่ากับต้นทุนในการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขดังกล่าว (๒) ผู้ขออนุญาตมีข้อจำกัดตามกฎหมายอื่นที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน (๓) ผู้ขออนุญาตมีมาตรการอื่นที่เพียงพอ และสามารถทดแทนการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน การผ่อนผันตามวรรคหนึ่งให้คำนึงถึงความเหมาะสมและความเพียงพอของข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนและมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขออนุญาตต้องปฏิบัติด้วยก็ได้ ข้อ ๗ ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายหลังการอนุญาตให้เสนอขายโทเคนดิจิทัล ซึ่งหากข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฏต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ก่อนการอนุญาตให้เสนอขายโทเคนดิจิทัลนั้น อาจทำให้การพิจารณาของสำนักงาน ก.ล.ต. เปลี่ยนแปลงไป หรือในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในประกาศนี้หรือตามข้อผูกพันที่ให้ไว้ในคำขออนุญาต สำนักงาน ก.ล.ต. อาจดำเนินการดังต่อไปนี้ (๑) สั่งให้ผู้ได้รับอนุญาต กรรมการ หรือผู้บริหารชี้แจง หรือเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด และให้ผู้ได้รับอนุญาตระงับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตไว้ก่อนจนกว่าจะได้ชี้แจงหรือแก้ไขให้ถูกต้อง (๒) สั่งให้ผู้ได้รับอนุญาตหยุดการเสนอขายโทเคนดิจิทัลในส่วนที่ยังมิได้เสนอขายหรือยังไม่มีผู้จองซื้อ และให้การอนุญาตเป็นอันสิ้นสุดลงโดยไม่มีผลกระทบต่อการเสนอขายโทเคนดิจิทัลในส่วนที่ได้เสนอขายหรือมีผู้จองซื้อแล้ว ข้อ ๘ ในกรณีที่สำนักงาน ก.ล.ต. เห็นว่าเอกสารหรือรายงานที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลจัดส่งให้มีข้อมูลไม่ครบถ้วนหรือมีข้อความคลุมเครือหรือไม่ชัดเจน หรือมีเหตุจำเป็นและสมควรเพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่มีนัยสำคัญซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ ต่อการตัดสินใจลงทุน หรือต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาโทเคนดิจิทัลอย่างเพียงพอ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลดำเนินการดังต่อไปนี้ภายในระยะเวลาที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด (๑) เปิดเผยข้อมูล รายงาน หรือส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม (๒) ชี้แจง หรือแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูล (๓) จัดให้มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เป็นอิสระจัดทำความเห็นเกี่ยวกับความถูกต้องครบถ้วนหรือความน่าเชื่อถือของข้อมูลให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบ ในกรณีที่เอกสารหรือรายงานตามวรรคหนึ่งคือแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวน หากผู้ออกโทเคนดิจิทัลไม่ดำเนินการตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้ออกโทเคนดิจิทัลไม่ประสงค์จะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. อีกต่อไป ในการกำหนดให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลดำเนินการตามวรรคหนึ่ง สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลเปิดเผยการสั่งการ การดำเนินการ ข้อสังเกตของสำนักงาน ก.ล.ต. หรือคำชี้แจงของผู้ออกโทเคนดิจิทัล ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ตามแนวทางที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดด้วยก็ได้ ข้อ ๙ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจผ่อนผันการเปิดเผยรายละเอียดของข้อมูลในเอกสารดังต่อไปนี้ได้ หากผู้ออกโทเคนดิจิทัลสามารถแสดงได้ว่าข้อมูลดังกล่าวมิใช่ข้อมูลที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ และมีเหตุอันควรที่จะไม่แสดงรายละเอียดของข้อมูลดังกล่าวไว้ในเอกสารนั้นหรือได้ดำเนินการประการอื่นเพื่อทดแทนอย่างเพียงพอแล้ว (๑) แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลตามที่กำหนดในภาค ๓ (๒) รายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของผู้ออกโทเคนดิจิทัลตามที่กำหนดในหมวด ๑ ของภาค ๔ ข้อ ๑๐ ในกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควรทำให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลไม่สามารถจัดทำและส่งรายงานที่กำหนดในภาค ๔ ผู้ออกโทเคนดิจิทัลอาจมีหนังสือขอผ่อนผันการส่งรายงานดังกล่าวต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ก่อนวันครบระยะเวลาที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลในการขอผ่อนผันและแจ้งกำหนดระยะเวลาที่จะจัดส่งรายงานนั้น ในกรณีที่สำนักงาน ก.ล.ต. ไม่ผ่อนผันให้ตามที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลร้องขอตามวรรคหนึ่ง ผู้ออกโทเคนดิจิทัลต้องรับผิดเนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๕ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ นับแต่วันครบระยะเวลาที่กำหนดในการส่งรายงานดังกล่าวตามที่กำหนดในภาค ๔ ข้อ ๑๑ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามประกาศนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจดำเนินการดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดหลักเกณฑ์ในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ ให้มีความชัดเจนเพียงพอที่ผู้ขออนุญาตหรือผู้มีหน้าที่ตามประกาศนี้จะสามารถปฏิบัติตามประกาศนี้ได้ในแนวเดียวกัน ทั้งนี้ การกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวอาจกำหนดตามลักษณะของโทเคนดิจิทัล ผู้ออกโทเคนดิจิทัล ผู้ลงทุนหรือการเสนอขายก็ได้ (๒) กำหนดแนวทาง (guideline) การปฏิบัติในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ เพื่อเป็นการให้แนวทางปฏิบัติที่ถือว่าเหมาะสมและสอดคล้องตามประกาศนี้ และหากผู้ขออนุญาตหรือผู้มีหน้าที่ตามประกาศนี้ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าบุคคลดังกล่าวมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้ในเรื่องที่มีการออกแนวทางนั้น ในการดำเนินการของสำนักงาน ก.ล.ต. ตามวรรคหนึ่ง ให้นำปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้ มาประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วย (๑) การส่งเสริมให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลมีความรับผิดชอบต่อผู้ลงทุน (๒) ความได้สัดส่วนระหว่างภาระของผู้อยู่ใต้บังคับแห่งประกาศนี้ กับประโยชน์ที่ผู้ลงทุนโดยรวมจะได้รับ (๓) การส่งเสริมให้เกิดทางเลือกในการระดมทุนและการลงทุน (๔) การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม (๕) การส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมของภาคเอกชน ข้อ ๑๒ เพื่อให้สำนักงาน ก.ล.ต. สามารถติดตามการปฏิบัติตามประกาศนี้ได้ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตหรือผู้มีหน้าที่ตามประกาศนี้จัดส่งข้อมูล รายงาน หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายในระยะเวลาที่เหมาะสมได้ หรือจะสั่งการเป็นรายกรณีโดยต้องไม่เป็นภาระต่อบุคคลนั้นจนเกินสมควร ทั้งนี้ ระยะเวลาที่สำนักงาน ก.ล.ต. จะกำหนดให้เป็นไปตามกรอบดังนี้ (๑) ในกรณีที่เป็นเรื่องเร่งด่วนและมีผลกระทบต่อผู้ออกโทเคนดิจิทัล ผู้ลงทุน หรือตลาดทุนอย่างมีนัยสำคัญ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดให้ดำเนินการภายในวันทำการที่เกิดกรณีดังกล่าวได้ (๒) ในกรณีอื่นนอกจาก (๑) ให้กำหนดระยะเวลาอย่างสมเหตุสมผลตามสภาพการณ์ เรื่องและประเด็นที่เกี่ยวข้อง หมวด ๓ การจัดทำ ยื่น ส่ง หรือเปิดเผยข้อมูล และเอกสารตามประกาศ ข้อ ๑๓ เว้นแต่ข้อกำหนดในประกาศนี้จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น การจัดทำ ยื่น ส่ง หรือเปิดเผยข้อมูลตามประกาศนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในหมวดนี้ ข้อ ๑๔ ภาษาที่ใช้ในการจัดทำ ยื่น ส่ง หรือเปิดเผยข้อมูลหรือเอกสารตามประกาศนี้ ให้ใช้ภาษาไทย ผู้มีหน้าที่ตามประกาศนี้อาจจัดทำ ยื่น ส่ง หรือเปิดเผยข้อมูลหรือเอกสารตามวรรคหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษด้วยก็ได้ โดยมีสาระสำคัญของข้อมูลไม่ต่างจากข้อมูลหรือเอกสารฉบับภาษาไทย ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นการยื่นหรือส่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ต้องยื่นหรือส่งคำรับรองความถูกต้องของข้อมูลมาพร้อมกันด้วย ข้อ ๑๕ การยื่นหรือส่งข้อมูลหรือเอกสารตามประกาศนี้ ให้เป็นไปตามรูปแบบและวิธีการที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ภาค ๒ หลักเกณฑ์การอนุญาตและ วิธีการยื่นคำขออนุญาต หมวด ๑ หลักเกณฑ์การอนุญาต ข้อ ๑๖ ความในหมวดนี้ให้ใช้บังคับกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่เข้าลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (๑) การเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ออกใหม่ต่อประชาชน (๒) การเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลได้ออกไว้แล้วและมีวัตถุประสงค์ที่จะเสนอขายเป็นการทั่วไปต่อประชาชน ข้อ ๑๗ การเสนอขายโทเคนดิจิทัลจะได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ขออนุญาตเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย (๒) ผู้ขออนุญาตไม่เป็นบุคคลล้มละลาย มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรืออยู่ระหว่างการยื่นหรือไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการหรือการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย (๓) เป็นการเสนอขายต่อผู้ลงทุนที่เข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้ (ก) ผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. ๔/๒๕๖๐ เรื่อง การกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษและผู้ลงทุนรายใหญ่ ลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ (ข) นิติบุคคลร่วมลงทุน หรือกิจการเงินร่วมลงทุน (ค) ผู้ลงทุนที่มิใช่ผู้ลงทุนตาม (ก) หรือ (ข) ซึ่งเสนอขายเป็นมูลค่าไม่เกินรายละ ๓ แสนบาทต่อการเสนอขายในครั้งนั้น ทั้งนี้ ผู้ขออนุญาตต้องกำหนดมูลค่าสูงสุดของการเสนอขายในแต่ละครั้งต่อผู้ลงทุนประเภทนี้รวมกันไม่เกินมูลค่าดังนี้ แล้วแต่มูลค่าใดจะสูงกว่า ๑. ไม่เกิน ๔ เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้นของผู้ออกโทเคนดิจิทัล ๒. ไม่เกินร้อยละ ๗๐ ของมูลค่าทั้งหมดที่เสนอขายต่อครั้ง (๔) ผู้ขออนุญาตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ ๑๘ (๕) โทเคนดิจิทัลที่ขออนุญาตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ ๑๙ (๖) ไม่มีเหตุที่ทำให้สงสัยว่าข้อมูลที่เปิดเผยต่อประชาชนหรือต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ไม่ตรงต่อความเป็นจริง ไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน หรือมีข้อความที่อาจทำให้ผู้ลงทุนสำคัญผิด (๗) ผู้ขออนุญาตแสดงได้ว่า ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ได้พิจารณาแล้วว่าการเสนอขายโทเคนดิจิทัลมีลักษณะที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหมวดนี้ และสามารถเสนอขายผ่านระบบของผู้ให้บริการดังกล่าวได้ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลตามวรรคหนึ่ง (๗) ต้องไม่มีความเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับผู้ออกโทเคนดิจิทัลในลักษณะที่อาจทำให้ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าวขาดความเป็นอิสระในการทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล ข้อ ๑๘ ผู้ขออนุญาตต้องแสดงให้สำนักงาน ก.ล.ต. เห็นได้ว่ามีคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (๑) ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (๒) ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุอันควรสงสัยว่ากรรมการ ผู้บริหาร และผู้มีอำนาจควบคุมกิจการของผู้ขออนุญาตมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทโดยอนุโลม (๓) งบการเงินของผู้ขออนุญาตและงบการเงินรวมประจำงวดการบัญชีปีล่าสุด (ถ้ามี) ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้ (ก) จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินดังนี้ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบการเงินตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ๑. มาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทยสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ ในกรณีที่ผลการดำเนินงานและฐานะการเงินในอดีตของผู้ขออนุญาตมีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกโทเคนดิจิทัลที่ขออนุญาต ๒. มาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทยตามที่กำหนดโดยกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชีในกรณีอื่นนอกจาก ๑. (ข) ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบให้สามารถตรวจสอบหรือสอบทานงบการเงินของผู้ออกโทเคนดิจิทัล เว้นแต่เป็นงบการเงินที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ใน (ก) ๒ (ค) รายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชี ต้องไม่มีความหมายในลักษณะดังนี้ ๑. ไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของผู้ขออนุญาตและงบการเงินรวม หรือแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง ๒. แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขในรายการบัญชีที่เป็นสาระสำคัญว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ๓. แสดงความเห็นว่าถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบโดยการกระทำหรือไม่กระทำของผู้ขออนุญาต หรือกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ขออนุญาต (๔) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตมีหน้าที่ตามกฎหมายในการเปิดเผยข้อมูลอย่างต่อเนื่องตามภาค ๔ ของประกาศนี้ หรือตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ต้องไม่อยู่ระหว่างการดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งดังนี้ เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน ก.ล.ต. (ก) ค้างการนำส่งงบการเงินหรือรายงานที่มีหน้าที่ต้องจัดทำตามหมวด ๑ ของภาค ๔ ของประกาศนี้ หรือตามมาตรา ๕๖ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ (ข) ค้างส่งรายงานที่มีหน้าที่ต้องจัดทำและจัดส่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามหมวด ๒ ของภาค ๔ ของประกาศนี้ หรือตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ (ค) ปรับปรุงแก้ไขงบการเงิน หรือรายงานที่มีหน้าที่ต้องจัดทำตามภาค ๔ ของประกาศนี้หรือตามมาตรา ๕๖ หรือมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. แจ้งให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข (ง) ปฏิบัติตามคำสั่งของสำนักงาน ก.ล.ต. ตามข้อ ๘ หรือตามมาตรา ๕๘ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ (๕) ผู้ขออนุญาตไม่มีลักษณะตามข้อ ๒๐ ข้อ ๑๙ ผู้ขออนุญาตต้องแสดงให้สำนักงาน ก.ล.ต. เห็นได้ว่า โทเคนดิจิทัลที่ขออนุญาตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (๑) แสดงได้ว่าโทเคนดิจิทัลที่ขออนุญาตเป็นโทเคนดิจิทัลประเภทใดประเภทหนึ่งดังนี้ (ก) โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (ข) โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (๒) โทเคนดิจิทัลที่ขออนุญาตมีความชัดเจนเกี่ยวกับแผนธุรกิจ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินโครงการหรือกิจการตามแผนธุรกิจ รวมทั้งการให้สิทธิแก่ผู้ถือโทเคนดิจิทัลที่มีข้อกำหนดอย่างน้อยดังนี้ โดยผู้ขออนุญาตต้องแสดงได้ว่ามีการพิจารณาและวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนแล้ว (ก) กรณีโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน ต้องมีข้อกำหนดที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิของผู้ถือในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการตามแผนธุรกิจ วิธีการและเงื่อนไขในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสิทธิ และมาตรการในการรักษาสิทธิของผู้ถืออย่างเป็นธรรม (ข) กรณีโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ ต้องมีข้อกำหนดที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิของผู้ถือในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด วิธีการและเงื่อนไขในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสิทธิและมาตรการในการรักษาสิทธิของผู้ถืออย่างเป็นธรรม (๓) ไม่มีเหตุที่ทำให้สงสัยว่าแผนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโทเคนดิจิทัล และกลไกการให้สิทธิแก่ผู้ถือผ่านสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) ไม่สามารถบังคับได้จริง หรือเป็นการเอาเปรียบผู้ลงทุน (๔) แสดงได้ว่ามีการจัดทำและเปิดเผยรหัสต้นทาง (source code) ของสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) ทั้งนี้ การเปิดเผยรหัสต้นทางให้เป็นไปตามแนวทางที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดบนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ข้อ ๒๐ ผู้ขออนุญาตต้องไม่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ เว้นแต่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อ ๒๑ (๑) ภายในระยะเวลา ๕ ปีก่อนวันยื่นคำขออนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัล ผู้ขออนุญาตต้องไม่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ (ก) เคยมีประวัติฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์หรือการเสนอขายโทเคนดิจิทัล ในเรื่องที่มีนัยสำคัญ (ข) เคยถูกสำนักงาน ก.ล.ต. ปฏิเสธคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ เนื่องจากมีเหตุที่มีนัยสำคัญอันควรสงสัยเกี่ยวกับกลไกการบริหารจัดการในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ ๑. อาจไม่สามารถปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นได้อย่างเป็นธรรมโดยอาจมีการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งจะทำให้ได้เปรียบผู้ถือหุ้นรายอื่นหรือได้ประโยชน์มากกว่าผู้ถือหุ้นรายอื่นโดยไม่สมควร ๒. อาจไม่สามารถรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้นได้โดยทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้รับประโยชน์ทางการเงินนอกเหนือจากที่พึงได้ตามปกติ หรือโดยทำให้บริษัทเสียประโยชน์ที่พึงได้รับ (ค) เคยถูกสำนักงาน ก.ล.ต. ปฏิเสธคำขออนุญาตหรือสั่งเพิกถอนการอนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่หรือโทเคนดิจิทัล เนื่องจากมีเหตุที่ทำให้สงสัยเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนหรือต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ไม่ครบถ้วน ไม่ตรงตามความเป็นจริง ไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน หรือทำให้ผู้ลงทุนสำคัญผิด ซึ่งมีลักษณะเป็นการปกปิดหรืออำพราง หรือสร้างข้อมูลที่อาจไม่มีอยู่จริงในรายการ หรือการดำเนินการที่มีนัยสำคัญ (ง) เคยถอนคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่หรือโทเคนดิจิทัล โดยไม่มีการชี้แจงเหตุสงสัยตาม (ข) หรือ (ค) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. หรือโดยมีการชี้แจงแต่ไม่ได้แสดงข้อเท็จจริงหรือเหตุผลอย่างสมเหตุสมผลที่จะหักล้างข้อสงสัยตาม (ข) หรือ (ค) นั้น (๒) ภายในระยะเวลา ๑๐ ปีก่อนวันยื่นคำขออนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัลผู้ขออนุญาตเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์เฉพาะในมูลเหตุเนื่องจากการดำเนินการที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริต อันเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง ทั้งนี้ ไม่ว่าตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ (๓) อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษหรือถูกดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฉพาะในมูลเหตุเนื่องจากการดำเนินการที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตอันเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง ทั้งนี้ ไม่ว่าตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ (๔) เป็นบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นการจัดรูปแบบเพื่อให้บุคคลที่มีลักษณะตาม (๑) (๒) หรือ (๓) หลีกเลี่ยงมิให้สำนักงาน ก.ล.ต. ใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาตาม (๑) (๒) หรือ (๓) กับบุคคลที่มีลักษณะดังกล่าวนั้น ข้อ ๒๑ มิให้นำความในข้อ ๒๐ (๑) และ (๒) แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับกับผู้ขออนุญาตซึ่งได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเหตุ ระบบงาน ระบบการบริหารจัดการ และการควบคุมการดำเนินงานที่ทำให้ผู้ขออนุญาตมีลักษณะตามข้อ ๒๐ (๑) หรือ (๒) แล้ว หมวด ๒ วิธีการยื่นคำขออนุญาต ข้อ ๒๒ ผู้ที่ประสงค์จะขออนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัล ให้ยื่นคำขออนุญาตและเอกสารหลักฐานอื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ข้อ ๒๓ ให้ผู้ขออนุญาตชำระค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตตามอัตราที่กำหนดไว้ในภาค ๕ ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อสำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับคำขออนุญาต พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขออนุญาตที่ถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชนแล้ว ข้อ ๒๔ เมื่อสำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับคำขออนุญาต พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชนแล้ว ให้สำนักงาน ก.ล.ต. ดำเนินการดังต่อไปนี้ (๑) สอบทานข้อเท็จจริงตามขั้นตอนและวิธีการที่ระบุในคู่มือสำหรับประชาชนและแจ้งประเด็นข้อสังเกตที่ได้จากการสอบทานข้อเท็จจริงเพื่อให้บริษัทชี้แจงข้อสังเกตนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือแจ้งข้อสังเกต โดยต้องดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับคำขออนุญาต พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชน (๒) แจ้งผลการพิจารณาคำขออนุญาตภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับคำชี้แจงตามข้อสังเกตจากการสอบทานข้อเท็จจริงจากผู้ขออนุญาต ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตประสงค์จะขอผ่อนผันหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้ ให้ผู้ขออนุญาตยื่นคำขอผ่อนผัน พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอผ่อนผันต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ก่อนที่สำนักงาน ก.ล.ต. จะเริ่มพิจารณาคำขออนุญาตตามวรรคหนึ่ง โดยปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่ระบุในคู่มือสำหรับประชาชน เว้นแต่สำนักงาน ก.ล.ต. ยอมรับคำขอผ่อนผันเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวในกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. จะพิจารณาคำขอผ่อนผันให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเดียวกันกับการพิจารณาการอนุญาต หมวด ๓ เงื่อนไขการอนุญาต ข้อ ๒๕ ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการขายโทเคนดิจิทัลให้แล้วเสร็จภายใน ๖ เดือนนับแต่วันที่สำนักงาน ก.ล.ต. แจ้งการอนุญาต หากไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาดังกล่าวและยังประสงค์จะเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อไป ให้ผู้ได้รับอนุญาตมีหนังสือถึงสำนักงาน ก.ล.ต. ก่อนพ้นระยะเวลาดังกล่าวไม่น้อยกว่า ๓๐ วันเพื่อขอขยายระยะเวลาเสนอขาย โดยต้องแจ้งเหตุผลของการขอขยายระยะเวลา และแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของผู้ได้รับอนุญาตและโทเคนดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตตามหมวด ๑ ของภาคนี้ ในส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย (ถ้ามี) ในกรณีนี้ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจขยายระยะเวลาให้อีกได้ตามที่เห็นควร แต่ระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกิน ๑๒ เดือนนับแต่วันที่สำนักงาน ก.ล.ต. แจ้งผลการอนุญาตครั้งแรก ข้อ ๒๖ ตลอดระยะเวลาที่ผู้ได้รับอนุญาตมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในภาค ๔ ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันที่ให้ไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวน เว้นแต่เป็นกรณีที่ไม่กระทบต่อสิทธิของผู้ถือโทเคนดิจิทัลอย่างมีนัยสำคัญ หรือกรณีที่เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยชอบตามวิธีการที่กำหนดไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนที่ผ่านการพิจารณาจากสำนักงาน ก.ล.ต. หมวด ๔ หลักเกณฑ์การเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ได้รับอนุญาต การเผยแพร่ข้อมูล และการโฆษณาชี้ชวน ข้อ ๒๗ ผู้ได้รับอนุญาตต้องเสนอขายโทเคนดิจิทัลผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่เป็นผู้พิจารณาลักษณะของผู้ได้รับอนุญาตและโทเคนดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตตามข้อ ๑๗ (๗) ข้อ ๒๘ ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตจะรับคริปโทเคอร์เรนซี เป็นการตอบแทน ให้รับได้เฉพาะคริปโทเคอร์เรนซีที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. และได้มาจากการซื้อขาย แลกเปลี่ยน หรือฝากไว้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งไม่อยู่ระหว่างถูกระงับการประกอบธุรกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เรนซีเท่านั้น ข้อ ๒๙ การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลก่อนวันที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ ให้กระทำได้หลังจากสำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนแล้ว และให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ก่อนวันที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ โดยอนุโลม ข้อ ๓๐ นับแต่วันที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ หากผู้ได้รับอนุญาตจะจัดให้มีการโฆษณาชี้ชวนเกี่ยวกับโทเคนดิจิทัลโดยวิธีการอื่นนอกจากการแจกจ่ายหนังสือชี้ชวน ข้อมูลที่จะใช้ในการโฆษณาอย่างน้อยต้องจัดทำเป็นภาษาไทยและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (๑) ไม่มีลักษณะเป็นเท็จ เกินความจริง บิดเบือน ปิดบัง หรือทำให้สำคัญผิดในสาระสำคัญ (๒) สาระสำคัญของข้อมูลที่แสดงในโฆษณาต้องไม่นอกเหนือไปจากข้อมูลที่แสดงไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนที่ได้ยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่ง ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่จะสั่งให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังนี้ (๑) หยุดการโฆษณา หรือยุติการส่งเสริมการขาย ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน (๒) แก้ไขข้อมูลหรือข้อความในการโฆษณาหรือการส่งเสริมการขาย (๓) ชี้แจงเพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง ตรงต่อความเป็นจริง หรือไม่ทำให้สำคัญผิด (๔) กระทำการหรือไม่กระทำการใดภายในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อให้ผู้ลงทุนตัดสินใจหรือทบทวนการตัดสินใจ บนพื้นฐานข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง ตรงต่อความเป็นจริง และไม่ทำให้สำคัญผิด ข้อ ๓๑ ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีช่องทางในการแจกจ่ายหนังสือชี้ชวนไม่ว่าในรูปเอกสารสิ่งพิมพ์หรือในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสม เว้นแต่จะมีการแสดงเจตนาโดยสมัครใจที่จะไม่รับหนังสือชี้ชวนในกรณีที่มีการแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ผู้ได้รับอนุญาตต้องแจกจ่ายหรือจัดส่งสรุปข้อมูลสำคัญของโทเคนดิจิทัล (factsheet) ไม่ว่าด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ผู้ประสงค์ที่จะซื้อโทเคนดิจิทัลได้รับข้อมูลดังกล่าวก่อนทำการจองซื้อ ข้อ ๓๒ ให้ผู้ได้รับอนุญาตรายงานผลการขายโทเคนดิจิทัลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน ๑๕ วันนับแต่วันปิดการเสนอขาย โดยให้รายงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ภาค ๓ การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล และร่างหนังสือชี้ชวน หมวด ๑ ข้อกำหนดทั่วไปและวิธีการยื่น ข้อ ๓๓ การเสนอขายโทเคนดิจิทัลจะกระทำได้ต่อเมื่อผู้ออกโทเคนดิจิทัลได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ตามภาค ๒ และได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว ข้อ ๓๔ ในกรณีที่ระยะเวลาการเสนอขายโทเคนดิจิทัลตามที่กำหนดในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลสิ้นสุดลงแล้ว หากผู้ออกโทเคนดิจิทัลประสงค์จะเสนอขายโทเคนดิจิทัลส่วนที่เหลือจากการเสนอขายครั้งก่อน ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนฉบับใหม่โดยวิธีการตามที่กำหนดในข้อ ๓๕ ข้อ ๓๕ ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวน ตามแบบที่กำหนดไว้ในหมวด ๒ ของภาคนี้ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ทั้งนี้ ตามแนวทางและวิธีการที่กำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. หมวด ๒ แบบและข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขาย โทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวน ข้อ ๓๖ แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ให้แบ่งออกเป็น ๖ ส่วนดังนี้ โดยมีรายละเอียดของข้อมูลตามข้อ ๓๗ (๑) ส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (factsheet) ซึ่งสรุปสาระสำคัญของโทเคนดิจิทัล รวมทั้งลักษณะพิเศษและความเสี่ยงที่สำคัญของโทเคนดิจิทัล และสรุปสาระสำคัญของผู้ออกโทเคนดิจิทัลโดยย่อ เพื่อให้เข้าใจภาพรวมของโทเคนดิจิทัลและผู้ออกโทเคนดิจิทัล (๒) ส่วนข้อมูลผู้ออกโทเคนดิจิทัลและวัตถุประสงค์การใช้เงิน โดยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ออกโทเคนดิจิทัลที่ระบุในส่วนนี้ ให้รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับกรรมการ ผู้บริหาร และผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ออกโทเคนดิจิทัลด้วย (๓) ส่วนข้อมูลแผนธุรกิจ ซึ่งแสดงสาระสำคัญตามที่กำหนดในข้อ ๑๙ (๒) โดยอนุโลม (๔) ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับโทเคนดิจิทัล ซึ่งแสดงสาระสำคัญของโทเคนดิจิทัล รวมทั้งลักษณะพิเศษและความเสี่ยงที่สำคัญ (๕) ส่วนข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (๖) ส่วนการรับรองความถูกต้องของข้อมูล ซึ่งเป็นไปตามหมวด ๓ ข้อ ๓๗ ข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล ต้องมีรายละเอียดที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (๑) ไม่มีข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือที่อาจทำให้สำคัญผิด และไม่ขาดข้อความที่ควรต้องแจ้งในสาระสำคัญ (๒) งบการเงินและงบการเงินรวมของผู้ออกโทเคนดิจิทัลที่เปิดเผยในแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน (ถ้ามี) ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหมวด ๑ ของภาค ๔ โดยอนุโลม (๓) ในกรณีเป็นการเสนอขายโทเคนดิจิทัลพร้อมกันหรือในระยะเวลาใกล้เคียงกันในประเทศอื่นด้วย ต้องมีรายละเอียดข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องที่พึงเปิดเผยต่อผู้ลงทุนไม่น้อยกว่าที่เปิดเผยในประเทศอื่น (๔) มีข้อมูลตามรายการที่กำหนดในมาตรา ๖๙ (๑) ถึง (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยอนุโลม (๕) ข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุนตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ข้อ ๓๘ แบบของร่างหนังสือชี้ชวนที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลต้องยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ให้อนุโลมใช้ตามแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลมีหน้าที่ยื่นตามข้อ ๓๖ และข้อ ๓๗ และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ด้วย (๑) ร่างหนังสือชี้ชวนที่ยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. อย่างน้อยต้องมีร่างที่จัดทำเป็นภาษาไทย (๒) รายการในร่างหนังสือชี้ชวนที่ตรงกับแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องมีสาระสำคัญของข้อมูลไม่ต่างกัน (๓) ต้องมีคำเตือนที่ระบุไว้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “การลงทุนในโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับเงินหรือคริปโทเคอร์เรนซีที่ลงทุนกลับคืน ดังนั้น ก่อนลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล และประเมินความเสี่ยงจากการลงทุนด้วยความระมัดระวัง รวมทั้งควรตระหนักถึงข้อจำกัดในการเปลี่ยนมือของโทเคนดิจิทัลด้วย สิ่งสำคัญ คือ ไม่ควรลงทุนด้วยเงินหรือคริปโทเคอร์เรนซีทั้งหมดที่มีอยู่ ทั้งนี้ การเผยแพร่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลไม่ได้เป็นการแสดงว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แนะนำให้ลงทุน หรือประกันราคาหรือผลตอบแทนของโทเคนดิจิทัลที่เสนอขาย หรือรับรองความสำเร็จของโครงการ” ข้อ ๓๙ ก่อนปิดการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ได้รับอนุญาต หากผู้ออกโทเคนดิจิทัลได้เปิดเผยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญที่มิได้แสดงอยู่ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและหนังสือชี้ชวนให้แก่บุคคลใดเป็นการเฉพาะรายเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ความเหมาะสมของการลงทุนในโทเคนดิจิทัลที่เสนอขาย หรือการตัดสินใจลงทุนในโทเคนดิจิทัลที่เสนอขาย ผู้ออกโทเคนดิจิทัลต้องดำเนินการให้มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและหนังสือชี้ชวนโดยพลัน ทั้งนี้ ต้องไม่ช้ากว่าวันที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลมีผลใช้บังคับ หรือในกรณีที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลมีผลใช้บังคับแล้วต้องไม่ช้ากว่าวันทำการถัดจากวันที่ได้เปิดเผยข้อเท็จจริงต่อบุคคลใดนั้น หมวด ๓ การรับรองข้อมูล ข้อ ๔๐ การลงลายมือชื่อเพื่อรับรองความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (๑) กรณีที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลมิใช่บริษัทจดทะเบียน ให้กรรมการทุกคน ผู้ที่ดำรงตำแหน่งบริหารสูงสุด และผู้ที่ดำรงตำแหน่งบริหารสูงสุดในสายงานบัญชี ลงลายมือชื่อ (๒) กรณีที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลเป็นบริษัทจดทะเบียน ให้กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพัน หรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งบริหารสูงสุดที่ได้รับมอบอำนาจจากกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพัน ลงลายมือชื่อ ทั้งนี้ ในกรณีที่กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันมิใช่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งบริหารสูงสุด หรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งบริหารสูงสุดในสายงานบัญชี การลงลายมือชื่อดังกล่าวต้องมีผู้ที่ดำรงตำแหน่งบริหารสูงสุดหรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งบริหารสูงสุดในสายงานบัญชี ลงลายมือชื่อด้วย ข้อ ๔๑ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควรทำให้บุคคลที่ต้องลงนามเพื่อนิติบุคคลตามที่กำหนดในข้อ ๔๐ ไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้นิติบุคคลดังกล่าวปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน ก.ล.ต. (๑) หากเหตุที่ทำให้บุคคลดังกล่าวคนใดไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ เกิดจากการที่บุคคลดังกล่าวอยู่ในภาวะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เนื่องจากเจ็บป่วยทางร่างกายหรือทางจิต ผู้ออกโทเคนดิจิทัลไม่จำต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวลงลายมือชื่อในแบบแสดงรายการข้อมูล (๒) หากเหตุที่ทำให้บุคคลดังกล่าวคนใดไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ เกิดจากกรณีอื่นนอกจากที่ระบุใน (๑) เมื่อเหตุดังกล่าวหมดสิ้นไป ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลจัดให้บุคคลดังกล่าวลงลายมือชื่อทันที เพื่อให้แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลมีผลใช้บังคับได้ตามข้อ ๔๒ หมวด ๔ วันมีผลใช้บังคับของแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขาย โทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวน ข้อ ๔๒ ให้แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับเมื่อได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้แล้ว (๑) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลต้องได้รับอนุญาตตามภาค ๒ (๒) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลได้ชำระค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลตามภาค ๕ (๓) เมื่อพ้น ๕ วันนับแต่วันที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่แก้ไขเพิ่มเติมครั้งหลังสุด (ไม่รวมข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลตามข้อ ๓๖ (๕) หรือข้อมูลอื่นที่มิใช่ข้อมูลสำคัญซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. ผ่อนผันให้แก้ไขเพิ่มเติมได้) (๔) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลได้ระบุข้อมูลตามรายการครบถ้วนแล้ว ภาค ๔ การเปิดเผยข้อมูลของผู้ออกโทเคนดิจิทัล หมวด ๑ การเปิดเผยข้อมูลอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับผลการดำเนินงาน และฐานะการเงินของผู้ออกโทเคนดิจิทัล ส่วนที่ ๑ วันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดหน้าที่ ข้อ ๔๓ ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลตามประกาศนี้มีหน้าที่จัดทำและส่งรายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานตามประเภทข้อมูลที่กำหนดในหมวดนี้ เมื่อแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนที่ยื่นตามหมวด ๒ มีผลใช้บังคับ เว้นแต่มีเหตุที่ทำให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลสิ้นสุดหน้าที่ตามที่กำหนดในข้อ ๔๔ ข้อ ๔๔ ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลสิ้นสุดหน้าที่จัดทำและส่งรายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของผู้ออกโทเคนดิจิทัลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อเกิดกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลไม่ได้ขายโทเคนดิจิทัลภายในระยะเวลาที่สำนักงาน ก.ล.ต. อนุญาตให้เสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือผู้ออกโทเคนดิจิทัลยกเลิกการเสนอขายโทเคนดิจิทัลตามเงื่อนไขที่ระบุไว้แล้วอย่างชัดเจน (๒) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลได้ชำระหนี้ตามโทเคนดิจิทัล (ถ้ามี) จนครบถ้วนแล้ว (๓) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลมีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ (๔) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (๕) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลเป็นสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งของเจ้าพนักงานหรือหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย (๖) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์แสดงได้ว่าโครงการตามแผนธุรกิจที่ได้นำเสนอไว้ในการเสนอขายครั้งแรก ดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้ผู้ถือโทเคนดิจิทัลสามารถใช้สิทธิในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดได้แล้ว ข้อ ๔๕ ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลแจ้งเหตุที่ทำให้สิ้นสุดหน้าที่การจัดทำและส่งรายงานตามข้อ ๔๔ ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ก่อนถึงกำหนดเวลาส่งรายงานดังกล่าว ส่วนที่ ๒ ประเภทและรายละเอียดข้อมูล ข้อ ๔๖ ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลจัดทำรายงานที่แสดงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินดังต่อไปนี้ (๑) ในกรณีที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลมีหน้าที่จัดทำและส่งรายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานจากการออกหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลดังกล่าวจัดทำและส่งรายงานที่แสดงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เช่นเดียวกับที่มีหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าว และให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมใน (๒) (ค) และข้อ ๔๗ ข้อ ๔๘ ข้อ ๔๙ ข้อ ๕๐ และข้อ ๕๑ ด้วย (๒) ในกรณีอื่นนอกจาก (๑) ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลจัดทำและส่งข้อมูลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ดังนี้ (ก) งบการเงินประจำรอบปีบัญชีที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและแสดงความเห็นแล้วซึ่งเป็นไปตามข้อ ๔๗ ข้อ ๔๘ และข้อ ๔๙ และเอกสารที่ต้องจัดส่งพร้อมกับงบการเงินตามข้อ ๕๐ ทั้งนี้ ภายใน ๒ เดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี (ข) แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี ซึ่งต้องมีข้อมูลสอดคล้องกับแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. โดยข้อมูลดังกล่าวต้องปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันและมีข้อมูลเพิ่มเติมตามข้อ ๕๑ ทั้งนี้ ภายใน ๓ เดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี (ค) รายงานการใช้เงินและความคืบหน้าของโครงการหรือกิจการตามแผนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโทเคนดิจิทัลทุกรอบระยะเวลา ๖ เดือนของปีบัญชีตามแนวทางที่กำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ทั้งนี้ ภายใน ๓๐ วันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาดังกล่าว ข้อ ๔๗ งบการเงินประจำรอบปีบัญชี และงบการเงินรายไตรมาส (ถ้ามี) ของผู้ออกโทเคนดิจิทัลต้องผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบให้สามารถตรวจสอบหรือสอบทานงบการเงินของผู้ออกโทเคนดิจิทัล ในกรณีที่เป็นงบการเงินประจำรอบปีบัญชี และงบการเงินรายไตรมาส (ถ้ามี) ของผู้ออกโทเคนดิจิทัลที่มีการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อผู้ลงทุนตามข้อ ๑๗ (๓) (ค) รายงานของผู้สอบบัญชีตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่มีความหมายในลักษณะดังต่อไปนี้ (๑) การจัดทำและเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่ต้องใช้ในการจัดทำงบการเงินนั้น (๒) ผู้สอบบัญชีถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบหรือสอบทาน แล้วแต่กรณี โดยการกระทำหรือไม่กระทำของผู้ออกโทเคนดิจิทัล หรือของกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ออกโทเคนดิจิทัล ข้อ ๔๘ การจัดทำและเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินของผู้ออกโทเคนดิจิทัลต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้ (๑) เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทยสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (๒) ในกรณีที่มาตรฐานการรายงานทางการเงินตาม (๑) ไม่ครอบคลุมถึงการจัดทำหรือการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องใด ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลระบุในหมายเหตุประกอบงบการเงินเกี่ยวกับรายการนโยบายบัญชีที่ใช้ปฏิบัติสำหรับการบันทึกบัญชีรายการนั้น และคำอธิบายว่านโยบายบัญชีดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินใด ข้อ ๔๙ หมายเหตุประกอบงบการเงินของผู้ออกโทเคนดิจิทัลตามข้อ ๔๖ ต้องแสดงงบการเงินของโครงการหรือกิจการตามแผนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโทเคนดิจิทัลด้วย ในกรณีที่มีการเสนอขายโทเคนดิจิทัลหลายชนิด ให้แสดงงบการเงินตามวรรคหนึ่งโดยแยกตามชนิดของโทเคนดิจิทัล ข้อ ๕๐ ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลส่งเอกสารดังต่อไปนี้ ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. พร้อมกับการจัดส่งงบการเงิน (๑) หนังสือรับรองงบการเงิน โดยให้อนุโลมใช้ตามแบบ ๕๖ - ๓ ท้ายประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ (๒) บทสรุปประเภทรายงานของผู้สอบบัญชี โดยให้อนุโลมใช้ตามแบบ ๖๑ - ๔ ที่กำหนดตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีในตลาดทุน ข้อ ๕๑ แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีของผู้ออกโทเคนดิจิทัลตามข้อ ๔๖ ต้องมีข้อมูลสรุปการใช้เงินและความคืบหน้าของโครงการหรือกิจการตามแผนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโทเคนดิจิทัลด้วย ทั้งนี้ ให้นำความในวรรคสองของข้อ ๔๙ มาใช้บังคับ โดยอนุโลม หมวด ๒ การรายงานเหตุการณ์สำคัญ ข้อ ๕๒ ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลรายงานพร้อมด้วยเหตุผลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน ๓ วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลมีการฟื้นฟูกิจการ (๒) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลประสบความเสียหายอย่างร้ายแรง (๓) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลหยุดประกอบกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน (๔) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์หรือลักษณะการประกอบธุรกิจ (๕) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลทำสัญญาให้บุคคลอื่นมีอำนาจทั้งหมดหรือบางส่วนในการบริหารงานของบริษัท (๖) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลกระทำหรือถูกกระทำอันมีลักษณะเป็นการครอบงำหรือถูกครอบงำกิจการตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (๗) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลผิดข้อตกลงในการชำระหนี้ตามโทเคนดิจิทัล (๘) ผู้ออกโทเคนดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อตกลงใด ๆ ที่เกี่ยวกับโทเคนดิจิทัลในสาระสำคัญ (๙) เหตุการณ์ที่ทำให้หรืออาจทำให้ต้องยกเลิกโทเคนดิจิทัล หรือเลิกโครงการ กิจการ หรือแผนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโทเคนดิจิทัล ข้อ ๕๓ การรายงานตามข้อ ๕๒ ให้แสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้ (๑) ข้อมูลเกี่ยวกับโทเคนดิจิทัล เช่น ชื่อผู้ออกโทเคนดิจิทัล ชื่อและประเภทของโทเคนดิจิทัล วัน เดือน ปี ที่เสนอขายโทเคนดิจิทัล จำนวนโทเคนดิจิทัลที่เสนอขายทั้งหมด และจำนวนโทเคนดิจิทัลที่ยังเหลืออยู่ (๒) รายละเอียดของเหตุการณ์ตามข้อ ๕๒ เช่น วันที่เกิดเหตุการณ์ และเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ เป็นต้น ภาค ๕ ค่าธรรมเนียม ข้อ ๕๔ ให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลชำระค่าธรรมเนียมดังต่อไปนี้ ตามอัตราที่กำหนดไว้สำหรับการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ตามประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยอนุโลม (๑) ค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัล (๒) ค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวน (๓) ค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี ประกาศ ณ วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ วรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ปวันวิทย์/จัดทำ ๓ กันยายน ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๖๙ ง/หน้า ๒๑/๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑
806394
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 12/2561 เรื่อง การกำหนดประเภทโทเคนดิจิทัลเพิ่มเติม
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. ๑๒/๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดประเภทโทเคนดิจิทัลเพิ่มเติม[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓ และมาตรา ๑๐ (๑) แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้คริปโทเคอร์เรนซีที่ผู้ออกมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนจากประชาชนและมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ เป็นโทเคนดิจิทัลตามมาตรา ๓ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ ด้วย (๑) มีการกำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ (๒) มีการกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใด ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑ วรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ วิวรรธน์/จัดทำ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๓๘ ง/หน้า ๑๐/๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๑
806390
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 11/2561 เรื่อง การกำหนดลักษณะการให้บริการที่ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. ๑๑/๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดลักษณะการให้บริการที่ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓ และมาตรา ๑๐ (๑) แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ การให้บริการของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีลักษณะเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ที่จำกัดเฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกและดำเนินการโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ ๒ การให้บริการแลกเปลี่ยนโทเคนดิจิทัลในลักษณะที่ครบถ้วนดังต่อไปนี้ ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล นายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล หรือผู้ค้าโทเคนดิจิทัล (๑) โทเคนดิจิทัลที่ให้บริการแลกเปลี่ยนต้องมีลักษณะที่ครบถ้วนดังนี้ (ก) เป็นโทเคนดิจิทัลอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ ๑. โทเคนดิจิทัลที่มีการกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการที่เฉพาะเจาะจง ๒. โทเคนดิจิทัลที่มีการกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสิทธิตาม ๑. (ข) สินค้าหรือบริการตาม (๑) (ก) ๑. หรือ (๑) (ก) ๒. พร้อมที่จะให้ผู้ถือใช้ประโยชน์ได้ทันทีในวันที่แลกเปลี่ยน (๒) เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างโทเคนดิจิทัลประเภทเดียวกันเท่านั้น ข้อ ๓ การให้บริการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลในลักษณะที่ครบถ้วนดังต่อไปนี้ ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (๑) การให้บริการซื้อหรือขายเฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผู้ออกกำหนดมูลค่าไว้กับสกุลเงินบาทในอัตราคงที่และผู้ออกมีกลไกที่ชัดเจนในการคงมูลค่าที่กำหนดไว้ดังกล่าว (๒) การให้บริการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลกับเงินบาทตามมูลค่าที่กำหนดไว้ใน (๑) เท่านั้น (๓) ต้องรับชำระเงินค่าซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ข้อ ๔ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑ วรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ วิวรรธน์/จัดทำ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๓๘ ง/หน้า ๙/๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๑
806388
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 10/2561 เรื่อง การไม่นำบทบัญญัติว่าด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชนมาใช้บังคับกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลบางลักษณะ
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. ๑๐/๒๕๖๑ เรื่อง การไม่นำบทบัญญัติว่าด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน มาใช้บังคับกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลบางลักษณะ[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ (๑) และมาตรา ๑๖ แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้การเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ออกและดำเนินการโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่มิให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชนมาใช้บังคับ ข้อ ๒ ให้การเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่เข้าลักษณะที่ครบถ้วนดังต่อไปนี้ เป็นการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่มิให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชนมาใช้บังคับ (๑) เป็นโทเคนดิจิทัลอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ (ก) โทเคนดิจิทัลที่มีการกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการที่เฉพาะเจาะจง (ข) โทเคนดิจิทัลที่มีการกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสิทธิตาม (ก) (๒) สินค้าหรือบริการตาม (๑) (ก) หรือ (๑) (ข) พร้อมที่จะให้ใช้ประโยชน์ได้ทันทีตั้งแต่วันที่เสนอขายโทเคนดิจิทัลครั้งแรก การเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ไม่เข้าลักษณะตามวรรคหนึ่ง ต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติในหมวด ๓ การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ ข้อ ๓ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑ วรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ วิวรรธน์/จัดทำ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๓๘ ง/หน้า ๘/๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๑
804494
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การอนุมัติพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การอนุมัติพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑[๑] ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เสนอพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ ไปเพื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นั้น ในคราวประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ ๓๐/๒๕๖๑ วันศุกร์ที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ที่ประชุมได้ลงมติอนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าวแล้ว จึงประกาศมาตามความในมาตรา ๑๗๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พัชรภรณ์/จัดทำ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๓๖ ก/หน้า ๑/๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๑
301651
พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 (ฉบับ Update ล่าสุด)
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ การประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร พระยามานวราชเสวี ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการประมง พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิก (๑) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ รัตนโกสินทร ศก ๑๒๐ (๒) พระราชบัญญัติเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ รัตนโกสินทร ศก ๑๒๐ (๓) ประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ ร.ศ. ๑๒๐ (๔) พระราชบัญญัติเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ ศก ๑๒๐ (๕) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๒ (๖) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ รัตนโกสินทร ศก ๑๒๐ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (๗) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๗๙ (๘) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ (ฉบับที่ ๗) พุทธศักราช ๒๔๘๑ (๙) กฎกระทรวงว่าด้วยวิธีจัดการและตั้งอัตราเก็บเงินอากรค่าน้ำตามความในพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ ศก ๑๒๐ และบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบทบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้ (๑)[๒] “สัตว์น้ำ” หมายความว่า สัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำหรือมีวงจรชีวิตส่วนหนึ่งอยู่ในน้ำหรืออาศัยอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมถึง เช่น ปลา กุ้ง ปู แมงดาทะเล หอย เต่า กระ ตะพาบน้ำ จระเข้ รวมทั้งไข่ของสัตว์น้ำนั้น สัตว์น้ำจำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม ปลิงทะเล ฟองน้ำ หินปะการัง กัลปังหา และสาหร่ายทะเล ทั้งนี้ รวมทั้งซากหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของสัตว์น้ำเหล่านั้น และหมายความรวมถึงพันธุ์ไม้น้ำตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อ (๑ ทวิ)[๓] “ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ” หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นโดยใช้สัตว์น้ำตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อเป็นวัตถุดิบ (๒) “ทำการประมง” หมายความว่า จับ ดัก ล่อ ทำอันตราย ฆ่า หรือเก็บสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือทำการประมงหรือด้วยวิธีใด ๆ (๓) “เครื่องมือทำการประมง” หมายความว่า เครื่องกลไก เครื่องใช้ เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบ อาวุธ เสา หลัก หรือเรือ บรรดาที่ใช้ทำการประมง (๔) “เรือ” หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิด (๕) “ที่จับสัตว์น้ำ” หมายความว่า ที่ซึ่งมีน้ำขังหรือไหล เช่น ทะเล แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง บ่อ เป็นต้น และหาดทั้งปวง บรรดาซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งป่าไม้ และพื้นดินซึ่งน้ำท่วมในฤดูน้ำ ไม่ว่าจะเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ และภายในเขตน่านน้ำไทยหรือน่านน้ำอื่นใด ซึ่งประเทศไทยใช้อยู่หรือมีสิทธิที่จะใช้ต่อไปในการทำการประมง โดยที่น่านน้ำเหล่านั้น ปรากฏโดยทั่วไปว่ามีขอบเขตตามกฎหมายท้องถิ่น หรือธรรมเนียมประเพณี หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสนธิสัญญา หรือด้วยประการใด (๖) “บ่อล่อสัตว์น้ำ” หมายความว่า ที่ล่อสัตว์น้ำเพื่อประโยชน์ในการทำการประมงตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (๗) “บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ” หมายความว่า ที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (๘) “ประทานบัตร” หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งข้าหลวงประจำจังหวัดออกให้บุคคลผู้ประมูลได้ ให้มีสิทธิทำการประมงในที่ว่าประมูล (๙) “ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่บุคคลใดใช้ทำการประมงหรือทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่อนุญาต (๑๐) “อาชญาบัตร” หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่ผู้รับอนุญาตเพื่อใช้เครื่องมือทำการประมง (๑๑) “ผู้รับอนุญาต” หมายความว่า บุคคลผู้ได้รับประทานบัตร ใบอนุญาต อาชญาบัตร หรือผู้ได้รับอนุญาตให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้ (๑๒) “เครื่องมือประจำที่” หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งใช้วิธีลงหลักปัก ผูก ขึง รั้ง ถ่วง หรือวิธีอื่นใด อันทำให้เครื่องมือนั้นอยู่กับที่ในเวลาทำการประมง (๑๓) “เครื่องมือในพิกัด” หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งระบุชื่อ ลักษณะ หรือวิธีใช้ไว้ในกฎกระทรวง (๑๔) “เครื่องมือนอกพิกัด” หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในกฎกระทรวงว่าเป็นเครื่องมือในพิกัด (๑๕) “สถิติการประมง” หมายความว่า สถิติหรือข้อความที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ การค้าสินค้าสัตว์น้ำ การทำการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (๑๖) “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ข้าหลวงประจำจังหวัดและนายอำเภอท้องที่ พนักงานประมง และผู้ซึ่งรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้มีหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ (๑๗) “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมการประมง (๑๘) “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และออกกฎกระทรวง กำหนดอัตราอากร และค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้และกำหนดกิจการอื่น ๆ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ หมวด ๑ ที่จับสัตว์น้ำ มาตรา ๖ บรรดาที่จับสัตว์น้ำทั้งปวงให้กำหนดเป็น ๔ ประเภท คือ (๑) ที่รักษาพืชพันธุ์ (๒) ที่ว่าประมูล (๓) ที่อนุญาต (๔) ที่สาธารณประโยชน์ มาตรา ๗ ให้คณะกรมการจังหวัดโดยอนุมัติของรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศกำหนดประเภทที่จับสัตว์น้ำภายในเขตท้องที่ของตนว่า เข้าอยู่ในประเภทที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่าประมูล หรือที่อนุญาต ที่จับสัตว์น้ำซึ่งมิได้มีประกาศตามความในวรรคหนึ่งให้ถือเป็นที่สาธารณประโยชน์ มาตรา ๘ ที่รักษาพืชพันธุ์ คือที่จับสัตว์น้ำซึ่งอยู่ในบริเวณพระอารามหรือปูชนียสถาน หรือติดกับเขตสถานที่ดังกล่าวแล้ว บริเวณประตูน้ำ ประตูระบายน้ำ ฝาย หรือทำนบ หรือที่ซึ่งเหมาะแก่การรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ มาตรา ๙ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่รักษาพืชพันธุ์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดให้ มาตรา ๑๐ ที่ว่าประมูล คือที่จับสัตว์น้ำซึ่งสมควรจะให้บุคคลว่าประมูลผูกขาดทำการประมง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การกำหนดที่จับสัตว์น้ำแห่งใดเป็นที่ว่าประมูลนั้น จะต้องไม่อยู่ในเขตชลประทานหลวง หรือไม่เป็นการเสียหายแก่การทำนา หรือการสัญจรทางน้ำ มาตรา ๑๑ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่ว่าประมูล เว้นแต่ผู้รับอนุญาต ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด การทำการประมงในที่ว่าประมูลเฉพาะเพื่อบริโภคภายในครอบครัวให้กระทำได้ แต่ต้องใช้เครื่องมือทำการประมงตามที่คณะกรมการจังหวัดประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี มาตรา ๑๒ ที่อนุญาต คือที่จับสัตว์น้ำซึ่งอนุญาตให้บุคคลทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และรวมตลอดถึงบ่อล่อสัตว์น้ำ มาตรา ๑๓ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่อนุญาต เว้นแต่ผู้รับอนุญาต ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๑๔ ห้ามมิให้บุคคลใดขุดหรือสร้างบ่อล่อสัตว์น้ำในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ส่วนในที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ บุคคลย่อมขุดหรือสร้างบ่อล่อสัตว์น้ำได้แต่ต้องไม่เป็นการเสียหายแก่พันธุ์สัตว์น้ำในที่รักษาพืชพันธุ์ มาตรา ๑๕ ผู้รับอนุญาตมีหน้าที่ติดโคมไฟและเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัยของการสัญจรในทางน้ำตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๖ ที่สาธารณประโยชน์ คือที่จับสัตว์น้ำซึ่งบุคคลทุกคนมีสิทธิทำการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ บุคคลใดซึ่งทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่สาธารณประโยชน์ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๑๗[๔] ห้ามมิให้บุคคลใดปลูกสร้างสิ่งใดลงไปในที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่าประมูล ที่อนุญาต ซึ่งมิใช่ที่ของเอกชนและที่สาธารณประโยชน์ หรือปลูกบัว ข้าว ปอ พืชหรือพันธุ์ไม้น้ำอื่นใดตามที่จะได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อในที่เช่นว่านั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด มาตรา ๑๘[๕] ห้ามมิให้บุคคลใดวิดน้ำในที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่าประมูล ที่อนุญาต ซึ่งมิใช่ที่ของเอกชน และที่สาธารณประโยชน์ หรือบ่อล่อสัตว์น้ำ หรือทำให้น้ำในที่จับสัตว์น้ำเช่นว่านั้นแห้งหรือลดน้อยลง เพื่อทำการประมง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด มาตรา ๑๙[๖] ห้ามมิให้บุคคลใด เท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้วัตถุมีพิษตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาลงไปในที่จับสัตว์น้ำ หรือกระทำการใด ๆ อันทำให้สัตว์น้ำมึนเมา หรือเท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้สิ่งใดลงไปในที่จับสัตว์น้ำในลักษณะที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำ หรือทำให้ที่จับสัตว์น้ำเกิดมลพิษ เว้นแต่เป็นการทดลองเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ และได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๒๐[๗] ห้ามมิให้บุคคลใดใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ หรือใช้วัตถุระเบิดในที่จับสัตว์น้ำไม่ว่าในกรณีใด เว้นแต่เพื่อประโยชน์ของทางราชการหรือได้รับอนุญาตจากอธิบดี มาตรา ๒๐ ทวิ[๘] ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสัตว์น้ำโดยรู้ว่าได้มาโดยการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่จับสัตว์น้ำซึ่งมิได้อยู่ในที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ให้ผิดไปจากสภาพที่เป็นอยู่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้ มาตรา ๒๒ ห้ามมิให้บุคคลใด ติดตั้ง วาง หรือสร้างเขื่อน ทำนบ รั้ว เครื่องมือที่เป็นตาข่าย หรือเครื่องมือทำการประมงอื่น ๆ ในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งกางกั้นทางเดินของสัตว์น้ำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือกระทำการเช่นว่านั้นเพื่อประโยชน์แก่การกสิกรรมในที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้ เช่น บันไดปลาโจน หรือเครื่องอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อให้สัตว์น้ำว่ายขึ้นลงได้ หมวด ๒ บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ มาตรา ๒๓ ห้ามมิให้บุคคลใดขุดหรือสร้างบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มาตรา ๒๔ การทำการประมงในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ต้องขออนุญาตและไม่ต้องเสียเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้ หมวด ๓ การจดทะเบียนและการขออนุญาต มาตรา ๒๕ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศกำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำตามที่จะได้มีพระราชกฤษฎีการะบุไว้ในท้องที่ใด ๆ มาจดทะเบียนได้ และจะกำหนดให้ผู้มีอาชีพเช่นว่านี้มาขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อนดำเนินอาชีพเช่นว่านั้น โดยให้เสียค่าธรรมเนียมหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้ มาตรา ๒๖ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเครื่องมือทำการประมงชนิดหนึ่งชนิดใดในท้องที่ใด ๆ จดทะเบียนการมีไว้ในครอบครองซึ่งเครื่องมือนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๒๗ เมื่อมีกรณีจำเป็นแก่ราชการหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยอนุมัติรัฐมนตรี ข้าหลวงประจำจังหวัดอาจสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาต หรือประทานบัตรรายใด ๆ ก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้ผู้รับอนุญาตได้รับคืนเงินอากรเฉพาะส่วนที่ต้องเพิกถอน มาตรา ๒๘ บุคคลใดจะใช้เครื่องมือในพิกัดทำการประมงได้ ต่อเมื่อได้รับอาชญาบัตรระบุชื่อบุคคลนั้น และเสียเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศยกเว้นไม่ต้องให้รับอาชญาบัตรสำหรับเครื่องมือทำการประมงอย่างหนึ่งอย่างใดในท้องที่ใด ๆ ก็ได้ มาตรา ๒๘ ทวิ[๙] บุคคลใดเป็นเจ้าของเรือ ใช้หรือยอมให้ใช้เรือของตนทำการประมงหรือเพื่อทำการประมง จนเป็นเหตุให้มีการละเมิดน่านน้ำของต่างประเทศ และทำให้คนประจำเรือหรือผู้โดยสารไปกับเรือต้องตกค้างอยู่ ณ ต่างประเทศ บุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันเกิดจากการละเมิดน่านน้ำของต่างประเทศซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีจำนวนไม่เกินเจ็ดคน ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยดังกล่าว ในกรณีที่ไม่สามารถแจ้งคำวินิจฉัยแก่บุคคลตามวรรคหนึ่ง เพราะไม่พบตัวบุคคลดังกล่าวหรือไม่มีผู้ใดยอมรับแทน ให้ถือว่าบุคคลดังกล่าวได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแล้ว ในเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ส่งคำวินิจฉัยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือปิดคำวินิจฉัยไว้ในที่เห็นได้ง่าย ณ สำนักงานภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ของบุคคลดังกล่าว โดยมีพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นพยานในการนั้น มาตรา ๒๙ เครื่องมือในพิกัดซึ่งได้รับอาชญาบัตรในท้องที่จังหวัดใดแล้ว ถ้าบุคคลใดประสงค์จะนำไปใช้ทำการประมงในท้องที่จังหวัดอื่น ซึ่งจะต้องเสียเงินอากรสูงกว่า จะต้องเสียอากรเพิ่มเติมให้ครบตามอัตราในท้องที่นั้นเสียก่อนจึงจะใช้เครื่องมือนั้นได้ มาตรา ๓๐ บุคคลใดประสงค์จะทำการประมงในที่อนุญาต ต้องขออนุญาตและเสียเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้ และเงินซึ่งผู้รับอนุญาตที่จะต้องชำระโดยการว่าประมูล ให้ถือว่าเป็นเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้ รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศยกเว้นไม่ต้องเสียเงินอากรค่าอนุญาตในที่อนุญาตรายตัวบุคคลได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้ถือว่าได้รับอนุญาตแล้ว มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้บุคคลใดตั้ง หรือปัก หรือสร้างเครื่องมือประจำที่ลงในที่สาธารณประโยชน์ ส่วนที่จับสัตว์น้ำอื่น ๆ ห้ามมิให้บุคคลใดกระทำการเช่นว่านั้น โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๓๒ รัฐมนตรีหรือข้าหลวงประจำจังหวัดโดยอนุมัติรัฐมนตรีเฉพาะภายในเขตท้องที่ของตน มีอำนาจประกาศกำหนดได้ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดขนาดตาและระยะช่องเครื่องมือทำการประมงทุกชนิด กำหนดขนาด ชนิด จำนวนและส่วนประกอบของเครื่องมือทำการประมงที่อนุญาตให้ใช้ในที่จับสัตว์น้ำ (๒) กำหนดมิให้ใช้เครื่องมือทำการประมงอย่างหนึ่งอย่างใดในที่จับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด (๓) กำหนดระยะที่ตั้งเครื่องมือประจำที่ให้ห่างกันเพียงใด (๔) กำหนดวิธีใช้เครื่องมือทำการประมงต่าง ๆ (๕) กำหนดฤดูปลาที่มีไข่และวางไข่เลี้ยงลูก กำหนดเครื่องมือที่ให้ใช้และกำหนดวิธีทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำใด ๆ ในฤดูดังกล่าว (๖) กำหนดชนิด ขนาด และจำนวนอย่างสูงของสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง (๗) กำหนดมิให้ทำการประมงสัตว์น้ำชนิดหนึ่งชนิดใดโดยเด็ดขาด มาตรา ๓๓ การโอนประทานบัตร ใบอนุญาตและอาชญาบัตรและการออกใบแทนเอกสารเช่นว่านั้น และการสลักหลังอาชญาบัตร เพื่อแก้ไขหรือเพิ่มเติมผู้มีสิทธิใช้เครื่องมือทำการประมง จะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้ ใบอนุญาตหรืออาชญาบัตรใดซึ่งหมดอายุแล้ว แต่ได้ยื่นคำขอต่ออายุก่อนวันสิ้นอายุ มิให้ถือว่าการทำการประมงหรือการใช้เครื่องมือนั้นเป็นการกระทำโดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะได้แจ้งว่าไม่อนุญาต มาตรา ๓๔ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือทำการใด ๆ ในเครื่องมือประจำที่ของผู้รับอนุญาต หรือในบริเวณที่ตั้งเครื่องมือเช่นว่านั้น ตามที่คณะกรมการจังหวัดจะได้ประกาศกำหนดเขตโดยอนุมัติรัฐมนตรี มาตรา ๓๕ ผู้รับอนุญาตจะต้องนำประทานบัตร ใบอนุญาต และอาชญาบัตร ติดตัวไปด้วยเสมอในเวลาไปทำการประมงและต้องนำออกแสดงเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขอตรวจ มาตรา ๓๖ ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประทานบัตร ใบอนุญาต หรืออาชญาบัตร หรือค้างเงินอากรที่เกี่ยวกับประทานบัตร ใบอนุญาต หรืออาชญาบัตร พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งเพิกถอนประทานบัตร ใบอนุญาต หรืออาชญาบัตรนั้นเสียก็ได้ มาตรา ๓๗ ในขณะใดหรือในท้องที่ใดยังไม่สมควรจะเก็บเงินอากรให้ประกาศยกเว้นโดยพระราชกฤษฎีกา มาตรา ๓๘ โดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจยกเว้น งด หรือคืนอากรค่าประทานบัตร ใบอนุญาต และอาชญาบัตร ให้บางส่วนหรือทั้งหมดตามแต่จะเห็นสมควร มาตรา ๓๙ โดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผ่อนเวลาชำระเงินอากรได้ตามที่เห็นสมควร สำหรับเงินอากรที่ค้างนั้น ผู้รับอนุญาตจะต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละสิบต่อปีของเงินอากรและเงินดอกเบี้ยนี้ให้ถือเป็นเงินอากรค้าง มาตรา ๔๐ ถ้าผู้รับอนุญาตค้างชำระเงินอากร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) ประกาศหรือแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับอนุญาตนำเงินอากรที่ค้างมาชำระภายในเวลาตามที่เห็นสมควร (๒) เมื่อได้ดำเนินการตามอนุมาตรา (๑) แล้วผู้รับอนุญาตยังเพิกเฉยอยู่ พนักงานเจ้าหน้าที่อาจสั่งให้หยุดทำการประมง (๓) จัดการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ผู้รับอนุญาตนำมาวางเป็นหลักประกัน หรือจัดการเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชำระเงินอากรแทนผู้รับอนุญาต เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้คิดชำระเงินอากรและค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาดจนครบ เหลือเท่าใดให้คืนแก่ผู้รับอนุญาตหรือผู้ค้ำประกันแล้วแต่กรณี มาตรา ๔๑ เงินอากรที่ค้างชำระนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดและจัดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้รับอนุญาตแต่พอคุ้มกับเงินอากรที่ค้างชำระ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการยึดและการขายทอดตลาด มาตรา ๔๒ ประทานบัตร ใบอนุญาตหรืออาชญาบัตรที่ถูกสั่งเพิกถอนตามมาตรา ๓๖ นั้น อากรที่ชำระแล้วจะเรียกคืนมิได้ มาตรา ๔๓ กำหนดอายุอาชญาบัตรสำหรับการขออนุญาตและเสียเงินอากรนั้น ให้เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม มาตรา ๔๔ ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๔๓ เพื่อประโยชน์แก่การเก็บอากรโดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจประกาศกำหนดฤดูกาลทำการประมงตามความเหมาะสมแห่งท้องที่ โดยให้นับเวลาสิบสองเดือนเป็นหนึ่งฤดู และให้ถือระยะเวลาดังกล่าวแล้วเป็นระยะเวลาสำหรับการขออนุญาตและเสียอากรสำหรับหนึ่งปี มาตรา ๔๕ ในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องออกไปตรวจสอบหรือกำหนดที่ตั้งเครื่องมือประจำที่ให้แก่ผู้ขออนุญาตใช้เครื่องมือ ให้ผู้ขออนุญาตจัดหาพาหนะรับและส่งพนักงานเจ้าหน้าที่หรือออกค่าใช้จ่ายให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่เท่าที่จำเป็นและจ่ายจริงตามแต่ผู้ขออนุญาตจะเลือก มาตรา ๔๖ ในกรณีที่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจออกประทานบัตร ใบอนุญาตและอาชญาบัตรไม่ยอมออกเอกสารเช่นว่านั้น ให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียอุทธรณ์ไปยังรัฐมนตรีได้โดยยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าพนักงานเช่นว่านั้นภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง คำอุทธรณ์นั้นให้เจ้าพนักงานเช่นว่านั้นเสนอรัฐมนตรีโดยมิชักช้า คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด หมวด ๔ สถิติการประมง มาตรา ๔๗ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้ทำการเก็บสถิติการประมงในท้องที่ใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร มาตรา ๔๘ เมื่อได้มีประกาศตามความในมาตรา ๔๗ แล้ว อธิบดีอาจขอให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่มีอาชีพเกี่ยวกับสัตว์น้ำส่งรายการข้อความจำนวนเกี่ยวกับสถิตินั้นได้ มาตรา ๔๙ คำขอของอธิบดีนั้น ให้ทำเป็นหนังสือระบุชื่อเจ้าของกิจการผู้จัดการหรือผู้แทน และให้กำหนดเวลา สถานที่และวิธีการยื่น มาตรา ๕๐ บุคคลซึ่งได้รับคำขอตามมาตรา ๔๘ ต้องกรอกคำตอบลงในแบบพิมพ์แสดงรายการข้อความ จำนวนตามที่รู้เห็น พร้อมทั้งลงชื่อกำกับ และจัดการยื่นตามกำหนดเวลา ณ สถานที่และตามวิธีการที่กำหนดในคำขอ มาตรา ๕๑ ถ้ามีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรี เพื่อการนี้ มีอำนาจเข้าในสถานที่ทำการของผู้รับคำขอในเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เพื่อทำการตรวจสอบ จดข้อความจำนวนเกี่ยวกับสถิติการประมง และให้เป็นหน้าที่ของผู้รับคำขอ หรือผู้แทนตอบคำถาม อำนวยความสะดวก และช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการนี้ หมวด ๕ การควบคุม มาตรา ๕๒ โดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจประกาศห้ามมิให้บุคคลอื่นนอกจากผู้รับอนุญาต เข้าไปในที่จับสัตว์น้ำแห่งหนึ่งแห่งใด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้รับอนุญาต หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน มาตรา ๕๓[๑๐] ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำชนิดใดชนิดหนึ่งตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำชนิดใดชนิดหนึ่งเกินจำนวนหรือปริมาณ หรือเล็กกว่าขนาดที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่สัตว์น้ำที่ห้ามบุคคลมีไว้ในครอบครองเป็นชนิดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือทรัพย์สินของบุคคลหรือสาธารณชน ให้กำหนดลักษณะของสัตว์น้ำนั้นว่าจะมีอันตรายอย่างใด และกำหนดเวลาสำหรับผู้ซึ่งมีสัตว์น้ำนั้นในครอบครองอยู่แล้วส่งมอบสัตว์น้ำนั้นให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ในพระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งด้วย การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง บุคคลใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในวันที่พระราชกฤษฎีกาออกตามความในวรรคหนึ่งใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นต่อไป ต้องยื่นคำขออนุญาตตามวรรคสามภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ เว้นแต่ในกรณีสัตว์น้ำตามวรรคสอง จะขออนุญาตหรืออนุญาตมิได้ และในระหว่างเวลาที่กำหนดไว้ สำหรับการขออนุญาตจนถึงวันที่ได้รับคำสั่งไม่อนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่มิให้นำมาตรา ๖๗ ทวิ มาใช้บังคับ ในกรณีที่บุคคลตามวรรคสี่ยื่นคำขออนุญาตแล้วแต่ไม่ได้รับอนุญาต อธิบดีมีอำนาจสั่งให้บุคคลดังกล่าวส่งมอบสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเจ็ดวันนับแต่วันได้รับคำสั่ง ในกรณีมีการส่งมอบสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำตามวรรคสองหรือวรรคห้า ให้กรมประมงคิดราคาสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำดังกล่าวตามสมควรแก่ผู้ส่งมอบ ความในวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม วรรคสี่ วรรคห้า และวรรคหก มิให้ใช้บังคับแก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นเฉพาะที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๕๔ ห้ามมิให้นำสัตว์น้ำชนิดหนึ่งชนิดใดตามที่ระบุในพระราชกฤษฎีกาเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๕๕ ห้ามมิให้บุคคลใดนำสัตว์น้ำชนิดหนึ่งชนิดใดตามที่ระบุในพระราชกฤษฎีกา ไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำแห่งหนึ่งแห่งใด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๕๖ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะเข้าไปในที่จับสัตว์น้ำแห่งใด ๆ หรือเรือทำการประมงของบุคคลใด ๆ เพื่อตรวจการทำการประมง เครื่องมือทำการประมงสัตว์น้ำ หลักฐานบัญชีและเอกสารต่าง ๆ ของผู้รับอนุญาตได้ทุกเมื่อ ผู้รับอนุญาตต้องอำนวยความสะดวกและชี้แจงแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ทุกประการ มาตรา ๕๗ เมื่อปรากฏว่าบุคคลใดกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำการเช่นว่านั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมผู้นั้นพร้อมด้วยเรือ เครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำ และสิ่งอื่น ๆ ที่ใช้ในการกระทำผิดเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย มาตรา ๕๘ ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้รับอนุญาตรื้อถอนเครื่องมือทำการประมง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งใด ๆ ในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งได้กระทำโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งประทานบัตรหรือใบอนุญาตได้สิ้นอายุแล้ว บรรดาที่เป็นของผู้รับอนุญาต ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนดังกล่าวแล้ว ให้ผู้รับอนุญาตเป็นผู้ออก มาตรา ๕๙ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจทำการรื้อถอน ทำลายหรือยึดเครื่องมือซึ่งตั้งอยู่ในที่จับสัตว์น้ำ โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ และสิ่งต่าง ๆ ซึ่งระบุไว้ในมาตรา ๕๘ ในกรณีที่ผู้รับคำสั่งไม่ได้รื้อถอนไปภายในเวลาอันสมควร ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนดังกล่าวให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ฝ่าฝืนเป็นผู้ออก มาตรา ๖๐ การประกาศตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้ามิได้กำหนดวิธีการไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้ทำเป็นหนังสือปิดไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ และศาลากลางจังหวัดประจำท้องที่เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน หมวด ๖ บทกำหนดโทษ มาตรา ๖๑[๑๑] บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ วรรคสอง มาตรา ๒๓ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๔ หรือมาตรา ๕๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๒[๑๒] บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๙ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๓๐ มาตรา ๕๔ หรือมาตรา ๕๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๒ ทวิ[๑๓] บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท มาตรา ๖๒ ตรี[๑๔] บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ ทวิ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๖๓ บุคคลใดไม่ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามมาตรา ๒๕ หรือมาตรา ๒๖ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๔[๑๕] บุคคลใดใช้เครื่องมือทำการประมง ซึ่งต้องมีอาชญาบัตรตามพระราชบัญญัติโดยไม่มีอาชญาบัตรตามมาตรา ๒๘ หรือมิได้เสียเงินอากรเพิ่มเติมตามมาตรา ๒๙ ต้องระวางโทษปรับสามเท่าของเงินอากรและให้อธิบดีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่อธิบดีมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบได้ เมื่อผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในสิบห้าวันให้คดีนั้นเป็นอันเลิกกัน มาตรา ๖๔ ทวิ[๑๖] บุคคลใดไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตามมาตรา ๒๘ ทวิ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๕[๑๗] บุคคลใดฝ่าฝืนประกาศของรัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งประกาศตามความในมาตรา ๓๒ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๖ ผู้รับอนุญาตใดไม่ปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๕ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าสิบบาท มาตรา ๖๗ บุคคลซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติการตามมาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๕๑ หรือมาตรา ๕๖ ละเลยไม่ปฏิบัติการเช่นว่านั้น มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๖๗ ทวิ[๑๘] บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๓ วรรคหนึ่งหรือวรรคห้า ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ถ้าหากปรากฏว่าสัตว์น้ำนั้นเป็นสัตว์ชนิดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายตามมาตรา ๕๓ วรรคสอง ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนสองหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหกปี หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๘ ผู้รับอนุญาตใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของข้าหลวงประจำจังหวัด ซึ่งสั่งตามมาตรา ๕๘ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๙[๑๙] เครื่องมือทำการประมง เรือ สัตว์น้ำ และสิ่งอื่น ๆ ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ศาลจะริบเสียก็ได้ แต่ถ้าเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ให้ศาลริบสิ่งเช่นว่านั้นเสียทั้งสิ้น มาตรา ๗๐ เครื่องมือทำการประมงที่ได้มีประกาศตามความในมาตรา ๓๒ ห้ามมิให้บุคคลใดใช้โดยเด็ดขาดนั้น ถ้านำมาใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ ให้ศาลริบเครื่องมือนั้นเสีย มาตรา ๗๑ ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกินสองพันบาท และต้องชดใช้เงินซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการไปตามมาตรา ๕๙ ในกรณีที่ศาลลงโทษผู้กระทำความผิดให้ศาลพิพากษาให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินดังกล่าวแล้ว ถ้าไม่ชำระให้จัดการตามมาตรา ๑๘ แห่งกฎหมายลักษณะอาญาโดยถือเสมือนว่าเป็นค่าปรับ มาตรา ๗๒ บุคคลใดทำลาย ถอดถอน หรือทำให้โคมไฟ เครื่องหมายหลักเขต แผ่นประกาศหรือสิ่งอื่น ๆ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำไว้ในที่จับสัตว์น้ำบุบสลาย หรือเสียหายด้วยประการใด ๆ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ บทเฉพาะกาล มาตรา ๗๓ ในกรณีที่ได้มีประกาศกำหนดประเภทที่จับสัตว์น้ำไว้ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเป็นประกาศที่ออกตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้เป็นต้นไป ประทานบัตร อาชญาบัตร และใบอนุญาตที่ออกก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเป็นประทานบัตร อาชญาบัตร และใบอนุญาตที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้แล้วแต่กรณี และให้คงใช้ต่อไปได้จนหมดอายุแห่งประทานบัตร อาชญาบัตร และใบอนุญาตนั้น ๆ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเรือตรี ถ. ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี บัญชีหมายเลข ๑ อัตราเงินอากรค่าที่อนุญาต ลำดับ ประเภทที่อนุญาต อัตราเงินอากร ๑. โป๊ะน้ำลึก แห่งละ ๒๐๐.๐๐ บาท ๒. อวนรัง แห่งละ ๒๐๐.๐๐ บาท ๓. โป๊ะน้ำตื้น แห่งละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๔. เฝือกรัง แห่งละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๕. จิบ แห่งละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๖. ลี่ แห่งละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๗. สุก แห่งละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๘. โพงพาง ช่องละ ๑๐๐.๐๐ บาท ๙. ร้านโจน แห่งละ ๑๐๐.๐๐ บาท ๑๐. รั้วไซมาน ช่องละ ๕๐.๐๐ บาท ๑๑. กั้นซู่รั้วไซมาน ช่องละ ๕๐.๐๐ บาท ๑๒. ช้อนปีก แห่งละ ๕๐.๐๐ บาท ๑๓. ยอปีก แห่งละ ๕๐.๐๐ บาท ๑๔. บาม แห่งละ ๒๕.๐๐ บาท ๑๕. ยอขันช่อ แห่งละ ๒๐.๐๐ บาท ๑๖. ช้อนขันช่อ แห่งละ ๒๐.๐๐ บาท ๑๗. จันทา แห่งละ ๑๐.๐๐ บาท ๑๘. กร่ำ ตารางเมตรละ ๑.๐๐ บาท ๑๙. บ่อล่อสัตว์น้ำ ตารางเมตรละ ๐.๕๐ บาท ๒๐. ที่เลี้ยงหอย ตารางเมตรละ ๐.๐๕ บาท บัญชีหมายเลข ๒ อัตราเงินอากรอาชญาบัตรสำหรับเครื่องมือในพิกัด ลำดับ ชื่อเครื่องมือ อัตราเงินอากร ๑. ยอขันช่อ ช้อนขันช่อ ช้อนสนั่น และช้อนหางเหยี่ยวมีเครื่องยก ปากละ ๒๐.๐๐ บาท ๒. ถุงโพงพาง ถุงละ ๒๐.๐๐ บาท ๓. ถุงบาม ปากละ ๑๕.๐๐ บาท ๔. เรือผีหลอกหรือเรือกัตรา ลำละ ๑๐.๐๐ บาท ๕. แหยาวตั้งแต่ ๔ เมตรขึ้นไป ปากละ ๑๐.๐๐ บาท ๖. ช้อนต่าง ๆ ปากกว้างตั้งแต่ ๓.๕ เมตรขึ้นไป ปากละ ๑๐.๐๐ บาท ๗. เบ็ดราวยาวตั้งแต่ ๔๐ เมตรขึ้นไป สายละ ๕.๐๐ บาท ๘. ข่ายหรืออวนต่าง ๆ ยาว เมตรละ ๕.๐๐ บาท ๙. เฝือกหรือเครื่องกั้น ยาว เมตรละ ๑.๐๐ บาท บัญชีหมายเลข ๓ อัตราเงินอากรค่าใบอนุญาตรายบุคคลผู้ทำการประมง ลำดับ รายการ อัตราเงินอากร ๑. ใบอนุญาตรายบุคคลผู้ทำการประมงโดยใช้ เครื่องมือนอกพิกัดในที่อนุญาต คนละ ๑๕.๐๐ บาท ๒. ใบอนุญาตหาหอยแมลงภู่และหอยกะพง คนละ ๑๕.๐๐ บาท ๓. ใบอนุญาตหาเทียนหอยและหอยมุกด์ คนละ ๑๕.๐๐ บาท บัญชีหมายเลข ๔ อัตราค่าธรรมเนียม ลำดับ รายการ อัตราค่าธรรมเนียม ๑. ใบอนุญาตสำหรับทำการค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ ปีละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๒. ค่าโอนประทานบัตร ฉบับละ ๒๐.๐๐ บาท ๓. ค่าโอนใบอนุญาต อาชญาบัตร ฉบับละ ๒๐.๐๐ บาท ๔. ออกใบแทนอาชญาบัตร ใบอนุญาตประทานบัตร ฉบับละ ๑๐.๐๐ บาท ๕. ใบอนุญาตสำหรับผู้มีอาชีพทำการประมง ปีละ ๑๐.๐๐ บาท ๖. ค่าสลักหลังใบอาชญาบัตรเพื่อแก้ไขหรือเพิ่มเติม ผู้มีสิทธิใช้เครื่องมือทำการประมง ครั้งละ ๕.๐๐ บาท พระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖[๒๐] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ด้วยปรากฏว่าเวลานี้มีผู้ใช้วัตถุระเบิดทำการประมงทั้งในน่านน้ำจืดและน่านน้ำเค็มกันเป็นจำนวนมาก อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ผู้ฝ่าฝืนไม่ค่อยกลัวเกรง เพราะโทษแห่งความผิดได้กำหนดไว้ให้ในอัตราต่ำ และการจับกุมผู้กระทำผิด ก็จับได้ด้วยความยากลำบาก การใช้วัตถุระเบิดทำการประมงนั้น ปรากฏจากผลของการทดลองของกองทัพเรือ ร่วมกับกรมการประมงว่า เป็นการทำลายพันธุ์ปลาชนิดดี ๆ อย่างร้ายแรงมาก การใช้วัตถุระเบิดส่วนมาก ผู้ฝ่าฝืนใช้ตามหินกองในท้องทะเลซึ่งมีปลาพันธุ์ดีอาศัยอยู่ เช่น ปลาเหลือง ปลาสีกุน การระเบิดครั้งหนึ่ง ๆ ปรากฏว่าได้ทำลายพันธุ์ปลาที่อยู่ในรัศมีการระเบิดโดยสิ้นเชิง ทั้งปลาใหญ่และลูกปลาที่เป็นปลาที่มีราคาและปลาเหล่านี้ เป็นปลาประจำท้องที่ ถ้าหากยังมีการฝ่าฝืนเช่นนี้ต่อไปอีก ไม่ช้าพันธุ์ปลาดี ๆ ในท้องทะเลก็จะถูกทำลายให้สูญพันธุ์ในกาลต่อไปได้ เป็นการทำลายอาชีพการประมงของบรรดาชาวประมง และบัดนี้ก็ปรากฏว่าเครื่องมือทำการประมงบางชนิด เช่น อวนยอ อวนมุโร เบ็ดสาย ลอบปะทุน ทำการประมงไม่ได้ผล เพราะบริเวณที่ใดถูกระเบิด ปลาก็ถูกทำลายแทบหมดสิ้น ไม่มีพันธุ์พอที่จะเกิดและเพิ่มปริมาณให้มีการจับได้อีกเป็นเวลานาน ทำให้ชาวประมงที่ใช้เครื่องมือประจำที่ทำการจับไม่ได้ต่างพากันร้องว่าเดือดร้อน ฉะนั้น จึงควรกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ในอัตราสูง เพื่อปราบปรามให้เข็ดหลาบ และป้องกันการทำลายพันธุ์ปลาไว้มิให้ถูกทำลายหมดไป โดยการกระทำของผู้เห็นประโยชน์ส่วนตัวเฉพาะหน้า อนึ่ง ปรากฏว่ามีผู้ฝ่าฝืนทำการบุกรุกและวิดน้ำจับสัตว์น้ำ ในที่จับสัตว์น้ำอันเป็นที่สาธารณประโยชน์ โดยมิได้รับอนุญาต เป็นเหตุให้เกิดการเสียหายแก่ที่จับสัตว์น้ำและพันธุ์สัตว์น้ำ จึงเห็นควรแก้ไขให้การควบคุมและการรักษาพันธุ์สัตว์น้ำได้ประโยชน์รัดกุมยิ่งขึ้น พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๕๑๓[๒๑] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ เนื่องจากปรากฏว่าได้มีผู้มีปลาปิรันยา (Piranha) หรือปลาคาริบี (Caribe) ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดในสกุลเซราซาลมัส (Serasalmus) และมีแหล่งกำเนิดเดิมอยู่ในแม่น้ำอะเมซอน ประเทศบราซิล ไว้ในครอบครอง ปลาชนิดนี้เป็นปลาขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายปลาแปบ หรือปลาโคก แต่มีฟันคมและมีนิสัยดุร้ายมาก ชอบอาศัยอยู่เป็นฝูง ชอบรุมกัดกินเนื้อมนุษย์และสัตว์ทุกขนาดเป็นอาหาร เช่น โค กระบือ ม้า ฯลฯ ที่ลงไปในแม่น้ำลำคลองที่ปลานี้อาศัยอยู่ และบัดนี้มีผู้นำหรือสั่งปลาในสกุลนี้มาจากต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศไทยหลายราย โดยจำหน่ายเป็นปลาประเภทสวยงาม และแปลกประหลาด ถ้าปล่อยให้มีปลาในสกุลนี้ไว้ในครอบครองอาจจะมีการผสมพันธุ์ปลาในสกุลนี้ขึ้นจำหน่าย หรืออาจจะมีผู้นำไปปล่อยในแหล่งน้ำสาธารณะ ปลาสกุลนี้จะขยายพันธุ์และแพร่หลายทั่วไปจะเป็นอันตรายต่อประชาชน สัตว์เลี้ยงและสัตว์น้ำอย่างยิ่ง จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติการประมง โดยห้ามมิให้มีสัตว์น้ำตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาไว้ในครอบครอง ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อการค้าหรือไม่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และโดยที่เป็นกรณีเหตุฉุกเฉินมีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความปลอดภัยสาธารณะหรือป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ ก่อนที่จะได้มีการขยายพันธุ์จนสายเกินที่จะป้องกันกำจัดได้ สมควรออกพระราชกำหนดโดยด่วน พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๕๑๓ พ.ศ. ๒๕๑๓[๒๒] มาตรา ๓ ให้อนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.๒๔๙๐ พ.ศ.๒๕๑๓ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปรากฏว่าได้มีผู้นำปลาปิรันยา (Piranha) หรือปลาคาริบี (Caribe) ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดในสกุลเซราซาลมัส (Serasalmus) จากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรหลายราย เพื่อจำหน่ายและเลี้ยงเป็นปลาประเภทสวยงาม ปลาชนิดนี้มีแหล่งกำเนิดเดิมอยู่ในแม่น้ำอะเมซอน ประเทศบราซิล เป็นปลาขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายปลาแปบหรือปลาโคก แต่เป็นปลาที่มีฟันคมและมีนิสัยดุร้ายมาก อาศัยอยู่เป็นฝูง ชอบรุมกัดกินเนื้อมนุษย์และสัตว์มีชีวิตทุกขนาดเป็นอาหาร เช่น โค กระบือ ม้า ฯลฯ ที่ลงไปในแม่น้ำลำคลองที่ปลาชนิดนี้อาศัยอยู่ ถ้าปล่อยให้บุคคลมีปลาชนิดนี้ไว้ในครอบครอง อาจจะมีการผสมขยายพันธุ์เพื่อจำหน่ายหรืออาจจะมีผู้นำไปปล่อยในแหล่งน้ำสาธารณะ ปลาชนิดนี้สามารถขยายพันธุ์ได้โดยรวดเร็ว เพราะถิ่นกำเนิดเดิมมีอุณหภูมิอยู่ในระดับเดียวกับประเทศไทย ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อประชาชน สัตว์เลี้ยงและสัตว์น้ำอย่างร้ายแรง เพื่อป้องกันภัยพิบัติสาธารณะดังกล่าวแล้ว และเห็นว่าเป็นกรณีจำเป็นและรีบด่วน จึงจำเป็นต้องออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ โดยบัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดมีสัตว์น้ำตามระบุในพระราชกฤษฎีกาไว้ในครอบครองไม่ว่าจะมีไว้เพื่อการค้าหรือไม่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ สำหรับผู้ที่มีปลาชนิดนี้ไว้ในครอบครองในวันพระราชกฤษฎีกาออกใช้บังคับ โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศให้นำปลาชนิดนี้มาส่งมอบแก่เจ้าพนักงานกรมประมงภายใน ๗ วัน โดยกรมประมงจะคิดค่าสัตว์น้ำให้ตามสมควร จึงได้ออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๕๑๓ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๑๓ ฉะนั้น จึงเห็นสมควรออกพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าวตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๔๖ ต่อไป ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๕ ลงวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕[๒๓] โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า ได้มีผู้ละเมิดกฎหมายโดยใช้กระแสไฟฟ้า วัตถุระเบิดและวางยาเบื่อเมาเพื่อจับสัตว์น้ำกันแพร่หลายยิ่งขึ้น เป็นการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำอันเป็นทรัพยากรของชาติอย่างร้ายแรงและเป็นการเดือดร้อนแก่ประชาชน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการประมงเสียใหม่ให้เหมาะสม เพื่อป้องกันและสงวนพันธุ์สัตว์น้ำซึ่งเป็นทรัพยากรอันมีค่าของชาติมิให้ถูกทำลายให้หมดไปโดยการกระทำดังกล่าว พระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘[๒๔] มาตรา ๑๕ บรรดาพระราชกฤษฎีกาและประกาศรัฐมนตรีที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาหรือประกาศรัฐมนตรีให้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลง แล้วแต่กรณี มาตรา ๑๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปรากฏว่าในปัจจุบันนี้มีประชาชนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ใช้วัตถุมีพิษเพื่อทำการประมงอันอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคสัตว์น้ำได้ จึงสมควรจะได้กำหนดมาตรการควบคุมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น พร้อมกับกำหนดความรับผิดของเจ้าของเรือ กรณีที่มีการละเมิดน่านน้ำของต่างประเทศ และทำให้คนประจำเรือหรือผู้โดยสารไปกับเรือต้องตกค้างอยู่ ณ ต่างประเทศ ประกอบกับมีสัตว์น้ำบางชนิดที่มีคุณค่าในทางเศรษฐกิจ เช่น เต่า และกระ ได้ถูกจับจนเกินปริมาณที่สมควร หากไม่มีมาตรการอนุรักษ์ที่เหมาะสมแล้ว สัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจประเภทดังกล่าวจะถูกทำลายจนไม่มีเหลือสำหรับแพร่พันธุ์ หรือนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไป จึงสมควรที่จะออกมาตรการห้ามครอบครองสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำบางชนิดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจดังกล่าว และโดยที่พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ไม่มีบทบัญญัติครอบคลุมไปถึงมาตรการเหล่านี้ อีกทั้งโทษบางมาตราที่บัญญัติไว้มีอัตราต่ำไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ วศิน/ผู้จัดทำ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๒ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๑๑ มกราคม ๒๕๕๖ วิชพงษ์/ตรวจ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๔/ตอนที่ ๓/หน้า ๘๑/๑๔ มกราคม ๒๔๙๐ [๒] มาตรา ๔ (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ [๓] มาตรา ๔ (๑ ทวิ) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ [๔] มาตรา ๑๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ [๕] มาตรา ๑๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ [๖] มาตรา ๑๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ [๗] มาตรา ๒๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๕ ลงวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ [๘] มาตรา ๒๐ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๕ ลงวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ [๙] มาตรา ๒๘ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ [๑๐] มาตรา ๕๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ [๑๑] มาตรา ๖๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ [๑๒] มาตรา ๖๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ [๑๓] มาตรา ๖๒ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ [๑๔] มาตรา ๖๒ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ [๑๕] มาตรา ๖๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ [๑๖] มาตรา ๖๔ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ [๑๗] มาตรา ๖๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ [๑๘] มาตรา ๖๗ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ [๑๙] มาตรา ๖๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๕ ลงวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ [๒๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๐/ตอนที่ ๖๑/หน้า ๑๑๔๕/๒๙ กันยายน ๒๔๙๖ [๒๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๗/ตอนที่ ๒๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๓๐ มีนาคม ๒๕๑๓ [๒๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๗/ตอนที่ ๙๓/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๗ ตุลาคม ๒๕๑๓ [๒๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๙/ตอนที่ ๔๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๔ มีนาคม ๒๕๑๕ [๒๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๒/ตอนที่ ๑๒๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๓๘/๕ กันยายน ๒๕๒๘
780563
พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 (ฉบับ Update ล่าสุด)
พระราชกำหนด พระราชกำหนด การประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการประมง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘” มาตรา ๒[๑] พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๔ บทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดนี้มุ่งหมายเพื่อการจัดระเบียบการประมงในประเทศไทยและในน่านน้ำทั่วไป เพื่อป้องกันมิให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในภาวะที่เป็นแหล่งอาหารของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน และรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมให้ดำรงอยู่ในสภาพที่เหมาะสมตามแนวทาง กฎเกณฑ์ และมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับนับถือในนานาประเทศ รวมทั้งคุ้มครองสวัสดิภาพของคนประจำเรือ และป้องกันการใช้แรงงานผิดกฎหมายในภาคการประมงภายใต้วัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้ (๑) เพื่อให้การบริหารจัดการด้านการประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลอย่างครบถ้วนและถูกต้อง (๒) เพื่อปกป้องคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนประมงพื้นบ้านและชุมชนประมงท้องถิ่น (๓) เป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ (๔) เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการใช้แรงงานผิดกฎหมายในภาคการประมง (๕) มีการใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดเพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำนำไปสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สอดคล้องกับแนวทางการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และหลักการป้องกันล่วงหน้าเพื่อรักษาหรือฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในระดับที่สามารถก่อให้เกิดผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน (๖) เพื่อป้องกันและขจัดการทำการประมงที่เกินศักย์การผลิตและขีดความสามารถในการทำการประมงส่วนเกิน ตลอดจนควบคุมมิให้การทำการประมงมีผลบั่นทอนความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ (๗) เพื่อบังคับใช้มาตรการตามที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดนี้อย่างเป็นระบบ (๘) ส่งเสริมความร่วมมือกับรัฐอื่น ภาคเอกชน และองค์การระหว่างประเทศ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดนี้ (๙) เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพในการทำงานของแรงงานในภาคการประมง (๑๐) เพื่อสร้างระบบติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำการประมงให้มีประสิทธิภาพ (๑๑) เพื่อให้มีระบบการสืบค้นที่มีประสิทธิภาพและสามารถตรวจสอบที่มาของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำได้ตั้งแต่การทำการประมงไปจนถึงผู้บริโภค (๑๒) กำหนดโทษทางปกครองและโทษทางอาญาให้ได้สัดส่วนและเหมาะสมเพื่อป้องกันการกระทำความผิด มาตรา ๕ ในพระราชกำหนดนี้ “สัตว์น้ำ” หมายความว่า สัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำเป็นปกติ สัตว์จำพวกสะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณน้ำท่วมถึง สัตว์ที่มีการดำรงชีวิตส่วนหนึ่งอยู่ในน้ำ สัตว์ที่มีวงจรชีวิตช่วงหนึ่งที่อาศัยอยู่ในน้ำเฉพาะช่วงชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ รวมทั้งไข่และน้ำเชื้อของสัตว์น้ำ และสาหร่ายทะเล ซาก หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของสัตว์น้ำเหล่านั้น และให้หมายความรวมถึงพันธุ์ไม้น้ำตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และซากหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพันธุ์ไม้น้ำนั้นด้วย “ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ” หมายความว่า ผลิตผลที่ได้จากการแปรรูปสัตว์น้ำหรือที่ใช้สัตว์น้ำเป็นวัตถุดิบ “การแปรรูปสัตว์น้ำ” หมายความว่า การกระทำใด ๆ ที่เป็นการเปลี่ยนสภาพสัตว์น้ำสำหรับใช้เพื่อการอุปโภคหรือบริโภค แต่ไม่รวมถึงการบรรจุหีบห่อสัตว์น้ำโดยไม่มีการเปลี่ยนสภาพของสัตว์น้ำ หรือการเปลี่ยนสภาพสัตว์น้ำเพื่อบริการให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง “การประมง” หมายความว่า การทำการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การดูแลรักษาสัตว์น้ำ การแปรรูปสัตว์น้ำ และหมายความรวมถึงการกระทำใด ๆ ที่เป็นการสนับสนุนการทำการประมง “ทำการประมง” หมายความว่า ค้นหา ล่อ จับ ได้มา หรือเก็บสัตว์น้ำ หรือการกระทำใด ๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อล่อ จับ ได้มา หรือเก็บสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำ “ที่จับสัตว์น้ำ” หมายความว่า ที่ที่มีน้ำขังหรือไหล และหาดทั้งปวงที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งป่าไม้และพื้นดินที่มีนํ้าท่วมตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินของเอกชน รวมทั้งทะเล “ทะเล” หมายความว่า ทะเลชายฝั่ง ทะเลนอกชายฝั่ง ทะเลนอกน่านน้ำไทย และทะเลที่อยู่ในเขตของรัฐชายฝั่งอื่น “น่านน้ำไทย” หมายความว่า น่านน้ำภายใน ทะเลชายฝั่ง และทะเลนอกชายฝั่ง “น่านน้ำภายใน” หมายความว่า ที่จับสัตว์น้ำภายในราชอาณาจักรที่มิใช่ทะเล “ทะเลชายฝั่ง” หมายความว่า ทะเลที่อยู่ในราชอาณาจักรนับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปสามไมล์ทะเล เว้นแต่ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจะออกกฎกระทรวงกำหนดให้เขตทะเลชายฝั่งในบริเวณใดมีระยะนับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปน้อยหรือมากกว่าสามไมล์ทะเลก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งจุดห้าไมล์ทะเลและไม่เกินสิบสองไมล์ทะเล โดยให้มีแผนที่แสดงแนวเขตบริเวณที่กำหนดแนบท้ายกฎกระทรวงด้วย “แนวชายฝั่งทะเล” หมายความว่า แนวที่น้ำทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายฝั่ง ชายเกาะ ตามที่ระบุในแผนที่เดินเรือของกรมอุทกศาสตร์ว่ามีความลึกน้ำศูนย์เมตร หรือแนวขอบนอกของพื้นที่ที่มีการถมทะเล “ทะเลนอกชายฝั่ง” หมายความว่า ทะเลที่อยู่ในราชอาณาจักรที่อยู่พ้นจากทะเลชายฝั่งจนสุดเขตเศรษฐกิจจำเพาะตามประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของราชอาณาจักรไทย หรือสุดเขตไหล่ทวีปที่เป็นสิทธิอธิปไตยของราชอาณาจักรไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ สุดแต่เขตใดจะไกลกว่า “ทะเลนอกน่านน้ำไทย” หมายความว่า ทะเลหลวงที่อยู่พ้นจากทะเลนอกชายฝั่งและหมายความรวมถึงทะเลที่อยู่ในเขตของรัฐชายฝั่ง “ทะเลที่อยู่ในเขตของรัฐชายฝั่ง” หมายความว่า ทะเลที่อยู่ในเขตอำนาจของรัฐชายฝั่ง หรือที่รัฐชายฝั่งมีสิทธิหาประโยชน์ได้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ “รัฐชายฝั่ง” หมายความว่า ประเทศที่มีอาณาเขตจรดน้ำทะเล แต่ไม่รวมถึงประเทศไทย “ประมงน้ำจืด” หมายความว่า การทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำที่อยู่ในน่านน้ำภายใน “ประมงพื้นบ้าน” หมายความว่า การทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งไม่ว่าจะใช้เรือประมง หรือใช้เครื่องมือโดยไม่ใช้เรือประมง ทั้งนี้ ที่มิใช่เป็นประมงพาณิชย์ “ประมงพาณิชย์”[๒] หมายความว่า การทำการประมงโดยใช้เรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป หรือที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าถึงขนาดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือใช้เรือประมงโดยมีหรือใช้เครื่องมือทำการประมงตามประเภท วิธี จำนวนแรงงานที่ใช้ หรือลักษณะการทำการประมงตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และให้หมายความรวมถึงการใช้เรือประมงดังกล่าวทำการแปรรูปสัตว์น้ำไม่ว่าจะมีการทำการประมงด้วยหรือไม่ก็ตาม “การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” หมายความว่า การเลี้ยงสัตว์น้ำหรือการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำทั้งโดยวิธีธรรมชาติ วิธีผสมเทียม หรือวิธีอื่นใดในที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำในช่วงใดของวงจรชีวิตสัตว์น้ำนั้น “ที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” หมายความว่า บ่อ คอก กระชัง หรือที่ที่ใช้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำลักษณะอื่นใด ไม่ว่าจะอยู่ในที่ดินของเอกชน หรือในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือในที่จับสัตว์น้ำใด ๆ ที่ผู้ขุด ผู้สร้าง ผู้จัดทำ เจ้าของ หรือผู้ครอบครองมีความมุ่งหมายโดยตรงที่จะใช้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ “การดูแลรักษาสัตว์น้ำ” หมายความว่า การดูแลรักษาคุณภาพสัตว์น้ำหลังการจับก่อนถึงกระบวนการการแปรรูปสัตว์น้ำ “เครื่องมือทำการประมง” หมายความว่า เครื่องกลไก เครื่องใช้ เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบ อาวุธ เสา และหลักที่ใช้ทำการประมง “เรือประมง”[๓] หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำทุกขนาดที่ใช้หรือเจตนาจะใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงยานพาหนะทางน้ำที่ใช้สนับสนุนเรือที่ใช้ทำการประมง ขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือแปรรูปสัตว์น้ำ “เรือขนถ่ายสัตว์น้ำ”[๔] หมายความว่า เรือประมงที่ใช้ทำการขนถ่ายสัตว์น้ำ ขนส่งสัตว์น้ำ แปรรูปสัตว์น้ำ หรือเก็บรักษาสัตว์น้ำเป็นการเฉพาะ “เรือประมงไทย” หมายความว่า เรือประมงที่จดทะเบียนเป็นเรือไทยตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย “จุดอ้างอิง” หมายความว่า ปริมาณเปรียบเทียบระหว่างขีดความสามารถในการทำการประมง และขีดความสามารถของผลผลิตสัตว์น้ำที่ธรรมชาติจะสร้างขึ้นได้ โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่พิจารณาจากปริมาณสัตว์น้ำ ขนาด อัตราการเกิดและการตาย และช่วงชีวิตของสัตว์น้ำ เพื่อนำมาใช้กำหนดจำนวนสูงสุดที่พึงทำการประมงได้อย่างยั่งยืน “การทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” หมายความว่า การทำการประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมาย การทำการประมงที่ไม่ได้รายงาน และการทำการประมงโดยไร้กฎเกณฑ์ “การทำการประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมาย” หมายความว่า (๑) การทำการประมงโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย หรือขัดต่อกฎหมายไทยหรือกฎหมายของรัฐชายฝั่ง (๒) การทำการประมงที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการขององค์การระหว่างประเทศที่จัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมง หรือขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง “การทำการประมงที่ไม่ได้รายงาน” หมายความว่า (๑) การทำการประมงโดยไม่แจ้งหรือรายงาน หรือรายงานไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมาย หรือกฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบที่ออกตามกฎหมาย หรือรายงานเท็จ (๒) การทำการประมงในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การระหว่างประเทศโดยไม่แจ้งหรือรายงาน หรือรายงานไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และวิธีการขององค์การระหว่างประเทศนั้น หรือรายงานเท็จ “การทำการประมงโดยไร้กฎเกณฑ์” หมายความว่า (๑) การทำการประมงในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การระหว่างประเทศไม่ว่าจะใช้เรือใด ๆ ไม่ว่าจะมีสัญชาติหรือไร้สัญชาติ โดยประการที่มิได้ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนมาตรการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมงที่องค์การระหว่างประเทศดังกล่าวจัดให้มีขึ้น (๒) การทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำที่ยังไม่มีการกำหนดมาตรการการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมง โดยการทำการประมงนั้นไม่สอดคล้องกับพันธะของรัฐในการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ “องค์การระหว่างประเทศ” หมายความว่า องค์การระหว่างประเทศที่ประเทศในแต่ละภูมิภาคร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมง “เรือไร้สัญชาติ”[๕] หมายความว่า เรือที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือเรือที่มีตั้งแต่สองสัญชาติขึ้นไป หรือเรือที่เปลี่ยนธงในระหว่างการเดินเรือ แต่ไม่รวมถึงเรือของผู้มีสัญชาติไทยที่ทำการประมงพื้นบ้านหรือประมงน้ำจืดซึ่งมีขนาดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด “นายทะเบียนเรือ” หมายความว่า นายทะเบียนเรือตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย “เจ้าของเรือ” หมายความว่า ผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในเรือประมง “ผู้ควบคุมเรือ” หมายความว่า ผู้มีหน้าที่บังคับเรือและรับผิดชอบในเรือประมง “คนประจำเรือ” หมายความว่า ลูกเรือหรือคนที่มีหน้าที่ประจำอยู่ในเรือประมง แต่ไม่รวมถึงผู้ควบคุมเรือ “โรงงาน”[๖] หมายความว่า อาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ห้าแรงม้าหรือกำลังเทียบเท่าตั้งแต่ห้าแรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่เจ็ดคนขึ้นไปโดยใช้เครื่องจักรหรือไม่ก็ตาม สำหรับบรรจุ แปรรูป เก็บรักษาสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำที่แปรรูปแล้วหรือที่ยังมิได้แปรรูปมาบรรจุหีบห่อ แต่ไม่รวมถึงเรือประมง เรือบรรทุกสินค้า และกิจการแพปลาตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบกิจการแพปลา “นำเข้า” หมายความว่า นำหรือส่งเข้ามาในราชอาณาจักร “ส่งออก” หมายความว่า นำหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร “นำผ่าน” หมายความว่า นำหรือส่งผ่านราชอาณาจักร “ท่าเทียบเรือประมง” หมายความว่า สถานที่ที่จัดขึ้นสำหรับใช้จอดหรือเทียบเรือประมงขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือใช้ในการนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นจากเรือประมง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะอยู่บนบกหรือในน้ำ “กิจการแพปลา” หมายความว่า กิจการแพปลาที่ได้รับใบอนุญาต หรือสะพานปลาที่ได้มีการประกาศให้เป็นที่ประกอบกิจการแพปลาตามกฎหมายว่าด้วยกิจการแพปลา “การขนถ่ายสัตว์น้ำ” หมายความว่า การนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทั้งหมดหรือบางส่วนจากเรือประมงไปยังยานพาหนะอื่น “ผู้สังเกตการณ์” หมายความว่า ผู้ซึ่งมีความรู้ความสามารถ และมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่บนเรือประมง “ผู้รับอนุญาต” หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามพระราชกำหนดนี้ “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้ “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมประมง “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนี้ มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชกำหนดนี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าอากรและค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชกำหนดนี้ ลดหรือยกเว้นค่าอากรและค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ มาตรา ๗ การขออนุญาต การขอจดทะเบียน การอนุญาต การรับจดทะเบียน การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการโอนใบอนุญาตตามพระราชกำหนดนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยในกฎกระทรวงจะกำหนดให้ต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าอากรตามอัตราที่กำหนดไม่เกินอัตราท้ายพระราชกำหนดนี้ด้วยก็ได้ การออกกฎกระทรวงกำหนดค่าอากรหรือค่าธรรมเนียมตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดอัตราค่าอากรหรือค่าธรรมเนียมให้แตกต่างกันโดยคำนึงถึงประเภท ชนิด ขนาด หรือจำนวนของเรือประมงหรือเครื่องมือทำการประมง หรือประเภท ชนิด ขนาด ลักษณะ หรือรูปแบบของกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือการทำการประมงก็ได้ หมวด ๑ บททั่วไป มาตรา ๘ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อองค์การระหว่างประเทศ และอนุสัญญาเกี่ยวกับการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมงที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกด้วย ให้ถือว่าการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ หรือตามกฎหมายของรัฐชายฝั่ง หรือตามหลักเกณฑ์หรือมาตรการตามกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง หรือหลักเกณฑ์หรือมาตรการขององค์การระหว่างประเทศบรรดาที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมง ไม่ว่าจะกระทำในน่านน้ำไทยหรือนอกน่านน้ำไทย และไม่ว่ากระทำโดยใช้เรือประมงไทย เรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทย หรือเรือไร้สัญชาติ เป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักร และต้องรับโทษตามที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดนี้ และให้ศาลไทยมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีได้ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการมีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายได้ ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง หากความผิดเกิดขึ้นนอกน่านน้ำไทย และการกระทำความผิดนั้นมิใช่เรือประมงไทยหรือผู้มีสัญชาติไทย ให้กระทำได้เมื่อได้รับแจ้งจากรัฐต่างประเทศที่การกระทำความผิดเกิดขึ้น หรือองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้นแล้ว ให้เป็นหน้าที่ของอธิบดีที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือขององค์การระหว่างประเทศในการดำเนินการเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ มาตรา ๙ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการการประมง ให้กรมประมงดำเนินการรวบรวมและประมวลข้อมูลทั้งปวงที่ได้จากการอนุญาต ออกใบอนุญาต จดทะเบียน หรือที่มีผู้แจ้งตามพระราชกำหนดนี้ และจัดทำสถิติการประมงให้เป็นปัจจุบันเสนอต่อคณะกรรมการทุกเดือน หรือตามระยะเวลาที่สั้นกว่านั้นตามที่คณะกรรมการกำหนด ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบและจัดเก็บสถิติการประมง ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดระยะเวลาและข้อมูลที่ประสงค์จะจัดเก็บ และพื้นที่ที่จะจัดเก็บ โดยปิดประกาศไว้ ณ ที่ทำการกำนัน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อมีประกาศตามวรรคสองแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ที่ใช้ในการประกอบอาชีพการประมง หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการประมงในเวลาทำการของสถานที่นั้นภายในพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนดตามประกาศดังกล่าว และให้ผู้ประกอบอาชีพการประมงหรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องมีหน้าที่ตอบคำถามตามความเป็นจริง มาตรา ๑๐ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เรือไร้สัญชาติทำการประมง มาตรา ๑๐/๑[๗] ผู้ใดจะประกอบกิจการโรงงานต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนดำเนินการประกอบกิจการโรงงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด เว้นแต่ได้แจ้งหรือรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานแล้ว เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ออกหนังสือรับแจ้งให้ผู้แจ้งภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง มาตรา ๑๑[๘] ห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานจ้างหรือยินยอมให้คนต่างด้าวที่ไม่ได้รับใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวเข้าทำงานในโรงงาน ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พบว่ามีการฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการมาตรการทางปกครองมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานไม่น้อยกว่าสิบวันแต่ไม่เกินยี่สิบวัน เว้นแต่ในกรณีที่คนต่างด้าวนั้นได้รับใบอนุญาตทำงานมาก่อนและอยู่ในระหว่างดำเนินการต่ออายุ หรือแก้ไขรายการเกี่ยวกับประเภทงานหรือนายจ้าง ให้อธิบดีแจ้งให้อธิบดีกรมการจัดหางานเพื่อดำเนินการต่ออายุหรือแก้ไขรายการให้ถูกต้องโดยเร็ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำตัวคนต่างด้าวตามวรรคหนึ่งส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวหรือตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ถูกสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานมีการฝ่าฝืนวรรคหนึ่งอีกเป็นครั้งที่สอง ภายในสามปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงาน ให้คณะกรรมการมาตรการทางปกครองมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานไม่น้อยกว่าสิบห้าวันแต่ไม่เกินสามสิบวัน ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ถูกสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานมีการฝ่าฝืนวรรคหนึ่งอีกเป็นครั้งที่สาม ภายในสามปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานครั้งที่หนึ่ง ให้คณะกรรมการมาตรการทางปกครองมีคำสั่งปิดโรงงาน ห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ถูกสั่งปิดโรงงานตามวรรคห้าประกอบกิจการโรงงาน ไม่ว่าจะมีใบรับแจ้งหรือใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานหรือไม่ก็ตาม และห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานออกใบรับแจ้งหรือใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้แก่บุคคลดังกล่าวเพื่อประกอบกิจการโรงงานตามพระราชกำหนดนี้อีกภายในสิบปีนับแต่วันถูกสั่งปิดโรงงาน เมื่อมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานหรือปิดโรงงาน ให้กรมประมงแจ้งให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมทราบ มาตรา ๑๑/๑[๙] ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานกระทำความผิดตามมาตรา ๔๔ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ให้คณะกรรมการมาตรการทางปกครองมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานไม่น้อยกว่าสิบวันแต่ไม่เกินยี่สิบวัน ในกรณีพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ถูกสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานกระทำความผิดอีกเป็นครั้งที่สองหรือครั้งที่สาม ภายในสามปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงาน ให้คณะกรรมการมาตรการทางปกครองมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานหรือปิดโรงงาน โดยให้นำมาตรา ๑๑ วรรคสี่ วรรคห้า วรรคหก และวรรคเจ็ด มาใช้บังคับโดยอนุโลม หมวด ๒ การบริหารจัดการด้านการประมง มาตรา ๑๒ บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดนโยบายและกำกับดูแล การบริหารจัดการด้านการประมง และการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำอยู่ในภาวะที่เหมาะสม และสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน โดยใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุด และคำนึงถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวทางการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และหลักการป้องกันล่วงหน้า ตลอดจนเพื่อรักษาหรือฟื้นฟูระดับทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในระดับที่สามารถก่อให้เกิดผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน โดยมีการป้องกันและขจัดการทำการประมงที่เกินศักย์การผลิตและขีดความสามารถในการทำการประมงส่วนเกินเพื่อควบคุมมิให้การทำการประมงมีผลบั่นทอนความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ ส่วนที่ ๑ คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ มาตรา ๑๓ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ” ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการปกครอง ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินสิบคน เป็นกรรมการ ให้อธิบดีเป็นกรรมการและเลขานุการ มาตรา ๑๔ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๑๓ ให้แต่งตั้งจากบุคคล ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้แทนสมาคมในด้านการประมงทะเลชายฝั่ง ด้านการประมงทะเลนอกชายฝั่ง ด้านการประมงนอกน่านน้ำไทย ด้านการประมงน้ำจืด ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และด้านการแปรรูปสัตว์น้ำ ด้านละหนึ่งคน (๒) ผู้มีความรู้หรือประสบการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่เกินสองคน (๓) นักวิชาการด้านการประมง ไม่เกินสองคน มาตรา ๑๕ ผู้จะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประมง มาตรา ๑๖ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี ในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุใด และยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้ มาตรา ๑๗ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) พ้นจากการเป็นผู้แทนสมาคมที่ได้รับแต่งตั้ง หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๕ (๔) รัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ (๕) เป็นบุคคลล้มละลาย (๖) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (๗) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก มาตรา ๑๘ การประชุมและการดำเนินการประชุมให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด มาตรา ๑๙ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย และกำกับการบริหารจัดการการประมง ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดนโยบายการพัฒนาการประมงในน่านน้ำไทยให้สอดคล้องกับปริมาณของทรัพยากรสัตว์น้ำ และขีดความสามารถในการทำการประมง โดยคำนึงถึงจุดอ้างอิงเป็นสำคัญ (๒) กำหนดนโยบายการส่งเสริม พัฒนา และการแก้ไขปัญหาการประมงนอกน่านน้ำไทย (๓) กำหนดนโยบายการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศ (๔) กำหนดนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านการประมงของประเทศ (๕) กำหนดมาตรการในการดำเนินการควบคุมให้บรรลุตามนโยบายตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔) (๖) กำหนดปริมาณสูงสุดของสัตว์น้ำที่จะทำการประมงในน่านน้ำไทย (๗) กำหนดแนวทางและเป้าหมายในการพัฒนาการประมงของประเทศให้สอดคล้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม (๘) กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสมและสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน (๙) จัดทำรายงานผลการดำเนินงานประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ (๑๐) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย นโยบายที่ได้จัดทำตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔) ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยดำเนินการและกำกับการให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว มาตรา ๒๐ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ หรือคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการกำหนดได้ การประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจและคณะอนุกรรมการ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด มาตรา ๒๑ นโยบายตามมาตรา ๑๙ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) และ (๗) อย่างน้อยต้องมุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ให้เกิดการสงวน รักษา และป้องกันสัตว์น้ำมิให้สูญพันธุ์ และให้สามารถใช้ประโยชน์แหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน เกิดความสมดุลของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ (๒) ป้องกันมิให้มีการสนับสนุนการทำการประมงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าในด้านการสนับสนุนบุคลากร น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องมือทำการประมง หรือสิ่งของอื่นใด (๓) มีมาตรการในการกำกับและควบคุมให้การทำการประมงเป็นไปอย่างสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และมาตรฐานสากล (๔) มีแนวทางในการพัฒนาความร่วมมือในการทำการประมงกับรัฐอื่นและองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อสงวนและจัดการเกี่ยวกับการคุกคามทรัพยากรสัตว์น้ำ การย้ายถิ่นของสัตว์น้ำหรือแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ โดยใช้หลักการป้องกันล่วงหน้า (๕) มีมาตรการป้องกันมิให้มีการทำการประมงจนเป็นการรบกวนหรือขัดขวางกระบวนการของธรรมชาติในการใช้เวลาผลิตและฟื้นฟูกำลังการผลิตอย่างเพียงพอ เพื่อให้การทำการประมงสอดคล้องกับการผลิตสูงสุดของธรรมชาติ และสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน (๖) มีมาตรการที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยต้องดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าและพัฒนาการของกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในการทำการประมงขององค์การระหว่างประเทศ (๗) มีแนวทางให้ผู้ประกอบอาชีพการประมง และอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประมงได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และป้องกันแหล่งทรัพยากรประมงและทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม และสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน มาตรา ๒๒ แนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำตามมาตรา ๑๙ (๘) อย่างน้อยต้องครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ (๑) แนวทางการส่งเสริมมาตรการการอนุรักษ์และบริหารจัดการการทำการประมงอย่างยั่งยืน (๒) แนวทางการปกป้องและคุ้มครองสิทธิ พัฒนาและส่งเสริมอาชีพและความเป็นอยู่ของชาวประมงไทย (๓) แนวทางการป้องกันการแสวงหาประโยชน์เกินควรจากทรัพยากรสัตว์น้ำ (๔) แนวทางการป้องกันการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (๕) แนวทางการร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ นานาประเทศ รวมตลอดทั้งรัฐชายฝั่ง ในการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถิติในการจับสัตว์น้ำ และข้อมูลอื่นใดเกี่ยวกับการทำการประมง มาตรา ๒๓ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายตามมาตรา ๑๙ ให้กรมประมงดำเนินการจัดทำแผนบริหารจัดการการประมงให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวเสนอคณะกรรมการพิจารณา และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติต่อไป มาตรา ๒๔ แผนบริหารจัดการการประมงตามมาตรา ๒๓ อย่างน้อยต้องครอบคลุมแนวทางดำเนินการในเรื่อง ดังต่อไปนี้ (๑) แนวทางในการออกใบอนุญาตทำการประมงให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการทำการประมง และปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน โดยใช้จุดอ้างอิงเป็นฐานในการพิจารณา (๒) แนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้กลับสู่สภาวะปกติตามธรรมชาติ (๓) แนวทางในการลดจำนวนเรือประมงที่ทำการประมงพาณิชย์ (๔) แนวทางในการลดจำนวนการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (๕) แนวทางในการแก้ไขปัญหาประโยชน์ขัดแย้งระหว่างประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ (๖) แนวทางการป้องกันมิให้มีการจับสัตว์น้ำที่ยังโตไม่ได้ขนาด (๗) แนวทางการพัฒนาข้อมูลเกี่ยวกับการประมง (๘) แนวทางการเสริมสร้างการบริหารจัดการการประมง มาตรา ๒๕ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดการการบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรสัตว์น้ำภายในที่จับสัตว์น้ำในเขตประมงน้ำจืดหรือเขตทะเลชายฝั่ง ให้กรมประมงดำเนินการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนในเรื่อง ดังต่อไปนี้ (๑) สนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดทำนโยบายตามมาตรา ๑๙ (๑) (๒) สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่ม และจัดให้มีการขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) ให้คำปรึกษาแก่ชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำ รวมทั้งช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินงาน โครงการ หรือกิจกรรมของชุมชนในเรื่องดังกล่าว (๔) เผยแพร่ความรู้หรือข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำ ส่วนที่ ๒ คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด มาตรา ๒๖ ให้มีคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ในจังหวัดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกรมเจ้าท่า อัยการจังหวัดซึ่งเป็นหัวหน้าที่ทำการอัยการจังหวัด พาณิชย์จังหวัด นายอำเภอในเขตท้องที่ที่มีการประมง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประธานสภาเกษตรกรจังหวัด เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจำนวนไม่เกินสิบสามคน เป็นกรรมการ ให้ประมงจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ ในจังหวัดใดมีอาณาเขตติดต่อกับชายฝั่งทะเลหรือแม่น้ำโขง ให้มีผู้แทนกองทัพเรือเป็นกรรมการโดยตำแหน่งเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน มาตรา ๒๗ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๒๖ ให้แต่งตั้งจากบุคคล ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้แทนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในด้านการประมงทะเลชายฝั่ง ด้านการประมงทะเลนอกชายฝั่ง ด้านการประมงน้ำจืด ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือด้านการแปรรูปสัตว์น้ำ ที่ได้ขึ้นทะเบียนตามมาตรา ๒๕ (๒) ตามที่เห็นสมควรโดยคำนึงถึงความทั่วถึงของผู้มีส่วนได้เสีย (๒) ผู้มีความรู้หรือประสบการณ์การดำเนินงานในด้านการประมง หรือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่เกินสามคน มาตรา ๒๘ คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) รวบรวมข้อเสนอแนะและเสนอแนวทางในการส่งเสริมอาชีพการประมง การจัดการการบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบเสนอต่อคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาจัดทำนโยบายตามมาตรา ๑๙ (๑) (๒) พิจารณาและเสนอแนวทางในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาการประมง หรือการจัดการการบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ในที่จับสัตว์น้ำในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบเสนอต่อรัฐมนตรี คณะกรรมการ หรืออธิบดี (๓) ออกประกาศตามมาตรา ๕๖ มาตรา ๗๑ และมาตรา ๗๗ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (๔) ดำเนินการอื่นตามที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการมอบหมาย ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนในการออกประกาศตามมาตรา ๕๖ และมาตรา ๗๑ ให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดมีอำนาจออกประกาศบังคับใช้เป็นการชั่วคราวมีกำหนดระยะเวลาไม่เกินหกสิบวัน และให้รัฐมนตรีพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาหกสิบวันนับจากวันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ในกรณีที่รัฐมนตรีพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคสอง ให้ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งไม่อนุมัติจากรัฐมนตรี จังหวัดใดไม่มีคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ให้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเป็นอำนาจหน้าที่ของประมงจังหวัดหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย แต่ในการใช้อำนาจหน้าที่ให้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย มาตรา ๒๙ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และการประชุมคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๒๐ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดโดยอนุโลม หมวด ๓ การทำการประมงในน่านน้ำไทย มาตรา ๓๐ บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการ ควบคุม และกำกับดูแลการทำการประมง และแก้ไขปัญหาประโยชน์ขัดแย้งระหว่างประมงพื้นบ้าน และประมงพาณิชย์ โดยการใช้อำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมและกำกับการทำการประมงตามหมวดนี้ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงขีดความสามารถในการผลิตของธรรมชาติโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาจุดอ้างอิง เพื่อให้สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน และประชาชนมีแหล่งอาหารได้ตามสมควร มาตรา ๓๑ ผู้ใดจะทำการประมงน้ำจืดในที่จับสัตว์น้ำที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยใช้เครื่องมือทำการประมงตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ต้องได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับการทำการประมงในที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มาตรา ๓๒ ผู้ใดจะทำการประมงพื้นบ้านโดยใช้เรือประมง หรือเครื่องมือที่มีขนาดหรือลักษณะตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ต้องได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย เว้นแต่เป็นการใช้เรือประมงโดยใช้เครื่องมือทำการประมงประเภทที่อธิบดีประกาศกำหนด การออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุจำนวนและประเภทเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมง พื้นที่การทำการประมง หรือเงื่อนไขอื่นใดที่จำเป็น เพื่อให้สอดคล้องกับแผนบริหารจัดการการประมง และในกรณีเป็นการทำการประมงโดยใช้เรือประมงให้ออกให้แก่เจ้าของเรือประมงและสำหรับเรือประมงแต่ละลำ โดยจะออกใบอนุญาตให้แก่บุคคลใดเกินจำนวนที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดมิได้[๑๐] มาตรา ๓๓ ผู้ทำการประมงพื้นบ้านต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการทำการประมงตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบ อธิบดีจะกำหนดให้ผู้ทำการประมงพื้นบ้านต้องจัดทำสมุดบันทึกการทำการประมง ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยประเภทและปริมาณของสัตว์น้ำที่จับได้และพื้นที่ที่ทำการประมงก็ได้ ผู้ทำการประมงพื้นบ้านต้องเก็บรักษาสมุดบันทึกการทำการประมงตามวรรคสองไว้ และพร้อมที่จะแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อนำเรือประมงกลับเข้าฝั่ง มาตรา ๓๔[๑๑] ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ในการอนุญาตดังกล่าว อธิบดีจะประกาศอนุญาตให้เป็นการทั่วไปก็ได้ โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่งด้วยก็ได้ มาตรา ๓๕[๑๒] (ยกเลิก) มาตรา ๓๖ ผู้ใดจะทำการประมงพาณิชย์ต้องได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์จากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย การออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ออกสำหรับเรือประมงแต่ละลำ และในใบอนุญาตต้องระบุจำนวนและประเภทเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมง พื้นที่การทำการประมง ปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่อนุญาตให้ทำการประมง หรือห้วงเวลาที่กำหนดให้ทำการประมงได้ ให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการทำการประมง และปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงอย่างยั่งยืนที่กำหนดไว้ในแผนบริหารจัดการการประมง โดยจะออกใบอนุญาตให้แก่บุคคลใดเกินจำนวนที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดมิได้[๑๓] มาตรา ๓๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ต้องจัดให้มีระบบความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๓๘ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง มาตรา ๓๙ ผู้ขอรับใบอนุญาตตามมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๕ และมาตรา ๓๖ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ (๑) เป็นผู้เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๔ ยังไม่ถึงห้าปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด (๒) เป็นผู้อยู่ระหว่างการถูกพักใช้ใบอนุญาตทำการประมง (๓) เป็นผู้ที่อธิบดีมีคำสั่งตามมาตรา ๑๑๓ (๑) หรือ (๕) และยังไม่พ้นสองปีนับแต่วันได้รับคำสั่ง (๔) เป็นผู้ที่อธิบดีมีคำสั่งตามมาตรา ๑๑๓ (๒) และยังไม่พ้นระยะเวลาการสั่งห้าม (๕) เป็นผู้เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมงยังไม่พ้นห้าปีนับถึงวันยื่นคำขอรับใบอนุญาต (๖) รัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศแจ้งเป็นหนังสือว่าเป็นผู้อยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตทำการประมง หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมงโดยผู้มีอำนาจของรัฐหรือองค์การระหว่างประเทศนั้น (๗) เป็นผู้เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมงมาแล้วสองครั้งภายในห้าปี มาตรา ๔๐ ใบอนุญาตตามมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๕ และมาตรา ๓๖ ให้มีอายุสองปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต มาตรา ๔๑ ให้ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๕ และมาตรา ๓๖ นำใบอนุญาตติดไว้ในเรือประมง หรือมีบัตรที่กรมประมงออกให้เพื่อใช้แทนใบอนุญาตติดตัวให้สามารถตรวจสอบได้ ให้เป็นหน้าที่ของกรมประมงที่จะออกบัตรสำหรับใช้แทนใบอนุญาตให้แก่ผู้รับอนุญาต โดยบัตรดังกล่าวต้องทำด้วยวัสดุที่ป้องกันน้ำ และมีรายละเอียดของใบอนุญาตตามสมควร มาตรา ๔๒ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๕ และมาตรา ๓๖ ดัดแปลงเครื่องมือทำการประมงให้ผิดไปจากลักษณะของเครื่องมือที่ระบุไว้ในใบอนุญาต มาตรา ๔๓ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ทำการประมงให้ผิดไปจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต หรือตามที่อธิบดีประกาศกำหนดเป็นคราว ๆ ไป การกำหนดดังกล่าวต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน มาตรา ๔๔[๑๔] ใบอนุญาตทำการประมงตามมาตรา ๓๒ และมาตรา ๓๖ ให้โอนกันได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ขอรับโอนใบอนุญาตต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๙ (๒) กรณีเรือประมงที่จะขอรับโอนใบอนุญาตเคยถูกใช้ในการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประมง ผู้ขอรับโอนใบอนุญาตต้องมีหลักฐานแสดงว่าเจ้าของเรือ ผู้ควบคุมเรือ หรือผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงของเรือที่ใช้ในการกระทำความผิดไม่มีผลประโยชน์ได้เสียทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือมีอำนาจควบคุมเรือประมงดังกล่าวอีกต่อไป (๓) เรือประมงที่จะขอรับโอนใบอนุญาตต้องไม่อยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดี (๔) ผู้ขอรับโอนใบอนุญาตต้องมีหลักฐานแสดงว่ามีกรรมสิทธิ์ในเรือที่ระบุไว้ในใบอนุญาตทำการประมงมาแสดง หรือตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง ในการโอนใบอนุญาต ให้อธิบดีออกใบอนุญาตใหม่แทนใบอนุญาตเดิมภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ ใบอนุญาตที่ออกให้ใหม่ดังกล่าวให้กำหนดเงื่อนไขเช่นเดียวกับใบอนุญาตเดิม และเมื่อได้ออกใบอนุญาตให้ใหม่แล้ว ให้ใบอนุญาตเดิมเป็นอันใช้ไม่ได้ เมื่อได้รับอนุญาตแล้วให้ผู้รับโอนมีสิทธิและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มาตรา ๔๕ ในกรณีที่มีหลักฐานจากจุดอ้างอิงแสดงให้เห็นว่าปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำมีไม่เพียงพอกับการทำการประมงอย่างยั่งยืน ให้รัฐมนตรีประกาศให้งดการออกใบอนุญาตทำการประมงไว้เป็นการชั่วคราว สำหรับใบอนุญาตที่ออกไปแล้ว ให้จัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างกรมประมง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมง เพื่อพิจารณาลดปริมาณการจับสัตว์น้ำลงตามที่จำเป็น และไม่เป็นเหตุให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงแล้วได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร ในกรณีที่หาข้อยุติไม่ได้ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจลดปริมาณการจับสัตว์น้ำลงตามที่เห็นสมควร หรือจะกำหนดมาตรการอื่นให้ผู้ทำการประมงต้องปฏิบัติตามภายในระยะเวลาที่กำหนดก็ได้ และในกรณีจำเป็นจะเสนอคณะกรรมการเพื่อให้กำหนดจำนวนเรือประมงสูงสุดที่จะพึงมี และมาตรการที่จะดำเนินการกับเรือประมงส่วนที่เกินจำนวนที่พึงมีก็ได้ มาตรา ๔๖ ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย และกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย รับจดทะเบียนเรือ หรือออกใบอนุญาตใช้เรือสำหรับการประมง ในกรณีดังต่อไปนี้ (๑) เรือที่ใช้ทำการประมงเกินจำนวนที่คณะกรรมการกำหนด (๒) เรือที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเรือประมงที่ถูกใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่อธิบดีแจ้งให้ทราบ (๓) เรือที่เคยจดทะเบียนในต่างประเทศ และมีหลักฐานว่าถูกใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย และกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยตรวจสอบข้อมูลการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจากรัฐเจ้าของธง ก่อนรับจดทะเบียนเรือ หรือออกใบอนุญาตให้ใช้เรือตาม (๓) ในระหว่างเวลาที่รัฐมนตรีประกาศให้งดการออกใบอนุญาตทำการประมง หรือเมื่อเรือประมงมีจำนวนสูงหรือเท่ากับจำนวนเรือประมงสูงสุดที่จะพึงมีที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๔๕ และมีกรณีตาม (๑) ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตามวรรคหนึ่งประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป และให้งดรับคำขอจดทะเบียนเรือประมงจนกว่าจะได้รับแจ้งจากรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี ให้รับจดทะเบียนเรือประมงต่อไปได้ สำหรับคำขอที่ได้รับไว้แล้วแต่ยังมิได้จดทะเบียนเรือ ให้คืนคำขอพร้อมด้วยค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมที่ได้รับชำระไว้ให้แก่ผู้ยื่นคำขอ[๑๕] หมวด ๔ การทำการประมงนอกน่านน้ำไทย มาตรา ๔๗ บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรการในการอนุรักษ์และบริหารจัดการแหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ และส่งเสริมความร่วมมือกับรัฐอื่น ภาคเอกชน และองค์กรต่างประเทศเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชกำหนดนี้ มาตรา ๔๘ ผู้ใดจะใช้เรือประมงไทยทำการประมงในเขตทะเลนอกน่านน้ำไทย ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทยจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย การออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ออกสำหรับเรือประมงแต่ละลำ และต้องระบุจำนวนและประเภทเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมง ถ้าผู้ขออนุญาตประสงค์จะทำการประมงในเขตของรัฐชายฝั่ง อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะอนุญาตได้เฉพาะเมื่อผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตแสดงหลักฐานว่าตนเป็นผู้มีสิทธิในการทำการประมงในน่านน้ำของรัฐชายฝั่ง และเมื่อมีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ว่าผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตอยู่ในสถานะที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ และมาตรการของรัฐชายฝั่งหรือองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องได้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๙ มาใช้บังคับกับการขอรับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งด้วยโดยอนุโลม มาตรา ๔๙ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทยทำการประมงในเขตของรัฐชายฝั่ง หรือในเขตที่อยู่ในความควบคุมดูแลขององค์การระหว่างประเทศ นอกจากต้องปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้แล้ว ผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ และมาตรการการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมงของรัฐชายฝั่งหรือองค์การระหว่างประเทศนั้น มาตรา ๕๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทยต้องมีผู้สังเกตการณ์ประจำอยู่ในเรือประมงตามหลักเกณฑ์ของรัฐชายฝั่งหรือขององค์การระหว่างประเทศที่มีเขตอำนาจเหนือพื้นที่ที่ตนเข้าไปทำการประมงกำหนด หรือตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด ผู้สังเกตการณ์ต้องไม่ใช่บุคคลที่มีหน้าที่อื่นใดในเรือประมง และต้องมีคุณสมบัติอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์และวิธีการฝึกอบรม และการขึ้นทะเบียนผู้สังเกตการณ์ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๕๑ ผู้สังเกตการณ์มีหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) สังเกตการณ์การจับสัตว์น้ำ การคัดสรร การแปรรูป และกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวกับสัตว์น้ำ และบันทึกข้อมูลที่พบจากการสังเกตการณ์นั้น (๒) รวบรวมและบันทึกข้อมูลด้านชีววิทยา และเก็บตัวอย่างของสัตว์น้ำที่จับได้ และข้อมูลอื่นใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสืบค้น (๓) ทำรายงานสรุปผลการดำเนินการตาม (๑) และ (๒) และส่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อเรือประมงเทียบท่า หรือเมื่อผู้สังเกตการณ์ขึ้นฝั่ง ตามวิธีการและภายในกำหนดเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๕๒ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทยทำการประมงในเขตน่านน้ำไทย เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๓๖ มาตรา ๕๓ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๗ มาตรา ๔๐ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๒ มาใช้บังคับกับการทำการประมงนอกน่านน้ำไทยด้วยโดยอนุโลม มาตรา ๕๔ ผู้ใดเป็นเจ้าของเรือประมงไทย หรือเป็นเจ้าของเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทย แต่ใช้ผู้ควบคุมเรือหรือคนประจำเรือหรือมีผู้โดยสารเป็นผู้มีสัญชาติไทย ได้ใช้หรือยอมให้ใช้เรือประมงของตนทำการประมงนอกน่านน้ำไทยจนเป็นเหตุให้มีการละเมิดกฎหมายของรัฐต่างประเทศ และทำให้ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ หรือผู้โดยสารซึ่งไปกับเรือประมงต้องตกค้างอยู่ในต่างประเทศ มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าใช้จ่ายที่รัฐได้จ่ายไปในการนำบุคคลดังกล่าวกลับประเทศ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากกรมประมง ในกรณีที่เจ้าของเรือประมงไม่ชดใช้ค่าใช้จ่ายภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้กรมประมงมีอำนาจยึดเรือประมงดังกล่าวและนำออกขายทอดตลาด และเมื่อหักจำนวนเงินที่ต้องชดใช้พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีคิดตั้งแต่วันที่ถึงกำหนดชำระจนถึงวันที่ได้รับเงินจากการขายทอดตลาดเหลือเงินเท่าใดให้คืนให้แก่เจ้าของ หมวด ๕ มาตรการอนุรักษ์และบริหารจัดการ มาตรา ๕๕ บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ และรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำและระบบนิเวศไว้อย่างยั่งยืนตามหลักการป้องกันล่วงหน้า โดยผู้ทำการประมงต้องไม่ฝ่าฝืนและปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้ มาตรา ๕๖ ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำในเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำตามที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดโดยอนุมัติรัฐมนตรีประกาศกำหนด เว้นแต่เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการหรือเพื่อการบำรุงรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ และได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย การกำหนดเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำตามวรรคหนึ่ง ให้มีแผนที่แสดงแนวเขตบริเวณที่กำหนดนั้นแนบท้ายประกาศด้วย มาตรา ๕๗ ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง มาตรา ๕๘ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้ (๑) ปล่อย เท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้วัตถุอันตรายตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดลงสู่ที่จับสัตว์น้ำ (๒) กระทำการใด ๆ อันทำให้สัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำมึนเมา (๓) ปล่อย เท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้สิ่งใดลงสู่ที่จับสัตว์น้ำในลักษณะที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำ (๔) ทำให้ที่จับสัตว์น้ำเกิดมลพิษในลักษณะที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำ ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การกระทำตาม (๒) เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยหรือการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำซึ่งกระทำโดยทางราชการ และได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายแล้ว โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายกำหนด หรือการกระทำอันจำเป็นโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ของทางราชการทหาร[๑๖] มาตรา ๕๙ ผู้ใดโดยเจตนาหรือโดยประมาททำให้ที่จับสัตว์น้ำเกิดมลพิษในลักษณะที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำ ต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายทั้งปวงในการช่วยเหลือหรือป้องกันชีวิตสัตว์น้ำและทำให้ที่จับสัตว์น้ำฟื้นฟูกลับสู่สภาพตามธรรมชาติ ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๖๐ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมง หรือใช้วัตถุระเบิดในที่จับสัตว์น้ำ ในกรณีที่ทางราชการมีความจำเป็นต้องใช้วัตถุระเบิดในที่จับสัตว์น้ำ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี และได้ดำเนินการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่สัตว์น้ำเกินสมควรแล้ว ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การใช้วัตถุระเบิดเพื่อประโยชน์ของทางราชการทหาร มาตรา ๖๑ ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ โดยรู้ว่าเป็นสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้มาโดยการกระทำความผิดตามมาตรา ๕๘ มาตรา ๖๐ หรือจากการทำการประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๑๑๔ หรือที่ได้มาจากเรือประมงที่ต้องห้ามมิให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา ๙๔ หรือที่มีชื่ออยู่ในประกาศรายชื่อตามมาตรา ๑๑๖ มาตรา ๖๒ ห้ามมิให้ผู้ใดทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่จับสัตว์น้ำที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้ผิดไปจากสภาพที่เป็นอยู่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๖๓ ห้ามมิให้ผู้ใดติดตั้ง วาง หรือสร้างเขื่อน ฝาย ทำนบ รั้ว สิ่งปลูกสร้าง เครื่องมือที่เป็นตาข่าย หรือเครื่องมือทำการประมงอื่นใด หรือกระทำการใดในที่จับสัตว์น้ำอันเป็นการกั้นทางเดินของสัตว์น้ำหรือเป็นอุปสรรคในการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การกระทำเพื่อประโยชน์ในการป้องกันสาธารณภัย หรือเพื่อประโยชน์ของทางราชการในการชลประทาน มาตรา ๖๔ ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์หรือต่อสัตว์น้ำอื่น สิ่งแวดล้อมของสัตว์น้ำ ทรัพย์สินของบุคคลหรือสาธารณสมบัติ หรือเป็นผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตามประเภท ชนิด ลักษณะ จำนวนหรือขนาดที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ใดมีสัตว์น้ำ หรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ตามวรรคหนึ่งไว้ในครอบครอง ต้องส่งมอบสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำลายสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นโดยเร็ว ความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่การครอบครองสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของทางราชการเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ มาตรา ๖๕ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์นํ้าที่หายาก หรือป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดห้ามการนำเข้า ส่งออก นำผ่าน เพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำบางชนิดได้[๑๗] ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้า ส่งออก นำผ่าน เพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย มาตรา ๖๖ ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือนำสัตว์น้ำดังกล่าวขึ้นเรือประมง เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อการช่วยชีวิตของสัตว์น้ำนั้น มาตรา ๖๗[๑๘] ห้ามมิให้ผู้ใดใช้หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้ซึ่งเครื่องมือทำการประมงดังต่อไปนี้ (๑) เครื่องมือโพงพาง รั้วไซมานหรือกั้นซู่รั้วไซมาน เครื่องมือลี่ หรือเครื่องมืออื่นที่มีลักษณะและวิธีการคล้ายคลึงกัน (๒) เครื่องมือลอบพับได้หรือไอ้โง่ ที่มีช่องทางเข้าของสัตว์น้ำสลับซ้ายขวาอยู่ทางด้านข้างใช้สำหรับดักสัตว์น้ำ (๓) เครื่องมืออวนลากที่มีช่องตาอวนก้นถุงเล็กกว่าขนาดที่อธิบดีประกาศกำหนด (๔) เครื่องมืออวนรุนที่ใช้ติดกับเรือยนต์ เว้นแต่เป็นอวนรุนเคย ความในวรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) มิให้ใช้บังคับแก่การศึกษาวิจัยซึ่งกระทำโดยทางราชการ เพื่อประโยชน์ในการหาขนาดช่องตาอวนที่เหมาะสมที่ประชาชนพึงใช้ได้และได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายแล้ว ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ทำการประมงพื้นบ้านหรือประมงน้ำจืดที่ได้รับอนุญาตผ่อนผันให้ใช้เครื่องมือทำการประมงตามรูปแบบของเครื่องมือ ขนาดเรือ วิธีการทำการประมง พื้นที่ทำการประมง และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด การขออนุญาตผ่อนผัน การอนุญาต ระยะเวลาการผ่อนผันให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด มาตรา ๖๘ ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนรุนเคยที่ใช้ประกอบเรือยนต์ทำการประมงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเกี่ยวกับรูปแบบของอวน ขนาดของเรือ วิธีที่ใช้ บริเวณพื้นที่ หรือระยะเวลาในการทำการประมง มาตรา ๖๙ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่าสองจุดห้าเซนติเมตรทำการประมงในเวลากลางคืน มาตรา ๗๐[๑๙] ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงในพื้นที่และในระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่หรือวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน หรือระยะเวลาอื่นใดที่จำเป็นต่อการคุ้มครองสัตว์น้ำตามที่อธิบดีประกาศกำหนด เว้นแต่จะใช้เครื่องมือ วิธีการทำการประมง และปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นบรรดาที่อธิบดีกำหนด อำนาจตามวรรคหนึ่ง อธิบดีจะมอบหมายเป็นหนังสือให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเป็นผู้กำหนดก็ได้ มาตรา ๗๑ ให้รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดมีอำนาจออกประกาศ ดังต่อไปนี้ (๑) เครื่องมือทำการประมงตามรูปแบบของเครื่องมือ วิธีการทำการประมง พื้นที่ทำการประมง ขนาดของเรือประมงที่ใช้ประกอบการทำการประมง และเงื่อนไขอื่นที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ (๒) ข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับสัตว์น้ำที่ถูกจับได้โดยบังเอิญ (๓) พื้นที่ที่จะให้ใช้เครื่องมือทำการประมงที่ต้องใช้วิธีลงหลัก ปัก ผูก ขึง รั้ง ถ่วง หรือวิธีอื่นใดอันทำให้เครื่องมือนั้นอยู่กับที่ในเวลาทำการประมง ประกาศตามวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การกระทำเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยหรือการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำซึ่งกระทำโดยทางราชการ และได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายแล้ว และในกรณีที่เป็นการออกประกาศเพื่อใช้บังคับในเขตพื้นที่ใดเป็นการเฉพาะ ให้มีแผนที่แสดงแนวเขตบริเวณที่กำหนดนั้นแนบท้ายประกาศด้วย การกำหนดของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีแล้วให้ใช้บังคับได้ภายในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ และเฉพาะในเขตประมงน้ำจืดและเขตทะเลชายฝั่ง เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศเพื่อกำหนดเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดในเขตทะเลชายฝั่ง มาตรา ๗๒ ในกรณีที่การออกประกาศตามมาตรา ๗๑ จะต้องดำเนินการในเขตพื้นที่ที่คาบเกี่ยวกันระหว่างพื้นที่ของสองจังหวัดขึ้นไป เนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์หรือระบบนิเวศตามธรรมชาติของพื้นที่นั้น หรือเพื่อประโยชน์ในการจัดการอย่างเป็นระบบในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อให้รัฐมนตรีใช้อำนาจในการกำหนดแทนคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด แล้วแจ้งให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดที่เกี่ยวข้องทราบ หมวด ๖ การส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มาตรา ๗๓ บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเป็นแหล่งผลผลิตของสัตว์น้ำอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืนโดยคำนึงถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และการรักษาความสมดุลในระบบนิเวศ รวมทั้งสร้างความมั่นใจในการบริโภคสัตว์น้ำที่ได้จากการเพาะเลี้ยงทั้งในด้านคุณภาพและสุขอนามัยที่ได้มาตรฐาน มาตรา ๗๔ เพื่อประโยชน์ในการรักษาคุณภาพและคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยในการบริโภคสัตว์น้ำ ให้ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำดำเนินการให้ถูกต้องตามมาตรฐานสินค้าเกษตรที่คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานสินค้าเกษตรประกาศกำหนด ให้เป็นหน้าที่ของกรมประมงในอันที่จะส่งเสริม พัฒนา และแนะนำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้ถูกต้องตามมาตรฐานตามวรรคหนึ่ง และมิให้มีผลกระทบต่อระบบนิเวศและความสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ และออกหนังสือรับรองความชอบด้วยมาตรฐานของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้แก่ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดำเนินการโดยถูกต้องตามมาตรฐานดังกล่าวเมื่อได้รับการร้องขอ มาตรา ๗๕ ผู้ใดประสงค์จะขอหนังสือรับรองการได้มาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตามมาตรา ๗๔ หรือขอให้กรมประมงตรวจรับรองชนิด ลักษณะ คุณภาพหรือแหล่งกำเนิดของสัตว์น้ำใด หรือขอให้ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างดิน น้ำ สัตว์น้ำ หรือปัจจัยการผลิตเป็นการเฉพาะราย ให้ยื่นคำขอและชำระค่าใช้จ่ายในการออกหนังสือรับรองหรือตรวจสอบตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๗๖ เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีคุณภาพป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรืออันตรายต่อผู้บริโภคหรือต่อกิจการของบุคคลอื่น ให้ออกกฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือลักษณะของสัตว์น้ำ หรือประเภท รูปแบบ ขนาด หรือวัตถุประสงค์ของกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เป็นกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมได้ มาตรา ๗๗ ภายใต้บังคับมาตรา ๗๙ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมนอกเขตพื้นที่ที่คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดประกาศกำหนดให้เป็นเขตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มาตรา ๗๘ ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมภายในเขตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามมาตรา ๗๗ ต้องปฏิบัติในเรื่องดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต้องแจ้งการประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวิธีการที่กำหนด (๒) กำหนดแหล่งที่มาของสัตว์น้ำที่ห้ามนำมาใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (๓) กำหนดประเภท ลักษณะ และคุณภาพอาหารของสัตว์น้ำที่ห้ามใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (๔) กำหนดชนิดและปริมาณของยา เคมีภัณฑ์ หรือสารอันตรายอื่นใดที่ห้ามใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (๕) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการจัดการน้ำทิ้งหรือของเสียจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (๖) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการป้องกันมิให้น้ำจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรั่วไหลออกจากที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (๗) กำหนดเรื่องอื่นใดที่จำเป็นในการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรืออันตรายต่อผู้บริโภคหรือต่อกิจการของบุคคลอื่น มาตรา ๗๙ ห้ามมิให้ผู้ใดทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๔๔ มาใช้บังคับกับการโอนใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งด้วยโดยอนุโลม หมวด ๗ การควบคุม เฝ้าระวัง สืบค้น และตรวจสอบ มาตรา ๘๐ บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบการควบคุม เฝ้าระวัง และตรวจสอบการทำการประมงให้มีประสิทธิภาพ และสร้างระบบการสืบค้นที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำได้ตั้งแต่การทำการประมงไปจนถึงผู้บริโภครายสุดท้าย นอกจากบทบัญญัติในหมวด ๓ หมวด ๔ หมวด ๕ และหมวด ๙ แล้ว การควบคุม เฝ้าระวัง สืบค้น และตรวจสอบการทำการประมงให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ ส่วนที่ ๑ การควบคุมและเฝ้าระวัง มาตรา ๘๑[๒๐] เจ้าของเรือที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทยประเภทการใช้ทำการประมงและมีขนาดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) ติดตั้งระบบติดตามเรือประมง และดูแลรักษาให้ระบบดังกล่าวสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด (๒) จัดทำสมุดบันทึกการทำการประมง ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย วันที่เข้าออกท่าเทียบเรือประมง ประเภทของเครื่องมือที่ใช้ทำการประมง พื้นที่ในการทำการประมงและตำแหน่งเรือในขณะจับสัตว์น้ำ จุดจอดเรือ ประเภทและปริมาณของสัตว์น้ำที่จับได้หรือการเททิ้งสัตว์น้ำ การขนถ่ายสัตว์น้ำ การนำสัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือประมง ซึ่งต้องรับรองความถูกต้องโดยผู้ควบคุมเรือและต้องส่งรายงานให้กรมประมงทราบ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) แจ้งการเข้าออกท่าเทียบเรือประมงทุกครั้ง ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด และในกรณีเข้าเทียบท่าเพื่อขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือประมง ต้องส่งมอบสำเนาสมุดบันทึกการทำการประมง และเอกสารหลักฐานอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนดด้วย (๔) จัดทำเครื่องหมายประจำเรือประมงตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด (๕) กลับเข้าท่าเทียบเรือประมงตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๘๒ ก่อนนำเรือประมงตามมาตรา ๘๑ ออกจากท่าเทียบเรือประมง เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือต้องนำเอกสารเกี่ยวกับทะเบียนเรือ ใบอนุญาตใช้เรือ ใบอนุญาตให้ทำการประมง จำนวนรายชื่อและหนังสือคนประจำเรือ หรือหลักฐานการอนุญาตตามมาตรา ๘๓ ของคนประจำเรือที่จะออกไปพร้อมกับเรือประมง และหลักฐานเกี่ยวกับการจัดระบบความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด ในกรณีที่เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือไม่ยื่นเอกสารและหลักฐานตามวรรคหนึ่ง หรือการจัดระบบความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือไม่เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งห้ามมิให้นำเรือออกจากท่าเทียบเรือประมงหรือสั่งให้นำเรือประมงเข้าเทียบท่าได้ มาตรา ๘๓ คนประจำเรือต้องมีหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย และในกรณีคนประจำเรือไม่มีสัญชาติไทย ต้องได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และต้องได้รับใบอนุญาตให้ทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวก ให้อธิบดีมีอำนาจเช่นเดียวกับเจ้าท่าตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยในการออกหนังสือคนประจำเรือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในการอนุญาตให้คนต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงานในเรือประมงอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และมีอำนาจเช่นเดียวกับนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวในการอนุญาตให้คนต่างด้าวนั้นทำงานในเรือประมงที่จะออกไปทำการประมงในทะเล การอนุญาตตามวรรคสอง ให้อธิบดีปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนด และเมื่อได้ออกหนังสือคนประจำเรือหรือได้อนุญาตให้ผู้ใดแล้ว ให้แจ้งให้กรมเจ้าท่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการจัดหางานทราบด้วย ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิคนประจำเรือในการขอหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย หรือขอใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว ให้อธิบดีมีอำนาจออกหนังสือคนประจำเรือ และหลักฐานการอนุญาตให้แก่คนประจำเรือตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งคนประจำเรือต้องเก็บรักษาหลักฐานนั้นไว้กับตัวหรือในสถานที่ที่ปลอดภัยในเรือประมงที่ตนประจำอยู่ การออกหนังสือคนประจำเรือและการอนุญาตตามวรรคสอง ให้ใช้ได้แต่เฉพาะการทำงานในเรือประมงที่ระบุไว้ในหลักฐานการอนุญาต และในบริเวณท่าเทียบเรือประมง และเฉพาะตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในหลักฐานการอนุญาต มาตรา ๘๓/๑[๒๑] ห้ามมิให้เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือรับคนประจำเรือของเรือลำอื่นมาทำงานระหว่างนำเรือประมงออกไปทำการประมงในทะเล เว้นแต่มีเหตุอันจำเป็นเพื่อความปลอดภัย และได้แจ้งต่อศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงหลังจากมีการรับคนประจำเรือ มาตรา ๘๔ ผู้ใดประสงค์จะใช้ท่าเทียบเรือของตนเป็นท่าเทียบเรือประมงต้องจดทะเบียนเป็นท่าเทียบเรือประมงต่อกรมประมง เว้นแต่ท่าเทียบเรือนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกิจการแพปลาอยู่แล้ว มาตรา ๘๕ เจ้าของท่าเทียบเรือประมงตามมาตรา ๘๔ หรือผู้ประกอบกิจการแพปลาต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเรือประมงทุกลำที่เข้าใช้บริการจอดเรือ ขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือประมง และต้องเก็บบันทึกไว้เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ตามรายการ วิธีการ และระยะเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด ให้เจ้าของท่าเทียบเรือประมงหรือผู้ประกอบกิจการแพปลา ดำเนินการรวบรวมและจัดส่งรายงานการเข้าออกเรือตามมาตรา ๘๑ ไปที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกตามวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๘๕/๑[๒๒] ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เรือประมงขนถ่ายสัตว์น้ำ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๙ มาใช้บังคับแก่การจดทะเบียนเรือขนถ่ายสัตว์น้ำด้วยโดยอนุโลม มาตรา ๘๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๘๗ ห้ามมิให้เรือประมงที่ทำการประมงพาณิชย์ขนถ่ายสัตว์น้ำออกจากเรือประมง ยกเว้นการขนถ่ายไปยังเรือที่ได้จดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำ หรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่า ณ สถานที่อื่นใดนอกจากท่าเทียบเรือประมงตามมาตรา ๘๔ หรือสถานที่ที่เป็นกิจการแพปลาตามที่อธิบดีประกาศกำหนด[๒๓] ประกาศของอธิบดีตามวรรคหนึ่งอาจกำหนดขนาดของเรือประมงที่สามารถขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือประมงแห่งใดด้วยก็ได้ ให้เจ้าของท่าเทียบเรือประมงหรือผู้ประกอบกิจการแพปลาตามวรรคหนึ่ง จัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำตามแบบและรายการที่อธิบดีประกาศกำหนด และส่งสำเนาให้กรมประมงตามระยะเวลาและวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๘๗[๒๔] ห้ามมิให้มีการขนถ่ายสัตว์น้ำในทะเล เว้นแต่เป็นการขนถ่ายไปยังเรือที่ได้จดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ โดยเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือที่ทำการประมงต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรหรือช่องทางอื่นทำนองเดียวกันจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนดำเนินการขนถ่ายสัตว์น้ำ และต้องรายงานการขนถ่ายสัตว์น้ำซึ่งรับรองความถูกต้องโดยผู้ควบคุมเรือขนถ่ายสัตว์น้ำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หลังการดำเนินการขนถ่ายสัตว์น้ำ หลักเกณฑ์และระยะเวลาในการขออนุญาต การอนุญาต และการรายงานการขนถ่ายสัตว์น้ำให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด เพื่อประโยชน์ในการป้องกันการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดห้ามมิให้มีการขนถ่ายสัตว์น้ำ โดยจะกำหนดตามประเภทหรือขนาดของเรือ พื้นที่ หรือระยะเวลาที่ห้ามทำการขนถ่ายสัตว์น้ำก็ได้ มาตรา ๘๘[๒๕] เจ้าของเรือขนถ่ายสัตว์น้ำที่มีขนาดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) ติดตั้งระบบติดตามเรือประมง และดูแลรักษาให้ระบบดังกล่าวสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด (๒) จัดทำหนังสือกำกับการขนถ่ายสัตว์น้ำซึ่งรับรองความถูกต้องโดยผู้ควบคุมเรือ และรายงานให้กรมประมงทราบตามระยะเวลาและโดยวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) แจ้งการเข้าออกท่าเทียบเรือประมงทุกครั้ง ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด (๔) ต้องได้รับอนุมัติแผนการขนถ่ายสัตว์น้ำจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนออกไปทำการขนถ่ายสัตว์น้ำ และต้องรายงานการขนถ่ายสัตว์น้ำซึ่งรับรองความถูกต้องโดยผู้ควบคุมเรือขนถ่ายสัตว์น้ำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หลังการดำเนินการขนถ่ายสัตว์น้ำ ตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด (๕) การขนถ่ายสัตว์น้ำนอกน่านน้ำไทย ต้องมีผู้สังเกตการณ์ประจำอยู่ในเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ ตามหลักเกณฑ์ของรัฐชายฝั่งหรือขององค์การระหว่างประเทศที่มีเขตอำนาจเหนือพื้นที่ที่ตนเข้าไปทำการขนถ่ายสัตว์น้ำกำหนด หรือตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด (๖) กลับเข้าท่าเทียบเรือประมงตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด (๗) จัดทำเครื่องหมายประจำเรือขนถ่ายสัตว์น้ำตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๘๙[๒๖] เรือที่ได้จดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ นอกจากต้องปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้แล้ว ในกรณีที่เป็นการขนถ่ายสัตว์น้ำในทะเลที่อยู่ในเขตของรัฐชายฝั่งใดต้องปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบของรัฐชายฝั่งนั้น และในกรณีที่เป็นการขนถ่ายสัตว์น้ำในทะเลหลวงต้องปฏิบัติตามกฎ หรือระเบียบขององค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง มาตรา ๘๙/๑[๒๗] เพื่อประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวังการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้เจ้าของเรือประมงที่ใช้สนับสนุนเรือที่ใช้ทำการประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำปฏิบัติได้ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมมาตรฐานการติดตั้ง การรับส่งและการจัดเก็บข้อมูล และการรักษาความมั่นคงของระบบติดตามเรือประมง ให้อธิบดีมีอำนาจออกประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ให้บริการระบบติดตามเรือปฏิบัติได้ ส่วนที่ ๒ หลักฐานเพื่อการสืบค้น มาตรา ๙๐ เพื่อประโยชน์ในการสืบค้นความชอบด้วยกฎหมายของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้จากการประมง ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่รวบรวมและจัดทำหลักฐานเพื่อประกอบการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือ ต้องจัดทำสมุดบันทึกการทำการประมง และส่งรายงานให้กรมประมงตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๑ (๒) (๒)[๒๘] เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือขนถ่ายสัตว์น้ำต้องจัดทำหนังสือกำกับการขนถ่ายสัตว์น้ำ และส่งรายงานให้กรมประมงตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๘ (๒) (๓) เจ้าของท่าเทียบเรือประมงหรือผู้ประกอบกิจการแพปลา ต้องจัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำให้แก่ผู้ซื้อ ตามแบบและรายการที่อธิบดีประกาศกำหนด และต้องส่งสำเนาให้กรมประมงตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๖ วรรคสาม (๔) ผู้ซื้อสัตว์น้ำจากท่าเทียบเรือประมงหรือผู้ประกอบกิจการแพปลาตาม (๓) ต้องกรอกข้อมูลในหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำตาม (๓) เมื่อขายหรือส่งมอบสัตว์น้ำนั้นให้บุคคลอื่น (๕) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำหรือแปรรูปสัตว์น้ำ ต้องจัดทำหลักฐานเพื่อการสืบค้น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด (๖) ผู้นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ต้องมีใบรับรองการจับสัตว์น้ำ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงว่าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นได้มาจากการประมงโดยชอบด้วยกฎหมายตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๙๒ มาตรา ๙๑ เพื่อประโยชน์ในการสืบค้นแหล่งที่มาของสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้จากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อธิบดีมีอำนาจกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมตามมาตรา ๗๖ ต้องจัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำให้แก่ผู้ซื้อตามแบบและรายการที่อธิบดีประกาศกำหนด เมื่อผู้ซื้อสัตว์น้ำตามวรรคหนึ่งขายหรือส่งมอบสัตว์น้ำนั้นให้บุคคลอื่น ให้กรอกข้อมูลในแบบรายการตามวรรคหนึ่ง ระบุผู้ซื้อหรือผู้รับมอบสัตว์น้ำนั้นทุกทอดไป มาตรา ๙๒ ภายใต้บังคับมาตรา ๙๖ ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ใดประสงค์จะส่งออกหรือนำผ่านสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ต้องแสดงใบรับรองการจับสัตว์น้ำ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงว่าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นได้มาจากการทำการประมงโดยชอบด้วยกฎหมายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบก่อน ในการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อมีใบรับรองการจับสัตว์น้ำ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงว่าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นได้มาจากการทำการประมงโดยชอบด้วยกฎหมาย การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับการนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่เรือประมงไทยจับได้จากการทำการประมงโดยชอบด้วยกฎหมายเข้ามาในราชอาณาจักร โดยในกรณีเช่นนั้นมิให้ถือว่าเป็นการนำเข้า มาตรา ๙๓ ผู้ส่งออกสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำผู้ใดประสงค์จะขอใบรับรองการจับสัตว์น้ำ หรือใบรับรองการผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำหรือการแปรรูปสัตว์น้ำ ให้ยื่นคำขอต่อกรมประมง ตามแบบ วิธีการ และชำระค่าใช้จ่ายในการออกใบรับรองตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด ส่วนที่ ๓ มาตรการในการตรวจสอบ มาตรา ๙๔ ห้ามมิให้ผู้ใดนำเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยที่มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเข้ามาในราชอาณาจักร ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศรายชื่อเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยที่มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ทราบทั่วกัน โดยให้พิจารณาจากบัญชีรายชื่อเรือประมงที่ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ประกาศโดยรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ มาตรา ๙๕[๒๙] เรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยที่ประสงค์จะนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเข้ามาในราชอาณาจักร จะต้องแจ้งล่วงหน้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด แต่รัฐมนตรีจะประกาศกำหนดให้แจ้งล่วงหน้าเกินเก้าสิบหกชั่วโมงก่อนเวลาที่เรือประมงจะเดินทางถึงท่าเทียบเรือไม่ได้ โดยเรือประมงดังกล่าวต้องแจ้งข้อมูล และเข้าเทียบท่าตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลตามวรรคหนึ่งและแจ้งให้ผู้ควบคุมเรือทราบภายในระยะเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดซึ่งต้องไม่ช้ากว่ายี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้รับแจ้งหรือก่อนเวลาที่เรือจะเข้ามาในราชอาณาจักรสุดแต่เวลาใดจะเร็วกว่า เรือประมงที่ได้แจ้งตามวรรคหนึ่งแล้วแต่มิได้รับแจ้งจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคสอง ให้ถือว่าได้รับอนุญาตให้เข้าเทียบท่าได้ ในกรณีที่เรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเรือประมงดังกล่าวได้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเกี่ยวข้องกับการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่อาจปฏิเสธการเข้าเทียบท่า หรือจะอนุญาตให้เข้าเทียบท่าได้ เฉพาะในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุฉุกเฉินเพื่อความปลอดภัยของคนประจำเรือหรือตัวเรือประมง หรือเพื่อการตรวจสอบเรือและการดำเนินการอื่นใดเพื่อป้องกันและปราบปรามการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการปฏิเสธการเข้าเทียบท่า ความในวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ ให้ใช้บังคับแก่เรือประมงที่มิได้นำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเข้ามาในราชอาณาจักรแต่ประสงค์จะเข้ามาในราชอาณาจักรด้วยโดยอนุโลม มาตรา ๙๖[๓๐] เมื่อเรือประมงได้รับอนุญาตให้เทียบท่าตามมาตรา ๙๕ และเทียบท่าแล้ว ให้ยื่นคำขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นจากเรือประมงได้ ใบอนุญาตดังกล่าวให้ถือว่าเป็นใบอนุญาตที่ออกให้ตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์และกฎหมายอื่นใดที่กำหนดให้การนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำต้องได้รับอนุญาต ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่อนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือจะพิสูจน์ได้ว่า (๑) เรือประมงนั้นมีใบอนุญาตให้ทำการประมงหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประมงซึ่งออกโดยรัฐเจ้าของธงหรือรัฐชายฝั่ง (๒) มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่ามิได้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (๓) เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือทำหนังสือรับรองว่ารัฐเจ้าของธงจะยืนยันในเวลาอันสมควรว่าสัตว์น้ำที่จับได้นั้นเป็นไปตามข้อบังคับขององค์การระหว่างประเทศ ในกรณีที่เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือไม่อาจพิสูจน์ได้ตามวรรคสอง ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้เรือประมงนั้นออกจากราชอาณาจักรได้ภายในเวลาที่กำหนด และแจ้งให้รัฐเจ้าของธง หรือประเทศอื่นที่เกี่ยวข้อง และองค์การระหว่างประเทศเพื่อทราบ ในกรณีที่เรือประมงนั้นไม่ออกนอกราชอาณาจักรภายในเวลาที่กำหนด หรือมีหลักฐานชัดแจ้งว่าเรือนั้นได้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกรณีเป็นเรือไร้สัญชาติ ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ยึดเรือประมงและทรัพย์สินในเรือประมงนั้นออกขายทอดตลาดหรือทำลายได้ เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเมื่อได้หักค่าใช้จ่ายในการขายและค่าใช้จ่ายอื่นแล้ว ให้กรมประมงยึดไว้จนกว่าเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือสามารถพิสูจน์ได้ตามวรรคสอง ในกรณีที่เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือไม่สามารถพิสูจน์ได้ภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ขายทอดตลาด เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้ตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและสั่งให้เรือนั้นออกจากราชอาณาจักร ถ้าเรือนั้นออกจากราชอาณาจักรภายในเวลาที่กำหนด หรือในกรณีที่อธิบดีสั่งทำลายสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำตามวรรคสามหรือนำไปดำเนินการเพื่อจ่ายแจกตามวรรคห้า มิให้ถือว่าได้มีการนำหรือเคยนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ในการขายทอดตลาดตามวรรคสาม มิให้นำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำออกขายทอดตลาดด้วย โดยให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ทำลายสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำดังกล่าว หรือนำไปดำเนินการเพื่อจ่ายแจกให้แก่ผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสโดยไม่คิดราคา เรือประมงที่ไม่อาจแสดงหลักฐานตามวรรคสองได้ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่าได้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก่อนเข้าเทียบท่า พนักงานเจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้รับบริการเติมเชื้อเพลิง และเสบียง หรือซ่อมบำรุง ตามความจำเป็นก็ได้ มาตรา ๙๗ รัฐมนตรีจะประกาศกำหนดให้เรือประมงที่ทำการประมงพื้นบ้านซึ่งรัฐเจ้าของธงที่มีอาณาเขตติดต่อกับราชอาณาจักรไทยไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙๕ และมาตรา ๙๖ ทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ ในการนี้ รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดแนวปฏิบัติให้เรือดังกล่าวต้องปฏิบัติเพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยก็ได้ หมวด ๘ สุขอนามัยของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ มาตรา ๙๘ ให้เป็นหน้าที่ของกรมประมงในการจัดทำมาตรฐานด้านสุขอนามัยในการจับ การดูแลรักษาสัตว์น้ำ การแปรรูปสัตว์น้ำ การเก็บรักษา การขนส่งหรือขนถ่ายสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการการประมงนำไปใช้ปฏิบัติในกิจการของตนให้ได้สัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้รับการรับรองคุณภาพว่าได้มาตรฐานด้านสุขอนามัย และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค การกำหนดมาตรฐานตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบกิจการการประมงดำเนินการให้ได้มาตรฐานตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายออกหนังสือรับรองการได้มาตรฐานให้แก่ผู้ซึ่งดำเนินการได้มาตรฐานดังกล่าวได้ตามที่ร้องขอ การร้องขอหนังสือรับรองตามวรรคสาม ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด โดยจะกำหนดให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการรับรองด้วยก็ได้ มาตรา ๙๙ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่ รัฐมนตรีจะประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการการประมงทุกประเภทหรือบางประเภท หรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทั้งหมดหรือบางชนิด ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานตามมาตรา ๙๘ ก็ได้ ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการการประมงหรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีประกาศตามวรรคหนึ่งไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรฐาน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบกิจการการประมงหรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแก้ไขให้ถูกต้อง หรือหยุดดำเนินการเป็นเวลาตามที่กำหนด ตามที่เห็นสมควรได้ มาตรา ๑๐๐ ในกรณีที่ปรากฏว่าในที่จับสัตว์น้ำแห่งใดเกิดสภาวะมลพิษ หรือมีการปนเปื้อนของสารพิษหรือสิ่งอื่นใดที่อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือต่อสัตว์น้ำเกินมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศห้ามทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำแห่งนั้นภายในเวลาที่กำหนดได้ หมวด ๙ พนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๑๐๑ บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวังได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกิจการการประมงมีความครบถ้วนและถูกต้อง มาตรา ๑๐๒ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้ (๑) มีหนังสือเรียกผู้รับอนุญาต กรรมการ ผู้จัดการ บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการหรือพนักงานของผู้รับอนุญาตที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการตามพระราชกำหนดนี้ (๒) เข้าไปในสถานที่ประกอบกิจการหรือสถานที่ที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการของผู้รับอนุญาต หรือสถานที่ที่เกี่ยวกับการนำเข้า ส่งออก นำผ่าน จำหน่าย ผลิตหรือแปรรูปสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในระหว่างเวลาทำการ เพื่อตรวจสอบและควบคุมให้การเป็นไปตามพระราชกำหนดนี้ (๓) เข้าไปในสถานที่ประกอบกิจการหรือสถานที่ที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการที่ต้องมีการควบคุมตามมาตรา ๗๖ ในระหว่างเวลาทำการ เพื่อตรวจสอบและควบคุมให้การเป็นไปตามพระราชกำหนดนี้ (๔) ควบคุมเรือประมง หยุดเรือประมง หยุดทำการประมงหรือการขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือสั่งให้ผู้ควบคุมเรือประมงนำเรือประมงเข้าเทียบท่า หรือขึ้นไปบนเรือประมง หรือเข้าไปในที่จับสัตว์น้ำใด เพื่อตรวจสอบและควบคุมให้การเป็นไปตามพระราชกำหนดนี้ ทั้งนี้ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ (๕) ค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในระหว่างเวลาทำการ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ (๖) ยึดหรืออายัดเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบหรือดำเนินคดี (๗) เก็บตัวอย่างสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ หรือวัตถุใด ๆ เพื่อนำไปตรวจสอบ หรือตรวจวิเคราะห์ เพื่อตรวจสอบและควบคุมให้การเป็นไปตามพระราชกำหนดนี้ (๘) ยึดหรืออายัดสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองตามมาตรา ๖๔ หรือมาตรา ๖๕ (๙) ยึดหรืออายัดยา เคมีภัณฑ์ หรือสารอันตรายอื่นใดที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นยา เคมีภัณฑ์ หรือสารอันตรายที่ใช้หรือจะใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา ๗๘ (๔) ในกรณีที่สัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ยา เคมีภัณฑ์ หรือสารอันตรายอื่นใดที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ยึดหรืออายัดไว้ตาม (๘) หรือ (๙) มีสภาพที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์ หรือต่อสัตว์น้ำอื่นหรือสิ่งแวดล้อมของสัตว์น้ำ หรือต่อทรัพย์สินของบุคคลหรือสาธารณสมบัติ ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งทำลายหรือจัดการอย่างอื่นตามที่เห็นสมควร เมื่อได้เข้าไปและทำการตรวจสอบตาม (๒) หรือ (๓) หรือค้นตาม (๕) แล้ว ถ้ายังดำเนินการไม่แล้วเสร็จจะกระทำต่อไปในเวลากลางคืนหรือนอกเวลาทำการของสถานที่นั้นก็ได้ ให้อธิบดีมีอำนาจวางระเบียบในการปฏิบัติการตาม (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) และ (๙) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติ ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามสมควร มาตรา ๑๐๓ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้ซึ่งติดตั้งเครื่องมือทำการประมง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งใด ๆ ลงในที่จับสัตว์น้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือได้รับอนุญาตแต่ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาต หรือปฏิบัติผิดไปจากเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตรื้อถอน หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตภายในเวลาที่กำหนดได้ หากผู้ได้รับคำสั่งไม่ปฏิบัติตามภายในเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการรื้อถอนหรือทำลายเครื่องมือทำการประมง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งใด ๆ นั้นเสียได้ โดยให้ผู้ได้รับคำสั่งเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการนั้น ในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวบุคคลซึ่งติดตั้งเครื่องมือทำการประมง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งใด ๆ ลงในที่จับสัตว์น้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจรื้อถอนได้ เมื่อรื้อถอนแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่เก็บรักษาเครื่องมือ หรือวัสดุที่รื้อถอนไว้เป็นเวลาสามสิบวัน ถ้าเจ้าของไม่มาแสดงตนเพื่อขอคืนให้เครื่องมือหรือวัสดุดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจทำลาย ขาย หรือดำเนินการอื่นได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด[๓๑] มาตรา ๑๐๔ ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ และเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณี หรือความตกลงที่ประเทศไทยมีอยู่กับองค์การระหว่างประเทศในทุกระดับ เมื่อได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ของประเทศที่มีอำนาจ หรือองค์การระหว่างประเทศที่มีอำนาจควบคุมดูแลการทำการประมงในเขตนั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจและได้รับการคุ้มครองในการขึ้นไปบนเรือไร้สัญชาติ หรือเรือประมงที่พบว่ากำลังทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย บรรดาที่ทำการประมงอยู่นอกน่านน้ำไทยเพื่อตรวจสอบและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้ การขึ้นไปบนเรือประมงเพื่อตรวจสอบตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกำหนด หลักเกณฑ์ดังกล่าวให้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ที่ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติของนานาประเทศและเป็นที่ยอมรับขององค์การสหประชาชาติ และให้นำความในมาตรา ๑๐๕ (๑) มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้แจ้งให้รัฐเจ้าของธงหรือองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องทราบ มาตรา ๑๐๕ ในกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ใดกระทำความผิดหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) บันทึกข้อมูลการฝ่าฝืนที่ต้องสงสัยไว้ในรายงานผลการตรวจสอบ และจัดเก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนที่ต้องสงสัยไว้ และส่งมอบรายงานการตรวจสอบให้แก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย (๒) สั่งยึดเครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีไว้หรือได้มาจากการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือสั่งกักเรือประมงไว้จนกว่าจะมีการพิจารณาและมีคำสั่งตามหมวด ๑๐ หรือหมวด ๑๑ ในการยึดสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำตาม (๒) พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งให้เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือดูแลและเก็บรักษาสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไว้ในเรือหรือในที่อื่นใดเพื่อรักษาสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำให้อยู่ในสภาพเดิมก็ได้ โดยเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แต่เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือมีสิทธิร้องขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นออกขายทอดตลาดได้ ในกรณีเช่นนี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการขายทอดตลาดโดยเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือจะซื้อหรือรับโอนสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นไม่ได้ และผู้ซื้อต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกำหนด เมื่อขายทอดตลาดแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่เก็บรักษาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดภายหลังหักค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาดแล้วไว้แทนสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ยึดไว้[๓๒] มาตรา ๑๐๖ ให้อธิบดีมีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นที่ได้ขึ้นทะเบียนตามมาตรา ๒๕ (๒) เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งมีหน้าที่ในการช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้ ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอหรือกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแต่งตั้ง การปฏิบัติหน้าที่ และบัตรประจำตัวของบุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ในการปฏิบัติหน้าที่ บุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกครั้ง มาตรา ๑๐๗ ให้เป็นหน้าที่ของอธิบดีต้องจัดให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้ได้ตลอดเวลา แต่ในกรณีมีผู้ขอรับบริการนอกเวลาราชการหรือนอกสถานที่ทำการ ผู้ขอรับบริการต้องชำระค่าธรรมเนียมและค่าป่วยการพิเศษตามอัตราที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๑๐๘ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อผู้รับอนุญาตหรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด มาตรา ๑๐๙ ในการปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา เพื่อประโยชน์ในการจับกุมผู้กระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หมวด ๑๐ มาตรการทางปกครอง มาตรา ๑๑๐ บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรการทางปกครองที่เพียงพอเพื่อให้การปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการใช้โทษทางอาญาที่ได้กำหนดไว้ในหมวด ๑๑ และเพื่อกำหนดการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล มาตรา ๑๑๑ ผู้รับอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้ กฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบที่ออกตามความในพระราชกำหนดนี้ หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาต ให้ผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือระงับการอนุญาตมีกำหนดครั้งละไม่เกินเก้าสิบวัน ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตตามมาตรา ๖๐ มาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ และมาตรา ๗๙ ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขตามวรรคหนึ่งซ้ำ ให้ผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือการอนุญาตได้ มาตรา ๑๑๒[๓๓] เจ้าของท่าเทียบเรือประมง ผู้ประกอบกิจการแพปลา หรือเจ้าของเรือที่ได้จดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้ กฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบที่ออกตามความในพระราชกำหนดนี้ ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนได้ มาตรา ๑๑๒/๑[๓๔] ให้มีคณะกรรมการมาตรการทางปกครอง ประกอบด้วย อธิบดีกรมประมง เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกรมการจัดหางาน ผู้แทนกรมเจ้าท่า ผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้แทนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ ให้ผู้แทนกรมประมง เป็นกรรมการและเลขานุการ ให้คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณาและกำหนดมาตรการทางปกครองตามมาตรา ๑๑ มาตรา ๑๑/๑ และมาตรา ๑๑๓ มาตรา ๑๑๒/๒[๓๕] การประชุมคณะกรรมการมาตรการทางปกครอง ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่ง เป็นประธานในที่ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุม ให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด มาตรา ๑๑๓[๓๖] ผู้ใดทำการประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการมาตรการทางปกครองมีอำนาจสั่ง ดังต่อไปนี้ (๑) ยึดสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงนั้นหรือเครื่องมือทำการประมง (๒) ห้ามทำการประมงจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง (๓) สั่งพักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดครั้งละไม่เกินเก้าสิบวัน โดยจะสั่งห้ามมิให้ใช้เรือประมงนั้นจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาการพักใช้ใบอนุญาตด้วยก็ได้ (๔) เพิกถอนใบอนุญาต และประกาศให้เรือประมงนั้นเป็นเรือที่ใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (๕) กักเรือประมง การสั่งยึดเครื่องมือทำการประมงตาม (๑) หรือกักเรือประมงตาม (๕) เจ้าของเรือจะวางประกันแทนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนดก็ได้ แต่ถ้ามีการนำเครื่องมือทำการประมงหรือเรือประมงนั้นไปใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอีก ให้เงินประกันนั้นตกเป็นของแผ่นดิน และจะขอวางเงินประกันแทนอีกไม่ได้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๐๕ วรรคสอง มาใช้บังคับแก่การสั่งยึดสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ตาม (๑) ด้วยโดยอนุโลม การสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการมาตรการทางปกครองคำนึงถึงสภาพความร้ายแรงแห่งความผิด การกระทำผิดซ้ำ และการป้องกันมิให้ผู้กระทำผิดกระทำความผิดซ้ำอีก มาตรา ๑๑๔ การกระทำดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการทำการประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๑๑๓ (๑) ใช้เรือไร้สัญชาติทำการประมงตามมาตรา ๑๐ (๒)[๓๗] ทำการประมงโดยไม่มีใบอนุญาตทำการประมงหรือไม่มีใบอนุญาตใช้เครื่องมือทำการประมงตามมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๖ หรือมาตรา ๔๘ (๓) ไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๑ (๔) จัดทำบันทึกการทำการประมงหรือรายงานการทำการประมงโดยใช้เอกสารอันเป็นเท็จ หรือทำลายเอกสารหรือหลักฐานในการกระทำความผิด (๕) ทำการประมงเกินปริมาณหรือเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๓๖ ทำการประมงในบริเวณที่ห้ามทำการประมงตามมาตรา ๕๖ หรือทำการประมงในห้วงเวลาที่ห้ามทำการประมงตามมาตรา ๗๐ (๖)[๓๘] ดัดแปลงเครื่องมือทำการประมงตามมาตรา ๔๒ ทำการประมงผิดไปจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตตามมาตรา ๔๓ หรือใช้เครื่องมือทำการประมงที่ต้องห้ามตามมาตรา ๖๗ มาตรา ๖๘ มาตรา ๖๙ หรือมาตรา ๗๑ (๑) (๗) ทำการประมงโดยฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ที่รัฐชายฝั่งหรือองค์การระหว่างประเทศกำหนดไว้ตามมาตรา ๔๙ (๘) จับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่กำหนดไว้ขึ้นเรือประมงตามมาตรา ๕๗ (๙) จับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำตามที่กำหนดไว้ขึ้นเรือประมงตามมาตรา ๖๖ (๑๐) ขนถ่ายสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๘๗ มาตรา ๘๘ หรือมาตรา ๘๙ (๑๑) ปลอมแปลง ปิดบัง หรือเปลี่ยนเครื่องหมายประจำเรือประมงหรือทะเบียนเรือประมง (๑๒) ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้สังเกตการณ์ ปิดบัง ซ่อนเร้น หรือทำลายหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนของพนักงานเจ้าหน้าที่ (๑๓) มีส่วนร่วม สนับสนุน หรือจัดหาสิ่งจำเป็นให้แก่เรือประมงที่ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (๑๔) กระทำการอันเป็นความผิดในเรื่องอื่นใดที่ไม่ใช่เป็นการกระทำตาม (๑) ถึง (๑๓) เกินสามครั้งภายในหนึ่งปี ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเดียวกันหรือไม่ก็ตาม มาตรา ๑๑๕ ผู้รับอนุญาตผู้ใดไม่เห็นด้วยกับคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือระงับการอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๑๑๑ หรือการเพิกถอนทะเบียนตามมาตรา ๑๑๒ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อบุคคล ดังต่อไปนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง (๑) ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ออกคำสั่ง ให้อุทธรณ์ต่ออธิบดี (๒) ในกรณีที่อธิบดีเป็นผู้ออกคำสั่ง ให้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี[๓๙] ให้อธิบดีหรือรัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ การอุทธรณ์คำสั่งตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งนั้น เว้นแต่อธิบดีหรือรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี จะสั่งให้ทุเลาการบังคับไว้ก่อน คำวินิจฉัยของอธิบดีหรือรัฐมนตรี ให้เป็นที่สุด มาตรา ๑๑๕/๑[๔๐] ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ กฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบที่ออกตามความในพระราชกำหนดนี้ ให้สันนิษฐานว่าผู้มีหน้าที่ได้กระทำการหรือปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และได้รับความคุ้มครองความปลอดภัยและการช่วยเหลือด้านการเงินและด้านอื่นที่เกี่ยวข้องจากรัฐในกรณีที่ถูกดำเนินคดี ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด มาตรา ๑๑๖ เรือประมงใดถูกใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้รัฐมนตรีประกาศรายชื่อเรือนั้นให้ทราบทั่วกัน และจะสั่งให้นายทะเบียนเรือตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทยเพิกถอนทะเบียนเรือสำหรับใช้ในการประมงด้วยก็ได้ และเมื่อรัฐมนตรีประกาศรายชื่อเรือประมงนั้น หรือมีการออกคำสั่งเพิกถอนทะเบียนเรือแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เรือนั้นทำการประมงอีกเป็นระยะเวลาตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสองปีนับแต่วันที่มีประกาศรายชื่อดังกล่าว และในระหว่างเวลาดังกล่าว ห้ามไม่ให้เจ้าของท่าเทียบเรือประมงหรือกิจการแพปลายินยอมให้เรือประมงดังกล่าวนำสัตว์น้ำขึ้นเทียบท่าเทียบเรือประมงหรือแพปลาของตน มาตรา ๑๑๗ ประกาศรายชื่อเรือประมงตามมาตรา ๑๑๖ อย่างน้อยต้องมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้ (๑) ชื่อเรือประมงและชื่อเดิม (๒) ธงของเรือประมงและธงสัญชาติเดิมของเรือ (๓) เจ้าของเรือ เจ้าของเรือคนเดิมที่เกี่ยวข้อง และผู้ได้รับผลประโยชน์ของเรือดังกล่าว (๔) เลขทะเบียนหรือหมายเลขประจำเรือที่ออกโดยองค์การระหว่างประเทศ และที่ออกโดยกรมเจ้าท่า (๕) รูปถ่ายของเรือ (๖) วันที่ขึ้นบัญชีรายชื่อ (๗) ระบุการกระทำความผิดที่เป็นเหตุให้ขึ้นบัญชีรายชื่อเรือประมง (๘) ระยะเวลาการเพิกถอนทะเบียนเรือสำหรับใช้ทำการประมง มาตรา ๑๑๘[๔๑] ให้กรมประมงแจ้งบัญชีรายชื่อเรือประมงที่รัฐมนตรีประกาศตามมาตรา ๑๑๖ ที่มิใช่เรือไทย ให้แก่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศทราบ มาตรา ๑๑๙ รัฐมนตรีอาจถอนชื่อเรือประมงออกจากบัญชีรายชื่อเรือประมงที่ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ เมื่อ (๑) เจ้าของเรือได้แสดงหลักฐานว่าเรือประมงนั้นมิได้มีความเกี่ยวพันกับการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (๒) เรือประมงนั้นอับปางหรือถูกทำลาย (๓) เมื่อพ้นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสองปีนับแต่เรือประมงถูกประกาศขึ้นบัญชีรายชื่อ และไม่ได้รับรายงานว่าเรือประมงนั้นเกี่ยวข้องกับการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอีก (๔) เจ้าของเรือนั้นได้แสดงหลักฐานว่าได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้เรือนั้นสามารถทำการประมงได้โดยชอบด้วยกฎหมาย หรือขจัดส่วนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายครบถ้วนแล้ว (๕) เจ้าของเรือนั้นได้แสดงพยานหลักฐานให้เป็นที่พอใจได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็น หรือเกี่ยวข้องกับการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด และได้มีมาตรการในการป้องกันตามสมควรแล้ว มาตรา ๑๒๐ ในกรณีที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ หรือผู้รับอนุญาตถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตตามมาตรา ๑๑๑ หรือมาตรา ๑๑๓ ให้ผู้รับอนุญาตจัดการรื้อถอนหรือทำลายเครื่องมือทำการประมง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งใด ๆ ที่เป็นของผู้รับอนุญาต ในที่จับสัตว์น้ำภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุหรือวันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาต แล้วแต่กรณี และให้นำความในมาตรา ๑๐๓ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม หมวด ๑๑ บทกำหนดโทษ มาตรา ๑๒๑ บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดโทษทางอาญาให้เหมาะสมและได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ และป้องปรามการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใด รวมทั้งการป้องกันไม่ให้ผู้กระทำความผิดได้รับประโยชน์จากการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ มาตรา ๑๒๒ ผู้ประกอบอาชีพการประมงหรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประมงผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท มาตรา ๑๒๓ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับจำนวนสามเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงยี่สิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหกแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงห้าล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๒๓/๑[๔๒] ผู้ใดประกอบกิจการโรงงานโดยไม่แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบตามมาตรา ๑๐/๑ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท มาตรา ๑๒๔[๔๓] ผู้ประกอบกิจการโรงงานผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๑๑/๑ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่น้อยกว่าสี่แสนบาทแต่ไม่เกินแปดแสนบาทต่อลูกจ้างหรือคนงานที่มีการจ้างงานโดยผิดกฎหมายหนึ่งคน ผู้ใดประกอบกิจการโรงงานอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ วรรคสอง หรือวรรคหก หรือมาตรา ๑๑/๑ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละหนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาทตลอดเวลาที่มีการฝ่าฝืน พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานผู้ใดออกใบรับแจ้งหรือใบรับอนุญาตโดยฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ วรรคหก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๒๕ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๑ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับจำนวนสามเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๒๕/๑[๔๔] ผู้ทำการประมงพื้นบ้านผู้ใดทำการประมงโดยใช้เครื่องมือไม่ตรงกับประเภทที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมง ทำการประมงนอกพื้นที่การทำการประมง หรือผิดเงื่อนไขอื่นใดที่กำหนดในใบอนุญาตตามมาตรา ๓๒ หรือมาตรา ๓๔ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับจำนวนสามเท่าของมูลค่าของสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๒๖ ผู้ทำการประมงพื้นบ้านผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๒๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๔ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๒๘[๔๕] (ยกเลิก) มาตรา ๑๒๙ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๖ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหกแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงหกล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๓๐ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๘ มาตรา ๔๓ หรือมาตรา ๕๒ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหกแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงหกล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงแล้ว แต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๓๑ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๑ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท มาตรา ๑๓๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๒ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหกแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงหกล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๓๓ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๘ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองล้านบาทถึงสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สิบล้านบาทถึงยี่สิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับยี่สิบล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๓๔ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๙ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองล้านบาทถึงสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับสิบล้านบาทถึงยี่สิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ยี่สิบล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๓๕ ผู้ใดทำการประมงหรือขนถ่ายสัตว์น้ำโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๘๘ (๕) ต้องระวางโทษปรับหนึ่งล้านบาท[๔๖] ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับสองล้านบาท มาตรา ๑๓๖ ผู้สังเกตการณ์ผู้ใดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๕๑ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๓๗ เจ้าของเรือประมงผู้ใดไม่ชดใช้ค่าใช้จ่ายตามมาตรา ๕๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือปรับจำนวนสองเท่าของค่าใช้จ่ายตามมาตรา ๕๔ แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๓๘ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๖ หรือมาตรา ๗๐ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงยี่สิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงห้าล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๓๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๗ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงยี่สิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหกแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงห้าล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๔๐ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๘ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงห้าแสนบาท มาตรา ๑๔๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๐ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๔๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๑ ต้องระวางโทษปรับหนึ่งหมื่นบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่มีไว้ในครอบครอง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๔๓ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๒ หรือมาตรา ๖๓ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งล้านบาท และต้องรื้อถอนหรือฟื้นฟูที่จับสัตว์น้ำให้กลับคืนสู่สภาพธรรมชาติ หรือชดใช้ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนหรือฟื้นฟูที่จับสัตว์น้ำให้กลับคืนสู่สภาพตามธรรมชาติให้แก่รัฐตามจำนวนที่รัฐได้ใช้จ่ายไป มาตรา ๑๔๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๔ หรือมาตรา ๖๕ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง นำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๔๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๖ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสามล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่จับหรือนำขึ้นเรือประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๔๖ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๗ (๑) ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๔๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๗ (๒) (๓) หรือ (๔) มาตรา ๖๙ หรือมาตรา ๗๑ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงยี่สิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหกแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงหกล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๔๘ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๘ ต้องระวางโทษปรับจำนวนสามเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง มาตรา ๑๔๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๗ หรือมาตรา ๗๙ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๘ (๑) (๕) (๖) หรือ (๗) ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท และปรับวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่มีการฝ่าฝืน รวมทั้งต้องดำเนินการฟื้นฟูหรือชำระค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูที่จับสัตว์น้ำ หรือสภาพสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการให้กลับสู่สภาพตามธรรมชาติ มาตรา ๑๕๐ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๘ (๒) (๓) หรือ (๔) ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสามแสนบาท มาตรา ๑๕๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘๑ (๑) หรือ (๔) หรือมาตรา ๘๘ (๑) หรือ (๗) ต้องระวางโทษปรับสองหมื่นบาท[๔๗] ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับสองแสนบาท ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับหนึ่งล้านบาท ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับสี่ล้านบาท มาตรา ๑๕๒ ผู้ใดทำการประมงหรือขนถ่ายสัตว์น้ำโดยมิได้รายงานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๑ (๒) หรือ (๓) มาตรา ๘๒ หรือมาตรา ๘๘ (๒) (๓) หรือ (๔) หรือทำรายงานอันเป็นเท็จ หรือไม่นำเรือกลับเข้าท่าเทียบเรือประมงตามมาตรา ๘๑ (๕) หรือมาตรา ๘๘ (๖) ต้องระวางโทษปรับหนึ่งหมื่นบาท[๔๘] ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับหนึ่งแสนบาท ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับห้าแสนบาท ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับสองล้านบาท มาตรา ๑๕๓[๔๙] เจ้าของเรือประมงผู้ใดใช้คนประจำเรือซึ่งไม่มีหนังสือคนประจำเรือหรือไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๘๓ หรือฝ่าฝืนมาตรา ๘๓/๑ ต้องระวางโทษปรับไม่น้อยกว่าสี่แสนบาทแต่ไม่เกินแปดแสนบาทต่อคนประจำเรือดังกล่าวหนึ่งคน และให้อธิบดีมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมงของเจ้าของเรือประมง และให้อธิบดีกรมเจ้าท่ามีคำสั่งเพิกถอนประกาศนียบัตรนายเรือของผู้ควบคุมเรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยด้วย มาตรา ๑๕๔ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๔ หรือมาตรา ๘๕ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท มาตรา ๑๕๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘๕/๑ มาตรา ๘๖ วรรคหนึ่ง มาตรา ๘๗ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๙ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ทำการขนถ่าย แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า[๕๐] ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ทำการขนถ่าย แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงห้าล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ทำการขนถ่าย แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าล้านบาทถึงยี่สิบห้าล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ทำการขนถ่าย แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๕๕/๑[๕๑] ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๘๙/๑ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาท สำหรับเรือขนาดไม่เกินสิบตันกรอส และปรับเพิ่มขึ้นตามขนาดของเรือในส่วนที่เกินสิบตันกรอสขึ้นไป ตันกรอสละหนึ่งหมื่นบาท ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศที่ออกตามความในมาตรา ๘๙/๑ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท และปรับวันละไม่เกินหนึ่งแสนบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา ๑๕๖ เจ้าของท่าเทียบเรือประมง ผู้ประกอบกิจการแพปลา ผู้ประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ต้องมีการควบคุม หรือผู้ซื้อสัตว์น้ำจากบุคคลดังกล่าวผู้ใดไม่จัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ หรือจัดทำเอกสารหรือกรอกข้อมูลอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งล้านบาท มาตรา ๑๕๗ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำหรือแปรรูปสัตว์น้ำผู้ใดไม่จัดทำหลักฐานเพื่อการสืบค้น หรือทำหลักฐานเพื่อการสืบค้นเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองล้านบาท มาตรา ๑๕๘ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๒ วรรคหนึ่ง หรือแสดงใบรับรองการจับสัตว์น้ำ หรือเอกสารอื่นใดตามมาตรา ๙๒ วรรคสอง อันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน มาตรา ๑๕๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๔ วรรคหนึ่ง หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๙๖ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๖๐ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๙๗ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือปรับจำนวนสามเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๖๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๖๒[๕๒] ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ออกตามมาตรา ๑๐๒ (๑) หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๐๒ (๔) มาตรา ๑๐๕ (๒) หรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๐๒ วรรคห้า หรือฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการมาตรการทางปกครองตามมาตรา ๑๑๓ (๒) หรือ (๕) ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาท ในกรณีผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคล ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท ในกรณีการฝ่าฝืนคำสั่งตามมาตรา ๑๐๕ (๒) หรือมาตรา ๑๑๓ (๒) หรือ (๕) เป็นกรณีที่ใช้เรือขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป ให้ปรับเพิ่มขึ้นตามขนาดของเรือในส่วนที่เกินสิบตันกรอสขึ้นไป ตันกรอสละหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๑๖๒/๑[๕๓] ผู้ซื้อสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจากการขายทอดตลาดตามมาตรา ๑๐๕ วรรคสอง หรือมาตรา ๑๑๓ วรรคสาม ผู้ใดปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกำหนดต้องระวางโทษปรับเป็นห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ขายทอดตลาด มาตรา ๑๖๓ ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๖๔ ผู้ใดนำข้อมูลที่ได้รับจากระบบติดตามเรือประมงหรือบันทึกการทำการประมงซึ่งเป็นข้อมูลที่ตามปกติวิสัยจะพึงสงวนไว้ไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการเปิดเผยตามอำนาจหน้าที่ หรือเปิดเผยแก่ทางราชการ หรือหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการติดตาม ตรวจสอบ และควบคุมการทำการประมง มาตรา ๑๖๕ ผู้ใดปลอมแปลง ปิดบัง หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายประจำเรือประมง หรือทะเบียนเรือประมง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงยี่สิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหกแสนบาท ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงหกล้านบาท ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท มาตรา ๑๖๖[๕๔] ผู้สนับสนุนหรือได้รับผลตอบแทนจากการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้กระทำการดังกล่าวเป็นคนประจำเรือ และศาลเห็นว่าเป็นการกระทำไปตามคำสั่งการของเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือ ศาลจะไม่ลงโทษหรือลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ มาตรา ๑๖๗ ในกรณีที่มีการกระทำความผิดที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงซ้ำภายในห้าปี อัตราโทษตามที่กำหนดไว้ในแต่ละมาตราให้เพิ่มเป็นสองเท่า มาตรา ๑๖๘ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชกำหนดนี้เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของผู้ใด หรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของผู้ใด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นด้วย มาตรา ๑๖๙[๕๕] เครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เรือประมง หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิด และความผิดนั้นเป็นการทำการประมง โดยฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๑๑๔ ให้ริบเสียทั้งสิ้น เว้นแต่เป็นกรณีมีการวางประกันให้ริบเงินประกันแทน ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๖ วรรคห้า มาใช้บังคับแก่สัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ศาลสั่งริบด้วยโดยอนุโลม มาตรา ๑๗๐ บรรดาความผิดตามพระราชกำหนดนี้ ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบมีอำนาจเปรียบเทียบได้ คณะกรรมการเปรียบเทียบตามวรรคหนึ่ง ให้ประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ และผู้แทนกรมประมง เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้มีทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและในส่วนภูมิภาคได้ตามที่รัฐมนตรีกำหนดตามความเหมาะสม หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาของคณะกรรมการเปรียบเทียบให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด โดยให้คำนึงถึงสภาพความร้ายแรงของการกระทำความผิด การกระทำความผิดซ้ำ และการป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำความผิดซ้ำอีก เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเปรียบเทียบแล้ว และยกสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ถูกยึดไว้ให้แก่ทางราชการแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๙๖ วรรคสี่ มาใช้บังคับกับสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ผู้ต้องหายกไว้ให้แก่ทางราชการตามวรรคสี่ด้วยโดยอนุโลม บทเฉพาะกาล มาตรา ๑๗๑ บรรดาพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการประมงที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชกำหนดนี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งตามพระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ มาตรา ๑๗๒ ให้บรรดาที่รักษาพืชพันธุ์ที่ประกาศกำหนดอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ เป็นเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำตามพระราชกำหนดนี้ มาตรา ๑๗๓ บรรดาประทานบัตร อาชญาบัตร การอนุญาต หรือใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามกฎหมายว่าด้วยการประมงก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน มาตรา ๑๗๔ ผู้ใดทำการประมงโดยใช้เรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงสิบห้าตันกรอสและได้จดทะเบียนเป็นเรือสำหรับการประมง และได้รับอาชญาบัตรอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ อธิบดีจะอนุญาตให้ทำการประมงพื้นบ้านต่อไปจนกว่าจะเลิกทำการประมงก็ได้ มาตรา ๑๗๕ ผู้ใดทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามพระราชกำหนดนี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้วให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาต มาตรา ๑๗๖ ให้กรมประมงจัดให้มีการขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อัตราค่าอากร ใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทำการประมงตามประเภทเครื่องมือทำการประมง (๑) ประเภทเครื่องมืออวนลาก เมตรละ ๕๐๐ บาท (๒) ประเภทเครื่องมืออวนล้อมจับ เมตรละ ๒๐ บาท (๓) ประเภทเครื่องมืออวนช้อน อวนยก หรืออวนครอบ เมตรละ ๓๐ บาท (๔) ประเภทเครื่องมืออวนติดตาหรือข่าย เมตรละ ๒ บาท (๕) ประเภทเครื่องมืออวนอื่น เมตรละ ๑๐ บาท (๖) ประเภทเครื่องมือคราด อันละ ๓,๔๐๐ บาท (๗) ประเภทเครื่องมือโป๊ะ ลูกละ ๔,๐๐๐ บาท (๘) ประเภทเครื่องมือลอบ ลูกละ ๒๐ บาท (๙) ยอขันช่อ ช้อนขันช่อ ช้อนสนั่น หรือช้อนหางเหยี่ยวมีเครื่องยก ปากละ ๖๐๐ บาท (๑๐) ช้อนปีก ยอปีก หรือบาม ปากละ ๘๐๐ บาท (๑๑) ช้อนอื่นนอกจาก (๙) และ (๑๐) ที่มีปากกว้าง ตั้งแต่ ๓.๕ เมตรขึ้นไป ปากละ ๒๐๐ บาท (๑๒) เบ็ดราวยาวตั้งแต่ ๑๐๐ เมตรขึ้นไป สายละ ๘๐ บาท (๑๓) แหยาวตั้งแต่สามเมตรขึ้นไป ปากละ ๒๐๐ บาท (๑๔) ประเภทเครื่องมืออื่น ๆ หน่วยละ ๑,๐๐๐ บาท อัตราค่าธรรมเนียม (๑) ใบอนุญาตทำการประมง ฉบับละ ๑๐,๐๐๐ บาท (๒) ใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ ของแผ่นดิน ตารางเมตรละ ๕ บาท (๓) ใบอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน สัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ฉบับละ ๕๐๐ บาท (๔)[๕๖] การจดทะเบียนเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ ฉบับละ ๑๐,๐๐๐ บาท (๕) ใบอนุญาตให้ทำงานในเรือประมง ฉบับละ ๕๐๐ บาท (๖) ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ ๑๐๐ บาท (๗) การโอนใบอนุญาต ฉบับละ ๑๐๐ บาท (๘) การต่ออายุใบอนุญาต ครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมใบอนุญาต หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ยังขาดมาตรการในการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำการประมงในน่านน้ำไทยและนอกน่านน้ำไทย เพื่อป้องกันมิให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งยังขาดการบริหารจัดการการทำการประมงให้สอดคล้องกับการผลิตสูงสุดของธรรมชาติเพื่อให้สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน และหากไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนอาจมีผลกระทบต่อการประมงของประเทศไทย ดังนั้น เพื่อเพิ่มมาตรการในการควบคุม เฝ้าระวัง สืบค้น และตรวจสอบการประมง อันเป็นการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และกำหนดแนวทางในการอนุรักษ์และบริหารจัดการแหล่งทรัพยากรประมงและสัตว์น้ำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน และโดยที่การดำเนินการดังกล่าวต้องกระทำให้แล้วเสร็จโดยรวดเร็วเพื่อมิให้กระทบต่อการส่งออกสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของประเทศไทยซึ่งเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ พระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐[๕๗] มาตรา ๒ พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๕๖ บรรดากฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งที่ได้ออกตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชกำหนดนี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ มาตรา ๕๗ บรรดาคำขออนุญาต คำขอรับใบอนุญาต คำขอโอนใบอนุญาต และคำขอจดทะเบียนเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเรือเก็บรักษาสัตว์น้ำ ที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาให้ถือว่าเป็นคำขออนุญาต คำขอรับใบอนุญาต คำขอโอนใบอนุญาต และคำขอจดทะเบียนตามพระราชกำหนดนี้โดยอนุโลม และให้พิจารณาดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดนี้ มาตรา ๕๘ บรรดาการอนุญาต ใบอนุญาต หรือใบทะเบียนเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเรือเก็บรักษาสัตว์น้ำที่ได้ออกให้ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับให้ยังคงใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน มาตรา ๕๙ บรรดามาตรการทางปกครองซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการมาตรการทางปกครองตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๒/๒๕๖๐ เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ ๔ ลงวันที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ ในวันที่พระราชกำหนดนี้มีผลใช้บังคับ ให้คณะกรรมการตามคำสั่งดังกล่าวพิจารณาต่อไปจนกว่าคณะกรรมการมาตรการทางปกครองตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้เข้ารับหน้าที่ มาตรา ๖๐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชกำหนดนี้ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ มีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสภาพการทำการประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ การกำหนดหลักเกณฑ์ในการควบคุมและเฝ้าระวังการทำการประมงและการขนถ่ายสัตว์น้ำ การนำเข้าสัตว์น้ำ และการแจ้งข้อมูลการเข้าเทียบท่าของเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยยังไม่เพียงพอในการป้องกันมิให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับมาตรการอนุรักษ์และบริหารจัดการ การดำเนินการกับเรือประมง เครื่องมือทำการประมง และสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ใช้ มีไว้ หรือได้มาจากการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมาตรการในการคุ้มครองแรงงานในภาคการประมงยังไม่เหมาะสม สมควรปรับปรุงบทบัญญัติดังกล่าวซึ่งมีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม และสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งได้กำหนดให้มีคณะกรรมการมาตรการทางปกครอง ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเนื่องจากความผิดตามที่กำหนดไว้มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาและการบังคับใช้มาตรการทางปกครองเป็นไปด้วยความรอบคอบ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ และสมควรกำหนดหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และปรับปรุงบทกำหนดโทษให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยมีความจำเป็นต้องใช้โทษปรับทางอาญาในการป้องกัน ระงับ และยับยั้งการกระทำความผิดเนื่องจากเป็นความผิดร้ายแรงที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางทรัพยากรสัตว์น้ำ และการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ ปริยานุช/ปุณิกา/จัดทำ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ พจนา/ตรวจ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ นุสรา/เพิ่มเติม ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๐ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๑๐๘ ก/หน้า ๑/๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ [๒] มาตรา ๕ นิยามคำว่า “ประมงพาณิชย์” แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๓] มาตรา ๕ นิยามคำว่า “เรือประมง” แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๔] มาตรา ๕ นิยามคำว่า “เรือขนถ่ายสัตว์น้ำ” เพิ่มโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๕] มาตรา ๕ นิยามคำว่า “เรือไร้สัญชาติ” แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๖] มาตรา ๕ นิยามคำว่า “โรงงาน” เพิ่มโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๗] มาตรา ๑๐/๑ เพิ่มโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๘] มาตรา ๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๙] มาตรา ๑๑/๑ เพิ่มโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๑๐] มาตรา ๓๒ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๑๑] มาตรา ๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๑๒] มาตรา ๓๕ ยกเลิกโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๑๓] มาตรา ๓๖ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๑๔] มาตรา ๔๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๑๕] มาตรา ๔๖ วรรคสาม เพิ่มโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๑๖] มาตรา ๕๘ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๑๗] มาตรา ๖๕ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๑๘] มาตรา ๖๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๑๙] มาตรา ๗๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๒๐] มาตรา ๘๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๒๑] มาตรา ๘๓/๑ เพิ่มโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๒๒] มาตรา ๘๕/๑ เพิ่มโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๒๓] มาตรา ๘๖ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๒๔] มาตรา ๘๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๒๕] มาตรา ๘๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๒๖] มาตรา ๘๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๒๗] มาตรา ๘๙/๑ เพิ่มโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๒๘] มาตรา ๙๐ (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๒๙] มาตรา ๙๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๓๐] มาตรา ๙๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๓๑] มาตรา ๑๐๓ วรรคสาม เพิ่มโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๓๒] มาตรา ๑๐๕ วรรคสอง เพิ่มโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๓๓] มาตรา ๑๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๓๔] มาตรา ๑๑๒/๑ เพิ่มโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๓๕] มาตรา ๑๑๒/๒ เพิ่มโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๓๖] มาตรา ๑๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๓๗] มาตรา ๑๑๔ (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๓๘] มาตรา ๑๑๔ (๖) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๓๙] มาตรา ๑๑๕ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๔๐] มาตรา ๑๑๕/๑ เพิ่มโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๔๑] มาตรา ๑๑๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๔๒] มาตรา ๑๒๓/๑ เพิ่มโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๔๓] มาตรา ๑๒๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๔๔] มาตรา ๑๒๕/๑ เพิ่มโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๔๕] มาตรา ๑๒๘ ยกเลิกโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๔๖] มาตรา ๑๓๕ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๔๗] มาตรา ๑๕๑ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๔๘] มาตรา ๑๕๒ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๔๙] มาตรา ๑๕๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๕๐] มาตรา ๑๕๕ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๕๑] มาตรา ๑๕๕/๑ เพิ่มโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๕๒] มาตรา ๑๖๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๕๓] มาตรา ๑๖๒/๑ เพิ่มโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๕๔] มาตรา ๑๖๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๕๕] มาตรา ๑๖๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๕๖] อัตราค่าธรรมเนียม (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๕๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๖๗ ก/หน้า ๑/๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๐
780429
พระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560
พระราชกำหนด พระราชกำหนด การประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการประมง พระราชกำหนดนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๓๗ มาตรา ๔๐ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชกำหนดนี้ เพื่อป้องกันมิให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสมและสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดำรงอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม ซึ่งการตราพระราชกำหนดนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐” มาตรา ๒[๑] พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “ประมงพาณิชย์” ในมาตรา ๕ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน ““ประมงพาณิชย์” หมายความว่า การทำการประมงโดยใช้เรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป หรือที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าถึงขนาดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือใช้เรือประมงโดยมีหรือใช้เครื่องมือทำการประมงตามประเภท วิธี จำนวนแรงงานที่ใช้ หรือลักษณะการทำการประมงตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และให้หมายความรวมถึงการใช้เรือประมงดังกล่าวทำการแปรรูปสัตว์น้ำไม่ว่าจะมีการทำการประมงด้วยหรือไม่ก็ตาม” มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “เรือประมง” ในมาตรา ๕ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน ““เรือประมง” หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำทุกขนาดที่ใช้หรือเจตนาจะใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงยานพาหนะทางน้ำที่ใช้สนับสนุนเรือที่ใช้ทำการประมง ขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือแปรรูปสัตว์น้ำ” มาตรา ๕ ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “เรือขนถ่ายสัตว์น้ำ” ระหว่างบทนิยามคำว่า “เรือประมง” และคำว่า “เรือประมงไทย” ในมาตรา ๕ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ““เรือขนถ่ายสัตว์น้ำ” หมายความว่า เรือประมงที่ใช้ทำการขนถ่ายสัตว์น้ำ ขนส่งสัตว์น้ำ แปรรูปสัตว์น้ำ หรือเก็บรักษาสัตว์น้ำเป็นการเฉพาะ” มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “เรือไร้สัญชาติ” ในมาตรา ๕ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน ““เรือไร้สัญชาติ” หมายความว่า เรือที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือเรือที่มีตั้งแต่สองสัญชาติขึ้นไป หรือเรือที่เปลี่ยนธงในระหว่างการเดินเรือ แต่ไม่รวมถึงเรือของผู้มีสัญชาติไทยที่ทำการประมงพื้นบ้านหรือประมงน้ำจืดซึ่งมีขนาดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด” มาตรา ๗ ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “โรงงาน” ระหว่างบทนิยามคำว่า “คนประจำเรือ” และคำว่า “นำเข้า” ในมาตรา ๕ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ““โรงงาน” หมายความว่า อาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ห้าแรงม้าหรือกำลังเทียบเท่าตั้งแต่ห้าแรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่เจ็ดคนขึ้นไปโดยใช้เครื่องจักรหรือไม่ก็ตาม สำหรับบรรจุ แปรรูป เก็บรักษาสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำที่แปรรูปแล้วหรือที่ยังมิได้แปรรูปมาบรรจุหีบห่อ แต่ไม่รวมถึงเรือประมง เรือบรรทุกสินค้า และกิจการแพปลาตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบกิจการแพปลา” มาตรา ๘ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๐/๑ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ “มาตรา ๑๐/๑ ผู้ใดจะประกอบกิจการโรงงานต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนดำเนินการประกอบกิจการโรงงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด เว้นแต่ได้แจ้งหรือรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานแล้ว เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ออกหนังสือรับแจ้งให้ผู้แจ้งภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง” มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๑ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๑ ห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานจ้างหรือยินยอมให้คนต่างด้าวที่ไม่ได้รับใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวเข้าทำงานในโรงงาน ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พบว่ามีการฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการมาตรการทางปกครองมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานไม่น้อยกว่าสิบวันแต่ไม่เกินยี่สิบวัน เว้นแต่ในกรณีที่คนต่างด้าวนั้นได้รับใบอนุญาตทำงานมาก่อนและอยู่ในระหว่างดำเนินการต่ออายุ หรือแก้ไขรายการเกี่ยวกับประเภทงานหรือนายจ้าง ให้อธิบดีแจ้งให้อธิบดีกรมการจัดหางานเพื่อดำเนินการต่ออายุหรือแก้ไขรายการให้ถูกต้องโดยเร็ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำตัวคนต่างด้าวตามวรรคหนึ่งส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวหรือตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ถูกสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานมีการฝ่าฝืนวรรคหนึ่งอีกเป็นครั้งที่สอง ภายในสามปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงาน ให้คณะกรรมการมาตรการทางปกครองมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานไม่น้อยกว่าสิบห้าวันแต่ไม่เกินสามสิบวัน ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ถูกสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานมีการฝ่าฝืนวรรคหนึ่งอีกเป็นครั้งที่สาม ภายในสามปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานครั้งที่หนึ่ง ให้คณะกรรมการมาตรการทางปกครองมีคำสั่งปิดโรงงาน ห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ถูกสั่งปิดโรงงานตามวรรคห้าประกอบกิจการโรงงาน ไม่ว่าจะมีใบรับแจ้งหรือใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานหรือไม่ก็ตาม และห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานออกใบรับแจ้งหรือใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้แก่บุคคลดังกล่าวเพื่อประกอบกิจการโรงงานตามพระราชกำหนดนี้อีกภายในสิบปีนับแต่วันถูกสั่งปิดโรงงาน เมื่อมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานหรือปิดโรงงาน ให้กรมประมงแจ้งให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมทราบ” มาตรา ๑๐ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๑/๑ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ “มาตรา ๑๑/๑ ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานกระทำความผิดตามมาตรา ๔๔ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ให้คณะกรรมการมาตรการทางปกครองมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานไม่น้อยกว่าสิบวันแต่ไม่เกินยี่สิบวัน ในกรณีพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ถูกสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานกระทำความผิดอีกเป็นครั้งที่สองหรือครั้งที่สาม ภายในสามปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงาน ให้คณะกรรมการมาตรการทางปกครองมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานหรือปิดโรงงาน โดยให้นำมาตรา ๑๑ วรรคสี่ วรรคห้า วรรคหก และวรรคเจ็ด มาใช้บังคับโดยอนุโลม” มาตรา ๑๑ ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๓๒ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “การออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุจำนวนและประเภทเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมง พื้นที่การทำการประมง หรือเงื่อนไขอื่นใดที่จำเป็น เพื่อให้สอดคล้องกับแผนบริหารจัดการการประมง และในกรณีเป็นการทำการประมงโดยใช้เรือประมงให้ออกให้แก่เจ้าของเรือประมงและสำหรับเรือประมงแต่ละลำ โดยจะออกใบอนุญาตให้แก่บุคคลใดเกินจำนวนที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดมิได้” มาตรา ๑๒ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๔ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๓๔ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ในการอนุญาตดังกล่าว อธิบดีจะประกาศอนุญาตให้เป็นการทั่วไปก็ได้ โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่งด้วยก็ได้” มาตรา ๑๓ ให้ยกเลิกมาตรา ๓๕ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๑๔ ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๓๖ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “การออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ออกสำหรับเรือประมงแต่ละลำ และในใบอนุญาตต้องระบุจำนวนและประเภทเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมง พื้นที่การทำการประมง ปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่อนุญาตให้ทำการประมง หรือห้วงเวลาที่กำหนดให้ทำ การประมงได้ ให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการทำการประมง และปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงอย่างยั่งยืนที่กำหนดไว้ในแผนบริหารจัดการการประมง โดยจะออกใบอนุญาตให้แก่บุคคลใดเกินจำนวนที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดมิได้” มาตรา ๑๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๔ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๔๔ ใบอนุญาตทำการประมงตามมาตรา ๓๒ และมาตรา ๓๖ ให้โอนกันได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ขอรับโอนใบอนุญาตต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๙ (๒) กรณีเรือประมงที่จะขอรับโอนใบอนุญาตเคยถูกใช้ในการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประมง ผู้ขอรับโอนใบอนุญาตต้องมีหลักฐานแสดงว่าเจ้าของเรือ ผู้ควบคุมเรือ หรือผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงของเรือที่ใช้ในการกระทำความผิดไม่มีผลประโยชน์ได้เสียทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือมีอำนาจควบคุมเรือประมงดังกล่าวอีกต่อไป (๓) เรือประมงที่จะขอรับโอนใบอนุญาตต้องไม่อยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดี (๔) ผู้ขอรับโอนใบอนุญาตต้องมีหลักฐานแสดงว่ามีกรรมสิทธิ์ในเรือที่ระบุไว้ในใบอนุญาตทำการประมงมาแสดง หรือตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง ในการโอนใบอนุญาต ให้อธิบดีออกใบอนุญาตใหม่แทนใบอนุญาตเดิมภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ ใบอนุญาตที่ออกให้ใหม่ดังกล่าวให้กำหนดเงื่อนไขเช่นเดียวกับใบอนุญาตเดิม และเมื่อได้ออกใบอนุญาตให้ใหม่แล้ว ให้ใบอนุญาตเดิมเป็นอันใช้ไม่ได้ เมื่อได้รับอนุญาตแล้วให้ผู้รับโอนมีสิทธิและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต” มาตรา ๑๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา ๔๖ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ “ในระหว่างเวลาที่รัฐมนตรีประกาศให้งดการออกใบอนุญาตทำการประมง หรือเมื่อเรือประมงมีจำนวนสูงหรือเท่ากับจำนวนเรือประมงสูงสุดที่จะพึงมีที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๔๕ และมีกรณีตาม (๑) ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตามวรรคหนึ่งประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป และให้งดรับคำขอจดทะเบียนเรือประมงจนกว่าจะได้รับแจ้งจากรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี ให้รับจดทะเบียนเรือประมงต่อไปได้ สำหรับคำขอที่ได้รับไว้แล้วแต่ยังมิได้จดทะเบียนเรือ ให้คืนคำขอพร้อมด้วยค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมที่ได้รับชำระไว้ให้แก่ผู้ยื่นคำขอ” มาตรา ๑๗ ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๕๘ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การกระทำตาม (๒) เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยหรือการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำซึ่งกระทำโดยทางราชการ และได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายแล้ว โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายกำหนด หรือการกระทำอันจำเป็นโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ของทางราชการทหาร” มาตรา ๑๘ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๖๕ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๖๕ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์นํ้าที่หายาก หรือป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดห้ามการนำเข้า ส่งออก นำผ่าน เพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำบางชนิดได้” มาตรา ๑๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๗ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๖๗ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้ซึ่งเครื่องมือทำการประมงดังต่อไปนี้ (๑) เครื่องมือโพงพาง รั้วไซมานหรือกั้นซู่รั้วไซมาน เครื่องมือลี่ หรือเครื่องมืออื่นที่มีลักษณะและวิธีการคล้ายคลึงกัน (๒) เครื่องมือลอบพับได้หรือไอ้โง่ ที่มีช่องทางเข้าของสัตว์น้ำสลับซ้ายขวาอยู่ทางด้านข้างใช้สำหรับดักสัตว์น้ำ (๓) เครื่องมืออวนลากที่มีช่องตาอวนก้นถุงเล็กกว่าขนาดที่อธิบดีประกาศกำหนด (๔) เครื่องมืออวนรุนที่ใช้ติดกับเรือยนต์ เว้นแต่เป็นอวนรุนเคย ความในวรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) มิให้ใช้บังคับแก่การศึกษาวิจัยซึ่งกระทำโดยทางราชการ เพื่อประโยชน์ในการหาขนาดช่องตาอวนที่เหมาะสมที่ประชาชนพึงใช้ได้และได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายแล้ว ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ทำการประมงพื้นบ้านหรือประมงน้ำจืดที่ได้รับอนุญาตผ่อนผันให้ใช้เครื่องมือทำการประมงตามรูปแบบของเครื่องมือ ขนาดเรือ วิธีการทำการประมง พื้นที่ทำการประมง และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด การขออนุญาตผ่อนผัน การอนุญาต ระยะเวลาการผ่อนผันให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด” มาตรา ๒๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗๐ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๗๐ ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงในพื้นที่และในระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่หรือวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน หรือระยะเวลาอื่นใดที่จำเป็นต่อการคุ้มครองสัตว์น้ำตามที่อธิบดีประกาศกำหนด เว้นแต่จะใช้เครื่องมือ วิธีการทำการประมง และปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นบรรดาที่อธิบดีกำหนด อำนาจตามวรรคหนึ่ง อธิบดีจะมอบหมายเป็นหนังสือให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเป็นผู้กำหนดก็ได้” มาตรา ๒๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๘๑ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๘๑ เจ้าของเรือที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทยประเภทการใช้ทำการประมงและมีขนาดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) ติดตั้งระบบติดตามเรือประมง และดูแลรักษาให้ระบบดังกล่าวสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด (๒) จัดทำสมุดบันทึกการทำการประมง ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย วันที่เข้าออกท่าเทียบเรือประมง ประเภทของเครื่องมือที่ใช้ทำการประมง พื้นที่ในการทำการประมงและตำแหน่งเรือในขณะจับสัตว์น้ำ จุดจอดเรือ ประเภทและปริมาณของสัตว์น้ำที่จับได้หรือการเททิ้งสัตว์น้ำ การขนถ่ายสัตว์น้ำ การนำสัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือประมง ซึ่งต้องรับรองความถูกต้องโดยผู้ควบคุมเรือและต้องส่งรายงานให้กรมประมงทราบ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) แจ้งการเข้าออกท่าเทียบเรือประมงทุกครั้ง ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด และในกรณีเข้าเทียบท่าเพื่อขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือประมง ต้องส่งมอบสำเนาสมุดบันทึกการทำการประมง และเอกสารหลักฐานอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนดด้วย (๔) จัดทำเครื่องหมายประจำเรือประมงตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด (๕) กลับเข้าท่าเทียบเรือประมงตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด” มาตรา ๒๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๘๓/๑ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ “มาตรา ๘๓/๑ ห้ามมิให้เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือรับคนประจำเรือของเรือลำอื่นมาทำงานระหว่างนำเรือประมงออกไปทำการประมงในทะเล เว้นแต่มีเหตุอันจำเป็นเพื่อความปลอดภัย และได้แจ้งต่อศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงหลังจากมีการรับคนประจำเรือ” มาตรา ๒๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๘๕/๑ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ “มาตรา ๘๕/๑ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เรือประมงขนถ่ายสัตว์น้ำ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๙ มาใช้บังคับแก่การจดทะเบียนเรือขนถ่ายสัตว์น้ำด้วยโดยอนุโลม” มาตรา ๒๔ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๘๖ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๘๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๘๗ ห้ามมิให้เรือประมงที่ทำการประมงพาณิชย์ขนถ่ายสัตว์น้ำออกจากเรือประมง ยกเว้นการขนถ่ายไปยังเรือที่ได้จดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำ หรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่า ณ สถานที่อื่นใดนอกจากท่าเทียบเรือประมงตามมาตรา ๘๔ หรือสถานที่ที่เป็นกิจการแพปลาตามที่อธิบดีประกาศกำหนด” มาตรา ๒๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๘๗ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๘๗ ห้ามมิให้มีการขนถ่ายสัตว์น้ำในทะเล เว้นแต่เป็นการขนถ่ายไปยังเรือที่ได้จดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ โดยเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือที่ทำการประมงต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรหรือช่องทางอื่นทำนองเดียวกันจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนดำเนินการขนถ่ายสัตว์น้ำ และต้องรายงานการขนถ่ายสัตว์น้ำซึ่งรับรองความถูกต้องโดยผู้ควบคุมเรือขนถ่ายสัตว์น้ำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หลังการดำเนินการขนถ่ายสัตว์น้ำ หลักเกณฑ์และระยะเวลาในการขออนุญาต การอนุญาต และการรายงานการขนถ่ายสัตว์น้ำให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด เพื่อประโยชน์ในการป้องกันการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดห้ามมิให้มีการขนถ่ายสัตว์น้ำ โดยจะกำหนดตามประเภทหรือขนาดของเรือ พื้นที่ หรือระยะเวลาที่ห้ามทำการขนถ่ายสัตว์น้ำก็ได้” มาตรา ๒๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๘๘ และมาตรา ๘๙ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๘๘ เจ้าของเรือขนถ่ายสัตว์น้ำที่มีขนาดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) ติดตั้งระบบติดตามเรือประมง และดูแลรักษาให้ระบบดังกล่าวสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด (๒) จัดทำหนังสือกำกับการขนถ่ายสัตว์น้ำซึ่งรับรองความถูกต้องโดยผู้ควบคุมเรือ และรายงานให้กรมประมงทราบตามระยะเวลาและโดยวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) แจ้งการเข้าออกท่าเทียบเรือประมงทุกครั้ง ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด (๔) ต้องได้รับอนุมัติแผนการขนถ่ายสัตว์น้ำจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนออกไปทำการขนถ่ายสัตว์น้ำ และต้องรายงานการขนถ่ายสัตว์น้ำซึ่งรับรองความถูกต้องโดยผู้ควบคุมเรือขนถ่ายสัตว์น้ำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หลังการดำเนินการขนถ่ายสัตว์น้ำ ตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด (๕) การขนถ่ายสัตว์น้ำนอกน่านน้ำไทย ต้องมีผู้สังเกตการณ์ประจำอยู่ในเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ ตามหลักเกณฑ์ของรัฐชายฝั่งหรือขององค์การระหว่างประเทศที่มีเขตอำนาจเหนือพื้นที่ที่ตนเข้าไปทำการขนถ่ายสัตว์น้ำกำหนด หรือตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด (๖) กลับเข้าท่าเทียบเรือประมงตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด (๗) จัดทำเครื่องหมายประจำเรือขนถ่ายสัตว์น้ำตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๘๙ เรือที่ได้จดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ นอกจากต้องปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้แล้ว ในกรณีที่เป็นการขนถ่ายสัตว์น้ำในทะเลที่อยู่ในเขตของรัฐชายฝั่งใดต้องปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบของรัฐชายฝั่งนั้น และในกรณีที่เป็นการขนถ่ายสัตว์น้ำในทะเลหลวงต้องปฏิบัติตามกฎ หรือระเบียบขององค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง” มาตรา ๒๗ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๘๙/๑ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ “มาตรา ๘๙/๑ เพื่อประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวังการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้เจ้าของเรือประมงที่ใช้สนับสนุนเรือที่ใช้ทำการประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำปฏิบัติได้ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมมาตรฐานการติดตั้ง การรับส่งและการจัดเก็บข้อมูล และการรักษาความมั่นคงของระบบติดตามเรือประมง ให้อธิบดีมีอำนาจออกประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ให้บริการระบบติดตามเรือปฏิบัติได้” มาตรา ๒๘ ให้ยกเลิกความใน (๒) ของมาตรา ๙๐ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๒) เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือขนถ่ายสัตว์น้ำต้องจัดทำหนังสือกำกับการขนถ่ายสัตว์น้ำ และส่งรายงานให้กรมประมงตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๘ (๒)” มาตรา ๒๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙๕ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๙๕ เรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยที่ประสงค์จะนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเข้ามาในราชอาณาจักร จะต้องแจ้งล่วงหน้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด แต่รัฐมนตรีจะประกาศกำหนดให้แจ้งล่วงหน้าเกินเก้าสิบหกชั่วโมงก่อนเวลาที่เรือประมงจะเดินทางถึงท่าเทียบเรือไม่ได้ โดยเรือประมงดังกล่าวต้องแจ้งข้อมูล และเข้าเทียบท่าตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลตามวรรคหนึ่งและแจ้งให้ผู้ควบคุมเรือทราบภายในระยะเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดซึ่งต้องไม่ช้ากว่ายี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้รับแจ้งหรือก่อนเวลาที่เรือจะเข้ามาในราชอาณาจักรสุดแต่เวลาใดจะเร็วกว่า เรือประมงที่ได้แจ้งตามวรรคหนึ่งแล้วแต่มิได้รับแจ้งจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคสอง ให้ถือว่าได้รับอนุญาตให้เข้าเทียบท่าได้ ในกรณีที่เรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเรือประมงดังกล่าวได้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเกี่ยวข้องกับการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่อาจปฏิเสธการเข้าเทียบท่า หรือจะอนุญาตให้เข้าเทียบท่าได้ เฉพาะในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุฉุกเฉินเพื่อความปลอดภัยของคนประจำเรือหรือตัวเรือประมง หรือเพื่อการตรวจสอบเรือและการดำเนินการอื่นใดเพื่อป้องกันและปราบปรามการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการปฏิเสธการเข้าเทียบท่า ความในวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ ให้ใช้บังคับแก่เรือประมงที่มิได้นำสัตว์น้ำ หรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเข้ามาในราชอาณาจักรแต่ประสงค์จะเข้ามาในราชอาณาจักรด้วยโดยอนุโลม” มาตรา ๓๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙๖ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๙๖ เมื่อเรือประมงได้รับอนุญาตให้เทียบท่าตามมาตรา ๙๕ และเทียบท่าแล้ว ให้ยื่นคำขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นจากเรือประมงได้ ใบอนุญาตดังกล่าวให้ถือว่าเป็นใบอนุญาตที่ออกให้ตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์และกฎหมายอื่นใดที่กำหนดให้การนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำต้องได้รับอนุญาต ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่อนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือจะพิสูจน์ได้ว่า (๑) เรือประมงนั้นมีใบอนุญาตให้ทำการประมงหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประมงซึ่งออกโดยรัฐเจ้าของธงหรือรัฐชายฝั่ง (๒) มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่ามิได้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (๓) เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือทำหนังสือรับรองว่ารัฐเจ้าของธงจะยืนยันในเวลาอันสมควรว่าสัตว์น้ำที่จับได้นั้นเป็นไปตามข้อบังคับขององค์การระหว่างประเทศ ในกรณีที่เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือไม่อาจพิสูจน์ได้ตามวรรคสอง ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้เรือประมงนั้นออกจากราชอาณาจักรได้ภายในเวลาที่กำหนด และแจ้งให้รัฐเจ้าของธง หรือประเทศอื่นที่เกี่ยวข้อง และองค์การระหว่างประเทศเพื่อทราบ ในกรณีที่เรือประมงนั้นไม่ออกนอกราชอาณาจักรภายในเวลาที่กำหนด หรือมีหลักฐานชัดแจ้งว่าเรือนั้นได้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกรณีเป็นเรือไร้สัญชาติ ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ยึดเรือประมงและทรัพย์สินในเรือประมงนั้นออกขายทอดตลาดหรือทำลายได้ เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเมื่อได้หักค่าใช้จ่ายในการขายและค่าใช้จ่ายอื่นแล้ว ให้กรมประมงยึดไว้จนกว่าเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือสามารถพิสูจน์ได้ตามวรรคสอง ในกรณีที่เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือไม่สามารถพิสูจน์ได้ภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ขายทอดตลาด เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้ตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและสั่งให้เรือนั้นออกจากราชอาณาจักร ถ้าเรือนั้นออกจากราชอาณาจักรภายในเวลาที่กำหนด หรือในกรณีที่อธิบดีสั่งทำลายสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำตามวรรคสามหรือนำไปดำเนินการเพื่อจ่ายแจกตามวรรคห้า มิให้ถือว่าได้มีการนำหรือเคยนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ในการขายทอดตลาดตามวรรคสาม มิให้นำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำออกขายทอดตลาดด้วย โดยให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ทำลายสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำดังกล่าว หรือนำไปดำเนินการเพื่อจ่ายแจกให้แก่ผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสโดยไม่คิดราคา เรือประมงที่ไม่อาจแสดงหลักฐานตามวรรคสองได้ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่าได้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก่อนเข้าเทียบท่า พนักงานเจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้รับบริการเติมเชื้อเพลิง และเสบียง หรือซ่อมบำรุง ตามความจำเป็นก็ได้” มาตรา ๓๑ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา ๑๐๓ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ “ในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวบุคคลซึ่งติดตั้งเครื่องมือทำการประมง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งใด ๆ ลงในที่จับสัตว์น้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจรื้อถอนได้ เมื่อรื้อถอนแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่เก็บรักษาเครื่องมือ หรือวัสดุที่รื้อถอนไว้เป็นเวลาสามสิบวัน ถ้าเจ้าของไม่มาแสดงตนเพื่อขอคืนให้เครื่องมือหรือวัสดุดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจทำลาย ขาย หรือดำเนินการอื่นได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด” มาตรา ๓๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา ๑๐๕ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ “ในการยึดสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำตาม (๒) พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งให้เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือดูแลและเก็บรักษาสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไว้ในเรือหรือในที่อื่นใดเพื่อรักษาสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำให้อยู่ในสภาพเดิมก็ได้ โดยเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แต่เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือมีสิทธิร้องขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นออกขายทอดตลาดได้ ในกรณีเช่นนี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการขายทอดตลาดโดยเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือจะซื้อหรือรับโอนสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นไม่ได้ และผู้ซื้อต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกำหนด เมื่อขายทอดตลาดแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่เก็บรักษาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดภายหลังหักค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาดแล้วไว้แทนสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ยึดไว้” มาตรา ๓๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๑๒ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๑๒ เจ้าของท่าเทียบเรือประมง ผู้ประกอบกิจการแพปลา หรือเจ้าของเรือที่ได้จดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้ กฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบที่ออกตามความในพระราชกำหนดนี้ ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนได้” มาตรา ๓๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น มาตรา ๑๑๒/๑ และมาตรา ๑๑๒/๒ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ “มาตรา ๑๑๒/๑ ให้มีคณะกรรมการมาตรการทางปกครอง ประกอบด้วย อธิบดีกรมประมง เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกรมการจัดหางาน ผู้แทนกรมเจ้าท่า ผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้แทนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ ให้ผู้แทนกรมประมง เป็นกรรมการและเลขานุการ ให้คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณาและกำหนดมาตรการทางปกครองตามมาตรา ๑๑ มาตรา ๑๑/๑ และมาตรา ๑๑๓ มาตรา ๑๑๒/๒ การประชุมคณะกรรมการมาตรการทางปกครอง ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่ง เป็นประธานในที่ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุม ให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด” มาตรา ๓๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๑๓ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๑๓ ผู้ใดทำการประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการมาตรการทางปกครองมีอำนาจสั่ง ดังต่อไปนี้ (๑) ยึดสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงนั้นหรือเครื่องมือทำการประมง (๒) ห้ามทำการประมงจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง (๓) สั่งพักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดครั้งละไม่เกินเก้าสิบวัน โดยจะสั่งห้ามมิให้ใช้เรือประมงนั้นจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาการพักใช้ใบอนุญาตด้วยก็ได้ (๔) เพิกถอนใบอนุญาต และประกาศให้เรือประมงนั้นเป็นเรือที่ใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (๕) กักเรือประมง การสั่งยึดเครื่องมือทำการประมงตาม (๑) หรือกักเรือประมงตาม (๕) เจ้าของเรือจะวางประกันแทนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนดก็ได้ แต่ถ้ามีการนำเครื่องมือทำการประมงหรือเรือประมงนั้นไปใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอีก ให้เงินประกันนั้นตกเป็นของแผ่นดิน และจะขอวางเงินประกันแทนอีกไม่ได้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๐๕ วรรคสอง มาใช้บังคับแก่การสั่งยึดสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ตาม (๑) ด้วยโดยอนุโลม การสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการมาตรการทางปกครองคำนึงถึงสภาพความร้ายแรงแห่งความผิด การกระทำผิดซ้ำ และการป้องกันมิให้ผู้กระทำผิดกระทำความผิดซ้ำอีก” มาตรา ๓๖ ให้ยกเลิกความใน (๒) ของมาตรา ๑๑๔ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๒) ทำการประมงโดยไม่มีใบอนุญาตทำการประมงหรือไม่มีใบอนุญาตใช้เครื่องมือทำการประมงตามมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๖ หรือมาตรา ๔๘” มาตรา ๓๗ ให้ยกเลิกความใน (๖) ของมาตรา ๑๑๔ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๖) ดัดแปลงเครื่องมือทำการประมงตามมาตรา ๔๒ ทำการประมงผิดไปจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตตามมาตรา ๔๓ หรือใช้เครื่องมือทำการประมงที่ต้องห้ามตามมาตรา ๖๗ มาตรา ๖๘ มาตรา ๖๙ หรือมาตรา ๗๑ (๑)” มาตรา ๓๘ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๑๕ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๑๕ ผู้รับอนุญาตผู้ใดไม่เห็นด้วยกับคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือระงับการอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๑๑๑ หรือการเพิกถอนทะเบียนตามมาตรา ๑๑๒ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อบุคคล ดังต่อไปนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง (๑) ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ออกคำสั่ง ให้อุทธรณ์ต่ออธิบดี (๒) ในกรณีที่อธิบดีเป็นผู้ออกคำสั่ง ให้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี” มาตรา ๓๙ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๑๕/๑ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ “มาตรา ๑๑๕/๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ กฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบที่ออกตามความในพระราชกำหนดนี้ ให้สันนิษฐานว่าผู้มีหน้าที่ได้กระทำการหรือปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และได้รับความคุ้มครองความปลอดภัยและการช่วยเหลือด้านการเงินและด้านอื่นที่เกี่ยวข้องจากรัฐในกรณีที่ถูกดำเนินคดี ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด” มาตรา ๔๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๑๘ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๑๘ ให้กรมประมงแจ้งบัญชีรายชื่อเรือประมงที่รัฐมนตรีประกาศตามมาตรา ๑๑๖ ที่มิใช่เรือไทย ให้แก่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศทราบ” มาตรา ๔๑ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๒๓/๑ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ “มาตรา ๑๒๓/๑ ผู้ใดประกอบกิจการโรงงานโดยไม่แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบตามมาตรา ๑๐/๑ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท” มาตรา ๔๒ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๒๔ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๒๔ ผู้ประกอบกิจการโรงงานผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๑๑/๑ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่น้อยกว่าสี่แสนบาทแต่ไม่เกินแปดแสนบาทต่อลูกจ้างหรือคนงานที่มีการจ้างงานโดยผิดกฎหมายหนึ่งคน ผู้ใดประกอบกิจการโรงงานอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ วรรคสอง หรือวรรคหก หรือมาตรา ๑๑/๑ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละหนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาทตลอดเวลาที่มีการฝ่าฝืน พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานผู้ใดออกใบรับแจ้งหรือใบรับอนุญาตโดยฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ วรรคหก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” มาตรา ๔๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๒๕/๑ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ “มาตรา ๑๒๕/๑ ผู้ทำการประมงพื้นบ้านผู้ใดทำการประมงโดยใช้เครื่องมือไม่ตรงกับประเภทที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมง ทำการประมงนอกพื้นที่การทำการประมง หรือผิดเงื่อนไขอื่นใดที่กำหนดในใบอนุญาตตามมาตรา ๓๒ หรือมาตรา ๓๔ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับจำนวนสามเท่าของมูลค่าของสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า” มาตรา ๔๔ ให้ยกเลิกมาตรา ๑๒๘ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๔๕ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๓๕ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๓๕ ผู้ใดทำการประมงหรือขนถ่ายสัตว์น้ำโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๘๘ (๕) ต้องระวางโทษปรับหนึ่งล้านบาท” มาตรา ๔๖ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๕๑ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๕๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘๑ (๑) หรือ (๔) หรือมาตรา ๘๘ (๑) หรือ (๗) ต้องระวางโทษปรับสองหมื่นบาท” มาตรา ๔๗ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๕๒ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๕๒ ผู้ใดทำการประมงหรือขนถ่ายสัตว์น้ำโดยมิได้รายงานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๑ (๒) หรือ (๓) มาตรา ๘๒ หรือมาตรา ๘๘ (๒) (๓) หรือ (๔) หรือทำรายงานอันเป็นเท็จ หรือไม่นำเรือกลับเข้าท่าเทียบเรือประมงตามมาตรา ๘๑ (๕) หรือมาตรา ๘๘ (๖) ต้องระวางโทษปรับหนึ่งหมื่นบาท” มาตรา ๔๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๓ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๕๓ เจ้าของเรือประมงผู้ใดใช้คนประจำเรือซึ่งไม่มีหนังสือคนประจำเรือหรือไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๘๓ หรือฝ่าฝืนมาตรา ๘๓/๑ ต้องระวางโทษปรับไม่น้อยกว่าสี่แสนบาทแต่ไม่เกินแปดแสนบาทต่อคนประจำเรือดังกล่าวหนึ่งคน และให้อธิบดีมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมงของเจ้าของเรือประมง และให้อธิบดีกรมเจ้าท่ามีคำสั่งเพิกถอนประกาศนียบัตรนายเรือของผู้ควบคุมเรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยด้วย” มาตรา ๔๙ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๕๕ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๕๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘๕/๑ มาตรา ๘๖ วรรคหนึ่ง มาตรา ๘๗ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๙ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ทำการขนถ่าย แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า” มาตรา ๕๐ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๕๕/๑ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ “มาตรา ๑๕๕/๑ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๘๙/๑ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาท สำหรับเรือขนาดไม่เกินสิบตันกรอส และปรับเพิ่มขึ้นตามขนาดของเรือในส่วนที่เกินสิบตันกรอสขึ้นไป ตันกรอสละหนึ่งหมื่นบาท ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศที่ออกตามความในมาตรา ๘๙/๑ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท และปรับวันละไม่เกินหนึ่งแสนบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม” มาตรา ๕๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๖๒ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๖๒ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ออกตามมาตรา ๑๐๒ (๑) หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๐๒ (๔) มาตรา ๑๐๕ (๒) หรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๐๒ วรรคห้า หรือฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการมาตรการทางปกครองตามมาตรา ๑๑๓ (๒) หรือ (๕) ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาท ในกรณีผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคล ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท ในกรณีการฝ่าฝืนคำสั่งตามมาตรา ๑๐๕ (๒) หรือมาตรา ๑๑๓ (๒) หรือ (๕) เป็นกรณีที่ใช้เรือขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป ให้ปรับเพิ่มขึ้นตามขนาดของเรือในส่วนที่เกินสิบตันกรอสขึ้นไป ตันกรอสละหนึ่งหมื่นบาท” มาตรา ๕๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๖๒/๑ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ “มาตรา ๑๖๒/๑ ผู้ซื้อสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจากการขายทอดตลาดตามมาตรา ๑๐๕ วรรคสอง หรือมาตรา ๑๑๓ วรรคสาม ผู้ใดปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกำหนดต้องระวางโทษปรับเป็นห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ขายทอดตลาด” มาตรา ๕๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๖๖ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๖๖ ผู้สนับสนุนหรือได้รับผลตอบแทนจากการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้กระทำการดังกล่าวเป็นคนประจำเรือ และศาลเห็นว่าเป็นการกระทำไปตามคำสั่งการของเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือ ศาลจะไม่ลงโทษหรือลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้” มาตรา ๕๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๖๙ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๖๙ เครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เรือประมง หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิด และความผิดนั้นเป็นการทำการประมง โดยฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๑๑๔ ให้ริบเสียทั้งสิ้น เว้นแต่เป็นกรณีมีการวางประกันให้ริบเงินประกันแทน ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๖ วรรคห้า มาใช้บังคับแก่สัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ศาลสั่งริบด้วยโดยอนุโลม” มาตรา ๕๕ ให้ยกเลิกความใน (๔) ของอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๔) การจดทะเบียนเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ ฉบับละ ๑๐,๐๐๐ บาท” มาตรา ๕๖ บรรดากฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งที่ได้ออกตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชกำหนดนี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ มาตรา ๕๗ บรรดาคำขออนุญาต คำขอรับใบอนุญาต คำขอโอนใบอนุญาต และคำขอจดทะเบียนเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเรือเก็บรักษาสัตว์น้ำ ที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาให้ถือว่าเป็นคำขออนุญาต คำขอรับใบอนุญาต คำขอโอนใบอนุญาต และคำขอจดทะเบียนตามพระราชกำหนดนี้โดยอนุโลม และให้พิจารณาดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดนี้ มาตรา ๕๘ บรรดาการอนุญาต ใบอนุญาต หรือใบทะเบียนเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเรือเก็บรักษาสัตว์น้ำที่ได้ออกให้ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับให้ยังคงใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน มาตรา ๕๙ บรรดามาตรการทางปกครองซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการมาตรการทางปกครองตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๒/๒๕๖๐ เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ ๔ ลงวันที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ ในวันที่พระราชกำหนดนี้มีผลใช้บังคับ ให้คณะกรรมการตามคำสั่งดังกล่าวพิจารณาต่อไปจนกว่าคณะกรรมการมาตรการทางปกครองตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้เข้ารับหน้าที่ มาตรา ๖๐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชกำหนดนี้ ผู้รับสนองพระราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ มีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสภาพการทำการประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ การกำหนดหลักเกณฑ์ในการควบคุมและเฝ้าระวังการทำการประมงและการขนถ่ายสัตว์น้ำ การนำเข้าสัตว์น้ำ และการแจ้งข้อมูลการเข้าเทียบท่าของเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยยังไม่เพียงพอในการป้องกันมิให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับมาตรการอนุรักษ์และบริหารจัดการ การดำเนินการกับเรือประมง เครื่องมือทำการประมง และสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ใช้ มีไว้ หรือได้มาจากการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมาตรการในการคุ้มครองแรงงานในภาคการประมงยังไม่เหมาะสม สมควรปรับปรุงบทบัญญัติดังกล่าวซึ่งมีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม และสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งได้กำหนดให้มีคณะกรรมการมาตรการทางปกครอง ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเนื่องจากความผิดตามที่กำหนดไว้มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาและการบังคับใช้มาตรการทางปกครองเป็นไปด้วยความรอบคอบ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ และสมควรกำหนดหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และปรับปรุงบทกำหนดโทษให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยมีความจำเป็นต้องใช้โทษปรับทางอาญาในการป้องกัน ระงับ และยับยั้งการกระทำความผิดเนื่องจากเป็นความผิดร้ายแรงที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางทรัพยากรสัตว์น้ำ และการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ ปุณิกา/อัญชลี/จัดทำ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๐ นุสรา/ตรวจ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๐ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๖๗ ก/หน้า ๑/๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๐
740072
พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558
พระราชกำหนด พระราชกำหนด การประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการประมง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘” มาตรา ๒[๑] พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๔ บทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดนี้มุ่งหมายเพื่อการจัดระเบียบการประมงในประเทศไทยและในน่านน้ำทั่วไป เพื่อป้องกันมิให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในภาวะที่เป็นแหล่งอาหารของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน และรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมให้ดำรงอยู่ในสภาพที่เหมาะสมตามแนวทาง กฎเกณฑ์ และมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับนับถือในนานาประเทศ รวมทั้งคุ้มครองสวัสดิภาพของคนประจำเรือ และป้องกันการใช้แรงงานผิดกฎหมายในภาคการประมงภายใต้วัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้ (๑) เพื่อให้การบริหารจัดการด้านการประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลอย่างครบถ้วนและถูกต้อง (๒) เพื่อปกป้องคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนประมงพื้นบ้านและชุมชนประมงท้องถิ่น (๓) เป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ (๔) เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการใช้แรงงานผิดกฎหมายในภาคการประมง (๕) มีการใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดเพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำนำไปสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สอดคล้องกับแนวทางการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และหลักการป้องกันล่วงหน้าเพื่อรักษาหรือฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในระดับที่สามารถก่อให้เกิดผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน (๖) เพื่อป้องกันและขจัดการทำการประมงที่เกินศักย์การผลิตและขีดความสามารถในการทำการประมงส่วนเกิน ตลอดจนควบคุมมิให้การทำการประมงมีผลบั่นทอนความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ (๗) เพื่อบังคับใช้มาตรการตามที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดนี้อย่างเป็นระบบ (๘) ส่งเสริมความร่วมมือกับรัฐอื่น ภาคเอกชน และองค์การระหว่างประเทศ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดนี้ (๙) เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพในการทำงานของแรงงานในภาคการประมง (๑๐) เพื่อสร้างระบบติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำการประมงให้มีประสิทธิภาพ (๑๑) เพื่อให้มีระบบการสืบค้นที่มีประสิทธิภาพและสามารถตรวจสอบที่มาของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำได้ตั้งแต่การทำการประมงไปจนถึงผู้บริโภค (๑๒) กำหนดโทษทางปกครองและโทษทางอาญาให้ได้สัดส่วนและเหมาะสมเพื่อป้องกันการกระทำความผิด มาตรา ๕ ในพระราชกำหนดนี้ “สัตว์น้ำ” หมายความว่า สัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำเป็นปกติ สัตว์จำพวกสะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณน้ำท่วมถึง สัตว์ที่มีการดำรงชีวิตส่วนหนึ่งอยู่ในน้ำ สัตว์ที่มีวงจรชีวิตช่วงหนึ่งที่อาศัยอยู่ในน้ำเฉพาะช่วงชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ รวมทั้งไข่และน้ำเชื้อของสัตว์น้ำ และสาหร่ายทะเล ซาก หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของสัตว์น้ำเหล่านั้น และให้หมายความรวมถึงพันธุ์ไม้น้ำตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และซากหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพันธุ์ไม้น้ำนั้นด้วย “ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ” หมายความว่า ผลิตผลที่ได้จากการแปรรูปสัตว์น้ำหรือที่ใช้สัตว์น้ำเป็นวัตถุดิบ “การแปรรูปสัตว์น้ำ” หมายความว่า การกระทำใด ๆ ที่เป็นการเปลี่ยนสภาพสัตว์น้ำสำหรับใช้เพื่อการอุปโภคหรือบริโภค แต่ไม่รวมถึงการบรรจุหีบห่อสัตว์น้ำโดยไม่มีการเปลี่ยนสภาพของสัตว์น้ำ หรือการเปลี่ยนสภาพสัตว์น้ำเพื่อบริการให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง “การประมง” หมายความว่า การทำการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การดูแลรักษาสัตว์น้ำ การแปรรูปสัตว์น้ำ และหมายความรวมถึงการกระทำใด ๆ ที่เป็นการสนับสนุนการทำการประมง “ทำการประมง” หมายความว่า ค้นหา ล่อ จับ ได้มา หรือเก็บสัตว์น้ำ หรือการกระทำใด ๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อล่อ จับ ได้มา หรือเก็บสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำ “ที่จับสัตว์น้ำ” หมายความว่า ที่ที่มีน้ำขังหรือไหล และหาดทั้งปวงที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งป่าไม้และพื้นดินที่มีนํ้าท่วมตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินของเอกชน รวมทั้งทะเล “ทะเล” หมายความว่า ทะเลชายฝั่ง ทะเลนอกชายฝั่ง ทะเลนอกน่านน้ำไทย และทะเลที่อยู่ในเขตของรัฐชายฝั่งอื่น “น่านน้ำไทย” หมายความว่า น่านน้ำภายใน ทะเลชายฝั่ง และทะเลนอกชายฝั่ง “น่านน้ำภายใน” หมายความว่า ที่จับสัตว์น้ำภายในราชอาณาจักรที่มิใช่ทะเล “ทะเลชายฝั่ง” หมายความว่า ทะเลที่อยู่ในราชอาณาจักรนับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปสามไมล์ทะเล เว้นแต่ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจะออกกฎกระทรวงกำหนดให้เขตทะเลชายฝั่งในบริเวณใดมีระยะนับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปน้อยหรือมากกว่าสามไมล์ทะเลก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งจุดห้าไมล์ทะเลและไม่เกินสิบสองไมล์ทะเล โดยให้มีแผนที่แสดงแนวเขตบริเวณที่กำหนดแนบท้ายกฎกระทรวงด้วย “แนวชายฝั่งทะเล” หมายความว่า แนวที่น้ำทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายฝั่ง ชายเกาะ ตามที่ระบุในแผนที่เดินเรือของกรมอุทกศาสตร์ว่ามีความลึกน้ำศูนย์เมตร หรือแนวขอบนอกของพื้นที่ที่มีการถมทะเล “ทะเลนอกชายฝั่ง” หมายความว่า ทะเลที่อยู่ในราชอาณาจักรที่อยู่พ้นจากทะเลชายฝั่งจนสุดเขตเศรษฐกิจจำเพาะตามประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของราชอาณาจักรไทย หรือสุดเขตไหล่ทวีปที่เป็นสิทธิอธิปไตยของราชอาณาจักรไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ สุดแต่เขตใดจะไกลกว่า “ทะเลนอกน่านน้ำไทย” หมายความว่า ทะเลหลวงที่อยู่พ้นจากทะเลนอกชายฝั่งและหมายความรวมถึงทะเลที่อยู่ในเขตของรัฐชายฝั่ง “ทะเลที่อยู่ในเขตของรัฐชายฝั่ง” หมายความว่า ทะเลที่อยู่ในเขตอำนาจของรัฐชายฝั่ง หรือที่รัฐชายฝั่งมีสิทธิหาประโยชน์ได้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ “รัฐชายฝั่ง” หมายความว่า ประเทศที่มีอาณาเขตจรดน้ำทะเล แต่ไม่รวมถึงประเทศไทย “ประมงน้ำจืด” หมายความว่า การทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำที่อยู่ในน่านน้ำภายใน “ประมงพื้นบ้าน” หมายความว่า การทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งไม่ว่าจะใช้เรือประมง หรือใช้เครื่องมือโดยไม่ใช้เรือประมง ทั้งนี้ ที่มิใช่เป็นประมงพาณิชย์ “ประมงพาณิชย์” หมายความว่า การทำการประมงโดยใช้เรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป หรือเรือประมงที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าถึงขนาดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด “การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” หมายความว่า การเลี้ยงสัตว์น้ำหรือการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำทั้งโดยวิธีธรรมชาติ วิธีผสมเทียม หรือวิธีอื่นใดในที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำในช่วงใดของวงจรชีวิตสัตว์น้ำนั้น “ที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” หมายความว่า บ่อ คอก กระชัง หรือที่ที่ใช้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำลักษณะอื่นใด ไม่ว่าจะอยู่ในที่ดินของเอกชน หรือในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือในที่จับสัตว์น้ำใด ๆ ที่ผู้ขุด ผู้สร้าง ผู้จัดทำ เจ้าของ หรือผู้ครอบครองมีความมุ่งหมายโดยตรงที่จะใช้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ “การดูแลรักษาสัตว์น้ำ” หมายความว่า การดูแลรักษาคุณภาพสัตว์น้ำหลังการจับก่อนถึงกระบวนการการแปรรูปสัตว์น้ำ “เครื่องมือทำการประมง” หมายความว่า เครื่องกลไก เครื่องใช้ เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบ อาวุธ เสา และหลักที่ใช้ทำการประมง “เรือประมง” หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำทุกขนาดที่ใช้หรือเจตนาจะใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงยานพาหนะที่ใช้สนับสนุนเรือประมง ใช้แปรรูปสัตว์น้ำ หรือเพื่อขนถ่ายหรือขนส่งสัตว์น้ำเป็นการเฉพาะ แต่ไม่รวมถึงเรือบรรทุกสินค้า “เรือประมงไทย” หมายความว่า เรือประมงที่จดทะเบียนเป็นเรือไทยตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย “จุดอ้างอิง” หมายความว่า ปริมาณเปรียบเทียบระหว่างขีดความสามารถในการทำการประมง และขีดความสามารถของผลผลิตสัตว์น้ำที่ธรรมชาติจะสร้างขึ้นได้ โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่พิจารณาจากปริมาณสัตว์น้ำ ขนาด อัตราการเกิดและการตาย และช่วงชีวิตของสัตว์น้ำ เพื่อนำมาใช้กำหนดจำนวนสูงสุดที่พึงทำการประมงได้อย่างยั่งยืน “การทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” หมายความว่า การทำการประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมาย การทำการประมงที่ไม่ได้รายงาน และการทำการประมงโดยไร้กฎเกณฑ์ “การทำการประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมาย” หมายความว่า (๑) การทำการประมงโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย หรือขัดต่อกฎหมายไทยหรือกฎหมายของรัฐชายฝั่ง (๒) การทำการประมงที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการขององค์การระหว่างประเทศที่จัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมง หรือขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง “การทำการประมงที่ไม่ได้รายงาน” หมายความว่า (๑) การทำการประมงโดยไม่แจ้งหรือรายงาน หรือรายงานไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมาย หรือกฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบที่ออกตามกฎหมาย หรือรายงานเท็จ (๒) การทำการประมงในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การระหว่างประเทศโดยไม่แจ้งหรือรายงาน หรือรายงานไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และวิธีการขององค์การระหว่างประเทศนั้น หรือรายงานเท็จ “การทำการประมงโดยไร้กฎเกณฑ์” หมายความว่า (๑) การทำการประมงในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การระหว่างประเทศไม่ว่าจะใช้เรือใด ๆ ไม่ว่าจะมีสัญชาติหรือไร้สัญชาติ โดยประการที่มิได้ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนมาตรการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมงที่องค์การระหว่างประเทศดังกล่าวจัดให้มีขึ้น (๒) การทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำที่ยังไม่มีการกำหนดมาตรการการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมง โดยการทำการประมงนั้นไม่สอดคล้องกับพันธะของรัฐในการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ “องค์การระหว่างประเทศ” หมายความว่า องค์การระหว่างประเทศที่ประเทศในแต่ละภูมิภาคร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมง “เรือไร้สัญชาติ” หมายความว่า เรือที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย หรือเรือที่มีตั้งแต่สองสัญชาติขึ้นไป หรือเรือที่เปลี่ยนธงในระหว่างการเดินเรือ “นายทะเบียนเรือ” หมายความว่า นายทะเบียนเรือตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย “เจ้าของเรือ” หมายความว่า ผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในเรือประมง “ผู้ควบคุมเรือ” หมายความว่า ผู้มีหน้าที่บังคับเรือและรับผิดชอบในเรือประมง “คนประจำเรือ” หมายความว่า ลูกเรือหรือคนที่มีหน้าที่ประจำอยู่ในเรือประมง แต่ไม่รวมถึงผู้ควบคุมเรือ “นำเข้า” หมายความว่า นำหรือส่งเข้ามาในราชอาณาจักร “ส่งออก” หมายความว่า นำหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร “นำผ่าน” หมายความว่า นำหรือส่งผ่านราชอาณาจักร “ท่าเทียบเรือประมง” หมายความว่า สถานที่ที่จัดขึ้นสำหรับใช้จอดหรือเทียบเรือประมงขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือใช้ในการนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นจากเรือประมง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะอยู่บนบกหรือในน้ำ “กิจการแพปลา” หมายความว่า กิจการแพปลาที่ได้รับใบอนุญาต หรือสะพานปลาที่ได้มีการประกาศให้เป็นที่ประกอบกิจการแพปลาตามกฎหมายว่าด้วยกิจการแพปลา “การขนถ่ายสัตว์น้ำ” หมายความว่า การนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทั้งหมดหรือบางส่วนจากเรือประมงไปยังยานพาหนะอื่น “ผู้สังเกตการณ์” หมายความว่า ผู้ซึ่งมีความรู้ความสามารถ และมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่บนเรือประมง “ผู้รับอนุญาต” หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามพระราชกำหนดนี้ “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้ “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมประมง “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนี้ มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชกำหนดนี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าอากรและค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชกำหนดนี้ ลดหรือยกเว้นค่าอากรและค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ มาตรา ๗ การขออนุญาต การขอจดทะเบียน การอนุญาต การรับจดทะเบียน การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการโอนใบอนุญาตตามพระราชกำหนดนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยในกฎกระทรวงจะกำหนดให้ต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าอากรตามอัตราที่กำหนดไม่เกินอัตราท้ายพระราชกำหนดนี้ด้วยก็ได้ การออกกฎกระทรวงกำหนดค่าอากรหรือค่าธรรมเนียมตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดอัตราค่าอากรหรือค่าธรรมเนียมให้แตกต่างกันโดยคำนึงถึงประเภท ชนิด ขนาด หรือจำนวนของเรือประมงหรือเครื่องมือทำการประมง หรือประเภท ชนิด ขนาด ลักษณะ หรือรูปแบบของกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือการทำการประมงก็ได้ หมวด ๑ บททั่วไป มาตรา ๘ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อองค์การระหว่างประเทศ และอนุสัญญาเกี่ยวกับการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมงที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกด้วย ให้ถือว่าการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ หรือตามกฎหมายของรัฐชายฝั่ง หรือตามหลักเกณฑ์หรือมาตรการตามกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง หรือหลักเกณฑ์หรือมาตรการขององค์การระหว่างประเทศบรรดาที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมง ไม่ว่าจะกระทำในน่านน้ำไทยหรือนอกน่านน้ำไทย และไม่ว่ากระทำโดยใช้เรือประมงไทย เรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทย หรือเรือไร้สัญชาติ เป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักร และต้องรับโทษตามที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดนี้ และให้ศาลไทยมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีได้ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการมีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายได้ ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง หากความผิดเกิดขึ้นนอกน่านน้ำไทย และการกระทำความผิดนั้นมิใช่เรือประมงไทยหรือผู้มีสัญชาติไทย ให้กระทำได้เมื่อได้รับแจ้งจากรัฐต่างประเทศที่การกระทำความผิดเกิดขึ้น หรือองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้นแล้ว ให้เป็นหน้าที่ของอธิบดีที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือขององค์การระหว่างประเทศในการดำเนินการเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ มาตรา ๙ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการการประมง ให้กรมประมงดำเนินการรวบรวมและประมวลข้อมูลทั้งปวงที่ได้จากการอนุญาต ออกใบอนุญาต จดทะเบียน หรือที่มีผู้แจ้งตามพระราชกำหนดนี้ และจัดทำสถิติการประมงให้เป็นปัจจุบันเสนอต่อคณะกรรมการทุกเดือน หรือตามระยะเวลาที่สั้นกว่านั้นตามที่คณะกรรมการกำหนด ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบและจัดเก็บสถิติการประมง ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดระยะเวลาและข้อมูลที่ประสงค์จะจัดเก็บ และพื้นที่ที่จะจัดเก็บ โดยปิดประกาศไว้ ณ ที่ทำการกำนัน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อมีประกาศตามวรรคสองแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ที่ใช้ในการประกอบอาชีพการประมง หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการประมงในเวลาทำการของสถานที่นั้นภายในพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนดตามประกาศดังกล่าว และให้ผู้ประกอบอาชีพการประมงหรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องมีหน้าที่ตอบคำถามตามความเป็นจริง มาตรา ๑๐ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เรือไร้สัญชาติทำการประมง มาตรา ๑๑ ห้ามมิให้โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์น้ำจ้างลูกจ้างโดยฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือจ้างคนต่างด้าวที่ไม่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบการฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่ง หากมีการจ้างลูกจ้างหรือคนงานที่ผิดกฎหมายไม่เกินห้าคน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รายงานอธิบดีโดยพลัน และให้อธิบดีมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานตั้งแต่สิบวันถึงสามสิบวัน ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบการฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่ง หากมีการจ้างลูกจ้างหรือคนงานที่ผิดกฎหมายมากกว่าห้าคน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รายงานอธิบดีโดยพลัน และให้อธิบดีแจ้งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อสั่งปิดโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ถูกสั่งให้หยุดประกอบกิจการตามวรรคสอง กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งอีกภายในสามปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รายงานอธิบดีโดยพลัน และให้อธิบดีแจ้งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อสั่งปิดโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ถูกสั่งปิดโรงงานตามวรรคสาม และวรรคสี่ประกอบกิจการโรงงานเกี่ยวกับสัตว์น้ำ และห้ามผู้อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานออกใบอนุญาตให้แก่บุคคลดังกล่าวเพื่อประกอบกิจการโรงงานเกี่ยวกับสัตว์น้ำ คำสั่งปิดโรงงานตามมาตรานี้ ให้มีผลเป็นการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานสำหรับโรงงานจำพวกที่ ๓ หมวด ๒ การบริหารจัดการด้านการประมง มาตรา ๑๒ บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดนโยบายและกำกับดูแล การบริหารจัดการด้านการประมง และการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำอยู่ในภาวะที่เหมาะสม และสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน โดยใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุด และคำนึงถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวทางการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และหลักการป้องกันล่วงหน้า ตลอดจนเพื่อรักษาหรือฟื้นฟูระดับทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในระดับที่สามารถก่อให้เกิดผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน โดยมีการป้องกันและขจัดการทำการประมงที่เกินศักย์การผลิตและขีดความสามารถในการทำการประมงส่วนเกินเพื่อควบคุมมิให้การทำการประมงมีผลบั่นทอนความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ ส่วนที่ ๑ คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ มาตรา ๑๓ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ” ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการปกครอง ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินสิบคน เป็นกรรมการ ให้อธิบดีเป็นกรรมการและเลขานุการ มาตรา ๑๔ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๑๓ ให้แต่งตั้งจากบุคคล ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้แทนสมาคมในด้านการประมงทะเลชายฝั่ง ด้านการประมงทะเลนอกชายฝั่ง ด้านการประมงนอกน่านน้ำไทย ด้านการประมงน้ำจืด ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และด้านการแปรรูปสัตว์น้ำ ด้านละหนึ่งคน (๒) ผู้มีความรู้หรือประสบการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่เกินสองคน (๓) นักวิชาการด้านการประมง ไม่เกินสองคน มาตรา ๑๕ ผู้จะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประมง มาตรา ๑๖ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี ในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุใด และยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้ มาตรา ๑๗ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) พ้นจากการเป็นผู้แทนสมาคมที่ได้รับแต่งตั้ง หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๕ (๔) รัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ (๕) เป็นบุคคลล้มละลาย (๖) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (๗) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก มาตรา ๑๘ การประชุมและการดำเนินการประชุมให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด มาตรา ๑๙ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย และกำกับการบริหารจัดการการประมง ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดนโยบายการพัฒนาการประมงในน่านน้ำไทยให้สอดคล้องกับปริมาณของทรัพยากรสัตว์น้ำ และขีดความสามารถในการทำการประมง โดยคำนึงถึงจุดอ้างอิงเป็นสำคัญ (๒) กำหนดนโยบายการส่งเสริม พัฒนา และการแก้ไขปัญหาการประมงนอกน่านน้ำไทย (๓) กำหนดนโยบายการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศ (๔) กำหนดนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านการประมงของประเทศ (๕) กำหนดมาตรการในการดำเนินการควบคุมให้บรรลุตามนโยบายตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔) (๖) กำหนดปริมาณสูงสุดของสัตว์น้ำที่จะทำการประมงในน่านน้ำไทย (๗) กำหนดแนวทางและเป้าหมายในการพัฒนาการประมงของประเทศให้สอดคล้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม (๘) กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสมและสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน (๙) จัดทำรายงานผลการดำเนินงานประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ (๑๐) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย นโยบายที่ได้จัดทำตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔) ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยดำเนินการและกำกับการให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว มาตรา ๒๐ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ หรือคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการกำหนดได้ การประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจและคณะอนุกรรมการ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด มาตรา ๒๑ นโยบายตามมาตรา ๑๙ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) และ (๗) อย่างน้อยต้องมุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ให้เกิดการสงวน รักษา และป้องกันสัตว์น้ำมิให้สูญพันธุ์ และให้สามารถใช้ประโยชน์แหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน เกิดความสมดุลของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ (๒) ป้องกันมิให้มีการสนับสนุนการทำการประมงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าในด้านการสนับสนุนบุคลากร น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องมือทำการประมง หรือสิ่งของอื่นใด (๓) มีมาตรการในการกำกับและควบคุมให้การทำการประมงเป็นไปอย่างสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และมาตรฐานสากล (๔) มีแนวทางในการพัฒนาความร่วมมือในการทำการประมงกับรัฐอื่นและองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อสงวนและจัดการเกี่ยวกับการคุกคามทรัพยากรสัตว์น้ำ การย้ายถิ่นของสัตว์น้ำหรือแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ โดยใช้หลักการป้องกันล่วงหน้า (๕) มีมาตรการป้องกันมิให้มีการทำการประมงจนเป็นการรบกวนหรือขัดขวางกระบวนการของธรรมชาติในการใช้เวลาผลิตและฟื้นฟูกำลังการผลิตอย่างเพียงพอ เพื่อให้การทำการประมงสอดคล้องกับการผลิตสูงสุดของธรรมชาติ และสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน (๖) มีมาตรการที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยต้องดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าและพัฒนาการของกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในการทำการประมงขององค์การระหว่างประเทศ (๗) มีแนวทางให้ผู้ประกอบอาชีพการประมง และอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประมงได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และป้องกันแหล่งทรัพยากรประมงและทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม และสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน มาตรา ๒๒ แนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำตามมาตรา ๑๙ (๘) อย่างน้อยต้องครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ (๑) แนวทางการส่งเสริมมาตรการการอนุรักษ์และบริหารจัดการการทำการประมงอย่างยั่งยืน (๒) แนวทางการปกป้องและคุ้มครองสิทธิ พัฒนาและส่งเสริมอาชีพและความเป็นอยู่ของชาวประมงไทย (๓) แนวทางการป้องกันการแสวงหาประโยชน์เกินควรจากทรัพยากรสัตว์น้ำ (๔) แนวทางการป้องกันการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (๕) แนวทางการร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ นานาประเทศ รวมตลอดทั้งรัฐชายฝั่ง ในการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถิติในการจับสัตว์น้ำ และข้อมูลอื่นใดเกี่ยวกับการทำการประมง มาตรา ๒๓ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายตามมาตรา ๑๙ ให้กรมประมงดำเนินการจัดทำแผนบริหารจัดการการประมงให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวเสนอคณะกรรมการพิจารณา และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติต่อไป มาตรา ๒๔ แผนบริหารจัดการการประมงตามมาตรา ๒๓ อย่างน้อยต้องครอบคลุมแนวทางดำเนินการในเรื่อง ดังต่อไปนี้ (๑) แนวทางในการออกใบอนุญาตทำการประมงให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการทำการประมง และปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน โดยใช้จุดอ้างอิงเป็นฐานในการพิจารณา (๒) แนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้กลับสู่สภาวะปกติตามธรรมชาติ (๓) แนวทางในการลดจำนวนเรือประมงที่ทำการประมงพาณิชย์ (๔) แนวทางในการลดจำนวนการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (๕) แนวทางในการแก้ไขปัญหาประโยชน์ขัดแย้งระหว่างประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ (๖) แนวทางการป้องกันมิให้มีการจับสัตว์น้ำที่ยังโตไม่ได้ขนาด (๗) แนวทางการพัฒนาข้อมูลเกี่ยวกับการประมง (๘) แนวทางการเสริมสร้างการบริหารจัดการการประมง มาตรา ๒๕ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดการการบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรสัตว์น้ำภายในที่จับสัตว์น้ำในเขตประมงน้ำจืดหรือเขตทะเลชายฝั่ง ให้กรมประมงดำเนินการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนในเรื่อง ดังต่อไปนี้ (๑) สนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดทำนโยบายตามมาตรา ๑๙ (๑) (๒) สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่ม และจัดให้มีการขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) ให้คำปรึกษาแก่ชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำ รวมทั้งช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินงาน โครงการ หรือกิจกรรมของชุมชนในเรื่องดังกล่าว (๔) เผยแพร่ความรู้หรือข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำ ส่วนที่ ๒ คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด มาตรา ๒๖ ให้มีคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ในจังหวัดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกรมเจ้าท่า อัยการจังหวัดซึ่งเป็นหัวหน้าที่ทำการอัยการจังหวัด พาณิชย์จังหวัด นายอำเภอในเขตท้องที่ที่มีการประมง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประธานสภาเกษตรกรจังหวัด เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจำนวนไม่เกินสิบสามคน เป็นกรรมการ ให้ประมงจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ ในจังหวัดใดมีอาณาเขตติดต่อกับชายฝั่งทะเลหรือแม่น้ำโขง ให้มีผู้แทนกองทัพเรือเป็นกรรมการโดยตำแหน่งเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน มาตรา ๒๗ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๒๖ ให้แต่งตั้งจากบุคคล ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้แทนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในด้านการประมงทะเลชายฝั่ง ด้านการประมงทะเลนอกชายฝั่ง ด้านการประมงน้ำจืด ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือด้านการแปรรูปสัตว์น้ำ ที่ได้ขึ้นทะเบียนตามมาตรา ๒๕ (๒) ตามที่เห็นสมควรโดยคำนึงถึงความทั่วถึงของผู้มีส่วนได้เสีย (๒) ผู้มีความรู้หรือประสบการณ์การดำเนินงานในด้านการประมง หรือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่เกินสามคน มาตรา ๒๘ คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) รวบรวมข้อเสนอแนะและเสนอแนวทางในการส่งเสริมอาชีพการประมง การจัดการการบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบเสนอต่อคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาจัดทำนโยบายตามมาตรา ๑๙ (๑) (๒) พิจารณาและเสนอแนวทางในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาการประมง หรือการจัดการการบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ในที่จับสัตว์น้ำในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบเสนอต่อรัฐมนตรี คณะกรรมการ หรืออธิบดี (๓) ออกประกาศตามมาตรา ๕๖ มาตรา ๗๑ และมาตรา ๗๗ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (๔) ดำเนินการอื่นตามที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการมอบหมาย ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนในการออกประกาศตามมาตรา ๕๖ และมาตรา ๗๑ ให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดมีอำนาจออกประกาศบังคับใช้เป็นการชั่วคราวมีกำหนดระยะเวลาไม่เกินหกสิบวัน และให้รัฐมนตรีพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาหกสิบวันนับจากวันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ในกรณีที่รัฐมนตรีพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคสอง ให้ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งไม่อนุมัติจากรัฐมนตรี จังหวัดใดไม่มีคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ให้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเป็นอำนาจหน้าที่ของประมงจังหวัดหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย แต่ในการใช้อำนาจหน้าที่ให้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย มาตรา ๒๙ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และการประชุมคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๒๐ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดโดยอนุโลม หมวด ๓ การทำการประมงในน่านน้ำไทย มาตรา ๓๐ บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการ ควบคุม และกำกับดูแลการทำการประมง และแก้ไขปัญหาประโยชน์ขัดแย้งระหว่างประมงพื้นบ้าน และประมงพาณิชย์ โดยการใช้อำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมและกำกับการทำการประมงตามหมวดนี้ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงขีดความสามารถในการผลิตของธรรมชาติโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาจุดอ้างอิง เพื่อให้สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน และประชาชนมีแหล่งอาหารได้ตามสมควร มาตรา ๓๑ ผู้ใดจะทำการประมงน้ำจืดในที่จับสัตว์น้ำที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยใช้เครื่องมือทำการประมงตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ต้องได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับการทำการประมงในที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มาตรา ๓๒ ผู้ใดจะทำการประมงพื้นบ้านโดยใช้เรือประมง หรือเครื่องมือที่มีขนาดหรือลักษณะตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ต้องได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย เว้นแต่เป็นการใช้เรือประมงโดยใช้เครื่องมือทำการประมงประเภทที่อธิบดีประกาศกำหนด การออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ออกสำหรับเรือประมงแต่ละลำ และต้องระบุจำนวนและประเภทเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมงไว้ในใบอนุญาตด้วย มาตรา ๓๓ ผู้ทำการประมงพื้นบ้านต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการทำการประมงตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบ อธิบดีจะกำหนดให้ผู้ทำการประมงพื้นบ้านต้องจัดทำสมุดบันทึกการทำการประมง ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยประเภทและปริมาณของสัตว์น้ำที่จับได้และพื้นที่ที่ทำการประมงก็ได้ ผู้ทำการประมงพื้นบ้านต้องเก็บรักษาสมุดบันทึกการทำการประมงตามวรรคสองไว้ และพร้อมที่จะแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อนำเรือประมงกลับเข้าฝั่ง มาตรา ๓๔ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง มาตรา ๓๕ ผู้ใดประสงค์จะทำการประมงโดยไม่ใช้เรือประมง แต่ใช้เครื่องมือประเภทและขนาดที่อธิบดีประกาศกำหนด ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หรือที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มาตรา ๓๖ ผู้ใดจะทำการประมงพาณิชย์ต้องได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์จากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย การออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ออกสำหรับเรือประมงแต่ละลำ และในใบอนุญาตต้องระบุจำนวนและประเภทเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมง พื้นที่ในการทำการประมง ปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่อนุญาตให้ทำการประมง หรือห้วงเวลาที่กำหนดให้ทำการประมงได้ ให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการทำการประมง และปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงอย่างยั่งยืนที่กำหนดไว้ในแผนบริหารจัดการการประมง มาตรา ๓๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ต้องจัดให้มีระบบความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๓๘ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง มาตรา ๓๙ ผู้ขอรับใบอนุญาตตามมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๕ และมาตรา ๓๖ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ (๑) เป็นผู้เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๔ ยังไม่ถึงห้าปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด (๒) เป็นผู้อยู่ระหว่างการถูกพักใช้ใบอนุญาตทำการประมง (๓) เป็นผู้ที่อธิบดีมีคำสั่งตามมาตรา ๑๑๓ (๑) หรือ (๕) และยังไม่พ้นสองปีนับแต่วันได้รับคำสั่ง (๔) เป็นผู้ที่อธิบดีมีคำสั่งตามมาตรา ๑๑๓ (๒) และยังไม่พ้นระยะเวลาการสั่งห้าม (๕) เป็นผู้เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมงยังไม่พ้นห้าปีนับถึงวันยื่นคำขอรับใบอนุญาต (๖) รัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศแจ้งเป็นหนังสือว่าเป็นผู้อยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตทำการประมง หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมงโดยผู้มีอำนาจของรัฐหรือองค์การระหว่างประเทศนั้น (๗) เป็นผู้เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมงมาแล้วสองครั้งภายในห้าปี มาตรา ๔๐ ใบอนุญาตตามมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๕ และมาตรา ๓๖ ให้มีอายุสองปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต มาตรา ๔๑ ให้ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๕ และมาตรา ๓๖ นำใบอนุญาตติดไว้ในเรือประมง หรือมีบัตรที่กรมประมงออกให้เพื่อใช้แทนใบอนุญาตติดตัวให้สามารถตรวจสอบได้ ให้เป็นหน้าที่ของกรมประมงที่จะออกบัตรสำหรับใช้แทนใบอนุญาตให้แก่ผู้รับอนุญาต โดยบัตรดังกล่าวต้องทำด้วยวัสดุที่ป้องกันน้ำ และมีรายละเอียดของใบอนุญาตตามสมควร มาตรา ๔๒ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๕ และมาตรา ๓๖ ดัดแปลงเครื่องมือทำการประมงให้ผิดไปจากลักษณะของเครื่องมือที่ระบุไว้ในใบอนุญาต มาตรา ๔๓ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ทำการประมงให้ผิดไปจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต หรือตามที่อธิบดีประกาศกำหนดเป็นคราว ๆ ไป การกำหนดดังกล่าวต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน มาตรา ๔๔ ใบอนุญาตทำการประมงจะโอนกันมิได้ เว้นแต่เป็นการโอนให้บุพการี คู่สมรส หรือผู้สืบสันดาน มาตรา ๔๕ ในกรณีที่มีหลักฐานจากจุดอ้างอิงแสดงให้เห็นว่าปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำมีไม่เพียงพอกับการทำการประมงอย่างยั่งยืน ให้รัฐมนตรีประกาศให้งดการออกใบอนุญาตทำการประมงไว้เป็นการชั่วคราว สำหรับใบอนุญาตที่ออกไปแล้ว ให้จัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างกรมประมง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมง เพื่อพิจารณาลดปริมาณการจับสัตว์น้ำลงตามที่จำเป็น และไม่เป็นเหตุให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงแล้วได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร ในกรณีที่หาข้อยุติไม่ได้ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจลดปริมาณการจับสัตว์น้ำลงตามที่เห็นสมควร หรือจะกำหนดมาตรการอื่นให้ผู้ทำการประมงต้องปฏิบัติตามภายในระยะเวลาที่กำหนดก็ได้ และในกรณีจำเป็นจะเสนอคณะกรรมการเพื่อให้กำหนดจำนวนเรือประมงสูงสุดที่จะพึงมี และมาตรการที่จะดำเนินการกับเรือประมงส่วนที่เกินจำนวนที่พึงมีก็ได้ มาตรา ๔๖ ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย และกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย รับจดทะเบียนเรือ หรือออกใบอนุญาตใช้เรือสำหรับการประมง ในกรณีดังต่อไปนี้ (๑) เรือที่ใช้ทำการประมงเกินจำนวนที่คณะกรรมการกำหนด (๒) เรือที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเรือประมงที่ถูกใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่อธิบดีแจ้งให้ทราบ (๓) เรือที่เคยจดทะเบียนในต่างประเทศ และมีหลักฐานว่าถูกใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย และกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยตรวจสอบข้อมูลการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจากรัฐเจ้าของธง ก่อนรับจดทะเบียนเรือ หรือออกใบอนุญาตให้ใช้เรือตาม (๓) หมวด ๔ การทำการประมงนอกน่านน้ำไทย มาตรา ๔๗ บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรการในการอนุรักษ์และบริหารจัดการแหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ และส่งเสริมความร่วมมือกับรัฐอื่น ภาคเอกชน และองค์กรต่างประเทศเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชกำหนดนี้ มาตรา ๔๘ ผู้ใดจะใช้เรือประมงไทยทำการประมงในเขตทะเลนอกน่านน้ำไทย ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทยจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย การออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ออกสำหรับเรือประมงแต่ละลำ และต้องระบุจำนวนและประเภทเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมง ถ้าผู้ขออนุญาตประสงค์จะทำการประมงในเขตของรัฐชายฝั่ง อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะอนุญาตได้เฉพาะเมื่อผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตแสดงหลักฐานว่าตนเป็นผู้มีสิทธิในการทำการประมงในน่านน้ำของรัฐชายฝั่ง และเมื่อมีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ว่าผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตอยู่ในสถานะที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ และมาตรการของรัฐชายฝั่งหรือองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องได้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๙ มาใช้บังคับกับการขอรับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งด้วยโดยอนุโลม มาตรา ๔๙ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทยทำการประมงในเขตของรัฐชายฝั่ง หรือในเขตที่อยู่ในความควบคุมดูแลขององค์การระหว่างประเทศ นอกจากต้องปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้แล้ว ผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ และมาตรการการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมงของรัฐชายฝั่งหรือองค์การระหว่างประเทศนั้น มาตรา ๕๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทยต้องมีผู้สังเกตการณ์ประจำอยู่ในเรือประมงตามหลักเกณฑ์ของรัฐชายฝั่งหรือขององค์การระหว่างประเทศที่มีเขตอำนาจเหนือพื้นที่ที่ตนเข้าไปทำการประมงกำหนด หรือตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด ผู้สังเกตการณ์ต้องไม่ใช่บุคคลที่มีหน้าที่อื่นใดในเรือประมง และต้องมีคุณสมบัติอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์และวิธีการฝึกอบรม และการขึ้นทะเบียนผู้สังเกตการณ์ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๕๑ ผู้สังเกตการณ์มีหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) สังเกตการณ์การจับสัตว์น้ำ การคัดสรร การแปรรูป และกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวกับสัตว์น้ำ และบันทึกข้อมูลที่พบจากการสังเกตการณ์นั้น (๒) รวบรวมและบันทึกข้อมูลด้านชีววิทยา และเก็บตัวอย่างของสัตว์น้ำที่จับได้ และข้อมูลอื่นใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสืบค้น (๓) ทำรายงานสรุปผลการดำเนินการตาม (๑) และ (๒) และส่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อเรือประมงเทียบท่า หรือเมื่อผู้สังเกตการณ์ขึ้นฝั่ง ตามวิธีการและภายในกำหนดเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๕๒ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทยทำการประมงในเขตน่านน้ำไทย เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๓๖ มาตรา ๕๓ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๗ มาตรา ๔๐ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๒ มาใช้บังคับกับการทำการประมงนอกน่านน้ำไทยด้วยโดยอนุโลม มาตรา ๕๔ ผู้ใดเป็นเจ้าของเรือประมงไทย หรือเป็นเจ้าของเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทย แต่ใช้ผู้ควบคุมเรือหรือคนประจำเรือหรือมีผู้โดยสารเป็นผู้มีสัญชาติไทย ได้ใช้หรือยอมให้ใช้เรือประมงของตนทำการประมงนอกน่านน้ำไทยจนเป็นเหตุให้มีการละเมิดกฎหมายของรัฐต่างประเทศ และทำให้ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ หรือผู้โดยสารซึ่งไปกับเรือประมงต้องตกค้างอยู่ในต่างประเทศ มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าใช้จ่ายที่รัฐได้จ่ายไปในการนำบุคคลดังกล่าวกลับประเทศ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากกรมประมง ในกรณีที่เจ้าของเรือประมงไม่ชดใช้ค่าใช้จ่ายภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้กรมประมงมีอำนาจยึดเรือประมงดังกล่าวและนำออกขายทอดตลาด และเมื่อหักจำนวนเงินที่ต้องชดใช้พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีคิดตั้งแต่วันที่ถึงกำหนดชำระจนถึงวันที่ได้รับเงินจากการขายทอดตลาดเหลือเงินเท่าใดให้คืนให้แก่เจ้าของ หมวด ๕ มาตรการอนุรักษ์และบริหารจัดการ มาตรา ๕๕ บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ และรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำและระบบนิเวศไว้อย่างยั่งยืนตามหลักการป้องกันล่วงหน้า โดยผู้ทำการประมงต้องไม่ฝ่าฝืนและปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้ มาตรา ๕๖ ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำในเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำตามที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดโดยอนุมัติรัฐมนตรีประกาศกำหนด เว้นแต่เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการหรือเพื่อการบำรุงรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ และได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย การกำหนดเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำตามวรรคหนึ่ง ให้มีแผนที่แสดงแนวเขตบริเวณที่กำหนดนั้นแนบท้ายประกาศด้วย มาตรา ๕๗ ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง มาตรา ๕๘ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้ (๑) ปล่อย เท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้วัตถุอันตรายตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดลงสู่ที่จับสัตว์น้ำ (๒) กระทำการใด ๆ อันทำให้สัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำมึนเมา (๓) ปล่อย เท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้สิ่งใดลงสู่ที่จับสัตว์น้ำในลักษณะที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำ (๔) ทำให้ที่จับสัตว์น้ำเกิดมลพิษในลักษณะที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำ ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การกระทำอันจำเป็นโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ของทางราชการทหาร มาตรา ๕๙ ผู้ใดโดยเจตนาหรือโดยประมาททำให้ที่จับสัตว์น้ำเกิดมลพิษในลักษณะที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำ ต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายทั้งปวงในการช่วยเหลือหรือป้องกันชีวิตสัตว์น้ำและทำให้ที่จับสัตว์น้ำฟื้นฟูกลับสู่สภาพตามธรรมชาติ ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๖๐ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมง หรือใช้วัตถุระเบิดในที่จับสัตว์น้ำ ในกรณีที่ทางราชการมีความจำเป็นต้องใช้วัตถุระเบิดในที่จับสัตว์น้ำ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี และได้ดำเนินการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่สัตว์น้ำเกินสมควรแล้ว ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การใช้วัตถุระเบิดเพื่อประโยชน์ของทางราชการทหาร มาตรา ๖๑ ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ โดยรู้ว่าเป็นสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้มาโดยการกระทำความผิดตามมาตรา ๕๘ มาตรา ๖๐ หรือจากการทำการประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๑๑๔ หรือที่ได้มาจากเรือประมงที่ต้องห้ามมิให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา ๙๔ หรือที่มีชื่ออยู่ในประกาศรายชื่อตามมาตรา ๑๑๖ มาตรา ๖๒ ห้ามมิให้ผู้ใดทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่จับสัตว์น้ำที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้ผิดไปจากสภาพที่เป็นอยู่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๖๓ ห้ามมิให้ผู้ใดติดตั้ง วาง หรือสร้างเขื่อน ฝาย ทำนบ รั้ว สิ่งปลูกสร้าง เครื่องมือที่เป็นตาข่าย หรือเครื่องมือทำการประมงอื่นใด หรือกระทำการใดในที่จับสัตว์น้ำอันเป็นการกั้นทางเดินของสัตว์น้ำหรือเป็นอุปสรรคในการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การกระทำเพื่อประโยชน์ในการป้องกันสาธารณภัย หรือเพื่อประโยชน์ของทางราชการในการชลประทาน มาตรา ๖๔ ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์หรือต่อสัตว์น้ำอื่น สิ่งแวดล้อมของสัตว์น้ำ ทรัพย์สินของบุคคลหรือสาธารณสมบัติ หรือเป็นผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตามประเภท ชนิด ลักษณะ จำนวนหรือขนาดที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ใดมีสัตว์น้ำ หรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ตามวรรคหนึ่งไว้ในครอบครอง ต้องส่งมอบสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำลายสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นโดยเร็ว ความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่การครอบครองสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของทางราชการเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ มาตรา ๖๕ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำที่หายาก หรือป้องกันอันตรายจากโรคระบาด รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดห้ามการนำเข้า ส่งออก นำผ่าน เพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำบางชนิดได้ ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้า ส่งออก นำผ่าน เพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย มาตรา ๖๖ ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือนำสัตว์น้ำดังกล่าวขึ้นเรือประมง เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อการช่วยชีวิตของสัตว์น้ำนั้น มาตรา ๖๗ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้ซึ่งเครื่องมือทำการประมง ดังต่อไปนี้ (๑) เครื่องมือโพงพาง รั้วไซมานหรือกั้นซู่รั้วไซมาน เครื่องมือลี่ หรือเครื่องมืออื่นที่มีลักษณะและวิธีการคล้ายคลึงกัน (๒) เครื่องมือลอบพับได้หรือไอ้โง่ ที่มีช่องทางเข้าของสัตว์น้ำสลับซ้ายขวาอยู่ทางด้านข้างใช้สำหรับดักสัตว์น้ำ (๓) เครื่องมืออวนลากที่มีช่องตาอวนก้นถุงเล็กกว่าขนาดที่อธิบดีประกาศกำหนด (๔) เครื่องมืออวนรุนที่ใช้ติดกับเรือยนต์ เว้นแต่เป็นอวนรุนเคย ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับเครื่องมือทำการประมงตามรูปแบบของเครื่องมือ ขนาดเรือ วิธีการทำการประมง พื้นที่ทำการประมง และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด เพื่อประโยชน์ในการทำการประมงพื้นบ้าน มาตรา ๖๘ ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนรุนเคยที่ใช้ประกอบเรือยนต์ทำการประมงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเกี่ยวกับรูปแบบของอวน ขนาดของเรือ วิธีที่ใช้ บริเวณพื้นที่ หรือระยะเวลาในการทำการประมง มาตรา ๖๙ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่าสองจุดห้าเซนติเมตรทำการประมงในเวลากลางคืน มาตรา ๗๐ ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงในระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่และวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน หรือระยะเวลาอื่นใดที่จำเป็นต่อการคุ้มครองสัตว์น้ำตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด มาตรา ๗๑ ให้รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดมีอำนาจออกประกาศ ดังต่อไปนี้ (๑) เครื่องมือทำการประมงตามรูปแบบของเครื่องมือ วิธีการทำการประมง พื้นที่ทำการประมง ขนาดของเรือประมงที่ใช้ประกอบการทำการประมง และเงื่อนไขอื่นที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ (๒) ข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับสัตว์น้ำที่ถูกจับได้โดยบังเอิญ (๓) พื้นที่ที่จะให้ใช้เครื่องมือทำการประมงที่ต้องใช้วิธีลงหลัก ปัก ผูก ขึง รั้ง ถ่วง หรือวิธีอื่นใดอันทำให้เครื่องมือนั้นอยู่กับที่ในเวลาทำการประมง ประกาศตามวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การกระทำเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยหรือการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำซึ่งกระทำโดยทางราชการ และได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายแล้ว และในกรณีที่เป็นการออกประกาศเพื่อใช้บังคับในเขตพื้นที่ใดเป็นการเฉพาะ ให้มีแผนที่แสดงแนวเขตบริเวณที่กำหนดนั้นแนบท้ายประกาศด้วย การกำหนดของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีแล้วให้ใช้บังคับได้ภายในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ และเฉพาะในเขตประมงน้ำจืดและเขตทะเลชายฝั่ง เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศเพื่อกำหนดเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดในเขตทะเลชายฝั่ง มาตรา ๗๒ ในกรณีที่การออกประกาศตามมาตรา ๗๑ จะต้องดำเนินการในเขตพื้นที่ที่คาบเกี่ยวกันระหว่างพื้นที่ของสองจังหวัดขึ้นไป เนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์หรือระบบนิเวศตามธรรมชาติของพื้นที่นั้น หรือเพื่อประโยชน์ในการจัดการอย่างเป็นระบบในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อให้รัฐมนตรีใช้อำนาจในการกำหนดแทนคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด แล้วแจ้งให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดที่เกี่ยวข้องทราบ หมวด ๖ การส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มาตรา ๗๓ บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเป็นแหล่งผลผลิตของสัตว์น้ำอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืนโดยคำนึงถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และการรักษาความสมดุลในระบบนิเวศ รวมทั้งสร้างความมั่นใจในการบริโภคสัตว์น้ำที่ได้จากการเพาะเลี้ยงทั้งในด้านคุณภาพและสุขอนามัยที่ได้มาตรฐาน มาตรา ๗๔ เพื่อประโยชน์ในการรักษาคุณภาพและคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยในการบริโภคสัตว์น้ำ ให้ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำดำเนินการให้ถูกต้องตามมาตรฐานสินค้าเกษตรที่คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานสินค้าเกษตรประกาศกำหนด ให้เป็นหน้าที่ของกรมประมงในอันที่จะส่งเสริม พัฒนา และแนะนำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้ถูกต้องตามมาตรฐานตามวรรคหนึ่ง และมิให้มีผลกระทบต่อระบบนิเวศและความสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ และออกหนังสือรับรองความชอบด้วยมาตรฐานของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้แก่ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดำเนินการโดยถูกต้องตามมาตรฐานดังกล่าวเมื่อได้รับการร้องขอ มาตรา ๗๕ ผู้ใดประสงค์จะขอหนังสือรับรองการได้มาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตามมาตรา ๗๔ หรือขอให้กรมประมงตรวจรับรองชนิด ลักษณะ คุณภาพหรือแหล่งกำเนิดของสัตว์น้ำใด หรือขอให้ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างดิน น้ำ สัตว์น้ำ หรือปัจจัยการผลิตเป็นการเฉพาะราย ให้ยื่นคำขอและชำระค่าใช้จ่ายในการออกหนังสือรับรองหรือตรวจสอบตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๗๖ เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีคุณภาพป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรืออันตรายต่อผู้บริโภคหรือต่อกิจการของบุคคลอื่น ให้ออกกฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือลักษณะของสัตว์น้ำ หรือประเภท รูปแบบ ขนาด หรือวัตถุประสงค์ของกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เป็นกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมได้ มาตรา ๗๗ ภายใต้บังคับมาตรา ๗๙ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมนอกเขตพื้นที่ที่คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดประกาศกำหนดให้เป็นเขตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มาตรา ๗๘ ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมภายในเขตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามมาตรา ๗๗ ต้องปฏิบัติในเรื่องดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต้องแจ้งการประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวิธีการที่กำหนด (๒) กำหนดแหล่งที่มาของสัตว์น้ำที่ห้ามนำมาใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (๓) กำหนดประเภท ลักษณะ และคุณภาพอาหารของสัตว์น้ำที่ห้ามใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (๔) กำหนดชนิดและปริมาณของยา เคมีภัณฑ์ หรือสารอันตรายอื่นใดที่ห้ามใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (๕) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการจัดการน้ำทิ้งหรือของเสียจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (๖) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการป้องกันมิให้น้ำจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรั่วไหลออกจากที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (๗) กำหนดเรื่องอื่นใดที่จำเป็นในการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรืออันตรายต่อผู้บริโภคหรือต่อกิจการของบุคคลอื่น มาตรา ๗๙ ห้ามมิให้ผู้ใดทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๔๔ มาใช้บังคับกับการโอนใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งด้วยโดยอนุโลม หมวด ๗ การควบคุม เฝ้าระวัง สืบค้น และตรวจสอบ มาตรา ๘๐ บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบการควบคุม เฝ้าระวังและตรวจสอบการทำการประมงให้มีประสิทธิภาพ และสร้างระบบการสืบค้นที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำได้ตั้งแต่การทำการประมงไปจนถึงผู้บริโภครายสุดท้าย นอกจากบทบัญญัติในหมวด ๓ หมวด ๔ หมวด ๕ และหมวด ๙ แล้ว การควบคุม เฝ้าระวัง สืบค้น และตรวจสอบการทำการประมงให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ ส่วนที่ ๑ การควบคุมและเฝ้าระวัง มาตรา ๘๑ ผู้ใดจะนำเรือประมงที่มีขนาดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดออกไปทำการประมงพาณิชย์ต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) ติดตั้งระบบติดตามเรือประมง และดูแลรักษาให้ระบบดังกล่าวสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด (๒) จัดทำสมุดบันทึกการทำการประมง ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย ประเภทและปริมาณของสัตว์น้ำที่จับได้ จุดจอดเรือ การขนถ่ายสัตว์น้ำ การขาย หรือการเททิ้งสัตว์น้ำ ซึ่งต้องรับรองความถูกต้องโดยผู้ควบคุมเรือ และต้องส่งรายงานให้กรมประมงทราบ ตามระยะเวลาและโดยวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) แจ้งการเข้าออกท่าเทียบเรือประมงทุกครั้ง ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด และในกรณีเข้าเทียบท่าเพื่อขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือประมง ต้องส่งมอบสำเนาบันทึกการทำการประมง และเอกสารหลักฐานอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนดด้วย (๔) จัดทำเครื่องหมายประจำเรือประมงตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด (๕) กลับเข้าท่าเทียบเรือประมงตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๘๒ ก่อนนำเรือประมงตามมาตรา ๘๑ ออกจากท่าเทียบเรือประมง เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือต้องนำเอกสารเกี่ยวกับทะเบียนเรือ ใบอนุญาตใช้เรือ ใบอนุญาตให้ทำการประมง จำนวนรายชื่อและหนังสือคนประจำเรือ หรือหลักฐานการอนุญาตตามมาตรา ๘๓ ของคนประจำเรือที่จะออกไปพร้อมกับเรือประมง และหลักฐานเกี่ยวกับการจัดระบบความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด ในกรณีที่เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือไม่ยื่นเอกสารและหลักฐานตามวรรคหนึ่ง หรือการจัดระบบความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือไม่เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งห้ามมิให้นำเรือออกจากท่าเทียบเรือประมงหรือสั่งให้นำเรือประมงเข้าเทียบท่าได้ มาตรา ๘๓ คนประจำเรือต้องมีหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย และในกรณีคนประจำเรือไม่มีสัญชาติไทย ต้องได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และต้องได้รับใบอนุญาตให้ทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวก ให้อธิบดีมีอำนาจเช่นเดียวกับเจ้าท่าตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยในการออกหนังสือคนประจำเรือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในการอนุญาตให้คนต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงานในเรือประมงอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และมีอำนาจเช่นเดียวกับนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวในการอนุญาตให้คนต่างด้าวนั้นทำงานในเรือประมงที่จะออกไปทำการประมงในทะเล การอนุญาตตามวรรคสอง ให้อธิบดีปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนด และเมื่อได้ออกหนังสือคนประจำเรือหรือได้อนุญาตให้ผู้ใดแล้ว ให้แจ้งให้กรมเจ้าท่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการจัดหางานทราบด้วย ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิคนประจำเรือในการขอหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย หรือขอใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว ให้อธิบดีมีอำนาจออกหนังสือคนประจำเรือ และหลักฐานการอนุญาตให้แก่คนประจำเรือตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งคนประจำเรือต้องเก็บรักษาหลักฐานนั้นไว้กับตัวหรือในสถานที่ที่ปลอดภัยในเรือประมงที่ตนประจำอยู่ การออกหนังสือคนประจำเรือและการอนุญาตตามวรรคสอง ให้ใช้ได้แต่เฉพาะการทำงานในเรือประมงที่ระบุไว้ในหลักฐานการอนุญาต และในบริเวณท่าเทียบเรือประมง และเฉพาะตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในหลักฐานการอนุญาต มาตรา ๘๔ ผู้ใดประสงค์จะใช้ท่าเทียบเรือของตนเป็นท่าเทียบเรือประมงต้องจดทะเบียนเป็นท่าเทียบเรือประมงต่อกรมประมง เว้นแต่ท่าเทียบเรือนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกิจการแพปลาอยู่แล้ว มาตรา ๘๕ เจ้าของท่าเทียบเรือประมงตามมาตรา ๘๔ หรือผู้ประกอบกิจการแพปลาต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเรือประมงทุกลำที่เข้าใช้บริการจอดเรือ ขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือประมง และต้องเก็บบันทึกไว้เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ตามรายการ วิธีการ และระยะเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด ให้เจ้าของท่าเทียบเรือประมงหรือผู้ประกอบกิจการแพปลา ดำเนินการรวบรวมและจัดส่งรายงานการเข้าออกเรือตามมาตรา ๘๑ ไปที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกตามวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๘๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๘๗ ห้ามมิให้เรือประมงที่ทำการประมงพาณิชย์ ขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่า ณ สถานที่อื่นใดนอกจากท่าเทียบเรือประมงตามมาตรา ๘๔ หรือสถานที่ที่เป็นกิจการแพปลาตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ประกาศของอธิบดีตามวรรคหนึ่งอาจกำหนดขนาดของเรือประมงที่สามารถขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือประมงแห่งใดด้วยก็ได้ ให้เจ้าของท่าเทียบเรือประมงหรือผู้ประกอบกิจการแพปลาตามวรรคหนึ่ง จัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำตามแบบและรายการที่อธิบดีประกาศกำหนด และส่งสำเนาให้กรมประมงตามระยะเวลาและวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๘๗ ห้ามมิให้มีการขนถ่ายสัตว์น้ำในทะเล เว้นแต่เป็นการขนถ่ายไปยังเรือประมงที่ได้จดทะเบียนให้เป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเรือเก็บรักษาสัตว์น้ำ โดยเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือที่ทำการประมงต้องได้รับอนุญาตทางวิทยุสื่อสารหรือช่องทางอื่นทำนองเดียวกันจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนทำการขนถ่ายสัตว์น้ำ และต้องรายงานการขนถ่ายสัตว์น้ำซึ่งรับรองความถูกต้องโดยผู้ควบคุมเรือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หลังการดำเนินการขนถ่ายสัตว์น้ำ หลักเกณฑ์และระยะเวลาในการขออนุญาต การอนุญาต และการรายงานการขนถ่ายสัตว์น้ำ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๓๙ มาใช้บังคับกับการขอจดทะเบียนเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือเรือเก็บรักษาสัตว์น้ำตามวรรคหนึ่งด้วยโดยอนุโลม เพื่อประโยชน์ในการป้องกันการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดห้ามมิให้มีการขนถ่ายสัตว์น้ำ โดยจะกำหนดตามประเภทหรือขนาดของเรือ พื้นที่ หรือระยะเวลาที่ห้ามทำการขนถ่ายสัตว์น้ำก็ได้ มาตรา ๘๘ ผู้ใดจะนำเรือประมงที่ได้จดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเรือเก็บรักษาสัตว์น้ำออกไปทำการขนถ่ายสัตว์น้ำต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) ติดตั้งระบบติดตามเรือประมง และดูแลรักษาให้ระบบดังกล่าวสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด (๒) จัดทำหนังสือกำกับการขนถ่ายสัตว์น้ำซึ่งรับรองความถูกต้องโดยผู้ควบคุมเรือ และรายงานให้กรมประมงทราบตามระยะเวลาและโดยวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) แจ้งการเข้าออกท่าเทียบเรือประมงทุกครั้ง ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๘๙ เรือประมงที่ได้จดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเรือเก็บรักษาสัตว์น้ำนอกจากต้องปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้แล้ว ในกรณีที่เป็นการขนถ่ายสัตว์น้ำในทะเลที่อยู่ในเขตของรัฐชายฝั่งใดต้องปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบของรัฐชายฝั่งนั้น และในกรณีที่เป็นการขนถ่ายสัตว์น้ำในทะเลหลวงต้องปฏิบัติตามกฎ หรือระเบียบขององค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ส่วนที่ ๒ หลักฐานเพื่อการสืบค้น มาตรา ๙๐ เพื่อประโยชน์ในการสืบค้นความชอบด้วยกฎหมายของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้จากการประมง ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่รวบรวมและจัดทำหลักฐานเพื่อประกอบการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือ ต้องจัดทำสมุดบันทึกการทำการประมง และส่งรายงานให้กรมประมงตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๑ (๒) (๒) เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเก็บรักษาสัตว์น้ำ ต้องจัดทำหนังสือกำกับการขนถ่ายสัตว์น้ำ และส่งรายงานให้กรมประมงตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๘ (๒) (๓) เจ้าของท่าเทียบเรือประมงหรือผู้ประกอบกิจการแพปลา ต้องจัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำให้แก่ผู้ซื้อ ตามแบบและรายการที่อธิบดีประกาศกำหนด และต้องส่งสำเนาให้กรมประมงตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๖ วรรคสาม (๔) ผู้ซื้อสัตว์น้ำจากท่าเทียบเรือประมงหรือผู้ประกอบกิจการแพปลาตาม (๓) ต้องกรอกข้อมูลในหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำตาม (๓) เมื่อขายหรือส่งมอบสัตว์น้ำนั้นให้บุคคลอื่น (๕) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำหรือแปรรูปสัตว์น้ำ ต้องจัดทำหลักฐานเพื่อการสืบค้น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด (๖) ผู้นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ต้องมีใบรับรองการจับสัตว์น้ำ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงว่าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นได้มาจากการประมงโดยชอบด้วยกฎหมายตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๙๒ มาตรา ๙๑ เพื่อประโยชน์ในการสืบค้นแหล่งที่มาของสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้จากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อธิบดีมีอำนาจกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมตามมาตรา ๗๖ ต้องจัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำให้แก่ผู้ซื้อตามแบบและรายการที่อธิบดีประกาศกำหนด เมื่อผู้ซื้อสัตว์น้ำตามวรรคหนึ่งขายหรือส่งมอบสัตว์น้ำนั้นให้บุคคลอื่น ให้กรอกข้อมูลในแบบรายการตามวรรคหนึ่ง ระบุผู้ซื้อหรือผู้รับมอบสัตว์น้ำนั้นทุกทอดไป มาตรา ๙๒ ภายใต้บังคับมาตรา ๙๖ ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ใดประสงค์จะส่งออกหรือนำผ่านสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ต้องแสดงใบรับรองการจับสัตว์น้ำ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงว่าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นได้มาจากการทำการประมงโดยชอบด้วยกฎหมายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบก่อน ในการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อมีใบรับรองการจับสัตว์น้ำ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงว่าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นได้มาจากการทำการประมงโดยชอบด้วยกฎหมาย การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับการนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่เรือประมงไทยจับได้จากการทำการประมงโดยชอบด้วยกฎหมายเข้ามาในราชอาณาจักร โดยในกรณีเช่นนั้นมิให้ถือว่าเป็นการนำเข้า มาตรา ๙๓ ผู้ส่งออกสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำผู้ใดประสงค์จะขอใบรับรองการจับสัตว์น้ำ หรือใบรับรองการผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำหรือการแปรรูปสัตว์น้ำ ให้ยื่นคำขอต่อกรมประมง ตามแบบ วิธีการ และชำระค่าใช้จ่ายในการออกใบรับรองตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด ส่วนที่ ๓ มาตรการในการตรวจสอบ มาตรา ๙๔ ห้ามมิให้ผู้ใดนำเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยที่มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเข้ามาในราชอาณาจักร ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศรายชื่อเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยที่มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ทราบทั่วกัน โดยให้พิจารณาจากบัญชีรายชื่อเรือประมงที่ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ประกาศโดยรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ มาตรา ๙๕ เรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยที่ประสงค์จะนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเข้ามาในราชอาณาจักร จะต้องแจ้งล่วงหน้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่น้อยกว่าสี่สิบแปดชั่วโมง ก่อนเวลาที่เรือประมงจะเดินทางถึงท่าเทียบเรือ โดยต้องแจ้งข้อมูล และเข้าเทียบท่าตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลตามวรรคหนึ่ง และแจ้งให้ผู้ควบคุมเรือทราบภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงหลังจากที่ได้รับแจ้งการขอเข้าเทียบท่า ในกรณีที่เรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเรือประมงดังกล่าวได้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเกี่ยวข้องกับการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิเสธการเข้าเทียบท่า เว้นแต่เพื่อความปลอดภัยของคนประจำเรือ หรือตัวเรือประมง หรือในกรณีมีเหตุสุดวิสัย มาตรา ๙๖ เมื่อเรือประมงได้รับอนุญาตให้เทียบท่าตามมาตรา ๙๕ และเทียบท่าแล้ว ให้ยื่นคำขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นจากเรือประมงได้ ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่อนุญาตให้นำเข้าตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือจะพิสูจน์ได้ว่า (๑) เรือประมงนั้นมีใบอนุญาตให้ทำการประมงหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประมงซึ่งออกโดยรัฐเจ้าของธงหรือรัฐชายฝั่ง (๒) มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่ามิได้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (๓) เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือทำหนังสือรับรองว่ารัฐเจ้าของธงจะยืนยันในเวลาอันสมควรว่าสัตว์น้ำที่จับได้นั้นเป็นไปตามข้อบังคับขององค์การระหว่างประเทศ ในกรณีที่เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือไม่อาจพิสูจน์ได้ตามวรรคสอง ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้เรือประมงนั้นออกจากราชอาณาจักรได้ภายในเวลาที่กำหนด และแจ้งให้รัฐเจ้าของธง หรือประเทศอื่นที่เกี่ยวข้อง และองค์การระหว่างประเทศเพื่อทราบ ในกรณีที่เรือประมงนั้นไม่ออกนอกราชอาณาจักรภายในเวลาที่กำหนด หรือมีหลักฐานชัดแจ้งว่าเรือนั้นได้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกรณีเป็นเรือไร้สัญชาติ ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ยึดเรือประมงและทรัพย์สินในเรือประมงนั้นออกขายทอดตลาดหรือทำลายได้ เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเมื่อได้หักค่าใช้จ่ายในการขายและค่าใช้จ่ายอื่นแล้ว ให้กรมประมงยึดไว้จนกว่าเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือสามารถพิสูจน์ได้ตามวรรคสอง ในกรณีที่เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือไม่สามารถพิสูจน์ได้ภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ขายทอดตลาด เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้ตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ในการขายทอดตลาดตามวรรคสาม มิให้นำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำออกขายทอดตลาดด้วย โดยให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ทำลายสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำดังกล่าว หรือนำไปดำเนินการเพื่อจ่ายแจกให้แก่ผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสโดยไม่คิดราคา เรือประมงที่ไม่อาจแสดงหลักฐานตามวรรคสองได้ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่าได้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก่อนเข้าเทียบท่า พนักงานเจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้รับบริการเติมเชื้อเพลิงและเสบียง หรือซ่อมบำรุง ตามความจำเป็นก็ได้ มาตรา ๙๗ รัฐมนตรีจะประกาศกำหนดให้เรือประมงที่ทำการประมงพื้นบ้านซึ่งรัฐเจ้าของธงที่มีอาณาเขตติดต่อกับราชอาณาจักรไทยไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙๕ และมาตรา ๙๖ ทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ ในการนี้ รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดแนวปฏิบัติให้เรือดังกล่าวต้องปฏิบัติเพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยก็ได้ หมวด ๘ สุขอนามัยของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ มาตรา ๙๘ ให้เป็นหน้าที่ของกรมประมงในการจัดทำมาตรฐานด้านสุขอนามัยในการจับ การดูแลรักษาสัตว์น้ำ การแปรรูปสัตว์น้ำ การเก็บรักษา การขนส่งหรือขนถ่ายสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการการประมงนำไปใช้ปฏิบัติในกิจการของตนให้ได้สัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้รับการรับรองคุณภาพว่าได้มาตรฐานด้านสุขอนามัย และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค การกำหนดมาตรฐานตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบกิจการการประมงดำเนินการให้ได้มาตรฐานตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายออกหนังสือรับรองการได้มาตรฐานให้แก่ผู้ซึ่งดำเนินการได้มาตรฐานดังกล่าวได้ตามที่ร้องขอ การร้องขอหนังสือรับรองตามวรรคสาม ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด โดยจะกำหนดให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการรับรองด้วยก็ได้ มาตรา ๙๙ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่ รัฐมนตรีจะประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการการประมงทุกประเภทหรือบางประเภท หรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทั้งหมดหรือบางชนิด ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานตามมาตรา ๙๘ ก็ได้ ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการการประมงหรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีประกาศตามวรรคหนึ่งไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรฐาน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบกิจการการประมงหรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแก้ไขให้ถูกต้อง หรือหยุดดำเนินการเป็นเวลาตามที่กำหนด ตามที่เห็นสมควรได้ มาตรา ๑๐๐ ในกรณีที่ปรากฏว่าในที่จับสัตว์น้ำแห่งใดเกิดสภาวะมลพิษ หรือมีการปนเปื้อนของสารพิษหรือสิ่งอื่นใดที่อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือต่อสัตว์น้ำเกินมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศห้ามทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำแห่งนั้นภายในเวลาที่กำหนดได้ หมวด ๙ พนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๑๐๑ บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวังได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกิจการการประมงมีความครบถ้วนและถูกต้อง มาตรา ๑๐๒ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้ (๑) มีหนังสือเรียกผู้รับอนุญาต กรรมการ ผู้จัดการ บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการหรือพนักงานของผู้รับอนุญาตที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการตามพระราชกำหนดนี้ (๒) เข้าไปในสถานที่ประกอบกิจการหรือสถานที่ที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการของผู้รับอนุญาต หรือสถานที่ที่เกี่ยวกับการนำเข้า ส่งออก นำผ่าน จำหน่าย ผลิตหรือแปรรูปสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในระหว่างเวลาทำการ เพื่อตรวจสอบและควบคุมให้การเป็นไปตามพระราชกำหนดนี้ (๓) เข้าไปในสถานที่ประกอบกิจการหรือสถานที่ที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการที่ต้องมีการควบคุมตามมาตรา ๗๖ ในระหว่างเวลาทำการ เพื่อตรวจสอบและควบคุมให้การเป็นไปตามพระราชกำหนดนี้ (๔) ควบคุมเรือประมง หยุดเรือประมง หยุดทำการประมงหรือการขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือสั่งให้ผู้ควบคุมเรือประมงนำเรือประมงเข้าเทียบท่า หรือขึ้นไปบนเรือประมง หรือเข้าไปในที่จับสัตว์น้ำใด เพื่อตรวจสอบและควบคุมให้การเป็นไปตามพระราชกำหนดนี้ ทั้งนี้ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ (๕) ค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในระหว่างเวลาทำการ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ (๖) ยึดหรืออายัดเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบหรือดำเนินคดี (๗) เก็บตัวอย่างสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ หรือวัตถุใด ๆ เพื่อนำไปตรวจสอบ หรือตรวจวิเคราะห์ เพื่อตรวจสอบและควบคุมให้การเป็นไปตามพระราชกำหนดนี้ (๘) ยึดหรืออายัดสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองตามมาตรา ๖๔ หรือมาตรา ๖๕ (๙) ยึดหรืออายัดยา เคมีภัณฑ์ หรือสารอันตรายอื่นใดที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นยา เคมีภัณฑ์ หรือสารอันตรายที่ใช้หรือจะใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา ๗๘ (๔) ในกรณีที่สัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ยา เคมีภัณฑ์ หรือสารอันตรายอื่นใดที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ยึดหรืออายัดไว้ตาม (๘) หรือ (๙) มีสภาพที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์ หรือต่อสัตว์น้ำอื่นหรือสิ่งแวดล้อมของสัตว์น้ำ หรือต่อทรัพย์สินของบุคคลหรือสาธารณสมบัติ ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งทำลายหรือจัดการอย่างอื่นตามที่เห็นสมควร เมื่อได้เข้าไปและทำการตรวจสอบตาม (๒) หรือ (๓) หรือค้นตาม (๕) แล้ว ถ้ายังดำเนินการไม่แล้วเสร็จจะกระทำต่อไปในเวลากลางคืนหรือนอกเวลาทำการของสถานที่นั้นก็ได้ ให้อธิบดีมีอำนาจวางระเบียบในการปฏิบัติการตาม (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) และ (๙) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติ ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามสมควร มาตรา ๑๐๓ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้ซึ่งติดตั้งเครื่องมือทำการประมง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งใด ๆ ลงในที่จับสัตว์น้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือได้รับอนุญาตแต่ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาต หรือปฏิบัติผิดไปจากเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตรื้อถอน หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตภายในเวลาที่กำหนดได้ หากผู้ได้รับคำสั่งไม่ปฏิบัติตามภายในเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการรื้อถอนหรือทำลายเครื่องมือทำการประมง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งใด ๆ นั้นเสียได้ โดยให้ผู้ได้รับคำสั่งเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการนั้น มาตรา ๑๐๔ ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ และเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณี หรือความตกลงที่ประเทศไทยมีอยู่กับองค์การระหว่างประเทศในทุกระดับ เมื่อได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ของประเทศที่มีอำนาจ หรือองค์การระหว่างประเทศที่มีอำนาจควบคุมดูแลการทำการประมงในเขตนั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจและได้รับการคุ้มครองในการขึ้นไปบนเรือไร้สัญชาติ หรือเรือประมงที่พบว่ากำลังทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย บรรดาที่ทำการประมงอยู่นอกน่านน้ำไทยเพื่อตรวจสอบและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้ การขึ้นไปบนเรือประมงเพื่อตรวจสอบตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกำหนด หลักเกณฑ์ดังกล่าวให้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ที่ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติของนานาประเทศและเป็นที่ยอมรับขององค์การสหประชาชาติ และให้นำความในมาตรา ๑๐๕ (๑) มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้แจ้งให้รัฐเจ้าของธงหรือองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องทราบ มาตรา ๑๐๕ ในกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ใดกระทำความผิดหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) บันทึกข้อมูลการฝ่าฝืนที่ต้องสงสัยไว้ในรายงานผลการตรวจสอบ และจัดเก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนที่ต้องสงสัยไว้ และส่งมอบรายงานการตรวจสอบให้แก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย (๒) สั่งยึดเครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีไว้หรือได้มาจากการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือสั่งกักเรือประมงไว้จนกว่าจะมีการพิจารณาและมีคำสั่งตามหมวด ๑๐ หรือหมวด ๑๑ มาตรา ๑๐๖ ให้อธิบดีมีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นที่ได้ขึ้นทะเบียนตามมาตรา ๒๕ (๒) เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งมีหน้าที่ในการช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้ ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอหรือกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแต่งตั้ง การปฏิบัติหน้าที่ และบัตรประจำตัวของบุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ในการปฏิบัติหน้าที่ บุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกครั้ง มาตรา ๑๐๗ ให้เป็นหน้าที่ของอธิบดีต้องจัดให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้ได้ตลอดเวลา แต่ในกรณีมีผู้ขอรับบริการนอกเวลาราชการหรือนอกสถานที่ทำการ ผู้ขอรับบริการต้องชำระค่าธรรมเนียมและค่าป่วยการพิเศษตามอัตราที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๑๐๘ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อผู้รับอนุญาตหรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด มาตรา ๑๐๙ ในการปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา เพื่อประโยชน์ในการจับกุมผู้กระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หมวด ๑๐ มาตรการทางปกครอง มาตรา ๑๑๐ บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรการทางปกครองที่เพียงพอเพื่อให้การปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการใช้โทษทางอาญาที่ได้กำหนดไว้ในหมวด ๑๑ และเพื่อกำหนดการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล มาตรา ๑๑๑ ผู้รับอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้ กฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบที่ออกตามความในพระราชกำหนดนี้ หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาต ให้ผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือระงับการอนุญาตมีกำหนดครั้งละไม่เกินเก้าสิบวัน ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตตามมาตรา ๖๐ มาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ และมาตรา ๗๙ ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขตามวรรคหนึ่งซ้ำ ให้ผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือการอนุญาตได้ มาตรา ๑๑๒ เจ้าของท่าเทียบเรือประมง ผู้ประกอบกิจการแพปลา หรือเจ้าของเรือที่ได้จดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเก็บรักษาสัตว์น้ำ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้ กฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบที่ออกตามความในพระราชกำหนดนี้ ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนได้ มาตรา ๑๑๓ ผู้ใดทำการประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง ให้อธิบดีมีอำนาจสั่ง ดังต่อไปนี้ (๑) ยึดสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงนั้น หรือเครื่องมือทำการประมง (๒) ห้ามทำการประมงจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง (๓) สั่งพักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดครั้งละไม่เกินเก้าสิบวัน โดยจะสั่งห้ามมิให้ใช้เรือประมงนั้นจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาการพักใช้ใบอนุญาตด้วยก็ได้ (๔) เพิกถอนใบอนุญาต และประกาศให้เรือประมงนั้นเป็นเรือที่ใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (๕) กักเรือประมงหรือสั่งให้วางประกัน ในกรณีเรือประมงที่กระทำความผิดเป็นเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทย ในการยึดสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำตาม (๑) อธิบดีจะสั่งให้เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือ ดูแลและเก็บรักษาสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นไว้ในเรือให้อยู่ในสภาพเดิมก็ได้ การสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีคำนึงถึงสภาพความร้ายแรงแห่งความผิด การกระทำผิดซ้ำ และการป้องกันมิให้ผู้กระทำผิดกระทำความผิดซ้ำอีก มาตรา ๑๑๔ การกระทำดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการทำการประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๑๑๓ (๑) ใช้เรือไร้สัญชาติทำการประมงตามมาตรา ๑๐ (๒) ทำการประมงโดยไม่มีใบอนุญาตทำการประมง หรือไม่มีใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทำการประมงตามมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ หรือมาตรา ๔๘ (๓) ไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๑ (๔) จัดทำบันทึกการทำการประมงหรือรายงานการทำการประมงโดยใช้เอกสารอันเป็นเท็จ หรือทำลายเอกสารหรือหลักฐานในการกระทำความผิด (๕) ทำการประมงเกินปริมาณหรือเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๓๖ ทำการประมงในบริเวณที่ห้ามทำการประมงตามมาตรา ๕๖ หรือทำการประมงในห้วงเวลาที่ห้ามทำการประมงตามมาตรา ๗๐ (๖) ดัดแปลงเครื่องมือทำการประมงตามมาตรา ๔๒ หรือใช้เครื่องมือทำการประมงที่ต้องห้ามตามมาตรา ๖๗ มาตรา ๖๘ มาตรา ๖๙ หรือมาตรา ๗๑ (๑) (๗) ทำการประมงโดยฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ที่รัฐชายฝั่งหรือองค์การระหว่างประเทศกำหนดไว้ตามมาตรา ๔๙ (๘) จับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่กำหนดไว้ขึ้นเรือประมงตามมาตรา ๕๗ (๙) จับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำตามที่กำหนดไว้ขึ้นเรือประมงตามมาตรา ๖๖ (๑๐) ขนถ่ายสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๘๗ มาตรา ๘๘ หรือมาตรา ๘๙ (๑๑) ปลอมแปลง ปิดบัง หรือเปลี่ยนเครื่องหมายประจำเรือประมงหรือทะเบียนเรือประมง (๑๒) ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้สังเกตการณ์ ปิดบัง ซ่อนเร้น หรือทำลายหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนของพนักงานเจ้าหน้าที่ (๑๓) มีส่วนร่วม สนับสนุน หรือจัดหาสิ่งจำเป็นให้แก่เรือประมงที่ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (๑๔) กระทำการอันเป็นความผิดในเรื่องอื่นใดที่ไม่ใช่เป็นการกระทำตาม (๑) ถึง (๑๓) เกินสามครั้งภายในหนึ่งปี ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเดียวกันหรือไม่ก็ตาม มาตรา ๑๑๕ ผู้รับอนุญาตผู้ใดไม่เห็นด้วยกับคำสั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือระงับการอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๑๑๑ การเพิกถอนการจดทะเบียนตามมาตรา ๑๑๒ หรือการออกคำสั่งตามมาตรา ๑๑๓ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อบุคคลดังต่อไปนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง (๑) ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ออกคำสั่ง ให้อุทธรณ์ต่ออธิบดี (๒) ในกรณีที่อธิบดีเป็นผู้ออกคำสั่ง ให้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี ให้อธิบดีหรือรัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ การอุทธรณ์คำสั่งตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งนั้น เว้นแต่อธิบดีหรือรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี จะสั่งให้ทุเลาการบังคับไว้ก่อน คำวินิจฉัยของอธิบดีหรือรัฐมนตรี ให้เป็นที่สุด มาตรา ๑๑๖ เรือประมงใดถูกใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้รัฐมนตรีประกาศรายชื่อเรือนั้นให้ทราบทั่วกัน และจะสั่งให้นายทะเบียนเรือตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทยเพิกถอนทะเบียนเรือสำหรับใช้ในการประมงด้วยก็ได้ และเมื่อรัฐมนตรีประกาศรายชื่อเรือประมงนั้น หรือมีการออกคำสั่งเพิกถอนทะเบียนเรือแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เรือนั้นทำการประมงอีกเป็นระยะเวลาตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสองปีนับแต่วันที่มีประกาศรายชื่อดังกล่าว และในระหว่างเวลาดังกล่าว ห้ามไม่ให้เจ้าของท่าเทียบเรือประมงหรือกิจการแพปลายินยอมให้เรือประมงดังกล่าวนำสัตว์น้ำขึ้นเทียบท่าเทียบเรือประมงหรือแพปลาของตน มาตรา ๑๑๗ ประกาศรายชื่อเรือประมงตามมาตรา ๑๑๖ อย่างน้อยต้องมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้ (๑) ชื่อเรือประมงและชื่อเดิม (๒) ธงของเรือประมงและธงสัญชาติเดิมของเรือ (๓) เจ้าของเรือ เจ้าของเรือคนเดิมที่เกี่ยวข้อง และผู้ได้รับผลประโยชน์ของเรือดังกล่าว (๔) เลขทะเบียนหรือหมายเลขประจำเรือที่ออกโดยองค์การระหว่างประเทศ และที่ออกโดยกรมเจ้าท่า (๕) รูปถ่ายของเรือ (๖) วันที่ขึ้นบัญชีรายชื่อ (๗) ระบุการกระทำความผิดที่เป็นเหตุให้ขึ้นบัญชีรายชื่อเรือประมง (๘) ระยะเวลาการเพิกถอนทะเบียนเรือสำหรับใช้ทำการประมง มาตรา ๑๑๘ ให้กรมประมงแจ้งบัญชีรายชื่อเรือประมงที่รัฐมนตรีประกาศตามมาตรา ๑๑๖ ให้แก่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศทราบ มาตรา ๑๑๙ รัฐมนตรีอาจถอนชื่อเรือประมงออกจากบัญชีรายชื่อเรือประมงที่ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ เมื่อ (๑) เจ้าของเรือได้แสดงหลักฐานว่าเรือประมงนั้นมิได้มีความเกี่ยวพันกับการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (๒) เรือประมงนั้นอับปางหรือถูกทำลาย (๓) เมื่อพ้นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสองปีนับแต่เรือประมงถูกประกาศขึ้นบัญชีรายชื่อ และไม่ได้รับรายงานว่าเรือประมงนั้นเกี่ยวข้องกับการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอีก (๔) เจ้าของเรือนั้นได้แสดงหลักฐานว่าได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้เรือนั้นสามารถทำการประมงได้โดยชอบด้วยกฎหมาย หรือขจัดส่วนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายครบถ้วนแล้ว (๕) เจ้าของเรือนั้นได้แสดงพยานหลักฐานให้เป็นที่พอใจได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็น หรือเกี่ยวข้องกับการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด และได้มีมาตรการในการป้องกันตามสมควรแล้ว มาตรา ๑๒๐ ในกรณีที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ หรือผู้รับอนุญาตถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตตามมาตรา ๑๑๑ หรือมาตรา ๑๑๓ ให้ผู้รับอนุญาตจัดการรื้อถอนหรือทำลายเครื่องมือทำการประมง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งใด ๆ ที่เป็นของผู้รับอนุญาต ในที่จับสัตว์น้ำภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุหรือวันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาต แล้วแต่กรณี และให้นำความในมาตรา ๑๐๓ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม หมวด ๑๑ บทกำหนดโทษ มาตรา ๑๒๑ บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดโทษทางอาญาให้เหมาะสมและได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ และป้องปรามการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใด รวมทั้งการป้องกันไม่ให้ผู้กระทำความผิดได้รับประโยชน์จากการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ มาตรา ๑๒๒ ผู้ประกอบอาชีพการประมงหรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประมงผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท มาตรา ๑๒๓ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับจำนวนสามเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงยี่สิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหกแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงห้าล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๒๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่น้อยกว่าสี่แสนบาท แต่ไม่เกินแปดแสนบาทต่อลูกจ้างหรือคนงานที่มีการจ้างงานโดยผิดกฎหมายหนึ่งคน ผู้ใดประกอบกิจการโรงงานอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ วรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละหนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาทตลอดระยะเวลาที่มีการฝ่าฝืน มาตรา ๑๒๕ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๑ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับจำนวนสามเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๒๖ ผู้ทำการประมงพื้นบ้านผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๒๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๔ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๒๘ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๕ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๒๙ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๖ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหกแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงหกล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๓๐ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๘ มาตรา ๔๓ หรือมาตรา ๕๒ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหกแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงหกล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงแล้ว แต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๓๑ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๑ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท มาตรา ๑๓๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๒ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหกแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงหกล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๓๓ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๘ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองล้านบาทถึงสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สิบล้านบาทถึงยี่สิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับยี่สิบล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๓๔ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๙ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองล้านบาทถึงสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับสิบล้านบาทถึงยี่สิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ยี่สิบล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๓๕ ผู้ใดทำการประมงโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๐ ต้องระวางโทษปรับหนึ่งล้านบาท ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับสองล้านบาท มาตรา ๑๓๖ ผู้สังเกตการณ์ผู้ใดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๕๑ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๓๗ เจ้าของเรือประมงผู้ใดไม่ชดใช้ค่าใช้จ่ายตามมาตรา ๕๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือปรับจำนวนสองเท่าของค่าใช้จ่ายตามมาตรา ๕๔ แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๓๘ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๖ หรือมาตรา ๗๐ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงยี่สิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงห้าล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๓๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๗ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงยี่สิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหกแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงห้าล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๔๐ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๘ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงห้าแสนบาท มาตรา ๑๔๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๐ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๔๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๑ ต้องระวางโทษปรับหนึ่งหมื่นบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่มีไว้ในครอบครอง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๔๓ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๒ หรือมาตรา ๖๓ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งล้านบาท และต้องรื้อถอนหรือฟื้นฟูที่จับสัตว์น้ำให้กลับคืนสู่สภาพธรรมชาติ หรือชดใช้ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนหรือฟื้นฟูที่จับสัตว์น้ำให้กลับคืนสู่สภาพตามธรรมชาติให้แก่รัฐตามจำนวนที่รัฐได้ใช้จ่ายไป มาตรา ๑๔๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๔ หรือมาตรา ๖๕ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง นำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๔๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๖ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสามล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่จับหรือนำขึ้นเรือประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๔๖ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๗ (๑) ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๔๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๗ (๒) (๓) หรือ (๔) มาตรา ๖๙ หรือมาตรา ๗๑ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงยี่สิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหกแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงหกล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๔๘ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๘ ต้องระวางโทษปรับจำนวนสามเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง มาตรา ๑๔๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๗ หรือมาตรา ๗๙ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๘ (๑) (๕) (๖) หรือ (๗) ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท และปรับวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่มีการฝ่าฝืน รวมทั้งต้องดำเนินการฟื้นฟูหรือชำระค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูที่จับสัตว์น้ำ หรือสภาพสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการให้กลับสู่สภาพตามธรรมชาติ มาตรา ๑๕๐ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๘ (๒) (๓) หรือ (๔) ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสามแสนบาท มาตรา ๑๕๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘๑ (๑) หรือ (๔) หรือมาตรา ๘๘ (๑) ต้องระวางโทษปรับสองหมื่นบาท ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับสองแสนบาท ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับหนึ่งล้านบาท ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับสี่ล้านบาท มาตรา ๑๕๒ ผู้ใดทำการประมงหรือขนถ่ายสัตว์น้ำโดยมิได้รายงานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๑ (๒) หรือ (๓) มาตรา ๘๒ หรือมาตรา ๘๘ (๒) หรือ (๓) หรือทำรายงานอันเป็นเท็จ หรือไม่นำเรือกลับเข้าท่าเทียบเรือประมงตามมาตรา ๘๑ (๕) ต้องระวางโทษปรับหนึ่งหมื่นบาท ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับหนึ่งแสนบาท ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับห้าแสนบาท ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับสองล้านบาท มาตรา ๑๕๓ เจ้าของเรือประมงผู้ใดใช้คนประจำเรือซึ่งไม่มีหนังสือคนประจำเรือ หรือไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๘๓ ต้องระวางโทษปรับไม่น้อยกว่าสี่แสนบาท แต่ไม่เกินแปดแสนบาทต่อคนประจำเรือดังกล่าวหนึ่งคน และให้อธิบดีมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมงของเจ้าของเรือประมง และให้อธิบดีกรมเจ้าท่ามีคำสั่งเพิกถอนประกาศนียบัตรนายเรือของผู้ควบคุมเรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยด้วย มาตรา ๑๕๔ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๔ หรือมาตรา ๘๕ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท มาตรา ๑๕๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘๖ วรรคหนึ่ง มาตรา ๘๗ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๙ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ทำการขนถ่าย แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ทำการขนถ่าย แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงห้าล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ทำการขนถ่าย แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าล้านบาทถึงยี่สิบห้าล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ทำการขนถ่าย แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๕๖ เจ้าของท่าเทียบเรือประมง ผู้ประกอบกิจการแพปลา ผู้ประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ต้องมีการควบคุม หรือผู้ซื้อสัตว์น้ำจากบุคคลดังกล่าวผู้ใดไม่จัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ หรือจัดทำเอกสารหรือกรอกข้อมูลอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งล้านบาท มาตรา ๑๕๗ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำหรือแปรรูปสัตว์น้ำผู้ใดไม่จัดทำหลักฐานเพื่อการสืบค้น หรือทำหลักฐานเพื่อการสืบค้นเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองล้านบาท มาตรา ๑๕๘ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๒ วรรคหนึ่ง หรือแสดงใบรับรองการจับสัตว์น้ำ หรือเอกสารอื่นใดตามมาตรา ๙๒ วรรคสอง อันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน มาตรา ๑๕๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๔ วรรคหนึ่ง หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๙๖ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๖๐ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๙๗ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือปรับจำนวนสามเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มาตรา ๑๖๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๖๒ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ออกตามมาตรา ๑๐๒ (๑) หรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๐๒ วรรคห้า หรือฝ่าฝืนตามคำสั่งอธิบดีตามมาตรา ๑๑๓ (๒) ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาท ในกรณีผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคล ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท ในกรณีการฝ่าฝืนคำสั่งอธิบดีตามมาตรา ๑๑๓ (๒) เป็นกรณีที่ใช้เรือขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป ให้ปรับเพิ่มขึ้นตามขนาดของเรือในส่วนที่เกินสิบตันกรอสขึ้นไป ตันกรอสละหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๑๖๓ ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๖๔ ผู้ใดนำข้อมูลที่ได้รับจากระบบติดตามเรือประมงหรือบันทึกการทำการประมงซึ่งเป็นข้อมูลที่ตามปกติวิสัยจะพึงสงวนไว้ไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการเปิดเผยตามอำนาจหน้าที่ หรือเปิดเผยแก่ทางราชการ หรือหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการติดตาม ตรวจสอบ และควบคุมการทำการประมง มาตรา ๑๖๕ ผู้ใดปลอมแปลง ปิดบัง หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายประจำเรือประมง หรือทะเบียนเรือประมง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงยี่สิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหกแสนบาท ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงหกล้านบาท ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท มาตรา ๑๖๖ ผู้สนับสนุนหรือได้รับผลตอบแทนจากการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น มาตรา ๑๖๗ ในกรณีที่มีการกระทำความผิดที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงซ้ำภายในห้าปี อัตราโทษตามที่กำหนดไว้ในแต่ละมาตราให้เพิ่มเป็นสองเท่า มาตรา ๑๖๘ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชกำหนดนี้เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของผู้ใด หรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของผู้ใด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นด้วย มาตรา ๑๖๙ เครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เรือประมง หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ ให้ริบเสียทั้งสิ้น เว้นแต่เป็นกรณีเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทย ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองได้วางประกันไว้ตามที่ศาลกำหนดแล้ว ให้ศาลสั่งปล่อยเรือนั้นไป มาตรา ๑๗๐ บรรดาความผิดตามพระราชกำหนดนี้ ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบมีอำนาจเปรียบเทียบได้ คณะกรรมการเปรียบเทียบตามวรรคหนึ่ง ให้ประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ และผู้แทนกรมประมง เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้มีทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและในส่วนภูมิภาคได้ตามที่รัฐมนตรีกำหนดตามความเหมาะสม หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาของคณะกรรมการเปรียบเทียบให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด โดยให้คำนึงถึงสภาพความร้ายแรงของการกระทำความผิด การกระทำความผิดซ้ำ และการป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำความผิดซ้ำอีก เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเปรียบเทียบแล้ว และยกสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ถูกยึดไว้ให้แก่ทางราชการแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๙๖ วรรคสี่ มาใช้บังคับกับสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ผู้ต้องหายกไว้ให้แก่ทางราชการตามวรรคสี่ด้วยโดยอนุโลม บทเฉพาะกาล มาตรา ๑๗๑ บรรดาพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการประมงที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชกำหนดนี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งตามพระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ มาตรา ๑๗๒ ให้บรรดาที่รักษาพืชพันธุ์ที่ประกาศกำหนดอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ เป็นเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำตามพระราชกำหนดนี้ มาตรา ๑๗๓ บรรดาประทานบัตร อาชญาบัตร การอนุญาต หรือใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามกฎหมายว่าด้วยการประมงก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน มาตรา ๑๗๔ ผู้ใดทำการประมงโดยใช้เรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงสิบห้าตันกรอสและได้จดทะเบียนเป็นเรือสำหรับการประมง และได้รับอาชญาบัตรอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ อธิบดีจะอนุญาตให้ทำการประมงพื้นบ้านต่อไปจนกว่าจะเลิกทำการประมงก็ได้ มาตรา ๑๗๕ ผู้ใดทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามพระราชกำหนดนี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้วให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาต มาตรา ๑๗๖ ให้กรมประมงจัดให้มีการขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อัตราค่าอากร ใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทำการประมงตามประเภทเครื่องมือทำการประมง (๑) ประเภทเครื่องมืออวนลาก เมตรละ ๕๐๐ บาท (๒) ประเภทเครื่องมืออวนล้อมจับ เมตรละ ๒๐ บาท (๓) ประเภทเครื่องมืออวนช้อน อวนยก หรืออวนครอบ เมตรละ ๓๐ บาท (๔) ประเภทเครื่องมืออวนติดตาหรือข่าย เมตรละ ๒ บาท (๕) ประเภทเครื่องมืออวนอื่น เมตรละ ๑๐ บาท (๖) ประเภทเครื่องมือคราด อันละ ๓,๔๐๐ บาท (๗) ประเภทเครื่องมือโป๊ะ ลูกละ ๔,๐๐๐ บาท (๘) ประเภทเครื่องมือลอบ ลูกละ ๒๐ บาท (๙) ยอขันช่อ ช้อนขันช่อ ช้อนสนั่น หรือช้อนหางเหยี่ยวมีเครื่องยก ปากละ ๖๐๐ บาท (๑๐) ช้อนปีก ยอปีก หรือบาม ปากละ ๘๐๐ บาท (๑๑) ช้อนอื่นนอกจาก (๙) และ (๑๐) ที่มีปากกว้าง ตั้งแต่ ๓.๕ เมตรขึ้นไป ปากละ ๒๐๐ บาท (๑๒) เบ็ดราวยาวตั้งแต่ ๑๐๐ เมตรขึ้นไป สายละ ๘๐ บาท (๑๓) แหยาวตั้งแต่สามเมตรขึ้นไป ปากละ ๒๐๐ บาท (๑๔) ประเภทเครื่องมืออื่น ๆ หน่วยละ ๑,๐๐๐ บาท อัตราค่าธรรมเนียม (๑) ใบอนุญาตทำการประมง ฉบับละ ๑๐,๐๐๐ บาท (๒) ใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ ของแผ่นดิน ตารางเมตรละ ๕ บาท (๓) ใบอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน สัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ฉบับละ ๕๐๐ บาท (๔) การจดทะเบียนเรือเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือเก็บรักษาสัตว์น้ำ ฉบับละ ๑๐,๐๐๐ บาท (๕) ใบอนุญาตให้ทำงานในเรือประมง ฉบับละ ๕๐๐ บาท (๖) ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ ๑๐๐ บาท (๗) การโอนใบอนุญาต ฉบับละ ๑๐๐ บาท (๘) การต่ออายุใบอนุญาต ครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมใบอนุญาต หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ยังขาดมาตรการในการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำการประมงในน่านน้ำไทยและนอกน่านน้ำไทย เพื่อป้องกันมิให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งยังขาดการบริหารจัดการการทำการประมงให้สอดคล้องกับการผลิตสูงสุดของธรรมชาติเพื่อให้สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน และหากไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนอาจมีผลกระทบต่อการประมงของประเทศไทย ดังนั้น เพื่อเพิ่มมาตรการในการควบคุม เฝ้าระวัง สืบค้น และตรวจสอบการประมง อันเป็นการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และกำหนดแนวทางในการอนุรักษ์และบริหารจัดการแหล่งทรัพยากรประมงและสัตว์น้ำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน และโดยที่การดำเนินการดังกล่าวต้องกระทำให้แล้วเสร็จโดยรวดเร็วเพื่อมิให้กระทบต่อการส่งออกสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของประเทศไทยซึ่งเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ ปริยานุช/ปุณิกา/จัดทำ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ พจนา/ตรวจ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๑๐๘ ก/หน้า ๑/๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
726746
พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ การประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการประมง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิก (๑) พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (๒) พระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ (๓) พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๕๑๓ (๔) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๕ ลงวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ (๕) พระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้ “สัตว์น้ำ” หมายความว่า สัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำเป็นปกติ สัตว์จำพวกสะเทินน้ำสะเทินบกสัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณน้ำท่วมถึง สัตว์ที่มีการดำรงชีวิตส่วนหนึ่งอยู่ในน้ำ สัตว์ที่มีวงจรชีวิตช่วงหนึ่งที่อาศัยอยู่ในน้ำเฉพาะช่วงชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ รวมทั้งไข่และน้ำเชื้อของสัตว์น้ำ และสาหร่ายทะเลซากหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของสัตว์น้ำเหล่านั้น และให้หมายความรวมถึงพันธุ์ไม้น้ำตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดและซากหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพันธุ์ไม้น้ำนั้นด้วย “ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ” หมายความว่า ผลิตผลที่ได้จากการผลิตที่ใช้สัตว์น้ำเป็นวัตถุดิบ “การประมง” หมายความว่า การทำการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การดูแลรักษาสัตว์น้ำหลังการจับ หรือการแปรรูปสัตว์น้ำ “ทำการประมง” หมายความว่า จับ ดัก ล่อ ยิง แทง ทำอันตราย ฆ่า หรือเก็บสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือทำการประมงหรือด้วยวิธีใด ๆ “การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” หมายความว่า การจัดทำที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การเลี้ยงสัตว์น้ำหรือการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำทั้งโดยวิธีธรรมชาติ วิธีผสมเทียม หรือวิธีอื่นใด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำในช่วงใดของวงจรชีวิตสัตว์น้ำนั้น “การดูแลรักษาสัตว์น้ำหลังการจับ” หมายความว่า การดูแลรักษาคุณภาพสัตว์น้ำหลังการจับก่อนถึงกระบวนการการแปรรูปสัตว์น้ำ “การแปรรูปสัตว์น้ำ” หมายความว่า การกระทำใด ๆ ที่เป็นการเปลี่ยนสภาพสัตว์น้ำสำหรับใช้เพื่อการอุปโภคหรือบริโภค “ผู้ประกอบอาชีพการประมง” หมายความว่า บุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือนิติบุคคล ซึ่งมีอาชีพเป็นผู้ประกอบการประมงเป็นอาชีพปกติ “ที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” หมายความว่า บ่อ คอก กระชัง หรือที่ที่ใช้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำลักษณะอื่นใดไม่ว่าจะอยู่ในที่ดินของเอกชน หรือในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือในที่จับสัตว์น้ำใด ๆ ที่ผู้ขุด ผู้สร้าง ผู้จัดทำ เจ้าของ หรือผู้ครอบครองมีความมุ่งหมายโดยตรงที่จะใช้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ “ที่จับสัตว์น้ำ” หมายความว่า ที่ที่มีน้ำขังหรือไหล และหาดทั้งปวงที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งป่าไม้และพื้นดินที่มีน้ำท่วมตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินของเอกชนและภายในเขตน่านน้ำไทยหรือน่านน้ำอื่นใด ซึ่งประเทศไทยใช้อยู่หรือมีสิทธิจะใช้ในการทำการประมงโดยที่น่านน้ำเหล่านั้นปรากฏโดยทั่วไปว่ามีขอบเขตตามกฎหมายท้องถิ่น หรือธรรมเนียมประเพณีหรือกฎหมายระหว่างประเทศ หรือสนธิสัญญา หรือด้วยประการอื่นใด “เครื่องมือทำการประมง” หมายความว่า เครื่องกลไก เครื่องใช้ เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบอาวุธ เสา หลัก หรือเรือที่ใช้ทำการประมง “เรือประมง” หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิดที่ใช้ทำการประมง ขนถ่าย หรือเก็บรักษาสัตว์น้ำที่ได้จากยานพาหนะทางนํ้าทุกชนิดที่ใช้ทำการประมง “ทำการประมงนอกน่านน้ำไทย” หมายความว่า ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำนอกน่านน้ำไทยและให้หมายความรวมถึงการขนถ่าย หรือเก็บรักษาสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงนอกน่านน้ำไทยด้วย “น่านน้ำไทย” หมายความว่า บรรดาน่านน้ำที่อยู่ในราชอาณาจักร และให้หมายความรวมถึงน่านน้ำที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะตามประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของราชอาณาจักรไทยด้วย “แนวชายฝั่งทะเล” หมายความว่า แนวความลึกน้ำศูนย์เมตรหรือแนวที่น้ำทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายฝั่ง ชายเกาะ หรือขอบนอกของพื้นที่ที่มีการถมทะเล ตามแผนที่เดินเรือของกรมอุทกศาสตร์ “ผู้ควบคุมเรือ” หมายความว่า ผู้มีหน้าที่บังคับเรือและรับผิดชอบในเรือ “สถิติการประมง” หมายความว่า ข้อมูลที่เกี่ยวกับการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ หรือที่เกี่ยวกับสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ “ผู้รับอนุญาต” หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมประมง “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าอากรและค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ลดหรือยกเว้นค่าอากรและค่าธรรมเนียม กำหนดอายุใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และกำหนดกิจการอื่น และออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ การออกกฎกระทรวงกำหนดค่าอากรหรือค่าธรรมเนียมตามวรรคหนึ่งจะกำหนดอัตราค่าอากรหรือค่าธรรมเนียมให้แตกต่างกันโดยคำนึงถึงประเภท ชนิด ขนาด หรือจำนวนของเครื่องมือทำการประมงหรือประเภท ชนิด ขนาด ลักษณะ หรือรูปแบบของกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือการทำการประมงก็ได้ กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ หมวด ๑ การบริหารจัดการด้านการประมง ส่วนที่ ๑ บททั่วไป มาตรา ๖ รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดโดยอนุมัติรัฐมนตรีภายในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบเฉพาะในเขตประมงน้ำจืดและเขตประมงทะเลชายฝั่ง มีอำนาจออกประกาศ ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดประเภท ชนิด ขนาด จำนวน และส่วนประกอบต่าง ๆ ของเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ (๒) กำหนดวิธีการทำการประมงที่ห้ามนำมาใช้ในที่จับสัตว์น้ำ (๓) กำหนดชนิด ขนาด หรือปริมาณอย่างสูงของสัตว์น้ำที่ห้ามทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ รวมทั้งข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับสัตว์น้ำนั้นที่ถูกจับได้โดยบังเอิญ (๔) กำหนดที่จับสัตว์น้ำที่ห้ามทำการประมง (๕) กำหนดพื้นที่ที่จะอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (๖) กำหนดระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่และวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน หรือระยะเวลาอื่นใดที่จำเป็นต่อการคุ้มครองสัตว์น้ำเป็นระยะเวลาที่ห้ามทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ (๗) กำหนดให้ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมือทำการประมงประเภทหรือชนิดหนึ่งชนิดใดต้องทำเครื่องหมาย ทั้งนี้ ตามรูปแบบ ขนาด และตำแหน่งที่กำหนดไว้ที่เครื่องมือทำการประมงนั้นในขณะทำการประมง (๘) กำหนดพื้นที่ที่จะให้ใช้เครื่องมือทำการประมงที่ต้องใช้วิธีลงหลัก ปัก ผูก ขึง รั้ง ถ่วง หรือวิธีอื่นใดอันทำให้เครื่องมือนั้นอยู่กับที่ในเวลาทำการประมง ประกาศตามวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การกระทำเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยหรือการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำซึ่งกระทำโดยทางราชการและได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายแล้ว และในกรณีที่เป็นการออกประกาศเพื่อใช้บังคับในเขตพื้นที่ใดเป็นการเฉพาะ ให้มีแผนที่แสดงแนวเขตบริเวณที่กำหนดนั้นแนบท้ายประกาศด้วย เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศเพื่อกำหนดเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดในเขตประมงทะเลชายฝั่ง มาตรา ๗ ในกรณีที่การออกประกาศตามมาตรา ๖ จะต้องดำเนินการในเขตพื้นที่ที่คาบเกี่ยวกันระหว่างพื้นที่ของสองจังหวัดขึ้นไป เนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์หรือระบบนิเวศตามธรรมชาติของพื้นที่นั้น หรือเพื่อประโยชน์ในการจัดการอย่างเป็นระบบในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณา เพื่อเสนอรัฐมนตรีในการออกประกาศ มาตรา ๘ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ รวมทั้งกำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพการประมงหรืออาชีพในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประมงในพื้นที่ดังกล่าวต้องมาจดทะเบียนหรือจดทะเบียนและขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนประกอบอาชีพได้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอจดทะเบียน หรือการจดทะเบียน และการออกใบอนุญาต รวมทั้งการขอรับใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาตให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๙ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดการการบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรสัตว์น้ำภายในที่จับสัตว์น้ำในเขตประมงน้ำจืดหรือเขตประมงทะเลชายฝั่ง ให้กรมประมงดำเนินการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนในเรื่องดังต่อไปนี้ (๑) สนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดทำนโยบายการพัฒนาการประมงในน่านน้ำไทยให้สอดคล้องกับปริมาณของทรัพยากรสัตว์น้ำและขีดความสามารถในการทำการประมงตามมาตรา ๑๖ (๑) (๒) สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มและจัดให้มีการขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น (๓) ให้คำปรึกษาแก่ชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำ รวมทั้งช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินงาน โครงการ หรือกิจกรรมของชุมชนในเรื่องดังกล่าว (๔) เผยแพร่ความรู้หรือข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำ มาตรา ๑๐ นิติบุคคล คณะบุคคล หรือองค์กรอื่นใดที่มีวัตถุประสงค์หรือกิจกรรมเกี่ยวข้องโดยตรงกับการประมงในท้องถิ่นใด มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในเขตพื้นที่ที่องค์กรนั้นตั้งอยู่ต่อกรมประมง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๑๑ องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นที่ได้ขึ้นทะเบียนตามมาตรา ๑๐ มีสิทธิเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาการประมง รวมทั้งเสนอแนะแนวทางในการออกประกาศตามมาตรา ๖ มาตรา ๔๕ มาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑ ต่อคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด มาตรา ๑๒ ให้อธิบดีมีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นที่ได้ขึ้นทะเบียนตามมาตรา ๑๐ เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแต่งตั้ง การปฏิบัติหน้าที่ และบัตรประจำตัวของบุคคล ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในการปฏิบัติหน้าที่ บุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อผู้ซึ่งเกี่ยวข้องทุกครั้ง ส่วนที่ ๒ คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ มาตรา ๑๓ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ” ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินสิบคนเป็นกรรมการ ให้อธิบดีเป็นกรรมการและเลขานุการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ให้แต่งตั้งจากบุคคลดังต่อไปนี้ (๑) ผู้แทนสมาคมในด้านการประมงทะเลชายฝั่ง ด้านการประมงทะเลนอกชายฝั่ง ด้านการประมงน้ำจืด ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ด้านการแปรรูปสัตว์น้ำ และด้านการประมงนอกน่านน้ำไทย ด้านละหนึ่งคน (๒) ผู้มีความรู้หรือประสบการณ์ดำเนินงานในองค์กรสาธารณประโยชน์ ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จำนวนสองคน (๓) นักวิชาการด้านการประมง จำนวนไม่เกินสองคน หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด มาตรา ๑๔ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี ในกรณีรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างหรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้น อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนตำแหน่งที่ว่างลงตามวรรคสอง หากวาระที่เหลืออยู่นั้นไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน รัฐมนตรีจะไม่แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นแทนก็ได้ เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้ มาตรา ๑๕ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) รัฐมนตรีให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ (๔) เป็นบุคคลล้มละลาย (๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ มาตรา ๑๖ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดนโยบายการพัฒนาการประมงในน่านน้ำไทยให้สอดคล้องกับปริมาณของทรัพยากรสัตว์น้ำและขีดความสามารถในการทำการประมง (๒) กำหนดนโยบายการพัฒนาการประมงนอกน่านน้ำไทย (๓) กำหนดนโยบายการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศ (๔) กำหนดนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านการประมงของประเทศ (๕) เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบนโยบายที่ได้จัดทำตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔) (๖) กำหนดปริมาณสูงสุดของสัตว์น้ำที่จะทำการประมงภายในน่านน้ำไทย (๗) กำหนดแนวทางและเป้าหมายในการพัฒนาการประมงของประเทศให้สอดคล้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม (๘) กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสมและสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน (๙) กำกับ ให้คำปรึกษา และแนะนำในการดำเนินการแก่คณะกรรมการการประมงนอกน่านน้ำไทย (๑๐) จัดทำรายงานผลการดำเนินงานประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (๑๑) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย มาตรา ๑๗ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีหนึ่งเสียงในการลงคะแนนถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด มาตรา ๑๘ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการประมงทะเลชายฝั่ง ด้านการประมงทะเลนอกชายฝั่ง ด้านการประมงน้ำจืด ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ด้านการแปรรูปสัตว์น้ำ และมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านอื่นเพื่อปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดแทนหรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย การประชุมคณะอนุกรรมการ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ส่วนที่ ๓ คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด มาตรา ๑๙ ให้มีคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดทุกจังหวัด ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกรมเจ้าท่า อัยการจังหวัด พาณิชย์จังหวัด นายอำเภอในเขตท้องที่ที่มีการประมง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประธานสภาเกษตรกรจังหวัด เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจำนวนไม่เกินสิบสามคน เป็นกรรมการ ให้ประมงจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ ในจังหวัดใดมีอาณาเขตติดต่อกับชายฝั่งทะเลหรือแม่น้ำโขง ให้มีผู้แทนกองทัพเรือเป็นกรรมการโดยตำแหน่งเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ให้แต่งตั้งจากบุคคลดังต่อไปนี้ (๑) ผู้แทนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในด้านการประมงทะเลชายฝั่ง ด้านการประมงทะเลนอกชายฝั่ง ด้านการประมงน้ำจืด ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือด้านการแปรรูปสัตว์น้ำที่ได้ขึ้นทะเบียนตามมาตรา ๑๐ ด้านละไม่เกินสองคน (๒) ผู้มีความรู้หรือประสบการณ์ดำเนินงานในด้านการประมงหรือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวนไม่เกินสามคน ในจังหวัดใดไม่มีผู้แทนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นด้านหนึ่งด้านใด ให้แต่งตั้งผู้แทนตาม (๑) ด้านอื่นเพิ่มขึ้นได้ตามสัดส่วนของผู้แทนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นด้านนั้น หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด มาตรา ๒๐ คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) รวบรวมข้อเสนอแนะและแนวทางในการส่งเสริมอาชีพการประมง การจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบเสนอต่อคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาจัดทำนโยบายพัฒนาการประมงในน่านน้ำไทยให้สอดคล้องกับปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำและขีดความสามารถในการทำการประมงตามมาตรา ๑๖ (๑) (๒) พิจารณาและเสนอแนวทางในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาการประมงหรือการจัดการการบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ในที่จับสัตว์น้ำในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบต่อรัฐมนตรีคณะกรรมการ หรืออธิบดี (๓) ออกประกาศตามมาตรา ๖ มาตรา ๔๕ มาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (๔) ดำเนินการอื่นตามที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการมอบหมาย ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนในการออกประกาศตามมาตรา ๖ หรือมาตรา ๔๕ ให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดมีอำนาจออกประกาศบังคับใช้เป็นการชั่วคราวมีกำหนดระยะเวลาไม่เกินหกสิบวัน และให้รัฐมนตรีพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาหกสิบวันนับจากวันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ในกรณีที่รัฐมนตรีพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคสองให้ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งไม่อนุมัติจากรัฐมนตรี มาตรา ๒๑ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๗ และมาตรา ๑๘ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดโดยอนุโลม ส่วนที่ ๔ สถิติการประมง มาตรา ๒๒ เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมสถิติการประมงและการบริหารจัดการด้านการประมง ให้ผู้ที่เริ่มประกอบอาชีพการประมงแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบอาชีพของตนต่อกรมประมงภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เริ่มประกอบอาชีพการประมง หลักเกณฑ์และวิธีการในการแจ้งข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๒๓ การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบอาชีพการประมงตามมาตรา ๒๒ อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้ (๑) ชื่อและที่อยู่ของผู้ประกอบอาชีพการประมง (๒) ประเภทของอาชีพการประมง (๓) จำนวนเครื่องมือทำการประมงที่มีอยู่ในครอบครอง (๔) สถานที่ที่ใช้ในการประกอบอาชีพการประมง (๕) วันเริ่มต้นประกอบอาชีพการประมง มาตรา ๒๔ การเปลี่ยนแปลงรายการใด ๆ ตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๒ หรือการเลิกประกอบอาชีพการประมง ให้ผู้ประกอบอาชีพการประมงแจ้งต่อกรมประมงภายในสามสิบวัน นับแต่วันเปลี่ยนแปลงหรือเลิกประกอบอาชีพการประมง มาตรา ๒๕ ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบและจัดเก็บสถิติการประมงให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ที่ใช้ในการประกอบอาชีพการประมงหรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการประมงในเวลาทำการของสถานที่นั้น ในการดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ประกอบอาชีพการประมงหรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องมีหน้าที่ตอบคำถาม อำนวยความสะดวก และช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามสมควร ส่วนที่ ๕ การควบคุม มาตรา ๒๖ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ เว้นแต่เป็นการทดลองเพื่อประโยชน์ทางวิชาการและได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย (๑) ปล่อย เท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้วัตถุอันตรายตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดลงสู่ที่จับสัตว์น้ำ (๒) กระทำการใด ๆ อันทำให้สัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำมึนเมา (๓) ปล่อย เท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้สิ่งใดลงสู่ที่จับสัตว์น้ำในลักษณะที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำ (๔) ทำให้ที่จับสัตว์น้ำเกิดมลพิษในลักษณะที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำ ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การกระทำอันจำเป็นโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ของทางราชการทหาร หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด มาตรา ๒๗ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมงหรือใช้วัตถุระเบิดในที่จับสัตว์น้ำเว้นแต่เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของทางราชการและได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การใช้วัตถุระเบิดเพื่อประโยชน์ของทางราชการทหาร หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด มาตรา ๒๘ ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสัตว์น้ำ โดยรู้ว่าเป็นสัตว์น้ำที่ได้มาโดยการกระทำความผิดตามมาตรา ๒๖ หรือมาตรา ๒๗ มาตรา ๒๙ ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกบัว ข้าว ปอ พืชหรือพันธุ์ไม้น้ำอื่นใดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในที่จับสัตว์น้ำซึ่งมิใช่ที่ของเอกชน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๓๐ ห้ามมิให้ผู้ใดวิดน้ำหรือทำให้น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งมิใช่ที่ของเอกชนแห้งหรือลดน้อยลงเพื่อทำการประมง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้ผู้ใดทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่จับสัตว์น้ำซึ่งมิใช่ที่ของเอกชน ให้ผิดไปจากสภาพที่เป็นอยู่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๓๒ ห้ามมิให้ผู้ใดติดตั้ง วาง หรือสร้างเขื่อน ฝาย ทำนบ รั้ว สิ่งปลูกสร้าง เครื่องมือที่เป็นตาข่าย หรือเครื่องมือทำการประมงอื่นใดในที่จับสัตว์น้ำกั้นทางเดินของสัตว์น้ำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การกระทำเพื่อประโยชน์ในการป้องกันสาธารณภัยหรือเพื่อประโยชน์ของทางราชการในการชลประทาน หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๓๓ ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำตามประเภท ชนิด ลักษณะ จำนวน หรือขนาดที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่สัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ห้ามมีไว้ในครอบครองตามวรรคหนึ่ง เป็นสัตว์น้ำที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์หรือต่อสัตว์น้ำอื่น สิ่งแวดล้อมของสัตว์น้ำ ทรัพย์สินของบุคคลหรือสาธารณสมบัติ หรือเป็นผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ ในการออกกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่ง ให้กำหนดไว้ด้วยว่า ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองโดยเด็ดขาด รวมทั้งให้กำหนดระยะเวลาสำหรับผู้ซึ่งมีสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นไว้ในครอบครองส่งมอบสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งทำลายสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีการส่งมอบให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคสองหรือจัดการอย่างอื่นตามที่เห็นสมควร หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการออกใบอนุญาต รวมทั้งการขอรับใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่การครอบครองสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของทางราชการเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ มาตรา ๓๔ ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำตามที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา ๓๓ วรรคหนึ่ง ก่อนวันที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะมีไว้ในครอบครอง ซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นต่อไป ต้องยื่นคำขออนุญาตตามมาตรา ๓๓ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับ ในกรณีที่ได้ยื่นคำขออนุญาตตามวรรคหนึ่งแล้วแต่ไม่ได้รับใบอนุญาต ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ผู้ยื่นคำขออนุญาตดังกล่าวส่งมอบสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๓ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม มาตรา ๓๕ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดต่อสิ่งแวดล้อมหรือสัตว์น้ำอื่นหรือการก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์หรือต่อทรัพย์สินของบุคคลหรือสาธารณสมบัติ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดประเภท ชนิด หรือลักษณะของสัตว์น้ำที่ห้ามปล่อยลงสู่ที่จับสัตว์น้ำแห่งหนึ่งแห่งใดได้ ห้ามมิให้ผู้ใดปล่อยสัตว์น้ำลงสู่ที่จับสัตว์น้ำตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด มาตรา ๓๖ ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งเครื่องมือทำการประมงที่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำอย่างร้ายแรงตามประเภท ชนิด ส่วนประกอบ หรือลักษณะที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่เป็นการครอบครองเพื่อประโยชน์ทางวิชาการหรือมิได้นำไปใช้เพื่อทำการประมงและได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๓๗ เพื่อประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวังการทำการประมงในเรื่องใด ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจในการออกประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้ประกอบอาชีพการประมงปฏิบัติได้ หมวด ๒ เขตการประมง ส่วนที่ ๑ การกำหนดเขตการประมง มาตรา ๓๘ เขตการประมงแบ่งออกเป็นสามเขต ได้แก่ เขตประมงทะเลชายฝั่ง เขตประมงทะเลนอกชายฝั่ง และเขตประมงน้ำจืด มาตรา ๓๙ เขตประมงทะเลชายฝั่ง ได้แก่ เขตที่จับสัตว์น้ำในทะเลที่อยู่ภายในน่านน้ำไทยนับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปสามไมล์ทะเล ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดให้เขตประมงทะเลชายฝั่งในบริเวณใดมีระยะนับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปได้ไม่เกินสิบสองไมล์ทะเล โดยให้มีแผนที่แสดงแนวเขตบริเวณที่กำหนดแนบท้ายกฎกระทรวงด้วย มาตรา ๔๐ เขตประมงทะเลนอกชายฝั่ง ได้แก่ เขตที่จับสัตว์น้ำที่อยู่ภายในน่านน้ำไทยนับจากด้านที่ติดกับเขตประมงทะเลชายฝั่งตามมาตรา ๓๙ ออกไปจนสุดเขตน่านน้ำไทย มาตรา ๔๑ เขตประมงน้ำจืด ได้แก่ เขตที่จับสัตว์น้ำที่อยู่ในน่านน้ำไทยที่ไม่ได้อยู่ในเขตประมงทะเลชายฝั่งและเขตประมงทะเลนอกชายฝั่ง ส่วนที่ ๒ การทำการประมงในเขตการประมง มาตรา ๔๒ ผู้ใดจะใช้เครื่องมือทำการประมงตามที่กำหนดในกฎกระทรวงทำการประมงในเขตประมงน้ำจืดและเขตประมงทะเลชายฝั่งต้องได้รับใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทำการประมงนั้นจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการออกใบอนุญาต รวมทั้งการขอรับใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๔๓ ผู้ใดจะใช้เครื่องมือทำการประมงใดทำการประมงในเขตประมงทะเลนอกชายฝั่งต้องได้รับใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทำการประมงนั้นจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการออกใบอนุญาต รวมทั้งการขอรับใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมือทำการประมงที่มีใบอนุญาตตามมาตรา ๔๒ หรือเครื่องมือทำการประมงพื้นบ้านตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ทำการประมงในเขตประมงทะเลนอกชายฝั่งได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง มาตรา ๔๔ ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทำการประมงตามมาตรา ๔๒ และมาตรา ๔๓ ต้องชำระค่าอากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๔๕ ให้รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดโดยอนุมัติรัฐมนตรีภายในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ มีอำนาจประกาศกำหนดให้ที่จับสัตว์น้ำซึ่งอยู่ในบริเวณดังต่อไปนี้ เป็นเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำ โดยให้มีแผนที่แสดงแนวเขตบริเวณที่กำหนดนั้นแนบท้ายประกาศด้วย (๑) สถานที่ราชการ (๒) ศาสนสถาน หรือปูชนียสถาน (๓) ประตูน้ำ ประตูระบายน้ำ เขื่อน ฝาย หรือทำนบ (๔) ที่ซึ่งมีสภาพเหมาะแก่การรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ มาตรา ๔๖ ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงหรือทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำภายในเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำ เว้นแต่เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการหรือเพื่อการบำรุงรักษาพันธุ์สัตว์น้ำและได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หมวด ๓ การส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มาตรา ๔๗ ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรประกาศกำหนดมาตรฐานในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อให้ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนำไปใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีคุณภาพและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและกำหนดมาตรฐานในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามวรรคหนึ่ง ให้กรมประมงศึกษา วิจัย และพัฒนาการเพาะเลี้ยง การปรับปรุงพันธุ์ และการขยายพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อประโยชน์ในกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายออกหนังสือรับรองให้แก่ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้มาตรฐานตามวรรคหนึ่งได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๔๘ นอกจากการขอหนังสือรับรองการได้มาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๔๗ ผู้ใดมีความประสงค์จะขอให้กรมประมงตรวจรับรองชนิด ลักษณะ คุณภาพหรือแหล่งกำเนิดของสัตว์น้ำใด หรือขอให้ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างดิน น้ำ สัตว์น้ำ หรือปัจจัยการผลิตเป็นการเฉพาะรายเพื่อประโยชน์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้ยื่นคำขอและชำระค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๔๙ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้ได้สัตว์น้ำที่มีคุณภาพเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือเพื่อความปลอดภัยต่อร่างกายมนุษย์ หรือต่อทรัพย์สินของบุคคลหรือสาธารณสมบัติ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือลักษณะของสัตว์น้ำ หรือประเภท รูปแบบ หรือขนาดของกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้เป็นกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ต้องมีการควบคุมได้ มาตรา ๕๐ เมื่อได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ต้องมีการควบคุมตามมาตรา ๔๙ แล้ว ให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดมีอำนาจกำหนดพื้นที่หรือบริเวณที่ห้ามทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดในเรื่องดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต้องแจ้งการประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้งการประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (๒) กำหนดแหล่งที่มาของสัตว์น้ำที่ห้ามนำมาใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (๓) กำหนดประเภท ลักษณะ และคุณภาพอาหารของสัตว์น้ำที่ห้ามใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (๔) กำหนดชนิดและปริมาณของยา เคมีภัณฑ์ หรือสารอันตรายอื่นใดที่ห้ามใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (๕) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการจัดการน้ำทิ้งหรือของเสียจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (๖) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการป้องกันมิให้น้ำจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรั่วไหลออกจากที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มาตรา ๕๑ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ห้ามมิให้ผู้ใดทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เว้นแต่ในพื้นที่ที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดประกาศกำหนด และได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการออกใบอนุญาต รวมทั้งการขอรับใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๕๒ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ รัฐมนตรีอาจประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ต้องมีการควบคุมตามมาตรา ๔๙ ซึ่งจะจำหน่ายสัตว์น้ำของตน ต้องขอรับหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำนั้นจากพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อมอบให้แก่ผู้รับการจำหน่ายได้ ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดให้บุคคลอื่นออกหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำแทนพนักงานเจ้าหน้าที่สำหรับกิจการหนึ่งกิจการใดได้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและการออกหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำตามวรรคหนึ่งและการกำหนดตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา หมวด ๔ สุขอนามัยของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ มาตรา ๕๓ ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรจัดทำประกาศมาตรฐานด้านสุขอนามัยในการจับ การดูแลรักษาสัตว์น้ำหลังการจับ การแปรรูปสัตว์น้ำ การเก็บรักษาการขนส่งหรือขนถ่ายสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการการประมงนำไปใช้ปฏิบัติในกิจการของตนให้ได้สัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีคุณภาพได้มาตรฐานด้านสุขอนามัยและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการการประมงตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายออกหนังสือรับรองการได้มาตรฐานที่ประกาศตามวรรคหนึ่งให้แก่ผู้ซึ่งร้องขอได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๕๔ เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาสัตว์น้ำหลังการจับให้มีคุณภาพได้มาตรฐานด้านสุขอนามัยและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดให้การจับการขนส่งหรือขนถ่ายสัตว์น้ำ ตามประเภท รูปแบบ หรือขนาดของกิจการ ให้เป็นกิจการที่ต้องมีการควบคุมการดูแลรักษาสัตว์น้ำหลังการจับได้ มาตรา ๕๕ เมื่อได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดกิจการที่ต้องมีการควบคุมการดูแลรักษาสัตว์น้ำหลังการจับตามมาตรา ๕๔ แล้ว ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดเรื่องดังต่อไปนี้ ให้ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวถือปฏิบัติ (๑) วิธีปฏิบัติในการดูแลรักษาสัตว์น้ำหลังการจับ (๒) ชนิดและปริมาณของสารเคมีที่ห้ามใช้ในการดูแลรักษาสัตว์น้ำหลังการจับ (๓) หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติด้านสุขลักษณะในเรือประมง (๔) การอื่นใดที่เป็นการส่งเสริมให้สัตว์น้ำหลังการจับมีคุณภาพได้มาตรฐานด้านสุขอนามัยหรือมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค มาตรา ๕๖ ในกรณีที่ปรากฏว่าในที่จับสัตว์น้ำแห่งใดเกิดสภาวะมลพิษ หรือมีการปนเปื้อนของสารพิษหรือสิ่งอื่นใดที่อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือต่อสัตว์น้ำเกินมาตรฐานตามชนิดและปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศห้ามทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำแห่งนั้นได้ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าในที่จับสัตว์น้ำแห่งใดเกิดสภาวะมลพิษหรือมีการปนเปื้อนของสารพิษหรือสิ่งอื่นใดที่อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือต่อสัตว์น้ำและไม่อาจตรวจพิสูจน์และดำเนินการตามวรรคหนึ่งได้ทัน ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดห้ามทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำแห่งนั้นได้เป็นการชั่วคราว มีกำหนดระยะเวลาไม่เกินสามสิบวัน และในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอาจขยายระยะเวลาห้ามทำการประมงออกไปได้อีกแต่รวมแล้วต้องไม่เกินหกสิบวัน หมวด ๕ การนำเข้าและส่งออกสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ มาตรา ๕๗ เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์สัตว์น้ำ หรือป้องกันอันตรายที่อาจเกิดต่อสิ่งแวดล้อมหรือสัตว์น้ำอื่น หรือป้องกันการก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์หรือทรัพย์สินของบุคคลหรือสาธารณสมบัติ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดประเภท ชนิด ลักษณะ จำนวน หรือขนาดของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ผู้นำเข้าหรือส่งออกต้องได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการออกใบอนุญาต รวมทั้งการขอรับใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๕๘ ในกรณีที่การส่งออกสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำใดจะต้องมีหนังสือรับรองสุขภาพหรือคุณภาพสัตว์น้ำ หรือหนังสือรับรองคุณภาพด้านมาตรฐานสุขอนามัยของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำหรือหนังสือรับรองอื่นของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นจากกรมประมงตามความต้องการของประเทศปลายทาง หรือผู้ใดประสงค์จะขอให้กรมประมงออกหนังสือรับรองสุขภาพหรือคุณภาพสัตว์น้ำ หรือหนังสือรับรองคุณภาพด้านมาตรฐานสุขอนามัยของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ หรือหนังสือรับรองอื่นของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ให้ยื่นคำขอและชำระค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบหรือดำเนินการอื่นใดตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๕๙ ห้ามมิให้ผู้ใดนำเรือประมงที่ทำการประมงฝ่าฝืนพันธกรณีตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีหรือพันธกรณีอื่นใด ทั้งนี้ ตามบัญชีรายชื่อเรือที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เข้ามาในราชอาณาจักร มาตรา ๖๐ เรือประมงต่างประเทศที่ประสงค์จะนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเข้ามาในราชอาณาจักร จะต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และต้องเข้าเทียบท่าเรือซึ่งมีพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เรือประมงต่างประเทศตามวรรคหนึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำการประมงที่ฝ่าฝืนพันธกรณีตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีหรือพันธกรณีอื่นใดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งห้ามขนถ่ายสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นจากเรือ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแจ้งและการตรวจสอบ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการการประมงนอกน่านน้ำไทย หมวด ๖ การประมงนอกน่านน้ำไทย มาตรา ๖๑ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการการประมงนอกน่านน้ำไทย” ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อธิบดีกรมการจัดหางาน อธิบดีกรมเจ้าท่า อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ อธิบดีกรมศุลกากร ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนกองทัพเรือ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินเจ็ดคน เป็นกรรมการ ให้อธิบดีเป็นกรรมการและเลขานุการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ให้แต่งตั้งจากผู้แทนสมาคมในด้านการประมงทะเลนอกชายฝั่ง ด้านการประมงนอกน่านน้ำไทย ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ด้านการแปรรูปสัตว์น้ำ หรือผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นิติศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ ด้านละหนึ่งคน มาตรา ๖๒ คณะกรรมการการประมงนอกน่านน้ำไทยมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) เสนอแนะนโยบายและแนวทางการส่งเสริม พัฒนา และแก้ไขปัญหาการทำการประมงนอกน่านน้ำไทยต่อคณะกรรมการ (๒) กำหนดแผนงานหรือวิธีการในการส่งเสริม พัฒนาและแก้ไขปัญหาการทำการประมงนอกน่านน้ำไทยให้สอดคล้องกับนโยบายตาม (๑) (๓) ออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการช่วยเหลือและคุ้มครองเรือประมงไทยที่ออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำไทย (๔) เสนอแนะรัฐมนตรีหรืออธิบดีในการออกประกาศหรือระเบียบตามมาตรา ๖๐ และมาตรา ๖๔ (๕) ออกประกาศตามมาตรา ๖๕ มาตรา ๖๖ และมาตรา ๖๗ (๖) ปฏิบัติการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการประมงนอกน่านน้ำไทยหรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย มาตรา ๖๓ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๗ และมาตรา ๑๘ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการการประมงนอกน่านน้ำไทยโดยอนุโลม มาตรา ๖๔ ให้ผู้ซึ่งดำเนินการทำข้อตกลงหรือสัญญาการทำการประมงนอกน่านน้ำไทยกับรัฐต่างประเทศหรือเอกชนต่างประเทศและได้สิทธิในการทำการประมงในน่านน้ำของรัฐต่างประเทศแจ้งการได้สิทธิตามข้อตกลงหรือสัญญานั้นต่ออธิบดีตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การดำเนินการโดยทางราชการ ให้อธิบดีจัดให้มีการรวบรวมข้อมูลที่ได้รับแจ้งไว้ตามวรรคหนึ่ง เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียตรวจสอบความถูกต้องของข้อตกลงหรือสัญญาการทำการประมงนอกน่านน้ำไทยดังกล่าวตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๖๕ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เรือประมงไทยออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำไทยในน่านน้ำของรัฐต่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการออกใบอนุญาต รวมทั้งการขอรับใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการประมงนอกน่านน้ำไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกาศตามวรรคสองอย่างน้อยต้องมีข้อกำหนดให้ผู้ยื่นคำขออนุญาตต้องเป็นผู้มีสิทธิในการทำการประมงนอกน่านน้ำไทยในน่านน้ำของรัฐต่างประเทศ พร้อมทั้งแสดงหลักฐานแห่งสิทธินั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย และข้อกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องทำการประมงโดยไม่ละเมิดกฎหมายของรัฐต่างประเทศ มาตรา ๖๖ ในกรณีที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีตามข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลหลวงบริเวณใดและรัฐมนตรีได้ประกาศให้ทราบถึงการเข้าร่วมเป็นภาคีดังกล่าวแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เรือประมงไทยออกไปทำการประมงในบริเวณนั้น เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการออกใบอนุญาต รวมทั้งการขอรับใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการประมงนอกน่านน้ำไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๖๗ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เรือประมงไทยออกไปทำการประมงในบริเวณที่ประเทศไทยร่วมเป็นภาคีตามข้อตกลงระหว่างประเทศตามมาตรา ๖๖ วรรคหนึ่ง โดยฝ่าฝืนพันธกรณีตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี ตามที่คณะกรรมการการประมงนอกน่านน้ำไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๖๘ ผู้ใดเป็นเจ้าของเรือประมงไทยใช้หรือยอมให้ใช้เรือประมงของตนทำการประมงจนเป็นเหตุให้มีการละเมิดกฎหมายของรัฐต่างประเทศ และทำให้คนประจำเรือหรือผู้โดยสารซึ่งไปกับเรือต้องตกค้างอยู่ในต่างประเทศ มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นที่รัฐได้จ่ายไปในการนำคนประจำเรือหรือผู้โดยสารดังกล่าวกลับประเทศภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากกรมประมง หมวด ๗ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาต มาตรา ๖๙ ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๘ มาตรา ๓๓ มาตรา ๕๑ มาตรา ๕๗ มาตรา ๖๕ และมาตรา ๖๖ และผู้รับใบแทนใบอนุญาตดังกล่าว ต้องชำระค่าธรรมเนียมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง หมวด ๘ การโอนใบอนุญาต มาตรา ๗๐ สิทธิตามใบอนุญาตและสิทธิตามหนังสืออนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ตกทอดไปสู่ทายาท มาตรา ๗๑ ถ้าผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๘ มาตรา ๓๓ มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๓ มาตรา ๕๑ มาตรา ๕๗ มาตรา ๖๕ และมาตรา ๖๖ ประสงค์จะโอนใบอนุญาตให้บุคคลอื่น ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วแต่กรณี และต้องชำระค่าธรรมเนียมการโอนใบอนุญาตตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอโอนใบอนุญาตและการโอนใบอนุญาตและอัตราค่าธรรมเนียมการโอนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หมวด ๙ พนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๗๒ ผู้ใดประสงค์จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการขอรับใบอนุญาตการขอหนังสืออนุญาต และการขอหนังสือรับรองตามพระราชบัญญัตินี้ นอกเวลาราชการหรือนอกสถานที่ทำการโดยปกติ ไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักร ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และจะต้องเสียค่าเบี้ยเลี้ยงให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ไปปฏิบัติงานไม่น้อยกว่าอัตราของทางราชการ รวมทั้งต้องจ่ายค่าพาหนะเดินทางและค่าใช้จ่ายอื่นให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามความจำเป็น หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอ การพิจารณาคำขอ การกำหนดค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่น ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๗๓ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้ (๑) มีหนังสือเรียกผู้รับอนุญาต กรรมการ ผู้จัดการ บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการหรือพนักงานของผู้รับอนุญาตที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ (๒) เข้าไปในสถานที่ประกอบกิจการหรือสถานที่ที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการของผู้รับอนุญาตในระหว่างเวลาทำการ เพื่อตรวจสอบและควบคุมให้การเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ (๓) เข้าไปในสถานที่ประกอบกิจการหรือสถานที่ที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการที่ต้องมีการควบคุมตามมาตรา ๔๙ หรือมาตรา ๕๔ ในระหว่างเวลาทำการ เพื่อตรวจสอบและควบคุมให้การเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ (๔) สั่งให้ผู้ควบคุมเรือประมงหยุดเรือ หรือขึ้นไปบนเรือประมง หรือเข้าไปในที่จับสัตว์น้ำใดเพื่อตรวจสอบและควบคุมให้การเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ (๕) ค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในระหว่างเวลาทำการ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ (๖) เก็บตัวอย่างสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ หรือวัตถุใด ๆ เพื่อนำไปตรวจสอบ หรือตรวจวิเคราะห์ เพื่อตรวจสอบและควบคุมให้การเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ (๗) ยึดหรืออายัดสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองตามมาตรา ๓๓ (๘) ยึดหรืออายัดยา เคมีภัณฑ์ หรือสารอันตรายอื่นใดที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นยา เคมีภัณฑ์ หรือสารอันตรายที่ใช้หรือจะใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา ๕๐ (๔) ในกรณีที่สัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ยา เคมีภัณฑ์ หรือสารอันตรายอื่นใดที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ยึดหรืออายัดไว้ตาม (๗) หรือ (๘) มีสภาพที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์หรือต่อสัตว์น้ำอื่นหรือสิ่งแวดล้อมของสัตว์น้ำ หรือต่อทรัพย์สินของบุคคลหรือสาธารณสมบัติ ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งทำลายหรือจัดการอย่างอื่นตามที่เห็นสมควร เมื่อได้เข้าไปและทำการตรวจสอบตาม (๒) หรือ (๓) หรือค้นตาม (๕) แล้ว ถ้ายังดำเนินการไม่แล้วเสร็จจะกระทำต่อไปในเวลากลางคืนหรือนอกเวลาทำการของสถานที่นั้นก็ได้ ให้อธิบดีมีอำนาจวางระเบียบในการปฏิบัติการตาม (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) และ (๘) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติ ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามสมควร มาตรา ๗๔ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อผู้รับอนุญาตหรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด มาตรา ๗๕ การปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา เพื่อประโยชน์ในการจับกุมผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หมวด ๑๐ มาตรการทางปกครอง มาตรา ๗๖ เมื่อปรากฏว่าผู้รับอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาต ให้ผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้ผู้รับอนุญาตทำการแก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตไม่แก้ไขหรือปฏิบัติตามคำสั่งให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือระงับการอนุญาตมีกำหนดครั้งละไม่เกินเก้าสิบวัน แต่ในกรณีที่มีการเสนอคำฟ้องผู้รับอนุญาตต่อศาลว่าผู้รับอนุญาตกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ จะสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือระงับการอนุญาตไว้จนกว่าคำพิพากษาถึงที่สุดก็ได้ มาตรา ๗๗ ผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตมีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาต เมื่อปรากฏว่าผู้รับอนุญาตผู้ใด (๑) เคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือระงับการอนุญาตมาแล้ว และมีเหตุที่จะต้องถูกพักใช้ใบอนุญาตหรือระงับการอนุญาตอีก (๒) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ (๓) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาต และการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัตินั้นก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ในกรณีที่เป็นการเพิกถอนใบอนุญาตครอบครองสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ให้ผู้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตจำหน่ายสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีไว้ในครอบครองให้แก่กรมประมงในราคาที่กรมประมงกำหนดตามสมควรภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วผู้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตยังมิได้จำหน่ายหรือจำหน่ายเพียงบางส่วน ให้สัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ยังมิได้จำหน่ายนั้นตกเป็นของกรมประมง มาตรา ๗๘ ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตไม่เห็นด้วยกับคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือระงับการอนุญาตตามมาตรา ๗๖ หรือคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตตามมาตรา ๗๗ ให้อุทธรณ์ต่อบุคคลดังต่อไปนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง (๑) ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ออกคำสั่ง ให้อุทธรณ์ต่ออธิบดี (๒) ในกรณีที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเป็นผู้ออกคำสั่ง ให้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี ให้อธิบดีหรือรัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของอธิบดีหรือรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด มาตรา ๗๙ ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตให้ติดตั้งเครื่องมือทำการประมง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งใด ๆ ลงในที่จับสัตว์น้ำ ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาต หรือปฏิบัติผิดไปจากเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาต ให้ผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตมีอำนาจสั่งให้ผู้รับอนุญาตนั้นแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตภายในเวลาที่กำหนดได้ หากผู้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการรื้อถอนหรือทำลายเครื่องมือทำการประมง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งเช่นว่านั้นเสียได้โดยให้ผู้รับอนุญาตเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ มาตรา ๘๐ ในกรณีที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ หรือผู้รับอนุญาตถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตตามมาตรา ๗๗ ให้ผู้รับอนุญาตจัดการรื้อถอนหรือทำลายเครื่องมือทำการประมง สิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งใด ๆ ที่เป็นของผู้รับอนุญาต ในที่จับสัตว์น้ำภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุหรือวันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาต แล้วแต่กรณี และในกรณีที่ผู้รับอนุญาตมิได้มีการดำเนินการภายในเวลาดังกล่าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการรื้อถอนหรือทำลายเครื่องมือทำการประมง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งเช่นว่านั้นเสียได้โดยให้ผู้รับอนุญาตเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับ ในกรณีที่มีการอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตตามมาตรา ๗๘ และเมื่อมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นที่สุดให้เพิกถอนใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตระยะเวลาสามสิบวันตามวรรคหนึ่งให้นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ มาตรา ๘๑ ในกรณีที่ผู้ใดทำการประมงหรือติดตั้งเครื่องมือทำการประมง สิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งใด ๆ ลงในที่จับสัตว์น้ำโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการรื้อถอนหรือทำลายเครื่องมือทำการประมง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งเช่นว่านั้นเสียได้ทันที พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งให้บุคคลตามวรรคหนึ่งดำเนินการรื้อถอนหรือทำลายเครื่องมือทำการประมง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งใด ๆ นั้นให้เสร็จสิ้นภายในเวลาที่กำหนดซึ่งไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งก็ได้ และหากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการรื้อถอนหรือทำลายเครื่องมือทำการประมง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งเช่นว่านั้นโดยให้ผู้นั้นเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ หมวด ๑๑ บทกำหนดโทษ มาตรา ๘๒ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดที่ออกตามความในมาตรา ๖ หรือประกาศของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดที่ออกตามความในมาตรา ๕๐ หรือประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามความในมาตรา ๕๐ (๑) (๕) หรือ (๖) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๘๓ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๘๔ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๒ หรือมาตรา ๒๔ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท มาตรา ๘๕ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๕ หรือมาตรา ๖๔ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๘๖ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศที่รัฐมนตรีออกตามความในมาตรา ๓๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๘๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๖ หรือมาตรา ๒๗ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือน ถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าแสนบาท มาตรา ๘๘ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๘ มาตรา ๔๒ หรือมาตรา ๔๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๘๙ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๔๖ มาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๕๕ (๑) (๓) หรือ (๔) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๙๐ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๓ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๓๔ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าหากปรากฏว่าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นเป็นสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่อาจก่อให้เกิดอันตรายตามมาตรา ๓๓ วรรคสอง ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกปี หรือปรับไม่เกินหกแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๙๑ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๕ วรรคสอง มาตรา ๓๖ หรือมาตรา ๕๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๙๒ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๒ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท มาตรา ๙๓ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามความในมาตรา ๕๐ (๒) (๓) หรือ (๔) มาตรา ๕๕ (๒) หรือมาตรา ๕๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๙๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๙ มาตรา ๖๐ หรือมาตรา ๖๗ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท มาตรา ๙๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๕ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๖๖ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท มาตรา ๙๖ เจ้าของเรือประมงผู้ใดไม่ชดใช้ค่าใช้จ่ายตามมาตรา ๖๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๙๗ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ออกตามมาตรา ๗๓ (๑) หรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๗๓ วรรคห้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๙๘ เครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำ และสิ่งอื่น ๆ ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดโดยฝ่าฝืนประกาศที่ออกตามความในมาตรา ๖ (๑) ให้ศาลริบเสียทั้งสิ้น มาตรา ๙๙ บรรดาความผิดตามมาตรา ๘๒ มาตรา ๘๓ มาตรา ๘๔ มาตรา ๘๕ มาตรา ๘๖ มาตรา ๘๙ มาตรา ๙๐ วรรคหนึ่ง มาตรา ๙๑ มาตรา ๙๒ มาตรา ๙๔ มาตรา ๙๕ และมาตรา ๙๗ ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบมีอำนาจเปรียบเทียบได้ คณะกรรมการเปรียบเทียบตามวรรคหนึ่ง ให้ประกอบด้วยผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ และผู้แทนกรมประมง เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้มีทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและในส่วนภูมิภาคได้ตามที่รัฐมนตรีกำหนดตามความเหมาะสม หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาของคณะกรรมการเปรียบเทียบให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเปรียบเทียบแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บทเฉพาะกาล มาตรา ๑๐๐ บรรดาพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บรรดาที่รักษาพืชพันธุ์ที่ประกาศกำหนดตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๑๐๑ บรรดาประทานบัตร อาชญาบัตร การอนุญาตหรือใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน มาตรา ๑๐๒ ให้กรมประมงจัดให้มีการขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาตรา ๑๐๓ ให้ผู้ซึ่งประกอบอาชีพการประมงอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบอาชีพของตนต่อกรมประมง ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาตรา ๑๐๔ ผู้ใดทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่สาธารณประโยชน์ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้วให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่ออกใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อัตราค่าอากร ใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทำการประมงตามประเภทเครื่องมือทำการประมง (๑) ประเภทเครื่องมืออวนลาก เมตรละ ๕๐๐ บาท (๒) ประเภทเครื่องมืออวนรุน เมตรละ ๕๐๐ บาท (๓) ประเภทเครื่องมืออวนล้อมจับ เมตรละ ๒๐ บาท (๔) ประเภทเครื่องมืออวนช้อน อวนยก หรืออวนครอบ เมตรละ ๓๐ บาท (๕) ประเภทเครื่องมืออวนติดตาหรือข่าย เมตรละ ๒ บาท (๖) ประเภทเครื่องมืออวนอื่น เมตรละ ๑๐ บาท (๗) ประเภทเครื่องมือคราด อันละ ๓,๔๐๐ บาท (๘) ประเภทเครื่องมือโป๊ะ ลูกละ ๔,๐๐๐ บาท (๙) ประเภทเครื่องมือลอบ ลูกละ ๒๐ บาท (๑๐) ยอขันช่อ ช้อนขันช่อ ช้อนสนั่น หรือช้อนหางเหยี่ยวมีเครื่องยก ปากละ ๖๐๐ บาท (๑๑) ช้อนปีก ยอปีก หรือบาม ปากละ ๘๐๐ บาท (๑๒) ช้อนอื่นนอกจาก (๑๐) และ (๑๑) ที่มีปากกว้างตั้งแต่ ๓.๕ เมตรขึ้นไป ปากละ ๒๐๐ บาท (๑๓) เบ็ดราวยาวตั้งแต่ ๑๐๐ เมตรขึ้นไป สายละ ๘๐ บาท (๑๔) แหยาวตั้งแต่ ๓ เมตรขึ้นไป ปากละ ๒๐๐ บาท (๑๕) ประเภทเครื่องมืออื่น ๆ หน่วยละ ๑,๐๐๐ บาท อัตราค่าธรรมเนียม (๑) ใบอนุญาตให้นำเข้าหรือส่งออกสัตว์น้ำ หรือ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ฉบับละ ๕๐๐ บาท (๒) ใบอนุญาตให้ครอบครองสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำ ฉบับละ ๑,๐๐๐ บาท (๓) ใบอนุญาตให้ประกอบอาชีพการประมง ฉบับละ ๕๐๐ บาท (๔) ใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตารางเมตรละ ๕ บาท (๕) ใบอนุญาตให้ใช้เรือประมงไทยในการ ทำการประมงนอกน่านน้ำไทย ฉบับละ ๓,๐๐๐ บาท (๖) ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ ๑๐๐ บาท (๗) การโอนใบอนุญาต ฉบับละ ๑๐๐ บาท (๘) การต่ออายุใบอนุญาต ครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมใบอนุญาต หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยการประมงได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีทรัพยากรสัตว์น้ำจำนวนจำกัด ในขณะที่เทคโนโลยีด้านการประมงได้พัฒนาไปอย่างมากและถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทำการประมง อันส่งผลให้สัตว์น้ำลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จึงสมควรปรับปรุงการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำและการประมงของประเทศให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและมาตรฐานสากล รวมทั้งความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านการประมง และสภาพของสังคมในปัจจุบัน โดยกำหนดให้มีมาตรการในการส่งเสริมและพัฒนาการบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำ และการดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมให้ประชาชนหรือชุมชนประมงท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างสมดุล เพื่อให้สามารถนำทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนและกำหนดมาตรการในการส่งเสริมให้สัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงหรือจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีคุณภาพได้มาตรฐานด้านสุขอนามัย มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และมิให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุมและจัดระเบียบการใช้เรือประมงไทยในการทำการประมงทั้งในน่านน้ำและนอกน่านน้ำไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๘ นุสรา/ผู้ตรวจ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๓๔ ก/หน้า ๑/๒๘ เมษายน ๒๕๕๘
301650
พระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ การประมง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นปีที่ ๔๐ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการประมง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความใน (๑) ของมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๑) “สัตว์น้ำ” หมายความว่า สัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำหรือมีวงจรชีวิตส่วนหนึ่งอยู่ในน้ำหรืออาศัยอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมถึง เช่น ปลา กุ้ง ปู แมงดาทะเล หอย เต่า กระ ตะพาบน้ำ จระเข้ รวมทั้งไข่ของสัตว์น้ำนั้น สัตว์น้ำจำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม ปลิงทะเล ฟองน้ำ หินปะการัง กัลปังหา และสาหร่ายทะเล ทั้งนี้ รวมทั้งซากหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของสัตว์น้ำเหล่านั้น และหมายความรวมถึงพันธุ์ไม้น้ำตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อ” มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๑ ทวิ) ของมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ “(๑ ทวิ) “ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ” หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นโดยใช้สัตว์น้ำตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อเป็นวัตถุดิบ” มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๕ ลงวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๙ ห้ามมิให้บุคคลใด เท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้วัตถุมีพิษตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาลงไปในที่จับสัตว์น้ำ หรือกระทำการใด ๆ อันทำให้สัตว์น้ำมึนเมา หรือเท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้สิ่งใดลงไปในที่จับสัตว์น้ำในลักษณะที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำ หรือทำให้ที่จับสัตว์น้ำเกิดมลพิษ เว้นแต่เป็นการทดลองเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ และได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” มาตรา ๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๘ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ “มาตรา ๒๘ ทวิ บุคคลใดเป็นเจ้าของเรือ ใช้หรือยอมให้ใช้เรือของตนทำการประมงหรือเพื่อทำการประมง จนเป็นเหตุให้มีการละเมิดน่านน้ำของต่างประเทศ และทำให้คนประจำเรือหรือผู้โดยสารไปกับเรือต้องตกค้างอยู่ ณ ต่างประเทศ บุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันเกิดจากการละเมิดน่านน้ำของต่างประเทศซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีจำนวนไม่เกินเจ็ดคน ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยดังกล่าว ในกรณีที่ไม่สามารถแจ้งคำวินิจฉัยแก่บุคคลตามวรรคหนึ่ง เพราะไม่พบตัวบุคคลดังกล่าวหรือไม่มีผู้ใดยอมรับแทน ให้ถือว่าบุคคลดังกล่าวได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแล้ว ในเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ส่งคำวินิจฉัยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือปิดคำวินิจฉัยไว้ในที่เห็นได้ง่าย ณ สำนักงานภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ของบุคคลดังกล่าว โดยมีพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นพยานในการนั้น” มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๕๑๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๕๓ ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำชนิดใดชนิดหนึ่งตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำชนิดใดชนิดหนึ่งเกินจำนวนหรือปริมาณ หรือเล็กกว่าขนาดที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่สัตว์น้ำที่ห้ามบุคคลมีไว้ในครอบครองเป็นชนิดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือทรัพย์สินของบุคคลหรือสาธารณชน ให้กำหนดลักษณะของสัตว์น้ำนั้นว่าจะมีอันตรายอย่างใด และกำหนดเวลาสำหรับผู้ซึ่งมีสัตว์น้ำนั้นในครอบครองอยู่แล้วส่งมอบสัตว์น้ำนั้นให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ในพระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งด้วย การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง บุคคลใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในวันที่พระราชกฤษฎีกาออกตามความในวรรคหนึ่งใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นต่อไป ต้องยื่นคำขออนุญาตตามวรรคสามภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ เว้นแต่ในกรณีสัตว์น้ำตามวรรคสอง จะขออนุญาตหรืออนุญาตมิได้ และในระหว่างเวลาที่กำหนดไว้ สำหรับการขออนุญาตจนถึงวันที่ได้รับคำสั่งไม่อนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่มิให้นำมาตรา ๖๗ ทวิ มาใช้บังคับ ในกรณีที่บุคคลตามวรรคสี่ยื่นคำขออนุญาตแล้วแต่ไม่ได้รับอนุญาต อธิบดีมีอำนาจสั่งให้บุคคลดังกล่าวส่งมอบสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเจ็ดวันนับแต่วันได้รับคำสั่ง ในกรณีมีการส่งมอบสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำตามวรรคสองหรือวรรคห้า ให้กรมประมงคิดราคาสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำดังกล่าวตามสมควรแก่ผู้ส่งมอบ ความในวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม วรรคสี่ วรรคห้า และวรรคหก มิให้ใช้บังคับแก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นเฉพาะที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๑ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๖๑ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ วรรคสอง มาตรา ๒๓ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๔ หรือมาตรา ๕๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ” มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๒ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๖๒ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๙ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๓๐ มาตรา ๕๔ หรือมาตรา ๕๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ” มาตรา ๑๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๒ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๕ ลงวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๑๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๖๒ ทวิ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท” มาตรา ๑๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๔ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๖๔ บุคคลใดใช้เครื่องมือทำการประมง ซึ่งต้องมีอาชญาบัตรตามพระราชบัญญัติโดยไม่มีอาชญาบัตรตามมาตรา ๒๘ หรือมิได้เสียเงินอากรเพิ่มเติมตามมาตรา ๒๙ ต้องระวางโทษปรับสามเท่าของเงินอากรและให้อธิบดีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่อธิบดีมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบได้ เมื่อผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในสิบห้าวันให้คดีนั้นเป็นอันเลิกกัน” มาตรา ๑๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๖๔ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ “มาตรา ๖๔ ทวิ บุคคลใดไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตามมาตรา ๒๘ ทวิ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ” มาตรา ๑๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๕ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๖๕ บุคคลใดฝ่าฝืนประกาศของรัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งประกาศตามความในมาตรา ๓๒ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ” มาตรา ๑๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๖๗ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ “มาตรา ๖๗ ทวิ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๓ วรรคหนึ่งหรือวรรคห้า ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ถ้าหากปรากฏว่าสัตว์น้ำนั้นเป็นสัตว์ชนิดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายตามมาตรา ๕๓ วรรคสอง ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนสองหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหกปี หรือทั้งปรับทั้งจำ” มาตรา ๑๕ บรรดาพระราชกฤษฎีกาและประกาศรัฐมนตรีที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาหรือประกาศรัฐมนตรีให้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลง แล้วแต่กรณี มาตรา ๑๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ป. ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปรากฏว่าในปัจจุบันนี้มีประชาชนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ใช้วัตถุมีพิษเพื่อทำการประมงอันอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคสัตว์น้ำได้ จึงสมควรจะได้กำหนดมาตรการควบคุมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น พร้อมกับกำหนดความรับผิดของเจ้าของเรือ กรณีที่มีการละเมิดน่านน้ำของต่างประเทศ และทำให้คนประจำเรือหรือผู้โดยสารไปกับเรือต้องตกค้างอยู่ ณ ต่างประเทศ ประกอบกับมีสัตว์น้ำบางชนิดที่มีคุณค่าในทางเศรษฐกิจ เช่น เต่า และกระ ได้ถูกจับจนเกินปริมาณที่สมควร หากไม่มีมาตรการอนุรักษ์ที่เหมาะสมแล้ว สัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจประเภทดังกล่าวจะถูกทำลายจนไม่มีเหลือสำหรับแพร่พันธุ์ หรือนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไป จึงสมควรที่จะออกมาตรการห้ามครอบครองสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำบางชนิดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจดังกล่าว และโดยที่พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ไม่มีบทบัญญัติครอบคลุมไปถึงมาตรการเหล่านี้ อีกทั้งโทษบางมาตราที่บัญญัติไว้มีอัตราต่ำไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ สุนันทา/แก้ไข ๒๔/๑๒/๔๔ พัชรินทร์/แก้ไข ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ วศิน/แก้ไข ๒๗ เมษายน ๒๕๕๒ จุฑามาศ/ปริญสินีย์/ปรับปรุง ๑๑ มกราคม ๒๕๕๖ วิชพงษ์/ตรวจ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๒/ตอนที่ ๑๒๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๓๘/๕ กันยายน ๒๕๒๘
324893
พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 (ฉบับ Update ณ วันที่ 24/03/2515)
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ การประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร พระยามานวราชเสวี ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการประมง พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิก (๑) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ รัตนโกสินทร ศก ๑๒๐ (๒) พระราชบัญญัติเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ รัตนโกสินทร ศก ๑๒๐ (๓) ประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ ร.ศ. ๑๒๐ (๔) พระราชบัญญัติเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ ศก ๑๒๐ (๕) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๒ (๖) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ รัตนโกสินทร ศก ๑๒๐ แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช ๒๔๗๗ (๗) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๗๙ (๘) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ (ฉบับที่ ๗) พุทธศักราช ๒๔๘๑ (๙) กฎกระทรวงว่าด้วยวิธีจัดการและตั้งอัตราเก็บเงินอากรค่าน้ำตามความในพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ ศก ๑๒๐ และบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบทบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้ (๑) “สัตว์น้ำ” หมายความว่า ปลา เต่า กระ กุ้ง ปู แมงดา สัตว์น้ำจำพวกเลื้อยคลาน รวมทั้งไข่ของสัตว์น้ำเหล่านี้ทุกชนิด สัตว์น้ำจำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำจำพวกหอย รวมทั้งเปลือกหอยและมุก สัตว์น้ำจำพวกปลิงทะเล จำพวกฟองน้ำ และจำพวกสาหร่ายทะเล และหมายความรวมตลอดถึงสัตว์อื่นที่อาศัยอยู่ในน้ำ และพันธุ์ไม้น้ำอื่น ๆ ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อ (๒) “ทำการประมง” หมายความว่า จับ ดัก ล่อ ทำอันตราย ฆ่า หรือเก็บสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือทำการประมงหรือด้วยวิธีใด ๆ (๓) “เครื่องมือทำการประมง” หมายความว่า เครื่องกลไก เครื่องใช้ เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบ อาวุธ เสา หลัก หรือเรือ บรรดาที่ใช้ทำการประมง (๔) “เรือ” หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิด (๕) “ที่จับสัตว์น้ำ” หมายความว่า ที่ซึ่งมีน้ำขังหรือไหล เช่น ทะเล แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง บ่อ เป็นต้น และหาดทั้งปวง บรรดาซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งป่าไม้ และพื้นดินซึ่งน้ำท่วมในฤดูน้ำไม่ว่าจะเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ และภายในเขตน่านน้ำไทยหรือน่านน้ำอื่นใด ซึ่งประเทศไทยใช้อยู่หรือมีสิทธิที่จะใช้ต่อไปในการทำการประมง โดยที่น่านน้ำเหล่านั้น ปรากฏโดยทั่วไปว่ามีขอบเขตตามกฎหมายท้องถิ่น หรือธรรมเนียมประเพณี หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสนธิสัญญา หรือด้วยประการใด (๖) “บ่อล่อสัตว์น้ำ” หมายความว่า ที่ล่อสัตว์น้ำเพื่อประโยชน์ในการทำการประมงตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (๗) “บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ” หมายความว่า ที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (๘) “ประทานบัตร” หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งข้าหลวงประจำจังหวัดออกให้บุคคลผู้ประมูลได้ ให้มีสิทธิทำการประมงในที่ว่าประมูล (๙) “ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่บุคคลใดใช้ทำการประมงหรือทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่อนุญาต (๑๐) “อาชญาบัตร” หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่ผู้รับอนุญาตเพื่อใช้เครื่องมือทำการประมง (๑๑) “ผู้รับอนุญาต” หมายความว่า บุคคลผู้ได้รับประทานบัตร ใบอนุญาต อาชญาบัตร หรือผู้ได้รับอนุญาตให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้ (๑๒) “เครื่องมือประจำที่” หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งใช้วิธีลงหลักปัก ผูก ขึง รั้ง ถ่วง หรือวิธีอื่นใด อันทำให้เครื่องมือนั้นอยู่กับที่ในเวลาทำการประมง (๑๓) “เครื่องมือในพิกัด” หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งระบุชื่อ ลักษณะ หรือวิธีใช้ไว้ในกฎกระทรวง (๑๔) “เครื่องมือนอกพิกัด” หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในกฎกระทรวงว่าเป็นเครื่องมือในพิกัด (๑๕) “สถิติการประมง” หมายความว่า สถิติหรือข้อความที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ การค้าสินค้าสัตว์น้ำ การทำการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (๑๖) “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ข้าหลวงประจำจังหวัดและนายอำเภอท้องที่ พนักงานประมง และผู้ซึ่งรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้มีหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ (๑๗) “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมการประมง (๑๘) “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราอากร และค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดกิจการอื่น ๆ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ หมวด ๑ ที่จับสัตว์น้ำ มาตรา ๖ บรรดาที่จับสัตว์น้ำทั้งปวงให้กำหนดเป็น ๔ ประเภท คือ (๑) ที่รักษาพืชพันธุ์ (๒) ที่ว่าประมูล (๓) ที่อนุญาต (๔) ที่สาธารณประโยชน์ มาตรา ๗ ให้คณะกรมการจังหวัดโดยอนุมัติของรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศกำหนดประเภทที่จับสัตว์น้ำภายในเขตท้องที่ของตนว่า เข้าอยู่ในประเภทที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่าประมูล หรือที่อนุญาต ที่จับสัตว์น้ำซึ่งมิได้มีประกาศตามความในวรรคหนึ่งให้ถือเป็นที่สาธารณประโยชน์ มาตรา ๘ ที่รักษาพืชพันธุ์ คือ ที่จับสัตว์น้ำซึ่งอยู่ในบริเวณพระอารามหรือปูชนียสถาน หรือติดกับเขตสถานที่ดังกล่าวแล้ว บริเวณประตูน้ำ ประตูระบายน้ำ ฝาย หรือทำนบ หรือที่ซึ่งเหมาะแก่การรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ มาตรา ๙ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่รักษาพืชพันธุ์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดให้ มาตรา ๑๐ ที่ว่าประมูล คือที่จับสัตว์น้ำซึ่งสมควรจะให้บุคคลว่าประมูลผูกขาดทำการประมง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การกำหนดที่จับสัตว์น้ำแห่งใดเป็นที่ว่าประมูลนั้น จะต้องไม่อยู่ในเขตชลประทานหลวง หรือไม่เป็นการเสียหายแก่การทำนา หรือการสัญจรทางน้ำ มาตรา ๑๑ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่ว่าประมูล เว้นแต่ผู้รับอนุญาต ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด การทำการประมงในที่ว่าประมูลเฉพาะเพื่อบริโภคภายในครอบครัวให้กระทำได้ แต่ต้องใช้เครื่องมือทำการประมงตามที่คณะกรมการจังหวัดประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี มาตรา ๑๒ ที่อนุญาต คือที่จับสัตว์น้ำซึ่งอนุญาตให้บุคคลทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และรวมตลอดถึงบ่อล่อสัตว์น้ำ มาตรา ๑๓ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่อนุญาต เว้นแต่ผู้รับอนุญาต ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๑๔ ห้ามมิให้บุคคลใดขุดหรือสร้างบ่อล่อสัตว์น้ำในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ส่วนในที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ บุคคลย่อมขุดหรือสร้างบ่อล่อสัตว์น้ำได้แต่ต้องไม่เป็นการเสียหายแก่พันธุ์สัตว์น้ำในที่รักษาพืชพันธุ์ มาตรา ๑๕ ผู้รับอนุญาตมีหน้าที่ติดโคมไฟและเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัยของการสัญจรในทางน้ำตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๖ ที่สาธารณประโยชน์ คือที่จับสัตว์น้ำซึ่งบุคคลทุกคนมีสิทธิทำการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ บุคคลใดซึ่งทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่สาธารณประโยชน์ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๑๗[๒] ห้ามมิให้บุคคลใดปลูกสร้างสิ่งใดลงไปในที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่าประมูล ที่อนุญาต ซึ่งมิใช่ที่ของเอกชนและที่สาธารณประโยชน์ หรือปลูกบัว ข้าว ปอ พืชหรือพันธุ์ไม้น้ำอื่นใดตามที่จะได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อในที่เช่นว่านั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด มาตรา ๑๘[๓] ห้ามมิให้บุคคลใดวิดน้ำในที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่าประมูล ที่อนุญาต ซึ่งมิใช่ที่ของเอกชน และที่สาธารณประโยชน์ หรือบ่อล่อสัตว์น้ำ หรือทำให้น้ำในที่จับสัตว์น้ำเช่นว่านั้นแห้งหรือลดน้อยลง เพื่อทำการประมง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด มาตรา ๑๙[๔] ห้ามมิให้บุคคลใดกระทำการใด ๆ อันทำให้สัตว์น้ำมึนเมา วางยาเบื่อเมาหรือทิ้งวัตถุใด ๆ ในลักษณะที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำ เว้นแต่การทดลองเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์และได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทำการนั้น ๆ เพื่อกำจัดศัตรูหรือโรคของสัตว์น้ำในที่เลี้ยงสัตว์น้ำของตน มาตรา ๒๐[๕] ห้ามมิให้บุคคลใดใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ หรือใช้วัตถุระเบิดในที่จับสัตว์น้ำไม่ว่าในกรณีใด เว้นแต่เพื่อประโยชน์ของทางราชการหรือได้รับอนุญาตจากอธิบดี มาตรา ๒๐ ทวิ[๖] ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสัตว์น้ำโดยรู้ว่าได้มาโดยการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่จับสัตว์น้ำซึ่งมิได้อยู่ในที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ให้ผิดไปจากสภาพที่เป็นอยู่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้ มาตรา ๒๒ ห้ามมิให้บุคคลใด ติดตั้ง วาง หรือสร้างเขื่อน ทำนบ รั้ว เครื่องมือที่เป็นตาข่าย หรือเครื่องมือทำการประมงอื่น ๆ ในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งกางกั้นทางเดินของสัตว์น้ำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือกระทำการเช่นว่านั้นเพื่อประโยชน์แก่การกสิกรรมในที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้ เช่น บันไดปลาโจน หรือเครื่องอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อให้สัตว์น้ำว่ายขึ้นลงได้ หมวด ๒ บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ มาตรา ๒๓ ห้ามมิให้บุคคลใดขุดหรือสร้างบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มาตรา ๒๔ การทำการประมงในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ต้องขออนุญาตและไม่ต้องเสียเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้ หมวด ๓ การจดทะเบียนและการขออนุญาต มาตรา ๒๕ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศกำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำตามที่จะได้มีพระราชกฤษฎีการะบุไว้ในท้องที่ใด ๆ มาจดทะเบียนได้ และจะกำหนดให้ผู้มีอาชีพเช่นว่านี้มาขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อนดำเนินอาชีพเช่นว่านั้น โดยให้เสียค่าธรรมเนียมหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้ มาตรา ๒๖ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเครื่องมือทำการประมงชนิดหนึ่งชนิดใดในท้องที่ใด ๆ จดทะเบียนการมีไว้ในครอบครองซึ่งเครื่องมือนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๒๗ เมื่อมีกรณีจำเป็นแก่ราชการหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยอนุมัติรัฐมนตรี ข้าหลวงประจำจังหวัดอาจสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาต หรือประทานบัตรรายใด ๆ ก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้ผู้รับอนุญาตได้รับคืนเงินอากรเฉพาะส่วนที่ต้องเพิกถอน มาตรา ๒๘ บุคคลใดจะใช้เครื่องมือในพิกัดทำการประมงได้ ต่อเมื่อได้รับอาชญาบัตรระบุชื่อบุคคลนั้น และเสียเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศยกเว้นไม่ต้องให้รับอาชญาบัตรสำหรับเครื่องมือทำการประมงอย่างหนึ่งอย่างใดในท้องที่ใด ๆ ก็ได้ มาตรา ๒๙ เครื่องมือในพิกัดซึ่งได้รับอาชญาบัตรในท้องที่จังหวัดใดแล้ว ถ้าบุคคลใดประสงค์จะนำไปใช้ทำการประมงในท้องที่จังหวัดอื่น ซึ่งจะต้องเสียเงินอากรสูงกว่า จะต้องเสียอากรเพิ่มเติมให้ครบตามอัตราในท้องที่นั้นเสียก่อนจึงจะใช้เครื่องมือนั้นได้ มาตรา ๓๐ บุคคลใดประสงค์จะทำการประมงในที่อนุญาต ต้องขออนุญาตและเสียเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้ และเงินซึ่งผู้รับอนุญาตที่จะต้องชำระโดยการว่าประมูล ให้ถือว่าเป็นเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้ รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศยกเว้นไม่ต้องเสียเงินอากรค่าอนุญาตในที่อนุญาตรายตัวบุคคลได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้ถือว่าได้รับอนุญาตแล้ว มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้บุคคลใดตั้ง หรือปัก หรือสร้างเครื่องมือประจำที่ลงในที่สาธารณประโยชน์ ส่วนที่จับสัตว์น้ำอื่น ๆ ห้ามมิให้บุคคลใดกระทำการเช่นว่านั้น โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๓๒ รัฐมนตรีหรือข้าหลวงประจำจังหวัดโดยอนุมัติรัฐมนตรีเฉพาะภายในเขตท้องที่ของตน มีอำนาจประกาศกำหนดได้ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดขนาดตาและระยะช่องเครื่องมือทำการประมงทุกชนิด กำหนดขนาด ชนิด จำนวนและส่วนประกอบของเครื่องมือทำการประมงที่อนุญาตให้ใช้ในที่จับสัตว์น้ำ (๒) กำหนดมิให้ใช้เครื่องมือทำการประมงอย่างหนึ่งอย่างใดในที่จับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด (๓) กำหนดระยะที่ตั้งเครื่องมือประจำที่ให้ห่างกันเพียงใด (๔) กำหนดวิธีใช้เครื่องมือทำการประมงต่าง ๆ (๕) กำหนดฤดูปลาที่มีไข่และวางไข่เลี้ยงลูก กำหนดเครื่องมือที่ให้ใช้และกำหนดวิธีทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำใด ๆ ในฤดูดังกล่าว (๖) กำหนดชนิด ขนาด และจำนวนอย่างสูงของสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง (๗) กำหนดมิให้ทำการประมงสัตว์น้ำชนิดหนึ่งชนิดใดโดยเด็ดขาด มาตรา ๓๓ การโอนประทานบัตร ใบอนุญาตและอาชญาบัตรและการออกใบแทนเอกสารเช่นว่านั้น และการสลักหลังอาชญาบัตร เพื่อแก้ไขหรือเพิ่มเติมผู้มีสิทธิใช้เครื่องมือทำการประมง จะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้ ใบอนุญาตหรืออาชญาบัตรใดซึ่งหมดอายุแล้ว แต่ได้ยื่นคำขอต่ออายุก่อนวันสิ้นอายุ มิให้ถือว่าการทำการประมงหรือการใช้เครื่องมือนั้นเป็นการกระทำโดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะได้แจ้งว่าไม่อนุญาต มาตรา ๓๔ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือทำการใด ๆ ในเครื่องมือประจำที่ของผู้รับอนุญาต หรือในบริเวณที่ตั้งเครื่องมือเช่นว่านั้น ตามที่คณะกรมการจังหวัดจะได้ประกาศกำหนดเขตโดยอนุมัติรัฐมนตรี มาตรา ๓๕ ผู้รับอนุญาตจะต้องนำประทานบัตร ใบอนุญาต และอาชญาบัตร ติดตัวไปด้วยเสมอในเวลาไปทำการประมงและต้องนำออกแสดงเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขอตรวจ มาตรา ๓๖ ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประทานบัตร ใบอนุญาต หรืออาชญาบัตร หรือค้างเงินอากรที่เกี่ยวกับประทานบัตร ใบอนุญาต หรืออาชญาบัตร พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งเพิกถอนประทานบัตร ใบอนุญาต หรืออาชญาบัตรนั้นเสียก็ได้ มาตรา ๓๗ ในขณะใดหรือในท้องที่ใดยังไม่สมควรจะเก็บเงินอากรให้ประกาศยกเว้นโดยพระราชกฤษฎีกา มาตรา ๓๘ โดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจยกเว้น งด หรือคืนอากรค่าประทานบัตร ใบอนุญาต และอาชญาบัตร ให้บางส่วนหรือทั้งหมดตามแต่จะเห็นสมควร มาตรา ๓๙ โดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผ่อนเวลาชำระเงินอากรได้ตามที่เห็นสมควร สำหรับเงินอากรที่ค้างนั้น ผู้รับอนุญาตจะต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละสิบต่อปีของเงินอากร และเงินดอกเบี้ยนี้ให้ถือเป็นเงินอากรค้าง มาตรา ๔๐ ถ้าผู้รับอนุญาตค้างชำระเงินอากร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) ประกาศหรือแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับอนุญาตนำเงินอากรที่ค้างมาชำระภายในเวลาตามที่เห็นสมควร (๒) เมื่อได้ดำเนินการตามอนุมาตรา (๑) แล้วผู้รับอนุญาตยังเพิกเฉยอยู่ พนักงานเจ้าหน้าที่อาจสั่งให้หยุดทำการประมง (๓) จัดการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ผู้รับอนุญาตนำมาวางเป็นหลักประกัน หรือจัดการเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชำระเงินอากรแทนผู้รับอนุญาต เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้คิดชำระเงินอากรและค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาดจนครบ เหลือเท่าใดให้คืนแก่ผู้รับอนุญาตหรือผู้ค้ำประกันแล้วแต่กรณี มาตรา ๔๑ เงินอากรที่ค้างชำระนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดและจัดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้รับอนุญาตแต่พอคุ้มกับเงินอากรที่ค้างชำระ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการยึดและการขายทอดตลาด มาตรา ๔๒ ประทานบัตร ใบอนุญาตหรืออาชญาบัตรที่ถูกสั่งเพิกถอนตามมาตรา ๓๖ นั้น อากรที่ชำระแล้วจะเรียกคืนมิได้ มาตรา ๔๓ กำหนดอายุอาชญาบัตรสำหรับการขออนุญาตและเสียเงินอากรนั้น ให้เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม มาตรา ๔๔ ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๔๓ เพื่อประโยชน์แก่การเก็บอากรโดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจประกาศกำหนดฤดูกาลทำการประมงตามความเหมาะสมแห่งท้องที่ โดยให้นับเวลาสิบสองเดือนเป็นหนึ่งฤดู และให้ถือระยะเวลาดังกล่าวแล้วเป็นระยะเวลาสำหรับการขออนุญาตและเสียอากรสำหรับหนึ่งปี มาตรา ๔๕ ในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องออกไปตรวจสอบหรือกำหนดที่ตั้งเครื่องมือประจำที่ให้แก่ผู้ขออนุญาตใช้เครื่องมือ ให้ผู้ขออนุญาตจัดหาพาหนะรับและส่งพนักงานเจ้าหน้าที่หรือออกค่าใช้จ่ายให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่เท่าที่จำเป็นและจ่ายจริงตามแต่ผู้ขออนุญาตจะเลือก มาตรา ๔๖ ในกรณีที่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจออกประทานบัตร ใบอนุญาตและอาชญาบัตร ไม่ยอมออกเอกสารเช่นว่านั้น ให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียอุทธรณ์ไปยังรัฐมนตรีได้โดยยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าพนักงานเช่นว่านั้นภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง คำอุทธรณ์นั้นให้เจ้าพนักงานเช่นว่านั้นเสนอรัฐมนตรีโดยมิชักช้า คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด หมวด ๔ สถิติการประมง มาตรา ๔๗ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้ทำการเก็บสถิติการประมงในท้องที่ใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร มาตรา ๔๘ เมื่อได้มีประกาศตามความในมาตรา ๔๗ แล้ว อธิบดีอาจขอให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่มีอาชีพเกี่ยวกับสัตว์น้ำส่งรายการข้อความจำนวนเกี่ยวกับสถิตินั้นได้ มาตรา ๔๙ คำขอของอธิบดีนั้น ให้ทำเป็นหนังสือระบุชื่อเจ้าของกิจการผู้จัดการหรือผู้แทน และให้กำหนดเวลา สถานที่และวิธีการยื่น มาตรา ๕๐ บุคคลซึ่งได้รับคำขอตามมาตรา ๔๘ ต้องกรอกคำตอบลงในแบบพิมพ์แสดงรายการข้อความ จำนวนตามที่รู้เห็น พร้อมทั้งลงชื่อกำกับ และจัดการยื่นตามกำหนดเวลา ณ สถานที่และตามวิธีการที่กำหนดในคำขอ มาตรา ๕๑ ถ้ามีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีเพื่อการนี้ มีอำนาจเข้าในสถานที่ทำการของผู้รับคำขอในเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เพื่อทำการตรวจสอบ จดข้อความจำนวนเกี่ยวกับสถิติการประมง และให้เป็นหน้าที่ของผู้รับคำขอหรือผู้แทน ตอบคำถาม อำนวยความสะดวก และช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการนี้ หมวด ๕ การควบคุม มาตรา ๕๒ โดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจประกาศห้ามมิให้บุคคลอื่นนอกจากผู้รับอนุญาต เข้าไปในที่จับสัตว์น้ำแห่งหนึ่งแห่งใด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้รับอนุญาต หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน มาตรา ๕๓[๗] ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำชนิดหนึ่งชนิดใดตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ บุคคลใดมีสัตว์น้ำดังกล่าวไว้ในความครอบครองในวันที่พระราชกฤษฎีกาออกตามความในวรรคหนึ่งเริ่มใช้บังคับ โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้นำสัตว์น้ำนั้นส่งมอบต่อเจ้าพนักงานกรมประมงกระทรวงเกษตร ภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีประกาศ ในการนี้ให้กรมประมงคิดราคาสัตว์น้ำดังกล่าวตามสมควรให้แก่ผู้นำส่งมอบ มาตรา ๕๔ ห้ามมิให้นำสัตว์น้ำชนิดหนึ่งชนิดใดตามที่ระบุในพระราชกฤษฎีกาเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๕๕ ห้ามมิให้บุคคลใดนำสัตว์น้ำชนิดหนึ่งชนิดใดตามที่ระบุในพระราชกฤษฎีกา ไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำแห่งหนึ่งแห่งใด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๕๖ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะเข้าไปในที่จับสัตว์น้ำแห่งใด ๆ หรือเรือทำการประมงของบุคคลใด ๆ เพื่อตรวจการทำการประมง เครื่องมือทำการประมงสัตว์น้ำ หลักฐานบัญชีและเอกสารต่าง ๆ ของผู้รับอนุญาตได้ทุกเมื่อ ผู้รับอนุญาตต้องอำนวยความสะดวกและชี้แจงแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ทุกประการ มาตรา ๕๗ เมื่อปรากฏว่าบุคคลใดกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำการเช่นว่านั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมผู้นั้นพร้อมด้วยเรือ เครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำ และสิ่งอื่น ๆ ที่ใช้ในการกระทำผิดเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย มาตรา ๕๘ ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้รับอนุญาตรื้อถอนเครื่องมือทำการประมง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งใด ๆ ในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งได้กระทำโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งประทานบัตรหรือใบอนุญาตได้สิ้นอายุแล้ว บรรดาที่เป็นของผู้รับอนุญาต ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนดังกล่าวแล้วให้ผู้รับอนุญาตเป็นผู้ออก มาตรา ๕๙ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจทำการรื้อถอน ทำลายหรือยึดเครื่องมือซึ่งตั้งอยู่ในที่จับสัตว์น้ำ โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ และสิ่งต่าง ๆ ซึ่งระบุไว้ในมาตรา ๕๘ ในกรณีที่ผู้รับคำสั่งไม่ได้รื้อถอนไปภายในเวลาอันสมควร ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนดังกล่าวให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ฝ่าฝืนเป็นผู้ออก มาตรา ๖๐ การประกาศตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้ามิได้กำหนดวิธีการไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้ทำเป็นหนังสือปิดไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอและศาลากลางจังหวัดประจำท้องที่เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน หมวด ๖ บทกำหนดโทษ มาตรา ๖๑ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ วรรคสอง มาตรา ๒๓ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๔ มาตรา ๕๒ หรือมาตรา ๕๓ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๒[๘] บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๙ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๗ ถึงมาตรา ๑๙ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๓๐ มาตรา ๕๔ หรือมาตรา ๕๕ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาทหรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๒ ทวิ[๙] บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๖๒ ตรี[๑๐] บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ ทวิ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๖๓ บุคคลใดไม่ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามมาตรา ๒๕ หรือมาตรา ๒๖ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๔ บุคคลใดใช้เครื่องมือทำการประมงซึ่งต้องมีอาชญาบัตรตามพระราชบัญญัติโดยไม่มีอาชญาบัตรตามมาตรา ๒๘ หรือมิได้เสียเงินอากรเพิ่มเติมตามมาตรา ๒๙ มีความผิดต้องระวางโทษปรับสามเท่าของเงินอากร มาตรา ๖๕ บุคคลใดฝ่าฝืนประกาศของรัฐมนตรีหรือข้าหลวงประจำจังหวัดซึ่งประกาศตามความในมาตรา ๓๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๖ ผู้รับอนุญาตใดไม่ปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๕ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าสิบบาท มาตรา ๖๗ บุคคลซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติการตามมาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๕๑ หรือมาตรา ๕๖ ละเลยไม่ปฏิบัติการเช่นว่านั้น มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๖๘ ผู้รับอนุญาตใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของข้าหลวงประจำจังหวัด ซึ่งสั่งตามมาตรา ๕๘ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๙[๑๑] เครื่องมือทำการประมง เรือ สัตว์น้ำ และสิ่งอื่น ๆ ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ศาลจะริบเสียก็ได้ แต่ถ้าเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ให้ศาลริบสิ่งเช่นว่านั้นเสียทั้งสิ้น มาตรา ๗๐ เครื่องมือทำการประมงที่ได้มีประกาศตามความในมาตรา ๓๒ ห้ามมิให้บุคคลใดใช้โดยเด็ดขาดนั้น ถ้านำมาใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ ให้ศาลริบเครื่องมือนั้นเสีย มาตรา ๗๑ ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกินสองพันบาท และต้องชดใช้เงินซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการไปตามมาตรา ๕๙ ในกรณีที่ศาลลงโทษผู้กระทำความผิดให้ศาลพิพากษาให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินดังกล่าวแล้ว ถ้าไม่ชำระให้จัดการตามมาตรา ๑๘ แห่งกฎหมายลักษณะอาญาโดยถือเสมือนว่าเป็นค่าปรับ มาตรา ๗๒ บุคคลใดทำลาย ถอดถอน หรือทำให้โคมไฟ เครื่องหมายหลักเขต แผ่นประกาศหรือสิ่งอื่น ๆ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำไว้ในที่จับสัตว์น้ำบุบสลาย หรือเสียหายด้วยประการใด ๆ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ บทเฉพาะกาล มาตรา ๗๓ ในกรณีที่ได้มีประกาศกำหนดประเภทที่จับสัตว์น้ำไว้ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเป็นประกาศที่ออกตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้เป็นต้นไป ประทานบัตร อาชญาบัตร และใบอนุญาตที่ออกก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ให้ถือว่าเป็นประทานบัตร อาชญาบัตร และใบอนุญาตที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้แล้วแต่กรณี และให้คงใช้ต่อไปได้จนหมดอายุแห่งประทานบัตร อาชญาบัตร และใบอนุญาตนั้น ๆ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเรือตรี ถ. ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี บัญชีหมายเลข ๑ อัตราเงินอากรค่าที่อนุญาต ลำดับ ประเภทที่อนุญาต อัตราเงินอากร ๑. โป๊ะน้ำลึก แห่งละ ๒๐๐.๐๐ บาท ๒. อวนรัง แห่งละ ๒๐๐.๐๐ บาท ๓. โป๊ะน้ำตื้น แห่งละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๔. เฝือกรัง แห่งละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๕. จิบ แห่งละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๖. ลี่ แห่งละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๗. สุก แห่งละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๘. โพงพาง ช่องละ ๑๐๐.๐๐ บาท ๙. ร้านโจน แห่งละ ๑๐๐.๐๐ บาท ๑๐. รั้วไซมาน ช่องละ ๕๐.๐๐ บาท ๑๑. กั้นซู่รั้วไซมาน ช่องละ ๕๐.๐๐ บาท ๑๒. ช้อนปีก แห่งละ ๕๐.๐๐ บาท ๑๓. ยอปีก แห่งละ ๕๐.๐๐ บาท ๑๔. บาม แห่งละ ๒๕.๐๐ บาท ๑๕. ยอขันช่อ แห่งละ ๒๐.๐๐ บาท ๑๖. ช้อนขันช่อ แห่งละ ๒๐.๐๐ บาท ๑๗. จันทา แห่งละ ๑๐.๐๐ บาท ๑๘. กร่ำ ตารางเมตรละ ๑.๐๐ บาท ๑๙. บ่อล่อสัตว์น้ำ ตารางเมตรละ ๐.๕๐ บาท ๒๐. ที่เลี้ยงหอย ตารางเมตรละ ๐.๐๕ บาท บัญชีหมายเลข ๒ อัตราเงินอากรอาชญาบัตรสำหรับเครื่องมือในพิกัด ลำดับ ชื่อเครื่องมือ อัตราเงินอากร ๑. ยอขันช่อ ช้อนขันช่อ ช้อนสนั่น และช้อนหางเหยี่ยวมี เครื่องยก ปากละ ๒๐.๐๐ บาท ๒. ถุงโพงพาง ถุงละ ๒๐.๐๐ บาท ๓. ถุงบาม ปากละ ๑๕.๐๐ บาท ๔. เรือผีหลอกหรือเรือกัตรา ลำละ ๑๐.๐๐ บาท ๕. แหยาวตั้งแต่ ๔ เมตรขึ้นไป ปากละ ๑๐.๐๐ บาท ๖. ช้อนต่าง ๆ ปากกว้างตั้งแต่ ๓.๕ เมตรขึ้นไป ปากละ ๑๐.๐๐ บาท ๗. เบ็ดราวยาวตั้งแต่ ๔๐ เมตรขึ้นไป สายละ ๕.๐๐ บาท ๘. ข่ายหรืออวนต่าง ๆ ยาว เมตรละ ๕.๐๐ บาท ๙. เฝือกหรือเครื่องกั้น ยาว เมตรละ ๑.๐๐ บาท บัญชีหมายเลข ๓ อัตราเงินอากรค่าใบอนุญาตรายบุคคลผู้ทำการประมง ลำดับ รายการ อัตราเงินอากร ๑. ใบอนุญาตรายบุคคลผู้ทำการประมงโดยใช้เครื่องมือนอกพิกัด ในที่อนุญาต คนละ ๑๕.๐๐ บาท ๒. ใบอนุญาตหาหอยแมลงภู่และหอยกะพง คนละ ๑๕.๐๐ บาท ๓. ใบอนุญาตหาเทียนหอยและหอยมุกด์ คนละ ๑๕.๐๐ บาท บัญชีหมายเลข ๔ อัตราค่าธรรมเนียม ลำดับ รายการ อัตราค่าธรรมเนียม ๑. ใบอนุญาตสำหรับทำการค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และ อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ..............................................ปีละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๒. ค่าโอนประทานบัตร ฉบับละ ๒๐.๐๐ บาท ๓. ค่าโอนใบอนุญาต อาชญาบัตร ฉบับละ ๒๐.๐๐ บาท ๔. ออกใบแทนอาชญาบัตร ใบอนุญาตประทานบัตร ฉบับละ ๑๐.๐๐ บาท ๕. ใบอนุญาตสำหรับผู้มีอาชีพทำการประมง ปีละ ๑๐.๐๐ บาท ๖. ค่าสลักหลังใบอาชญาบัตรเพื่อแก้ไขหรือเพิ่มเติม ผู้มีสิทธิใช้เครื่องมือทำการประมง ครั้งละ ๕.๐๐ บาท พระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖[๑๒] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ด้วยปรากฏว่าเวลานี้มีผู้ใช้วัตถุระเบิดทำการประมงทั้งในน่านน้ำจืดและน่านน้ำเค็มกันเป็นจำนวนมาก อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ผู้ฝ่าฝืนไม่ค่อยกลัวเกรงเพราะโทษแห่งความผิดได้กำหนดไว้ให้ในอัตราต่ำ และการจับกุมผู้กระทำผิด ก็จับได้ด้วยความยากลำบาก การใช้วัตถุระเบิดทำการประมงนั้น ปรากฏจากผลของการทดลองของกองทัพเรือ ร่วมกับกรมการประมงว่า เป็นการทำลายพันธุ์ปลาชนิดดี ๆ อย่างร้ายแรงมาก การใช้วัตถุระเบิดส่วนมาก ผู้ฝ่าฝืนใช้ตามหินกองในท้องทะเลซึ่งมีปลาพันธุ์ดีอาศัยอยู่ เช่นปลาเหลือง ปลาสีกุน การระเบิดครั้งหนึ่ง ๆ ปรากฏว่าได้ทำลายพันธุ์ปลาที่อยู่ในรัศมีการระเบิดโดยสิ้นเชิง ทั้งปลาใหญ่และลูกปลาที่เป็นปลาที่มีราคาและปลาเหล่านี้ เป็นปลาประจำท้องที่ ถ้าหากยังมีการฝ่าฝืนเช่นนี้ต่อไปอีก ไม่ช้าพันธุ์ปลาดี ๆ ในท้องทะเลก็จะถูกทำลายให้สูญพันธุ์ในกาลต่อไปได้ เป็นการทำลายอาชีพการประมงของบรรดาชาวประมง และบัดนี้ก็ปรากฏว่าเครื่องมือทำการประมงบางชนิดเช่น อวนยอ อวนมุโร เบ็ดสาย ลอบปะทุน ทำการประมงไม่ได้ผล เพราะบริเวณที่ใดถูกระเบิด ปลาก็ถูกทำลายแทบหมดสิ้น ไม่มีพันธุ์พอที่จะเกิดและเพิ่มปริมาณให้มีการจับได้อีกเป็นเวลานาน ทำให้ชาวประมงที่ใช้เครื่องมือประจำที่ทำการจับไม่ได้ต่างพากันร้องว่าเดือดร้อน ฉะนั้น จึงควรกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ในอัตราสูง เพื่อปราบปรามให้เข็ดหลาบ และป้องกันการทำลายพันธุ์ปลาไว้มิให้ถูกทำลายหมดไป โดยการกระทำของผู้เห็นประโยชน์ส่วนตัวเฉพาะหน้า อนึ่ง ปรากฏว่ามีผู้ฝ่าฝืนทำการบุกรุกและวิดน้ำจับสัตว์น้ำ ในที่จับสัตว์น้ำอันเป็นที่สาธารณประโยชน์ โดยมิได้รับอนุญาต เป็นเหตุให้เกิดการเสียหายแก่ที่จับสัตว์น้ำและพันธุ์สัตว์น้ำ จึงเห็นควรแก้ไขให้การควบคุมและการรักษาพันธุ์สัตว์น้ำได้ประโยชน์รัดกุมยิ่งขึ้น พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๕๑๓[๑๓] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ เนื่องจากปรากฏว่าได้มีผู้มีปลาปิรันยา (Piranha) หรือปลาคาริบี (Caribe) ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดในสกุลเซราซาลมัส (Serasalmus) และมีแหล่งกำเนิดเดิมอยู่ในแม่น้ำอะเมซอน ประเทศบราซิล ไว้ในครอบครอง ปลาชนิดนี้เป็นปลาขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายปลาแปบ หรือปลาโคก แต่มีฟันคมและมีนิสัยดุร้ายมาก ชอบอาศัยอยู่เป็นฝูง ชอบรุมกัดกินเนื้อมนุษย์และสัตว์ทุกขนาดเป็นอาหาร เช่น โค กระบือ ม้า ฯลฯ ที่ลงไปในแม่น้ำลำคลองที่ปลานี้อาศัยอยู่ และบัดนี้มีผู้นำหรือสั่งปลาในสกุลนี้มาจากต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศไทยหลายราย โดยจำหน่ายเป็นปลาประเภทสวยงาม และแปลกประหลาด ถ้าปล่อยให้มีปลาในสกุลนี้ไว้ในครอบครองอาจจะมีการผสมพันธุ์ปลาในสกุลนี้ขึ้นจำหน่าย หรืออาจจะมีผู้นำไปปล่อยในแหล่งน้ำสาธารณะ ปลาสกุลนี้จะขยายพันธุ์และแพร่หลายทั่วไปจะเป็นอันตรายต่อประชาชน สัตว์เลี้ยงและสัตว์น้ำอย่างยิ่ง จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติการประมง โดยห้ามมิให้มีสัตว์น้ำตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาไว้ในครอบครอง ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อการค้าหรือไม่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และโดยที่เป็นกรณีเหตุฉุกเฉินมีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความปลอดภัยสาธารณะหรือป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ ก่อนที่จะได้มีการขยายพันธุ์จนสายเกินที่จะป้องกันกำจัดได้ สมควรออกพระราชกำหนดโดยด่วน พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๕๑๓ พ.ศ. ๒๕๑๓[๑๔] มาตรา ๓ ให้อนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.๒๔๙๐ พ.ศ.๒๕๑๓ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปรากฏว่าได้มีผู้นำปลาปิรันยา (Piranha) หรือปลาคาริบี (Caribe) ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดในสกุลเซราซาลมัส (Serasalmus) จากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรหลายราย เพื่อจำหน่ายและเลี้ยงเป็นปลาประเภทสวยงาม ปลาชนิดนี้มีแหล่งกำเนิดเดิมอยู่ในแม่น้ำอะเมซอน ประเทศบราซิล เป็นปลาขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายปลาแปบหรือปลาโคก แต่เป็นปลาที่มีฟันคมและมีนิสัยดุร้ายมากอาศัยอยู่เป็นฝูง ชอบรุมกัดกินเนื้อมนุษย์และสัตว์มีชีวิตทุกขนาดเป็นอาหาร เช่น โค กระบือ ม้า ฯลฯ ที่ลงไปในแม่น้ำลำคลองที่ปลาชนิดนี้อาศัยอยู่ ถ้าปล่อยให้บุคคลมีปลาชนิดนี้ไว้ในครอบครอง อาจจะมีการผสมขยายพันธุ์เพื่อจำหน่ายหรืออาจจะมีผู้นำไปปล่อยในแหล่งน้ำสาธารณะ ปลาชนิดนี้สามารถขยายพันธุ์ได้โดยรวดเร็ว เพราะถิ่นกำเนิดเดิมมีอุณหภูมิอยู่ในระดับเดียวกับประเทศไทย ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อประชาชน สัตว์เลี้ยงและสัตว์น้ำอย่างร้ายแรง เพื่อป้องกันภัยพิบัติสาธารณะดังกล่าวแล้ว และเห็นว่าเป็นกรณีจำเป็นและรีบด่วน จึงจำเป็นต้องออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ โดยบัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดมีสัตว์น้ำตามระบุในพระราชกฤษฎีกาไว้ในครอบครองไม่ว่าจะมีไว้เพื่อการค้าหรือไม่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ สำหรับผู้ที่มีปลาชนิดนี้ไว้ในครอบครองในวันพระราชกฤษฎีกาออกใช้บังคับ โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศให้นำปลาชนิดนี้มาส่งมอบแก่เจ้าพนักงานกรมประมงภายใน ๗ วัน โดยกรมประมงจะคิดค่าสัตว์น้ำให้ตามสมควรจึงได้ออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมงพ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๕๑๓ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๑๓ ฉะนั้น จึงเห็นสมควรออกพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าวตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๔๖ ต่อไป ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๕ ลงวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕[๑๕] วศิน/ผู้จัดทำ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๔/ตอนที่ ๓/หน้า ๘๑/๑๔ มกราคม ๒๔๙๐ [๒] มาตรา ๑๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ [๓] มาตรา ๑๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ [๔] มาตรา ๑๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๕ ลงวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ [๕] มาตรา ๒๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๕ ลงวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ [๖] มาตรา ๒๐ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๕ ลงวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ [๗] มาตรา ๕๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๕๑๓ [๘] มาตรา ๖๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ [๙] มาตรา ๖๒ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๕ ลงวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ [๑๐] มาตรา ๖๒ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ [๑๑] มาตรา ๖๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๕ ลงวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ [๑๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๐/ตอนที่ ๖๑/หน้า ๑๑๔๕/๒๙ กันยายน ๒๔๙๖ [๑๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๗/ตอนที่ ๒๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๓๐ มีนาคม ๒๕๑๓ [๑๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๗/ตอนที่ ๙๓/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๗ ตุลาคม ๒๕๑๓ [๑๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๙/ตอนที่ ๔๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๔ มีนาคม ๒๕๑๕
312884
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 105
ประกาศของคณะปฏิวัติ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๕ โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า ได้มีผู้ละเมิดกฎหมายโดยใช้กระแสไฟฟ้า วัตถุระเบิดและวางยาเบื่อเมาเพื่อจับสัตว์น้ำกันแพร่หลายยิ่งขึ้น เป็นการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำอันเป็นทรัพยากรของชาติอย่างร้ายแรงและเป็นการเดือดร้อนแก่ประชาชน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการประมงเสียใหม่ให้เหมาะสม เพื่อป้องกันและสงวนพันธุ์สัตว์น้ำซึ่งเป็นทรัพยากรอันมีค่าของชาติมิให้ถูกทำลายให้หมดไปโดยการกระทำดังกล่าว หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๙ ห้ามมิให้บุคคลใดกระทำการใด ๆ อันทำให้สัตว์น้ำมึนเมา วางยาเบื่อเมาหรือทิ้งวัตถุใด ๆ ในลักษณะที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำ เว้นแต่การทดลองเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์และได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทำการนั้น ๆ เพื่อกำจัดศัตรูหรือโรคของสัตว์น้ำในที่เลี้ยงสัตว์น้ำของตน” ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๒๐ ห้ามมิให้บุคคลใดใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ หรือใช้วัตถุระเบิดในที่จับสัตว์น้ำไม่ว่าในกรณีใด เว้นแต่เพื่อประโยชน์ของทางราชการหรือได้รับอนุญาตจากอธิบดี” ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๐ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๒๐ ทวิ ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสัตว์น้ำโดยรู้ว่าได้มาโดยการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐” ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๒ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๖๒ ทวิ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท” ข้อ ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๙ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๖๙ เครื่องมือทำการประมง เรือ สัตว์น้ำ และสิ่งอื่น ๆ ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ศาลจะริบเสียก็ได้ แต่ถ้าเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ให้ศาลริบสิ่งเช่นว่านั้นเสียทั้งสิ้น” ข้อ ๖[๑] ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ จอมพล ถ. กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติ สุนันทา/แก้ไข ๒๔/๑๒/๔๔ พัชรินทร์/แก้ไข ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ วศิน/แก้ไข ๒๗ เมษายน ๒๕๕๒ จุฑามาศ/ปริญสินีย์/ปรับปรุง ๑๑ มกราคม ๒๕๕๖ วิชพงษ์/ตรวจ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๙/ตอนที่ ๔๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๔ มีนาคม ๒๕๑๕
315589
พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 (ฉบับ Update ณ วันที่ 30/03/2513)
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ การประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร พระยามานวราชเสวี ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการประมง พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิก (๑) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ รัตนโกสินทร ศก ๑๒๐ (๒) พระราชบัญญัติเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ รัตนโกสินทร ศก ๑๒๐ (๓) ประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ ร.ศ. ๑๒๐ (๔) พระราชบัญญัติเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ ศก ๑๒๐ (๕) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๒ (๖) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ รัตนโกสินทร ศก ๑๒๐ แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช ๒๔๗๗ (๗) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๗๙ (๘) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ (ฉบับที่ ๗) พุทธศักราช ๒๔๘๑ (๙) กฎกระทรวงว่าด้วยวิธีจัดการและตั้งอัตราเก็บเงินอากรค่าน้ำตามความในพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ ศก ๑๒๐ และบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบทบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้ (๑) “สัตว์น้ำ” หมายความว่า ปลา เต่า กระ กุ้ง ปู แมงดา สัตว์น้ำจำพวกเลื้อยคลาน รวมทั้งไข่ของสัตว์น้ำเหล่านี้ทุกชนิด สัตว์น้ำจำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำจำพวกหอย รวมทั้งเปลือกหอยและมุก สัตว์น้ำจำพวกปลิงทะเล จำพวกฟองน้ำ และจำพวกสาหร่ายทะเล และหมายความรวมตลอดถึงสัตว์อื่นที่อาศัยอยู่ในน้ำ และพันธุ์ไม้น้ำอื่น ๆ ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อ (๒) “ทำการประมง” หมายความว่า จับ ดัก ล่อ ทำอันตราย ฆ่า หรือเก็บสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือทำการประมงหรือด้วยวิธีใด ๆ (๓) “เครื่องมือทำการประมง” หมายความว่า เครื่องกลไก เครื่องใช้ เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบ อาวุธ เสา หลัก หรือเรือ บรรดาที่ใช้ทำการประมง (๔) “เรือ” หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิด (๕) “ที่จับสัตว์น้ำ” หมายความว่า ที่ซึ่งมีน้ำขังหรือไหล เช่น ทะเล แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง บ่อ เป็นต้น และหาดทั้งปวง บรรดาซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งป่าไม้ และพื้นดินซึ่งน้ำท่วมในฤดูน้ำไม่ว่าจะเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ และภายในเขตน่านน้ำไทยหรือน่านน้ำอื่นใด ซึ่งประเทศไทยใช้อยู่หรือมีสิทธิที่จะใช้ต่อไปในการทำการประมง โดยที่น่านน้ำเหล่านั้น ปรากฏโดยทั่วไปว่ามีขอบเขตตามกฎหมายท้องถิ่น หรือธรรมเนียมประเพณี หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสนธิสัญญา หรือด้วยประการใด (๖) “บ่อล่อสัตว์น้ำ” หมายความว่า ที่ล่อสัตว์น้ำเพื่อประโยชน์ในการทำการประมงตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (๗) “บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ” หมายความว่า ที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (๘) “ประทานบัตร” หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งข้าหลวงประจำจังหวัดออกให้บุคคลผู้ประมูลได้ ให้มีสิทธิทำการประมงในที่ว่าประมูล (๙) “ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่บุคคลใดใช้ทำการประมงหรือทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่อนุญาต (๑๐) “อาชญาบัตร” หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่ผู้รับอนุญาตเพื่อใช้เครื่องมือทำการประมง (๑๑) “ผู้รับอนุญาต” หมายความว่า บุคคลผู้ได้รับประทานบัตร ใบอนุญาต อาชญาบัตร หรือผู้ได้รับอนุญาตให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้ (๑๒) “เครื่องมือประจำที่” หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งใช้วิธีลงหลักปัก ผูก ขึง รั้ง ถ่วง หรือวิธีอื่นใด อันทำให้เครื่องมือนั้นอยู่กับที่ในเวลาทำการประมง (๑๓) “เครื่องมือในพิกัด” หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งระบุชื่อ ลักษณะ หรือวิธีใช้ไว้ในกฎกระทรวง (๑๔) “เครื่องมือนอกพิกัด” หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในกฎกระทรวงว่าเป็นเครื่องมือในพิกัด (๑๕) “สถิติการประมง” หมายความว่า สถิติหรือข้อความที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ การค้าสินค้าสัตว์น้ำ การทำการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (๑๖) “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ข้าหลวงประจำจังหวัดและนายอำเภอท้องที่ พนักงานประมง และผู้ซึ่งรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้มีหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ (๑๗) “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมการประมง (๑๘) “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราอากร และค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดกิจการอื่น ๆ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ หมวด ๑ ที่จับสัตว์น้ำ มาตรา ๖ บรรดาที่จับสัตว์น้ำทั้งปวงให้กำหนดเป็น ๔ ประเภท คือ (๑) ที่รักษาพืชพันธุ์ (๒) ที่ว่าประมูล (๓) ที่อนุญาต (๔) ที่สาธารณประโยชน์ มาตรา ๗ ให้คณะกรมการจังหวัดโดยอนุมัติของรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศกำหนดประเภทที่จับสัตว์น้ำภายในเขตท้องที่ของตนว่า เข้าอยู่ในประเภทที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่าประมูล หรือที่อนุญาต ที่จับสัตว์น้ำซึ่งมิได้มีประกาศตามความในวรรคหนึ่งให้ถือเป็นที่สาธารณประโยชน์ มาตรา ๘ ที่รักษาพืชพันธุ์ คือ ที่จับสัตว์น้ำซึ่งอยู่ในบริเวณพระอารามหรือปูชนียสถาน หรือติดกับเขตสถานที่ดังกล่าวแล้ว บริเวณประตูน้ำ ประตูระบายน้ำ ฝาย หรือทำนบ หรือที่ซึ่งเหมาะแก่การรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ มาตรา ๙ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่รักษาพืชพันธุ์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดให้ มาตรา ๑๐ ที่ว่าประมูล คือที่จับสัตว์น้ำซึ่งสมควรจะให้บุคคลว่าประมูลผูกขาดทำการประมง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การกำหนดที่จับสัตว์น้ำแห่งใดเป็นที่ว่าประมูลนั้น จะต้องไม่อยู่ในเขตชลประทานหลวง หรือไม่เป็นการเสียหายแก่การทำนา หรือการสัญจรทางน้ำ มาตรา ๑๑ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่ว่าประมูล เว้นแต่ผู้รับอนุญาต ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด การทำการประมงในที่ว่าประมูลเฉพาะเพื่อบริโภคภายในครอบครัวให้กระทำได้ แต่ต้องใช้เครื่องมือทำการประมงตามที่คณะกรมการจังหวัดประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี มาตรา ๑๒ ที่อนุญาต คือที่จับสัตว์น้ำซึ่งอนุญาตให้บุคคลทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และรวมตลอดถึงบ่อล่อสัตว์น้ำ มาตรา ๑๓ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่อนุญาต เว้นแต่ผู้รับอนุญาต ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๑๔ ห้ามมิให้บุคคลใดขุดหรือสร้างบ่อล่อสัตว์น้ำในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ส่วนในที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ บุคคลย่อมขุดหรือสร้างบ่อล่อสัตว์น้ำได้แต่ต้องไม่เป็นการเสียหายแก่พันธุ์สัตว์น้ำในที่รักษาพืชพันธุ์ มาตรา ๑๕ ผู้รับอนุญาตมีหน้าที่ติดโคมไฟและเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัยของการสัญจรในทางน้ำตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๖ ที่สาธารณประโยชน์ คือที่จับสัตว์น้ำซึ่งบุคคลทุกคนมีสิทธิทำการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ บุคคลใดซึ่งทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่สาธารณประโยชน์ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๑๗[๒] ห้ามมิให้บุคคลใดปลูกสร้างสิ่งใดลงไปในที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่าประมูล ที่อนุญาต ซึ่งมิใช่ที่ของเอกชนและที่สาธารณประโยชน์ หรือปลูกบัว ข้าว ปอ พืชหรือพันธุ์ไม้น้ำอื่นใดตามที่จะได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อในที่เช่นว่านั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด มาตรา ๑๘[๓] ห้ามมิให้บุคคลใดวิดน้ำในที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่าประมูล ที่อนุญาต ซึ่งมิใช่ที่ของเอกชน และที่สาธารณประโยชน์ หรือบ่อล่อสัตว์น้ำ หรือทำให้น้ำในที่จับสัตว์น้ำเช่นว่านั้นแห้งหรือลดน้อยลง เพื่อทำการประมง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด มาตรา ๑๙ ห้ามมิให้บุคคลใดกระทำการใด ๆ อันทำให้สัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำมึนเมา วางยาเบื่อเมา หรือทิ้งวัตถุที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำลงในที่จับสัตว์น้ำ มาตรา ๒๐ ห้ามมิให้บุคคลใดใช้วัตถุระเบิดในที่จับสัตว์น้ำ เว้นไว้แต่ในกรณีที่ทำเพื่อประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์และได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดให้ มาตรา ๒๐ ทวิ[๔] ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสัตว์น้ำ โดยรู้ว่าได้มาโดยการกระทำผิดตามมาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่จับสัตว์น้ำซึ่งมิได้อยู่ในที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ให้ผิดไปจากสภาพที่เป็นอยู่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้ มาตรา ๒๒ ห้ามมิให้บุคคลใด ติดตั้ง วาง หรือสร้างเขื่อน ทำนบ รั้ว เครื่องมือที่เป็นตาข่าย หรือเครื่องมือทำการประมงอื่น ๆ ในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งกางกั้นทางเดินของสัตว์น้ำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือกระทำการเช่นว่านั้นเพื่อประโยชน์แก่การกสิกรรมในที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้ เช่น บันไดปลาโจน หรือเครื่องอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อให้สัตว์น้ำว่ายขึ้นลงได้ หมวด ๒ บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ มาตรา ๒๓ ห้ามมิให้บุคคลใดขุดหรือสร้างบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มาตรา ๒๔ การทำการประมงในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ต้องขออนุญาตและไม่ต้องเสียเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้ หมวด ๓ การจดทะเบียนและการขออนุญาต มาตรา ๒๕ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศกำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำตามที่จะได้มีพระราชกฤษฎีการะบุไว้ในท้องที่ใด ๆ มาจดทะเบียนได้ และจะกำหนดให้ผู้มีอาชีพเช่นว่านี้มาขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อนดำเนินอาชีพเช่นว่านั้น โดยให้เสียค่าธรรมเนียมหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้ มาตรา ๒๖ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเครื่องมือทำการประมงชนิดหนึ่งชนิดใดในท้องที่ใด ๆ จดทะเบียนการมีไว้ในครอบครองซึ่งเครื่องมือนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๒๗ เมื่อมีกรณีจำเป็นแก่ราชการหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยอนุมัติรัฐมนตรี ข้าหลวงประจำจังหวัดอาจสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาต หรือประทานบัตรรายใด ๆ ก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้ผู้รับอนุญาตได้รับคืนเงินอากรเฉพาะส่วนที่ต้องเพิกถอน มาตรา ๒๘ บุคคลใดจะใช้เครื่องมือในพิกัดทำการประมงได้ ต่อเมื่อได้รับอาชญาบัตรระบุชื่อบุคคลนั้น และเสียเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศยกเว้นไม่ต้องให้รับอาชญาบัตรสำหรับเครื่องมือทำการประมงอย่างหนึ่งอย่างใดในท้องที่ใด ๆ ก็ได้ มาตรา ๒๙ เครื่องมือในพิกัดซึ่งได้รับอาชญาบัตรในท้องที่จังหวัดใดแล้ว ถ้าบุคคลใดประสงค์จะนำไปใช้ทำการประมงในท้องที่จังหวัดอื่น ซึ่งจะต้องเสียเงินอากรสูงกว่า จะต้องเสียอากรเพิ่มเติมให้ครบตามอัตราในท้องที่นั้นเสียก่อนจึงจะใช้เครื่องมือนั้นได้ มาตรา ๓๐ บุคคลใดประสงค์จะทำการประมงในที่อนุญาต ต้องขออนุญาตและเสียเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้ และเงินซึ่งผู้รับอนุญาตที่จะต้องชำระโดยการว่าประมูล ให้ถือว่าเป็นเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้ รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศยกเว้นไม่ต้องเสียเงินอากรค่าอนุญาตในที่อนุญาตรายตัวบุคคลได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้ถือว่าได้รับอนุญาตแล้ว มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้บุคคลใดตั้ง หรือปัก หรือสร้างเครื่องมือประจำที่ลงในที่สาธารณประโยชน์ ส่วนที่จับสัตว์น้ำอื่น ๆ ห้ามมิให้บุคคลใดกระทำการเช่นว่านั้น โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๓๒ รัฐมนตรีหรือข้าหลวงประจำจังหวัดโดยอนุมัติรัฐมนตรีเฉพาะภายในเขตท้องที่ของตน มีอำนาจประกาศกำหนดได้ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดขนาดตาและระยะช่องเครื่องมือทำการประมงทุกชนิด กำหนดขนาด ชนิด จำนวนและส่วนประกอบของเครื่องมือทำการประมงที่อนุญาตให้ใช้ในที่จับสัตว์น้ำ (๒) กำหนดมิให้ใช้เครื่องมือทำการประมงอย่างหนึ่งอย่างใดในที่จับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด (๓) กำหนดระยะที่ตั้งเครื่องมือประจำที่ให้ห่างกันเพียงใด (๔) กำหนดวิธีใช้เครื่องมือทำการประมงต่าง ๆ (๕) กำหนดฤดูปลาที่มีไข่และวางไข่เลี้ยงลูก กำหนดเครื่องมือที่ให้ใช้และกำหนดวิธีทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำใด ๆ ในฤดูดังกล่าว (๖) กำหนดชนิด ขนาด และจำนวนอย่างสูงของสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง (๗) กำหนดมิให้ทำการประมงสัตว์น้ำชนิดหนึ่งชนิดใดโดยเด็ดขาด มาตรา ๓๓ การโอนประทานบัตร ใบอนุญาตและอาชญาบัตรและการออกใบแทนเอกสารเช่นว่านั้น และการสลักหลังอาชญาบัตร เพื่อแก้ไขหรือเพิ่มเติมผู้มีสิทธิใช้เครื่องมือทำการประมง จะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้ ใบอนุญาตหรืออาชญาบัตรใดซึ่งหมดอายุแล้ว แต่ได้ยื่นคำขอต่ออายุก่อนวันสิ้นอายุ มิให้ถือว่าการทำการประมงหรือการใช้เครื่องมือนั้นเป็นการกระทำโดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะได้แจ้งว่าไม่อนุญาต มาตรา ๓๔ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือทำการใด ๆ ในเครื่องมือประจำที่ของผู้รับอนุญาต หรือในบริเวณที่ตั้งเครื่องมือเช่นว่านั้น ตามที่คณะกรมการจังหวัดจะได้ประกาศกำหนดเขตโดยอนุมัติรัฐมนตรี มาตรา ๓๕ ผู้รับอนุญาตจะต้องนำประทานบัตร ใบอนุญาต และอาชญาบัตร ติดตัวไปด้วยเสมอในเวลาไปทำการประมงและต้องนำออกแสดงเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขอตรวจ มาตรา ๓๖ ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประทานบัตร ใบอนุญาต หรืออาชญาบัตร หรือค้างเงินอากรที่เกี่ยวกับประทานบัตร ใบอนุญาต หรืออาชญาบัตร พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งเพิกถอนประทานบัตร ใบอนุญาต หรืออาชญาบัตรนั้นเสียก็ได้ มาตรา ๓๗ ในขณะใดหรือในท้องที่ใดยังไม่สมควรจะเก็บเงินอากรให้ประกาศยกเว้นโดยพระราชกฤษฎีกา มาตรา ๓๘ โดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจยกเว้น งด หรือคืนอากรค่าประทานบัตร ใบอนุญาต และอาชญาบัตร ให้บางส่วนหรือทั้งหมดตามแต่จะเห็นสมควร มาตรา ๓๙ โดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผ่อนเวลาชำระเงินอากรได้ตามที่เห็นสมควร สำหรับเงินอากรที่ค้างนั้น ผู้รับอนุญาตจะต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละสิบต่อปีของเงินอากร และเงินดอกเบี้ยนี้ให้ถือเป็นเงินอากรค้าง มาตรา ๔๐ ถ้าผู้รับอนุญาตค้างชำระเงินอากร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) ประกาศหรือแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับอนุญาตนำเงินอากรที่ค้างมาชำระภายในเวลาตามที่เห็นสมควร (๒) เมื่อได้ดำเนินการตามอนุมาตรา (๑) แล้วผู้รับอนุญาตยังเพิกเฉยอยู่ พนักงานเจ้าหน้าที่อาจสั่งให้หยุดทำการประมง (๓) จัดการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ผู้รับอนุญาตนำมาวางเป็นหลักประกัน หรือจัดการเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชำระเงินอากรแทนผู้รับอนุญาต เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้คิดชำระเงินอากรและค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาดจนครบ เหลือเท่าใดให้คืนแก่ผู้รับอนุญาตหรือผู้ค้ำประกันแล้วแต่กรณี มาตรา ๔๑ เงินอากรที่ค้างชำระนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดและจัดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้รับอนุญาตแต่พอคุ้มกับเงินอากรที่ค้างชำระ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการยึดและการขายทอดตลาด มาตรา ๔๒ ประทานบัตร ใบอนุญาตหรืออาชญาบัตรที่ถูกสั่งเพิกถอนตามมาตรา ๓๖ นั้น อากรที่ชำระแล้วจะเรียกคืนมิได้ มาตรา ๔๓ กำหนดอายุอาชญาบัตรสำหรับการขออนุญาตและเสียเงินอากรนั้น ให้เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม มาตรา ๔๔ ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๔๓ เพื่อประโยชน์แก่การเก็บอากรโดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจประกาศกำหนดฤดูกาลทำการประมงตามความเหมาะสมแห่งท้องที่ โดยให้นับเวลาสิบสองเดือนเป็นหนึ่งฤดู และให้ถือระยะเวลาดังกล่าวแล้วเป็นระยะเวลาสำหรับการขออนุญาตและเสียอากรสำหรับหนึ่งปี มาตรา ๔๕ ในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องออกไปตรวจสอบหรือกำหนดที่ตั้งเครื่องมือประจำที่ให้แก่ผู้ขออนุญาตใช้เครื่องมือ ให้ผู้ขออนุญาตจัดหาพาหนะรับและส่งพนักงานเจ้าหน้าที่หรือออกค่าใช้จ่ายให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่เท่าที่จำเป็นและจ่ายจริงตามแต่ผู้ขออนุญาตจะเลือก มาตรา ๔๖ ในกรณีที่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจออกประทานบัตร ใบอนุญาตและอาชญาบัตร ไม่ยอมออกเอกสารเช่นว่านั้น ให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียอุทธรณ์ไปยังรัฐมนตรีได้โดยยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าพนักงานเช่นว่านั้นภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง คำอุทธรณ์นั้นให้เจ้าพนักงานเช่นว่านั้นเสนอรัฐมนตรีโดยมิชักช้า คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด หมวด ๔ สถิติการประมง มาตรา ๔๗ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้ทำการเก็บสถิติการประมงในท้องที่ใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร มาตรา ๔๘ เมื่อได้มีประกาศตามความในมาตรา ๔๗ แล้ว อธิบดีอาจขอให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่มีอาชีพเกี่ยวกับสัตว์น้ำส่งรายการข้อความจำนวนเกี่ยวกับสถิตินั้นได้ มาตรา ๔๙ คำขอของอธิบดีนั้น ให้ทำเป็นหนังสือระบุชื่อเจ้าของกิจการผู้จัดการหรือผู้แทน และให้กำหนดเวลา สถานที่และวิธีการยื่น มาตรา ๕๐ บุคคลซึ่งได้รับคำขอตามมาตรา ๔๘ ต้องกรอกคำตอบลงในแบบพิมพ์แสดงรายการข้อความ จำนวนตามที่รู้เห็น พร้อมทั้งลงชื่อกำกับ และจัดการยื่นตามกำหนดเวลา ณ สถานที่และตามวิธีการที่กำหนดในคำขอ มาตรา ๕๑ ถ้ามีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีเพื่อการนี้ มีอำนาจเข้าในสถานที่ทำการของผู้รับคำขอในเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เพื่อทำการตรวจสอบ จดข้อความจำนวนเกี่ยวกับสถิติการประมง และให้เป็นหน้าที่ของผู้รับคำขอหรือผู้แทน ตอบคำถาม อำนวยความสะดวก และช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการนี้ หมวด ๕ การควบคุม มาตรา ๕๒ โดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจประกาศห้ามมิให้บุคคลอื่นนอกจากผู้รับอนุญาต เข้าไปในที่จับสัตว์น้ำแห่งหนึ่งแห่งใด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้รับอนุญาต หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน มาตรา ๕๓[๕] ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำชนิดหนึ่งชนิดใดตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ บุคคลใดมีสัตว์น้ำดังกล่าวไว้ในความครอบครองในวันที่พระราชกฤษฎีกาออกตามความในวรรคหนึ่งเริ่มใช้บังคับ โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้นำสัตว์น้ำนั้นส่งมอบต่อเจ้าพนักงานกรมประมงกระทรวงเกษตร ภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีประกาศ ในการนี้ให้กรมประมงคิดราคาสัตว์น้ำดังกล่าวตามสมควรให้แก่ผู้นำส่งมอบ มาตรา ๕๔ ห้ามมิให้นำสัตว์น้ำชนิดหนึ่งชนิดใดตามที่ระบุในพระราชกฤษฎีกาเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๕๕ ห้ามมิให้บุคคลใดนำสัตว์น้ำชนิดหนึ่งชนิดใดตามที่ระบุในพระราชกฤษฎีกา ไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำแห่งหนึ่งแห่งใด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๕๖ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะเข้าไปในที่จับสัตว์น้ำแห่งใด ๆ หรือเรือทำการประมงของบุคคลใด ๆ เพื่อตรวจการทำการประมง เครื่องมือทำการประมงสัตว์น้ำ หลักฐานบัญชีและเอกสารต่าง ๆ ของผู้รับอนุญาตได้ทุกเมื่อ ผู้รับอนุญาตต้องอำนวยความสะดวกและชี้แจงแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ทุกประการ มาตรา ๕๗ เมื่อปรากฏว่าบุคคลใดกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำการเช่นว่านั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมผู้นั้นพร้อมด้วยเรือ เครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำ และสิ่งอื่น ๆ ที่ใช้ในการกระทำผิดเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย มาตรา ๕๘ ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้รับอนุญาตรื้อถอนเครื่องมือทำการประมง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งใด ๆ ในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งได้กระทำโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งประทานบัตรหรือใบอนุญาตได้สิ้นอายุแล้ว บรรดาที่เป็นของผู้รับอนุญาต ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนดังกล่าวแล้วให้ผู้รับอนุญาตเป็นผู้ออก มาตรา ๕๙ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจทำการรื้อถอน ทำลายหรือยึดเครื่องมือซึ่งตั้งอยู่ในที่จับสัตว์น้ำ โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ และสิ่งต่าง ๆ ซึ่งระบุไว้ในมาตรา ๕๘ ในกรณีที่ผู้รับคำสั่งไม่ได้รื้อถอนไปภายในเวลาอันสมควร ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนดังกล่าวให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ฝ่าฝืนเป็นผู้ออก มาตรา ๖๐ การประกาศตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้ามิได้กำหนดวิธีการไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้ทำเป็นหนังสือปิดไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอและศาลากลางจังหวัดประจำท้องที่เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน หมวด ๖ บทกำหนดโทษ มาตรา ๖๑ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ วรรคสอง มาตรา ๒๓ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๔ มาตรา ๕๒ หรือมาตรา ๕๓ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๒[๖] บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๙ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๗ ถึงมาตรา ๑๙ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๓๐ มาตรา ๕๔ หรือมาตรา ๕๕ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาทหรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๒ ทวิ[๗] บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่ต่ำกว่าสิบเท่าของราคาสัตว์น้ำนั้น แต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๖๒ ตรี[๘] บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ ทวิ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๖๓ บุคคลใดไม่ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามมาตรา ๒๕ หรือมาตรา ๒๖ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๔ บุคคลใดใช้เครื่องมือทำการประมงซึ่งต้องมีอาชญาบัตรตามพระราชบัญญัติโดยไม่มีอาชญาบัตรตามมาตรา ๒๘ หรือมิได้เสียเงินอากรเพิ่มเติมตามมาตรา ๒๙ มีความผิดต้องระวางโทษปรับสามเท่าของเงินอากร มาตรา ๖๕ บุคคลใดฝ่าฝืนประกาศของรัฐมนตรีหรือข้าหลวงประจำจังหวัดซึ่งประกาศตามความในมาตรา ๓๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๖ ผู้รับอนุญาตใดไม่ปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๕ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าสิบบาท มาตรา ๖๗ บุคคลซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติการตามมาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๕๑ หรือมาตรา ๕๖ ละเลยไม่ปฏิบัติการเช่นว่านั้น มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๖๘ ผู้รับอนุญาตใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของข้าหลวงประจำจังหวัด ซึ่งสั่งตามมาตรา ๕๘ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๙[๙] เรือ เครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำ และสิ่งอื่น ๆ ที่ใช้หรือได้มาโดยการกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ ศาลจะริบเสียก็ได้ แต่ถ้าสิ่งเช่นว่านั้น ได้ใช้หรือได้มาโดยการกระทำความผิดในที่รักษาพืชพันธุ์ หรือโดยการฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ ให้ศาลริบเสียทั้งสิ้น มาตรา ๗๐ เครื่องมือทำการประมงที่ได้มีประกาศตามความในมาตรา ๓๒ ห้ามมิให้บุคคลใดใช้โดยเด็ดขาดนั้น ถ้านำมาใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ ให้ศาลริบเครื่องมือนั้นเสีย มาตรา ๗๑ ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกินสองพันบาท และต้องชดใช้เงินซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการไปตามมาตรา ๕๙ ในกรณีที่ศาลลงโทษผู้กระทำความผิดให้ศาลพิพากษาให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินดังกล่าวแล้ว ถ้าไม่ชำระให้จัดการตามมาตรา ๑๘ แห่งกฎหมายลักษณะอาญาโดยถือเสมือนว่าเป็นค่าปรับ มาตรา ๗๒ บุคคลใดทำลาย ถอดถอน หรือทำให้โคมไฟ เครื่องหมายหลักเขต แผ่นประกาศหรือสิ่งอื่น ๆ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำไว้ในที่จับสัตว์น้ำบุบสลาย หรือเสียหายด้วยประการใด ๆ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ บทเฉพาะกาล มาตรา ๗๓ ในกรณีที่ได้มีประกาศกำหนดประเภทที่จับสัตว์น้ำไว้ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเป็นประกาศที่ออกตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้เป็นต้นไป ประทานบัตร อาชญาบัตร และใบอนุญาตที่ออกก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ให้ถือว่าเป็นประทานบัตร อาชญาบัตร และใบอนุญาตที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้แล้วแต่กรณี และให้คงใช้ต่อไปได้จนหมดอายุแห่งประทานบัตร อาชญาบัตร และใบอนุญาตนั้น ๆ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเรือตรี ถ. ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี บัญชีหมายเลข ๑ อัตราเงินอากรค่าที่อนุญาต ลำดับ ประเภทที่อนุญาต อัตราเงินอากร ๑. โป๊ะน้ำลึก แห่งละ ๒๐๐.๐๐ บาท ๒. อวนรัง แห่งละ ๒๐๐.๐๐ บาท ๓. โป๊ะน้ำตื้น แห่งละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๔. เฝือกรัง แห่งละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๕. จิบ แห่งละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๖. ลี่ แห่งละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๗. สุก แห่งละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๘. โพงพาง ช่องละ ๑๐๐.๐๐ บาท ๙. ร้านโจน แห่งละ ๑๐๐.๐๐ บาท ๑๐. รั้วไซมาน ช่องละ ๕๐.๐๐ บาท ๑๑. กั้นซู่รั้วไซมาน ช่องละ ๕๐.๐๐ บาท ๑๒. ช้อนปีก แห่งละ ๕๐.๐๐ บาท ๑๓. ยอปีก แห่งละ ๕๐.๐๐ บาท ๑๔. บาม แห่งละ ๒๕.๐๐ บาท ๑๕. ยอขันช่อ แห่งละ ๒๐.๐๐ บาท ๑๖. ช้อนขันช่อ แห่งละ ๒๐.๐๐ บาท ๑๗. จันทา แห่งละ ๑๐.๐๐ บาท ๑๘. กร่ำ ตารางเมตรละ ๑.๐๐ บาท ๑๙. บ่อล่อสัตว์น้ำ ตารางเมตรละ ๐.๕๐ บาท ๒๐. ที่เลี้ยงหอย ตารางเมตรละ ๐.๐๕ บาท บัญชีหมายเลข ๒ อัตราเงินอากรอาชญาบัตรสำหรับเครื่องมือในพิกัด ลำดับ ชื่อเครื่องมือ อัตราเงินอากร ๑. ยอขันช่อ ช้อนขันช่อ ช้อนสนั่น และช้อนหางเหยี่ยวมี เครื่องยก ปากละ ๒๐.๐๐ บาท ๒. ถุงโพงพาง ถุงละ ๒๐.๐๐ บาท ๓. ถุงบาม ปากละ ๑๕.๐๐ บาท ๔. เรือผีหลอกหรือเรือกัตรา ลำละ ๑๐.๐๐ บาท ๕. แหยาวตั้งแต่ ๔ เมตรขึ้นไป ปากละ ๑๐.๐๐ บาท ๖. ช้อนต่าง ๆ ปากกว้างตั้งแต่ ๓.๕ เมตรขึ้นไป ปากละ ๑๐.๐๐ บาท ๗. เบ็ดราวยาวตั้งแต่ ๔๐ เมตรขึ้นไป สายละ ๕.๐๐ บาท ๘. ข่ายหรืออวนต่าง ๆ ยาว เมตรละ ๕.๐๐ บาท ๙. เฝือกหรือเครื่องกั้น ยาว เมตรละ ๑.๐๐ บาท บัญชีหมายเลข ๓ อัตราเงินอากรค่าใบอนุญาตรายบุคคลผู้ทำการประมง ลำดับ รายการ อัตราเงินอากร ๑. ใบอนุญาตรายบุคคลผู้ทำการประมงโดยใช้เครื่องมือนอกพิกัด ในที่อนุญาต คนละ ๑๕.๐๐ บาท ๒. ใบอนุญาตหาหอยแมลงภู่และหอยกะพง คนละ ๑๕.๐๐ บาท ๓. ใบอนุญาตหาเทียนหอยและหอยมุกด์ คนละ ๑๕.๐๐ บาท บัญชีหมายเลข ๔ อัตราค่าธรรมเนียม ลำดับ รายการ อัตราค่าธรรมเนียม ๑. ใบอนุญาตสำหรับทำการค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และ อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ..............................................ปีละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๒. ค่าโอนประทานบัตร ฉบับละ ๒๐.๐๐ บาท ๓. ค่าโอนใบอนุญาต อาชญาบัตร ฉบับละ ๒๐.๐๐ บาท ๔. ออกใบแทนอาชญาบัตร ใบอนุญาตประทานบัตร ฉบับละ ๑๐.๐๐ บาท ๕. ใบอนุญาตสำหรับผู้มีอาชีพทำการประมง ปีละ ๑๐.๐๐ บาท ๖. ค่าสลักหลังใบอาชญาบัตรเพื่อแก้ไขหรือเพิ่มเติม ผู้มีสิทธิใช้เครื่องมือทำการประมง ครั้งละ ๕.๐๐ บาท พระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖[๑๐] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ด้วยปรากฏว่าเวลานี้มีผู้ใช้วัตถุระเบิดทำการประมงทั้งในน่านน้ำจืดและน่านน้ำเค็มกันเป็นจำนวนมาก อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ผู้ฝ่าฝืนไม่ค่อยกลัวเกรงเพราะโทษแห่งความผิดได้กำหนดไว้ให้ในอัตราต่ำ และการจับกุมผู้กระทำผิด ก็จับได้ด้วยความยากลำบาก การใช้วัตถุระเบิดทำการประมงนั้น ปรากฏจากผลของการทดลองของกองทัพเรือ ร่วมกับกรมการประมงว่า เป็นการทำลายพันธุ์ปลาชนิดดี ๆ อย่างร้ายแรงมาก การใช้วัตถุระเบิดส่วนมาก ผู้ฝ่าฝืนใช้ตามหินกองในท้องทะเลซึ่งมีปลาพันธุ์ดีอาศัยอยู่ เช่นปลาเหลือง ปลาสีกุน การระเบิดครั้งหนึ่ง ๆ ปรากฏว่าได้ทำลายพันธุ์ปลาที่อยู่ในรัศมีการระเบิดโดยสิ้นเชิง ทั้งปลาใหญ่และลูกปลาที่เป็นปลาที่มีราคาและปลาเหล่านี้ เป็นปลาประจำท้องที่ ถ้าหากยังมีการฝ่าฝืนเช่นนี้ต่อไปอีก ไม่ช้าพันธุ์ปลาดี ๆ ในท้องทะเลก็จะถูกทำลายให้สูญพันธุ์ในกาลต่อไปได้ เป็นการทำลายอาชีพการประมงของบรรดาชาวประมง และบัดนี้ก็ปรากฏว่าเครื่องมือทำการประมงบางชนิดเช่น อวนยอ อวนมุโร เบ็ดสาย ลอบปะทุน ทำการประมงไม่ได้ผล เพราะบริเวณที่ใดถูกระเบิด ปลาก็ถูกทำลายแทบหมดสิ้น ไม่มีพันธุ์พอที่จะเกิดและเพิ่มปริมาณให้มีการจับได้อีกเป็นเวลานาน ทำให้ชาวประมงที่ใช้เครื่องมือประจำที่ทำการจับไม่ได้ต่างพากันร้องว่าเดือดร้อน ฉะนั้น จึงควรกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ในอัตราสูง เพื่อปราบปรามให้เข็ดหลาบ และป้องกันการทำลายพันธุ์ปลาไว้มิให้ถูกทำลายหมดไป โดยการกระทำของผู้เห็นประโยชน์ส่วนตัวเฉพาะหน้า อนึ่ง ปรากฏว่ามีผู้ฝ่าฝืนทำการบุกรุกและวิดน้ำจับสัตว์น้ำ ในที่จับสัตว์น้ำอันเป็นที่สาธารณประโยชน์ โดยมิได้รับอนุญาต เป็นเหตุให้เกิดการเสียหายแก่ที่จับสัตว์น้ำและพันธุ์สัตว์น้ำ จึงเห็นควรแก้ไขให้การควบคุมและการรักษาพันธุ์สัตว์น้ำได้ประโยชน์รัดกุมยิ่งขึ้น พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๕๑๓[๑๑] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ เนื่องจากปรากฏว่าได้มีผู้มีปลาปิรันยา (Piranha) หรือปลาคาริบี (Caribe) ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดในสกุลเซราซาลมัส (Serasalmus) และมีแหล่งกำเนิดเดิมอยู่ในแม่น้ำอะเมซอน ประเทศบราซิล ไว้ในครอบครอง ปลาชนิดนี้เป็นปลาขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายปลาแปบ หรือปลาโคก แต่มีฟันคมและมีนิสัยดุร้ายมาก ชอบอาศัยอยู่เป็นฝูง ชอบรุมกัดกินเนื้อมนุษย์และสัตว์ทุกขนาดเป็นอาหาร เช่น โค กระบือ ม้า ฯลฯ ที่ลงไปในแม่น้ำลำคลองที่ปลานี้อาศัยอยู่ และบัดนี้มีผู้นำหรือสั่งปลาในสกุลนี้มาจากต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศไทยหลายราย โดยจำหน่ายเป็นปลาประเภทสวยงาม และแปลกประหลาด ถ้าปล่อยให้มีปลาในสกุลนี้ไว้ในครอบครองอาจจะมีการผสมพันธุ์ปลาในสกุลนี้ขึ้นจำหน่าย หรืออาจจะมีผู้นำไปปล่อยในแหล่งน้ำสาธารณะ ปลาสกุลนี้จะขยายพันธุ์และแพร่หลายทั่วไปจะเป็นอันตรายต่อประชาชน สัตว์เลี้ยงและสัตว์น้ำอย่างยิ่ง จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติการประมง โดยห้ามมิให้มีสัตว์น้ำตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาไว้ในครอบครอง ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อการค้าหรือไม่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และโดยที่เป็นกรณีเหตุฉุกเฉินมีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความปลอดภัยสาธารณะหรือป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ ก่อนที่จะได้มีการขยายพันธุ์จนสายเกินที่จะป้องกันกำจัดได้ สมควรออกพระราชกำหนดโดยด่วน พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๕๑๓ พ.ศ. ๒๕๑๓[๑๒] มาตรา ๓ ให้อนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.๒๔๙๐ พ.ศ.๒๕๑๓ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปรากฏว่าได้มีผู้นำปลาปิรันยา (Piranha) หรือปลาคาริบี (Caribe) ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดในสกุลเซราซาลมัส (Serasalmus) จากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรหลายราย เพื่อจำหน่ายและเลี้ยงเป็นปลาประเภทสวยงาม ปลาชนิดนี้มีแหล่งกำเนิดเดิมอยู่ในแม่น้ำอะเมซอน ประเทศบราซิล เป็นปลาขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายปลาแปบหรือปลาโคก แต่เป็นปลาที่มีฟันคมและมีนิสัยดุร้ายมากอาศัยอยู่เป็นฝูง ชอบรุมกัดกินเนื้อมนุษย์และสัตว์มีชีวิตทุกขนาดเป็นอาหาร เช่น โค กระบือ ม้า ฯลฯ ที่ลงไปในแม่น้ำลำคลองที่ปลาชนิดนี้อาศัยอยู่ ถ้าปล่อยให้บุคคลมีปลาชนิดนี้ไว้ในครอบครอง อาจจะมีการผสมขยายพันธุ์เพื่อจำหน่ายหรืออาจจะมีผู้นำไปปล่อยในแหล่งน้ำสาธารณะ ปลาชนิดนี้สามารถขยายพันธุ์ได้โดยรวดเร็ว เพราะถิ่นกำเนิดเดิมมีอุณหภูมิอยู่ในระดับเดียวกับประเทศไทย ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อประชาชน สัตว์เลี้ยงและสัตว์น้ำอย่างร้ายแรง เพื่อป้องกันภัยพิบัติสาธารณะดังกล่าวแล้ว และเห็นว่าเป็นกรณีจำเป็นและรีบด่วน จึงจำเป็นต้องออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ โดยบัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดมีสัตว์น้ำตามระบุในพระราชกฤษฎีกาไว้ในครอบครองไม่ว่าจะมีไว้เพื่อการค้าหรือไม่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ สำหรับผู้ที่มีปลาชนิดนี้ไว้ในครอบครองในวันพระราชกฤษฎีกาออกใช้บังคับ โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศให้นำปลาชนิดนี้มาส่งมอบแก่เจ้าพนักงานกรมประมงภายใน ๗ วัน โดยกรมประมงจะคิดค่าสัตว์น้ำให้ตามสมควรจึงได้ออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมงพ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๕๑๓ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๑๓ ฉะนั้น จึงเห็นสมควรออกพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าวตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๔๖ ต่อไป วศิน/ผู้จัดทำ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๔/ตอนที่ ๓/หน้า ๘๑/๑๔ มกราคม ๒๔๙๐ [๒] มาตรา ๑๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ [๓] มาตรา ๑๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ [๔] มาตรา ๒๐ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ [๕] มาตรา ๕๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๕๑๓ [๖] มาตรา ๖๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ [๗] มาตรา ๖๒ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ [๘] มาตรา ๖๒ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ [๙] มาตรา ๖๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ [๑๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๐/ตอนที่ ๖๑/หน้า ๑๑๔๕/๒๙ กันยายน ๒๔๙๖ [๑๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๗/ตอนที่ ๒๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๓๐ มีนาคม ๒๕๑๓ [๑๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๗/ตอนที่ ๙๓/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๗ ตุลาคม ๒๕๑๓
315590
พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 พ.ศ. 2513 พ.ศ. 2513
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ อนุมัติพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ การประมง พ.ศ.๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๕๑๓ พ.ศ. ๒๕๑๓ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นปีที่ ๒๕ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๕๑๓ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๕๑๓ พ.ศ. ๒๕๑๓” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้อนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๕๑๓ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปรากฏว่าได้มีผู้นำปลาปิรันยา (Piranha) หรือปลาคาริบี (Caribe) ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดในสกุลเซราซาลมัส (Serasalmus) จากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรหลายราย เพื่อจำหน่ายและเลี้ยงเป็นปลาประเภทสวยงาม ปลาชนิดนี้มีแหล่งกำเนิดเดิมอยู่ในแม่น้ำอะเมซอน ประเทศบราซิล เป็นปลาขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายปลาแปบหรือปลาโคก แต่เป็นปลาที่มีฟันคมและมีนิสัยดุร้ายมาก อาศัยอยู่เป็นฝูง ชอบรุมกัดกินเนื้อมนุษย์และสัตว์มีชีวิตทุกขนาดเป็นอาหาร เช่น โค กระบือ ม้า ฯลฯ ที่ลงไปในแม่น้ำลำคลองที่ปลาชนิดนี้อาศัยอยู่ ถ้าปล่อยให้บุคคลมีปลาชนิดนี้ไว้ในครอบครอง อาจจะมีการผสมขยายพันธุ์เพื่อจำหน่ายหรืออาจจะมีผู้นำไปปล่อยในแหล่งน้ำสาธารณะ ปลาชนิดนี้สามารถขยายพันธุ์ได้โดยรวดเร็ว เพราะถิ่นกำเนิดเดิมมีอุณหภูมิอยู่ในระดับเดียวกับประเทศไทย ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อประชาชน สัตว์เลี้ยงและสัตว์น้ำอย่างร้ายแรง เพื่อป้องกันภัยพิบัติสาธารณะดังกล่าวแล้ว และเห็นว่าเป็นกรณีจำเป็นและรีบด่วน จึงจำเป็นต้องออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ โดยบัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดมีสัตว์น้ำตามระบุในพระราชกฤษฎีกาไว้ในครอบครองไม่ว่าจะมีไว้เพื่อการค้าหรือไม่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ สำหรับผู้ที่มีปลาชนิดนี้ไว้ในครอบครองในวันพระราชกฤษฎีกาออกใช้บังคับ โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศให้นำปลาชนิดนี้มาส่งมอบแก่เจ้าพนักงานกรมประมงภายใน ๗ วัน โดยกรมประมงจะคิดค่าสัตว์น้ำให้ตามสมควร จึงได้ออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๕๑๓ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๑๓ ฉะนั้น จึงเห็นสมควรออกพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าวตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๔๖ ต่อไป สุนันทา/แก้ไข ๒๔/๑๒/๔๔ พัชรินทร์/แก้ไข ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ วศิน/แก้ไข ๒๗ เมษายน ๒๕๕๒ จุฑามาศ/ปริญสินีย์/ปรับปรุง ๑๑ มกราคม ๒๕๕๖ วิชพงษ์/ตรวจ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๗/ตอนที่ ๙๓/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๗ ตุลาคม ๒๕๑๓
324892
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 พ.ศ. 2513
พระราชกำหนด พระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๕๑๓ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นปีที่ ๒๕ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการประมง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๔๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๕๑๓” มาตรา ๒[๑] พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๕๓ ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำชนิดหนึ่งชนิดใดตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ บุคคลใดมีสัตว์น้ำดังกล่าวไว้ในความครอบครองในวันที่พระราชกฤษฎีกาออกตามความในวรรคหนึ่งเริ่มใช้บังคับ โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้นำสัตว์น้ำนั้นส่งมอบต่อเจ้าพนักงานกรมประมง กระทรวงเกษตร ภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีประกาศ ในการนี้ให้กรมประมงคิดราคาสัตว์น้ำดังกล่าวตามสมควรให้แก่ผู้นำส่งมอบ” ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ เนื่องจากปรากฏว่าได้มีผู้มีปลาปิรันยา (Piranha) หรือปลาคาริบี (Caribe) ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดในสกุลเซราซาลมัส (Serasalmus) และมีแหล่งกำเนิดเดิมอยู่ในแม่น้ำอะเมซอน ประเทศบราซิล ไว้ในครอบครอง ปลาชนิดนี้เป็นปลาขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายปลาแปบ หรือปลาโคก แต่มีฟันคมและมีนิสัยดุร้ายมาก ชอบอาศัยอยู่เป็นฝูง ชอบรุมกัดกินเนื้อมนุษย์และสัตว์ทุกขนาดเป็นอาหาร เช่น โค กระบือ ม้า ฯลฯ ที่ลงไปในแม่น้ำลำคลองที่ปลานี้อาศัยอยู่ และบัดนี้มีผู้นำหรือสั่งปลาในสกุลนี้มาจากต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศไทยหลายราย โดยจำหน่ายเป็นปลาประเภทสวยงาม และแปลกประหลาด ถ้าปล่อยให้มีปลาในสกุลนี้ไว้ในครอบครองอาจจะมีการผสมพันธุ์ปลาในสกุลนี้ขึ้นจำหน่าย หรืออาจจะมีผู้นำไปปล่อยในแหล่งน้ำสาธารณะ ปลาสกุลนี้จะขยายพันธุ์และแพร่หลายทั่วไปจะเป็นอันตรายต่อประชาชน สัตว์เลี้ยงและสัตว์น้ำอย่างยิ่ง จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติการประมง โดยห้ามมิให้มีสัตว์น้ำตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาไว้ในครอบครอง ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อการค้าหรือไม่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และโดยที่เป็นกรณีเหตุฉุกเฉินมีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความปลอดภัยสาธารณะหรือป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ ก่อนที่จะได้มีการขยายพันธุ์จนสายเกินที่จะป้องกันกำจัดได้ สมควรออกพระราชกำหนดโดยด่วน สุนันทา/แก้ไข ๒๔/๑๒/๔๔ พัชรินทร์/แก้ไข ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ วศิน/แก้ไข ๒๗ เมษายน ๒๕๕๒ จุฑามาศ/ปริญสินีย์/ปรับปรุง ๑๑ มกราคม ๒๕๕๖ วิชพงษ์/ตรวจ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๗/ตอนที่ ๒๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๓๐ มีนาคม ๒๕๑๓
313488
พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 (ฉบับ Update ณ วันที่ 29/09/2496)
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ การประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร พระยามานวราชเสวี ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการประมง พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิก (๑) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ รัตนโกสินทร ศก ๑๒๐ (๒) พระราชบัญญัติเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ รัตนโกสินทร ศก ๑๒๐ (๓) ประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ ร.ศ. ๑๒๐ (๔) พระราชบัญญัติเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ ศก ๑๒๐ (๕) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๒ (๖) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ รัตนโกสินทร ศก ๑๒๐ แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช ๒๔๗๗ (๗) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๗๙ (๘) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ (ฉบับที่ ๗) พุทธศักราช ๒๔๘๑ (๙) กฎกระทรวงว่าด้วยวิธีจัดการและตั้งอัตราเก็บเงินอากรค่าน้ำตามความในพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ ศก ๑๒๐ และบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบทบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้ (๑) “สัตว์น้ำ” หมายความว่า ปลา เต่า กระ กุ้ง ปู แมงดา สัตว์น้ำจำพวกเลื้อยคลาน รวมทั้งไข่ของสัตว์น้ำเหล่านี้ทุกชนิด สัตว์น้ำจำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำจำพวกหอย รวมทั้งเปลือกหอยและมุก สัตว์น้ำจำพวกปลิงทะเล จำพวกฟองน้ำ และจำพวกสาหร่ายทะเล และหมายความรวมตลอดถึงสัตว์อื่นที่อาศัยอยู่ในน้ำ และพันธุ์ไม้น้ำอื่น ๆ ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อ (๒) “ทำการประมง” หมายความว่า จับ ดัก ล่อ ทำอันตราย ฆ่า หรือเก็บสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือทำการประมงหรือด้วยวิธีใด ๆ (๓) “เครื่องมือทำการประมง” หมายความว่า เครื่องกลไก เครื่องใช้ เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบ อาวุธ เสา หลัก หรือเรือ บรรดาที่ใช้ทำการประมง (๔) “เรือ” หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิด (๕) “ที่จับสัตว์น้ำ” หมายความว่า ที่ซึ่งมีน้ำขังหรือไหล เช่น ทะเล แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง บ่อ เป็นต้น และหาดทั้งปวง บรรดาซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งป่าไม้ และพื้นดินซึ่งน้ำท่วมในฤดูน้ำไม่ว่าจะเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ และภายในเขตน่านน้ำไทยหรือน่านน้ำอื่นใด ซึ่งประเทศไทยใช้อยู่หรือมีสิทธิที่จะใช้ต่อไปในการทำการประมง โดยที่น่านน้ำเหล่านั้น ปรากฏโดยทั่วไปว่ามีขอบเขตตามกฎหมายท้องถิ่น หรือธรรมเนียมประเพณี หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสนธิสัญญา หรือด้วยประการใด (๖) “บ่อล่อสัตว์น้ำ” หมายความว่า ที่ล่อสัตว์น้ำเพื่อประโยชน์ในการทำการประมงตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (๗) “บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ” หมายความว่า ที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (๘) “ประทานบัตร” หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งข้าหลวงประจำจังหวัดออกให้บุคคลผู้ประมูลได้ ให้มีสิทธิทำการประมงในที่ว่าประมูล (๙) “ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่บุคคลใดใช้ทำการประมงหรือทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่อนุญาต (๑๐) “อาชญาบัตร” หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่ผู้รับอนุญาตเพื่อใช้เครื่องมือทำการประมง (๑๑) “ผู้รับอนุญาต” หมายความว่า บุคคลผู้ได้รับประทานบัตร ใบอนุญาต อาชญาบัตร หรือผู้ได้รับอนุญาตให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้ (๑๒) “เครื่องมือประจำที่” หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งใช้วิธีลงหลักปัก ผูก ขึง รั้ง ถ่วง หรือวิธีอื่นใด อันทำให้เครื่องมือนั้นอยู่กับที่ในเวลาทำการประมง (๑๓) “เครื่องมือในพิกัด” หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งระบุชื่อ ลักษณะ หรือวิธีใช้ไว้ในกฎกระทรวง (๑๔) “เครื่องมือนอกพิกัด” หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในกฎกระทรวงว่าเป็นเครื่องมือในพิกัด (๑๕) “สถิติการประมง” หมายความว่า สถิติหรือข้อความที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ การค้าสินค้าสัตว์น้ำ การทำการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (๑๖) “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ข้าหลวงประจำจังหวัดและนายอำเภอท้องที่ พนักงานประมง และผู้ซึ่งรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้มีหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ (๑๗) “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมการประมง (๑๘) “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราอากร และค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดกิจการอื่น ๆ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ หมวด ๑ ที่จับสัตว์น้ำ มาตรา ๖ บรรดาที่จับสัตว์น้ำทั้งปวงให้กำหนดเป็น ๔ ประเภท คือ (๑) ที่รักษาพืชพันธุ์ (๒) ที่ว่าประมูล (๓) ที่อนุญาต (๔) ที่สาธารณประโยชน์ มาตรา ๗ ให้คณะกรมการจังหวัดโดยอนุมัติของรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศกำหนดประเภทที่จับสัตว์น้ำภายในเขตท้องที่ของตนว่า เข้าอยู่ในประเภทที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่าประมูล หรือที่อนุญาต ที่จับสัตว์น้ำซึ่งมิได้มีประกาศตามความในวรรคหนึ่งให้ถือเป็นที่สาธารณประโยชน์ มาตรา ๘ ที่รักษาพืชพันธุ์ คือ ที่จับสัตว์น้ำซึ่งอยู่ในบริเวณพระอารามหรือปูชนียสถาน หรือติดกับเขตสถานที่ดังกล่าวแล้ว บริเวณประตูน้ำ ประตูระบายน้ำ ฝาย หรือทำนบ หรือที่ซึ่งเหมาะแก่การรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ มาตรา ๙ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่รักษาพืชพันธุ์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดให้ มาตรา ๑๐ ที่ว่าประมูล คือที่จับสัตว์น้ำซึ่งสมควรจะให้บุคคลว่าประมูลผูกขาดทำการประมง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การกำหนดที่จับสัตว์น้ำแห่งใดเป็นที่ว่าประมูลนั้น จะต้องไม่อยู่ในเขตชลประทานหลวง หรือไม่เป็นการเสียหายแก่การทำนา หรือการสัญจรทางน้ำ มาตรา ๑๑ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่ว่าประมูล เว้นแต่ผู้รับอนุญาต ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด การทำการประมงในที่ว่าประมูลเฉพาะเพื่อบริโภคภายในครอบครัวให้กระทำได้ แต่ต้องใช้เครื่องมือทำการประมงตามที่คณะกรมการจังหวัดประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี มาตรา ๑๒ ที่อนุญาต คือที่จับสัตว์น้ำซึ่งอนุญาตให้บุคคลทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และรวมตลอดถึงบ่อล่อสัตว์น้ำ มาตรา ๑๓ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่อนุญาต เว้นแต่ผู้รับอนุญาต ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๑๔ ห้ามมิให้บุคคลใดขุดหรือสร้างบ่อล่อสัตว์น้ำในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ส่วนในที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ บุคคลย่อมขุดหรือสร้างบ่อล่อสัตว์น้ำได้แต่ต้องไม่เป็นการเสียหายแก่พันธุ์สัตว์น้ำในที่รักษาพืชพันธุ์ มาตรา ๑๕ ผู้รับอนุญาตมีหน้าที่ติดโคมไฟและเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัยของการสัญจรในทางน้ำตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๖ ที่สาธารณประโยชน์ คือที่จับสัตว์น้ำซึ่งบุคคลทุกคนมีสิทธิทำการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ บุคคลใดซึ่งทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่สาธารณประโยชน์ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๑๗[๒] ห้ามมิให้บุคคลใดปลูกสร้างสิ่งใดลงไปในที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่าประมูล ที่อนุญาต ซึ่งมิใช่ที่ของเอกชนและที่สาธารณประโยชน์ หรือปลูกบัว ข้าว ปอ พืชหรือพันธุ์ไม้น้ำอื่นใดตามที่จะได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อในที่เช่นว่านั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด มาตรา ๑๘[๓] ห้ามมิให้บุคคลใดวิดน้ำในที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่าประมูล ที่อนุญาต ซึ่งมิใช่ที่ของเอกชน และที่สาธารณประโยชน์ หรือบ่อล่อสัตว์น้ำ หรือทำให้น้ำในที่จับสัตว์น้ำเช่นว่านั้นแห้งหรือลดน้อยลง เพื่อทำการประมง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด มาตรา ๑๙ ห้ามมิให้บุคคลใดกระทำการใด ๆ อันทำให้สัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำมึนเมา วางยาเบื่อเมา หรือทิ้งวัตถุที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำลงในที่จับสัตว์น้ำ มาตรา ๒๐ ห้ามมิให้บุคคลใดใช้วัตถุระเบิดในที่จับสัตว์น้ำ เว้นไว้แต่ในกรณีที่ทำเพื่อประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์และได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดให้ มาตรา ๒๐ ทวิ[๔] ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสัตว์น้ำ โดยรู้ว่าได้มาโดยการกระทำผิดตามมาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่จับสัตว์น้ำซึ่งมิได้อยู่ในที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ให้ผิดไปจากสภาพที่เป็นอยู่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้ มาตรา ๒๒ ห้ามมิให้บุคคลใด ติดตั้ง วาง หรือสร้างเขื่อน ทำนบ รั้ว เครื่องมือที่เป็นตาข่าย หรือเครื่องมือทำการประมงอื่น ๆ ในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งกางกั้นทางเดินของสัตว์น้ำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือกระทำการเช่นว่านั้นเพื่อประโยชน์แก่การกสิกรรมในที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้ เช่น บันไดปลาโจน หรือเครื่องอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อให้สัตว์น้ำว่ายขึ้นลงได้ หมวด ๒ บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ มาตรา ๒๓ ห้ามมิให้บุคคลใดขุดหรือสร้างบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มาตรา ๒๔ การทำการประมงในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ต้องขออนุญาตและไม่ต้องเสียเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้ หมวด ๓ การจดทะเบียนและการขออนุญาต มาตรา ๒๕ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศกำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำตามที่จะได้มีพระราชกฤษฎีการะบุไว้ในท้องที่ใด ๆ มาจดทะเบียนได้ และจะกำหนดให้ผู้มีอาชีพเช่นว่านี้มาขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อนดำเนินอาชีพเช่นว่านั้น โดยให้เสียค่าธรรมเนียมหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้ มาตรา ๒๖ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเครื่องมือทำการประมงชนิดหนึ่งชนิดใดในท้องที่ใด ๆ จดทะเบียนการมีไว้ในครอบครองซึ่งเครื่องมือนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๒๗ เมื่อมีกรณีจำเป็นแก่ราชการหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยอนุมัติรัฐมนตรี ข้าหลวงประจำจังหวัดอาจสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาต หรือประทานบัตรรายใด ๆ ก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้ผู้รับอนุญาตได้รับคืนเงินอากรเฉพาะส่วนที่ต้องเพิกถอน มาตรา ๒๘ บุคคลใดจะใช้เครื่องมือในพิกัดทำการประมงได้ ต่อเมื่อได้รับอาชญาบัตรระบุชื่อบุคคลนั้น และเสียเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศยกเว้นไม่ต้องให้รับอาชญาบัตรสำหรับเครื่องมือทำการประมงอย่างหนึ่งอย่างใดในท้องที่ใด ๆ ก็ได้ มาตรา ๒๙ เครื่องมือในพิกัดซึ่งได้รับอาชญาบัตรในท้องที่จังหวัดใดแล้ว ถ้าบุคคลใดประสงค์จะนำไปใช้ทำการประมงในท้องที่จังหวัดอื่น ซึ่งจะต้องเสียเงินอากรสูงกว่า จะต้องเสียอากรเพิ่มเติมให้ครบตามอัตราในท้องที่นั้นเสียก่อนจึงจะใช้เครื่องมือนั้นได้ มาตรา ๓๐ บุคคลใดประสงค์จะทำการประมงในที่อนุญาต ต้องขออนุญาตและเสียเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้ และเงินซึ่งผู้รับอนุญาตที่จะต้องชำระโดยการว่าประมูล ให้ถือว่าเป็นเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้ รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศยกเว้นไม่ต้องเสียเงินอากรค่าอนุญาตในที่อนุญาตรายตัวบุคคลได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้ถือว่าได้รับอนุญาตแล้ว มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้บุคคลใดตั้ง หรือปัก หรือสร้างเครื่องมือประจำที่ลงในที่สาธารณประโยชน์ ส่วนที่จับสัตว์น้ำอื่น ๆ ห้ามมิให้บุคคลใดกระทำการเช่นว่านั้น โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๓๒ รัฐมนตรีหรือข้าหลวงประจำจังหวัดโดยอนุมัติรัฐมนตรีเฉพาะภายในเขตท้องที่ของตน มีอำนาจประกาศกำหนดได้ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดขนาดตาและระยะช่องเครื่องมือทำการประมงทุกชนิด กำหนดขนาด ชนิด จำนวนและส่วนประกอบของเครื่องมือทำการประมงที่อนุญาตให้ใช้ในที่จับสัตว์น้ำ (๒) กำหนดมิให้ใช้เครื่องมือทำการประมงอย่างหนึ่งอย่างใดในที่จับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด (๓) กำหนดระยะที่ตั้งเครื่องมือประจำที่ให้ห่างกันเพียงใด (๔) กำหนดวิธีใช้เครื่องมือทำการประมงต่าง ๆ (๕) กำหนดฤดูปลาที่มีไข่และวางไข่เลี้ยงลูก กำหนดเครื่องมือที่ให้ใช้และกำหนดวิธีทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำใด ๆ ในฤดูดังกล่าว (๖) กำหนดชนิด ขนาด และจำนวนอย่างสูงของสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง (๗) กำหนดมิให้ทำการประมงสัตว์น้ำชนิดหนึ่งชนิดใดโดยเด็ดขาด มาตรา ๓๓ การโอนประทานบัตร ใบอนุญาตและอาชญาบัตรและการออกใบแทนเอกสารเช่นว่านั้น และการสลักหลังอาชญาบัตร เพื่อแก้ไขหรือเพิ่มเติมผู้มีสิทธิใช้เครื่องมือทำการประมง จะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้ ใบอนุญาตหรืออาชญาบัตรใดซึ่งหมดอายุแล้ว แต่ได้ยื่นคำขอต่ออายุก่อนวันสิ้นอายุ มิให้ถือว่าการทำการประมงหรือการใช้เครื่องมือนั้นเป็นการกระทำโดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะได้แจ้งว่าไม่อนุญาต มาตรา ๓๔ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือทำการใด ๆ ในเครื่องมือประจำที่ของผู้รับอนุญาต หรือในบริเวณที่ตั้งเครื่องมือเช่นว่านั้น ตามที่คณะกรมการจังหวัดจะได้ประกาศกำหนดเขตโดยอนุมัติรัฐมนตรี มาตรา ๓๕ ผู้รับอนุญาตจะต้องนำประทานบัตร ใบอนุญาต และอาชญาบัตร ติดตัวไปด้วยเสมอในเวลาไปทำการประมงและต้องนำออกแสดงเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขอตรวจ มาตรา ๓๖ ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประทานบัตร ใบอนุญาต หรืออาชญาบัตร หรือค้างเงินอากรที่เกี่ยวกับประทานบัตร ใบอนุญาต หรืออาชญาบัตร พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งเพิกถอนประทานบัตร ใบอนุญาต หรืออาชญาบัตรนั้นเสียก็ได้ มาตรา ๓๗ ในขณะใดหรือในท้องที่ใดยังไม่สมควรจะเก็บเงินอากรให้ประกาศยกเว้นโดยพระราชกฤษฎีกา มาตรา ๓๘ โดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจยกเว้น งด หรือคืนอากรค่าประทานบัตร ใบอนุญาต และอาชญาบัตร ให้บางส่วนหรือทั้งหมดตามแต่จะเห็นสมควร มาตรา ๓๙ โดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผ่อนเวลาชำระเงินอากรได้ตามที่เห็นสมควร สำหรับเงินอากรที่ค้างนั้น ผู้รับอนุญาตจะต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละสิบต่อปีของเงินอากร และเงินดอกเบี้ยนี้ให้ถือเป็นเงินอากรค้าง มาตรา ๔๐ ถ้าผู้รับอนุญาตค้างชำระเงินอากร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) ประกาศหรือแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับอนุญาตนำเงินอากรที่ค้างมาชำระภายในเวลาตามที่เห็นสมควร (๒) เมื่อได้ดำเนินการตามอนุมาตรา (๑) แล้วผู้รับอนุญาตยังเพิกเฉยอยู่ พนักงานเจ้าหน้าที่อาจสั่งให้หยุดทำการประมง (๓) จัดการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ผู้รับอนุญาตนำมาวางเป็นหลักประกัน หรือจัดการเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชำระเงินอากรแทนผู้รับอนุญาต เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้คิดชำระเงินอากรและค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาดจนครบ เหลือเท่าใดให้คืนแก่ผู้รับอนุญาตหรือผู้ค้ำประกันแล้วแต่กรณี มาตรา ๔๑ เงินอากรที่ค้างชำระนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดและจัดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้รับอนุญาตแต่พอคุ้มกับเงินอากรที่ค้างชำระ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการยึดและการขายทอดตลาด มาตรา ๔๒ ประทานบัตร ใบอนุญาตหรืออาชญาบัตรที่ถูกสั่งเพิกถอนตามมาตรา ๓๖ นั้น อากรที่ชำระแล้วจะเรียกคืนมิได้ มาตรา ๔๓ กำหนดอายุอาชญาบัตรสำหรับการขออนุญาตและเสียเงินอากรนั้น ให้เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม มาตรา ๔๔ ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๔๓ เพื่อประโยชน์แก่การเก็บอากรโดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจประกาศกำหนดฤดูกาลทำการประมงตามความเหมาะสมแห่งท้องที่ โดยให้นับเวลาสิบสองเดือนเป็นหนึ่งฤดู และให้ถือระยะเวลาดังกล่าวแล้วเป็นระยะเวลาสำหรับการขออนุญาตและเสียอากรสำหรับหนึ่งปี มาตรา ๔๕ ในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องออกไปตรวจสอบหรือกำหนดที่ตั้งเครื่องมือประจำที่ให้แก่ผู้ขออนุญาตใช้เครื่องมือ ให้ผู้ขออนุญาตจัดหาพาหนะรับและส่งพนักงานเจ้าหน้าที่หรือออกค่าใช้จ่ายให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่เท่าที่จำเป็นและจ่ายจริงตามแต่ผู้ขออนุญาตจะเลือก มาตรา ๔๖ ในกรณีที่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจออกประทานบัตร ใบอนุญาตและอาชญาบัตร ไม่ยอมออกเอกสารเช่นว่านั้น ให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียอุทธรณ์ไปยังรัฐมนตรีได้โดยยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าพนักงานเช่นว่านั้นภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง คำอุทธรณ์นั้นให้เจ้าพนักงานเช่นว่านั้นเสนอรัฐมนตรีโดยมิชักช้า คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด หมวด ๔ สถิติการประมง มาตรา ๔๗ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้ทำการเก็บสถิติการประมงในท้องที่ใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร มาตรา ๔๘ เมื่อได้มีประกาศตามความในมาตรา ๔๗ แล้ว อธิบดีอาจขอให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่มีอาชีพเกี่ยวกับสัตว์น้ำส่งรายการข้อความจำนวนเกี่ยวกับสถิตินั้นได้ มาตรา ๔๙ คำขอของอธิบดีนั้น ให้ทำเป็นหนังสือระบุชื่อเจ้าของกิจการผู้จัดการหรือผู้แทน และให้กำหนดเวลา สถานที่และวิธีการยื่น มาตรา ๕๐ บุคคลซึ่งได้รับคำขอตามมาตรา ๔๘ ต้องกรอกคำตอบลงในแบบพิมพ์แสดงรายการข้อความ จำนวนตามที่รู้เห็น พร้อมทั้งลงชื่อกำกับ และจัดการยื่นตามกำหนดเวลา ณ สถานที่และตามวิธีการที่กำหนดในคำขอ มาตรา ๕๑ ถ้ามีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีเพื่อการนี้ มีอำนาจเข้าในสถานที่ทำการของผู้รับคำขอในเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เพื่อทำการตรวจสอบ จดข้อความจำนวนเกี่ยวกับสถิติการประมง และให้เป็นหน้าที่ของผู้รับคำขอหรือผู้แทน ตอบคำถาม อำนวยความสะดวก และช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการนี้ หมวด ๕ การควบคุม มาตรา ๕๒ โดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจประกาศห้ามมิให้บุคคลอื่นนอกจากผู้รับอนุญาต เข้าไปในที่จับสัตว์น้ำแห่งหนึ่งแห่งใด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้รับอนุญาต หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน มาตรา ๕๓[๕] ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสัตว์น้ำหรือไข่ของสัตว์น้ำชนิดใดชนิดหนึ่งตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา มาตรา ๕๔ ห้ามมิให้นำสัตว์น้ำชนิดหนึ่งชนิดใดตามที่ระบุในพระราชกฤษฎีกาเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๕๕ ห้ามมิให้บุคคลใดนำสัตว์น้ำชนิดหนึ่งชนิดใดตามที่ระบุในพระราชกฤษฎีกา ไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำแห่งหนึ่งแห่งใด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๕๖ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะเข้าไปในที่จับสัตว์น้ำแห่งใด ๆ หรือเรือทำการประมงของบุคคลใด ๆ เพื่อตรวจการทำการประมง เครื่องมือทำการประมงสัตว์น้ำ หลักฐานบัญชีและเอกสารต่าง ๆ ของผู้รับอนุญาตได้ทุกเมื่อ ผู้รับอนุญาตต้องอำนวยความสะดวกและชี้แจงแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ทุกประการ มาตรา ๕๗ เมื่อปรากฏว่าบุคคลใดกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำการเช่นว่านั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมผู้นั้นพร้อมด้วยเรือ เครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำ และสิ่งอื่น ๆ ที่ใช้ในการกระทำผิดเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย มาตรา ๕๘ ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้รับอนุญาตรื้อถอนเครื่องมือทำการประมง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งใด ๆ ในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งได้กระทำโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งประทานบัตรหรือใบอนุญาตได้สิ้นอายุแล้ว บรรดาที่เป็นของผู้รับอนุญาต ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนดังกล่าวแล้วให้ผู้รับอนุญาตเป็นผู้ออก มาตรา ๕๙ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจทำการรื้อถอน ทำลายหรือยึดเครื่องมือซึ่งตั้งอยู่ในที่จับสัตว์น้ำ โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ และสิ่งต่าง ๆ ซึ่งระบุไว้ในมาตรา ๕๘ ในกรณีที่ผู้รับคำสั่งไม่ได้รื้อถอนไปภายในเวลาอันสมควร ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนดังกล่าวให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ฝ่าฝืนเป็นผู้ออก มาตรา ๖๐ การประกาศตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้ามิได้กำหนดวิธีการไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้ทำเป็นหนังสือปิดไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอและศาลากลางจังหวัดประจำท้องที่เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน หมวด ๖ บทกำหนดโทษ มาตรา ๖๑ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ วรรคสอง มาตรา ๒๓ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๔ มาตรา ๕๒ หรือมาตรา ๕๓ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๒[๖] บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๙ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๗ ถึงมาตรา ๑๙ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๓๐ มาตรา ๕๔ หรือมาตรา ๕๕ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาทหรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๒ ทวิ[๗] บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่ต่ำกว่าสิบเท่าของราคาสัตว์น้ำนั้น แต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๖๒ ตรี[๘] บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ ทวิ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๖๓ บุคคลใดไม่ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามมาตรา ๒๕ หรือมาตรา ๒๖ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๔ บุคคลใดใช้เครื่องมือทำการประมงซึ่งต้องมีอาชญาบัตรตามพระราชบัญญัติโดยไม่มีอาชญาบัตรตามมาตรา ๒๘ หรือมิได้เสียเงินอากรเพิ่มเติมตามมาตรา ๒๙ มีความผิดต้องระวางโทษปรับสามเท่าของเงินอากร มาตรา ๖๕ บุคคลใดฝ่าฝืนประกาศของรัฐมนตรีหรือข้าหลวงประจำจังหวัดซึ่งประกาศตามความในมาตรา ๓๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๖ ผู้รับอนุญาตใดไม่ปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๕ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าสิบบาท มาตรา ๖๗ บุคคลซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติการตามมาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๕๑ หรือมาตรา ๕๖ ละเลยไม่ปฏิบัติการเช่นว่านั้น มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๖๘ ผู้รับอนุญาตใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของข้าหลวงประจำจังหวัด ซึ่งสั่งตามมาตรา ๕๘ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๙[๙] เรือ เครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำ และสิ่งอื่น ๆ ที่ใช้หรือได้มาโดยการกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ ศาลจะริบเสียก็ได้ แต่ถ้าสิ่งเช่นว่านั้น ได้ใช้หรือได้มาโดยการกระทำความผิดในที่รักษาพืชพันธุ์ หรือโดยการฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ ให้ศาลริบเสียทั้งสิ้น มาตรา ๗๐ เครื่องมือทำการประมงที่ได้มีประกาศตามความในมาตรา ๓๒ ห้ามมิให้บุคคลใดใช้โดยเด็ดขาดนั้น ถ้านำมาใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ ให้ศาลริบเครื่องมือนั้นเสีย มาตรา ๗๑ ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกินสองพันบาท และต้องชดใช้เงินซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการไปตามมาตรา ๕๙ ในกรณีที่ศาลลงโทษผู้กระทำความผิดให้ศาลพิพากษาให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินดังกล่าวแล้ว ถ้าไม่ชำระให้จัดการตามมาตรา ๑๘ แห่งกฎหมายลักษณะอาญาโดยถือเสมือนว่าเป็นค่าปรับ มาตรา ๗๒ บุคคลใดทำลาย ถอดถอน หรือทำให้โคมไฟ เครื่องหมายหลักเขต แผ่นประกาศหรือสิ่งอื่น ๆ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำไว้ในที่จับสัตว์น้ำบุบสลาย หรือเสียหายด้วยประการใด ๆ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ บทเฉพาะกาล มาตรา ๗๓ ในกรณีที่ได้มีประกาศกำหนดประเภทที่จับสัตว์น้ำไว้ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเป็นประกาศที่ออกตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้เป็นต้นไป ประทานบัตร อาชญาบัตร และใบอนุญาตที่ออกก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ให้ถือว่าเป็นประทานบัตร อาชญาบัตร และใบอนุญาตที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้แล้วแต่กรณี และให้คงใช้ต่อไปได้จนหมดอายุแห่งประทานบัตร อาชญาบัตร และใบอนุญาตนั้น ๆ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเรือตรี ถ. ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี บัญชีหมายเลข ๑ อัตราเงินอากรค่าที่อนุญาต ลำดับ ประเภทที่อนุญาต อัตราเงินอากร ๑. โป๊ะน้ำลึก แห่งละ ๒๐๐.๐๐ บาท ๒. อวนรัง แห่งละ ๒๐๐.๐๐ บาท ๓. โป๊ะน้ำตื้น แห่งละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๔. เฝือกรัง แห่งละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๕. จิบ แห่งละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๖. ลี่ แห่งละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๗. สุก แห่งละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๘. โพงพาง ช่องละ ๑๐๐.๐๐ บาท ๙. ร้านโจน แห่งละ ๑๐๐.๐๐ บาท ๑๐. รั้วไซมาน ช่องละ ๕๐.๐๐ บาท ๑๑. กั้นซู่รั้วไซมาน ช่องละ ๕๐.๐๐ บาท ๑๒. ช้อนปีก แห่งละ ๕๐.๐๐ บาท ๑๓. ยอปีก แห่งละ ๕๐.๐๐ บาท ๑๔. บาม แห่งละ ๒๕.๐๐ บาท ๑๕. ยอขันช่อ แห่งละ ๒๐.๐๐ บาท ๑๖. ช้อนขันช่อ แห่งละ ๒๐.๐๐ บาท ๑๗. จันทา แห่งละ ๑๐.๐๐ บาท ๑๘. กร่ำ ตารางเมตรละ ๑.๐๐ บาท ๑๙. บ่อล่อสัตว์น้ำ ตารางเมตรละ ๐.๕๐ บาท ๒๐. ที่เลี้ยงหอย ตารางเมตรละ ๐.๐๕ บาท บัญชีหมายเลข ๒ อัตราเงินอากรอาชญาบัตรสำหรับเครื่องมือในพิกัด ลำดับ ชื่อเครื่องมือ อัตราเงินอากร ๑. ยอขันช่อ ช้อนขันช่อ ช้อนสนั่น และช้อนหางเหยี่ยวมี เครื่องยก ปากละ ๒๐.๐๐ บาท ๒. ถุงโพงพาง ถุงละ ๒๐.๐๐ บาท ๓. ถุงบาม ปากละ ๑๕.๐๐ บาท ๔. เรือผีหลอกหรือเรือกัตรา ลำละ ๑๐.๐๐ บาท ๕. แหยาวตั้งแต่ ๔ เมตรขึ้นไป ปากละ ๑๐.๐๐ บาท ๖. ช้อนต่าง ๆ ปากกว้างตั้งแต่ ๓.๕ เมตรขึ้นไป ปากละ ๑๐.๐๐ บาท ๗. เบ็ดราวยาวตั้งแต่ ๔๐ เมตรขึ้นไป สายละ ๕.๐๐ บาท ๘. ข่ายหรืออวนต่าง ๆ ยาว เมตรละ ๕.๐๐ บาท ๙. เฝือกหรือเครื่องกั้น ยาว เมตรละ ๑.๐๐ บาท บัญชีหมายเลข ๓ อัตราเงินอากรค่าใบอนุญาตรายบุคคลผู้ทำการประมง ลำดับ รายการ อัตราเงินอากร ๑. ใบอนุญาตรายบุคคลผู้ทำการประมงโดยใช้เครื่องมือนอกพิกัด ในที่อนุญาต คนละ ๑๕.๐๐ บาท ๒. ใบอนุญาตหาหอยแมลงภู่และหอยกะพง คนละ ๑๕.๐๐ บาท ๓. ใบอนุญาตหาเทียนหอยและหอยมุกด์ คนละ ๑๕.๐๐ บาท บัญชีหมายเลข ๔ อัตราค่าธรรมเนียม ลำดับ รายการ อัตราค่าธรรมเนียม ๑. ใบอนุญาตสำหรับทำการค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และ อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ..............................................ปีละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๒. ค่าโอนประทานบัตร ฉบับละ ๒๐.๐๐ บาท ๓. ค่าโอนใบอนุญาต อาชญาบัตร ฉบับละ ๒๐.๐๐ บาท ๔. ออกใบแทนอาชญาบัตร ใบอนุญาตประทานบัตร ฉบับละ ๑๐.๐๐ บาท ๕. ใบอนุญาตสำหรับผู้มีอาชีพทำการประมง ปีละ ๑๐.๐๐ บาท ๖. ค่าสลักหลังใบอาชญาบัตรเพื่อแก้ไขหรือเพิ่มเติม ผู้มีสิทธิใช้เครื่องมือทำการประมง ครั้งละ ๕.๐๐ บาท พระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖[๑๐] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ด้วยปรากฏว่าเวลานี้มีผู้ใช้วัตถุระเบิดทำการประมงทั้งในน่านน้ำจืดและน่านน้ำเค็มกันเป็นจำนวนมาก อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ผู้ฝ่าฝืนไม่ค่อยกลัวเกรงเพราะโทษแห่งความผิดได้กำหนดไว้ให้ในอัตราต่ำ และการจับกุมผู้กระทำผิด ก็จับได้ด้วยความยากลำบาก การใช้วัตถุระเบิดทำการประมงนั้น ปรากฏจากผลของการทดลองของกองทัพเรือ ร่วมกับกรมการประมงว่า เป็นการทำลายพันธุ์ปลาชนิดดี ๆ อย่างร้ายแรงมาก การใช้วัตถุระเบิดส่วนมาก ผู้ฝ่าฝืนใช้ตามหินกองในท้องทะเลซึ่งมีปลาพันธุ์ดีอาศัยอยู่ เช่นปลาเหลือง ปลาสีกุน การระเบิดครั้งหนึ่ง ๆ ปรากฏว่าได้ทำลายพันธุ์ปลาที่อยู่ในรัศมีการระเบิดโดยสิ้นเชิง ทั้งปลาใหญ่และลูกปลาที่เป็นปลาที่มีราคาและปลาเหล่านี้ เป็นปลาประจำท้องที่ ถ้าหากยังมีการฝ่าฝืนเช่นนี้ต่อไปอีก ไม่ช้าพันธุ์ปลาดี ๆ ในท้องทะเลก็จะถูกทำลายให้สูญพันธุ์ในกาลต่อไปได้ เป็นการทำลายอาชีพการประมงของบรรดาชาวประมง และบัดนี้ก็ปรากฏว่าเครื่องมือทำการประมงบางชนิดเช่น อวนยอ อวนมุโร เบ็ดสาย ลอบปะทุน ทำการประมงไม่ได้ผล เพราะบริเวณที่ใดถูกระเบิด ปลาก็ถูกทำลายแทบหมดสิ้น ไม่มีพันธุ์พอที่จะเกิดและเพิ่มปริมาณให้มีการจับได้อีกเป็นเวลานาน ทำให้ชาวประมงที่ใช้เครื่องมือประจำที่ทำการจับไม่ได้ต่างพากันร้องว่าเดือดร้อน ฉะนั้น จึงควรกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ในอัตราสูง เพื่อปราบปรามให้เข็ดหลาบ และป้องกันการทำลายพันธุ์ปลาไว้มิให้ถูกทำลายหมดไป โดยการกระทำของผู้เห็นประโยชน์ส่วนตัวเฉพาะหน้า อนึ่ง ปรากฏว่ามีผู้ฝ่าฝืนทำการบุกรุกและวิดน้ำจับสัตว์น้ำ ในที่จับสัตว์น้ำอันเป็นที่สาธารณประโยชน์ โดยมิได้รับอนุญาต เป็นเหตุให้เกิดการเสียหายแก่ที่จับสัตว์น้ำและพันธุ์สัตว์น้ำ จึงเห็นควรแก้ไขให้การควบคุมและการรักษาพันธุ์สัตว์น้ำได้ประโยชน์รัดกุมยิ่งขึ้น วศิน/ผู้จัดทำ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๔/ตอนที่ ๓/หน้า ๘๑/๑๔ มกราคม ๒๔๙๐ [๒] มาตรา ๑๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ [๓] มาตรา ๑๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ [๔] มาตรา ๒๐ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ [๕] มาตรา ๕๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ [๖] มาตรา ๖๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ [๗] มาตรา ๖๒ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ [๘] มาตรา ๖๒ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ [๙] มาตรา ๖๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ [๑๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๐/ตอนที่ ๖๑/หน้า ๑๑๔๕/๒๙ กันยายน ๒๔๙๖
301649
พระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ การประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นปีที่ ๘ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๗ ห้ามมิให้บุคคลใดปลูกสร้างสิ่งใดลงไปในที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่าประมูล ที่อนุญาต ซึ่งมิใช่ที่ของเอกชนและที่สาธารณประโยชน์ หรือปลูกบัว ข้าว ปอ พืชหรือพันธุ์ไม้น้ำอื่นใดตามที่จะได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อในที่เช่นว่านั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด” มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๘ ห้ามมิให้บุคคลใดวิดน้ำในที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่าประมูล ที่อนุญาต ซึ่งมิใช่ที่ของเอกชน และที่สาธารณประโยชน์ หรือบ่อล่อสัตว์น้ำ หรือทำให้น้ำในที่จับสัตว์น้ำเช่นว่านั้นแห้งหรือลดน้อยลง เพื่อทำการประมง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด” มาตรา ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๐ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ “มาตรา ๒๐ ทวิ ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสัตว์น้ำ โดยรู้ว่าได้มาโดยการกระทำผิดตามมาตรา ๒๐” มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๕๓ ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสัตว์น้ำหรือไข่ของสัตว์น้ำชนิดใดชนิดหนึ่งตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา” มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๒ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๖๒ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๙ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๗ ถึงมาตรา ๑๙ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๓๐ มาตรา ๕๔ หรือมาตรา ๕๕ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ” มาตรา ๘ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๖๒ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ “มาตรา ๖๒ ทวิ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่ต่ำกว่าสิบเท่าของราคาสัตว์น้ำนั้น แต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท” มาตรา ๙ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๖๒ ตรี แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ “มาตรา ๖๒ ตรี บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ ทวิ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินห้าพันบาท” มาตรา ๑๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๙ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๖๙ เรือ เครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำ และสิ่งอื่น ๆ ที่ใช้หรือได้มาโดยการกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ ศาลจะริบเสียก็ได้ แต่ถ้าสิ่งเช่นว่านั้น ได้ใช้หรือได้มาโดยการกระทำความผิดในที่รักษาพืชพันธุ์ หรือโดยการฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ ให้ศาลริบเสียทั้งสิ้น” ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ด้วยปรากฏว่าเวลานี้มีผู้ใช้วัตถุระเบิดทำการประมงทั้งในน่านน้ำจืดและน่านน้ำเค็มกันเป็นจำนวนมาก อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ผู้ฝ่าฝืนไม่ค่อยกลัวเกรง เพราะโทษแห่งความผิดได้กำหนดไว้ให้ในอัตราต่ำ และการจับกุมผู้กระทำผิด ก็จับได้ด้วยความยากลำบาก การใช้วัตถุระเบิดทำการประมงนั้น ปรากฏจากผลของการทดลองของกองทัพเรือ ร่วมกับกรมการประมงว่า เป็นการทำลายพันธุ์ปลาชนิดดี ๆ อย่างร้ายแรงมาก การใช้วัตถุระเบิดส่วนมาก ผู้ฝ่าฝืนใช้ตามหินกองในท้องทะเลซึ่งมีปลาพันธุ์ดีอาศัยอยู่ เช่นปลาเหลือง ปลาสีกุน การระเบิดครั้งหนึ่ง ๆ ปรากฏว่าได้ทำลายพันธุ์ปลาที่อยู่ในรัศมีการระเบิดโดยสิ้นเชิง ทั้งปลาใหญ่และลูกปลาที่เป็นปลาที่มีราคาและปลาเหล่านี้ เป็นปลาประจำท้องที่ ถ้าหากยังมีการฝ่าฝืนเช่นนี้ต่อไปอีก ไม่ช้าพันธุ์ปลาดี ๆ ในท้องทะเลก็จะถูกทำลายให้สูญพันธุ์ในกาลต่อไปได้ เป็นการทำลายอาชีพการประมงของบรรดาชาวประมง และบัดนี้ก็ปรากฏว่าเครื่องมือทำการประมงบางชนิดเช่น อวนยอ อวนมุโร เบ็ดสาย ลอบปะทุน ทำการประมงไม่ได้ผล เพราะบริเวณที่ใดถูกระเบิด ปลาก็ถูกทำลายแทบหมดสิ้น ไม่มีพันธุ์พอที่จะเกิดและเพิ่มปริมาณให้มีการจับได้อีกเป็นเวลานาน ทำให้ชาวประมงที่ใช้เครื่องมือประจำที่ทำการจับไม่ได้ต่างพากันร้องว่าเดือดร้อน ฉะนั้น จึงควรกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ในอัตราสูง เพื่อปราบปรามให้เข็ดหลาบ และป้องกันการทำลายพันธุ์ปลาไว้มิให้ถูกทำลายหมดไป โดยการกระทำของผู้เห็นประโยชน์ส่วนตัวเฉพาะหน้า อนึ่ง ปรากฏว่ามีผู้ฝ่าฝืนทำการบุกรุกและวิดน้ำจับสัตว์น้ำ ในที่จับสัตว์น้ำอันเป็นที่สาธารณประโยชน์ โดยมิได้รับอนุญาต เป็นเหตุให้เกิดการเสียหายแก่ที่จับสัตว์น้ำและพันธุ์สัตว์น้ำ จึงเห็นควรแก้ไขให้การควบคุมและการรักษาพันธุ์สัตว์น้ำได้ประโยชน์รัดกุมยิ่งขึ้น. ดวงใจ/แก้ไข ๒๔ ม.ค. ๔๕ พัชริทร์/แก้ไข ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ วศิน/แก้ไข ๒๗ เมษายน ๒๕๕๒ จุฑามาศ/ปริญสินีย์/ปรับปรุง ๑๑ มกราคม ๒๕๕๖ วิชพงษ์/ตรวจ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๐/ตอนที่ ๖๑/หน้า ๑๑๔๕/๒๙ กันยายน ๒๔๙๖
301648
พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ การประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร พระยามานวราชเสวี ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นปีที่ ๒ ในรัชชกาลปัจจุบัน โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการประมง พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิก (๑) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ รัตนโกสินทร ศก ๑๒๐ (๒) พระราชบัญญัติเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ รัตนโกสินทร ศก ๑๒๐ (๓) ประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ ร.ศ. ๑๒๐ (๔) พระราชบัญญัติเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ ศก ๑๒๐ (๕) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๒ (๖) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ รัตนโกสินทร ศก ๑๒๐ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (๗) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ (ฉะบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๗๙ (๘) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ (ฉะบับที่ ๗) พุทธศักราช ๒๔๘๑ (๙) กฎกระทรวงว่าด้วยวิธีจัดการและตั้งอัตราเก็บเงินอากรค่าน้ำตามความในพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ ศก ๑๒๐ และบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบทบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้ (๑) “สัตว์น้ำ” หมายความว่าปลา เต่า กระ กุ้ง ปู แมงดา สัตว์น้ำจำพวกเลื้อยคลาน รวมทั้งไข่ของสัตว์น้ำเหล่านี้ทุกชะนิด สัตว์น้ำจำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำจำพวกหอย รวมทั้งเปลือกหอยและมุกด์ สัตว์น้ำจำพวกปลิงทะเล จำพวกฟองน้ำ และจำพวกสาหร่ายทะเล และหมายความรวมตลอดถึงสัตว์อื่นที่อาศัยอยู่ในน้ำ และพันธุ์ไม้น้ำอื่น ๆ ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อ (๒) “ทำการประมง” หมายความว่า จับ ดัก ล่อ ทำอันตราย ฆ่า หรือเก็บสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือทำการประมงหรือด้วยวิธีใด ๆ (๓) “เครื่องมือทำการประมง” หมายความว่า เครื่องกลไก เครื่องใช้ เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบ อาวุธ เสา หลัก หรือเรือ บรรดาที่ใช้ทำการประมง (๔) “เรือ” หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำทุกชะนิด (๕) “ที่จับสัตว์น้ำ” หมายความว่า ที่ซึ่งมีน้ำขังหรือไหล เช่น ทะเล แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง บ่อ เป็นต้น และหาดทั้งปวง บรรดาซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งป่าไม้ และพื้นดินซึ่งน้ำท่วมในฤดูน้ำ ไม่ว่าจะเป็นที่สาธารณะสมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ และภายในเขตต์น่านน้ำไทยหรือน่านน้ำอื่นใด ซึ่งประเทศไทยใช้อยู่หรือมีสิทธิที่จะใช้ต่อไปในการทำการประมง โดยที่น่านน้ำเหล่านั้น ปรากฏโดยทั่วไปว่ามีขอบเขตต์ตามกฎหมายท้องถิ่น หรือธรรมเนียมประเพณี หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสนธิสัญญา หรือด้วยประการใด (๖) “บ่อล่อสัตว์น้ำ” หมายความว่า ที่ล่อสัตว์น้ำเพื่อประโยชน์ในการทำการประมงตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (๗) “บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ” หมายความว่า ที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (๘) “ประทานบัตร” หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งข้าหลวงประจำจังหวัดออกให้บุคคลผู้ประมูลได้ ให้มีสิทธิทำการประมงในที่ว่าประมูล (๙) “ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่บุคคลใดใช้ทำการประมงหรือทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่อนุญาต (๑๐) “อาชญาบัตร” หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่ผู้รับอนุญาตเพื่อใช้เครื่องมือทำการประมง (๑๑) “ผู้รับอนุญาต” หมายความว่า บุคคลผู้ได้รับประทานบัตร ใบอนุญาต อาชญาบัตร หรือผู้ได้รับอนุญาตให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้ (๑๒) “เครื่องมือประจำที่” หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งใช้วิธีลงหลักปัก ผูก ขึง รั้ง ถ่วง หรือวิธีอื่นใด อันทำให้เครื่องมือนั้นอยู่กับที่ในเวลาทำการประมง (๑๓) “เครื่องมือในพิกัด” หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งระบุชื่อ ลักษณะ หรือวิธีใช้ไว้ในกฎกระทรวง (๑๔) “เครื่องมือนอกพิกัด” หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในกฎกระทรวงว่าเป็นเครื่องมือในพิกัด (๑๕) “สถิติการประมง” หมายความว่า สถิติหรือข้อความที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ การค้าสินค้าสัตว์น้ำ การทำการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (๑๖) “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ข้าหลวงประจำจังหวัดและนายอำเภอท้องที่ พนักงานประมง และผู้ซึ่งรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้มีหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ (๑๗) “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมการประมง (๑๘) “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และออกกฎกระทรวง กำหนดอัตราอากร และค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้และกำหนดกิจการอื่น ๆ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ หมวด ๑ ที่จับสัตว์น้ำ มาตรา ๖ บรรดาที่จับสัตว์น้ำทั้งปวงให้กำหนดเป็น ๔ ประเภท คือ (๑) ที่รักษาพืชพันธุ์ (๒) ที่ว่าประมูล (๓) ที่อนุญาต (๔) ที่สาธารณประโยชน์ มาตรา ๗ ให้คณะกรมการจังหวัดโดยอนุมัติของรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศกำหนดประเภทที่จับสัตว์น้ำภายในเขตต์ท้องที่ของตนว่า เข้าอยู่ในประเภทที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่าประมูล หรือที่อนุญาต ที่จับสัตว์น้ำซึ่งมิได้มีประกาศตามความในวรรคหนึ่งให้ถือเป็นที่สาธารณประโยชน์ มาตรา ๘ ที่รักษาพืชพันธุ์ คือที่จับสัตว์น้ำซึ่งอยู่ในบริเวณพระอารามหรือปูชนียสถาน หรือติดกับเขตต์สถานที่ดังกล่าวแล้ว บริเวณประตูน้ำ ประตูระบายน้ำ ฝาย หรือทำนบ หรือที่ซึ่งเหมาะแก่การรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ มาตรา ๙ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่รักษาพืชพันธุ์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดให้ มาตรา ๑๐ ที่ว่าประมูล คือที่จับสัตว์น้ำซึ่งสมควรจะให้บุคคลว่าประมูลผูกขาดทำการประมง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การกำหนดที่จับสัตว์น้ำแห่งใดเป็นที่ว่าประมูลนั้น จะต้องไม่อยู่ในเขตต์ชลประทานหลวง หรือไม่เป็นการเสียหายแก่การทำนา หรือการสัญจรทางน้ำ มาตรา ๑๑ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่ว่าประมูล เว้นแต่ผู้รับอนุญาต ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด การทำการประมงในที่ว่าประมูลฉะเพาะเพื่อบริโภคภายในครอบครัวให้กระทำได้ แต่ต้องใช้เครื่องมือทำการประมงตามที่คณะกรมการจังหวัดประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี มาตรา ๑๒ ที่อนุญาต คือที่จับสัตว์น้ำซึ่งอนุญาตให้บุคคลทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และรวมตลอดถึงบ่อล่อสัตว์น้ำ มาตรา ๑๓ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่อนุญาต เว้นแต่ผู้รับอนุญาต ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๑๔ ห้ามมิให้บุคคลใดขุดหรือสร้างบ่อล่อสัตว์น้ำในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ส่วนในที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ บุคคลย่อมขุดหรือสร้างบ่อล่อสัตว์น้ำได้แต่ต้องไม่เป็นการเสียหายแก่พันธุ์สัตว์น้ำในที่รักษาพืชพันธุ์ มาตรา ๑๕ ผู้รับอนุญาตมีหน้าที่ติดโคมไฟและเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัยของการสัญจรในทางน้ำตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๖ ที่สาธารณประโยชน์ คือที่จับสัตว์น้ำซึ่งบุคคลทุกคนมีสิทธิทำการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ บุคคลใดซึ่งทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่สาธารณประโยชน์ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๑๗ ห้ามมิให้บุคคลใดปลูกสร้างสิ่งใดลงในที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่าประมูล ที่อนุญาต หนอง หรือบึงอันเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือปลูกบัว ข้าว ปอ พืชหรือพันธุ์ไม้น้ำอื่นใด ตามที่จะได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อในที่เช่นว่านั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดให้ มาตรา ๑๘ ห้ามมิให้บุคคลใดวิดน้ำในที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่าประมูล ที่อนุญาต หนอง หรือบึงอันเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือบ่อล่อสัตว์น้ำ หรือทำให้น้ำในที่จับสัตว์น้ำเช่นว่านั้นแห้งหรือลดน้อยลงเพื่อทำการประมง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้ มาตรา ๑๙ ห้ามมิให้บุคคลใดกระทำการใด ๆ อันทำให้สัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำมึนเมา วางยาเบื่อเมา หรือทิ้งวัตถุที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำลงในที่จับสัตว์น้ำ มาตรา ๒๐ ห้ามมิให้บุคคลใดใช้วัตถุระเบิดในที่จับสัตว์น้ำ เว้นไว้แต่ในกรณีที่ทำเพื่อประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์และได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดให้ มาตรา ๒๑ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่จับสัตว์น้ำซึ่งมิได้อยู่ในที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ให้ผิดไปจากสภาพที่เป็นอยู่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้ มาตรา ๒๒ ห้ามมิให้บุคคลใด ติดตั้ง วาง หรือสร้างเขื่อน ทำนบ รั้ว เครื่องมือที่เป็นตาข่าย หรือเครื่องมือทำการประมงอื่น ๆ ในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งกางกั้นทางเดินของสัตว์น้ำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือกระทำการเช่นว่านั้นเพื่อประโยชน์แก่การกสิกรรมในที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้ เช่น บันไดปลาโจน หรือเครื่องอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อให้สัตว์น้ำว่ายขึ้นลงได้ หมวด ๒ บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ มาตรา ๒๓ ห้ามมิให้บุคคลใดขุดหรือสร้างบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มาตรา ๒๔ การทำการประมงในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ต้องขออนุญาตและไม่ต้องเสียเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้ หมวด ๓ การจดทะเบียนและการขออนุญาต มาตรา ๒๕ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศกำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำตามที่จะได้มีพระราชกฤษฎีการะบุไว้ในท้องที่ใด ๆ มาจดทะเบียนได้ และจะกำหนดให้ผู้มีอาชีพเช่นว่านี้มาขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อนดำเนินอาชีพเช่นว่านั้น โดยให้เสียค่าธรรมเนียมหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้ มาตรา ๒๖ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเครื่องมือทำการประมงชะนิดหนึ่งชะนิดใดในท้องที่ใด ๆ จดทะเบียนการมีไว้ในครอบครองซึ่งเครื่องมือนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๒๗ เมื่อมีกรณีจำเป็นแก่ราชการหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยอนุมัติรัฐมนตรี ข้าหลวงประจำจังหวัดอาจสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาต หรือประทานบัตรรายใด ๆ ก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้ผู้รับอนุญาตได้รับคืนเงินอากรฉะเพาะส่วนที่ต้องเพิกถอน มาตรา ๒๘ บุคคลใดจะใช้เครื่องมือในพิกัดทำการประมงได้ ต่อเมื่อได้รับอาชญาบัตรระบุชื่อบุคคลนั้น และเสียเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศยกเว้นไม่ต้องให้รับอาชญาบัตรสำหรับเครื่องมือทำการประมงอย่างหนึ่งอย่างใดในท้องที่ใด ๆ ก็ได้ มาตรา ๒๙ เครื่องมือในพิกัดซึ่งได้รับอาชญาบัตรในท้องที่จังหวัดใดแล้ว ถ้าบุคคลใดประสงค์จะนำไปใช้ทำการประมงในท้องที่จังหวัดอื่น ซึ่งจะต้องเสียเงินอากรสูงกว่า จะต้องเสียอากรเพิ่มเติมให้ครบตามอัตราในท้องที่นั้นเสียก่อนจึงจะใช้เครื่องมือนั้นได้ มาตรา ๓๐ บุคคลใดประสงค์จะทำการประมงในที่อนุญาต ต้องขออนุญาตและเสียเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้ และเงินซึ่งผู้รับอนุญาตที่จะต้องชำระโดยการว่าประมูล ให้ถือว่าเป็นเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้ รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศยกเว้นไม่ต้องเสียเงินอากรค่าอนุญาตในที่อนุญาตรายตัวบุคคลได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้ถือว่าได้รับอนุญาตแล้ว มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้บุคคลใดตั้ง หรือปัก หรือสร้างเครื่องมือประจำที่ลงในที่สาธารณประโยชน์ ส่วนที่จับสัตว์น้ำอื่น ๆ ห้ามมิให้บุคคลใดกระทำการเช่นว่านั้น โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๓๒ รัฐมนตรีหรือข้าหลวงประจำจังหวัดโดยอนุมัติรัฐมนตรีฉะเพาะภายในเขตต์ท้องที่ของตน มีอำนาจประกาศกำหนดได้ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดขนาดตาและระยะช่องเครื่องมือทำการประมงทุกชะนิด กำหนดขนาด ชะนิด จำนวนและส่วนประกอบของเครื่องมือทำการประมงที่อนุญาตให้ใช้ในที่จับสัตว์น้ำ (๒) กำหนดมิให้ใช้เครื่องมือทำการประมงอย่างหนึ่งอย่างใดในที่จับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด (๓) กำหนดระยะที่ตั้งเครื่องมือประจำที่ให้ห่างกันเพียงใด (๔) กำหนดวิธีใช้เครื่องมือทำการประมงต่าง ๆ (๕) กำหนดฤดูปลาที่มีไข่และวางไข่เลี้ยงลูก กำหนดเครื่องมือที่ให้ใช้และกำหนดวิธีทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำใด ๆ ในฤดูดังกล่าว (๖) กำหนดชะนิด ขนาด และจำนวนอย่างสูงของสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง (๗) กำหนดมิให้ทำการประมงสัตว์น้ำชะนิดหนึ่งชะนิดใดโดยเด็ดขาด มาตรา ๓๓ การโอนประทานบัตร ใบอนุญาตและอาชญาบัตรและการออกใบแทนเอกสารเช่นว่านั้น และการสลักหลังอาชญาบัตร เพื่อแก้ไขหรือเพิ่มเติมผู้มีสิทธิใช้เครื่องมือทำการประมง จะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้ ใบอนุญาตหรืออาชญาบัตรใดซึ่งหมดอายุแล้ว แต่ได้ยื่นคำขอต่ออายุก่อนวันสิ้นอายุ มิให้ถือว่าการทำการประมงหรือการใช้เครื่องมือนั้นเป็นการกระทำโดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะได้แจ้งว่าไม่อนุญาต มาตรา ๓๔ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือทำการใด ๆ ในเครื่องมือประจำที่ของผู้รับอนุญาต หรือในบริเวณที่ตั้งเครื่องมือเช่นว่านั้น ตามที่คณะกรมการจังหวัดจะได้ประกาศกำหนดเขตต์โดยอนุมัติรัฐมนตรี มาตรา ๓๕ ผู้รับอนุญาตจะต้องนำประทานบัตร ใบอนุญาต และอาชญาบัตร ติดตัวไปด้วยเสมอในเวลาไปทำการประมงและต้องนำออกแสดงเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขอตรวจ มาตรา ๓๖ ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประทานบัตร ใบอนุญาต หรืออาชญาบัตร หรือค้างเงินอากรที่เกี่ยวกับประทานบัตร ใบอนุญาต หรืออาชญาบัตร พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งเพิกถอนประทานบัตร ใบอนุญาต หรืออาชญาบัตรนั้นเสียก็ได้ มาตรา ๓๗ ในขณะใดหรือในท้องที่ใดยังไม่สมควรจะเก็บเงินอากรให้ประกาศยกเว้นโดยพระราชกฤษฎีกา มาตรา ๓๘ โดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจยกเว้น งด หรือคืนอากรค่าประทานบัตร ใบอนุญาต และอาชญาบัตร ให้บางส่วนหรือทั้งหมดตามแต่จะเห็นสมควร มาตรา ๓๙ โดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผ่อนเวลาชำระเงินอากรได้ตามที่เห็นสมควร สำหรับเงินอากรที่ค้างนั้น ผู้รับอนุญาตจะต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละสิบต่อปีของเงินอากรและเงินดอกเบี้ยนี้ให้ถือเป็นเงินอากรค้าง มาตรา ๔๐ ถ้าผู้รับอนุญาตค้างชำระเงินอากร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการดังต่อไปนี้ (๑) ประกาศหรือแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับอนุญาตนำเงินอากรที่ค้างมาชำระภายในเวลาตามที่เห็นสมควร (๒) เมื่อได้ดำเนินการตามอนุมาตรา (๑) แล้ว ผู้รับอนุญาตยังเพิกเฉยอยู่ พนักงานเจ้าหน้าที่อาจสั่งให้หยุดทำการประมง (๓) จัดการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ผู้รับอนุญาตนำมาวางเป็นหลักประกัน หรือจัดการเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชำระเงินอากรแทนผู้รับอนุญาต เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้คิดชำระเงินอากรและค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาดจนครบ เหลือเท่าใดให้คืนแก่ผู้รับอนุญาตหรือผู้ค้ำประกันแล้วแต่กรณี มาตรา ๔๑ เงินอากรที่ค้างชำระนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดและจัดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้รับอนุญาตแต่พอคุ้มกับเงินอากรที่ค้างชำระ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการยึดและการขายทอดตลาด มาตรา ๔๒ ประทานบัตร ใบอนุญาตหรืออาชญาบัตรที่ถูกสั่งเพิกถอนตามมาตรา ๓๖ นั้น อากรที่ชำระแล้วจะเรียกคืนมิได้ มาตรา ๔๓ กำหนดอายุอาชญาบัตรสำหรับการขออนุญาตและเสียเงินอากรนั้น ให้เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม มาตรา ๔๔ ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๔๓ เพื่อประโยชน์แก่การเก็บอากรโดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจประกาศกำหนดฤดูกาลทำการประมงตามความเหมาะสมแห่งท้องที่ โดยให้นับเวลาสิบสองเดือนเป็นหนึ่งฤดู และให้ถือระยะเวลาดังกล่าวแล้วเป็นระยะเวลาสำหรับการขออนุญาตและเสียอากรสำหรับหนึ่งปี มาตรา ๔๕ ในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องออกไปตรวจสอบหรือกำหนดที่ตั้งเครื่องมือประจำที่ให้แก่ผู้ขออนุญาตใช้เครื่องมือ ให้ผู้ขออนุญาตจัดหาพาหนะรับและส่งพนักงานเจ้าหน้าที่หรือออกค่าใช้จ่ายให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่เท่าที่จำเป็นและจ่ายจริงตามแต่ผู้ขออนุญาตจะเลือก มาตรา ๔๖ ในกรณีที่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจออกประทานบัตร ใบอนุญาตและอาชญาบัตรไม่ยอมออกเอกสารเช่นว่านั้น ให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียอุทธรณ์ไปยังรัฐมนตรีได้โดยยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าพนักงานเช่นว่านั้นภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง คำอุทธรณ์นั้นให้เจ้าพนักงานเช่นว่านั้นเสนอรัฐมนตรีโดยมิชักช้า คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด หมวด ๔ สถิติการประมง มาตรา ๔๗ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้ทำการเก็บสถิติการประมงในท้องที่ใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร มาตรา ๔๘ เมื่อได้มีประกาศตามความในมาตรา ๔๗ แล้ว อธิบดีอาจขอให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่มีอาชีพเกี่ยวกับสัตว์น้ำส่งรายการข้อความจำนวนเกี่ยวกับสถิตินั้นได้ มาตรา ๔๙ คำขอของอธิบดีนั้น ให้ทำเป็นหนังสือระบุชื่อเจ้าของกิจการผู้จัดการหรือผู้แทน และให้กำหนดเวลา สถานที่และวิธีการยื่น มาตรา ๕๐ บุคคลซึ่งได้รับคำขอตามมาตรา ๔๘ ต้องกรอกคำตอบลงในแบบพิมพ์แสดงรายการข้อความ จำนวนตามที่รู้เห็น พร้อมทั้งลงชื่อกำกับ และจัดการยื่นตามกำหนดเวลา ณ สถานที่และตามวิธีการที่กำหนดในคำขอ มาตรา ๕๑ ถ้ามีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีเพื่อการนี้ มีอำนาจเข้าในสถานที่ทำการของผู้รับคำขอในเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เพื่อทำการตรวจสอบ จดข้อความจำนวนเกี่ยวกับสถิติการประมง และให้เป็นหน้าที่ของผู้รับคำขอ หรือผู้แทนตอบคำถาม อำนวยความสะดวก และช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการนี้ หมวด ๕ การควบคุม มาตรา ๕๒ โดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจประกาศห้ามมิให้บุคคลอื่นนอกจากผู้รับอนุญาต เข้าไปในที่จับสัตว์น้ำแห่งหนึ่งแห่งใด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้รับอนุญาต หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน มาตรา ๕๓ ห้ามมิให้บุคคลใดทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งสัตว์น้ำหรือไข่ของสัตว์น้ำชะนิดหนึ่งชะนิดใดตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา มาตรา ๕๔ ห้ามมิให้นำสัตว์น้ำชะนิดหนึ่งชะนิดใดตามที่ระบุในพระราชกฤษฎีกาเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๕๕ ห้ามมิให้บุคคลใดนำสัตว์น้ำชะนิดหนึ่งชะนิดใดตามที่ระบุในพระราชกฤษฎีกา ไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำแห่งหนึ่งแห่งใด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๕๖ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะเข้าไปในที่จับสัตว์น้ำแห่งใด ๆ หรือเรือทำการประมงของบุคคลใด ๆ เพื่อตรวจการทำการประมง เครื่องมือทำการประมงสัตว์น้ำ หลักฐานบัญชีและเอกสารต่าง ๆ ของผู้รับอนุญาตได้ทุกเมื่อ ผู้รับอนุญาตต้องอำนวยความสะดวกและชี้แจงแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ทุกประการ มาตรา ๕๗ เมื่อปรากฏว่าบุคคลใดกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำการเช่นว่านั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมผู้นั้นพร้อมด้วยเรือ เครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำ และสิ่งอื่น ๆ ที่ใช้ในการกระทำผิดเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย มาตรา ๕๘ ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้รับอนุญาตรื้อถอนเครื่องมือทำการประมง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งใด ๆ ในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งได้กระทำโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งประทานบัตรหรือใบอนุญาตได้สิ้นอายุแล้ว บรรดาที่เป็นของผู้รับอนุญาต ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนดังกล่าวแล้ว ให้ผู้รับอนุญาตเป็นผู้ออก มาตรา ๕๙ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจทำการรื้อถอน ทำลายหรือยึดเครื่องมือซึ่งตั้งอยู่ในที่จับสัตว์น้ำ โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ และสิ่งต่าง ๆ ซึ่งระบุไว้ในมาตรา ๕๘ ในกรณีที่ผู้รับคำสั่งไม่ได้รื้อถอนไปภายในเวลาอันสมควร ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนดังกล่าวให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ฝ่าฝืนเป็นผู้ออก มาตรา ๖๐ การประกาศตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้ามิได้กำหนดวิธีการไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้ทำเป็นหนังสือปิดไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ และศาลากลางจังหวัดประจำท้องที่เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน หมวด ๖ บทกำหนดโทษ มาตรา ๖๑ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ วรรค ๒ มาตรา ๒๓ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๔ มาตรา ๕๒ หรือมาตรา ๕๓ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๒ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๙ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๗ ถึงมาตรา ๒๒ มาตรา ๓๐ มาตรา ๕๔ หรือมาตรา ๕๕ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๓ บุคคลใดไม่ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามมาตรา ๒๕ หรือมาตรา ๒๖ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๔ บุคคลใดใช้เครื่องมือทำการประมงซึ่งต้องมีอาชญาบัตรตามพระราชบัญญัติโดยไม่มีอาชญาบัตรตามมาตรา ๒๘ หรือมิได้เสียเงินอากรเพิ่มเติมตามมาตรา ๒๙ มีความผิดต้องระวางโทษปรับสามเท่าของเงินอากร มาตรา ๖๕ บุคคลใดฝ่าฝืนประกาศของรัฐมนตรีหรือข้าหลวงประจำจังหวัด ซึ่งประกาศตามความในมาตรา ๓๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๖ ผู้รับอนุญาตใดไม่ปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๕ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าสิบบาท มาตรา ๖๗ บุคคลซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติการตามมาตรา ๕๐ หรือ ๕๑ หรือมาตรา ๕๖ ละเลยไม่ปฏิบัติการเช่นว่านั้น มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๖๘ ผู้รับอนุญาตใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของข้าหลวงประจำจังหวัด ซึ่งสั่งตามมาตรา ๕๘ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๖๙ เรือ เครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำ และสิ่งอื่น ๆ ที่ใช้หรือได้มาโดยการกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ ศาลจะริบเสียก็ได้ แต่ถ้าสิ่งเช่นว่านี้ได้ใช้หรือได้มาโดยการกระทำความผิดในที่รักษาพืชพันธุ์ ให้ศาลริบเสียทั้งสิ้น มาตรา ๗๐ เครื่องมือทำการประมงที่ได้มีประกาศตามความในมาตรา ๓๒ ห้ามมิให้บุคคลใดใช้โดยเด็ดขาดนั้น ถ้านำมาใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ ให้ศาลริบเครื่องมือนั้นเสีย มาตรา ๗๑ ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกินสองพันบาท และต้องชดใช้เงินซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการไปตามมาตรา ๕๙ ในกรณีที่ศาลลงโทษผู้กระทำความผิดให้ศาลพิพากษาให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินดังกล่าวแล้ว ถ้าไม่ชำระให้จัดการตามมาตรา ๑๘ แห่งกฎหมายลักษณะอาญาโดยถือเสมือนว่าเป็นค่าปรับ มาตรา ๗๒ บุคคลใดทำลาย ถอดถอน หรือทำให้โคมไฟ เครื่องหมายหลักเขตต์ แผ่นประกาศหรือสิ่งอื่น ๆ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำไว้ในที่จับสัตว์น้ำบุบสลาย หรือเสียหายด้วยประการใด ๆ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ บทฉะเพาะกาล มาตรา ๗๓ ในกรณีที่ได้มีประกาศกำหนดประเภทที่จับสัตว์น้ำไว้ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเป็นประกาศที่ออกตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้เป็นต้นไป ประทานบัตร อาชญาบัตร และใบอนุญาตที่ออกก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเป็นประทานบัตร อาชญาบัตร และใบอนุญาตที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้แล้วแต่กรณี และให้คงใช้ต่อไปได้จนหมดอายุแห่งประทานบัตร อาชญาบัตร และใบอนุญาตนั้น ๆ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเรือตรี ถ. ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี บัญชีหมายเลข ๑ อัตราเงินอากรค่าที่อนุญาต ลำดับ ประเภทที่อนุญาต อัตราเงินอากร ๑. โป๊ะน้ำลึก แห่งละ ๒๐๐.๐๐ บาท ๒. อวนรัง แห่งละ ๒๐๐.๐๐ บาท ๓. โป๊ะน้ำตื้น แห่งละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๔. เฝือกรัง แห่งละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๕. จิบ แห่งละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๖. ลี่ แห่งละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๗. สุก แห่งละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๘. โพงพาง ช่องละ ๑๐๐.๐๐ บาท ๙. ร้านโจน แห่งละ ๑๐๐.๐๐ บาท ๑๐. รั้วไซมาน ช่องละ ๕๐.๐๐ บาท ๑๑. กั้นซู่รั้วไซมาน ช่องละ ๕๐.๐๐ บาท ๑๒. ช้อนปีก แห่งละ ๕๐.๐๐ บาท ๑๓. ยอปีก แห่งละ ๕๐.๐๐ บาท ๑๔. บาม แห่งละ ๒๕.๐๐ บาท ๑๕. ยอขันช่อ แห่งละ ๒๐.๐๐ บาท ๑๖. ช้อนขันช่อ แห่งละ ๒๐.๐๐ บาท ๑๗. จันทา แห่งละ ๑๐.๐๐ บาท ๑๘. กร่ำ ตารางเมตรละ ๑.๐๐ บาท ๑๙. บ่อล่อสัตว์น้ำ ตารางเมตรละ ๐.๕๐ บาท ๒๐. ที่เลี้ยงหอย ตารางเมตรละ ๐.๐๕ บาท บัญชีหมายเลข ๒ อัตราเงินอากรอาชญาบัตรสำหรับเครื่องมือในพิกัด ลำดับ ชื่อเครื่องมือ อัตราเงินอากร ๑. ยอขันช่อ ช้อนขันช่อ ช้อนสนั่น และช้อนหางเหยี่ยวมีเครื่องยก ปากละ ๒๐.๐๐ บาท ๒. ถุงโพงพาง ถุงละ ๒๐.๐๐ บาท ๓. ถุงบาม ปากละ ๑๕.๐๐ บาท ๔. เรือผีหลอกหรือเรือกัตรา ลำละ ๑๐.๐๐ บาท ๕. แหยาวตั้งแต่ ๔ เมตรขึ้นไป ปากละ ๑๐.๐๐ บาท ๖. ช้อนต่าง ๆ ปากกว้างตั้งแต่ ๓.๕ เมตรขึ้นไป ปากละ ๑๐.๐๐ บาท ๗. เบ็ดราวยาวตั้งแต่ ๔๐ เมตรขึ้นไป สายละ ๕.๐๐ บาท ๘. ข่ายหรืออวนต่าง ๆ ยาว เมตรละ ๕.๐๐ บาท ๙. เฝือกหรือเครื่องกั้น ยาว เมตรละ ๑.๐๐ บาท บัญชีหมายเลข ๓ อัตราเงินอากรค่าใบอนุญาตรายบุคคลผู้ทำการประมง ลำดับ รายการ อัตราเงินอากร ๑. ใบอนุญาตรายบุคคลผู้ทำการประมงโดยใช้ เครื่องมือนอกพิกัดในที่อนุญาต คนละ ๑๕.๐๐ บาท ๒. ใบอนุญาตหาหอยแมลงภู่และหอยกะพง คนละ ๑๕.๐๐ บาท ๓. ใบอนุญาตหาเทียนหอยและหอยมุกด์ คนละ ๑๕.๐๐ บาท บัญชีหมายเลข ๔ อัตราค่าธรรมเนียม ลำดับ รายการ อัตราค่าธรรมเนียม ๑. ใบอนุญาตสำหรับทำการค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ ปีละ ๑๕๐.๐๐ บาท ๒. ค่าโอนประทานบัตร ฉะบับละ ๒๐.๐๐ บาท ๓. ค่าโอนใบอนุญาต อาชญาบัตร ฉะบับละ ๒๐.๐๐ บาท ๔. ออกใบแทนอาชญาบัตร ใบอนุญาตประทานบัตร ฉะบับละ ๑๐.๐๐ บาท ๕. ใบอนุญาตสำหรับผู้มีอาชีพทำการประมง ปีละ ๑๐.๐๐ บาท ๖. ค่าสลักหลังใบอาชญาบัตรเพื่อแก้ไข หรือเพิ่มเติมผู้มีสิทธิใช้เครื่องมือ ทำการประมง ครั้งละ ๕.๐๐ บาท พรพิมล/แก้ไข ๑๙ ก.พ ๒๕๔๕ พัชรินทร์/แก้ไข ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ วศิน/แก้ไข ๒๗ เมษายน ๒๕๕๒ จุฑามาศ/ปริญสินีย์/ปรับปรุง ๑๑ มกราคม ๒๕๕๖ วิชพงษ์/ตรวจ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๔/ตอนที่ ๓/หน้า ๘๑/๑๔ มกราคม ๒๔๙๐
476185
พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 พ.ศ. 2490 (ฉบับ Update ล่าสุด)
พระราชกฤษฎีกา พระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียน ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๔๙๐ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร พระยามานวราชเสวี ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นปีที่ ๒ ในรัชชกาลปัจจุบัน โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำมาจดทะเบียน พระมหากษัตริย์อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำมาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๔๙๐” มาตรา ๒[๑] พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันและเวลาประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ ดังต่อไปนี้ จะต้องมาจดทะเบียนและขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามความในมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ คือ (๑) ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมือโป๊ะ (๒) ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมือโพงพาง (๓) ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมือรั้วไซมานหรือรั้วกางกั้น (๔) ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมืออวนทุกชนิด (๕) ผู้ประกอบกิจการแพปลา หรือสะพานปลา ซึ่งรับทำการขายสินค้าสัตว์น้ำเป็นปกติธุระด้วยวิธีการขายทอดตลาด ขายเหมา ขายส่ง หรือวิธีการอย่างอื่นโดยมีข้อตกลงหรือเข้าใจกันโดยปริยายตามพฤติการณ์ว่าสินค้านั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนจะได้รับค่านายหน้าในการขายจากเจ้าของสินค้าสัตว์น้ำ (๖) ผู้ค้าสินค้าสัตว์น้ำสดหรือเค็ม ด้วยวิธีขายทอดตลาด ขายเหมา หรือขายส่ง (๗) ผู้ประกอบกิจการโรงเค็มหรือโรงทำปลาเค็ม เพื่อการค้า (๘) ผู้ประกอบกิจการโรงทำน้ำปลา เพื่อการค้า (๙) ผู้ประกอบกิจการโรงทำกะปิ เพื่อการค้า (๑๐) ผู้ประกอบกิจการโรงนึ่งหรือย่างสัตว์น้ำ เพื่อการค้า (๑๑) ผู้ประกอบกิจการโรงทำหอยแห้ง เพื่อการค้า (๑๒) ผู้ประกอบกิจการโรงทำสัตว์น้ำกระป๋อง (๑๓)[๒] ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมือคราดหอยประกอบกับเรือ (๑๔)[๓] ผู้ประกอบกิจการโรงเพาะฟักและอนุบาลลูกกุ้งทะเล (๑๕)[๔] ผู้ประกอบกิจการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่ตั้งแต่ห้าสิบไร่ขึ้นไป (๑๖)[๕] ผู้ทำการประมงโดยใช้เรือประมงขนาดความยาวไม่เกินสิบสี่เมตร (๑๗)[๖] ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมือลอบทุกชนิด มาตรา ๓ ทวิ[๗] ให้ผู้ประกอบกิจการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่น้อยกว่าห้าสิบไร่ มาจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามความในมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเรือตรี ถ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๘[๘] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้อาชีพผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมือคราดหอย ประกอบกับเรือ มาจดทะเบียนและขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ เพิ่มขึ้น เพื่อทราบจำนวนเรือประมงคราดหอย และเพื่อกำหนดมาตรการในการควบคุมเรือประมงประเภทนี้ให้มีจำนวนที่เหมาะสมกับทรัพยากรสัตว์น้ำ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๑[๙] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้ผู้มีอาชีพประกอบกิจการโรงเพาะฟักและอนุบาลลูกกุ้งทะเลมาจดทะเบียนและขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ เพิ่มขึ้น เพื่อให้ทราบจำนวนผู้ประกอบอาชีพดังกล่าว ความต้องการพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเล และจำนวนผลผลิตลูกกุ้งทะเล ตลอดจนเพื่อส่งเสริมการวิจัยพันธุ์กุ้งทะเล กับให้การรับรองพันธุ์กุ้งทะเลที่ได้มาตรฐาน และกระจายพันธุ์กุ้งทะเลให้ถึงมือเกษตรกรอย่างทั่วถึง จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔[๑๐] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้ผู้มีอาชีพประกอบกิจการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่ตั้งแต่ห้าสิบไร่ขึ้นไปมาจดทะเบียนและขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ และให้ผู้มีอาชีพประกอบกิจการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่น้อยกว่าห้าสิบไร่มาจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อให้รัฐสามารถดูแลและป้องกันการบุกรุกพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของส่วนราชการ และให้การสนับสนุนการเลี้ยงกุ้งให้ได้ผลผลิตตามมาตรฐาน อีกทั้งให้รัฐสามารถดูแลและควบคุมระบบกำจัดน้ำเสีย การใช้ยาและสารเคมีในนากุ้ง มิให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภคตลอดจนเพื่อให้ได้ทราบข้อมูลการเลี้ยงกุ้งสำหรับนำมาใช้ในการวางแผนการเลี้ยง การผลิตและการตลาด จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๖[๑๑] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้ผู้ทำการประมงโดยใช้เรือประมงขนาดความยาวไม่เกินสิบสี่เมตร มาจดทะเบียนและขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ เพื่อกำหนดมาตรการในการควบคุมเรือประมงประเภทนี้ให้มีจำนวนที่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๐[๑๒] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมือลอบทุกชนิด เป็นผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ ที่จะต้องมาจดทะเบียนและขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อได้มีประกาศกำหนดของรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพื่อให้ทราบจำนวนการใช้เครื่องมือลอบและเพื่อกำหนดมาตรการในการควบคุมเครื่องมือลอบให้มีจำนวนที่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ สุนันทา/ผู้จัดทำ ๙ มกราคม ๒๕๔๙ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๔/ตอนที่ ๑๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๔/๑๔ เมษายน ๒๔๙๐ [๒] มาตรา ๓ (๑๓) เพิ่มโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๘ [๓] มาตรา ๓ (๑๔) เพิ่มโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๑ [๔] มาตรา ๓ (๑๕) เพิ่มโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔ [๕] มาตรา ๓ (๑๖) เพิ่มโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๖ [๖] มาตรา ๓ (๑๗) เพิ่มโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๐ [๗] มาตรา ๓ ทวิ เพิ่มโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔ [๘] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม.๑๐๒/ตอนที่ ๑๐๑/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๗ สิงหาคม ๒๕๒๘ [๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๕/ตอนที่ ๗๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๔๔/๑๓ พฤษภาคม ๒๕๓๑ [๑๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๘/ตอนที่ ๑๔๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๓๖/๒๑ สิงหาคม ๒๕๓๔ [๑๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๐/ตอนที่ ๙๒ ก/หน้า ๑๐/๒๖ กันยายน ๒๕๔๖ [๑๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๑๒ ก/หน้า ๒๕/๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
530092
พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550
พระราชกฤษฎีกา พระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๐ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๔๙๐ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ และมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๐” มาตรา ๒[๑] พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๑๗) ของมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๔๙๐ “(๑๗) ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมือลอบทุกชนิด” ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมือลอบทุกชนิด เป็นผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ ที่จะต้องมาจดทะเบียนและขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อได้มีประกาศกำหนดของรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพื่อให้ทราบจำนวนการใช้เครื่องมือลอบและเพื่อกำหนดมาตรการในการควบคุมเครื่องมือลอบให้มีจำนวนที่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ วัชศักดิ์/ผู้จัดทำ ๑ มีนาคม ๒๕๕๐ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๑๒ ก/หน้า ๒๕/๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
441918
พระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2547
พระราชกฤษฎีกา พระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๔๗ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นปีที่ ๕๙ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๔๗” มาตรา ๒[๑] พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิก (๑) พระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๒๕ (๒)พระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๖ มาตรา ๔ ห้ามมิให้บุคคลใดนำสัตว์น้ำที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกานี้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๔๗ ที่ จำพวกปลา ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๑๐ ๑๑ ๑๒ ๑๓ ๑๔ ๑๕ ๑๖ ๑๗ ๑๘ ๑๙ ๒๐ ๒๑ ๒๒ ๒๓ ๒๔ ๒๕ ๒๖ ๒๗ ๒๘ ๒๙ ๓๐ ๓๑ ๓๒ ๓๓ ๓๔ ๓๕ ๓๖ ๓๗ ๓๘ ๓๙ ๔๐ ๔๑ ๔๒ ๔๓ ๔๔ ๔๕ ๔๖ ๔๗ ๔๘ ๔๙ ๕๐ ๕๑ ๕๒ ๕๓ ๕๔ ๕๕ ๕๖ ๕๗ ๕๘ ๕๙ ๖๐ ๖๑ ปลาปากกลม (Hagfish) และปลาทุกชนิดใน Order Myxiniformes ปลาแลมเพรย์ (Lampray) และปลาทุกชนิดใน Order Peteromyzontiformes ปลาคาวชาร์ก (Cow Sharkj) ปลาฟริล์ชาร์ก (Frill Shark) และปลาทุกชนิดใน Order Hexanchiformes ปลาฉลามหัวทู่ (Bullhead Shark และ Horn Shark) และปลาทุกชนิดใน Order Heterodontiformes ปลาฉลามวาฬ (Whaile Shark) ฉลามกบ (Nursc Shark) และปลาทุกชนิดใน Order Orectolobiformes ปลาฉลามเสือ (Sand Tiger Shark) และปลาทุกชนิดใน Order Lamniformes ปลาฉลามหัวค้อน (Hammerhead Shark) และปลาทุกชนิดใน Order Charchariniformes ปลาด็อกฟิชชาร์ก (Dogfish Shark) และปลาทุกชนิดใน Order Squaliformes ปลาซอว์ชาร์ก (Saw Shark) และปลาทุกชนิดใน Order Pristiophoriformes ปลาแองเกิลชาร์ก (Angle Shark) และปลาทุกชนิดใน Order Squatiniformes ปลาฉนาก (Sawfish) และปลาทุกชนิดใน Order Pristiformes ปลากระเบนไฟฟ้า (Electric Ray) และปลาทุกชนิดใน Order Torpediniformes ปลากระเบน (Skate Ray) และปลาทุกชนิดใน Order Rajiformes ปลาโรนัน (Guitarfish) และปลาทุกชนิดใน Order Rhinobatiformes ปลากระเบนธง (Stinggray) ปลากระเบนผีเสื้อ (Butterfly Ray) และปลาทุกชนิดใน Order Myliobatiformes ปลาไคมีรา (Chimaera) และปลาทุกชนิดใน Order Chimaeriformes ปลาสเตอร์เจียน (Sturgeon) และปลาทุกชนิดใน Order Acipenseriformes ปลาไบเคอร์ (Bichir) และปลาทุกชนิดใน Order Polypteriformes ปลาการ์ (Gar) และปลาทุกชนิดใน Order Lepisosteiformes ปลาโบว์ฟิน (Bowfin) และปลาทุกชนิดใน Order Amliformes ปลาตะพัด (Bonytongue) ปลากราย (Featherback) และปลาทุกชนิดใน Order Osteoglossiformes ปลาตาเหลือก (Tarpon) และปลาทุกชนิดใน Order Elopiformes ปลากระบอกยน (Bonefish) และปลาทุกชนิดใน Order Albuliformes ปลาฮาโลเซอร์ (Halosour) และปลาทุกชนิดใน Order Notocanthiformes ปลาตูหนา (True Eel) ปลาหลดหิน (Moray) และปลาทุกชนิดใน Order Anguilliformes ปลาบ็อบเทลอีล (Bobtail Eel) และปลาทุกชนิดใน Order Saccopharyngiformes ปลาหลังเขียว (Sardine) ปลากะตัก (Anchovy) และปลาทุกชนิดใน Order Clupeiformes ปลานวลจันทร์ทะเล (Milkfish) และปลาทุกชนิดใน Order Gonorynchiformes ปลาซิว (Minnow) ปลาตะเพียน (Carp) ปลาหมู (Loach) และปลาทุกชนิดในOrder Cypriniformes ปลาแคแรซิน (Characin) และปลาทุกชนิดใน Order Characiformes ปลาเนื้ออ่อน (Sheat catfish) ปลาสวาย (Catfish) และปลาทุกชนิดใน Order Siluriformes ปลาไนต์ฟิช (Knightfish) และปลาทุกชนิดใน Order Gymnotiformes ปลาแซมอน (Salmon) ปลาเทราต์ (Trout) และปลาทุกชนิดใน Order Salmoniformes ปลาไพก์ (Pike) และปลาทุกชนิดใน Order Esociformes ปลาไข่ (Smelt) และปลาทุกชนิดใน Order Osmeriformes ปลาบริสเทิลเมาท์ (Bristlemouth) ปลาแดรกอนฟิช (Dragonfish) และปลาทุกชนิดใน Order Stomiiformes ปลาปากคม (Lizardfish) และปลาทุกชนิดใน Order Aulopiformes ปลาเรืองแสง (Lantenfish) และปลาทุกชนิดใน Order Myctophiformes ปลาเทราต์เพิร์ช (Trout-Perch) และปลาทุกชนิดใน Order Percopsiformes ปลาค็อด (Cod) ปลาแฮดด็อก (Haddock) และปลาทุกชนิดใน Order Gadiformes ปลาเพิร์ลฟิช (Pearlfish) และปลาทุกชนิดใน Order Ophidiiformes ปลาคางคก (Toadfish) และปลาทุกชนิดใน Order Batrachoidiformes ปลากบ (Frogfish) ปลาตกเบ็ด (Anglerfish) และปลาทุกชนิดใน Order Lophiiformes ปลาเกาะหิน (Clingfish) และปลาทุกชนิดใน Order Gobiesociformes ปลากระบอก (Mullet) และปลาทุกชนิดใน Order Mugiliformes ปลาหัวแข็ง (Silverside) ปลาเรนโบว์ฟิช (Rainbowfish) และปลาทุกชนิดใน Order Atheriniformes ปลาหัวตะกั่ว (Panchax) ปลาคิลลิฟิช (Killifish) และปลาทุกชนิดใน Order Cyprinodontformes ปลาเข็ม (Needlefish) ปลากระทุงเหว (Haltbeak) และปลาทุกชนิดใน Order Beloniformes ปลาดาบทะเลลึก (Ribbonfish) และปลาทุกชนิดใน Order Lampriformes ปลาตาเรืองแสง (Lanterneye Fish) ปลาข้าวเม่าน้ำลึก (Soldierfish) และปลาทุกชนิดใน Order Beryciformes ปลาเรดเมาท์ (Redmouth) และปลาทุกชนิดใน Order Cetomimiformes ปลาดอรี (Dory) และปลาทุกชนิดใน Order Zeiformes ปลาม้าน้ำ (Sea horse) ปลาปากแตร (Cornetfish) และปลาทุกชนิดใน Order Gasterosteiformes ปลาไหล (Swamp eel) ปลากระทิง (Spiny eel) และปลาทุกชนิดใน Order Synbranchiformes ปลาช้างเหยียบ (Flathead) ปลาสิงโต (Scorpionfish) และปลาทุกชนิดใน Order Scorpaeniformes ปลาทูน่า (Tuna) ปลากะพง (Snapper) และปลาทุกชนิดใน Order Perciformes ปลาซีกเดียว (Flounder) ปลาลิ้นหมา (Sole) และปลาทุกชนิดในOrder Pleuronectiformes ปลากล่อง (Boxfish) ปลาวัว (Triggerfish) ปลาปักเป้า (Puffer) และปลาทุกชนิดใน Order Tetraodontiformes ปลาซีลาแคนท์ (Coelacanth) และปลาทุกชนิดใน Order Coelacanthiformes ปลาปอดออสเตรเลีย (Australian Lungfish) และปลาทุกชนิดใน Order Ceratodontiformes ปลาปอดอเมริกาใต้ (South American Lungfish) และปลาทุกชนิดใน Order Lepidosireniformes ที่ จำพวกสัตว์น้ำอื่น ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๑๐ ๑๑ ๑๒ ๑๓ ๑๔ ๑๕ ๑๖ ๑๗ ๑๘ ๑๙ ฟองน้ำทุกชนิดใน Phylum Porifera ดอกไม้ทะเล ปะการัง กัลปังหา และสัตว์น้ำทุกชนิดใน Phylum Cnidaria สัตว์น้ำจำพวกหนอนตัวแบนทุกชนิดใน Phylum Platyhelminthes ไส้เดือนน้ำ ปลิงน้ำจืดทุกชนิดใน Phylum Annelida หนอนถั่วทุกชนิดใน Phylum Sipuncula แมงดาทะเลทุกชนิดใน Class Chelicerata กุ้ง กั้ง ปู และสัตว์น้ำทุกชนิดใน Subphylum Crustacea ลิ่นทะเล และสัตว์น้ำทุกชนิดใน Class Polyplacophora หอยกาบเดียว (หอยฝาเดียว) และหอยทุกชนิดใน Class Gastropoda หอยกาบคู่ (หอยสองฝา) และหอยทุกชนิดใน Class Bivalvia หอยงาช้างและหอยทุกชนิดใน Class Scaphopoda หอยงวงช้างและปลาหมึกทุกชนิดใน Class Cephalopoda หอยปากเป็ดและสัตว์น้ำทุกชนิดใน Phylum Brachiopoda ปลาดาวขนนกและสัตว์น้ำทุกชนิดใน Class Crinoidea ปลาดาว ดาวทะเลและสัตว์น้ำทุกชนิดใน Class Asteroidea ดาวเปราะและสัตว์น้ำทุกชนิดใน Class Ophiuroidea อีแปะทะเล เม่นทะเล และสัตว์น้ำทุกชนิดใน Class Echinoidea ปลิงทะเล และสัตว์น้ำทุกชนิดใน Class Holothuroidea เพรียงหัวหอมและสัตว์น้ำทุกชนิดในPhylum Hemichordata. ที่ จำพวกสาหร่ายทะเล ๑ ๒ ๓ ๔ สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวใน Division Cyanophyta สาหร่ายสีเขียวทุกชนิดใน Division Chlorophyta สาหร่ายสีน้ำตาลทุกชนิดใน Division Phaeophyta สาหร่ายสีแดงทุกชนิดในDivision Rhodophyta ที่ จำพวกสัตว์เลื้อยคลาน ๑ ๒ ๓ เต่าและตะพาบทุกชนิด (Turtle, Terrapin และ Softshell turtles) ใน Order Chelonia งูน้ำจืดและงูทะเล (Fresh water and sea snake) และสัตว์ทุกชนิดใน Order Squamata จระเข้ และสัตว์น้ำทุกชนิดใน Order Crocodylia ที่ จำพวกสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ๑ ๒ ๓ ประเภทจิ้งจกน้ำ (Newt และ Salamander) และสัตว์น้ำทุกชนิดใน Order Urodela ประเภทเขียดงู (Limbless Amphibian) และสัตว์น้ำทุกชนิดใน Order Apoda (Gymnophiona) ประเภทกบ คางคก (Frog และ Toad) และสัตว์น้ำทุกชนิดใน Order Anura (Salientia) ที่ จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ๑ ๒ ๓ ประเภทปลาวาฬและโลมา ทุกชนิดใน Order Cetacea ประเภทพะยูนทุกชนิดใน Order Sirenia ประเภทสิงโตทะเลและแมวน้ำ ทุกชนิดใน Sub order Pinnipedia หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักรที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันไม่ครอบคลุมถึงการนำสัตว์น้ำที่ไม่มีชีวิตเข้ามาในราชอาณาจักรทำให้มีผู้นำสัตว์น้ำทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตซึ่งไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นจำนวนมาก โดยไม่มีมาตรการตรวจสอบเรื่องสุขอนามัย และทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคของสัตว์น้ำหลายชนิดซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำมีชีวิตชนิดอื่น ๆ และอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ประกอบกับสมควรรวมพระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักรที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันไว้เป็นฉบับเดียวเพื่อความสะดวกในการใช้กฎหมาย จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ พรพิมล/พิมพ์ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๗ นวพร/สุนันทา/ตรวจ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๗ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๑/ตอนพิเศษ ๓๕ ก/หน้า ๕/๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๗
414587
พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตำณฑ์สัตว์น้ำและอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546
พระราชกฤษฎีกา พระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๖ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นปีที่ ๕๘ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๔๙๐ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๖” มาตรา ๒[๑] พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๑๖) ของมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำมาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔ “(๑๖) ผู้ทำการประมงโดยใช้เรือประมงขนาดความยาวไม่เกินสิบสี่เมตร” ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้ผู้ทำการประมงโดยใช้เรือประมงขนาดความยาวไม่เกินสิบสี่เมตร มาจดทะเบียนและขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ เพื่อกำหนดมาตรการในการควบคุมเรือประมงประเภทนี้ให้มีจำนวนที่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ มยุรี/พิมพ์ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๖ สุนันทา/อรดา/ตรวจ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๖ พรพิมล/แก้ไข ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๖ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๐/ตอนที่ ๙๒ ก/หน้า ๑๐/๒๖ กันยายน ๒๕๔๖
301660
พระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2536
พระราชกฤษฎีกา พระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๖ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นปีที่ ๔๘ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรห้ามมิให้นำสัตว์น้ำที่หายากและใกล้จะสูญพันธุ์บางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๖” มาตรา ๒[๑] พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้สัตว์น้ำบางชนิดตามที่ระบุในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกานี้เป็นสัตว์น้ำที่ห้ามมิให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี [เอกสารแนบท้าย] ๑. บัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๖ (ดูข้อมูลในภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เพื่อเป็นการอนุรักษ์สัตว์น้ำบางชนิดที่หายากและใกล้จะสูญพันธุ์ และเพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งสัตว์ป่าและพืชป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย สมควรควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสัตว์น้ำบางชนิด จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ พัชรินทร์/ผู้จัดทำ ๖ มีนาคม ๒๕๔๙ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๐/ตอนที่ ๒๑๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๙๔/๒๑ ธันวาคม ๒๕๓๖
301659
พระราชกฤษฎีการะบุสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำบางชนิดที่ห้ามมิให้มีไว้ในครอบครองเพื่อการค้า พ.ศ.2535
พระราชกฤษฎีกา พระราชกฤษฎีกา ระบุสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำบางชนิดที่ห้ามมิให้มีไว้ในครอบครองเพื่อการค้า พ.ศ. ๒๕๓๕ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นปีที่ ๔๗ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรห้ามมิให้มีสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำบางชนิดไว้ในครอบครองเพื่อการค้า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีการะบุสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ บางชนิดที่ห้ามมิให้มีไว้ในครอบครองเพื่อการค้า พ.ศ. ๒๕๓๕” มาตรา ๒[๑] พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้หินปะการัง กัลปังหา เต่าทะเล และกระ และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหินปะการัง กัลปังหา เต่าทะเล และกระ เป็นสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครอง เพื่อการค้า มาตรา ๔ บุคคลใดมีสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำตามมาตรา ๓ ไว้ในครอบครองเพื่อการค้าอยู่แล้วก่อนหรือในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะมีสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นไว้ในครอบครองเพื่อการค้าต่อไป ต้องยื่นคำขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เพื่อขอครอบครองสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำตามชนิด จำนวนหรือปริมาณ ที่มีอยู่นั้นเพื่อการค้าต่อไปได้ มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันได้มีการนำหินปะการัง กัลปังหา เต่าทะเล และกระ มาขายเป็นสินค้าทั้งในรูปของวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นจากสัตว์น้ำดังกล่าว และเป็นเหตุให้มีการลักลอบทำการประมงสัตว์น้ำข้างต้นจนเกิดปัญหาความเสื่อมโทรมแก่ทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมของประเทศ อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย ดังนั้น เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำดังกล่าวมิให้ต้องสูญพันธุ์ไป สมควรห้ามมิให้มีการครอบครองสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำดังกล่าวไว้เพื่อการค้า จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๔๒/หน้า ๑๓๗/๘ เมษายน ๒๕๓๕
318639
พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2534
พระราชกฤษฎีกา พระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียน ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นปีที่ ๔๖ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมงการค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๔๙๐ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๕ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๓๔ และมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติ การประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔” มาตรา ๒[๑] พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๑๕) ของมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๑ “(๑๕) ผู้ประกอบกิจการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่ตั้งแต่ห้าสิบไร่ขึ้นไป” มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓ ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๑ “มาตรา ๓ ทวิ ให้ผู้ประกอบกิจการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่น้อยกว่าห้าสิบไร่ มาจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามความในมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐” ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้ผู้มีอาชีพประกอบกิจการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่ตั้งแต่ห้าสิบไร่ขึ้นไปมาจดทะเบียนและขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ และให้ผู้มีอาชีพประกอบกิจการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่น้อยกว่าห้าสิบไร่มาจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อให้รัฐสามารถดูแลและป้องกันการบุกรุกพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของส่วนราชการ และให้การสนับสนุนการเลี้ยงกุ้งให้ได้ผลผลิตตามมาตรฐาน อีกทั้งให้รัฐสามารถดูแลและควบคุมระบบกำจัดน้ำเสีย การใช้ยาและสารเคมีในนากุ้ง มิให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค ตลอดจนเพื่อให้ได้ทราบข้อมูลการเลี้ยงกุ้งสำหรับนำมาใช้ในการวางแผนการเลี้ยง การผลิตและการตลาด จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๘/ตอนที่ ๑๔๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๓๖/๒๑ สิงหาคม ๒๕๓๔
301658
พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำมาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2531
พระราชกฤษฎีกา พระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๑ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ เป็นปีที่ ๔๓ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๔๙๐ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมงการค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๑” มาตรา ๒[๑] พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตร ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๑๔) ของมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๒)พ.ศ. ๒๕๒๘ “(๑๔) ผู้ประกอบกิจการโรงเพาะฟักและอนุบาลลูกกุ้งทะเล” ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ป. ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้ผู้มีอาชีพประกอบกิจการโรงเพาะฟักและอนุบาลลูกกุ้งทะเลมาจดทะเบียนและขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ เพิ่มขึ้น เพื่อให้ทราบจำนวนผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวความต้องการพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเล และจำนวนผลผลิตลูกกุ้งทะเลตลอดจนเพื่อส่งเสริมการวิจัยพันธุ์กุ้งทะเล กับให้การรับรองพันธุ์กุ้งทะเลที่ได้มาตรฐาน และกระจายพันธุ์กุ้งทะเลให้ถึงมือเกษตรกรอย่างทั่วถึง จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๕/ตอนที่ ๗๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๔๔/๑๓ พฤษภาคม ๒๕๓๑
318638
พระราชกฤษฎีการะบุสัตว์น้ำและลักษณะของสัตว์น้ำที่มีอันตรายบางชนิดที่ห้ามมิให้มีไว้ในครอบครอง นำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ พ.ศ.2530
พระราชกฤษฎีกา พระราชกฤษฎีกา ระบุสัตว์น้ำและลักษณะของสัตว์น้ำที่มีอันตรายบางชนิด ที่ห้ามมิให้มีไว้ในครอบครอง นำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ พ.ศ. ๒๕๓๐ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นปีที่ ๔๒ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการระบุสัตว์น้ำบางชนิดที่ห้ามมิให้มีไว้ในครอบครอง นำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ กับมาตรา ๕๔ และมาตรา ๕๕ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีการะบุสัตว์น้ำและลักษณะของสัตว์น้ำที่มีอันตรายบางชนิดที่ห้ามมิให้มีไว้ในครอบครอง นำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ พ.ศ. ๒๕๓๐” มาตรา ๒[๑] พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีการะบุสัตว์น้ำบางชนิดที่ห้ามมิให้มีไว้ในครอบครอง นำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ พ.ศ. ๒๕๑๓ มาตรา ๔ ให้ปลาน้ำจืดที่มีชีวิตในสกุลเซอราซาลมัส (Serrasalmus) สกุลรูสเวลทิเอลลา (Rooseveltiella) และสกุลไพโกเซนทรัส (Pygocentrus) และไข่ของปลาดังกล่าว เป็นสัตว์น้ำที่ห้ามมิให้มีไว้ในครอบครอง นำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ มาตรา ๕ สัตว์น้ำตามมาตรา ๔ เป็นสัตว์น้ำที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือทรัพย์สินของบุคคลหรือสาธารณชน มีลักษณะเป็นปลาขนาดเล็ก มีฟันที่แหลมคมและนิสัยดุร้ายมาก อาศัยอยู่เป็นฝูงชอบรุมกัดกินเนื้อมนุษย์และสัตว์มีชีวิตทุกขนาดเป็นอาหาร มาตรา ๖ บุคคลใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำที่ห้ามมิให้มีไว้ในครอบครองตามมาตรา ๔ อยู่แล้วก่อนหรือในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้นำสัตว์น้ำนั้นส่งมอบแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ การส่งมอบสัตว์น้ำให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามระเบียบที่กรมประมงกำหนด มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ป. ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้ให้อำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดห้ามบุคคลมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำชนิดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือทรัพย์สินของบุคคลหรือสาธารณชน และให้กำหนดลักษณะของสัตว์น้ำนั้นด้วยว่าจะมีอันตรายอย่างใด ตลอดจนกำหนดเวลาสำหรับผู้ซึ่งมีสัตว์น้ำนั้นในครอบครองอยู่แล้วส่งมอบสัตว์น้ำนั้นให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ประกอบกับในปัจจุบัน นักอนุกรมวิธานได้แบ่งแยกปลาน้ำจืดในสกุลเซอราซาลมัส (Serrasalmus) ออกเป็นปลาสกุลอื่นอีก คือ สกุลรูสเวลทิเอลลา (Rooseveltiella) และสกุลไพโกเซนทรัส (Pygocentrus) ซึ่งปลาน้ำจืดทั้งสองสกุลที่กำหนดขึ้นใหม่นี้ เป็นสัตว์น้ำชนิดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือทรัพย์สินของบุคคลหรือสาธารณชนเช่นเดียวกัน ดังนั้น สมควรยกเลิกพระราชกฤษฎีการะบุสัตว์น้ำบางชนิดที่ห้ามมิให้มีไว้ในครอบครอง นำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ พ.ศ. ๒๕๑๓ และกำหนดใหม่โดยระบุสัตว์น้ำและลักษณะของสัตว์น้ำที่มีอันตรายบางชนิดที่ห้ามมิให้มีไว้ในครอบครอง นำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ให้รวมถึงปลาน้ำจืดที่มีชีวิตในสกุลรูสเวลทิเอลลา (Rooseveltiella) และสกุลไพโกเซนทรัส (Pygocentrus) กับกำหนดเวลาให้ผู้ซึ่งมีสัตว์น้ำดังกล่าวในครอบครองอยู่แล้วส่งมอบสัตว์น้ำนั้นให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๔/ตอนที่ ๔๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๘ มีนาคม ๒๕๓๐
301657
พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2528
พระราชกฤษฎีกา พระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียน ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๘ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นปีที่ ๔๐ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๔๙๐ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๒๘” มาตรา ๒[๑] พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๑๓) ของมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.๒๔๙๐ พ.ศ.๒๔๙๐ “(๑๓) ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมือคราดหอยประกอบกับเรือ” ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ป. ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้อาชีพผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมือคราดหอย ประกอบกับเรือ มาจดทะเบียนและขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ เพิ่มขึ้น เพื่อทราบจำนวนเรือประมงคราดหอย และเพื่อกำหนดมาตรการในการควบคุมเรือประมงประเภทนี้ให้มีจำนวนที่เหมาะสมกับทรัพยากรสัตว์น้ำ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๒/ตอนที่ ๑๐๑/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๗ สิงหาคม ๒๕๒๘
301656
พระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2525
พระราชกฤษฎีกา พระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๒๕ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นปีที่ ๓๗ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อป้องกันการระบาดของโรคสัตว์น้ำและอันตรายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๒๕” มาตรา ๒[๑] พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำปลาน้ำจืดบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.๒๔๙๖ มาตรา ๔ ห้ามมิให้บุคคลใดนำสัตว์น้ำที่มีชีวิตบางชนิดที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกานี้เข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ป. ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี [เอกสารแนบท้าย] ๑. บัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๒๕ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกานี้ คือ ด้วยปรากฏว่าในปัจจุบันนี้มีผู้นำสัตว์น้ำมีชีวิตเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นจำนวนมาก สัตว์น้ำเหล่านี้บางชนิดมีแหล่งกำเนิดหรือเจริญเติบโตในประเทศที่มีโรคระบาด โรคดังกล่าวจึงอาจแพร่หลายในประเทศไทย โดยอาศัยสัตว์น้ำเหล่านี้เป็นพาหะนำโรค นอกจากนี้ เมื่อสัตว์น้ำเหล่านี้แพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำ ก็จะทำให้เกิดโรคระบาดไปยังสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ อีกด้วย และในที่สุดจะเป็นอันตรายแก่ผู้ที่บริโภคสัตว์เหล่านี้ พระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำปลาน้ำจืดบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๔๙๖ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้ห้ามเฉพาะปลาในตระกูลค้าเท่านั้นมิได้ห้ามสัตว์น้ำชนิดอื่นด้วย ดังนั้น จึงเห็นสมควรให้มีการควบคุมการนำสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ เข้ามาในราชอาณาจักรให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๑๘๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๓ ธันวาคม ๒๕๒๕
318637
พระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดท้องที่ยกเว้นการเก็บเงินอากรตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 พ.ศ.2491 และยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 241 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 พ.ศ.2522
พระราชกฤษฎีกา พระราชกฤษฎีกา ยกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดท้องที่ยกเว้นการเก็บเงินอากร ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๔๙๑ และยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๔๑ ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ พ.ศ. ๒๕๒๒ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรยกเลิกการยกเว้นการเก็บเงินอากรตามกฎหมายว่าด้วยการประมง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดท้องที่ยกเว้นการเก็บเงินอากร ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๔๙๑ และยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๔๑ ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ พ.ศ. ๒๕๒๒” มาตรา ๒[๑] พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิก (๑) พระราชกฤษฎีกากำหนดท้องที่ยกเว้นการเก็บเงินอากรตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๔๙๑ (๒) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๔๑ ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ส. โหตระกิตย์ รองนายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากการทำประมงในที่จับสัตว์น้ำในเขตน่านน้ำจืด ในเขตท้องที่จังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้ ได้รับการยกเว้นการเก็บเงินอากรทุกประเภท ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดท้องที่ยกเว้นการเก็บเงินอากรตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๔๙๑ และตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๔๑ ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ เพราะในเวลานั้นประชาชนในท้องที่จังหวัดดังกล่าวทำการประมงเพื่อนำสัตว์น้ำที่จับได้มาบริโภคในครัวเรือน มิได้ทำการประมงเป็นธุรกิจหรือการพาณิชย์ แต่ในปัจจุบันนี้ได้มีอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำที่ถาวรเพิ่มขึ้นในเขตท้องที่จังหวัดดังกล่าวหลายจังหวัดการทำการประมงจึงขยายกว้างออกไป และมิได้กระทำเพียงเพื่อนำสัตว์น้ำมาบริโภคภายในครัวเรือนดังเช่นแต่ก่อน นอกจากนั้นยังปรากฏว่ามีผู้นิยมใช้อวนข่าย และเครื่องมือในพิกัดทำการประมงในอ่างเก็บน้ำ แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง กันอย่างแพร่หลายและมีปริมาณมาก ทำให้ผู้ทำการประมงมีรายได้ดีขึ้น สมควรเรียกเก็บเงินอากรสำหรับการทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำในเขตน่านน้ำจืดเหมือนกับจังหวัดอื่น ๆ ที่มีการเก็บเงินอากรอยู่แล้ว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ขึ้น จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๖/ตอนที่ ๕๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๒/๒๑ เมษายน ๒๕๒๒
301655
พระราชกฤษฎีการะบุสัตว์น้ำบางชนิดที่ห้ามมิให้มีไว้ในครอบครองนำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ พ.ศ.2513
ตราพระบรมราชโองการ ตราพระบรมราชโองการ พระราชกฤษฎีกา ระบุสัตว์น้ำบางชนิดที่ห้ามมิให้มีไว้ในครอบครอง นำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ พ.ศ. ๒๕๑๓ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นปีที่ ๒๕ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรห้ามมิให้มีปลาน้ำจืดในสกุลเซราซาลมัส (Serasalmus) และไข่ของปลาดังกล่าวไว้ในครอบครอง นำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๕๑๓ กับมาตรา ๕๔ และมาตรา ๕๕ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีการะบุสัตว์น้ำบางชนิดที่ห้ามมิให้มีไว้ในครอบครอง นำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ พ.ศ. ๒๕๑๓” มาตรา ๒[๑] พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ปลาน้ำจืดที่มีชีวิตในสกุลเซราซาลมัส (Serasalmus) และไข่ของปลาดังกล่าวเป็นสัตว์น้ำที่ห้ามมิให้มีไว้ในครอบครองนำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากปลาปิรันยา (Piranha) หรือปลาคาริบี (Caribe) ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดในสกุลเซราซาลมัส (Serasalmus) และมีแหล่งกำเนิดเดิมอยู่ในแม่น้ำอะเมซอน ประเทศบราซิล เป็นปลาขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายปลาแปบหรือปลาโคก แต่มีฟันคมและมีนิสัยดุร้ายมาก ชอบอาศัยอยู่เป็นฝูง ชอบรุมกัดกินเนื้อมนุษย์และสัตว์ทุกขนาดเป็นอาหาร เช่น โค กระบือ ม้า ฯลฯ ที่ลงไปในแม่น้ำลำคลองที่ปลานี้อาศัยอยู่ บัดนี้ ปรากฏว่ามีผู้นำหรือสั่งปลาในสกุลนี้มาจากต่างประเทศ เข้ามาขายในประเทศไทยหลายราย โดยจำหน่ายเป็นปลาประเภทสวยงาม และแปลกประหลาดกระทรวงเห็นว่า ถ้าปล่อยให้มีการมีปลาในสกุลนี้ไว้ในครอบครองนำเข้ามาในราชอาณาจักร และมีการซื้อขายกันต่อไปแล้ว อาจจะมีผู้ผสมพันธุ์ปลาในสกุลนี้ขึ้นจำหน่าย หรืออาจจะมีผู้นำไปปล่อยในแหล่งน้ำสาธารณะ ปลาสกุลนี้จะขยายพันธุ์และแพร่หลายทั่วไป จะเป็นอันตรายต่อประชาชน สัตว์เลี้ยงและสัตว์น้ำอย่างยิ่ง จึงเห็นสมควรห้ามการมีปลาสกุลนี้ไว้ในครอบครอง ห้ามการนำปลาในสกุลนี้เข้ามาในราชอาณาจักร และห้ามมิให้นำปลาดังกล่าวไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำแห่งหนึ่งแห่งใดเสียโดยด่วน โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกา อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕๓ มาตรา ๕๔ และมาตรา ๕๕ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๗/ตอนที่ ๒๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๕/๓๐ มีนาคม ๒๕๑๓
301654
พระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำปลาน้ำจืดบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2496
พระราชกฤษฎีกา พระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้นำปลาน้ำจืดบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๔๙๖ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นปีที่ ๘ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรห้ามมิให้นำปลาน้ำจืดบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕ และมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำปลาน้ำจืดบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๔๙๖” มาตรา ๒[๑] พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ห้ามมิให้บุคคลใดนำปลาที่มีชีวิตในตระกูลค๊าฟเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๔ ในการขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๓ ต้องมีเอกสารรับรองจากเจ้าหน้าที่ของประเทศที่ส่งปลาออกเพื่อแสดงว่าปลาที่ส่งมานั้นปราศจากโรค แนบมากับคำขออนุญาตด้วย มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ ด้วยปรากฏว่าเวลานี้มีเอกชนได้สั่งพันธุ์ปลาจีนในตระกูลค๊าฟมีชีวิตจากต่างประเทศเข้ามาทำการเพาะเลี้ยงในประเทศมากยิ่งขึ้น และปรากฏว่า พันธุ์ปลาที่เอกชนนำเข้ามานั้น ได้นำเชื้อโรคบางชนิดที่เป็นภัยแก่การเลี้ยงปลาเข้ามาด้วย เช่น โรคหนอนสมอ Anchor worm (Lernaer) โรครา หรือโรคพยาธิเส้นไหม Cotton wool Discase (Saptolegmia) และพวกเห็บ Fish Louse (Argulus sp.) เป็นต้น เมื่อพันธุ์ปลาเหล่านี้เข้ามาในประเทศแล้ว ก็ได้นำไปเลี้ยงกันตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งทำให้โรคเหล่านี้ระบาดออกไปอย่างแพร่หลาย ประกอบกับทางราชการประสงค์จะทราบสถิติจำนวนปลาที่เอกชนนำเข้ามาเพาะเลี้ยงในประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ออกบังคับใช้ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๐/ตอนที่ ๗๖/หน้า ๑๔๙๙/๘ ธันวาคม ๒๔๙๖
321286
พระราชกฤษฎีกากำหนดท้องที่ยกเว้นการเก็บภาษีอากร ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 พ.ศ.2491
พระราชกฤษฎีกา พระราชกฤษฎีกา กำหนดท้องที่ยกเว้นการเก็บเงินอากร ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๔๙๑ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คณะอภิรัฐมนตรี ในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร อลงกฏ มานวราชเสวี อดุลเดชจรัส ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลปัจจุบัน โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นการเก็บเงินอากรตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ในบางท้องที่ พระมหากษัตริย์อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) และมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกากำหนดท้องที่ยกเว้นการเก็บเงินอากรตามพระราชบัญญัติประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๔๙๑” มาตรา ๒[๑] พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดท้องที่ยกเว้นการเก็บเงินอากรตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๔ ให้ยกเว้นการเก็บอากรทุกประเภทเกี่ยวกับการทำการประมง ในท้องที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดตาก จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีษะเกษ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครพนม จังหวัดเลย จังหวัดสกลนคร จังหวัดหนองคาย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง จังหวัดน่าน จังหวัดแพร่ และจังหวัดยะลา มาตรา ๕ ให้ยกเว้นการเก็บเงินอากรทุกประเภทเกี่ยวกับการทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งอยู่ในเขตน่านน้ำจืด ในท้องที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดสงขลา จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดชุมพร จังหวัดสตูล จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดพังงา จังหวัดระนอง จังหวัดระยอง จังหวัดตราด จังหวัดชลบุรี และจังหวัดจันทบุรี เขตน่านน้ำจืดตามความในวรรคแรกนั้น อยู่ในเขตที่พนักงานเจ้าหน้าที่ปักหลักเขตและให้ปิดประกาศกำหนดเขตพร้อมด้วยแผนที่สังเขปไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอและศาลากลางจังหวัดประจำท้องที่ มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๕/ตอนที่ ๕๙/หน้า ๕๙๑/๕ ตุลาคม ๒๔๙๑
301653
พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 พ.ศ.2490
พระราชกฤษฎีกา พระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียน ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๔๙๐ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร พระยามานวราชเสวี ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมงการค้าสินค้าสัตว์น้ำผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำมาจดทะเบียน พระมหากษัตริย์อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำมาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๔๙๐” มาตรา ๒[๑] พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันและเวลาประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำดังต่อไปนี้ จะต้องมาจดทะเบียนและขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามความในมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ คือ ๑. ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมือโป๊ะ ๒. ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมือโพงพาง ๓. ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมือรั้วไซมานหรือรั้วกางกั้น ๔. ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมืออวนทุกชนิด ๕. ผู้ประกอบกิจการแพปลา หรือสะพานปลา ซึ่งรับทำการขายสินค้าสัตว์น้ำเป็นปกติธุระด้วยวิธีการขายทอดตลาด ขายเหมา ขายส่ง หรือวิธีการอย่างอื่นโดยมีข้อตกลงหรือเข้าใจกันโดยตรงหรือโดยปริยายตามพฤติการณ์ว่าสินค้านั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนจะได้รับค่านายหน้าในการขายจากเจ้าของสินค้าสัตว์น้ำ ๖. ผู้ค้าสินค้าสัตว์น้ำสดหรือเค็ม ด้วยวิธีขายทอดตลาด ขายเหมา หรือขายส่ง ๗. ผู้ประกอบกิจการโรงเค็มหรือโรงทำปลาเค็ม เพื่อการค้า ๘. ผู้ประกอบกิจการโรงทำน้ำปลา เพื่อการค้า ๙. ผู้ประกอบกิจการโรงทำกะปิ เพื่อการค้า ๑๐. ผู้ประกอบกิจการโรงนึ่งหรือย่างสัตว์น้ำ เพื่อการค้า ๑๑. ผู้ประกอบกิจการโรงทำหอยแห้ง เพื่อการค้า ๑๒. ผู้ประกอบกิจการโรงทำสัตว์น้ำกระป๋อง มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเรือตรี ถ. ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๔/ตอนที่ ๑๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๔/๑๔ เมษายน ๒๔๙๐
301652
พระราชกฤษฎีกา กำหนดท้องที่ยกเว้นการเก็บภาษีอากรตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 พ.ศ.2490
พระราชกฤษฎีกา พระราชกฤษฎีกา กำหนดท้องที่ยกเว้นการเก็บเงินอากร ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๔๙๐ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร พระยามานวราชเสวี ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นการเก็บเงินอากรตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ในบางท้องที่ พระมหากษัตริย์อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกากำหนดท้องที่ยกเว้นการเก็บเงินอากรตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๔๙๐” มาตรา ๒[๑] พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันและเวลาประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเว้นการเก็บเงินอากรทุกประเภทเกี่ยวกับการประมงในท้องที่จังหวัดเพชรบูรณ์, จังหวัดกำแพงเพชร, จังหวัดตาก, จังหวัดนครราชสีมา, จังหวัดชัยภูมิ, จังหวัดบุรีรมย์, จังหวัดร้อยเอ็ด ,จังหวัดมหาสารคาม, จังหวัดอุบลราชธานี, จังหวัดศรีษะเกษ, จังหวัดสุรินทร์,จังหวัดอุดรธานี, จังหวัดขอนแก่น, จังหวัดนครพนม, จังหวัดเลย, จังหวัดสกลนคร,จังหวัดหนองคาย, จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดเชียงราย, จังหวัดแม่ฮ่องสอน, จังหวัดลำพูน, จังหวัดลำปาง, จังหวัดน่าน, จังหวัดแพร่, และจังหวัดยะลา มาตรา ๔ ให้ยกเว้นการเก็บเงินอากรทุกประเภทเกี่ยวกับการทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำซึ่งอยู่ในเขตน่านน้ำจืดในท้องที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, จังหวัดสงขลา, จังหวัดนครศรีธรรมราช, จังหวัดพัทลุง, จังหวัดสุราษฎร์ธานี, จังหวัดชุมพร, จังหวัดสตูล, จังหวัดปัตตานี, จังหวัดนราธิวาส, จังหวัดภูเก็ต, จังหวัดกระบี่, จังหวัดตรัง, จังหวัดพังงา, จังหวัดระนอง, จังหวัดระยอง, จังหวัดตราด, จังหวัดชลบุรี และจังหวัดจันทบุรี มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเรือตรี ถ. ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๔/ตอนที่ ๑๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๔ เมษายน ๒๔๙๐
736718
กฎกระทรวง ฉะบับที่ 2 (พ.ศ. 2490) ว่าด้วยการกำหนดอัตราเงินอากร ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 (ฉบับ Update ล่าสุด)
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉะบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๙๐) ว่าด้วยการกำหนดอัตราเงินอากร ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้กำหนดอัตราเงินอากรดังต่อไปนี้ (ก) อัตราเงินอากรค้าที่อนุญาต ลำดับ ประเภทที่อนุญาต อัตราเงินอากร ท้องที่ บาท สต. ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๑๐ ๑๑ ๑๒ ๑๓ ๑๔ ๑๕ ๑๖ ๑๗ ๑๘ ๑๙ ๒๐[๒] ๒๑ โป๊ะน้ำลึก แห่งละ แห่งละ แห่งละ แห่งละ โป๊ะน้ำลึก แห่งละ แห่งละ แห่งละ แห่งละ อวนรัง แห่งละ เฝือกรัง แห่งละ จิบ แห่งละ ลิ แห่งละ สุก แห่งละ โพงพาง (ประจำที่) ช่องละ โพงพาง (หลักลอย) ช่องละ ร้านโจน แห่งละ รั้วไซมาน ช่องละ กั้นรั้วไซมาน ช่องละ ช้อนปีก แห่งละ ยอปีก แห่งละ บาม แห่งละ ยอขันช่อ แห่งละ ช้อนขันช่อ แห่งละ จันทา แห่งละ กร่ำ ตารางเมตรละ บ่อล่อสัตว์น้ำ ตารางเมตรละ ที่เลี้ยงลอย ตารางเมตรละ ๒๐๐ ๑๐๐ ๕๐ ๑๐ ๑๐๐ ๕๐ ๒๕ ๑๐ ๒๐๐ ๑๕๐ ๑๕๐ ๑๕๐ ๑๕๐ ๒๐ ๔๐ ๑๐๐ ๕๐ ๕๐ ๒๕ ๒๕ ๒๕ ๒๐ ๒๐ ๑ ๑ - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - ๑๕ ๐๑ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดระนอง จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสตูล จังหวัดตรัง จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดระนอง จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสตูล จังหวัดตรัง ทุกจังหวัดที่มีการเก็บเงินอากรเกี่ยวกับการทำการประมง (ข) อัตราเงินอากรอาชญาบัตรสำหรับเครื่องมือในพิกัด ลำดับ ชื่อเครื่องมือ อัตราเงินอากร ท้องที่ บาท สต. ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘[๓] ยอขันช่อ ช้อนขันช่อ ช้อนสนั่นมีเครื่องยก ปากละ ถุงโพงพางซึ่งใช้ประกอบกับโพงพาง รั้วไซมาน หรือกั้นซู่รั้วไซมาน ถุงละ ถุงบาม ปากละ เรือผีหลอกหรือเรือกัตรา ลำละ แหยาวตั้งแต่ ๔ เมตรขึ้นไป (ยังไม่ทบเพลา) ปากละ ช้อนต่าง ๆ ปากกว้างตั้งแต่ ๓.๕ เมตรขึ้นไป ปากละ เบ็ดราวยาวตั้งแต่ ๔๐ เมตรขึ้นไป สายละ (ก) อวนลอย ขนาดช่องตาตั้งแต่ ๗ เซนติเมตรขึ้นไป โดยดึงตาอวนให้เป็นเส้นตรงตามเส้นทแยงมุมแล้ววัดตามเส้นนั้นจากกึ่งกลางของเงื่อนหนึ่งไปยังกึ่งกลางของอีกเงื่อนหนึ่ง ยาวเมตรละ (ข) อวนลอย ขนาดช่องตาต่ำกว่า ๗ เซนติเมตร โดยดึงตาอวนให้เป็นเส้นตรงตามเส้นทแยงมุมแล้ววัดตามเส้นนั้นจากกึ่งกลางของเงื่อนหนึ่งไปยังกึ่งกลางของอีกเงื่อนหนึ่ง ยาวเมตรละ ๑๕ ๑๐ ๑๐ ๕ ๘ ๕ ๕ - - - - - - - - - ๒๕ ๕๐ ทุกจังหวัดที่มีการเก็บเงินอากรเกี่ยวกับการทำการประมง ๙ (ค) ข่ายและอวนอื่น ๆ (๑) กว้างกว่า ๑ เมตร ถึง ๔ เมตร ยาวเมตรละ (๒) กว้างกว่า ๔ เมตร ถึง ๘ เมตร ยาวเมตรละ (๓) กว้างกว่า ๘ เมตร ถึง ๒๔ เมตร ยาวเมตรละ (๔) กว้างกว่า ๒๔ เมตร ยาวเมตรละ เฝือกหรือเครื่องกั้นยาวกว่า ๒ เมตรขึ้นไป ยาวเมตรละ (เว้นแต่เฝือกหรือเครื่องกั้นที่ใช้ประกอบโป๊ะ โพงพาง รั้วไซมาน กั้นซู่รั้วไซมาน ช้อนปีก ยกปีก - - ๑ ๒ - ๒๕ ๕๐ - - ๒๕ ทุกจังหวัดที่มีการเก็บเงินอากรเกี่ยวกับการทำการประมง (ค) อัตราเงินอากรค่าใบอนุญาตรายบุคคลผู้ทำการประมง ลำดับ รายการ อัตราเงินอากร บาท สต. ๑ ๒ ๓ ใบอนุญาตรายบุคคลผู้ทำการประมงโดยใช้เครื่องมือ นอกพิกัด ในที่อนุญาต คนละ ใบอนุญาตหาหอยแมลงภู่ และหอยกะพง คนละ ใบอนุญาตหาหอยเทียน และหอยมุกด์ คนละ ๕ ๕ ๕ - - - ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐ จรูญ สืบแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ กฎกระทรวง ฉะบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๔๙๑) ว่าด้วยการกำหนดอัตราเงินอากร ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐[๔] กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พุทธศักราช ๒๔๙๐[๕] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๙๐) ว่าด้วยการกำหนดอัตราเงินอากรการประมงได้ประกาศใช้มาเป็นเวลา ๑๕ ปีแล้ว การเรียกเก็บเงินอากรแก่เครื่องมือการประมงบางชนิดยังไม่เหมาะสมกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน เพราะในปัจจุบันนี้การประมงทะเลได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นเป็นอันมาก ชาวประมงได้นำเอาเครื่องมือประมงแบบใหม่ ๆ มาใช้ทำการประมงอีกหลายชนิด เช่น อวนลอยไนล่อน เป็นต้น อวนแบบใหม่ ๆ เหล่านี้ ซึ่งเป็นเครื่องมือขนาดเล็ก แต่ต้องเสียเงินอากรค่าอาชญาบัตรในอัตราสูงเกินรายได้ของชาวประมง ซึ่งนับว่าไม่เป็นธรรมแก่ชาวประมงผู้ใช้อวนลอยไนล่อน เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องมือขนาดใหญ่อื่น ๆ ซึ่งเสียเงินอากรน้อยกว่าอวนลอยไนล่อนหลายเท่า แต่สามารถจับสัตว์น้ำได้มากกว่าอวนลอยไนล่อนหลายสิบเท่า เพื่อส่งเสริมอาชีพชาวประมงผู้ใช้อวนลอยไนล่อนให้สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงแก้ไขปรับปรุงอัตราเงินอากรการประมงเสียใหม่ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๔/ตอนที่ ๑๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๐/๑๔ เมษายน ๒๔๙๐ [๒] บัญชี (ก) ลำดับ ๒๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉะบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๔๙๑) ว่าด้วยการกำหนดอัตราเงินอากร ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ [๓] บัญชี (ข) ลำดับ ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พุทธศักราช ๒๔๙๐ [๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๕/ตอนที่ ๖๑/หน้า ๖๔๘/๑๙ ตุลาคม ๒๔๙๑ [๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๐/ตอนที่ ๑๕/หน้า ๑๐๔/๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๖
736720
กฎกระทรวง ฉะบับที่ 4 (พ.ศ. 2490) ว่าด้วยการขออาชญาบัตร ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 (ฉบับ Update ล่าสุด)
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉะบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๔๙๐) ว่าด้วยการขออาชญาบัตร ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๒] ผู้ใดประสงค์จะขออาชญาบัตรเพื่อใช้เครื่องมือในพิกัดชนิดใดทำการประมงต้องยื่นเอกสารดังต่อไปนี้ต่อนายอำเภอท้องที่ คือ (๑) คำขออาชญาบัตรตามแบบ (คำขอ ๑) ท้ายกฎกระทรวงนี้ (๒) อาชญาบัตรฉบับหลังที่สุดที่ผู้ขออาชญาบัตรได้รับสำหรับเครื่องมือในพิกัดชนิดนั้น (ถ้ามี) (๓) สำเนาใบอนุญาตใช้เรือและสำเนาใบทะเบียนเรือไทยของกรมเจ้าท่า ในกรณีที่จะต้องใช้เรือเป็นเครื่องมือทำการประมง (๔) หลักฐานแสดงว่านิติบุคคลที่ขออาชญาบัตรมีวัตถุประสงค์ในการทำการประมงและหลักฐานแสดงว่าผู้ยื่นคำขออาชญาบัตรมีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้น ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้ขออาชญาบัตร ในกรณีที่ผู้ขออาชญาบัตรตามวรรคหนึ่งประสงค์จะให้บุคคลในครอบครัวหรือลูกจ้างมีสิทธิใช้เครื่องมือในพิกัดนั้น ให้ระบุชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลหรือลูกจ้างนั้นไว้ในคำขออาชญาบัตรด้วย ข้อ ๒. ในการยื่นคำขอตามข้อ ๑ นั้น ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่สงสัยอาจสั่งให้ผู้ขออนุญาตนำเครื่องมือนั้นมาให้ตรวจก็ได้ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านในท้องที่นั้นตรวจวัดแทนและรับรองก็ได้ ข้อ ๓. เมื่อได้รับคำขอตามความในข้อ ๑ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาคำขอ เมื่อเห็นว่าเป็นการถูกต้องและสมควรจะอนุญาตได้ตามกฎเกณฑ์ในระเบียบวิธีการอนุญาตที่กำหนดไว้ ก็ให้เรียกเก็บเงินอากรตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง และออกอาชญาบัตรให้แก่ผู้ขอ ข้อ ๔. ใบอาชญาบัตรทุกฉบับต้องให้นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอประจำกิ่งอำเภอ หรือผู้ทำการแทน แล้วแต่กรณี เป็นผู้ลงลายมือชื่ออนุญาต และให้ใช้แบบอาชญาบัตร (อนุญาต ๑) ท้ายกฎกระทรวงนี้ ข้อ ๕. ถ้าผู้รับอนุญาตใดประสงค์จะขอสลักหลังอาชญาบัตรเพื่อตัดทอนหรือเพิ่มบุคคลในครอบครัวหรือลูกจ้างของตนให้เป็นผู้มีสิทธิ์ใช้เครื่องมือในพิกัดก็ให้ยื่นรายชื่อบุคคลที่จะตัดทอนหรือเพิ่มต่อคณะกรมการอำเภอท้องที่พร้อมด้วยอาชญาบัตร และผู้รับอนุญาตจะต้องเสียค่าธรรมเนียมค่าสลักหลังตามกฎกระทรวง และให้นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอประจำกิ่งอำเภอ หรือผู้ทำการแทน แล้วแต่กรณี เป็นผู้ลงลายมือชื่ออนุญาตในการสลักหลัง ข้อ ๖. ถ้าผู้รับอนุญาตรายใดนำเครื่องมือในพิกัดนั้นไปใช้ทำการประมงในท้องที่อื่นซึ่งเก็บอากรสูงกว่าที่ตนได้ชำระไว้แล้ว ก็ให้ผู้รับอนุญาตนั้นนำอาชญาบัตรไปเสียอากรเพิ่มเติมต่อคณะกรมการอำเภอที่ตนนำเครื่องมือในพิกัดไปใช้ทำการประมง ต่อเมื่อได้ชำระเงินอากรเพิ่มเติมและนายอำเภอ หรือปลัดอำเภอประจำกิ่งอำเภอ หรือผู้ทำการแทน แล้วแต่กรณี ได้สลักหลังอาชญาบัตรว่าได้เสียเงินอากรเพิ่มเติมตามกฎกระทรวงแล้ว จึงจะใช้เครื่องมือนั้นทำการประมงได้ ข้อ ๗. ถ้าอาชญาบัตรที่ออกให้ตามกฎกระทรวงนี้สูญหายหรือชำรุดเสียหายในสาระสำคัญ ผู้รับอนุญาตมีสิทธิ์ยื่นคำขอนั้น ๆ รับใบแทนอาชญาบัตรตามแบบพิมพ์ (คำขอ ๒) ท้ายกฎกระทรวงนี้ ต่อคณะกรรมการอำเภอท้องที่และให้ส่งอาชญาบัตรที่ชำรุดไปด้วย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับคำขอและได้สอบสวนพิจารณาเห็นสมควรออกใบแทนให้ก็ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการออกใบแทนตามกฎกระทรวง และออกใบแทนอาชญาบัตรอันมีข้อความอย่างเดียวกับอาชญาบัตรที่สูญหายหรือชำรุดเสียหายในสาระสำคัญให้แก่ผู้รับอนุญาตแต่ให้เขียนคำว่า “ใบแทน” ด้วยหมึกสีแดงไว้ตอนบน ใบแทนอาชญาบัตรทุกฉบับต้องให้นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอประจำกิ่งอำเภอ หรือผู้ทำการแทน แล้วแต่กรณี ในท้องที่เดียวกัน เป็นผู้ลงลายมือชื่ออนุญาตในแบแทน ข้อ ๘. ถ้าผู้รับอนุญาตประสงค์จะโอนอาชญาบัตรของตนให้แก่ผู้อื่น ให้ยื่นเรื่องราวชี้แจงเหตุผลพร้อมด้วยอาชญาบัตรต่อคณะกรมการอำเภอท้องที่ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับเรื่องราวและได้พิจารณาเห็นว่าถูกต้องตามกฎเกณฑ์การโอนตามที่กำหนดไว้ ก็ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการโอนตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง และให้นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอประจำกิ่งอำเภอ หรือผู้ทำการแทน แล้วแต่กรณี สลักหลังการโอนและชื่อผู้รับโอนไว้ในอาชญาบัตรนั้นและมอบอาชญาบัตรให้แก่ผู้รับโอนต่อไป ข้อ ๙. ถ้าผู้รับอนุญาตรายใดได้รับการผ่อนเวลาชำระเงินอากรค่าอาชญาบัตรให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบอนุญาตตามแบบพิมพ์ (อนุญาต ๒) ท้ายกฎกระทรวงนี้ให้แก่ผู้รับอนุญาตแทนอาชญาบัตร และให้ผู้รับอนุญาตมีสิทธิ์ใช้เครื่องมือนั้นทำการประมงได้ ตามเวลาที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตระหว่างผ่อนเวลาชำระเงินอากร ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐ จรูญ สืบแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ [เอกสารแนบท้าย] ๑.[๓] คำขออาชญาบัตร (คำขอ ๑) ๒.[๔] อาชญาบัตร (อนุญาต ๑) ๓. คำขอใบแทนประทานบัตร ใบอนุญาต หรืออาชญาบัตร (คำขอ ๒) ๔. ใบอนุญาตระหว่างผ่อนเวลาชำระเงินอากรตามมาตรา ๓๙ (อนุญาต ๒) (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐[๕] จุฑามาศ/ปรับปรุง ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๔/ตอนที่ ๑๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๖/๑๔ เมษายน ๒๔๙๐ [๒] ข้อ ๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ [๓] คำขออาชญาบัตร (คำขอ ๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ [๔] อาชญาบัตร (อนุญาต ๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ [๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๖/ตอนที่ ๑๑๔/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๖/๑๕ กรกฎาคม ๒๕๒๒
736724
กฎกระทรวง ฉะบับที่ 8 (พ.ศ. 2490) ว่าด้วยที่ว่าประมูลออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 (ฉบับ Update ล่าสุด)
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉะบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๔๙๐) ว่าด้วยที่ว่าประมูล ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ก. การดำเนินการว่าประมูล ข้อ ๑. ให้คณะกรมการจังหวัดท้องที่รายงานขออนุมัติการว่าประมูลที่ว่าประมูลพร้อมทั้งชนิด จำนวน และที่ตั้งเครื่องมือทำการประมงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ก่อนดำเนินการออกประกาศว่าประมูลทุกคราว ข. คณะกรรมการดำเนินการว่าประมูล ข้อ ๒. ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดท้องที่สั่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการว่าประมูลขึ้นคณะหนึ่งไม่น้อยกว่า ๓ นาย ประกอบด้วยข้าหลวงประจำจังหวัดท้องที่หรือผู้รักษาการแทนประมงจังหวัดหรือผู้รักษาการแทน และนายอำเภอหรือปลัดอำเภอประจำกิ่งอำเภอท้องที่หรือผู้รักษาการแทน แล้วแต่กรณี แต่ถ้าจังหวัดใดไม่มีประมงจังหวัดหรือผู้รักษาการแทนก็ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดแต่งตั้งบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นกรรมการแทน ข้อ ๓. ให้คณะกรรมการดำเนินการว่าประมูลมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการว่าประมูลที่ว่าประมูลในท้องที่จังหวัดนั้นตามวิธีการและกฎเกณฑ์ในระเบียบการว่าประมูลซึ่งได้กำหนดไว้ ข้อ ๔. ในการว่าประมูล คณะกรรมการดำเนินการว่าประมูลจะกำหนดให้ว่าประมูลโดยวิธีปิดซองหรือโดยวิธีปากเปล่าก็ได้ ตามแต่จะเห็นสมควร และจะกำหนดอัตราเงินอากรขั้นต่ำสำหรับการว่าประมูลไว้ก็ได้ ข้อ ๕[๒] บรรดาที่ว่าประมูลทุกแห่งจะต้องอนุญาตให้บุคคลทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยวิธีว่าประมูล เว้นแต่ที่ว่าประมูลแห่งใดที่สมควรอนุญาตให้แก่สหกรณ์การประมงเป็นผู้รับอนุญาต หรือสมควรอนุญาตให้แก่ผู้รับอนุญาตที่ประทานบัตรสิ้นอายุในปีที่เพิ่งล่วงมา และเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติทำการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ได้ผล ก็ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรมีอำนาจอนุมัติให้จังหวัดอนุญาตได้โดยไม่ต้องว่าประมูล ถ้าที่ว่าประมูลแห่งใดไม่มีผู้เข้าว่าประมูล หรือมีผู้เข้าว่าประมูลเพียงรายเดียว หรือผู้เข้าว่าประมูลให้อากรต่ำเกินสมควร จะระงับการว่าประมูลเสียก็ได้ หรือถ้าคณะกรรมการดำเนินการว่าประมูลได้พิจารณาเห็นสมควร จะอนุญาตให้ผู้ใดเป็นผู้รับอนุญาตทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่ว่าประมูลนั้น โดยกำหนดจำนวนเงินอากรที่จะเรียกเก็บตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ทั้งนี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมประมงก่อน และจำนวนเงินอากรจะต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าที่อนุญาตประเภทนั้น ๆ ค. วิธีการดำเนินการว่าประมูล ข้อ ๖. ก่อนเวลาดำเนินการว่าประมูลที่ว่าประมูลแห่งใดให้ข้าหลวงประจำจังหวัดท้องที่ทำหนังสือประกาศให้ประชาชนทราบล่วงหน้าก่อนวันว่าประมูลเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน โดยให้ปิดประกาศไว้ที่ศาลากลางจังหวัดท้องที่ที่ว่าการอำเภอท้องที่ และที่ชุมนุมชนตามที่เห็นสมควร ข้อ ๗. ในประกาศของข้าหลวงประจำจังหวัดตามข้อ ๖ จะต้องมีข้อความดังต่อไปนี้ คือ ชื่อที่ว่าประมูล ที่ว่าประมูลนั้นอยู่ในตำบลใด อำเภอใด สถานที่ทำการว่าประมูล วันและเวลาทำการว่าประมูล ที่ตั้งและชื่อเครื่องมือทำการประมงที่อนุญาตให้ใช้ในที่ว่าประมูล กำหนดอายุการอนุญาตให้ทำการประมงและกำหนดวันเดือนปีทำสัญญาและการส่งเงินอากร ง. กำหนดอายุการอนุญาตให้ทำการประมงในที่ว่าประมูล ข้อ ๘. กำหนดอายุการอนุญาตให้ทำการประมงในที่ว่าประมูลนั้น ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดท้องที่มีอำนาจกำหนดการอนุญาตได้คราวละ ๑ ปี เมื่อหมดอายุการอนุญาตแล้วก็ให้ดำเนินการว่าประมูลใหม่ ถ้าข้าหลวงประจำจังหวัดได้พิจารณาเห็นควรกำหนดอายุการอนุญาตเกินกว่า ๑ ปี ก็ให้รายงานขออนุญาตต่ออธิบดีกรมการประมง จ. การออกประทานบัตรและการทำสัญญา ข้อ ๙. เมื่อคณะกรรมการดำเนินการว่าประมูลชี้ขาดให้ผู้ใดเป็นผู้ได้รับอนุญาตแล้ว ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดท้องที่ดำเนินการ เรียกให้ผู้นั้นนำหลักทรัพย์หรือจัดหาผู้ค้ำประกันเงินอากรตามข้อ ๑๓ และดำเนินการออกประทานบัตรตามแบบพิมพ์ท้ายกฎกระทรวงนี้ และให้ผู้รับอนุญาตทำสัญญาผูกขาดตามแบบที่อธิบดีกรมการประมงกำหนด ข้อ ๑๐. ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดท้องที่เป็นผู้ลงลายมือชื่ออนุญาตในประทานบัตร ส่วนในสัญญาผูกขาดที่กระทรวงเกษตราธิการทำกับผู้รับอนุญาตนั้นให้ข้าหลวงประจำจังหวัดท้องที่กับประมงจังหวัดหรือผู้รักษาการแทน เป็นผู้ลงลายมือชื่อแทนกระทรวงเกษตราธิการ แต่ถ้าจังหวัดใดไม่มีประมงจังหวัดหรือผู้รักษาการแทน ก็ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นผู้ลงลายมือชื่อร่วมกับข้าหลวงประจำจังหวัด ข้อ ๑๑. การทำสัญญาผูกขาดตามข้อ ๙ และ ๑๐ ให้ทำเป็นสองฉบับมีข้อความตรงกัน และให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างยึดถือไว้เป็นหลักฐานฝ่ายละหนึ่งฉบับ ในสัญญาผูกขาดจะต้องแสดงอาณาเขตที่ว่าประมูล และที่ตั้งเครื่องมือทำการประมงแบบไว้ด้วย ฉ. การชำระเงินอากรค่าที่ว่าประมูล ข้อ ๑๒. การชำระเงินอากรค่าที่ว่าประมูล ให้ผู้รับอนุญาตชำระทั้งหมดในเวลารับประทานบัตรและลงลายมือชื่อในสัญญาผูกขาด เว้นแต่จะได้มีการผ่อนเวลาตามความในมาตรา ๓๙ ช. หลักทรัพย์และผู้ค้ำประกัน ข้อ ๑๓. ในกรณีที่มีการผ่อนเวลาตามความในมาตรา ๓๙ ผู้รับอนุญาตจะต้องนำหลักทรัพย์ คือ โฉนดที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์มาจำนองไว้เป็นประกันการชำระอากร ถ้าหลักทรัพย์ดังกล่าวแล้วมีราคายังไม่คุ้มกับเงินอากร ก็ให้ผู้รับอนุญาตหาผู้ค้ำประกันที่มีหลักทรัพย์มั่นคงเป็นที่พอใจของคณะกรรมการดำเนินการว่าประมูลมาทำสัญญาจำนองหรือค้ำประกันให้ถูกต้องตามกฎหมายแล้วจึงให้ข้าหลวงประจำจังหวัดออกประทานบัตร และทำสัญญาผูกขาดตามข้อ ๙ ซ. การผิดนัดชำระอากรและการผ่อนเวลาชำระอากร ข้อ ๑๔. เมื่อได้ดำเนินการตามมาตรา ๔๐ และมาตรา ๔๑ แล้ว ปรากฏว่าเงินอากรยังค้างชำระอยู่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เร่งรัดให้ผู้ค้ำประกันชำระเงินอากรโดยไม่ชักช้า ฌ. การโอนประทานบัตร ข้อ ๑๕. ถ้าผู้รับอนุญาตรายใดประสงค์จะโอนประทานบัตรและสัญญาผูกขาดในที่ว่าประมูลซึ่งตนได้รับให้แก่ผู้อื่นให้ผู้รับอนุญาตและผู้รับโอนยื่นเรื่องราวขออนุญาตโอนต่อข้าหลวงประจำจังหวัด เมื่อได้เสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงและได้รับอนุญาตแล้ว จึงจะทำการโอนกันได้ ข้อ ๑๖. การโอนประทานบัตรและสัญญาผูกขาดตามข้อ ๑๕ ผู้โอนจะต้องนำประทานบัตรมาให้ข้าหลวงประจำจังหวัดสลักหลังการโอนและผู้รับโอนจะต้องทำสัญญาผูกขาดกับพนักงานเจ้าหน้าที่มีข้อความเช่นเดียวกับที่ทำกับผู้โอนและต้องปฏิบัติในเรื่องหลักทรัพย์ประกัน ผู้ค้ำประกันและอื่น ๆ ตามกฎกระทรวงนี้ ญ. การเวนคืนที่ว่าประมูล ข้อ ๑๗. ถ้าผู้รับอนุญาตรายใดประสงค์จะเวนคืนที่ว่าประมูลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนสิ้นกำหนดอายุการอนุญาตตามประทานบัตรและสัญญาผูกขาด ให้ผู้นั้นยื่นเรื่องราวขอเวนคืนต่อข้าหลวงประจำจังหวัด ข้อ ๑๘. เมื่อข้าหลวงประจำจังหวัดได้รับเรื่องราวขอเวนคืนที่ว่าประมูลแล้วและได้พิจารณาเห็นสมควรจะรับเวนคืน ก็ให้สั่งอนุญาตให้เวนคืนได้ ส่วนทรัพย์สินที่ผู้นั้นนำมาวางประกันและสัญญาค้ำประกัน ให้คงยึดถือไว้ก่อนจนกว่าจะได้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ที่ว่าประมูลนั้น เพื่อให้ได้เงินอากรครบตามสัญญาผูกขาด ข้อ ๑๙. ถ้าข้าหลวงประจำจังหวัดได้พิจารณาเห็นสมควรให้จัดการว่าประมูลที่ว่าประมูลที่เวนคืนนั้นใหม่ ก็ให้กรรมการดำเนินการว่าประมูลดำเนินการต่อไปได้ หากได้เงินอากรต่ำกว่าการประมูลคราวแรกเท่าใด ก็ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดเรียกเงินอากรที่ยังขาดจากผู้เวนคืนจนครบ ข้อ ๒๐. ที่ว่าประมูลซึ่งผู้รับอนุญาตขอเวนคืนนั้น แม้ผู้รับอนุญาตจะยังไม่ได้ลงมือทำการประมงในที่ว่าประมูลนั้นเลยก็ดี เงินอากรที่ผู้รับอนุญาตชำระแล้ว จะเรียกคืนมิได้ แต่ถ้าการขอเวนคืนนั้น เนื่องจากเหตุที่ทางราชการได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ทำให้เสียประโยชน์ของผู้รับอนุญาตในการทำการประมงในที่ว่าประมูลนั้น เช่นการปิดทำนบ เป็นต้น ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดรับคืนที่ว่าประมูลนั้น และส่งคืนเงินอากรที่ได้ชำระแล้วให้แก่ผู้รับอนุญาตทั้งหมด แต่ถ้าผู้รับอนุญาตได้ลงมือทำการประมงได้ผลประโยชน์ไปบ้างแล้วก็ให้พิจารณาว่าจะควรคืนเงินอากรที่ชำระให้แล้วเพียงใดหรือไม่ต้องคืนเลย โดยให้พิจารณาถึงประโยชน์ที่ผู้รับอนุญาตได้รับจากที่ว่าประมูลนั้นแล้วเพียงใด ฎ. การออกใบแทนประทานบัตรและสัญญาผูกขาด ข้อ ๒๑. การออกใบแทนประทานบัตรและสัญญาผูกขาด ให้นำบทบัญญัติแห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๔๙๐) ว่าด้วยการออกใบแทนอาชญาบัตรมาใช้โดยอนุโลม และในใบแทนประทานบัตรและสัญญาผูกขาดนั้น ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นผู้ลงลายมือชื่ออนุญาต ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐ จรูญ สืบแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๕ (พ.ศ. ๒๕๐๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐[๓] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องด้วยผู้มีอาชีพทำการประมงในท้องที่จังหวัดต่าง ๆ ได้รับความเสียหายเพราะภัยธรรมชาติวิปริตในบางปี เช่น ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ และ ๒๕๐๑ ดินฟ้าอากาศแห้งแล้งมาก ในน่านน้ำจืดน้ำเข้าทุ่งน้อย ปลาเข้าวางไข่ไม่ได้ผล ในทะเลก็เช่นเดียวกันปลาวางไข่น้อย จึงทำให้ชาวประมงผู้ว่าประมูลจับปลาไม่ได้ผล ผู้ว่าประมูลได้ต้องเสียเงินอากรให้แก่รัฐบาลในอัตราสูง ก็ได้รับความเสียหายและเดือนร้อนมาก อนึ่ง ที่จับสัตว์น้ำประเภทที่ว่าประมูลบางแห่ง มีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นสหกรณ์การประมง แล้วอนุญาตให้สหกรณ์การประมงที่ได้จัดตั้งขึ้นมีสิทธิทำการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่ว่าประมูลแห่งนั้นได้ จึงเป็นการสมควรออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร มีอำนาจอนุมัติให้จังหวัดอนุญาตที่จับสัตว์น้ำประเภทที่ว่าประมูลให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย หรือให้แก่ผู้ประสบความเสียหายจากภัยธรรมชาติกับให้แก่สหกรณ์การประมงได้ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๔/ตอนที่ ๑๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๓๐/๑๔ เมษายน ๒๔๙๐ [๒] ข้อ ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๕ (พ.ศ. ๒๕๐๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ [๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๖/ตอนที่ ๗๖/หน้า ๓๑๒/๔ สิงหาคม ๒๕๐๒
736778
กฎกระทรวงฉะบับที่ 1 (พ.ศ. 2490) ว่าด้วยชื่อเครื่องมือในพิกัดออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 (ฉบับ Update ล่าสุด)
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉะบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๔๙๐) ว่าด้วยชื่อเครื่องมือในพิกัด ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ (๑๓) และมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ เครื่องมือทำการประมงต่อไปนี้เป็นเครื่องมือในพิกัด (๑) ยอขันช่อ (๒) ช้อนขันช่อ (๓) ช้อนสนั่น (๔) ช้อนหางเหยี่ยว (๕) ถุงโพงพางซึ่งใช้ประกอบกับโพงพาง รั้วไซมานหรือกั้นซู่รั้วไซมาน (๖) ถุงบาม (๗) เรือผีหลอกหรือเรือกัตรา (๘) แหยาวตั้งแต่ ๔ เมตรขึ้นไป (ยังไม่ทบเพลา) (๙) ช้อนต่าง ๆ ปากกว้างตั้งแต่ ๓.๕ เมตรขึ้นไป (๑๐) เบ็ดราวยาวตั้งแต่ ๔๐ เมตรขึ้นไป (๑๑) ข่าย (๑๒)[๒] อวนลอย อวนลากปลา อวนลากกุ้ง และอวนอื่น ๆ (๑๓) เฝือก (๑๔) เครื่องกั้น ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐ จรูญ สืบแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๙ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐[๓] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันมีอวนสำหรับใช้จับสัตว์น้ำเฉพาะประเภทเพื่อให้การจับสัตว์น้ำไม่กระทบต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล ดังนั้น เพื่อให้การอนุรักษ์สัตว์น้ำมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สมควรกำหนดประเภทอวนที่จะใช้จับสัตว์น้ำบางประเภทให้ชัดเจนตรงตามวัตถุประสงค์ในการใช้ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ จุฑามาศ/ผู้จัดทำ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๔/ตอนที่ ๑๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๘/๑๔ เมษายน ๒๔๙๐ [๒] (๑๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๙ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ [๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๓/ตอนที่ ๕๑ ก/หน้า ๘/๑๔ ตุลาคม ๒๕๓๙
736786
กฎกระทรวง ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2521) ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 (ฉบับ Update ล่าสุด)
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ. ๒๕๒๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิก (๑) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๙๐) ว่าด้วยการกำหนดอัตราเงินอากร ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (๒) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๔๙๑) ว่าด้วยการกำหนดอัตราเงินอากร ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (๓) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๔๙๒) ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (๔) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมงพุทธศักราช ๒๔๙๐ ข้อ ๒ ให้กำหนดอัตราอากรสำหรับที่อนุญาตตามบัญชีหมายเลข ๑ ท้ายกฎกระทรวงนี้ ข้อ ๓ ให้กำหนดอัตราอากรอาชญาบัตรสำหรับเครื่องมือในพิกัดตามบัญชีหมายเลข ๒ ท้ายกฎกระทรวงนี้ ข้อ ๔ ให้กำหนดอัตราอากรใบอนุญาตรายบุคคลผู้ทำการประมงตามบัญชีหมายเลข ๓ ท้ายกฎกระทรวงนี้ ข้อ ๕ ให้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามบัญชีหมายเลข ๔ ท้ายกฎกระทรวงนี้ ให้ไว้ ณ วันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ป. กรรณสูต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บัญชีหมายเลข ๑ อัตราอากรสำหรับที่อนุญาต ลำดับ ประเภทที่อนุญาต อัตราอากร บาท สตางค์ ๑. ๒. ๓. ๔. ๕. ๖. ๗. ๘. ๙. ๑๐. ๑๑. ๑๒. ๑๓. ๑๔. ๑๕. ๑๖. ๑๗. ๑๘. ๑๙. ๒๐. โป๊ะน้ำลึก แห่งละ อวนรัง แห่งละ โป๊ะน้ำตื้น แห่งละ เฝือกรัง แห่งละ จิบ แห่งละ ลี่ แห่งละ สุก แห่งละ โพงพาง ช่องละ ร้านโจน แห่งละ รั้วไซมาน ช่องละ กั้นซู่รั้วไซมาน ช่องละ ช้อนปีก แห่งละ ยอปีก แห่งละ บาม แห่งละ ยอขันช่อ แห่งละ ช้อนขันช่อ แห่งละ จันทา แห่งละ กร่ำ ตารางเมตรละ บ่อล่อสัตว์น้ำ ตารางเมตรละ ที่เลี้ยงหอย ตารางเมตรละ ๒๐๐ ๒๐๐ ๑๕๐ ๑๕๐ ๑๕๐ ๑๕๐ ๑๕๐ ๑๐๐ ๑๐๐ ๕๐ ๕๐ ๕๐ ๕๐ ๒๕ ๒๐ ๒๐ ๑๐ ๑ - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - ๒๕ ๕ บัญชีหมายเลข ๒ อัตราอากรอาชญาบัตรสำหรับเครื่องมือในพิกัด ลำดับ ชื่อเครื่องมือ อัตราอากร บาท สตางค์ ๑. ๒. ๓. ๔. ๕. ๖. ๗. ๘. ๙. ยอขันช่อ ช้อนขันช่อ ช้อนสนั่น และช้อนหางเหยี่ยวมีเครื่องยก ปากละ ถุงโพงพาง (ที่ใช้ประกอบกับโพงพาง รั้วไซมาน หรือกั้นซู่รั้วไซมาน) ถุงละ ถุงบาม ปากละ เรือผีหลอกหรือเรือกัตรา ลำละ แหยาว ตั้งแต่ ๔ เมตรขึ้นไป (ยังไม่ทบเพลา) ปากละ ช้อนต่าง ๆ ปากกว้างตั้งแต่ ๓.๕ เมตรขึ้นไป ปากละ เบ็ดราวยาวตั้งแต่ ๔๐ เมตรขึ้นไป สายละ ข่ายหรืออวนต่าง ๆ มีอัตราดังนี้ (ก) อวนลอยขนาดช่องตาตั้งแต่ ๗ เซนติเมตรขึ้นไป (การวัดให้ดึงตาอวนเป็นเส้นตรงตามเส้นทแยงมุม แล้ววัดตามเส้นนั้นจากกึ่งกลางของเงื่อนหนึ่งไปยังกึ่งกลางของอีกเงื่อนหนึ่ง) ยาวเมตรละ (ข) อวนลอยขนาดช่องตาไม่ถึง ๗ เซนติเมตร (การวัดให้ใช้วิธีเดียวกับ ๘ (ก)) ยาวเมตรละ (ค)[๒] อวนลากปลา และอวนลากกุ้ง ยาวเมตรละ (ง) ข่ายหรืออวนอื่น ๆ (๑) ขนาดกว้างกว่า ๑ เมตร ถึง ๔ เมตร ยาวเมตรละ (๒) ขนาดกว้างกว่า ๔ เมตร ถึง ๘ เมตร ยาวเมตรละ (๓) ขนาดกว้างกว่า ๘ เมตร ถึง ๒๔ เมตร ยาวเมตรละ (๔) ขนาดกว้างกว่า ๒๔ เมตร ขึ้นไป ยาวเมตรละ เฝือกหรือเครื่องกั้นขนาดยาวกว่า ๒ เมตรขึ้นไป (เว้นแต่เฝือกหรือเครื่องกั้นที่ใช้ประกอบกับโป๊ะ โพงพาง รั้วไซมาน กั้นซู่รั้วไซมาน ช้อนปีก หรือยอปีก) เมตรละ ๒๐ ๒๐ ๑๕ ๑๐ ๑๐ ๑๐ ๕ ๑ ๒ ๕ - ๑ ๒ ๓ ๑ - - - - - - - - - - ๕๐ - - - - บัญชีหมายเลข ๓ อัตราอากรใบอนุญาตรายบุคคลผู้ทำการประมง ลำดับ ชื่อเครื่องมือ อัตราอากร บาท สตางค์ ๑. ๒. ๓. ใบอนุญาตรายบุคคลผู้ทำการประมงโดยใช้เครื่องมือนอกพิกัดในที่อนุญาต คนละ ใบอนุญาตหาหอยแมลงภู่และหอยกะพง คนละ ใบอนุญาตหาเทียนหอยและหอยมุก คนละ ๑๕ ๑๕ ๑๕ - - - บัญชีหมายเลข ๔ อัตราค่าธรรมเนียม ลำดับ ชื่อเครื่องมือ อัตราอากร บาท สตางค์ ๑. ๒. ๓. ๔. ๕. ๖. ใบอนุญาตสำหรับทำการค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ (ก) ใบอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการแพปลาหรือสะพานปลา ซึ่งรับทำการขายสินค้าสัตว์น้ำเป็นปกติธุระด้วยวิธีการขายทอดตลาด ขายเหมา ขายส่ง หรือวิธีการอย่างอื่น โดยมีข้อตกลงหรือเข้าใจกันโดยตรง หรือโดยปริยายตามพฤติการณ์ว่าสินค้านั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนจะได้รับค่านายหน้าในการขายจากเจ้าของสินค้าสัตว์น้ำ ปีละ (ข) ใบอนุญาตสำหรับการค้าสินค้าสัตว์น้ำสดหรือเค็ม ด้วยวิธีการขายทอดตลาด ขายเหมา หรือขายส่ง ปีละ (ค) ใบอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการโรงเค็มหรือทำปลาเค็มเพื่อการค้า ปีละ (ง) ใบอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการโรงทำน้ำปลาเพื่อการค้า ปีละ (จ) ใบอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการโรงทำกะปิเพื่อการค้า ปีละ (ฉ) ใบอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการโรงนึ่งหรือย่างสัตว์น้ำเพื่อการค้า ปีละ (ช) ใบอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการโรงทำหอยแห้งเพื่อการค้า ปีละ (ซ) ใบอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการโรงทำสัตว์น้ำกระป๋อง ปีละ ค่าโอนประทานบัตร ฉบับละ ค่าโอนใบอนุญาต อาชญาบัตร (ก) ใบอนุญาตสำหรับที่อนุญาต ฉบับละ (ข) อาชญาบัตรหรือใบอนุญาตอื่น ๆ ฉบับละ ใบแทนอาชญาบัตร ใบอนุญาต หรือประทานบัตร ฉบับละ ใบอนุญาตสำหรับผู้มีอาชีพทำการประมง ปีละ ค่าสลักหลังใบอาชญาบัตร เพื่อแก้ไขหรือเพิ่มเติมผู้มีสิทธิใช้เครื่องมือทำการประมง ครั้งละ ๑๕๐ ๑๕๐ ๑๕๐ ๑๕๐ ๕๐ ๑๐๐ ๕๐ ๑๕๐ ๒๐ ๒๐ ๑๕ ๑๐ ๕ ๕ - - - - - - - - - - - - - - หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากอัตราอากรสำหรับที่อนุญาต อัตราอากรอาชญาบัตรสำหรับเครื่องมือในการพิกัด อัตราอากรใบอนุญาตรายบุคคลผู้ทำการประมง และอัตราค่าธรรมเนียมที่กำหนดไว้แต่เดิมนั้นได้ใช้มาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว สมควรปรับปรุงให้เหมาะสมกับภาวะทางเศรษฐกิจและค่าของเงินในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๐ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐[๓] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ กำหนดประเภทอวนที่ใช้จับสัตว์น้ำแต่ละชนิดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การจับสัตว์น้ำไม่กระทบต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล สมควรกำหนดอัตราอากรอาชญาบัตรให้สอดคล้องกับการกำหนดประเภทของอวนดังกล่าว จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ จุฑามาศ/ผู้จัดทำ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๕/ตอนที่ ๘๓/หน้า ๔๗๓/๑๕ สิงหาคม ๒๕๒๑ [๒] บัญชีหมายเลข ๒ อัตราอากรอาชญาบัตรสำหรับเครื่องมือในพิกัด ลำดับ ๘ (ค) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๐ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ [๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๓/ตอนที่ ๕๑ ก/หน้า ๑๐/๑๔ ตุลาคม ๒๕๓๙
764201
กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทย พ.ศ. 2559 (ฉบับ Update ล่าสุด)
กฎกระทรวง กฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๕๕๙[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในกฎกระทรวงนี้ “ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทย ข้อ ๒ ผู้ใดประสงค์จะใช้เรือประมงไทยทำการประมงในเขตทะเลนอกน่านน้ำไทยตามมาตรา ๔๘ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอรับใบอนุญาต การยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่น ณ สถานที่ ดังต่อไปนี้ (๑) กองบริหารจัดการด้านการประมง กรมประมง (๒) สถานที่และวิธีการอื่นตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ข้อ ๓ เมื่อได้รับคำขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของคำขอรับใบอนุญาต และเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆ กรณีที่คำขอรับใบอนุญาต เอกสารหรือหลักฐานไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนให้แจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับใบอนุญาต หรือจัดส่งเอกสารหรือหลักฐานให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด กรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตไม่แก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับใบอนุญาตหรือไม่จัดส่งเอกสารหรือหลักฐานให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาตามวรรคสอง ให้ถือว่าคำขอรับใบอนุญาตนั้นเป็นอันยกเลิกนับแต่วันที่พ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว และให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบ ข้อ ๔ ในกรณีที่คำขอรับใบอนุญาตและเอกสารหลักฐานถูกต้องและครบถ้วน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบรับคำขอให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาต และให้นัดวันและเวลาโดยแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบ เพื่อทำการตรวจสอบเรือประมง เครื่องมือทำการประมง และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องติดตั้งในเรือประมง การดำเนินการตามวรรคหนึ่งกับเรือประมงที่มิได้อยู่ในน่านน้ำไทย ให้เป็นไปตามวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา และผู้ขอรับใบอนุญาตต้องชำระค่าธรรมเนียมและค่าป่วยการพิเศษตามอัตราที่อธิบดีประกาศกำหนด ข้อ ๕ การพิจารณาอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทย ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๙ (๒)[๒] การขอรับใบอนุญาตทำการประมงในเขตของรัฐชายฝั่ง ต้องเป็นรัฐชายฝั่งที่ประเทศไทยมีบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการประมงกับรัฐชายฝั่ง หรือผู้ขอรับใบอนุญาตมีหลักฐานแสดงการได้สิทธิในการทำการประมงในน่านน้ำรัฐชายฝั่งซึ่งได้รับการรับรองจากรัฐชายฝั่งนั้นตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) การขอรับใบอนุญาตทำการประมงที่อยู่ในเขตทะเลหลวง ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมิใช่ผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในเรือประมงที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเรือประมงที่ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามที่อธิบดีหรือรัฐมนตรีประกาศตามมาตรา ๙๔ วรรคสอง หรือมาตรา ๑๑๖ และในกรณีการขอรับใบอนุญาตทำการประมงในทะเลหลวงที่อยู่ในเขตความควบคุมดูแลขององค์การระหว่างประเทศต้องเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก (๔) ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในเรือประมงที่จะทำการประมงนอกน่านน้ำไทย (๕) มีการติดตั้งระบบติดตามเรือประมง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนดตามมาตรา ๘๑ (๑) (๖) เครื่องมือทำการประมงที่จะขออนุญาตใช้ทำการประมงต้องเป็นประเภท ชนิด ขนาด และมีจำนวนตรงตามที่ระบุไว้ในคำขอรับใบอนุญาต และไม่เป็นเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงตามมาตรา ๖๗ หรือเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในเขตของรัฐชายฝั่งหรือในเขตขององค์การระหว่างประเทศที่ผู้ขอรับใบอนุญาตประสงค์จะทำการประมง (๗) ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีหนังสือรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยในเรือประมงจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย (๘) ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีหลักฐานเกี่ยวกับการจัดระบบความปลอดภัย สุขอนามัยและสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือ ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยระบบความปลอดภัยสุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือ (๙) เรือที่จะใช้ทำการประมงต้องมีใบอนุญาตใช้เรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยและต้องมีหมายเลขไอเอ็มโอสำหรับเรือที่มีลักษณะตามที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization) กำหนด ข้อ ๖ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ขอรับใบอนุญาต เรือประมง เครื่องมือทำการประมง ระบบติดตามเรือประมง รวมทั้งหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๕ แล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาไปยังผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอรับใบอนุญาตและเอกสารและหลักฐานถูกต้องและครบถ้วนสำหรับกรณีที่เรือประมงอยู่ในน่านน้ำไทย หรือภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอรับใบอนุญาตและเอกสารและหลักฐานถูกต้องและครบถ้วน สำหรับกรณีที่เรือประมงมิได้อยู่ในน่านน้ำไทย กรณีมีคำสั่งไม่อนุญาต ให้แสดงเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์ไว้ในหนังสือแจ้งผลการพิจารณาด้วย ใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทยให้ออกสำหรับเรือประมงแต่ละลำ โดยต้องระบุประเภท ชนิด ขนาด หรือจำนวนของเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมงและพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมง ใบอนุญาตให้มีอายุสองปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต ข้อ ๗ เมื่อผู้ขอรับใบอนุญาตได้ชำระค่าธรรมเนียมและค่าอากรตามอัตราที่กำหนดแล้ว ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาต พร้อมทั้งแจ้งเครื่องหมายประจำเรือประมง เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตไปดำเนินการจัดทำเครื่องหมายประจำเรือประมงตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนดตามมาตรา ๘๑ (๔) ทั้งนี้ อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายอาจกำหนดรายละเอียดของเงื่อนไขที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามกฎหมายว่าด้วยการประมงไว้ในใบอนุญาตเพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตปฏิบัติตามด้วยก็ได้ ข้อ ๘ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะเปลี่ยนแปลงเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมง เพิ่มเครื่องมือที่จะใช้ทำการประมง หรือเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่ที่ประสงค์จะทำการประมงนอกน่านน้ำไทย ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ณ สถานที่ที่กำหนดตามข้อ ๒ พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ ข้อ ๙ การพิจารณาอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงเครื่องมือที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมงเพิ่มเครื่องมือที่จะใช้ทำการประมง หรือเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่ที่ประสงค์จะทำการประมงนอกน่านน้ำไทยให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (๑) ใบอนุญาตยังไม่สิ้นอายุ (๒) เครื่องมือทำการประมงต้องไม่เป็นเครื่องมือที่ห้ามใช้ทำการประมงตามมาตรา ๖๗ หรือเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในเขตรัฐชายฝั่งหรือในเขตขององค์การระหว่างประเทศที่ผู้ขอรับใบอนุญาตประสงค์จะทำการประมง ข้อ ๑๐ ให้นำความในข้อ ๓ และข้อ ๔ มาใช้บังคับกับการขอเปลี่ยนแปลงเครื่องมือที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมง เพิ่มเครื่องมือที่จะใช้ทำการประมง หรือเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่ที่ประสงค์จะทำการประมงนอกน่านน้ำไทยโดยอนุโลม และเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ ๙ แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายต่อไป และให้นำความในข้อ ๖ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๑๑ เมื่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีคำสั่งอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงเครื่องมือที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมงหรือเพิ่มเครื่องมือที่จะใช้ทำการประมงและผู้รับใบอนุญาตได้ชำระค่าอากรใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทำการประมงตามที่ได้รับอนุญาตแล้ว หรืออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่ที่ประสงค์จะทำการประมงนอกน่านน้ำไทย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงรายการเกี่ยวกับประเภท ชนิด ขนาด และจำนวนของเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมง หรือเขตพื้นที่ที่ประสงค์จะทำการประมงนอกน่านน้ำไทยในใบอนุญาตเดิม ข้อ ๑๒ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ ให้นำความในข้อ ๒ ข้อ ๓ ข้อ ๔ ข้อ ๕ ข้อ ๖ และข้อ ๗ มาใช้บังคับกับการขอต่ออายุใบอนุญาตโดยอนุโลม การอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตจะแสดงไว้ในรายการท้ายใบอนุญาต หรือจะออกใบอนุญาตตามแบบใบอนุญาตเดิมให้ใหม่ก็ได้ ข้อ ๑๓ ในกรณีใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดเสียหายในสาระสำคัญ ให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่ตามข้อ ๒ พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้ว พบว่าผู้ขอรับใบแทนใบอนุญาตเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตและใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดเสียหายในสาระสำคัญจริง ให้ออกใบแทนใบอนุญาตให้กับผู้ยื่นคำขอ การออกใบแทนใบอนุญาต ให้ใช้แบบใบอนุญาตเดิม และระบุคำว่า “ใบแทน” หรือใช้ข้อความอื่นใดทำนองเดียวกันไว้ที่กึ่งกลางส่วนบนด้านหน้าของใบอนุญาต ข้อ ๑๔ คำขอรับใบอนุญาต ใบอนุญาต คำขอต่ออายุใบอนุญาต คำขอรับใบแทนใบอนุญาตและคำขอเปลี่ยนแปลงเครื่องมือที่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมง เพิ่มเครื่องมือที่จะใช้ทำการประมงหรือเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่ที่ประสงค์จะทำการประมงนอกน่านน้ำไทย ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ข้อ ๑๕ บรรดาใบอนุญาตให้ออกไปทำการประมงในน่านน้ำของรัฐต่างประเทศ และในทะเลหลวงที่ได้ออกให้ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐/๒๕๕๘ เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ลงวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้ได้ต่อไปจนกว่าใบอนุญาตนั้นจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาต การออกใบอนุญาตและการต่ออายุใบอนุญาต ประกอบกับมาตรา ๔๘ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว บัญญัติให้การจะใช้เรือประมงไทยทำการประมงในเขตทะเลนอกน่านน้ำไทย ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙[๓] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่หลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทยในเขตของรัฐชายฝั่ง ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๕ (๒) แห่งกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๕๕๙ ต้องเป็นรัฐชายฝั่งที่ประเทศไทยมีบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการประมงกับรัฐชายฝั่งนั้น เป็นข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบกิจการทำการประมงนอกน่านน้ำไทยอันอาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการประมงของประเทศในภาพรวม เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สมควรเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทย โดยเพิ่มเติมให้ผู้ที่ประสงค์จะเข้าไปทำการประมงในเขตของรัฐชายฝั่งแสดงหลักฐานการได้สิทธิในการทำการประมงในน่านน้ำของรัฐชายฝั่งนั้นด้วย จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ นุสรา/ปรับปรุง ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๑๕ ก/หน้า ๑๙/๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ [๒] ข้อ ๕ (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙ [๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๑๐๕ ก/หน้า ๕/๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๙
765661
กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2559 (ฉบับ Update ล่าสุด)
กฎกระทรวง กฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๕๙[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในกฎกระทรวงนี้ “ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ ข้อ ๒ เพื่อให้กรมประมงมีข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนผู้ขอรับใบอนุญาตและประเภทเครื่องมือทำการประมงที่ผู้ขอรับใบอนุญาตประสงค์จะใช้ทำการประมงเพื่อนำมาพิจารณาออกใบอนุญาตให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการทำการประมงและปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงอย่างยั่งยืนตามที่กำหนดไว้ในแผนบริหารจัดการการประมง ให้อธิบดีกำหนดห้วงเวลาที่จะให้ผู้ประสงค์จะทำการประมงพาณิชย์มายื่นคำขอรับใบอนุญาต โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ผู้ใดไม่ได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตภายในห้วงเวลาที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิในการขอรับใบอนุญาต หลังจากมีการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตตามห้วงเวลาที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งแล้ว ปรากฏว่าขีดความสามารถในการทำการประมงและปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงอย่างยั่งยืนตามที่กำหนดไว้ในแผนบริหารจัดการการประมงยังสามารถออกใบอนุญาตเพิ่มเติมได้ อธิบดีอาจประกาศกำหนดห้วงเวลาที่จะให้ผู้ประสงค์จะทำการประมงพาณิชย์มายื่นคำขอรับใบอนุญาตเพิ่มเติมได้ โดยให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๓ ผู้ใดประสงค์จะทำการประมงพาณิชย์ตามมาตรา ๓๖ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ การยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่น ณ สถานที่ ดังต่อไปนี้ (๑) กรุงเทพมหานคร ให้ยื่น ณ สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรมประมง (๒) จังหวัดอื่น ให้ยื่น ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานประมงอำเภอแห่งท้องที่ที่มีอาณาเขตติดทะเล (๓) สถานที่และวิธีการอื่นตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ข้อ ๔ เมื่อได้รับคำขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของคำขอรับใบอนุญาต และเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆ กรณีที่คำขอรับใบอนุญาต เอกสารหรือหลักฐานไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้แจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับใบอนุญาต หรือจัดส่งเอกสารหรือหลักฐานให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด กรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตไม่แก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับใบอนุญาตหรือไม่จัดส่งเอกสารหรือหลักฐานให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาตามวรรคสอง ให้ถือว่าคำขอรับใบอนุญาตนั้นเป็นอันยกเลิกนับแต่วันที่พ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว และให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบ ข้อ ๕ ในกรณีที่คำขอรับใบอนุญาตและเอกสารหรือหลักฐานถูกต้องและครบถ้วน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบรับคำขอให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาต ข้อ ๖ การพิจารณาอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีสิทธิทำการประมงตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย (๒) ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๙ (๓) ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในเรือประมงที่จะทำการประมง (๔) เรือประมงต้องไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อเรือประมงที่ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามที่อธิบดีหรือรัฐมนตรีประกาศตามมาตรา ๙๔ วรรคสอง หรือมาตรา ๑๑๖ (๕) เรือประมงต้องเป็นเรือที่มีขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป หรือเป็นเรือที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าถึงขนาดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด (๖)[๒] ในกรณีที่เรือประมงเป็นเรือประมงไทย ต้องเป็นเรือประมงที่จดทะเบียนเป็นเรือไทยตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย และใบอนุญาตใช้เรือสำหรับทำการประมงตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยต้องมีอายุเหลืออยู่ไม่น้อยกว่าสามสิบวันในวันที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต รวมทั้งต้องมีหมายเลขไอเอ็มโอสำหรับเรือที่มีลักษณะตามที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization) กำหนด ในกรณีที่เรือประมงมิใช่เรือประมงไทย ต้องเป็นเรือประมงที่จดทะเบียนตามกฎหมายของรัฐเจ้าของธงซึ่งสามารถใช้ทำการประมงในเขตการประมงไทยตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย รวมทั้งต้องมีหมายเลขไอเอ็มโอสำหรับเรือที่มีลักษณะตามที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization) กำหนด (๗) เครื่องมือทำการประมงที่จะขออนุญาตใช้ทำการประมงต้องไม่เป็นเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงตามมาตรา ๖๗ มาตรา ๖๘ หรือมาตรา ๖๙ (๘) มีการติดตั้งระบบติดตามเรือประมง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนดตามมาตรา ๘๑ (๑) ข้อ ๗ การพิจารณาออกใบอนุญาตนอกจากพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ ๖ แล้ว ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามแนวทางในการออกใบอนุญาตทำการประมงให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการทำการประมงและปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืนโดยใช้จุดอ้างอิงเป็นฐานในการพิจารณาตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๔ (๑) ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาไปยังผู้ขอรับใบอนุญาตภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอรับใบอนุญาตและเอกสารหรือหลักฐานถูกต้องและครบถ้วนกรณีมีคำสั่งไม่อนุญาต ให้แสดงเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์ไว้ในหนังสือแจ้งผลการพิจารณาด้วย การออกใบอนุญาต ให้ออกสำหรับเรือประมงแต่ละลำ และต้องระบุประเภท ชนิด ขนาด และจำนวนของเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมง พื้นที่ในการทำการประมง รวมทั้งปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่อนุญาตให้ทำการประมงได้ หรือห้วงเวลาที่อนุญาตให้ทำการประมงได้ แล้วแต่กรณี ไว้ในใบอนุญาตด้วย ใบอนุญาตให้มีอายุสองปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต ข้อ ๘ เมื่อผู้ขอรับใบอนุญาตได้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าอากรใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทำการประมงตามอัตราที่กำหนดแล้ว ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาต พร้อมทั้งแจ้งเครื่องหมายประจำเรือประมงเพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตไปดำเนินการจัดทำเครื่องหมายประจำเรือประมงตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนดตามมาตรา ๘๑ (๔) ข้อ ๙ ในกรณีที่มีการคำนวณขีดความสามารถในการทำการประมงและปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงอย่างยั่งยืนตามที่กำหนดไว้ในแผนบริหารจัดการการประมงใหม่ในระหว่างที่ใบอนุญาตยังไม่สิ้นอายุ ให้อธิบดีประกาศกำหนดปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่อนุญาตให้ทำการประมงหรือกำหนดห้วงเวลาที่อนุญาตให้ทำการประมงใหม่ได้ แล้วแต่กรณี โดยให้ถือเป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตเดิม การประกาศตามวรรคหนึ่ง ต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ข้อ ๑๐ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะโอนใบอนุญาตให้แก่บุพการี คู่สมรส หรือผู้สืบสันดานของตน ให้ยื่นคำขอโอนใบอนุญาตต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ณ สถานที่ที่กำหนดตามข้อ ๓ พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ ใบอนุญาตที่ได้รับอนุญาตให้โอนแล้ว ให้เขียนหรือประทับตราคำว่า “โอนแล้ว” ด้วยอักษรสีแดงไว้ด้านบนของใบอนุญาต และให้ระบุชื่อผู้รับโอน วัน เดือน ปีที่อนุญาตให้โอนพร้อมทั้งลงลายมือชื่อผู้อนุญาตกำกับไว้ด้วย ให้นำความในข้อ ๔ และข้อ ๖ (๑) (๒) และ (๓) มาใช้บังคับกับการโอนใบอนุญาตและผู้รับโอนใบอนุญาตโดยอนุโลม และเมื่อได้ตรวจสอบคุณสมบัติผู้รับโอนใบอนุญาตแล้ว ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายแจ้งผลการพิจารณาไปยังผู้ยื่นคำขอต่อไป โดยให้นำความในข้อ ๗ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๑๑ ในกรณีที่ใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดเสียหายในสาระสำคัญ ให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ณ สถานที่ที่กำหนดตามข้อ ๓ พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่า ผู้ขอรับใบแทนใบอนุญาตเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตและใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดเสียหายในสาระสำคัญจริง ให้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเพื่อออกใบแทนใบอนุญาตให้กับผู้ยื่นคำขอ การออกใบแทนใบอนุญาต ให้ใช้แบบใบอนุญาตเดิม และระบุคำว่า “ใบแทน” หรือใช้ข้อความอื่นใดทำนองเดียวกันไว้ที่กึ่งกลางส่วนบนด้านหน้าของใบอนุญาต ให้นำความในข้อ ๗ วรรคสอง มาใช้บังคับกับการออกใบแทนใบอนุญาตโดยอนุโลม ข้อ ๑๒ คำขอรับใบอนุญาต ใบอนุญาต คำขอโอนใบอนุญาต และคำขอรับใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาต การออกใบอนุญาตและการโอนใบอนุญาต ประกอบกับมาตรา ๓๖ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว บัญญัติให้การทำการประมงพาณิชย์ต้องได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์จากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙[๓] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่หลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ตามข้อ ๖ (๖) แห่งกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๕๙ กำหนดให้เรือประมงที่ใช้ทำการประมงพาณิชย์ได้ต้องเป็นเรือที่จดทะเบียนเรือไทยตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทยเท่านั้น ส่งผลให้ไม่สามารถใช้เรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยทำการประมงพาณิชย์ได้ จึงไม่สอดคล้องกับมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย พุทธศักราช ๒๔๘๒ ที่กำหนดให้สามารถใช้เรือที่มีสัญชาติต่างประเทศหรือเรือที่เป็นของคนต่างด้าวหรือของนิติบุคคลที่มีสัญชาติต่างประเทศทำการประมงในเขตการประมงไทยได้ในกรณีที่ประเทศไทยมีความตกลงกับต่างประเทศไว้ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ โดยเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ให้สามารถใช้เรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยทำการประมงพาณิชย์ได้ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ชวัลพร/ปริยานุช/จัดทำ ๓ มีนาคม ๒๕๕๙ วริญา/เพิ่มเติม ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๑๘ ก/หน้า ๘/๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ [๒] ข้อ ๖ (๖) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙ [๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ที่ ๑๐๓ ก/หน้า ๙/๙ ธันวาคม ๒๕๕๙
828159
กฎกระทรวงการขอจดทะเบียนและการรับจดทะเบียนท่าเทียบเรือประมง พ.ศ. 2559 (ฉบับ Update ล่าสุด)
กฎกระทรวง การขอจดทะเบียนและการรับจดทะเบียนท่าเทียบเรือประมง พ.ศ. ๒๕๕๙[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ผู้ใดประสงค์จะจดทะเบียนท่าเทียบเรือของตนเป็นท่าเทียบเรือประมงตามมาตรา ๘๔ ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ การยื่นคำขอจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่น ณ สถานที่ ดังต่อไปนี้ (๑) กรุงเทพมหานคร ให้ยื่น ณ สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรมประมง ในกรณีที่ท่าเทียบเรือประมงนั้นตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร (๒) จังหวัดอื่น ให้ยื่น ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานประมงอำเภอแห่งท้องที่ที่ท่าเทียบเรือประมงนั้นตั้งอยู่ (๓) สถานที่และวิธีการอื่นตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ข้อ ๒ เมื่อได้รับคำขอจดทะเบียนแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของคำขอจดทะเบียนและเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆ กรณีที่คำขอจดทะเบียนหรือเอกสารหรือหลักฐานไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้แจ้งให้ผู้ขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมคำขอจดทะเบียน หรือจัดส่งเอกสารหรือหลักฐานให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด กรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนไม่แก้ไขเพิ่มเติมคำขอจดทะเบียน หรือไม่จัดส่งเอกสารหรือหลักฐานให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาตามวรรคสอง ให้ถือว่าคำขอจดทะเบียนนั้นเป็นอันยกเลิกนับแต่วันที่พ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว และให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบ ข้อ ๓ ในกรณีที่คำขอจดทะเบียนและเอกสารหรือหลักฐานถูกต้องและครบถ้วน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบรับคำขอให้แก่ผู้ขอจดทะเบียน ข้อ ๓/๑[๒] การขอจดทะเบียนท่าเทียบเรือให้แยกตามประเภทกิจกรรมของท่าเทียบเรือประมง ดังต่อไปนี้ (๑) ท่าเทียบเรือประมงพาณิชย์ (๒) ท่าเทียบเรือประมงสำหรับการนำเข้าสัตว์น้ำ (๓) ท่าเทียบเรือประมงที่บริการน้ำหรือน้ำแข็ง (๔) ท่าเทียบเรือประมงของโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ (๕) ท่าเทียบเรือประมงพื้นบ้าน (๖) ท่าเทียบเรือประมงที่ใช้สำหรับจอดพักเรือประมงเท่านั้น (๗) ท่าเทียบเรือประมงที่มีการขนถ่ายสัตว์น้ำสำหรับการผลิตอาหารสัตว์เท่านั้น ท่าเทียบเรือประมงตามวรรคหนึ่งต้องทำกิจกรรมตามประเภทที่ได้จดทะเบียนไว้ เว้นแต่ท่าเทียบเรือประมงตามวรรคหนึ่ง (๑) สามารถทำกิจกรรมได้ทุกประเภท ท่าเทียบเรือประมงตามวรรคหนึ่งต้องให้บริการจอด หรือเทียบท่า หรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำขึ้นจากเรือประมงเฉพาะเรือที่มิได้เป็นเรือไร้สัญชาติตามกฎหมายว่าด้วยการประมงสำหรับการให้บริการดังกล่าวแก่เรือไร้สัญชาติให้ดำเนินการได้เฉพาะตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้อ ๔[๓] ท่าเทียบเรือที่จะจดทะเบียนเป็นท่าเทียบเรือประมงตามมาตรา ๘๔ ดังต่อไปนี้ ต้องมีหนังสือรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยท่าเทียบเรือประมงตามมาตรา ๙๘ (๑) ท่าเทียบเรือประมงตามข้อ ๓/๑ (๑) (๒) (๓) และ (๔) (๒) ท่าเทียบเรือประมงตามข้อ ๓/๑ (๕) กรณีที่มีการส่งออกสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ในกรณีท่าเทียบเรือประมงของโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำตามข้อ ๓/๑ (๔) ได้รับการรับรองมาตรฐานสุขอนามัยโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำจากกรมประมง ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องมีหนังสือรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยท่าเทียบเรือประมงตามวรรคหนึ่ง ข้อ ๕ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาไปยังผู้ขอจดทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอจดทะเบียนและเอกสารหรือหลักฐานถูกต้องและครบถ้วน กรณีมีคำสั่งไม่อนุญาต ให้แสดงเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์ไว้ในหนังสือแจ้งผลการพิจารณาด้วย ข้อ ๖ ใบทะเบียนท่าเทียบเรือประมงให้ใช้ได้ตลอดไปจนกว่าจะมีการเพิกถอน ข้อ ๗ ผู้จดทะเบียนท่าเทียบเรือประมงต้องยื่นสำเนาหนังสือรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยท่าเทียบเรือประมงต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ณ สถานที่ที่กำหนดตามข้อ ๑ ทุกปี หลังจากที่ได้รับการจดทะเบียน โดยให้ยื่นภายในสามสิบวันนับแต่วันครบรอบระยะเวลาหนึ่งปีที่ได้รับการจดทะเบียน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารตามวรรคหนึ่ง หากไม่ถูกต้องหรือผู้จดทะเบียนท่าเทียบเรือประมงไม่ยื่นเอกสารภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้จดทะเบียนท่าเทียบเรือประมงยื่นเอกสารให้ถูกต้องภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งหากผู้จดทะเบียนท่าเทียบเรือประมงไม่นำมายื่นภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เสนออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเพื่อพิจารณาเพิกถอนใบทะเบียนท่าเทียบเรือประมงนั้น ข้อ ๘ เจ้าของท่าเทียบเรือประมงที่ได้จดทะเบียนแล้ว ต้องแสดงใบทะเบียนท่าเทียบเรือประมง ณ ท่าเทียบเรือประมงนั้น ข้อ ๙[๔] ในกรณีที่ปรากฏว่าเจ้าของท่าเทียบเรือที่ได้จดทะเบียนไว้มิได้ประกอบกิจการท่าเทียบเรือประมง หรือทำกิจกรรมไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๓/๑ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๕ หรือมาตรา ๘๖ วรรคสาม หรือประกาศที่ออกตามมาตราดังกล่าว หรือท่าเทียบเรือประมงไม่มีสุขอนามัยตามที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เสนออธิบดีเพื่อพิจารณาดำเนินการตามมาตรา ๑๑๒ ข้อ ๑๐[๕] ผู้จดทะเบียนท่าเทียบเรือประมงผู้ใดประสงค์จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายการในใบทะเบียนท่าเทียบเรือประมงหรือเปลี่ยนประเภทกิจกรรมท่าเทียบเรือประมง ให้ยื่นคำขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายการในใบทะเบียนท่าเทียบเรือประมงหรือคำขอเปลี่ยนประเภทกิจกรรมท่าเทียบเรือประมง แล้วแต่กรณี ต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ณ สถานที่ที่กำหนดตามข้อ ๑ พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ ข้อ ๑๑ คำขอจดทะเบียนท่าเทียบเรือประมง ใบทะเบียนท่าเทียบเรือประมง และคำขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายการในใบทะเบียนท่าเทียบเรือประมง ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ข้อ ๑๒ ในวาระเริ่มแรกภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนท่าเทียบเรือประมงยื่นหนังสือรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยท่าเทียบเรือประมงตามข้อ ๔ ซึ่งจะต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้จดทะเบียน ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอจดทะเบียนและการรับจดทะเบียนประกอบกับมาตรา ๘๔ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติให้ผู้ที่ประสงค์จะใช้ท่าเทียบเรือของตนเป็นท่าเทียบเรือประมง ต้องจดทะเบียนเป็นท่าเทียบเรือประมงต่อกรมประมง เว้นแต่ท่าเทียบเรือนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกิจการแพปลาอยู่แล้ว จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวงการขอจดทะเบียนและการรับจดทะเบียนท่าเทียบเรือประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑[๖] ข้อ ๕ ท่าเทียบเรือประมงใดที่ได้จดทะเบียนไว้ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับทำกิจกรรมไม่ตรงตามประเภทที่กำหนดไว้ในข้อ ๓/๑ ให้เจ้าของท่าเทียบเรือประมงดำเนินการเปลี่ยนแปลงประเภทของท่าเทียบเรือประมงให้สอดคล้องกับกิจกรรมของท่าเทียบเรือประมงภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ข้อ ๖ ท่าเทียบเรือประมงใดที่ได้จดทะเบียนไว้ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับและพบว่ามีเรือไร้สัญชาติตามกฎหมายว่าด้วยการประมงจอด หรือเทียบท่า หรือขนถ่าย สัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำขึ้นจากเรือประมงอยู่ภายในบริเวณท่าเทียบเรือประมงของตน ให้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ทั้งนี้ เจ้าของท่าเทียบเรือประมงที่ได้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ทันทีที่พบเรือดังกล่าว ให้สามารถประกอบกิจการท่าเทียบเรือประมงต่อไปได้โดยไม่ต้องถูกดำเนินการตามมาตรา ๑๑๒ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันกรมประมงได้มีการกำหนดมาตรฐานด้านสุขอนามัยท่าเทียบเรือประมงตามประเภทกิจกรรมของท่าเทียบเรือประมงที่ต้องผ่านการตรวจมาตรฐานด้านสุขอนามัยท่าเทียบเรือประมง สมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การขอจดทะเบียนท่าเทียบเรือประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านสุขอนามัยท่าเทียบเรือประมง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ พิมพ์มาดา/จัดทำ ๔ มกราคม ๒๕๖๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๑๘ ก/หน้า ๑๓/๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ [๒] ข้อ ๓/๑ เพิ่มโดยกฎกระทรวงการขอจดทะเบียนและการรับจดทะเบียนท่าเทียบเรือประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑ [๓] ข้อ ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงการขอจดทะเบียนและการรับจดทะเบียนท่าเทียบเรือประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑ [๔] ข้อ ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงการขอจดทะเบียนและการรับจดทะเบียนท่าเทียบเรือประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑ [๕] ข้อ ๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงการขอจดทะเบียนและการรับจดทะเบียนท่าเทียบเรือประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑ [๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๗๐ ก/หน้า ๑/๑๔ กันยายน ๒๕๖๑
871981
ฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2559 (ฉบับ Update ล่าสุด)
กฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๙[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในกฎกระทรวงนี้ “ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง และกำหนดให้มีอำนาจปฏิบัติการตามมาตรา ๗๙ ข้อ ๒ ผู้ใดประสงค์จะทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา ๗๙ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ การยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่น ณ สถานที่ ดังต่อไปนี้ (๑) กรณีทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกรุงเทพมหานคร ให้ยื่น ณ สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรมประมง (๒) กรณีทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในจังหวัดอื่น ให้ยื่น ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานประมงอำเภอแห่งท้องที่ที่ประสงค์จะทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (๓) สถานที่และวิธีการอื่นตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ข้อ ๓ ให้ประมงจังหวัดประกาศกำหนดห้วงเวลาที่จะให้ผู้ประสงค์จะทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินมายื่นคำขอรับใบอนุญาต โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ข้อ ๔ เมื่อได้รับคำขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของคำขอรับใบอนุญาต และเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆ กรณีที่คำขอรับใบอนุญาต เอกสารหรือหลักฐานไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้แจ้งให้ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับใบอนุญาต หรือจัดส่งเอกสารหรือหลักฐานให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด กรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตไม่แก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับใบอนุญาตหรือไม่จัดส่งเอกสารหรือหลักฐานให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาตามวรรคสอง ให้ถือว่าคำขอรับใบอนุญาตนั้นเป็นอันยกเลิกนับแต่วันที่พ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว และให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบ ข้อ ๕ ในกรณีที่คำขอรับใบอนุญาตและเอกสารหรือหลักฐานถูกต้องและครบถ้วน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบรับคำขอให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาต และให้นัดวันและเวลาโดยแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบ เพื่อทำการตรวจสอบแหล่งทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่จะขออนุญาต ใบรับคำขอตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้แทนใบอนุญาตได้ในระหว่างที่พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาอนุญาต ข้อ ๖ การพิจารณาอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องไม่อยู่ระหว่างถูกพักใช้ใบอนุญาต (๒) ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตในระยะเวลาห้าปีนับถึงวันยื่นคำขอรับใบอนุญาต (๓) พื้นที่ที่จะอนุญาตต้องยังไม่เกินศักยภาพการรองรับของที่จับสัตว์น้ำในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (๔) พื้นที่ที่จะอนุญาตต้องอยู่ห่างจากเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำ หรือโรงสูบจ่ายน้ำเพื่อการบริโภคหรือสถานีสูบน้ำดิบของระบบประปาไม่น้อยกว่า ๒๐๐ เมตร (๕) พื้นที่ที่จะอนุญาตต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนทั่วไปที่ใช้แหล่งน้ำ และต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อระบบการระบายน้ำหรือการชลประทาน การสัญจรทางน้ำ หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของแหล่งน้ำ (๖) วัสดุหรืออุปกรณ์ที่ใช้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต้องไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของแหล่งน้ำ (๗) ในกรณีการขอรับใบอนุญาตเป็นการประกอบกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมตามมาตรา ๗๖ พื้นที่ขออนุญาตทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต้องอยู่ในเขตพื้นที่ที่คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดประกาศกำหนดให้เป็นเขตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามมาตรา ๗๗ ข้อ ๗[๒] ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาไปยังผู้ขอรับใบอนุญาตภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นสุดห้วงเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศตามข้อ ๓ ในกรณีที่มีคำสั่งอนุญาตให้ออกใบอนุญาต ให้แจ้งผู้ขอรับใบอนุญาตมาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตภายในระยะเวลาที่กำหนด หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าสละสิทธิการเป็นผู้รับใบอนุญาต และในกรณีที่มีคำสั่งไม่อนุญาต ให้แสดงเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์ไว้ในหนังสือแจ้งผลการพิจารณาด้วย ใบอนุญาตให้มีอายุสองปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต ข้อ ๘ เมื่อผู้ขอรับใบอนุญาตได้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตามอัตราที่กำหนดแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาต ทั้งนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่อาจกำหนดรายละเอียดของเงื่อนไขที่จำเป็นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อ ๙ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามกฎหมายว่าด้วยการประมงไว้ในใบอนุญาตเพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตปฏิบัติตามด้วยก็ได้ ข้อ ๙[๓] ผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) ต้องติดตั้งโคมไฟหรือเครื่องหมายบริเวณที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้ชัดเจน (๒) ไม่สร้างที่พักอาศัยเป็นการถาวรในที่จับสัตว์น้ำหรือบริเวณสถานที่ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เว้นแต่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง (๓) ไม่ใช้สารเคมี ยา หรือสิ่งอื่นใดซึ่งทางราชการมีประกาศห้ามใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (๔) กรณีสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงป่วยต้องทำการรักษาตามหลักวิชาการ หรือจัดการด้วยวิธีการที่เหมาะสม (๕) กรณีสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงตายต้องน้ำซากของสัตว์น้ำขึ้นมากำจัดบนบกอย่างถูกสุขลักษณะ (๖) กรณีเป็นกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมตามมาตรา ๗๖ ต้องป้องกันมิให้สัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงหลุดออกนอกที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำลงสู่ที่จับสัตว์น้ำ (๗) ปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต ในกรณีสัตว์น้ำชนิดใดที่ลักษณะทางกายภาพหรือการดำรงชีวิตตามธรรมชาติของสัตว์น้ำนั้นไม่สามารถน้ำขึ้นมากำจัดบนบกได้อย่างถูกสุขลักษณะหรือไม่สามารถป้องกันมิให้หลุดออกนอกที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ อธิบดีอาจประกาศกำหนดให้สัตว์น้ำชนิดนั้นเป็นสัตว์น้ำที่ผู้รับใบอนุญาตไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดใน (๕) หรือ (๖) แล้วแต่กรณี ก็ได้ ข้อ ๑๐[๔] ผู้ใดประสงค์จะขอรับโอนใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอรับโอนใบอนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่ที่กำหนดตามข้อ ๒ พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอและเมื่อได้รับคำขอรับโอนใบอนุญาตแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบรับคำขอให้แก่ผู้ขอรับโอนใบอนุญาต ให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาคำขอรับโอนใบอนุญาต และออกใบอนุญาตใหม่แทนใบอนุญาตเดิมให้แก่ผู้ขอรับโอนใบอนุญาตภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ และในกรณีที่มีคำสั่งไม่อนุญาตให้แสดงเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์ไว้ในหนังสือแจ้งผลการพิจารณาด้วย การออกใบอนุญาตใหม่แทนใบอนุญาตเดิม ให้มีระยะเวลาและเงื่อนไขตามใบอนุญาตเดิมและให้กำกับค้าว่า “โอนใบอนุญาต” พร้อมชื่อผู้โอนไว้ที่มุมบนด้านซ้าย และระบุวัน เดือน ปีที่ออกใบอนุญาตดังกล่าวไว้ด้วย สำหรับใบอนุญาตเดิมให้ประทับตรายกเลิกการใช้ด้วยอักษรสีแดง ให้นำความในข้อ ๔ ข้อ ๖ (๑) หรือ (๒) ข้อ ๘ และข้อ ๙ มาใช้บังคับแก่การขอรับโอนใบอนุญาตและผู้รับโอนใบอนุญาตโดยอนุโลม ข้อ ๑๑ ในกรณีที่ใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดเสียหายในสาระสำคัญ ให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่ที่กำหนดตามข้อ ๒ พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่า ผู้ขอรับใบแทนใบอนุญาตเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตและใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดเสียหายในสาระสำคัญจริง ให้ออกใบแทนใบอนุญาตให้กับผู้ยื่นคำขอ การออกใบแทนใบอนุญาต ให้ใช้แบบใบอนุญาตเดิม และระบุคำว่า “ใบแทน” หรือใช้ข้อความอื่นใดทำนองเดียวกันไว้ที่กึ่งกลางส่วนบนด้านหน้าของใบอนุญาต ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบแทนใบอนุญาตภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอและเอกสารหรือหลักฐานถูกต้องครบถ้วน และให้นำความในข้อ ๗ วรรคสอง มาใช้บังคับแก่การออกใบแทนใบอนุญาตโดยอนุโลม[๕] ข้อ ๑๒[๖] คำขอรับใบอนุญาต ใบรับคำขอ ใบอนุญาต คำขอรับโอนใบอนุญาต และคำขอรับใบแทนใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้ ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ไว้ ณ วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาต การออกใบอนุญาต และการโอนใบอนุญาต ประกอบกับมาตรา ๗๙ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว บัญญัติให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ต้องได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๓[๗] ข้อ ๕ คำขอโอนใบอนุญาตที่ได้ยื่นไว้ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ให้ถือว่าเป็นคำขอรับโอนใบอนุญาตตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงนี้ และให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงนี้ ในกรณีคำขอที่ยื่นตามวรรคหนึ่ง และเอกสารหรือหลักฐานที่ยื่นพร้อมคำขอดังกล่าวแตกต่างไปจากที่กำหนดในกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอมีอำนาจสั่งให้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมคำขอหรือจัดส่งเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็นเพื่อให้เป็นไปตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงนี้ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่กำหนดเวลาการพิจารณาออกใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่สอดคล้องกับการดำเนินการตรวจสอบแหล่งทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่จะขออนุญาตและจำนวนของผู้ขอรับใบอนุญาต ประกอบกับเงื่อนไขที่ผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำดังกล่าว เป็นอุปสรรคหรือไม่สามารถปฏิบัติได้แก่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบางชนิด สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดเวลาดังกล่าวและกำหนดให้มีการยกเว้นแก่ผู้รับใบอนุญาตไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้สำหรับสัตว์น้ำบางชนิดได้ รวมทั้งสมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การโอนใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา ๔๔ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ชวัลพร/ปริยานุช/จัดทำ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙ นุสรา/ตรวจ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙ พิไลภรณ์/เพิ่มเติม ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๓ ปริญสินีย์/ตรวจ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๔๑ ก/หน้า ๘/๔ พฤษภาคม ๒๕๕๙ [๒] ข้อ ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๓ [๓] ข้อ ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๓ [๔] ข้อ ๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๓ [๕] ข้อ ๑๑ วรรคสี่ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๓ [๖] ข้อ ๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๓ [๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนที่ ๓๖ ก/หน้า ๕/๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓
869168
กฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2563
กฎกระทรวง ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๖๓[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามข้อ ๒ (๒) แห่งกฎกระทรวงกำหนดค่าอากรและค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประมง พ.ศ. ๒๕๕๙ แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตในแต่ละพื้นที่เพียงครั้งเดียว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ จนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๓ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ขึ้นในประเทศไทย ทำให้ผู้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่สามารถขายผลผลิตได้ตามปกติ ดังนั้น เพื่อลดภาระและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำดังกล่าว สมควรยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแก่ผู้ขอรับใบอนุญาตในแต่ละพื้นที่เพียงครั้งเดียว จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ วิวรรธน์/จัดทำ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๓ สถาพร/ตรวจ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนที่ ๘๑ ก/หน้า ๑/๗ ตุลาคม ๒๕๖๓
859423
กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563
กฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๓[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในข้อ ๗ แห่งกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๗ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาไปยังผู้ขอรับใบอนุญาตภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นสุดห้วงเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศตามข้อ ๓ ในกรณีที่มีคำสั่งอนุญาตให้ออกใบอนุญาต ให้แจ้งผู้ขอรับใบอนุญาตมาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตภายในระยะเวลาที่กำหนด หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าสละสิทธิการเป็นผู้รับใบอนุญาต และในกรณีที่มีคำสั่งไม่อนุญาต ให้แสดงเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์ไว้ในหนังสือแจ้งผลการพิจารณาด้วย ใบอนุญาตให้มีอายุสองปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต” ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความในข้อ ๙ และข้อ ๑๐ แห่งกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๙ ผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) ต้องติดตั้งโคมไฟหรือเครื่องหมายบริเวณที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้ชัดเจน (๒) ไม่สร้างที่พักอาศัยเป็นการถาวรในที่จับสัตว์น้ำหรือบริเวณสถานที่ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เว้นแต่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง (๓) ไม่ใช้สารเคมี ยา หรือสิ่งอื่นใดซึ่งทางราชการมีประกาศห้ามใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (๔) กรณีสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงป่วยต้องทำการรักษาตามหลักวิชาการ หรือจัดการด้วยวิธีการที่เหมาะสม (๕) กรณีสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงตายต้องน้ำซากของสัตว์น้ำขึ้นมากำจัดบนบกอย่างถูกสุขลักษณะ (๖) กรณีเป็นกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมตามมาตรา ๗๖ ต้องป้องกันมิให้สัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงหลุดออกนอกที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำลงสู่ที่จับสัตว์น้ำ (๗) ปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต ในกรณีสัตว์น้ำชนิดใดที่ลักษณะทางกายภาพหรือการดำรงชีวิตตามธรรมชาติของสัตว์น้ำนั้นไม่สามารถน้ำขึ้นมากำจัดบนบกได้อย่างถูกสุขลักษณะหรือไม่สามารถป้องกันมิให้หลุดออกนอกที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ อธิบดีอาจประกาศกำหนดให้สัตว์น้ำชนิดนั้นเป็นสัตว์น้ำที่ผู้รับใบอนุญาตไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดใน (๕) หรือ (๖) แล้วแต่กรณี ก็ได้ ข้อ ๑๐ ผู้ใดประสงค์จะขอรับโอนใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอรับโอนใบอนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่ที่กำหนดตามข้อ ๒ พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอและเมื่อได้รับคำขอรับโอนใบอนุญาตแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบรับคำขอให้แก่ผู้ขอรับโอนใบอนุญาต ให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาคำขอรับโอนใบอนุญาต และออกใบอนุญาตใหม่แทนใบอนุญาตเดิมให้แก่ผู้ขอรับโอนใบอนุญาตภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ และในกรณีที่มีคำสั่งไม่อนุญาตให้แสดงเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์ไว้ในหนังสือแจ้งผลการพิจารณาด้วย การออกใบอนุญาตใหม่แทนใบอนุญาตเดิม ให้มีระยะเวลาและเงื่อนไขตามใบอนุญาตเดิมและให้กำกับค้าว่า “โอนใบอนุญาต” พร้อมชื่อผู้โอนไว้ที่มุมบนด้านซ้าย และระบุวัน เดือน ปีที่ออกใบอนุญาตดังกล่าวไว้ด้วย สำหรับใบอนุญาตเดิมให้ประทับตรายกเลิกการใช้ด้วยอักษรสีแดง ให้นำความในข้อ ๔ ข้อ ๖ (๑) หรือ (๒) ข้อ ๘ และข้อ ๙ มาใช้บังคับแก่การขอรับโอนใบอนุญาตและผู้รับโอนใบอนุญาตโดยอนุโลม” ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในวรรคสี่ของข้อ ๑๑ แห่งกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบแทนใบอนุญาตภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอและเอกสารหรือหลักฐานถูกต้องครบถ้วน และให้นำความในข้อ ๗ วรรคสอง มาใช้บังคับแก่การออกใบแทนใบอนุญาตโดยอนุโลม” ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑๒ แห่งกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๑๒ คำขอรับใบอนุญาต ใบรับคำขอ ใบอนุญาต คำขอรับโอนใบอนุญาต และคำขอรับใบแทนใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้ ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” ข้อ ๕ คำขอโอนใบอนุญาตที่ได้ยื่นไว้ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ให้ถือว่าเป็นคำขอรับโอนใบอนุญาตตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงนี้ และให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงนี้ ในกรณีคำขอที่ยื่นตามวรรคหนึ่ง และเอกสารหรือหลักฐานที่ยื่นพร้อมคำขอดังกล่าวแตกต่างไปจากที่กำหนดในกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอมีอำนาจสั่งให้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมคำขอหรือจัดส่งเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็นเพื่อให้เป็นไปตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงนี้ ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่กำหนดเวลาการพิจารณาออกใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่สอดคล้องกับการดำเนินการตรวจสอบแหล่งทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่จะขออนุญาตและจำนวนของผู้ขอรับใบอนุญาต ประกอบกับเงื่อนไขที่ผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำดังกล่าว เป็นอุปสรรคหรือไม่สามารถปฏิบัติได้แก่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบางชนิด สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดเวลาดังกล่าวและกำหนดให้มีการยกเว้นแก่ผู้รับใบอนุญาตไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้สำหรับสัตว์น้ำบางชนิดได้ รวมทั้งสมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การโอนใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา ๔๔ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ พิไลภรณ์/จัดทำ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๓ ปริญสินีย์/ตรวจ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนที่ ๓๖ ก/หน้า ๕/๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓
827089
กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทย พ.ศ. 2562
กฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๕๖๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิก (๑) กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๕๕๙ (๒) กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙ ข้อ ๒ ในกฎกระทรวงนี้ “ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทย “อุปกรณ์ช่วยทำการประมง” หมายความว่า อุปกรณ์ที่ใช้สนับสนุนเครื่องมือทำการประมงไม่ว่าจะติดอยู่กับตัวเรือหรือไม่ก็ตาม เช่น แพล่อปลา ทุ่นลอยวิทยุ เรือขนาดเล็กที่เป็นส่วนประกอบในการทำการประมงที่บรรทุกออกไปพร้อมกับเรือประมงหรืออุปกรณ์อื่นใดตามที่องค์การระหว่างประเทศกำหนด ข้อ ๓ ผู้ใดประสงค์จะใช้เรือประมงไทยทำ การประมงในเขตทะเลนอกน่านน้ำไทยตามมาตรา ๔๘ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ การยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่น ณ สถานที่ ดังต่อไปนี้ (๑) กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ กรมประมง (๒) สถานที่และวิธีการอื่นตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ข้อ ๔ เมื่อได้รับคำขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบรับคำขอให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาต และดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของคำขอรับใบอนุญาต และเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆ กรณีที่คำขอรับใบอนุญาต เอกสารหรือหลักฐานไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้แจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับใบอนุญาต หรือจัดส่งเอกสารหรือหลักฐานให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด กรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตไม่แก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับใบอนุญาตหรือไม่จัดส่งเอกสารหรือหลักฐานให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาตามวรรคสอง ให้ถือว่าคำขอรับใบอนุญาตนั้นเป็นอันยกเลิกนับแต่วันที่พ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว และให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบ ข้อ ๕ ในกรณีที่คำขอรับใบอนุญาตและเอกสารหรือหลักฐานถูกต้องและครบถ้วน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่นัดวันและเวลาโดยแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบ เพื่อทำการตรวจสอบเรือประมง เครื่องมือทำการประมง อุปกรณ์ช่วยทำการประมง และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องติดตั้งในเรือประมง การตรวจสอบเรือประมง เครื่องมือทำการประมง อุปกรณ์ช่วยทำการประมง และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องติดตั้งในเรือประมง กรณีเรือประมงที่มิได้อยู่ในน่านน้ำไทย ผู้ขอรับใบอนุญาตอาจร้องขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกไปดำเนินการตรวจสอบที่ท่าเทียบเรือของรัฐชายฝั่งอื่นได้ตามวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา และผู้ขอรับใบอนุญาตต้องชำระค่าธรรมเนียมและค่าป่วยการพิเศษตามอัตราที่อธิบดีประกาศกำหนด ข้อ ๖ การพิจารณาอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทย ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๙ (๒) ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีกรรมสิทธิ์ในเรือประมงที่จะทำการประมงนอกน่านน้ำไทยและในกรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเรือประมงหลายลำไม่ว่าจะเป็นเรือประมงไทยหรือมิใช่เรือประมงไทย ต้องแจ้งชื่อเรือประมงดังกล่าวทุกลำพร้อมทั้งหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ในเรือประมงนั้น (๓) ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีฐานะทางการเงินเพียงพอในการทำการประมงนอกน่านน้ำไทยโดยต้องมีใบแจ้งยอดเงินฝากจากสถาบันการเงิน (bank statement) ไม่ต่ำกว่าสิบล้านบาทหรือหลักทรัพย์อื่น ๆ ที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าสิบล้านบาท โดยหลักทรัพย์ดังกล่าวต้องมิใช่เรือประมงลำที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต (๔) ผู้ขอรับใบอนุญาตและผู้ควบคุมเรือต้องผ่านการอบรมความรู้เกี่ยวกับการทำการประมงนอกน่านน้ำไทยในรัฐชายฝั่งหรือองค์การระหว่างประเทศ ตามหลักสูตรที่อธิบดีประกาศกำหนด (๕) ผู้ขอรับใบอนุญาตทำการประมงในเขตของรัฐชายฝั่ง ต้องมีหลักฐานแสดงการได้สิทธิในการทำการประมงในน่านน้ำของรัฐชายฝั่งซึ่งได้รับการรับรองจากรัฐชายฝั่งนั้น ในกรณีการขอรับใบอนุญาตทำการประมงที่อยู่ในเขตทะเลหลวงซึ่งอยู่ในเขตความควบคุมดูแลขององค์การระหว่างประเทศต้องเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก (๖) เรือประมงต้องไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อเรือประมงที่ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามที่คณะกรรมการมาตรการทางปกครอง หรือรัฐมนตรีประกาศตามมาตรา ๑๑๓ (๔) หรือมาตรา ๑๑๖ (๗) เรือประมงต้องเป็นเรือที่จดทะเบียนเป็นเรือไทยตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย รวมทั้งต้องมีหมายเลขไอเอ็มโอสำหรับเรือที่มีลักษณะตามที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization) กำหนด (๘) เรือประมงต้องไม่อยู่ในระหว่างถูกกักเรือ กรณีเรือประมงที่เคยถูกใช้ในการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประมง ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีหลักฐานแสดงว่าเจ้าของเรือ ผู้ควบคุมเรือ หรือผู้รับใบอนุญาตทำการประมงเดิมของเรือที่ใช้ในการกระทำความผิดไม่มีผลประโยชน์ได้เสียทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือมีอำนาจควบคุมเรือประมงดังกล่าวอีกต่อไป (๙) เรือประมงต้องติดตั้งระบบระบุตำแหน่งเรือประมง (Vessel Monitoring System (VMS)) ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนดตามมาตรา ๘๑ (๑) (๑๐) เรือประมงต้องมีหนังสือรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยในเรือประมงตามมาตรา ๙๘ (๑๑) เครื่องมือทำการประมงที่อนุญาตให้ใช้ทำการประมง ต้องเป็นประเภท ชนิด ขนาด และมีจำนวนตรงตามที่ระบุไว้ในคำขอรับใบอนุญาต ซึ่งต้องไม่ขัดกับข้อกำหนดและเงื่อนไขของรัฐชายฝั่งหรือองค์การระหว่างประเทศที่จะเข้าไปทำการประมง ในกรณีที่ทำการประมงในเขตทะเลหลวงซึ่งอยู่ในเขตความควบคุมดูแลขององค์การระหว่างประเทศให้ใช้เครื่องมือทำการประมงได้ไม่เกินสองเครื่องมือ โดยให้ระบุเครื่องมือทำการประมงหลักได้เพียงหนึ่งประเภทและหนึ่งชนิด และให้ระบุเครื่องมือทำการประมงเสริมได้เฉพาะเบ็ดมือ (๑๒) อุปกรณ์ช่วยทำการประมงที่จะนำมาใช้สนับสนุนเครื่องมือทำการประมงต้องเป็นประเภท ขนาด และมีจำนวนตรงตามที่ระบุไว้ในคำขอรับใบอนุญาต และต้องเป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของรัฐชายฝั่งหรือองค์การระหว่างประเทศ ข้อ ๗ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต เรือประมง เครื่องมือทำการประมง อุปกรณ์ช่วยทำการประมง และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องติดตั้งในเรือประมง รวมทั้งหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๖ แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาไปยังผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอรับใบอนุญาต และเอกสารหรือหลักฐานถูกต้องและครบถ้วน และในกรณีที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเห็นว่าผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตผู้ใดมีพฤติกรรมที่ไม่น่าเชื่อถือว่าจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ และมาตรการที่รัฐชายฝั่ง องค์การระหว่างประเทศหรือกรมประมงกำหนดไว้ได้ จะไม่ออกใบอนุญาตให้ผู้นั้นก็ได้ ในกรณีที่มีคำสั่งอนุญาตให้ออกใบอนุญาต ให้แจ้งผู้ขอรับใบอนุญาตมาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าอากรใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทำการประมงภายในระยะเวลาที่กำหนด หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าสละสิทธิการเป็นผู้รับใบอนุญาต และในกรณีที่มีคำสั่งไม่อนุญาต ให้แสดงเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์ไว้ในหนังสือแจ้งผลการพิจารณาด้วย การออกใบอนุญาต ให้ออกสำหรับเรือประมงแต่ละลำ โดยต้องระบุประเภท ชนิด ขนาด และจำนวนของเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมง ประเภท ขนาด และจำนวนของอุปกรณ์ช่วยทำการประมง และพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมง ใบอนุญาตให้มีอายุสองปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต ในกรณีที่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมงในเขตของรัฐชายฝั่งต้องระบุเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตให้ทำการประมงได้ไม่เกินระยะเวลาที่ระบุในหลักฐานแสดงการได้สิทธิในการทำการประมงของรัฐชายฝั่งแต่ละรัฐ และในกรณีที่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมงในเขตของรัฐชายฝั่งหลายรัฐ ต้องระบุระยะเวลาที่สามารถทำการประมงในแต่ละรัฐให้ชัดเจน ในการออกใบอนุญาต อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายอาจกำหนดรายละเอียดของเงื่อนไขที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามกฎหมายว่าด้วยการประมงไว้ในใบอนุญาตเพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตปฏิบัติตามด้วยก็ได้ ข้อ ๘ เมื่อผู้ขอรับใบอนุญาตได้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าอากรใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทำการประมงตามอัตราที่กำหนด ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาต พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตไปดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้ให้แล้วเสร็จก่อนจึงจะออกทำการประมงได้ (๑) มีใบอนุญาตใช้เรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย ประเภทการใช้ทำการประมงซึ่งมีอายุอยู่ตลอดระยะเวลาที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมง (๒) จัดทำเครื่องหมายประจำเรือประมงตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนดตามมาตรา ๘๑ (๔) (๓) จัดทำเครื่องหมายประจำเครื่องมือทำการประมงที่อนุญาตให้ใช้ทำการประมง และจัดทำเครื่องหมายประจำอุปกรณ์ช่วยทำการประมงตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (๔) ติดตั้งระบบเฝ้าติดตามอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring System (EM)) และระบบรายงานอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Reporting System (ERS)) ในเรือประมง ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนดตามมาตรา ๘๑ (๑) (๕) จัดให้มีระบบความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือในเรือประมงที่จะขอรับอนุญาต ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยระบบความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือ ในกรณีที่เป็นการออกใบอนุญาตให้ทำการประมงที่อยู่ในเขตทะเลหลวงซึ่งอยู่ในเขตความควบคุมดูแลขององค์การระหว่างประเทศ ให้กรมประมงแจ้งชื่อเรือประมงที่ได้รับอนุญาตเพื่อขึ้นทะเบียนกับองค์การระหว่างประเทศให้แล้วเสร็จก่อนที่เรือประมงจะออกทำการประมง ข้อ ๙ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะต่อระยะเวลาทำการประมง เปลี่ยนแปลงเครื่องมือทำการประมงที่อนุญาตให้ใช้ทำการประมง เพิ่มเครื่องมือที่จะใช้ทำการประมง หรือเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่ที่ประสงค์จะทำการประมงนอกน่านน้ำไทย ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ณ สถานที่ที่กำหนดตามข้อ ๓ พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ ข้อ ๑๐ การพิจารณาอนุญาตให้ต่อระยะเวลาทำการประมง เปลี่ยนแปลงเครื่องมือทำการประมงที่อนุญาตให้ใช้ทำการประมง เพิ่มเครื่องมือที่จะใช้ทำการประมง หรือเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่ที่ประสงค์จะทำการประมงนอกน่านน้ำไทย ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ใบอนุญาตยังไม่สิ้นอายุ (๒) เครื่องมือทำการประมงต้องไม่เป็นเครื่องมือที่ห้ามใช้ทำการประมงในเขตของรัฐชายฝั่งหรือในเขตขององค์การระหว่างประเทศที่ผู้รับใบอนุญาตประสงค์จะทำการประมง (๓) ในกรณีที่เป็นการต่อระยะเวลาทำการประมงหรือเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่ที่ประสงค์จะทำการประมงนอกน่านน้ำไทย ให้นำความในข้อ ๖ (๕) มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๑๑ ให้นำความในข้อ ๔ มาใช้บังคับแก่การขอต่อระยะเวลาทำการประมงเปลี่ยนแปลงเครื่องมือทำการประมงที่อนุญาตให้ใช้ทำการประมง เพิ่มเครื่องมือที่จะใช้ทำการประมง หรือเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่ที่ประสงค์จะทำการประมงนอกน่านน้ำไทยโดยอนุโลม และเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายต่อไป และให้นำความในข้อ ๗ วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีที่เป็นการขอเปลี่ยนแปลงเครื่องมือทำการประมงที่อนุญาตให้ใช้ทำการประมง หรือเพิ่มเครื่องมือที่จะใช้ทำการประมง ให้นำความในข้อ ๕ วรรคสอง มาใช้บังคับแก่การตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องมือทำการประมงโดยอนุโลม ข้อ ๑๒ เมื่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีคำสั่งอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงเครื่องมือทำการประมงที่อนุญาตให้ใช้ทำการประมง หรือเพิ่มเครื่องมือที่จะใช้ทำการประมง และผู้รับใบอนุญาตได้ชำระค่าอากรใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทำการประมงตามที่ได้รับอนุญาตแล้ว หรืออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่ที่ประสงค์จะทำการประมงนอกน่านน้ำไทย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงรายการเกี่ยวกับประเภท ชนิด ขนาด และจำนวนของเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมง หรือเขตพื้นที่ที่ประสงค์จะทำการประมงนอกน่านน้ำไทยในใบอนุญาตเดิม ข้อ ๑๓ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะแก้ไขรายการในใบอนุญาต นอกจากกรณีตามข้อ ๙ ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ณ สถานที่ที่กำหนดตามข้อ ๓ พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ และให้นำความในข้อ ๔ มาใช้บังคับแก่การขอแก้ไขรายการในใบอนุญาตโดยอนุโลม การแก้ไขรายการในใบอนุญาตให้แก้ไขได้เฉพาะกรณีที่ใบอนุญาตยังไม่สิ้นอายุ และเป็นการแก้ไขข้อมูลให้สอดคล้องกับข้อมูลที่ปรากฏในหลักฐานทางทะเบียนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การแก้ไขชื่อ สกุลของผู้รับใบอนุญาต หรือขนาดของเรือ โดยต้องมีหลักฐานการแก้ไขข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การแก้ไขรายการในใบอนุญาต ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายดำเนินการแก้ไขรายการใบอนุญาตเดิมภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ และในกรณีที่มีคำสั่งไม่อนุญาต ให้แสดงเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์ไว้ในหนังสือแจ้งผลการพิจารณาด้วย ในกรณีที่การแก้ไขรายการในใบอนุญาตเป็นการเปลี่ยนแปลงขนาดของเรือประมง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปลี่ยนเครื่องหมายประจำเรือให้ตรงตามขนาดของเรือ พร้อมทั้งแจ้งเครื่องหมายประจำเรือประมงเพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตไปดำเนินการจัดทำเครื่องหมายประจำเรือประมงตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนดตามมาตรา ๘๑ (๔) ก่อนออกทำการประมง ข้อ ๑๔ ในกรณีที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ ผู้รับใบอนุญาตต้องนำเรือกลับเข้าท่าเทียบเรือประมงและในกรณีที่ประสงค์จะออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำไทย ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตใหม่ต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ ๓ และให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ ๔ ข้อ ๕ ข้อ ๖ ข้อ ๗ และข้อ ๘ ต่อไป ข้อ ๑๕ ในกรณีใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดเสียหายในสาระสำคัญ ให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่ตามข้อ ๓ พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ และให้นำความในข้อ ๔ มาใช้บังคับแก่การขอรับใบแทนใบอนุญาตโดยอนุโลม เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่า ผู้ขอรับใบแทนใบอนุญาตเป็นผู้รับใบอนุญาตและใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดเสียหายในสาระสำคัญจริง ให้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเพื่อออกใบแทนใบอนุญาตให้กับผู้ยื่นคำขอภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ ในกรณีที่มีคำสั่งอนุญาตให้ออกใบแทนใบอนุญาต ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายแจ้งให้ผู้ขอรับใบแทนใบอนุญาตมาชำระค่าธรรมเนียมใบแทนใบอนุญาต และในกรณีที่มีคำสั่งไม่อนุญาตให้แสดงเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์ไว้ในหนังสือแจ้งผลการพิจารณาด้วย เมื่อผู้ขอรับใบแทนใบอนุญาตได้ชำระค่าธรรมเนียมใบแทนใบอนุญาตตามอัตราที่กำหนดแล้วให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายออกใบแทนใบอนุญาต โดยใช้แบบใบอนุญาตเดิม และระบุคำว่า “ใบแทน” หรือใช้ข้อความอื่นใดทำนองเดียวกันไว้ที่กึ่งกลางส่วนบนด้านหน้าของใบอนุญาต ข้อ ๑๖ คำขอรับใบอนุญาต ใบอนุญาต คำขอต่อระยะเวลาทำการประมง คำขอเปลี่ยนแปลงเครื่องมือทำการประมงที่อนุญาตให้ใช้ทำการประมง คำขอเพิ่มเครื่องมือที่จะใช้ทำการประมง คำขอเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่ที่ประสงค์จะทำการประมงนอกน่านน้ำไทย คำขอแก้ไขรายการในใบอนุญาต และคำขอรับใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ข้อ ๑๗ ผู้รับใบอนุญาตตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๕๕๙ และที่แก้ไขเพิ่มเติม และใบอนุญาตยังไม่สิ้นอายุหรือถูกเพิกถอนหากประสงค์จะทำการประมงนอกน่านน้ำไทยต่อไป ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตใหม่ตามกฎกระทรวงนี้ และเมื่อได้รับใบอนุญาตใหม่แล้ว ให้ใบอนุญาตเดิมเป็นอันยกเลิก ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทย ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙ ยังมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาหลักฐานไม่เพียงพอที่จะทำให้เป็นที่ประจักษ์ว่าผู้ขอรับใบอนุญาตอยู่ในสถานะที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ และมาตรการของรัฐชายฝั่งหรือองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง อันอาจทำให้ผู้รับใบอนุญาตทำการประมงมีความเสี่ยงในการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีผลกระทบต่อพันธกรณีระหว่างประเทศและความมั่นคงทางทรัพยากรสัตว์น้ำ สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทยให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ พิมพ์มาดา/จัดทำ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ วิชพงษ์/ตรวจ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖/ตอนที่ ๗ ก/หน้า ๑/๑๗ มกราคม ๒๕๖๒
812968
กฎกระทรวงการขอจดทะเบียนและการรับจดทะเบียนท่าเทียบเรือประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561
กฎกระทรวง การขอจดทะเบียนและการรับจดทะเบียนท่าเทียบเรือประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ ๓/๑ แห่งกฎกระทรวงการขอจดทะเบียนและการรับจดทะเบียนท่าเทียบเรือประมง พ.ศ. ๒๕๕๙ “ข้อ ๓/๑ การขอจดทะเบียนท่าเทียบเรือให้แยกตามประเภทกิจกรรมของท่าเทียบเรือประมง ดังต่อไปนี้ (๑) ท่าเทียบเรือประมงพาณิชย์ (๒) ท่าเทียบเรือประมงสำหรับการนำเข้าสัตว์น้ำ (๓) ท่าเทียบเรือประมงที่บริการน้ำหรือน้ำแข็ง (๔) ท่าเทียบเรือประมงของโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ (๕) ท่าเทียบเรือประมงพื้นบ้าน (๖) ท่าเทียบเรือประมงที่ใช้สำหรับจอดพักเรือประมงเท่านั้น (๗) ท่าเทียบเรือประมงที่มีการขนถ่ายสัตว์น้ำสำหรับการผลิตอาหารสัตว์เท่านั้น ท่าเทียบเรือประมงตามวรรคหนึ่งต้องทำกิจกรรมตามประเภทที่ได้จดทะเบียนไว้ เว้นแต่ท่าเทียบเรือประมงตามวรรคหนึ่ง (๑) สามารถทำกิจกรรมได้ทุกประเภท ท่าเทียบเรือประมงตามวรรคหนึ่งต้องให้บริการจอด หรือเทียบท่า หรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำขึ้นจากเรือประมงเฉพาะเรือที่มิได้เป็นเรือไร้สัญชาติตามกฎหมายว่าด้วยการประมงสำหรับการให้บริการดังกล่าวแก่เรือไร้สัญชาติให้ดำเนินการได้เฉพาะตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่” ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความในข้อ ๔ แห่งกฎกระทรวงการขอจดทะเบียนและการรับจดทะเบียนท่าเทียบเรือประมง พ.ศ. ๒๕๕๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๔ ท่าเทียบเรือที่จะจดทะเบียนเป็นท่าเทียบเรือประมงตามมาตรา ๘๔ ดังต่อไปนี้ ต้องมีหนังสือรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยท่าเทียบเรือประมงตามมาตรา ๙๘ (๑) ท่าเทียบเรือประมงตามข้อ ๓/๑ (๑) (๒) (๓) และ (๔) (๒) ท่าเทียบเรือประมงตามข้อ ๓/๑ (๕) กรณีที่มีการส่งออกสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ในกรณีท่าเทียบเรือประมงของโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำตามข้อ ๓/๑ (๔) ได้รับการรับรองมาตรฐานสุขอนามัยโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำจากกรมประมง ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องมีหนังสือรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยท่าเทียบเรือประมงตามวรรคหนึ่ง ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในข้อ ๙ แห่งกฎกระทรวงการขอจดทะเบียนและการรับจดทะเบียนท่าเทียบเรือประมง พ.ศ. ๒๕๕๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๙ ในกรณีที่ปรากฏว่าเจ้าของท่าเทียบเรือที่ได้จดทะเบียนไว้มิได้ประกอบกิจการท่าเทียบเรือประมง หรือทำกิจกรรมไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๓/๑ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๕ หรือมาตรา ๘๖ วรรคสาม หรือประกาศที่ออกตามมาตราดังกล่าว หรือท่าเทียบเรือประมงไม่มีสุขอนามัยตามที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เสนออธิบดีเพื่อพิจารณาดำเนินการตามมาตรา ๑๑๒” ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑๐ แห่งกฎกระทรวงการขอจดทะเบียนและการรับจดทะเบียนท่าเทียบเรือประมง พ.ศ. ๒๕๕๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๑๐ ผู้จดทะเบียนท่าเทียบเรือประมงผู้ใดประสงค์จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายการในใบทะเบียนท่าเทียบเรือประมงหรือเปลี่ยนประเภทกิจกรรมท่าเทียบเรือประมง ให้ยื่นคำขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายการในใบทะเบียนท่าเทียบเรือประมงหรือคำขอเปลี่ยนประเภทกิจกรรมท่าเทียบเรือประมง แล้วแต่กรณี ต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ณ สถานที่ที่กำหนดตามข้อ ๑ พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ” ข้อ ๕ ท่าเทียบเรือประมงใดที่ได้จดทะเบียนไว้ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับทำกิจกรรมไม่ตรงตามประเภทที่กำหนดไว้ในข้อ ๓/๑ ให้เจ้าของท่าเทียบเรือประมงดำเนินการเปลี่ยนแปลงประเภทของท่าเทียบเรือประมงให้สอดคล้องกับกิจกรรมของท่าเทียบเรือประมงภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ข้อ ๖ ท่าเทียบเรือประมงใดที่ได้จดทะเบียนไว้ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับและพบว่ามีเรือไร้สัญชาติตามกฎหมายว่าด้วยการประมงจอด หรือเทียบท่า หรือขนถ่าย สัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำขึ้นจากเรือประมงอยู่ภายในบริเวณท่าเทียบเรือประมงของตน ให้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ทั้งนี้ เจ้าของท่าเทียบเรือประมงที่ได้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ทันทีที่พบเรือดังกล่าว ให้สามารถประกอบกิจการท่าเทียบเรือประมงต่อไปได้โดยไม่ต้องถูกดำเนินการตามมาตรา ๑๑๒ ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันกรมประมงได้มีการกำหนดมาตรฐานด้านสุขอนามัยท่าเทียบเรือประมงตามประเภทกิจกรรมของท่าเทียบเรือประมงที่ต้องผ่านการตรวจมาตรฐานด้านสุขอนามัยท่าเทียบเรือประมง สมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การขอจดทะเบียนท่าเทียบเรือประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านสุขอนามัยท่าเทียบเรือประมง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ พิมพ์มาดา/จัดทำ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๗๐ ก/หน้า ๑/๑๔ กันยายน ๒๕๖๑
797329
กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2561
กฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตให้ทําการประมงพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๖๑[๑] อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกําหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิก (๑) กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทําการประมงพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๕๙ (๒) กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทําการประมงพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙ ข้อ ๒ ในกฎกระทรวงนี้ “ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตทําการประมงพาณิชย์ ข้อ ๓ เพื่อให้กรมประมงมีข้อมูลเกี่ยวกับจํานวนผู้ขอรับใบอนุญาตและประเภทเครื่องมือทําการประมงที่ผู้ขอรับใบอนุญาตประสงค์จะใช้ทําการประมงเพื่อนํามาพิจารณาออกใบอนุญาต ให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการทําการประมงและปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทําการประมงอย่างยั่งยืนตามที่กําหนดไว้ในแผนบริหารจัดการการประมง ให้อธิบดีกําหนดห้วงเวลาที่จะให้ผู้ประสงค์จะทําการประมงพาณิชย์มายื่นคําขอรับใบอนุญาต โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ผู้ใดไม่ได้ยื่นคําขอรับใบอนุญาตภายในห้วงเวลาที่กําหนดไว้ในวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิในการขอรับใบอนุญาต หลังจากมีการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตตามห้วงเวลาที่กําหนดไว้ในวรรคหนึ่งแล้ว ปรากฏว่าขีดความสามารถในการทําการประมงและปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทําการประมงอย่างยั่งยืนตามที่กําหนดไว้ในแผนบริหารจัดการการประมงยังสามารถออกใบอนุญาตเพิ่มเติมได้ อธิบดีอาจประกาศกําหนดห้วงเวลาที่จะให้ผู้ประสงค์จะทําการประมงพาณิชย์มายื่นคําขอรับใบอนุญาตเพิ่มเติมได้ โดยให้นําความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๔ ผู้ใดประสงค์จะทําการประมงพาณิชย์ตามมาตรา ๓๖ ให้ยื่นคําขอรับใบอนุญาตต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคําขอ การยื่นคําขอรับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่น ณ สถานที่ ดังต่อไปนี้ (๑) กรุงเทพมหานคร ให้ยื่น ณ สํานักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรมประมง (๒) จังหวัดอื่น ให้ยื่น ณ ที่ว่าการอําเภอหรือสํานักงานประมงอําเภอแห่งท้องที่ที่มีอาณาเขตติดทะเล (๓) สถานที่และวิธีการอื่นตามที่อธิบดีกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ข้อ ๕ เมื่อได้รับคําขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบรับคําขอให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาต และดําเนินการตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของคําขอรับใบอนุญาตและเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆ กรณีที่คําขอรับใบอนุญาต เอกสารหรือหลักฐานไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้แจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมคําขอรับใบอนุญาต หรือจัดส่งเอกสารหรือหลักฐานให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กําหนด กรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตไม่แก้ไขเพิ่มเติมคําขอรับใบอนุญาตหรือไม่จัดส่งเอกสารหรือหลักฐานให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาตามวรรคสอง ให้ถือว่าคําขอรับใบอนุญาตนั้นเป็นอันยกเลิกนับแต่วันที่พ้นกําหนดระยะเวลาดังกล่าว และให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบ ข้อ ๖ การพิจารณาอนุญาตให้ทําการประมงพาณิชย์ ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีสิทธิทําการประมงตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย (๒) ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๙ (๓) ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในเรือประมงที่จะทําการประมง (๔) เรือประมงต้องไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อเรือประมงที่ทําการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามที่อธิบดี คณะกรรมการมาตรการทางปกครอง หรือรัฐมนตรีประกาศตามมาตรา ๙๔ วรรคสอง มาตรา ๑๑๓ (๔) หรือมาตรา ๑๑๖ (๕) เรือประมงต้องเป็นเรือที่มีขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป หรือเป็นเรือที่ใช้เครื่องยนต์มีกําลังแรงม้าถึงขนาดที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด หรือเป็นเรือที่มีหรือใช้เครื่องมือทําการประมงตามประเภท วิธี จํานวนแรงงานที่ใช้ หรือลักษณะการทําการประมงตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด (๖) ในกรณีที่เรือประมงเป็นเรือประมงไทย ต้องเป็นเรือประมงที่จดทะเบียนเป็นเรือไทยตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย รวมทั้งต้องมีหมายเลขไอเอ็มโอสําหรับเรือที่มีลักษณะตามที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization) กําหนด ในกรณีที่เรือประมงมิใช่เรือประมงไทย ต้องเป็นเรือประมงที่จดทะเบียนตามกฎหมายของรัฐเจ้าของธงซึ่งสามารถใช้ทําการประมงในเขตการประมงไทยตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย รวมทั้งต้องมีหมายเลขไอเอ็มโอสําหรับเรือที่มีลักษณะตามที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization) กําหนด (๗) เครื่องมือทําการประมงที่จะขออนุญาตใช้ทําการประมงต้องไม่เป็นเครื่องมือทําการประมงที่ห้ามใช้ทําการประมงตามมาตรา ๖๗ มาตรา ๖๘ และมาตรา ๖๙ หรือเป็นเครื่องมือทําการประมงที่ห้ามใช้ทําการประมงในทะเลนอกชายฝั่งตามมาตรา ๗๑ (๑) (๘) เรือประมงต้องมีใบอนุญาตใช้เรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย ประเภทการใช้ทําการประมงซึ่งมีอายุอยู่ในวันที่ยื่นคําขอรับใบอนุญาตและในวันที่ออกใบอนุญาต (๙) เรือประมงมีการติดตั้งระบบติดตามเรือประมง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกําหนดตามมาตรา ๘๑ (๑) (๑๐) เรือประมงต้องไม่อยู่ในระหว่างถูกดําเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยการประมง หรือกรณีเป็นเรือประมงที่เคยถูกใช้ในการกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประมง ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีหลักฐานแสดงว่าเจ้าของเรือ ผู้ควบคุมเรือ หรือผู้ได้รับใบอนุญาตทําการประมงเดิมของเรือที่ใช้ในการกระทําความผิดไม่มีผลประโยชน์ได้เสียทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือมีอํานาจควบคุมเรือประมงดังกล่าวอีกต่อไป (๑๑) ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีหนังสือรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยในเรือประมงตามมาตรา ๙๘ ข้อ ๗ การพิจารณาออกใบอนุญาตนอกจากพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ในข้อ ๖ แล้ว ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามแนวทางในการออกใบอนุญาตทําการประมงให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการทําการประมงและปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทําการประมงได้อย่างยั่งยืนโดยใช้จุดอ้างอิงเป็นฐานในการพิจารณาตามที่กําหนดไว้ในมาตรา ๒๔ (๑) ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาไปยังผู้ขอรับใบอนุญาตภายในสามสิบวันนับแต่วันสิ้นสุดห้วงเวลาที่ให้ผู้ประสงค์จะทําการประมงพาณิชย์มายื่นคําขอรับใบอนุญาต ในกรณีที่มีคําสั่งอนุญาตให้ออกใบอนุญาต ให้แจ้งผู้ขอรับใบอนุญาตมาชําระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าอากรใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทําการประมงภายในระยะเวลาที่กําหนด หากพ้นกําหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าสละสิทธิการเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต และในกรณีที่มีคําสั่งไม่อนุญาต ให้แสดงเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์ไว้ในหนังสือแจ้งผลการพิจารณาด้วย การออกใบอนุญาต ให้ออกสําหรับเรือประมงแต่ละลํา และต้องระบุประเภท ชนิด ขนาด และจํานวนของเครื่องมือทําการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทําการประมง พื้นที่การทําการประมง รวมทั้งปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่อนุญาตให้ทําการประมงได้ หรือห้วงเวลาที่อนุญาตให้ทําการประมงได้ แล้วแต่กรณี ไว้ในใบอนุญาตด้วย ใบอนุญาตให้มีอายุสองปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต ข้อ ๘ เมื่อผู้ขอรับใบอนุญาตได้ชําระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าอากรใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทําการประมงตามอัตราที่กําหนดแล้ว ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาต พร้อมทั้งแจ้งเครื่องหมายประจําเรือประมงเพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตไปดําเนินการจัดทําเครื่องหมายประจําเรือประมงตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกําหนดตามมาตรา ๘๑ (๔) ข้อ ๙ ในกรณีที่มีการคํานวณขีดความสามารถในการทําการประมงและปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทําการประมงอย่างยั่งยืนตามที่กําหนดไว้ในแผนบริหารจัดการการประมงใหม่ในระหว่างที่ใบอนุญาตยังไม่สิ้นอายุ ให้อธิบดีประกาศกําหนดปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่อนุญาตให้ทําการประมง หรือกําหนดห้วงเวลาที่อนุญาตให้ทําการประมงใหม่ได้ แล้วแต่กรณี โดยให้กําหนดระยะเวลาให้ผู้รับใบอนุญาตนําใบอนุญาตมาแก้ไขปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่อนุญาตให้ทําการประมงหรือห้วงเวลาที่อนุญาตให้ทําการประมงเพื่อให้สอดคล้องกับที่ประกาศกําหนดไว้ ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตไม่นําใบอนุญาตมาแก้ไขภายในระยะเวลาที่กําหนดตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตออกทําการประมง การประกาศตามวรรคหนึ่ง ต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ข้อ ๑๐ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะแก้ไขรายการในใบอนุญาต ให้ยื่นคําขอต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ณ สถานที่ที่กําหนดตามข้อ ๔ พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคําขอ และให้นําความในข้อ ๕ มาใช้บังคับแก่การขอแก้ไขรายการในใบอนุญาตโดยอนุโลม ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายแก้ไขรายการในใบอนุญาตได้เฉพาะกรณีมีหลักฐานแสดงว่า การขอแก้ไขรายการในใบอนุญาตเป็นการแก้ไขข้อมูลให้สอดคล้องกับข้อมูลที่ปรากฏในหลักฐานทางทะเบียนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่เป็นการแก้ไขขนาดของเรือเพื่อให้สอดคล้องกับหลักฐานการจดทะเบียนเรือตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย ให้แก้ไขห้วงเวลาที่อนุญาตให้ทําการประมงที่ระบุไว้ในใบอนุญาตให้สอดคล้องกับประสิทธิภาพการทําการประมงที่เปลี่ยนไป แต่ห้ามมิให้แก้ไขปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่อนุญาตให้ทําการประมงที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตต้องชําระค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น เมื่อผู้รับใบอนุญาตได้ชําระค่าธรรมเนียมดังกล่าวแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดําเนินการแก้ไขรายการในใบอนุญาตเดิม และเปลี่ยนเครื่องหมายประจําเรือให้ตรงตามขนาดของเรือ พร้อมทั้งแจ้งเครื่องหมายประจําเรือประมงเพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตไปดําเนินการจัดทําเครื่องหมายประจําเรือประมงตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกําหนดตามมาตรา ๘๑ (๔) ก่อนออกทําการประมง ในกรณีที่มีคําสั่งไม่อนุญาต ให้แสดงเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์ไว้ในหนังสือแจ้งผลการพิจารณาด้วย ข้อ ๑๑ ผู้ใดประสงค์จะขอรับโอนใบอนุญาต ให้ยื่นคําขอรับโอนใบอนุญาตต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ณ สถานที่ที่กําหนดตามข้อ ๔ พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคําขอ และให้นําความในข้อ ๕ มาใช้บังคับแก่การขอรับโอนใบอนุญาตโดยอนุโลม ข้อ ๑๒ การพิจารณาอนุญาตให้โอนใบอนุญาต ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ขอรับโอนใบอนุญาตต้องมีสิทธิทําการประมงตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย (๒) ผู้ขอรับโอนใบอนุญาตต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๙ (๓) กรณีเรือประมงที่จะขอรับโอนใบอนุญาตเคยถูกใช้ในการกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประมง ผู้ขอรับโอนใบอนุญาตต้องมีหลักฐานแสดงว่าเจ้าของเรือ ผู้ควบคุมเรือ หรือผู้ได้รับใบอนุญาตทําการประมงของเรือที่ใช้ในการกระทําความผิดไม่มีผลประโยชน์ได้เสียทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือมีอํานาจควบคุมเรือประมงดังกล่าวอีกต่อไป (๔) เรือประมงที่จะขอรับโอนใบอนุญาตต้องไม่อยู่ในระหว่างถูกดําเนินคดี (๕) ผู้ขอรับโอนใบอนุญาตต้องมีหลักฐานแสดงว่ามีกรรมสิทธิ์ในเรือที่ระบุไว้ในใบอนุญาตทําการประมงมาแสดง (๖) ผู้ขอรับโอนใบอนุญาตต้องแสดงใบมรณบัตรของผู้โอนใบอนุญาต กรณีผู้โอนใบอนุญาตถึงแก่ความตาย ข้อ ๑๓ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายพิจารณาคําขอรับโอนใบอนุญาต และออกใบอนุญาตใหม่แทนใบอนุญาตเดิมให้แก่ผู้ขอรับโอนใบอนุญาตภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคําขอ ในกรณีที่มีคําสั่งอนุญาตให้โอนใบอนุญาต ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายแจ้งให้ผู้ขอรับโอนใบอนุญาตมาชําระค่าธรรมเนียมโอนใบอนุญาต และในกรณีที่มีคําสั่งไม่อนุญาต ให้แสดงเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์ไว้ในหนังสือแจ้งผลการพิจารณาด้วย เมื่อผู้ขอรับโอนใบอนุญาตได้ชําระค่าธรรมเนียมโอนใบอนุญาตตามอัตราที่กําหนดแล้ว ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายออกใบอนุญาตใหม่แทนใบอนุญาตเดิม โดยมีระยะเวลาและเงื่อนไขตามใบอนุญาตเดิม และให้กํากับคําว่า “โอนใบอนุญาต” พร้อมชื่อผู้โอนไว้ที่มุมบนด้านซ้าย และระบุวัน เดือน ปี ที่ออกใบอนุญาตดังกล่าวไว้ด้วย สําหรับใบอนุญาตเดิมให้ประทับตรายกเลิกการใช้ด้วยอักษรสีแดง ข้อ ๑๔ ในกรณีที่ใบอนุญาตสูญหาย ถูกทําลาย หรือชํารุดเสียหายในสาระสําคัญ ให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคําขอรับใบแทนใบอนุญาตต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ณ สถานที่ที่กําหนดตามข้อ ๔ พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคําขอ และให้นําความในข้อ ๕ มาใช้บังคับแก่การขอรับใบแทนใบอนุญาตโดยอนุโลม เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่า ผู้ขอรับใบแทนใบอนุญาตเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตและใบอนุญาตสูญหาย ถูกทําลาย หรือชํารุดเสียหายในสาระสําคัญจริง ให้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเพื่อออกใบแทนใบอนุญาตให้แก่ผู้ยื่นคําขอภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคําขอ ในกรณีที่มีคําสั่งอนุญาตให้ออกใบแทนใบอนุญาต ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายแจ้งให้ผู้ขอรับใบแทนใบอนุญาตมาชําระค่าธรรมเนียมใบแทนใบอนุญาต และในกรณีที่มีคําสั่งไม่อนุญาตให้แสดงเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์ไว้ในหนังสือแจ้งผลการพิจารณาด้วย เมื่อผู้ขอรับใบแทนใบอนุญาตได้ชําระค่าธรรมเนียมใบแทนใบอนุญาตตามอัตราที่กําหนดแล้ว ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายออกใบแทนใบอนุญาต โดยใช้แบบใบอนุญาตเดิม และระบุคําว่า “ใบแทน” หรือใช้ข้อความอื่นใดทํานองเดียวกันไว้ที่กึ่งกลางส่วนบนด้านหน้าของใบอนุญาต ข้อ ๑๕ คําขอรับใบอนุญาต ใบอนุญาต คําขอแก้ไขรายการในใบอนุญาต คําขอรับโอนใบอนุญาต และคําขอรับใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ข้อ ๑๖ ใบอนุญาต การโอนใบอนุญาต และใบแทนใบอนุญาต ที่ออกให้ตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทําการประมงพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๕๙ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน ข้อ ๑๗ คําขอรับใบอนุญาต คําขอรับโอนใบอนุญาต และคําขอรับใบแทนใบอนุญาตที่ได้ยื่นไว้ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ให้ถือว่าเป็นคําขอตามกฎกระทรวงนี้ และให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดในกฎกระทรวงนี้ ในกรณีคําขอที่ยื่นตามวรรคหนึ่ง และเอกสารหรือหลักฐานที่ยื่นพร้อมคําขอดังกล่าวแตกต่างไปจากที่กําหนดในกฎกระทรวงนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับคําขอมีอํานาจสั่งให้ดําเนินการแก้ไขเพิ่มเติมคําขอ หรือจัดส่งเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามความจําเป็นเพื่อให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑ ลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทําการประมงพาณิชย์ และการโอนใบอนุญาตทําการประมงพาณิชย์ ตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทําการประมงพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทําการประมงพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ในพระราชกําหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกําหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ ประกอบกับมาตรา ๓๖ และมาตรา ๔๔ แห่งพระราชกําหนดดังกล่าว บัญญัติให้การทําการประมงพาณิชย์และการโอนใบอนุญาตต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังกล่าวให้สอดคล้องกับพระราชกําหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกําหนดการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ จึงจําเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ปุณิกา/จัดทำ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๙ ก/หน้า ๖/๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
778074
กฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. 2560
กฎกระทรวง กฎกระทรวง กำหนดเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. ๒๕๖๐[๑] อาศัยอำนาจตามความในบทนิยามคำว่า “ทะเลชายฝั่ง” ในมาตรา ๕ และมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ กำหนดให้จังหวัดกระบี่ มีเขตทะเลชายฝั่งนับจากแนวชายฝั่งทะเลที่น้ำทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายฝั่งและบริเวณชายเกาะ ทั้งนี้ ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงหมายเลข ๑/๙ ข้อ ๒ กำหนดให้จังหวัดชลบุรี มีเขตทะเลชายฝั่ง ดังต่อไปนี้ (๑) ระยะสามไมล์ทะเลนับจากแนวชายฝั่งทะเลที่น้ำทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายฝั่ง (๒) ระยะหนึ่งจุดหกไมล์ทะเลนับจากแนวชายฝั่งทะเลที่น้ำทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายเกาะ ทั้งนี้ ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงหมายเลข ๒/๙ ข้อ ๓ กำหนดให้จังหวัดตรัง มีเขตทะเลชายฝั่งนับจากแนวชายฝั่งทะเลที่นํ้าทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายฝั่งและบริเวณชายเกาะ ทั้งนี้ ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงหมายเลข ๓/๙ ข้อ ๔ กำหนดให้จังหวัดตราด มีเขตทะเลชายฝั่ง ดังต่อไปนี้ (๑) ระยะห้าไมล์ทะเลนับจากแนวชายฝั่งทะเลที่น้ำทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายฝั่ง (๒) ระยะสามไมล์ทะเลนับจากแนวชายฝั่งทะเลที่น้ำทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายเกาะ ทั้งนี้ ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงหมายเลข ๔/๙ ข้อ ๕ กำหนดให้จังหวัดพังงา มีเขตทะเลชายฝั่ง ดังต่อไปนี้ (๑) ระยะสามไมล์ทะเลนับจากแนวชายฝั่งทะเลที่น้ำทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายฝั่ง (๒) ระยะหนึ่งจุดห้าไมล์ทะเลนับจากแนวชายฝั่งทะเลที่น้ำทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายเกาะ ทั้งนี้ ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงหมายเลข ๕/๙ ข้อ ๖ กำหนดให้จังหวัดภูเก็ต มีเขตทะเลชายฝั่งระยะหนึ่งจุดห้าไมล์ทะเล นับจากแนวชายฝั่งทะเลที่น้ำทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายเกาะ ทั้งนี้ ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงหมายเลข ๖/๙ ข้อ ๗ กำหนดให้จังหวัดระนอง มีเขตทะเลชายฝั่ง ดังต่อไปนี้ (๑) ระยะสามไมล์ทะเลนับจากแนวชายฝั่งทะเลที่น้ำทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายฝั่ง (๒) ระยะหนึ่งจุดหกไมล์ทะเลนับจากแนวชายฝั่งทะเลที่น้ำทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายเกาะ ทั้งนี้ ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงหมายเลข ๗/๙ ข้อ ๘ กำหนดให้จังหวัดสตูล มีเขตทะเลชายฝั่ง ดังต่อไปนี้ (๑) ระยะสามไมล์ทะเลนับจากแนวชายฝั่งทะเลที่น้ำทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายฝั่ง (๒) ระยะหนึ่งจุดห้าไมล์ทะเลนับจากแนวชายฝั่งทะเลที่น้ำทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายเกาะ ทั้งนี้ ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงหมายเลข ๘/๙ ข้อ ๙ กำหนดให้จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีเขตทะเลชายฝั่ง ดังต่อไปนี้ (๑) ระยะสามไมล์ทะเลนับจากแนวชายฝั่งทะเลที่น้ำทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายฝั่งและบริเวณชายเกาะเต่า (๒) ระยะสองไมล์ทะเลนับจากแนวชายฝั่งทะเลที่น้ำทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายเกาะยกเว้นเกาะเต่า ทั้งนี้ ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงหมายเลข ๙/๙ ข้อ ๑๐ เขตทะเลชายฝั่งตามข้อ ๑ ข้อ ๓ ข้อ ๔ ข้อ ๕ ข้อ ๖ ข้อ ๗ ข้อ ๘ และข้อ ๙ ไม่รวมถึงเขตอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ [เอกสารแนบท้าย] ๑. แผนที่ท้ายกฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. ๒๕๖๐ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๕ และมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดให้เขตทะเลชายฝั่งในบริเวณใดมีระยะนับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปน้อยหรือมากกว่าสามไมล์ทะเลก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งจุดห้าไมล์ทะเลและไม่เกินสิบสองไมล์ทะเล สมควรกำหนดเขตทะเลชายฝั่งของจังหวัดที่มีแผ่นดินติดทะเล ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดตรัง จังหวัดตราด จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดระนอง จังหวัดสตูล และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้มีระยะนับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปน้อยหรือมากกว่าสามไมล์ทะเล เพื่อประโยชน์ในการกำหนดมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในเขตทะเลชายฝั่งให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสมและสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ปุณิกา/ภวรรณตรี/จัดทำ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๐ นุสรา/ตรวจ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๕๙ ก/หน้า ๑๖/๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐
763685
กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559
กฎกระทรวง กฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้ยกเลิกความใน (๒) ของข้อ ๕ แห่งกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๕๕๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๒) การขอรับใบอนุญาตทำการประมงในเขตของรัฐชายฝั่ง ต้องเป็นรัฐชายฝั่งที่ประเทศไทยมีบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการประมงกับรัฐชายฝั่ง หรือผู้ขอรับใบอนุญาตมีหลักฐานแสดงการได้สิทธิในการทำการประมงในน่านน้ำรัฐชายฝั่งซึ่งได้รับการรับรองจากรัฐชายฝั่งนั้นตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด” ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่หลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทยในเขตของรัฐชายฝั่ง ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๕ (๒) แห่งกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๕๕๙ ต้องเป็นรัฐชายฝั่งที่ประเทศไทยมีบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการประมงกับรัฐชายฝั่งนั้น เป็นข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบกิจการทำการประมงนอกน่านน้ำไทยอันอาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการประมงของประเทศในภาพรวม เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สมควรเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทย โดยเพิ่มเติมให้ผู้ที่ประสงค์จะเข้าไปทำการประมงในเขตของรัฐชายฝั่งแสดงหลักฐานการได้สิทธิในการทำการประมงในน่านน้ำของรัฐชายฝั่งนั้นด้วย จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ปุณิกา/ปริยานุช/จัดทำ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๙ นุสรา/ตรวจ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๑๐๕ ก/หน้า ๕/๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๙
763517
กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559
กฎกระทรวง กฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้ยกเลิกความใน (๖) ของข้อ ๖ แห่งกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๕๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๖) ในกรณีที่เรือประมงเป็นเรือประมงไทย ต้องเป็นเรือประมงที่จดทะเบียนเป็นเรือไทยตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย และใบอนุญาตใช้เรือสำหรับทำการประมงตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยต้องมีอายุเหลืออยู่ไม่น้อยกว่าสามสิบวันในวันที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต รวมทั้งต้องมีหมายเลขไอเอ็มโอสำหรับเรือที่มีลักษณะตามที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization) กำหนด ในกรณีที่เรือประมงมิใช่เรือประมงไทย ต้องเป็นเรือประมงที่จดทะเบียนตามกฎหมายของรัฐเจ้าของธงซึ่งสามารถใช้ทำการประมงในเขตการประมงไทยตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย รวมทั้งต้องมีหมายเลขไอเอ็มโอสำหรับเรือที่มีลักษณะตามที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization) กำหนด” ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่หลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ตามข้อ ๖ (๖) แห่งกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๕๙ กำหนดให้เรือประมงที่ใช้ทำการประมงพาณิชย์ได้ต้องเป็นเรือที่จดทะเบียนเรือไทยตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทยเท่านั้น ส่งผลให้ไม่สามารถใช้เรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยทำการประมงพาณิชย์ได้ จึงไม่สอดคล้องกับมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย พุทธศักราช ๒๔๘๒ ที่กำหนดให้สามารถใช้เรือที่มีสัญชาติต่างประเทศหรือเรือที่เป็นของคนต่างด้าวหรือของนิติบุคคลที่มีสัญชาติต่างประเทศทำการประมงในเขตการประมงไทยได้ในกรณีที่ประเทศไทยมีความตกลงกับต่างประเทศไว้ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ โดยเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ให้สามารถใช้เรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยทำการประมงพาณิชย์ได้ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ปริยานุช/จัดทำ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๙ วริญา/ตรวจ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ที่ ๑๐๓ ก/หน้า ๙/๙ ธันวาคม ๒๕๕๙
753644
กฎกระทรวงกำหนดสัตว์น้ำที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง พ.ศ. 2559
กฎกระทรวง กฎกระทรวง กำหนดสัตว์น้ำที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง พ.ศ. ๒๕๕๙[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๖๔ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้สัตว์น้ำดังต่อไปนี้ เป็นสัตว์น้ำที่ห้ามผู้ใดมีไว้ในครอบครอง (๑) ปลาปิรันยาที่มีชีวิตในสกุล (Genus) Serrasalmus สกุล (Genus) Rooseveltiella และสกุล (Genus) Pygocentrus ทุกชนิดและทุกขนาด รวมทั้งไข่และน้ำเชื้อของปลาดังกล่าว (๒) ปลาไหลไฟฟ้าที่มีชีวิตในสกุล (Genus) Electrophorus ทุกชนิดและทุกขนาด รวมทั้งไข่และน้ำเชื้อของปลาดังกล่าว (๓) ปลาดุกไฟฟ้าที่มีชีวิตในสกุล (Genus) Malapterurus และสกุล (Genus) Paradoxoglanis ทุกชนิดและทุกขนาด รวมทั้งไข่และน้ำเชื้อของปลาดังกล่าว ข้อ ๒ ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำตามข้อ ๑ อยู่ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้นำสัตว์น้ำนั้นส่งมอบให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ภายในระยะเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ข้อ ๓ ความในข้อ ๑ และข้อ ๒ มิให้ใช้บังคับแก่การครอบครองสัตว์น้ำของทางราชการเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๖๔ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดประเภท ชนิด ลักษณะ จำนวน หรือขนาดของสัตว์น้ำที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์หรือต่อสัตว์น้ำอื่น สิ่งแวดล้อมของสัตว์น้ำ ทรัพย์สินของบุคคลหรือสาธารณสมบัติ เป็นสัตว์น้ำที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ วิศนี/ปริยานุช/จัดทำ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๙ นุสรา/ตรวจ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๕๖ ก/หน้า ๑๙/๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙
750559
กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก นำผ่าน เพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำบางชนิด พ.ศ. 2559
กฎกระทรวง กฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก นำผ่าน เพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำบางชนิด พ.ศ. ๒๕๕๙[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในกฎกระทรวงนี้ “ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำ ใบอนุญาตให้ส่งออกสัตว์น้ำ ใบอนุญาตให้นำผ่านสัตว์น้ำ ใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือใบอนุญาตให้มีสัตว์น้ำไว้ในครอบครอง แล้วแต่กรณี หมวด ๑ การขออนุญาตและการอนุญาต ส่วนที่ ๑ การนำเข้าสัตว์น้ำ การส่งออกสัตว์น้ำ หรือการนำผ่านสัตว์น้ำ ข้อ ๒ ผู้ใดประสงค์จะนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านซึ่งสัตว์น้ำที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดห้ามการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านตามมาตรา ๖๕ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ การยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่น ณ สถานที่ ดังต่อไปนี้ (๑) กรุงเทพมหานคร ให้ยื่น ณ กองบริหารจัดการด้านการประมง กรมประมง (๒) จังหวัดอื่น ให้ยื่น ณ ด่านตรวจสัตว์น้ำในเขตพื้นที่รับผิดชอบ หรือสำนักงานประมงจังหวัดในกรณีไม่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของด่านตรวจสัตว์น้ำ (๓) สถานที่และวิธีการอื่นตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ข้อ ๓ เมื่อได้รับคำขอรับใบอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านสัตว์น้ำแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของคำขอรับใบอนุญาต และเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆ กรณีที่คำขอรับใบอนุญาต เอกสารหรือหลักฐานไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้แจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับใบอนุญาต หรือจัดส่งเอกสารหรือหลักฐานให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด กรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตไม่แก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับใบอนุญาต หรือไม่จัดส่งเอกสารหรือหลักฐานให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาตามวรรคสอง ให้ถือว่าคำขอรับใบอนุญาตนั้นเป็นอันยกเลิกนับแต่วันที่พ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว และให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบ ข้อ ๔ ในกรณีที่คำขอรับใบอนุญาตและเอกสารหรือหลักฐานถูกต้องและครบถ้วน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบรับคำขอให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาต ข้อ ๕ การพิจารณาอนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดห้ามการนำเข้าตามมาตรา ๖๕ ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) จำนวนสัตว์น้ำที่มีอยู่ในประเทศ เพื่อตรวจสอบการแพร่พันธุ์ภายในประเทศ วิธีการสืบพันธุ์ความปลอดภัยของสัตว์น้ำที่หายาก อันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์น้ำภายในประเทศ รวมทั้งสภาพของสถานที่เพาะเลี้ยงหรือครอบครองสัตว์น้ำ หรือผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศทางธรรมชาติ (๒) กรณีนำเข้าปลาทูน่าชนิดครีบเหลือง ต้องมีหนังสือรับรองการนำปลาทูน่าชนิดครีบเหลืองเข้ามาในราชอาณาจักรจากกรมประมงหรือผู้ซึ่งกรมประมงประกาศกำหนด (๓) ห้ามอนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำที่ก่อให้เกิดโรคระบาด ในกรณีไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าสัตว์น้ำนั้นเป็นโรคระบาด ผู้นำเข้าสัตว์น้ำต้องยื่นหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์หรือหนังสือรับรองสุขศาสตร์ซากสัตว์ซึ่งมีข้อความเป็นภาษาอังกฤษที่ลงนามรับรองโดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานผู้รับผิดชอบของรัฐบาลประเทศผู้ส่งออกหรือจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบในวันที่นำเข้าสัตว์น้ำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจสัตว์น้ำ ข้อ ๖ การพิจารณาอนุญาตให้ส่งออกสัตว์น้ำที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดห้ามการส่งออกตามมาตรา ๖๕ ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ชนิดพันธุ์และจำนวนสัตว์น้ำที่มีอยู่ในประเทศ เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของพันธุ์สัตว์น้ำที่หายาก รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อวงจรชีวิตของสัตว์น้ำอื่นและความสมดุลของระบบนิเวศทางธรรมชาติ (๒) กรณีการส่งออกปลาทะเลสวยงามต้องได้รับหนังสือรับรองการเพาะพันธุ์จากกรมประมงหรือต้องมีเอกสารรับรองว่าเป็นปลาทะเลสวยงามจากการนำเข้า หรือเป็นการส่งออกเพื่อการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย หรือกรณีอื่นที่มิใช่เพื่อการค้า แล้วแต่กรณี (๓) กรณีการส่งออกผลิตภัณฑ์เปลือกหอยสำเร็จรูปต้องมีหนังสือรับรองชนิดพันธุ์เปลือกหอยสำเร็จรูปจากกรมประมงหรือผู้ซึ่งกรมประมงประกาศกำหนด (๔) กรณีการส่งออกสัตว์น้ำชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์จากธรรมชาติต้องมีหนังสือรับรองว่าเป็นสัตว์น้ำที่ได้จากการเพาะเลี้ยงจากกรมประมงหรือผู้ซึ่งกรมประมงประกาศกำหนด (๕) กรณีเป็นการส่งออกสัตว์น้ำที่อาจก่อให้เกิดอันตรายจากโรคระบาดต้องได้รับหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์หรือหนังสือรับรองสุขศาสตร์ซากสัตว์จากกรมประมง และก่อนการอนุญาตสัตว์น้ำนั้นต้องผ่านการกักกันและกำจัดโรคก่อนการส่งออกตามระยะเวลาและวิธีการที่ประเทศปลายทางกำหนด ข้อ ๗ การพิจารณาอนุญาตให้นำผ่านสัตว์น้ำที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดห้ามการนำผ่านตามมาตรา ๖๕ ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ชนิดพันธุ์และจำนวนสัตว์น้ำต้องตรงกับที่ขออนุญาต ความปลอดภัยของสัตว์น้ำในประเทศและอันตรายที่อาจเกิดจากสัตว์น้ำนั้น (๒) กรณีเป็นการนำผ่านสัตว์น้ำที่อาจก่อให้เกิดอันตรายจากโรคระบาดต้องมีหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์หรือหนังสือรับรองสุขศาสตร์ซากสัตว์ซึ่งมีข้อความเป็นภาษาอังกฤษซึ่งลงนามรับรองโดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานผู้รับผิดชอบของรัฐบาลประเทศผู้ส่งออกหรือจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบในวันที่นำผ่านสัตว์น้ำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจสัตว์น้ำ ข้อ ๘ ในการพิจารณาคำขอรับใบอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านสัตว์น้ำ อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะต้องพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาไปยังผู้ขอรับใบอนุญาตทราบภายในห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอรับใบอนุญาตและเอกสารหรือหลักฐานถูกต้องและครบถ้วน ในกรณีที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีคำสั่งไม่ออกใบอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านสัตว์น้ำ ให้แจ้งเหตุผลพร้อมทั้งสิทธิอุทธรณ์ไปพร้อมกับหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบด้วย ใบอนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำ ใบอนุญาตให้ส่งออกสัตว์น้ำ หรือใบอนุญาตให้นำผ่านสัตว์น้ำ ให้มีอายุไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ออกใบอนุญาตนั้น ข้อ ๙ ผู้ได้รับใบอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านสัตว์น้ำต้องแสดงใบอนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจสัตว์น้ำและนำเคลื่อนที่สัตว์น้ำผ่านด่านตรวจสัตว์น้ำตามที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายกำหนดไว้ในใบอนุญาต เว้นแต่มีเหตุจำเป็นหรือโดยสภาพข้อเท็จจริงที่ไม่อาจนำสัตว์น้ำนั้นเคลื่อนที่ผ่านด่านตรวจสัตว์น้ำนั้น ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านสัตว์น้ำแจ้งเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจสัตว์น้ำนั้น พร้อมทั้งยื่นสำเนาหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์หรือหนังสือรับรองสุขศาสตร์ซากสัตว์ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๕ (๓) ข้อ ๑๐ การนำเข้าหรือนำผ่านสัตว์น้ำที่อาจก่อให้เกิดอันตรายจากโรคระบาด ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องไม่เปิดหรือเปลี่ยนถ่ายภาชนะบรรจุสัตว์น้ำนั้น ยกเว้นกรณีเกิดเหตุสุดวิสัยและจำเป็นต้องมีการเปิดภาชนะบรรจุสัตว์น้ำ ซึ่งผู้ปฏิบัติงานจะต้องดำเนินการภายใต้คำสั่งและการควบคุมของพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจสัตว์น้ำอย่างใกล้ชิด ส่วนที่ ๒ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือการมีสัตว์น้ำไว้ในครอบครอง ข้อ ๑๑ ผู้ใดประสงค์จะทำการเพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดห้ามการเพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครองตามมาตรา ๖๕ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ โดยต้องแจ้งที่มาของสัตว์น้ำที่จะขออนุญาตให้ชัดเจน การยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่น ณ สถานที่ ดังต่อไปนี้ (๑) กรุงเทพมหานคร ให้ยื่น ณ สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร (๒) จังหวัดอื่น ให้ยื่น ณ สำนักงานประมงจังหวัด (๓) สถานที่และวิธีการอื่นตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ข้อ ๑๒ การพิจารณาอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดห้ามการเพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครองตามมาตรา ๖๕ ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) จำนวนสัตว์น้ำที่มีอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศ เพื่อตรวจสอบการแพร่พันธุ์ภายในประเทศความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ วิธีการสืบพันธุ์ ความปลอดภัยของพันธุ์สัตว์น้ำที่หายาก อันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์น้ำภายในประเทศ รวมทั้งสภาพของสถานที่เพาะเลี้ยงหรือครอบครองสัตว์น้ำ หรือผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศทางธรรมชาติ (๒) สถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต้องมีการจัดระบบการดูแลสัตว์น้ำ ความปลอดภัยของพันธุ์สัตว์น้ำ อันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์น้ำภายในประเทศ รวมทั้งผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศทางธรรมชาติ (๓) กรณีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่อาจก่อให้เกิดอันตรายจากโรคระบาดต้องมีหนังสือรับรองว่าสัตว์น้ำนั้นไม่มีโรคระบาดจากกรมประมงหรือผู้ซึ่งกรมประมงประกาศกำหนด และต้องไม่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ข้อ ๑๓ ให้นำความในข้อ ๓ ข้อ ๔ และข้อ ๘ มาใช้บังคับแก่การออกใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือใบอนุญาตให้มีสัตว์น้ำไว้ในครอบครองด้วย ผู้ได้รับใบอนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำหรือใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้ถือว่าได้รับใบอนุญาตให้มีสัตว์น้ำไว้ในครอบครองด้วย ใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือใบอนุญาตให้มีสัตว์น้ำไว้ในครอบครอง ให้มีอายุสองปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาตหรือถือว่าได้รับใบอนุญาต แล้วแต่กรณี ข้อ ๑๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือมีสัตว์น้ำไว้ในครอบครองต้องจัดทำบันทึกการเปลี่ยนแปลงของสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงหรือครอบครองในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนและเก็บไว้เป็นหลักฐานให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ข้อ ๑๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือมีสัตว์น้ำไว้ในครอบครองที่ไม่ประสงค์จะทำการเพาะเลี้ยงหรือครอบครองสัตว์น้ำแล้ว ให้นำสัตว์น้ำนั้นส่งมอบให้แก่กรมประมงเพื่อดูแลหรือทำลายตามที่เห็นสมควร หมวด ๒ เบ็ดเตล็ด ข้อ ๑๖ เมื่อผู้ขอรับใบอนุญาตได้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตามอัตราที่กำหนดแล้ว ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาต ทั้งนี้ อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายอาจกำหนดเงื่อนไขที่จำเป็นไว้ท้ายใบอนุญาต เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามกฎหมายว่าด้วยการประมงไว้ในใบอนุญาตเพื่อให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติตามด้วยก็ได้ ข้อ ๑๗ นอกจากหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ท้ายใบอนุญาตด้วย ข้อ ๑๘ ในกรณีที่ใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดเสียหายในสาระสำคัญ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ณ สถานที่ตามข้อ ๒ หรือข้อ ๑๑ แล้วแต่กรณี พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้ว พบว่าผู้ขอรับใบแทนใบอนุญาตเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตและใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดเสียหายในสาระสำคัญจริง ให้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเพื่อออกใบแทนใบอนุญาตให้กับผู้ยื่นคำขอ การออกใบแทนใบอนุญาต ให้ใช้แบบใบอนุญาตเดิม และระบุคำว่า “ใบแทน” หรือใช้ข้อความอื่นใดทำนองเดียวกันไว้ที่กึ่งกลางส่วนบนด้านหน้าของใบอนุญาต ให้นำความในข้อ ๘ วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับกับการออกใบแทนใบอนุญาตโดยอนุโลม ข้อ ๑๙ คำขอรับใบอนุญาต ใบอนุญาต และคำขอรับใบแทนใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา บทเฉพาะกาล ข้อ ๒๐ บรรดาคำขอรับใบอนุญาตที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นคำขอรับใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้โดยอนุโลม ในกรณีที่คำขอตามวรรคหนึ่งมีข้อแตกต่างไปจากคำขอตามกฎกระทรวงนี้ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจสั่งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมคำขอและส่งเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อให้การเป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ ข้อ ๒๑ ผู้ใดทำการเพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดห้ามการเพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครองตามมาตรา ๖๕ อยู่ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้มายื่นคำขอรับใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับและในกรณีที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีคำสั่งไม่ออกใบอนุญาต ต้องส่งมอบสัตว์น้ำนั้นให้กรมประมงเพื่อดูแลหรือทำลายตามที่เห็นสมควร ข้อ ๒๒ กรณีที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน เพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำตามมาตรา ๖๕ เพิ่มเติม ให้ผู้ที่ทำการเพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำนั้นมายื่นคำขอรับใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดดังกล่าว และในกรณีที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีคำสั่งไม่ออกใบอนุญาต ต้องส่งมอบสัตว์น้ำนั้นให้กรมประมงเพื่อดูแลหรือทำลายตามที่เห็นสมควร ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาต และการออกใบอนุญาตประกอบกับมาตรา ๖๕ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว บัญญัติให้การนำเข้า ส่งออก นำผ่าน เพาะเลี้ยงหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำบางชนิด ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ วริญา/ปริยานุช/จัดทำ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙ วิชพงษ์/ตรวจ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๔๓ ก/หน้า ๑/๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๙
750210
กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงโดยไม่ใช้เรือประมง พ.ศ. 2559
กฎกระทรวง กฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงโดยไม่ใช้เรือประมง พ.ศ. ๒๕๕๙[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในกฎกระทรวงนี้ “ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตทำการประมงโดยไม่ใช้เรือประมง ข้อ ๒ ผู้ใดประสงค์จะทำการประมงโดยไม่ใช้เรือประมง แต่ใช้เครื่องมือทำการประมงตามประเภทและขนาดที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา ๓๕ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ การยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่น ณ สถานที่ ดังต่อไปนี้ (๑) กรณีทำการประมงในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่น ณ สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรมประมง (๒) กรณีทำการประมงในเขตจังหวัดอื่น ให้ยื่น ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานประมงอำเภอแห่งท้องที่ที่ประสงค์จะทำการประมง (๓) สถานที่และวิธีการอื่นตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ข้อ ๓ ในกรณีการขอรับใบอนุญาตโดยใช้เครื่องมือทำการประมงที่ต้องใช้วิธีลงหลัก ปัก ผูก ขึง รั้ง ถ่วง หรือวิธีอื่นใดอันทำให้เครื่องมือนั้นอยู่กับที่ในเวลาทำการประมง ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายประกาศกำหนดห้วงเวลาที่จะให้ผู้ประสงค์จะทำการประมงโดยไม่ใช้เรือประมงมายื่นคำขอรับใบอนุญาต โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ข้อ ๔ เมื่อได้รับคำขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของคำขอรับใบอนุญาต และเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆ กรณีที่คำขอรับใบอนุญาต เอกสารหรือหลักฐานไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้แจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับใบอนุญาต หรือจัดส่งเอกสารหรือหลักฐานให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด กรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตไม่แก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับใบอนุญาตหรือไม่จัดส่งเอกสารหรือหลักฐานให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาตามวรรคสอง ให้ถือว่าคำขอรับใบอนุญาตนั้นเป็นอันยกเลิกนับแต่วันที่พ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว และให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบ ข้อ ๕ ในกรณีที่คำขอรับใบอนุญาตและเอกสารหรือหลักฐานถูกต้องและครบถ้วนให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบรับคำขอให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาต ในกรณีการขอรับใบอนุญาตโดยใช้เครื่องมือทำการประมงที่ต้องใช้วิธีลงหลัก ปัก ผูก ขึง รั้ง ถ่วง หรือวิธีอื่นใดอันทำให้เครื่องมือนั้นอยู่กับที่ในเวลาทำการประมง ให้นัดวันและเวลาโดยแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบ เพื่อทำการตรวจสอบจุดติดตั้งเครื่องมือทำการประมงและตรวจสอบพื้นที่ที่จะให้ทำการติดตั้งเครื่องมือทำการประมงนั้นให้ตรงกับที่ระบุในคำขอรับใบอนุญาต ข้อ ๖ การพิจารณาอนุญาตให้ทำการประมงโดยไม่ใช้เรือประมง แต่ใช้เครื่องมือทำการประมงตามประเภทและขนาดที่อธิบดีกำหนด ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีสิทธิทำการประมงตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย (๒) ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๙ (๓) เครื่องมือทำการประมงที่จะขออนุญาตใช้ทำการประมงต้องเป็นประเภท ชนิด ขนาด และมีจำนวนตรงตามที่ระบุไว้ในคำขอรับใบอนุญาต และไม่เป็นเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงตามมาตรา ๖๗ มาตรา ๖๘ มาตรา ๖๙ หรือมาตรา ๗๑ (๑) (๔) ในกรณีการขอรับใบอนุญาตโดยใช้เครื่องมือทำการประมงที่ต้องใช้วิธีลงหลัก ปัก ผูก ขึง รั้ง ถ่วง หรือวิธีอื่นใดอันทำให้เครื่องมือนั้นอยู่กับที่ในเวลาทำการประมง พื้นที่ขออนุญาตทำการประมงต้องอยู่ในพื้นที่ตามที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดประกาศตามมาตรา ๗๑ (๓) (๕) ในกรณีที่มีผู้ขอรับใบอนุญาตตาม (๔) ในพื้นที่เดียวกัน และผ่านหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน (๑) (๒) (๓) และ (๔) มากกว่าหนึ่งคน ให้ผู้ซึ่งเคยได้รับอนุญาตให้ทำการประมงในพื้นที่ดังกล่าวมีสิทธิได้รับอนุญาตเป็นลำดับแรก ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่มีผู้ซึ่งเคยได้รับอนุญาตให้ทำการประมง ให้พิจารณาจัดสรรตามความเหมาะสมของจำนวนผู้ขอรับใบอนุญาตที่ได้ยื่นคำขอภายในกำหนดเวลาตามข้อ ๓ และขนาดของพื้นที่ตามมาตรา ๗๑ (๓) ข้อ ๗ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาไปยังผู้ขอรับใบอนุญาตภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอรับใบอนุญาตและเอกสารหรือหลักฐานถูกต้องและครบถ้วนกรณีมีคำสั่งไม่อนุญาต ให้แสดงเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์ไว้ในหนังสือแจ้งผลการพิจารณาด้วย สำหรับกรณีการขอรับใบอนุญาตโดยใช้เครื่องมือทำการประมงที่ต้องใช้วิธีลงหลัก ปัก ผูก ขึง รั้ง ถ่วง หรือวิธีอื่นใดอันทำให้เครื่องมือนั้นอยู่กับที่ในเวลาทำการประมง ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายแจ้งผลการพิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาที่ประกาศกำหนดตามข้อ ๓ และคำขอรับใบอนุญาตและเอกสารหรือหลักฐานถูกต้องและครบถ้วน การออกใบอนุญาต ให้ระบุประเภท ชนิด ขนาด และจำนวนของเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมงไว้ด้วย และกรณีที่เป็นการออกใบอนุญาตสำหรับการใช้เครื่องมือทำการประมงที่ต้องใช้วิธีลงหลัก ปัก ผูก ขึง รั้ง ถ่วง หรือวิธีอื่นใดอันทำให้เครื่องมือนั้นอยู่กับที่ในเวลาทำการประมงให้ระบุพื้นที่ที่ติดตั้งเครื่องมือทำการประมงนั้นด้วย ใบอนุญาตให้มีอายุสองปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต ข้อ ๘ เมื่อผู้ขอรับใบอนุญาตได้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าอากรใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทำการประมงตามอัตราที่กำหนดแล้ว ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาต ข้อ ๙ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะเพิ่มเครื่องมือทำการประมงที่จะใช้ทำการประมง ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ณ สถานที่ที่กำหนดตามข้อ ๒ พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ ข้อ ๑๐ การพิจารณาอนุญาตให้เพิ่มเครื่องมือทำการประมงที่จะใช้ทำการประมงให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ใบอนุญาตยังไม่สิ้นอายุ (๒) เครื่องมือทำการประมงที่จะขออนุญาตใช้ทำการประมงต้องเป็นประเภทและขนาดตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) เครื่องมือทำการประมงที่จะขออนุญาตใช้ทำการประมงต้องไม่เป็นเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงตามมาตรา ๖๗ มาตรา ๖๘ มาตรา ๖๙ หรือมาตรา ๗๑ (๑) ข้อ ๑๑ ให้นำความในข้อ ๔ และข้อ ๕ มาใช้บังคับกับการขอเพิ่มเครื่องมือทำการประมงที่จะใช้ทำการประมงโดยอนุโลม และเมื่อได้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ แล้ว ให้นำความในข้อ ๗ วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๑๒ เมื่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีคำสั่งอนุญาตให้เพิ่มเครื่องมือทำการประมงที่จะใช้ทำการประมง และผู้รับใบอนุญาตได้ชำระค่าอากรใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทำการประมงตามที่ได้รับอนุญาตแล้ว ให้ดำเนินการเพิ่มรายการเกี่ยวกับประเภท ชนิด ขนาด และจำนวนของเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมงในใบอนุญาตเดิม ข้อ ๑๓ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะโอนใบอนุญาตให้แก่บุพการี คู่สมรส หรือผู้สืบสันดานของตน ให้ยื่นคำขอโอนใบอนุญาตต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ณ สถานที่ที่กำหนดตามข้อ ๒ พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ ใบอนุญาตที่ได้รับอนุญาตให้โอนแล้ว ให้ประทับตราคำว่า “โอนแล้ว” ด้วยอักษรสีแดงไว้ด้านบนของใบอนุญาต และให้ระบุชื่อผู้รับโอน วัน เดือน ปีที่อนุญาตให้โอนพร้อมทั้งลงลายมือชื่อผู้อนุญาตกำกับไว้ด้วย ให้นำความในข้อ ๔ และข้อ ๖ (๑) และ (๒) มาใช้บังคับกับการโอนใบอนุญาตและผู้รับโอนใบอนุญาตโดยอนุโลม และเมื่อได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้รับโอนใบอนุญาตแล้ว ให้นำความในข้อ ๗ วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๑๔ ในกรณีที่ใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดเสียหายในสาระสำคัญ ให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ณ สถานที่ที่กำหนดตามข้อ ๒ พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่า ผู้ขอรับใบแทนใบอนุญาตเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตและใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดเสียหายในสาระสำคัญจริง ให้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเพื่อออกใบแทนใบอนุญาตให้กับผู้ยื่นคำขอ การออกใบแทนใบอนุญาต ให้ใช้แบบใบอนุญาตเดิม และระบุคำว่า “ใบแทน” หรือใช้ข้อความอื่นใดทำนองเดียวกันไว้ที่กึ่งกลางส่วนบนด้านหน้าของใบอนุญาต ให้นำความในข้อ ๗ วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับกับการออกใบแทนใบอนุญาตโดยอนุโลม ข้อ ๑๕ คำขอรับใบอนุญาต ใบอนุญาต คำขอเพิ่มเครื่องมือทำการประมงที่จะใช้ทำการประมงคำขอโอนใบอนุญาต และคำขอรับใบแทนใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้ ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ไว้ ณ วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาต การออกใบอนุญาต และการโอนใบอนุญาต ประกอบกับมาตรา ๓๕ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว บัญญัติให้การทำการประมงโดยไม่ใช้เรือประมง แต่ใช้เครื่องมือทำการประมงตามประเภทและขนาดที่อธิบดีประกาศกำหนด ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ชวัลพร/ปริยานุช/จัดทำ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙ นุสรา/ตรวจ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๔๑ ก/หน้า ๑๓/๔ พฤษภาคม ๒๕๕๙